วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

Multi-Role Combat Vessel

ยามแรกพิศ พบพักตร์ ทักใช่แน่    เรือยานแม่ มาแล้ว น้องแก้วเอ๋ย
ครบหนึ่งปี เด็จพี่ ร้องไห้เลย          เมื่อทรามเชย เผยชาติ พิฆาตใจ
วันที่ 8 มิถุนายน 1988 RSS Victory (P 88) เรือคอร์เวตลำแรกของกองทัพเรือสิงคโปร์ ได้ทำพิธีปล่อยลงน้ำที่อู่ต่อเรือ Lurssen ประเทศเยอรมันตะวันตก ก่อนเข้าประจำการวันที่ 18 สิงหาคม 1990 เพราะเป็นเรือลำแรกจากจำนวน 6 ลำ จึงกลายเป็นชื่อชั้นเรือไปด้วยเลย เรามาพิจารณาอาวุธต่างๆ บนเรือลำนี้ ไล่จากหัวเรือไปท้ายเรือเพื่อความสะดวก


ปืนใหญ่ OTO Melara 76/62 มม. เรดาร์ตรวจการณ์ Sea Giraffe 150 HC ระยะตรวจจับ 100 กิโลเมตร พร้อมเรดาร์เดินเรือ Kelvin Hughes 1007 อีก 1 ตัว ในภาพยังไม่ได้ติดเรดาร์ควบคุมการยิง กลางเรือเป็นแท่นยิงจรวดปราบเรือรบ Harpoon เลยไปหน่อยเป็นแท่นยิงตอร์ปิโดเบาแฝดสามสำหรับ Whitehead A 244S ตรงกลางเป็น SATCOM เพื่อการสื่อสาร ต่อกันด้วยเรือยางพร้อมเครนขนาดค่อนข้างเล็ก ปิดท้ายด้วยโซนาร์ลากท้าย Thomson Sintra TSM 2064
เรือในยุคนั้นจัดเต็มเรื่องสงครามอิเลคทรอนิกส์ ระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ใช้ Elisra SEWS ระบบก่อกวนเรดาร์ใช้ Rafael RAN 1101 มีระบบพิสูจน์เป้าหมาย ใช้ระบบอำนวยการรบของ Elbit รวมทั้งระบบเป้าลวง Plessey Shield รุ่น 9 ท่อยิงอีก 2 แท่น เรือคอร์เวตชั้น Victory คือเรือรบที่ดีที่สุดทันสมัยที่สุดของสิงคโปร์


ภาพถัดไปเป็นเรือชั้นเดียวกันในปัจจุบัน ชื่อเรือ RSS  Valiant (P 91) สังกัดกองเรือที่ 188 หมวด 1 มีการปรับปรุงเรือให้ทันสมัยมากขึ้น เปลี่ยนมาใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB ระยะตรวจจับ 180 กิโลเมตร เรดาร์ควบคุมการยิง Elta EL/M-2221 เพิ่มเป็น 2 ตัว ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน Barak I ถึง 16 ท่อยิง ถอดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำกับโซนาร์ลากท้ายออก ท้ายเรือกลายเป็นแท่นปล่อยอากาศยานไร้คนขับ รวมทั้งมีเรดาร์ควบคุมการยิง (หรือเปล่า?) อีก 2 ตัว
แบบเรือขนาด 62 เมตรของอู่ต่อเรือ Lurssen ขายดีมากๆ เริ่มจากเรือชั้น Kilic ของตุรกีจำนวน 9 ลำ โดยเรียกว่าเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี เรือชั้น Victory ของสิงคโปร์จำนวน 6 ลำ เรือชั้น Muray Jib ของ UAE จำนวน 2 ลำ ยาวกว่าเดิม 3 เมตรมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือ รวมทั้งเรือชั้น  Al-Manama ของบาห์เรนอีกจำนวน 2 ลำ มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือเหมือนเรือ UAE นับรวมกันทุกประเทศจำนวนมากถึง 19 ลำ
เรือคอร์เวตชั้น Victory เป็นกระดูกสันหลังของสิงคโปร์มาอย่างยาวนาน ถึงแม้มีการปรับปรุงจนเพื่อนบ้านยังแอบเคือง แต่เริ่มชราภาพและทำภารกิจในปัจจุบันได้ไม่ดี ปี 2018 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ผุดแผนจัดหาเรือรุ่นใหม่ เข้ามาทดแทนในอนาคตที่ไม่ใกล้ไม่ไกล โดยกำหนดคุณสมบัติเรือไว้อย่างสวยหรูว่า
Function as ’Mothership’ for unmanned systems
                แล้ว Mothership คืออะไร? ง่ายๆ ก็คือเรือที่บรรทุกเรือลำเล็กมาด้วยกัน แต่ต้องไม่ใช่อุปกรณ์เสริมของเรือลำนั้น เพราะฉะนั้นเรือบดก็ดี เรือยางก็ดี แพช่วยชีวิตก็ดี สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอุปกรณ์เสริมบนเรือ แต่คำนิยามเป็นเพียงข้อกำหนดทั่วไป ไม่จำเป็นต้องทำตามกันทุกประเทศ ปัจจุบันมีเรือ Mothership แท้ๆ ประจำการหรือยัง? เท่าที่เห็นยังครับแต่ในอนาคตจะเริ่มมีเข้ามาเรื่อยๆ โดยหนักไปทางเรือสนับสนุนภารกิจต่อต้านทุ่นระเบิด วันนี้ผู้เขียนมีแบบเรือ Mothership น่าสนใจมาให้ชม



                ลำนี้คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งบรรทุกยานผิวน้ำไร้คนขับ เรียกชื่อสั้นๆ ว่า USV OPV ของบริษัท UCL ของแปลกแบบนี้หาได้จากประเทศเดียว เรือมีความยาว 104 เมตร ระวางขับน้ำ 3,000 ตัน ติดปืนกลอัตโนมัติ Mk-46 30 มม.4 กระบอก แท่นยิง TETRAL สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน Mistral อีก 2 แท่น (จำนวนรวม 8 นัด) บรรทุก USV มาด้วยกันมากสุด 6 ลำ มีเรือยาง RHIB แยกต่างหากอีก 2 ลำ ท้ายเรือมีลานจอดพร้อมโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบพับได้
ตัวเรือ USV ส่วนใหญ่จะจมใต้น้ำ โผล่ขึ้นมาแค่เรดาร์กับจรวดเอนกประสงค์นำวิถีเลเซอร์ เท่ากับ USV มีคุณสมบัติ Semi-Submersible ฉะนั้นฝ่ายตรงข้ามตรวจจับค่อนข้างยาก ถ้าพูดว่า ‘Mothership’ หรือยานแม่ก็ต้องลำนี้เลย แต่อังกฤษไม่รู้จะเอาไปทำอะไรจึงไม่ซื้อ ในอนาคตถ้าภัยคุกคามเปลี่ยนแปลงจากเดิม อาจเห็นพวกเขาส่งเรือลำนี้พร้อม USV รุ่นดำครึ่งตัว ไปคุ้มกันเรือน้ำมันจากกองทัพเรืออิหร่านก็เป็นได้ บอกแล้วเรื่องคิดไปเองผู้เขียนเก่งไม่แพ้ใคร
กลับมาที่ประเทศสิงคโปร์กันอีกครั้ง หลังประกาศเดินหน้าโครงการเรือรบรุ่นใหม่ พวกเขาได้ตั้งชื่อโครงการให้ปวดหัวเล่นว่า Multi-Role Combat Vessel หรือ MRCV โดยจะเข้ามาทดแทนเรือคอร์เวตชั้น Victory ภายในปี 2025 และนี่ก็คือภาพกราฟิกภาพแรกของโครงการ MRCV


เหมือนเอาเรือตรวจการณ์ LMV ชั้น Independence มาขยายความยาว แล้วใส่โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เพิ่มเขามา แต่ผู้อ่านต้องเข้าใจสักนิดว่า เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มประกาศจัดตั้งโครงการ คนวาดภาพยังไม่มีข้อมูลอะไรในมือ เพราะฉะนั้นยานแม่ของจริงจะไม่ตรงตามนี้ ยานลูกทั้งที่อยู่ผิวน้ำหรือบนอากาศก็เช่นกัน ถ้าเข้าใจตามนี้ก็จะเข้าใจทุกอย่างไปด้วย
ข้อมูลของแบบเรือ MRCV ลำแรกสุด ระวางขับน้ำ 4,000 ตัน ยาว 120 เมตร กว้าง 16 เมตร ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะทำการ 6,000 ไมล์ทะเลหรือ 11,112 กิโลเมตร ทดตัวเลขทั้งหมดไว้ในใจก่อนนะครับ


