วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

Hamilton-class Cutter

 

        หลังสงครามโลกครั้งที่สองหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาขยายตัวใหญ่กว่าเดิม จากที่เคยมีเพียงเรือตรวจการณ์ลำเล็กลำน้อยคอยคุ้มครองชายฝั่ง ได้ถูกแทนที่ด้วยเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่โตกว่าเดิม ตัวเรือเป็นเหล็กเก๋งเรือเป็นอะลูมิเนียม ออกแบบให้มีความอเนกประสงค์มากกว่าเดิม มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์บริเวณท้ายเรือเพิ่มเติมความล้ำสมัย

        ทว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ได้คาดหวังเพียงเท่านี้ เนื่องจากกองทัพเรือต้องเดินทางไปทำภารกิจนอกประเทศ บางภารกิจจำเป็นต้องใช้งานเรือขนาดใหญ่เป็นเวลานาน เพื่อลาดตระเวนตรวจการณ์ในเขตน้ำตื้นร่วมกับเรือขนาดเล็ก ไม่เหมาะสมกับเรือพิฆาตหรือเรือฟริเกตซึ่งถูกออกแบบให้ทำการรบในเขตน้ำลึก หน่วยยามฝั่งจึงขึ้นการขึ้นโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่สำหรับทำภารกิจนอกประเทศ

เรือตรวจการณ์ขนาด 378 ฟุต

        ปี 1963 บริษัท  Avondale Shipyards ได้รับสัญญาสร้างเรือตรวจการณ์ขนาด 378 ฟุตจากหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาจำนวน 12 ลำ เรือลำแรก USCGC Hamilton (WHEC-715) เข้าประจำการวันที่ 18 มีนาคม 1967 ส่วนเรือลำสุดท้าย USCGC John Midgett (WHEC-726) เข้าประจำการวันที่ 17 มีนาคม 1972 ส่งผลให้กองเรือหน่วยยามฝั่งออกปฏิบัติการทั่วโลกได้อย่างทัดเทียมกองทัพเรือ

        เรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,250 ตัน ยาว 116 เมตร กว้าง 13 เมตร กินน้ำลึก 4.6 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOG เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัวทำงานร่วมกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์จำนวน 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 29 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 14,000 ไมล์ทะเล ออกทะเลได้นานสุด 45 วัน ใช้ลูกเรือ 167 นาย ถูกออกแบบให้เดินทางไปพร้อมเรือบรรทุกเครื่องบินเหมือนเรือฟริเกตหรือเรือพิฆาต มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่โตพอสมควรบริเวณท้ายเรือ

        ประสิทธิภาพเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ชั้น Hamilton จากยุค 60 เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันทุกลำยังกินไม่ลง ทั้งเรื่องความเร็ว ระยะปฏิบัติการ และระยะเวลาออกทะเล เป็นของดีของเด็ดจากหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาอย่างแท้จริง

        ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือตรวจการณ์ USCGC Hamilton (WHEC-715) หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 5/38 นิ้ว รุ่น Mark 30 ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Mark 56 GFCS มีปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอกข้างสะพานเดินเรือ หลังจุดรับส่งเรือเล็กติดตั้งแท่นยิงแฝดสามรุ่น Mark 32 สำหรับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ มาพร้อมโซนาร์หัวเรือรุ่น AN/SQS-38 ประสิทธิภาพปานกลาง เท่ากับว่าเรือชั้นนี้คือเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

        ทำไมเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ?

        เหตุผลก็คือเรือไม่ได้อยู่เฝ้าบ้านเพียงอย่างเดียว ต้องออกมาทำภารกิจในพื้นที่ห่างไกลอาทิเช่นน่านน้ำประเทศเวียดนามใต้ แล้วในช่วงนั้นสหภาพโซเวียตมีเรือดำน้ำโจมตีดีเซล-ไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เรือจำเป็นต้องมีอาวุธป้องกันตัวจากภัยคุกคาม

        ระบบเรดาร์บนเรือประกอบไปด้วย เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ AN/SPS-64v ที่เสากระโดงหลัก เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ AN/SPS-29D ที่เสากระโดงรอง ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ AN/SLA-10B เสากระโดงทาสีดำสนิทตัดกับสีขาวบนตัวเรือดูน่าเกรงขามบวกงามสง่า

        ครับนี่คือเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาในยุค 60

สงครามเวียดนาม

        ปี 1970 เรือตรวจการณ์  USCGC Sherman (WHEC-720) ถูกส่งมาประจำการในน่านน้ำประเทศเวียดนาม เพื่อขัดขวางการก่อความไม่สงบจากทางทะเลของฝ่ายตรงข้าม ขัดขวางการแทรกซึมเหล่าจารชนเข้าสู่เวียดนามใต้ รวมทั้งตัดเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทธปัจจัยโดยใช้เรือสินค้าติดอาวุธ USCGC Sherman จึงได้เข้าร่วมภารกิจ Operation Market Time ตามคำสั่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

