วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาจรวดต่อสู้อากาศยานประจำเรือรบรุ่นใหม่ของอังกฤษ




ปี1982เกิดสงครามหมู่เกาะฟอคแลนด์ขึ้น โดยอาร์เจนตินาได้ส่งทหารเข้ายึดหมู่เกาะอันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คณะรัฐมนตรีสงครามนำโดยมาร์กาเรต แทตเชอร์ ตัดสินใจประกาศสงคราม ในการทำศึกครั้งนี้อังกฤษได้จัดกองเรือรบขนาดใหญ่เพื่อนำกำลังทหารไปยืดเกาะกลับคืนมา โดยใช้เรือบรรทุกเครื่องบิน2จาก3ลำ, เรือลำเลียงทหารและยุทธปัจจัยต่างๆ รวมถึงเรือรบทันสมัยจำนวนมากไว้คอยคุ้มกันกองเรือ กำลังสำคัญประกอบไปด้วยเรือฟริเกต Type 21 Amazon  ขนาด 3,250 ตันติดจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น Sea Catเรือฟริเกต Type 22 Broadsword ขนาด4,400ตัน ติดจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น Sea Wolf, และเรือพิฆาต Type 42 Sheffield ขนาด 4,350 ตันติดจรวดต่อสู้อากาศยาน Sae Dart

ในสงครามนี้เองทำให้โลกได้รับรู้ถึงความสามารถที่แท้จริงของของอังกฤษ แม้จะโดนอาเจนติน่าใช้กำลังทางอากาศเข้าโจมตีอย่างหนักแต่ก็ยังเอาตัวรอดจากสถานะการณ์เลวร้ายมาได้ อังกฤษชนะสงครามในท้ายสุดแต่พวกเขาเองก็ได้เรียนรู้ความจริงหลายด้าน รวมทั้งเรื่องจรวดต่อสู้อากาศยานประจำเรือรบทั้ง3แบบยังมีข้อบกพร่องหลายอย่างในการรบยุคปัจจุบัน หลังสิ้นสุดสงครามอังกฤษจึงได้พยายามพัฒนาและปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสม รวมทั้งพัฒนาอาวุธรุ่นใหม่ที่จะมาทดแทนของเก่าในอนาคตอีกด้วย บทความนี้ได้รวบรวมโครงการพัฒนาจรวดต่อสู้อากาศยานประจำเรือของอังกฤษในช่วงเวลาตั้งแต่ปี1980-2000 ที่มาของโครงการตลอดจนปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาจนถึงจุดสิ้นสุดของโครงการ

Light Weight Sea Dart  and Land Dart  
Sea Dart  เป็นจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกลพัฒนาโดย Hawker Siddeley Dynamics เริ่มต้นโครงการตั้งแต่ช่วงปี1950และเข้าประจำการจริงในปี 1973 จรวดรุ่นแรกสุดมีระยะยิงประมาณ40ไมล์ทะเลหรือ74กิโลเมตร ขณะที่รุ่นถัดมามีระยะยิงเพิ่มขึ้น2เท่าคือ80ไมล์ทะเลหรือ150กิโลเมตร อาวุธทันสมัยนี้ถูกติดตั้งอยู่บนเรือพิฆาต Type 82, Type 42 และเรือบรรทุกเครื่องบิน Invincible โดยใช้แท่นยิงแบบแขนคู่สามารถโหลดจรวดจากแม็กกาซีนด้านล่างได้จำนวน22-30นัด แม้ Sea Dart จะทันสมัยแต่ด้วยองค์ประกอบที่ว่ามาทำให้ต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก จึงมีปัญหาเหมือนชาติอื่นว่าติดตั้งกับเรือขนาดเล็กไม่ไหว

