วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

PES 10714C Frigate for Colombian Navy

 

         กองทัพเรือโคลัมเบียประจำการเรือฟริเกตชั้น Almirante Padilla จำนวน 4 ลำ ปัจจุบันอายุอานามเรือจากเยอรมันอยู่ระหว่าง 40-41 ปี จำเป็นต้องปลดประจำการภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า กองทัพเรือโคลัมเบียไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ระหว่างปี 2007 ถึง 2015 พวกเขาเริ่มศึกษาแบบเรือฟริเกตรุ่นใหม่ที่เหมาะสม ก่อนเริ่มต้นเดินหน้าโครงการจัดหาเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำในเฟสแรก กำหนดให้เรือมีระวางขับน้ำระหว่าง 3,000 ถึง 5,000 ตัน ความเร็วสูงสุด 27 ถึง 30 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ถึง 7,000 ไมล์ทะเล ออกทะเลนานสุด 25 ถึง 30 วัน ระยะเวลาสร้างเรือในประเทศตั้งแต่ปี 2019 ถึง 2026 หรือ 8 ปี เรือทุกลำจะเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2027 ถึง 2066 หรือ 40 ปี ส่วนเฟสสองอาจปรับเปลี่ยนเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งตามความเหมาะสม

          แบบเรือที่เสนอตัวเข้าร่วมโครงการมีจำนวนหลายลำ ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Navantia ประเทศสเปน เสนอแบบเรือฟริเกตรุ่นเดียวกับที่เคยเสนอให้กับกองทัพเรือไทย เรือมีระวางขับน้ำ 3,850 ตัน ติดตั้งอาวุธและใช้ระบบ Saab ทั้งลำเหมือนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ต่างกันแค่เพียงจุดติดตั้งจานดาวเทียมกับเรดาร์ควบคุมการยิง ตัวหน้าสลับตำแหน่งกัน มาพร้อมข้อเสนอสร้างเรือในประเทศบวกถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างเรือยุคใหม่

          แบบเรือจากบริษัท Navantia เป็นตัวเต็งแข่งกับแบบเรือที่บริษัท Cotecmar ของโคลัมเบียพัฒนาขึ้นมาเอง แต่แล้วไม่นานโครงการนี้ก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากสื่อมวลชนทั่วโลก และเงียบหายไปเลยหลังเกิดเหตุการณ์โควิค-19 ระบาดทั่วโลก จวบจนกระทั่งโรคระบาดร้ายแรงเริ่มทุเลาโครงการใหญ่โครงการนี้จึงได้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง

Damen 10514 Frigate

          วันที่ 23 สิงหาคม 2022 มีการเผยแพร่เรือฟริเกตในอนาคตอย่างไม่เป็นทางการของกองทัพเรือโคลัมเบีย เรือรบรุ่นใหม่ใช้แบบเรือ Sigma 10514 จากบริษัท Damen ประเทศเนเธอร์แลนด์ รูปร่างหน้าตาคล้ายเรือฟริเกตอินโดนีเซียถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทว่าระบบเรดาร์ ระบบอาวุธ และอุปกรณ์อื่นๆ มีความแตกต่างมากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไป รวมทั้งมีการติดตั้งจุดปล่อยอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กบนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

          ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2022 มีเหตุเการณ์สำคัญเกิดขึ้น วันนี้คือวันแห่งประวัติศาสตร์กองทัพเรือโคลัมเบีย เพราะเป็นวันเซ็นสัญญามูลค่า 2.149 พันล้านเหรียญ ระหว่างกองทัพเรือโคลัมเบียกับบริษัท COTECMAR National Shipyard อู่ต่อเรือในประเทศ เพื่อสั่งซื้อเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอีก 1 ลำ มูลค่ารวมเรือรบจำนวน 5 ลำเท่ากับ 2.149 พันล้านเหรียญ

          เรือฟริเกตรุ่นใหม่ใช้แบบเรือ Sigma 10514 บริษัท Damen ประเทศเนเธอร์แลนด์มาปรับปรุงเพิ่มเติม หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Strales ยิงกระสุนนำวิถีต่อสู้อากาศยาน DART ได้ ต่อด้วยแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.56 จำนวน 16 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 16 นัด หน้าสะพานเดินเรือคือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Millennium Gun ใช้ปืนกลอัตโนมัติขนาด 35 มม.

เรือใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ NS-110 จาก Thales มีเรดาร์ควบคุมการยิง STING-EO Mk2 จำนวน 2 ตัวหน้าหลัง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบเป็นรุ่น SSM-700K จากเกาหลีใต้ ติดตั้งโซนาร์หัวเรือทำงานร่วมกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ MU90 ใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัท Indra ประเทศสเปน

ตามสัญญาเรือทุกลำจะสร้างในโคลัมเบียโดยบริษัท COTECMAR คาดว่าชิ้นส่วนเรือฟริเกตบล็อกสะพานเดินเรือกับห้องเครื่องยนต์หลัก จะสร้างที่เนเธอร์แลนด์แล้วนำมาประกอบที่โคลัมเบียเหมือนเรือฟริเกตอินโดนีเซีย จะมีการประกอบพิธีตัดเหล็กกลางปี 2024 ประกอบพิธีวางกระดูกปี 2025 และเริ่มเดินหน้าโครงการอย่างเต็มตัว เท่ากับว่าโครงการยักษ์โครงการนี้ล่าช้ากว่าแผนการที่วางประมาณ 5 ปี

PES 10714C Frigate

ระหว่างปี 2023 โครงการนี้เงียบหายไปเลยราวกับว่าถูกดองเค็ม แต่แล้วในช่วงต้นเดือนมกราคมมีการเปิดเผยโมเดลเรือรุ่นสร้างจริง พร้อมข้อมูลอย่างชัดเจนเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลโคลัมเบียเดินหน้าเต็มตัว

เรือฟริเกตลำใหม่ใช้ชื่อแบบเรือว่า ‘PES 10714C’ เป็นการนำแบบเรือฟริเกต Sigma 10514 บริษัท Damen มาขยายความยาวเพิ่มขึ้น 2 เมตร (เข้าใจว่าขยายลานจอดเฮลิคอปเตอร์เหมือนเรือเม็กซิโก) เรือมีระวางขับน้ำปรกติ 2,808 ตัน ยาว 107.5 เมตร กว้าง 14.02 เมตร กินน้ำลึก 3.93 เมตร ติดตั้งระบบขับเคลื่อน CODOE ใช้เครื่องยนต์ดีเซลหรือมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ความเร็วสูงสุด 26 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 8,200 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต สามารถออกทะเลได้นานสุด 25 วัน 

ระบบอาวุธแตกต่างจากเวอร์ชัน 2022 ตามความเหมาะสม หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Strales ยิงกระสุนนำวิถีต่อสู้อากาศยาน DART ได้ ต่อด้วยแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 16 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL MICA NG จำนวน 16 นัด หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ SENTINEL 20 ขนาด 20 มม. จำนวน 1 กระบอก ข้างสะพานเดินเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ SENTINEL 2.0 ขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก

พื้นที่ว่างกลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ SSM-700K จากเกาหลีใต้จำนวน 8 ท่อยิง ต่อด้วยแท่นยิงแฝดสามสำหรับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ MU90 จำนวน 2 แท่นยิง เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ SENTINEL 30 ขนาด 25 มม. จำนวน 1 กระบอก ทว่าเวอร์ชันสร้างจริงอาจเปลี่ยนเป็น SENTINEL 20 ขนาด 20 มม.เหมือนหัวเรือ เท่ากับว่าจุดปล่อยอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กหายไปได้ปืนกลอัตโนมัติเพิ่ม 1 กระบอก

ผู้เขียนมีจุดน่าสงสัยเล็กน้อยมาบอกกล่าว ตามข้อมูลเรือจะติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ SENTINEL 20 กับ SENTINEL 30 จากสเปน ทว่าในโมเดลเรือกลับเป็นปืนกลอัตโนมัติ Marlin 30 กับ Marlin 40 จากอิตาลี ตอนวาดภาพประกอบผู้เขียนจำเป็นต้องใส่ Marlin 30 กับ Marlin 40 อย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่วนเรดาร์ควบคุมการยิงยังเป็น STING-EO Mk2 ไม่ใช่ CEROS 200 ผู้เขียนจำเป็นต้องใส่ STING-EO Mk2 ฉะนั้นเรือลำจริงจะมีรายละเอียดแตกต่างไปจากโมเดลเรือหรือภาพเรือวาดสไตล์ Shipbucket

ระบบโซนาร์หัวเรือโคลัมเบียเลือกใช้ HMS 510 บริษัท General Dynamics Mission Systems จากแคนาดา ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์บริษัท Indra จากสเปน (ECM+ESM) ระบบเป้าลวง Terma C-Guard DL-12T จากเดนมาร์ก จุดพลิกผันคือระบบเรดาร์กับระบบอำนวยการรบ บริษัท Saab จากสวีเดนเอาชนะบริษัท Thales จากเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นเจ้าของแบบเรือ คว้าสัญญาก้อนโตจากโครงการสร้างเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำไปครอบครอง

