วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558

มหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ตอน การเดินทางครั้งสำคัญของทหารอาสาสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม


    เมื่อปีพุทธศักราช 2457 อาร์ชดุ๊ก ฟรานซ์ เฟอร์ดินัน รัชทายาทออสเตรียอังการีและพระชายา ถูกชาวเซอร์เบียปลงพระชนม์ที่เมืองซาราเจโวแคว้นบอสเนียชายแดนออสเตรีย 1เดือนหลังจากนั้นออสเตรียฮังการีจึงได้ประกาศทำสงครามกับเซอร์เบีย เนื่องจากไม่พอใจในท่าทีของเซอร์เบียจากคดีดังกล่าว ความขัดแย้งในยุโรปที่คุกรุ่นมานานจึงพุ่งสุงจนถึงสุดขีด แล้วลุกลามไปทั้งทวีปจนกลายเป็นสาเหตุแห่งมหาสงครามโลกครั้งที่1ในวันที่1สิงหาคม2457 โดยมีประเทศอังกฤษ-ฝรั่งเศส-เบลเยี่ยม-รัสเซีย-เซอร์เบีย และประเทศในกลุ่มสัมพันธมิตรฝ่ายหนึ่ง ประเทศเยอรมันนี-ออสเตรีย-ฮังการีและประเทศในกลุ่มมหาอำนาจกลางฝ่ายหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายเข้าห้ำหั่นทำศึกขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในสมรภูมิที่มีการนองเลือดมากที่สุด จนประชากรในพื้นที่เสียชีวิตรวมกันกว่า16ล้านคน

    ช่วง2-3ปีแรกของมหาสงคราม ประเทศไทยที่อยู่ห่างจากสมรภูมิหลายพันกิโลเมตรได้ยึดมั่นความเป็นกลางเอาไว้อย่างเคร่งครัด และในระยะแห่งความเป็นกลางนั่นเอง ล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่6ได้ทรงศึกษาสังเกตุความเคลื่อนไหวของคู่ศึกทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิด จนพระองค์ทรงทนต่อความทารุณโหดร้ายต่างๆที่ฝ่ายเยอรมันได้แสดงออกไม่ได้ จึงได้ทรงประท้วงอย่างเป็นทางการไปยังประเทศเยอรมัน แต่ทางฝ่ายเยอรมันไม่ได้ตอบกลับและเพิกเฉยไม่ปฎิบัติต่อคำประท้วงของรัฐบาลไทย อาจเป็นเพราะเล็งเห็นว่าไทยเป็นชาติเล็กประเทศน้อย ไม่มีความหมายใดๆเลยกับเยอรมันนีผู้มีแสนยานุภาพอันเกรียงไกร

     พระองค์จึงตัดสินพระทัยประกาศสงครามกับเยอรมันทันที เพื่อรักษาไว้ซึ่งธรรมะแห่งมวลมนุษย์ชาติ ทั้งๆที่ญาติพระวงศ์ผู้ใหญ่บางพระองค์ทรงคัดค้านเรื่องนี้ แต่ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นชาตินักรบอันแท้จริง นักปกครองอย่างเยี่ยม และทรงเป็นผู้รับผิดชอบความเป็นไปของชาติโดยเด็ดขาด พระองค์ได้ทรงไคร่ครวญเป็นหนักหนาว่า ไทยเป็นชาติเล็กเมืองน้อยก็จริงแต่ใฝ่หาธรรมมะเป็นสำคัญ เมื่อโลกถูกอธรรมเข้าทำลายอย่างขาดความปราณี ควรแล้วหรือที่พระองค์ท่านจะทรงนิ่งเฉยอยู่ได้ แม้สนามแห่งยุทธบริเวณจะอยู่ห่างไกลออกไปมาก แต่พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะไปร่วมศึกเพื่อทำลายอธรรม และเพื่อแสดงให้โลกได้รู้เห็นว่า ไทยไม่ใช่ชนชาติที่ขาดหลักธรรมหรือป่าเถื่อนปราศจากความเจริญดังที่ชนชาติตะวันตกเข้าใจกัน เวลาเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่22กรกฎาคม 2460 พระองค์จึงทรงตกลงพระทัยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมันนี-ออสเตรีย-ฮังการี และเข้าร่วมศึกกับฝ่ายสัมพันธมิตร การจะแพ้ชนะเป็นเรื่องของอนาคตจะตัดสิน ดังพระราชนิพนธ์บทหนึ่งว่า

                “อันเราเป็นชาติเชื้อ    ชาวไทย
                 ตัวเล็กก็มีใจ               ใหญ่ป้า
                ไม่ยอมระยอบใคร        ในโลก เลยพ่อ
                 ถึงอริราญห้า                   ห่อน แสยง ฯ”

   เมื่อพระองค์ได้ทรงประกาศสงครามให้โลกรับรู้อย่างเป็นทางการแล้ว ในเดือนกรกฎาคม 2460 พระองค์ได้ทรงประกาศเรียกพลอาสาเพื่อจะส่งไปราชการสงครามในทวีปยุโรปด้านตะวันตก โดยมีพระราชประสงค์ที่จะทรงจัดทหารอาสาในศึกครั้งนี้ออกเป็น2กองด้วยกัน คือกองบินทหารบกและกองรถยนต์ทหารบก สาเหตุเนื่องมาจากทั้งฝ่ายกองบินและกองรถยนต์ของกองทัพบกไทยในตอนนั้นยังด้อยประสบการณ์อยู่ จึงทรงส่งเฉพาะ2กองนี้ไปยุโรปเพื่อที่จะเรียนรู้วิธีการต่างๆ ในด้านเทคนิคในทางช่างกลจากยุทธภูมิจริงบ้าง ในอันจะได้กลับมาเป็นประโยชน์แก่กองทัพไทยในกาลหน้าต่อไป พระองค์ได้ทรงจัดส่งกองทูตทหารไปติดต่อกับกองทัพสัมพันธมิตรในยุโรป โดยทรงให้นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางล่วงหน้าเพื่อไปศึกษาสถานการณ์ในเวลานั้นๆก่อน และในวันที่9 มกราคม 2461ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเลี้ยงส่งนายทหารกองทูตทหาร ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และได้พระราชทานกระแสพระบรมราโชวาทดังต่อไปนี้