ทีนี้เรามาดูยานลูกกันบ้าง เริ่มจากอากาศยานไร้คนขับ ScanEagle น้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม บินได้เร็วสุด 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ติดอุปกรณ์ตรวจจับที่ส่วนหัว อเมริกาใช้งานในอิรักมาอย่างโชกโชน นำมาติดกับเรือขนาดเล็กได้อย่างลงตัว ส่วนยานผิวน้ำไร้คนขับรุ่น Protector ต้นฉบับที่แท้จริงมาจากอิสราเอล ระวางขับน้ำ 4 ตัน ยาว 9 เมตร ความเร็วสูงสุด 50 นอต มีทั้งเรดาร์เดินเรือกับอุปกรณ์ตรวจจับเป้าหมาย ติดปืนกลอัตโนมัติขนาดเล็กไว้ที่หัวเรือ
ยานลูกทั้ง 2 รุ่นถูกใส่ไว้ในยานแม่ขนาด 4,000 ตัน ยังไม่ค่อยสมจริงสมจังในการทำภารกิจ เพราะยานผิวน้ำไร้คนขับขนาดเล็กมาก และทำภารกิจสกัดกั้นได้เพียงอย่างเดียว สมควรป้องกันชายฝั่งหรือท่าเรือมากกว่า ส่วนอากาศยานไร้คนขับยิ่งไปกันใหญ่ เก่าแล้วและค่อนข้างยุ่งยากเมื่อใช้งานบนเรือ แต่ก็อย่างที่ผู้เขียนบอกไปตั้งแต่แรก คนวาดภาพยังไม่มีข้อมูลอะไรในมือ จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์ปัจจุบันเข้าไปเติมเต็ม
เวลาเดียวกับที่เริ่มเดินหน้าโครงการ MRCV สิงคโปร์ต้องการจัดหาเรือใหม่ทดแทนเรือยกพลขึ้นบก ใช้ชื่อโครงการให้ปวดหัวซ้ำซ้อนว่า Joint Multi Mission Ship หรือ JMMS มาทำความรู้จักเรือลำเดิมกันเสียก่อน ในภาพคือเรือชั้น Endurance ซึ่งสิงคโปร์สร้างเองจำนวน 4 ลำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 8,500 ตัน ยาว 141 เมตร กว้าง 21 เมตร กินน้ำลึก 5 เมตร ให้สังเกตว่าใช้เรดาร์อิสราเอล มีเรือระบายพลยาว 13 เมตรสองกราบเรือถึง 4 ลำ รวมทั้งหัวเรือมีเครนตัวเล็กติดไว้ด้วย


สิงคโปร์เรียกเรือชั้น Endurance ว่าเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่หรือ LST แต่เป็นเรือ LST รุ่นใหม่ไฉไลยิ่งกว่าเดิม หัวเรือสามารถเปิดกว้างเพื่อยื่นสะพานออกไป ให้รถถังที่บรรทุกมาเดินทางขึ้นสู่ฝั่ง เพียงแต่ท้องเรือไม่ได้เป็นทรงป้านเหมือนเดิม ฉะนั้นวิ่งเกยหาดได้แต่ถอยหลังกลับไม่ได้ (ติดแหงก) ข้อดีก็คือสามารถทรงตัวได้เหมือนเรือทั่วไป นาวิกโยธินไม่เมาคลื่นลมเหมือนกับแต่ก่อน บริเวณท้ายเรือมีอู่ลอยขนาดใหญ่มาก ใส่เรือลำเลียงพลความยาว 25 เมตรได้ถึง 2 ลำ


ว่ากันว่าภาพถ่ายใบเดียวอธิบายครบทุกอย่าง ภาพใบนี้มีทุกคำตอบให้คุณแล้ว เห็นลำเล็กๆ แต่บรรทุกรถถังได้ถึง 18 คัน นาวิกโยธินพร้อมอาวุธ 350-500 นาย โดยใช้พลประจำการแค่เพียง 85 นาย จิ๋วแต่แจ๋วแล้วยังเจ๋งจริงๆ นะจ๊ะจ๋า
มาที่ภาพวาดเรือ JMMS ลำแรกสุดกันบ้าง คล้ายคลึงเรือชั้น Endurance พองลม โดยมีระบบเรดาร์ทันสมัยกว่าเดิม ระวางขับน้ำ 24,000 ตัน ยาว 200 เมตร กว้าง 32 เมตร ความเร็วสูงสุด 20 นอต ระยะทำการ 20,000 ไมล์ทะเลหรือ 37,040 กิโลเมตร รองรับอากาศยานทุกชนิดรวมทั้งเครื่องบิน F-35B


เป็นภาพแรกเริ่มประกาศจัดตั้งโครงการ ฉะนั้นหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไป ง่ายๆ เลยก็คือเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ คงไม่เอา S-70B ซึ่งใช้ปราบเรือดำน้ำมาขนนาวิกโยธิน กองทัพอากาศสิงคโปร์มี Super Puma 32 ลำ กับ H225M อีกตั้ง 16+16 ลำ น่าจะเหมาะสมกับภารกิจนี้มากกว่า ส่วนกองทัพเรือสิงคโปร์ไม่มีอากาศยานแต่อย่างใด สำหรับโครงการ JMMS ขอพาดพิงถึงแค่เพียงเท่านี้ มีโอกาสอาจได้เป็นพระเอกตัวจริงในอนาคต
ถึงบรรทัดนี้ผู้เขียนขอสารภาพซื่อๆ ว่า ข้อมูลทั้งหมดเตรียมไว้ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2018 หรือผ่านมาแล้ว 1 ปีเศษ เขียนบทความตั้งแต่วันนั้นเลยก็ยังได้ แต่ข้อมูลที่มีในมือน้อยเกินไป ถ้าเขียนจริงๆ คงวนไปวนมาว่า ยานแม่มาแล้ว สิงคโปร์เขาไปไกลแล้ว แต่ไม่มีรายละเอียดของโครงการสักนิด ผู้เขียนตัดสินใจดองเค็มกระทั่งครบ 1 ปีจึงหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น
โครงการ MRCV มีความชัดเจนมากกว่าเดิม เริ่มกันจากภาพกราฟิกรัฐบาลสิงคโปร์ แสดงขอบเขตการปฏิบัติงานของกองทัพเรือ เริ่มจากพื้นที่ Homeland Security เรียกแบบไทยๆ ก็คือพื้นที่ใกล้ฝั่ง ใช้เรือตรวจการณ์ LMV ชั้น Independence กับยานผิวน้ำไร้คนขับ และอากาศยานไร้คนขับช่วยกันดูแลรอบเกาะ


ทำไมสิงคโปร์เอาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมาใช้ใกล้ฝั่ง? เพราะว่าลำนี้เล็กที่สุดของกองทัพเรือแล้ว
พื้นที่ชั้นสองเรียกว่า Singapore and her sea line of communications หรือ SLOCs เรียกแบบไทยๆ ก็คือพื้นที่ไกลฝั่ง ใช้เรือฟริเกตชั้น Formidable กับเรือดำน้ำ Type 208SG ช่วยกันดูแล เป็นพื้นที่ทำการรบจริงอะไรทำนองนี้ ส่วนที่อยู่ไกลสุดคือพื้นที่ International Contributions เรียกแบบไทยๆ ก็คือพื้นที่ทะเลหลวง เรือจากโครงการ MRCV จะอยู่ในส่วนนี้ รวมทั้งพื้นที่ SLOCs ด้วย หรือเรียกง่ายๆ ว่ารับงานสองกะ ส่วนเรือจากโครงการ JMMS อยู่ไกลลิบลับลำเดียว
จากภาพกราฟิกหมายความว่าอย่างไร? หมายความสิงคโปร์จะโกอินเตอร์นั่นเอง เรือรุ่นใหม่ของนอกจากใช้ป้องกันประเทศ ยังสามารถเข้าร่วมกับนานาชาติเพื่อทำภารกิจมากมาย ทั้งการรักษาความปลอดภัย ช่วยเหลือภัยพิบัติทางธรรมชาติ ช่วยเหลือภัยพิบัติจากสงคราม หรือขนย้ายพลเรือนจากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่ง เรือ JMMS ขนาด 24,000 ตันทำหน้าที่แบกของหนัก ส่วนเรือ MRCV ทำหน้าที่คุ้มกันตลอดเส้นทาง แต่ถ้าชาติมีภัยคุกคามก็สามารถกลับมาช่วยเหลือได้


ภาพถัดไปชักเริ่มเป็นรูปเป็นร่างกว่าเดิม แบบเรือ MRCV ชักเริ่มคล้ายคลึงเรือฟริเกต Formidable มีท่อยิงแนวดิ่งมากถึง 32 ท่อยิง มีเรดาร์ 3 มิติทันสมัยแบบติดถาวร 4 ด้าน อากาศยานไร้คนขับเปลี่ยนรุ่นใหม่ ยานผิวน้ำไร้คนขับก็เปลี่ยนรุ่นใหม่ รวมทั้งมีการเปิดตัวยานใต้น้ำไร้คนขับ เท่ากับว่าตอนนี้มียานลูก 3 แบบด้วยกัน
ข้อมูลในภาพไม่ได้บอกที่มาที่ไป ปีเข้าประจำการเลื่อนไปเป็น 2030 ส่วนรายละเอียดไม่ได้ลงลึกมากนัก แล้วยังเน้นแต่พื้นที่ SLOCs เท่านั้น หมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าข้อมูลยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ได้มาเยอะสามารถระบุบางอย่างได้ ยังต้องตามดมกลิ่นกันต่อทุกคนตามข้าพเจ้ามา
และภาพนี้เองที่เฉลยทุกปริศนาคาใจ นี่คือแบบเรือชื่อ Vanguard 130 ของบริษัท ST Engineering พร้อมกับรายละเอียดเรือรบรุ่นใหม่เอี่ยมอ่อง ที่อ่านยังไงก็เหมือนเซิร์ฟเวอร์รุ่นใหม่อยู่ดี


