วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2567

Project Ukhozi

 

          วันที่ 8 พฤศจิกายน 1977 สหประชาชาติมีมติคว่ำบาตรสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม กีฬา และอื่นๆ รวมถึงห้ามซื้อขายอาวุธทั้งหมด เหตุผลเนื่องจากนโยบายแบ่งสีผิวของแอฟริกาใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมหาศาล ปัญหาในประเทศลุกลามใหญ่โตจนถูกสหประชาชาติลงโทษอย่างรุนแรง

          ปัญหาที่เกิดขึ้นดำเนินไปเรื่อยๆ กระทั่งเข้าสู่ทศวรรษที่ 90 แอฟริกาใต้แก้ปัญหาภายในประเทศได้อย่างน่าชมเชย ความรุนแรงลดน้อยลงมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ เนลสัน แมนเดลาได้รับการคัดเลือกเป็นประธานาธิบดี นโยบายแบ่งแยกสีผิวถูกยกเลิกอย่างเป็นขั้นตอนและปลอดภัย มีการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งให้กับทุกคน สถานการณ์โดยรวมของประเทศดีขึ้น ความขัดแย้งที่เคยมีลดลงอย่างฮวบฮาบ ต่อมาในปี 1994 สหประชาชาติจึงมีมติยกเลิกการคว่ำบาตรสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

     17 ปีแห่งความขื่นขมจบสิ้นลงพร้อมนโยบายเหยียดสีผิว ทุกเหล่าทัพพากันขึ้นโครงการจัดหาอาวุธชนิดใหม่มาใช้งาน รวมทั้งกองทัพอากาศแอฟริกาใต้ซึ่งมีการฝึกนักบินตามหลัก 3-Tier System ประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินฝึกใบพัดขั้นต้น PC-7 Mk II M ซึ่งคนแอฟริกาใต้เรียกว่า Astra

2.เครื่องบินฝึกไอพ่นขั้นต้น Impala สร้างโดยบริษัท Atlas Aircraft Corporation ซื้อลิขสิทธิ์เครื่องบิน Aermacchi MB-326M ประเทศอิตาลีมาสร้างเองในประเทศ สภาพค่อนข้างเก่าสมควรปลดประจำการภายในปี 2005

3.เครื่องบินขับไล่ Cheetah ตามภาพประกอบที่หนึ่ง สร้างเองในประเทศโดยบริษัท Atlas Aircraft Corporation บริษัท IAI ประเทศอิสราเอลออกแบบเครื่องบินก่อนขายลิขสิทธิ์การผลิตให้ Atlas โดยการปรับปรุงเครื่องบินขับไล่ Mirage III ให้เหมาะสมกับความต้องการ ฉะนั้น Cheetah จึงมีประสิทธิภาพอยู่ระหว่าง Nesher กับ Kfir

New Projects

เมื่อฟ้าเปิดกองทัพอากาศแอฟริกาใต้ประกาศเดินหน้าสองโครงการสำคัญประกอบไปด้วย

1.Project Ukhozi โครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นสูง หรือ Advanced Fighter Trainer (AFT) นำมาทดแทน Impala ซึ่งค่อนข้างชราภาพสมควรส่งไปวางจำหน่ายที่มวกเหล็ก

2.Project  Kambro โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ขนาดกลางในอนาคต หรือ Future Medium Fighter (FMF) นำมาทดแทน Cheetah รุ่น C และ D ซึ่งจะทยอยปลดประจำการตั้งแต่ปี 2012

กองทัพอากาศแอฟริกาใต้เลือกเดินหน้าโครงการ Project Ukhozi เป็นลำดับแรก ปลายปี 1996 มีการส่งเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอหรือ Request For Proposal (RFP) ให้กับบริษัทผลิตเครื่องบินจำนวนมาก ต่อมาในเดือนมกราคม 1997 มีเครื่องบินจากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการประกอบไปด้วย

1.เครื่องบิน AMX-T จากบริษัท Aermacchi/Alenia/Embraer ประเทศอิตาลีกับบราซิล

2.เครื่องบิน AT 2000 จากบริษัท Daimler-Benz ประเทศเยอรมัน

3.เครื่องบิน L 159 จากบริษัท Aero Vodochody ประเทศเชก

4.เครื่องบิน Yak/AEM-130 จากบริษัท Yakovlev/Aermacchi ประเทศรัสเซีย

5.เครื่องบิน MB 339 FD จากบริษัท Aermacchi ประเทศอิตาลี

ภาพประกอบที่สองคือเครื่องบินฝึกไอพ่นขั้นต้น Impala สร้างโดยบริษัท Atlas Aircraft Corporation ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องบินรุ่นใหม่จากโครงการ Project Ukhozi

จนถึงตรงนี้โครงการเป็นปรกติเหมือนกับประเทศอื่น ทว่าหลังจากนั้นไม่นานมีความพยายามครั้งสำคัญจากเกาะบริเตนใหญ่ รัฐบาลอังกฤษจัดทำข้อเสนอแพ็กเกจในช่วงเดือนมกราคม 1997 โดยส่งเครื่องบินฝึก Hawk กับเครื่องบินขับไล่ Gripen ผ่านบริษัท British Aerospace หรือ BAe เข้าร่วมเป็นรายที่ 6 ของโครงการ

ตีความหมายได้ว่าอังกฤษต้องการกินรวบทั้ง Project Ukhozi และ Project  Kambro โดยใช้อิทธิพลทางการเมืองของตัวเองช่วยกดดัน มาพร้อมข้อเสนอเร้าใจและอนุญาตให้แอฟริกาใต้ประกอบ Hawk ด้วยตัวเอง

ทันทีที่เป็นข่าวบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารในแอฟริกาใต้ ดาหน้ากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงชนิดชาตินี้ไม่ยอมเผาผี หลังด่าเสร็จยังให้รายละเอียดน่าสนใจต่อสาธารณชนสามารถแบ่งได้ตามนี้

