วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2564

HTMS Chonburi

 

HTMS Chonburi เรือหลวงชลบุรี

ตามโครงการเสริมกำลังทางเรือในปี 2523 รัฐบาลอนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือเร็วโจมตี (ปืน) จำนวน 3 ลำ กองทัพเรือจึงได้ว่าจ้างบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า ประเทศอิตาลี เป็นผู้ต่อเรือทั้ง 3 ลำโดยใช้ชื่อว่า เรือหลวงชลบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงภูเก็ต

เรือหลวง 3 ลำเดินทางถึงประเทศไทยตามลำดับดังนี้

1.เรือหลวงชลบุรี วันที่ 2 มิถุนายน 2526

2.เรือหลวงสงขลา วันที่ 5 กันยายน 2526

3.เรือหลวงภูเก็ต วันที่ 12 ธันวาคม 2526

ทำการฉลองและสมโภชเรือหลวง 3 ลำตามลำดับดังนี้

1.เรือหลวงสงขลา วันที่ 5-7 กันยายน 2526

2.เรือหลวงภูเก็ต วันที่ 12-13 ธันวาคม 2526

3.เรือหลวงชลบุรี วันที่ 11-21 เมษายน 2527

หลายคนแปลกใจว่า ทำไมเรือหลวงชลบุรีเดินทางถึงประเทศไทยก่อนเรือหลวงลำอื่นๆ แต่ถึงได้กระทำพิธีฉลองเรือหลวงชลบุรีหลังเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ต

เหตุผล

            1.เรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ตมาถึงประเทศไทยก็เทียบท่าจังหวัดแต่ละจังหวัดทำการฉลองได้ทันที เมื่อเรือหลวงเดินทางมาถึงก็จัดพิธีฉลองและสมโภชได้ตามกำหนดการที่เตรียมไว้

                2.เรือหลวงชลบุรีถึงประเทศไทยวันที่ 2 มิถุนายน 2526 พลเรือเอกสมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กระทำพิธีรับมอบเรือหลวงชลบุรี ณ ท่าเทียบเรือ กรมสรรพาวุธ ทหารเรือ บางนา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2526

                3.เป็นประเพณีของชาวจังหวัดชลบุรี ที่กระทำพิธีฉลองเรือรบหลวง 32 ชลบุรี (ลำเก่า) ในงานประจำปีจังหวัดชลบุรีปี พ..2481 จังหวัดชลบุรีจึงเห็นควรรอการฉลองเรือหลวงชลบุรี (ลำใหม่) ไว้ในงานประจำปีจังหวัดชลบุรี พ..2527 เพราะเรือหลวงชลบุรีเดินทางมาถึงประเทศไทย หลังจากงานประจำปีจังหวัดชลบุรี พ..2526 แล้ว

                ด้วยเหตุผล 3 ประการ งานฉลองเรือหลวงชลบุรีจึงล่าช้ากว่างานฉลองเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ต แต่จังหวัดชลบุรีก็ได้ร่วมกับกองทัพเรือจัดงานเฉลิมฉลองเรือหลวงชลบุรีอย่างมโหฬารถึง 11 วัน 11 คืน มีพิธีการที่เหมาะสมยิ่งและมหรสพสมโภชอย่างมโหฬาร นับเป็นงานมหกรรมที่ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะ ได้สร้างของที่ระลึกในงานฉลองเรือหลวงชลบุรีไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายสิ่งหลายประการ


เรือหลวงชลบุรีลำใหม่มีสาระที่ควรศึกษาและสนใจคือ

                เรือหลวงชลบุรีเป็นเรือเร็วโจมตี (ปืน) ซึ่งกองทัพเรือได้ว่าจ้างบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า ณ เมืองเวนิช ประเทศอิตาลี ซึ่งได้ลงนามทำสัญญา ณ ที่กองบัญชาการ กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2522 ระหว่างกองทัพเรือ โดย พลเรือเอกกวี สิงหะ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ  กับบริษัทแคนติแอร์ นาวาล เบรด้า แห่งประเทศอิตาลี โดยทำสัญญาต่อเรือ จำนวน 3 ลำ ด้วยกันคือ

                -ลำที่ 1 เรือหลวงชลบุรี

-ลำที่ 2 เรือหลวงสงขลา

-ลำที่ 3 เรือหลวงภูเก็ต

8 มิถุนายน 2524 เริ่มประกอบพิธีประกอบเปลือกของเรือบนหมอน (วางกระดูกงู) ในอู่ โดยเรือชุดเรือหลวงชลบุรี จะประกอบไปด้วยสามท่อนคือ ส่วนท่อนหัว ส่วนท่อนกลาง และส่วนท่อนท้าย

-ส่วนท่อนหัว โดยเริ่มจากหัวเรือจนถึงหน้าสะพานเรือ

-ส่วนท่อนกลาง โดยเริ่มจากหน้าสะพานเดินเรือจนถึงหน้าห้องเครื่องท้าย

-ส่วนท่อนท้าย โดยเริ่มจากหน้าห้องเครื่องท้ายจนถึงท้ายเรือ

7 มิถุนายน 2525 ทำพิธีปล่อยเรือ โดยคุณหญิงสมบัติ เชื้อพิบูลย์

29 พฤศจิกายน 2525 ทำพิธีรับมอบเรือขั้นต้น ที่อู่เบรดา เมืองเวนิช โดยพลเรือเอกประเสริฐ แทนขำ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ

22 กุมภาพันธ์ 2526 ลงนามเซ็นสัญญารับมอบเรือขั้นสุดท้าย โดยนาวาเอกเกษม รุจาคม กรรมการตรวจสอบการจ้างอาวุโส ที่อู่เบรดา เมืองเวนิช และวันนี้เองเรือหลวงชลบุรีก็ตกเป็นสมบัติของราชนาวีไทย และคนไทยโดยสมบรูณ์

16 เมษายน 2526 เวลา 06.00 . เริ่มออกเดินทางจากเมืองตารันโต ประเทศอิตาลีกลับประเทศไทย โดยผ่านเมืองท่าต่างๆ ดังนี้

-ปอร์เสด ประเทศอียิปต์

-เจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

-จีบุติ ประเทศจีบุติ

-รัสมัสกัท ประเทศโอมาน

-บอมเบย์ ประเทศอินเดีย

-โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา

-ปีนัง ประเทศมาเลเซีย

-เกาะบรานี ประเทศสิงคโปร์

-สงขลา และสัตหีบ

เดินทางถึงสัตหีบในวันที่ 2 มิถุนายน 2526 เวลา 08.00 . รวมระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น 48 วัน เป็นระยะทาง 8,005 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 14,000 กิโลเมตร

การเดินทางถึงประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรคใดๆ ในช่วงการเดินทางนับเป็นโชคดีแก่เรือหลวงชลบุรีเป็นยิ่งนัก

คุณลักษณะทั่วไปของเรือหลวงชลบุรี

ประเภท

เรือเร็วโจมตี (ปืน) Fast Attack Craft (Gun) - FAC(G)

ขนาด   

ความยาวตลอดลำ               : 60.40 เมตร

กว้างสุด : 8.80 เมตร

กินน้ำลึก : 1.95 เมตร

ระวางขับน้ำเต็มที่ : 450 ตัน

ระวางขับน้ำปรกติ : 400 ตัน

ความเร็วและรัศมีทำการ

            ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง : 29 นอต

                ความเร็วเดินทาง (ประหยัด) : 22 นอต

                รัศมีทำการที่ความเร็วสูงสุด : 900 ไมล์ทะเล

รัศมีทำการที่ความเร็วประหยัด : 2,500 ไมล์ทะเล

กำลังงานของเครื่องจักร

            เครื่องจักรใหญ่เป็นเครื่องยนต์ MTU ขนาด 20 สูบจำนวน 3 เครื่อง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 4 เครื่อง เครื่องละ 200 กิโลวัตต์

อัตรากำลังพลประจำเรือ : จำนวน 47 นาย

ระบบอาวุธ

            ปืน 76/62 โอโตเมลารา (OTO-MELARA NAVAL COMPACT GUN) จำนวน 2 กระบอกที่หัวเรือ-ท้ายเรือ

                ปืน 40/70 แท่นคู่ของเบรดา (BREDA BOFORS) พร้อมระบบบรรจุอัตโนมัติจำนวน 1 แท่น

                เครื่องควบคุมการยิง SIGNAAL WM22/61 ซึ่งประกอบด้วย WM22/61-53TH กับ WM22/61-54TH  เพื่อใช้ควบคุมปืนทั้ง 3 กระบอก

                เครื่องทำเป้าลวงจำนวน 4 แท่นแท่นละ 6 ท่อยิง

                +++++++++++++++++++++++++++++

 

                ข้อมูลทั้งหมดผู้เขียนคัดลอกจากเอกสารชื่อ ฉลองเรือหลวงชลบุรี 11-21 เมษายน27’

เอกสารฉบับนี้บ่งบอกรายละเอียดการจัดซื้อเรือจากประเทศอิตาลี อันมีความชัดเจนโปร่งใส สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ รวมทั้งมีความสง่าภาคภูมิสมศักดิ์ศรี ข้อมูลอาจผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ อย่าใส่ใจ เพราะเป็นหนังสือที่ระลึกงานฉลองเรือหลวงชลบุรี จัดทำโดยคนชลบุรีหาใช่จากกองทัพเรือโดยตรง ผู้เขียนอ่านอย่างละเอียดแล้วไม่ถือว่าน่าเกลียด

                บทความตัดจบตรงนี้เลยก็คงไม่น่าเกลียด บังเอิญผู้เขียนได้รับภาพถ่ายเรือหลวงชลบุรีระหว่างเดินทางกลับ จากมิตรรักแฟนเพลงรายหนึ่งผ่านทางหลังไมค์ จึงอยากนำเสนอพร้อมกับเอ่ยถึงเรือลำนี้สักเล็กน้อย


                ภาพถ่ายใบนี้เรือหลวงชลบุรีแวะจอดท่าเรือปอร์เสด ประเทศอียิปต์ อันเป็นจุดแวะพักจุดแรกหลังเดินทางออกจากเมืองตารันโต ประเทศอิตาลี เรือมีสภาพใหม่เอี่ยมอ่องยังไม่พ้นช่วงรันอิน ปืนใหญ่หัวเรือ Oto 76/62 มม.รุ่น Compact  ถูกสวมปลอกยาวปกปิดลำกล้องปืน เหนือสะพานเดินเรือเป็นเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SIGNAAL ZW06 ทำงานในโหมด I-band มีระยะทำการไกลสุด 46 กิโลเมตร เป็นของดีที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ประเทศไทยมีใช้งานบนเรือหลวงมกุฎราชกุมาร (ถือเป็นลำแรกของโลกที่ติดตั้งเรดาร์ ZW06) เรือหลวงรัตนโกสินทร์  และเรือหลวงสุโขทัย

                ถัดจากเรดาร์ ZW06 มีรูปร่างคล้ายไข่คือเรดาร์ควบคุมการยิง SIGNAAL WM22/61 อุปกรณ์ตัวนี้ได้รับความนิยมระเบิดระเบ้อยิ่งกว่าเรดาร์ ZW06 บนเสากระโดงติดตั้งระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ESM รุ่น Elettronica ELT 211 มาพร้อมระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ECM รุ่น Elettronica ELT 318 ที่เห็นเป็นลูกกลมๆ กราบซ้ายกราบขวาคือจานส่งสัญญาณรบกวนรุ่น ELT 828 จำนวน 2 ใบ (เรือหลวงมกุฎราชกุมารมีถึง 4 ใบ) เห็นอะไรแปลกๆ ไหมครับ เรือหลวงชลบุรียังไม่ได้ติดปืนกล 12.7 มม.ที่สองกราบสะพานเดินเรือ เนื่องจากยังเดินทางมาไม่ถึงเมืองไทยนั่นเอง

