วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

The Original Harrier

แฮริเออร์หมายเลขหนึ่ง

            เรือบรรทุกเครื่องบินคือสุดยอดเรือรบอันดับหนึ่งตลอดกาล สามารถแบกเครื่องบินรบไปได้ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ด้วยขนาดอันใหญ่โตป้องกันตัวเองได้น้อยนิด จำเป็นต้องมีกองเรือคุ้มกันทั้งบนผิวน้ำและใต้ผิวน้ำ ประเทศขนาดใหญ่ล้วนต้องการเรือรบชนิดนี้ แต่ต้องใช้เงินในการจัดหาและซ่อมบำรุงก้อนโตมหึมา จึงมีเพียงไม่กี่ชาติที่ได้ครอบครองฐานทัพเคลื่อนที่
                อังกฤษมีเรือบรรทุกเครื่องบินมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และอังกฤษนี่เองที่ได้ค้นคิดแบบเรือ 1942 Design Light Fleet Carrier ขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการสร้างเรือชั้น Colossus จำนวน 10 ลำ และเรือชั้น  Majestic ที่ทันสมัยขึ้นจำนวน 6 ลำ หลังสงครามสิ้นสุดเรือตระกูลนี้เป็นปัญหาใหญ่โต จำนวนเรือมากเกินไปจนดูแลไม่ทั่วถึง ไหนจะต้องสร้างประเทศขึ้นใหม่อย่างเร่งด่วน ทั้งยังต้องการต่อเรือรุ่นใหม่ทันสมัยกว่าเดิม รองรับภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ที่เริ่มใหญ่โต
                เรือส่วนใหญ่ถูกขายต่อไปยังอาเจนติน่า ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ บ้างก็เป็นเรือมือสองบ้างก็เป็นเรือมือสาม ผลลัพท์ตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจก็คือ เรือบรรทุกเครื่องบินได้รับความนิยมไปทั่วโลก เนื่องจากขนาดไม่ใหญ่แต่ใส่เครื่องบินได้มาก สู้ค่าใช้จ่ายทั้งของเรือและเครื่องบินได้อยู่ ประเทศที่ว่ามาจึงไม่ลังเลใจเมื่อมีโอกาส
                ยกตัวอย่างเรือชื่อ HMS  Majestic ปล่อยลงน้ำในปี 1945 ถูกขายต่อให้ออสเตรเลียในปี 1955 และเปลี่ยนชื่อเป็น HMAS Melbourne ระวางขับน้ำเต็มที่ 20,000 ตัน ยาว 213.97 เมตร กว้าง 24.38 เมตร ประจำการเครื่องบินขับไล่ Sea Fury และเครื่องบินโจมตีปราบเรือดำน้ำ Fairey Gannet ซึ่งเป็นเครื่องบินใบพัดจากอังกฤษทั้งคู่ จากนั้นได้เปลี่ยนมาเป็นเครื่องบินขับไล่ไอพ่น Sea Venom และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ Wessex จากอังกฤษเช่นเคย กระทั่งในปี 1967-1969 ได้มีการปรับปรุงเรือครั้งใหญ่ตลอดลำ รองรับเครื่องบินโจมตีอเนกประสงค์ A-4 Skyhawk และเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ S-2 Trakcer จากอเมริกาบ้าง HMAS Melbourne ปลดประจำการในปี 1982 อายุใช้งานอยู่ที่ 37 ปีกับอีกนิดหน่อย เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำสุดท้ายของออสเตรเลีย และเป็นเพื่อนสาวนางเอกในนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน (เครื่องบินอังกฤษ 1 รุ่น ออสเตรเลียอีก 3 รุ่น)

เครื่องบินรบ 3 แบบจากดินแดนเมืองจิงโจ้ ลำบนสุดคือ Fairey Gannet ลำล่างซ้ายมือคือ Sea Venom ลำล่างขวามือคือ A-4G Skyhawk ที่หลังไม่ค่อม ส่วนผู้ชายอาบแดดถือเป็นของแถมแล้วกัน ;)
พัฒนาการและสิ่งที่ต้องเผชิญ
                จากหนังตัวอย่างคงพอมองเห็นได้ว่า เครื่องบินประจำการบนเรือมีพัฒนาการที่เร็วกว่าเรือ โดยเฉพาะช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุคใบพัดกับยุคไอพ่น เครื่องบินแต่ละรุ่นใช้งานได้ 10 ปีก็ล้าสมัย ปัญหาข้อนี้กองทัพเรืออังกฤษก็โดนเช่นกัน และโดนหนักกว่าจนผู้เขียนนำมาแต่งเป็นซีรี่ย์ 3 ตอนจบ เกริ่นนำนานไปหน่อยเข้าเนื้อเรื่องกันเลยดีกว่า
                หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดไม่นาน สงครามเกาหลีได้เข้ามาแทนที่แบบปุบปับ อังกฤษส่งเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าร่วมสงครามเช่นกัน โดยมีบินขับไล่ไอพ่น Sea Venom และเครื่องบินโจมตี Sea Fury เป็นไม้เด็ดไพ่ตาย ผลลัพท์ก็คือตกม้าตายกันทั้งกองทัพ เมื่อทำภารกิจต้องให้เครื่องบินบนฝั่งช่วยคุ้มกัน เพราะ Sea Fury โดน Mig-15 ไล่ยิงกระหน่ำเหมือนล่าเป็ด ส่วน Sea Venom ป้องกันตัวเองยังแทบไม่ได้ ความเร็วในการบินไต่แตกต่างกัน 2 เท่าตัว
                หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดลงแล้ว กองทัพเรืออังกฤษได้พัฒนาปรับปรุงจุดอ่อนทั้งหลายทั้งปวง เข้าสู่ยุค 1960 พวกเขามีเรือชั้น Audacious ขนาด 50,000 ตันจำนวน 2 ลำ เรือชั้น Centaur ขนาด 27,000 ตันจำนวน 4 ลำ โดยมี 1 ใช้บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ให้กับนาวิกโยธิน (เรียกว่า Commando Carrier) รวมทั้งเรือสมัยสงครามโลกชั้น Illustrious ขนาด 30,000 ตันอีกจำนวน 1 ลำ จำนวนรวมเท่ากับ 7 ลำพอดิบพอดี เยอะพอสมควรแม้จะเล็กไปบ้างก็ตาม
                อากาศยานประจำเรือในเวลานั้น ประกอบไปด้วยเครื่องบินขับไล่ de Havilland Sea Vixen ผู้สืบสานทายาทอสูรจาก Sea Venom ด้วยการมีสองหางหรือลำตัวแฝด กาลครั้งหนึ่งสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง P-38 Lignting คือเครื่องบินขับไล่ระยะไกลที่ดีที่สุดของสัมพันธมิตร เพราะมีโครงสร้างรูปตัว H หรือสองหาง ใช้สองเครื่องยนต์ใบพัดหมุนสวนกันเพิ่มความเสถียร บินคุ้มกันได้ไกลกว่าเดิม ติดอาวุธได้มากกว่าเดิม ใช้ในภารกิจโจมตีก็ทำได้ดีไม่แพ้ลำอื่น
                เครื่องบินสองหางอาจเคยดีงามมาในอดีต ครั้นเข้าสู่ยุค 1960 ความดีงามทั้งหลายก็เป็นแค่เรื่องเล่าขาน Sea Vixen ความเร็วสุงสุดเพียง 0.9 มัค ใหญ่โตเทอะทะไม่คล่องตัวเหมือน P-38 ที่นั่งนักบินกับผู้สังเกตุการณ์ประหลาดที่สุดในสามโลก เทียบกับ Mig-21 Fished ซึ่งเข้าประจำการปีเดียวกันแล้ว เครื่องบินโซเวียตบินได้เร็วถึง 1.8 มัค ระยะทำการไกลกว่าทั้งที่เบากว่าครึ่งหนึ่ง มีความเร็วในการบินไต่สุงกว่ากัน 5 เท่าตัว..!! สู้กันไม่ได้เลยแม้อยากลำเอียงก็ตาม
            หันมาดูเครื่องบินโจมตีกันบ้าง อังกฤษประจำการ Blackburn Buccaneer ในปี 1962 ความเร็วต่ำกว่าเสียงขนาดเทอะทะเช่นเคย ป้องกันตัวเองจากอากาศยานไม่ได้เช่นเคย แต่คล่องตัวในการบินระดับต่ำได้อย่างไม่น่าเชื่อ แบกระเบิดใต้ปีกและช่องกลางลำตัวได้ถึง 16,000 ปอนด์ หรือจะติดจรวดต่อสู้เรือรบ Sea Eagle จำนวน 4 นัดก็ได้อยู่ กองทัพอากาศอังกฤษยังต้องสั่งเข้าประจำการ แม้ชอบนินทาเครื่องบินกองทัพเรืออยู่ร่ำไป
                ภาพรวมกองเรือบรรทุกเครื่องบินยุค 1960 ค่อนข้างดีในการจู่โจมแต่การป้องกันจัดว่าแย่ เครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่คือความต้องการเร่งด่วน ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินที่มีถึง 3 แบบนั้น ไว้ได้เครื่องบินมาก่อนค่อยคิดปรับปรุงก็ยังไม่สาย ไม่เหมือนการจัดหาหรือปรับปรุงเรือรบทั่วไป ที่ควรได้แบบเรือเสียก่อนแล้วไปมองเรื่องอาวุธ