Light Weight Sea Dart  คือความพยายามในการแก้ปัญหานี้ โดยการนำจรวดมาบรรจุในกล่องชนิด4ท่อยิงแทนจึงมีน้ำหนักโดยรวมไม่มาก และที่สำคัญก็คือไม่ต้องใช้พื้นที่ด้านล่างเพิ่มเติมแต่อย่างใด บริษัทผู้ผลิตให้คำนิยามว่าสามารถติดตั้งบนเรือขนาด300ตันได้อย่างสบายมาก ในช่วงที่เปิดตัวมีการคาดการกันว่านี่คือ Sea Dart รุ่นส่งออกที่จะทำตลาดแข่งกับจรวดตระกูล Standard Missile ของอเมริกา โดยในช่วงแรกสุดเคยมีข่าวว่าจีนต้องการจะซื้อ Light Weight Sea Dart ไปติดตั้งบนเรือพิฆาตชั้น Type 051 Luda ของตัวเอง การทดลองยิงจรวดด้วยแท่นยิงรุ่นใหม่ผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหาแต่ไปมีปัญหาที่เรื่องอื่นๆแทน

     

                                                    การทดสอบยิง Light Weight Sea Dart ในปี1983

Land Dart  มีรูปร่างหน้าเหมือน Light Weight Sea Dart ไม่มีผิดโดยถูกออกแบบให้ใช้งานบนบกแทน โครงการนี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อทดแทนจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น Thunderbird ของกองทัพบกอังกฤษซึ่งได้ถูกใช้งานมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่2 และก็ยังล่วงเลยมาถึงโครงการทดแทนจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น Bristol Type 84 Bloodhound ของกองทัพอากาศอังกฤษในอีกหลายปีถัดมาด้วย โดยมีการเรียกชื่อใหม่ว่าระบบ Guardian ที่เป็นการจับคู่กันระหว่างจรวด Land Dartกับเรดาร์ Plessey GF75 Panther(ซึ่งปรับปรุงมาจากเรดาร์ควบคุมการยิง Marconi ST1802SW หรือ Type 910 รุ่นส่งออกนั่นเอง)



                                            แบบจำลอง Land Dart ถูกจัดเก็บเอาไว้ใน Bristol Collection

แต่ในท้ายที่สุดทั้ง Light Weight Sea Dart  และ Land Dart ก็ไม่ได้ผลิตใช้งานจริง ผู้เขียนพอคาดเดาเหตุผลได้ดังนี้

1 ผลงานของ Sea Dart ในสงครามฟอคแลนค์นับว่าไม่เลวเลยทีเดียว ระบบจรวดแท่นคู่บรรจุจรวดโดยอัตโนมัติทำให้มีอัตราการยิงที่สุงพอสมควร Sea Dart สามารถทำลายอากาศยานฝ่ายตรงข้ามได้7ลำรวมทั้งฝ่ายเดียวกันอีก1ลำด้วย แต่ในสงครามครั้งนี้อังกฤษต้องเสียเรือพิฆาตType 42จำนวน2ลำด้วยกัน ลำหลังจมลงหลังการต่อสู้กับฝูงบินโจมตีของอาเจนติน่าอย่างห้าวหาญแต่ลำแรกต่างหากที่เป็นปัญหา เพราะ Type 42คือเรือพิฆาตป้องกันอากาศยานรุ่นใหม่ล่าสุดของอังกฤษ ติดเรดาร์ที่ทันสมัยที่สุดและใช้จรวดที่ดีที่สุดเป็นอาวุธ แต่พวกเขากลับโดนโจมตีจากจรวดต่อต้านเรือรุ่น Exocet อย่างชนิดไม่ทันรู้ตัว ทำให้ชื่อเสียงของ Sea Dart ต้องหม่นหมองลงไปเป็นอย่างมาก 