                เรามาชมภาพท้ายเรือกันบ้างครับ นอกจากหมายเลขหนึ่งกับคำว่าชลบุรีแล้ว ยังมองเห็นปืนใหญ่ท้ายเรือ Oto 76/62 มม.รุ่น Compact  ถูกสวมปลอกยาวปกปิดลำกล้องปืนเช่นกัน ที่อยู่ถัดไปคือปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝด มาพร้อมระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ กระสุนจำนวน 444 นัดอยู่ในแมกาซีนใต้ป้อมปืน เลยไปไม่กี่เมตรหลังเสากระโดงคือเรดาร์/ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง SIGNAAL LIROD-8 เมื่อได้จับคู่กับปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ลำกล้องแฝด จะช่วยป้องกันภัยทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นคู่โหดที่หลายชาตินิยมจัดหามาใช้งานบนเรือตัวเอง

                ยังครับยังไม่หมด เรือลำนี้ติดตั้งระบบเป้าลวง MK-33 RBOC ชนิด 6 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นด้วยกัน ใช้แท่นยิง MK-135 ขนาด 114 มม.กะทัดรัด เข้าประจำการครั้งแรกช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพเรือไทยใช้ MK-33 RBOC กับเรือหลายลำด้วยกัน ประกอบไปด้วยเรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ รวมทั้งเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีอีก 3 ลำ

                MK-33 RBOC ถูกพัฒนามาเป็น MK-36 Super RBOC (หรือ SBROC) ในปัจจุบัน เปลี่ยนมาใช้แท่นยิง MK-137 ขนาด 130 มม.ส่งผลให้มีระยะยิงไกลกว่าเดิม ใส่เป้าลวงรุ่นใหม่ได้ทุกชนิดรวมทั้งเป้าลวงตอร์ปิโด

สิ่งที่ขาดหายไปจากเรือหลวงชลบุรีคือเรือเล็ก เนื่องจากบนเรือไม่มีพื้นที่ว่างเพียงพอ อู่ต่อเรือจึงใส่เรือยางท้องแข็งลำหนึ่งให้ ห้อยอยู่ด้านข้างใต้ปืนกล Breda Bofors 40/70 มม.ถึงแม้ไม่มีอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ ทว่าระบบอื่นๆ ถูกใส่เข้ามาแบบจัดแน่นจัดเต็ม จนผู้เขียนไม่รู้จะร้องขอสิ่งใดเพิ่มเติม นอกเสียจากทำไมไม่ซื้อเพิ่มอีกสัก 3 ลำ

การเดินทางจากอิตาลีมาแวะพักอียิปต์ เป็นการออกทะเลเที่ยวแรกของเรือหลวงชลบุรี เพราะฉะนั้นเมื่อเดินทางมาถึงที่หมาย จึงมีเจ้าหน้าที่คนไทยตามมาสมทบ เพื่อช่วยอำนวยการให้เรื่องต่างๆ สะดวกราบรื่น  ส่งผลให้เรือเดินทางกลับประเทศอย่างปลอดภัย ระยะทาง 14,000 กิโลเมตรถือว่าไกลเอาเรื่องเลยทีเดียว

ภาพถัดไปย้อนกลับมาที่อู่เบรดา เมืองเวนิช พลเรือเอกสมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีรับมอบเรือ ทำพิธีแบบง่ายๆ ที่ท้ายเรือหลังปืนใหญ่ 76/62 มม. ผู้บัญชาการยังได้เป็นประธานพิธีรับมอบเรือหลวงชลบุรี ณ ท่าเทียบเรือ กรมสรรพาวุธ ทหารเรือ บางนา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2526 อีกหนึ่งรอบ

ภาพถ่ายใบนี้ผู้เขียนภูมิใจแทนทหารเรือไทย ความภาคภูมิใจที่ปัจจุบันค่อนข้างเลือนราง

การจัดหาเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีมีความสมบูรณ์ ทั้งแบบเรือก็ดี ระบบอาวุธก็ดี ระบบเรดาร์ก็ดี ล้วนทันสมัยเป็นของดีอันดับต้นๆ มีใช้งานบนเรือรบไทยจำนวนหลายลำ กองทัพเรือมีการทำงานอย่างมืออาชีพ ใช้งบประมาณจัดหาอาวุธอย่างชาญฉลาด แม้เป็นเรือลำเล็กมีเพียงอาวุธปืนป้องกันตัวเอง แต่มีศักดิ์ศรีทัดเทียมทุกชาติเพราะซื้อด้วยเงินตัวเอง

ในส่วนเอกชนมีความตื่นตัวรอต้อนรับเรือใหม่ ประชาชนใน 3 จังหวัดรับรู้ข่าวเรือรบ 3 ลำโดยตลอด งานเฉลิมฉลองเรือเป็นประเพณีใหญ่ตั้งแต่ก่อนสงครามโลก คือความผูกพันของคนในจังหวัดกับเรือลำนั้นๆ ไม่ทราบเหมือนกันว่าปัจจุบันยังมีอยู่หรือไม่ จังหวัดผู้เขียนห่างไกลชายทะเลหลายร้อยกิโล จึงไม่เคยมีและไม่มีวันมีงานเฉลิมฉลองเรือรบ

ขอรบกวนสักนิดหนึ่งนะครับ

ภาพถ่ายทั้ง 3 ใบเป็นภาพส่วนตัวแฟนเพจรายหนึ่ง มีน้ำใจไมตรีส่งให้ผู้เขียนนำมาใช้ในบทความ ผู้เขียนไม่กล้าใส่เครดิตหรือลายน้ำลงบนภาพเพราะมันไม่เหมาะสม ฉะนั้นใครก็ตามต้องการนำภาพไปงานเพื่ออะไรก็ตาม ขอความกรุณาอย่าใส่เครดิตหรือลายน้ำตัวเองลงบนภาพ ถ้าจะให้ดีกระซิบบอกผู้เขียนหลังไมค์สักนิดหนึ่ง

ปรกติผู้เขียนไม่อะไรกับเรื่องพวกนี้ อยากตัดต่อภาพวาดหรือเปลี่ยนเครดิตเชิญตามสบายชินแล้ว แต่เนื่องมาจากไม่ใช่ภาพตัวเอง มีความจำเป็นต้องร้องขอชีวิตสักครั้งเถอะ รวมทั้งขออภัยสำหรับผู้อ่านที่ไม่สนใจเรื่องพวกนี้

เรือหลวงชลบุรีในปัจจุบัน

ตัดกลับมาที่เรือหลวงชลบุรีในปี 2021 ยังคงเข้าประจำการรับใช้ชาติร่วมกับเรือหลวงสงขลาและเรือหลวงภูเก็ต โดยมีสิ่งเปลี่ยนชัดเจนมากที่สุดก็คือ เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ ZW06 ถูกถอดออกไปเพราะหมดอายุขัย ทดแทนด้วยเรือเรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัวตำแหน่งใกล้ตำแหน่งเดิม อาวุธและอุปกรณ์อื่นๆ ยังอยู่ครบถ้วนเหมือนเก่า


หลายๆ อย่างอาจสู้ของใหม่ไม่ได้ อาทิเช่นปืนใหญ่ 76/62 มม.รุ่น Compact ประสิทธิภาพต่ำกว่ารุ่น Super Rapid  ปืนกล 40/70 มม.ลำกล้องแฝดขายไม่ออกนานแล้ว เรดาร์ควบคุมการยิง WM22/61 มีขนาดเทอะทะเมื่อเทียบกับรุ่นหลาน เรดาร์/ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง LIROD-8 หายหน้าหายตาไปนาน ระบบเป้าลวง MK-33 RBOC ถูกทดแทนด้วย MK-36 Super RBOC ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ก็ล้าสมัยเต็มทน บังเอิญมีข้อดีคือทุกอย่างยังมีชาติอื่นใช้งานเช่นกัน

เรือหลวงชลบุรีเข้าประจำการใกล้ครบ 38 ปีแล้ว แต่อาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ยังมีอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงวางขายอีกหลายปี ถือเป็นอานิสงส์จากคณะกรรมการจัดหาเรือ ที่ได้คัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดเหมาะสมที่สุดนำมาติดตั้งบนเรือ

ผู้เขียนขอเปรียบเทียบกับเรือหลวงเจ้าพระยา เรือทั้งสองลำมีชะตากรรมใกล้เคียงกัน เนื่องจากถูกถอดเรดาร์ตรวจการณ์ตัวหลักออกไป ทั้งๆ ที่เรือหลวงเจ้าพระยาประจำการช้ากว่า 8 ปี ด้วยสาเหตุอันใดผู้เขียนไม่อาจทราบได้เลย

เรือหลวงเจ้าพระยาเป็นเรือฟริเกตติดอาวุธครบ 3 มิติ แต่เป็นมิติพิศวงระยะทำการค่อนข้างสั้น มีปืนกล 37 มม.ไว้รับมือภัยร้ายจากฟากฟ้า มีจรวดปราบเรือดำน้ำระยะยิง 1,200 เมตรไว้รับมือภัยร้ายจากใต้น้ำ มีปืนใหญ่ 100 มม.กับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-801 ไว้รับมือภัยร้ายจากผิวน้ำ กองทัพเรือยังไม่มีแผนปรับปรุงใหญ่ครึ่งอายุการใช้งาน

ปัจจุบัน C-801 น่าจะหมดอายุใช้งานครบถ้วนแล้ว ประสิทธิภาพเรือหลวงเจ้าพระยาลดต่ำลงแบบฮวบฮาบ เทียบกับเรือหลวงชลบุรีซึ่งไม่มีการปรับปรุงใหญ่เช่นกัน เรือมีประสิทธิภาพอาวุธลดต่ำลงสัก 10 เปอร์เซ็นต์เอ้า (ป้อมปืนเก่าแล้วอาจขยับได้ช้ากว่าของใหม่) ประสิทธิภาพเรดาร์ลดลงมาสัก 30 เปอร์เซ็นต์ ผู้เขียนคิดว่าถ้าได้เรดาร์ Sea Giraffe1X ตัวเล็กนิดเดียวเป็น AESA ระยะทำการ 100 กิโลเมตรเข้ามาปิดช่องว่าง จะกลับดีงามทันสมัยเทียบเท่าเรือใหม่ในปี 2526

   แต่เรือหลวงเจ้าพระยาอยู่ในสภาพร่อแร่ ไม่มี C-801 ประสิทธิภาพอาวุธต่ำกว่าเดิมอย่างน้อยๆ 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีเรดาร์ตรวจการณ์ Type 354 Eye Shield ระยะตรวจ 147 กิโลเมตร ประสิทธิภาพเรดาร์ลดต่ำกว่าเดิมมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แน่นอน เพราะ Type 354 Eye Shield ตรวจจับเป้าหมายขนาด 10 ตารางเมตรได้จากระยะ 50 ไมล์ทะเล เรดาร์เดินเรือที่นำมาทดแทนคงทำอะไรค่อยไม่ได้ ผู้เขียนเคยเขียนถึงเรื่องนี้ครั้งหนึ่งแล้วในบทความ เรดาร์ที่หายไป

เรือหลวงชลบุรีในอดีต

            เรือเร็วโจมตีปืนหมายเลข 331 ที่จัดหามาจากประเทศอิตาลี เป็นเรือลำที่สองซึ่งใช้ชื่อว่าเรือหลวงชลบุรี ก่อนหน้านี้ในปี 2481 กองทัพเรือไทยเคยมีเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่งเข้าประจำการ เป็นเรือตอร์ปิโดใหญ่จัดหามาจากประเทศอิตาลีเช่นกัน เรือตอร์ปิโดหมายเลข 32 มีประวัติแบบย่อมากๆ ดังนี้คือ

                วันที่ 23 กรกฎาค 2478 ลงนามสัญญาสร้าง

                วันที่ 22 สิงหาคม 2478 ทำพิธีวางกระดูกงู

                วันที่ 18 มกราคม 2479 ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ

                วันที่ 5 ตุลาคม 2481 ทำพิธีเข้าประจำการ

                วันที่ 17 มกราคม 2484 เรือหลวงชลบุรีถูกเรือรบฝรั่งเศสยิงจมที่เกาะง่าม ในกรณีพิพาทอินโดจีน-ฝรั่งเศส

                ภาพนี้คือเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่งก่อนทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ มองเห็นหมายเลข 32 ที่หัวเรืออย่างชัดเจน ด้านบนมีเครนขนาดใหญ่สำหรับขนของหนัก ท้ายเรือหันเข้าหาทะเลเตรียมพร้อมปล่อยลงน้ำ ประดับประดาด้วยธงมากมายซึ่งผู้เขียนไม่รู้ความหมาย เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือลงน้ำบรรดาคนงานในอู่ต่อเรือ จะมายืนมุงพร้อมกับใช้มือโบกหมวกตัวเอง พร้อมๆ กับลุ้นว่าเรือลงน้ำแล้วจะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเกิดนอกเสียจากดวงตกสุดขีด