Sea Vixen กับ Buccaneer คู่หูดูโอของกองทัพเรืออังกฤษ ลำแรกมีอายุราชการแค่เพียง 13 ปี ส่วนลำที่สองลากยาวมาถึง 1994 ทั้งยังมีโครงการ Super Buccaneer ซึ่งมีความเร็วเหนือเสียง ขนาดใหญ่โตขึ้น แบกระเบิดได้มากขึ้น เข้าร่วมชิงชัยกับ BAC TSR-2 ในโครงการเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกลกองทัพอากาศ
เครื่องบินขับไล่โจมตี V/STOL มาตราฐานนาโต้
            องค์การสนธิสัญญาป้องแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ จัดตั้งขึ้นในปี 1949 เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางทหารกับคอมมิวนิสต์ (โซเวียตและองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ) วันเวลาผ่านพ้นก้าวเข้าสู่ยุค 1960 ทั้งสองฝ่ายมีการสะสมอาวุธจำนวนมาก กรุงเบอร์ลินกลายเป็นหน้าด่านที่อันตรายที่สุด  ครั้นเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ขึ้นที่คิวบาในปี 1962 ทุกประเทศต่างเตรียมความพร้อมในระดับสุงสุด กลิ่นควันของสงครามแผ่กระจายทั่วทวีปยุโรป
                คนของนาโต้เมื่อเห็นข้อมูลแล้วก็ต้องหนักใจ รถถังฝั่งตนมีอยู่ประมาณ 13,470 ถึง 17,730 คัน (ในกรณีเสริมทัพได้ตามแผน) ส่วนรถถังฝั่งวอร์ซอมีจำนวน 26,900 ถึง 46,230 คัน ตัวเลขอันหลังออกจะขี้โม้ไปบ้าง อีกทั้งยุคนั้นการเสริมทัพก็ยังไม่เต็มที่ แต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะฝั่งนาโต้ก็เช่นกัน ความแตกต่างอยู่ที่ 2 ต่อ 1 ขึ้นไปแน่นอน  ทางด้านกำลังทหาร ยานเกราะ ปืนใหญ่ และอาวุธอื่น ๆ มากกว่ากันแบบเทียบไม่ติด ถ้าท่านนายพลแพตตั้นของผมยังอยู่ คงทุบโต๊ะประชุมจนเจ็บมือแล้วตะโกนว่า "อั๊วะบอกให้บุกโซเวียตตั้งไม่รู้กี่ครั้ง คิดสิคิด !!"
                นาโต้จำเป็นต้องมีอะไรซักอย่างหยุดยั้งความบ้าคลั่ง ตอนนั้นอากาศยานปีกหมุนยังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ กว่าเฮลิคอปเตอร์โจมตี AH-1 Cobra ลำแรกจะเข้าประจำการ ก็ปาเข้าไปกลางปี 1966 โน่นแหละครับ อากาศยานปีกแข็งจำเป็นต้องรับหน้าเสื่อไปก่อน โครงการ NATO Basic Military Requirement 3 หรือ NBMR-3 ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1961 เพื่อพัฒนาเครื่องบินลำรบแรกที่สมาชิกใช้งานร่วมกัน คุณสมบัติที่พวกเขาต้องการมีดังนี้
                เครื่องบินขับไล่ NBMR-3a สามารถขึ้นลงแนวดิ่งทางวิ่งสั้นหรือ V/STOL (Vertical/Short Take-Off and Landing) กำหนดให้มีความเร็วสุงสุด 2 มัค เพื่อใช้สกัดกั้นเครื่องมิกจำนวนมหาศาล ส่วนเครื่องบินโจมตี NBMR-3b ความเร็วต่ำกว่าเสียง ใช้การขึ้นลงแนวดิ่งหรือ VTOL บรรทุกอาวุธได้ 2,000 กิโลกรัม ระยะทำการ 460 กิโลเมตรที่ความสุง 150 เมตร เพราะต้องการจัดวางฐานทัพอากาศเคลื่อนที่ ดักซุ่มโจมตีอีกฝ่ายจากป่าเขาลำเนาไพร เป็นเมาคลีลูกหมาป่ากันเลยทีเดียว
                ทุกประเทศที่มีความสามารถด้านอากาศยาน ได้พัฒนาเครื่องบินของตนเข้าร่วมชิงชัย นับรวมกันได้ 5 ประเทศกับอีก 20 แบบเครื่องบิน การฝืนกฎแรงโน้มถ่วงพร้อมใช้ความเร็วเหนือเสียง คือความพยายามที่ยากลำบากแต่น่าสนใจที่สุด นักวิทยาศาสตร์ก็ดี วิศวกรด้านการบินก็ดี รัฐบาลและกองทัพก็ดี รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทุกภาคฝ่าย ได้พยายามคิดค้นพัฒนาและปรับปรุงจนสุดกำลัง ทว่ามีเครื่องบินเพียง 3 รุ่นที่สร้างต้นแบบสำเร็จ เนื่องจากเป็นงานสุดโหดโคตรหิน ต้องทำในสิ่งที่เทคโนโลยียังก้าวไม่ถึง การแข่งขันสุงความกดดันก็สุง ต้องใช้งบประมาณก้อนโตถมมันเข้าไป
                ผลการตัดสินโครงการ NATO Basic Military Requirement 3 ผู้ชนะเลิศอย่างไม่เป็นทางการได้แก่เครื่องบิน Hawker Siddeley P.1154 จากอังกฤษ ซึ่งยังไม่มีเครื่องต้นแบบและมีเครื่องยนต์เพียง 6 ตัว ทำไมถึงเป็นเช่นนี้..?? คำตอบข้อนี้ง่ายดายมาก คู่แข่งขันที่สร้างเสร็จแล้วทั้ง 3 ลำล้วนแพ้ภัยตัวเอง
                EWR VJ 101 จากเยอรมันพัฒนาสำเร็จเป็นลำแรกสุด ใช้เครื่องยนต์จำนวน 6 ตัวในการลอยตัวและขับเคลื่อน รูปร่างยาวแหลมเหมือนดินสอ ปลายปีกติดเครื่องยนต์ปรับขึ้นลงทั้งอัน ความต้องการคือ 2.0 มัคแต่เอาเข้าจริงได้ครึ่งเดียว นี่คือเครื่องบินขับไล่ที่น่ากลัวที่สุดแห่งยุค เพราะมีเครื่องยนต์ที่สามารถระเบิดได้ตลอดเวลา ก็เลยมาเร็วเคลมเร็วไปเร็วก่อนใคร เครื่องบินลำถัดไปมีชื่อว่า Dassault Mirage IIIV จากฝรั่งเศส เอาเครื่องบินขับไล่ปีกสามเหลี่ยมมาติดเครื่องยนต์จำนวน 8 ตัว จากนั้นจึงใส่เครื่องยนต์สำหรับยกตัวหรือ Life Jet เข้าไป บินได้เร็วสุดถึง 2 มัค และมีพี่น้องคลานตามกันมาอยู่ทั่วโลก นาโต้อาจปราบวอร์ซอสำเร็จใน 10 วัน แต่ต้องใช้หนี้ค่าซ่อมบำรุงไปอีก 10 ปี เพราะเครื่องยนต์ 9 ตัวจากเครื่องบินฝรั่งเศสนี่เอง
                เครื่องบินลำสุดท้ายมาจากเยอรมันอีกแล้ว VFW VAK 191B มือปราบรถถังจากลุ่มแม่น้ำไรน์ เครื่องต้นแบบสร้างสำเร็จในปี 1971 หลังโครงการ NBMR-3b ยกเลิกไปแล้ว ผู้ผลิตหวังทดแทนเครื่องบินโจมตีขนาดเล็ก Fiat G.91 ใช้เครื่องยนต์ 2 ตัวทำงานร่วมกับเครื่องยนต์ยกตัว ว่ากันตามจริง  VFW VAK 191B คือผู้ชนะเลิศโครงการเครื่องบินโจมตี เพราะไม่มีคู่แข่งโดยตรงเรียกว่านำม้วนเดียวจบ แต่แล้วสุดท้ายโครงการนี้ก็จบแค่ 3 ลำ เมื่อเยอรมันจับมือฝรั่งเศสพัฒนาเครื่องบินอัลฟ่าเจ็ต