 “การที่ข้าพเจ้าเชิญมาในวันนี้ ก็เพื่อจะเลี้ยงส่งนายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์และนายทหารกองทูตที่จะไปยุโรปคราวนี้ ข้าพเจ้าเสียใจอยู่นิดเดียวที่ไม่ทันได้ตระเตรียมให้ยิ่งใหญ่กว่านี้ แต่รำลึกได้อีกทีหนึ่งว่า พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ก็ดี นายทหารที่จะไปก็ดี เป็นนายทหาร คงไม่ต้องการที่จะให้มีงานอะไรมากมาย คงต้องการแลเห็นน้ำใจของข้าพเจ้ามากกว่า ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องกล่าว ข้าพเจ้ารับรองได้แน่ว่าพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ก็ดี และนายทหารที่จะไปพร้อมกันก็ดี เหมือนยังกับได้รับส่วนแบ่งแห่งใจข้าพเจ้าไปคนละชิ้น ที่ข้าพเจ้าพูดเช่นนี้ไม่ใช่แกล้งพูดเลย พูดโดยความจริง เพราะตั้งแต่เล็กมาจนกาลบัดนี้ข้าพเจ้าเองเป็นทหารแท้ๆ ได้เคยนึกอยู่เสมอว่า เวลาที่จะเป็นเยี่ยมยอดในชีวิตทหารก็คือ เวลาที่ไปทำการตามหน้าที่โดยตรงของตัว เพราะฉะนั้นในการที่พระยาพิไชยชาญฤทธิ์และนายทหารที่จะออกไปในครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอสารภาพโดยตรงว่าข้าพเจ้ามีความอิจฉาที่ข้าพเจ้ามาตกอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สามารถจะเป็นเช่นนั้นได้บ้าง แต่เมื่อมานึกดูอีกทีก็พอวายความอิจฉาลงได้บ้าง คือนึกว่าเป็นของธรรมดา ทหารไม่ว่าผู้ใด เมื่อรับมอบหน้าที่ไว้แล้วให้รักษาอยู่หรือไปที่ใด ย่อมจะต้องอยู่หรือไปณ ที่นั้น ทหารจะเลือกเอาเองไม่ได้ว่าจะไปอยู่ที่นั่นที่นี่ ข้าพเจ้าหรือจะเป็นผู้เถียงได้ เมื่อหน้าที่อยู่ที่นี่แล้ว ถ้าข้าพเจ้าจะละทิ้งไปก็เท่ากับข้าพเจ้าเป็นผู้เสียวินัยเหมือนกัน เมื่อมานึกเช่นนี้แล้วจึงได้ค่อยคลายความอิจฉาผู้ไป

   เมื่อวายความอิจฉาได้เช่นนี้แล้ว จึงมารู้สึกปลาบปลื้มแทนผู้ที่จะไป ปลื้มว่าในคราวนี้เป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งของทหารไทยเราที่จะแสดงแก่ชาติ ที่อย่างไรๆเราก็ต้องยอมรับว่าเคยคร้ามข้อเขามา แต่เวลานี้เราได้เดินขึ้นแล้ว เราได้พยายามอย่างที่สุดที่จะทำการตามหน้าที่ของเรา และแม้ว่าเราจะเป็นชาติเล็กก็ไม่ย่อท้อที่จะทำหน้าที่โดยสมบรูณ์สำหรับชาติที่ทรงอิสรภาพ พระยาพิไชยชาญฤทธิ์และนายทหารที่จะไปพร้อมกันในครั้งนี้ เป็นคนแรกที่จะได้นำเกียรติคุณและชื่อเสียงของกองทัพบกของข้าพเจ้าไปประกาศแก่ตาโลก จะเป็นคนแรกที่นำธงไทยไปคลี่ที่กลางยุโรป ซึ่งในเวลานี้ต้องนับว่าเป็นเหมือนกลางโลก ข้าพเจ้าไม่จำเป็นจะต้องเตือนนายทหารที่จะไปนี้ว่าให้ตั้งใจประพฤติให้สมที่จะเป็นคนแรกที่จะนำเกียรติยศไปเผยแพร่ ที่ว่าข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตักเตือนนั้น เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกเขาทั้งหลายรู้สึกอยู่พอแล้วรู้สึกเกียรติยศ เป็นโชดดีของเขาทั้งหลายในครั้งนี้ที่จะได้เป็นผู้ถือเอาเกียรติคุณ เอาศักดาเดชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดินและชาติสยามไปสำแดงในท่ามกลางยุโรป ว่าในครั้งนี้และในเวลาต่อไปประเทศสยามจะขึ้นเทียมเสมอหน้ากับชาติอื่นๆ ก็ที่ชาติใดจะมีอำนาจหรือมีเกียรติคุณได้นั้นมิใช่คนมากหรือน้อย ข้อสำคัญอยู่ที่ความประพฤติ ความปฎิบัติ นิสัยใจคอซึ่งมีอยู่ในสันดานของคนที่จงรักษ์ภักดีต่อชาตินั้น ก็นายทหารที่จะไปในคราวนี้ เป็นผู้ที่ข้าพเจ้าเชื่อแน่แล้วว่า เป็นบุคคลที่มีลักษณะเช่นนั้น จึงได้เลือกให้ไปเหมือนไปเป็นผู้แทนของข้าพเจ้า เท่ากับข้าพเจ้าแบ่งภาคของข้าพเจ้าไปภาคหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าได้ตักเตือนตัวข้าพเจ้าเองไว้อย่างไรก็เชื่อมั่นว่า ภาคของข้าพเจ้าที่แบ่งไป คือพระยาพิไชยชาญฤทธิ์คงจะตักเตือนตัวเองและนายทหารที่จะออกไปด้วยเช่นกัน และต่อไปเมื่อทหารอื่นๆจะออกไปอีกคงจะพอช่วยตักเตือนอยู่เสมอไม่ให้ลืมเลย คราวนี้เป็นคราวสำคัญไม่เฉะพาะแต่ในชีวิตของตัวเอง เป็นขณะสำคัญในตำนานของชาติสยาม ซึ่งต่อไปชั่วบุตรหลานของเราทั้งหลายเราจะได้ไม่อายแก่บุตรหลาน เมื่อบุตรหลานพลิกตำนานของชาติไทยมาถึงหน้านี้ซึ่งเป็นหน้าที่เป็นตำนานของเราทั้งหลาย เป็นประวัติการณ์ของเราทั้งหลาย พวกบุตรหลานจะได้เห็นและร้องว่า อ้อ ! เขาไม่ขี้ขลาดดอก เขาได้ทำการเผยแพร่เกียรติยศแห่งชาติ ทำการสมชื่อไทยคือรักความเป็นไทย เขาจึงได้ยอมเสียสละเช่นที่เราทำเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นในเวลาสำคัญเช่นนี้ เราทั้งหลายต้องช่วยกันโดยอาการที่อาจทำได้ในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆกัน ส่วนผู้ที่ออกไปในหน้าที่เพื่อนำธงไทยของกองทัพไทยไปยังทวีปยุโรป ก็ต้องพยายามแสดงให้แลเห็นชัดแก่สายตาโลกว่าชาติไทยยังไม่สิ้นเชื้อนักรบ ยังมีเชื้อชาติติดต่อมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ฝ่ายเราทั้งหลายที่จำเป็นจะต้องอยู่ข้างนี้ก็ต้องตั้งใจทุกคน ที่จะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้การสำเร็จไปให้สมแก่ชื่อว่าเป็นเชื้อชาตินักรบของไทยผู้ตั้งใจรักษาคณะไทย เมื่อมีความตั้งใจพร้อมกันอยู่เช่นนี้แล้ว ก็พอจะหวังได้ว่าจะได้เห็นความสำเร็จดังปราถนา ในที่สุดเราตั้งใจอยู่เสมอเช่นนี้แล้ว เชื่อว่าจะได้เห็นความมีชัยอันงดงามแก่ฝ่ายเราเป็นแน่แท้

