วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

SeaFox Mine Disposal System

 

เรือหลวงหนองสาหร่าย ปฏิบัติภารกิจเป็นวันที่ 5 ส่งยานล่าทำลายทุ่นระเบิดสำรวจพื้นที่รอบท่อส่งน้ำมัน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 พลเรือโท ปกครอง  มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะโฆษกกองทัพเรือได้เปิดเผยว่า กองทัพเรือ โดยทัพเรือภาคทื่ 1 ยังคงสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำมันดิบรั่วไหลที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง อย่างต่อเนื่องสำหรับวันนี้เป็นวันที่ 5 ของแผนปฏิบัติการ "ปิด-ดูด-อุด" ท่อน้ำมันรั่วใต้ทะเล เรือหลวงหนองสาหร่าย กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ ซึ่งได้สนับสนุนทัพเรือภาคที่ 1 ในการปฏิบัติภารกิจ ได้ทำการส่งยานล่าทำลายทุ่นระเบิดใต้น้ำสำรวจใต้น้ำ ลงสำรวจท่อส่งน้ำมันบริเวณทุ่น SMP ยังไม่พบความผิดปกติ

สำหรับทาง บ.SPRC ได้เปิดเผยภารกิจจบลงที่ดูดน้ำมันค้างท่อ ได้ถึง 15,420 ลิตร จากที่คาดการณ์ไว้แต่เดิมว่ามีค้างท่อ 12,000 ลิตร เพราะมีน้ำมันค้างท่อมากเกินกว่าที่คาดการณ์  สรุปเนื้องาน คิดเป็น 40.2% จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 47.2% ของแผนงานโดยรวม 

นอกจาก เรือหลวงหนองสาหร่าย ที่ได้ปฏิบัติภารกิจในการส่งนักประดาน้ำ และยานล่าทำลายทุ่นระเบิดทำการสำรวจใต้ทะเลแล้ว ทัพเรือภาคที่ 1 ยังได้จัดเรือหลวงแสมสาร และเรือ ต.237 คอยสนับสนุนในการลาดตระเวน และการสนับสนุนการขจัดคราบน้ำมันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอีกด้วย และจะร่วมสนับสนุนจนกว่าภารกิจจะเสร็จสิ้น

++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลด้านบนคือข่าวสารประจำวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ของเว็บเพจกองเรือยุทธการ Royal Thai Fleet กองทัพเรือส่งเรือหลวงหนองสาหร่ายสำรวจพื้นที่รอบท่อส่งน้ำมันเป็นวันที่ 5 โดยใช้ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox จากเยอรมันในการตรวจสอบท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล บทความนี้เรามาทำความรู้จักอุปกรณ์ชนิดนี้กันสักนิด

ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox แห่งราชนาวีไทย มีชื่อเจ้าของและผู้ผลิตโชว์หราอย่างชัดเจนบนแพนหาง 


ระหว่างปี 2530 ประเทศไทยเข้าประจำการเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดชั้น M48 จากบริษัท Friedrich Lurssen Werft ประเทศเยอรมนีจำนวน 2 ลำ ประกอบไปด้วยเรือหลวงบางระจันหมายเลข 631 และเรือหลวงหนองสาหร่ายหมายเลข 632 เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 444 ตัน ยาว 48 เมตร กว้าง 9.3 เมตร กินน้ำลึก 2.75 เมตร ติดตั้งปืนกล GAM-BO1 ขนาด 20 มม.จำนวน 3 กระบอกไว้ป้องกันตัว ติดตั้งระบบอำนวยการรบ Atlas MWS-80R และโซนาร์ค้นหาทุ่นระเบิด Atlas DSQS-11H จากเยอรมันมาพร้อมสรรพ โดยมียานทำลายทุ่นระเบิดรุ่น Pluto Plus และเครื่องกวาดทุ่นระเบิดแบบกลไก Atlas Elektronik SDG 31 double Oropesa สำหรับจัดการทุ่นระเบิดใต้น้ำ

ต่อมาในปี  2559 กองทัพเรือได้เซ็นสัญญาปรับปรุงเรือทั้ง 2 ลำกับบริษัท THALES UK Limited สหราชอาณาจักร มูลค่าประมาณ 2,750 ล้านบาท หรือประมาณ 70 ล้านยูโร มีการซ่อมแซมตัวเรือทั้งลำ เปลี่ยนระบบอำนวยการรบกับจาก Atlas MWS-80R เป็นThales M-cube และระบบโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิดจาก Atlas DSQS-11H เป็น Thales TSM2022 Mk III ให้เหมือนเรือล่าทำลายทุ่นระเบิดชั้นเรือหลวงลาดหญ้าจากอิตาลีซึ่งเป็นรุ่นใหม่กว่า ติดตั้งระบบอุปกรณ์สื่อสารใหม่ ซ่อมแซมระบบเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า สัญญาปรับปรุงเรือได้รวมการจัดหาเครื่องวัดค่าอิทธิพลตัวเรือแบบเคลื่อนที่หรือ Mobility Signature Test Range จำนวน 1 ระบบ สำหรับตรวจวัดค่าอิทธิพลของเรือชนิดต่างๆ ในกองทัพเรือเพิ่มเติมเข้ามา

การปรับปรุงช่วยยืดอายุการประจำการไปได้อย่างน้อยๆ  25 ปี และเพื่อให้เรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม สมควรจัดหาอุปกรณ์ทันสมัยสำหรับปราบทุ่นระเบิดมาใช้งานทดแทนรุ่นเก่า