2 ปัญหาสำคัญมากอย่างหนึ่งของ Sea Dart นั่นก็คือ จรวดรุ่นนี้มีระยะยิงหวังผลที่เหมาะสมอยู่ที่มากกว่า10กิโลเมตรขึ้นไป จึงเกิดเป็นจุดอ่อนขนาดใหญ่เมื่อมีจรวดบินเรี่ยผิวน้ำหลุดรอดเข้ามาในระยะไม่ไกลมาก (ผู้เขียน : ไม่ใช่ว่าต่ำกว่า10โลเมตรจะยิงไม่ได้นะครับ คิดว่าน่าจะยิงได้จนกระทั่งประมาณ3กิโลเมตรคือยิงไม่ทันแล้ว แต่ความแม่นยำจะลดน้อยลงตามความใกล้ของระยะทาง ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติของจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกลในยุคดังกล่าว เพียงแต่Sea Dart ค่อนข้างหนักหน่อยอาจจะเพราะเทคโนโลยีบางอย่างด้วย)

3 Light Weight Sea Dart ทำมาเพื่อส่งออกเป็นหลักมากกว่าเข้าประจำการในกองทัพเรืออังกฤษ คอนเซ็ปอันแสนทันสมัยที่พวกเขานำเสนอดูจะล้ำสมัยเกินไปหรือไม่ก็ล้าสมัยเกินไป การเอาจรวดระยะยิง80กิโลเมตรไปติดบนเรือตรวจการณ์300ตันก็ดี การเอาตู้คอนเทนเนอร์พร้อมจรวดและเรดาร์ควบคุมการยิง ไปติดบนเรือขนส่งสินค้าระวางขับน้ำหลายหมื่นตันก็ดี ล้วนแต่ไม่ค่อยเหมาะสมในการใช้งานจริงหรือยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ปัญหาเรื่องการตลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่พวกเขาเดินหมากผิดไป ส่วนกองทัพเรืออังกฤษเองก็ไม่มีแผนจะนำเข้าประจำการ เพราะไม่ได้ช่วยในเรื่องการป้องกันจุดอ่อนของเรือรบตนเองแม้แต่น้อย

           4 สำหรับ Land Dart น่าจะเข้าประจำการในกองทัพบกและกองทัพอากาศได้เลย ถ้าไม่ติดว่าโครงนี้ล่าช้ามากจนถึงมากที่สุด เพราะ Land Dart เริ่มโครงการช่วงต้นปี1960พร้อมๆกับSea Dart  โดยหวังจะเสร็จเรียบร้อยภายในช่วงปี1970 แต่จนแล้วจนรอดระบบที่ทันสมัยก็ยังไม่สมบรูณ์เสียที จนในที่สุดก็ถูกยกเลิกโครงการตามระเบียบพัก

          Sea Dart  ยังคงใช้งานกับกองทัพเรืออังกฤษบนเรือType42จนถึงปี2009 เคยมีการถกเถียงกันว่าทำไมอังกฤษไม่พัฒนาจรวด Sea Dart ให้ใช้งานท่อยิงแนวดิ่งได้เหมือนจรวดจากประเทศอื่นๆ หนึ่งในหลายคำโต้แย้งก็คือจรวดรุ่นนี้ใช้เครื่องยนต์ Ramjet จึงมีปัญหากับระบบVLSอยู่พอสมควร ยังไม่มีคำโต้แย้งที่มีน้ำหนักมากพอจากฝ่ายที่เห็นว่าทำได้                                                                                                                  

 

Light Weight Sea Wolf  and Sea Wolf  VM.40

จรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Wolf เริ่มเข้าประจำการในกองทัพเรืออังกฤษตั้งแต่ปี1979 เรือรบที่ติดจรวดรุ่นนี้ทุกลำกลับมาจากสงครามฟอคแลนด์ได้โดนสวัสดิภาพ British Aircraft Corporation เริ่มพัฒนา Sea Wolf ตั้งแต่ปี1974 เพื่อนำมาใช้งานทดแทนจรวด Sea Cat ที่ชราภาพเต็มทนแล้ว ปัญหาของจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นนี้อยู่ที่แท่นยิงแบบ6ท่อที่สร้างโดยบริษัทVickers เพราะมีน้ำหนักรวมสุทธิมากถึง13.5ตัน หนักเกินไปแล้วที่จะแบกสำหรับเรือรบระวางขับน้ำไม่มากนัก