                                                             สี่ยอดกุมารผู้เป็นความหวังสำคัญของนาโต้ ใครเป็นใครคงพอเดากันได้นะครับ
แฮริเออร์ที่แท้จริงมาแล้วจ้า
                ระหว่างที่หลายชาติพัฒนาเครื่องบินในโครงการ NBMR-3 อังกฤษก็ทำเช่นกันและทำเยอะกว่าเพื่อนบ้าน มีแบบเครื่องบินจำนวน 11 ลำถูกส่งเข้าประกวด ทว่าทุกคนให้ความสนใจก็แค่ Hawker Siddeley P.1154 เท่านั้น เป็นเครื่องบินความเร็วเหนือเสียงคือ 1.3 ถึง 2 มัค  บินได้ไกลตามมาตราฐาน บรรทุกอาวุธได้พอสมควร ระบบลอยตัวและขับเคลื่อนดูดีมาก ใช้เครื่องยนต์เพียงตัวเดียว กินน้ำมันน้อย ค่าซ่อมบำรุงก็น้อย ขนาดอาจจะเล็กกว่าความต้องการไปบ้าง แต่ดีกว่าคู่แข่งที่ออกจะพิศดารมากเกินเหตุ สายลมแห่งความสำเร็จพัดเข้าใส่สหราชอาณาจักร
                ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง กองทัพอากาศและกองทัพเรืออังกฤษ มีความต้องการเครื่องบินโจมตีและเครื่องบินขับไล่ตามลำดับ นายกรัฐมนตรีซึ่งมาจากพรรคอนุรักษ์นิยม ได้ผุดไอเดียรวมสองโครงการเข้าเป็นหนึ่งเดียว จากนั้นจึงซอยเป็นรุ่นขับไล่สำหรับราชนาวี  และรุ่นโจมตีลาดตระเวนสำหรับกองทัพอากาศ  P.1154 ใช้เครื่องยนต์ Bristol Siddeley BS.100/9 พร้อมท่อปรับทิศทางได้จำนวน 4 ท่อ เป็นเครื่องบินรุ่นแรกที่ติดตั้งหน้าจอ HUD (Head-Up Displays) ระบบนำทาง INS (Inertial Navigation System) รวมทั้งเรดาร์อเนกประสงค์รุ่นใหม่ล่สุด ได้ชื่ออย่างเป็นทางการจากกองทัพอากาศว่า "Harrier" แต่ทว่ากองทัพเรือดันไม่ชอบชื่อนี้ จึงตั้งใจจะใช้ชื่อ "Osprey" กับเครื่องบินตนเอง กะอีแค่ชื่อเครื่องบินก็ยังไม่มีความสามัคคี
                แต่ P.1154 ก็มีปัญหาใหญ่จากพิษการเมือง (ที่คือครั้งแรกที่การพัฒนาอาวุธของอังกฤษ ถูกแทรกแซงอย่างเป็นทางการโดยผู้บริหารประเทศ) ปัญหาที่ว่านั่นก็คือความแตกต่าง กองทัพอากาศต้องการเครื่องบินโจมตีขนาดเล็ก มีความคล่องตัวในภารกิจใกล้พื้นดิน ใช้นักบินคนเดียวความเร็วไม่เกิน 1.3 มัค งานหลักคือการขนระเบิดไปทิ้งใส่ฝ่ายตรงข้าม ส่วนกองทัพเรือต้องการเครื่องบินขับไล่ความเร็ว 2.0 มัค ทำภารกิจได้ดีบนท้องฟ้ากว้างไกลเวิ้งว้าง ใช้นักบิน 2 นายควบคุมเครื่องกับควบคุมการยิง โดยในใจยังแอบมองเครื่องบินปรับปีกได้ (Swing Aircarft) ที่สำคัญต้องมี 2 เครื่องยนต์เหมือนอดีต
                บางทีผู้อ่านอาจนึกสงสัย ว่าทำไมทัพฟ้าไม่ใช้รุ่นเดียวกับทัพเรือไปเลย อุปสรรคสำคัญอยู่เครื่องบินขับไล่ BAC Lighting ซึ่งเพิ่งเข้าประจำการในปี 1959 หรือแค่ 2 ปีเท่านั้น แล้วใครจะยอมเปลี่ยนแบบเครื่องบินกันล่ะครับ เพราะความวุ่นวายทั้งหลายทั้งปวงที่ว่า โครงการจึงได้ล่าช้ากว่ากำหนดเช่นเคย ทั้งยังมีอุปสรรคชิ้นโตเพิ่มเข้ามา นั่นคือความร้อนจากการเผาไหม้ที่ส่งมายังท่อไอพ่น มันร้อนเกินทนจนยางมะตอยถึงกับละลาย รวมทั้งในเครื่องยนต์ก็มีความร้อนสุงเกินเหตุ
นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ไขก่อนผลิตเครื่องต้นแบบ กองทัพเรือตัดสินใจที่จะไม่รอ แล้วหันไปมองเครื่องบิน 2 ที่นั่ง 2 เครื่องยนต์ ความเร็ว 2 มัค ไล่ตามความฝันของตัวเองอย่างถึงที่สุด แม้จะเป็นเส้นทางที่ยากลำบากที่สุดก็ตาม


