วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

Royal Thai Navy Anti-Submarine Weapon Part I : Depth Charge

 อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 1 : ระเบิดลึก


    บทความนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูล อาวุธปราบเรือดำน้ำทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่มีประจำการอยู่ในกองทัพเรือไทย รวมทั้งเครื่องมือค้นหาและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลบางอย่างอาจคลาดเคลื่อนหรือไม่ชัดเจน อาทิเช่น ชื่อเรือที่ติดตั้ง อุปกรณ์ตรวจจับ ระยะเวลาประจำการ หรือจำนวนรวมทั้งหมด ผู้เขียนต้องขออภัยล่วงหน้าไว้ก่อน เนื่องจากข้อมูลเก่าค้นหาได้ค่อนข้างยาก และเนื่องจากมีอาวุธค่อนข้างหลากหลาย จึงได้แบ่งบทความออกเป็นหลายตอน ตามชนิดของอาวุธและระยะเวลาประจำการ เพื่อไม่ให้เสียเวลาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

ระเบิดลึก (DEPTH CHARGE)

    ระเบิดลึกมีใช้งานมาอย่างยาวนานมาก จัดเป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำชนิดแรกก็ว่าได้ ประมาณปี 1914 กองทัพเรืออังกฤษได้คิดค้นระเบิดลึกขึ้นมา ด้วยการพัฒนาต่อจากทุ่นระเบิด (Mine) ซึ่งใช้ปราบเรือผิวน้ำ และได้เข้าประจำการในปีถัดไป โดยใช้ชื่อว่า Type A และ Type B ระเบิดลึกรุ่นแรกสุดมีน้ำหนัก 50 ปอนด์หรือ 22. กิโลกรัม น้ำหนักดินระเบิดอยู่ที่ 32.5 ปอนด์หรือ 14.7 กิโลกรัม รุ่น Type A จะตั้งให้ระเบิดที่ความลึก 40 ฟุตหรือ 12 เมตร ส่วนรุ่น Type B สามารถตั้งให้ระเบิดได้ทั้งความลึก 40 ฟุตหรือ 12 เมตร หรือ 80 ฟุตหรือ 24 เมตร


    ระเบิดลึกทำงานโดยการโดยการปล่อยหรือยิงออกไปจากเรือ เมื่อลูกระเบิดจมถึงระดับความลึกที่ตั้งไว้ ก็จะจุดชนวนโดยใช้ความกดดันของน้ำ สามารถใช้ได้ทั้งการเข้าโจมตีหรือป้องกันตนเอง ใช้ได้ทั้งการโจมตีอย่างมีแบบแผน หรือป้องกันตัวอย่างเร่งด่วนในกรณีฉุกเฉิน แม้ว่าระเบิดลึกจะไม่มีระบบนำวิถีก็ตาม แต่ด้วยจำนวนและวิธีใช้งาน สามารถสร้างความกดดันอย่างมากกับเรือดำน้ำ และถ้ามีโชดก็อาจทำลายเป้าหมายได้เลย

    ระเบิดลึกสามารถใช้งานได้ 2 ระบบ ระบบแรกจะใช้รางปล่อยระเบิดลึก ซึ่งพัฒนาปรับปรุงมาจากรางปล่อยทุ่นระเบิด โดยติดตั้งให้ท้ายรางโผล่พ้นท้ายเรือเล็กน้อย ประกอบไปด้วยรางบนและรางล่าง (UPPER AND LOWER GUIDE RAILS) ลูกขัดตัวหน้าและลูกขัดตัวท้าย (FORWARD AND AFTER DETENT) เครื่องปล่อย (RELEADE TRACK CONTROL UNIT) รวมทั้งเพลาแง่กันระเบิดลึก (SWIGING LEVER) สามารถปล่อยระเบิดลึกได้ด้วยมือจากท้ายราง หรือปล่อยด้วยระบบไฟฟ้า (ELECTRO HYDRAULIC) จากสะพานเดินเรือ ตัวรางออกแบบให้ลาดเอียงประมาณ 5 องศา สามารถปล่อยระเบิดได้ทีละ 1 ลูกด้วยระบบกลไก ลูกขัดตัวท้ายจะยกขึ้นลูกขัดตัวหน้าจะยุบลง ลูกระเบิดลึกลูกถัดไปจะกลิ้งมาแทนที่  รางรุ่นมาตราฐานบรรจุระเบิดลึกได้จำนวน 8 ถึง 12 ลูก ขณะที่รางรุ่นเล็กจะสามารถบรรจุได้ 3 ถึง 5 ลูก โดยสามารถบรรจุเพิ่มได้อย่างรวดเร็ว รางปล่อยระเบิดในปัจจุบันจะเป็นรุ่นเดียวกัน สามารถปรับปรุงความยาวรางตามขนาดเรือได้