        ภาพประกอบที่สองเรือมีการปรับปรุงระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำ หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog จำนวน 2 แท่นยิงหรือ 48 นัด หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาทยอยติดตั้ง Hedgehog บนเรือชั้นนี้จนครบทุกลำ ส่งผลให้หัวเรือหนักกว่าเดิมสิบกว่าตันอย่างเลี่ยงไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ต้องแลกเปลี่ยนเมื่อคุณต้องการติดอาวุธเพิ่ม

        วันที่ 21 พฤศจิกายน 1970 USCGC Sherman ทำหน้าที่สกัดกั้นเรือฝ่ายตรงข้ามบริเวณชายฝั่ง และสามารถจมเรือสินค้าติดอาวุธของเวียดนามเหนือจำนวน 1 ลำบริเวณปากแม่น้ำแม่โขง โดยใช้ปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วที่หัวเรือยิงใส่จากระยะ 2,600 หลา เก็บแต้มแรกให้กับกองเรือหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

เรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งเอาชนะการดวลปืนที่ปากแม่น้ำ เป็นเรื่องเล่าขานที่เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งรุ่นลูกรุ่นหลานจะได้รับฟังไปอีกยาวนานหลายสิบปี

FRAM Program

หลังเข้าประจำการรับใช้ชาติยาวนานถึง 20 ปีเต็ม จึงได้เวลาปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งานเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton โครงการ Fleet Rehabilitation and Modernization  หรือ FRAM ใช้เวลาตั้งแต่ปี 1986 ถึงปี 1990 เรือจำนวน 12 ลำเข้ารับการปรับปรุงโดยใช้อู่ต่อเรือจำนวน 2 แห่ง โดยมีเรือจำนวน 5 ลำติดอาวุธหนักตามภาพประกอบที่สาม

หัวเรือสร้าง Superstructure ยื่นยาวมาเชื่อมต่อกับสะพานเดินเรือ (การปรับปรุงเรือหลวงตาปีกับเรือหลวงคีรีรัฐได้รับอิทธิพลจากเรือลำนี้) ปืนใหญ่ขนาด 5/38 นิ้ว รุ่น Mark 30 ถูกแทนที่ด้วยปืนใหญ่ขนาด 76 มม.รุ่น Mark 75 (OTO 76/62 Compact เวอร์ชันสหรัฐอเมริกา) ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Mark 92 mod 1 GFCS (WM-25 เวอร์ชันสหรัฐอเมริกา) จรวดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog ถูกแทนที่ด้วยแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon ท้ายเรือติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ AN/SPS-29D เปลี่ยนเป็นรุ่น  AN/SPS-40B ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ AN/SLA-10B เปลี่ยนเป็นรุ่น AN/WLR-1C รวมทั้งติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถี SRBOC และเป้าลวงตอร์ปิโดรุ่นลากท้าย AN/SLQ-25 NIXIE

มีเรือเพียง 5 ลำที่ได้รับการติดตั้ง Harpoon และ Phalanx เหตุผลที่ติดตั้งเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตและกลุ่มวอซอร์ ช่วงนั้นความตึงเครียดด้านการเมืองค่อนข้างสูงเป็นพิเศษ จึงมีข้อเสนอให้เพิ่มอำนาจการยิงต่อเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่ง

นี่คือที่มาที่ไปของ Cutters with Missiles

ทดสอบยิง Harpoon

        วันที่ 16 มกราคม 1990 เรือตรวจการณ์ USCGC Mellon (WHEC-717) ทดสอบยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon นอกเมือง Oxnard รัฐ California นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ตรวจการณ์สามารถยิงอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยเผด็จศึกเป้าหมายผิวน้ำ

        อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon พัฒนาโดยบริษัท McDonnell Douglas ปัจจุบันคือ Boeing Defense, Space & Security ปี 1965 กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเห็นสหภาพโซเวียตมีอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ P-15 Termit ใช้งาน และนำเรือเร็วอาวุธนำวิถีมาข่มขู่กองเรือตัวเองในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา จึงได้ขึ้นโครงการพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่ กำหนดให้ทันสมัยกว่าระยะยิงไกลกว่า P-15 Termit โดยการติดตั้งระบบนำวิถีในหัวรบไม่ต้องพึ่งพาเรดาร์ควบคุมการยิงจากเรือ ระยะยิงไกลสุดมากกว่า 24 ไมล์ทะเลหรือ 45 กิโลเมตร ใช้งานกับเรือดำน้ำได้โดยใช้ท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533 มม.

        อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon นัดแรกถูกส่งมอบในปี 1977 ระยะยิงไกลสุดเพิ่มเป็น 75 ไมล์ทะเลหรือ 139 กิโลเมตร USCGC Mellon (WHEC-717) คือเรือลำแรกและลำเดียวที่ได้ทดสอบยิง Harpoon ใส่เป้าหมายกลางทะเล

        กลับมาที่การปรับปรุงเรือตามโครงการ FRAM กันอีกครั้ง อย่างที่ทราบกันดีมีการติดตั้งอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนวณให้ละเอียดถี่ถ้วนก็คือน้ำหนัก เพราะส่งกระทบค่อนข้างมากต่อประสิทธิภาพเรือ อาทิเช่นการปรับปรุงเรือหลวงตาปีกับเรือหลวงคีรีรัฐ น้ำหนักเรือที่เพิ่มขึ้นบวกปัญหาเรื่องการถ่วงดุลส่งผลให้เรือไม่เหมือนเดิม

บังเอิญเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton หลังการปรับปรุงติดอาวุธน้ำหนักเบากว่าเดิม

เรามาคำนวณด้วยคณิตศาสตร์อนุบาลหมีน้อยกันสักนิด

อาวุธที่ถูกถอดออกประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 5/38 นิ้ว รุ่น Mark 30 หนัก 20.5 ตัน จรวดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog จำนวน 2 แท่นยิงหนัก 14.4 ตัน (รวมทุกอย่าง) น้ำหนักรวมอาวุธอยู่ที่ประมาณ 34.9 ตัน

อาวุธที่ถูกติดตั้งประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.รุ่น Mark 75 หนัก 8.2 ตัน แท่นยิง MK141 จำนวน 2 แท่นยิงหนัก 11.8 ตัน อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัดหนัก 6 ตัน ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx หนัก 6.8 ตัน น้ำหนักรวมอาวุธอยู่ที่ประมาณ 32.8 ตัน

เท่ากับว่าเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton ติดอาวุธเบากว่าเดิม 2.1 ตัน บวก Superstructure ที่หัวเรือกับเพิ่มโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับได้ น้ำหนักเรือหลังการปรับปรุงมากกว่าเดิมเล็กน้อยส่งผลกระทบต่อเรือค่อนข้างน้อยนิด

ถอด Harpoon

ตามแผนการเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton ทุกลำจะได้รับการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon ทว่าในความเป็นจริงแผนการติดตั้งสำเร็จเรียบร้อยเพียง 5 ลำ ต่อมาในปี 1992 แท่นยิง MK141 ถูกถอดออกจากเรือทุกลำตามมติในที่ประชุมของวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เหตุผลก็คือสหภาพโซเวียตและกลุ่มวอซอร์ล่มสลายไปแล้ว ไม่มีภัยคุกคามแล้วเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งไม่จำเป็นต้องใช้งาน Harpoon

มีการปรับปรุงเรืออีกครั้งโดยการถอดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำและโซนาร์หัวเรือ ถอดเป้าลวงตอร์ปิโดรุ่นลากท้าย AN/SLQ-25 NIXIE จากนั้นจึงติดตั้งปืนกลขนาด 25 มม.แทนที่แท่นยิงตอร์ปิโดเบา และติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx เพิ่มเติมจนครบทุกลำ

ภาพประกอบที่ห้าเรือตรวจการณ์ USCGC Mellon (WHEC-717) หลังการปรับปรุงในปี 1992 แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบถูกถอดออกไปพร้อมกับแท่นยิงตอร์ปิโดเบา มองเห็นโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับอย่างชัดเจน ส่วนระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ที่บั้นท้ายเรือน่าจะอยู่ในโหมดหยุดทำงานชั่วคราว

ปลดประจำการ

        หลังรับใช้ชาติมาอย่างยาวนานเรือทุกลำต้องปลดประจำการ ปรกติเรือรบกองทัพเรือสหรัฐอเมริกามักปลดประจำการในปีที่ 30 ทว่าเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งกลับพลิกผันชนิดหน้ามือหลังมือ เรือตรวจการณ์ USCGC Hamilton (WHEC-715) ปลดประจำการลำแรกในวันที่ 28 มีนาคม 2011 อายุราชการ 44 ปี และเรือตรวจการณ์ USCGC Douglas Munro (WHEC-724) ปลดประจำการลำสุดท้ายในวันที่ 27 เมษายน 2021 อายุราชการมากถึง 50 ปี

        หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาใช้งานเรือโหดยิ่งกว่ากองทัพเรือไทย

สิ่งที่แตกต่างก็คือเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton ได้รับการซ่อมบำรุงอย่างดีเยี่ยม แม้ปลดประจำการแล้วก็ยังสามารถปรับปรุงยืดอายุเรือใช้งานได้ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงมีแนวคิดโอนเรือทุกลำให้กับประเทศพันธมิตร โดยมีค่าใช้งานปรับปรุงเรือลำละประมาณ 10 ล้านเหรียญ ผู้โชคดีได้รับแจกเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ฟรีประกอบไปด้วย

-ฟิลิปปินส์จำนวน 3 ลำ

-เวียดนามจำนวน 3 ลำ

-ศรีลังกาจำนวน 2 ลำ

-บังกลาเทศจำนวน 2 ลำ

-ไนจีเรียจำนวน 2 ลำ

        ภาพประกอบที่หกคือเรือตรวจการณ์ USCGC John Midgett (WHEC-726) ถูกส่งต่อให้กับหน่วยยามฝั่งเวียดนามโดยใช้ชื่อว่า CSB 8021 ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.รุ่น Mark 75 กับเรดาร์ควบคุมการยิง Mark 92 mod 1 GFCS ยังอยู่เหมือนเดิม ส่วนเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ AN/SPS-40B ปืนกลอัตโนมัติขนาด 25 มม.รุ่น Mk 38 Mod 2 และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ถูกถอดออก สภาพเรือหลังการปรับปรุงยังคงดีเยี่ยมใช้งานต่ออีก 15-20 ปีได้อย่างสบาย