Light Weight Sea Wolf    โครงการนี้เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของกองทัพเรืออังกฤษโดยตรง Rose Forgrove จะเอาแท่นยิงของจรวด Sea Cat มาปรับปรุงใหม่แล้วติดจรวด Sea Wolf เข้าไปแทนที่ ในท้ายที่สุดจึงได้แท่นยิงขนาดกระทัดรัดพร้อมจรวด4นัดอยู่ในพิกัด5ตันโดยประมาณ อังกฤษมีแผนจะนำ Light Weight Sea Wolf ไปติดตั้งบนเรือฟริเกต Type 12I Leander เพื่อทดแทนจรวด Sea Cat บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์, เรือพิฆาตType 42 Sheffield จำนวน2แท่นยิงกลางเรือ, เรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Invincibleจำนวน4แท่นยิงรอบตัวเรือ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยเสริมจุดอ่อนของจรวด Sea Dart ในระยะใกล้นั่นเอง

แต่แล้วโครงการนี้ก็เงียบหายไปจากความทรงจำของทุกคน ทั้งๆที่ระบบแท่นยิงพัฒนาเสร็จเรียบร้อยและมีแผนการอย่างชัดเจน รวมทั้ง Sea Wolf รุ่น GWS-27 ซึ่งเป็นจรวด fire-and-forget ที่เคยมีข่าวและถูกยกเลิกไปในปี1987ด้วย ปัญหาของ Light Weight Sea Wolf พอคาดเดาได้ดังนี้


1 ผู้เขียนเข้าใจว่าปัญหาสำคัญมาจากสงครามฟอคแลนด์เป็นหลัก อังกฤษใช้งบประมาณจำนวนมากไปในการรบและสูญเสียยุทธปัจจัยไปอีกมหาศาล นอกจากนี้กองทัพเรืออังกฤษเองยังต้องเร่งปลดประจำการเรือฟริเกต Type 21 Amazon ให้เร็วกว่าเดิม ขณะที่เรือฟริเกต Type 12I Leander ก็เก่ามากแล้วและมีแผนจะปลดประจำการตั้งแต่ปี1990เป็นต้นไป โดยมีแผนการที่จะสร้างเรือฟริเกตรุ่นใหม่ Type 23 Duke เพื่อนำมาทดแทนด้วยงบประมาณที่สุงพอสมควร

2 ปัญหาสำคัญมากอีกข้อหนึ่งก็คือจรวดต่อต้านเรือรุ่น Exocet ที่พวกเราคุ้นชื่อกันดี ประสิทธิภาพของอาวุธรุ่นใหม่เอี่ยมที่อังกฤษเองก็มีใช้งานดันสุงกว่าที่ทุกคนเคยประเมินไว้ การใช้จรวด Sea Wolf เป็นด่านสุดท้ายในการรับมือจึงถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาก ในที่สุดอังกฤษก็เลือกที่จะติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด (Close-in weapon system หรือ CIWS) แบบปืนบนเรือสำคัญๆของตนเองแทน Light Weight Sea Wolf ที่ดูแล้วคงรับมือไม่ไหว  ส่วนเรือฟริเกต Type 12I Leander ได้ใช้แท่นยิง Sea Wolf ชนิด6ท่อยิงน้ำหนัก13.5ตันรุ่นมาตราฐานทั่วไป เรือที่ได้รับการปรับปรุงใหม่จำเป็นต้องถอดปืนใหญ่4.5นิ้วที่หัวเรือออก เพราะโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบกน้ำหนักแท่นยิงชนิดนี้ไม่ไหว