วิธีใช้งานให้นำ Seafox มาติดตั้งบนรางปล่อยเฉพาะ จากนั้นใช้เครนยกออกไปด้านข้างเรือแล้วหย่อนลงสู่ท้องทะเล บริเวณท้ายยานมองเห็นสายไฟเบอร์ออปติกสีส้มอย่างชัดเจน มีสายแข็งสีขาวป้องกันการฉีกขาดยาวประมาณ 40 เซนติเมตร


สายไฟเบอร์ออปติกบนเรือหลวงเรือหลวงหนองสาหร่าย ความยาวมากสุดอยู่ที่ประมาณ 2,000 เมตร แต่ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตระบุว่าควบคุมได้ไกลสุด 1,200 เมตรขึ้นไป


ย้อนกลับไปในปี 2554 กองทัพเรือไทยได้จัดหายานล่าทำลายทุ่นระเบิดแบบ Seafox จากบริษัท Atlas Electronik GmBH ประเทศเยอรมันจำนวน 3 ระบบ นำมาติดตั้งบนเรือหลวงบางระจัน และเรือหลวงหนองสาหร่ายลำละ 1 ระบบ ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox I จำนวน 2 ลำ ส่วนระบบที่ 3 เป็นชุดเคลื่อนที่ Seafox Mobile รองรับภารกิจชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ หรือ MCM Mobility Team สามารถนำไปใช้งานบนเรือลำไหนก็ได้รวมทั้งเรือยางท้องแข็งขนาด 7 เมตร แต่โดยปรกติมักถูกติดตั้งอยู่บนเรือหลวงลาดหญ้า 633

ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox คือยานสำรวจใต้น้ำแบบมีสายบังคับไร้คนขับ หรือ ROV (Remotely Operated Vehicle) ทำงานแบบ Stand Alone ไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับระบบอำนวยการรบ ส่งผลให้มีความคล่องตัวและอ่อนตัวในการทำภารกิจรูปแบบต่างๆ บริษัทผู้ผลิตพัฒนา Seafox ขึ้นมาจำนวน 3 รุ่นประกอบไปด้วย

1. Seafox I ใช้สำหรับการพิสูจน์ทราบ (Identify) เป้าต่างๆ มีความยาว 1.3 เมตร หนัก 43 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุด 6 นอต ดำน้ำลึกสุด 300 เมตร ระยะปฏิบัติการไกลสุด 1.2 กิโลเมตรขึ้นไปหรือเท่ากับ 100 นาที ควบคุมการใช้งานด้วยสายไฟเบอร์ออปติกที่อยู่ด้านหลัง มีกล้องทีวีติดตั้งอยู่ที่ปลายจมูกพร้อมไฟฉาย 2 ดวง

2. Seafox C ใช้สำหรับการต่อต้านทุ่นระเบิด โดยสามารถจุดระเบิดได้ 2 แบบ คือ การชนระเบิด และ การใช้ Shaped Charge ทำลายตัวทุ่นระเบิด มีหัวรบขนาด 1.4 กิโลกรัมเพิ่มเติมเข้ามาจากรุ่น I

3. Seafox T ใช้สำหรับการฝึก Seafox C โดยจะมีการ Simulate ขั้นตอนการจุดระเบิดได้


หน้าจอคอนโซนในการควบคุม Seafox คือแลปท็อปฝั่งขวาที่เจ้าหน้าที่กำลังใช้งาน ส่วนหน้าจอฝั่งซ้ายผู้เขียนคาดเดาว่าคือระบบโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิดบนเรือ


ภาพจากกล้องทีวี Seafox I ซึ่งถูกปล่อยลงไปสำรวจความเสียหายท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล อาจไม่ดีที่สุดเพราะไม่ใช่ยานสำรวจใต้น้ำของแท้แต่พอกล้อมแกล้มแหละครับ


ปัจจุบันมีกองทัพเรือ 10 ชาติใช้งานยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox ราคาอุปกรณ์ทันสมัยจากเยอรมันอยู่ที่ 10,000 ถึง 15,000 เหรียญ หรือ 3.24 ล้านบาทถึง 4.86 ล้านบาทต่อ Seafox จำนวน 1 ลำ ความแตกต่างของราคาอยู่ที่ว่าเป็นรุ่น Seafox I หรือ Seafox C กันแน่ ส่วน Seafox T สำหรับฝึกแบบ Simulate ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไร

ยานล่าทุ่นระเบิดที่กองทัพเรือใช้สำรวจท่อน้ำมันคือรุ่น Seafox I ข้อแตกต่างกับ Seafox C ซึ่งใช้ทำลายทุ่นระเบิดจริง (ฉะนั้นเมื่อลงน้ำแล้วจะไม่ย้อนกลับมาที่เรือ) ก็คือ แพนหางบนรุ่น I จะทาสีสะท้อนแสงไว้อย่างชัดเจน ส่วนรุ่น C ไม่ได้ทาปล่อยให้เป็นสีเข้มเหมือนกับตัวยาน อาจไม่ถูกก็ได้นะครับเพราะผู้เขียนเปรียบเทียบกับ Seafox C ต่างประเทศ Seafox C ราชนาวีไทยเคยทดสอบทำลายทุ่นระเบิดจริง 1 ครั้งในปี 2560 ทว่าภาพจริงหายากมากเห็นเพียงคลิปวิดีโอขณะหย่อนลงน้ำ ผู้เขียนพยายามมองอยู่นานน่าจะไม่ได้ทาสะท้อนแสงไว้บนแพนหาง