    อีกระบบก็คือใช้เครื่องยิงระเบิดลึก ทำการยิงลูกระเบิดให้ลอยสุงขึ้นฟ้า สามารถยิงได้ไกลสุดถึง 150 หลาหรือ 137.16 เมตร ระบบเครื่องยิงประกอบไปด้วย ท่อยิงเรียบ (BARREL) รังเพลิงกลม (EXPANSION CHAMBER) เครื่องลูกเลื่อน (BREECH MECHANISM) ถาดยิง (CRADLE TRAY) รวมทั้งโซ่รัดระเบิดลึกกับถาดบรรจุ สามารถยิงที่แท่นด้วยการสับนกหรือกระตุกเชือกลั่นไก หรือยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือก็ได้ ทุกครั้งที่ใช้งานกับเครื่องยิง ระเบิดลึกจะต้องติดตั้งถาดบรรจุตรงกลางลูก จึงมีหน้าตาคล้ายกับค้อนขนาดยักษ์ไม่ผิดเพี๊ยน จากนั้นจึงเสียบถาดบรรจุลงในท่อยิงเรียบ เมื่อจรวดพ้นท่อถาดบรรจุจะสลัดตัวเองทิ้ง (บางรุ่นในอดีตไม่สลัดตัวเอง) เป็นเทคนิคง่าย ๆ แต่ใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม เครื่องยิงระเบิดลึกมีขนาดกระทัดรัด สามารถติดตั้งตรงไหนก็ได้ของเรือ (ขณะที่รางปล่อยระเบิดต้องติดสุดของท้ายเรือ) เพิ่มระยะทำการระเบิดลึกให้ไกลมากขึ้น แต่มีอัตรายิงต่ำกว่าใช้รางปล่อยท้ายเรือ และต้องใช้ดินขับในการยิงทุกครั้ง จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าเดิม


ท้ายเรือ HMS Fanning ในปี 1916 มีรางปล่อยจำนวน 2 รางและลูกระเบิดลึกจำนวน 24 ลูก ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตั้งแต่ปี 1914 ถึง 1918 กองทัพเรืออังกฤษได้ผลิตระเบิดลึกจำนวนรวม 74,441 ลูก ถูกใช้งานจริงจำนวนรวม 16,451 ลูก เรือดำน้ำจากเยอรมันจมทันทีจำนวน 38 ลำ และอีก 140 ลำเสียหายหนักจนถูกจำหน่าย วันที่ 22 มีนาคม 1916 เรือ U-68 คือเรือดำน้ำลำแรกที่ถูกโจมตีด้วยระเบิดลึก

    ตลอดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมันเสียเรือดำน้ำจำนวนรวม 220 ลำ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลงานของระเบิดลึก แต่ทว่าจมเรือฝ่ายพันธมิตรจำนวนรวม 4,837 ลำ คิดเป็นระวางขับน้ำจำนวนรวม 11 ล้านตัน

    กองทัพเรือไทยประจำการ รางปล่อยระเบิดลึก และเครื่องยิงระเบิดลึก จำนวนหลายรุ่นด้วยกัน  โดยมีการจัดหาระบบแท่นยิงและระเบิดลึกจาก 3 ประเทศ ต่างกรรมต่างวาระ อันประกอบไปด้วย

ระเบิดลึกจากอังกฤษก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

    เดือนกันยายน 1920 กองทัพเรือไทยซื้อเรือหลวงพระร่วงจากอังกฤษในราคา 2 แสนปอนด์ เป็นเรือพิฆาตตอร์ปิโดชั้น R-Class เข้าประจำการกองทัพเรืออังกฤษวันที่ 25 พฤษจิกายน 1916 ก่อนถูกขายคืนให้กับอู่ต่อเรือ Thornycroft ในวันที่ 21 พฤษภาคม 1920 เนื่องจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งไปแล้ว และเข้าประจำการกองทัพเรือไทยในปีนั้นเลย เป็นเรือรบทันสมัยที่สุดของเราในช่วงเวลานั้น

    เรือหลวงพระร่วงเข้าประจำการวันที่ 11 ตุลาคม 1920 ระวางขับน้ำ 1,046 ตัน ยาว 83.57 เมตร กว้าง 8.34 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 102 มม.จำนวน 3 กระบอก และปืนใหญ่ 76 มม.จำนวน 1 กระบอก เวลาต่อมาได้ติดตั้งอาวุธอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมทั้งระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำด้วย โดยมีทั้งรางปล่อยระเบิดลึก (Depth Charge Rack หรือ Depth Charge Rail) จำนวน 2 ราง และเครื่องยิงระเบิดลึก (Depth Charge Projector หรือ Depth Charge Thrower) จำนวน 2 แท่นยิง เป็นเรือรบลำแรกของไทยที่ติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำ

    นั่นคือข้อมูลจากกองทัพเรือไทยครับ ทีนี้มายังข้อมูลที่ผู้เขียนหามาได้บ้าง เรือพิฆาตตอร์ปิโดชั้น R-Class มีพื้นที่ท้ายเรือค่อนข้างน้อย เพราะต้องติดตั้งป้อมปืนใหญ่ 102 มม.ชิดท้ายเรือ ภาพแปลนเรือจากอังกฤษนั้น แสดงให้เห็นเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่นยิง ตั้งเฉียงทำมุม 45 องศากับกราบเรือทั้งสองข้าง ฉะนั้นรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 รางนั้น น่าจะไม่ได้ติดตั้งเสียมากกว่า นอกจากจะถอดป้อมปืนใหญ่ 102 มม.ท้ายเรือออกไป ซึ่งข้อมูลตรงนี้ผู้เขียนหาไม่เจอเลย ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมจะมาปรับปรุงอีกรอบนะครับ

    ผู้เขียนอยากวาดภาพเรือหลวงพระร่วงมาก แต่อะไรต่อมิอะไรที่อยู่ในมือมีไม่มากพอ ประกอบกับข้อมือขวาไม่หายขาดเสียที ก็เลยเป็นโรคเลื่อนกันไปเรื่อย ๆ ก่อน เหมือนเรือลำอื่น ๆ ของราชนาวีไทยนั่นแล