   ด้วยความเชื่ออันนี้ ข้าพเจ้าขอชักชวนท่านทั้งหลายซึ่งอยู่ในที่นี้ตั้งใจให้พรแก่ นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ และนายทหารกองทูตที่จะออกไปพร้อมกันให้มีความสุขสำราญ และขอให้อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งซึ่งเป็นประธานใหญ่ในโลกอภิบาลรักษาให้ปราศจากสรรพอุปัทวันตราย ได้กลับมาบ้านเมืองโดยนำธงชัยของกองทัพบกกลับมาในเมื่อมีชัยชนะ”



    เมื่อกองทูตทหารเดินทางไปแล้ว พระองค์ได้ทรงจัดส่งกองบินทหารบกและกองรถยนต์ทหารบกตามไป และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานเลี้ยงส่งเหล่าทหารอาสาทั้ง2กองนี้ โดยทรงมอบให้พันเอกพระเฉลิมอากาศ เป็นผู้บังคับการกองทหารอาสาที่ไปในงานพระราชสงครามครั้งนี้ ณ ท้องสนามหน้าพระที่นั่งอนัตสมาคม ดังพระราชดำรัสแก่ทหารดังต่อไปนี้

  “ดูกรท่านทหารทั้งหลาย

       ข้าพเจ้าเชิญท่านทั้งหลายมาสโมสรประชุมและเลี้ยงส่งทหาร ซึ่งจะออกไปนอกประเทศวันนี้ ก็เพื่อจะแสดงความยินดีของข้าพเจ้าผู้เป็นจอมทัพบก และซึ่งรู้สึกเกียรติยศว่านับตัวได้ว่าเป็นหัวหน้าของท่านทั้งหลาย นานมาแล้วทหารไทยเรายังมิได้ทำการยุทธนอกประเทศ เพราะฉะนั้นก็ต้องนับว่าในการที่ได้มีโอกาสคราวนี้เป็นโอกาศสำคัญอันหนึ่งในหมู่พวกเราที่เป็นทหารไทย ควรจะรู้สึกว่าพวกเราทั้งหลายที่ไปในครั้งนี้เหมือนเป็นผู้ที่จะไปทำให้พงษาวดารไทยรุ่งเรืองงดงาม  เป็นผู้ประดิษฐ์หน้าอันหนึ่งในพงษาวดารชาติเราให้ลูกหลานที่สืบสายโลหิตได้รู้สึกภูมิใจเมื่อพลิกเห็นหน้านี้ ในการที่เราทั้งหลายจะออกครั้งนี้ ถึงจำนวนเราน้อยก็จริงอยู่แต่ขอให้รู้ว่าข้อนั้นไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่เกียรติยศ ขอให้นึกดูให้ดี เราทั้งหลายรู้สึกน้อยหน้าน้อยใจอย่างไรมานานแล้วเท่าใด ในการที่ใครๆเขาเห็นเราเป็นชาติเล็กน้อยไม่เสมอหน้าเขาได้ ในคราวนี้เป็นโอกาสอันดีที่เปิดให้แก่เราทั้งหลายที่จะได้แสดงให้เห็นชัดปรากฎแก่ตาชาวโลกว่า มหาประเทศเขารับเราเท่าประเทศทั้งหลายแล้ว และที่เราได้มีโอกาสขึ้นมาเสนอหน้ากับชาติอื่นๆในครั้งนี้ ขอให้เราทั้งหลายที่อยู่ในที่นี้ไตร่ตรองดูให้ดีว่าเป็นเพราะเหตุใด

   มีผู้พูดอยู่เสมอว่ากรุงสยามเป็นเมืองเล็กประเทศน้อย ถึงจะมีทหารไว้ก็สู้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นมีไว้ก็เป็นการเปลืองเงินเปล่า ข้อนี้ตัวข้าพเจ้าผู้เป็นหัวหน้าของทหารทั้งหลายได้รู้สึกเจ็บใจมานานแล้ว แต่ว่าไม่มีโอกาสจะเถียงให้ถนัด มาครั้งนี้เป็นโอกาสดีเห็นถนัดแล้ว คือ ถ้าต่างว่าผู้ที่พูดว่าทหารไม่มีประโยชน์กรุงสยามไม่ควรจะมีทหารนั้น สมมุติว่าได้บันดาลให้เป็นไปตามที่พูดแล้วเมืองเราเวลานี้จะอยู่ที่ไหนเล่าท่าน จะได้มีโอกาสได้ไปแสดงชื่อเสียงในท่ามกลางยุโรปอย่างนี้หรือ นี่เพราะเรามีทหาร เพราะเราเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพราะเราอยู่ในความไม่ประมาท จึงได้มีโอกาสเผยแพร่เกียรติยศของชาติที่รักของเรา เมื่อเป็นดังนี้แล้ว เราทั้งหลายที่เป็นทหารควรจะรู้สึกว่าเรามีชัยขั้นต้นเสียหนึ่งขั้นทีเดียว เรามีชัยแก่พวกที่ดูถูกพวกเรา เรามีชัยแก่พวกที่ไม่รู้จักราคาของพวกเราที่เป็นทหารนี้ขั้นหนึ่ง ขั้นที่สอง เราได้มีชัยแล้วแก่ผู้ที่ดูถูกว่าเราเป็นชาติเล็ก แม้แต่เราเป็นชาติเล็กก็ดี เราก็ยังสามารถยื่นมือยื่นแขนอันยาวออกไปทำการถึงในสมรภูมิในงานมหาสงครามใหญ่ที่สุดที่โลกเรานี้ได้เคยเห็นมา

   อีกประการหนึ่งที่เราได้มีเกียรติยศเช่นนี้ ก็เพราะเหตุที่ชาติเราตั้งอยู่ในทางธรรม คือตั้งอยู่ในที่ถูก เราจะมีทหารไว้ก็ดี จะมีกำลังอย่างๆทั้งปวงไว้ก็ดี ไม่ได้มีไว้สำหรับข่มเหงผู้อื่น ไม่ได้มีไว้สำหรับที่จะเอากำหมัดเที่ยวยัดปากคนอื่น เรามีไว้สำหรับทำไม สำหรับรักษาชื่อเสียงของเราที่เป็นไทย รักษาความเป็นไทยให้สมชื่อของเราที่เป็นไทย ข้อนี้ควรเป็นข้อที่ทำให้เราทั้งหลายร่าเริง เพราะเหตุใด เพราะเรารู้สึกว่าพวกเราทั้งหลายอยู่ในที่ถูก ด้วยความตั้งใจดีมีฝังอยู่ในดวงจิตของทหารทุกคนที่จะตั้งใจออกไปรบในครั้งนี้ ข้าพเจ้าผู้หนึ่งเชื่อมั่นในใจว่าทหารไทยที่จะได้ออกทำการต่อหน้าโลกในครั้งนี้ จะไม่ทำให้เสื่อมเสียชื่อชาติเป็นอันขาด ตรงกันข้ามจะทำให้โลกนิยมนับถือ

