วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

RTN Naval Programme

 

โครงการบำรุงกำลังทางเรือ

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศในปี 2475 กองทัพเรือไทยขนาดค่อนข้างเล็กเต็มไปด้วยเรือเก่าใกล้ปลดประจำการ ประกอบกับเรือสมัยนั้นอายุการใช้งานค่อนข้างสั้น เรือปืนอายุ 15 ปี เรือพิฆาตและเรือตอร์ปิโดอายุ 15 ปี เรือยามฝั่งอายุ 5-10 ปี ส่งผลให้กองทัพเรือเหลือเรือใช้งานได้ประกอบไปด้วย เรือปืนจำนวน 2 ลำ (เรือหลวงสุโขทัยกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์) เรือยามฝั่งจำนวน 5 ลำ (ร.ย.ฝ.2 ถึง ร.ย.ฝ.5 และเรือหาญหักศัตรู) รวมทั้งเรือหลวงพระร่วงซึ่งเข้ารับการปรับปรุงยึดอายุการใช้งาน กำลังรบที่มีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับภัยคุกคามซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ย่างเข้าสู่ปี 2477 กองทัพเรือปรับปรุงกำลังทางเรือให้แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยการซื้อเรือตอร์ปิโดจากประเทศอิตาลีจำนวน 2 ลำ ได้แก่เรือหลวงตราดและเรือหลวงภูเก็ต ราคารวมทั้งอาวุธประมาณ 2.6 ล้านบาท กับเรือยามฝั่งจากอังกฤษจำนวน 3 ลำได้แก่เรือ ร.ย.ฝ.6 ถึง ร.ย.ฝ.8 ราคาไม่รวมอาวุธประมาณ 8 แสนบาท โดยใช้งบประมาณที่ได้รับเพิ่มเติมจากกระทรวงกลาโหมช่วงปลายปี 2476

ราชนาวีไทยขยับตัวครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือหลวงรัตนโกสินทร์ หนึ่งในสองเรือปืนซึ่งจัดว่าทันสมัยที่สุดในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เรือจากอังกฤษขนาดเล็กมากระวางขับน้ำเต็มที่เพียง 1,000 ตัน ระบบควบการยิงค่อนข้างล้าสมัยใช้งานยากความแม่นยำต่ำ

เพื่อให้การปรับปรุงกำลังทางเรือเป็นไปตามแบบแผนการที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ กองทัพเรือได้จัดทำโครงการสร้างเรือ (Naval Construction Programme หรือ Naval Programme) เพื่อส่งมอบให้กระทรวงกลาโหมพิจารณาในวันที่ 18 มกราคม 2477 ผู้เขียนขอคัดลอกข้อมูลสำคัญบางส่วนมาเผยแพร่ต่อตามนี้

เรียน นายพันเอก หลวงพิบูลย์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ตามนโยบายป้องกันประเทศสยามในปัจจุบัน ทุกหน่วยกำลังของชาติกำลังวางโครงการที่จะทำให้ประเทศมีกำลังพลเหมาะสมกับสถานการณ์ สำหรับกองทัพเรือได้วางโครงการไว้เป็นขั้นๆ ตามกำลังทรัพย์ของประเทศ และขั้นต่ำสุดที่ต้องการให้พอทำการได้ผลบ้างเฉพาะในยุคนี้มีดังนี้

-เรือปืนขนาดหนัก 2,000 ตันจำนวน 2 ลำ

-เรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตันจำนวน 6 ลำ

-เรือดำน้ำขนาด 300-400 ตันจำนวน 6 ลำ

-เรือทิ้งทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำ

-ทุ่นระเบิดจำนวน 2,000 ลูก

-เรือยามฝั่งไม่ต่ำกว่า 20 ลำ

-เรือตอร์ปิโดขนาดเล็กสำหรับฝึกคนจำนวน 2 ลำ

-เรือฝึกหัดนักเรียนจำนวน 1 ลำ

ด้วยกำลังเท่านี้จะช่วยรักษาความเป็นกลางไว้ได้ ถ้าเกิดสงครามจะช่วยป้องกันการยกพลขึ้นบก และช่วยรักษาปีกทหารบกบริเวณก้นอ่าวสยามไว้ได้ แต่จะไปทำการรุกรานไม่ได้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น

ราคาเรือและอาวุธที่กล่าวถึงประมาณได้ดังนี้

-เรือปืนขนาด 2,000 ตันลำละ 5,000,000 บาท

-เรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตันลำละ 1,300,000 บาท

-เรือดำน้ำขนาด 300 ตันลำละ 2,300,000 บาท

-เรือทิ้งทุ่นระเบิดขนาด 400 ตันลำละ 500,000 บาท

-เรือยามฝั่งลำละ 120,000 บาท

ในขั้นนี้กองทัพเรือขออนุมัติเริ่มดำเนินการเฉพาะ

-เรือปืนขนาด 2,000 ตันจำนวน 1 ลำ

-เรือตอร์ปิโดขนาด 400 ตันจำนวน 4 ลำ

-เรือดำน้ำขนาด 300 ตันจำนวน 3 ลำ

-เรือทิ้งทุ่นระเบิดขนาด 400 ตันจำนวน 1 ลำ

รวมทั้งหมดเป็นเงินประมาณ 17,600,000 บาท

กองทัพเรือกำลังทาบทามบริษัทต่างๆ ในการใช้เงิน ถ้าหากบริษัทตกลงให้ผ่อนปีละ 2,000,000 บาท กองทัพเรือขอให้กระทรวงกลาโหมเจรจาตกลงกับรัฐบาล ถ้ารัฐบาลอนุมัติกองทัพเรือจะรีบดำเนินการต่อไป ฉะนั้นถ้าเริ่มได้เสียเดี๋ยวนี้จะเป็นการดียิ่ง มิฉะนั้นจะไม่ได้เรือมาใช้ทันการ

ควรมีควรแล้วแต่จะกรุณา นาวาเอกพระยาวิจารณ์จักรกิจ ผู้รักษาราชการแทนผู้บัญชาการทหารเรือ

หมายเหตุ : ผู้เขียนถือวิสาสะปรับปรุงสำนวนการเขียนเล็กน้อย ข้อมูลยังอยู่ครบถ้วนแต่อ่านเข้าใจง่ายกว่าเดิม