    3 ปีต่อมาหรือในปี 1923 กองทัพเรือไทยได้สั่งต่อเรือยนต์ตอร์ปิโด จากอู่ต่อเรือ Thornycroft จำนวน 1 ลำ โดยใช้ชื่อว่า เรือยามฝั่งหาญหักศัตรู ระวางขับน้ำ 9 ตัน ยาว 16.78 เมตร กว้าง 3.36 เมตร กินน้ำลึก 0.9 เมตร ติดตั้งปืนกลแมดเสน 8 มม.จำนวน 4 กระบอก ตอร์ปิโด 18 นิ้ว 2 ท่อยิง และรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง

    ปี 1930 กองทัพเรือไทยได้สั่งต่อเรือยามฝั่งจากอู่ต่อเรือ Barrow  Brown จำนวน 3 ลำ โดยใช้ชื่อว่า เรือยามฝั่งหมายเลข 3 4 และ 5 ตามลำดับ ระวางขับน้ำ 10 ตัน ยาว 18.3 เมตร กว้าง 3.4 เมตร กินน้ำลึก 1.8 เมตร ติดตั้งปืนกลแมดเสน 8 มม.จำนวน 4 กระบอก ตอร์ปิโด 18 นิ้ว 2 ท่อยิง และรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง อีก 6 ปีต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองทัพเรือไทยสั่งต่อเรือยามฝั่งเพิ่มเติมจำนวน 3 ลำ โดยได้ย้ายกลับไปที่อู่ต่อเรือ Thornycroft แทน ซึ่งควบรวมกิจการอู่ต่อเรือ Barrow Brown ไปแล้ว

    เรือยามฝั่งหมายเลข 6 7 และ 8 ติดตั้งอาวุธเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่มีรางปล่อยระเบิดลึกด้านท้ายเรือ ช่วงเวลาจากนั้นไม่นาน ได้มีการต่อเรือยามฝั่งภายในประเทศจำนวน 4 ลำ โดยใช้แบบเรือเดียวกับเรือยามฝั่งอังกฤษ ระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 11.2 ตัน ความกว้่างความยาวเท่ากันหมด เรือทุกลำติดตั้งอาวุธเหมือนเดิม บางลำติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกภายหลัง และใช้ชื่อว่า เรือยามฝั่งหมายเลข 9 10 11 และ 12 ตามลำดับ

    ถึงตอนนี้เราคงพอมองเห็นภาพ กองเรือปราบเรือดำน้ำในยุคนั้นได้แล้วนะครับ อาวุธหลักประกอบไปด้วยรางปล่อยระเบิดลึกและเครื่องยิงระเบิดลึกจากประเทศอังกฤษ เรือหลวงพระร่วงน่าจะติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกรุ่นมาตราฐาน หรือที่อเมริกาเรียกว่ารุ่น  Mark I (ถ้าได้ติดตั้งนะครับ) ส่วนเรือยามฝั่งน่าจะเป็นรุ่นกระทัดรัด หรือที่อเมริกาเรียกว่ารุ่น  Mark II  เครื่องยิงระเบิดลึกน่าจะเป็นรุ่น Mark I หรือ Thornycroft Thrower DCT ซึ่งอเมริกาได้นำไปพัฒนาต่อเป็นรุ่นรางแฝด หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Y-gun


                                                          เครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น Mark I ขณะทดสอบยิงเป็นครั้งแรก

ระเบิดลึกจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

    ระหว่างปี 1947 กองทัพเรือไทยซื้อเรือจากอังกฤษจำนวน 3 ลำ เป็นเรือคอร์เวตชั้น Flower จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) เรือชั้นนี้ออกแบบมาเพื่อปราบเรือดำน้ำเป็นภารกิจหลัก เรือลำสุดท้ายคือเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น  Algerine ซึ่งก็คือเรือหลวงโพธิ์สามต้นนั่นเอง เรือทุกลำสามารถติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกรุ่นมาตราฐานจำนวน 2 ราง  หรือที่อเมริกาเรียกว่ารุ่น  Mark 3 (ไม่แน่ใจว่าเรือหลวงโพธิ์สามต้นติดตั้งหรือไม่ และจำนวนเท่าไหร่) รวมทั้งเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น Mark II จำนวน 4 แท่นยิง

    เรือหลวงโพธิ์สามต้นแม้จะเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิด แต่มีระวางขับน้ำมากถึง 900 ตัน รวมทั้งติดอาวุธหนักเบาไว้อย่างครบครัน จึงสามารถทำการรบทางทะเลได้เป็นอย่างดี ใช้ทำภารกิจตรวจการณ์ก็ยังไหว เรือได้ถูกโอนไปอยู่กองเรือฟริเกตระหว่างปี 1984 ถึง 1986 ซึ่งเป็นช่วงที่เราขาดแคลนเรือรบอย่างหนัก ก่อนโอนกลับมายังกองเรือทุ่นระเบิดในภายหลัง สุดท้ายได้เปลี่ยนภารกิจมาเป็นเรือฝึกกระทั่งปลดประจำการ