ไล่จากหัวเรือไปท้ายเรือนะครับ ปืนใหญ่ OTO Melara 76/62 มม.มีท่อยิงแนวดิ่งจำนวน 32 ท่อยิง สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน Aster ต่อด้วยระบบเป้าลวงจรวด Sagem NGDS แบบหมุนแท่นยิงได้ สะพานเดินเรือมีปืนกลอัตโนมัติ 12.7 มม.ทั้งสองกราบ ใช้ระบบเรดาร์ Phased Array แบบฝัง 4 ด้าน มาพร้อมระบบออปโทรนิกส์ STELOP 360 ซึ่งติดกล้องจำนวน 4 จุดจุดละ 5 ตัว เพื่อตรวจสอบพื้นที่รอบตัวเรือตลอด 24 ชั่วโมง
กลางเรือเป็นแท่นยิงจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ช่องปล่อยตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำน่าจะอยู่ใกล้กัน (ถ้ามี) กลางเรือจะเป็นช่องปล่อยเรือเล็กขนาดใหญ่ ใส่ยานผิวน้ำไร้คนขับไว้ตรงนี้ ส่วนด้านบนเป็นระบบเป้าลวงตอร์ปิโด WASS C310 แบบหมุนได้ ถัดจากช่องปล่อยเรือเล็กเป็น Flushed side door สำหรับปล่อยยานใต้น้ำ ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ 25 มม.ไว้อีก 2 กระบอก ลานจอดรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 15 ตัน หรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module จำนวน 8 ตู้ ใต้ลานจอดเป็น Mission Deck ขนาดเบ้อเริ่มเทิ่ม ขอพักดมยาดมตราโป๊ยเซียน 5 นาที
เขียนมาตั้งเยอะยังไม่หมดนะครับ รบกวนผู้อ่านช่วยอ่านเองเพราะเมื่อยนิ้วแล้ว Vanguard 130 เป็นแบบเรือฟริเกตลำใหญ่ที่สุดของ ST Engineering ลืมบอกไปว่าใช้สะพานเดินเรือที่มีมุมมอง 360 องศา ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่สมัยนิยมปัจจุบัน ราชนาวีไทยก็มีโอกาสใช้งานสะพานเดินเรือแบบนี้ ถ้าเลือกแบบเรือ Damen OPV2400 ในโครงการเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดลำใหม่ ทดแทนเรือหลวงถลางในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า


ภาพสุดท้ายมีข้อมูลชัดเจนและครบถ้วน จนทำให้ใครหลายคนเกิดคำถามว่า นี่คือเรือพิฆาตของสิงคโปร์หรือเปล่า? เพราะเรือมีคุณสมบัติมากเพียงพอที่จะเป็น ผู้เขียนขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพ
1.Vanguard 130 ระวางขับน้ำ 5,000 ตัน ยาว 130 เมตร กว้าง 18 เมตร ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะทำการ 16,700 กิโลเมตร
2.เรือ MRCV ลำแรกสุด ระวางขับน้ำ 4,000 ตัน ยาว 120 เมตร กว้าง 16 เมตร ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะทำการ 6,000 ไมล์ทะเลหรือ 11,112 กิโลเมตร
3.เรือฟริเกต DW3000F ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,640 ตัน ยาว 124.1 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ความเร็วสูงสุด 30 นอต ระยะทำการ 4,000 ไมล์ทะเลหรือ 7,408 กิโลเมตร
4.เรือพิฆาต KDX-II ของเกาหลีใต้ ระวางขับน้ำเต็มที่ 5,520 ตัน ยาว 150 เมตร กว้าง 17.4 เมตร ความเร็วสูงสุด 29 นอต ระยะทำการ 5,501 ไมล์ทะเลหรือ 10,187 กิโลเมตร
จะเห็นได้ว่า Vanguard 130 มีระยะทำการมากกว่าเรือฟริเกต DW3000F ถึง 2.25 เท่า และมากกว่าเรือพิฆาตชั้น KDX-II ถึง 1.63 เท่า สายพิราบบอกว่าสมควรเป็นเรือพิฆาต ส่วนสายเหยี่ยวอาจไม่เห็นด้วยเท่าไร เพราะติดจรวดต่อสู้อากาศยานได้เพียง 32 นัดเท่าเรือหลวงนเรศวร บังเอิญสายเหยี่ยวลืมนึกไปว่า ถ้า Vanguard 130 เปลี่ยนมาใช้แท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 ปรับปรุงระบบอำนวยการรบเสียใหม่ และติดเรดาร์ควบคุมการยิงตัวที่สอง เมื่อเข้าประจำการในปี 2025 เรือจะสามารถติดจรวด ESSM Block II ได้มากถึง 128 นัดสาแก่ใจสายเหยี่ยวเขาล่ะ
ติ๊งต่างว่าจรวดนัดละ 1.4 ล้านเหรียญ เท่ากับเสียเงินซื้อจรวดมาใส่ให้เต็มท่อ 179.2 ล้านเหรียญหรือ 5,537.28 ล้านบาท (ค่าเงิน 30.9 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ) ยังไม่รวมซื้อกล่องบรรจุจรวดแฝดสี่อีก 32 กล่อง เพราะไม่สามารถเอาจรวด ESSM ใส่โดยตรงกับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 ได้ เป็นเงินเท่าไรก็เท่านั้นไม่ใช่เงินผู้เขียนสาแก่ใจสายเหยี่ยวเขาล่ะ
พิจารณารูปร่างเรือกันอีกสักหน่อย หัวเรือค่อนข้างสูงและปกปิดทุกอย่าง ลูกเรือต้องเปิดหน้าต่างแล้วโยนเชือกผ่านรูเพื่อมัดกับฝั่ง ตามลักษณะเรือ Full Stealth ที่แท้จริง แท่นยิงแนวดิ่งยกสูงเพิ่มเติมอีกครึ่งชั้น ใส่จรวดต่อสู้อากาศยาน Aster-30 หรือ SM-2 ได้อย่างสบายมาก ท้ายเรือค่อนข้างสูงเทียบเท่าหัวเรือ เพราะต้องการ Mission Deck ขนาดใหญ่ เรืออเนกประสงค์รุ่นใหม่จะประมาณนี้ครับ การที่ท้ายเรือหนักขึ้นสูงขึ้นส่งผลต่อการบังคับเรือหรือไม่ คงต้องรอเรือลำจริงเข้าประจำการก่อน ส่วนตัวคิดว่ามีแน่แต่มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น


ถัดไปคือยานใต้น้ำไร้คนขับ หรือ  Autonomous Underwater Vehicle หรือ AUV ใช้รุ่น Mercury ซึ่งสิงคโปร์พัฒนาขึ้นมาเอง ยาว 5.8 เมตร ดำได้ลึกสุด 300 เมตร ความเร็วสูงสุด 6 นอต ระยะเวลาปฏิบัติการนานถึง 10 ชั่วโมง ที่เห็นสีดำข้างยานคือโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิด มีทั้ง High และ Dual-Frequency Synthetic Aperture Sonar ระบบนำทางมีทั้ง Inertial Navigation System (INS) และ Global Positioning System (GPS) ราคาแพงแน่นอนจึงใช้แค่ตรวจจับไม่ใช่ทำลาย


ลำถัดไปเป็นยานผิวน้ำไร้คนขับ หรือ Unmanned Surface Vehicle หรือ USV สิงคโปร์พัฒนาขึ้นมาเองใช้ชื่อว่ารุ่น Venus โดยมีให้เลือกถึง 3 ขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ และสิงคโปร์เลือกลำใหญ่ใช้งานบนเรือ Venus 16 ยาวถึง 16 เมตร กว้าง 5.2 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 26 ตัน น้ำหนักบรรทุกมากถึง 10 ตัน ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 35 นอต เวลาปฏิบัติการนานถึง 72 ชั่วโมง สื่อสารด้วยระบบ Datalink ระยะทางไกลสุด 18.5 กิโลเมตร
ในภาพเห็นทั้งเรดาร์ SATCOM รวมทั้งกล้องตรวจการณ์ ภารกิจหลักของ Venus 16 คือการต่อต้านทุ่นระเบิด ที่เห็นเหลืองๆ คือโซนาร์ลากท้าย T-SAS ของ Thales การจัดการทุ่นระเบิดให้ใช้ Venus 16 ลำแรกตรวจจับให้ได้ก่อน แล้วใช้ Venus 16 ลำสองส่งยานทำลายทุ่นระเบิด K-STER ลงไปเก็บแต้ม สองศรีพี่น้องชิปกับเดลอะไรทำนองนี้ เพราะขนาดค่อนข้างใหญ่และทนทะเลกว่าเรือยาง RHIB จึงมีภารกิจรองคือตรวจการณ์ ค้นหาผู้ประสบภัย รวมทั้งลำเลียงพลได้จำนวนหนึ่ง ส่วนภารกิจปราบเรือดำน้ำกับสงครามอิเล็กทรอนิกส์นั้น ใช้คำว่ายังไม่เห็นของผู้เขียนขอยังไม่เชื่อถือ