ภาพประกอบที่สองเรือลำใหญ่คือเรือหลวงระยอง เรือตอร์ปิโดใหญ่สร้างจากประเทศอิตาลี ส่วนเรือลำเล็กสองลำคือเรือหลวงตากใบกับเรือหลวงสัตหีบ เรือตอร์ปิโดเล็กสร้างจากประเทศญี่ปุ่นและสร้างเอง เป็นหนึ่งในผลผลิตจากโครงการบำรุงกำลังทางเรือเรือ

โครงการบำรุงกำลังทางเรือแบ่งออกเป็น 2 สกรีมประกอบไปด้วย สกรีมหนึ่งสร้างเรือเล็กสำหรับทำการรบใกล้ฝั่ง สกรีมสองสร้างเรือใหญ่สำหรับทำการรบระยะไกล จำนวนเรือที่กองทัพเรือเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเพียงสกรีมแรกเนื่องจากเกรงว่ารัฐบาลอาจมีงบประมาณไม่เพียงพอ

โครงการบำรุงกำลังทางเรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐบาล เพียงแต่รัฐบาลไม่เห็นด้วยที่กองทัพเรือขอซื้อเรือด้วยวิธีผ่อนจ่าย เกรงว่านานาชาติจะเข้าใจผิดคิดว่าการเงินประเทศไทยไม่ดี รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้เงินคงคลังซึ่งมีเงินสดมากเพียงพอ กำหนดให้ใช้งบประมาณบำรุงกำลังทางเรือ 18 ล้านบาทในเวลา 6 ปี

วันที่ 29 มีนาคม 2477 พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือถูกดันเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาในวันที่ 8 เมษายน 2478 พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือถูกประกาศเป็นกฎหมาย เนื้อหาใจความสำคัญมีแค่เพียง 4 มาตรา ประเด็นสำคัญอยู่ในมาตราที่ 3 ให้ตั้งงบประมาณก้อนหนึ่งเป็นเงิน 18 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงกลาโหมจัดสร้างโครงการบำรุงกำลังทางเรือภายใน 6 ปี และมาตราที่ 4 ให้จ่ายเงินจากเงินงบประมาณปีละ 1 ล้านบาท ที่เหลือให้จ่ายเงินจากเงินคงคลัง

เท่ากับว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้สูตร เงินงบประมาณ 1 ล้านบาท + เงินคงคลัง 2 ล้านบาท = งบประมาณบำรุงกำลังทางเรือเรือ 3 ล้านบาทต่อปี

ข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่สมควรบันทึกเพิ่มเติมก็คือ กองทัพเรือใช้สูตร 1+2= 3 ระยะเวลา 6 ปีในการใช้เงินซื้อเรือ ครั้นถึงเวลาจริงเงินคงคลังจำนวน 12 ล้านถูกใช้หมดสิ้นภายใน 4 ปีแรก เนื่องจากกองทัพเรือมีการปรับเปลี่ยนแผนการจ่ายเงินกับบริษัทสร้างเรือเล็กน้อย ความเปลี่ยนแปลงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งใดรัฐบาลยังคงจ่ายเงินเท่าเดิม

เมื่อพระราชบัญญัติถูกประกาศเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการ กองทัพเรือได้ออกคำสั่งเฉพาะที่ 2/78 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือ ประกอบไปด้วยนายทหารเรือระดับนาวาตรีขึ้นไปจำนวน 13 นาย คณะกรรมการใช้วิธีประกวดราคาและคัดเลือกซื้อเรือ จากบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดแต่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ และอาจแยกซื้อเรือจากบริษัทหนึ่งแต่ซื้ออาวุธจากอีกบริษัท ทั้งนี้เพื่อให้กองทัพเรือได้ใช้อาวุธคุณภาพดีราคาประหยัด ยกตัวอย่างเช่นซื้อเรือตอร์ปิโดจากอิตาลี ซื้อปืนใหญ่จากสวีเดน ส่วนตอร์ปิโดซื้อจากเดนมาร์กและญี่ปุ่น

เมื่อการประกวดราคาได้ผู้ชนะการคัดเลือกครบถ้วนทั้งหมด คณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือจึงสั่งซื้อเรือชนิดต่างๆ ประกอบไปด้วย

1.กรกฎาคม 2478 เรือกวาดทุ่นระเบิดไม่มีอาวุธจากอิตาลีจำนวน 2 ลำ ราคา 583,000 บาท

2.กรกฎาคม 2478 เรือตอร์ปิโดใหญ่ไม่มีอาวุธจากอิตาลีจำนวน 7 ลำ ราคา 3,999,940 บาท

3.สิงหาคม 2478 เรือสลุปไม่มีอาวุธจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ ราคา 1,885,000 บาท

4.พฤศจิกายน 2478 เรือดำน้ำพร้อมอาวุธยกเว้นลูกตอร์ปิโดจากญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำ ราคา 3,280,000 บาท

5.ธันวาคม 2478 เรือปืนหนักพร้อมอาวุธยกเว้นปืนใหญ่ 75 มม.จากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ ราคา 5,726,666 บาท

6.มกราคม 2479 เรือตอร์ปิโดเล็กพร้อมอาวุธจากญี่ปุ่นจำนวน 3 ลำ ราคา 721,154 บาท

7.มีนาคม 2479 เรือลำเลียงไม่มีอาวุธจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ ราคา 676,722 บาท

ราคารวมเรือทุกลำเท่ากับ 16,872,482 บาท

ภาพประกอบที่สามคือเรือหลวงวิรุณในอู่ต่อเรือประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในสี่เรือดำน้ำชุดแรกของราชนาวีไทย

นอกจากเรือชนิดต่างๆ จำนวน 7 แบบยอดรวม 22 ลำ คณะกรรมการได้พิจารณาซื้ออาวุธมาใช้งานเพิ่มเติมประกอบไปด้วย

1.ปืนใหญ่ขนาด 120/45 มม.จำนวน 12 กระบอก ราคา 514,948 บาทใช้ในเรือสลุป

2.ตอร์ปิโดขนาด 45 มม.(แบบ ฉ) จำนวน 80 ลูก และท่อยิงเดี่ยวกับท่อยิงคู่จำนวน 15 ชุด ราคา 1,259,545 บาทใช้ในเรือตอร์ปิโดกับเรือดำน้ำ

3.ปืนใหญ่ขนาด 75/51 มม.(โบฟอร์ส) จำนวน 40 กระบอก ราคา 1,222,402 บาทใช้ในเรือตอร์ปิโดกับเรือปืน