     พวกท่านทั้งหลายที่จะเป็นผู้ออกไป เพื่อนำธงไทยไปคลี่ที่ในกลางสมรภูมิ ขอให้หมั่นรำลึกถึงข้อความที่ข้าพเจ้าพุดอยู่กับท่านในวันนี้ และขอให้รำลึกถึงข้าพเจ้าเป็นเพื่อนทหารซึ่งตามหน้าที่จำเป็นต้องอยู่บ้าน หน้าที่ของข้าพเจ้าห้ามไม่ให้ตัวข้าพเจ้าทิ้งบ้านเมืองไป แต่ก็ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะห้ามหัวใจไม่ให้ไปกับท่านได้ เพราะฉะนั้นขอให้เพื่อนทหารทั้งหลายนึกเชื่อเสียเถิดว่า ถึงท่านจะอยู่ในกลางทะเลก็ดี จะอยู่ในกลางสมรภูมิก็ดี บินอยู่ในอากาศก็ดี ข้าพเจ้าเป็นเพื่อนอยู่กับท่านทุกแห่ง ขอให้เชื่อเถิดในข้อนี้ ถ้าท่านผู้ใดจะรับอันตรายในหน้าที่บ้างแล้ว ขออย่าได้นึกว่าต้องรับแต่เพียงผู้เดียว ข้าพเจ้าเป็นผู้รับด้วยเหมือนกัน เป็นผู้เจ็บด้วยเหมือนกัน ถ้าท่านได้รับความยินดีเบิกบานใจ ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะช่วยแบ่งความยินดีนั้นอุทิศให้ข้าพเจ้าผู้อยู่ทางบ้านบ้าง

      ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะได้เห็นท่านทั้งหลายกลับมาสู่บ้านเกิดเมืองนอน นำความมีชัยอันงดงามมาสู่บ้าน และนำสง่าราศีมาสู่ราชาธิปไตยซึ่งท่านทั้งหลายเป็นเหมือนเสาค้ำจุนอยู่ และเป็นสง่าแก่ชาติซึ่งท่านจะเป็นผู้ทำนุบำรุงให้ยั่งยืนสืบไป ให้มีชื่อว่าเป็นไทย ไทยสมชื่อชั่วกัลปาวสาน

    ท่านทั้งหลายไปครั้งนี้ไปผิดกับราชการธรรมดามาก อย่ารู้สึกว่าเป็นของเล็กน้อย ต้องเห็นว่าสำคัญและประพฤติให้สมแก่ที่เป็นทหารไทยที่ส่งไปเป็นตัวอย่างของกองทัพไทย ความประพฤติของท่านทั้งหลายต่อผู้อื่นในยุทธภูมิและที่ใดๆในต่างประเทศต้องให้เขาชมทุกอย่าง ต้องระวังที่สุดอย่าให้มีที่ติได้ ถ้าแม้ว่าพวกเราที่จะไปนี้ทำให้เขาติเตียนได้ ต้องเข้าใจว่าทหารไทยทั้งหมดจะพลอยเสียชื่อด้วย ที่ชาติอื่นเขาไปทำสงครามเขาระวังรักษาตัวอย่างกวดขันก็เพราะเหตุใด ก็เพราะต่างคนต่างแข่งดีกัน เราไปเราก็ต้องแข่งขันกับเขาเช่นนั้นเหมือนกัน ไม่มีปัญหาอะไร

     ที่ข้าพเจ้าพูดมานี้ ขอให้เข้าใจว่าพูดเป็นส่วนตัว  ตักเตือนกันฉันท์เพื่อน ไม่ใช่กลัวว่าจะไปทำเสียหายอะไร ตรงกันข้ามข้าพเจ้าเชื่อใจท่านทั้งหลายทุกคน เชื่อว่าคงตั้งใจที่จะไม่ให้มีข้อบกพร่องแม้แต่น้อย

     ในที่สุดข้าพเจ้าขออวยพรแก่ทหารที่จะออกไปนอกประเทศครั้งนี้ ขอความสุขสวัสดิ์จงมีแด่ท่านทั้งหลาย ขอจงผ่านพ้นอุปสรรคอุปัทอันตรายให้ได้กลับเข้ามาเต็มไปด้วยชัยชนะ เพื่อจะได้มาเห็นหน้าข้าพเจ้าผู้เป็นเพื่อน และให้ได้มานั่งร่วมโต๊ะกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อเสร็จงานสงครามแล้ว
     ขอให้มีความเจริญ ขอให้มีชัยชนะ ไชโย....”

     ทัพสัมพันธมิตรได้ส่งเรือชื่อเอมไปร์มารับทหารไทยที่เกาะสีชัง ทางกองทัพเรือไทยได้จัดส่งเรือลำเลียงทหารไทยไปส่งณ เรือเอมไปร์ จอมพลเสนาธิการทหารบก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้เสด็จไปส่งถึงเกาะสีชัง นับเป็นเกียรติในตำนานของชาติไทยที่ธงไตรรงค์ได้ชักขึ้นสู่ธงของเรือต่างชาติ นับเป็นเกียรติยศแก่ทหารหาญของพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามยิ่งนัก เรือกลไฟเอมไปร์ได้ถอนสมอออกจากเกาะสีชังเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 มุ่งตรงไปแวะตามเมืองท่าต่างๆเช่น เมืองสิงคโปร์, เมืองโคลัมโบ, เมืองปอร์เตส, เมืองมาร์เซย์ ก่อนขึ้นบกที่เมืองมาร์เซย์ อัคราชทูตอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร และกองทูตทหารไทยได้มาต้อนรับทหารไทยเป็นอย่างดี ทหารทั้ง2กองต่างแยกย้ายไปฝึกการใช้อาวุธต่างๆตามหน้าที่แห่งตน และฝึกให้รู้ถึงยุทธบริเวณต่างๆโดยทั่วไปเสียก่อนจึงจะส่งเข้าแนวรบ นายทหารครูฝึกสอนโดยมากเป็นนายทหารฝรั่งเศส ชนชาวฝรั่งเศสต่างพากันพิศวงชมเชยทหารไทยว่ามีท่าทางองอาจแข็งแรงสมเป็นทหารทั้งอยู่ในวินัยดีนัก ทีแรกชาวตะวันตกบางคนเข้าใจผิดไปว่าทหารไทยคือทหารญวนหรือทหารชนชาติเมืองขึ้น บางคนเขาไม่เคยรู้จักสยามมาก่อนเพิ่งรู้จักครั้งนี้เองว่าในโลกนี้มีประเทศสยามอยู่ด้วย สรุปความได้เป็นข้อสำคัญ คือ โลกได้รู้จักคนไทยชาติไทย ว่าแม้จะตัวเล็กแต่เป็นนักสู้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์จนฝรั่งทั่วไปเกรงกลัวและนับถือ การทำผิดใดๆนอกประเทศทหารไทยไม่ต้องขึ้นศาลทหารสัมพันธมิตร ขึ้นตรงต่อศาลสนามของกองทัพไทย นับเป็นสิทธิอันหนึ่งที่ทหารไทยได้รับตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม

    ทหารในกองบินทหารบกแยกไปฝึกการบินตามโรงเรียนการบินต่างๆในประเทศฝรั่งเศส ทหารกองรถยนต์ทหารบกก็เช่นกัน ทหารไทยส่วนใหญ่ที่ไปงานพระราชสงครามครั้งนี้ได้เข้าสู่ยุทธภูมิ เป็นหน่วยหนุนลำเลียงพลอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องสัมภาระทั้งปวงให้แก่ทหารในแนวหน้าและมีการสู้รบกันบ้างเป็นครั้งคราว ยังผลให้ทหารไทยชำนาญปฎิบัติการได้ดียิ่งยังความฉงนให้แก่ทหารสัมพันธมิตรเป็นอันมาก





     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานธงไชยเฉลิมพลให้แก่กองทหารบกรถยนต์ โดยทรงส่งไปมอบให้ณ ทวีปยุโรป นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์หัวหน้าทูตทหาร นายร้อยโทหม่อมราชวงศ์ตัน สนิทวงศ์ ณ กรุงเทพ เป็นผู้เชิญธงไชยเฉลิมพล ณ ที่ตั้ง นายพันโทพระทรงสุรเดชเป็นผู้นำ พร้อมด้วยนายพลตรีมอร์เดอร์เร็ลผู้บัญชาการทหารสุงสุดในเมืองนอยสตัดต์ และนายทหารในกรมบัญชาการกองทหารสัมพันธมิตร ได้เข้าร่วมในวันพิธีมอบธงไชยเฉลิมณ ที่ตั้งกองรถยนต์ไทยในเมืองนอยสตัดต์ ดังพระราชดำรัสในวันทรงส่งธงไชยเฉลิมพลดังนี้
     " ที่ 6/154
                                                                                                                        พระที่นั่งอัมพรสถาน
                                                                                                 วันที่ 9 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2461

ถึงจอมพล เจ้าพระยาบดินเดชานุชิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม

     บัดนี้ถึงโอกาสอันสมควรที่จะให้ธงไชยเฉลิมพลแก่กองบินทหารบกและทหารบกรถยนต์ ซึ่งไปราชการสงครามนอกพระราชอาณาเขต และเพราะเหตุที่กองทหารทั้งสองนั้นอยู่ในทวีปยุโรปแล้ว ฉันจึงขอมอบธงให้แก่เสนาบดีกระทรวงกลาโหมเพื่อจัดส่งไปยังกองทหารนั้นๆ และให้ชี้แจงแก่บรรดาทหารทั้งหลายในกองทั้งสองว่า บนธงนี้มีคาถาแสดงพระคุณของพระองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าจารึกไว้ เพื่อเตือนให้ทหารละลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยอันเป็นที่นับถือของเราทั้งหลายเหล่าพุทธศาสนิกชน ทั้งเป็นผู้คุ้มครองให้ปราศจากภยันอันตรายทั้งปวง มีรูปช้างเผือกและแบ่งเป็นสามสี เป็นเครื่องหมายถึงชาติไทยและบ้านเกิดเมืองมารดาของเรา มีอักษรย่อแสดงนามของฉันผู้เป็นประมุขแห่งชาติไทย รับภาระปกปักรักษาแผ่นดินสยามให้คงเป็นปฎิรูปเทศสำหรับชาติไทยชั่วฟ้าและดิน เมื่อทหารได้เห็นธงอันพร้อมด้วยเครื่องหมายดังว่ามาฉะนี้ ก็จงระลึกพระศรีรัตนตรัยชาติบ้านเกิดเมืองนอนเมืองมารดาและพระมหากษัตริย์ของตน ตั้งใจจงรักทั้งใช้ความพยายามเต็มที่ที่จะป้องกันมิให้ความเสื่อมเสียอย่างหนึ่งอย่างใดมาใกล้ได้เลย ชาติไทยก็คือคนไทยทั้งหมดรวมกันรักชาติสงวนชาติ ก็เท่ากับรักตัวเองสงวนตัวเอง พระศรีรัตนตรับและพระมหากษัตรย์เป็นของคนไทยทั้งปวงรวมกัน แปลว่าเป็นผู้รวมความสามัคคีในหมู่ชาติไทยให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จำต้องรักต้องสงวนเชิดชูไว้ด้วยความพยายามจนสุดกำลัง

     กองบินทหารบกและกองทหารบกรถยนต์ เป็นกองทหารซึ่งได้มีเกียรติศักดิ์และมีโอกาสพิเศษออกไปกระทำสงครามร่วมมือกับนานาชาติราชสัมพันธมิตรในยุทธบริเวณทวีปยุโรป เป็นคราวแรกในพระราชพงศาวดารสยาม ฉะนั้นบรรดาทหารในกองนั้นๆต้องระลึกถึงความข้อนี้อยู่เสมอ และตั้งใจปฎิบัติกิจตามหน้าที่และรักษามารยาทความประพฤติของตนให้ดียิ่ง ไว้นามของชาติไทยและส่งเสริมเกียรติของกองทัพบกสยามให้รุ่งโรจน์แผ่ทั่วสากลโลก

     ขอความสุขสิริสวัสดิ์และไชยมงคล จงมีแก่บรรดาทหารในกองบินทหารบกและทหารบกรถยนต์ ผู้แทนชาติไทยในมหายุทธสงคราม
                                                                                                    (พระบรมนามาภิไธย)  ราม ร.
                                                                                                        จอมพล,  จอมทัพบก "

   เมื่อนายพันโทพระทรงสุรเดชอ่านลายพระหัสถเลขาจบลงแล้ว นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ได้มอบธงไชยเฉลิมพลให้แก่ นายพันตรีหลวงรามฤทธิ์รงค์ ผู้บังคับกองร้อยทหารบกรถยนต์ ในโอกาสนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสได้จัดการส่งตราครัวก์ซ์ เดอะแกร์ ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้แก่ธงไชยเฉลิมพลกองรถยนต์ไทยมายังนายพลนายพลตรีมอร์เดอร์เร็ล ผู้บัญชาการทหารสุงสุดในเมืองนอยสตัดต์ เพื่อให้ถือโอกาสนี้เป็นเวลาที่จะประดับตราให้แก่ธง ขณะที่นายพลนายพลตรีมอร์เดอร์เร็ลนำตรามาประดับให้แก่ธง ผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์สั่งให้ทหารกระทำวันทยาวุธ กองแตรทหารฝรั่งเศสได้บรรเลงเพลงประจำชาติของฝรั่งเศส(มาเซเยส์) ทหารไทยได้ร้องไชโย ทหารฝรั่งเศสได้ร้องโฮราเสียงดังสนั่นในเมืองราชศัตรู เมื่อเสร็จการประดับตราแล้ว กองทหารได้เริ่มเดินสวนสนามผ่านหัวหน้าทูตและนายพลฝรั่งเศส ท่ามกลางบรรดาทหารฝรั่งเศสและชาวเยอรมันนีซึ่งได้ไปดูการพิธีครั้งนี้ ทั้งนี้เนื่องมาจากธงไชยเฉลิมพลเดินทางมาถึงหลังจากมีการพักรบแล้วนั่นเอง