ระหว่างปี 2478 ถึง 2480 ชาวจังหวัดชลบุรีได้มีส่วนบริจาคทรัพย์ให้กับกองทัพเรือ โดยการเปิดเรี่ยไรในงานประจำปีจังหวัดชลบุรี นำเงินที่ได้มาสมทบซื้อเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่ง คล้ายคลึงจังหวัดอื่นๆ ที่ชื่อจังหวัดถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเรือ

ข้อมูลต่อจากนี้เป็นความเห็นส่วนตัว สมัยนั้นประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะต่างจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนามีรายได้ค่อนข้างน้อย การรับบริจาคไม่น่าได้เงินก้อนโตซื้อเรือรบทั้งลำ เข้าใจว่ากองทัพเรือนำเงินบริจาคมาซื้อปืนกลเมดเสนขนาด 20 มม.ติดตั้งบนเรือ  ถ้าได้เงินน้อยซื้อรุ่นลำกล้องเดี่ยวถ้าได้เงินมากก็ซื้อรุ่นลำกล้องแฝด

                เรือตอร์ปิโดชั้นเรือหลวงตราดมีมากถึง 9 ลำ แบ่งเป็นเฟสแรกจำนวน 2 ลำคือเรือหลวงตราดกับเรือหลวงภูเก็ต  สร้างโดยอู่ต่อเรือกันดิเอริ ริอูนิดิ เดลลัดดริอาดิ โก ประเทศอิตาลี ในราคาลำละ 1 ล้าน 3 แสนบาท ต่อมาไม่นานกองทัพเรือไทยตั้งโครงการจัดหาอีก 4 ลำ ผลการประมูลสามารถต่อเรือ (เฉพาะเรือและเครื่องจักร) ในราคาเพียงลำละ 571,300 บาท รวมค่าปืนใหญ่และตอร์ปิโดเท่ากับประมาณลำละ 7 แสนบาท จึงสามารถจัดหาได้ถึง 7 ลำเพิ่มขึ้นมา 3 ลำ


ภาพสุดท้ายคือเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่ง ระหว่างทำพิธีปล่อยลงน้ำในวันที่วันที่ 18 มกราคม 2479 ข้อแตกต่างระหว่างเรือเฟสสองเทียบกับเรือเฟสหนึ่ง นอกจากระวางขับน้ำมากกว่าเดิมเล็กน้อย เพื่อบรรทุกน้ำมันมากกว่าเดิมมีระยะทำการไกลกว่าเดิมแล้ว (แลกกับความเร็วสูงสุดลดลงมานิดหน่อย) ที่เห็นชัดเจนคือแท่นยิงปืนกลต่อสู้อากาศยานแท่นที่สอง สร้างเพิ่มเติ่มระหว่างแท่นยิงตอร์ปิโดหน้าและหลัง  จากภาพนี้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน (ที่สุดของแจ้แล้วครับ)

หลังจากเรือหลวงชลบุรีลำที่หนึ่งพลีชีพเพื่อชาติ  42 ปีถัดมาเรือหลวงชลบุรีลำที่สองจึงได้กลับคืนจังหวัดชลบุรี ในอนาคตถ้ามีเรือหลวงชลบุรีลำที่สาม หวังว่าผู้เขียนจะมีโอกาสเขียนถึงเรือลำนี้อีกครั้ง วันนี้ลากันไปก่อนสวัสดีครับ ^_+

                                                +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

เอกสารดาวน์โหลดบทความเรื่อง ฉลองเรือหลวงชลบุรี 11-21 เมษายน27’

เอกสารดาวน์โหลดบทความเรื่อง คุณครูเล่าให้ฟังเรื่องเรือตอร์ปิโดใหญ่

สารคดี 'เรือตอร์ปิโด...การเดินทางสู่ทะเลตะวันตกของราชนาวีไทย'

https://m.youtube.com/watch?v=Dx7mXIOwwOg&feature=youtu.be

https://m.youtube.com/watch?v=SIjDkXwaiNE&feature=youtu.be

https://thaimilitary.blogspot.com/2017/10/the-missing-radar.html

https://thaimilitary.blogspot.com/2016/04/the-power-of-sea-2478.html

 

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2564

ASW Offshore Patrol Vessel (What If)

 

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งปราบเรือดำน้ำ

บทนำ

ก่อนเทศกาลสงกรานต์ปี 2021 จะเริ่มต้นอย่างเงียบเหงาเศร้าสร้อย ประเทศไทยมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง อันเป็นผลสืบเนื่องจากความวุ่นวายในอดีต ผลการเลือกตั้งพรรคกัญชาเสรีประชาธิปไตยหรือ CBD Liberal Democracy ได้รับคะแนนเสียงมากอันดับหนึ่ง ผู้นำพรรคหน้าใหม่ชื่อ นายโรม ฤทธิ์ไกร นักธุรกิจหนุ่มผู้รักชีวิตอิสระ เป็นหนุ่มสำราญอารมณ์ดี ผู้มีอีกหนึ่งบุคลิกภายใต้หน้ากากอินทรีปิดบังใบหน้า จับพลัดจับผลูขึ้นเป็นผู้นำประเทศโดยไม่ได้ตั้งใจ

นโยบายสำคัญที่นายกโรมต้องการทำก็คือ เข้ามาจัดการทุกอย่างในกองทัพเรือด้วยตัวเอง ทั้งนี้เนื่องมาจากพลเรือโทนาวินผู้เป็นบิดา อดีตสมัยเป็นผู้การเรือปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.13  เขาตกหลุมรักนางสาวเกวลินบ้านอัมพวาจนได้แต่งงานกัน นายกโรมถือกำเนิดตอนบิดาเป็นผู้การเรือหลวงนาคา เรียนหนังสือตอนบิดาเป็นผู้การเรือหลวงปิ่นเกล้า เข้ามหาวิทยาลัยตอนบิดาดูแลกองเรือตรวจอ่าว เรียนจบตอนบิดาถูกดองเค็มในกระทรวงกลาโหม เขาผู้นี้มีความผูกพันกับกองทัพเรือค่อนข้างมาก


The Rumbling

รับตำแหน่งได้เพียงสามวันเกิดเรื่องใหญ่ ประเทศอัสแลนด์ภายใต้การปกครองกองกำลังกบฏ เริ่มบุกโจมตีประเทศเพื่อนบ้านแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งยิงเรือน้ำมันกับเรือสินค้าในอ่าวเปอร์เซีย อันเป็นผลสืบเนื่องจากการชักใยจากเบื้องหลังของกลุ่ม ‘Project  4’ ส่งผลให้อัสแลนด์มีอาวุธทันจำนวนมากใช้งาน รวมทั้งเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้าจำนวน 28 ลำ

Project  4 คือพ่อค้าอาวุธจากยุโรปหลายชาติ รวมตัวกัน ให้การสนับสนุนกองกำลังกบฏอันมีบิดาท่านซากิเป็นผู้นำ เพื่อยึดอำนาจรัฐบาลท่านแซ็คผู้นำประเทศอัสแลนด์ พร้อมกับสร้างความวุ่นวายให้ตัวเองขายอาวุธเยอะกว่าเดิม ราคาน้ำมันทั่วโลกแพงมากขึ้น หุ้นบริษัทน้ำมันที่กว้านซื้อไว้มูลค่าสูงขึ้น รวมทั้งใช้ดินแดนในตะวันออกกลางทดสอบอาวุธชนิดใหม่

กองกำลังสหประชาชาติจึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อต่อสู้กับอัสแลนด์และทหารรับจ้างเดนตายของ Project  4

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ชัดเจน เรือสินค้าหลายลำถูกลูกหลงจากการโจมตีทางทะเล นายกโรมสั่งให้ทหารบก 2 กองพันเดินทางไปช่วยรบบนบก เรือหลวงตากสินเดินทางไปช่วยรบในทะเล โดยที่รู้ดีว่าปัญหานี้แค่เพียงเริ่มต้น

ทหารถูกกำหนดให้รบแบบจำกัดพื้นที่ กองกำลังสหประชาชาติจะคอยดูแลกองเรือน้ำมันกับกองเรือสินค้า ไม่ให้ถูกโจมตีจากเรือดำน้ำหรือเครื่องบิน Mig-29 ติดอาวุธนำวิถีปราบเรือผิวน้ำ โดยใช้กองกำลังทางเรือกับทางอากาศเป็นหลัก กำลังทางบกจะตรึงอยู่ที่ชายแดนอิรัคไม่ข้ามเขตแดน เนื่องจากจำนวนทหารยังน้อยเกินไปรวมทั้งพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย

 จากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ สงครามใหญ่จะต้องเกิดขึ้นใน 4 ปีข้างหน้า ถ้าอัสแลนด์กับ Project 4 ไม่เปิดฉากบุกอิรัคก่อน คิดว่ากองกำลังสหประชาชาติจะยกทัพทางเรืออ้อมมาตลบหลัง เมื่อถึงเวลานั้นเรือรบสำคัญๆ ทุกลำของราชนาวีไทย จำเป็นต้องเดินทางไกลไปรวมทีมกับเหล่าอเวนเจอร์

ปัญหาสำคัญกองทัพเรือไทยก็คือ เรามีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จำนวน 1 ลำ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B จำนวน 6 ลำ (มีโซนาร์ชักหย่อน 3 ระบบ) มีเรือฟริเกตติดอาวุธครบ 3 มิติรวมทั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานเพียง 3 ลำ เรือฟริเกตอีก 4 ลำไม่มีแม้กระทั่งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ เรือคอร์เวตติดอาวุธครบ 3 มิติอีก 2 ลำปีนี้มีอายุ 35 กับ 34 ปีแล้ว แค่เอาตัวเองให้รอดจากการถูกโจมตียังเลือดเข้าตา ถ้าต้องยกกำลังรบหลักทั้งหมดไปบุกอัสแลนด์ แล้วหลังบ้านตัวเองใครกันจะช่วยดูแลรักษา? เรือดำน้ำ Project  4 อย่างขี้หมูขี้หมาก็  Agosta-70 ของฝรั่งเศสเข้าไปแล้ว

นายกโรมตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธในเฟซบุ๊ก เขาใช้เวลา 2 อาทิตย์ในการหาวิธีรับมือเรือดำน้ำ ในกรณีไม่มีเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เรือฟริเกตทันสมัย และเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ ท้ายที่สุดจึงได้ถือกำเนิดแผน แผ่นดินคำราม หรือ ‘The Rumbling’ ขึ้นมา เข้าใจว่าท่านนายกถูกคนชื่ออะไรบอยๆ สักอย่างเสกคุณไสยเข้าให้

The Rumbling คือการสร้างกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเล เพื่อรับมือเรือดำน้ำในเขตอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน โดยไม่เกี่ยวข้องกับกำลังรบหลักแม้แต่นิดเดียว และใช้งบประมาณน้อยที่สุดตามสภาพกระเป๋าสตางค์

คิดแผนการได้นายกโรมรีบบินด่วนไปกรุงปักกิ่ง เพื่อเจรจาต้าอ่วยกับท่านผู้นำสีเป็นการส่วนตัว ใช้เวลา 13 ชั่วโมงก่อนมีแถลงการณ์ร่วมกัน สั้นๆ กระชับ และได้ใจความดังต่อไปนี้

1.โครงการเรือดำน้ำ S-26T ลำที่หนึ่งยังคงเดินหน้าต่อไป แต่ลำอื่นขอหยุดไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว

2.โครงการเรือยกพลขึ้นบก Type 071E ขนาด 20,000 ตันที่ไทยสั่งซื้อแบบช็อกโลกนั้น ทางการจีนจะช็อกโลกอีกครั้งด้วยการขอซื้อไว้ใช้งานเอง โดยมีค่าปรับเป็นทุเรียนก้านยาวจำนวน 200 ตัน

3.ไทยจะขายเรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกงให้กับจีน จะนำมาจัดแสดงหรือทำอะไรตามแต่ใจท่านผู้นำสี