เรือฟริเกต PES 10714C ใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe 4A เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 ออปโทรนิกส์ควบคุมกับยิง EOS500 และเสาอากาศสื่อสาร+C-ESM รุ่น CRS8000 แต่ไม่มีการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB เหมือนเรือฟริเกตกองทัพเรือไทย

ผู้เขียนรวบรวมแบบเรือที่ใช้งานเรดาร์รุ่นใหม่จาก Saab ได้ตามนี้

1.เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชติด Sea Giraffe AMB จำนวน 1 ตัวที่เสากระโดงหลัก และ Sea Giraffe 4A จำนวน 1 ตัวที่เสากระโดงรอง

2.เรือฟริเกตชั้น F123 ประเทศเยอรมันติด Sea Giraffe 1X จำนวน 1 ตัวที่เสากระโดงหลัก และ Sea Giraffe 4A จำนวน 1 ตัวที่เสากระโดงรอง

3.เรือคอร์เวตชั้น PHOJANMAA ประเทศฟินแลนด์ติด Sea Giraffe 1X จำนวน 1 ตัว กับ Sea Giraffe 4A จำนวน 4 ตัวที่เสากระโดงหลัก

4.เรือฟริเกต PES 10714C ประเทศโคลัมเบียติด Sea Giraffe 4A จำนวน 1 ตัวที่เสากระโดงหลัก

เหตุผลที่กองทัพเรือโคลัมเบียใช้งาน Sea Giraffe 4A เป็นเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติบนเสากระโดงหลักเพียงตัวเดียว เนื่องจากงานทุกอย่างที่ Sea Giraffe AMB ทำได้ Sea Giraffe 4A ก็สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังทำได้ดีกว่าตามประสิทธิภาพบวกเทคโนโลยี การติด Sea Giraffe AMB เพิ่มเข้ามาจึงเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ แตกต่างจาก Sea Giraffe 1X ซึ่งเป็นเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ซึ่งเน้นตรวจจับเรือผิวน้ำกับอะไรก็ตามที่ลอยเหนือผิวน้ำเข้าใกล้เรือ ช่วยอุดช่องว่างและทำงานร่วมกับ Sea Giraffe 4A ซึ่งใช้เทคโนโลยีเหมือนกันได้เป็นอย่างดี

การถอด Sea Giraffe AMB ออกจากเรือสามารถประหยัดได้มากแค่ไหน?

ย้อนกลับไปในปี 2018 กองทัพเรือฟิลิปปินส์ขอซื้อเรดาร์ Sea Giraffe AMB จากบริษัท Saab จำนวน 2 ตัว มูลค่ารวมอยู่ที่ 25 ล้านเหรียญ หรือเท่ากับตัวละ 12.5 ล้านเหรียญ หรือ 456.5 ล้านบาท

เงิน 456.5 ล้านบาทซื้ออะไรได้บ้าง? ผู้เขียนคิดคำนวณแบบคร่าวๆ สามารถซื้อปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid จำนวน 1 กระบอกราคา 300 ล้านบาท ปืนกล DS30M Mark2 จำนวน 2 กระบอกราคา 120 ล้านบาท เหลือเงิน 36.5 ล้านบาทสามารถซื้อกระสุนปืนใหญ่ต่อระยะกับกระสุนปืนกลมาใช้งานจำนวนพอสมควร

เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ผู้เขียนขอนำเสนอไว้ในอ้อมกอดผู้อ่านทุกคน

บทสรุป

          แบบเรือฟริเกต PES 10714C มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับขนาดเรือซึ่งมีระวางขับน้ำเพียง 2,800 ตัน ขนาดเรืออาจเล็กกว่าความต้องการกองทัพเรือโคลัมเบียนิดหน่อย แต่ถือเป็นเรื่องดีเพราะได้สร้างเรือเองในประเทศด้วยเทคโนโลยีใหม่จากบริษัท Damen ประเทศเนเธอร์แลนด์ โครงการนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศโคลัมเบียเจริญก้าวหน้ามากกว่าเดิม อนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลพวกเขาอาจออกแบบเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ หรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งสมรรถนะสูงติดอาวุธ 2 มิติได้ด้วยตัวเอง

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

          https://www.damen.com/insights-center/news/cotecmar-and-damen-signed-a-contract-for-the-co-development

https://www.infodefensa.com/texto-diario/mostrar/4670129/004-colombia-colombia-apuesta-sistemas-saab-nuevas-fragatas

https://twitter.com/erichsaumeth/status/1737122121095016683

https://www.infodefensa.com/texto-diario/mostrar/4666651/003-colombia-nuevas-fragatas-colombianas-2808-toneladas-armamento-frances-espanol-italiano-sur-coreano

https://www.pucara.org/post/procyon-2042-presente-y-futuro-de-la-industria-naval-colombiana

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น