จากภาพวาดแสดงความแตกต่างให้ปรากฎ เครื่องบินโจมตีกองทัพอากาศที่นั่งเดี่ยวรูปร่างผอมเพรียว โดมเรดาร์ขนาดเล็กมีล้อประคองอยู่ที่ปลายปีก ส่วนเครื่องบินขับไล่กองทัพเรือ 2 ที่นั่งอวบอั๋นมากกว่า โดมเรดาร์ใหญ่กว่ามีล้อประคองที่กลางปีก เพราะต้องการพับปีกเวลาลงลิฟท์จะได้สะดวก ช่องรับลมขยับมาด้านหน้าอีกเล็กน้อย ทั้งสองลำมีจุดติดตั้งอาวุธ 4 จุดใต้ปีก และอีก 2 จุดใต้เครื่องยนต์เยื้องด้านหน้า ปืนกล 30 มม.อีก 2 กระบอกติดใต้ท้องเหมือนแฮริเออร์ (นี่ก็แฮริเออร์นะครับคุณ)
ผีก็คือผีวันยังค่ำ
                ก่อนอื่นเลยผู้เขียนขอย้อนเส้นทาง กลับไปยังกองเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษอีกครั้ง พวกเขาจะปลดระวางไม่ก็ขายเรือขนาดเล็กทั้งหมด เหลือแค่เพียงเรือชั้น  Audacious ขนาด 50,000 ตันจำนวน 2 ลำ จากนั้นจึงสร้างเรือใหม่ชั้น CVA-01 ขนาด 63,000 ตันจำนวน 2 ลำ โดยมีออปชั่นลำที่ 3 ตามมาในภายหลัง (ตั้งชื่อไว้ครบ 3 ลำแล้วด้วย) การคัดเลือกเครื่องบินจำเป็นจะต้องเดินหน้า เพื่อจะได้รู้ว่าบนเรือทุกลำควรมีอะไรบ้าง ครั้นเห็นว่า P.1154 ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน จึงตัดสินใจเลือกเครื่องบิน  McDonnell Douglas F-4K Phantom II จากอเมริกาในช่วงปลายปี 1963
                เครื่องบินอเมริกามีขนาดใหญ่โตมากมาย เรืออเมริกาก็บังเรืออังกฤษได้จนมิดลำ ต้องมีการปรับปรุงทั้งสองอย่างพร้อมกัน แฟนทอมอังกฤษติดตั้งเครื่องยนต์โรสรอยทดแทนจียี ปรับปรุงโครงสร้างรองรับเครื่องยนต์ใหม่ พับจมูกเครื่องได้เพราะลิฟท์บนเรือค่อนข้างเล็ก เรือเก่าทั้ง 2 ลำจะได้รับการปรับปรุงใหม่ทั้งลำ รองรับแฟนทอมจำนวน 12 ลำในภารกิจสกัดกั้น (ส่วน CVA-01 มีแฟนทอมจำนวน 18 ลำ) อังกฤษจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวน 4 ลำ เครื่องบินแฟนทอมจำนวน 60 ลำ รวมทั้งเรือพิฆาต Type 82 รุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่ง คอยคุ้มหัวกองเรือจากภัยคุกคามฝ่ายตรงข้าม
                การตัดสินใจครั้งนี้เหมือนโดนผีหลอก คนอังกฤษเองไม่ค่อยพอใจซักเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนกองทัพอากาศจะแอบยิ้มมุมปาก ที่ได้ใช้งานเครื่องบินรุ่นใหม่เพียงลำพัง รอยยิ้มของเหล่าทัพฟ้ามีอายุแค่เพียง 3 เดือน เวลาใกล้กันกับกองทัพเรือเลือกเครื่องบินอเมริกา รัฐบาลใหม่อังกฤษได้เปลี่ยนมาเป็นพรรคแรงงาน โครงการพัฒนาอาวุธจำนวนมากถูกยกเลิก โครงการเครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล BAC TSR-2 ถูกเปลี่ยนมาเป็นเครื่องบิน F-111 จากอเมริกา อีกแล้ว ส่วนโครงการ P.1154 ซึ่งลงทุนไปแล้วมากกว่า 25 ล้านปอนด์ ใช้เจ้าหน้าที่รวมกันมากกว่า 5,000 นาย ทำงานร่วมกันมากกว่า 750,000 ชั่วโมง ถูกตัดหางปล่อยวัดหลังเข้าสู่ปี 1964 ได้เพียง 2 เดือน
                เครื่องบินปรับปีกได้โผล่ที่กองทัพอากาศหน้าตาเฉย อุตสาหกรรมการบินถูกโยนทิ้งแม่น้ำเทมส์ ยังไม่ทันที่แฟนทอมจะได้เข้าประจำการ พ่อก็เริ่มหลอกหลอนผู้คนทั่วเกาะเสียแล้ว ถึงเวลาที่ผีเจ้าถิ่นจะเริ่มต้นภารกิจเอาคืน เครื่องบินลำแรกพร้อมส่งมอบในปี 1968 ใช่มั้ย ??? งั้นเอ็งบินไปลงจอดในทะเลก็แล้วกัน
                ถึงปี 1966 รัฐบาลยกเลิกโครงการเรือบรรทุกเครื่องบิน CVA-01 เพราะมันแพงขึ้นจนเกิน 100 ล้านปอนด์ไปแล้ว ปรับปรุงเรือเดิมแค่เพียง HMS Ark Royal ลำเดียว เนื่องจากต้องใช้งบประมาณสุงถึง 30 ล้านปอนด์ สุดท้ายเหลือเรือใช้งานแฟนทอมได้เพียงหนึ่งจากห้าลำ จึงมีการตัดยอดจาก 140 ลำลงมาเหลือ 48 ลำ (เริ่มต้นโครงการคือ 200 ลำ) โชดดีที่กองทัพอากาศอังกฤษก็อยากได้แฟนทอม ค่อยคุ้มค่าเงินปรับปรุงเครื่องบินให้เป็นผู้ดี
                กว่าแฟมทอมจะได้ลงเรือก็ปาเข้าสู่ปี 1970 เพราะต้องรอให้ HMS Ark Royal ปรับปรุงแล้วเสร็จเสียก่อน แต่อีกแค่เพียง 8 ปีเท่านั้นเอง กองทัพเรืออังกฤษปลดประจำการ F-4K Phantom II ทุกลำ...!!

เรือบรรทุกเครื่องบินชั้น CVA-01 ขนาด 63,000 ตัน ติดแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน Saedart พร้อมแม็กกาซีนไว้ที่ท้ายเรือ ภาพล่างคือเครื่องบินแฟนทอมจอดอยู่บนดาดฟ้าเรือ HMS Ark Royal เจ้าหน้าที่กำลังปวดหัวกับการแปลงแกลลอนอเมริกาให้เป็นแกลลอนอังกฤษ
การกลับมาอีกครั้งของชายหนุ่มผู้โลกลืม
                กรณีแฟนทอมผู้เขียนไม่ขอวิจารณ์ เพราะมันผิดที่ผิดทางผิดฝาผิดตัวก็เลยผิดแผน อยากบอกแค่ว่าเครื่องบินโจมตี Buccaneer ของผู้พันราอูลเดล คือนางเอกนิยายเรื่องสี่แผ่นดินตัวจริงเสียงจริง (Sea Vixen, Sea Venom, F-4K Phantom II, และเครื่องบินลำสุดท้าย) เรื่องราวกำลังเข้มข้นเร้าใจ...ถึงตอนที่พระเอกต้องออกโรงด้วยท่าม้าย่อง
                กองทัพอากาศอาจขาดรักแต่ไม่ขาดงบ เพราะยังไม่ได้จัดหาเครื่องบินโจมตีแม้แต่ลำเดียว เมื่อ P.1154 ถูกยกเลิกจึงต้องมองชายอื่น สิ่งที่ทัพฟ้าตามหาอยู่บนเกาะอังกฤษนั่นแหละ เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกมองข้ามหัวโดยไม่แยแส Hawker Siddeley ยังมีเครื่องบิน V/STOL ที่พัฒนาอยู่อีกหนึ่งลำ โครงการ P.1127 เริ่มต้นเดินหน้าตั้งแต่ปี 1957 ได้รับเงินอุดหนุนและเทคโนโลยีจากหุ้นส่วนอเมริกากับเยอรมัน เครื่องต้นแบบเริ่มทดลองบินในปี 1960 ถัดมาปีเดียวเครื่องต้นแบบลำที่ 2 ก็บินได้ มีการทดสอบใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ใช้เครื่องยนต์เดียวกินน้ำมันน้อยกว่าทุกลำ ปัญหาจุกจิกทั้งหลายแก้ไขได้หมดแล้ว
                P.1127 เริ่มทดสอบก่อนโครงการนาโต้จะเกิด เป็นเครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งลำแรกของยุโรป ใช้เทคโนโลยี Vectored Thrust ในการยกตัวและขับเคลื่อน เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกประเทศอยากทำตาม แล้วทำไมเครื่องบินลำนี้ถึงไม่ใช่ผู้ชนะ พูดให้ถูกก็คือไม่ได้เข้าร่วมโครงการด้วยซ้ำ สาเหตุเป็นเพราะ P.1127 ขนาดเล็กเกินไป ระยะทำการสั้นเกินไป แบกอาวุธได้เพียงน้อยนิด ที่สำคัญบินได้ช้าออกจะยืดยาด มักถูกค่อนขอดว่าเป็นเฮลิคอปเตอร์ความเร็วสุง ราชนาวีอังกฤษไม่เคยแม้ชายตามอง
                แต่กองทัพอากาศและ (โดยเฉพาะ) รัฐบาลพรรคแรงงานไม่คิดเช่นนั้น พวกเขามองหาอะไรก็ตามที่สร้างเสร็จแล้ว ทดลองบินสำเร็จแล้ว และใช้เงินในการลงทุนน้อยที่สุด ย่างเข้าสู่ปี 1964 เมื่อ P.1154 กลับบ้านเก่าไปแล้ว ฝ่าย P.1127 ก็เริ่มได้รับความสำคัญ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมและเปลี่ยนชื่อมาใช้ชื่อ Hawker Kestrel  (ชื่ออย่างเป็นทางการจากกองทัพอากาศ) เครื่องบินจำนวน 9 ลำถูกผลิตเพื่อใช้งานจริง กระทั่งในปี 1969 มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น Harrier GR.1 พร้อมคำสั่งซื้อ 60 ลำจากกองทัพอากาศ หลังกองทัพเรือประจำการแฟนทอมได้ปีเดียว

