วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2564

Future of the Royal Thai Navy (What If)

 

เดือนธันวาคม 2021 มีการเลือกตั้งทั่วประเทศเกิดขึ้น ผ่านความชุลมุนวุ่นวายจนมาถึงกลางเดือนมกราคม 2022 ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่จากภาคเอกชน ผู้มาพร้อมกับแผนการปรับปรุงประเทศครั้งสำคัญ ตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ระหว่างการหาเสียงอันดุเด็ดเผ็ดร้อน

หนึ่งในภารกิจสำคัญของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือการดูแลระบบการเงินประเทศที่กำลังร่อแร่ ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับเจ้าหนี้จำนวนมาก หนึ่งในหลายอย่างที่เขารีบทำคือยกเลิกโครงการประชานิยม พร้อมๆ กับเข้ามาดูแลงบประมาณทางทหารประจำปี โดยการเป็นเจ้าภาพจัดหาอาวุธให้กับทุกเหล่าทัพ

ตลอด 4 ปีที่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง ทหารเบิกเงินซ่อมแซมซ่อมบำรุงอาวุธได้ตามปรกติ แต่รัฐบาลจะจัดหาอาวุธใหม่หรือมือสองด้วยตัวเอง มีการสร้างแผนระยะยาวที่เหมาะสมกับแต่ละเหล่าทัพ

กองทัพเรือค่อนข้างแตกต่างจากเหล่าทัพอื่น การลดกำลังพลเพื่อความเหมาะสมมีเพียงน้อยนิด แต่การจัดหาอาวุธค่อนข้างเข้มงวดและละเอียดรอบคอบ นายกรัฐมนตรีไม่ยอมผ่อนปรนเฉกเช่นทัพฟ้าหรือทัพบก เมื่อเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 2022 สิ้นสุดลง แผนระยะยาวลูกประดู่ไทยได้พลันเสร็จสิ้นสมบูรณ์

แผนการดังกล่าวไม่มีการตั้งชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ โดยทั่วไปมักเรียกว่าแผน 15 ปีหรือแผนสามเฟส โดยแบ่งระยะเวลาออกเป็น 3 เฟสเฟสละ 5 ปีตามนี้

-เฟส1 ปี 2022-2026  

-เฟส2 ปี 2027-2031

-เฟส3 ปี 2032-2036

แผน 15 ปีคือสิ่งที่ทหารทุกนายต้องปฏิบัติตาม แม้นายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลจะไม่อยู่แล้วก็ตาม ไม่ว่าใครเป็นผู้บัญชาการห้ามแตกแถวเด็ดขาด สำหรับกองทัพเรือแผนระยะยาวถูกแบ่งแยกตามชนิดเรือได้ดังนี้


เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์

เฟส 1 ปี 2022-2026  ถึง เฟส 3 ปี 2032-2036

-ดูแลรักษาเรือหลวงจักรีนฤเบศรให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยไม่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมแต่อย่างใด

เรือหลวงจักรีนฤเบศรเป็นฐานบัญชาการลอยน้ำ ให้บรรดาเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำออกไปทำภารกิจ รวมทั้งทำหน้าที่เรือธงให้กับกองเรือราชนาวีไทย ถ้าหากมีเหตุบังเอิญให้เรือจมหรือเสียหายทุกอย่างจบสิ้นทันที เฮลิคอปเตอร์ 6+ 2 ลำต้องบินกลับสนามบินบนฝั่ง เพราะเรือฟริเกตที่ลงจอดได้มีเพียงลำเดียวเท่านั้น

เรือธงอาจหาลำอื่นมาทำงานแทนได้ แต่ภารกิจปราบเรือดำน้ำมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นี่คือปัญหาสำคัญของการใช้งานเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งเป็นเป้าหมายขนาดใหญ่ทั้งอันตรายและขาดความอ่อนตัว

รัฐบาลต้องการลดบทบาทเรือให้น้อยลง มีการนำแนวคิดกองทัพเรือสิงคโปร์มาศึกษา พวกเขามีเรือฟริเกตรูปร่างหน้าตาเหมือนกัน 6 ลำ บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำได้ มีโซนาร์ลากท้ายทำงานทั้งโหมด Active และ Passive เท่ากับว่าเรือลำไหนก็เป็นเรือธงได้ เรือลำไหนก็ปราบเรือดำน้ำได้ เรือลำที่ 1 จมเรือลำที่ 2 ทำหน้าที่แทน เรือลำที่ 2 จมเรือลำที่ 3 ทำหน้าที่แทน แม้กระทั่งเหลือเรือลำสุดท้ายยังทำหน้าที่ทั้งสองอย่างได้

เมื่อสิ้นสุดแผนการในปี 2036 เรือหลวงจักรีนฤเบศรเข้าประจำการ 39 ปีพอดี รัฐบาลกับกองทัพเรือจะพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง ว่าสมควรทำเช่นไรกับเรือปลดประจำการหรือได้ไปต่อ

เรือดำน้ำ

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

          -รัฐบาลตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำจีนเพียง 1 ลำ นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเจรจากับผู้นำจีนด้วยตัวเอง พร้อมๆ กับเข้าร่วมพิธีปล่อยเรือดำน้ำลำแรกและลำเดียวลงน้ำที่เมืองอู่ฮั่น

          -กองทัพเรือประกอบพิธีเข้าประจำการเรือหลวงสินสมุทร

-รัฐบาลอนุมัติให้กองทัพเรือเข้าร่วมโครงการเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น KSM 32 ของอินโดนีเซีย เพื่อนำมาใช้งานเป็นเรือฝึกกำลังพล รวมทั้งป้องกันชายฝั่งอ่าวไทยอันเป็นเขตน้ำตื้นเหมาะสมกับแบบเรือ

เรือดำน้ำชั้น KSM 32 ระวางขับน้ำสูงสุด 151 ตันระหว่างดำน้ำ ยาว 32 เมตร กว้าง 3.5 เมตร ดำน้ำลึกสุด 150 เมตร ความเร็วสูงสุด 15 นอตระหว่างดำน้ำ ติดตั้งตอร์ปิโดขนาด 533 มม. จำนวน 2 นัด ใช้ลูกเรือเพียง 8 นาย อินโดนีเซียเริ่มต้นพัฒนาตั้งแต่ปี 2016 โดยใช้แบบเรือเยอรมันความยาว 22 เมตรมาปรับปรุงเพิ่มเติม

          เฟส 2 ปี 2027-2031

          -ยกเลิกเข้าร่วมโครงการเรือดำน้ำขนาดเล็กชั้น KSM 32 ของอินโดนีเซีย

          -ประกาศคัดเลือกแบบเรือดำน้ำขนาดเล็กจำนวน 2 ลำ กำหนดให้มีระวางขับน้ำมากกว่า 300 ตันขึ้นไป โดยมีบริษัทชั้นนำจากอังกฤษ เยอรมัน ตุรกี ฝรั่งเศส และอิตาลีส่งแบบเรือเข้าร่วมชิงชัย

          -ประกาศผลผู้ชนะเลิศโครงการ พร้อมกับสั่งซื้อเรือดำน้ำ DG350 จากอิตาลีจำนวน 2 ลำ

          เรือดำน้ำ DG350 Shallow-water Attack Submarine มีระวางขับน้ำ 352 ตันระหว่างดำน้ำ ยาว 40 เมตร กว้าง 3.5 เมตร ดำน้ำได้ลึกสุด 150 เมตร ความเร็วสูงสุด 22.2 นอตระหว่างดำน้ำ ติดตั้งตอร์ปิโดระบบนำวิถีขนาด 533 มม.จำนวน 3 นัด ใช้ลูกเรือ 9 นาย มีที่ว่างสำหรับหน่วยจู่โจมใต้น้ำ 12 นาย บรรทุกยานขับเคลื่อนใต้น้ำหรือ SDV ได้จำนวน 2 ลำ หรือทุ่นระเบิดจำนวน 8 ลูก หรือเรือยางท้องแข็งขนาด 8 ที่นั่ง 1 ลำ

           DG350 ติดโซนาร์ทำงานโหมด Passive ที่หัวเรือ มีกล้องตาเรือออปทรอนิกส์ ระบบเตือนภัยสัญญาณเรดาร์ ระบบสื่อสารใต้น้ำ รวมทั้งระบบดาต้าลิงก์ ติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำเพิ่มเติมได้ 2 นัด หรือเปลี่ยนเป็นระบบเป้าลวงมากถึง 12 นัด บริษัท DRASS Tecnologie Sottomarine แห่งประเทศอิตาลี มีความชำนาญเรื่องเรือดำน้ำขนาดเล็กเป็นพิเศษ มีประสบการณ์ยาวนานเริ่มสร้างเรือขายให้กับลูกค้าตั้งปี 1975

          เฟส 3 ปี 2032-2036

          -เข้าประจำการเรือหลวงวารีกุญชร เรือหลวงชาละวัน

          -ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างเรือดำน้ำ DG350 ขึ้นเองภายในประเทศ

          เรือดำน้ำเป็นปัญหาใหญ่ทั้งเรื่องคุณสมบัติและการเมือง ประชาชนไม่ยอมรับการซื้อเรือดำน้ำจีนลำที่สอง สาเหตุเป็นเพราะอะไรรัฐบาลไม่อยากพูดถึง แต่นำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างในการยกเลิกสัญญาที่ทำไว้กับจีน การเข้าร่วมโครงการเรือดำน้ำอินโดนีเซียเป็นเพียงวิธีถ่วงเวลา สร้างภาพว่าเราพยายามแล้วแต่ไม่สัมฤทธิผล ครั้นเลยเข้าสู่ปี 2027 เริ่มมีรายได้มากกว่าเดิม จึงซื้อเรือดำน้ำขนาดเล็กให้กองทัพเรือคล้ายเป็นรางวัลตอบแทน

          กองเรือดำน้ำจะประจำการเรือ 1+2 ลำไปอีก 30 ปีเต็มๆ


เรือยกพลขึ้นบก

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

          -ยกเลิกคำสั่งซื้อเรือยกพลขึ้นบกขนาด 20,000 ตันจากจีน เงินที่จ่ายไปแล้วโอนมาจัดหายานเกราะโจมตี VN-16 ให้ครบจำนวน กองทัพเรือจีนตกลงซื้อเรือ LPD ไปใช้งานด้วยความเต็มใจ

          -รัฐบาลเจรจาขอซื้อแบบเรือ LPD จากอินโดนีเซียมาสร้างเองจำนวน 2 ลำ กำหนดงบประมาณไว้คร่าวๆ ที่ลำละ 50-55 ล้านเหรียญ ติดขัดปัญหาเรื่องอินโดนีเซียต้องการขายเรือทั้งลำมากกว่า

นายกรัฐมนตรีบินด่วนจากจีนมาเยือนเกาะชวา ก่อนได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะสร้างในอินโดนีเซีย 1 ลำ และสร้างในไทยอีก 1 ลำ โดยมีออปชันสร้างเรือลำที่ 3 ในไทย เนื่องจากงบประมาณในเฟส  1 ค่อนข้างจำกัดจำเขี่ย จึงได้เรือเปล่าไม่ติดอาวุธไม่มีระบบอำนวยการรบเหมือนเรือ LPD ฟิลิปปินส์

อู่ต่อเรือมาร์ซันเป็นเจ้าภาพสร้างเรือ LPD ลำแรกในไทย เพราะพรเทพมาเรียกับอิตัลไทยมารีนกำลังวุ่นวาย บริษัทแรกมีโครงการใหญ่กับกองทัพเรือ 2 โครงการ ส่วนบริษัทหลังเน้นซ่อมบำรุงบรรดาเรือเก่า