4.ทุ่นระเบิดชนิดทอดประจำที่จำนวน 200 ลูก ราคา 500,000 บาท

5.เครื่องบินทะเลแบบ บรน.1จำนวน 6 ลำ ราคา 229,476 บาท

6.ปืนใหญ่ขนาด 76/25 มม.จำนวน 5 กระบอก ราคา 92,505 บาทติดในเรือตอร์ปิโดเล็กที่จะสร้างเอง

7.ลูกปืน 75/51 มม.และลูกปืนหลอด ราคา 210,000 บาท

8.ตอร์ปิโดขนาด 45 มม.(แบบ ฉ) จำนวน 20 ลูก และท่อยิงคู่จำนวน 8 ชุด ราคา 301,282 บาทใช้ในเรือสลุปกับเรือหลวงพระร่วง

9.เครื่องจักรและหม้อน้ำเรือตอร์ปิโดเล็กจำนวน 3 ชุด ราคา 334,103 บาท (กองทัพเรือต้องการสร้างเอง)

10.สร้างเรือตรวจการณ์ประมงขนาด 50 ตันจำนวน 3 ลำที่กรมอู่ทหารเรือ ราคา 151,815 บาท ประกอบไปด้วยเรือหลวงสารสินธุ เรือหลวงเทียวอุทก และเรือหลวงตระเวนนารี

11.ซื้อเครื่องหนีภัยจากเรือดำน้ำจำนวน 200 ชุด ราคา18,366 บาท

ราคาระบบอาวุธทั้งหมดเท่ากับ 4,834,442 บาท

คณะกรรมการยังได้ซื้ออาวุธชนิดอื่นเพิ่มเติมทว่าผู้เขียนไม่สามารถหาราคาได้ดังนี้

1.ปืนกลแมดเสนขนาด 20 มม.ทั้งรุ่นแท่นเดี่ยวและแท่นคู่

2.หมวกเหล็ก 4,000 ใบ

3.ลูกปืนซ้อมยิงกับลูกสลุตของปืนใหญ่ 120/45 มม.

4.ระเบิดลึกและพาราเวนกวาดทุ่นระเบิดจากญี่ปุ่น

5.ปืนใหญ่สนามขนาด 75/40 มม.สำหรับนาวิกโยธิน (ขอแบ่งจากกองทัพบก)

6.ปืนกลแมดเสนขนาด 8 มม.สำหรับนาวิกโยธินและเรือยามฝั่ง

7.สร้างเรือยามฝั่งเพิ่มเติมจำนวน 3 ลำ โดยกรมอู่ทหารเรือ ประกอบไปด้วยเรือ ร.ย.ฝ.9 ถึง ร.ย.ฝ.11

8.สร้างเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 150 ตันจำนวน 1 ลำโดยกรมอู่ทหารเรือ ได้แก่เรือหลวงปรง กระทรวงกลาโหมออกเงินให้ 75,000 บาทโดยให้ใช้เรือร่วมกับกรมเชื้อเพลิง

ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2478 ถึง 2481 หรือ 4 ปี กองทัพเรือใช้งบประมาณในการพัฒนากำลังรบทางเรือจำนวน 21.7 ล้านบาท รวมอาวุธที่ไม่มีข้อมูลเรื่องราคากับการสร้างอู่แห้งที่กรมอู่ทหารเรือ อาคารสถานที่ คลังเชื้อเพลิงที่สัตหีบ เท่ากับว่ากองทัพเรือใช้เงินประมาณ 23 ล้านบาท เป็นเงินจากพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือเรือจำนวน 16 ล้านบาท บวกเงินจากงบประมาณประจำปีกองทัพเรืออีกประมาณ 7 ล้านบาท

ภาพประกอบที่สี่คือเรือสลุปชั้นเรือหลวงท่าจีนสร้างโดยญี่ปุ่น สังเกตนะครับโครงการสร้างเรือที่กองทัพเรือยื่นให้กับกระทรวงกลาโหมไม่มีเรือชนิดนี้ แต่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลังโดยคณะกรรมการพิจารณาโครงการบำรุงกำลังทางเรือ

นี่คือเบื้องหลังโครงการสร้างเรือหรือ Naval Programme ครั้งแรกของราชนาวีไทย เป็นโครงการระยะยาว 6 ปีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐสภา มีการเพิ่มเติมชนิดเรือเข้ามาจากความต้องการสกรีมแรกของกองทัพเรือ นั่นคือเรือสลุปขนาด 1,400 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ เรือชนิดนี้ทำการรบ 3 มิติได้เหมือนเรือฟริเกตในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถใช้เป็นเรือฝึกให้กับกำลังพลทั้งหลายได้เป็นอย่างดี

นอกจากซื้อเรือชนิดต่างๆ จำนวน 22 ลำเข้าประจำการ กองทัพเรือยังมีโครงการสร้างเรือยามฝั่งและเรือตรวจการณ์ประมงจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีแผนการสร้างเรือตอร์ปิโดเล็กด้วยฝีมือตัวเองจำนวน 3 ลำ ถึงได้จัดหาปืนใหญ่ขนาด 76/25 มม.จำนวน 5 กระบอก กับเครื่องจักรและหม้อน้ำเรือตอร์ปิโดเล็กจำนวน 3 ชุด โครงการนี้ค่อนข้างล่าช้ากว่าจะสร้างเสร็จปาเข้าไปปี 2499 และสร้างเพียงลำเดียวคือเรือหลวงสัตหีบในภาพประกอบที่สอง

โครงการบำรุงกำลังทางเรือเรือประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ทุกอย่างเป็นไปตามแผนการเรือทุกลำถูกส่งมอบตามกำหนดการ ลูกประดู่ไทยสามารถสร้างกำลังทางเรือขนาดใหญ่ในเวลาไม่กี่ปี ผู้เขียนคาดหวังว่าชั่วชีวิตตัวเองจะได้เห็น RTN Naval Programme เกิดขึ้นกับตาสักครั้ง

อ้างอิงจาก

อนุสรณ์นักบินทหารเรือที่เสียชีวิตเมื่อ 17 มีนาคม 2512

https://www.shipscribe.com/thai/images/above.html

https://www.history.navy.mil/

https://web.facebook.com/photo?fbid=2187605524716389&set=pcb.2187606464716295

https://web.facebook.com/photo/?fbid=867927502005009&set=a.511878827609880

 

วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

Operation Naval Arrow

 

