วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2565

Chaijinda 1031 Patrol Boat

 

วันที่ 11 กันยายน 2563 พลตำรวจโท พงษ์วุฒิ พงษ์ศรี  ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิธีถูกจัดขึ้นที่อู่ต่อเรือบริษัท ซีเครสท์มารีน จำกัด ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นบริษัทสร้างเรือในประเทศมีผลงานสร้างเรือขนาดต่างๆ จำนวน 8 แบบ เรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุตของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงเป็นเรือแบบที่ 9

วัตถุประสงค์สร้างเรือเพื่อใช้ในภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงตามแนวชายฝั่งทะเล การป้องกันและปราบปรามแก้ไขปัญหาอาชญากรรมต่างๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สัญจรทางน้ำ

กองบังคับการตำรวจน้ำมีเรือตรวจการณ์ ขนาด 110 ถึง 180 ฟุตจำนวน 6 ลำ เรือ 5 ลำอายุการใช้งาน 45 ปีขึ้นไปและอีก 1 ลำอายุการใช้งาน 27 ปี  สำนักงานตำรวจแห่งชาติเล็งเห็นความสำคัญกองบังคับการตำรวจน้ำ ซึ่งมีหน้าที่และภารกิจทางน้ำในการถวายความปลอดภัย  รักษาความปลอดภัย ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม รวมทั้งรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กองบังคับการตำรวจน้ำเป็น 1 ใน 6 หน่วยงานหลักของศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหรือที่รู้จักกันในนาม ศรชล.การจัดหาเรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุตเพิ่มเติมจำนวน 1 ลำ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำหน้าที่และภารกิจทางน้ำได้ดีกว่าเดิม

แบบเรือบริษัทซีเครสท์มารีนใช้ชื่อว่า 42 m Monohull Fast Patrol Boat หรือ 1301 ROYAL THAI MARINE POLICE เรือมีความยาว 42 เมตรหรือ 137.76 ฟุต จึงถูกกำหนดให้เป็นเรือตรวจการณ์ 130 ฟุตใช้หมายเลข 1301 ความกว้างอยู่ที่ 7.9 เมตร กินน้ำลึก 1.5 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU 16V2000 M86 จำนวน 3 เครื่อง 3 ใบจักร ความเร็วสูงสุดมากถึง 34 นอต กำลังพลประจำเรือ 23 นาย

เพราะเรือมี 3 เครื่องยนต์ 3 ใบจักร กัปตันเรือสามารถเลือกได้ว่าจะเดินเครื่อง 1 หรือ 2 หรือ 3 ตัว

หัวเรือมีจุดติดตั้งปืนกลขนาดไม่เกิน 30 มม.Superstructure หรือเก๋งเรือชั้นสองคือสะพานเดินเรือขนาดใหญ่ ต่อด้วยห้องควบคุมกลางและห้องรับรองแขกวีไอพี เก๋งเรือชั้นหนึ่งขนาดใหญ่โตกว้างขวาง มีห้องรับรองอเนกประสงค์และห้องอาหารตกแต่งอย่างดี ห้องเครื่องยนต์ขนาดเล็กมากกินพื้นที่เพียงนิดเดียว พื้นที่ชั้นล่างเป็นห้องนอนกำลังพลประจำเรือ ต่อด้วยห้องเครื่องยนต์หลักกับระบบขับเคลื่อน มีการติดตั้งระบบปรับอากาศครอบคลุมทั้งลำ

แบบเรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุตซีเครสท์มารีนได้มาจากไหน ?

คำตอบก็คือปรับปรุงจากแบบเรือ SEA SWORDFISH 1 ของตัวเองนั่นแหละครับ เรือรับส่งผู้โดยสารและสัมภาระทางทะเลขนาดสั้นลง 0.5 เมตร แต่กว้างกว่าเดิม 0.1 เมตร เปลี่ยนเครื่องยนต์ Caterpillar C32 มาเป็น MTU 16V2000 M86 ความเร็วสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 27 นอตเป็น 34 นอต อัตราการใช้เชื้อเพลิงกับระยะปฏิบัติการย่อมน้อยลงตามความแรงเครื่อง แต่ภารกิจเรือตรวจการณ์ตำรวจน้ำเน้นความเร็วมากกว่าความประหยัด ซีเครสท์มารีนจึงได้ปรับปรุงแบบเรือให้เหมาะสมความต้องการของลูกค้า

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุตลงน้ำที่บริษัทซีเครสท์มารีน จำกัด ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยมีคุณรัตนาภรณ์ สีวลีพันธ์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ในฐานะภริยาผบ.ตร.เป็นผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะสมาคมแม่บ้านตำรวจเข้าร่วมพิธี

เรือลำใหม่ถูกตั้งชื่อว่า เรือตรวจการณ์ 1301’ หรือ เรือชัยจินดา โดยการนำบรรดาศักดิ์หรือนามสกุลอดีตอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเป็นชื่อเรือ ยกเว้นเรือตรวจการณ์ขนาด 60 ฟุตลงไปไม่มีชื่อเรือ จะถูกเรียกว่าเรือตำรวจน้ำตามด้วยหมายเลขประจำเรือ ซึ่งในบางครั้งอาจเขียนอักษรย่อว่า รน.’ หน้าหมายเลขเรือ

ภาพประกอบที่สองคือเรือตรวจการณ์ 1301 ก่อนปล่อยลงน้ำ  เรือใหม่นี่สีสวยมากผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษ กินน้ำลึกปรกติที่ 1.5 เมตร กินน้ำลึกสูงสุดที่ 1.7 เมตร สองกราบเรือติดตั้งแผงกันกระแทกยาวไปจรดบั้นท้าย เก๋งเรือชั้นสองสร้างระเบียงทางเดินค่อนข้างยาวจนเลยสะพานเดินเรือ มองเห็นเครนขนาดใหญ่สีเหลืองเป็นภาพเบื้องหลัง

งบประมาณในการเรือตรวจการณ์ 1301อยู่ที่ 336.951 ล้านบาท ใช้งบประมาณปี 2563 จำนวน 70 ล้านบาท กับงบประมาณปี 2564 อีก 266.951 ล้านบาท ผู้เขียนมีรายละเอียดการแบ่งจ่ายเงินเท่าที่ตัวเองพอหาได้

เงินจ่ายล่วงหน้าเรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุตจำนวนเงิน 33,695,091.90 บาท

เรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุต งวดที่ 1 จำนวนเงิน 18,804,908.20 บาท

เรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุต งวดที่ 1 ส่วนที่เหลือ จำนวนเงิน 14,890,183.60 บาท

เรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุต งวดที่ 2 จำนวนเงิน 91,889,916.40 บาท