บทสรุปปิดท้าย

        จนถึงปัจจุบันเรือตรวจการณ์ชั้น Hamilton ยังคงประจำการครบถ้วนทุกลำ

เรือลำแรก USCGC Hamilton (WHEC-715) ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า BRP Gregorio del Pilar (PS-15) อายุ 57 ปี ส่วนเรือลำสุดท้าย USCGC John Midgett (WHEC-726) ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า CSB 8021 อายุ 52 ปี นี่คือเรือตรวจการณ์ขนาด 378 ฟุตที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่โลกมนุษย์เคยสร้างมา

อ้างอิงจาก

https://thetidesofhistory.com/2023/12/17/that-time-they-put-anti-ship-missiles-on-coast-guard-cutters-and-could-again/

https://thetidesofhistory.com/2023/10/22/378s-hamilton-class-coast-guard-cutters/

https://en.wikipedia.org/wiki/Hamilton-class_cutter

https://www.flickr.com/photos/upnorthmemories/6952902660

https://chuckhillscgblog.net/tag/whec/

https://web.facebook.com/photo/?fbid=2056453144398204&set=a.193627974014073

https://www.usni.org/magazines/naval-history-magazine/2017/december/coast-guard-war-cutter-sherman-vietnam

https://www.maritimehawaii.com/2021/07/csb-8021/

 

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

RTN Midget Submarine

 

Chalawan class กาลครั้งหนึ่งของหัวใจ

       เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 หนังสือพิมพ์ Posttoday รายงานข่าวว่า นาวาเอก สัตยา จันทรประภา รอง ผบ.โรงเรียนนายทหารเรือขั้นต้น กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีแนวคิดให้กองทัพเรือวิจัยสร้าง เรือดำน้ำขนาดเล็ก โดยกองทัพเรือได้เริ่ม โครงการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 โดยมีทหารเรือ 25 นายที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ด้าน สถาปนิกทหารเรือ และสาขาอื่นเข้าร่วม ที่ผ่านมาทีมงานได้ไปอบรมที่ประเทศอังกฤษมาแล้ว และมีทีมที่ปรึกษาจากอังกฤษให้ข้อเสนอแนะในการวิจัยและพัฒนา

       โครงการนี้ได้ใช้งบประมาณวิจัยประมาณ 193 ล้านบาท ใช้เวลาในการออกแบบ 4 ปี ใช้เวลาสร้าง 2 ปี และใช้เวลาฝึกเจ้าหน้าที่ 1 ปี รวมทั้งหมดเท่ากับ 7 ปี คาดว่าจะทราบราคาในการสร้างเมื่อออกแบบเสร็จแล้ว โดยประเมินในเบื้องต้นว่าต้องใช้งบประมาณใกล้เคียงหนึ่งพันล้านบาท

       คณะนักวิจัยตั้งชื่อเรือดำน้ำขนาดเล็กอย่างไม่เป็นทางการว่า 'ชาละวันคลาส' Chalawan class โดยมีระวางขับน้ำ 150-300 ตัน ใช้กำลังพลประจำเรือ 10 นาย ระยะปฏิบัติการ 300 ไมล์ทะเล

       จากข่าวนี้ผู้อ่านหลายคนจินตนาการไปไกลจนถึงขั้นที่ว่า ประเทศไทยสามารถสร้างเรือดำน้ำขนาดใกล้เคียง Type 206A ติดระบบโซนาร์และตอร์ปิโดขนาด 533 มม.สำหรับยิงทำลายเรือผิวน้ำ ส่งผลให้กองทัพเรือมีความเข้มแข็งมากกว่าเดิมโดยใช้งบประมาณเพียงน้อยนิด ถือเป็นโครงการที่ดีมากโครงการหนึ่งทุกคนจึงพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

ข้อเท็จจริงของโครงการ

       วารสารกรมอู่ทหารเรือ ฉบับ ประจำปี ๒๕๖๒ ลงบทความ 'โครงการวิจัยเรือดําน้ำขนาดเล็กของกองทัพเรือ (Midget Submarine)' เขียนโดยคณะนักวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก มีข้อเท็จจริงของโครงการซึ่งน่าสนใจมากดังต่อไปนี้

       จากการประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงทางทะเล เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์กองทัพเรือในห้วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2558–2567) พบว่าปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการอ้างสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ที่มีประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศเป็นคู่กรณีพิพาท ทวีความรุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มการพัฒนากำลังทางเรือในภูมิภาคเป็นไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาขีดความสามารถสงครามใต้น้ำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของชาติยังคงมีความจำเป็น กองทัพเรือจึงได้กำหนดความต้องการเรือดำน้ำ/ยานใต้น้ำขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการปฏิบัติการหาข่าวทางลับและการปฏิบัติการโจมตีใต้น้ำ เพื่อเพิ่มเติมขีดความสามารถในการทำสงครามใต้น้ำให้ได้อย่างสมบูรณ์