สงครามทุ่นระเบิด

        วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2017 สหรัฐอเมริกาออกคำเตือนมายังเรือสินค้าเอกชนทุกลำที่แล่นผ่านทะเลแดง ให้คอยระวังทุ่นระเบิดใต้น้ำกองกำลังกลุ่มกบฏฮูธี ซึ่งแอบลักลอบนำมาวางบริเวณช่องแคบบับเอลมันเดบ เลยมาจนท่าเรือโมกาประเทศเยเมน เพื่อโจมตีเรือทุกลำที่ดันทะเล่อทะล่าวิ่งเข้าใกล้ เป็นการเอาคืนเรื่องพ่ายแพ้สงครามอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบกับเรือพิฆาตสหรัฐอเมริกาแบบสู้กันไม่ได้

        วันที่ 8 มีนาคม 2017 เรือประมงลำหนึ่งแล่นชนทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำรอยต่อระหว่างเยเมนกับซาอุดีอาระเบีย ทุ่นระเบิดคาดว่ามาจากอิหร่านทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย เรือประมงเสียหายอย่างหนักและจมลงสู่ก้นทะเลในเวลาต่อมา

        วันที่ 10 มีนาคม 2017 เรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งเยเมนลำหนึ่ง แล่นชนทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำประเทศตัวเอง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 รายบาดเจ็บอีก 8 ราย เรือเกิดความเสียหายอย่างหนักต้องใช้เรือลำอื่นช่วยลากจูงเข้าฝั่ง

        กลุ่มกบฏฮูธีออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อทั้งสองเหตุการณ์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเคลมเป็นผลงานตัวเองโดยไม่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ

        วันที่ 25 มีนาคม 2017 กองเรือกวาดทุ่นระเบิดกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียประกอบไปด้วย เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Sandown จำนวน 3 ลำ สร้างจากประเทศอังกฤษติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยเต็มลำ ออกปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิดในทะเลแถบน่านน้ำเมืองโมกา โดยมีเจ้าหน้าที่เยเมนร่วมทำภารกิจจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางการคุ้มกันจากเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีและเรือคอร์เวตกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียจำนวนหลายลำ

        กองเรือกวาดทุ่นระเบิดกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียสามารถตรวจพบและเก็บกู้ทุ่นระเบิดจำนวนมาก ทุ่นระเบิดส่วนใหญ่สภาพค่อนข้างเก่าแต่ยังคงใช้งานได้ ถูกออกแบบให้ปล่อยจากเรือดำน้ำหรือเครื่องบิน ก่อนถูกดัดแปลงให้สามารถปล่อยจากเรือผิวน้ำขนาดเล็ก เหตุผลก็คือกลุ่มกบฏฮูธีไม่มีเรือดำน้ำหรือเครื่องบินขนาดใหญ่

        สงครามทุ่นระเบิดเกิดขึ้นทั้งในน่านน้ำและบนแผ่นดินประเทศเยเมน กองทัพเรือซาอุดีอาระเบียทำภารกิจกวาดทุ่นระเบิดเป็นงานประจำ แม้เป็นทุ่นระเบิดรุ่นเก่าทว่าฤทธิ์เดชไม่เก่าตามอายุ ส่งผลให้พวกเขามีประสบการณ์สงครามทุ่นระเบิดมากที่สุดชาติหนึ่ง

        หลังจากวันนั้นกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียยังกวาดทุ่นระเบิดต่อไปเรื่อยๆ เพราะมีค่อนข้างมากส่งผลให้เรือหลายลำโดนลูกหลง รัฐบาลเยเมนในตอนนั้นรู้สึกกระดากอายประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาหันมาปรึกษากับอเมริกาเพื่อนผู้แสนดีจากแดนไกล ต่อมาในวันที่ 16 เมษายน 20167 กองทัพเรือเยเมนเริ่มปฏิบัติการธนูทะเลหรือ Operation Naval Arrow เพื่อตรวจจับและเก็บกวาดทุ่นระเบิดกลุ่มกบฏฮูธีให้หมดสิ้นจากน่านน้ำ

        เยเมนมีเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Yevgenia จำนวน 2 ลำ และชั้น Natya จำนวน 1 ลำ เรือจากโซเวียตทั้ง 3 ลำอายุรวมกันประมาณ 150 ปี พวกเขาจำเป็นต้องรีบจัดหาเรือชนิดอื่นเข้ามาเสริมทัพ โดยการติดตั้งอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิดรุ่นใหม่ทันสมัยที่อเมริกาให้ยืม ตามแนวคิดสุดโต่ง เรือทุกลำเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดได้อย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้ง

Operation Naval Arrow ประสบความสำเร็จเท่าที้รัฐบาลเยเมนสามารถทำได้ ภายในสองสัปดาห์พวกเขาทำลายทุ่นระเบิดจำนวนมากถึง 86 นัด แต่ถึงกระนั้นภัยคุกคามจากอาวุธสมัยสงครามโลกยังไม่สิ้นสุดแค่เพียงเท่านี้

        วันที่ 1 พฤษภาคม 2017 เรือประมงลำหนึ่งแล่นชนทุ่นระเบิดลูกหนึ่ง เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงคร่าชีวิตลูกเรือจำนวน 1 ราย ทางการเยเมนแจ้งว่าเป็นทุ่นระเบิดดัดแปลงที่ยังเก็บกู้ไม่หมด ไม่ก็เรือขนาดเล็กของกลุ่มกบฏฮูธีลักลอบนำมาวางเพิ่มเติม

ตลอดปี 2017 มีการตรวจพบทุ่นระเบิดในทะเลแดง และค่อยๆ เลือนหายในปีถัดไปจนกระทั่งแทบไม่มีรายงานความเสียหาย ทั้งนี้เนื่องมาจากกลุ่มกบฏฮูธีครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมนสำเร็จ ปัจจุบันภัยคุกคามหลักถูกปรับเปลี่ยนเป็นอากาศยานไร้คนติดระเบิด อาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้นระยะไกล และขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่กลุ่มกบฏฮูธีได้รับเทคโนโลยีบวกความช่วยเหลือจากประเทศอิหร่าน

หมายเหตุ

ภาพประกอบที่ 1 ถึง 3 คือกองเรือกวาดทุ่นระเบิดกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียขณะฝึกซ้อม Gulf Shield 1 ประกอบไปด้วยเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Sandown กับเรือคอร์เวตชั้น Badr บนท้องฟ้ามีเฮลิคอปเตอร์ Super Puma สำหรับรับส่งเจ้าหน้าที่หน่วย EOD