ปิดท้ายด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ Unmanned Aerial Vehicle หรือ UAV พวกเขาใช้ SAAB Skeldar ทดแทนรุ่นปีกแข็งซึ่งไม่ค่อยเหมาะสมกับภารกิจ Skeldar ยาว 4 เมตร น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 235 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุด 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเวลาปฏิบัติการ 5 ชั่วโมง บินได้สูงสุด 3,000 เมตร สื่อสารด้วยระบบ Datalink ระยะทางไกลสุด 150-200 กิโลเมตร มองเห็นกล้องตรวจการณ์ตัวใหญ่อย่างชัดเจน
UAV ตัวเล็กไม่ติดเรดาร์และไม่ได้ติดอาวุธ แต่มี Datalink ระยะค่อนข้างไกลน่าสนใจมาก ถ้าสามารถต่อระยะจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ได้ จะเป็นไอเทมลับอีกชิ้นหนึ่งกันเลยทีเดียว เพราะ UAV ลำเล็กตรวจจับยากกว่าลำใหญ่ ไม่มีเรดาร์ให้ฝ่ายตรงข้ามย้อนรอยเอาง่ายๆ ราคาก็ถูกกว่าใช้เจ้าหน้าที่และพื้นที่น้อยกว่า ส่วนในอนาคตจะมี UAV รุ่นติดอาวุธหรือเปล่า ไว้เป็นเรื่องอนาคตของอนาคตอีกทีแล้วกัน
ถึงตอนนี้ผู้อ่านได้ข้อมูลมากเพียงพอ ที่จะตัดสินว่า Vanguard 130 เป็นเรือพิฆาตได้หรือไม่ แต่สิงคโปร์คงเรียกว่า MRCV ตามชื่อโครงการ เลี่ยงบาลีเหมือนเรือพิฆาตดาดฟ้าเรียบของญี่ปุ่น รูปร่างหน้าตาเรือน่าจะตามนี้เกิน 90 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่เพียงรายละเอียดปลีกย่อย หรือการปรับปรุงครั้งสุดท้ายก่อนสร้างจริง


ความยาว 130 เมตรมากกว่าเรือฟริเกตของเราเล็กน้อย แต่เรือเขาอเนกประสงค์กว่ากันแบบเทียบไม่ติด และน่าจะมีราคาแพงกว่ากันพอสมควร เพียงแต่สิงคโปร์สร้างเรือได้ด้วยตัวเอง และสร้างเรือจำนวนหลายลำติดต่อกัน ต้นทุนตรงนี้จึงลดลงชนิดฮวบฮาบ ในภาพนี้จะเห็น Mission Deck ขนาดใหญ่ท้ายเรือ ใส่เรือยาง RHIB หรือยานผิวน้ำไร้คนขับความยาว 11 เมตร รวมทั้งโซนาร์ลากท้ายปราบเรือดำน้ำ วงเล็บต่อท้ายว่าถ้าไม่ตัดทิ้งเสียก่อน เพราะว่าผู้เขียนยังมองหาไม่เจอเสียที
เรือที่อยู่ถัดกันคือเรือหลวงอ่างทอง เป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่แบบ LPD สิ่งที่แตกต่างกับเรือชั้น Endurance ก็คือ ใช้ระบบเรดาร์จากเดนมาร์ก มีเรือระบายพลยาว 13 เมตรสองกราบเรือแค่ 2 ลำ หัวเรือไม่มีเครนขนาดเล็ก และไม่สามารถเปิดหัวเรือเพื่อลำเลียงรถถังได้ ตอนเข้าประจำการใหม่ๆ ทุกคนพูดว่า นี่คือจิ๊กซอร์ตัวสุดท้าย เราเดินมาถูกทางแล้วครับพี่น้อง ปีนี้แหละเราจะได้แชมป์พรีเมียร์ลีก ปรากฏว่าวันนี้เรือชั้นนี้คงไม่ได้ไปต่อ ถ้าไม่ใช่เรืออินโดนีเซียที่มีราคาถูกแบบไม่น่าเชื่อ ก็น่าจะเป็นเรือจีนมหามิตรของไทยแลนด์ เองวังด้วยประการฉะนี้เอย
แล้วบทความก็เดินทางมาถึงตอนจบ สิงคโปร์ยังมีอะไรน่าสนใจอีกตั้งมากมาย ถ้าผู้เขียนรวบรวมข้อมูลโครงการหนึ่ง ซึ่งพวกเขาใช้เวลาพัฒนาถึง 13 ปีได้มากเพียงพอ อาจเขียนถึงประเทศนี้อีกครั้งวันนี้ลากันไปก่อนสวัสดีครับ ;)

                     -------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก


วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

The Power of the Sea II


ราชนาวีไทยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
 ผู้เขียนเคยเขียนบทความ ‘The Power of the Sea’ หรือ 'โครงการบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478'  ไปเมื่อสมัยกาลครั้งหนึ่ง คิดว่าจบแล้วเพราะไม่มีประเด็นสำคัญเพิ่มเติม จนกระทั่งเมื่อประมาณ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ได้อ่านหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย ) แล้วเจอข้อมูลที่ผู้บัญชาการทหารเรือบันทึกไว้ด้วยลายมือตัวเอง จึงอดไม่ได้ที่จะเขียนบทความกองทัพเรือไทยยุคนั้นอีกครั้ง
ก่อนอื่นขอออกตัวล้อฟรีว่า บทความไหนอ้างอิงข้อมูลต่างประเทศเป็นหลักจะใช้ปีค.. บทความไหนอ้างอิงข้อมูลในประเทศเป็นหลักจะใช้ปีพ.. ส่วนบทความแห่งจินตนาการแล้วแต่อารมณ์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ติดใช้ปีค..มาจากงานที่ทำ ใช้ตัวเลขอารบิกทั้งหมดเพื่อความสะดวกในการพิมพ์ เข้าใจตรงกันแล้วอ่านต่อได้เลยครับ

               
ภาพถ่ายเรือหลวงมัจฉานุในแม่น้ำเจ้าพระยาปี 1938 หรือพ..2486 มองเห็นพระปรางวัดอรุณเป็นภาพเบื้องหลัง ได้มาจาก NSA โดย gCaptain, United State ผลพวงจากโครงการบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 นั่นเอง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2476 รัฐบาลกำหนดให้นโยบายต่างประเทศและยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดรวมทั้งลับสุดยอดที่สุด กองทัพเรือได้รับนโยบายสำคัญมาสานต่อ ก่อนมีการนำเสนอแผนการเสริมกำลังถึง 4 โครงการใหญ่ ไล่เรียงกันไปตามลำดับประกอบไปด้วย
โครงการที่ 1 ขยายกองเรือ
โครงการจัดหาเรือเฟสแรกหรือสกรีมที่หนึ่ง ใช้งบประมาณ 18 ล้านบาทระยะเวลา 6 ปี เพื่อจัดหาเรือรบ เรือช่วยรบ เครื่องบินทะเล และอาวุธประจำเรือ นี่คือโครงการที่พวกเรารู้จักกันเป็นอย่างดี รายละเอียดประกอบไปด้วย
-เรือปืนหนักหุ้มเกราะ 2 ลำ
                -เรือสลุป 2 ลำ
-เรือตอร์ปิโดใหญ่ 9 ลำ
-เรือตอร์ปิโดเล็ก 3 ลำ
-เรือวางทุ่นระเบิด 2 ลำ
-เรือลำเลียง 2 ลำ
-เรือดำน้ำ 4 ลำ
-เครื่องบินทะเล 6 เครื่อง และอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆเช่น ปืนใหญ่ ทุ่นระเบิด ฯลฯ
ส่วนข้อมูลแบบเจาะลึกเรือรบทุกลำนั้น ทบทวนข้อมูลทั้งหมดได้จากบทความนี้ครับ


หลังจากได้รับเรือทั้งหมดเข้าประจำการ ราชนาวีไทยในเวลานั้นใหญ่โตขึ้นทันควัน นับเป็นอันดับสองในเอเชียเป็นรองแค่ญี่ปุ่น แต่ต้องเข้าใจด้วยนะครับว่าการสร้างคน ใช้เวลาและเงินมากกว่าการสร้างเรือหรือเครื่องบิน อาวุธทันสมัยที่เพิ่งได้รับทหารเรือยังไม่คุ้นเคย ต้องใช้ครูฝึกจากต่างประเทศมาช่วยฝึกสอน แต่ฝึกสอนได้แค่เพียงระยะเวลาสั้นๆ การฝึกฝนกองเรือให้มีความพร้อมรบรวดเร็วที่สุด คือภารกิจสำคัญของผู้นำทัพเรือในเวลานั้น
ลูกประดูไทยได้รับการฝึกซ้อมอย่างหนัก รายจ่ายฟุ่มเฟือยที่ไม่สำคัญถูกตัดทิ้งหมด เพื่อโยกมาลงกับการฝึกซ้อมและจัดหายุทโธปกรณ์ เพราะภัยคุกคามแวะมาเยือนถึงหน้าบ้าน ทหารเรือทุกนายอาจได้ร่วมสงครามเวลาไหนก็ได้ และภัยคุกคามที่แสดงตัวอย่างชัดเจนที่สุด ก็คือประเทศฝรั่งเศสเจ้าของดินแดนอาณานิคมติดกัน

ยุทธนาวีที่เกาะช้าง
ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2483 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2484 ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทย-อินโดจีนฝรั่งเศส มีการสู้รบอย่างเต็มรูปแบบระหว่างกองทัพไทย กับกองทัพร่วมของฝรั่งเศสในดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส มีการรบจริงแบบเต็มรูปแบบทั้งบนน้ำ-ฟ้า-ฝั่ง สามารถหารายละเอียดได้จากทุกแหล่งข้อมูล
หลังประกาศสงครามทัพเรือไทยได้ส่งเรือรบหมวด 1 กองเรือที่ 1 จำนวน 7 ลำ ประกอบไปด้วย เรือหลวงศรีอยุธยา เรือหลวงภูเก็ต เรือหลวงสุราษฎร์ เรือหลวงมัจฉานุกับเรือหลวงสินสมุทรซึ่งเป็นเรือดำน้ำ และเรือหลวงครามกับเรือหลวงตระเวนวารีซึ่งเป็นเรือช่วยรบ เข้ามารักษาการณ์บริเวณเกาะช้าง อันเป็นชายแดนภาคตะวันออกติดกับดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส เรามาดูภาพจำลองหมวดเรือที่ 1 ของทัพเรือไทยด้วยกัน