เป็นการทยอยจ่ายเงินตามผลงานสร้างเรือแต่ละงวด เหมือนผู้อ่านต่อเติมบ้านหรือสร้างอาคารจอดรถนั่นเอง เงินล่วงหน้ามีเหมือนกันเพียงแต่ผู้รับเหมาไม่ทิ้งงานเหมือนกัน ใครหน้าไหนจะกล้าลองดีกับกองบังคับการตำรวจน้ำ

อยากให้ผู้อ่านสังเกตสักเล็กน้อยว่า ตัวเรือหรือ Hull ไม่ได้ทาสีเข้มตั้งแต่กลางเรือถึงบั้นท้ายเหมือนเรือตรวจการณ์กองทัพเรือ อาจเป็นเพราะออกแบบช่องระบายความร้อนเครื่องยนต์ไว้ค่อนข้างดี จึงไม่เกิดคราบเขม่าควันดำสร้างความสกปรกต่อสองกราบเรือ ได้คะแนนพิเศษเรื่องการออกแบบจากผู้เขียนสองหัวกะโหลก

ภาพประกอบที่สามเรือตรวจการณ์ 1301 กำลังทดสอบแล่นเรือก่อนส่งมอบ สิ่งแรกที่ผู้เขียนมองเห็นคือความปลอดโปร่งสะอาดตา อุปกรณ์ทุกอย่างบนเรือถูกจัดเก็บอย่างดีไม่เกะกะทางเดิน นอกจากมีพื้นที่ใช้งานภายในเก๋งเรือค่อนข้างมากแล้ว พื้นที่ใช้งานดาดฟ้าเรือกับหลังคาเรือค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน เป็นข้อได้เปรียบของแบบเรือรุ่นใหม่ผ่านการพัฒนาปรับปรุงมาอย่างดี ส่งผลให้เรือสามารถทำภารกิจได้หลากหลายกว่าเดิม

มาที่เสากระโดงเรือเอียง 115 องศาไปด้านหลังเป็นจุดแรก มีการติดตั้งเรดาร์เดินเรือ KODEN X-Band กับ S-Band รุ่นละ 1 ตัว ถัดไปเป็นลำโพงกระจายเสียงต่อด้วยกล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์ อุปกรณ์ตรวจจับเรือตำรวจน้ำลำใหม่ล่าสุดทันสมัยไม่เบา หลังคาเรือมีที่ว่างติดตั้งจานดาวเทียมสื่อสารหรือ SATCAOM ได้อย่างสบาย

ดาดฟ้าหัวเรือยังไม่ได้ติดปืนกลแต่อย่างใด หลังคาเก๋งเรือชั้นหนึ่งมีพื้นที่ใหญ่โตพอสมควร มีการติดตั้งปืนฉีดน้ำแรงดันสูงจำนวน 1 กระบอก ดาดฟ้าท้ายเรือมีเรือยางท้องแข็งจำนวน 1 ลำพร้อมเครน ท่อระบายอากาศกับท่อดูดอากาศสองกราบเรือรูปทรงสี่เหลี่ยม มีที่ว่างขนาดใหญ่ใช้เป็นจุดรับส่งสิ่งของจากเฮลิคอปเตอร์ สามารถติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตได้ 2 ตู้ สิ่งนี้คือออปชันมาตรฐานของเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ทั่วโลก

ดาดฟ้าเรือโล่งๆ แบบนี้ผู้เขียนชอบเหลือเกิน สามารถปรับปรุงเรือให้โหดกว่าเดิมโดยไม่ต้องดัดแปลง บั้นท้ายเรือสร้างบันไดทางเดินลงสู่พื้นระดับน้ำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษสะดวกในการขึ้นลงเรือยางท้องแข็ง เรือตรวจการณ์ลำใหม่อเนกประสงค์มากกว่าเดิม ทำภารกิจได้ดีกว่าเดิมแม้เป็นแบบเรือจากบริษัทสร้างเรือเล็กๆ ก็ตาม

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 น. มีการฝึกสาธิตทางทะเล (Sea Exercise) ณ พื้นที่ ส.รน.5 กก.4 บก.รน.ในน่านน้ำอำเภอปราณบุรี เพื่อเป็นการทบทวนการปฏิบัติและฝึกซ้อมร่วมกับกองบินตำรวจ โดยมีเรือตรวจการณ์ชัยจินดา (1301) เรือตรวจการณ์ 816 เรือตรวจการณ์ 527 เรือยางท้องแข็ง ชุดตรวจค้นเรือ นักปฏิบัติการใต้น้ำ เฮลิคอปเตอร์ บ.ตร. รวมทั้งกำลังพลจำนวนมาก เข้าร่วมทำการฝึกสาธิตสถานการณ์ 2 สถานการณ์ดังนี้

1.ตรวจค้นเรือต้องสงสัย เรือประมงดัดแปลงลักลอบค้ายาเสพติด และการฝึกดำน้ำค้นหาวัตถุพยานใต้น้ำ

2.ช่วยเหลือคนตกน้ำและดับเพลิงเรือท่องเที่ยวที่เกิดเพลิงไหม้กลางทะเล

วิธีการฝึกซ้อมช่วยเหลือคนตกน้ำตามภาพประกอบที่สี่มีรายละเอียดดังนี้

1.นำเรือตรวจการณ์เข้าใกล้ผู้ประสบภัยให้มากที่สุด แต่อยู่ในระยะปลอดภัยไม่เกิดอุบัติเหตุเรือพุ่งชนคน จากนั้นจึงปล่อยเรือยางท้องแข็งลงสู่น้ำพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ตามภาพเล็กในสี่เหลี่ยมสีเขียวนั่นแหละครับ

2.เรือยางแล่นเข้าใกล้ผู้ประสบภัยระยะปลอดภัยเช่นกัน เพื่อโยนชูชีพให้คนตกน้ำคล้องตัวเองเสร็จเรียบร้อย เจ้าหน้าที่จะช่วยดึงคนตกน้ำขึ้นสู่หัวเรืออันเป็นจุดปลอดภัยมากที่สุด ตามภาพเล็กในสี่เหลี่ยมสีแดงนั่นเอง

3.เรือยางท้องแข็งนำผู้ประสบภัยมาส่งเรือตรวจการณ์ตามสี่เหลี่ยมสีเหลือง วิธีขึ้นเรือมี 2 แบบคือบันไดระดับน้ำบริเวณบั้นท้ายเรือ กับใช้เครนยกเรือยางขึ้นมาเก็บพร้อมผู้โดยสาร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หน้างานที่เกิดขึ้นจริง

วิธีช่วยเหลือคนตกน้ำโดยนำเรือใหญ่มาจอดเทียบ ให้คนตกน้ำว่ายน้ำเข้ามาที่เรือผู้เขียนคิดว่าอันตรายเกินไป มีใครทำแบบนี้บ้างไหมตอบว่ามี ในกรณีเป็นเรือตรวจการณ์ความยาวเพียง 20 เมตรเศษ ต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัยท่ามกลางคลื่นลมแรงกลางทะเลลึก จำเป็นต้องโยนชูชีพให้คนตกน้ำว่ายมาที่หัวเรือเพื่อขึ้นบันไดลิง กรณีเร่งด่วนแบบนี้จำเป็นต้องทำก็ต้องทำแหละครับ มัวแต่รอเรือตรวจการณ์ลำใหญ่มาช่วยเห็นทีจะสายเกินแก้ไข

การฝึกสาธิตทางทะเลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กำลังพลทุกนายปลอดภัย นี่คือการออกงานครั้งแรกของเรือตรวจการณ์ 1301 หรือเรือชัยจินดา ท่ามกลางความภูมิใจกำลังพลทุกนายที่เข้าร่วมปฏิบัติการ

นอกจากความใหญ่โตกว้างขวางของเก๋งเรือและดาดฟ้าเรือ ระเบียงทางเดินบนชั้นสองยังช่วยให้เรือดูกว้างกว่าเดิม ราวกันตกแบบทึบตั้งแต่สะพานเดินเรือถึงบั้นท้ายทำให้เรือดูสูงกว่าเดิม ได้คะแนนพิเศษเรื่องการออกแบบจากผู้เขียนไปอีกหนึ่งหัวกะโหลก และได้รับตำแหน่งเรือตรวจการณ์สร้างเองในประเทศอันดับหนึ่งไปครอบครอง

ผู้เขียนชอบเรือลำนี้ค่อนข้างมาก รวมทั้งชอบมากเป็นพิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับเรือคู่แข่ง แม้ไม่ใช่เรือลำใหญ่ที่สุดของกองบังคับการตำรวจน้ำ แต่เรือตรวจการณ์ 1301 จะได้รับตำแหน่งเดอะแบกอย่างแน่นอน

ความเห็นส่วนตัวอยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดหาเพิ่มเติมสัก 3 ลำ ทดแทนเรือตรวจการณ์ขนาด 110 ถึง 180 ฟุตรุ่นเก่าซึ่งส่วนใหญ่จัดหามาจากญี่ปุ่น ยกเว้นเรือศรีนครินทร์ญาติผู้น้องของเรือหลวงล่องลมราชนาวีไทย

ต่อจากนี้ผู้เขียนจะพาไปรู้จักเรือคู่แข่งจำนวน 2 รุ่น อันเป็นแบบเรือที่ผู้อ่านทุกคนคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 กองทัพเรือมีหนังสือเชิญชวนจ้างสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งโดยวิธีคัดเลือกจำนวน 2 ลำ กำหนดราคากลางไว้ที่ 780 ล้านบาทหรือลำละ 390 ล้านบาทถ้วน บริษัทสร้างเรือเอกชนที่ให้ความสนใจยื่นซองประกวดประกอบไปด้วย

1.บริษัทมาร์ซัน จำกัด (มหาชน)

2.บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด

3.บริษัทเอเชี่ยน มารีน จำกัด

4.บริษัทอิตัลไทย จำกัด

5.บริษัทซีเครสท์มารีน จำกัด

นี่คือ 5 บริษัทสร้างเรือขนาดใหญ่ของไทยในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจกึ่งรัฐบาลกึ่งเอกชน

ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 กองทัพเรือประกาศผู้ชนะการเสนอราคาจ้างสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง โดยวิธีคัดเลือก ได้แก่บริษัทมาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเสนอราคา 720,110,000 ล้านบาท หรือลำละ 360 ล้านบาท โดยใช้แบบเรือ ต.994 ของกองทัพเรือที่มาร์ซันเคยได้รับสัญญาสร้างเรือในอดีตจำนวน 2 ลำ

ภาพประกอบที่ห้าคือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.996 สร้างโดยมาร์ซัน ในภาพติดอาวุธและอุปกรณ์ควบคุมการยิงจากยุโรป แต่เรือลำใหม่คือ ต.997 กับ ต.998 จะติดอาวุธและอุปกรณ์ควบคุมการยิงจากรัสเซีย มาร์ซันจะสร้างเรือเปล่าในราคาลำละ 360 ล้านบาท คุณสมบัติเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่กองทัพเรือไทยมีดังนี้

.997 มีระวางขับน้ำ 223 ตัน ยาว 41.45 เมตร กว้าง 7.2 เมตร กินน้ำลึกสุด 2.0 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MAN จำนวน 2 เครื่อง 2 ใบจักร ความเร็วสูงสุด 28 นอตน้อยกว่ารุ่นเก่า ต.994 ซึ่งใช้เครื่องยนต์ MTU เพียง 1.3 นอตระยะปฏิบัติการไกลสุด 1,500 ไมล์ทะเล ออกทะเลได้นานสุด 7 วัน กำลังพลประจำเรือ 33 นาย

สิ่งที่ ต.997 แตกต่างจากต.994 ในภาพประกอบก็คือ เสากระโดงเรือสูงกว่าเดิมประมาณสองฟุต และยังไม่ได้ติดตั้งติดอาวุธกับอุปกรณ์ควบคุมการยิง ผู้เขียนไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะได้รับการติดตั้งเมื่อไร

เรือตรวจการณ์ 1301 ยาวมากกว่า ต.997 เพียง 0.55 เมตร กว้างกว่า 0.6 เมตร กินน้ำน้อยกว่า 0.3 เมตร แต่มีความเร็วสูงสุดสูงกว่าถึง 6 นอต หากเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ Caterpillar C32 จะช่วยประหยัดต้นทุน โดยมีความเร็วสูงสุดน้อยกว่า ต.997 เพียง 1 นอต คุณสมบัติเรือจะใกล้เคียงกันทุกอย่างยกเว้นแค่เพียงราคา

.997 ราคา 360 ล้านบาท เรือตรวจการณ์ 1301 ราคา 336.951 ล้านบาท ต่างกัน 23.049 ล้านบาท

ผู้เขียนมั่นใจว่าตอนยื่นซองประกวดซีเครสท์มารีนใช้แบบเรือในบทความ แต่ไม่แน่ใจเรื่องเครื่องยนต์กับการตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน ซีเครสท์มารีนบุกกองทัพเรือแล้วแม้จะยังพ่ายแพ้ต่อขาประจำก็ตาม

เนื่องจากแบบเรือ ต.997 พัฒนามาจากเรือตรวจการณ์ชั้น ต.991 ส่วน ต.991 พัฒนามาจากเรือตรวจการณ์ชั้น ต.91 จากยุค 50 ปีที่แล้ว ความอเนกประสงค์ย่อมมีน้อยกว่าแบบเรือรุ่นใหม่ล่าสุด เหตุผลที่กองทัพเรือเลือกแบบเรือจากมาร์ซันเป็นผู้ชนะเลิศ อาจเป็นเพราะมีเรือตระกูลเดียวกันเข้าประจำการจำนวน 6 ลำ