ขณะปฏิบัติการจริงมีหารจัดกำลังทางเรือแบบนี้เลย เหตุผลที่ต้องมีเรือคุ้มกันเพราะอยู่ในเขตพื้นที่อันตราย ภัยคุกคามในช่วงนั้นคืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Noor หรือ C-802 เวอร์ชันอิหร่าน ทว่าเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างต่ำเนื่องจากเรือพิฆาตอเมริกาเผด็จหมดแล้ว ภัยคุกคามอันดับสองคือเรือยางพลีชีพติดระเบิดขนาดเล็ก ซึ่งกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียใช้ปืนกล 12.7 มม.ไล่ยิงเหมือนยิงเป็ดได้รับชัยชนะเด็ดขาดในเวลาต่อ

ทั้งเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Al Sadiq และเรือคอร์เวตชั้น Badr สร้างโดยสหรัฐอเมริกา มีปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ใช้งานบนเรือ โดยที่ลำหลังติดตั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.46 เพิ่มเติมเข้ามา จึงมีทั้งความคล่องตัวและความเหมาะสมมากกว่าเรือฟริเกตสร้างโดยฝรั่งเศสทั้งสองรุ่น ซาอุดีอาระเบียมีเรือชั้น Al Sadiq จำนวน 9 ลำบวกเรือชั้น Badr อีก 4 ลำ มากเพียงพอในการคุ้มกันเรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวน 3 ลำ

ภาพประกอบสุดท้ายคือการกู้ทุ่นระเบิดของจริงในทะเลแดง ในภาพเข้าใจว่าทุ่นระเบิดหลุดจากจุดติดตั้งจึงลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ เห็นแบบนี้เรือลำไหนทะเล่อทะล่าเข้ามามีหวังซวยยกแผง จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่หน่วย EOD เข้าไปตรวจสอบและเก็บกู้ขึ้นสู่ฝั่ง

การเก็บกู้ทุ่นระเบิดในทะเลแดงปี 2017 ใหญ่โตที่สุดในยุคปัจจุบัน เป็นสิ่งบ่งบอกชัดเจนถึงความสำคัญกองเรือกวาดทุ่นระเบิด อนาคตถ้าสงครามทุ่นระเบิดในทะเลแดงร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง ซาอุดีอาระเบียอาจหาตัวช่วยอาทิเช่นใช้ระบบ Mission Module บนเรือคอร์เวต Avante 2200 ซึ่งตัวเองมีประจำการจำนวน 5 ลำ

อ้างอิงจาก

https://thaimilitary.blogspot.com/2017/06/royal-saudi-navy-part-ii-yemen-civil-war.html

https://maritime-executive.com/article/saudi-forces-find-more-naval-mines-off-yemen

https://www.arabnews.com/node/995271/ajax/spa/page_action/aggregate

https://katehon.com/ar/news/hdth-khtyr-fy-bhr-lkhlyj-lyl-byn-yrn-wmryk


 

วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2567

Project SAM-X0

 

จรวดธนูฟ้า

วันที่ 29 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการฝึกร่วม 25 บริเวณเขาอีด่าง จังหวัดปราจีนบุรี มีการจัดแสดงอาวุธและอำนาจการยิงจากสามเหล่าทัพ เพื่อโชว์แสนยานุภาพส่วนหนึ่งของกองทัพไทยให้ประชาชนชาวไทยเกิดความอุ่นใจว่า ทหารไทยสามารถปกป้องอธิปไตยจากการรุกรานของข้าศึกต่างชาติ

ในการแสดงอำนาจการยิงครั้งนี้ กองทัพอากาศโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาอาวุธยุทธภัณท์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทัพอากาศ หรือ วพย.ศวท.ทอ.นำผลสำเร็จจากการพัฒนาจรวดมาแสดงและทดสอบยิงต่อหน้าผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายทหารระดับสูงจากกองบัญชาการทหารสูงสุด นายทหารระดับสูงจากสามเหล่าทัพ ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน ผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ ตลอดจนประชาชนจำนวนรวมประมาณหนึ่งหมื่นคน

การแสดงอำนาจการยิงของจรวดที่ วพย.ศวท.ทอ.พัฒนาขึ้นนั้น นาวาอากาศเอก มรกต ชาญสำรวจ รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รายงานต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะประธานการแสดงอาวุธและอำนาจการยิงดังนี้

ภารกิจการยิงสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกด้วยอาวุธภาคพื้นดินเป็นสิ่งจำเป็น แม้กองทัพอากาศจะมีเครื่องบินขับไล่คอยสกัดกั้นข้าศึก และสามารถทำลายเครื่องบินข้าศึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เครื่องบินข้าศึกส่วนหนึ่งอาจบินฝ่าการสกัดกั้นเข้าสู่พื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายทางทหาร จึงเป็นหน้าที่กองกำลังภาคพื้นดินกองทัพอากาศต้องต่อสู้กับเครื่องบินข้าศึก กองทัพอากาศจึงได้พัฒนาอาวุธจรวดพื้นสู่อากาศขึ้นมาใช้งาน เพื่อยิงสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกทั้งในระดับต่ำ ระดับปานกลาง และระดับสูง

การยิงจรวดพื้นสู่อากาศที่กองทัพอากาศพัฒนาเองทั้งหมดนั้น นอกจากเป็นการทำลายเครื่องบินข้าศึกโดยตรงแล้ว ยังสามารถยิงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กว้างเป็นฉากกั้น เพื่อลดขีดความสามารถการเข้าโจมตีของเครื่องบินข้าศึกได้อีกหนึ่งทาง วิธียิงจรวดพื้นสู่อากาศเป็นฉากกั้นนับเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่ง สามารถจำกัดการเข้าโจมตีของเครื่องบินข้าศึก และบังคับให้ข้าศึกโจมตีในทิศทางและระดับความสูงตามที่ฝ่ายเราต้องการ อาวุธจรวดพื้นสู่อากาศที่กองทัพอากาศทำการวิจัยและพัฒนาเป็นผลสำเร็จ เมื่อนำมาใช้งานทางยุทธวิธีที่เหมาะสมแล้ว จะทำให้กองทัพไทยสามารถยับยั้งการโจมตีของเครื่องบินข้าศึกราคาแพง ด้วยอาวุธจรวดราคาถูกที่เราวิจัยและพัฒนาด้วยตัวเอง