1. Gripen เป็นเครื่องบินรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีสูง ปัจจุบันกองทัพอากาศมีนักบินฝีมือดีสำหรับเครื่องบินขับไล่ Cheetah น้อยกว่าจำนวนเครื่องบิน ถ้าต้องคัดเลือกนักบินมาบิน Gripen มีหวังน้อยไปกันใหญ่

2.จนถึงตอนนี้เครื่องบินขับไล่ Cheetah ยังทันสมัยกว่าเครื่องบินขับไล่เพื่อนบ้าน สามารถยึดอายุการใช้งานจนถึงปี 2022 ได้อย่างสบาย กองทัพอากาศไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาพร้อมโครงการเครื่องบินฝึกขั้นสูง

3. Gripen มีความเหมาะสมกับสมาชิกองค์การนาโต้แต่ไม่เหมาะสมกับแอฟริกาใต้ เพราะมีระยะปฏิบัติการค่อนข้างสั้น เติมเชื้อเพลิงได้หลายครั้งติดต่อกัน และถูกออกแบบให้ใช้งานสนามบินในเขตสงคราม พูดง่ายๆ ก็คือออกแบบให้เป็นฝ่ายตั้งรับ บินขึ้นไปยิงแล้วบินกลับมาเติมเชื้อเพลิงกับอาวุธในระยะเวลาสั้นๆ

แตกต่างจากการใช้งานเครื่องบินกองทัพอากาศแอฟริกาใต้ ซึ่งค่อนข้างเหมือนกองทัพไทยช่วงทำสงครามกับคอมมิวนิสต์ นั่นคือประจำการอยู่ในสนามบินค่อนข้างห่างไกล บินมาทิ้งระเบิดใส่เป้าหมายวันละไม่กี่เที่ยว และแทบไม่มีโอกาสทำยุทธเวหากับเครื่องบินฝ่ายตรงข้าม พูดง่ายๆ ก็คือเน้นโจมตีทางบกมากกว่ารบกลางอากาศ

The Strategic Defence Procurement Packages

กระแสไม่เอา Gripen ในแอฟริกาใต้ค่อนข้างโด่งดัง เนื่องจาก Gripen มาพร้อมอังกฤษซึ่งพยายามปรับเปลี่ยนโครงการจัดหาอาวุธ แม้กระทั่งกองทัพอากาศแอฟริกาใต้ก็ไม่เอาเช่นกัน เดือนกรกฎาคม 1997 มีการประกาศผลการคัดเลือกโครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นสูง จำนวนผู้ยื่นข้อเสนอ 6 รายถูกปรับตกรอบจำนวน 2 รายประกอบไปด้วย

1.เครื่องบิน MB 339 FD จากบริษัท Aermacchi ประเทศอิตาลี เนื่องจากประสิทธิภาพต่ำเกินไป

2.เครื่องบิน Hawk กับ Gripen จากบริษัท British Aerospace ประเทศอังกฤษ เนื่องจากคุณสมบัติเครื่องบินไม่ตรงตามข้อกำหนดคณะกรรมการคัดเลือก

หลังสอย Gripen ตกทะเลคณะกรรมการคัดเลือกกับกระทรวงกลาโหม ส่งรายงานให้กับประธานาธิบดี เพื่ออธิบายรายละเอียดทั้งหมด เพราะเหตุใด Hawk+Gripen จากอังกฤษถึงไม่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก จากนั้นจึงเริ่มเดินหน้า Project Ukhozi อย่างเต็มกำลัง ป้องกันการเล่นแร่แปรธาตุในกรณีประเทศมีการเปลี่ยนผู้นำ

โชคร้ายเป็นอย่างยิ่งมานะคนหรือจะสู้ลิขิตสวรรค์

สองเดือนถัดมาหรือในเดือนกันยายน 1997 สาธารณรัฐแอฟริกาใต้เริ่มต้นโครงการจัดหาอาวุธที่ใหญ่โตที่สุดและซับซ้อนมากที่สุด ใช้ชื่อโครงการว่า The Strategic Defence Procurement Packages หรือ SDPP เป็นการจัดหาอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยสำหรับทุกเหล่าทัพประกอบไปด้วย

-เรือคอร์เวตจำนวน 4 ลำในวงเงิน 4 พันล้านแรนด์

-เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 5 ลำในวงเงิน 1 พันล้านแรนด์

-เรือดำน้ำโจมตีจำนวน 4 ลำในวงเงิน 5.5 พันล้านแรนด์

-เฮลิคอปเตอร์อเนกประสงค์ขนาดเล็กจำนวน 60 ลำในวงเงิน 2 พันล้านแรนด์

-เครื่องบินขับไล่เบาขั้นสูงจำนวน 48 ลำในวงเงิน 6-9 พันล้านแรนด์

-รถถังหลักรุ่นใหม่จำนวน 154 ลำในวงเงิน 6 พันล้านแรนด์

ยอดรวมโครงการจัดหาอาวุธที่จะเริ่มต้นเดินหน้าในปี 1998 เท่ากับ 25-38 พันล้านแรนด์ หรือเท่ากับประมาณ 4.8 พันล้านเหรียญเทียบกับค่าเงินในช่วงนั้น

The Strategic Defence Procurement Packages หรือ SDPP คือผู้ต่อลมหายใจให้กับ Gripen

RFI Evaluation

Project Ukhozi โครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นสูงหรือ Advanced Fighter Trainer (AFT) ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่เบาขั้นสูงหรือ Advanced Light Fighter Aircraft (ALFA) ช่วงแรกทหารอากาศแอฟริกาใต้พากันคิดว่าตัวเองถูกรางวัลที่หนึ่ง อยู่ดีๆ ได้เครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ทันสมัยมากถึง 48 ลำ ถือเป็นโครงการจัดหาอาวุธใช้งบประมาณมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่แล้วเมื่อทุกเหล่าทัพมีการประชุมครั้งแรกร่วมกับคณะกรรมการคัดเลือกจากรัฐบาล ความฝันในหอแดงได้พลันกลับกลายเป็นความยุ่งยากวุ่นวาย เพราะมีปัญหาใหญ่ต้องจัดการโดยเร่งด่วนจำนวน 2 เรื่องประกอบไปด้วย