นี่คือการนำอุปกรณ์ใช้งานทางการทหารมาใช้งานด้านพลเรือนได้อย่างเหมาะสม และเป็นเหตุผลสำคัญในการจัดหาอุปกรณ์ทันสมัยเข้าประจำการ กองทัพเรือมีความต้องการชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่เร็วหรือ Mobility MCM Team จำนวน 3 หน่วย นำมาทดแทนเรือกวาดทุ่นระเบิดใกล้ฝั่งชั้นเรือหลวงบางแก้วซึ่งปลดประจำการไปหลายปีแล้ว ตอนนี้เพิ่งมีประจำการ 1 หน่วยแบบลอยๆ ยังขาดอยู่อีก 2 หน่วย ขณะที่เรือชั้นเรือหลวงลาดหญ้ายังไม่มี Seafox ใช้งานเช่นกัน


ชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่เร็วหรือ Mobility MCM Team มีกำลังพลเท่านี้แหละครับ นำ Seafox I มาโชว์เพียงรุ่นเดียวส่วน Seafox C อยู่ในกล่องเหมือนทุกครั้ง


ชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่เร็วหรือ Mobility MCM Team ระหว่างปฏิบัติภารกิจบนเรือตังเก สายไฟเบอร์ออปติกมีความยาวน้อยกว่าบนเรือน่าจะไม่เกิน 1,000 เมตร เพื่อให้มีน้ำหนักเบาลงใช้งานบนเรือขนาดเล็กได้อย่างสะดวก


ในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพวุธกองทัพเรือขึ้นโครงการจัดซื้อระบบยานล่าทำลายทุ่นระเบิดแบบเคลื่อนที่จำนวน 2 ระบบ ในวงเงิน 137.040 ล้านบาทนำมาทดแทนยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Pluto Plus บนเรือชั้นเรือหลวงลาดหญ้าจำนวน 2 ลำ โดยมีรายชื่อ Seafox เข้าร่วมชิงชัยกับคู่แข่งจากประเทศฝรั่งเศส เพียงแต่สถานะโครงการยังไม่มีบริษัทผู้ได้รับการคัดเลือก ฉะนั้นเท่ากับว่ายังไม่มีการสั่งซื้อหรือโครงการถูกดองนั่นเอง

ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox จำนวน 4 ระบบ กับเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดลำใหม่ คือสิ่งจำเป็นที่ขาดหายไปในกองเรือทุ่นระเบิดไทย ผู้เขียนคาดหวังว่ากองทัพเรือจะจัดหาเข้าประจำการโดยเร็ว

++++++++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://thaidefense-news.blogspot.com/2017/05/blog-post_7.html?m=1

https://thaidefense-news.blogspot.com/2016/07/blog-post.html?m=1

https://web.facebook.com/1386133114966691/photos/a.1386159908297345/1652642511649082/?type=3&_rdc=1&_rdr

https://web.facebook.com/story.php?story_fbid=270999581845320&id=100068058390761&_rdc=1&_rdr

https://web.facebook.com/MineSquadron

https://web.facebook.com/royalthaifleet2020

 

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

The American Export Frigate

            ระหว่างสงครามเย็นอเมริกาสร้างเรือฟริเกตเข้าประจำการจำนวนมาก เรือฟริเกตชั้น Knox มียอดผลิตรวมกัน 46 ลำ สร้างโดยอเมริกาจำนวน 41 ลำ อีก 5 ลำสเปนสร้างโดยมีการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน SM-1 เพิ่มเติมที่ท้ายเรือ ส่วนเรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry จำนวนรวมมากถึง 71 ลำ เรือจำนวน 2 ลำสร้างโดยออสเตรเลียและอีก 8 ลำสร้างโดยไต้หวัน ถือเป็นยุคเรืองรองผ่องนภาเรือฟริเกตจากเมืองลุงแซมที่แท้จริง

ต่อมาไม่นานเมื่อสหภาพโซเวียตและกลุ่มวอร์ซอล่มสลาย กองทัพเรืออเมริกาได้รับงบประมาณประจำปีน้อยกว่าเดิม จำเป็นต้องปลดประจำการเรือรบกับเรือช่วยรบจำนวนหนึ่ง เรือฟริเกตชั้น Knox กับชั้น Oliver Hazard Perry ถูกส่งต่อให้กับกองทัพเรือมหามิตรน้อยใหญ่ ในราคาไม่แพงเท่าไรพร้อมอาวุธทันสมัยต่างกรรมต่างวาระกัน ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นใกล้ชิดกับอเมริกาในช่วงนั้นมากน้อยแค่ไหน กองทัพเรือไทยยังได้เรือฟริเกตชั้น Knox มา 2 ลำสำหรับภารกิจปราบเรือดำน้ำ

เหตุการณ์ต่อจากนั้นผู้เขียนขอใช้คำว่าสถานการณ์พลิก อเมริกาหันมาพัฒนเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีระบบเอจิสชั้น Arleigh Burke เข้าประจำการ นับถึงปี 2020 มีจำนวนรวม 70 ลำและยังคงเดินหน้าสร้างต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้สนใจพัฒนาเรือฟริเกตรุ่นใหม่เข้าประจำการ ด้วยเล็งเห็นว่าเรือพิฆาตขนาดใหญ่กว่าติดอาวุธมากกว่าและทำได้ทุกภารกิจ

หลังปี 2000 เรือฟริเกตชั้น Oliver Hazard Perry ถึงวาระต้องปลดประจำการ อเมริกากลับสร้างเรือ Littoral Combat Ship หรือ LCS จำนวน 2 ชั้นติดอาวุธเพียงน้อยนิดทำหน้าที่แทน พัฒนาการเรือฟริเกตตัวเองพลอยล้าหลังไม่ทันสมัยเหมือนดั่งชาติอื่น ส่งผลให้ตัวเองแทบไม่เหลือที่ยืนในตลาดส่งออกเรือฟริเกตทั่วโลก