การแสดงอานุภาพการยิงอาวุธจรวดพื้นสู่อากาศที่วพย.ศวท.ทอ.วิจัยและพัฒนาขึ้นมาใช้งาน กองทัพอากาศสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชมด้วยการยิงจรวดเห่าฟ้า-1 ซึ่งเป็นจรวดชนิดหางเลื่อนจากฐานยิง 32 นัดจำนวน 3 ฐานรวมจำนวนรวม 44 นัด นั้น นาวาอากาศเอก มรกต ชาญสำรวจ เปิดเผยว่าอำนาจการยิงของจรวดเห่าฟ้า-1 ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 2,600 ตารางเมตร อำนาจทำลายรัศมีทรงกลมโดยรอบประมาณ 30 เมตรหรือเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เมตร สามารถยิงเป็นฉากสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกที่ระดับความสูง 4,000 ถึง 6,000 ฟุต

รายการถัดไปคือการทดสอบยิงจรวดเห่าฟ้า-2 ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงจรวดเห่าฟ้า-1 ต่างกันก็เพียงจรวดเห่าฟ้า-2 ถูกพัฒนาให้มีความทันสมัยมากกว่าเดิม โดยออกแบบให้ระหว่างเดินทางหางจรวดนิ่งกว่าเดิมส่วนตัวจรวดจะหมุนแทน  ลักษณะเช่นนี้จะทำให้จรวดเห่าฟ้า-2 มีความแม่นยำมากขึ้น ในการทดสอบจรวดเห่าฟ้า-2 ใช้ฐานยิงบรรจุ 20 นัดจำนวน 3 ฐาน จำนวนรวมจรวดเห่าฟ้า-2 ที่ใช้ยิงทดสอบเท่ากับ 60 นัด

การทดสอบรายการปิดท้ายคือจรวดธนูฟ้า ซึ่งถูกออกแบบให้ยิงสกัดกั้นเป้าหมายระดับความสูงตั้งแต่ 16,000 ฟุตจนถึง 20,000 ฟุต จรวดธนูฟ้าเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าควรค่าแห่งความภูมิใจ เพราะเป็นจรวดขนาดมาตรฐานขนาด 2.75 นิ้วเหมือนประเทศอื่น กองทัพอากาศทำการวิจัย พัฒนา และสร้างเองทั้งหมด โดยมิได้อาศัยวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศนอกจากวัตถุดิบบางอย่างที่จำเป็นต้องนำเข้า นับเป็นจรวดแบบมาตรฐานโลกที่คนไทย (วพย.ศวท.ทอ.) พัฒนาและสร้างเองทั้งหมดทุกชิ้นส่วน

จรวดธนูฟ้าหนัก 18.3 ปอนด์ ยาว 4.8 นิ้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.75 นิ้ว ระยะยิงไกลสุด 5 ไมล์หรือ 8 กิโลเมตร น้ำหนักหัวรบ 6.5 ปอนด์ ใช้ชนวนแตกอากาศเริ่มทำงานเมื่อยิงออกไปได้ประมาณ 10-15 วินาที ใช้ฐานยิงบรรจุ  4 นัดขนาดเล็กกะทัดรัด

ก่อนหน้านี้โครงการพัฒนาจรวดธนูฟ้าถูกตั้งชื่อว่า แซม-เอ็กซ์โอ ใช้เวลาวิจัยและพัฒนาประมาณ 10 เดือนกระทั่งประสบความสำเร็จเข้าสู่สายการผลิต จรวดธนูฟ้าเป็นจรวดชนวนแตกอากาศที่ระดับความสูง 16,000 ถึง 20,000 ฟุต ใช้หัวรบชนิดฟรักเมนเตชัน (Fragmentation) บรรจุเม็ดโลหะให้ความร้อนสูงถึง 3,300 องศาเซลเซียส เม็ดโลหะจำนวนมากในหัวรบจะแตกกระจายในวงกว้าง เมื่อสำผัสโดนลำตัวเครื่องบินเม็ดโลหะจะเกิดไฟลุกไหม้ทันที

จรวดธนูฟ้าแต่ละนัดสามารถครอบคลุมพื้นที่มากถึ ง 18,000 ตารางเมตร อำนาจทำลายรัศมีทรงกลมโดยรอบประมาณ 50 เมตรหรือเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 เมตร สามารถยิงเป็นฉากสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกที่ระดับความสูง 4,000 ถึง 6,000 ฟุต อำนาจการทำลายจึงเหนือกว่าทั้งจรวดเห่าฟ้า-1 และจรวดเห่าฟ้า-2

       หมายเหตุ : โครงการจรวดเห่าฟ้าถูกพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นจรวดเห่าฟ้า-5 MOD 1 ใช้ขนาด 2.75 นิ้วแบบมาตรฐานโลกเหมือนจรวดธนูฟ้า ส่วนจรวดธนูฟ้าเงียบหายไปเลยไม่มีผลการทดสอบครั้งใหม่ ผู้เขียนคาดเดาเอาเองว่าจรวดธนูฟ้ากลายร่างเป็น จรวดเห่าฟ้า-5 MOD 1 ในปี 2529 เพียงแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนช่วยในการยืนยันข้อมูล

++++++++++++++++

 

อ้างอิงจาก : นิตยสารสงคราม ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม 2525


วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2567

SK 105 Kürassier

 

การทดสอบรถถัง SK 105 ในประเทศไทย

ผู้เขียนมีบทความจากนิตยสารสงครามปี 2527 มาฝาก เป็นข้อมูลการทดสอบรถถัง SK 105 ในประเทศไทย ในฐานะแฟนพันธุ์แท้ตัวจริงผู้เขียนอยากนำมาเผยแพร่ต่อ โดยไม่มีการตัดเนื้อหานอกจากปรับปรุงเล็กน้อย  (ใช้ชื่อรุ่นถังเป็นภาษาอังกฤษล้วน) เพื่อให้ผู้อ่านซึ่งคนเป็นคนรุ่นใหม่ได้รับรู้เรื่องราวในอดีต กาลครั้งหนึ่งรถถังชนิดนี้เคยเข้ามาทดสอบในเมืองไทย

ไม่พูดพร่ำทำเพลงตัดเข้าสู่เนื้อหาบทความกันเลย

++++++++++++++++

นับตั้งแต่ปี 2525 ท่านผู้อ่านคงพอจำกันได้ว่า นิตยสารสงครามเล่มประจำวันที่ 20 เมษายน 2525 ได้แนะนำรถถังชนิดหนึ่งซึ่งมีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ปรากฏว่าข่าวชิ้นนี้สร้างความฮือฮาต่อวงการทหารม้าและบรรดาพ่อค้ารถถัง คุณลักษณะเด่นของรถถังชนิดนี้ก็คือ มีน้ำหนักเบากว่ารถถังรุ่นอื่นที่ติดตั้งปืนใหญ่ 105 มม.เหมือนกัน ผลจากการทดสอบที่ชายแดนประเทศกัมพูชาและด้านลาว ยังสร้างความประหลาดใจต่อผู้ทดสอบเป็นอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่ของการทดสอบลักษณะเป็นที่ลุ่ม เป็นบ่อและเป็นคลอง ขนาดรถถังของไทยคือ M-41 ยังเอาตัวแทบไม่รอด แต่รถถังชนิดที่ผมจะพูดถึงสามารถผ่านการทดสอบได้สบาย