1.จำนวนอาวุธในโครงการ SDPP มากเสียจนน่าตกใจ ประกอบกับเมื่อได้รับข้อมูลราคาอาวุธในปัจจุบัน รัฐบาลจำเป็นต้องปรับปรุงตัวเลขลดลงตามความเหมาะสม เครื่องบินขับไล่เบาขั้นสูงจำนวน 48 ลำปรับลดเหลือเพียง 38 ลำ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมากเพียงพอสำหรับทดแทนเครื่องบินขับไล่ Cheetah

2.เมื่อไม่มีโครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นสูงหรือ Advanced Fighter Trainer (AFT) การฝึกนักบินตามหลัก 3-Tier System ย่อมลดลงเหลือเพียง 2-Tier System กองทัพอากาศต้องปรับปรุงเครื่องบินฝึกใบพัดขั้นต้น Astra ให้สามารถติดอาวุธได้ นักบินต้องฝึกบินกับ Astra แล้วข้ามมาบินเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ทันที

คุยไปคุยมาปรากฏว่าแผน 2-Tier System มีแต่คนไม่เห็นด้วย คณะกรรมการคัดเลือกจากรัฐบาลตัดสินใจย้อนกลับมาใช้แผน 3-Tier System ตามเดิม โดยการลดจำนวนเครื่องบินขับไล่เบาขั้นสูงลงเหลือเพียง 28 ลำ และเพิ่มโครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นต้นหรือ Lead-In-Fighter Trainer (LIFT) จำนวน 20 ลำ คุยไปคุยมาตัวเลขเครื่องบินกลับกลายเป็น ALFA จำนวน 26 ลำและ LIFT จำนวน 24 ลำ

เท่ากับว่า Project Ukhozi โครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นสูง และ Project  Kambro โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่ขนาดกลางในอนาคต ถูกปรับปรุงรายละเอียดเล็กน้อยก่อนเกิดใหม่เป็น ALFA Programme และ LIFT Programme จำนวนรวมเครื่องบินทั้งสองโครงการเท่ากับ 26+24=50 ลำ

วันที่ 7 ตุลาคม 1997 กองทัพอากาศแอฟริกาใต้ส่งคำเชิญในการเสนอข้อมูลหรือ Request For Information (RFI) ให้กับบริษัทผลิตเครื่องบินจำนวนมาก มีเครื่องบินเข้าร่วมโครงการประกอบไปด้วย

          1.เครื่องบิน AT-2000 จากบริษัท DaimlerChrysler Aerospace หรือ Dasa ประเทศเยอรมัน

          2.เครื่องบิน Mirage 2000 จากบริษัท Dassault ประเทศฝรั่งเศส

          3.เครื่องบิน Gripen จากบริษัท BAe/Saab ประเทศอังกฤษกับสวีเดน 

          หลังการเสนอข้อมูลผ่าน RFI มีการให้คะแนนรอบแรก ผลการตัดสินเครื่องบินทั้ง 3 ลำผ่านตรงตามความต้องการผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบชิง ผู้อ่านลองทายกันเล่นๆ สิครับว่าใครเป็นอันดับหนึ่ง สอง และสาม เข้าใจว่าตอนนี้ทุกคนพากันลูบปากแล้วพูดกับตัวเองในใจว่า งานนี้ Gripen หวานเจี๊ยบกินนิ่ม

          แต่ช้าก่อนผลการตัดสินเป็นไปตามภาพประกอบที่สี่

          แอฟริกาใต้คิดคะแนนโดยให้ผู้ชนะอันดับหนึ่งได้ 100 คะแนนหรือ 1.0 ผู้ชนะอันดับสองและสามได้คะแนนไล่เรียงกันมา ผลลัพธ์ก็คือ AT-2000 จากเยอรมันได้ที่หนึ่ง Mirage 2000 จากฝรั่งเศสได้ที่สอง ส่วน Gripen จากอังกฤษกับสวีเดนได้ที่สามซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย

          ทำไมคะแนนประสิทธิภาพเครื่องบินถึงเป็นเช่นนี้?

          คณะกรรมการคัดเลือกจากกองทัพอากาศให้เหตุผลว่า AT-2000 มีความคุ้มค่ามากที่สุด มีความสามารถในการปฏิบัติงานที่ดี และตอบสนองความต้องการกองทัพอากาศได้อย่างครบถ้วน ทว่าการพัฒนาในช่วงสามปีต่อจากนี้ถือว่าน้อยเกินไป ส่งผลให้โครงการมีความเสี่ยงมากที่สุด ยกเว้นบริษัท Dasa กับรัฐบาลประเทศเยอรมันจะให้คำมั่นสัญญาเรื่องการพัฒนาโครงการ

          ผู้เขียนขอขยายความเพิ่มเติมให้มองเห็นภาพชัดเจน AT-2000 คือโครงการพัฒนาเครื่องบินฝึก/โจมตีรุ่นใหม่ล่าสุด สามารถทำงานได้อย่างหลากหลายทั้งฝึกนักบิน โจมตีภาคพื้นดิน และขับไล่สกัดกั้น อารมณ์ประมาณ T-50 T/A-50 และ F/A-50 นั่นแหละครับ กองทัพอากาศเยอรมันตั้งใจนำมาทดแทน Alpha Jet ในอนาคต

          บริษัท Dasa จะให้สิทธิบัตรแอฟริกาใต้สร้าง AT-2000 ด้วยตัวเอง สามารถติดตั้งเรดาร์ วิทยุ ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอื่นๆ ซึ่งแอฟริกาใต้ผลิตเอง สามารถปรับปรุงเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพตามใจ เท่ากับว่าแอฟริกาใต้ได้เครื่องบินพัฒนาเองมาใช้งาน บริษัทจำนวนมากในประเทศจะได้เข้าร่วมการออกแบบ การพัฒนา การบูรณาการ การทดสอบเครื่องบิน การผลิตอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้นดิน และอื่นๆ อีกมากมาย