บริษัทสร้างเรือในอเมริกาต่อสู้ดิ้นรนสุดความสามารถ ทว่าผลลัพธ์ค่อนข้างย่ำแย่เนื่องจากสินค้าสู้ชาวบ้านไม่ได้ ภาพประกอบที่หนึ่งด้านบนคือเรือคอร์เวตชั้น Sa'ar 5 ซึ่ง Northrop Grumman สร้างให้กองทัพเรืออิสราเอลจำนวน 3 ลำ เรือขนาด 1,276 ตันเข้าประจำการก่อนปี 2000 หลังจากนั้นอเมริกาขายเรือรบขนาดใหญ่กว่า 1,000 ตันให้ต่างชาติไม่ได้อีกเลย ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เรือรบที่อเมริกาขายได้ก็คือ เรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์ซึ่งมีขนาดไม่ถึง 1,000 ตันเช่นกัน

ไม่สมกับเป็นลุงแซมเลยเนอะ ทีเครื่องบิน F-16 จนถึงตอนนี้ยังมีคำสั่งซื้อ

การขายเรือฟริเกตให้กับต่างชาติมีอยู่เรื่อยๆ ทว่าทุกโครงการเรือฟริเกตอเมริกาเป็นเพียงลูกไล่ปลายแถว ยกตัวอย่างจากภาพประกอบที่หนึ่งภาพล่าง เมื่อกองทัพเรือนอร์เวย์ต้องการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำระบบเอจิส บริษัท Ingalls นำเสนอแบบเรือฟริเกตขนาด 4,200 ตัน ยาว 130 เมตร กว้าง 16.7 เมตร มาพร้อมเรดาร์ตรวจการณ์ SPY-1F รุ่นเล็กและเรดาร์ควบคุมการยิง Mk-99 จำนวน 3 ตัว หัวเรือติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว ส่วนแทนยิงแนวดิ่ง Mk-41 จำนวน 16 ท่อยิงถูกย้ายมาติดกลางเรือ เหลือพื้นที่ว่างหลังปืนใหญ่หัวเรือค่อนข้างกว้างขวาง ใช้แข่งขันปิงปองเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศได้อย่างสบาย

ผลการตัดสินแบบเรือจากบริษัท Ingalls แพ้ย่อยยับหมดสภาพไร้ทางสู้ ผู้ชนะเลิศโครงการได้สร้างเรือฟริเกต 5 ลำคือบริษัท Bazan ประเทศสเปน ซึ่งเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดส่งออกเรือฟริเกตทั่วโลก ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานสำคัญคือเรือหลวงจักรีนฤเบศรแห่งกองทัพเรือไทย บทความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับไทยแต่มีชื่อเรือไทยโผล่ขึ้นมาหลายลำแล้ว

พนักงานบริษัทสร้างเรือในอเมริกานั่งตบยุงทั้งวัน ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศเดินหน้าโครงการ Saudi Naval Expansion Program II จัดหาเรือรบและอาวุธทันสมัยเข้าประจำการประกอบไปด้วย

     1. เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศขนาด 3,500 ตันจำนวน 4 ลำ ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 8-16 ท่อยิง อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน SM-2 ระบบอำนวยการรบ Aegis เรดาร์ตรวจการณ์ SPY-1F Lightweight Aegis Radar รองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R สามารถทำความเร็วสูงสุดได้มากถึง 35 นอต (ปล.ล็อกสเปกเหมือนกันนะ)

     2. เรือฟริเกตอเนกประสงค์ขนาด 2,500 ตันจำนวน 6 ลำ รองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R

     3. เรือตรวจการณ์ความเร็วสูงขนาด 40-45 เมตรใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่องจำนวน 20-24 ลำ  

     4. เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R จำนวน 10 ลำ

     5. เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลจำนวน 3 ลำสำหรับหน่วยยามฝั่ง

     7. อากาศยานไร้คนขับจำนวน 30-50 ลำ สำหรับใช้งานบนเรือรบและฐานทัพบนชายฝั่ง

ครั้นถึงวันที่ 20 ตุลาคม  2015 สภาคองเกรสของอเมริกาได้อนุมัติการขายเรือ Multi-Mission Surface Combatant หรือ MMSC พร้อมอาวุธจำนวน 4 ลำให้กับซาอุดีอาระเบีย มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 11.25 พันล้านเหรียญ

นี่คือการจัดหาเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศตามความต้องการข้อแรก บังเอิญอเมริกาไม่ยอมขายอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน SM-2 ระบบอำนวยการรบ Aegis และระบบเรดาร์ SPY-1F ต้องใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ร่วมกับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 จำนวน 2 ระบบหรือ 16 ท่อยิง เรือฟริเกตลำใหม่ของซาอุดีอาระเบียใส่ ESSM ได้มากสุดถึง 64 นัดก็จริง แต่ระยะยิงสั้นกว่า SM-2 พอสมควรการป้องกันกองเรือย่อมทำได้อย่างจำกัดจำเขี่ย

หลังการเจรจาต่อรองกินเวลายาวนานถึง 4 ปี วันที่ 21 ธันวาคม 2019 บริษัท Lockheed Martin ได้รับสัญญาสร้างเรือฟริเกต MMSC ให้ซาอุดีอาระเบียจำนวน 4 ลำ ในวงเงิน 1.96 พันล้านเหรียญราคาเฉลี่ยอยู่ที่ลำละ 490 ล้านเหรียญ เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศกลายร่างเป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ทำการรบได้ 3 มิติ