เรือคู่แข่งลำที่ 2 มาจากบริษัทมาร์ซันเช่นกัน เพียงแต่ขนาดเรืออาจไม่ใช่คู่แข่งขันโดยตรง

วันที่ 22 สิงหาคม 2560 กองทัพเรือจ้างสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งโดยใช้วิธีพิเศษ วงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรคือ 475 ล้านบาท เท่ากับเรือมีราคาลำละ 237.5 ล้านบาท บริษัทมาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ได้รับสัญญาจ้างสร้างเรือ ต.114 กับ ต.115 โดยใช้แบบเรือ M36 ซึ่งเคยสร้างเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือชั้น ต.111 มาก่อน

.114 มีระวางขับน้ำ 150 ตัน ยาว 36 เมตร กว้าง 7.6 เมตร กินน้ำลึกสุด 1.75 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล CUMMINS จำนวน 3 เครื่อง 3 ใบจักร ความเร็วสูงสุด 27 นอต กำลังพลประจำเรือ 33 นาย ขนาดเล็กกว่าเรือตรวจการณ์ 1301 ถึง 6 เมตร ระวางขับน้ำย่อมน้อยกว่ากันไปด้วยตามปรกติ

มาร์ซันนำเรือรับส่งผู้โดยสารและสัมภาระทางทะเลมาพัฒนาเป็นเรือตรวจการณ์ รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงเรือตรวจการณ์ 1301 ราวกับพี่น้อง จุดติดตั้งปืนกลขนาด 30 มม.หัวเรือแคบพอๆ กัน ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตได้ 2 ตู้เท่ากัน พื้นที่ในเก๋งเรือและดาดฟ้าเรือค่อนข้างกว้างขวางมากกว่า ต.997

.114 เปรียบได้กับเรือตรวจการณ์ 1301 ขนาดย่อส่วน ใส่เครื่องยนต์กำลังต่ำกว่าจากอเมริกา ตกแต่งภายในเน้นใช้งานตามสไตล์ทหารเรือ จุดเด่นก็คือราคาถูกกว่าถึง 99.451 ล้านบาท ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจที่กองทัพเรือขึ้นโครงการเรือ ต.997 เพื่อติดอาวุธกับอุปกรณ์ควบคุมการยิงจากรัสเซีย ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนกองทัพเรือเพิ่งจ้างสร้างเรือ ต.114 ซึ่งมีความยาวน้อยกว่าร่วมๆ 6 เมตรก็จริง แต่มีราคาถูกกว่ากันถึง 122.5 ล้านบาท

ในวงเงินสร้างเรือ ต.997 จำนวน 2 ลำ จะสร้างเรือ ต.114 ได้ถึง 3 ลำโดยเหลือเงินทอน 7.5 ล้านบาท

ซีเครสท์มารีนบุกกองทัพเรือแล้วแต่ดูเหมือนจะเจอทางตัน เพราะมีเรือ ต.997 กับ ต.114 เป็นสิ่งกีดขวางขนาดใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม คำสั่งซื้อจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติคงมีเพิ่มเติมไม่เกิน 2 ลำ ฉะนั้นแล้วอย่ามัวหาลูกค้าในประเทศให้อดอยากปากแห้งอยู่เลย ไปบุกตลาดโลกร่วมกันโกยเงินดอลลาร์เข้าเมืองไทยไม่ดีกว่าหรือ

ผู้เขียนขอแต่งตั้งตัวเองเป็นวิศวกรกำมะลอระดับโคตรเซียน ปรับปรุงแบบเรือ 42 m Monohull Fast Patrol Boat เพิ่มเติมเป็น 3 เวอร์ชันประกอบไปด้วย

1.เรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งและตำรวจน้ำ รูปร่างหน้าตาเหมือนเรือตรวจการณ์ 1301 ทั้งหมด แต่เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ Caterpillar C32 ความเร็วลดลงเหลือ 27 นอต การตกแต่งภายในให้ลดระดับลงมาแค่พอใช้งาน รวมทั้งเสนอขายเรือจำนวนหลายลำเป็นการลดต้นทุน อาจกดราคาเรือให้อยู่ไม่เกินลำละ 300 ล้านบาทสำเร็จ

เรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ขนาด 42 เมตรราคา 300 ล้านบาท นำไปขายให้กับประเทศเล็กๆ ในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ หมู่เกาะน้อยใหญ่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ต้องมีลูกค้าบ้างสิขนาดบังกลาเทศยังทำสำเร็จเลย

2.เรือตรวจการณ์ปืนตามภาพประกอบสุดท้าย โดยนำเรือเวอร์ชันหน่วยยามฝั่งมาติดปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.ที่หัวเรือ หลังคาสะพานเดินเรือติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการยิง มีปืนกลขนาด 12.7 มม.อีก 2 กระบอกใช่เป็นปืนรอง

ลูกค้าสามารถเลือกติดตั้งระบบอำนวยการรบได้ตามใจชอบ หากคิดว่าแพงไม่อยากติดย่อมทำได้ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ออปชันเสริมสำหรับลูกค้าผู้มีความหวาดระแวงก็คือ ถอดปืนฉีดน้ำแรงดันสูงที่อยู่กลางเรือออก ทดแทนด้วยปืนกลอัตโนมัติขนาดเล็กรุ่นใดรุ่นหนึ่ง STAMP 12.7 มม.ของตุรกีหรือ Hitrole NT 12.7 มม.ของอิตาลีเลือกได้เลย

3.เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีซึ่งถือเป็นรุ่นดีที่สุด โดยเรือเวอร์ชันตรวจการณ์ปืนเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ MTU ทำความเร็วสูงสุด 34 นอต (น้อยกว่าเรือหลวงราชฤทธิ์เพียง 2 นอต) เรือกินน้ำเพียง 1.5 เมตรเหมาะสมกับภารกิจ (เรือหลวงราชฤทธิ์กินน้ำลึก 1.7 เมตร) แต่ต้องมีการดัดแปลงปรับปรุงให้เหมาะสมมากกว่าเดิม

หัวเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.เหมือนเดิม ใช้ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงรุ่น EOS500 ของ SAAB ระบบอำนวยการรบ 9LV Mk4 ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ 3 มิติรุ่น Sea Giraffe 1X AESA ปืนกล 12.7 มม.ขยับไปทางด้านหลังสักเล็กน้อย เพื่อติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงขนาด 130 มม.จำนวน 6 ท่อยิง ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM ปืนกลอัตโนมัติขนาดเล็กกลางเรือเปลี่ยนเป็นแท่นยิงแฝดสอง SIMBAC RC สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Mistral-3 ระยะยิง 7 กิโลเมตร

บริเวณกลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ MARTE Mk2/N จำนวน 4 นัด โดยติดท่อยิงซ้อนสองด้านบนขวางลำเรือเพื่อประหยัดพื้นที่ MARTE Mk2/N ขนาดกะทัดรัดบรรจุหัวรบหนัก 70 กิโลกรัม ระยะยิง 30 กิโลเมตรถือว่าเหมาะสมกับภารกิจและขนาดเรือ อุดช่องโหว่การป้องกันภัยตามเกาะแก่งน้อยใหญ่ได้เป็นอย่างดี

ลูกค้าเรือตรวจการณ์ปืนกับเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีประกอบไปด้วย ประเทศในตะวันออกกลาง ประเทศเงินหนาในแอฟริกา อเมริกาใต้ บรูไน ฟิลิปปินส์ รวมทั้งประเทศที่อเมริกาจัดหาเรือให้ใช้งานอาทิเช่นยูเครน

หากชีวิตไม่สิ้นยังต้องดิ้นรนกันต่อไป ซีเครสท์มารีนแจ้งเกิดเรือตรวจการณ์ความยาว 130 ฟุตสำเร็จแล้ว จากนี้ไปคือการขยายตลาดให้กว้างไกลกว่าเดิม ผู้เขียนอวยพรให้ประสบความสำเร็จขายดิบขายดีทั่วโลกเอย

++++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

รายงานเรื่อง : รายละเอียดบัญชีงานระหว่างก่อสร้างคงค้าง

รายงานเรื่อง : พรบ.64 หลังปรับลด ของ ตร

https://marine.police.go.th/New/Place%20the%20Keel%20TMP.htm

https://www.facebook.com/771915736491126/posts/1556548708027821/

https://web.facebook.com/rtmp2017/posts/309230357904938

https://youtu.be/c1aXP0Dvexg

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4815750138493976&id=587752487960450

https://web.facebook.com/thotspol.kunapermsiri/posts/10222164887453651

https://web.facebook.com/takommusic2010/photos/2157606371054876/

https://web.facebook.com/Seacrest-Marine-771915736491126/

https://seacrest.co.th/?fbclid=IwAR2Oc-wVfmgdQEEP2iMpp-PXOn_HieeQqELV71q5nyY0vzTyrCM2DOURt9E

https://web.facebook.com/superboy.shipbucket/photos/pcb.3468872466552487/3468872289885838/

 

 

วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565

U.S. Navy Carrier Air Wing

          บทความนี้เป็นความอยากรู้ของผู้เขียนอย่างปุบปับว่า อากาศยานบนเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์กองทัพเรืออเมริกา ประกอบไปด้วยเครื่องบินอะไรจำนวนเท่าไรและใช้ทำภารกิจใด เนื่องจากไม่มีเหตุผลอย่างชัดเจนย่อมไม่มีการปูเรื่องหรือเท้าความถึงอดีตกาล ฉะนั้นแล้วอย่ามัวพิรี้พิไรเข้าสู่เนื้อหากันเลยดีกว่า

ยุค 60

ภาพประกอบที่ 1 คือเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของกองทัพเรืออเมริกา USS Enterprise (CVN-65) เข้าประจำการวันที่ 25 พฤศจิกายน 1961 ภาพใบนี้ถ่ายในปี 1962 หรือเข้าประจำการได้เพียงปีเดียว เรือบรรทุกเครื่องบินระวางขับน้ำ 93,284 ตันมีอากาศยานชนิดต่างๆ ดังนี้

1.เครื่องบินขับไล่ (VF) F-4 Phantom II จำนวน 1 ฝูง 12 ลำ กับเครื่องบินขับไล่ F-8 Crusader จำนวน 1 ฝูง 12 ลำ เรือบรรทุกเครื่องบินบางลำยังคงประจำการเครื่องบินขับไล่รุ่นเก่า F-3D Skyknight ซึ่งสามารถติดอาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศระยะเกินสายตา AIM-7 Sparrow ได้แล้ว

2.เครื่องบินโจมตี (VA) A-4 Skyhawk จำนวน 3 ฝูงบิน 36 ลำ ในภาพประกอบจะจอดเรียงกันที่หัวเรือฝั่งขวา ส่วนฝั่งซ้ายคือ F-4 Phantom II ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากัน ส่วนแถวขวามือกลางเรือคือ F-8 Crusader ซึ่งฝรั่งเศสจัดหาไปใช้งานบนเรือตัวเอง A-4 Skyhawk ขนาดกะทัดรัดราคาไม่แพงค่าซ่อมบำรุงถูก จึงถูกกองทัพเรือหลายชาติใช้งานลากยาวมาจนถึงปี 2020 ก่อนหายหน้าไปอย่างถาวรเมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินของบราซิลต้องปลดประจำการ

3.เครื่องบินโจมตีขนาดใหญ่ (VAH) A-5 Vigilante จำนวน 1 ฝูงบิน 10-12 ลำ ในภาพประกอบจอดโดดเด่นกลางเรือไล่ไปจนถึงสะพานเดินเรือจำนวน 3 ลำ เครื่องบินลำนี้ใหม่มากเข้าประจำการพร้อมกับ USS Enterprise (CVN-65) แต่อายุใช้งานไม่ยาวนานสักเท่าไรเนื่องจากกองทัพเรือได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี

4.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2A Hawkeye จำนวน 4 ลำ เห็นจานเรดาร์กลมๆ กันบ้างไหมเอ่ย

5.เครื่องบินลาดตระเวนถ่ายภาพ (VFP) RF-8G Crusader จำนวน 4 ลำ

นอกจากอากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบินแล้ว ยังมีเครื่องบินลำเลียง (VR) C-1 Trader บินไปกลับระหว่างสนามบินกับเรือบรรทุกเครื่องบิน เพื่อรับส่งเจ้าหน้าที่หรือลำเลียงยุทธปัจจัยต่างๆ มาที่เรือ รวมทั้งบางภารกิจมี C-1 Trader ประจำการชั่วคราวบนเรือจำนวน 2 ลำ

จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 70 ลำ

ยุค 70

            ภาพประกอบที่ 2 คือเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Enterprise (CVN-65) ระหว่างปี 1973 เครื่องบินขับไล่ F-8 Crusader เครื่องบินโจมตี A-4 Skyhawk รวมทั้งเครื่องบินโจมตีขนาดใหญ่ A-5 Vigilante ปลดประจำการแล้ว อากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบินประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินขับไล่ (VF) F-4 Phantom II จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ หมดยุคสมัย F-8 Crusader ของเรืออากาศเอก คาซามะ ชินไปเสียแล้ว เครื่องบินขับไล่ 2 เครื่องยนต์รุ่นใหม่จอดเรียงรายบริเวณท้ายเรือ มีใช้งานทั้งกองทัพเรือและกองทัพอากาศอเมริกา แต่มีผลงานไม่โดดเด่นสักเท่าไรทั้งสงครามเวียดนามหรือสงครามยมคิปปูร์