ผู้เขียนตัดเรือหลวงครามกับเรือหลวงตระเวนวารีซึ่งเป็นเรือช่วยรบออกไป เหลือแค่เพียงเรือรบแท้ๆ จำนวน 5 ลำ เรือหลวงศรีอยุธยาจะเป็นเรือรบหลัก มีเรือหลวงภูเก็ต เรือหลวงสุราษฎร์เป็นเรือสนับสนุน ใช้เรือดำน้ำจำนวน 2 ลำลาดตระเวนหาข่าว นี่คือแผนการที่ดีที่สุดของเราในตอนนั้น เสียเปรียบก็จริงแต่ไม่ถึงขนาดแพ้ขาดลอย เพราะทางนั้นไม่ทราบว่าเรือดำน้ำเราอยู่หนใด (ยกเว้นตรวจพบจากเครื่องบินได้ก่อน) จะบุกโจมตีหรือถอยทัพย่อมห่วงหน้าพะวงหลัง
ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2484 กองทัพเรือไทยได้ส่งเรือรบจากหมวด 2 กองเรือที่ 1 จำนวน 6 ลำ นำโดยเรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา เรือหลวงชลบุรี เรือหลวงระยอง และเรือหลวงหนองสาหร่ายกับเรือหลวงเทียวอุทกซึ่งเป็นเรือช่วยรบ  เข้ามาผลัดเปลี่ยนกับหมวดเดิมที่ประจำการมานาน เรามาดูภาพจำลองหมวดเรือที่ 2 ด้วยกันอีกครั้ง


ผู้เขียนตัดเรือหลวงหนองสาหร่ายกับเรือหลวงเทียวอุทกซึ่งเป็นเรือช่วยรบออกไป เหลือแค่เพียงเรือรบแท้ๆ จำนวน 4 ลำ เรือหลวงธนบุรีจะเป็นเรือรบหลัก มีเรือตอร์ปิโดใหญ่อีก 2 ลำเป็นเรือสนับสนุน โดยใช้เรือตอร์ปิโดใหญ่ 1 ลำลาดตระเวนหาข่าว อำนาจการยิงอาจสูงกว่าเดิมก็จริง แต่จำนวนเรือรบลดลงมา 1 ลำ และความน่ากลัวหายไปเลยครึ่งต่อครึ่ง เมื่อภัยคุกคามจากใต้น้ำไม่อยู่เสียแล้ว
การตั้งรับโดยมีเรือดำน้ำอยู่ด้วย ถือเป็นแผนการที่ดีเยี่ยมที่สุดแล้ว แม้ว่าเรือชั้นเรือหลวงมัจฉานุจะเป็นเรือดำน้ำขนาดเล็ก มีน้ำมัน น้ำดื่ม และอาหารน้อยตามกัน พื้นที่ภายในค่อนข้างคับแคบและไม่มีห้องน้ำ ต้องมีเรือพี่เลี้ยงตามประกบเมื่อทำภารกิจนอกฐานทัพ แต่เรือดำน้ำเราไม่ได้ไปไกลจากชายฝั่ง และมีเรือถึง 2 ลำคอยสลับกันลาดตะเวน ฉะนั้นแล้วหมวด 2 กองเรือที่ 1 พร้อมรบเต็มตัว กระบี่มือหนึ่งของทัพเรือไทยพูดแบบนี้ก็คงไม่ผิด
ส่วนการใช้เรือปืนหนักหุ้มเกราะเพื่อตั้งรับ ถือว่าถูกต้องและเหมาะสมกับภารกิจที่สุด เราตั้งใจใช้เรือหลวงศรีอยุธยาเข้าปะทะ แต่ถึงสลับมาเป็นเรือหลวงธนบุรีก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่าเราขาดบางสิ่งบางอย่างไป หนึ่งประสบการณ์ในการรบซึ่งหาไม่ได้จากการฝึก และสองดวงคนเราจะซวยอะไรก็ช่วยไม่ได้ ขนาดยิงถูกเรือข้าศึกในการยิงชุดที่ห้าหรือหก แต่กระสุนติดชนวนกระทบแตกที่เตรียมไว้หมดเสียก่อน เรือรบฝรั่งเศสจึงมีแค่รูไม่เสียหายจากแรงระเบิด
และลำสุดท้ายก็คือเรือตอร์ปิโดใหญ่ ลำนี้ไม่ถนัดกับการตั้งรับเป็นอย่างยิ่ง เปรียบได้กับนำแอนดี้ โคลมาเล่นกองหลัง เพราะเรือมีความเร็วสูงระดับจตุรเทพ และน่ากลัวมากเมื่อได้พาบอล (ตอร์ปิโด) ไปกับตัว ครั้นโดนจู่โจมสายฟ้าแลบไม่ทันติดเครื่องยนต์ ความเร็วซึ่งเป็นอาวุธหลักพลันหายต๋อมทันที กลายเป็นบอลโฉ่งฉ่างเอาแต่ยิงสะเปะสะปะ สุดท้ายต้องออกจากสนามแข่งในเวลาไม่กี่อึดใจ
เรื่องนี้โทษลูกเรืออย่างเดียวก็คงไม่ถูก ต่อให้ทัพเรืออังกฤษนำเรือตอร์ปิโดมาตั้งรับก็คงไม่แตกต่าง เพียงแต่ว่าเรามีทางเลือกแค่เพียงเท่านี้ เรือตอร์ปิโดใหญ่จำนวน 9 ลำถือเป็นเรืออเนกประสงค์ ทำหน้าที่ได้อย่างหลากหลายตั้งแต่ลาดตะเวน คุ้มกัน หรือบุกเข้าโจมตี แต่การถูกโจมตีเสียเองตั้งแต่รุ่งสางเรายังไม่พร้อม เรือหลวงระยองที่ออกลาดตระเวนก็ดันไม่เจอข้าศึก รวมทั้งได้ผูกเรือในแนวเดียวกันซวยซ้ำซ้อนอีก ประสบการณ์ในการรบจริงเหมือนเดิมนั่นเอง
ผู้อ่านอาจมีคำถามว่าเรือดำน้ำอีก 2 ลำอยู่ที่ไหน เรือหลวงวิรุณกับเรือหลวงพลายชุมพลอยู่กองเรือที่ 2 ครับ เราเอากองเรือที่ 1 ซึ่งมีอาวุธหนักที่สุดมารับมือ ส่วนกองเรือที่ 2 และกองเรือที่ 3 ทำภารกิจอื่น เมื่อเรือดำน้ำกลับฐานจึงไม่มีลำอื่นเข้ามาทดแทน ถ้าฝรั่งเศสบุกเร็วกว่าเดิมสัก 3 วันคงได้เจอของแข็ง

ยุทธการฮาเตียน
เมื่อยุทธนาวีที่เกาะช้างสิ้นสุดลง เวลาต่อมากองทัพเรือไทยได้ผุดแผนโต้ตอบ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ยุทธการฮาเตียน ว่ากันว่าเราจะใช้เรือตอร์ปิโดใหญ่ 6 ลำขนทุ่นระเบิดรุ่นใหม่ โดยมีเรือสลุป 2 ลำทำหน้าที่คุ้มกันและเป็นจ่าฝูง มีการแบ่งกำลังออกเป็น 2 หมวดเรือ เดินทางไปยังท่าเรือฮาเตียนประเทศกัมพูชา ตรงนั้นเองเรือหลวงศรีอยุธยาจะมาพบตามนัด เพื่อทำหน้าที่เป้าหลวงลวงใจให้เรือรบข้าศึกแล่นออกมาชนทุ่นระเบิด จากนั้นเรือทุกลำเริ่มระดมยิงโจมตีชายฝั่ง ก่อนที่นาวิกโยธินบนเรือหลวงศรีอยุธยาจะบุกเข้ายึดท่าเรือ ภาพจำลองกองเรือเฉพาะกิจน่าจะประมาณนี้


ตามแผนนี้ถือว่าแน่นมาก แน่นที่สุด ไม่มีอะไรจะแน่นกว่านี้แล้ว ถ้าเรือดำน้ำของเราใหญ่พอที่จะเดินทางมาด้วยกัน และมีเรือบินทะเลติดเรือสลุปไปด้วยสัก 2 ลำ (ไม่รู้ในภารกิจจริงไปด้วยไหม) แผนภาพจะสมบรูณ์แบบและสง่างามกว่านี้ เพื่อให้ผู้อ่านที่มีความเข้าใจมากกว่าเดิม ผู้เขียนขออธิบายยุทธวิธีการจู่โจมทีละขั้นตอน


เริ่มจากเรือตอร์ปิโดใหญ่ลอบเอาทุ่นระเบิดเข้ามาวาง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงกลางคืนหรือเช้าตรู่ประมาณนี้ จากนั้นเรือหลวงเรือหลวงศรีอยุธยาจะลอยลำเข้าใกล้ เป็นเป้าล่อให้เรือรบข้าศึกแล่นเข้าสู่พื้นที่สังหาร