                ที่เปลี่ยนมาใช้ชื่อเดิมนั้นมีที่มา คนอังกฤษมักแอบนินทาว่าพิษการเมือง การยกเลิกโครงการจำนวนมากนั้นมีแต่คนด่า เครื่องบิน F-111 ที่เอามาแทน BAC TSR-2 ก็เปลี่ยนใจไม่เอาแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินเอย เรือพิฆาตอาวุธนำวิถี Type 82 เอย หายวับไปหมดเมื่อโดนตัดงบประมาณทิ้ง การงัดชื่อเก่าออกมาใช้กับเครื่องบินลำใหม่ เป็นแผนที่ดีหรือไม่ผู้เขียนไม่อาจทราบ แต่ผลการเลือกตั้งในปี 1970 นายกคนเดิมจากพรรคเดิมได้นั่งเก้าอี้ตัวเดิม

ความดีความชอบของระบบขึ้นลงแนวดิ่งทางวิ่งสั้น อยู่ที่เครื่องยนต์เครื่องยนต์เทอร์โบแฟน Bristol Siddeley Pegasus 5 ซึ่งมีพัดลมขนาดใหญ่ทำงานร่วมกับท่อปรับแต่งทิศทางได้จำนวน 4 ท่อ ท่อคู่หน้าจะเป่าลมเย็นจากพัดลมที่อยู่ด้านหน้าเครื่องยนต์ ช่วยสร้างแรงขับในการยกตัวลอยสุงจากพื้น ส่วนท่อคู่หลังจะเป่าลมร้อนจากการจากการเผาไหม้ของห้องสันดาป ระหว่างยกตัวลมไม่ร้อนมากจนยางมะตอยละลาย เมื่อเครื่องบินลอยตัวสุงในระดับที่ต้องการ จึงปรับทิศทางให้ท่อขับดันเครื่องบินไปด้านหน้า ตอนนี้แหละครับร้อนขนาดไก่ย่างสามดาวดี ๆ นี่เอง
                ย้อนกลับมาที่กองทัพเรือกันอีกครั้ง เมื่อตัดสินใจแน่วแน่ที่จะยุติการใช้งานแฟนทอม รวมทั้งเรือ HMS Ark Royal ที่ใช้งบก้อนโตในการปรับปรุง จึงต้องมองหาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่กันอีกครั้ง ตอนนั้น Harrier GR.1 เข้าประจำการจริงแล้ว แต่คนใจโลเลก็ยังไม่มั่นใจอะไรซักอย่าง พวกเขาจ้องมองเรือบรรทุกเครื่องบินที่เหลืออีก 3 ลำ แล้วตัดสินใจปรับปรุงเรือ HMS Hermes (R12) ให้มีสกีแร๊มป์ (Sky Ramp) หรือที่เราคุ้นเคยว่าลานสกีจัมป์เพียงลำเดียว จากนั้นจึงสั่งซื้อ Harrier GR.3 รุ่นปรับปรุงใหญ่ มีปีกขนาดใหญ่โตขึ้น บินไต่ระดับได้เร็วขึ้น ใส่คอกพิทรุ่นใหม่พร้อมเรดาร์ Ferranti Blue Fox เครื่องบินจำนวน 24 ลำใช้ชื่อว่า Sea Harrier FRS1 ถูกสั่งซื้อในปี 1978 และเข้าประจำการในปีถัดไป

                ก่อนหน้านี้ช่วงโครงการ P.1154 ยังหวานอยู่ กองทัพเรือได้ซุ่มพัฒนาเรือบรรทุกเครื่องบินขนาด 20,000 ตัน รองรับเครื่องบินขึ้นลงแนวดิ่งทางวิ่งสั้นความเร็ว 2 เท่าเสียง เมื่อเปลี่ยนมาเป็นแฟนทอมเรือก็เลยถูกดอง ครั้นโดนผีหลอก 3 ครั้งติดเรือก็เลยกลับมา เป็นการกลับมาแบบกล้า ๆ กลัว ๆ นะครับ เพราะมีคำสั่งซื้อจำนวน 1 ลำในปี 1973 ถัดมาอีก 3 ปีถึงได้สั่งซื้อลำที่ 2 กว่าเรือจะเข้าประจำการได้ก็ปาเข้าไปปี 1980 และ 1982 ตามลำดับ เมื่อรวมกับเรือ HMS Hermes เท่ากับมีเรือบรรทุกเครื่องบินจำนวน 3 ลำ และเครื่องบินขับไล่ความเร็วต่ำกว่าเสียงจำนวน 36 ลำ โดยไม่มีเครื่องบินโจมตีที่แท้จริงแม้แต่ลำเดียว เพราะ Buccaneer ใช้ลานสกีจัมป์บินขึ้นไม่ได้
                วิธีการแก้ไขง่ายดายมาก ก็ไปหยิบยืม Harrier GR.3 จากกองทัพอากาศมาใช้งานสิ วิธีการแสนง่ายดายที่ผู้เขียนนำเสนอ ไม่ได้รับการตอบสนองจากคู่กรณีทั้งสองฝ่าย กองทัพอากาศหรี่ตาเบ้ปากแล้วเชิดใส่ กองทัพเรือตะโกนสวนช่างมันฉันไม่แคร์ ใช้ Buccaneer บินจากชายฝั่งก็ได้เหมือนกัน
ประเด็นส่งท้าย
                สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ การสั่งต่อเรือบรรทุกเครื่องบินแฮริเออร์กระทันหัน ทั้งที่เพิ่งใช้งานจริงแฟนทอมได้เพียง 3 ปี อาจเป็นเพราะเครื่องบินมีปัญหามาตั้งแต่แรก หรือเครื่องบินไม่เหมาะสมกับกองทัพมาตั้งแต่แรก นัยยะสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อเจอปัญหาพวกเขาก็รีบแก้ไขทันที โชดดีที่อังกฤษมีแบบเรือดองเค็มไว้ก่อน สั่งซื้อเพียง 3 เดือนเริ่มวางกระดูกงูกันแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็เกิดเรื่องวุ่นวายใหญ่โตตามมา ปัญหาดังกล่าวคืออะไร ส่งผลกระทบแค่ไหน ตามอ่านในตอนที่ 3 พร้อมกันนะครับ