3 ปัญหาข้อสุดท้ายที่ส่งผลกระทบก็คือ จรวดรุ่นที่ยิงจากท่อยิงแนวดิ่ง Vertical launch (VL) Sea Wolf ถูกพัฒนาเสร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว เรือฟริเกตType 23 Dukeสามารถบรรทุกจรวด VL Sea Wolf ได้ถึง32นัด จรวดรุ่นใหม่ได้ติดตั้งระบบบูทเตอร์เข้าไปด้วยทำให้มีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น10กิโลเมตร มากเพียงพอกับความต้องการจนกองทัพเรืออังกฤษไม่ติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิดบนเรือฟริเกตลำนี้เลย และเป็นการปิดฉาก Light Weight Sea Wolf ไปโดยปริยาย


                                               การทดสอบยิง Light Weight Sea Wolf


Sea Wolf  WM.40   เป็นความร่วมมือกันระหว่าง British Aircraft Corporation กับ Signaal เพื่อพัฒนาโครงการระบบป้องกันจรวดต่อต้านเรือเฉพาะจุดน้ำหนักเบา (lightweight point defence anti-missile system) ขึ้นมาเพื่อบุกตลาดโลก โดยฝ่ายอังกฤษจะใช้จรวด Sea Wolf ติดตั้งอยู่ในแท่นยิงแขนแฝดของ Vickers โดยมีระบบโหลดจรวดจากแม็กกาซีนด้านล่างด้วยกลไกคล้ายกับจรวดราคาแพงในยุคนั้น ส่วนทาง Signaalจะใช้ระบบเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่น  VM.40ในการค้นหาเป้าหมายและนำวิถีจรวด ( เรดาร์ตัวนี้รู้จักกันภายหลังในชื่อ STIR180 ) และยังมีออปชั่นพิเศษคือทั้งระบบเรดาร์ควบคุมการยิงและแท่นยิงจรวดสามารถติดตั้งบนตู้คอนเทนเนอร์ได้ ภายใต้ตู้คอนเทนเนอร์มีจรวด Sea Wolf อีก8นัดนับว่ามากพอสมควร 

โครงการนี้เปิดตัวอย่างสวยหรูแต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ส่วนหนึ่งเพราะคำว่าความล่าช้าอีกแล้ว และมีคำนินทาว่าอังกฤษเองดึงเกมส์ไว้เพื่อขายจรวดSea Catรุ่นเก่าให้หมดก่อน ล่วงเลยมาจนเข้าสู่ช่วงปี1980ระบบนี้จึงมีออปชั่นเพิ่มมากขึ้น เรดาร์ควบคุมการยิง Marconi ST1802SW ของอังกฤษเองถูกใส่เข้ามาในโครงการ พร้อมกับแท่นยิงอีก3แบบที่เคยสงวนไว้ใช้งานกับเรืออังกฤษเท่านั้น ปัญหาเรื่องความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นทำให้Signaalถอนตัวออกไป หลังจากนั้นไม่นานนักโครงการนี้ก็ปิดตัวลง และนอกจากนี้แล้วจรวด Exocet ยังตามมาหลอกหลอนอีกครั้งหนึ่ง เพราะประสิทธิภาพของจรวด Sea Wolf ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถทำตามชื่อโครงการได้ ประกอบกับ VL Sea Wolf ถูกพัฒนาสำเร็จแล้วบริษัทผู้ผลิตจึงหันไปทุ่มเทให้กับด้านนี้มากกว่าแทน



                    ภาพจำลองการติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์ระบบ Sea Wolf  VM.40บนเรือขนส่งขนาดใหญ่