4.เงินที่ได้จากการขายเรือฟริเกต กับเงินที่จ่ายค่าเรือยกพลขึ้นบกไปแล้วบางส่วน จะถูกสมทบในโครงการ ‘Pattani Class Filght II Programme’ หรือ โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งปราบเรือดำน้ำ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญแผนแผ่นดินคำรามของผู้นำคนใหม่ประเทศไทย

จำนวนเรือในโครงการนี้คือ 4 ลำโดยให้สร้างติดต่อกัน แบ่งเป็นสร้างในจีน 2 ลำกำหนดส่งมอบและเข้าประจำการภายในปี 2025 สร้างในไทย 2 ลำกำหนดส่งมอบและเข้าประจำการภายในปี 2027 เรือที่สร้างในไทยเข้าประจำการช้ากว่ากันถึง 2 ปี เนื่องจากอู่ต่อเรือของเราเครื่องไม้เครื่องมือรวมทั้งประสบการณ์สู้ฝั่งจีนไม่ได้ แต่ถ้าเข้าประจำการก่อนเวลาไม่ว่ากัน

เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างสมบูรณ์ นายกโรมได้กำหนดมาตรฐานระบบอาวุธต่างๆ เสียใหม่  หนึ่งในนั้นก็คือระบบอำนวยการรบ เรือฟริเกตและเรือรบสำคัญๆ ทุกลำจะใช้ระบบ 9LV MK4 ของ SAAB ส่วนเรือตรวจการณ์ทุกขนาด เรือยกพลขึ้นบก หรือเรือช่วยรบที่จำเป็นต้องใช้งาน ให้ใช้ระบบ TIRA MK2 ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ  (โดยใช้ระบบของ SAAB นั่นแหละมาปรับปรุง) นี่คือข้อกำหนดในการสร้างเรือใหม่ทุกลำ ส่วนเรือเก่าปรับปรุงใหม่ให้พิจารณาอย่างเหมาะสม

จากภาพประกอบที่ทีมงานนายกโรมทำขึ้นมา เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 2 ลำสร้างโดยจีน มีแค่เพียงตัวเรือกับอุปกรณ์สำคัญๆ จำนวนหนึ่ง อุปกรณ์ที่เหลือกับอาวุธทั้งหมดให้นำมาติดตั้งในไทย อู่ต่อเรือ China State Shipbuilding Corporation หรือ CSSC จะนำประสบการณ์การสร้างเรือคอร์เวตชั้น Type-56 หลายสิบลำ มาช่วยปรับปรุงให้เรือตรวจการณ์ชั้น Pattani Filght II สามารถทำภารกิจปราบเรือดำน้ำได้ดีกว่าเดิม เพื่อขายให้กับไทยรวมทั้งชาติอื่นๆ ซึ่งมีงบประมาณจำกัด

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Pattani Filght II  แม้ยังไม่ดีเทียบเท่าเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำแท้ๆ นำไปไล่ล่าเรือดำน้ำในทะเลลึกคงไม่เหมาะสม แต่กับภารกิจเฝ้าบ้านตัวเองถือว่าพอถูๆ ไถๆ จุดเด่นคือมีลานจอดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน ทั้งๆ เรือมีระวางขับน้ำปรกติเพียง 1,440 ตัน จุดเด่นที่สองราคาเรือถูกกว่าเรืออังกฤษพอสมควร จุดเด่นที่สามปัจจุบันจีนสร้างเรือรบได้เร็วฟ้าผ่า อย่างน้อยที่สุดถ้าสหประชาชาติบุกอัสแลนด์ตามแผน ไทยจะมีเรือชั้น Pattani Filght II พร้อมใช้งาน 2 ลำ

อาวุธและอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนเรือลำใหม่ 80 เปอร์เซ็นต์ยึดตามมาตรฐานกองทัพเรือไทย โดยมีของใหม่ 20 เปอร์เซ็นต์ ผสมปนเปเข้ามา นอกจากระบบอำนวยการรบ TIRA ที่นายกโรมอยากได้แล้ว ยังมีเรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติรุ่นใหม่ล่าสุด กับแท่นยิงระบบเป้าลวงรุ่นใหม่สามารถปรับทิศทางได้ โดยมีปืนใหญ่ 76/62 มม.เป็นปืนหลัก ส่วนปืนรองใช้ขนาด 30 มม.มีโซนาร์หัวเรือรุ่นเดียวกับเรือฟริเกต มาพร้อมแท่นยิงตอร์ปิโดแบบแฝดสาม นี่คือระบบอาวุธหลักบนเรือตรวจการณ์ลำใหม่


Pattani Class Filght II

นี่คือภาพวาดเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Pattani Filght II  เรือมีระวางขับน้ำปรกติ 1,470 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,645 ตัน ยาว 94.50 เมตร กว้าง 11.8 เมตร กินน้ำลึกสุด 3.5 เมตรไม่รวมโดมโซนาร์ ความเร็วสูงสุด 25 นอต ความเร็วเดินทาง 15 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500 ไมล์ทะเล ทุกอย่างเหมือนเรือหลวงปัตตานีแต่ระวางขับน้ำเพิ่มขึ้น 10 ตัน ข้อบกพร่องต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการทรงตัว CSSC ช่วยปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมแม้ไม่ดีที่สุดก็ตาม

มาชมรายละเอียดเพิ่มเติมกันต่อ ราวกันตกหัวเรือเปลี่ยนเป็นเหล็กทืบตามสมัยนิยม ติดตั้งปืนใหญ่ Oto 76/62 Super Rapid อัตรายิงสูงสุด 120 นัด/นาที กราบซ้ายกราบขวาสะพานเดินเรือซึ่งปรกติติดตั้งแพชูชีพ ถูกปรับปรุงใหม่ให้รองรับปืนกลอัตโนมัติ DS-30MR สามารถใช้งานเรดาร์ควบคุมการยิงร่วมกับปืนหลักได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นได้มีการตีโป่งออกมาประมาณ 3 ฟุต ใช้เป็นทางเดินไม่อย่างนั้นจะติดปืนกล 30 มม. มีการติดตั้งแผ่นโลหะเข้าไปใต้โป่งตามสมัยนิยม หนึ่งช่วยเสริมความแข็งแรงรองรับน้ำหนักได้ดีขึ้น สองช่วยลดการตรวจจับจากเรดาร์สักเล็กน้อยก็ยังดี

การตีโป่งแบบนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในเรือรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเรือฟริเกต Type 26 อะไรจะใหญ่โตปานนั้น บังเอิญเรือเรามีขนาดเล็กแค่นี้กำลังเหมาะสม ใหญ่เกินไปเปลืองเงินเปล่าๆ ที่สำคัญไม่สวยต่างหาก

เรือถูกติดตั้งระบบอำนวยการรบ TIRA MK2 เรดาร์ควบคุมการยิง SAAB CEROS 200 แต่ไม่มีเสาอากาศนำวิถีจรวดต่อสู้อากาศยาน ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ THALES NS50 มีเรดาร์เดิน X-Band กับ S-Band อีก 3 ตัว ยังไม่มีกล้องตรวจการณ์ตอนกลางคืน แต่มีระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์ ES-3061 ทำงานร่วมกับระบบเป้าลวงรุ่นมาตรฐานทัพเรือไทย

พื้นที่กลางเรือติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ทำงานร่วมกับระบบโซนาร์ Atlas DSDQ-24d  หลักเดวิทกับเรือชูชีพที่อยู่กราบขวาถูกถอดออก ทดแทนด้วยเรือยางท้องแข็งกับเครนแบบพับเก็บได้ช่วยประหยัดพื้นที่ กราบซ้ายกราบขวาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ถูกจัดตำแหน่งใหม่ แพชูชีพย้ายมาอยู่ท้ายสุดติดลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ถัดมาเป็นปืนกล 12.7 มม. ชุดที่สอง (ชุดแรกอยู่บนสองกราบสะพานเดินเรือ) ปิดท้ายด้วยแท่นยิงระบบเป้าลวง Trainable ของบริษัท SEA ประเทศอังกฤษ มีขนาด 12 ท่อยิงใส่เป้าลวงได้ทุกชนิด สามารถปรับทิศทางการยิงเป้าลวงได้ทันสมัยมากขึ้น

เรือทั้ง 4 ลำถูกกำหนดให้ใช้ชื่อดังนี้

-เรือหลวงสุราษฎร์ 513

 -เรือหลวงตราด 514

-เรือหลวงระยอง 515

-เรือหลวงตรัง 516

ผู้เขียน : เทคนิคการตั้งชื่อคือเลือกจากชื่อยังไม่เคยใช้งาน เท่านั้นเองครับไม่มีอะไรเลย

หลังการเจรจากับท่านผู้นำสีเป็นที่เรียบร้อย นายกโรมเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อทำหน้าที่ต่อไป เขาได้สละเวลาให้ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว โดยเลือกน้องไบร์ทและเปิดโอกาสให้สอบถามได้ทุกเรื่อง

น้องไบร์ท : ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องทหารสักเท่าไร วานท่านนายกช่วยแนะนำด้วยนะคะ

นายก : ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้เช่นกันครับ และผมไม่ใช่มหาเทพชาบูๆ ฉะนั้นผมจะไม่ใช่คำศัพท์พิเศษ คำย่อ คำเฉพาะทาง หรือศัพท์สแลง จะพยายามใช้คำพูดที่คนทั่วไปฟังแล้วเข้าใจ

น้องไบร์ท :ขอบคุณค่ะคำถามแรกเลยนะคะ ทำไมเราต้องซื้อเรือฟริเกตถึง 4 ลำจากประเทศจีน

นายก : เราซื้อเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำครับคุณไบร์ท ที่สำคัญเรือจำนวน 2 ลำสร้างเองในประเทศ

น้องไบร์ท : ผู้เชี่ยวชาญบอกดิฉันว่า เรือตรวจการณ์ไม่มีอาวุธปราบเรือดำน้ำนะคะท่าน  ต้องเป็นเรือรบแท้ๆ เท่านั้นถึงจะมี ฉะนั้นเรือลำนี้ไม่ใช่เรือตรวจการณ์แต่เป็นเรือฟริเกต

นายก (ทำหน้าปวดท้องเมนส์ ) : เอ่อปัจจุบันเรามีเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำประจำการถึง 3 ลำ

น้องไบร์ท (ทำหน้างุนงงได้น่ารักมาก) : แล้วยังไงคะ???

นายก (ถอนหายใจเล็กน้อยก่อนพูดเสียงหล่อ) : คืออย่างนี้ครับคุณไบร์ทเรือฟริเกตหรือเรือคอร์เวตแท้ๆ มันแพง หลายชาติที่ไม่ค่อยมีเงินแต่จำเป็นต้องใช้เรือ ใช้วิธีติดอาวุธปราบเรือดำน้ำกับเรือตรวจการณ์หรือเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีไปก่อน รอให้ตัวเองมีเงินซื้อเรือฟริเกตแท้ๆ ค่อยว่ากันใหม่ หลายชาติที่ว่ารวมทั้งสิงคโปร์กับอิสราเอลด้วย

น้องไบร์ท : เอตกลงยังไงกันแน่คะท่าน ดิฉันสับสนไปหมดแล้ว

นายก : เรือตรวจการณ์กับเรือฟริเกตหรือคอร์เวต แตกต่างกันที่แบบเรือครับคุณไบร์ท เรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงคำรณสินธุติดตั้งโซนาร์กับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแต่ทั่วโลกเรียกว่าเรือตรวจการณ์ เรือฟริเกตชั้น La Fayatte ของฝรั่งเศสไม่มีโซนาร์กับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแต่ทั่วโลกเรียกว่าเรือฟริเกต รวมทั้งเรือคอร์เวตติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Aster-30 ระยะยิง 100 กิโลเมตรรุ่นใหม่เอี่ยมของการ์ต้าไม่มีโซนาร์กับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแต่ทั่วโลกเรียกว่าเรือคอร์เวต เราจำแนกเรือตามระบบอาวุธบนเรืออาจไม่เหมาะสม ต้องพิจารณาแบบเรือถึงจะชัดเจนขนาด 8K ครับ

น้องไบร์ท : แบบเรือ?

