วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2567

Mine Countermeasure Support Ship 2024

 

โครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์

ในรอบสองปีที่ผ่านมาเราพูดถึงกันแต่เรือดำน้ำ เรือฟริเกต และเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง แทบไม่มีใครนึกถึงเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดลำใหม่ บังเอิญผู้เขียนไม่ลืมอยากนำบทความมารีรันอีกสักครั้ง เป็นการกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายหันมาสนใจกองเรือทุ่นระเบิดกันสักนิด

ปัจจุบันเรามีเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดหรือเรือ สตท.จำนวน 1 ลำ ชื่อเรือหลวงถลาง (MCS 621) สร้างโดยบริษัทอู่ต่อเรือกรุงเทพ ใช้แบบเรือบริษัท FERROSTAAL A-G MSSEN ประเทศเยอรมัน เรือหลวงถลางลำที่สองขึ้นระวางประจำการวันที่ 25 มิถุนายน 2523 มีระวางขับน้ำสูงสุด 1,102 ตัน ยาว 54.2 เมตร กว้าง 10 เมตร กินน้ำลึก 3.1 เมตร ทำหน้าที่เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดน้ำตื้น รวมทั้งเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้นบางระจันและชั้นลาดหญ้าจำนวน 4 ลำ

อีกเพียง 2 เดือนเรือลำนี้จะมีอายุครบ 44 ปี อดีตเคยมีแผนปลดประจำการในปีงบประมาณ 2563 ทว่าจนถึงปัจจุบันปี 2567 เรือยังคงทำหน้าที่ตัวเองต่อไปอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว

เรามีเรือฟริเกต+เรือคอร์เวตจำนวน 4 ลำ ยังไม่จัดหาในอีก 5 ปีก็ยังมีเรือใช้งานจำนวนหนึ่ง

เรามีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 11 ลำ ยังไม่จัดหาในอีก 10 ปีก็ยังมีเรือใช้งานจำนวนหนึ่ง

เรามีเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอายุ 44 ปีเพียง 1 ลำ อายุมากกว่าเรือหลวงรัตนโกสินทร์หรือเดอะแบกมากถึง 6 ปี 3 เดือน สมควรจัดหาเรือใหม่มาใช้งานทดแทนเป็นการเร่งด่วน เพียงแต่กองเรือทุ่นระเบิดไม่เคยได้รับความสนใจจากทุกคน ไม่เคยได้รับแรงเชียร์จากสื่อมวลชนหรืออะไรก็ตามให้เร่งจัดหาเรือใหม่เข้าประจำการ

ผู้เขียนขอพาทุกคนเดินทางย้อนเวลาอีกครั้ง ระหว่างปี 2560 โครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์มีความชัดเจนมากกว่าเดิม อู่ต่อเรือในประเทศจำนวน 2 รายร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ นำเสนอแบบเรือตัวเองให้กองทัพเรือพิจารณาตามความเหมาะสม

แบบเรือลำแรกอู่ต่อเรืออิตัลไทยมารีนจับมือกับบริษัท BMT Defense Services ประเทศอังกฤษ นำเสนอแบบเรือ VENARI-85 ซึ่งเป็นเรือต่อต้านทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ เรือลำนี้เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานมีความยาว 85.9 เมตร กราบเรือค่อนข้างสูงตามหลักสมัยนิยม ติดตั้งปืนหลักและระบบเป้าลวงบริเวณหัวเรือ สะพานเดินเรือสูง-ยาว-ใหญ่-ตีโป่ง ติดกระจกบานโตให้มุมมองกว้างไกล กราบเรือสองฝั่งเจาะช่องเป็นจุดปล่อยเรือเล็กขนาด 7 เมตร ระหว่างปล่องควันคู่เป็นที่ตั้งห้องควบคุมการบิน ส่วนชั้นล่างเป็นโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับหรือห้องทำงานอเนกประสงค์

ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ค่อนข้างยาวเป็นพิเศษ ใต้ลานจอดสามารถบรรทุกทุ่นระเบิดจำนวน 150 ลูก มีจุดวางตู้ Mission Module จำนวน 1 ตู้หน้าห้องควบคุมการบิน ติดตั้งเครนขนาด 15 ตันบริเวณกราบขวาเรือ สามารถทำภารกิจต่อต้านทุ่นระเบิดร่วมกับยานผิวน้ำไร้คนขับหรือ USV ( Unmanned Surface Vehicle ) และยานใต้น้ำไร้คนขับหรือ UUV ( Unmanned Underwater Vehicle ) ได้อย่างสบาย

แบบเรือลำที่สองอู่ต่อเรือกรุงเทพจับมือกับบริษัท Damen ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ผ่านบริษัทล๊อกเลย์) เสนอแบบเรือคล้ายคลึงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น OPV2400 เรือมีระวางขับน้ำ 2,400 ตัน ยาว 90 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ความเร็วสูงสุด 20 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 5,000 ไมล์ทะเล ปฏิบัติงานได้ต่อเนื่อง 30 วัน ตัวเลขถือว่าดีมากตามสไตล์เรือตรวจการณ์เนเธอร์แลนด์