เมื่อจัดการกองเรือฝ่ายตรงข้ามสำเร็จ หลวงเรือหลวงศรีอยุธยาจะแล่นอ้อมพื้นที่สังหาร เปิดทางให้เรือรบ 8 ลำกับปืนใหญ่ 20 กระบอกได้เป็นพระเอก ด้วยการระดมยิงเป้าหมายบนชายฝั่งฮาเตียน (รวมทั้งเรือรบข้าศึกที่อาจหลงเหลือ) ซึ่งไม่น่าจะต้านทานอำนาจการยิงฝ่ายเราได้ เรือยิงถล่มมี 8 ลำแต่ในภาพใส่ได้ไม่หมด บังเอิญพื้นที่จำกัดไม่ว่ากันนะครับ


เมื่อจัดการปืนทุกกระบอกบนฝั่งสำเร็จ หลวงเรือหลวงศรีอยุธยาจะแล่นเข้ามาเทียบท่า เพื่อส่งกำลังนาวิกโยธินบุกเข้ายืดพื้นที่ ปฏิบัติการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันสิ้นสุดลง ส่วนจะทำอย่างไรต่อนั้นไม่ข้อมูลเสียแล้ว ภาพทั้งหมดทำขึ้นมาประกอบบทความ ไม่ได้สมจริงสมจังแค่พอได้เห็นได้เข้าใจ
ยุทธการฮาเตียนใช้จำนวนเรือรบเกือบทั้งหมด เดินทางไกลที่สุดเพื่อทำการรบใหญ่ที่สุด นี่คือการบุกโจมตีครั้งใหญ่ครั้งแรกและครั้งเดียวของราชนาวีไทย ตอนที่เราโดนบุกเรายังไม่พร้อม แต่ตอนนี้ทหารเรือทุกนายพร้อมแล้ว เสียดายมีคำสั่งให้หันหัวเรือกลับฐานทัพ เนื่องจากสงครามเดินทางเข้าสู่ช่วงเจรจาสงบศึก
อันที่จริงเรือหลวงศรีอยุธยาไม่เหมาะกับแผนบุก เพราะเป็นเรือ Monitoring Ship ใช้เล่นเกมรับสถานเดียว เปรียบได้กับนำเจมมี่ คาราเกอร์ มาเล่นกองหน้า เป็นนักบอลเท้าหนักยิงลูกเตะพญาเสือได้ก็จริง แต่ชักช้างุ่มง่ามกว่าจะง้างเท้าเขาแย่งบอลไปโน่นแล้ว รวมทั้งหนักเกราะจะเลี้ยวจะหลบทำได้ลำบาก ให้บังเอิญว่าเราไม่มีทางเลือกมากไปกว่านี้


ยุทธการฮาเตียนมีเวอร์ชันที่สองเช่นกัน เวอร์ชันนี้ใช้เรือวางทุ่นระเบิดเดินทางไปกับกองเรือ ฉะนั้นแล้วจะขนทุ่นระเบิดไปด้วยมากกว่า และมีบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ติดตัวมา 2 บ่อ ถ้าโดนกองเรือฝรั่งเศสซ้อนแผนคงดูกันไม่จืด ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพียงแต่อยากนำมาลงให้ครบถ้วนทุกเวอร์ชัน
ข้อสงสัยทั้งหมดของยุทธการผู้เขียนขอข้าม ไม่รู้จะหาหลักฐานตรงไหนมานั่งวิเคราะห์ แต่ถ้าให้ลองคาดเดาเอาเอง (เรื่องคิดไปเองถนัดอยู่แล้ว) ถ้ามีการรบจริงเราคงชนะได้อย่างไม่ยาก เพราะท่าเรือฮาเตียนไม่มีเรือรบลำใหญ่ เผลอๆ ทุ่นระเบิดอาจไม่จำเป็นต้องใช้ ถ้าเราบุกไปเอาคืนถึงไซ่ง่อนก็ว่าไปอย่าง ตรงนั้นเป็นฐานทัพกองเรือขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส

โครงการที่ 2 ขยายกองทัพ
                กลับมาสู่การพัฒนากองทัพเรือกันต่อ เมื่อได้รับเรือที่สั่งซื้อจำนวนทั้งหมดแล้ว กองทัพเรือจึงได้เดินหน้าโครงการที่ 2 นั่นคือการปรับปรุงพื้นที่สัตหีบให้เป็นสถานีและฐานทัพ มีการสร้างป้อมปราการตามแนวชายฝั่ง ซื้อปืนใหญ่รักษาชายฝั่งขนาด 203/45 มม. จากสวีเดน 6 กระบอก ปืนใหญ่ขนาด 150/50 มม.จากสวีเดนอีก 10 กระบอก (สั่งซื้อจริง 9 กระบอก) ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 40 มม.จากอังกฤษ 20 กระบอก ทุ่นระเบิดจากเดนมาร์กมากถึง 400 ลูก
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองบินทหารเรือ ช่วงแรกให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกกับกองทัพอากาศ รวมทั้งขยายกำลังนาวิกโยธินเป็น 1 กองพล ประจำการที่กรุงเทพ 1 กรมใหญ่ และสัตหับกับจันทบุรีอีก 2 กรม


ในภาพคือปืนใหญ่ขนาด 150 มม.รุ่น M31 ของ Bofors ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับรุ่นที่กองทัพเรือสั่งซื้อ จากภาพถ่ายตัวปืนยังคงดูดีมาก แต่ดอกยางไปหมดแล้วอายเขาไหมนั่น
โครงการที่ 2 ไม่สำเร็จไปตามแผน โดยเฉพาะปืนใหญ่รักษาชายฝั่งที่จ่ายเงินไปแล้วบางส่วน โชคร้ายเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นมาเสียก่อน รัฐบาลสวีเดนได้ระงับคำสั่งขายอาวุธกับทุกประเทศ ส่วนปืนต่อสู้อากาศยานของอังกฤษเปลี่ยนมาเป็นปืนขนาด 75/41 มม.ของญี่ปุ่นจำนวน 12 กระบอก มีเครื่องควบคุมการยิงจำนวน 3 ชุดเพิ่มเติมให้ด้วย
ทุ่นระเบิดเดนมาร์กผู้เขียนไม่มีข้อมูล ส่วนนาวิกโยธินก็ไม่ใหญ่โตถึงระดับกองพล กำหนดให้ใช้อาวุธต่างๆ เหมือนกับกองทัพบก จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการฝึกสอนหรือซ่อมบำรุง (Common Fleet มีมานานแล้วนะเออ) ฐานทัพเรือที่สัตหีบก่อสร้างแค่เพียงบางส่วน แต่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือกองบินทหารเรือ
พ.ศ.2481 กองทัพเรือจัดตั้งหมวดบินทะเลสังกัดกองเรือรบ แล้วซื้อเครื่องบินทะเลทุ่นคู่รุ่นวาตานาเบจำนวน 6 เครื่อง โดยมีสนามบินอยู่ที่จุกเสม็ดอ่าวสัตหีบ ถัดมา 4 ปีได้เปลี่ยนมาเป็นกองบินทหารเรือ ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งกองทัพเรือซื้อเครื่องบินทะเลทุ่นเดี่ยวรุ่นนากาชิจำนวน 27 เครื่อง และเครื่องบินทะเลทุ่นคู่รุ่นซีโร่อีก 3 เครื่อง ใช้ทำภารกิจคุ้มกัน ตรวจการณ์ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอ่าวไทย ต่อมามีการสร้างสนามบินเพิ่มที่เกาะสมุย รวมทั้งที่อ่าวฉลองเกาะภูเก็ตเพื่อลาดตระเวนในทะเลอ่าวอันดามัน


ในภาพคือเครื่องบินทะเลทุ่นคู่รุ่นวาตานาเบหมายเลข 3 มาจอดอวดโฉมปะชาชนที่สะพานหิน ภูเก็ต เครื่องบินรุ่นนี้ถูกใช้งานบนเรือหลวงแม่กลองกับเรือหลวงท่าจีน และที่ภูเก็ตมีการสร้างสนามบินกองทัพเรือในอนาคต

โครงการที่ 3 สู่ทะเลลึก
โครงการจัดหาเรือเฟสสองหรือสกรีมที่สอง ไม่ได้มีแค่เรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงตากสินเท่านั้น โครงการนี้ต้องการขยายกำลังกองทัพเรือ ให้ออกไปทำภารกิจได้ไกลถึงทะเลจีนใต้ เรียกว่า Blue Sea Program รุ่นแรกสุดก็น่าจะได้ กองทัพเรือต้องการเรือลาดตระเวนเบา 2 ลำ เรือพิฆาตขนาด 1,200 ถึง 1,400 ตัน 6 ลำ เรือดำน้ำขนาด 700 ตัน 6 ลำ รวมทั้งเรือช่วยรบอาทิเช่นเรือน้ำมัน เรือพักสำหรับเรือขนาดเล็ก รวมทั้งเรือซ่อมบำรุง เรียกได้ว่ามาครบทุกชนิดในกองเรือ



เรือลำแรกอย่างที่รับรู้โดยเปิดเผย เราสั่งซื้อเรือลาดตระเวนเบาจากอิตาลีจำนวน 2 ลำ ตั้งชื่อว่าเรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงตากสิน ระวางขับน้ำ 4,000 ตัน ยาว 150 เมตร กว้าง 14.5 เมตร กินน้ำลึก 5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 152 มม.ลำกล้องแฝด 3 แท่น ปืนใหญ่ 75 มม.6 แท่น ปืนกล 40/60 มม.ลำกล้องแฝด 3 แท่น ตอร์ปิโดแท่นคู่ขนาด 450 มม.อีก 2 แท่น บรรทุกเครื่องบินทะเลได้ 1 ลำ นี่คือเรือรบลำใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดของราชนาวีไทย
ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำเรียบร้อยแล้ว โชคร้ายเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้นมา รัฐบาลอิตาลียึดเรือทั้งสองลำเป็นของตัวเอง ปรับปรุงใหม่ใช้อาวุธอิตาลีตั้งชื่อว่า ETNA และ VESUVIO ต่อมารัฐบาลอิตาลียอมคืนเงินค่าเรือให้เรา ข้อมูลอีกเวอร์ชันบอกว่าเปลี่ยนเป็นอะไหล่ให้กับเรือตอร์ปิโดใหญ่ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเวอร์ชันไหนถูกต้อง