นายก : ผมพูดง่ายๆแบบนี้แล้วกัน เรือฟริเกตหรือเรือคอร์เวตซึ่งเป็นเรือรบแท้ๆ ตัวเรือมีความแข็งแรงมากกว่า มีความปลอดภัยมากกว่าในกรณีเรือถูกโจมตี ส่งผลให้เรือราคาแพงกว่ากันอย่างชัดเจน ส่วนเรือตรวจการณ์หน้าที่หลักคือตรวจการณ์ แบบเรือมีความแข็งแรงน้อยกว่าแต่ราคาถูกกว่า ค่าใช้จ่ายในการใช้งานควรน้อยกว่าเพราะต้องใช้งานค่อนข้างบ่อย

น้องไบร์ท : หมายความว่าเรือทั้ง 4 ลำเป็นเรือตรวจการณ์?

นายก : ใช่ครับ ตรวจการณ์เป็นงานหลัก ปราบเรือดำน้ำเป็นงานรอง

น้องไบร์ท : คำถามต่อไปมาจากทางบ้านนะคะ ทำไมเราใช้ระบบอำนวยการรบกับระบบเรดาร์จากหลายบริษัท

นายก : ระบบอำนวยการรบ ถิรมาจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของ SAAB ให้กับบริษัทเอกชนคนไทย มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนและบูรณาการได้ด้วยตัวเอง ผมให้ใช้งานกับเรือตรวจการณ์ทุกขนาดเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ เรดาร์ควบคุมการยิงเราใช้ของ SAAB เข้ากันได้โดยไม่มีปัญหา ส่วนเรดาร์ตรวจการณ์เราใช้รุ่นใหม่ของ THALES เพราะมีราคาย่อมเยากว่าเรดาร์ Sea Giraffe AMB ของ SAAB ซึ่งมีใช้งานบนเรือฟริเกตของเราหลายลำ

น้องไบร์ท : แล้วมันจะใช้งานร่วมกันได้เหรอคะ

นายก : ได้สิครับถ้าเป็นระบบจากค่ายตะวันตกมีปัญหาน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่นปี 2018 กองทัพเรือฟินแลนด์ปรับปรุงเรือชั้น Hamina ของตัวเอง โดยการถอดระบบอำนวยการรบของเยอรมันออก เพื่อแทนที่ด้วยระบบอำนวยการรบ 9LV MK4 ของ SAAB จากสวีเดน สามารถใช้งานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์เยอรมันได้ดีเหมือนเดิม

น้องไบร์ท : ระบบโซนาร์ใหญ่เกินไปหรือเปล่าคะ

นายก : ก็ไม่อีกนั่นแหละครับ เรือคอร์เวตชั้น Kasturi ของมาเลเซียระวางขับน้ำปรกติ 1,500 ตันติดโซนาร์ตัวนี้ได้ เรือเราระวางขับน้ำปรกติน้อยกว่าเรือเขา 30 ตันย่อมติดได้เช่นกัน

น้องไบร์ท : แล้วเรื่องระบบเป้าลวงล่ะคะ ทำไมต้องเปลี่ยนใหม่เพิ่มภาระให้กับลูกหลาน

นายก : เราเปลี่ยนแค่แท่นยิงระบบเป้าลวงครับ ของเดิมจะเป็นแท่นยิงติดตายตัว แยกกันระหว่างเป้าลวงจรวด 2 แท่น 24 ท่อยิง กับเป้าลวงตอร์ปิโด 4 แท่นอีก 24 ท่อยิง มาเป็นเป้าลวงแบบปรับทิศทางได้จำนวน 2 แท่น 24 ท่อยิง ใช้พื้นที่น้อยกว่ามีความทันสมัยมากกว่า จำนวนท่อยิงมากเพียงพอกับภารกิจของเรือ

น้องไบร์ท : ไม่ต้องแยกเป้าลวงจรวดกับเป้าลวงตอร์ปิโดหรือคะ

นายก : คืออย่างนี้ครับคุณไบร์ทแท่นยิงมันก็แค่ส่งเป้าลวงออกไปจากเรือ ผมไม่ทราบว่าทำไมของเดิมถึงต้องแยกจากกัน แต่แท่นยิงรุ่นใหม่ใส่เป้าลวงได้ถึง 6 ชนิดด้วยกัน ไม่มีเหตุผลที่เราจะไม่เดินไปข้างหน้าใช่ไหมครับ

น้องไบร์ท : คำถามรองสุดท้ายค่ะ โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์จำเป็นแค่ไหน ในเมื่อเรือลำนี้เป็นแค่เรือตรวจการณ์ไม่ใช่เรือรบแท้ๆ

นายก (หัวเราะหึหึก่อนตอบคำถาม ): ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าทุกคนอยากได้เรือตรวจการณ์มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ เพียงแต่เรือตัวเองไม่มีก็เลยองุ่นเปรี้ยวเท่านั้นเอง


นอกจากใช้เป็นโรงเก็บตามชื่อแล้ว ยังมีจุดเติมน้ำมันให้กับเฮลิคอปเตอร์ จุดเติมอาหารกับน้ำดื่มให้กับนักบิน ใช้เก็บอาวุธสำหรับเฮลิคอปเตอร์ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ โซโนปุย กระสุนปืนกล อาวุธนำวิถีอเนกประสงค์ อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ ใช้เป็นห้องพักในการลำเลียงทหารหน่วยรบพิเศษ เป็นจุดจัดเก็บอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิดได้ด้วย

บนลานจอดมีจุดติดตั้งเครนขนาดเล็กถึง 2 จุดด้วยกัน ใช้หย่อนยานใต้น้ำไร้คนขับได้อย่างสบาย หรือถ้าอยากวางทุ่นระเบิดก็สามารถทำภารกิจได้เช่นกัน แค่ติดตั้งรางเหล็กเข้าไปง่ายๆ ตั้งแต่โรงเก็บไปจนถึงท้ายเรือ รวมทั้งช่วยลำเลียงประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน จากภัยพิบัติทางทะเลรูปแบบต่างๆ ได้ด้วย เพียงแต่ปรกติมักให้โดยสารบนลานจอดเท่านั้น

น้องไบร์ท : ใช้เป็นห้องวิจัยแบบดอกเตอร์ราเชล สก๊อตใน The Last Ship ได้ด้วยใช่ไหมคะ

นายก : ได้แน่นอน แต่ชั้นลอยไม่ให้ใช้งานนะครับ ต้องจัดเก็บเป้าลวงตอร์ปิโดกับจรวดรวมทั้งกระสุนปืนกล

น้องไบร์ท : คำถามสุดท้ายค่ะท่านนายก งบประมาณที่ต้องจ่ายเป็นจำนวนเท่าไรคะ?

นายก : สำหรับราคายังไม่ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์ ราคาเรือเปล่าจีนจะขายให้เราลำละ 30 ล้านเหรียญ เราซื้อแบบเรือมาสร้างเองคร่าวๆ ประมาณลำละ 35 ล้านเหรียญ นำมาติดระบบเรดาร์ ระบบอาวุธ ระบบอำนวยการรบด้วยตัวเอง คิดรวมตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 6 นัด เป้าลวงตอร์ปิโด 12 นัด เป้าลวงจรวด 12 นัด กระสุนปืนใหญ่กับกระสุนปืนกลจำนวนมากเพียงพอ คาดว่าน่าจะประมาณ 65 ล้านเหรียญ แต่ผมให้ไปเลย 75 ล้านเหรียญเผื่อเหลือเผื่อขาด เท่ากับว่าเรือหนึ่งลำพร้อมรบอยู่ที่ 110 ล้านเหรียญ เรือสี่ลำเท่ากับ 440 ล้านเหรียญ แต่เราไม่ต้องจ่ายค่าเรือให้จีนจึงลดลงมา 60 ล้านเหรียญ

น้องไบร์ท (ยิ้มหวาน): เท่ากับว่าจ่ายเงิน 380 ล้านเหรียญพร้อมปราบเรือดำน้ำเลยใช่ไหมคะ

นายก (ส่งยิ้มจืดสนิท) : ไม่ใช่ครับ…380 ล้านเหรียญคือค่าใช้จ่ายแผนแผ่นดินคำรามเฟสแรก จะปราบเรือดำน้ำได้ต้องดำเนินแผนแผ่นดินคำรามเฟสสองควบคู่กันไป


Wildcat

                แผนแผ่นดินคำรามเฟสสองคือการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ AgustaWestland AW159 Wildcat รุ่น HMA2 จำนวน 4 ลำเข้าประจำการ หลังใช้เวลาคิดทบทวนนายกโรมได้รับคำตอบอย่างรวดเร็ว เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำขนาดไม่เกิน 7 ตันยอดนิยมมีเพียงไม่กี่รุ่น และในบรรดาไม่กี่รุ่น Wildcat เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด

ก่อนหน้านั้นทีมงานนำเสนอวิธีการหลายอย่าง ในการเข้าปะทะเรือดำน้ำ Agosta-70 ของอัสแลนด์ซึ่งมี Project  4 ชักใยอยู่เบื้องหลัง วิธีการทั้งหลายเหล่านั้นประกอบไปด้วย

1.สร้างเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงคำรณสินธุเพิ่มอีก 6 ลำ กำหนดให้ติดตั้งโซนาร์กับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำครบทุกลำ จากนั้นให้เรือทั้ง 9 ลำดาหน้ากันเข้าค้นหาเรือดำน้ำข้าศึก ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือจมหมดทั้ง 9 ลำ

2.สร้างเรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์เพิ่มอีก 4 ลำ ลำ กำหนดให้ติดตั้งโซนาร์กับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำครบทุกลำ จากนั้นให้เรือทั้ง 6 ลำดาหน้ากันเข้าค้นหาเรือดำน้ำข้าศึก ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือจมหมดทั้ง 6 ลำ

3.ให้เรือหลวงนเรศวรกับเรือหลวงตากสินซึ่งติดตั้งโซนาร์ Atlas DSDQ-24d เข้าค้นหาเรือดำน้ำข้าศึก ผลลัพธ์ที่ได้เหมือนกับเรือลำอื่นแบบเป๊ะๆ

4.ให้เรือหลวงภูมิพลซึ่งติดตั้งโซนาร์ Atlas DSDQ-24d กับ Atlas ACTAS เข้าค้นหาเรือดำน้ำข้าศึก มีการติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC เพิ่มเติมเข้ามาด้วย ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือจมเหมือนกับเพื่อนพ้อง

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น???

คำตอบก็คือเรือดำน้ำ Agosta-70 แม้เป็นเรือเก่าแต่ถูกปรับปรุงใหม่ทั้งลำ ติดตั้งระบบอำนวยการรบใหม่ ระบบโซนาร์รุ่นใหม่ ระบบเป้าลวงทันสมัย รวมทั้งใช้งานตอร์ปิโด 533 มม.Black Shark ซึ่งมีระยะยิงไกลสุดถึง 50 กิโลเมตร VL-ASROC ซึ่งพัฒนามาจากจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC ในยุค 60 เป็นได้เพียงสิงห์ยูทูปถ้าต้องทำการรบตามลำพัง

เพราะฉะนั้นในการปราบเรือดำน้ำ Agosta-70 เรือทุกลำควรอยู่ห่างจุดต้องสงสัยมากกว่า 50 กิโลเมตร จากนั้นจึงส่งเฮลิคอปเตอร์ Wildcat เข้ามาตรวจสอบ ถ้าน้ำมันใกล้หมด โซโนบุยหมด ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำหมด ระเบิดลึกหมด รวมทั้งนักบินเกิดอาการอ่อนล้า ให้ Wildcat บินกลับมาจอดบนเรือลอยลำอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

สรุปแล้วนี่คือแผนการตั้งแต่ยุค 80 โน่น สมัยสงครามฟอคแลนด์ระหว่างอังกฤษกับอาเจนตินา ปัจจุบันยังคงใช้งานได้เป็นอย่างดี ทั้งแผนการค้นหา การไล่ล่า การทำลาย รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ใหม่เหมือนหวยล็อกดีๆ นั่นเอง