          เฟส 2 2027-2031

          -เข้าประจำการเรือหลวงตะรุเตา 781 กับเรือหลวงเต่า 782

          เรือหลวงตะรุเตาระวางขับน้ำปรกติ 7,200 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,583 ตัน ยาว 123 เมตร กว้าง 21.8 เมตร กินน้ำลึก 5 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 ตัวความเร็วสูงสุด 16 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 9,360 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 13 นอต อู่ลอยด้านท้ายใส่เรือระบายพลขนาดกลางได้ 2 ลำ ลำเลียงนาวิกโยธินได้มากสุด 500 นาย ราคาเรือเปล่าประมาณ 50 ล้านเหรียญถือว่าสมเหตุสมผลที่สุด

          กองทัพเรือจะใช้งานเรือ LPD เหมือนใช้งานเรือ LST ในอดีต นอกจากภารกิจหลักยังทำหน้าที่เรือฝึกให้กับนักเรียนนายเรือทุกชั้นปี เป็นเรืออเนกประสงค์สนับสนุนภารกิจฝ่ายพลเรือนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ข้ามประเทศ รองรับการระบาดจากโรคร้ายชนิดใหม่ที่อาจมาตอนไหนก็ได้

          -ต้นปี 2029 สั่งซื้อเรือ LPD จากอินโดนีเซียลำที่ 3 สร้างโดยอู่ต่อเรือมาร์ซัน

          เฟส 3 ปี 2032-2036

-เข้าประจำการเรือหลวงช้าง 783

          เรือหลวงช้างติดเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Delica 1X ติดระบบอำนวยการรบ GTO Mk 1.2 ติดปืนกลอัตโนมัติ Bofors 40 mm Mk4 ที่หัวเรือ พร้อมออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง Grandis บนหลังคาสะพานเดินเรือ ติดปืนกลอัตโนมัติ Space Star 20 มม.อีก 2 กระบอกบนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

เรือ LPD ลำที่สามค่อนข้างครบเครื่องกว่า 2 ลำแรก อาวุธกับเรดาร์จากพรเทพมาเรียถูกนำมาติดตั้งครบครัน เรือหลวงตะรุเตากับเรือหลวงเต่าจะทยอยติดตั้งหลังปี 2036 ไปแล้ว ที่สั่งซื้อเรือลำสุดท้ายช้าหน่อยเพราะงบประมาณค่อนข้างตึงมือ รัฐบาลมีความจำเป็นต้องสลับหัวสลับท้ายวุ่นวายไปหมด

          อาวุธและเรดาร์บริษัทพรเทพมาเรีย ผู้เขียนจะเขียนถึงในโครงการเรือตรวจการณ์อย่างละเอียดอีกครั้ง

          กองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการจะมีเรือใหญ่จำนวน 6 ลำ แบ่งเป็นเรือ LST 2 ลำ เรือ LPD 4 ลำ มากเพียงพอในการทำภารกิจทั้งยามปรกติและยามสงคราม ที่รัฐบาลซื้อเรือแบบรัวๆ นั้นมีสาเหตุ เรือหลวงสีชังกับเรือหลวงสุรินทร์อายุค่อนข้างมากแล้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ได้เรือใหญ่มาใช้งานเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด เพราะเป็นเรืออเนกประสงค์ตอบโจทย์ได้หมดทั้งทหารและพลเรือน

เรือฟริเกต

 เฟส 1 ปี 2022-2026  

 -ปลดประจำการเรือหลวงปิ่นเกล้า ทำเรื่องคืนเรือให้อเมริกานำกลับไปดูแล

เรือหลวงปิ่นเกล้าคือเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Cannon เริ่มเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1944 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาให้ไทยเช่าเรือระหว่างปี 1959 ประจำการอยู่กับราชนาวีจนถึงปัจจุบัน 60 กว่าปีเข้าไปแล้ว เป็นเรือที่สมควรลอยลำบนท้องทะเลไปอีกแสนนาน เพียงแต่ว่าเรือลำนี้ไม่มีอะไรเลยกับทัพเรือไทย

เรือหลวงปิ่นเกล้าไม่เคยร่วมรบในสงครามเกาหลี ไม่เคยร่วมรบในสงครามเวียดนาม สงครามโลกครั้งที่สองเป็นเรืออเมริกาติดธงยูเนี่ยนแจ็คหัวเรือ ที่ยังยืนยงคงกระพันอยู่ได้เพราะใช้เครื่องยนต์ดีเซล การส่งคืนให้กับเจ้าของเดิมคือทางเลือกเหมาะสมที่สุด อเมริกาจะดูแลเรือลำนี้อย่างดีจนมีอายุเข้าสู่หลักสาม

 -ปลดประจำการเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ยกเรือขึ้นมาจอดบนฝั่งเพื่อทำพิพิธภัณฑ์

เรือหลวงมกุฎราชกุมารคือเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยลำแรกแห่งราชนาวีไทย ติดระบบอาวุธและระบบเรดาร์รุ่นดีที่สุดจากยุโรป มาพร้อมอาวุธปล่อยนำวิธีต่อสู้อากาศยาน Sea Cat ลำแรกของไทยเช่นกัน เรือลำนี้มีพี่น้องฝาแฝดอยู่ที่มาเลเซียหนึ่งลำ แต่เรือเราติดอาวุธและเรดาร์ทันสมัยกว่ากันพอสมควร เมื่อปลดประจำการควรอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานดูในอนาคต เรือลำนี้คืออดีตคือประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ตามศึกษา

สาเหตุที่ปลดประจำการเรือหลวงมกุฎราชกุมารกับเรือหลวงปิ่นเกล้า เหตุผลหลักคือต้องการตัดรายจ่ายให้มากที่สุด อีก 1-2 ปีเรือ LPD ใหม่จะเข้าประจำการ ใช้เป็นเรือฝึกแทนกันได้แม้จะไม่เหมือนทั้งหมดก็ตาม

 -ซื้อเรือฟริเกต FH155 HMAS Ballarat ต่อจากกองทัพเรือออสเตรเลีย นำมาประจำการคู่กับเรือหลวงภูมิพล พร้อมๆ กับยกเลิกโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำที่สองราคา 16,500 ล้านบาท

กองทัพเรือออสเตรเลียมีเรือฟริเกตชั้น Anzac จำนวน 6 ลำ HMAS Ballarat เข้าประจำการเป็นลำที่ 4 ในวันที่ 24 มิถุนายน 2004 ยังไม่ได้รับการปรับปรุงโครงการ AMCAP เหมือนเรืออีก  4 ลำ เรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกลยังเป็นรุ่นเก่า AN/SPS-49 และนั่นก็คือจุดอ่อนที่รัฐบาลไทยกับบรรดากุนซือมองเห็น

หลังสิ้นสุดการเจรจากับอินโดนีเซียที่เกาะชวา นายกรัฐมนตรีนั่งเครื่องบินไปเยือนดินแดนเมืองจิงโจ้ต่อ โดยมีสาลิกาลิ้นทองติดตัวมาด้วยระหว่างการประชุม ผู้นำไทยพยายามโน้มน้าวผู้นำออสเตรเลียอย่างสุดฝีมือว่า การขายเรือฟริเกต HMAS Ballarat ให้ไทยจะวินวินวินด้วยกันทั้งสามฝ่าย

เรือลำนี้จะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงใหญ่ครั้งที่สอง แล้วยังได้เงินจากการขายเรือให้กับไทย อู่ต่อเรือจะมีที่ว่างเร็วกว่าเดิมถึง 2 ปี เดินหน้าโครงการเรือฟริเกตชั้น Type 26 ได้พร้อมกันถึง 2 ลำ ออสเตรเลียจะได้เรือรบรุ่นใหม่ทันสมัยเร็วขึ้น ประหยัดงบประมาณจากโน่นนั่นนี่มากถึง 300 ล้านดอลลาร์ แลกกับการเหลือเรือฟริเกตชั้น Anzac เพียง 5 ลำ ซึ่งแทบไม่ส่งผลกระทบถ้ากองทัพเรือมีการบริหารจัดการที่ดี

อังกฤษได้เงินจากการขายเรือเร็วขึ้น หากเจอปัญหาจะมีเวลาแก้ไขมากกว่าเดิม ส่วนไทยได้เรือฟริเกตอายุ 18 ปีเศษเข้าประจำการ ช่วยเสริมทัพปิดจุดอ่อนสำคัญได้ดีในระดับหนึ่ง

ปลายปี 2022 ออสเตรเลียตัดสินใจขายเรือให้ไทย โดยมีข้อแม้ว่าต้องการถอดปืนใหญ่ 5 นิ้วที่หัวเรือออก นำมาใช้งานบนเรือฟริเกต Type 26 ลำใหม่ แล้วหาปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid มือสองมาใส่ทดแทน

-วันที่ 13 เมษายน 2023 ราชนาวีไทยเข้าประจำการเรือหลวงแม่กลอง กองทัพเรือซื้อระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx กับโซนาร์ลากท้าย Variable Depth Sonar รุ่น TRAPS จากบริษัท Elbit Canada มาติดตั้งเพิ่มเติม พร้อมกับจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block II อย่างละ 8 นัด ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 54 อีก 6 นัดเพื่อใช้งานบนเรือ

เรือลำนี้ใช้แบบเรือ Meko 200 จากเยอรมันซึ่งขายดิบขายดีทั่วโลก ระวางขับน้ำ 3,600 ตัน ยาว 118 เมตร กว้าง 14.8 เมตร กินน้ำลึก 4.35 เมตร ระบบขับเคลื่อน CODOG ความเร็วสูงสุด 27 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 6,000 ไมล์ทะเล ติดอาวุธเหมือนกับเรือหลวงภูมิพลเป็นส่วนใหญ่ ใช้ระบบอำนวยการรบของ SAAB ระบบเรดาร์ผสมผสานระหว่างออสเตรเลีย สวีเดน และอเมริกา ขนาดกำลังพอเหมาะไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป

เรือหลวงแม่กลองเป็นเรือเฉพาะกิจนำมาอุดช่องว่าง อาจมีหลายอย่างเข้ากันได้ดีกับเรือหลวงภูมิพล อาทิเช่นระบบอำนวยการรบ อาวุธปล่อยนำวิถีชนิดต่างๆ แต่ย่อมมีอุปกรณ์บางอย่างแตกต่างกันออกไป เรือไม่มีโซนาร์ลากท้ายจำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม VDS โซนาร์จาก Elbit Canada ทำงานในโหมด Active ขนาดกะทัดรัด ใช้งานง่าย ใช้พื้นที่เพียงน้อยนิด ราคาไม่แพงเกินไป เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่รัฐบาลสามารถหาได้

เฟส 2 ปี 2027-2031  

-โยกย้ายเรือฟริเกตทั้งหมด รองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กองเรือฟริเกตที่ 1 มีเรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงภูมิพล และเรือหลวงแม่กลอง กองเรือฟริเกตที่ 2 มีเรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี

-ติดตั้งระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ Eclipse RESM กับ Eclipse RECM ระบบเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี VR-4 ระบบเป้าลวงตอร์ปิโด VR-4 Light ระบบดาต้าลิงก์ EVO-3 และปืนกลอัตโนมัติ Space Star 20 มม.บนเรือหลวงแม่กลอง เป็นการปรับปรุงให้เรือทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

สินค้าจากพรเทพมาเรียพัฒนาเสร็จระหว่างปี 2023-2027 แต่ต้องทดสอบใช้งานเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องสักพักใหญ่ กว่าจะติดตั้งบนเรือครบทั้งหมดปาเข้าไปปลายปี 2031 ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์มาช้าสุดแต่ยังมาทัน