    ขณะที่เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) ได้ทำภารกิจสำคัญให้กับประเทศ โดยการเข้าร่วมสงครามเกาหลีในนามสหประชาชาติ ระหว่างปี 1950 ถึง 1951 กองทัพเรือได้สูญเสียเรือหลวงประแสร์ระหว่างการรบ ทางด้านเรือหลวงบางปะกงเสียหายไม่มาก และได้เดินทางกลับถึงไทยต้นปี 1952 หลังมีเรือรบชุดใหม่มาสับเปลี่ยนกำลัง เมื่อเรือเข้าสู่ช่วงใกล้ปลดประจำการ จึงเปลี่ยนภารกิจมาเป็นเรือฝึกปราบเรือดำน้ำ

    รางปล่อยระเบิดลึกและเครื่องยิงระเบิดลึกจากอังกฤษ ปัจจุบันได้ปลดประจำการหมดแล้ว เพราะได้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน ทั้งยังล้าสมัยและไม่มีอะไหล่ซ่อมบำรุง ผู้เขียนไม่เคยเห็นอาวุธของกองทัพเรือเลย อาจเป็นเพราะเรือทุกลำจำหน่ายหมดแล้ว เนื่องจากยังไม่มีแนวคิดที่จะอนุรักษ์เป็นพิพิธภัณฑ์ จริงอยู่ว่ายังมีเรือหลวงโพธิ์สามต้นที่จังหวัดจันทบุรี แต่เป็นเพียงการกู้ซากเรือขึ้นมาจากน้ำ ทั้งยังไม่มีอาวุธซักชนิดติดตั้งอยู่บนเรือ ก็เลยเอวังด้วยประการฉะนี้ เป็นที่น่าเสียดายไม่มากก็น้อยแต่จะทำยังไงได้


ภาพถ่ายเรือรบอังกฤษระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในภาพประกอบไปด้วย เครื่องยิงระเบิดลึกเป็นรุ่น Mark II ระเบิดลึก ถาดบรรจุ และรอกเชือก เจ้าหน้าที่กำลังติดตั้งโก๊ หรือ PISTOL เข้าไปในระเบิดลึก


 เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) ในปี 1947 ติดตั้งเครื่องยิงระเบิดลึกเป็นรุ่น Mark II จำนวน 4 แท่นยิง และรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง น่าจะเป็นภาพถ่ายก่อนเดินทางกลับประเทศไทย


เครื่องยิงระเบิดลึกจากญี่ปุ่น

    สาเหตุเนื่องมาจาก "พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478" กองทัพเรือไทยได้จัดหาเรือรบจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือเรือสลุปชั้นเรือหลวงท่าจีนจำนวน 2 ลำ จากบริษัทมิตซุยบุชซันไกชาในวงเงิน 1.885 ล้านบาท เรือญี่ปุ่นมีเครื่องยิงระเบิดลึกแบบ 80 จำนวน 2 แท่นยิง ติดตั้งถัดจากป้อมปืนใหญ่ท้ายเรือค่อนไปทางด้านข้าง แต่ไม่ได้ติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึก เพราะติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดไว้ก่อนแล้ว เรือชั้นเรือหลวงท่าจีนถูกใช้งานเป็นเรือฝึกในยามปรกติ จึงได้ติดตั้งอาวุธทุกชนิดอย่างละไม่มากไม่น้อย รวมทั้งเครื่องกวาดทุ่นระเบิด เครื่องบินทะเล รวมทั้งของหนักอย่างตอร์ปิโดขนาด 450 มม. จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีเครื่องยิงระเบิดลึกเพียง 2แท่นยิง

    เครื่องยิงระเบิดลึกแบบ 80 หรือท่อยิงระเบิดลึกแบบ 80 ใช้สำหรับการยิงส่งลูกระเบิดลึกแบบ 80 ออกจากกราบเรือ ประกอบไปด้วย ท่อยิง ถาดดินขับ และถาดรองยิง เส้นผ่าศูนย์กลางกระบอกดินขับมีขนาด 180 ซม. ใช้ดินขับอัตราธรรมดายิงได้ไกลสุด 38 เมตร ใช้ดินขับอัตราปานกลางยิงได้ไกลสุด 63 เมตร และใช้ดินขับอัตราสุงยิงได้ไกลสุด 93 เมตร รูปร่างหน้าตาใกล้เคียงเครื่องยิงระเบิดลึก Mark II ของอังกฤษ


    ลูกระเบิดลึกแบบ 80 เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำ ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 441 มม. เมื่อบรรจุดินระเบิดพร้อมหนัก 160 กิโลกรัม ตั้งระยะลึกให้ลูกระเบิดทำงานได้มีระดับลึก 25 และ 50 เมตร อัตราความเร็วในการจมน้ำ 2 เมตร/วินาที การจุดระเบิดใช้แรงดันของน้ำตามระดับความลึกที่ตั้งไว้

    เครื่องยิงระเบิดลึกแบบ 80 ประจำการอยู่บนเรือสลุปจำนวน 2 ลำเท่านั้น ผู็อ่านสามารถรับชมเครื่องยิงระเบิดลึกแบบ 80 ของจริงได้ ที่พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเรือที่มีความสมบรูณ์มากที่สุดลำหนึ่งของไทย และเป็นเรือญี่ปุ่นสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่มีความสมบรูณ์มากที่สุดลำหนึ่งของโลก

                                               เรือหลวงแม่กลองได้ขึ้นปกนิตยสารประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง
   