     เมื่อได้เข้ากระทำการรวมอยู่ในกองทัพสนาม ทหารไทยทุกนายก็มีแต่ความมุ่งมั่นที่จะช่วยกองทัพฝรั่งเศสอย่างจริงใจ ในระหว่างเวลาตั้งแต่วันที่26 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2461 ทหารไทยได้รับมอบหน้าที่ให้ทำการสำคัญอันเต็มไปด้วยความยากลำบาก ก็ได้กระทำเป็นผลสำเร็จดียิ่ง  ได้ลำเลียงกำลังทหารและกระสุนปืนใหญ่เป็นจำนวนมากมาย เข้าไปส่งในย่านกระสุนปืนข้าศึกหลายหนหลายครั้ง และในยุทธภูมิที่สำคัญๆทหารไทยต้องเข้าปฎิบัติงานอย่างหนัก แต่ได้รับผลสำเร็จดีมากจนมีผู้ที่ได้เหรียญตรา ครัวก์ซ์เดอะแกร์ จากกองทัพสัมพันธมิตรคือ

        1.นายร้อยเอกแม้น เหมะจุฑา ผู้บังคับกองย่อยที่3

        2. นายร้อยตรีเภา เพียรเลิศ ผู้ช่วยผู้บังคับกองย่อยที่3

ผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรความชอบคือ นายร้อยตรีชุ่ม จิตรเมตตา นายแพทย์ในกองทหารบกรถยนต์สยาม

ผู้ที่ได้รับความดีความชอบจากทางการราชการ โดยถูกยกย่องให้เป็นชั้นอัศวิน คือ

        1.นายร้อยเอกศรี ศุขะวาที

        2.นายร้อยเอกเพิ่ม อุณหสูต


   วันที่11พฤศจิกายน 2461 ฝ่ายเยอรมันนีได้ยอมทำสัญญาพักรบ ยอมปฎิบัติตามข้อบังคับของฝ่ายสัมพันธมิตร ในเรื่องที่จะถอยออกจากดินแดนของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งฝ่ายเขาได้บังอาจยึดเอาไว้นั้นทั้งหมด ซ้ำยอมถอยข้ามลำน้ำไรน์ให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดดินแดนเยอรมันนีทางฝั่งซ้ายของลำน้ำไรน์ไว้เพื่อเป็นประกัน ยอมยกเรือรบและปืนใหญ่น้อย เครื่องบิน ยานพาหนะ รถไฟและรถยนต์ให้อีกเป็นจำนวนมาก แปลว่ายอมแพ้อย่างราบคาบ

    ณ.เมืองหลวงเบลเยี่ยม ก่อนที่ทหารไทยจะเหยียบเข้าสู่ดินแดนข้าศึก นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์หัวหน้าทูตทหาร ได้โทรเลขกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านจอมพลเสนาธิการทหารบก มีข้อความดังต่อไปนี้

" วันที่14 ธันวาคม พ.ศ. 2461
เสนาธิการทหารบก กรุงเทพ ฯ

    ขอพระราชทานพระกรุณา ได้ทรงนำข้อความในโทรเลขของข้าพระพุทธเจ้า ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า

    วันนี้ กองทหารของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เหยียบเข้าไปในดินแดนของข้าศึก เผยแผ่พระบรมราชกฤษฎาภินิหารแห่งบรมกษัตราธิราชเจ้า พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพสมบูรณ์ ในขณะที่ธงชัยได้ปลิวสบัดชายอยู่เหนือเกล้าฯแห่งเขาทั้งหลาย ในโอกาสอันนี้ข้าพระพุทธเจ้าได้รับฉันทะจากพวกเขาทั้งหลาย เพื่อขอให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ทรงพระกรุณารับคำถวายพระพรชัย อันเต็มไปด้วยความปราโมทย์ของพระผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในสากลโลก จงทรงประสาทพรเป็นนิรันดรแด่พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าของเหล่าข้าพระพทุธเจ้าทั้งหลาย ขอให้ประเทศสยามสถิตสถาพรอยู่ชั่วกัลปาวสาน

                                                  ข้าพระพุทธเจ้าพระยาพิไชยชาญฤทธิ์
                                                        นายพลตรีหัวหน้าทูตทหาร"

  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานโทรเลขตอบนายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ ดังมีความความต่อไปนี้

     "ถึง นายพลตรีพระยาพิไชยชาญฤทธิ์ หัวหน้าทูตทหารไทย กรุงปรารีส จงนำความชอบใจของข้าพเจ้านี้แจ้งแก่ทหารหาญของข้า ในการที่เขาได้แสดงความจงรักภักดี วันที่รู้สึกภูมิใจที่สุดในชีวิตข้าก็คือ วันที่ได้ทราบว่ากองทหารไทยได้รุกเข้าไปเหยียบดินแดนข้าศึกแล้ว และความละลึกแห่งมหามงคลการอันนี้จะฝังมั่นอยู่ในดวงใจส่งเสริมให้สู้เสียสละต่อไป ในนามแห่งชาติอันเป็นที่รักและเมืองมารดาของเรา จงนำความยินดีและพรนี้ ไปแจ้งแก่กองทหารอันองอาจแกล้วกล้าของข้าฉันท์เพื่อนทหารผู้หนึ่งถึงสหายผู้ทำการอยู่ในสนามรบนั้นเทอญ
                                                                                                     (พระบรมนามาภิไธย)  ราม ร."