       เนื่องจากวิทยาการเรือดำน้ำเป็นองค์ความรู้ที่ประเทศผู้ผลิตจะเก็บรักษาเป็นความลับสูงสุด ในบางสถานการณ์อาจมีข้อจำกัดไม่สามารถขอรับการศึกษาและขอรับทราบข้อมูล กองทัพเรือจำเป็นต้องศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างเรือดำน้ำขึ้นเอง ประกอบกับกองทัพเรือมีประสบการณ์วิจัยสร้างยานใต้น้ำขนาดเล็กระวางขับน้ำประมาณ 30 ตันมาแล้ว แสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือมีความพร้อมในการต่อยอดองค์ความรู้ในการสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กขั้นสูงขึ้นและนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง

       วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยและพัฒนาเรือสร้างดำน้ำขนาดเล็ก

       1.ออกแบบต้นแบบเรือดำน้ำขนาดเล็กเพื่อใช้ในภารกิจของกองทัพเรือ

       2.สร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก สำหรับสนับสนุนปฏิบัติการทางเรือและปฏิบัติการพิเศษ

ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย

1.การเตรียมการและการออกแบบเบื้องต้น (งบประมาณปี 60-63)

       การดำเนินการในปีแรกประกอบไปด้วย การเตรียมนักวิจัยให้มีความเชี่ยวชาญในวิทยาการออกแบบและสร้างเรือดำน้ำโดยการส่งนักวิจัยจำนวน 5 นาย เข้ารับการอบรมหลักสูตรการออกแบบเรือดำน้ำที่ University College London ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 9 สัปดาห์ ลักษณะการอบรมเป็นการเรียนในห้องเรียน 3 สัปดาห์ และการทำ workshop ซึ่งเป็นการออกแบบเรือดำน้ำเบื้องต้นตามโจทย์ที่ได้รับอีก 6 สัปดาห์

2.การสร้างเรือดำน้ำ (งบประมาณปี 64-65)

       จะมีการสร้างเรือดำน้ำตามแบบที่ได้จากขั้นที่ 1 โดยการดำเนินการในขั้นนี้จะจัดทำแบบรายละเอียดเพื่อการสร้าง (Detail Drawings) จัดหาพัสดุและอุปกรณ์ของระบบต่าง ๆ การสร้างตัวเรือและติดตั้งอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ โดยมีแผนการว่าจ้างที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างเรือดำน้ำมาเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อให้คำแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือดำน้ำให้แก่นักวิจัยฯ รวมทั้งมีแผนการว่าจ้างสมาคมจัดชั้นเรือ (Classification Society) เพื่อควบคุมให้การสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้จะทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำเรือในระหว่างการสร้าง เพื่อให้กำลังพลรู้จักระบบและมีความชำนาญในการใช้และดูแลรักษาเรือต่อไป

3.การทดสอบเรือ (งบประมาณปี 66)

       เป็นการทดสอบทดลองเรือทั้งในท่า (HAT) และในทะเล (SAT) ดำเนินการทดสอบทดลองระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ขณะเรือจอดที่ท่าเรือ เป็นขั้นตอนการดำเนินการภายหลังการประกอบ/ติดตั้งอุปกรณ์กับตัวเรือ โดยจะทดสอบการทำงานของทุกระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะทดลองในทะเลในขั้นต่อไป สำหรับการทดลองในทะเลเป็นการตรวจสอบสมรรถนะและขีดความสามารถของเรือขณะปฏิบัติการในทะเล ให้มีความสมบูรณ์ตรงตามความต้องการใช้งานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการประกันความปลอดภัยในชีวิตของกำลังพลผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการฝึกการใช้เรือและการปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

แนวคิดการใช้เรือดำน้ำขนาดเล็ก

       การกำหนดแนวคิดการใช้เรือดำน้ำขนาดเล็ก สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กของ ทร.ในครั้งนี้ คณะนักวิจัยได้ดำเนินการจัดทำร่วมกับหน่วยใช้ประโยชน์โครงการวิจัยทั้งในระดับยุทธศาสตร์–ยุทธการ และระดับยุทธการ–ยุทธวิธี ประกอบไปด้วย ยก.ทร. กดน.กร. กทบ.กร. และ นสร.กร. เพื่อให้ผลงานวิจัยตอบสนองความต้องการของหน่วยใช้ประโยชน์และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภารกิจหลัก

       1.ลาดตระเวนรวบรวมข่าวกรองทางเสียง (Acoustic Signature) และข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electromagnetic Signature)

       2.รับ-ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษทางเรือแทรกซึมเข้าออกพื้นที่เป้าหมายสำคัญทางทหาร แหล่งเศรษฐกิจที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและในทะเล

ภารกิจรอง

1.สนับสนุนการฝึกยุทธวิธีเรือดำน้ำเบื้องต้น และการฝึกยุทธวิธีปราบเรือดำน้ำ

       2.สนับสนุนการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล

พื้นที่ปฏิบัติการ

       ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งห่างจาก ฐท.สส. ฐท.สข. และ ฐท.พง. ภายในรัศมีไม่เกิน 300 ไมล์ทะเล