    ข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับ "พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2478" ผู้เขียนได้เขียนถึงเมื่อไม่นานนี้เอง สามารถย้อนกลับไปอ่านได้ตามลิงค์นี้ครับ

http://thaimilitary.blogspot.com/2016/04/the-power-of-sea-2478.html

การจัดหาเรือรบจากอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

    เรือรบและเรือช่วยรบจากอเมริกา เริ่มเข้าประจำการกองทัพเรือไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เรือส่วนใหญ่เคยประจำการกองทัพเรืออเมริกามาก่อน บางลำโอนให้จากความช่วยเหลือทางทหาร ส่วนบางลำโอนให้โดยคิดราคามิตรภาพ ผู้เขียนจะขอเขียนถึงเฉพาะเรือรบบางลำ ที่ติดตั้งระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำ ไม่อย่างนั้นบทความคงยาวเกินไป เพราะเราได้รับโอนเรือจากอเมริกาจำนวนหลายสิบสำ

    ความจริงแล้วก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเรือได้จัดหาเรือรบและเรือช่วยรบจากอิตาลีเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าไม่ได้ติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำ ก็เลยขอข้ามไปก่อนในบทความนี้ เมื่อคุณมีเรือรบจากอเมริกา ก็ต้องมีอาวุธจากอเมริกาด้วย ระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำของอเมริกาในยุคนั้น มีความใกล้เคียงกับของอังกฤษเป็นอย่างมาก จะเรียกว่าเป็นรุ่นปรับปรุงก็คงไม่ผิดนัก โดยใช้ชื่อรุ่นแตกต่างกันไม่ก็ใช้แท่นยิงต่างกัน

    เริ่มต้นจากจากเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 ปี 1947 อเมริกาโอนเรือจำนวน  3 ลำให้กองทัพเรือไทย ได้แก่ หลวงสารสินธุ  เรือหลวงทยานชล และเรือหลวงคำรณสินธุ ในเวลาต่อมาเราได้จัดหาเพิ่มจำนวน 5 ลำ โดยการจัดหาครั้งแรกเป็นการซื้อต่อจำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงพาลี และเรือหลวงสุครีพ  ส่วนการจัดหาอีกครั้ง เป็นการโอนเรือจำนวน 3 ลำ ได้แก่ เรือหลวงตองปลิว เรือหลวงลิ่วลม และเรือหลวงล่องลม สุดท้ายมีเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ รวมทั้งหมดจำนวน 8 ลำด้วยกัน

    เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 เริ่มเข้าประจำการช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อเมริกาต่อเรือชั้นนี้มากถึง 343 ลำ (เรือบางเฟสต่อขึ้นหลังสิ้นสุดสงคราม) สำหรับภารกิจค้นหาและปราบเรือดำน้ำบริเวณชายฝั่ง ท่าเรือ ฐานทัพเรือ และจุดเสี่ยงที่อาจโดนโจมตี แม้เรือจะมีระวางขับน้ำเพียง 335 ถึง 480 ตัน (ตามรุ่นย่อย) แต่มีความคล่องตัวสุงมาก และติดอาวุธป้องกันตัวอย่างครบครัน จึงทำหน้าที่ตรวจการณ์ผิวน้ำได้อีกด้วย ในการเข้าปะทะกับเรืออูตลอดการรบ สามารถจมเรือฝ่ายตรงข้ามได้และโดนจมเช่นกัน  เราไปชมภาพเรือกันซักหน่อยนะครับ


เรือ PC-1264 ของอเมริการะหว่างพิธีเข้าประจำการ ท้ายสุดของเรือเป็นรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง ต่อด้วยเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่นยิง ถัดไปเป็นป้อมปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.จำนวน 1 กระบอก ต่อด้วยเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่นยิง ขั้นกลางด้วยเรือเล็กและเครนยกเรือ บริเวณกลางเรือและหอบังคับการณ์ ติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม. จำนวน 3 กระบอก หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ 76/50 จำนวน 1 กระบอก หน้าปืนเป็นจรวดปราบเรือดำน้ำ Mark 20 Mousetrap จำนวน 2 แท่นยิง


เรือหลวงทยานชลในปี 1969 กองทัพเรือถอดเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่นยิง บริเวณกลางเรือออก และติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม.จำนวน 2 กระบอกทดแทน

    ต่อมาในปี 1951 กองทัพเรือต้องการเรือรบขนาดใหญ่เพิ่มเติม เพื่อนำมาทดแทนเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) ที่ได้สูญเสียไปในการรบสงครามเกาหลี และเพื่อสับเปลี่ยนกำลังทางเรืออีกด้วย รัฐบาลไทยติดต่อขอซื้อเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma จำนวน 2 ลำจากกองทัพเรืออเมริกา มูลค่ารวมโครงการอยู่ที่ 861,940 เหรียญ วันที่ 29 ตุลาคม 1951 มีพิธีรับมอบเรือหลวงท่าจีน (ลำที่สอง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่สอง)  ที่ท่าเรือหมายเลข 12 เมืองโยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาได้เข้าร่วมสงครามเกาหลีทดแทนเรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง)

    เรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma  มีระวางขับน้ำ 1,430 ตัน ยาว 92.8 เมตร กว้าง 11.4 เมตร กินน้ำลึก 4.4 เมตร ติดตั้งติดตั้งปืนใหญ่ 76/50 จำนวน 3 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.จำนวน  2 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม. จำนวน 9 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำ Mark 11 Hedgehog จำนวน 1 แท่นยิง รางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง และเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 8 แท่นยิง