     เมื่อทหารทุกนายได้รับแจ้งความประกาสพระราชโทรเลขนี้แล้ว ได้รู้สึกในพระกรุณาเป็นล้นเกล้า ต่างรู้สึกมีความปิติยินดีอิ่มเอิบทั่วกันทุกคน ต่างได้ตั้งใจพยายามปฎิบัติหน้าที่ต่อไปโดยเต็มสติกำลัง เพื่อเป็นการเผยแพร่พระบรมเดชานุภาพให้สมกับที่ได้ทรงพระมหากรุณา

     ทหารไทยได้แยกย้ายกันไปสวนสนามในกรุงลอนดอน ในกรุงปารีส และในกรุงบรุ๊สเซล เพื่อเป็นการเผยแพร่ เกียรติคุณของชาติไทย เป็นการเปิดเผยความจริงให้โลกรู้จักคนไทยชาติไทยยิ่งๆขึ้น เมื่อทหารไทยไปสวนสนามที่กรุงบรุ๊สเซลเสร็จแล้ว พระเจ้าแผ่นดินเบลเยี่ยมได้พระราชทานเลี้ยงนายทหารสัมพันธมิตร พระองค์ได้รับสั่งแก่นายพันตรีหลวงรามฤทธิรงค์ ผู้บังคับการกองทหารไทยว่า

     "พระองค์ทรงปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่กองทหารของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ห่างไกลได้มาช่วยราชสัมพันธมิตรกระทำสงคราม ทั้งได้ส่งกองทหารเป็นผู้แทนส่วนกองทัพสยามมาในการฉลองชัยของชาติเบลเยี่ยมด้วย ทหารในบังคับบัญชาของนายพันตรีหลวงรามฤทธิรงค์ได้เดินสวนสนามกันอย่างองอาจงดงามมาก"

    เมื่อสิ้นกระแสรับสั่งแล้ว ได้ทรงกลัดเครื่องราชอิสริยภรณ์มงกุฎชั้นที่4แห่งประเทศเบลเยี่ยมด้วยพระหัตถ์ พระราชทานแก่นายพันตรีหลวงรามฤทธิรงค์ ทั้งนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายแห่งความพอพระหทัยในกองทหารไทยซึ่งไปในงานนี้โดยทั่วไป

   



     เมื่อสงครามสงบแล้ว กองบินทหารบกกลับประเทศไทยก่อนโดยเรือชื่อมิเตา เรือออกจากท่ามาร์เซย์เมื่อวันที่ 19สิงหาคม 2462 ถึงเกาะสีชังวันที่ 19 กันยายน 2462 รวมเวลาเดินทางในสมัยนั้นจากประเทศฝรั่งเศสถึงประเทศสยามกินเวลา30วัน จอมพลฯ เสนาธิการทหารบกได้เสด็จไปรับกองทหารที่เกาะสีชังด้วยพระองค์เอง อำนวยการลำเลียงทหารไทยโดยพลโทพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหมื่นชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ทหารไทยได้นำเครื่องบินและเครื่องใช้ในการบินกลับมาด้วยมากมาย เมื่อเรือลำเลียงพลเข้าเทียบท่าราชวรดิษฐ์ขึ้นตั้งแถวเรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระมหาสมณะได้รับสั่งประทานพรแก่ทหาร ได้ทรงประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ธงไชยเฉลิมพลก่อน แล้วกองทหารเดินแถวผ่านเพื่อรับน้ำพระพุทธมนต์ แล้วเดินสวนสนามต่อพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงดำรัสต้อนรับทหารดังต่อไปนี้

     "ทหารทั้งหลาย

      ข้าจะพูดกับเจ้าเพื่อแสดงความยินดีรับรองเจ้าทั้งหลายกลับมายังบ้านเกิดเมืองมารดรของตัว การที่ข้ามาพูดรับรองครั้งนี้อีก ข้ารู้สึกว่ามีความยินดีปิติเต็มตื้นอยู่ในใจจนแทบพูดไม่ออก ขอให้เชื่อว่าเจ้าทั้งหลายที่ได้ออกไปในการสงครามครั้งนี้ ข้ารู้สึกและเข้าใจดีว่ามีความตั้งใจอย่างไร เจ้าตั้งใจที่จะแสดงให้ปรากฎแก่ตาโลกมาในเมืองเรา ในชาติไทยเรายังไม่สูญสิ้นธรรมะ ซึ่งได้บำรุงชาติเราขึ้นให้เป็นชาติเป็นปึกแผ่นตลอดมา กล่าวคือความจงรักภักดีต่อผู้ปกครอง ความจงรักภักดีต่อชาติ และความมั่นคงในศาสนธรรมที่เรานับถือ

     เจ้าทั้งหลายได้ยอมสละทุกอย่าง สละทั้งบ้านเรือนเคหะสถานและทรัพย์สินเท่าที่มี สละทั้งส่วนแห่งกาย แม้ชีวิตก็ยอมสละให้เพื่ออะไร เพื่อสนับสนุนธรรมซึ่งได้ทำให้ชาติเราเป็นชาติอยู่จนเดี๋ยวนี้ เมื่อเจ้าทั้งหลายจะออกไปข้ารู้สึกเหมือนแบ่งเอาใจของข้าออกไปด้วย ครั้นเมื่อเจ้าทั้งหลายกลับมา ได้มาเห็นหน้าเจ้าอีก ข้ารู้สึกเท่ากับเห็นหน้าญาติอันสนิทหรือพี่น้องอันร่วมใจ ธรรมดาเมื่อเวลาอยู่ในที่ใกล้เคียงกันบางทีไม่ใคร่รู้สึกความรักใคร่ว่ามีปานใด ต่อเมื่อห่างไกลกันออกไปแล้วจึงจะมารู้สึกว่าผู้ที่อยู่ห่างนั้นเรารักปานใด ในข้อนี้ตัวข้าได้รู้สึกสำหรับพวกเจ้าทั้งหลายเช่นนั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงคอยฟังอยู่เสมอว่า เจ้าออกไปที่สนามรบ เจ้าออกไปทำอย่างไรบ้าง แสดงกริยาอย่างไรบ้าง ทุกๆคราวที่ข้าได้รับข่าวถึงเรื่องเจ้าทั้งหลายได้ออกงาน ข้ารู้สึกเหมือนไปออกงานด้วยทุกที เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดในหมู่พวกเจ้าได้รับความเดือดร้อนรำคาญหรือใกล้อันตราย ใจข้าก็พลอยไม่สบายไปด้วยทุกที เมื่อไรรู้สึกหรือทราบว่าไปได้ดีทำดีต่อหน้าผู้อื่น ข้าก็พลอยรู้สึกปลื้มเหมือนอย่างตัวข้าเองได้ไปทำด้วยเหมือนกัน คราวนี้เจ้าทั้งหลายที่ได้กลับมานี้นับว่าไม่ได้เสียชาติเกิดเปล่า ได้ไปทำชื่อเสียงให้กับชาติเรา ได้แสดงให้ปรากฎแก่ตาโลกว่าไทยเรายังมีอยู่เป็นอันมากที่สมควรได้ชื่อว่าลูกผู้ชาย