 เรือบรรทุกเครื่องบิน Invincible R05 ออกแบบรองรับเครื่องบินขับไล่ V/STOL มาตราฐานนาโต้ ถ้ากองทัพเรือใจแข็งแข็งใจซักนิด ผลการเลือกตั้งพลิกโผซักหน่อย เรือหลวงจักรีของเราอาจเคยประจำการแฮริเออร์ความเร็วเหนือเสียง
อ้างอิงจาก
เอกสารดาวน์โหลด : RAF Harrier Story
เอกสารดาวน์โหลด : VSTOL Wheel Hirschberg



วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

New eye of Falcon

ดวงตาคู่ใหม่ของเหยี่ยวเวหา
            เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ F-16 Fighting Falcon ทดลองบินเที่ยวแรกวันที่ 20 มกราคม 1974 เข้าประจำการวันที่ 17 สิงหาคม 1978 ตัวเลขนับรวมจนถึงปัจจุบัน มีการผลิตเครื่องบินในอเมริกา 3,616 ลำ เบลเยี่ยม 222 ลำ เนเธอร์แลนด์ 300 ลำ ตุรกี 308 และเกาหลีใต้ 128 ลำ ยอดรวมเท่ากับ 4,574 ลำ ทั้งยังมี F-16 มากกว่า 3,500 ลำอยู่ในสถานะใช้งาน ถือเป็นเครื่องบินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดลำหนึ่ง
                แม้อายุอานามจะปาเข้าไปตั้ง 40 กว่าปีแล้ว ทว่า F-16 ยังมีความสำคัญกับกองทัพอากาศทั่วโลก จึงมีโครงการปรับปรุงใหญ่จากประเทศผู้ใช้งาน รวมทั้งกองทัพอากาศไทยที่ได้ทำกับฝูงบิน 403 ตาคลีไปแล้ว เพื่อให้เครื่องบินมีความทันสมัย ร่วมสมัย และมีประสิทธิภาพสุงกว่าเดิม การปรับปรุงของเราทำภายในประเทศทั้งหมด ได้วิชาความรู้ติดปลายนวมไม่มากก็น้อย เป็นดีลที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้มเหมือนแฟลตปลาทอง
                การปรับปรุง F-16 ที่น่าสนใจในช่วง 2-3 ปีนี้ ประกอบไปด้วยโครงการของกองทัพอากาศอเมริกา กองทัพอากาศเกาหลีใต้ กองทัพอากาศไต้หวัน และกองทัพอากาศสิงคโปร์ ที่ผู้เขียนให้ความสนใจมาจากสาเหตุ 3 ประการ  ระบบเรดาร์เทคโนโลยีรุ่นใหม่ จำนวนเครื่องบินที่เข้าร่วมในโครงการ รวมทั้งมาตราฐานโครงการปรับปรุงเครื่องบินในอนาคต

ดาบเซเบอร์ปะทะดาบเลเซอร์
                บริษัทผู้ผลิตอาวุธชั้นนำของอเมริกา ได้พัฒนาระบบเรดาร์เทคโนโลยีรุ่นใหม่สำหรับ F-16 มานานพอสมควร กระทั่งในปีนี้เองจึงได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ จาก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
                เรดาร์ตัวแรกมาจากบริษัท Northrop Grumman ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า  APG-83 Scalable Agile Beam Radar หรือเรียกสั้น ๆ ว่า SABR (ออกเสียงว่าเซเบอร์) เรดาร์ตัวนี้มีคนวางเงินจองตั้งแต่ของยังไม่เสร็จ ปัจจุบันเริ่มส่งมอบให้กับลูกค้าจำนวน 2 ราย SABR ยังได้รับการคัดเลือกจากบริษัท Lockheed Martin ให้เป็นเรดาร์ติดเครื่องบิน F-16 Block 70 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดเพิ่งออกวางแผง เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าอีก 3 หัวกระโหลก
                APG-83 SABR เป็นเรดาร์ AESA (Active Electronically Scanned Array) ขนาดกระทัดรัด ใช้ซอฟแวร์เหมือนกับเรดาร์ APG-81 ของเครื่องบิน F-35 มากถึง 90 เปอร์เซนต์ คิดให้เห็นภาพก็ประมาณ Window 10 Professional กับ Window 10 Home Edition นั่นเอง ทุกอย่างเหมือนกันแต่เลเวลไม่สุงพอที่จะเล่นท่ายาก เป็นประโยชน์กับนักบินทั้งใช้งานจริงและฝึกซ้อม อีกทั้งเครื่องบินทั้ง 2 ลำก็ทำภารกิจใกล้เคียงกันมาก การไต่เต้าหรือสลับฝูงบินจึงทำได้ง่ายกว่าเดิม

                Northrop Grumman เป็นผู้ผลิตเรดาร์ AESA รุ่น  APG-77 ของเครื่องบิน F-22 เรดาร์รุ่น APG-80 ของเครื่องบิน F-16 Block 60 ซึ่งเป็นรุ่นพิเศษ เรดาร์รุ่น APG-81 ของเครื่องบิน F-35 และเรดาร์รุ่น Scalable Agile Beam Radar Global Strike (SABR-GS) ของเครื่องบินทิ้งระเบิด B-1 จึงได้นำประสบการณ์ทั้งหมดมาหั่นใส่หม้อแล้วตุ๋นเป็น SABR คำนิยามในการโปรโมทสินค้าก็คือ ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงลดน้อยลง มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ทำภารกิจอากาศสู่อากาศได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเรื่องที่กำลังได้รับความนิยมในวงกว้าง นั่นก็คือทำภารกิจ SAR ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
                Synthetic Aperture Radar หรือ SAR คือเครื่องมือที่ใช้ในการถ่ายภาพทางอากาศ โดยใช้สัญญาณเรดาร์สะท้อนกลับมาเป็นจำนวนตัวเลข แล้วนำค่าตัวเลขมาแปรกลับเป็นค่าความเข้มของคลื่น สุดท้ายแล้วคลื่นจะแปรงร่างเป็นภาพอาคารสิ่งปลูกสร้าง ถนนหนทาง ต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำลำคลอง รวมทั้งบรรดาเรือที่อยู่ในทะเล ความชัดเจนของภาพจะมีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นผิวของวัตถุ ลักษณะภูมิประเทศ รวมทั้งสภาพอากาศและความชื้นในเวลานั้น