คุณลักษณะและขีดความสามารถทางยุทธการ

ประเภท : เรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าขนาดเล็ก

ระวางขับน้ำ : ประมาณ 300 ตัน

ความลึกปฏิบัติการสูงสุด : 100 เมตร

ความเร็วสูงสุด บนผิวน้ำ : ไม่ต่ำกว่า 8 นอต

ความเร็วสูงสุด ใต้น้ำ : ไม่ต่ำกว่า 5 นอต

ปฏิบัติการใต้น้ำต่อเนื่อง : ไม่ต่ำกว่า 14 ชั่วโมง ที่ความเร็ว 3 - 5 นอต

ระบบตรวจจับ : กล้องตาเรือ (Periscope)

เรดาร์เดินเรือ : (Navigation Radar)

ฟาสซีฟโซนาร์ : (Broadband Passive Sonar)

อุปกรณ์ตรวจจับ วิเคราะห์ และ บันทึกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ELINT)

ระบบอาวุธ : ไม่มี

ระบบอื่น : ถังปรับความดันสำหรับรับ-ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษ (LILO)

 
บทสรุป

       ปี 2561 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณราว 193 ล้านบาท การเตรียมการและการออกแบบเบื้องต้นโดยใช้เวลา 4 ปี ต่อมาในเดือนกันยายนกองทัพเรือเซ็นสัญญาด้านวิศวกรรมและบริหารความเสี่ยงกับบริษัท BMT สหราชอาณาจักร เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก แต่แล้วเมื่อวันเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งโครงการนี้ก็เงียบหายไป

       ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน งบประมาณ 1,000 ล้านบาทในการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาด 300 ตันไม่ติดอาวุธ ดูเหมือนจะเป็นโครงการที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสเกินไป ผลประโยชน์ที่ได้รับกลับคืนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยสักเท่าไหร่ ตลาดส่งออกก็แทบไม่มีรองรับเพราะเป็นแบบเรือเฉพาะทาง ครั้นจะพัฒนาต่อให้เป็นเรือดำน้ำติดอาวุธขนาดใหญ่กว่าเดิมทำภารกิจได้ดีกว่าเดิม คาดว่างบประมาณในการวิจัยและพัฒนาต้องเพิ่มเลข 0 ต่อท้ายเข้าไปอีกหนึ่งตัว

       หลายชาติมีโครงการสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กมาเนิ่นนานแต่ไม่ประสบความสำเร็จ อาทิเช่นอินโดนีเซียซึ่งท้ายที่สุดหันมาพึ่งพาแบบเรือดำน้ำจากเยอรมัน แต่แล้วก็บัวแล้งน้ำเนื่องจากรัฐบาลและกองทัพเรือไม่ให้สำคัญในลำดับต้นๆ เพราะเป็นแบบเรือที่มีก็ได้ไม่มีก็ดีไว้มีเงินค่อยซื้อในภายหลัง ไม่เหมือนโครงการเรือดำน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีความจำเป็นในการป้องกันประเทศมากกว่า

       เมื่อใช้เวลาว่างทบทวนผลงานผู้เขียนมองเห็นความผิดพลาดระดับเลวร้าย โครงการชาละวันตัวเองไม่ได้เขียนบทความหรือลงข่าวสารความเคลื่อนไหวแม้แต่ครั้งเดียว วันนี้จึงขอบันทึกข้อมูลเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ กาลครั้งหนึ่งราชนาวีไทยริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก แม้ในท้ายที่สุดจะถูกดองเค็มเหมือนหลายๆ โครงการก็ตาม

       หมายเหตุ : โครงการที่ไปต่อไม่ได้จริงๆ อย่าเสียใจหรือโทษโน่นนั่นนี่เลยครับ ประเทศอื่นก็เป็นเหมือนกันไม่ใช่ไทยแลนด์เพียงชาติเดียว สำหรับเราในตอนนี้มองอะไรที่สร้างง่าย ไม่ซับซ้อน พัฒนาเองได้จริง ราคาไม่ถูกไม่แพง ค่าใช้จ่ายในการใช้งานไม่สูงเกินไปน่าจะเหมาะสมกว่า รวมทั้งสานต่อสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้วให้มั่นคงแข็งแกร่งกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นพยายามสนับสนุนการขายเรือตรวจการณ์ขนาดต่างๆ ให้กับลูกค้าต่างชาติ เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการจากทั่วโลกตลอดเวลา

 อ้างอิงจาก

บทความ 'โครงการวิจัยเรือดําน้ำขนาดเล็กของกองทัพเรือ (Midget Submarine)'

http://www.dockyard.navy.mi.th/doced2/index.php/main/detail/content_id/61

https://matemnews.com/News/32231

https://www.facebook.com/media/set/?set=oa.2136715329906479

วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2567

Unmanned Underwater Vehicle and Submersible Vehicle

 

ยานใต้น้ำไร้คนขับเมดอินไทยแลนด์

       บทความนี้ผู้เขียนรวบรวมโครงการยานใต้น้ำไร้คนขับสร้างโดยคนไทย นำมาบันทึกเก็บไว้รวมกันเพื่อความสะดวกสบายในการค้นหาข้อมูล เป็นบทความสั้นๆ เท่าที่ผู้เขียนสามารถค้นหาข้อมูลได้ ถ้ามีการสร้างยานใต้น้ำไร้คนขับรุ่นใหม่สัญญาว่าจะกลับมาเขียนถึงอีกครั้ง

เป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ

       หลังจากประเทศไทยปลดระวางเรือดำน้ำทุกลำในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2494 ก็ไม่มีโอกาสจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการอีกเลย ส่งผลให้เทคโนโลยีด้านตรวจจับและปราบเรือดำน้ำขาดหายไป ต่อมาในปี 2543 กองทัพเรือมีโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะที่ 1 เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.)