นี่คือภาพปืนใหญ่ 152/53 มม.ลำกล้องแฝดของ Bofors ติดอยู่บนเรือลาดตระเวน BAP Almirante Grau (CLM-81) ของประเทศเปรู ซึ่งซื้อต่อมาจากกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ ปืนยิงได้ไกลสุด 26 กิโลเมตร อัตรายิงสูงสุด 10 นัดต่อนาที เทียบกับปืนใหญ่ 203 มม.บนเรือหลวงศรีอยุธยาซึ่งยิงได้ 4.5 นัดต่อนาที เท่ากับเรือหลวงนเรศวรยิงได้เร็วกว่า 2 เท่านิดหน่อย ป้อมปืนเวอร์ชันเราไม่มีลำโพงบนหลังคานะครับ พลยิงกับพลบรรจุก็จะเหงาๆ สักหน่อย
ลำถัดมาคือเรือดำน้ำขนาด 700 ตัน เทียบกับเรือชั้นเรือหลวงมัจฉานุซึ่งมีระวางขับน้ำใต้น้ำ 430 ตัน จึงมีขนาดใหญ่กว่ากันพอสมควร มีระยะปฏิบัติการไกลกว่ากัน บรรทุกน้ำมัน น้ำดื่ม และอาหารได้มากกว่า สิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า อาทิเช่นมีห้องน้ำในตัว (ฮา) มีเตียงนอนมากเพียงพอ บรรทุกตอร์ปิโดหรือทุ่นระเบิดได้เยอะกว่ากัน


ภาพนี้ผู้เขียนวาดมั่วขึ้นมาเอง เรือดำน้ำ 700 ตันขนาดลำตัวเรือใหญ่กว่าเรือหลวงมัจฉานุ ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 450 มม.ถึง 8 ท่อยิง (หัวเรือ 6 ท่อยิง ท้ายเรือ 2 ท่อยิง) ขนาดใกล้เคียงเรือดำน้ำเยอรมันรุ่น Type VII
จะเห็นได้ว่าเรือดำน้ำรุ่นเก่าหน้าตาแปลกพิกล เพราะเทคโนโลยีสมัยนั้นเพิ่งมาได้เท่านี้ เรือดำน้ำสามารถดำใต้น้ำในเวลาจำกัด ใช้การเดินทางบนผิวน้ำเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงใช้วิธีพรางตัวโดยการเดินทางกลางคืน หัวเรือมีลักษณะเล็กเรียวแหลมเพื่อโต้คลื่นลม มักโจมตีกองเรือพาณิชย์ด้วยปืนใหญ่ ส่วนตอร์ปิโดเก็บไว้ใช้กับเป้าหมายสำคัญกว่า


ชมภาพถ่ายภายในเรือชั้นเรือหลวงมัจฉานุต่อเลย เจ้าหน้าที่กำลังนั่งกินข้าวอยู่แต่ไม่ทราบมื้อไหน คนที่นั่งติดตัวเรือต้องก้มหัวเล็กน้อย ไม่ใช่สายตาสั้นแต่กลัวหัวโนเข้าใจบ้างไหม ฝั่งขวามือคล้ายๆ เตียงนอนแบบพับได้ ตรงกลางเป็นทางเดินมีโคมไฟกับท่ออะไรไม่ทราบ เรือลำนี้ไม่เหมาะกับคนสูงเกิน 180 เซนติเมตร เพราะคุณอาจหัวแตกซ้ำแล้วซ้ำอีกในชั่วข้ามคืน ลองคิดดูสิว่าตอนล่องเรือจากญี่ปุ่นกลับไทย กว่าจะฝ่าคลื่นลมถึงฝั่งไม่รู้อ้วกกันไปกี่รอบ
ข้อดีของเรือแบบนี้ก็มีเช่นกัน ด้วยขนาดตัวเรือที่เล็กกะทัดรัด จึงสามารถปฏิบัติการในเขตน้ำตื้นได้ดี ลดการตรวจจับทั้งจากสายตา เรดาร์ หรือโซนาร์ อยู่ดีๆ แอบโผล่ขึ้นมาโป้งแปะไม่ทันรู้ตัว เพียงแต่ไม่ควรออกทะเลลึกไกลเกินไป เมื่อทำภารกิจเสร็จรีบกลับมานอนที่ฐานทัพ เรือดำน้ำขนาด 700 ตันเหมาะสมกับทะเลลึกมากกว่า ถ้าเราได้มาจริงๆ ผู้เขียนบรรยายคำพูดไม่ถูก แต่ราชนาวีไทยจะมีเรือดำน้ำมากถึง 6+4=10 ลำ สะมะละแคปเป็นที่สุด
มาที่เรือลำสุดท้ายในโครงการนี้ นั่นคือเรือพิฆาตขนาด 1,200 ถึง 1,400 ตัน ระวางขับน้ำใกล้เคียงเรือหลวงแม่กลองซึ่งเป็นเรือสลุป แล้วเรือ 2 ประเภทนี้แตกต่างกันตรงไหน? ง่ายๆ ก็คือความเร็วความคล่องตัวกับภารกิจหลัก เรือหลวงแม่กลองความเร็วสูงสุด 17 นอต ทำภารกิจได้อย่างหลากหลายรวมทั้งการฝึก แต่เน้นในการป้องกันน่านน้ำตัวเอง มีปืนใหญ่ขนาด 120 มม.4 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน 20 มม.ลำกล้องแฝด 1 แท่น มีเครื่องบินทะเล มีแท่นยิงตอร์ปิโดขนาด 450 มม.มีรางปล่อยทุ่นระเบิด รวมทั้งมีเครื่องยิงระเบิดลึก มีครบถ้วนทุกอย่างขาดแต่ก็เพียงความเร็ว


ส่วนเรือพิฆาตในภาพเป็นของญี่ปุ่นชื่อ Sagiri เป็นเรือพิฆาตชั้น Fubuki ระวางขับน้ำปรกติ 1,750 ตัน ความเร็วสูงสุดถึง 38 นอต ติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วลำกล้องแฝด 3 แท่น ตอร์ปิโดขนาด 610 มม.ถึง 9 ท่อยิง ปืนต่อสู้อากาศยาน 25 มม.อีกจำนวนหนึ่ง บรรทุกระเบิดลึกได้มากสุด 36 ลูก หน้าที่ของเรือพิฆาตคือคุ้มกันกองเรือ ทั้งจากเรือผิวน้ำด้วยกันและเรือดำน้ำ ฉะนั้นแล้วจะต้องคล่องตัวและใส่หม้อน้ำใหญ่ๆ แรงๆ ต้องมีอาวุธหนักเป็นทีเด็ดทีขาดตัดสินชัย
เรือพิฆาตของเราจำนวน 6 ลำนั้น อาจใช้ปืนใหญ่ 120 มม. ปืนต่อสู้อากาศยาน 20 มม.หรือ 40 มม. รวมทั้งแท่นยิงตอร์ปิโดขนาด 450 มม. แต่คงเน้นปราบเรือดำน้ำเป็นภารกิจหลัก มีทั้งรางปล่อยระเบิดลึกกับแท่นยิงระเบิดลึก ส่วนจะมีโซนาร์หรือเรดาร์มาด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าซื้อเรือพิฆาตจากประเทศไหนและเวลาไหน
เรือลาดตระเวนเบา 2 ลำพร้อมเครื่องทะเล เรือพิฆาต 6 ลำ เรือดำน้ำ 700 ตันอีก 6 ลำ นี่คือกองเรือในฝันของผู้เขียนเลยทีเดียว ทว่าโครงการนี้ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ถึงไม่มีสงครามโลกก็ยังไม่แน่ว่าจะมาครบทุกลำ

โครงการที่ 4 ปรุงปรุง-เสริม-สร้าง
                โครงการนี้คือการปรับปรุงซ่อมแซมให้โครงการที่ 1 2 และ 3 อยู่ในสภาพสมบรูณ์ รวมทั้งเสริมสร้างกำลังทางเรือบางส่วน ด้วยการจัดหาเรือตอร์ปิโดใหญ่เพิ่มเติม 3 ลำ เท่ากับมียอดรวม 12 ลำ มีการสร้างเรือตอร์ปิโดเบาขึ้นมาเอง 3 ลำ เท่ากับมียอดรวม 6 ลำ และสร้างเรือยามฝั่งขึ้นมาเองอีก 20 ลำ เป็นก้าวเล็กๆ แต่ค่อนข้างใหญ่ในสายตาผู้เขียน
หลังจากนั้นเมื่อเรือรบลำไหนปลดประจำการ จะมีการสร้างเรือขึ้นมาเองเพื่อทดแทน นี่คือโครงการสร้างเรือภายในประเทศนั่นเอง และต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกอย่างเสียก่อน
                ที่เหลือในโครงการเกี่ยวข้องกับเรื่องสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงกลั่นและคลังน้ำมันที่ช่องนนทรี สร้างคลังน้ำมันย่อยที่เกาะปรง รวมทั้งการปรับปรุงสถานที่ราชการ รองรับการขยายตัวทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์