ภาพประกอบที่สองคือแบบเรือฟริเกตรุ่นสร้างจริง ปรับปรุงมาจากแบบเรือ LCS1 หรือเรือชั้น Freedom เรือยาวขึ้น 3 เมตรใช้ปืนใหญ่ 57 มม.แทนที่ 76/62 มม.ตามแผนเก่า แท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 ลดลงเหลือเพียง  8 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM จำนวน 32 นัด ใช้ระบบอำนวยการรบ COMBATSS-21 เสากระโดงติดเรดาร์ตรวจการณ์ TRS-4D AESA ตรวจจับได้ไกลสุด 250 กิโลเมตร ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 พร้อมเสาสัญญาณนำวิถีจำนวน 2 ตัว ระบบดักจับสัญญาณคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ Argon ST WBR-2000 ESM ทำงานร่วมกันแท่นยิงเป้าลวงรุ่นติดตั้งตายตัว

ที่ว่างกลางเรือติดปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Nexter Narwhal ถัดไปเป็นแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถี RGM-84 Harpoon Block II จำนวน 8 ท่อยิง ปิดท้ายด้วยระบบป้องกันตนเองระยะประชิด SeaRAM ขนาด 11 ท่อยิง บั้นท้ายติดโซนาร์ท้ายเรือรุ่นใหม่ทันสมัยแต่ยังไม่ได้เปิดเผยรุ่น กับระบบเป้าลวงเรือดำน้ำรุ่นลากท้าย AN/SLQ-25A Nixie โดยมีแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่นแฝดสามอีกจำนวน 2 แท่นยิง เพียงแต่ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหนเนื่องจากไม่ได้ปรากฏในโมเดลเรือ

ต้นปี 2021 บริษัท Lockheed Martin สร้างเรือฟริเกต MMSC จำนวน 2 ลำโดยใช้อู่ต่อเรือ Fincantieri Marinette Marine Shipyard กำหนดส่งมอบเรือลำแรกให้กับลูกค้าภายในปี 2023 อีกไม่นานเราจะได้เห็นเรือฟริเกตลำใหม่กองทัพเรือซาอุดีอาระเบียอย่างแน่นอน ถึงตอนนี้ผู้เขียนคาดเดาว่าผู้อ่านหลายรายอาจมีคำถามค้างคาใจ

เรือฟริเกตขนาด 4,000 กว่าตันราคา 490 ล้านเหรียญแพงเกินไปหรือไม่?

ปรกติซาอุดีอาระเบียซื้ออาวุธราคาโหดเลือดสาดทุกครั้ง ยกตัวอย่างเช่นเรือคอร์เวตชั้น Avente 2200 ขนาด 2,500 ตันจากบริษัท Navantia (หรือ Bazan ในอดีต) ประเทศสเปนตามความต้องการข้อที่สอง จำนวนเรือ 5 ลำราคารวมอยู่ที่สองพันล้านเหรียญยูโรหรือลำละ 400 ล้านยูโร แปลงค่าเงินแล้วพบว่าถูกกว่าราคาเรือฟริเกตจากอเมริกาไม่กี่สิบล้าน

ดูเหมือนว่าเรือยุโรปราคาแพงพอสมควร แต่ทว่าแต่ทว่าการซื้อเรือฟริเกตจากอเมริกาซาอุดีอาระเบียต้องจ่ายเงินค่ายิบย่อยเพิ่มเติม อาทิเช่นค่าพัฒนาแบบเรือและดูแลโครงการอยู่ที่ 450 ล้านเหรียญ

ทำไมซาอุดีอาระเบียต้องจ่ายเงินค่าพัฒนาแบบเรือ?

ก่อนผู้อ่านต้องเข้าใจให้ตรงผู้เขียนว่า ซาอุดีอาระเบียไม่ได้ขึ้นโครงการให้หลายบริษัทส่งแบบเรือเข้าร่วมประกวด แต่ใช้วิธีเจรจาตรงกับอเมริกาในการจัดหาเรือตามความต้องการ ส่งผลให้การพัฒนาแบบเรือรุ่น Custom ลูกค้าย่อมเป็นผู้จ่ายเงิน ส่วนราคา 490 ล้านเหรียญเป็นราคาสร้างเรือจนเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน

เป็นอันว่าแบบเรือฟริเกตรุ่นส่งออกของอเมริกา กลับเข้าสู่สนามประลองอีกครั้งโดยมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นหลายชาติ

ระหว่างปี 2020 รัฐบาลกรีซประกาศเดินหน้าโครงการปรับปรุงกำลังทางทะเล โดยการจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่เข้าประจำการใช้ชื่อโครงการว่า ‘Hellenic Future Frigate’ บริษัท Lockheed Martin ส่งแบบเรือ MMSC เข้าร่วมชิงชัย มีการปรับปรุงนิดหน่อยให้เหมาะสมความต้องการลูกค้า จากนั้นจึงตั้งชื่อแบบเรือง่ายๆ ว่า Hellenic Future Frigate หรือ HF2

ชมภาพประกอบที่สามไปพร้อมกัน นี่คือโมเดลเรือฟริเกต HF2 ในงานแสดงอาวุธ DEFEA 2021 ที่กรุงเอเธนประเทศกรีซ ติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 ตามแนวขวางโดยมีแท่นยิงแนวดิ่ง ExLS เพิ่มเข้ามาอีก 3 ท่อยิง จำนวนรวมจึงเท่ากับ 11 ท่อยิง ใส่อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ระยะยิง 50 กิโลเมตรได้มากสุด 32 นัด กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Albatros NG ระยะยิง 40 กิโลเมตรได้อีก 12 นัด (เอกสารบริษัท Lockheed Martin เน้นว่ารุ่นนี้) หรืออาจเป็นอาวุธชนิดอื่นก็ได้เพราะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ขณะที่เรือฟริเกต MMSC ต้นแบบติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 ตามแนวยาว

เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 ตัวหน้าเลื่อนจากหลังคาห้องเครื่องมาอยู่บนหลังคาสะพานเดินเรือ เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 ตัวหลังอยู่กราบขวากลางเรือใกล้ปล่องระบายความร้อน ปืนกลอัตโนมัติ 20 มม. Nexter Narwhal อยู่ต่ำลงมาระดับเดียวกับแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Naval Strike บนหลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์คือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM โดยใช้แท่นยิง Mk.49 ขนาด 21 ท่อยิง เรือลำนี้ติดตั้งอุปกรณ์ราคาค่อนข้างแพงเพิ่มเติมเข้ามาก็คือ ระบบกวนสัญญาณคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ECM รุ่น  AN/SLQ-32 (V)6 ของอเมริกาถูกติดตั้งอยู่บริเวณกลางเรือ

บริษัท Lockheed Martin และรัฐบาลอเมริกาค่อนข้างมั่นใจโครงการ Hellenic Future Frigate ข้อเสนอของตัวเองดีมากเสียจนลูกค้าไม่อาจปฏิเสธ เริ่มจากเรือฟริเกตทั้ง 4 ลำสร้างในกรีซโดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือยุคใหม่ แบบเรือมีการใช้งานจริงมาแล้วมากกว่า 600,000 ไมล์ทะเล มีแพ็dเก็ตการฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ มีอะไหล่ซ่อมบำรุงเรือเป็นเวลา 3 ปี ใช้ระบบปราบเรือดำน้ำดีเทียบเท่ากองทัพเรืออเมริกาและเหนือกว่าชาติอื่น เรือทำงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะใช้ระบบดาต้าลิงก์ AN/SRQ-4 Hawklink สามารถส่งข้อมูลหากันได้แบบเรียลไทม์

รัฐบาลอเมริกาอัดออปชันดีที่สุดแจ่มโบ๊ะที่สุดให้กับรัฐบาลกรีซ บังเอิญบริษัทอื่นที่เข้าร่วมชิงชัยมีความน่ากลัวไม่แพ้กัน โครงการ Hellenic Future Frigate มีบริษัทสร้างเรือยักษ์ใหญ่ให้ความสนใจประกอบไปด้วย

- บริษัท TKMS ประเทศเยอรมันเสนอแบบเรือ MEKO A200NG

-บริษัท Fincantieri ประเทศอิตาลีเสนอแบบเรือ FREMM

-บริษัท Damen ประเทศเนเธอร์แลนด์เสนอแบบเรือ Sigma 11515

-บริษัท Babcock ประเทศอังกฤษเสนอแบบเรือ Arrowhead 140 (หรือ Type 31e)

-บริษัท Lockheed Martin ประเทศอเมริกาเสนอแบบเรือ MMSC (หรือ HF2)

-บริษัท Naval Group ประเทศฝรั่งเศสเสนอแบบเรือ FDI

-บริษัท Navantia ประเทศสเปนเสนอแบบเรือ F110

                กองทัพเรือกรีซต้องการเรือฟริเกตตัวท็อปดีที่สุดยอดเยี่ยมที่สุด แบบเรือจาก Lockheed Martin อาจมีจุดเด่นเรื่องปราบเรือดำน้ำ แต่ระบบเรดาร์และระบบต่อต้านอากาศยานค่อนข้างเป็นรอง โดยเฉพาะเรือฝรั่งเศสกับเนเธอร์แลนด์ซึ่งใช้เรดาร์ AESA ติดรอบเสากระโดงจำนวน 4 ตัว รวมทั้งจำนวนแท่นยิงแนวดิ่ง VLS น้อยกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด

การตัดสินรอบแรกในเดือนมิถุนายน 2021 เหลือบริษัทเข้าร่วมเพียง 5 ราย เนื่องจาก Navantia ประเทศสเปนถูกคณะกรรมการคัดเลือกแบบเรือตัดสิทธิ์ ส่วน Babcock ประเทศอังกฤษได้ขอถอนตัวไปร่วมทีมกับอเมริกา

                โครงการนี้มีเรื่องประหลาดน่าสนใจมากก็คือ กรีซต้องการเรือฟริเกตใหม่เอี่ยม 4 ลำแถมเรือฟริเกตมือสองอีก 2 ลำ กองทัพเรือกรีซยังต้องการปรับปรุงเรือฟริเกต Meko 200 ของตัวเองจำนวน 4 ลำ โดยการติดตั้งอาวุธ เรดาร์ และระบบอำนวยการรบใหม่หมด เพราะอยากให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงเรือฟริเกตรุ่นใหม่

ความต้องการกรีซได้รับการตอบสนองจากผู้เข้าร่วมเกือบทุกราย บางรายเสนอเรือฟริเกตมือสองประเทศตัวเอง ส่วนบางรายเสนอเรือใหม่เอี่ยมแต่มีขนาดเล็กลง มีเพียงอเมริกาชาติเสนอแค่เพียงเรือใหม่ 4 ลำกับปรับปรุงเรือเก่า 4 ลำ