เฟส 3 ปี 2032-2036

 -ปี 2033 ปลดประจำการเรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง

-ปี 2036 ปลดประจำการเรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรี

          -ราชนาวีไทยเหลือเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำ โดยจะมีเรือแค่เพียง 4 ลำตลอดไป กองเรือฟริเกตที่ 1 เปลี่ยนชื่อกลับคืนเป็นกองเรือฟริเกต ส่วนกองเรือฟริเกตที่ 2 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกองเรือคอร์เวต


ภาพประกอบคือกองเรือฟริเกตในปี 2036 เรือ 2 ลำฝั่งซ้ายมือต้องประจำการไปอีก 15-20 ปี ส่วนเรือ 2 ลำฝั่งขวามือใกล้ปลดระวางเต็มที กองทัพเรือจะเดินหน้าโครงการเรือฟริเกตทดแทนตั้งแต่ปี 2037

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

          เฟส 1 2022-2026  

          -ยกเลิกแผนการปรับปรุงเรือชั้นเรือหลวงปัตตานี

          -รัฐบาลขอซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Sirio จากอิตาลีจำนวน 2 ลำ นำมาทดแทนเรือหลวงตาปีกับเรือหลวงคีรีรัฐ โดยใช้ชื่อว่าเรือหลวงเพชรบุรีกับเรือหลวงนครศรีธรรมราชตามลำดับ

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Sirio มีระวางขับน้ำ 1,548 ตัน ยาว 88.6 เมตร กว้าง 12.2 เมตร กินน้ำลึก 3.84 เมตร เข้าประจำการพร้อมกันระหว่างปี 2002 ติดอาวุธแค่เพียงปืนกล 25 มม.จำนวน 2 กระบอก ลานจอดเฮลิคอปเตอร์รองรับอากาศยานปีหหมุนขนาด 10 ตัน มีโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับขนาดพอเหมาะพอเจาะ สามารถติดตั้งโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์รุ่นพับเก็บได้เพิ่มเติมเข้ามา


เรือมีอายุการใช้งาน 20 ปีใกล้เคียงเรือหลวงปัตตานี ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ RAN-30X จากอิตาลีเหมือนกัน ขนาดใกล้เคียงกัน ระวางขับน้ำก็ใกล้เคียงกัน เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมและใช้เวลากล่อมนายกอิตาลีไม่นาน เจ้าของเก่าต้องการขายต่อเพื่อเปิดทางให้กับเรือใหม่ แค่ตัดใจขายให้ไทยเร็วกว่าเดิมไม่กี่ปีเท่านั้นเอง

ได้เรือมาแล้วต้องปรับปรุงเล็กน้อย โดยการติดปืนกล Bofors 40 mm Mk4 เพิ่มเติมที่หัวเรือ 1 กระบอก บนจุดติดตั้งซึ่งมีอยู่แล้วไม่ต้องเสียเงินสร้าง กับออปทรอนิสก์ควบคุมการยิง Grandis ปืนกล 20 มม.GAM-BO1 เข้ามาแทนที่ปืนกล 25 มม.ข้างเสากระโดง แค่เพียงชั่วคราวรอให้อาวุธรุ่นใหม่พัฒนาเสร็จสมบูรณ์

ที่กองทัพเรือเลือกปืนกล 40 มม.นั้นมีสาเหตุ อิตาลีมีการปรับปรุงพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือเมื่อหลายปีก่อน จนไม่เหลือที่ว่างสำหรับปืนใหญ่ Oto 76/62 มม. ซึ่งต้องใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือสำหรับจัดเก็บกระสุนปืน อันเป็นเรื่องปรกติของเรืออายุใช้งาน 20 ปี การดัดแปลงเรืออาจส่งผลกระทบบางอย่างในภายหลัง

ปืนกล Bofors ขนาด 40 มม.ไม่จำเป็นต้องเจาะดาดฟ้าเรือ น้ำหนักรวมเพียง 2.3 ตันไม่ทำให้หัวเรือหนักกว่าเดิม รวมทั้งเป็นอาวุธมาตรฐานรุ่นใหม่กองเรือตรวจการณ์ เป็นทางเลือกที่ค่อนข้างดีแม้อาจไม่ดีที่สุดก็ตาม

เรืออิตาลีเข้ามาเติมเต็มกองเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งให้ครบ 6 ลำตามแผนการ

          เฟส 2 2027-2031

          -ปรับปรุงเรือหลวงเพชรบุรี เรือหลวงนครศรีธรรมราช เรือหลวงปัตตานี และเรือหลวงนราธิวาส โดยติดปืนกลอัตโนมัติ Space Star 20 มม.ทดแทนปืนกล 20 มม.รุ่นเก่า ติดอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ Eclipse RESM ระบบเป้าลวง VR-4 และระบบดาต้าลิงก์ EVO-3

          -ปรับปรุงเรือหลวงกระบี่ โดยติดอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ Eclipse RESM ระบบเป้าลวง VR-4 และระบบดาต้าลิงก์ EVO-3

          -ปรับปรุงเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์โดยติดระบบดาต้าลิงก์ EVO-3

          เฟส3 ปี 2032-2036

-ซ่อมบำรุงเรือทุกลำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน


          ภาพประกอบคือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 6 ลำ 3 ชั้น 4 รุ่นย่อย เรือหลวงปัตตานีเหมือนเรือหลวงนราธิวาสทุกประการ เรือหลวงเพชรบุรีเหมือนเรือหลวงนครศรีธรรมราชทุกประการ แต่เรือหลวงกระบี่กลับมีหลายอย่างแตกต่างจากเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการสร้างเรือในประเทศครั้งละ 1 ลำ

          โครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่จำนวน 4 ลำ จะเริ่มเดินหน้าอย่างจริงจังหลังปี 2040 ไปแล้ว เพื่อนำมาทดแทนเรือหลวงปัตตานี เรือหลวงนราธิวาส เรือหลวงเพชรบุรี และเรือหลวงนครศรีธรรมราช

เรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่

          เฟส 1 2022-2026  

          -ปลายปี 2022 รัฐบาลประกาศคัดเลือกแบบเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ นำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบซึ่งค่อนข้างชราภาพ กำหนดให้สร้างเองภายในประเทศทุกลำ บริษัทต่างชาติสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ แต่ต้องจับมือกับบริษัทภายในประเทศเพื่อร่วมกันทำงาน

          -กลางปี 2023 ประการผลผู้ชนะเลิศโครงการเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ แบบเรือ Starion 600 จากบริษัทพรเทพมาเรียคว้าชัยแบบขาดลอย รัฐบาลสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่จำนวน 3 ลำในเฟสแรก กำหนดส่งมอบภายในปี 2026 เนื่องมาจากเรือเก่าอยู่ในสภาพไปต่อไม่ไหวเสียแล้ว

-เดือนกันยายน 2023 พรเทพมาเรียทำพิธีตัดเหล็กเรือตรวจการณ์ลำที่ 1 กับลำที่ 2 ส่วนเรือลำที่ 3 มอบให้บริษัทอิตัลไทยมารีนซึ่งเป็นพันธมิตรช่วยสร้าง เพื่อให้พร้อมส่งมอบเรือทุกลำตามกำหนดเวลา

          -วันที่ 26 ธันวาคม 2026 กองทัพเรือประกอบพิธีเข้าประจำการเรือหลวงสามร้อยยอด 571 เรือหลวงหาดใหญ่ 572 และเรือหลวงพุนพิน 573 ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือชั้นเรือหลวงสามร้อยยอด มีการเผยแพร่ข่าวออกไปทั่วโลกเพื่อดึงดูดลูกค้ารายอื่น หนึ่งในนั้นก็คือบรูไนรู้สึกถูกใจอยากซื้อไปใช้สัก 3 ลำ


เรือหลวงสามร้อยยอดมีระวางขับน้ำปรกติ 642 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 798 ตัน ยาว 66.1 เมตร กว้าง 9.2 เมตร ลานจอดเฮลิคอปเตอร์กว้างสุด 10.5 เมตร กินน้ำลึก 3.0 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 ตัวความเร็วสูงสุด 24 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต ออกทะเลได้นานสุด 15 วัน

แบบเรือ Starion 600 จากบริษัทพรเทพมาเรียค่อนข้างทันสมัย ตอบโจทย์การทำภารกิจยุคใหม่ได้อย่างครบถ้วน หัวเรือมีจุดติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.ได้พอดิบพอดี แต่กองทัพเรือ (จริงๆ คือรัฐบาล) กลับเลือกปืนกล Bofors 40 mm Mk4 ซึ่งมีราคาประหยัดกว่ากันพอสมควร ไม่เช่นนั้นอาจจัดหาเรือไม่ครบตามความตั้งใจ

ดาดฟ้าเรือชั้นสองหน้าสะพานเดินเรือติดปืนกล 20 มม.ได้ 1 กระบอก หรือเปลี่ยนเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Mistral ของฝรั่งเศส อาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike ER ของอิสราเอล รวมทั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan ของตุรกี แต่กองทัพเรือเลือกติดแค่เพียงปืนฉีดน้ำแรงดันสูง

เรือใช้ระบบอำนวยการรบ GTO Mk 1 พรเทพมาเรียซื้อระบบอำนวยการรบ TIRA มาพัฒนาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ทำงานร่วมกับอาวุธปืนได้ถึงขนาด 127 มม. ระบบควบคุมการยิงได้รับความช่วยเหลือจาก Navantia แบ่งเป็นเรดาร์ควบคุมการยิง Grandis  Plus ใช้งานบนเรือคอร์เวต ออปทรอนิสก์ควบคุมการยิง Grandis ใช้งานบนเรือตรวจการณ์ (รวมทั้งลำนี้) และกล้องตรวจการณ์ Grandis Light ไว้ค้นหาเป้าหมายเท่านั้น แต่ถ้านำมาติดตั้งบนปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Space Star จะใช้ควบคุมการยิงอาวุธปืนได้ด้วย

บนเสากระโดงคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Delica 1X โดยมีระบบดาต้าลิงก์ EVO-3 ติดอยู่ด้านบนอีกที พรเทพมาเรียซื้อลิขสิทธิ์เรดาร์ Sea Giraffe 1X จาก SAAB มาประกอบเอง เพราะกองทัพเรือสั่งซื้อเรดาร์ตัวนี้ค่อนข้างมาก บริษัทจำเป็นต้องดูแลซ่อมบำรุงตลอดอายุการใช้งาน จึงขอเจรจากับ SAAB จนสำเร็จลุล่วง

Delica 1X เป็นเรดาร์ 3 มิติ AESA รุ่นใหม่ทันสมัย ระยะทำการไกลสุด 100 กิโลเมตร ตรวจจับพื้นน้ำและอะไรที่ลอยเรี่ยน้ำได้เป็นอย่างดี ราคาไม่แพงจนเกินเหตุ ขนาดเล็กติดบนเรือยาว 20 เมตรได้อย่างสบาย

ถัดจากเรดาร์หลักคือกล้องตรวจการณ์ Grandis Light บนเสากระโดงติดตั้งเรดาร์เดินเรืออีก 2 ตัว ใกล้ สะพานเดินเรือติดปืนกล 12.7 มม.อีก 2 กระบอก จุดติดอาวุธกลางเรือรองรับปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม. หรืออาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ของอิสราเอล ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM ของอเมริกา รวมทั้งปืนกลขนาด 20 มม.ถึง 2 กระบอก แต่กองทัพเรือติดปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Space Star แค่ 1 กระบอก

ลานจอดรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน วางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module ได้มากสุดจำนวน 2 ตู้ ใต้ลานจอดเป็นห้องอเนกประสงค์ความจุ 30 ที่นั่ง รองรับภารกิจลำเลียงทหาร ตำรวจ และพลเรือน หรือใช้เป็นห้องทำงานพักผ่อนของหมอกับพยาบาล ในกรณีนำเรือตรวจการณ์มาทำหน้าที่สถานพยาบาลลอยน้ำ

ท้ายเรือสร้าง Mission Deck แบบเปิดโล่ง เป็นจุดรับ-ส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตรจำนวน 2 ลำ โดยการเปิดประตูท้ายแล้วปล่อยเรือลงน้ำทันที ภารกิจตรวจค้นกลางทะเลจึงทำได้สะดวกง่ายดายกว่าเดิม ใช้เวลาปล่อยเรือ 30 วินาที ใช้เวลาขึ้นเรือ 5 วินาที นี่คือไพ่เด็ดที่ Starion 600 เอาชนะเรือแบบเรือราคาถูกจากจีน

เรือตรวจการณ์ลำใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิม รองรับภารกิจน้อยใหญ่ได้อย่างหลากหลาย เมื่อติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module ยังมีพื้นที่ว่างสำหรับอากาศยานไร้คนขับ S-100 อีก 1 ลำ กองทัพเรือใช้เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันตามจับเรือประมงต่างชาติทำผิดกฎหมาย ช่วยแบ่งเบาภาระเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งได้เป็นอย่างดี

          เฟส 2 ปี 2027-2031

          -ปลดประจำการเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบจำนวน 3 ลำแรก

          -ปลายปี 2027 รัฐบาลสั่งซื้อเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์เฟสสองจำนวน 3 ลำ ใช้แบบเรือ Starion 600 ของบริษัทพรเทพมารีนเช่นเคย เรือลำที่ 3 ได้บริษัทอิตัลไทยมารีนเป็นพันธมิตรช่วยสร้างเช่นเคย

          -ต้นปี 2031 เข้าประจำการเรือหลวงปะทิว 574 เรือหลวงท่าฉาง 575 และเรือหลวงสิชล 576

          -ปรับปรุงใหญ่เรือชั้นเรือหลวงหัวหินทั้ง 3 ลำ ติดตั้งระบบดาต้าลิงก์ EVO-3 เพิ่มเติม แต่ยังคงใช้อาวุธเดิมจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะต้องการใช้งานเป็นเรือฝึกให้กับนายเรียนจ่าทหารเรือ

          ระบบดาต้าลิงก์ EVO-3 ได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทมาเรีย จานส่งสัญญาณอยู่ในโดมขนาดเล็กบนเสากระโดง ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานบนเรือเล็ก ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเทียบเท่าของแพงแต่พอใช้งานได้ ทำงานผ่านระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมเป็นหลัก เรือที่ใช้งานดาต้าลิงก์ EVO-3 ต้องติด SATCOM เพิ่มเติมด้วย

          เฟส 3 ปี 2032-2036

          -ปลดประจำการเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบจำนวน 3 ลำหลัง

          -รัฐบาลสั่งซื้อเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่จำนวน 3 ลำ นำมาทดแทนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ ซึ่งจะทยอยปลดประจำการหลังปี 2037 ไปแล้ว โดยใช้แบบเรือ Starion 600A ของบริษัทพรเทพมารีน เรือลำที่ 3 บริษัทอิตัลไทยมารีนเป็นคนจัดการเหมือนเดิม

          แบบเรือ Starion 600A ปรับปรุงเพิ่มเติมจากแบบเรือ Starion 600 โดยการติดตั้งโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำ USHUS Mk.2 ของบริษัท BEL ประเทศอินเดีย อันเป็นโซนาร์ตัวเดียวกับเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำเขตน้ำตื้นของอินเดียในโครงการ ASW-SWC (Anti-Submarine Warfare Shallow Water Craft Corvette) เรือลำนี้ระวางขับน้ำ 900 ตัน ยาว 78 เมตร กว้าง 10.2 เมตร ขนาดใหญ่กว่าแบบเรือ Starion 600A เพียงเล็กน้อย

          หน้าสะพานเดินเรือติดแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Canter ASW ขนาด 5 ท่อยิงจำนวน 2 แท่น (รวมเท่ากับ 10 นัด) พรเทพมาเรียซื้อลิขสิทธิ์จรวดปราบเรือดำน้ำ RBU-1200 ของรัสเซียมาพัฒนาเพิ่มเติม ใส่เชื้อเพลิงรุ่นใหม่ระยะยิงไกลสุดเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 เมตร ใช้ยิงกดดันในเขตน้ำตื้นหรือใกล้ชายฝั่งได้เป็นอย่างดี

          ไม่ไกลจากปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Space Star มีระบบเป้าลวง VR-4 Light ขนาด 6 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง ใส่เป้าลวงขนาด 130 มม.ของนาโต้ได้ทุกชนิด แต่กองทัพเรือใส่เฉพาะเป้าลวงตอร์ปิโด Canto-v เท่านั้น เนื่องจากบนเรือไม่มีอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ Eclipse RESM

          ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ถอดสะพานขึ้นเรือออกไป เพื่อติดตั้งแท่นยิงแฝดสามตอร์ปิโดเปาปราบเรือดำน้ำ เรือมีออปชั่นติดสะพานขึ้นเรือแบบซ่อนรูปได้ นายกรัฐมนตรีสั่งให้ติดจะได้โชว์ให้ต่างชาติเห็น เวลาเดียวกันรัฐบาลสั่งซื้อตอร์ปิโดเบา Advance Light Torpedo หรือ TAL จากอินเดียมาใช้งานจำนวน 18 นัด แบ่งเป็นลูกจริง 12 นัด ลูกซ้อมอีก 6 นัด นำมาใช้งานบนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ 3 ลำเท่านั้น

          สาเหตุที่สั่งซื้อเพราะได้ราคาค่อนข้างเหมาะสม ถูกกว่าตอร์ปิโดอเมริกาและยุโรปถึง 45 เปอร์เซ็นต์ เรือทั้ง 3 ลำจะทำหน้าตรวจการณ์ตามปรกติ เพียงแต่วงรอบอาจน้อยกว่าเรือตรวจการณ์แบบอื่นนิดหน่อย ถ้าเกิดปัญหาเรือประมงเห็นเรือดำน้ำไม่ปรากฏสัญชาติ เรือจะถูกส่งเข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบตามความเหมาะสม นี่คืออาวุธปราบเรือดำน้ำสำรองไว้ใช้งานยามฉุกเฉิน หรือพื้นที่เสี่ยงใกล้ท่าเรือ ฐานทัพเรือ และปากแม่น้ำสายสำคัญ

          สิ่งที่แตกต่างจากเรือต้นฉบับอีกอย่างก็คือ ใช้ระบบอำนวยการรบ GTO Mk 1.1 รองรับระบบปราบเรือดำน้ำต้องพึ่งพาบริษัท SAAB เข้ามาช่วยเหลือ ราคาแพงกว่ารุ่น GTO Mk 1 ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

          -กลางเดือนตุลาคม 2036 เข้าประจำการเรือหลวงทองปลิว 577 เรือหลวงลอยลม 578 และเรือหลวงสารสิน 579 ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือชั้นเรือหลวงทองปลิว ใช้หมายเลขต่อจากเรือชั้นเรือหลวงสามร้อยยอด

          -ปลายปี 2036 ปลดประจำการเรือหลวงแหลมสิงห์ รัฐบาลขายต่อให้กองทัพเรือไนจีเรียในราคามิตรภาพ เพื่อช่วยกรุยทางตลาดอัญมณีและข้าวสารมากขึ้นกว่าเดิม

          -ปลายปี 2036 ปลดประจำการเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีทั้ง 3 ลำ

          ปลายปี 2036 ราชนาวีไทยมีเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ 12 ลำ แบ่งเป็นเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ชั้นเรือหลวงสามร้อยยอด 6 ลำ เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงทองปลิว 3 ลำ และเรือตรวจการณ์ฝึกชั้นเรือหลวงหัวหินอีก 3 ลำ มากเพียงพอต่อความต้องการในการทำภารกิจ โดยติดอาวุธเบากว่าเดิมคือเปลี่ยนจากปืนใหญ่ 76 มม.เป็นปืนกล 40 มม. ภารกิจระดมยิงชายฝั่งถูกส่งต่อให้กับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุกำลังจะปลดประจำการจึงไม่นับรวม

เรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

          -ขายเรือต.997 กับ ต.998 ให้กองทัพเรืออียิปต์

          เรือทั้งสองลำอยู่ในสภาพใหม่เอี่ยมไม่เคยใช้งาน แต่ติดอาวุธรัสเซียเรดาร์รัสเซียแตกต่างจากเรือลำอื่น รัฐบาลตัดสินใจขายต่อเพื่อเคลียร์หลังบ้านให้เรียบร้อย ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาวุ่นวายตามมาให้ปวดหัว

          หลังจากได้รับเรือไปใช้งานไม่กี่เดือน กองทัพเรืออียิปต์อยากได้เรือเพิ่มเติมอีก 6 ลำ กองทัพเรือไทยในฐานะเจ้าของแบบเรือจึงให้บริษัทอู่กรุงเทพเป็นผู้ดูแล มีการสร้างเรือในประเทศ 2 ลำโดยกรมอู่ทหารเรือ สร้างเรือในอียิปต์อีก 4 ลำพร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภารกิจหลังมอบหมายให้บริษัทมาร์ซันเข้ามาช่วยเหลือ

          -ซื้อเรือตรวจการณ์ M36 จากบริษัทมาร์ซันจำนวน 4 ลำ นำมาทดแทนเรือขายเรือเก่าซึ่งขายให้อียิปต์ 2 ลำ กับซื้อเพิ่มเติมช่วยสร้างงานให้คนในชาติอีก 2 ลำ

          -ปี 2026 เข้าประจำการเรือต.116 เรือต.117 เรือต.118 และเรือต.119

          เรือทั้ง 4 ลำไม่มีระบบอำนวยการรบ หัวเรือติดปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Space Star 1 กระบอก พรเทพมาเรียนำปืนกล 20 มม. Denel GI-2 ของแอฟริกาใต้ซึ่งมีใช้งานอย่างแพร่หลาย มาติดระบบควบคุมการยิงเพื่อพัฒนาเป็น Remote Weapon System รุ่นประหยัด ราคาแพงขึ้นกว่าเดิมจาก 14 ล้านบาทเป็น 30 ล้านบาท หากกองทัพเรือสั่งซื้อมากกว่า 20 กระบอกจะลดลงมาอยู่ที่ 28 ล้านบาท นำปืนเก่ามาติดชุดคิทเพิ่มเติมในภายหลังได้ เพียงแต่ประสิทธิภาพบางอย่างอาจด้อยกว่าของใหม่ป้ายแดง

          Space Star ใช้ปืนขนาด 20/139 ของ GIAT อัตรายิงสูงสุด 720 นัดต่อนาที ป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงสองสายสายละ 150 นัด รวมแล้วเท่ากับ 300 นัดมากเพียงพอในการป้องกันตนเอง

อาวุธรองคือปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ท้ายเรือสามารถวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module ขนาด 20 ฟุตจำนวน 1 ตู้ มีความอเนกประสงค์และเหมาะสมกับภัยคุกคามปัจจุบัน ซึ่งมีความแตกต่างจากยุคสงครามเย็นพอสมควร เรือตรวจการณ์ขนาด 36 เมตรต้องทำภารกิจด้านพลเรือนได้ในระดับหนึ่ง