          เพราะเหตุนี้ AT-2000 ถึงมีคะแนนนำเป็นอันดับหนึ่ง

ปัญหาสำคัญส่งผลต่อความน่าเชื่อถือก็คือ คาดว่าบริษัท Dasa จะสร้างเครื่องบินลำแรกแล้วเสร็จภายในปี 2003 หรืออีก 5 ปี แอฟริกาใต้รอได้ถ้าเป็นไปตามแผนการ เพียงแต่ทุกอย่างอาจไม่เป็นตามแผนการก็ได้ ปัญหาต่อมา AT-2000 ไม่ใช่เครื่องบินขับไล่ประสิทธิภาพสูง บางภารกิจจึงไม่สามารถทดแทนเครื่องบินขับไล่ Cheetah ประกอบกับเครื่องบินมีขนาดเล็กระยะทำการย่อมหดสั้นลงตามขนาดเครื่องบิน

สำหรับอันดับสองบริษัท Dassault ประเทศฝรั่งเศสส่งเครื่องบินขับไล่ Mirage 2000-5 รุ่นใหม่ล่าสุด เป็นเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดียวหรือสองที่นั่งหลายบทบาททันสมัยกว่ารุ่นเก่า ใช้ระบบแสดงภาพและระบบควบคุมรุ่นใหม่ ติดตั้งเรดาร์ RDY ตรวจจับเป้าหมายพร้อมกัน 24 เป้าหมาย และติดตามเป้าหมายพร้อมกัน 8 เป้าหมาย โครงการมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ความสามารถในการทำภารกิจค่อนข้างสูง ส่วนเรื่องราคาต้องได้รับการตรวจสอบในขั้นตอนต่อไป

ส่วนอันดับสามบริษัท BAe/Saab ประเทศอังกฤษกับสวีเดน ส่งเครื่องบินขับไล่ Gripen  C/D รุ่นใหม่ล่าสุด นับเป็นรุ่นที่สี่ของเครื่องบินที่ได้รับการสร้างมากกว่า 10 ปี  Gripen คือเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ประสิทธิภาพสูง โครงการมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ทว่าเครื่องบินราคาค่อนข้างสูงเกินหน้าเกินตาคู่แข่ง

‘Gripen ราคาสูงกว่าคู่แข่ง คำพูดนี้ผู้เขียนไม่ได้เขียนขอความกรุณาจากทัวร์ทุกกลุ่มด้วย บุคคลที่เขียนคือคณะกรรมการคัดเลือกจากกองทัพอากาศแอฟริกาใต้ซึ่งทำหน้าที่ประเมินเครื่องบิน

ราคาสูงอย่างไรอะไรคือสูง? ผู้เขียนมีข้อมูลคณะกรรมการคัดเลือกจากรัฐบาลแอฟริกาใต้มาให้อ่าน

ปี 1997 เครื่องบิน F-16 มือสองสภาพดีลำละประมาณ 4  ล้านเหรียญ นำมาปรับปรุงเป็นรุ่นใหม่โดยใช้งานประมาณไม่มาก F-16 ใหม่เอี่ยมลำละ 20 ล้านเหรียญ Mirage 2000 ลำละประมาณ 24 ล้านเหรียญ AT-2000 ลำละประมาณ 16 ล้านเหรียญ และ Gripen ลำละประมาณ 30 ล้านเหรียญ

เท่ากับว่าในปี 1997 เราสามารถซื้อ F-16 จำนวน 3 ลำในราคา Gripen จำนวน 2 ลำ

ข้อเท็จจริงกองทัพอากาศและรัฐบาลแอฟริกาใต้สนใจ F-16 มากที่สุด บังเอิญสหรัฐอเมริกาไม่ได้ยื่นข้อเสนอผ่าน RFI ตามวันเวลาที่กำหนด ส่งผลให้โครงการ ALFA Programme มีเครื่องบินเข้าร่วมเพียง 3 รุ่น

RFO Evaluation

          ต้นปี 1998 มีการส่งเอกสารเชิญชวนยื่นเสนอราคาหรือ Request For Offer (RFO) ให้กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน 1998 คะแนนรอบตัดสินอย่างเป็นทางการถูกส่งให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกคน

          ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจระบบการคัดเลือกให้ละเอียดชัดเจน การจัดหาอาวุธชนิดต่างๆ ผ่านโครงการ SDPP ของรัฐบาลแอฟริกาใต้ จะมีการให้คะแนนโดยคณะกรรมการสองชุดประกอบไปด้วย

          1.คณะกรรมการคัดเลือกจากทุกเหล่าทัพ

          2.คณะกรรมการคัดเลือกจากรัฐบาล มีชื่อเรียกว่า Strategic Offers Committee หรือ SOFCOM

          การคิดคะแนนของคณะกรรมการทั้งสองชุดมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการคัดเลือกจากกองทัพเรือจะรวมคะแนนสุดท้าย โดยใช้วิธีคำนวณคะแนน Military Performance Index (MPI) จากสูตรคณิตศาสตร์ซึ่งผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีตามนี้

MPI = (Factor X Performance Score / Cost) + (Factor X Logistic Score / Cost) + (Factor X Engineering Management Score / Cost)

เนื้อหาส่วนนี้ผู้เขียนเคยเขียนถึงในบทความ ‘Project Wills : โครงการจัดหาเรือดำน้ำกองทัพเรือแอฟริกาใต้ไปแล้ว ฉะนั้นบทความนี้จะพูดถึงการรวมคะแนนโดยคณะกรรมการคัดเลือกจากรัฐบาล ซึ่ง SOFCOM กำหนดให้ใช้ชื่อเรียก Best Value โดยใช้สูตรคณิตศาสตร์ระดับอนุบาลตามนี้