                เรดาร์สามารถถ่ายภาพได้ทุกสภาวะอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งจากเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ อากาศยานไร้คนขับ รวมทั้งของใหญ่อย่างดาวเทียม ใช้ตรวจจับพายุฝนเพื่อช่วยพยากรณ์อากาศ ใช้ในการจราจรทางอากาศและระบบนำร่อง ใช้ในการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ติดตามสถานการณ์ภาวะน้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง หรือการเกิดไฟป่า ตรวจสอบลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิประเทศ รวมทั้งช่วยกำหนดพื้นที่ทำนาในแต่ละฤดูกาล นาทีนี้ SAR กำลังฮิตติดลมบนชนิดกู่ไม่กลับ ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในทุกหน่วยงาน ส่วนจะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่อง
                APG-83 SABR ถ่ายภาพได้พื้นที่กว้างไกลมากขึ้น ความละเอียดของภาพสุงมากขึ้น ซูมเข้า-ออกได้โดยภาพไม่แตก ผู้ผลิตใช้คำว่า "Big SAR" ตอกย้ำความแรงของภารกิจนี้ ทางการทหารจะใช้ในการลาดตระเวนหาข่าว การนำร่องระบบอาวุธนำวิถีชนิดต่าง ๆ การตรวจสอบภัยคุกคามที่อาจเป็นอันตราย รวมทั้งตรวจสอบภัยคุกคามเรดาร์ข้าศึก (Threat Library) ซึ่งโดยปรกติจะมีอยู่ในข้อมูลก่อนบิน (Pre-Flight Message : PFM) ที่นักบินทุกลำจะได้รับในทุกเที่ยวอยู่แล้ว ทว่าบางครั้งข้อมูล PFM อาจไม่อัพเดทล่าสุดร้อยเปอร์เซนต์ SAR จึงเข้ามาช่วยในการปรับแผนระหว่างทำภารกิจ
                ผู้เขียนขยายความเรื่อง SAR ยาวนิดนึงเพราะเห็นว่าน่าสนใจ เราไปพบกับเรดาร์ตัวที่สองกันต่อดีกว่า นั่นก็คือ Raytheon Advanced Combat Radar สำหรับเครื่องบิน F-16 หรือ APG-84 RACR (ออกเสียงว่าเรเซอร์) เรดาร์ตัวนี้พัฒนาเสร็จแล้วเช่นกัน ส่งมอบให้กับลูกค้าไปแล้วด้วย เป็นเรดาร์ AESA ที่สืบสานทายาทอสูรมาจากรุ่นพี่ ประกอบไปด้วย เรดาร์ APG-82(V)1 ของเครื่องบิน F-15E เรดาร์ APG-63(V)3 ของเครื่องบิน F-15C เรดาร์ APG-79 ของเครื่องบิน F/A-18 E/F เรดาร์ RACR สำหรับเครื่องบิน F-18 แฝดผู้พี่ที่เกิดก่อนหน้าเพียงไม่กี่นาที

                จะเห็นได้ว่า RACR สำหรับเครื่องบิน F-16 มีขนาดเล็กที่สุด เล็กกว่า RACR สำหรับเครื่องบิน F-18 ประมาณสี่ในห้า ใช้เทคโนโลยีจากเรดาร์ตระกูลเดียวกันมากถึง 90 เปอร์เซนต์ (เป็นคำนิยามที่ลอกกันมาอย่างแน่นอน) เรดาร์ตัวนี้ยังมีข้อมูลเผยแพร่ไม่มาก เว็บไซด์ผู้ผลิตอธิบายไว้ว่า ค่าใช้จ่ายตลอดอายุการใช้งานน้อยลง การติดตั้งและปรับปรุงสะดวกง่ายดายกว่าเดิม รองรับเทคโนโลยีในอนาคต มีความน่าเชื่อถือสุงมากขึ้นอะไรทำนองนี้
                เรดาร์ทั้งสองรุ่นใช้เทคโนโลยี Phase Array แบบ AESA (Active Electronically Scanned Array) โดยการติดตั้ง Transmit Receive Module หรือ TR Module จำนวนมากบนจานเรดาร์ ทำหน้าที่สร้างคลื่น รับคลื่น รวมทั้งควบคุมการส่งคลื่น สามารถส่งสัญญาณเรดาร์หลายความถี่ได้ในเวลาเดียวกัน ทำงานได้ทั้งโหมดภาครับและภาคส่ง (Passive Mode - Active Mode)  มีความเสถียรในการทำงานสุงมาก การถูกตรวจจับคลื่นเรดาร์ลดน้อยลง การถูกรบกวนด้วยระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์น้อยลง ความล้มเหลวในการทำงานก็น้อยลง เพราะเซนเซอร์จำนวนมากทำงานแยกกัน นี่ก็คือคุณงามความดีของระบบเรดาร์ AESA เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่างเป็นทางการของ F-16
เทียบกับเรดาร์รุ่นอื่นแล้วแตกต่างกันอย่างไร
                ก่อนอื่นเลยต้องขอชี้แจงที่มาที่ไป รวมทั้งเปรียบมวยกับเรดาร์ AESA รุ่นแรกสุดของเจ้าเหยี่ยวเวหา นั่นก็คือเรดาร์ APG-80 ของเครื่องบิน F-16 Block 60 ของกองทัพอากาศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีตัวเครื่องแตกต่างจากรุ่นเก่าคือ Block 52 อยู่พอสมควร ส่วนเรดาร์ก็ถูกออกแบบสำหรับ Block 60 โดยเฉพาะ จึงพอสรุปความได้ว่าเครื่องบินลำนี้เป็นของแปลกหายากลำหนึ่งของโลก สมควรกับตำแหน่ง F-16 รุ่นที่ดีที่สุด ติดเรดาร์ทันสมัยที่สุด และมีราคาแพงที่สุด
                เรื่องราวทั้งหมดควรจบลงแต่เพียงเท่านี้ บังเอิญก็แต่ว่า F-16 ยังคงขายได้เนี่ยสิ Lockheed Martin จึงนำ Block 60 มาปรับปรุงให้เป็น Block 70 อายุใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 12,000 ชั่วโมง แล้วยัดเรดาร์ AESA รุ่นใหม่นั่นก็คือ APG-83 SABR เข้าไป โดยที่เรดาร์สามารถติดตั้งกับ F-16 รุ่นเก่าได้ หรือจะข้ามไปเลือก APG-84 RACR จากอีกค่ายก็แล้วแต่ ประสิทธิภาพของเรดาร์ทั้ง 3 ตัวไม่ห่างกันเท่าไหร่  APG-80 อาจส่องสาวได้ไกลกว่าเพื่อนอยู่บ้าง แต่ SABR กับ RACR ทันสมัยกว่า ลูกเล่นแพรวพราวกว่า ราคาน่าจะถูกกว่า และค่าใช้จ่ายโดยรวมน้อยกว่า

F-16 Block 60 ของกองทัพอากาศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ติดเรดาร์  APG-80 และ F-16 A/B Block 15 MLU กองทัพอากาศไทยติดเรดาร์ AN/APG-68(V)9 