                ปลายเดือนกันยายน 2021 ผลการตัดสินเป็นที่ชัดเจน รัฐบาลกรีซสั่งซื้อเรือฟริเกตชั้น FDI จากบริษัท Naval Group ประเทศฝรั่งเศสจำนวน 3 ลำ โดยมีออปชันสั่งซื้อเพิ่มอีก 1 ลำในอนาคต พร้อมกับสั่งซื้อเรือคอร์เวตชั้น Gowind 2500 จาก Naval Group จำนวน 3 ลำกำหนดให้สร้างเองในประเทศ โดยมีออปชันสั่งซื้อเพิ่มอีก 1 ลำเช่นกัน คำตัดสินหักปากกาเซียนทั่วโลกรวมทั้งคนในชาติซึ่งพากันมึนตึ๊บ ในเมื่ออยากได้เรือฟริเกต 4+2 ลำทำไมกลายเป็นเรือฟริเกต 3 ลำ+เรือคอร์เวต 3 ลำ

                บริษัท Lockheed Martin พ่ายแพ้อย่างหมดรูปในการชิงชัยโครงการใหญ่ เรื่องราวเรือฟริเกตส่งออกประเทศอเมริกาสมควรสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ แต่แล้วจู่ๆ วันที่ 10 ธันวาคม 2021สภาคองเกรสของอเมริกาได้อนุมัติการขายเรือ Multi-Mission Surface Combatant หรือ MMSC พร้อมอาวุธจำนวน 4 ลำให้กับกรีซ มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 6.9 พันล้านเหรียญ รวมทั้งอนุมัติการปรับปรุงเรือฟริเกต Meko 200 พร้อมอาวุธจำนวน 4 ลำให้กับกรีซ มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 2.5 พันล้านเหรียญ

                สมาชิกสภาคองเกรสไม่ได้อ่านไลน์กลุ่มหรืออย่างไร?

อยากเปลี่ยนชื่อเป็นสภาโจ๊กสถานีโทรทัศน์ไอทีวีใช่หรือไม่?

เรื่องนี้ต้องมีเงื่อนงำอย่างแน่นอน ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวได้ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา รัฐบาลกรีซตัดสินใจยกเลิกโครงการปรับปรุงเรือฟริเกต Meko 200 จำนวน 4 ลำ และขึ้นโครงการเรือคอร์เวตใหม่เอี่ยมจำนวน 4 ลำเป็นการทดแทน การอนุมัติของสภาคองเกรสเปรียบได้กับวิธีดักทางล่วงหน้า ไม่ว่ากรีซจะเลือกทางไหนข้าพเจ้าเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว

โครงการใหม่ได้รับการตอบสนองจากอดีตผู้เข้าร่วมชิงชัย บริษัท Damen ประเทศเนเธอร์แลนด์เสนอแบบเรือ Sigma 11515 อีกครั้ง บริษัท Babcock ประเทศอังกฤษก็เสนอแบบเรือ Arrowhead 140 อีกครั้ง หากบริษัทจากอังกฤษสามารถคว้าชัยในนัดล้างตาครั้งที่สอง กองทัพเรือกรีซจะมีเรือฟริเกตขนาด 4,500 ตันกับเรือคอร์เวตขนาด 5,700 ตันไว้สับขาหลอกตุรกี

โอกาสสำคัญในการขายเรือฟริเกตรุ่นส่งออกมาเยือนอีกครั้ง บริษัท Lockheed Martin เสนอแบบเรือ MMSC หรือ HF2 ของตัวเองเข้าร่วมชิงชัย ภาพประกอบที่สี่คือข้อมูลการอนุมัติขายเรือจากสภาคองเกรส บนตัวอักษรยาวเหยียดเหมือนดั่งตำราเรียนมหาวิทยาลัย มีเรื่องราวน่าสนใจมากมายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบทความนี้ขึ้นมา

ขีดเส้นใต้สีม่วงคือระบบอำนวยการรบ COMBATSS-21 อเมริกาใช้งานบนเรือ LCS เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นท็อปหน่วยยามฝั่ง รวมทั้งเรือฟริเกตชั้น Constellation รุ่นใหม่ล่าสุดของกองทัพเรือ ขีดเส้นใต้สีส้มคือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด RAM Block 2 ส่วนขีดเส้นใต้สีแดงคืออาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC

ผู้อ่านเข้าใจถูกต้องแล้วครับเรือฟริเกต HF2 สามารถใช้งาน VL-ASROC ได้

อเมริกาอนุมัติขาย VL-ASROC จำนวน 32 นัด แบ่งเป็นติดตั้งจริง 12 นัดหรือลำละ 3 นัด ลูกซ้อมอีกจำนวน 8 นัด และลูกสำรองเก็บไว้ในคลังแสงจำนวน 12 นัด อาจดูไม่มากเพราะราคาค่อนข้างแพงแต่เรือฟริเกต HF2 ใช้งานได้แน่นอน

ขีดเส้นใต้สีเหลืองคืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน CAMM หรือ Sea Ceptor ระยะยิง 25 กิโลเมตร กับ CAMM-ER หรือ Albatros NG ระยะยิง 40 กิโลเมตร เท่ากับว่า ESSM ถูกถอดออกไปและยกท่อยิง Mk.41 ทั้งหมดให้ VL-ASROC มี Albatros NG 12 นัดไว้ป้องกันตัวถือว่าไม่มากไม่น้อย หากอะไรสักอย่างหลุดเข้ามายังมี RAM Block 2 อีก 21 นัด