Best Value = Military Value + Industrial Value + Financial Index

เรามาเจาะลึกข้อมูลแต่ล่ะส่วนกันก่อนนะครับ

1. Military Value หรือประสิทธิภาพอาวุธ ได้มาจากการลงคะแนนหัวข้อต่างๆ อย่างละเอียด เทียบกับการให้คะแนนโดยกองทัพจะเท่ากับ Performance Score คะแนนส่วนนี้เท่ากับ 33.33 เปอร์เซ็นต์

2. Industrial Value หรือการมีส่วนร่วมด้านอุตสาหกรรม หมายความว่าประเทศผู้ค้าอาวุธต้องลงทุนด้านอุตสาหกรรมกลับคืนสู่แอฟริกาใต้ คะแนนส่วนนี้เท่ากับ 33.33 เปอร์เซ็นต์

3. Financial Index หรือการบริการด้านการเงิน หมายความว่าประเทศผู้ค้าอาวุธต้องจัดหาเงินกู้ระยะยาวให้กับรัฐบาลแอฟริกาใต้ ส่วนจะใช้งานหรือไม่ใช้งานว่ากันในภายหลัง คะแนนส่วนนี้เท่ากับ 33.33 เปอร์เซ็นต์

วิธีคิดคะแนนของ SOFCOM ไม่ได้เน้นเรื่องอาวุธเพียงอย่างเดียว คะแนนประสิทธิภาพอาวุธเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น และผลการตัดสินจาก SOFCOM ถือเป็นผลอย่างเป็นทางการ ไม่ว่า SOFCOM เลือกอาวุธชนิดไหนกองทัพต้องยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข ทว่าปรกติการเจรจาขั้นสุดท้ายจะมีคณะกรรมการคัดเลือกจากกองทัพเข้าร่วมทุกครั้ง ฉะนั้นไม่มีเหตุคดีพลิกระดับโลกอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าบางโครงการผู้ได้รับการคัดเลือกอาจได้คะแนนรวมอันดับสอง

ผู้อ่านทุกคนทำความเข้าใจเรียบร้อยแล้วนะครับ (คนไหนไม่เข้าใจรอดูตัวอย่างของจริงไปพร้อมกัน) เรามาชมคะแนนรอบสุดท้ายโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่เบาขั้นสูงกันต่อเลย

          ตารางบนสุดเป็นคะแนนรวมหรือ Best Value เครื่องบินขับไล่ Gripen จากอังกฤษกับสวีเดนคว้าอันดับหนึ่งไปครองแบบทิ้งห่าง อันดับสองคือ AT-2000 จากเยอรมันแชมป์เก่าจากรอบแรก และอันดับสุดท้ายคือ Mirage 2000 จากฝรั่งเศส สังเกตนะครับทั้ง AT-2000 และ Mirage 2000 ไม่มีคะแนนหัวข้อ Financial Index

          ตารางตรงกลางแสดงมูลค่ารวมเครื่องบินจำนวน 26 ลำ Gripen เสนอราคา 2,217 ล้านเหรียญ ถ้าใช้บริการเงินกู้จะเสียค่าใช้จ่ายกับภาษีจำนวน 1,252.1 ล้านเหรียญ ราคารวมพร้อมดอกเบี้ยอยู่ที่ 3,469.1 ล้านเหรียญ AT-2000 เสนอราคา 2,139 ล้านเหรียญไม่มีบริการเงินกู้ ส่วน Mirage 2000 เสนอราคา 2,257 ล้านเหรียญไม่มีบริการเงินกู้เช่นเดียวกัน ในเมื่อไม่เงินกู้คะแนนในส่วน Financial Index ย่อมหายไปตามข้อตกลง

          ตารางล่างสุดแสดงข้อมูลการมีส่วนร่วมด้านอุตสาหกรรม อังกฤษจะลงทุนอุตสาหกรรมการทหารหรือ Defence Industrial Participation (DIP) จำนวน 574.2 ล้านเหรียญ ลงทุนอุตสาหกรรมระดับชาติหรือ National Industrial Participation (NIP) จำนวน 8,168.8 ล้านเหรียญ ยอดรวมเท่ากับ 8,742.9 ล้านเหรียญ

          เยอรมันจะลงทุนอุตสาหกรรมการทหารจำนวน 781.2 ล้านเหรียญ ลงทุนอุตสาหกรรมระดับชาติจำนวน 1,030.2 ล้านเหรียญ ยอดรวมเท่ากับ 1,811.5 ล้านเหรียญ ส่วนฝรั่งเศสจะลงทุนอุตสาหกรรมการทหารจำนวน 937.4 ล้านเหรียญ ลงทุนอุตสาหกรรมระดับชาติจำนวน 915.8 ล้านเหรียญ ยอดรวมเท่ากับ 1,853.1 ล้านเหรียญ

          คะแนนจากตารางอธิบายได้ว่า ถ้าแอฟริกาใต้ซื้อเครื่องบินขับไล่ Gripen จำนวน 26 ลำมูลค่า 2,217 ล้านเหรียญ อังกฤษจะลงทุนด้านอุตสาหกรรมกลับคืน 8,742.9 ล้านเหรียญหรือ 394.357 เปอร์เซ็นต์

          นี่คือการซื้ออาวุธที่ไม่ใช่แค่การซื้ออาวุธ แอฟริกาใต้จะก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมมากกว่าเดิม ประชาชนมีงานทำมีรายได้เพิ่มขึ้น รายได้ส่วนหนึ่งกลับคืนสู่รัฐบาลนำไปสร้างความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

          ทำไมแอฟริกาใต้ถึงกำหนดวิธีการคัดเลือกอาวุธเช่นนี้ ทำไม่ไม่เขียนไปเลยซื้อ 2 แถม 1 ซื้อเครื่องบินแถมเรือดำน้ำ ซื้อเรือดำน้ำแถมยานอวกาศ ซื้อยานอวกาศแถมอเมริกาให้ครึ่งประเทศ