นี่คือจุดแข็งเรือตรวจการณ์ชั้นต.111 ที่เหนือกว่าเรือตรวจการณ์ชั้นต.991

          เฟส 2 ปี 2027-2031

          -ติดตั้งระบบดาต้าลิงก์ EVO-3 บนเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กจนครบทุกลำ

          -ติดปืนกลอัตโนมัติ 20 มม.Space Star บนเรือต.111 .112 และต.113

-สั่งซื้อเรือตรวจการณ์ M36 บริษัทมาร์ซันเพิ่มเติมจำนวน 3 ลำ

          -เข้าประจำการเรือต.120 เรือต.121 เรือต.122

          ปี 2021 เรือตรวจการณ์ขนาดเล็กมีจำนวน 18 ลำ ประกอบไปด้วยเรือชั้นเรือต.991+994 จำนวน 4 ลำ กับเรือชั้นเรือต.111 จำนวน 12 ลำ ไม่นับรวมเรือตรวจการณ์ความยาว 20 เมตรซึ่งจัดเป็นขนาดกะทัดรัด

เรือต.114 กับเรือต.115 แตกต่างจากเพื่อนฝูงในชั้นเดียวกัน เพราะติดปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mark 2 ขนาด 30 มม.พร้อมออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงจากอังกฤษ รัฐบาลมองเห็นปัญหานี้เช่นกันเพียงแต่ขี้เกียจแก้ไข เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ให้คนใช้งานจัดการด้วยตัวเองดีกว่า จะได้เอาเวลาไปจัดสรรงบประมาณให้ลงตัว

เรือคอร์เวต

          เฟส 1 ปี 2022-2026

          เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้ามาดูแลกองทัพเรือในปี 2022 ปัญหาใหญ่โตเรื่องหนึ่งที่ต้องพบเจอก็คือ เรือหลายลำประจำการยาวนานหลายสิบปี เรืออีกหลายลำทำการรบได้อย่างอัตคัด อยากปรับปรุงให้ทันสมัยต้องพึ่งพาประเทศผู้ผลิตเท่านั้น ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว

          สิ่งที่ตามก็คือเรือหลวงปิ่นเกล้าปลดประจำการปี 2023 เรือหลวงมกุฎราชกุมารปลดประจำการปี 2025 ภารกิจเรือฝึกส่งมอบให้กับเรือยกพลขึ้นบก LPD ลำใหม่สร้างเองในประเทศ เรือหลวงตาปีกับเรือหลวงคีรีรัฐปลดประจำการพร้อมกันปี 2026 ได้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมือสองจากอิตาลี 2 ลำทำหน้าที่แทน

          จัดการปัญหาได้แล้ว 4 ลำแต่เรื่องวุ่นวายยังไม่จบ เรือหลวงรัตนโกสินทร์อายุ 36 ปีแล้ว เรือหลวงสุโขทัยอายุ 35 ปีห่างกันเพียงนิดเดียว เรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกงอายุไม่ถึง 30 ปีก็จริง แต่อาวุธกับเรดาร์ค่อนข้างล้าสมัยและไม่คุ้มค่าในการปรับปรุงใหม่ ส่วนเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรีได้รับการปรับปรุงแล้วก็จริง แต่ทำการรบได้เพียง 2 มิติและมีอายุใกล้เคียงเรือหลวงเจ้าพระยา

          แผนการปรับปรุงและจัดกำลังใหม่เกิดขึ้นทันที ต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบถึง 2 ปีเต็ม

          -กลางปี 2024 รัฐบาลประกาศคัดเลือกแบบเรือคัดเลือกแบบเรือคอร์เวตอเนกประสงค์ นำมาทดแทนเรือเก่าจำนวน 6 ลำด้วยเรือใหม่จำนวน 4 ลำ กำหนดความต้องการไว้อย่างชัดเจนตามนี้

          1.จำนวนเรือ 4 ลำสร้างเองในประเทศทั้งหมด บริษัทต่างชาติสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ แต่ต้องจับมือกับบริษัทภายในประเทศเพื่อร่วมกันทำงาน ต่อไปในอนาคตเรือทุกลำต้องจัดหาแบบนี้ทั้งสิ้น

          2.ขนาด 2,500 ตันขึ้นไป ใช้ระบบขับเคลื่อนดีเซลบวกไฟฟ้า

          3.ใช้ระบบอำนวยการรบผลิตเองในประเทศ

          4.ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 8 นัดขึ้นไป ต้องมีระยะยิงมากกว่า 20 กิโลเมตร

          5.ติดตั้งระบบโซนาร์ลากท้ายรุ่นใหม่ทันสมัย ทำงานทั้งในโหมด Active และโหมด Passive

          6.ลานจอดและโรงเก็บรองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำขนาด 10 ตัน

          7.ระบบเรดาร์และอาวุธอื่นๆ ให้อิงมาตรฐานกองทัพเรือ แต่สามารถใช้งานรุ่นใหม่ได้ตามความเหมาะสม

          ความต้องการที่ชัดเจนมีเพียงเท่านี้ บริษัทให้ความสนใจมีทั้งจากสเปน อิตาลี รัสเซีย เยอรมัน สวีเดน ตุรกี เนเธอร์แลนด์ และจีน รอบชิงชนะเลิศเป็นการปะทะกันระหว่าง ดาเมน เอเชียน มารีน เซอร์วิส ซึ่งเสนอแบบเรือ Sigma 10514TH ใช้ระบบอำนวยการรบ Golden Kirin 200 กับพรเทพมาเรียซึ่งซื้อแบบเรือ Lafayatte  บริษัท Naval Group มาปรับปรุงเป็นแบบเรือตัวเอง ใช้ระบบอำนวยการรบ GTO Mk 2 สำหรับเรือคอร์เวตขึ้นไป

-ปลายปี 2025 รัฐบาลประกาศให้แบบเรือ Diamante 2600 บริษัทพรเทพมารีนเป็นผู้ชนะโครงการเรือคอร์เวตอเนกประสงค์ พร้อมกับสั่งซื้อเรือเฟสแรกจำนวน 2 ลำ โดยกำหนดให้พร้อมเข้าประจำการภายใน 5 ปี

          เฟส 2 ปี 2027-2031

-ปลายปี 2029 รัฐบาลสั่งซื้อเรือเฟสสองจำนวน 2 ลำ นายกรัฐมนตรีอยากซื้อเรือเร็วกว่านี้แต่งบไม่พอ

-ปลายปี 2030 เข้าประจำการเรือหลวงศรีวิชัย 491 เรือหลวงล้านนา 492 ตรงตามสัญญา ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือชั้นเรือหลวงศรีวิชัย มีการถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลกอวดโฉมเรือรบสร้างเองลำแรก

เรือหลวงศรีวิชัยมีระวางขับน้ำปรกติ 2,648 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 2,890 ตัน ยาว 106.1 เมตร กว้าง 15.0 เมตร กินน้ำลึกสุด 5 เมตรนับรวมโดมโซนาร์ ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD เครื่องยนต์ดีเซล 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,700 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต

หัวเรือติดปืนใหญ่ Oto 76/62 Super Rapid หน้าสะพานเดินเรือติดแท่นยิงแนวดิ่ง GWS-35 จำนวน 12 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถี Sea Ceptor ระยะยิง 25 กิโลเมตร รัฐบาลตัดสินให้ Sea Ceptor ชนะ VL MICA NG ซึ่งมีระยะยิง 40 กิโมเมตรด้วยสาเหตุสำคัญ 2 เรื่อง หนึ่งจัดการอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบได้ดีกว่า สองกองทัพเรือฝรั่งเศสไม่มีใช้งานแม้แต่ลำเดียว ขณะที่ Sea Ceptor มีแผนติดตั้งบนเรือรบอังกฤษทุกลำ

แบบเรือ Diamante 2600 ค่อนข้างเรียบง่ายไม่หวือหวา หลังคาสะพานเดินเรือติดจานส่งสัญญาณนำวิถีระหว่างเดินทางให้ Sea Ceptor  ต่อด้วย SATCOM สื่อสาร กล้องตรวจการณ์ Grandis Light และเรดาร์ควบคุมการยิง Grandis  Plus สำหรับอาวุธปืน ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB เหมือนเรือฟริเกตและเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ โดยมีเรดาร์เดินเรืออีก 2 ตัวติดตั้งอยู่บนเสากระโดง

การใช้งาน Sea Ceptor จากอังกฤษมีปัญหาเล็กน้อย ที่ปรึกษา SAAB ไม่เคยมีประสบการณ์กับอาวุธชิ้นนี้ จำเป็นต้องพึ่งพา Lockheed Martine Canada สถานเดียว เพราะเคยใช้งานระบบอำนวยการรบ CMS-330 กับ Sea Ceptor บนเรือฟริเกตนิวซีแลนด์กับชิลีมาแล้วถึง 5 ลำ

CMS-330 คือ 9LV ของ SAAB นั่นแหละ แต่ถูกพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อกองทัพเรือแคนาดา ส่วน GTO Mk 2 มีบรรพบุรุษเดียวกับ CMS-330 บริษัท Lockheed Martine Canada จึงช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ที่ว่างกลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ อยู่ไม่ไกลจาก SATCOM ทางทหารขนาดใหญ่ กองทัพเรืออยากได้ NSM มาใช้งานเหมือนกองทัพเรืออเมริกา แต่รัฐบาลยังไม่มีเงินซื้อต้องยืม C-802A จากเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรีมาใช้งานไปก่อน โดยติดไว้เพียง 4 ท่อยิงและมีลูกจริงไม่ทราบจำนวน

เสากระโดงรองขนาดใหญ่สร้างติดปล่องระบายความร้อน โดมทรงกระบอกเล็กๆ บนสุดคือระบบดาต้าลิงก์ EVO-3 ต่ำลงมาเล็กน้อยเป็นโดมทรงกลมคืออุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ Eclipse RESM ส่วนโดมทรงกลมใกล้ปากปล่องระบายความร้อนคืออุปกรณ์รบกวนคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ Eclipse RECM

พรเทพมาเรียขอซื้อเทคโนโลยีจากบริษัท Indra แห่งสเปนมาพัฒนาสินค้าตัวเอง โดยมีข้อกำหนดว่าจะไม่แข่งขันกับต้นฉบับ Eclipse RESM มีคุณสมบัติไม่แตกต่างยี่ห้ออื่น ส่วน Eclipse RECM อาจด้อยกว่าสินค้าราคาแพงจากอเมริกาหรืออิตาลี แต่มีความทัดเทียมสินค้าจากเนเธอร์แลนด์ สเปน เกาหลีใต้ รัสเซีย และจีน

ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอยู่ใกล้เรือยางท้องแข็งขนาด 7.3 เมตร บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดระบบเป้าลวง VR-4 Plus ขนาด 12 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง หันทิศทางหาเป้าหมายได้ 360 องศา ใส่เป้าลวงขนาด 130 มม.ของนาโต้ได้ทุกชนิด เรือหลวงศรีวิชัยใส่เป้าลวงผสมผสานกันเพื่อป้องกันภัยทุกชนิด

เรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ใช้เป้าลวง VR-4 Light หันทิศทางไม่ได้ เรือคอร์เวตกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งใช้ VR-4 Plus หันทิศทางได้ ส่วนเรือฟริเกตใช้ทั้ง 2 รุ่นแยกกันไปเลย ยกเว้นเรือเก่าซึ่งมีระบบเป้าลวงอยู่ก่อนแล้ว