ขีดเส้นใต้สีฟ้าคือตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mk.54 จำนวน 32 นัด กับชุดคิทปรับปรุงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mk.46 ให้กลายเป็นรุ่น Mk.54 ขีดเส้นใต้สีเขียวคือระบบโซนาร์ท้ายเรือ CAPTAS-2 ทำงานได้ทั้งโหมด Active และ Passive ถัดไปคือโซนาร์ท้ายเรือ Low Frequency Active Towed Sonar หรือ LFATS อันเป็นโซนาร์ขนาดเล็กของบริษัท L3 ปิดท้ายด้วยระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำ AN/SQQ-89 รุ่นเดียวกับเรือพิฆาตอาวุธนำวิถีระบบเอจิสชั้น Arleigh Burke

ชมภาพประกอบที่ห้าซึ่งเป็นภาพเรือ HF2 ลำจริง เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 ทั้ง 2 ตัวหายไปเพราะไม่ได้ใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 เข้ามาแทนที่เพื่อควบคุมปืนใหญ่ 76/62  มม.รุ่น STRALES ระบบกวนสัญญาณคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ AN/SLQ-32 (V)6 ถูกแทนที่ด้วย Elta Electronic Warfare จากอิสราเอล การจัดวางอุปกรณ์มีความแตกต่างจากเดิมเล็กน้อย นี่คือแบบเรือเข้าร่วมชิงชัยโครงการเรือคอร์เวตกองทัพเรือกรีซ

ข้อมูลจากสภาคองเกรสช่วยยืนยันอย่างชัดเจนว่า HF2 คือเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำรุ่นส่งออกใหม่ล่าสุดจากอเมริกา  สามารถใช้งาน VL-ASROC ได้โดยใช้แท่นยิง Mk.41 จำนวน 8 ท่อยิง เรือถูกปรับปรุงใหม่ให้มีความเหมาะสมกับภารกิจ โดยใช้เงิน 450 ล้านเหรียญของซาอุดีอาระเบีย เรือลำนี้มีระวางขับน้ำ 4,200 ตัน ยาว 118.1 เมตร กว้าง 17.6 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.6 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ CODAG (Combine Operation Diesel and Gastuebine) ทำงานร่วมกันระบบ Water Jet ในการผลักดันเรือ สามารถทำความเร็ว 30 นอตติดต่อกันเป็นระยะทางมากสุดถึง 500 ไมล์ทะเล

“COMBATSS-21+ AN/SQQ-89 + Mk.41+ CAPTAS-2 = VL-ASROC”

นี่คือสูตรใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC มาตรฐานใหม่ อันเป็นอานิสงส์จากโครงการเรือฟริเกตชั้น Constellation การพัฒนาทำได้อย่างรวดเร็วอย่างไร้ปัญหารบกวนจิตใจ เนื่องจากทั้งอุปกรณ์ อาวุธ และโปรแกรมต่างๆ เป็นของบริษัท Lockheed Martin ทั้งหมด ขนาดท่อยิง ExLS สำหรับ Albrtros NG ก็เป็นสินค้า Lockheed Martin เช่นกัน

ปัจจุบันเรือฟริเกตรุ่นส่งออกของอเมริกามีจำนวน 2 แบบให้ลูกค้าเลือกเสียเงิน

1.เรือฟริเกตอเนกประสงค์ MMSC มาพร้อม ESSM ราคาไม่แพงเท่าไร

2.เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ HF2 มาพร้อม VL-ASROC ราคาแพงขึ้นแต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น

ปี 2021 อเมริกาส่งออกอาวุธน้อยกว่าเดิมถึง 21 เปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องใช้วิธีการต่างๆ นานาในการสร้างตัวเลขให้สูงกว่าเดิม โครงการเรือคอร์เวตประเทศกรีซคือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ท่านผู้นำกับรัฐบาลพยายามผลักดันสุดกำลังให้เรือฟริเกต HF2 ได้แจ้งเกิด หากทำสำเร็จเราต้องมาลุ้นกันต่ออีกครั้งว่า ลูกยาวอย่าง VL-ASROC จะมาตามนัดจริงหรือไม่

ไม่ว่าโครงการเรือคอร์เวตกองทัพเรือกรีซอเมริกาจะคว้าชัยหรือล้มเหลว ทว่าพวกเขาได้พัฒนาสินค้าคุณภาพดีไว้ลุยตลาดส่งออกเรือฟริเกตทั่วโลก และเป็นสินค้ามีอนาคตยาวไกลอย่างแน่นอน กองทัพเรืออเมริกาพัฒนาอาวุธใหม่ได้เมื่อไร คุณซื้อมาใช้งานบนเรือตัวเองได้ทันทีเช่นกัน อาจมีการปรับปรุงเล็กน้อยเสียเงินเพิ่มเล็กน้อย แต่คุณจะไม่ถูกลอยแพอย่างแน่นอน วงเล็บเปิด-หากคุณยังมีความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมกับรัฐบาลอเมริกา-วงเล็บปิด

+++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://www.lockheedmartin.com/en-us/news/features/2021/eight-things-you-should-know-about-hf2.html

https://www.dsca.mil/press-media/major-arms-sales/greece-multi-mission-surface-combatant-hellenic-future-frigate-hf2

https://twitter.com/D__Mitch/status/1414947871313600517?s=19

https://twitter.com/d__mitch/status/1085474791497367553?lang=eu

https://www.defensenews.com/naval/2019/12/20/lockheed-inks-2-billion-contract-for-saudi-frigate/

https://mobile.twitter.com/hashtag/defea21?src=hash

https://www.navalnews.com/naval-news/2022/01/greek-mod-ultra-modern-fdi-frigate-to-protect-greece-gowind-corvette-very-strong-candidate/

https://www.globalsecurity.org/military/world/europe/hs-hf2.htm