    วันที่ 22 กรกฎาคม 1959 กองทัพเรือได้ประจำการเรือรบจากอเมริกาเพิ่มเติมอีก 1 ลำ เรือหลวงปิ่นเกล้าถูกเช่ายืมเป็นเวลา 5 ปี จากนั้นจึงมีการต่อสัญญาออกไป ท้ายที่สุดจึงได้มอบให้กองทัพเรือไทย  ในลักษณะการช่วยเหลือทางทหาร กองทัพเรือได้มีการปรับปรุงเรือตลอดเวลา รวมทั้งติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ เป็นเรือที่น่าภาคภูมิใจมากอีกหนึ่งลำ เพราะทุกวันนี้ยังคงใช้งานได้ดีอยู่ แม้จะเป็นเพียงเรือครูไม่ใช่เรือรบแล้วก็ตาม

    เรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Cannon มีระวางขับน้ำ 1,240 ตัน ยาว 93.3 เมตร กว้าง 11.6 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร ติดตั้งติดตั้งปืนใหญ่ 76/50 จำนวน 3 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/60 มม.จำนวน  1 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยาน Oerlikon 20 มม. จำนวน 8 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำ Mark 11 Hedgehog จำนวน 1 แท่นยิง รางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง และเครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 8 แท่นยิง

    จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาเพียง 12 ปี กองทัพเรือได้จัดหาเรือรบติดอาวุธปราบเรือดำน้ำถึง 11 ลำ อาวุธอเมริกาจึงกลายเป็นอาวุธหลักทดแทนของเดิม ทั้งจากอังกฤษและญี่ปุ่นไปโดยปริยาย


เรือหลวงปิ่นเกล้าในปี 2015 ติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ราง เครื่องยิงระเบิดลึกจำนวน 8 แท่นยิง รวมทั้งอาวุธใหม่อย่างตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ แต่ไม่แน่ใจเรื่องจรวดปราบเรือดำน้ำ Mark 11 Hedgehog

รางปล่อยและเครื่องยิงระเบิดลึกจากอเมริกา

    รางปล่อยระเบิดลึกของอเมริกานั้น ได้พัฒนาปรับปรุงจากของอังกฤษอีกที และกลายเป็นระบบมาตราฐาน ที่ทุกประเทศสมาชิกนาโต้จัดหาเข้าประจำการ อเมริกาพัฒนารางปล่อยระเบิดลึกตลอดเวลา จนมีจำนวนรุ่นมากถึง 9 รุ่นด้วยกัน แต่รุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีดังนี้

    - Mark 3 บรรจุระเบิดลึกขนาด 136 กก.ได้จำนวน 8 ลูก พัฒนาขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

    - Mark 4 บรรจุระเบิดลึกขนาด 136 กก.ได้จำนวน 4 ลูก ปรับปรุงจากรุ่น Mark 3 เพื่อใช้งานบนเรือเล็ก

    - Mark 9 บรรจุระเบิดลึกขนาด 136 กก.ได้จำนวน 4 ถึง 12 ลูก (ตามขนาดความยาวราง) เป็นรางรุ่นใหม่ล่าสุด สามารถควบคุมการปล่อยด้วยไฟฟ้า


   รางปล่อยระเบิดลึก Mark 9 พร้อมลูกระเบิดลึก Mark 6 จำนวน 10 ลูกในราง


    กองทัพเรือไทยเคยใช้งานรางครบทั้ง 3 รุ่น ทว่าปัจจุบันใช้งานเพียงรุ่น  Mark 9 ที่ทันสมัยที่สุด มีประจำการอยู่บนเรือรบจำนวน 5 ลำ ได้แก่ เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ (เป็นเรือฟริเกตชั้นเรือหลวงตาปี ) เรือหลวงคำรณสินธุ เรือหลวงทยานชล และเรือหลวงล่องลม (เป็นเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ) นอกจากนี้ยังมีเรืออีก 2 ลำที่ยังติดตั้งรางปล่อยระเบิดท้าย ได้แก่ เรือหลวงปิ่นเกล้า และเรือหลวงมกุฏราชกุมาร  แต่ถูกเปลี่ยนภารกิจเป็นเรือครูและเรือฝึกไปแล้ว จึงไม่ได้นับเป็นกำลังรบทางเรืออีกต่อไป

    มาถึงเครื่องยิงระเบิดลึกกันบ้างนะครับ อเมริกาได้พัฒนาปรับปรุงจากของอังกฤษเช่นเคย โดยรุ่นแรกสุด Mark I หรือ Y-gun สามารถยิงระเบิดลึกได้พร้อมกันจำนวน 2 นัด เป็นการยิงออกกราบซ้ายและกราบขวาของเรือ ตามลักษณะท่อยิงเรียบที่เป็นรูปตัว Y เหมาะกับการติดตั้งบริเวณกลางดาดฟ้าเรือ และควรเป็นพื้นที่โล่ง ๆ ไม่มีอุปกรณ์ตั้งขวาง โดยตั้งใจใช้งานกับเรือขนาดใหญ่ประเภท เรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน เป็นต้น


    กระทั่งเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อต้องเผชิญกับกองเรืออูอันแสนเกรียงไกร อเมริกาจึงเร่งพัฒนาเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่นใหม่ ที่มีขนาดกระทัดรัดและทันสมัยมากขึ้น สุดท้ายได้เป็นรุ่น  Mark 6 หรือ K-gun เพราะมีท่อยิงเรียบรูปตัว K นั่นเอง แม้ Mark 6 จะยิงได้ครั้งละ 1 นัดก็ตาม แต่ยิงได้เร็วมากขึ้น บรรจุระเบิดลึกและดินขับในลูกเลื่อนได้เร็วขึ้น ใช้งานบนเรือเล็กได้อย่างสะดวก และสามารถยิงด้วยระบบไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือ

    ระยะยิงของเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น Mark 6 หรือ K-gun แปรผันกับชนิดของดินขับ ถ้าใช้ดินขับ No 1. MK 6 จะยิงได้ไกลสุด 60 หลา 54.8 หรือ เมตร หรือถ้าใช้ดินขับNo 3. MK 9 จะยิงได้ไกลสุด150 หลาหรือ 137.16 เมตร


 เครื่องยิงระเบิดลึก Mark 6 หรือ K-gun พร้อมลูกระเบิดลึก Mark 9 จำนวน 4 ลูก ในภาพเล็กคือ เครื่องยิงระเบิดลึก Mark I หรือ Y-gun

    กองทัพเรือไทยประจำการเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น  Mark 6  Mod 1หรือ K-gun บนเรือรบจากอเมริกาทุกลำ รวมทั้งปรับปรุงให้ใช้งานบนเรือรบลำอื่น ๆ ด้วย ปัจจุบัน  Mark 6  Mod 1 ยังประจำการอยู่บนเรือรบจำนวน 3 ลำ ได้แก่ เรือหลวงคำรณสินธุ เรือหลวงทยานชล และเรือหลวงล่องลม  กองทัพเรือได้ซ่อมบำรุงให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา รวมทั้งทดสอบยิงระเบิดลึกระหว่างการฝึกอยู่เสมอ



    ในภาพเป็นส่วนท้ายของเรือหลวงล่องลม (PC 533) ซึ่งติดตั้งอาวุธจำนวนมากประกอบไปด้วย ลูกศรสีแดงคือรางปล่อยระเบิด Mark 9 จำนวน 1 ราง ลูกศรสีเขียวคือรางปล่อยทุ่นระเบิดจำนวน 2 ราง ลูกศรสีเหลืองคือเครื่องยิงระเบิดลึกรุ่น  Mark 6  Mod 1 จำนวน 2 แท่นยิง ลูกศรสีแดงคือปืนต่อสู้อากาศ Breda/Rheinmetall 30/82 มม.แท่นคู่ จำนวน 1 แท่นยิง ลูกศรสีม่วงคือ Thales Target Designation Sight (TDS) ซึ่งสามารถใช้คุมปืนในกรณีจำเป็นได้ ลูกศรสีส้มคือแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแฝดสามรุ่น  PMW49A จำนวน 2 แท่นยิง

ชนิดของลูกระเบิดลึก

    ผู้เขียนขอเขียนถึงตัวลูกระเบิดลึกซักนิดนะครับ ปัจจุบันกองทัพเรือไทยมีประจำการจำนวน 2 รุ่น รุ่นแรกที่จะเขียนถึงก็คือลูกระเบิดลึก Mark 6 โดยมีรุ่นย่อยประกอบไปด้วย  Mod.0  Mod.1 และ Mod.2 ลูกระเบิดมีรูปทรงเหมือนถังน้ำมันเฉกเช่นระเบิดลึกทั่วไป ทำด้วยโลหะทรงกระบอกปิดหัวท้าย มีช่องบรรจุดินระเบิดบริเวณริมบน ตรงกึ่งกลางเป็นหลอดสำหรับบรรจุโก๊ หรือ PISTOL น้ำหนักรวมพร้อมใช้งานอยู่ที่ 420 ปอนด์ หรือ 190 กิโลกรัม ดินระเบิดมีน้ำหนัก 300 ปอนด์หรือ 136 กิโลกรัม ถือเป็นลูกระเบิดลึกรุ่นมาตราฐานชายไทย

    Mark 6 ถูกพัฒนาให้ใช้งานแตกต่างกัน ตามระดับความลึกที่ต้องการโจมตีเป้าหมาย สามารถตั้งความลึกต่ำสุดได้ที่ 30 ฟุตเท่ากันทุกรุ่น ความลึกสุงสุดของ Mod.0 อยู่ที่ 300 ฟุต ความลึกสุงสุดของ Mod.1 อยู่ที่ 600 ฟุต และความลึกสุงสุดของ Mod.2 อยู่ที่ 1000 ฟุต เมื่อใช้งานร่วมกับเครื่องยิงระเบิดลึก ถาดบรรจุจะสลัดตัวออกจากลูกระเบิดลึก Mark 6 Mod.2 ทุกครั้ง ยกเว้นรุ่น  Mod.0 และ Mod.1 จะไม่หลุดออกจากกัน เป็นจุดสังเกตุที่ดีมากในการตรวจสอบด้วยสายตา (แต่ที่ผู้เขียนเคยเห็นในวีดีโอ หลุดออกจากกันทุกครั้ง)


  การทดสอบยิงระเบิดลึก Mark 6  Mod 1หรือ K-gun บนเรือหลวงคำรณสินธุ (PC 531) ในปี 2010



การทดสอบยิงระเบิดลึก Mark 6  Mod 1หรือ K-gun บนเรือหลวงทยานชล (PC 532) ในปี 2013 เป็นการยิงแบบสับนกหรือกระตุกเชือกลั่นไก คนยิงยืนห่างหน่อยเพราะกลัวสะเก็ดไฟจากดินขับ