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Pattani Filght II ก็เป็นหวยล็อกเช่นกัน นายกโรมอยากได้เงินมาจัดการแผนการตัวเอง แต่ถ้าต้องผ่อนเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าโล่ง ขนาด 20,000  ตันจากจีนต่อไปเรื่อยๆ ผ่อนเสร็จแล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายก้อนโตในการดูแลซ่อมบำรุง ในขณะที่สงครามใหญ่กำลังจะเกิดในอีกไม่นาน และอัสแลนด์หมายหัวไทยแลนด์ไว้แล้วตั้งแต่แรก เป็นอะไรที่เตี้ยอุ้มคล่อมมากเกินเหตุ นายกโรมจึงบินด่วนไปกรุงปักกิ่งขอเปลี่ยนเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

แผนการดังกล่าวอาจไม่ใช่แผนที่ดีที่สุด เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Pattani Filght II ไม่ใช่เรือที่ดีที่สุดเช่นกัน  ส่วน AW159 Wildcat ก็ดันราคาแพงเกินหน้าเกินตาเพื่อนๆ  แต่ในเมื่อต้องการสร้างกองเรือตรวจการปราบเรือดำน้ำภายใน 4 ปีช้าที่สุดไม่เกิน 6 ปี ทางเลือกที่ว่านี้ถือว่าเหมาะสมมากที่สุดกับสถานการณ์

ทั้งเรือก็ดีเฮลิคอปเตอร์ก็ดีทหารเรือไทยล้วนคุ้นเคย ใช้เวลาเรียนรู้รุ่นใหม่ไม่นานเท่าไรพร้อมรบจริง แต่ถ้าฉีกไปซื้อเฮลิคอปเตอร์ AS-565 Panther แบบอินโดนีเซีย หรือ Z-9EC แบบปากีสถานซึ่งท่านผู้นำสีจัดโพรโมชันซึ่ง 3 เครื่องในราคา 2+ 1 เครื่อง (ก็เท่าเดิมนั่นแหละเป็นแค่การเล่นคำแบบเรือดำน้ำ) กว่าจะพร้อมทำการรบจริงอาจเสียเวลาเพิ่มไปอีก 2-3 ปี

เพื่อให้นักบินพร้อมรบภายในระยะเวลา 4 ปี นายกโรมคัดเลือกเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง (ทั้งนักบินและเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน) ตามไปสมทบกับฝูงบิน 815 NAS ราชนาวีอังกฤษในตะวันออกกลาง เพื่อฝึกฝนการใช้งาน AW159 Wildcat ในสมรภูมิจริง เมื่อเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 4 ลำของไทยทยอยจัดส่งภายในปี 2024 ปีถัดไปเราจะมีความพร้อมรบเต็มที่

ปี 2025 คือปีที่คาดว่าสงครามใหญ่จะเกิด ไม่ว่ากองกำลังสหประชาชาติบุกตลบหลังอัสแลนด์ หรืออัสแลนด์กับ Project 4 เริ่มแผลงฤทธิ์โดยมุ่งตรงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังรบหลักราชนาวีไทยต้องเคลื่อนทัพไปทำศึกห่างไกลดินแดนแม่ ในกรณีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Pattani Filght II สร้างเองในไทยยังไม่พร้อมเข้าประจำการ เรือหลวงปัตตานีกับเรือหลวงนราธิวาสซึ่งได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติม สามารถทำงานร่วมกับเรือหลวงสุราษฎร์และเรือหลวงตราดไปพลางๆ  ลูกเรือเรือใหม่จะเริ่มทำการฝึกฝนกับเรือเก่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

นอกจากการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ AW159 Wildcat จำนวน 4 ลำแล้ว เฮลิคอปเตอร์ Super Lynx 300 จำนวน 2 ลำจะได้รับการปรับปรุงเพิ่ม จนมีขีดความสามารถทัดเทียมเฮลิคอปเตอร์ใหม่ เริ่มต้นจากติดออปทรอนิกส์ตรวจการณ์ที่ปลายจมูก เรดาร์ตรวจการณ์เปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ AESA เหมือน Wildcat ซึ่งทางบริษัทเคลมว่าตรวจจับได้ไกลสุด 200 ไมล์ทะเลหรือ 360 กิโลเมตร ติดตั้งระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ ESM ติดตั้งระบบเป้าลวง Chaff/Flare ติดตั้งโซนาร์ชักหย่อน Thales FLASH Dipping Sonar สามารถหย่อนได้ลึกสุด 300 เมตร ติดตั้งโซโนบุย Thales Sono-Flash ทำงานได้ทั้งโหมด Active และโหมด Passive รวมทั้งจัดหาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mk54 จากอเมริกาเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง

ภาพถัดไปคือเฮลิคอปเตอร์ Super Lynx Mk21B กองทัพเรือบราซิลหนึ่งในแปดลำ ถูกส่งมาปรับปรุงใหญ่ตามโครงการ MLU บริษัท Leonardo Helicopters เฮลิคอปเตอร์ Super Lynx 300 ทั้ง 2 ลำของไทยจะส่งมาปรับปรุงที่นี่เช่นกัน นอกจากระบบตรวจจับและอาวุธปราบเรือดำน้ำทั้งหลายแล้ว ยังมีการจัดหาอาวุธนำวิถีอเนกประสงค์ Martlet ระยะยิง 8 กิโลเมตร กับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Sea Venom ระยะยิง 20 กิโลเมตร นำมาใช้งานกับเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 6 ลำ

งบประมาณในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใหม่ 4 ลำ ปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์เก่า 2 ลำ จัดหาอาวุธและอุปกรณ์สำคัญๆ แบบชุดใหญ่ไฟกะพริบ มูลค่ารวมโครงการอยู่ที่ประมาณ 270 ถึง 300 ล้านเหรียญ แล้วแต่ว่าจัดหาอาวุธมากน้อยแค่ไหน

แผนแผ่นดินคำรามเฟสหนึ่งกับเฟสสองเน้นมาที่การปราบเรือดำน้ำ แต่นายกโรมยังมีแผนแผ่นดินคำรามเฟสสามเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่ออุดช่องว่างภัยคุกคามจากเรือผิวน้ำกับอากาศยาน กองทัพอากาศส่งเครื่องบินมาคุ้มครองตลอดเวลาก็จริง แต่กองเรือตรวจการณ์ควรป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่ง เขาตัดสินใจบินด่วนมาพบท่านผู้นำประเทศหนึ่งทันที

หนึ่งอาทิตย์ถัดมากองทัพเรือเผยแพร่ภาพวาดเรือหลวงปัตตานีกับเรือหลวงนราธิวาสในปี 2022 เรือทั้งสองลำได้รับการปรับปรุงใหม่แต่ไม่เยอะเท่าที่ควร โดยให้เหตุผลว่างบประมาณมีค่อนข้างจำกัด

ระบบอำนวยการรบ เรดาร์ควบคุมการยิง เรดาร์ตรวจการณ์ ยังคงใช้งานของเดิมเพื่อความประหยัด ทั้งปืนหลักและปืนรองใช้ของเดิมไปก่อนเช่นกัน หลักเดวิทกับเรือชูชีพที่อยู่กราบขวาถูกถอดออก ทดแทนด้วยเรือยางท้องแข็งกับเครนแบบพับเก็บได้ เพราะมีเรดาร์เดินเรือตัวที่ 4 อยู่เหนือสะพานเดินเรือ SATCOM ใบที่สองจึงถูกย้ายไปติดบนหลังโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ มีการติดตั้งระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์ ES-3061 ทำงานร่วมกับแท่นยิงระบบเป้าลวง Trainable ตำแหน่งเดียวกับเรือใหม่ อาวุธสำคัญที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาก็คือ อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่ล่าสุดจำนวน 4 ท่อยิง


Gabriel V

          นายกโรมบินไปพบนายกรัฐมนตรีประเทศอิสราเอล ใช้เวลาเจรจาความ 2 วันพลันได้ผลลัพธ์สมดั่งใจ แผนแผ่นดินคำรามเฟสสามคือการซื้ออาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Gabriel V จำนวน 33 นัด กับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak 1 จำนวน 17 นัด นำมาคุ้มครองป้องกันภัยกองเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งปราบเรือดำน้ำ

                Gabriel V ขนาดค่อนข้างใหญ่เท่ากับ MM40 Exocet Block 3 จากฝรั่งเศส มีความยาว 5.5 เมตร หนัก 1,250 กิโลกรัม ระยะยิงไกลสุดมากกว่า 200 กิโลเมตร เรดาร์ที่ปลายจมูกค้นหาเป้าหมายมุมกว้างกว่าเดิม ติดตั้งระบบต่อต้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ มาพร้อมหัวรบขนาด 500 ปอนด์โดนเข้าไปคางเหลืองแน่นอน

                นอกจากกองทัพเรืออิสราเอลประจำการ Gabriel V แล้ว ยังมีฟินแลนด์อีกหนึ่งชาติที่สั่งซื้อ  Advance Naval Attack Missile (ไม่ได้ใช้คำว่า Serface-to-Serface Missile นะครับ ผู้เขียนจึงไม่ใช้คำว่าอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นตามไปด้วย) รุ่นใหม่เป็นเงินก้อนโต สร้างความชอกช้ำระกำทรวงต่อบริษัทค้าอาวุธจากสวีเดนและอเมริกา

ชมภาพของจริงกันสักเล็กน้อย แท่นยิงมาตรฐานรูปทรงใกล้เคียง C-802A หรือ MM38 Eeocet แต่ตั้งทำมุมค่อนข้างสูงเทียบเท่า Harpoon ทุกรุ่น ภาพเล็กมุมซ้ายเห็นเนกไทของท่านนายกโรมเล็กน้อย บังเอิญเจ้าตัวไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนในบทความ ผู้เขียนจำเป็นต้องตัดต่อภาพเพื่อความสบายใจของท่านผู้นำ

นอกจากแท่นยิงมาตรฐานตามภาพถ่าย อิสราเอลมีแท่นยิงลับลวงพรางให้เลือกใช้งานต่างหาก แท่นยิงรุ่นใหม่ถูกวางขนานไปกับดาดฟ้าเรือ มีตู้คอนเทนเนอร์คลุมอยู่ด้านนอกหนึ่งชั้น เมื่อพลยิงกดปุ่มแท่นยิงถูกยกขึ้นด้วยอุปกรณ์ไฮโดรลิก ครั้นยิงแล้วเสร็จแท่นยิงจะค่อยๆ ลดต่ำกลับคืนที่เดิม เพราะฉะนั้นมองจากภายนอกอาจนึกว่าเรือลำนี้ไม่มีพิษสง

แท่นยิงลับลวงพรางรุ่นใหม่มีผู้กล้าเลือกไปใช้งาน ผู้อ่านท่านใดอยากเห็นของจริงโปรดรอเรือคอร์เวตขนาด 3,900 ตัน ติดเรดาร์ Sea Giraffe 4A แบบฝังเสากระโดง 4 ฝั่งของฟินแลนด์ ตามโครงการ Squadron 2020 ซึ่งจะทยอยประจำการครบ 4 ลำภายในปี 2030 คนฟินแลนด์เรียกเรือลำนี้ว่าเรือคอร์เวตทั้งๆ ที่ระวางขับน้ำมากกว่าเรือฟริเกต 471 ของไทยแลนด์

                ที่นายกโรมถูกใจ Gabriel V สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเนื่องจากราคา เมื่อฟินแลนด์เปลี่ยนใจจาก Harpoon Block II ER ของอเมริกามาเป็นตัวนี้ พวกเขาจ่ายเงินน้อยลงจาก 532 ล้านยูโรเหลือเพียง 355 ล้านยูโร คิดคร่าวๆ ถูกกว่ากันประมาณ 33.3 เปอร์เซ็นต์  เท่ากับว่าซื้อ Gabriel V จำนวน 3 นัดในราคา Harpoon Block II ER จำนวน 2 นัด และเท่ากับว่าไทยซื้อ Gabriel V จำนวน 33 นัดในราคา Harpoon Block II ER จำนวน 22 นัด