     อนึ่งการที่ธงของกองเจ้าได้รับตราต่างประเทศมาแล้ว ย่อมเป็นพยานอยู่ในตัวแล้วว่านานานประเทศรู้สึกว่าทหารไทยทำการกล้าหาญน่าชื่นชม ครั้นจะให้ตราทั้งหมดก็เป็นการมากมายไม่ไหวอยู่เอง ส่วนตัวข้าเองข้าได้ตั้งใจไว้นานแล้วว่าจะต้องแสดงอย่างหนึ่งอย่างใดให้เจ้าทั้งหลายแลเห็นชัดว่า ข้าปลื้มปานใดในการที่พวกเจ้าได้ไปหาชื่อให้แก่ชาติไทยในครั้งนี้ ครั้นว่าข้าจะแจกตราให้แก่เจ้าทั้งหลายทุกคนก็จะเป็นการมากมายนัก ข้่าจึงคิดได้ว่าจะให้ตราแก่ธงประจำกองของเจ้า เพราะธงเป็นเครื่องหมายสำหรับกอง เพราะฉะนั้นเมื่อธงได้รับตราไปแล้ว ขอเจ้าจงรู้สึกว่าทุกๆคนได้รับตรา และทุกๆคนต้องตั้งใจรักษาเกียรติยศให้สมกับเป็นผู้ได้รับตรารามาธิบดีอันมีศักดิ์ ช่วยกันรักษาศักดิ์นี้ไว้ เพราะศักดิ์อันนี้ไม่ใช่ของเจ้าโดยเฉพาะตัว นับว่าเป็นศักดิ์ของกองทหารและเป็นศักดิ์ของตัวข้าผู้เป็นประมุขแห่งเจ้าทั้งหลายด้วย

     ข้าขอแสดงอีกครั้งหนึ่งด้วยความจริงใจ ว่าข้ายินดีต้อนรับเจ้าทั้งหลายกลับมาบ้านเกิดเมืองมารดร ขอให้เจ้าทั้งหลายอยู่เย็นเป็นสุขและจะปราถนาสิ่งใดให้ได้สมมโนรถทุกประการ"

     เมื่อสิ้นกระแสพระราชดำรัสแล้ว นายพันตรีหลวงรามฤทธิรงค์ได้อัญเชิญธงชัยเฉลิมพลเข้ามาสู่หน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผูกเครื่องราชอิสริยภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีที่ธงไชยนั้นแล้ว ต่อนั้นไปทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์แก่นายและพลทหารเกือบทุกตัวคนเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบ เสร็จพีธีกองทหารได้จัดขบวนสวนสนามผ่านหน้าพลับพลา ทำความเครพแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วเลยไปสู่ที่พักณ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม

     ในการนี้ราชการหยุด3วัน ที่ทำการของรัฐบาลและทุกบ้านช่องต่างตบแต่งประทีปโคมไฟสว่างไสวทั่วพระนคร และมีมหรสพนานาชนิดแสดงรอบๆสนามหลวงโดยเฉพาะใกล้อนุสาวรีย์ทหารอาสา ในค่ำวันนั้นกองทหารได้เดินขบวนสวนสนามผ่านถนนต่างๆ ในการเดินขบวนทหารทุกคนต้องถือโคมไฟดอกบัวสลับสีน้ำเงิน-แดง-เหลือง ก่อนออกเดินขบวนทหารทั้งหมดได้ร้องเพลงถวายพระพรชัยมงคลและเพลงตำนานย่อของทหารอาสา อาทิเช่น สระสม ช้างประสานงา ฝรั่งรำเท้า ลาวดวงเดือน และนางนาค เมื่อจบการร้องเพลงแล้วจึงออกเดินผ่านถนนหลายสาย เริ่มต้นตั้งแต่ถนนมหาไชยไปตามถนนเจริญกรุง ผ่านสถานทูตอังกฤษมีข้าราชการในสถานทูตออกมาต้อนรับ มีการเลี้ยงต้อนรับณ ที่นั่นพอสมควร แล้วขบวนกองทหารมุ่งสู่ที่พักกระทรวงกลาโหม สองข้างทางมีประชาชนทุกชาติทุกภาษาคอยต้อนรับอย่างหนาแน่น ต่อจากนั้นก็มีพิธีทางศาสนาทั้งฝ่ายลัทธิพราหมณ์และฝ่ายพุทธศาสนา ทุกๆพระอารามในพระนครได้ย่ำฆ้องกลองเป่าแตรสังข์ พระสงฆ์ได้ลงชุมนุมในพระอุโบสถนั้นๆ สวดพระพุทธมนต์ถวายพระพรไชยมงคลแก่พระราชอาณาจักรสยาม เฉพาะในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นองค์ประธาน ทรงนมัสการพระมหามณีรัตนปฎิมากร พระราชาคณะ39รูป เจริญพระพุทธมนต์เป็นเสร็จพิธีทางศาสนา และได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเลี้ยงนายทหารพลทหารที่กลับจากพระราชสงครามครั้งนั้น ณ ศาลารับแขก หลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

     วันต่อมาได้มีขบวนแแห่อัฐิทหารอาสาที่เสียชีวิตในงานพระราชสงครามครั้งนี้ โดยมีทูตานุทูตจากประเทศต่างๆมาเข้าร่วมขบวนด้วย ขบวนมุ่งไปยังวัดมหาธาตุซึ่งเป็นที่เตรียมไว้สำหรับพักก่อนจะนำไปบรรจุในอนุสาวรีย์ที่สร้างไว้ต่อไป ทหารทั้งหมดได้เข้าไปสู่อุโบสถวัดมหาธาตุ โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธาน และมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาวชิรญานวโรรส พร้อมด้วยพระราชาคณะอีก29รูป ได้ประชุมพร้อมกันในอุโบสถ สมเด็จพระมหาสมณะออกถวายเทศน์
     เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับพระธรรมเทศนาจบ ได้ทรงกระทำพิธีตามลัทธิศาสนาโดยครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานก็ได้เชิญอัฐิแห่ไปบรรจุณ อนุสาวรีย์ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือแห่งท้องสนามหลวง เมื่อทรงกระทำพิธีบรรจุอัฐิในอนุสาวรีย์เสร็จแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี ต่อๆมาทหารอาสาทั้งนายและพลส่วนมากได้รับการปลดออกเป็นทหารกองหนุน และได้แยกย้ายกันไปทำมาหากินตามหน้าที่เดิมโดยทั่วกัน

     สรุปผลที่ประเทศสยามได้รับจากการเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งนี้ นอกจากจะได้รับสิทธิเป็นคู่สัญญาสงบศึกด้วยแล้ว ยังได้รับผลที่สำคัญอีกหลายประการ เช่น

     1.ทำให้ฐานะของประเทศเขยิบขึ้นสู่ความเป็นเอกราชเกือบจะนับว่าสมบรูณ์ทุกประการได้

     2. หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ได้ถุกรื้อฟื้นขึ้นมาทำใหม่ ให้มีการเสมอภาคดีขึ้น

     3. อำนาจทางศาล อำนาจทางการค้า ตลอดจนอำนาจภายในประเทศได้ถูกปรับปรุงแก้ไขแล้วใช้โดยเสรีในภายหลัง

     4.ทำให้โลกได้รู้จัก-เข้าใจคนไทยถูกต้องดีขึ้น




---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บทความนี้ อ้างอิง คัดลอก และเรียบเรียงจาก 
       บทความเรื่อง : ความเป็นมาของสมาคมสหายสงครามในพระบรมราชูปถัมภ์
       เขียนโดย : ผัน วิสูตร (นามปากกา)
       หนังสือ : ทหารอาสาสงครามโลกอนุสรณ์ พิมพ์ครั้งที่2 เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2497

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

                                                                                                                             20 มีนาคม 2558 (SB)