ถัดจากเสาวิทยุเป็นห้องอเนกประสงค์ขนาดกะทัดรัด สำหรับเก็บกระสุนปืนกลและเป้าลวงชนิดต่างๆ บนหลังคาออกแบบมาเพื่อติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง มีจานส่งสัญญาณนำวิถีระหว่างเดินทางให้ Sea Ceptor ในโดมทรงกระบอก กับเรดาร์เดินเรือช่วยในการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ติดอยู่ใกล้กัน

ถัดไปเป็นจุดติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด นำ Millennium Gun ขนาด 35 มม.มาวางได้อย่างเหมาะเหม็ง ทว่าเรือจริงติดปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Space Star จำนวน 2 กระบอก กองทัพเรือตั้งใจไว้ว่าอนาคตจะหา Phalanx ราคา 18 ล้านเหรียญมาใช้งาน แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ อาจเป็น Bofors 40 mm Mk4 แล้วโยก Space Star ไปติดแทนปืนกล 12.7 มม. ส่วนเรดาร์เดินเรือย้ายขึ้นมาติดบนเสากระโดงรอง

อุปกรณ์สำคัญชิ้นสุดท้ายติดอยู่ที่บั้นท้ายเรือ นั่นคือโซนาร์ลากท้าย CAPTAS 2 ราคาแพงที่นายกรัฐมนตรีต้องการเหลือเกิน เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอจำเป็นต้องตัดอุปกรณ์บางอย่าง นอกจากระบบป้องกันตนเองระยะประชิดโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำหัวเรือยังหายไปด้วย โชคดีได้โซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิดมาใช้งานแทน

การติดตั้งอาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ คล้ายคลึงเรือฟริเกตชั้น Formidable ของสิงคโปร์ อาจได้ของไม่ครบก็จริงแต่ได้ของสำคัญมากันพร้อมหน้าตั้งแต่แรก มีงบประมาณมากขึ้นค่อยจัดหามาเพิ่มในภายหลัง

          เฟส 3 ปี 2032-2036

          -กลางปี 2034 ปลดประจำการเรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงสุโขทัย

          -ปลายปี 2034 เข้าประจำการเรือหลวงทวารวดี เรือหลวงละโว้ โดยไม่มีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบติดบนเรือ เพราะเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรียังไม่ปลดประจำการ

          -ระหว่างปี 2036 กองเรือฟริเกตที่ 2 เปลี่ยนชื่อเป็นกองเรือคอร์เวต ประจำการเรือชั้นเรือหลวงศรีวิชัยจำนวน 4 ลำ อันเป็นกองเรืออเนกประสงค์และทันสมัยตามความต้องการนายกรัฐมนตรี

เรือกวาดทุ่นระเบิด

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

-ปี 2023 รัฐบาลประกาศจัดหาเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิด นำมาทดแทนเรือหลวงถลางจำนวน 1 ลำ  

          -ปี 2024 พรเทพมาเรียชนะโครงการคัดเลือกเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิด หลังจากนั้นสองเดือนรัฐบาลสั่งซื้อเรือ Offshore Support Vessel รุ่น Outlander 50 จำนวน 1 ลำ

-ปี 2025 รัฐบาลประกาศจัดหายานผิวน้ำไร้คนขับ เพื่อใช้งานในภารกิจปราบทุ่นระเบิด

-ปี 2026 บริษัท ST Engineering Marine ชนะโครงการคัดเลือกยานผิวน้ำไร้คนขับ รัฐบาลไทยสั่งซื้อยานผิวน้ำไร้คนขับ Venus 16 จำนวน 3 ลำ พร้อมโซนาร์ลากท้ายตรวจจับทุ่นระเบิด T-SAS ของ Thales จำนวน 3 ระบบ มีการประกาศตั้งหมวดยานผิวน้ำไร้คนขับปราบเรือดำน้ำขึ้นมา

          เฟส 2 ปี 2027-2031

          -ปี 2028 เข้าประจำการเรือหลวงท่าแพ 622 ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือชั้นเรือหลวงหลวงท่าแพ

          เรือพี่เลี้ยงลำใหม่มีระวางขับน้ำ 498 ตัน ยาว 50.15 เมตร กว้าง 9.31 เมตร กินน้ำลึก 2.41 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 16 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,600 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12.5 นอต ติดปืนกล 20 มม.ไว้ป้องกันตัวเพียง 1 กระบอก มีความอเนกประสงค์และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าเรือรุ่นเก่า

บริเวณท้ายเรือมีพื้นที่บรรทุกยุทธปัจจัยต่างๆ พร้อมเครนขนาดใหญ่ยกตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุตได้อย่างสบาย เรือหลวงท่าแพเป็นได้ทั้งเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดชายฝั่ง ยานใต้น้ำไร้คนขับ รวมทั้งเรือดำน้ำขนาดเล็ก ราคาไม่แพงเพราะเป็นเรือ Offshore Support Vessel เหมือนดั่งเรือพลเรือนทั่วไป

          -ต้นปี 2029 เข้าประจำการยานผิวน้ำไร้คนขับ Venus 16 จำนวน 3 ลำ

          Venus 16 ยาว 16.5 เมตร กว้าง 5 เมตร น้ำหนักรวมสูงสุด 25 ตัน บรรทุกอาวุธหรืออุปกรณ์ต่างๆ ได้ถึง 10 ตัน ใช้ระบบขับเคลื่อน Water Jet ความเร็วสูงสุด 35 นอตขึ้นไป ความทนทะเลอยู่ที่ระดับ 3 เทียบเท่าคู่แข่ง ท้ายยานมีจุดปล่อยโซนาร์ลากท้ายตรวจจับทุ่นระเบิด ยานทำลายทุ่นระเบิด หรือตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ

          อาวุธใหม่จากสิงคโปร์คือการปูรากฐานไปสู่อนาคต เมื่อเรือกวาดทุ่นระเบิดทั้ง 4 ลำปลดประจำการ เรือที่เข้ามาทำหน้าที่แทนจะมีคุณสมบัติ Mother Ship สามารถปล่อยยานผิวน้ำไร้คนขับออกไปไล่ล่าทุ่นระเบิด ฉะนั้นช่วงนี้ต้องเรียนรู้อาวุธใหม่ให้เกิดความชำนาญ ถึงเวลาจริงจะได้ไม่เจอปัญหาอาวุธดีแต่คนใช้แย่

          -กลางปี 2030 กองทัพเรือจัดพิธีปลดประจำการเรือหลวงถลางอย่างยิ่งใหญ่ เรือถูกส่งไปทำพิพิธภัณฑ์บนชายฝั่งที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต พร้อมกับเครื่องบิน F-16 ADF ที่นั่งเดี่ยวจากกองทัพอากาศอีก 1 ลำ

          -ปี 2031 รัฐบาลสั่งซื้อยานผิวน้ำไร้คนขับ Venus 16 เพิ่มอีก 1 ลำ (เฉพาะยานผิวน้ำอย่างเดียว)

          เฟส 3 ปี 2032-2036

          -ปี 2033 เข้าประจำการยานผิวน้ำไร้คนขับ Venus 16 ลำที่ 4

          -ซ่อมบำรุงเรือกวาดทุ่นระเบิด 4 ลำ เรือพี่เลี้ยง 1 ลำ ยานผิวน้ำไร้คนขับ 4 ลำ และเรือกวาดทุ่นระเบิดน้ำตื้นทุกลำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ส่งคนไปเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่เป็นการเตรียมพร้อมเพื่ออนาคต

เรือสำรวจ

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

          -ปี 2026 รัฐบาลประกาศคัดเลือกแบบเรือสำรวจทางทะเล ล่าช้าพอสมควรเพราะงบประมาณมีจำกัด

          เฟส 2 ปี 2027-2031

-ต้นปี 2027 แบบเรือ OSV 190 SC-WB จากบริษัท OCEA ประเทศฝรั่งเศสได้รับการคัดเลือก รัฐบาลสั่งซื้อเรือสำรวจอเนกประสงค์จำนวน 2 ลำ สร้างโดยบริษัทอิตัลไทยมารีนซึ่งเป็นคู่ค้าบริษัท OCEA

-ปลายปี 2030 เข้าประจำการเรือหลวงพุธ 814 กับเรือหลวงเสาร์ 815

เรือสำรวจลำใหม่มีระวางขับน้ำ 515 ตัน ยาว 60.1 เมตร กว้าง 11.3 เมตร กินน้ำลึก 3.5 เมตร ความเร็วสูงสุด 14 นอต ระยะทำการ 4,400  ไมล์ทะเล ใช้ลูกเรือ 34 นาย มีพื้นที่ทำงานสำหรับเจ้าหน้าที่สำรวจ 16 นาย ออกทะเลได้นานสุด 20 วันติดต่อกัน ท้ายเรือวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module จำนวน 2 ตู้ ทำภารกิจสำรวจทางอุทกศาสตร์ สำรวจทางสมุทรศาสตร์ สำรวจทางธรณีฟิสิกส์ หรือสำรวจการประมงได้เป็นอย่างดี

นอกจากเครื่องมือบันทึกภาพพื้นผิวท้องทะเลหรือ Side Scan Sonar ประจำเรือ รัฐบาลสั่งซื้อยานสำรวจใต้น้ำอัตโนมัติหรือ Autonomous Underwater Vehicles หรือ AUV  ยานใต้น้ำควบคุมจากระยะไกลหรือ REMOTELY OPERATED VEHICLE หรือ ROV และระบบหยั่งน้ำชนิดหลายลำคลื่น หรือ Multibeam Echosounder มาใช้งานร่วมกัน สำรวจพื้นที่ท้องทะเลเพื่อทำแผนที่ได้ลึกสุดถึง 6,000 เมตร

-ต้นปี 2031 ปลดประจำการเรือหลวงจันทร

เฟส 3 ปี 2032-2036

-ปลายปี 2034 ปลดประจำการเรือหลวงศุกร์

สิ้นสุดแผน 15 ปียังมีเรือสำรวจ 3 ลำเท่าเดิม แต่เป็นเรือรุ่นใหม่ติดอุปกรณ์ทันสมัยอย่างครบครัน

เรือส่งกำลังบำรุงขนาดเล็ก

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

          -ต้นปี 2023 รัฐบาลประกาศคัดเลือกแบบเรือส่งกำลังบำรุงขนาดเล็กจำนวน 4 ลำ นำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงทองแก้วจำนวน 4 ลำ โดยกำหนดให้มีระวางขับน้ำมากกว่า 500 ตันขึ้นไป

          -ปลายปี 2023 บริษัทมาร์ซันชนะโครงการเรือส่งกำลังบำรุงขนาดเล็ก รัฐบาลสั่งซื้อแบบเรือ M55 Bath 2 จำนวน 2 ลำในเฟสแรก กำหนดให้เข้าประจำการภายในปี 2026

          -ต้นปี 2026 รัฐบาลสั่งซื้อแบบเรือ M55 Bath 2 อีกจำนวน 2 ลำในเฟสสอง

          -ปลายปี 2026 เข้าประจำการเรือหลวงนางยวน 786 เรือหลวงไข่ 787

          เรือหลวงนางยวนมีระวางขับน้ำ 595 ตัน ยาว 55 เมตร กว้าง 11 เมตร กินน้ำลึก 1.2 เมตรที่หัวเรือและ 1.8 เมตรที่ท้ายเรือ เป็นเรือท้องป้านแบบเดียวกับเรือหลวงมัตโพนและเรือหลวงราวี แต่ปรับปรุงหัวเรือให้สูงขึ้นกว่าเดิม ใช้ราวกันตกแบบทืบช่วยเสริมความสูงเรือ ติดปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Space Star 2 กระบอกที่หัวเรือกราบขวากับท้ายเรือกราบซ้าย มีปืนรองเป็นปืนกล 12.7 มม.อีก 2 กระบอก