พูดถึงตอนนี้พาลนึกไปถึงตอนที่เวียดนามเอา T.54 บุกเข้ามาทางช่องเขาพระพลัย ขนาดพี่ไทยเราเอา M-41 ไปวิ่งก็ย่ำแย่อยู่แล้วเพราะน้ำหนักตั้ง 23 ตันกว่า ส่วนที่เวียดนามเอา T.54 บุกเข้ามาถึง 1 กองร้อยรถถัง เข้ามาเลยรับรองเสร็จเราแน่ทั้งกองร้อย ไม่ใช่โดนกระสุนปืนใหญ่หรือจรวดต่อสู้รถถังอย่างเดียวหรอก แต่ติดหล่มจมโคลนพี่ไทยวิ่งไม่ออกแน่นอน T.54 ปาเข้าไปตั้ง 36.5 ตันจะมีปัญญาอะไรวิ่งเข้ามาได้…จมลูกเดียว

SK 105 คือรถถังเบาที่สุด เหมาะสมสำหรับประเทศไทยมากที่สุด นี่คือคำพูดของนิตยสารสงครามเมื่อปี 2525 นิตยสารสงครามเป็นเพียงฉบับเดียวที่ได้รับเอกสารจากบริษัท สไตเออร์-เดมเลอร์-ปุ๊ค อาเก้ พูดง่ายๆ ว่าเราเป็นนิตยสารภาษาไทยฉบับแรกที่ตีพิมพ์เรื่องราวของรถถัง SK 105 นับจากนั้นเป็นต้นมาเรื่องราวก็เงียบมาโดยตลอด จนถึงปลายปี 2526 ชื่อรถถังชนิดนี้จึงเริ่มได้ยินอีกครั้ง เพราะออสเตรียนำเข้ามาทดสอบในประเทศไทย ให้รู้ดำรู้แดงเสียที ที่เขาบอกว่าเหมาะสมนั้นเหมาะสมจริงหรือไม่

มีเหตุผลบางอย่างที่ชัดเจนว่าจะทำให้พ่อค้าอาวุธ ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายขายมีอยู่มากมายหลายบริษัทในไทย ได้นำรถถังของตัวเองเข้ามาทดสอบ เหตุผลดังกล่าวนั้นคือมีข่าว (บรรดาข่าวลือ) ออกมาว่า กองทัพบกจะจัดหารถถังแบบใหม่เข้าประจำการ แต่ผมได้ยินมาจากคุณอัคฤทธิ์ซึ่งเป็นผู้ประสานงานฝ่ายขายรถถัง SK 105 พูดว่า ‘ยังไม่มีหน่วยไหน กรมไหน หรือกองทัพไหนประกาศออกมาว่าจะซื้อรถถัง อาจเป็นเพราะสถานการณ์ด้านชายแดนตูมตามอยู่ในขณะนี้ จึงมีข่าวลือออกมาว่ากองทัพบกมีความจำเป็นต้องการรถถังไว้ปฏิบัติการบริเวณชายแดน ในเมื่อคนอื่นเขานำเข้ามาทดสอบผมก็นำเข้ามาทดสอบบ้าง เผื่อเขาจะซื้อจริงๆ ผมจะได้สิทธิ์ขายของผมบ้าง’

นี่เป็นคำกล่าวที่ได้รับฟังในวันทดสอบรถถัง SK 105 เมื่อกลางเดือนที่แล้ว

เป็นที่ทราบกันดีในบรรดาพ่อค้าอาวุธทุกราย นโยบายหลักของกองทัพบกที่จะจัดซื้ออาวุธใดๆ ก็ตาม จะต้องอยู่ในนโยบาย 2 ประการใหญ่ๆ ก็คือ

1.ซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จะไม่มีพ่อค้าคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง และจำนวนเงินในการจัดหาเป็นแบบเครดิต

2.อุปกรณ์หรือยุทโธปกรณ์ใดๆ ก็ตามที่จะจัดหา จะต้องมีความเหมาะสมกับภูมิประเทศของเราเป็นอย่างยิ่ง ใครจะว่าของดีมาจากไหนก็ไม่สนใจ หรือมีใช้งานทั่วโลกก็ไม่สนใจ แต่ที่แน่ๆ ต้องมาเจ๋งในเมืองไทย คือต้องเข้ามาทดสอบในภูมิประเทศเราให้ดูเสียก่อน อันไหนเหมาะสมและดีที่สุดถึงจะสนใจ

ในเมื่อมีข่าวลือออกมาอย่างนี้ บรรดาพ่อค้ารถถังทั้งหลายแหล่จึงเริ่มทยอยนำรถถังของตัวเองเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อทำการทดสอบให้เห็นสมรรถนะสินค้าของตัวเอง เขาเอามาให้ทดสอบฟรีๆ ไม่ต้องจ่ายอะไร แถมยังมีค่าเหนื่อยที่เป็นธรรมแต่ไม่เต็มอิ่มให้แก่ทหารผู้ทำการฝึกทดสอบ รายแรกทุกท่านคงทราบข่าวไปแล้ว Vickers Mark 3 รถถังที่สร้างในอังกฤษ แต่ไม่มีเข้าประจำการในกองทัพต่างๆ ของอังกฤษ ขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณา

อันดับสองเป็นคิวของ SK 105 ยกขบวนมาทั้งตระกูล ประกอบไปด้วย ยานเกราะกู้ภัย ยานลำเลียงพล และรถถัง SK 105 ทั้งหมดจำนวน 3 คัน ก่อนรถทั้ง 3 คันจะเยื้องย่างเข้าสู่ประเทศไทย ได้ไปโชว์ลวดลายที่อินโดนีเซียจนคนเขารู้กันทั้งเมือง ใช้ระยะทางในการทดสอบมากกว่าสองพันกิโลเมตร ขณะนี้อินโดนีเซียกำลังเตรียมตัวจัดหารถถัง SK 105 เข้าประจำการ หรือกำลังรวบรวมเงินอยู่ก็ได้ว่าจะซื้อสักกี่กองร้อย เพราะรถถัง SK 105 ราคาเบ็ดเสร็จตกประมาณคันละ 21 ล้านบาทเท่านั้น ที่ผมเขียนว่าเท่านั้นคือเอามาเปรียบเทียบกับราคารถถัง M-48 A5 ที่ปู่เรแกนให้เป็นยาหอมถึง 40 ขวด ประมาณขวดละ 17 ล้านบาทยังไม่รวมค่าปรับปรุงใหม่ ถ้าคิดจะซื้อแบบมือสองผมว่าเพิ่มเงินอีกสักหน่อย ถอยมาจากอู่ซิงๆ ไม่ดีกว่าหรือ