                หันกลับมายังจังหวัดนครสวรรค์กันบ้าง เพื่อเปรียบเทียบเรดาร์ AN/APG-68(V)9 ซึ่งอยู่ภาพบน กับเรดาร์ APG-83 SABR ซึ่งอยู่ภาพล่าง เห็นความแตกต่างทางด้านกายภาพอย่างชัดเจน AN/APG-68(V)9 ทำงานด้วยการหันจานซ้ายทีขวาทีเพื่อส่งคลื่นเรดาร์ก้อนใหญ่ออกไปตรวจจับเป้าหมาย ขณะที่ SABR ใช้จานเรดาร์รุ่นใหม่ติดตายตัว ส่งคลื่นเรดาร์ด้วยการบีมหลาย ๆ ชุดพร้อมกัน (เขียนถึงตอนนี้แล้วตอร์ปิโดสตริงเรย์แวบเข้ามาในหัว) ข้อแตกต่างอีกประการก็คือ  SABR ติดตั้งอุปกรณ์หล่อเย็นเพิ่มเติม (ในภาพจะไม่เห็น) ช่วยลดความร้อนที่มีมากกว่าเรดาร์รุ่นเดิมพอประมาณ
                ตามสเป็กจากไหนจำไม่ได้แล้ว AN/APG-68(V)9 มีระยะตรวจจับไกลสุด 296 กิโลเมตร แต่เอาเข้าจริงไม่ถึงหรอกครับ ทั้ง SABR หรือ RACR รวมทั้ง AN/APG-68(V)9 มีระยะทำการไม่เกิน 200 กิโลเมตร ให้ระบุตัวเลขชัดเจนผู้เขียนพอหาได้  SABR สามารถตรวจจับใกล้สุด 200 เมตร ไกลสุด 185.2 กิโลเมตร ใกล้เคียงตามที่คาดการณ์ไว้นั่นแหละ
                แต่สิ่งที่ SABR และ RACR แตกต่างจาก AN/APG-68(V)9 อย่างชัดเจน นั่นคือความเร็วในการตรวจจับเป้าหมาย ความเร็วในการสลับโหมดการทำงาน ความเร็วในการติดตามและการพิสูจน์ทราบเป้าหมาย ส่งผลให้การโจมตีเป้าหมายทำได้เร็ว ทำได้ก่อน และทำได้แม่นยำ เป็นไอ้เสือปืนไวที่มีสายตาสั้นยาวใกล้เคียงกัน   
จำนวนเครื่องบินที่เข้าร่วมในโครงการ
                โครงการปรับปรุงเครื่องบิน F-16 ในรอบปี 2017 ได้มีโครงการของบาร์เรนและกรีซเข้ามาเพิ่มเติม ส่งผลให้ยอดรวมมีมากขึ้นพอสมควร แบ่งออกได้ดังนี้คือ
- เครื่องบิน F-16C/D Block 30/32 และ 40/42 ของกองกำลังพิทักษ์ชาติ กองทัพอากาศอเมริกาจำนวน 72 ลำ (จากยอดรวมประมาณ 300 กว่าลำ) ติดตั้งเรดาร์ APG-83 SABR
- เครื่องบิน F-16 C/D block 52 กองทัพอากาศสิงค์โปร์จำนวน 60 ติดตั้งเรดาร์ที่ไม่ได้ระบุรุ่น
- เครื่องบิน F-16 A/B Block 20 กองทัพอากาศไต้หวัน จำนวน 144 ลำ ติดตั้งเรดาร์ APG-83 SABR
- เครื่องบิน F-16 C/D block 50/52 กองทัพอากาศเกาหลีใต้ จำนวน 134 ลำ ติดตั้งเรดาร์ APG-84 RACR
- เครื่องบิน F-16 C/D Block 40 กองทัพอากาศบาร์เรน จำนวน 20 ลำติดตั้งเรดาร์ APG-83 SABR
- เครื่องบิน F-16 V Block 70 กองทัพอากาศบาร์เรน จำนวน 19 ลำติดตั้งเรดาร์ APG-83 SABR (ซื้อเครื่องใหม่)
- เครื่องบิน F-16 C/D Block 30, 50 และ 52+ กองทัพอากาศกรีซจำนวน 123 ลำติดตั้งเรดาร์ APG-83 SABR
                ยอดรวมทุกโครงการเท่ากับ 572 ลำ แบ่งเป็นเรดาร์ APG-83 SABR จำนวน 378-438 ลำ และเรดาร์ APG-84 RACR จำนวน 134-194 ลำ อยู่ที่ว่าสิงคโปร์ติดเรดาร์ตัวไหน จะเห็นได้ว่าเครื่องบินไต้หวันเก่าจนจิ๊กโก๋เรียกพี่ แต่ก็ยังใช้งานเรดาร์ใหม่เอี่ยมกับเขาได้ นั่นหมายถึง F-16 ของที่อื่นก็น่าจะทำได้เช่นกัน โดยอาจมีการปรับปรุงโครงสร้างเครื่องบินเพิ่มเติม
                SABR ยังมีของตายคือกองทัพอากาศอเมริกาอีก 200 กว่าลำ ส่วน RACR ก็มีคำสั่งซื้อจากเครื่องบิน F-18 นาวิกโยธินอเมริกาหลักร้อยเช่นกัน (แม้จะไม่ใช่ RACR ของ F-16 โดยตรงก็เถอะ) SABR มีราคาต่อหน่อย 3.38 ล้านเหรียญ อ้างอิงจากที่กองทัพอากาศอเมริกาสั่งซื้อ ส่วน RACR ยังไม่มีข้อมูลราคา แต่คงไม่เกิน 4 ล้านเหรียญ ซึ่งถ้าประเทศอื่นสั่งซื้อคงระบุราคาไม่ได้ เพราะอเมริกาต้องให้สภาคองเกรสอนุมัติการขายอาวุธ จึงต้องรวมยอดอุปกรณ์ทั้งหมดไว้เป็นก้อนเดียว
มาตราฐานโครงการปรับปรุงเครื่องบินในอนาคต
SABR และ RACR จะเป็น 2 ทางเลือกของการปรับปรุง F-16 ในอีก 10 ปีถัดจากนี้ ซึ่งโดยทั่วไปจะติดตั้งอุปกรณ์ชนิดอื่นเพิ่มเติมด้วย ทำให้ราคารวมต่อลำสุงขึ้นจนน่าตกใจ แต่ทว่าราคาเครื่องบินใหม่น่าตกใจขนหัวตั้งชันยิ่งกว่า เพราะปัจจุบันเป็นการสั่งซื้อมัดรวมก้อนใหญ่ ทั้งค่าเครื่องบิน ค่าฝึกสอนนักบิน อาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อะไหล่ซ่อมบำรุงตามวงรอบ ระบบจัดเก็บสินค้าคงคลัง รวมไปถึงการบริการหลังการขาย 20 ปีเต็ม บาร์เรนปรับปรุงเครื่องบิน 20 ลำในวงเงิน 1.082 พันล้านเหรียญ แต่ซื้อเครื่องบินใหม่ 19 ลำในวงเงินถึง 2.785 ล้านเหรียญ ขณะที่สิงคโปร์ปรับปรุงเครื่องบิน 60 ลำในวงเงิน 2.43 พันล้านเหรียญ ถูกลงมา 2 หัวกระโหลกแต่ก็ยังแพงอยู่ดี
                โครงการปรับปรุง F-16 ยังคงมีต่อไปอย่างแน่นอน เรดาร์ SABR หรือ RACR ควรทำงานควบคู่ไปกับระบบนำทาง GPS/INS รุ่น LN-260  หมวกนักบิน JHMCS ระบบพิสูจน์ทราบฝ่าย AN/APX-126 ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์  AN/ALQ-211 AIDEWS รวมทั้งหน้าจอหว่างเป้า iPDG สำหรับดูแผนที่ภาคพื้น อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยดึงประสิทธิภาพระดับสุงของเรดาร์ ช่วยให้เครื่องบินเอาตัวรอดได้ดีไม่แพ้รุ่นหลาน ๆ ราคาอาจแรงไปบ้างแต่มันจำเป็นไม่ใช่เหรอ

                                                        F-16 V ลำแรกขณะทำการทดลองบินเที่ยวแรก รูปร่างหน้าตากลับมาเป็น F-16 ลำเดิมแล้ว
เหตุการณ์ต่อจากนี้
                APG-83 SABR และ APG-84 RACR เป็นสิ่งบ่งชี้อย่างชัดเจน ว่านับต่อจากนี้จะเป็นยุคเรดาร์ AESA ชนิดเต็มตัว เหมือนกับโทรทัศน์ทุกขนาดที่มีหน้าจอ LED และรับสัญญานดิจิตอลได้ เหมือนกับรถอีโคคาร์ทุกรุ่นที่มีระบบเบรก ABS ถุงลมนิรภัย ระบบช่วยทรงตัวและไอ้โน่นไอ้นั่นไอ้นี่ เหมือนกับที่เราใช้เน็ต 4G ชนิดไม่อั้นในราคา 599 บาท ไม่ว่าเราจะอยากได้หรือไม่อยากได้ก็ตาม ก็ไม่อาจหลีกหนีการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์
            กองทัพอากาศไทยยังเหลือเครื่องบิน F-16 A/B Block 15 OCU ฝูงบิน 103 โคราช ที่จะต้องประจำการไปอีกนานและยังไม่ได้ปรับปรุงใหญ่ ถ้าเรดาร์ AESA จะมาเมืองไทยก็ต้องฝูงบินนี้แหละ แต่จะมีการปรับปรุงหรือไม่ คุ้มค่าในการปรับปรุงหรือเปล่า รวมทั้งถ้าปรับปรุงควรติดตั้งอะไรบ้าง ฝากเป็นการบ้านให้กับผู้อ่านอีกเรื่องนะครับ ;)
                            -------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก

เอกสารดาวน์โหลด : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีเรดาร์ SAR.PDF