                จรวดรุ่นใหม่ถูกนำมาใช้งานบนเรือหลวงปัตตานีกับนราธิวาสลำละ 4 นัด เรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรีลำละ 8 ลำ ส่วน C-802A ถูกส่งมอบให้กับหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ซึ่งโดยปรกติใช้อาวุธจีนเป็นหลักมาแต่ไหนแต่ไร สมควรแล้วที่พี่น้องผู้ถูกพลัดพรากจากกันแสนไกล จะได้กลับมารวมตัวกันเป็นครอบครัวใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากเรือเก่าจำนวน 4 ลำได้รับการติดตั้ง Gabriel V  ยังมีเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีจำนวน 2 ลำได้รับการตั้งลำละ 4 นัด ตามข้อตกลงที่นายกรัฐมนตรี 2 ประเทศลงนามร่วมกัน อิสราเอลจะขายเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Sa’ar 4.5 ให้กับไทยจำนวน 2 ลำ โดยคิดค่าถอดอุปกรณ์ ทาสีเรือ บริการขนส่ง และฝึกฝนลูกเรือเป็นเวลา 3 เดือนเต็มเพียง 12 ล้านเหรียญ

เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Sa’ar 4.5 ทั้ง 2 ลำประกอบไปด้วย หนึ่ง INS Herev เข้าประจำการปี 2002 และสอง INS Sufa เข้าประจำการปี 2003 อิสราเอลมีแผนปลดประจำการเรือชั้นนี้จำนวนหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องมาจากเรือคอร์เวตชั้น Sa’ar 6 จากเยอรมันจำนวน 4 ลำกำลังทยอยเข้าประจำการ นายกโรมจึงโอกาสนี้ขอซื้อจรวดแถมเรือเสียเลย และถือโอกาสเลือกเรือลำใหม่ที่สุด มีอายุการใช้งานน้อยที่สุด ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติรุ่นใหม่เรียบร้อยแล้ว

ปรกติเรือรบอิสราเอลมักติดระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx CIWS ไว้ที่หัวเรือทุกลำ บังเอิญ 2-3 ปีมานี้พวกเขาทยอยถอด Phalanx ออกจากเรือรบทุกลำเช่นกัน สาเหตุสำคัญเกิดจากความชราภาพของอาวุธ พวกเขาไม่อยากปรับปรุงใหม่หรือซื้อใหม่ จึงใช้งานอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak 1 ในการป้องกันภัยระยะประชิดไปพลางๆ

อาวุธที่มาทดแทน Phalanx ในอนาคตคือ C-Dome รุ่นใช้งานทางทะเล กับระบบเลเซอร์ซึ่งมีต้นแบบติดตั้งบนเรือชั้น Sa’ar 4.5 เรียบร้อยแล้ว ขนาดกะทัดรัดเอาไว้สอยอากาศยานไร้คนขับเสียมากกว่า แนวความคิดของอิสราเอลไม่ได้แตกต่างจากประเทศอื่น อเมริกาเริ่มใช้งาน Sea Ram ทดแทน Phalanx มากกว่าเดิม ส่วนเนเธอร์แลนด์เลือก RAM ทดแทน Gold Keeper สุดยอด CIWS อันทรงพลานุภาพที่สุดของค่ายนาโต้ โดยใช้ปืนกลขนาด 25-30 มม.ป้องกันตัวจากเรือขนาดเล็ก

เพราะฉะนั้น INS Herev กับ INS Sufa ที่โอนให้กับประเทศไทย จะมีหน้าตาตามภาพนี้เลยครับ มีการถอดระบบเป้าลวงกับแท่นยิง Harpoon ออกไป รวมทั้งระบบสื่อสารและอุปกรณ์สำคัญลับสุดยอดอะไรพวกนี้

ได้เรือมาแล้วนายกโรมมีแผนปรับปรุงเพิ่มเติม ให้เรือสามารถทำภารกิจได้ดีที่สุดเท่าที่เงินน้อยนิดสู้ไหว พิจารณาภาพถ่ายด้านบนจากขวาไปซ้ายนะครับ เรือทั้ง 2 ลำถูกเปลี่ยนมาใช้งานเรดาร์ตรวจการณ์ EL/M-2258 Alpha เรียบร้อยแล้ว เป็นระบบเรดาร์ AESA 3 มิติรุ่นใหม่ของ ELTA-IAI ประเทศอิสราเอล ตรวจจับไกลสุด 120 กิโลเมตรถ้าเป็นเครื่องบินขับไล่ แต่ถ้าเป็นจรวดวิ่งเรี่ยน้ำสามารถตรวจจับได้ที่ 25 กิโลเมตร ถือเป็นของดีราคาย่อมเยาที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย

นายกโรมอยากติดตั้งเรดาร์ EL/M-2258 Alpha บนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Pattani Filght II  ด้วยซ้ำ บังเอิญทีมงานอยากได้ Thales NS50 เสียงจึงแตก ผลการลงคะแนนเรดาร์ตัวหลังเข้าวินแบบนอนมาพระสวด หาไม่แล้วอาจมีเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Sa’ar 4.5 ลำที่สามโผล่เข้ามาประจำการในอ่าวไทย

ภาพถัดไปคือปืนกล Bofors 40mm Mk4 นำมาติดตั้งทดแทน Phalanx เพื่อใช้งานเป็น CIWS รุ่นโอท็อป ถ้าเรือลำนี้เป็นเรือตรวจการณ์ทั่วไป นายกโรมเลือกปืนกล DS-30MR จากอังกฤษแบบนอนมาพระสวดเช่นกัน แต่เนื่องมาจากเรือมีหน้าที่บุกเข้าโจมตีเป็นหลัก กระสุน 3P กับปืนกล Bofors 40mm Mk4 ช่วยป้องกันภัยทางอากาศได้ดีกว่ากันพอสมควร

ปล.บทความนี้ลูกรักผู้เขียนได้ออกโรงเสียที กว่าจะหาเรือมาเข้าฉากได้นี่เหนื่อยพอสมควร

กลางลำติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Gabriel V จำนวน 4 นัด ภาพถัดไปคือแท่นยิงระบบเป้าลวง Trainable แบบ 12 ท่อยิงจำนวน 1 แท่นสามารถหมุนได้รอบตัว 360 องศา และภาพสุดท้ายคืออาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak 1 อีก 8 นัด (มากสุด 16 นัดแต่ไม่มีเงินซื้อ) ระยะยิง 12 กิโลเมตร ความเร็ว 2.5 มัค ยิงเป้าหมายบินเรี่ยน้ำค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง

เรือลำใหม่ยังมีปืนใหญ่ 76/62 มม.ที่ท้ายเรืออีก 1 กระบอก จากอิตาลีนั่นแหละครับแต่ป้อมปืนมีหัวจุกเหมือนเรือฟริเกตแอฟริกาใต้ การปรับปรุงจะต้องแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่สองปี 2022 สุดท้ายแล้วเรือจะมีหน้าตาตามภาพนี้

เรือหลวงพาลีรั้งทวีปหมายเลข 341 มีสัญลักษณ์รูปวานรสวมมงกุฎร่างกายสีเขียว กับเรือหลวงสุครีพครองเมืองหมายเลข 342 มีสัญลักษณ์รูปวานรสวมมงกุฎร่างกายสีแดง คือชื่อเรือรบราชนาวีไทยตั้งสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เรือลำแรกถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นายกโรมนำสองชื่อนี้กลับเข้าประจำการอีกครั้ง แต่เนื่องมาจากชื่อเรืออ่านค่อนข้างลำบาก ชื่อภาษาอังกฤษจึงตัดเหลือเพียง HTMS Phali กับ HTMS Sukriep เหมือนเคยใช้งานบนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 หรือชั้นเรือหลวงสารสินธุที่ลูกประดู่ไทยเคยมีประจำการถึง 8 ลำ

ภารกิจของเรือใหม่แต่มือสองประกอบไปด้วย หนึ่ง เป็นตัวเปิด โดยการเข้าโจมตีเรือผิวน้ำฝ่ายตรงข้ามอย่างรวดเร็ว ยิง Gabriel V แล้วรีบถอยฉากหลบมาในพื้นที่ปลอดภัย สองลาดตระเวนตรวจการณ์ร่วมกับเรือลำอื่นในภารกิจประจำวัน แม้ไม่ใช่เรือตรวจการณ์แท้ๆ แต่จำเป็นต้องทำหน้าที่นี้สลับกันไป เรือมีความยาว 61.7 เมตรขนาดใกล้เคียงเรือตรวจการณ์ปืน ฝ่ายตรงข้ามตรวจสอบด้วยเรดาร์แยกแยะไม่ออก พ่อคุณอาจล่วงล้ำน่านน้ำเข้ามาเจอของแข็งโดยไม่รู้ตัว

ในสถานการณ์ที่อัสแลนด์กับ Project 4 ก่อสงครามใหญ่ และมีทีท่าลุกลามบานปลายเข้าสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ เรือทั้งสองลำจะไม่มีการยิงเตือนแต่อย่างใด นายกโรมสั่งว่าเจอใครลุกล้ำน่านน้ำกระสุนลั่นทันที!!

ภารกิจที่สามของเรือมือสองจากอิสราเอลก็คือ คุ้มครองกองเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขณะปฏิบัติภารกิจ จากเรือผิวน้ำและโดยเฉพาะจากอากาศยานซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญ นี่คือการแก้ไขอุดช่องว่างเป็นการชั่วคราวประมาณ 15-20 ปี รวมทั้งเป็นโอกาสที่ดีในการทดสอบใช้งานอุปกรณ์จากอิสราเอล โดยเฉพาะระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยแลนด์ค่อนข้างอ่อนปวกเปียก ถ้าของเขาดีจริงอะไรจริงอาจมีการสั่งมาใช้งานบนเรือลำอื่น

ต่อไปในอนาคตเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 8 ลำจะเป็นรุ่นเดียวกันทั้งหมด บางลำมีอาวุธปราบเรือดำน้ำ บางลำมีอาวุธปราบเรือผิวน้ำ และทุกลำต้องมีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีอีกต่อไป

แผนแผ่นดินคำรามเฟสสามใช้เวลาดำเนินการเพียง 18 เดือนหรือภายในไตรมาสที่สี่ปี 2022 ถึงตอนนั้นราชนาวีไทยจะมีเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบมากถึง 12 ลำ ประกอบไปด้วย Harpoon Block 1 กับ Block 2 จำนวน 6 ลำ และ Gabriel V อีก 6 ลำ ส่วนเรือติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานมีด้วยกัน 7 ลำ ประกอบไปด้วย ESSM จำนวน 3 ลำ Aspide จำนวน 2 ลำ และ Barak 1 อีก 2 ลำ ขณะที่สอ.รฝ.จะมีแท่นยิง C-802A เคลื่อนที่ได้จำนวน 8 ระบบเป็นไม้เด็ดไพ่ตาย

เดือนธันวาคม 2022 จะมีการทดสอบยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Gabriel V กับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak 1 อย่างละหนึ่งนัด ในการซ้อมรบเรือหลวงปัตตานีกับเรือหลวงนราธิวาสทำหน้าที่ปราบเรือดำน้ำ ร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ Super Lynx 300 จำนวน 2 ลำผ่านการปรับปรุงติดโซนาร์ชักหย่อนแล้ว โดยมีเรือหลวงพาลีรั้งทวีปกับเรือหลวงสุครีพครองเมืองทำหน้าที่คุ้มกัน เรือหนึ่งลำจะได้รับคำสั่งยิง Gabriel V เรืออีกหนึ่งลำจะได้รับคำสั่งยิง Barak 1 ลูกเรือซึ่งถูกส่งไปฝึกฝนของจริงถึงตะวันออกกลาง จำเป็นต้องแสดงฝีมือขั้นสุดยอดเพื่อไม่ให้การซ้อมรบล้มเหลว


2nd Frigate Squadron

เมื่อแผนแผ่นดินคำรามสำเร็จเรียบร้อยระหว่างปี 2025 ถึง 2027 จะมีการจัดกำลังรบทางเรือแยกกันอย่างชัดเจน เรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตทุกลำอยู่กองเรือฟริเกตที่ 1 ประกอบไปด้วยเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเรือหลวงสุโขทัย รวมทั้งสิ้น 7 ลำพอดิบพอดี

กองเรือฟริเกตที่ 2 มีเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่จำนวน 8 ลำ แบ่งเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งปราบเรือดำน้ำ 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือหลวงสุราษฎร์ เรือหลวงตราด เรือหลวงระยอง และเรือหลวงตรัง ส่วนอีก 4 ลำเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งปราบเรือผิวน้ำ ประกอบไปด้วยเรือหลวงปัตตานี เรือหลวงนราธิวาส เรือหลวงกระบี่  และเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์