          เฟส 2 ปี 2027-2031

          -กลางปี 2029 เข้าประจำการเรือหลวงตาชัย 788 กับเรือหลวงมัดสุม 789

-ปลายปี 2029 ปลดประจำการเรือชั้นเรือหลวงทองแก้วทุกลำ

          กองทัพเรือมีเรือส่งกำลังบำรุงขนาดเล็กจำนวน 9 ลำเท่าเดิม ประกอบไปด้วยเรือชั้นเรือหลวงมันนอก 3 ลำ กับเรือชั้นเรือหลวงมัตโพน 6 ลำแต่แบ่งเป็น 2 รุ่นย่อย ระวางขับน้ำมากกว่า 500 ตันทุกลำ

เรือน้ำมัน

          เฟส 2 ปี 2027-2031

          -ต้นปี 2027 รัฐบาลซื้อแบบเรือน้ำมันความยาว 63.5 เมตรจากตุรกี อันเป็นแบบเรือเดียวกับเรือหลวงมาตรา นำมาให้บริษัทในประเทศช่วยกันสร้างจำนวน 3 ลำ เพื่อนำมาทดแทนเรือหลวงสมุย เรือหลวงปรง เรือหลวงเปริด และเรือหลวงเสม็ด ตามนโยบายรวมแบบเรือเป็นหนึ่งของนายกรัฐมนตรี

          -ปลายปี 2030 เข้าประจำการเรือหลวงบาเละ 837 สร้างโดยพรเทพมาเรีย เรือหลวงราชาใหญ่ 838 สร้างโดยมาร์ซัน และเรือหลวงขาม 839 สร้างโดยอิตัลไทยมารีนพร้อมกัน

เรือหลวงราชาใหญ่ยาว 63.5 เมตร กว้าง 12.0 เมตร กินน้ำลึก 3.92 เมตร ความเร็วสูงสุด 13นอต ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 90,000 ลิตร ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง 8,000 ลิตร ความจุของถังน้ำจืด 100 ตัน  สามารถส่งน้ำมันขณะเรือจอดได้พร้อมกัน 2 จุด สามารถส่งน้ำมันขณะเรือเดินในทะเลบริเวณท้ายเรือ รองรับการเข้าเทียบเรือขนาดมากกว่า 500 ตัน จำนวน 2 ลำ ปฏิบัติภารกิจขณะระวางขับน้ำเต็มที่ในสภาพทะเลระดับ 5

          กองทัพเรือมีเรือน้ำมันระวางบรรทุก 1,200 กิโลลิตรหน้าตาเหมือนกันจำนวน 4 ลำ

ยานเกราะสายพานและยานเกราะล้อยาง

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

-ซื้อยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก VN-16 ครบจำนวน 1 กองร้อย 16 คัน

กองทัพเรือมีโครงการจัดหายานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก นำมาทดแทนรถถังเก่าซึ่งจำเป็นต้องปลดประจำการ แบบรถที่ได้รับการคัดเลือกคือ VN 16 จากประเทศจีน อันเป็นรถถังเบาสะเทินน้ำสะเทินบกรุ่นส่งออก น้ำหนักรวมประมาณ 26.5 ตัน ติดตั้งป้อมปืน 105 มม.เป็นอาวุธประจำกาย ใช้ยิงสนับสนุนระหว่างกำลังทหารยกพลขึ้นบก นี่คืออาวุธที่นาวิกโยธินไทยอยากมีอยากได้มาแสนนาน

VN 16 มีความเร็วบนถนน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วในน้ำ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้พลประจำรถ 4 นาย แต่ไม่เหลือพื้นที่ว่างสำหรับบรรทุกทหาร (ถ้าเป็นรุ่นลำเลียงจะบรรทุกทหารได้ 8 นาย) มีความคล่องตัวสูง อำนาจการยิงสูง แต่เกราะรอบคันค่อนข้างเปราะบาง ดวลเดี่ยวกับรถถังหลักมีหวังละลายทั้งกองร้อย

-ซื้อยานเกราะล้อยางสะเทินน้ำสะเทินบก AAPC ครบจำนวน 1 กองร้อย 16 คัน

ยานเกราะล้อยาง 8x8 ที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศหรือ DTI ร่วมกับบริษัท ST Kinetics จากสิงคโปร์และบริษัท ช.ทวี จำกัดประเทศไทย พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองภารกิจนาวิกโยธินโดยเฉพาะ มีพื้นฐานมาจากยานเกราะล้อยาง Black Widow ของ DTI นำมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับความต้องการ

AAPC น้ำหนักรวมประมาณ 25 ตัน ติดเกราะป้องกันทั้งตัวถังและใต้ท้องรถ ใช้พลประจำรถ 3 นาย บรรทุกทหารได้อีก 11 นาย ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 400 แรงม้า ความเร็วบนถนน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วในน้ำ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดตั้งป้อมปืน 30 มม.ควบคุมด้วยรีโมทจากบริษัท ST Kinetics สิงคโปร์

          เฟส 2 ปี 2027-2031

          -ซื้อยานเกราะล้อยางสะเทินน้ำสะเทินบก R600 ครบจำนวน 1 กองร้อย 16 คัน

          ยานเกราะล้อยาง 8x8 คันใหญ่พัฒนาโดยบริษัท Panus Assembly ประเทศไทยทั้งคัน รองรับภารกิจได้หมด 3 เหล่าทัพ เป็นทั้งยานเกราะลำเลียงพล ยานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบก หรือยานเกราะติดอาวุธต่อสู้อากาศยาน ขนาดใหญ่โตกว่า AAPC แบบบังกันมิดทั้งคัน ทว่าน้ำหนักรวมใกล้เคียงกันอยู่ที่ประมาณ 25 ตัน

          R600 ใช้พลประจำรถ 2 นาย มีพื้นที่บรรทุกทหารถึง 20 นาย ติดเกราะป้องกันทั้งตัวถังและใต้ท้องรถ ความเร็วบนถนน 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วในน้ำ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดตั้งป้อมปืน 12.7 มม.ควบคุมด้วยรีโมทพร้อมเครื่องยิงลูกระเบิด 40 มม.จุดเด่นชัดเจนที่สุดคือการลำเลียงทหารจำนวนมาก

ที่ R600 ไม่ติดป้อมปืน 30 มม.เพราะภารกิจหลักคือลำเลียงทหาร นำมาส่งในพื้นที่ปลอดภัยแล้วกลับไปรับทหารชุดใหม่จากเรือยกพลขึ้นบก แตกต่างจาก AAPC ซึ่งต้องเข้าสู่พื้นที่ทำการรบพร้อม VN 16 ป้อมปืนขนาด 30 มม.มีความจำเป็นและเหมาะสมกับภารกิจ

          -ยานเกราะเก่าทั้งหมดซ่อมบำรุงให้ใช้งานได้ตามปรกติ

          นาวิกโยธินได้รับยานเกราะ 54 ลำภายในเวลา 7 ปี นับว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับกำลังพลส่วนอื่น เวลาที่เหลืออีก 8 ปีจึงไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม นอกเสียจากเริ่มทยอยปลดประจำการยานเกราะเก่า

เครื่องบินและอากาศยานไร้คนขับปีกแข็ง

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

-ปลายปี 2022 ยกเลิกการจัดหาอากาศยานไร้คนขับขนาดกลางติดอาวุธ

โครงการนี้ยังไม่ประกาศผลบริษัทผู้ชนะ นายกรัฐมนตรียกเลิกได้ทันทีไม่จำเป็นต้องเคลียร์กับใคร

          -ปลายปี 2022 รัฐบาลประกาศคัดเลือกเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล

- กลางปี 2023 บริษัท CASA จากสเปนชนะโครงการเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล รัฐบาลสั่งซื้อเครื่องบิน CN-235XL MPA จำนวน 2 ลำ พร้อมออปชั่นเสริมเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ AESA กล้องตรวจการณ์ออปทรอนิกส์หรือ FLIR และอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM

CN-235XL ถูกพัฒนามาจากรุ่น CN-235 ความยาวมากกว่าเดิม 5.2 เมตร ถังน้ำมันใหญ่กว่าเดิม บินได้ไกลกว่าเดิม 180 กิโลเมตร ใต้ปีกมีจุดติดอาวุธจำนวน 2 จุด ติดถังน้ำมันสำรองช่วยเพิ่มระยะปฏิบัติการได้ รัฐบาลไม่ได้จัดหาอาวุธมาให้พร้อมเครื่องบิน ด้วยต้องการใช้งบประมาณกับหน่วยงานอื่นมากกว่า

-กลางปี 2026 รัฐบาลประกาศคัดเลือกอากาศยานไร้คนขับขนาดกลางไม่ติดอาวุธ

          เฟส 2 ปี 2027-2031

          -ต้นปี 2027 เข้าประจำการเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล CASA CN-235XL MPA จำนวน 2 ลำ

          -กลางปี 2027 บริษัท IAI อิสราเอลชนะโครงการอากาศยานไร้คนขับขนาดกลาง รัฐบาลสั่งซื้ออากาศยานไร้คนขับรุ่น Heron 2+ จำนวน 3 ลำ กำหนดให้ส่งมอบครบทุกลำภายใน 24 เดือน

          -กลางปี 2029 เข้าประจำการอากาศยานไร้คนขับ Heron 2+ จำนวน 3 ลำตรงตามสัญญา

          Heron 2+ ถูกพัฒนาต่อจาก Heron 1 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 1,380 กิโลกรัม ยาว 8.9 เมตร ปีกกาง 16.8 เมตร  บินได้สูงสุด 30,000 ฟุต บินได้นานสุด 22 ชั่วโมง ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ AESA กับกล้องตรวจการณ์ออปทรอนิกส์ทันสมัย ใช้เจ้าหน้าที่ 5 นายประกอบไปด้วย นักบิน ผู้ควบคุมเรดาร์ ผู้ควบคุมกล้องตรวจการณ์ ผู้บัญชาการภารกิจ และหัวหน้าสถานี

ประเทศไทยเป็นลูกค้ารายแรกของ Heron 2+ บริษัทผู้ผลิตแจ้งว่าสามารถติดอาวุธได้ แต่รัฐบาลไม่สนใจเพราะคิดว่ายังไม่จำเป็น กองทัพเรือควรใช้อากาศยานไร้คนขับในการค้นหาและติดตามเท่านั้น

          -ปลายปี 2029 ขอซื้อโซโนบุย SSQ-125 จากอเมริกาใช้งาน บนเครื่องบิน CN-235XL และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B จำนวน 160 ลูก ราคาเฉลี่ยลูกละ 120,000 บาทแพงพอสมควรแต่จำเป็นต้องซื้อ เพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งาน ถึงเวลารบจริงจะได้ทำภารกิจโดยไม่เกิดความผิดพลาด

-ต้นปี 2030 ปลดประจำการเครื่องบินตรวจการณ์ F-27 จำนวน 2 ลำ

          -ปลายปี 2031 รัฐบาลสั่งซื้อเครื่องบินลำเลียง CASA CN-235XL เพิ่มจำนวน 2 ลำ โดยเป็นเครื่องเปล่าไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับ ทำหน้าที่ลำเลียงทดแทนเครื่องบินเก่า เครื่องบินสามารถติดถังน้ำมันสำรองใต้ปีก