                ไล่วิเคราะห์เรือแต่ละลำกันต่อเลย เริ่มจากเรือตอร์ปิโดใหญ่ชั้นเรือหลวงตราด กองทัพเรือซื้อเรือเปล่าจากอิตาลีในราคาไม่แพง นำมาติดตั้งอาวุธและอุปกรณ์ภายในประเทศ เรือค่อนข้างยาวและแคบและมีความเร็วสูง นี่คือแบบเรือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยการลดขนาดจากเรือพิฆาตตอร์ปิโด (คล้ายๆ เรือหลวงพระร่วง) ทำให้มีราคาถูกลง ค่าใช้จ่ายน้อยลง ใช้งานได้หลากหลายภารกิจ เรายังใช้เป็นเรือตรวจการณ์ด้วยเลย และที่สำคัญเรือลำนี้มีแต่คนชมว่าสวยมาก
ข้อด้อยของแบบเรืออยู่ที่พื้นที่ภายใน ค่อนข้างคับแคบรวมทั้งร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้งานในประเทศไทยลูกเรือทนไม่ไหวต้องออกมากางมุ้งบนดาดฟ้า เรือตอร์ปิโดประเทศอื่นไม่แตกต่างกันเท่าไร เพราะออกแบบให้ใช้ภารกิจโจมตีมากกว่าป้องกัน เสร็จภารกิจก็จอดเทียบท่าหาที่นอนบนฝั่ง ไม่ได้สมบุกสมบันอะไรเหมือนกันบ้านเรา การจัดหาเรือเพิ่ม 3 ลำเหมาะสมที่สุดแล้ว อยากให้กองทัพเรือไทยในปัจจุบันทำแบบนี้เช่นกัน


ลำถัดมาคือการสร้างเรือตอร์ปิโดเล็ก ผู้บัญชาการทหารเรือเตรียมพร้อมเรื่องนี้ไว้นานแล้ว ด้วยการส่งนักเรียนนายเรือเก่งๆ ไปเรียนต่อต่างประเทศ นำความรู้กลับมาพัฒนากองทัพในอนาคต ยกตัวอย่างก็คือพลเรือโท ศรี ดาวราย ถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษจนจบหลักสูตร 3 ปีในเวลา 1 ปี 5 เดือน จากนั้นไปเรียนการสร้างเรือที่สกอตแลนด์อีก 1 ปี 7 เดือน จบหลักสูตรถูกส่งไปคุมการสร้างเรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงตากสินที่อิตาลี ครั้นเกิดสงครามโลกจึงมีคำสั่งให้กลับประเทศ
ถึงบ้านอาทิตย์เดียวได้คุมงานใหญ่ทันที คือการซ่อมเรือหลวงธนบุรีที่กู้ขึ้นมาสำเร็จ จากนั้นจึงรับราชการหน้าที่โน่นบ้างนี่บ้าง มีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับขั้น ต่อมาได้คุมการสร้างเรือตอร์ปิโดเล็กชื่อเรือหลวงสัตหีบ เป็นคนปรับปรุงแบบเรือให้เหมาะสมกว่าเดิม เริ่มสร้างสิงหาคม 2499 ทำพิธีปล่อยลงน้ำตุลาคม 2500 ก่อนเข้าประจำการเดือนธันวาคมปีเดียวกัน นี่คือเรือรบลำแรกที่สร้างขึ้นด้วยช่างไทยล้วนๆ เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจใกล้เคียงกับน่าเสียใจ
ทำไมถึงบอกว่าน่าเสียใจ? เพราะโครงการนี้ล่าช้ามากไม่ตรงตามแผน เมื่อเข้าประจำการคุณประโยชน์ของเรือแทบไม่เหลือ ใช้เป็นเรือฝึกเจ้าหน้าที่เรือตอร์ปิโดใหญ่เท่านั้น ที่โครงการนี้ล่าช้ามากมีที่มาที่ไป นอกจากสงครามภายนอกยังเป็นเพราะสงครามภายใน ซึ่งหนักหนาสาหัสกว่ากันร้อยเท่าทวีคูณ ถ้ามีโอกาสจะเขียนถึงอีกทีก็แล้วกัน


เรือลำสุดท้ายคือเรือยามฝั่งความยาว 55 นิ้ว ใช้แบบเรือมอเตอร์ตอร์ปิโดจากอังกฤษ หัวเรือเชิดสูงแบบเรือเร็ว กลางลำติดปืนกล 7.7 มม. ท้ายเรือมีท่อตอร์ปิโดจำนวน 2 ท่อ ใช้ปล่อยด้านท้ายก่อนหักหัวเรือหลบออกด้านข้าง ตอร์ปิโดจะวิ่งใส่เป้าหมายที่เล็งไว้แล้ว วิธีการง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไร แต่เวลารบเข้าจริงมีขั้นตอนวุ่นวายพอสมควร
เพราะเป็นเรือเล็กไม่มีอะไรป้องกันตัว โดนกระสุนนัดเดียวรับรองว่าจอดไม่ต้องแจว การบุกโจมตีจำเป็นต้องอำพรางตัวเอง โดยใช้ความมืดตอนกลางคืนเป็นเกราะกำบัง หมู่เรือจะแล่นต่อแถวใกล้กันมากให้ที่สุด ใช้แค่เพียงสัญญาณไฟในการสื่อสาร เมื่อเรือนำขบวนสั่งให้โจมตีก็ต้องรีบโจมตี เสร็จเรียบร้อยชิ่งหนีทันทีไม่รอดูผลงาน การโจมตีแบบนี้เท่ากับเรามีจำนวนตอร์ปิโดมากขึ้น โอกาสยิงโดนเป้าหมายมากขึ้นตามกันไปด้วย
กองทัพเรือไทยได้ฝึกซ้อมวิธีนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเรามีเพียงเรือตอร์ปิโดลำเล็กๆ เพียงไม่กี่ลำ ให้เปิดศึกแบบซึ่งๆ หน้ากับฝรั่งเศสก็คงไม่ไหว ต้องใช้ยุทธวิธีแม่ไก่ลูกไก่แบบนี้แหละครับ
แล้วสุดท้ายโครงการนี้สำเร็จไหม? มีการสร้างเรือยามฝั่งขึ้นจริงเพียงไม่กี่ลำ เพราะไม่รู้จะเอาตอร์ปิโดไปยิงใครแล้ว และที่สำคัญตัวเรือทำจากไม้มะฮอกกานี อายุการใช้งานสั้นและต้องดูแลรักษาให้ดี ประโยชน์ของเรือในภารกิจอื่นก็มีน้อยมาก ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่สร้างต่อก็ดีแล้วละครับผู้เขียนเห็นด้วย

สรุปความท้ายเรื่อง
            โครงการที่เขียนถึงทั้งหมดใช้เวลายาวนาน อย่างน้อยต้องมี 20 ปีกว่าจะเสร็จสมบรูณ์ แต่เมื่อสิ้นสุดทุกโครงการกองทัพเรือจะเข้มแข็งมาก สามารถยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งตัวเอง และต่อยอดไปถึงสร้างเรือรบเองภายในประเทศ
จากบทความนี้จะได้รู้ว่า โครงการ Common Fleet ก็ดี โครงการ Blue Sea ก็ดี โครงการสร้างเรือเองก็ดี โครงการอาวุธป้องกันชายฝั่งก็ดี รวมทั้งโครงการสร้างกองบินทหารเรือ ล้วนแล้วแต่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนสงครามโลก และเป็นไปอย่างเคร่งครัดมีระเบียบแบบแผน ไม่ได้สะเปะสะปะใช้วิธีซื้อเรือทีละลำ แล้วคอยนั่งลุ้นว่าลำต่อไปจะมาหรือไม่มา จริงอยู่ว่าสถานการณ์ตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกัน แต่คนทำงานก็มีส่วนสำคัญมากไม่ใช่เหรอครับ
แผนบันไดสี่ขั้นของทัพเรือไทย ถูกสงครามโลกครั้งที่สองเตะพับนอก ทำให้สะดุดเมื่อก้าวเดินมาได้เพียงครึ่งทาง แต่ถ้าลองคิดกลับกันอีกแง่มุมหนึ่งว่า เพราะสงครามโลกทำให้ทัพเรือไทยได้งบเพิ่ม หาไม่แล้วคงมีแค่กองเรือเล็กๆ ป้องกันชายฝั่ง รอข้าศึกบุกประชิดปากแม่น้ำเหมือนในอดีต อีกแง่มุมหนึ่งให้ได้ขบคิดก็ว่ากันไปครับ
                บทความนี้ได้เดินทางมาถึงตอนจบ ขอสารภาพบาปตรงนี้เลยแล้วกัน แรกสุดผู้เขียนตั้งชื่อบทความว่า ราชนาวีไทยก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขียนไปเขียนมาดันพาออกทะเลไปไกลลิบ จำเป็นต้องมีต่อภาค 3 อย่างช่วยไม่ได้ พบกันใหม่ในบทความหน้างดเหล้าเข้าพรรษาด้วยกันนะครับ ;)
                                ------------------------------------------------------- 

อ้างอิงจาก
ภาพประกอบบทความเรื่อง 'The Thai Navy' เขียนโดย Dr.Stephen S. Roberts
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย )
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือโท ศรี ดาวราย
หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายบรรพต เอมสอาด