2.เครื่องบินโจมตี (VA) A-7 Corsair II จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ จอดเรียงรายตั้งแต่หัวเรือไล่มาถึงกลางเรือ รูปร่างหน้าตาหากมองผิวเผินอาจนึกว่า F-8 Crusader แต่สั้นกว่าอ้วนกว่ากันพอสมควร ฐานล้อหน้าอยู่ใต้ห้องนักบินขณะที่ฐานล้อหน้า F-8 Crusader อยู่เลยไปอีกหนึ่งฟุตเศษ บรรทุกระเบิดได้มากกว่า A-4 Skyhawk พอสมควร

3.เครื่องบินโจมตีทุกสภาวะอากาศ (VA) A-6 Intruder จำนวน 1 ฝูง 12 ลำ ออกแบบให้ใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินโดยเฉพาะ ใช้นักบิน 2 นายขนาดเล็กกว่าเครื่องบินโจมตี A-5 Vigilante ก็จริง แต่คล่องตัวกว่าทันสมัยกว่าและติดอาวุธได้หลากหลายกว่า ในภาพจอดอยู่ท้ายเรือ 2 ลำ หัวเรือ 2 ลำ รวมทั้งหน้าสะพานเดินเรืออีกหลายลำ

4.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2A Hawkeye จำนวน 4-6 ลำ ในภาพมองเห็น 2 ลำบริเวณหัวเรือ

5.เครื่องบินลาดตระเวนสอดแนม (RVAH) RA-5C Vigilante จำนวน 4 ลำ ในภาพมองเห็น 3 ลำจอดติดสะพานเดินเรือ ปรับปรุงมาจากเครื่องบินโจมตีขนาดใหญ่ A-5 Vigilante ซึ่งมีระยะเวลาประจำการน้อยนิด

6.เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (VAQ) EKA-3B Skywarrior จำนวน 4 ลำ ในภาพไม่ปรากฏบนดาดฟ้า

7.เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง (HC) SH-3A Sea King จำนวน 6 ลำ กองทัพเรืออเมริกาเริ่มใช้งานเฮลิคอปเตอร์รุ่นใหม่แล้ว Sea King ติดตั้งอุปกรณ์ปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ทันสมัยได้ แต่ได้รับภารกิจลำเลียงค้นหาและกู้ภัยบนเรือบรรทุกเครื่องบิน เนื่องจากยุค 60 ถึง 70 กองทัพเรืออเมริกามีเรือบรรทุกเครื่องบินปราบเรือดำน้ำจำนวนหนึ่ง

เครื่องบินลำเลียง (VR) C-1 Trader ถูกปรับเปลี่ยนมาใช้งานรุ่น C-2 Greyhound

            นอกจากอากาศยานประจำการบนเรือตามปรกติแล้ว เรือบางลำยังมีเครื่องบินลาดตระเวน RF-8G Crusader กับเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง KA-3B Skywarrior เพิ่มเติมเข้ามาจำนวนหนึ่ง ถึงแม้เครื่องบินโจมตี A-4 Skyhawk หายไปจาก USS Enterprise (CVN-65) แล้ว แต่ยังคงประจำการกับฝูงบินนาวิกโยธินอีกนานพอสมควร รวมทั้งบนเรือบรรทุกเครื่องบินปราบเรือดำน้ำจากยุคสงครามโลกครั้งที่สองอีกหลายลำ

จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 80-90 ลำ

USS Enterprise (CVN-65) ปลดประจำการวันที่ 1 ธันวาคม 2012

ยุค 80

            ภาพประกอบที่ 3 คือเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ถูกพัฒนาให้ทันสมัยมากกว่า USS Enterprise (CVN-65) พอสมควร เรือเข้าประจำการวันที่ 13 มีนาคม 1982 ปัจจุบันยังคงประจำการอยู่ในทะเลจีนใต้ ภาพถ่ายใบนี้ถ่ายในเดือนธันวาคม 1986 อากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบินประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินขับไล่ (VF) F-14 Tomcat จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ เจ้าแมวอ้วนของพี่ทอม ครุซ จอดเรียงรายอยู่ที่ท้ายเรือ เพราะสามารถปรับความกว้างของปีกได้จึงไม่จำเป็นต้องพับปีกขณะลงลิฟต์

2.เครื่องบินโจมตี (VA) A-7 Corsair II จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ จอดเรียงรายบริเวณหัวเรือฝั่งขวามือ

3.เครื่องบินโจมตีทุกสภาวะอากาศ (VA) A-6E Intruder จำนวน 1 ฝูง 10-12 ลำ จอดเรียงรายบริเวณหัวเรือฝั่งซ้ายมือ

4.เครื่องบินเติมเชื้อเพลิง KA-6D Intruder จำนวน 4 ลำ อยู่ฝูงบินเดียวกับ A-6E Intruder

5.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2C Hawkeye จำนวน 4-6 ลำ

6.เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (VAQ) EA-6E Intruder จำนวน 4 ลำ

7.เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ (VS) S-3 Viking จำนวน 10 ลำ จอดบริเวณกลางเรือมองเห็นชัดเจน

8.เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง (HC) SH-3A Sea King จำนวน 6 ลำ

สาเหตุที่เครื่องบินลาดตระเวนปราบเรือดำน้ำ S-3 Viking ถูกเพิ่มเติมเข้ามา 1 ฝูง เนื่องจากกองทัพเรืออเมริกาทยอยปลดประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ ส่งผลให้เรือทำภารกิจปราบเรือดำน้ำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งทำภารกิจปราบเรือผิวน้ำได้ดียิ่งขึ้นเช่นกัน อันเนื่องมาจาก A-6E Intruder ได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ AGM-84A Harpoon เรียบร้อยแล้ว

วันที่ 18 เมษายน 1988 เครื่องบิน A-6E Intruder จำนวน 2 ลำยิง Harpoon จำนวน 2 นัด กับอาวุธนำวิถีเลเซอร์ AGM-123 Skipper II จำนวน 4 นัด รวมทั้งระเบิดลูกปราย Rockeye อีก 2 นัด ใส่เรือฟริเกต IRIS Sahand กองทัพเรืออิหร่าน ส่งผลให้เรือเกิดความเสียหายอย่างหนักและจมในเวลาต่อมา ก่อนหน้านี้ 2 ปี A-6E Intruder เคยใช้ Harpoon โจมตีเรือตรวจการณ์ของลิเบียจำนวน 2 ลำ เพียงแต่ไม่ได้นับแต้มเพราะไม่มีหลักฐานมากเพียงพอ

นอกจากอากาศยานประจำการบนเรือตามปรกติแล้ว เรือบางลำยังมีเครื่องบินลาดตระเวน RF-8G Crusader กับเครื่องบินตรวจการณ์สอดแนม (VQ) EA-3B Skywarrior เพิ่มเติมเข้ามาจำนวนหนึ่ง ในภาพมองเห็น EA-3B ลำหนึ่งจอดอยู่ตรงกลางระหว่างแถว A-6 กับ A-7

จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 86-92 ลำ สมน้ำสมเนื้อเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ระวางขับน้ำ 101,300 ตัน

ยุค 90

            ภาพประกอบที่ 4 คือเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ระหว่างปี 1998 อันเป็นช่วงเวลาเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน กองทัพเรืออเมริกาปลดประจำการเครื่องบินโจมตีทุกรุ่น แล้วนำเครื่องบินขับไล่โจมตี F/A-18 C/D Hornet เข้ามาประจำการทดแทน รวมทั้งแทนที่เครื่องบินขับไล่ F-14 Tomcat ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพียงแต่ในภาพประกอบ F/A-18 ยังทดแทนเครื่องบินโจมตีไม่ครบทุกฝูง

อากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบินประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินขับไล่ (VF) F-14 Tomcat จำนวน 1 ฝูง 12 ลำ มีเรือบรรทุกเครื่องบินเพียง 2 จาก 10 ลำที่ยังคงมี F-14 Tomcat จำนวน 2 ฝูง ในอนาคตกองทัพเรือจะนำ F/A-18 E/F Super Hornet มาใช้งานแทนจนครบทุกลำ

2.เครื่องบินขับไล่โจมตี (VFA) F/A-18 C/D Hornet จำนวน 2 ฝูง 24 ลำ เข้ามาแทนที่เครื่องบินโจมตี A-7 Corsair II ซึ่งถูกขายต่อราคาประหยัดให้กับพันธมิตรรวมทั้งกองทัพเรือไทย ในภาพประกอบจอดอยู่กลางเรือปะปนร่วมกับเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินโจมตี รูปทรงทันสมัยใช้ 2 เครื่องยนต์แต่กินน้ำมันน้อยกว่า F-14 พอสมควร

F/A-18 C/D Hornet ทำภารกิจได้ทั้งขับไล่สกัดกั้นและโจมตีทิ้งระเบิด โดยนำเครื่องบินต้นแบบ YF-17 Cobra ซึ่งพ่ายแพ้ต่อ YF-16 ในการคัดเลือกเครื่องบินขับไล่ขนาดเล็กกองทัพอากาศ มาปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับการใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ทั้งเรื่องความแข็งแรงของแอร์เฟรมและการขยายขนาดถังน้ำมัน เป็นการปลุกผีส่งผลให้เครื่องบินที่กองทัพอากาศเมินมีอายุยืนยาวจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่รูปร่างหน้าตาผิดแปลกไปจากรุ่นเดิมพอสมควร

F/A-18 A/B Hornet เข้าประจำการกองทัพเรืออเมริกาปี 1980 ต่อมาในปี 1987 จึงเป็นคิวของ F/A-18 C/D Hornet นอกจากจะมีการปรับปรุงโน่นนั่นนี่ให้ทันสมัยมากกว่าเดิม F/A-18 D สองที่นั่งยังสามารถทำการรบได้ดีเทียบเท่า F/A-18 C รุ่นที่นั่งเดี่ยว และดีกว่ากันอย่างชัดเจนในภารกิจโจมตีทิ้งระเบิดตอนกลางคืน

ผู้เขียนเขียนถึงแตนแตนอาละวาดเยอะพอสมควร เนื่องจากในอนาคต F/A-18 มีบทบาทมากกว่าเครื่องบินทุกรุ่น เพราะเครื่องบินมีความอเนกประสงค์ไม่แตกต่างจาก F-16 A/B Fighting Falcon ซึ่งปัจจุบันยังคงมีขายเช่นกัน ต่างกันแค่เพียง F-16 Black 70 รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงรุ่นแรกสุด และยังคงได้รับความนิยมทั่วโลกมีคำสั่งซื้อทุกปี

            3.เครื่องบินโจมตีทุกสภาวะอากาศ (VA) A-6E Intruder จำนวน 1 ฝูง 10-12 ลำ จะถูกแทนที่ด้วย F/A-18 C/D Hornet ในปีถัดไป ส่วนเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง KA-6D Intruder ถูกแทนที่ด้วย Air Refueling Pod หรือ Aerial Refueling Store บนเครื่องบิน F/A-18 โดยถูกเรียกขานสั้นๆ ว่า Buddy Hornet

4.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2C Hawkeye จำนวน 4 ลำ

5.เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (VAQ) EA-6E Intruder จำนวน 4 ลำ

6.เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ (VS) S-3 Viking จำนวน 8 ลำ

7.เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง (HC) HH-60H Rescue Hawk จำนวน 2 ลำ กับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ (HS) SH-60F Oceanhawk จำนวน 4 ลำ

8.เครื่องบินตรวจการณ์สอดแนม (VQ) EA-3B Skywarrior ยังมีใช้งานเช่นกันแต่ค่อนข้างน้อยนิด

จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 70 ลำ

จำนวนอากาศยานลดลงจากเดิมอย่างชัดเจน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและกลุ่มวอร์ซอ กองทัพเรืออเมริกาถูกตัดงบประมาณก้อนใหญ่เหมือนดั่งเหล่าทัพอื่น จำเป็นต้องลดรุ่นและจำนวนอากาศยานประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน รวมทั้งกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเครื่องขับไล่อเนกประสงค์อย่างเต็มตัว

ปี 201x

            ภาพประกอบที่ 5 คือเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ระหว่างปี 2016 ซึ่งจัดเป็นยุคแตนอาละวาดครองเมืองอย่างแท้จริง บนเรือ

1.เครื่องบินขับไล่โจมตี (VFA) F/A-18 C/D Hornet กับ F/A-18 E/F Super Hornet จำนวน 4 ฝูง 44 ลำ

ในภาพประกอบส่วนใหญ่จะเป็น Super Hornet ซึ่งยาวกว่า Hornet ประมาณ 3 ฟุตและหนากว่ากันพอสมควร ข้อแตกต่างชัดเจนระหว่างเครื่องบินสองรุ่นหากมองจากมุมบน ให้ผู้อ่านสังเกตเครื่องบิน 3 ลำที่จอดเรียงกันอยู่ทางกราบซ้ายของเรือ ลำบนสุดคือ F/A-18 F Super Hornet สองที่นั่ง โคนปีกใต้ห้องนักบินจะกางมากกว่าและทาสีเข้มรูปสามเหลี่ยม ส่วนอีก 2 ลำคือ F/A-18 C Hornet ที่นั่งเดี่ยว โคนปีกกางออกนิดเดียวทาสีอ่อนตามปรกติ

            2.เครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์ (VAQ) EA-18G Growler จำนวน 5 ลำ เป็นเครื่องบินตระกูลเดียวกับ F/A-18 F Super Hornet สองที่นั่ง ข้อแตกต่างสำคัญคือปลายปีกติดอุปกรณ์สงครามอิเล็กทรอนิกส์ ในภาพประกอบจะจอดเรียงกันจำนวน 3 ลำที่หัวเรือ ที่ผู้เขียนบังเอิญทราบเพราะแอบดูภาพถ่ายใบอื่นเรียบร้อยแล้ว