          ผู้เขียนขอพาผู้อ่านทุกคนย้อนเวลากลับคืนสู่อดีต แอฟริกาใต้ในปี 1997 มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก แต่พวกเขาไม่มีเงิน ไม่มีความรู้ ไม่คนมีฝีมือ ไม่มีประสบการณ์ ความปลอดภัยของพลเรือนดีขึ้นก็จริงแต่ยังจัดว่าป่าเถื่อน งบประมาณในการจัดหาอาวุธค่อนข้างน้อย อาจจำเป็นต้องใช้เงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ แม้ดอกเบี้ยจะไม่ต่ำเหมือนชื่อแต่ดีกว่าเงินกู้นอกระบบแน่นอน ฉะนั้นการซื้ออาวุธจึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ

          ประเด็นสุดท้ายซึ่งมีความสำคัญมากแต่ไม่รวมอยู่ในสามหัวข้อหลัก นั่นคือออปชันเสริมจากบริษัทผู้ผลิตอาวุธ อาทิเช่นบริษัท Dasa ยกสิทธิบัตรการผลิต AT-2000 ให้แอฟริกาใต้ไปเลย ออปชันเสริมที่ SAAB กับ BAe นำเสนอให้กับลูกค้าก็คือ จะมีการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศในแอฟริกาใต้ เพื่อฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี ปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน และช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการส่งออกอาวุธสู่ตลาดโลก โดยคาดว่าภายใน 10 ปี แอฟริกาใต้จะสามารถส่งออกอาวุธได้มากกว่า 1 พันล้านเหรียญ

          ผู้เขียนมีผลงานจากออปชันเสริมจาก SAAB กับ BAe มาแนะนำ นั่นคืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Umkhonto ซึ่งบริษัท Denel Dynamics พัฒนาด้วยตัวเองและเข้าประจำการบนเรือฟริเกต Meko A-200 พวกเขายังสามารถขายให้กับฟินแลนด์และอัลจีเรีย อียิปต์ก็อยากจัดหามาใช้งานบังเอิญเจอโควิดระบาดผลิตอาวุธไม่ได้ จำเป็นต้องกลับมาหาของตาย VL-MICA จากฝรั่งเศส ส่วนสวีเดนตามข้อตกลงต้องซื้อมาใช้งานบนเรือคอร์เวตชั้น Visby บังเอิญสวีเดนอ้างว่าไม่มีเงินแล้วล้มเลิกโครงการหน้าตาเฉย ตอนนี้สวีเดนมีเงินแล้วทว่ากลับเลือกใช้งาน VL-MICA  อาจเป็นเพราะเจรจาหลังบ้านกับแอฟริกาใต้สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว

อันดับสี่ได้ที่หนึ่ง

          ผู้เขียนขอพาผู้อ่านทุกคนมาที่ Project Wills โครงการจัดหาเรือดำน้ำกองทัพเรือแอฟริกาใต้ โครงการนี้มีเรือดำน้ำเข้ารอบชิงจำนวน 4 ลำประกอบไปด้วย

1.SCORPENE จากบริษัท DCN ประเทศฝรั่งเศส

          2.209 1400 MOD จากบริษัท GSC ประเทศเยอรมัน

          3.S1600 จากบริษัท FINCANTERI ประเทศอิตาลี

          4.TYPE 192 จากบริษัท KOCKUMS ประเทศสวีเดน

          ผลการตัดสินคะแนนจากภาพประกอบที่เจ็ดตารางบน คะแนน Military Value หรือประสิทธิภาพอาวุธ เรือดำน้ำ S1600 มาเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือ SCORPENE อันดับสามคือ TYPE 192  และอันดับสี่คือ 209 1400 MOD บังเอิญคะแนนการมีส่วนร่วมด้านอุตสาหกรรมหรือ Industrial Value กับบริการด้านการเงินหรือ Financial Index เรือดำน้ำ 209 1400 MOD เอาชนะแบบถล่มทลาย ส่งผลให้เรือดำน้ำจากประเทศเยอรมันคว้าอันดับหนึ่งแบบห่างๆ ได้สิทธิ์เจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกจากรัฐบาลหรือ SOFCOM เป็นรายแรก

          สังเกตนะครับทุกชาติเสนอบริการด้านการเงินกับแอฟริกาใต้ ดอกเบี้ยสิบปีกับค่าบริการประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินต้นใกล้เคียงกันทุกราย โครงการนี้สวีเดนลุยเดี่ยวไม่พึ่งพาอังกฤษเหมือน Gripen ราคาเรือดำน้ำ TYPE 192 จำนวน 4 ลำอยู่ที่ 1,280.8 ล้านเหรียญแพงที่สุด ส่วนเยอรมันกดราคาเหลือแค่ 995.9 ล้านเหรียญถูกที่สุด ถูกกว่าเรือดำน้ำอิตาลีและฝรั่งเศสพอสมควร เป็นแต้มต่อให้ตัวเองแม้คะแนน Military Value จะอยู่รั้งท้าย

          ตารางล่างคือคะแนนการมีส่วนร่วมด้านอุตสาหกรรม เยอรมันจะลงทุนอุตสาหกรรมการทหารจำนวน 150 ล้านเหรียญ ลงทุนอุตสาหกรรมระดับชาติจำนวน 10,789.9 ล้านเหรียญ ยอดรวมเท่ากับ 10,929.9 ล้านเหรียญ ฝรั่งเศสจะลงทุนอุตสาหกรรมการทหารจำนวน 283.9 ล้านเหรียญ ลงทุนอุตสาหกรรมระดับชาติจำนวน 1,684.0 ล้านเหรียญ ยอดรวมเท่ากับ 1,958.0 ล้านเหรียญ

          อิตาลีจะลงทุนอุตสาหกรรมการทหารจำนวน 505.7 ล้านเหรียญ ลงทุนอุตสาหกรรมระดับชาติจำนวน 2,291.9 ล้านเหรียญ ยอดรวมเท่ากับ 2,797.3 ล้านเหรียญ ปิดท้ายด้วยสวีเดนจะลงทุนอุตสาหกรรมการทหารจำนวน 546.0 ล้านเหรียญ (เยอะมาก) ลงทุนอุตสาหกรรมระดับชาติจำนวน 3,382.0 ล้านเหรียญ ยอดรวมเท่ากับ 3926.0 ล้านเหรียญ

          คะแนนจากตารางอธิบายได้ว่า ถ้าแอฟริกาใต้ซื้อเรือดำน้ำ 209 1400 MOD จำนวน 4 ลำมูลค่า  995.9 ล้านเหรียญ เยอรมันจะลงทุนด้านอุตสาหกรรมกลับคืน 10,789.9 ล้านเหรียญหรือ 1,083.432 เปอร์เซ็นต์

          คุณพระเยอรมันจะลงทุนด้านอุตสาหกรรมกลับคืน 1,083.432 เปอร์เซ็นต์!