ภายหลังจากสิ้นสุดภารกิจที่อินโดนีเซีย SK 105 ก็มุ่งหน้าเข้าสู่ประเทศไทย ปลายเดือนพฤศจิกายน 2526 เริ่มการทดสอบที่สระบุรีเป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นจึงยกให้ พล.ม.2 นำไปทดสอบในภูมิประเทศจริง ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อชายแดนประเทศกัมพูชา ผลการทดสอบออกมาว่า SK 105 สามารถผ่านได้ทุกพื้นที่ โดยใช้เวลาในการทดสอบที่อรัญประเทศ 1 เดือนเต็ม ต่อจากนั้นจึงให้ พล.ม.1 นำไปทดสอบอีก 1 เดือนในพื้นที่อำเภอนาแห้ว จังหวัดน่าน ติดชายแดนประเทศลาว และในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กระทั่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2527 ที่ผ่านมา

คำพูดจากผู้ทำการทดสอบ ‘น่าทึ่งมากครับสำหรับรถถังคันนี้ เหมาะสมสำหรับภูมิประเทศบ้านเรา เพราะที่ดินในประเทศเราส่วนมากเป็นที่ลุ่ม ดินมีความอ่อนตัวมาก รถถังที่มีน้ำหนักมากไปมักไม่ค่อยรอด ขนาดตอนที่ผบ.พล.ม.1 ผู้บัญชาการผม ให้ผมนำรถถัง SK 105 ลงไปในเลนหลังกองบัญชาการลึกเกือบหนึ่งเมตรครึ่ง ผมพูดกับพี่ตรงๆ เลยนะครับ มีการได้เสียกันเลยว่าจะรอดหรือไม่รอด ท้ายที่สุดเจ้ารถถังซึ่งมีน้ำหนัก 17.5 ตันขึ้นมาจากเลนได้โดยไม่มีปัญหา

การซ่อมบำรุงผมว่าสะดวกดีเพราะเป็นรถตระกูลเดียวกันทั้งหมด เครื่องของเขาก็อึดดีตั้งแต่นำเข้ามาทดสอบไม่มีอะไรขัดข้อง ไอ้หรั่งที่มากับรถบอกผมว่าที่อินโดนีเซียก็ไม่มีปัญหาอะไร สรุปแล้วใช้ระยะการทดสอบประมาณเกือบๆ ห้าพันกิโลเมตร ก็ยังไม่เห็นสิ่งบกพร่องของเครื่องยนต์รถถังคันนี้

ส่วนความแม่นยำปืนใหญ่รถถัง105 มม.ติดตั้งบน SK 105 ที่ระยะหวังผล 1.5 กิโลเมตรสูงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ การทดสอบที่สระบุรีพูดได้ว่ากระสุนเข้าเป้าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ผู้การกรมเป็นผู้ลงมือยิงนัดแรกด้วยตัวเอง เหตุผลที่พลาดอาจเป็นเพราะความตื่นเต้น แต่พอนัดที่สองเป็นต้นมากระสุนเข้าเป้าทุกนัด’

ครับ…ที่ผมเขียนมาทั้งหมดคือเรื่องราวรถถัง SK 105 ซึ่งมาพัวพันกับกองทัพบกไทย อนึ่งเมื่อปี 2522 รัฐบาลออสเตรียได้เชิญทหารม้าของไทยหลายท่านไปทดสอบรถถังชนิดนี้ ที่ประเทศตัวเองบริเวณพื้นที่ติดชายแดนยูโกสลาเวีย ผลการทดสอบยังเป็นที่ประทับใจของทหารหนุ่มไทยจวบจนถึงทุกวันนี้ รายละเอียดผมจะไม่พูดถึงเพราะเคยลงให้อ่านแล้วหนึ่งครั้ง ถ้ากองทัพบกเราคิดจะมีรถถังชนิดนี้เข้าประจำการ ค่อยอ่านกันอีกครั้งนะครับ…สวัสดี

++++++++++++++++

จากบทความผู้เขียนสามารถสรุปความได้ว่า

1.ระหว่างปี 2526 พ่อค้าอาวุธจะนำรถถังเข้ามาทดสอบในประเทศแบบฟรีๆ มีเบี้ยเลี้ยงให้กับทหารผู้เข้าร่วมการทดสอบในระดับเหมาะสม

2.มีการทดสอบรถถัง SK 105 ในประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือนกว่า ระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร

3.ก่อนมาประเทศไทยรถถัง SK 105 ไปทดสอบที่อินโดนีเซีย ระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร

4.รถถัง SK 105 หนัก 17.5 ตัน ส่วน M-41 หนัก 23 ตัน และ T-54 หนัก 36.5 ตัน

5.รถถัง SK 105 คันละ 21 ล้านบาท ส่วน รถถังมือสอง M-48 A5 ราคา17 ล้านบาทยังไม่รวมค่าปรับปรุง

6.โครงการนี้กองทัพบกจัดหารถถัง Commando Stingray จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 106 คัน แบ่งเป็นรถถังบังคับการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารพิเศษจำนวน 26 คัน กับรถถังลูกแถวจำนวน 80 คัน มูลค่ารวมทั้งโครงการเท่ากับ 4,136 ล้านบาทหรือคันละประมาณ 39 ล้านบาท เป็นชาติแรกและชาติเดียวที่ใช้งานรถถังเบาจากบริษัทคาดิแลคเกจ

7.รถถัง SK 105 มีใช้งานจำนวน 8 ประเทศ ยอดผลิตรวมเท่ากับ 784 คัน

เรื่องราวน่าสนใจจากในอดีตเป็นอันสิ้นสุดเพียงเท่านี้…สวัสดี

++++++++++++++++

อ้างอิงจาก : นิตยสารสงคราม ปีที่ 6 ฉบับที่ 210 วันที่ 10 พฤษภาคม 2527