 
                                ออปชั่นของระบบจรวด Sea Wolf  ที่มีการผลิตจริงแค่เพียงไม่กี่แบบ 


ผู้เขียนของแสดงความเห็นส่วนตัวนิดหนึ่งครับ ในเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อวงการอุตสาหกรรมจรวดต่อสู้อากาศยานของอังกฤษมากพอสมควร ถ้าในปี1982 Light Weight Sea Wolf ถูกติดตั้งอยู่บนเรือพิฆาต Type 42 Sheffield เรียบร้อยแล้ว และในระหว่างสงครามฟอคแลนด์จรวด Sea Wolf สามารถจัดการกับจรวด Exocet ลูกนั้นที่วิ่งตรงเข้ามาต่อหน้าต่อตาได้ งานนี้จะเป็นการพลิกโลกทั้งใบไปเลยทีเดียว จรวด Sea Wolf จะขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าส่วนระบบ Sea Wolf  WM.40 จะมีใช้งานไปทั่วโลก ทั้งนี้ทั้งนั้นยังอาจรวมมาถึงเรือคอร์เวตชั้นรัตนโกสินทร์ของไทยอีกด้วย เพราะเราเองก็เป็นลูกค้าเก่าแก่กันมาก่อนตั้งแต่จรวด Sea Cat แล้ว

หลังจากโครงการทั้ง2ถูกยกเลิกไป กองทัพเรืออังกฤษก็เปลี่ยนแนวความคิดใหม่ พวกเขาต้องการระบบป้องกันตนเองระยะใกล้สัญชาติอังกฤษแท้ๆเพื่อใช้งานบนเรือรบตนเอง และนี่ก็คือที่มาของโครงการต่อไปที่ผู้เขียนจะนำเสนอ

naval SHOrt Range Air Defence Systems

โครงการ Naval Short Range Air Defence Systems หรือ NAVAL SHORADS คือโครงการพัฒนาระบบอาวุธป้องกันตนเองระยะใกล้ของอังกฤษ ซึ่งมีความใกล้เคียงกับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด (Close-in weapon system หรือ CIWS) ของประเทศอื่นๆ ภายในโครงการนี้มีอยู่ด้วยกัน3ระบบที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะชนมากเป็นพิเศษ

Bofors RBS-70   ในเดือนธันวาคม 1986 หนังสือ” World Naval Developments” ได้ลงภาพและข้อมูลระบบแรกสุดของโครงการโดยใช้ชื่อง่ายๆว่า Bofors RBS-70 โดยเป็นแท่นยิงขนาดเล็กบรรจุจรวด RBS-70จำนวน4นัดพร้อมอุปกรณ์ช่วยเล็ง ใช้ระบบนำวิถีด้วยเลเซอร์จาก Signaal LIOD optronic director ซึ่งมีรัศมีทำการอยู่ที่10กิโลเมตร โดยที่ระบบต่างๆถูกพัฒนาโดย Signaal ทั้งหมด ตัวจรวดเองนำวิถีด้วยเลเซอร์มีระยะทำการอยู่ที่ประมาณ5กิโลเมตร พูดง่ายๆนี่คือ RBS-70รุ่นใช้งานทางทะเลบนเรือรบนั่นเอง มีการนำเสนอด้วยรูปแบบแตกต่างกันออกไปบ้างตามกาลเวลา แต่ไม่มีต้นแบบของจริงออกมาให้เห็น (หรือผู้เขียนอาจหาไม่เจอ)

Seastreak   ระบบแรกสุดของโครงการนี้ใช้จรวดจรวดต่อสู้อากาศยานแบบประทับบ่ายิง (man-portable surface-to-air missile หรือ MANPADS)จากสวีเดน แต่อีก2ระบบต่อมาจะใช้2พี่น้องจากเมืองผู้ดีนั่นก็คือจรวด Starburst และ Starstreak ที่กำลังพัฒนาอยู่ Seastreak คือชื่อเรียกโครงการ นำจรวด Starstreak มาใช้งานบนเรือรบ  ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับจรวดต่อต้านเรือรบทั้งในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า แท่นยิงมีขนาดกระทัดรัดน้ำหนักรวมประมาณ1ตันนิดๆ ติดจรวดทั้ง2ด้านรวมกันมากถึง24นัด Seastreak จะทำงานในโหมดอัตโนมัติทั้งหมด มีทั้งเรดาร์ตรวจการณ์, เรดาร์ติดตามเป้าหมาย และ electro-optics ช่วยในการจัดการเป้าหมาย สามารถยิงจรวดในโหมดซัลโวได้ ติดระบบควบคุมความเสถียรของแท่นยิง และมีแบตเตอรี่สำรองเผื่อไว้ด้วย อังกฤษตั้งใจใช้เป็นCIWSบนเรือรบรุ่นใหม่ของตนเองทั้งหมด เช่นเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ Type 45 Daring  เรือฟริเกต Type 26 จนไปถึงเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่