          เฟส 3 ปี 2032-2036

          -ต้นปี 2032 สั่งซื้ออากาศยานไร้คนขับ Heron 2+ เฟสสองจำนวน 3 ลำ

-ปลายปี 2033 เข้าประจำการเครื่องบินลำเลียง CN-235XL จำนวน 2 ลำ

          -ต้นปี 2034 เข้าประจำการอากาศยานไร้คนขับ Heron 2+ จำนวน 3 ลำ

          -ปลายปี 2034 ปลดประจำการเครื่องบินตรวจการณ์ F-27 ทุกลำที่เหลือ

          -ปลายปี 2035 ปลดประจำการเครื่องบินตรวจการณ์ชี้เป้า T-337 หลังเข้าประจำการกองทัพเรือนาน 55 ปีเต็ม มอบหมายหน้าที่ให้อากาศไร้คนขับ Heron 2+ ช่วยจัดการต่อไป

เฮลิคอปเตอร์และอากาศยานไร้คนขับปีกหมุน

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

          -ปลายปี 2025 รัฐบาลสั่งซื้ออากาศยานไร้คนขับ S-100 จำนวน 6 ลำ นำมาใช้งานร่วมกับเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงสามร้อยยอด หรืออาจสลับไปอยู่บนเรือลำอื่นในกองเรือตรวจอ่าว

          เฟส 2 ปี 2027-2031

          -ต้นปี 2027 เข้าประจำการอากาศยานไร้คนขับ S-100 ชุดใหม่จำนวน 6 ลำ

          -กลางปี 2027 รัฐบาลประกาศคัดเลือกแบบเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงรุ่นใหม่ นำมาทดแทน BELL 212 โดยกำหนดให้เป็นรุ่นเดียวกับกองทัพบก ซึ่งมีความต้องการเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงจำนวนใกล้เคียงกัน

          -กลางปี 2028 รัฐบาลสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง S-70iA Black Hawk ผลิตในโปแลนด์ นำมาทดแทน BELL 212 จำนวน 6 ลำ โดยมีแค่เพียงเรดาร์ตรวจอากาศไม่ติดอาวุธแต่อย่างใด

          S-70iA ถูกปรับปรุงใหม่ทั้งลำจากรุ่น S-70i ติดระบบเอวิโอนิกส์ทันสมัยเทียบเท่าเฮลิคอปเตอร์ UH-60N รุ่นใหม่ล่าสุดกองทัพบกอเมริกา แต่ราคาย่อมเยากว่ากันเหมาะสมกับงบประมาณประเทศไทย

เฟส 3 ปี 2032-2036

          -ปลายปี 2032 เข้าประจำการเฮลิคอปเตอร์ S-70iA Black Hawk ครบทุกลำ

          -ต้นปี 2033 ปลดประจำการเฮลิคอปเตอร์ BELL 212 ครบทุกลำ

อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน

          เฟส 1 ปี 2022-2026  

          -ปลายปี 2022 ยกเลิกโครงการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานจากจีน ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ซึ่งมีการจ่ายเงินงวดแรกไปแล้วในปีงบประมาณ 2020

          นายกรัฐมนตรีบินด่วนมาเยือนกรุงปักกิ่งอีกครั้ง พร้อมแผนเด็ดสะระตี่จากบรรดากุนซือคู่ใจ เงินงวดแรกซึ่งจ่ายไปแล้วประมาณ 500 กว่าล้านบาท ถูกโยกมาซื้อยาป้องกันโรคโควิด 19 ยี่ห้อนาโนฟาร์ม พร้อมกับสั่งซื้อเพิ่มเติมอีกจำนวน 50 ล้านเม็ด นำมาแจกจ่ายให้กับด่านหน้าเพื่อช่วยป้องกันอีกหนึ่งชั้น

รัฐบาลจีนตกลงใจยกเลิกการขายอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน พร้อมกับขึ้นบัญชีงดขายอาวุธให้ไทยเป็นเวลา 10 ปีเต็ม ประท้วงนายกรัฐมนตรีไทยผู้ขอยกเลิกคำสั่งซื้อหลายรายการ

          -ต้นปี 2023 กองทัพเรือเข้าร่วมโครงการจัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานจากอิสราเอล พร้อมกับกองทัพอากาศซึ่งเป็นโต้โผใหญ่โครงการ รัฐบาลอยากให้กองทัพบกเข้าร่วมเช่นกันแต่ไม่สัมฤทธิผล

          SPYDER คือระบบป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้และกลางจากอิสราเอล สามารถใช้งานได้ทั้งอาวุธปล่อยนำวิถีอินฟราเรดตระกูล Python ระยะยิง 20 กิโลเมตร กับอาวุธปล่อยนำวิถีเรดาร์ตระกูล Derby ระยะยิง 50 กิโลเมตร ราคาไม่แพง ขนาดกะทัดรัด เคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก ใช้งานง่ายมาก ระบบมีความน่าเชื่อถือสูง

                    ประเทศไทยต้องการเรดาร์ EL/M-2084 ทำงานร่วมกับ SPYDER เป็นเรดาร์ 3 มิติ AESA ของระบบป้องกันภัยทางอากาศ Iron Dome อิสราเอลพัฒนาต่อจนเป็นเรดาร์ ELM-2248 MF-STAR รุ่นใช้งานบนเรือ ราคาแพงกว่า SPYDER ของฟิลิปปินส์กับเวียดนาม 20 เปอร์เซ็นต์ แต่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเรื่องตรวจจับเป้าหมายพอสมควร

          -กลางปี 2026 เข้าประจำการระบบป้องกันภัยทางอากาศ SPYDER จำนวน 1 ระบบรถยิง 6 คัน

          รัฐบาลสั่งซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ SPYDER จำนวน 3 กองร้อย เป็นของกองทัพอากาศ 2 กองร้อย ของกองทัพเรืออีก 1 กองร้อย เบื้องหลังการหักดิบจีนมาซบตักอิสราเอลมีที่ไปที่มาดังนี้

นายกรัฐมนตรีมองว่าอาวุธเหล่านี้เป็นของกองทัพไทย หากเกิดสงครามเกิดขึ้นบริเวณชายแดนฝั่งตะวันตก กองทัพเรือต้องส่ง SPYDER มาช่วยป้องกันภัยทางอากาศด้วย สมควรจัดหาอาวุธให้เหมือนกับเหล่าทัพอื่น เพื่อให้การทำภารกิจมีปัญหาเกิดขึ้นน้อยที่สุด กองทัพเรืออาจสูญเสีย SPYDER ทั้งกองร้อยไปกับการรบ ถึงอย่างไรย่อมดีกว่าสูญเสียดินแดนสูญเสียเอกราชสูญเสียอธิปไตย

ประสิทธิภาพ SPYDER อาจไม่ดีที่สุดก็จริง แต่เหมาะสมกับบทเริ่มต้นการเชื่อมโยงระบบป้องกันภัยทางอากาศระหว่างสามเหล่าทัพ อันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยมีมาก่อนแต่นายกรัฐมนตรีพลเรือนอยากให้เกิดขึ้น

หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งมีความเคลื่อนไหวเพียงเท่านี้ โครงการอื่นถูกเลื่อนออกไปก่อนตามความสำคัญ อาทิเช่นปืนต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่ หรืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใช้งานบนบก

บทสรุป

เมื่อแผนสามเฟสหรือแผน 15 ปีสำเร็จเสร็จสิ้น กองทัพเรือไทยในปี 2037 จะมีหน้าตาดังนี้ (นับเฉพาะหน่วยงานที่มีการจัดหาอาวุธใหม่เพิ่มเติมหรือทดแทน)

-เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ

-เรือดำน้ำ 3 ลำ

-เรือยกพลขึ้นบก 6 ลำ

-เรือฟริเกต 4 ลำ

-เรือคอร์เวต 4 ลำ

-เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 6 ลำ

-เรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ 12 ลำ

-เรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก 18 ลำ

-เรือตรวจการณ์ขนาด 20 เมตรจำนวนมาก

-เรือกวาดทุ่นระเบิด 4 ลำ เรือพี่เลี้ยง 1 ลำ และยานผิวน้ำไร้คนขับ 4 ลำ

-เรือสำรวจอเนกประสงค์ 3 ลำ

-เรือส่งกำลังบำรุงขนาดเล็กจำนวน 7 ลำ

-เรือน้ำมัน 4 ลำ

-เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล 2 ลำ เครื่องบินลำเลียงขนาดกลาง 2 ลำ เครื่องบินชนิดอื่นจำนวนเท่าเดิม เฮลิคอปเตอร์จำนวนเท่าเดิม อากาศยานไร้คนขับขนาดกลาง 6 ลำ อากาศยานไร้คนขับปีกหมุน 18 ลำ

          ราชนาวีไทยมีเรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 8 ลำ เรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ 9 ลำ และเรือติดโซนาร์กับอาวุธปราบเรือดำน้ำจำ 11 ลำ มากเพียงพอในการป้องกันอธิปไตยจากฝ่ายตรงข้าม 

โครงการในอนาคตตามแผน 15 ปีครั้งถัดไป

-จัดหาเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำ ทดแทนเรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงตากสิน

-จัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบกับระบบป้องกันตนเองระยะประชิดให้กองเรือคอร์เวต

-ปรับปรุงเรือหลวงภูมิพลกับเรือหลวงแม่กลอง

-จัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 4 ลำ ทดแทนเรือหลวงเพชรบุรี เรือหลวงนครศรีธรรมราช เรือหลวงปัตตานี และเรือหลวงนราธิวาส

-ปรับปรุงเรือหลวงกระบี่กับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์

-จัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงจำนวน 6 ลำ ทดแทน S-76B กองทัพเรือภาค 3

-จัดหาเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตจำนวน 8 ลำ ทดแทน S-70B และ Super Lynx

-จัดหาเครื่องบินลาดตระเวนลำเลียงจำนวน 6 ลำ ทดแทน Dornier D0-228

-จัดหาเรือยกพลขึ้นบก LST จำนวน 2 ลำ ทดแทนเรือหลวงสีชังกับเรือหลวงสุรินทร์

-จัดหาเรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำ ทดแทนเรือหลวงบางระจันกับเรือหลวงหนองสาหร่าย

-ปรับปรุงเรือ LPD ใหม่จำนวน 2 ลำ โดยการติดระบบอำนวยการรบและปืนกลอัตโนมัติ 3 กระบอก

-จัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใช้งานบนบก ให้หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง

++++The End++++

อ้างอิงจาก

https://www.shipbucket.com

https://thaimilitary.blogspot.com/2020/09/ecuadorian-navy-2020.html

https://twitter.com/prachaya_ice/status/1020328978035249155

https://www.youtube.com/watch?v=gEyVoqENmjI

https://en.wikipedia.org/wiki/BRP_Davao_del_Sur_(LD-602)

https://thaidefense-news.blogspot.com/2012/10/722.html

https://en.wikipedia.org/wiki/BAP_Pisco_(AMP-156)

https://www.seaforces.org/marint/Australian-Navy/Frigate/FFH-155-HMAS-Ballarat.htm

https://twitter.com/mikiav8bharrier/status/1293286193837289473

https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=252814253295907&id=107153994528601&_rdc=1&_rdr

http://www.dti.or.th/pdfimage/index.php?cid=97&cno=5496#page-51-51

https://www.navy.mi.th/

http://marsun.th.com/th/ship_product/m36-patrol-boat/

http://www.panus.co.th/product/detail/83

https://web.facebook.com/singaporenavy/

http://www.youngbites.com/newsdet.aspx?q=200237