       ยานใต้น้ำขนาดเล็กซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเป้าฝึกมีการเคลื่อนที่ใต้น้ำแบบ Random ใช้พลังงานแบตเตอรี่เป็นตัวขับเคลื่อน อยู่ในน้ำได้นานสุด 2 ชั่วโมง สามารถแล่นสลับฟันปลาในแนวดิ่งด้วยความเร็ว 3 นอต ดำน้ำลึกสุดไม่เกิน 30 เมตร สามารถส่งสัญญาณเสียงใต้น้ำไปปรากฏบนหน้าจอโซนาร์เรือผิวน้ำ ลักษณะเดียวกับที่เกิดจากการตรวจพบเรือดำน้ำจริง ราคาสร้างลำละประมาณ 3 แสนบาทถ้าซื้อจากต่างประเทศราคาประมาณ 1 ล้านบาท

       ยานใต้น้ำไร้คนขับเมดอินไทยแลนด์ลำแรกมีข้อบกพร่องหลายประการ จนไม่สามารถนำมาใช้ฝึกทางการทหารได้อย่างสมบูรณ์ เป็นอันว่าโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะที่ 1 จำเป็นต้องหยุดชะงักแค่เพียงเท่านี้

       ต่อมาในปี 2551 ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับกรมอู่ทหารเรือ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ และบริษัทนนทรีจำกัด ร่วมมือกันพัฒนายานใต้น้ำไร้คนขับขนาดเล็กขึ้นมาอีกครั้ง อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะสุดท้าย

       ปี 2553 ยานใต้น้ำลำแรกชื่อ 'ไกรทอง' ถูกส่งมอบให้กองทัพเรือนำไปทดสอบเป็นเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ หรือ Mobile Target อนาคตจะมีการส่งมอบยานใต้น้ำอีก 2 ลำได้แก่ 'สุดสาคร' กับ 'วิชุดา' ปิดโครงการได้อย่างสดสวยงดงามใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 6 ล้านบาท

       งานวิจัยฝีมือคนไทยทำจากเหล็กทั้งลำ รูปร่างหน้าตาคล้ายตอร์ปิโดทาสีเหลืองทั้งลำ ยาว 3.10 เมตร กว้าง 0.45 เมตร น้ำหนัก 300 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุด 3 นอต ดำน้ำได้ลึกสุด 30 เมตร อยู่ในน้ำได้นานสุด 4 ชั่วโมง มีรูปแบบการเคลื่อนที่ใต้น้ำถึง 10 แบบ สามารถส่งสัญญาณเสียงใต้น้ำไปปรากฏบนหน้าจอโซนาร์เรือผิวน้ำ ติดตั้งระบบ GPS และระบบส่งวิทยุเพื่อแจ้งที่ให้เรือผิวน้ำมาจัดเก็บขึ้นเรือ


       ยานใต้น้ำสร้างโดยคนไทยราคาลำละประมาณ 9 แสนบาท ถูกกว่าซื้อจากต่างประเทศซึ่งประสิทธิภาพใกล้เคียงกันถึง 5 เท่า มีการทดสอบใช้งานยานใต้น้ำไร้คนขับบริเวณอ่าวสัตหีบระหว่างเกาะตอม่อกับเกาะพระ ก่อนส่งมอบให้กองทัพเรือนำไปใช้งานต่อไป ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย อุปกรณ์ทั้งหมดทำงานได้อย่างถูกต้องตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ ไม่มีปัญหาการรั่วซึม ยานเคลื่อนที่ท่ามกลางกระแสน้ำและสภาวะแวดล้อมจริงได้เป็นอย่างดี

       สถานะปัจจุบันของ 'ไกรทอง' 'สุดสาคร' และ 'วิชุดา' ผู้เขียนหาข้อมูลไม่เจอ เวลาผ่านพ้นไปเกือบ 14 ปียานใต้น้ำทั้ง 3 ลำอาจปลดประจำการไปแล้วก็เป็นได้

งานวิจัยยานใต้น้ำขนาด 12 เมตร

หลังจากการปลดระวางประจำการเรือดำน้ำ 4 ลำในปี 2494 เทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับเรือดำน้ำและการปฏิบัติภารกิจใต้ทะเลได้ห่างหายไป กองทัพเรือมีแนวความคิดวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่องกับยานใต้น้ำให้กลับมาอีกครั้ง จึงได้มอบให้สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) เป็นเจ้าของโครงการสร้างต้นแบบยานใต้น้ำขนาดเล็กขึ้นเองในประเทศ

การวิจัยมีจุดหมายศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการออกแบบและสร้างยานใต้น้ำขนาดเล็กขึ้นเองในประเทศเน้นการพึ่งพาตนเองและใช้ ทรัพยากรใน ประเทศให้มากที่สุด อีกทั้งกระจายความรู้สู่สถาบันการศึกษาและอู่ต่อเรือในประเทศ ซึ่งทางสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (สวท.กห.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงสนับสนุนงบประมาณสำหรับ โครงการวิจัยยาน ใต้น้ำขนาดเล็กโครงการนี้ ซึ่งสิ่งที่จะได้จากงานวิจัยคือ ยานใต้น้ำ ที่สามารถใช้ในการสำรวจสมุทรศาสตร์ และทรัพยากรใต้ทะเล สิ่งก่อสร้างในทะเล พร้อมทั้งก่อเกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยีการสร้างยานใต้น้ำขึ้นในประเทศด้วยความสามารถของคนไทย

การวิจัยและพัฒนายานใต้น้ำขนาดเล็กโครงการนี้มี พล.ร.ต.รศ.ดร.พงศ์สรร ถวิลประวัติป็นนายทหารโครงการดำเนินการออกแบบรายละเอียดเพื่อนำไปสู่ การสร้างต้นแบบยานใต้น้ำขนาดเล็กภายในประเทศ การวิจัยที่เกิดขึ้นเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้เป็นรูปธรรม การออกแบบและสร้างต้นแบบยานใต้น้ำ ขนาดเล็กไม่เพียงก่อเกิดประโยชน์อเนกประสงค์นำ ไปประยุกต์ใช้ทางด้านกิจการพลเรือน และการทหารหาก แต่ยังก่อเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการ ออกแบบและการสร้าง ยานใต้น้ำให้เกิดขึ้นอีกครั้งคณะนักวิจัยและที่ปรึกษาโครงการครั้งนี้ ต่างเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องหลายสาขาอีกทั้งมี ประสบการณ์การซ่อมและสร้างเรือ ผิวน้ำเป็นอย่างดีได้ทำงานร่วมกัน

โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากสวท.กห. 25 ล้านบาทและสวทช. 5 ล้านบาท ระยะเวลาวิจัยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 ถึง 2554 โครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะประกอบไปด้วย

1.ศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับขีดความสามารถของยานใต้น้ำเบื้องต้น

2. สร้างยานใต้น้ำขึ้นเองในประเทศ โดยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่จำเป็นจากต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างยานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดคือ 4 ปี

ต่อมาในวันที่ 28 มีนาคม 2551 พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานพิธีปฐมฤกษ์สร้างยานใต้น้ำขนาดเล็ก ที่บริษัท อู่กรุงเทพฯ จำกัด ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.) การสร้างยานเสร็จสมบูรณ์มีการทดสอบดำน้ำในปี 2554 ตรงตามแผนการ

 คุณลักษณะเฉพาะของยานใต้น้ำขนาดเล็ก

       -ความยาวตลอดลำเรือประมาณ 12 เมตร

       -ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร

       -วัสดุตัวเรือรับแรงกดเป็นเหล็กหนา 15 มม. เปลือกเรือชั้นนอกเป็นไฟเบอร์กลาส

       -ระวางขับน้ำใต้น้ำประมาณ 27 ตัน

       -ระบบขับเคลื่อน Thruster มอเตอร์จำนวน 5 ตัว

       -ระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ตะกั่วกรดจำนวน 264 หม้อ หม้อละ 2 V 300AH

       -ระบบอากาศหายใจ ถังเก็บออกซิเจนขนาด 50 ลิตร จำนวน 6 ถัง

       -ติดตั้งระบบฟอกอากาศ ระบบปรับอากาศ ระบบลอยตัวฉุกเฉิน (Drop weight) ระบบบัลลาส ระบบทรงตัว ระบบเดินเรือ และระบบสื่อสาร

       -ความเร็วเดินทาง 3 ถึง 5 นอต

       -ปฏิบัติภารกิจใต้น้ำระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร

       -ปฏิบัติการต่อเนื่อง 3 ถึง 5 ชม.

       -กำลังพลประจำเรือ 3 นาย

       ผลการทดสอบผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ยานสามารถดำน้ำได้จริงไม่มีปัญหาติดขัดตรงไหน สถานะปัจจุบันงานวิจัยยานใต้น้ำขนาด 12 เมตรจัดเก็บอยู่ในโรงเก็บอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ

อ้างอิงจาก

https://web.facebook.com/media/set/?set=a.662284070450880.1073741863.546940131985275&paipv=0&eav=Afbih-9WFYbanCMOW6IpNX2t5tWF3fe-pDIQTGpFmyIw5FLbk_RIn0tUDfuHpeaK0JM&_rdc=1&_rdr

https://pantip.com/topic/37873683

http://www.dockyard.navy.mi.th/.../Subma.../craft/index.html

https://web.facebook.com/share/p/zaKqQXUvVBUQ6tom/

https://web.facebook.com/share/p/pNkfFT8yGaVqPwXV/