                                           ภาพวาดเรือรบอังกฤษติดระบบ Seastreak


The Naval Multiple Launcher (NML) ระบบNMLมีแท่นยิงขนาดเล็กน้ำหนักเบาความสุงไม่ถึง2เมตรดี ติดตั้งจรวดได้รวมทั้งหมด6นัดด้วยกันพร้อมอุปกรณ์ช่วยเล็งในตัว  ระบบควบคุมการยิงมีเซนเซอร์ติดตามเป้าหมายและกล้องจับภาพความร้อนในตัว ค้นหาเป้าหมายด้วยระบบอินฟาเรดและนำวิถีด้วยระบบเลเซอร์ ติดตั้งจรวด Starburst มีระยะยิงหวังผลอยู่ที่4กิโลเมตรเทียบเท่ารุ่นใช้งานบนบก การทดลองยิงผ่านไปได้ด้วยดีทุกอย่างทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ





                                     การทดสอบยิง Naval Multiple Launcher ด้วยจรวด Starburst


                อาวุธจรวดทั้งสองระบบถูกนำเสนอภายในงาน RNEE 1991 รวมทั้งหนังสือ "Warship Technology" ของเดือนตุลาคมปีนั้นด้วย จากนั้นไม่นานก็มีการนำไปประกอบภาพวาดเป็นจำนวนมาก แต่จนแล้วจนรอดโครงการนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นเสียที แล้วในที่สุด2พี่น้องก็ค่อยๆเลือนหายไปจากสาระบบกองทัพเรืออังกฤษ

ไม่มีการเปิดเผยว่าทำไมโครงการ NAVAL SHORADS จึงไม่ได้รับการสั่งซื้อเข้าประจำการ มีเพียงการคาดเดาจากคนอังกฤษเองไว้หลายประเด็นด้วยกัน สำหรับ Bofors RBS-70ไม่ใช่เรื่องยากนักเพราะไม่ใช่จรวดของอังกฤษ แต่กับ Seastreak ที่คอนเซ็ปดีมาก และยัง NML ที่ราคาไม่แพงน่าจะได้ไปต่อ ผู้เขียนพอสรุป3ปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบกับโครงการนี้ได้ นั่นก็คือ

1 โครงการนี้ยังต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มอีกมาก ประกอบกับการแข่งขันระบบCIWSในช่วงนั้นค่อนข้างสุงมาก ประเทศใหญ่ๆในยุโรปล้วนกำลังพัฒนาระบบนี้ของตัวเองอยู่ มีทั้งระบบใช้จรวดเหมือนกันหรือใช้อาวุธปืนหลายลำกล้องรวมทั้งใช้2แบบติดอยู่บนแท่นเดียว ทำให้อนาคตในการส่งออกต้องมองไปที่ประเทศในโลกที่3เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ขณะที่การจัดหาจากประเทศพันธมิตรจะมีราคาที่ถูกกว่า

2 ระบบแท่นยิงมีปัญหาในเรื่องของความเร็ว ตัวแท่นก็เร็วตามปรกตินะครับแต่ยังเร็วไม่พอสำหรับการยิงจรวดแบบซัลโวในหลายทิศทาง ปัญหาข้อนี้ระบบRAMจากฝั่งอเมริกากับเยอรมันก็เคยเจอเหมือนกันแต่พวกเขาแก้ไขได้ผลชะงัด ทางอังกฤษเองพยายามแล้วในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ได้ผลตอบแทนที่ดี ไม่รู้เหมือนกันว่าRAMเมืองจีนทำเรื่องนี้ได้ดีมากน้อยแค่ไหน