          พูดเฉพาะตัวเลขผู้อ่านอาจมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ผู้เขียนขอลงรายละเอียดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมระดับชาติจากโครงการ Project Wills ภาพประกอบที่แปดแสดงข้อมูลไว้อย่างคร่าวๆ บริษัท GSC ประเทศเยอรมันเสนอโรงงานเหล็กกล้าไร้สนิมที่ COEGA (COEGA คืออะไรไว้เจอกันท้ายบทความ) กับเปิดสำนักงานบริษัทวิศวกรรม Ferrostal & Murray & Robberts สาขาทวีปแอฟริกาที่แอฟริกาใต้ บริษัท DCN ประเทศฝรั่งเศสเสนอสร้างโรงงานผลิตไททาเนียมกับถ่านหิน บริษัท FINCANTERI ประเทศอิตาลีเสนอสร้างโรงงานหินอ่อนบวกหินแกรนิตกับโรงงานท่อโพลีเอสเตอร์แก้วเสริมแรง ส่วนบริษัท KOCKUMS ประเทศสวีเดนเสนอสร้างโรงงานผลิตเครื่องยนต์สเตอร์ลิงกับผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม

          บริษัทขายอาวุธไม่ได้ผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมเองนะครับ รัฐบาลประเทศนั้นๆ จะติดต่อบริษัทชั้นนำในประเทศตัวเองมาลงทุนที่แอฟริกาใต้ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าควบคู่ไปกับการจัดหาอาวุธครั้งใหญ่ที่สุด

          นี่คือบทความที่ผู้เขียนรู้สึกสนุกมาก และคาดหวังว่าอาจมีผู้อ่านบางส่วนสนุกไปพร้อมกัน

หนีอังกฤษมาเจออังกฤษ

          กลับมาที่ LIFT Programme โครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นต้นเป็นรายการปิดท้าย โครงการนี้มีเครื่องบินเข้ารอบชิงจำนวน 4 ลำประกอบไปด้วย

1.เครื่องบิน Hawk จากบริษัท BAe ประเทศอังกฤษ

2.เครื่องบิน L 159 จากบริษัท Aero Vodochody ประเทศเชก

3.เครื่องบิน MB 339 FD จากบริษัท Aermacchi ประเทศอิตาลี

4.เครื่องบิน Yak-130 จากบริษัท Aermacchi ประเทศอิตาลี

อันที่จริงทั้ง Hawk และ MB 339 FD ตกรอบแรก Project Ukhozi โครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นสูงไปแล้ว เหตุผลที่ MB 339 FD ได้เข้าร่วมอีกครั้งเนื่องจากนี่คือโครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นต้น เหตุผลที่ MB Hawk ได้เข้าร่วมอีกครั้งเนื่องจากตัด Gripen ออกจากโครงการ ทั้งคู่ได้กลับมาร่วมชิงชัยและแข่งกันเองอย่างดุเดือดเลือดพล่าน เป็นการแข่งขันที่สูสีกันมากที่สุดรวมทั้งวุ่นวายขายปลาช่อนมากที่สุด

ผลการตัดสินคะแนนจากภาพประกอบที่เก้าตารางบน คะแนน Military Value หรือประสิทธิภาพอาวุธ เครื่องบิน MB 339 FD มาเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองคือ Hawk อันดับสามคือ L 159 และอันดับสี่คือ Yak-130 บังเอิญคะแนนการมีส่วนร่วมด้านอุตสาหกรรมหรือ Industrial Value กับบริการด้านการเงินหรือ Financial Index เครื่องบิน Hawk คว้าอันดับหนึ่งไปครอบครอง ส่งผลให้คะแนนรวมอันดับหนึ่งอันดับสองห่างกันเพียงเล็กน้อย MB 339 FD จากอิตาลีได้ 100 คะแนน ส่วน Hawk จากอังกฤษได้ 96.5 คะแนน

ตารางล่างคือคะแนนการมีส่วนร่วมด้านอุตสาหกรรม น่าสนใจก็จริงแต่ไม่มากเท่ากับราคาเครื่องบิน บริษัท Aermacchi เสนอ MB 339 FD จำนวน 24 ลำราคา 377.7 ล้านเหรียญ ส่วนบริษัท BAe เสนอ Hawk จำนวน 24 ลำราคา  756.5 ล้านเหรียญ

ราคาเครื่องบินอันดับหนึ่งและสองต่างกัน 756.5- 377.7=378.8 ล้านเหรียญหรือประมาณสองเท่า

ถ้าเป็นโครงการปรกติ MB 339 FD นอนมาพระสวดเข้าวินอย่างสบายๆ ทว่าคณะกรรมการทั้งสองชุดเกิดความคิดแตกแยกระดับร้ายแรง จำเป็นต้องโยนข้อมูลในมือทิ้งทั้งหมดแล้วหันหน้ามาจับเข่าพูดคุยกัน

ถ้าเลือก MB 339 FD ข้อดีประกอบไปด้วย

1.แอฟริกาใต้จะประหยัดเงิน 378.8 ล้านเหรียญ

2.ค่าใช้จ่ายในการฝึกบินค่อนข้างต่ำ

ถ้าเลือก MB 339 FD ข้อเสียประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินใหม่ 50 ลำทำการรบได้เพียง 26 ลำ น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับภารกิจและภัยคุกคาม

2.แม้ในภายหลังปรับปรุงให้ MB 339 FD ติดอาวุธได้ ทว่าประสิทธิภาพเครื่องบินค่อนข้างต่ำ บินเข้าสู่สนามรบมีหวังกลายเป็นเป้าซ้อมยิงกลางอากาศ

ถ้าเลือก Hawk ข้อดีประกอบไปด้วย

1.เครื่องบินใหม่ 50 ลำทำการรบได้ถึง 50 ลำ

2.การมีส่วนร่วมด้านอุตสาหกรรมกับการบริการด้านการเงินดีกว่าเดิม

ถ้าเลือก Hawk ข้อเสียประกอบไปด้วย

1.แอฟริกาใต้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 378.8 ล้านเหรียญ

2.ค่าใช้จ่ายในการฝึกบินสูงขึ้นตามประสิทธิภาพเครื่องบิน

หลังใช้เวลาพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างละเอียด คณะกรรมการทั้งสองชุดตัดสินใจเลือกเครื่องบิน Hawk จากบริษัท BAe เท่ากับว่าตัวเองหนีเครื่องบินอังกฤษมาเจอเครื่องบินอังกฤษ สิ่งที่แตกต่างคือผลประโยชน์ตอบแทนทั้งเรื่องการลงทุนและการเงินดีขึ้นอย่างชัดเจน ฉะนั้นการเลือกอันดับสองเป็นผู้ชนะเลิศไม่ถือว่าเสียหาย

บทสรุปปิดท้าย

          เดือนธันวาคม 1999 รัฐบาลแอฟริกาใต้ซื้อเครื่องบินจากรัฐบาลอังกฤษจำนวน 50 ลำ ผ่านบริษัท British Aerospace โดยใช้งบประมาณประจำปีกองทัพอากาศทั้งหมด (เท่ากับว่าคะแนน Financial Index ถูกตัดออกเพราะไม่ใช้เงินกู้) โดยเริ่มต้นจาก LIFT Programme โครงการจัดหาเครื่องบินไอพ่นฝึกขั้นต้น เครื่องบิน Hawk MK 120 ลำแรกสร้างในอังกฤษเข้าประจำการปี 2004 เครื่องบินที่เหลืออีก 23 ลำประกอบเองในประเทศโดยบริษัท Denel เครื่องบินทุกลำใช้อุปกรณ์สร้างเองในประเทศจำนวนหนึ่ง และตามสัญญาบริษัท BAe มอบสิทธิ์การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินจำนวนหนึ่งให้กับบริษัท Denel โดยสามารถส่งออกได้

          ส่วน ALFA Programme โครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่เบาขั้นสูงเดินหน้าช้ากว่ากันนิดหน่อย ระหว่างปี 2008 บริษัท Saab ส่งมอบเครื่องบินขับไล่ Gripen ลำแรกให้กับกองทัพอากาศแอฟริกาใต้ เครื่องบินถูกเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่างให้เหมาะสมความต้องการลูกค้า กว่า Gripen ลำแรกจะเข้าประจำการจริงก็ปี 2010 เพราะต้องเข้ารับการปรับปรุงในส่วนที่เป็นความลับเพิ่มเติม พูดง่ายๆ ว่าเป็นเครื่องบินต้นแบบต้องใช้เวลานานหน่อย

          เครื่องบินขับไล่ Gripen กองทัพอากาศแอฟริกาใต้คือ Gripen แต่งซิ่งดันราง ใช้อุปกรณ์จำนวนมากสร้างโดยแอฟริกาใต้ ใช้อาวุธทั้งหมดสร้างโดยแอฟริกาใต้ ไม่ใช่ Gripen รุ่นมาตรฐานสวีเดนที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย

          ย้อนกลับมาที่การลงทุนด้านอุตสาหกรรมอีกครั้ง ปี 1999 รัฐบาลแอฟริกาใต้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ COEGA ขนาด 11,500 ไร่ขึ้นมา อยู่ห่างท่าเรือน้ำลึก Ngqura เพียง 20 กิโลเมตร เน้นสร้างโรงงานอุตสาหกรรมส่งออกนำรายได้กลับคืนประเทศ โครงการนี้มีบริษัทเอกชนร่วมลงทุนจำนวน 54 ราย บริษัทต่างชาติส่วนใหญ่มาจากโครงการจัดหาอาวุธ The Strategic Defence Procurement Packages นั่นเอง

          ปัจจุบัน COEGA ซึ่งสร้างจากผืนดินรกร้างว่างเปล่าในสถานที่ห่างไกลความเจริญ กลายเป็นท่าจอดเรือสำคัญหนึ่งในสามแห่งของแอฟริกาใต้ร่วมกับ Cape Town และ Las Palmas ลูกค้าสำคัญคือเยอรมันซึ่งได้รับการคัดเลือกโครงการเรือดำน้ำกับเรือคอร์เวตขนาดใหญ่ COEGA คือเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นต้นแบบให้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งเล็กและใหญ่ที่ทยอยจัดตั้งตามมาในช่วงเวลาเพียง 20 ปี

          บทความการซื้ออาวุธที่ไม่ใช่แค่การซื้ออาวุธสิ้นสุดตรงนี้ เจอกันอีกครั้งเมื่อชาติต้องการสวัสดีรอบวง

อ้างอิงจาก

รายงานเรื่อง : DEFENCE ACQUISITIONS - UNPACKING THE PACKAGE DEALS

รายงานเรื่อง : Selection of Main Suppliers for the ALFA, LIFT, LUH, Corvettes and Submarines

http://www.denelaeronautics.co.za/album/Cheetah/24

https://www.airliners.net/photo/Ecuador-Air-Force/Atlas-Cheetah-C/2336975/L

https://twitter.com/skylancer7441/status/1231885547406315521

https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/13/SAAF-Gripen-001.jpg/1280px-SAAF-Gripen-001.jpg


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น