ด้านหลังปืนหลักติดตั้งเครนขนของจำนวน 1 ตัว สะพานเดินเรือแบบ 360 องศาสามารถมองเห็นทุกทิศทาง ถัดไปเล็กน้อยเป็นจุดติดตั้งเรือเล็กขนาด 8.5 เมตร ต่อด้วยปล่องระบายความร้อนกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ใต้ลานจอดใช้เป็นจุดบรรทุกทุ่นระเบิดประมาณ 100 ลูก หรือวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Modules จำนวน 2 ตู้ สามารถเลือกได้ว่าจะใช้เรือลำนี้ทำภารกิจวางทุ่นระเบิด หรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอย่างใดอย่างหนึ่ง

เพื่อความยุติธรรมผู้เขียนจะติดตั้งระบบเรดาร์และอาวุธเหมือนกันทั้งหมด

ภาพประกอบที่หนึ่งเป็นรุ่น Full Option ติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid จำนวน 1 กระบอก ปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ใช้ระบบอำนวยการรบของ TACTICOS ของThales ติดตั้งออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Mirador บนเสากระโดงคือเรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ NS50 ทำงานร่วมกับเรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัว ติดตั้งระบบดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ VIGILE Mk2 R-ESM และแท่นยิงเป้าลวง SKWS DL-12T จำนวน 2 แท่นยิง ใต้ท้องเรือติดตั้งโซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิดจำนวน 1 ตัว

 ภาพประกอบที่สองเป็นรุ่น Economic ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mark2 ขนาด 30 มม. จำนวน 1 กระบอก ปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ไม่ติดตั้งระบบอำนวยการรบ ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ แท่นยิงเป้าลวง และโซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิด บนเสากระโดงคือเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ Variant ทำงานร่วมกับเรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัว ส่วนออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงใช้รุ่นไหนก็ได้แล้วแต่เลย

ราคาเรือทั้งสองลำไม่น่าเท่ากันนะครับ ช่วงนี้เงินบาทค่อนข้างอ่อนส่งผลให้ราคาเรือแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ บวกค่าเงินเฟ้อจากการสร้างเรือล่าช้าเพิ่มเป็นสองแรงบวก ฉะนั้นราคาเรือจะไม่น่ารักอย่างที่ทุกคนคาดคิด ราคาเรือรุ่น OPV2400 Full Option น่าจะใกล้เคียง 120 ล้านเหรียญหรือ 4,405 ล้านบาท ส่วน VENARI-85 Full Option น่าจะถูกกว่ากันสัก 10 ล้านเหรียญ เนื่องจากรูปทรงเรือเป็นรถกระบะตอนเดียวไม่ใช่สองตอนเหมือนคู่แข่ง ความอเนกประสงค์และพื้นที่ใช้งานภายในย่อมน้อยกว่ากัน ผู้เขียนเขียนไปตามหน้าเสื่อเรือสร้างจริงอาจแตกต่างไปจากนี้

ราคาเรือรุ่น OPV2400 Economic คาดว่าประมาณ 80 ล้านเหรียญหรือ 2,937 ล้านบาท ส่วน VENARI-85 Economic น่าจะถูกกว่ากันสัก 10 ล้านเหรียญ เป็นตัวเลขที่ผู้เขียนคาดเดาเอาเองโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน ฉะนั้นใช้ตัวเลขพวกนี้เป็นข้อเท็จจริงไม่ได้นะครับ  

สถานะปัจจุบันโครงการนี้บรรจุอยู่ในสมุดปกขาว ราคารวมโครงการสร้างเรือเองในประเทศจำนวน 1 ลำอยู่ที่ 2,550 ล้านบาท นำมาเทียบกับรุ่น OPV2400 Economic ราคา 2,937 ล้านบาทอาจต้องเพิ่มเงินนิดหน่อย แต่ถ้าเป็น VENARI-85 Economic เราสามารถจัดหาได้อย่างสบาย เพียงแต่จะได้รถกระบะตอนเดียวมาใช้งานไม่ใช่รถกระบะสองตอน

หวังว่าโครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์ ซึ่งไม่ค่อยได้รับความนิยมมีประชาชนรู้จักค่อนข้างน้อย ขนาดมิตรรักแฟนเพลงแวดวงการทหารยังแทบไม่มีใครพูดถึง จะได้รับความสนับสนุนอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวจากกองทัพเรือ กระทรวงกลาโหม นายกรัฐมนตรี รัฐบาล รวมทั้งฝ่ายค้าน ขอให้โครงการได้รับการบรรจุในปีงบประมาณ 2568 หรือไม่เกิน 2569 ขอบคุณอีกครั้งสำหรับน้ำใจไมตรีที่ทุกคนมอบให้แด่กองเรือทุ่นระเบิด


อ้างอิงจาก

https://thaimilitary.blogspot.com/2017/09/mine-countermeasure-support-ship.html

https://thaimilitary.blogspot.com/2019/10/htms-thalang.html


 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น