ส่วนเรือเรือหลวงพาลีรั้งทวีปกับเรือหลวงสุครีพครองเมือง อยู่กองเรือตรวจอ่าวหมวดเรือที่ 1 ทดแทนเรือหลวงปัตตานีกับเรือหลวงนราธิวาส ซึ่งย้ายมาร่วมทีมเส้าหลินซอกเกอร์กับน้องๆ อีก 4 ลำ ส่งผลให้ราชนาวีไทยมีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้นเดียวกันถึง 6 ลำ แบ่งเป็น 2 รุ่นย่อยตามคุณลักษณะและปีเข้าประจำการ

ในเมื่อกองเรือฟริเกตที่ 2 มีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 8 ลำ แล้วเรือที่อยู่ในสี่เหลี่ยมสีครามคืออะไร?? ผู้เขียนให้ทายเล่นๆ สักสองสามนาที

คำตอบก็คือเรือคุ้มกันกองเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำนั่นเอง กองทัพเรือมีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งปราบเรือผิวน้ำ 4 ลำก็จริง เพียงแต่ระบบอาวุธและระบบเรดาร์สู้เรือคุ้มกันทั้ง 4 ลำไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่แนวหน้าในการปะทะฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นขุมกำลังสำรองในกรณีเผื่อเหลือเผื่อขาด  เรียกง่ายๆ ว่าเป็นก๊อกสองคอยรับมือเป็นด่านสุดท้าย

ทำไมเรือคอร์เวตติดอาวุธครบ 3 มิติจึงไม่ได้ประจำการกองเรือหลัก? ซึ่งจะต้องเคลื่อนทัพออกไปรบนอกบ้านอย่างน้อยๆ ก็หมู่เกาะมัลดีฟกลางมหาสมุทรอินเดีย นี่คือเรือรบกะทัดรัดแต่เกรียงไกรผู้มีความสุดยอดของที่สุดของแจ้เชียวนะ

นายกโรมตอบคำถามเรื่องนี้กับน้องไบร์ทว่า หนึ่งเรือมีอายุการใช้งานมากเกินไป โอกาสเสียกลางทางย่อมมีสูงขึ้นตามกัน สองเรือมีขนาดเล็กเกินไป ความทนทานเมื่อเผชิญคลื่นลมแรงมีน้อยเกินไป  สามเรือไม่สามารถเติมน้ำมันกลางทะเลได้  ยกเว้นนำเรือมาเทียบข้างเรือน้ำมันในวันทะเลใหญ่ไร้คลื่นลม และสี่เรือไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ รับส่งของกินของใช้หรือผู้บาดเจ็บค่อนข้างลำบาก เรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงสุโขทัยจึงมีความจำเป็นต้องอยู่เฝ้าบ้าน

อยากให้ผู้อ่านหันมาสนใจมุมขวาล่างของแผนภาพ จะเห็นเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ AW159 Wildcat จำนวน 4 ลำ เฮลิคอปเตอร์ Super Lynx 300 อีก 2 ลำ รวมทั้งเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล CN-235 MPA จำนวน 2 ลำ

CN-235 MPA มาจากไหน? มาได้อย่างไร? ไม่มีในแผนแผ่นดินคำรามนี่นา?

เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลอยู่ในแผนแผ่นดินคำรามเฟสสองจุดห้า โดยใช้งานประมาณส่วนกลางจัดหาแบบลับลวงพราง ไม่มีข่าวจากต้นทางกลางทางรวมทั้งปลายทาง อยู่ดีๆ มีเครื่องจริงมาจัดแสดงในงานวันเด็กหน้าตาเฉย  ภายในเครื่องมีการติดตั้งระบบต่างๆ อย่างครบถ้วน นี่คือไอเทมลับสุดยอดหักปากกาเซียนอาวุธทั่วทั้งสยามประเทศ

อันที่จริงนายกโรมอยากได้ CN-235 MPA ถึง 4 ลำ ยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็แล้ว ยกเลิกโครงการหารครึ่งทั้งหมดก็แล้ว ยกเลิกโครงการเกี่ยวกับชัยชนะทั้งหมดก็แล้ว แต่แล้วท้ายที่สุดมีเงินซื้อเพียง 2 ลำเท่านั้น ฉะนั้นเครื่องบินจะถูกใช้งานในอ่าวไทยสลับกัน ส่วนฝั่งอันดามันมีเพียงเครื่องบิน Dornier 228 ไม่ติดอาวุธค่อนข้างเก่าใช้งานไปก่อน

การจัดกำลังรบกองเรือฟริเกตที่ 2 สามารถอธิบายง่ายๆ ได้ดังนี้

การใช้งานเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำประกอบไปด้วย เรือ 2 ลำประจำการในอ่าวไทย เรือ 1 ลำประจำการทะเลอันดามัน และอีก 1 ลำเข้าซ่อมบำรุงตามวงรอบ

การใช้งานเรือตรวจการณ์ปราบเรือผิวน้ำประกอบไปด้วย เรือ 2 ลำประจำการในอ่าวไทย เรือ 1 ลำประจำการทะเลอันดามัน และอีก 1 ลำเข้าซ่อมบำรุงตามวงรอบ

การใช้งานเรือคอร์เวตชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์ กับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Sa’ar 4.5 ประกอบไปด้วย เรือคอร์เวต 1 ลำประจำการในทะเลอันดามันเสมอ  ส่วนเรือคอร์เวตกับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีที่เหลือ จะมี 2 ลำประจำการในอ่าวไทยสลับไปมา และอีก 1 ลำเข้าซ่อมบำรุงตามวงรอบ  

เพราะฉะนั้นเรือ 12 ลำจะเข้าประจำการ ในอ่าวไทย 6 ลำ เข้าประจำการทะเลอันดามัน 3 ลำ และอีก 3 ลำเข้าซ่อมบำรุงตามวงรอบ

ภาพถัดไปแสดงการใช้งานกองเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำในอ่าวไทย ในภาพสมมุติให้เป็นเรือหลวงสุราษฎร์กับเรือหลวงตราด ทำหน้าที่ประสานงานกับเฮลิคอปเตอร์ AW159 Wildcat ใหม่เอี่ยมจำนวน 4 ลำ มีเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล CN-235 MPA จำนวน 1 ลำ ตามมาสมทบช่วยทำภารกิจในพื้นที่ต้องสงสัย โดยมีเรือหลวงรัตนโกสินทร์กับเรือหลวงพาลีรั้งทวีป ทำหน้าที่คุ้มกันเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำอย่างใกล้ชิด

เฮลิคอปเตอร์ 2 ลำจะทำงานร่วมกันเป็นทีม ขั้นตอนการทำงานขึ้นอยู่กับสถานการณ์โดยรวม ถ้ามีเวลาในการค้นหาเรือดำน้ำค่อนข้างมาก อาจมีหนึ่งลำใช้โซนาร์ชักหย่อนกับโซโนบุยของตัวเองตรวจสอบ เมื่อเจอจุดซึ่งคาดว่าอาจเป็นเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม จึงวิทยุบอกให้เพื่อนบัดดี้โฉบลงมาปล่อยตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ

ในกรณีเร่งด่วนมีเรือดำน้ำตรงเข้าใกล้ขบวนเรือสินค้า เฮลิคอปเตอร์ทั้ง 2 ลำต้องแยกกันตรวจสอบพื้นที่ใกล้เคียงกัน และปล่อยตอร์ปิโดเข้าสู่จุดที่คาดว่าเป็นเรือดำน้ำ ศัพท์เทคนิคขั้นสูงสุดใช้คำว่าชงเองกินเอง หรือในกรณีมีเครื่องบิน CN-235 MPA ตามมาสมทบ เฮลิคอปเตอร์ทั้ง 2 ลำจะช่วยกันทำหน้าที่ค้นหา ก่อนส่งพิกัดให้เครื่องบินโฉบลงมาปล่อยตอร์ปิโด

AW159 Wildcat ทำภารกิจได้นานสุดประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นต้องกลับมาเติมน้ำมันเติมอาวุธบนเรือตรวจการณ์ ส่วนเครื่องบิน CN-235 MPA ขนาดใหญ่กว่าอยู่ในพื้นที่ได้นานกว่า คิดคำนวณคร่าวๆ น่าจะประมาณ 6 ถึง 8 ชั่วโมง

เฮลิคอปเตอร์ไม่ได้อยู่ประจำบนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำนะครับ แต่บินมาจากฐานทัพบนชายฝั่งเพื่อทำภารกิจร่วมกัน แต่จะให้บินไปบินกลับตลอดเวลาก็คงลำบากแย่ ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำกับระบบโซนาร์ติดตั้งบนเรือ มีไว้สำหรับป้องกันตัวเองเป็นวัตถุประสงค์หลัก ครั้นจะไม่ติดตั้งเอาไว้เลยก็คงไม่เหมาะเท่าไร ตอร์ปิโด Mk54 จากอเมริกาไม่เข้าใครออกใคร  เรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามชะล่าใจทะเล่อทะล่าเข้ามา โดนเข้าไปสักนัดถ้าไม่จมสู่ก้นทะเลก็ร่อแร่เต็มทน

ภาพสุดท้ายแสดงการใช้งานกองเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำในทะเลอันดามัน ในภาพสมมุติให้เป็นเรือหลวงตรังกับเรือหลวงประจวบ โดยมีเรือหลวงสุโขทัยทำหน้าที่คุ้มกันตามปรกติ

ทะเลฝั่งนี้เฮลิคอปเตอร์ Super Lynx 300 ปรับปรุงใหม่จำนวน 2 ลำ จะทำหน้าที่ตรวจสอบหาเรือดำน้ำใต้ท้องทะเล โดยมีเฮลิคอปเตอร์ Bell 212 ติดตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำจำนวน 1 นัด (ช่างไทยโมเองกับมือ) ลอยลำอยู่ไม่ไกลเพื่อทำหน้าที่ตัวเปิดจำเป็น (เนื่องจากยังไม่มีเงินซื้อเครื่องบิน CN-235 MPA) เพราะใช้เฮลิคอปเตอร์ถึง 3 ลำในการทำภารกิจร่วมกัน เรือหลวงประจวบซึ่งมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์จำเป็นต้องเข้าร่วมทีม เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ก่อนไม่มีอะไรเสียหาย

บทสรุป

          โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งปราบเรือดำน้ำ ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อป้องกันภัยใต้น้ำแถวรั้วบ้านตัวเอง แม้พยายามใช้เรือราคาไม่แพงในการทำภารกิจ แต่ทว่าราคารวมยังคงพุ่งสูงจากเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ อาวุธกับอุปกรณ์ปราบเรือดำน้ำ รวมทั้งอาวุธและเรือคุ้มกันเพื่อใช้ในการป้องกันตัว โอกาสที่จะแจ้งเกิดขึ้นจริงๆ แทบเป็นไปไม่ได้

                บทความ What If ประจำปี 2021 เป็นอันสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้สวัสดีรอบวงครับ J

                                                   ++++++++++++

อ้างอิงจาก

http://www.seaforces.org/marint/Royal-Navy/AIRCRAFT/Wildcat-HMA2-RN.htm

https://www.helis.com/database/news/lynx_br_aw/

https://verticalmag.com/press-releases/brazilian-navy-completes-super-lynx-mk21b-acceptance/

https://www.navyrecognition.com/index.php/news/defence-news/2017/february-2017-navy-naval-forces-defense-industry-technology-maritime-security-global-news/4864-pictures-rok-navy-first-four-aw-159-wildcat-naval-helicopters-now-operational.html

https://twitter.com/xaviervav/status/1075042642042515457

https://corporalfrisk.com/2018/07/16/a-further-look-at-the-gabriel-5/

http://thaimilitary.blogspot.com/2020/01/squadron-2020.html

http://www.iai.co.il/2013/14463-16100-en/BusinessAreas_NavalSystems_Barak1.aspx

https://en.missilery.info/missile/barak-1

https://www.iai.co.il/p/elm-2258-alpha

https://en.wikipedia.org/wiki/Sa%27ar_4.5-class_missile_boat

https://www.thalesgroup.com/en/markets/defence-and-security/naval-forces/above-water-warfare/ns50

http://www.groupavia.com/products_tira.php

http://www.shipbucket.com/forums/index.php