3.เครื่องบินเตือนภัยล่วงหน้า (VAW) E-2C Hawkeye จำนวน 4 ลำ

4.เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ (HS) MH-60R Seahawk จำนวน 11 ลำ

5.เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงปราบเรือผิวน้ำ (HC) MH-60S Knighthawk จำนวน 8 ลำ

            6.เครื่องบินลำเลียง (VR) C-2 Greyhound จำนวน 2 ลำ บินไปบินกลับระหว่างเรือกับสนามบิน

            นอกจากเครื่องบินโจมตีทุกรุ่นจะปลดประจำการอย่างถาวร เครื่องบินตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ S-3 Viking ยังถูกแทนที่ด้วยเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R Seahawk ในจำนวนมากกว่า ส่วน S-3 Viking ถูกส่งไปจัดเก็บในทะเลทรายเหมือนดั่ง F-14 Tomcat โดยไม่มีใครทราบว่าจะกลับมาโบยบินได้อีกหรือไม่

            จำนวนรวมอากาศยานทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 70 ลำ

            เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ในปี 2016 ถูกปรับปรุงใหม่เช่นกัน แท่นยิง Mk.29 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ลดลงจาก 3 แท่นยิงเหลือเพียง 2 แท่นยิง เรดาร์ควบคุมการยิง Mk.95 ลดลงจาก 6 ตัวเหลือเพียง 4 ตัว แล้วใส่แท่นยิง Mk.49 สำหรับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM จำนวน 2 แท่นยิงเพิ่มเติมเข้ามา ส่วนระบบป้องตนเองระยะประชิด Phalanx มีจำนวน 2 ระบบเท่าเดิม

เรือติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ AN/SPQ-9B ไว้ที่บนสุดเสากระโดง เรดาร์ตัวนี้ผู้เขียนดองเค็มบทความเป็นเวลา 4 ปีกว่าๆ เข้าไปแล้ว ตอนนี้ลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าวางพล็อตเรื่องเอาไว้เช่นไรฮา

ปี 202x

            ปัจจุบันกองทัพเรืออเมริกาประจำการ F-35C Lightning II จำนวน 1 ฝูงบินบนเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ยุคที่ 5 รุ่นใหม่ทันสมัยเข้ามาทดแทนเครื่องบิน F/A-18 C/D Hornet ฝูงสุดท้ายของกองทัพเรือ ซึ่งปลดประจำการจากเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Carl Vinson (CVN-70) ช่วงต้นปี 2019 เป็นลำสุดท้ายของกองทัพ F-35C จะเข้ามาทดแทน F/A-18 E/F Super Hornet เช่นกันเพียงแต่ไม่ทั้งหมด

            กองทัพเรืออเมริกาสั่งซื้อ F/A-18 E/F Super Hornet Block 3 จำนวน 78 ลำเข้าประจำการ แตนอาละวาดตัวใหม่ติดตั้งถังน้ำมันแนบลำตัวเหมือนดั่ง F-16 Block 70 จะทำงานร่วมกับ F-35C และ EA-18G Growler รวมทั้งรุ่นเก่าอย่าง Super Hornet ขึ้นอยู่กับว่าภารกิจนั้นๆ ต้องการทำอะไรมีอันตรายมากน้อยแค่ไหน

            เครื่องบินลำเลียงเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง C-2 Greyhound รับใช้ชาตินานมากแล้วควรพักผ่อนตลอดกาล กองทัพเรือจึงได้สั่งซื้อเครื่องบินลำเลียงขึ้นลงแนวดิ่ง CMV-22B Osprey มาทำหน้าที่แทน อีกไม่ช้าไม่นานจะเข้าประจำการอย่างจริงๆ จังๆ  เพียงแต่ว่ารุ่นปราบเรือดำน้ำคงไม่มาเพราะแพงเกินไป

อากาศยานไร้คนขับเติมเชื้อเพลิง MQ-25 Stingray ก็เป็นอีกรุ่นที่กำลังพัฒนา ต้นแบบลำที่หนึ่งกับลำจริงแตกต่างกันพอสมควร MQ-25 จะเป็นเครื่องบินบัดดี้ให้กับ F-35C ในการรบแถวหน้า มีโอกาสรอดตัวจากอาวุธทันสมัยฝ่ายตรงข้ามมากกว่าเครื่องบินรุ่นเก่า และถึงแม้ถูกยิงตกก็ไม่สูญเสียนักบินฝีมือดีแต่อย่างใด

กองทัพเรืออเมริกามีเรือบรรทุกเครื่องบินประมาณ 10 ลำ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าประจำการและทำภารกิจทั่วโลก เป็นแสนยานุภาพ เวหานุภาพ และฐานทัพอากาศเคลื่อนที่อันทรงประสิทธิภาพ ปัจจุบันยังไม่มีอากาศยานไร้คนขับรุ่นติดอาวุธประจำการบนเรือ ดูเหมือนอเมริกายังไม่ได้สนใจพัฒนาอย่างเต็มตัว ชาติอื่นที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งเล็กและใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ความสนใจวนเวียนอยู่ที่ F-35B F-35C Super Hornet Block 3 หรือ Rafale M เท่านั้น ขนาดจีนยังได้พยายามพัฒนาเครื่องบินประจำเรือยุค 5 ด้วยตัวเอง มีแค่เพียงตุรกีที่อยากนำอากาศยานไร้คนขับมาใช้งานบนเรือ ไม่ใช่อะไรแค่อเมริกาไม่ยอมขาย F-35B ให้เท่านั้นเอง

บทความ U.S. Navy Carrier Air Wing จบลงสั้นๆ ห้วนๆ แต่เพียงเท่านี้ อากาศร้อนจัดโควิดระบาดดูแลตัวเองให้ดีนะครับ ไว้ผู้เขียนว่างกว่านี้จะเขียนบทความยาวกว่านี้ให้อ่านเน่อ ^__*

++++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://www.navysite.de/cvn/cvw.htm

https://classicnavalair.tumblr.com/post/153627258234/classicnavalair-hms-ark-royal-tied-up-at-norfolk

https://www.seaforces.org/usnships/cvn/CVN-65-USS-Enterprise.htm

https://www.seaforces.org/usnships/cvn/CVN-70-USS-Carl-Vinson.htm

https://www.ainonline.com/aviation-news/defense/2018-08-30/navy-builds-f-35c-iote-first-turkish-f-35-pilot-flies

https://www.autoevolution.com/news/us-navy-mq-25-stingray-tanker-drone-undergoes-testing-at-sea-177079.html#agal_5

https://www.seaforces.org/usnair/VRM/VRM-30.htm

https://twitter.com/CcibChris/status/1456895627263107073...