    ลูกระเบิดลึกอีกรุ่นก็คือ Mark 9 โดยมีรุ่นย่อยประกอบไปด้วย Mod.2 Mod.3 และ Mod.4 มีรูปทรงเหมือนหยดน้ำหรือไม่ก็ถังแก๊สปิคนิค มีรูปร่างกลมหน้าตัดเสมือนรูปไข่ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความต้านของน้ำมีอัตราความเร็วในการจมที่ดีกว่า มีการทรงตัวในวิถีโคจรที่ดีกว่า จึงใช้ทำลายเป้าหมายใต้น้ำได้ดีกว่า และมีราคาแพงกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย น้ำหนักรวมพร้อมใช้งานอยู่ที่ 340 ปอนด์ หรือ 154 กิโลกรัม ดินระเบิดมีน้ำหนัก 190 ปอนด์หรือ 86.2 กิโลกรัม เมื่อใช้งานร่วมกับเครื่องยิงระเบิดลึก ถาดบรรจุจะสลัดตัวออกจากลูกระเบิดลึก Mark 9 ทุกครั้ง

    Mark 9 แต่ละรุ่นมีข้อแตกต่างที่การออกแบบตัวลูก โดยที่ Mod.3 และ Mod.4 ปรับปรุงมาจากลูกระเบิดลึก Mod.0 และ Mod.1 ที่ปลดประจำการไปแล้ว โดยที่ทุกรุ่นสามารถตั้งความลึกได้เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของโก๊ หรือ PISTOL โก๊รุ่น Mark 6 สามารถตั้งความลึกได้ตั้งแต่ 30 ถึง 300 ฟุต โก๊รุ่น Mark 6-1 สามารถตั้งความลึกได้ตั้งแต่ 30 ถึง 600 ฟุต และโก๊รุ่น Mark 7-1 สามารถตั้งความลึกได้ตั้งแต่ 50 ถึง 500 ฟุต และในอนาคตไม่ใกล้ไม่ไกลเท่าไหร่ อาจมีการเปลี่ยนดินระเบิดบรรจุ จากชนิด TNT เป็น HBX (High Blast Explosive) ทดแทน


    เรือฟริเกตชั้น Ulsan และเรือคอร์เวตชั้น Pohang ของกองทัพเรือเกาหลีใต้ ติดตั้งรางปล่อยระเบิดลึก Mark 9 จำนวน 2 รางด้านท้ายเรือ โดยอยู่ต่ำกว่าดาดฟ้าใหญ่ หรือ Main Deck เล็กน้อย เพื่อไม่ให้เกะกะป้อมปืนใหญ่ท้ายเรือที่อยู่ติดกัน ในภาพบรรจุระเบิดลึก Mark 9 รางล่ะ 6 ลูก (รวมเป็น 12 ลูก) ควบคุมการทิ้งระเบิดด้วยไฟฟ้าจากสะพานเดินเรือ



บทส่งท้าย
   
    อาวุธปราบเรือดำน้ำในปัจจุบัน มีความทันสมัยและแม่นยำมากกว่าเดิม ระเบิดลึกจึงถึงจุดเสื่อมความนิยมลง แต่ก็ยังมีอีกหลายสิบชาติที่ใช้งานอยู่ เนื่องจากอาวุธมีราคาถูก ดูแลรักษาง่าย ใช้งานง่าย ติดตั้งได้กับเรือทุกลำ รวมทั้งยังมีลูกระเบิดเก่าอยู่ในคลังแสงจำนวนมาก ส่วนอนาคตข้างหน้าของระเบิดลึกนั้น ยังคงเป็นปริศนาคาใจผู้เขียนอยู่ ว่าจะยังใช้งานต่อกับราชนาวีหลายสิบชาติ รวมทั้งพัฒนาให้ทันสมัยมากกว่าเดิม หรือปิดฉากตัวเองไปอย่างเงียบเชียบวังเวงใจ เหมือนกันกับอาวุธปราบเรือดำน้ำจำนวนมาก คงต้องรอติดตามกันต่อไปล่ะครับ ว่าท้ายที่สุดระเบิดลึกจะลงเอยแบบไหน ไม่ใช่นางเอกดาวพระศุกร์ก็บ้านทรายทองกระมังครับ

    บทความเรื่อง อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 1 : ระเบิดลึก ก็ต้องขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ บทความตอนต่อไปผู้เขียนจะเขียนถึง จรวดปราบเรือดำน้ำ ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ อากาศยานปราบเรือดำน้ำ รวมทั้งระบบตรวจจับเรือดำน้ำ เพียงแต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเขียนเรื่องไหนก่อนเรื่องไหนหลัง ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ มีข้อติติงอย่างไรแนะนำได้ตลอดเวลา ;)

                        -----------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Depth_charge

http://www.navweaps.com/Weapons/WAMBR_ASW.php

http://www.navweaps.com/Weapons/WAMUS_ASW.php

http://maritime.org/doc/depthcharge6/index.htm

https://www.maritime.org/doc/depthcharge9/index.htm

http://www.fleet.navy.mi.th/ftc/test56/2210.pdf

http://www.hazegray.org/navhist/canada/systems/asw/

http://www.navsource.org/archives/12/01idx.htm

http://www.ussslater.org/tour/weapons/k-gun/k-gun.html

http://www.huffingtonpost.com/joseph-v-micallef/this-week-in-world-war-i_b_9231694.html


                        -----------------------------------------------------------------------------------