3 ปัญหาสำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่งก็คือระบบติดตามเป้าหมายโดยอัตโนมัติด้วยเลเซอร์ ระบบยังมีความเร็วไม่มากพอที่จะติดตามจรวดต่อต้านเรือที่มีขนาดเล็กและความเร็วสุงได้ดี เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่เทคโนโลยีนำวิถีด้วยเลเซอร์ในสมัยนั้นและสมัยนี้ยังก้าวไม่พ้น Seastreak และ NML มีผลการทดสอบที่ไม่ดีพอที่จะให้ผ่านไปได้ สุดท้ายอังกฤษก็กลับไปใช้ระบบCIWSแบบปืนจากประเทศพันธมิตรเหมือนเดิมต่อไป

                ภาคผนวก

                แม้ Seastreak และ NMLจะถูกยกเลิกโครงการไป แต่แนวความคิดในการนำจรวดขนาดเล็กนำวิถีด้วยเลเซอร์ยังคงถูกพัฒนาต่อ Starstreak ถูกจับมาแปลงร่างลดความเร็วลงจาก3.5มัคเหลือแค่1.5มัค Lightweight Multirole Missile (LMM) คือจรวดเอนกประสงค์พื้นสู่พื้น, อากาศสู่พื้น  อากาศสู่อากาศและพื้นสู่อากาศในบางกรณี จรวดมีขนาดเล็กสามารถติดตั้งกับเฮลิคอปเตอร์, อากาศยานไร้นักบิน, และเรือรบขนาดต่างๆได้ แม้จะไม่สามารถยิงจรวดต่อต้านเรือความเร็วสุงได้ผลดีเท่าไหร่ แต่กับเรือรบด้วยกันเอง,เป้าหมายบนบก,  เฮลิคอปเตอร์รวมทั้งเครื่องบินเล็กล้วนไม่เกินความสามารถ จรวดอเนกประสงค์ขนาดเล็กแบบนี้กำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศอื่นๆก็เริ่มทยอยนำเข้าประจำการกันมากขึ้น

                                                       Lightweight Multirole Missileกับอากาศยานไร้นักบิน


แม้อังกฤษจะเสียเวลาเปล่า20ปีเต็มๆในการพัฒนาจรวดต่อสู้อากาศยานประจำเรือรบรุ่นใหม่ แต่พวกเขาเองไม่ได้ย่อท้อและยังคงมุ่งมั่นต่อไปจนบังเกิดผลในท้ายสุด แม้ Sea Dart จะถูกทดแทนระบบ Sea Viper หรือ Principal Anti Air Missile System หรือ PAAMS โดยใช้จรวด ASTER15 และ ASTER30 ที่พวกเราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่จรวด Sea Wolfกำลังจะถูกทดแทนด้วยจรวด Sea Ceptor หรือ CAMM (Common Anti-Air Modular Missile) รุ่นใช้งานทางทะเลเป็นของอังกฤษเอง จรวดรุ่นนี้ถูกพัฒนามาจากจรวด AIM-132 ASRAAM (Advanced Short Range Air-to-Air Missile) ซึ่งเป็นรุ่นใช้งานกับเครื่องบินรบ จรวดมีเรดาร์นำวิถีอยู่ในตัวจึงมีความแม่นยำสุงมาก ทั้งยังมีขนาดเล็กสามารถใส่ในท่อยิงแนวดิ่งเฉพาะของตัวเองหรือของชาติพันธมิตรต่างๆได้ ดูเหมือนแนวทางในการพัฒนารูปแบบนี้จะมีความสำเร็จค่อนข้างสุง ในอนาคตข้างหน้าเราคงได้เห็นจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่ๆจากอังกฤษเพิ่มเติมมากขึ้น ผู้เขียนคาดเดาว่าคงจะมาจากรุ่นที่ใช้งานบนเครื่องบินอีกกระมังครับ




          -------------------------------------------------------------------------------------------------