วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2566

Naval Aviation Fleet of The Myanmar Air Force

 

75 ปีที่แล้วหลังจากประเทศได้รับเอกราช พม่าหรือเมียนม่าในปัจจุบันได้จัดตั้งกองกำลังขึ้นมาปกป้องอธิปไตย โดยมีวิธีการแบ่งเหล่าทัพง่ายๆ ดังนี้

-รถถังยานเกราะทุกคันเป็นของกองทัพบก

-อากาศยานทุกลำเป็นของกองทัพอากาศ

-เรือทุกลำเป็นของกองทัพเรือ

เพื่อนๆ สมาชิกคงไม่คุ้นเคยอะไรแบบนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีคำจำกัดความอยู่ว่า 'ทัพฟ้ามีรถหุ้มเกราะ-ทัพบกมีเรือ-ทัพเรือมีเครื่องบิน-ส่วนตำรวจมีทุกอย่าง' แต่ถึงกระนั้นก็ตามเมื่อพูดถึงพม่า เราต้องลบข้อมูลไทยแลนด์ทิ้งจากเมมโมรีเสียก่อน

กลับมาที่พม่ากันอีกครั้ง ระหว่างปี 2013 มีการจัดหาอากาศยานใช้งานทางทะเลจำนวนหนึ่ง จึงได้มีการจัดตั้งกองบินทหารเรือขึ้นมา หน่วยงานใหม่อยู่ภายใต้สังกัดกองทัพอากาศ ใช้นักบินและเจ้าหน้าที่จากกองทัพอากาศ เพียงแต่ปฏิบัติการร่วมกับกองทัพเรือเป็นหลักเท่านั้นเอง

กองบินทหารเรือพม่ามีอากาศยานประจำการจำนวน 4 ฝูงประกอบไปด้วย

1.ฝูงบินค้นหาและกู้ภัย

ระหว่างปี 2013 ถึง 2018 พม่าซื้อเฮลิคอปเตอร์ AS-365N2 จากฝรั่งเศสจำนวน 6 ลำ เป็นรุ่นไม่ติดอาวุธลูกค้าส่วนใหญ่ใช้งานด้านค้นหาและกู้ภัย เท่ากับว่าพม่าซื้อของมาใช้งานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

AS-365N2 จากฝรั่งเศสไม่ใช่ Z-9 จากจีนนะครับ ภาพประกอบที่หนึ่งเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ถ้าเป็นรุ่น AS-365N3 จมูกเครื่องจะเหมือน Z-9 จนแยกไม่ออกมากกว่า

เหตุผลที่มีการจัดตั้งกองบินทหารเรือ มาจากการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ AS-365N2 นั่นเอง

2.ฝูงบินตรวจการณ์ชี้เป้า

ถัดมาในปี 2014 มีการจัดตั้งฝูงบินที่สองขึ้นมา หน้าที่หลักคือบินตรวจการณ์และตรวจสอบเป้าหมาย โดยใช้เครื่องบิน BN-2 Islanders จำนวน 5 ลำ

เครื่องบินรุ่นเก่าสร้างโดยอังกฤษพม่าได้รับโอนจากอินเดียจำนวน 3+2=5 ลำ นำมาซ่อมคืนสภาพใช้งานต่อจนถึงปัจจุบัน มีข่าวว่ากองทัพอากาศพม่าติดตั้งกล้องออปโทรนิกส์ตรวจการณ์เพิ่มให้กับเครื่องบิน ทว่าไม่เคยมีภาพหลุดออกมาให้เห็นนอกจากภาพประกอบที่สองเพียงใบเดียว

3.ฝูงบินตรวจการณ์ทางทะเล

ระหว่างปี 2016 ถึง 2017 กองทัพอากาศพม่าส่งเครื่องบินลำเลียง ATR-42 จำนวน 2 ลำไปปรับปรุงเพิ่มเติม เท่าที่มองเห็นคือติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำกับกล้องออปโทรนิกส์ตรวจการณ์ที่ท้องเครื่อง กลายร่างเป็นเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล ATR-42 MPA เข้าประจำการฝูงบินที่สามกองบินทหารเรือ

          ภาพประกอบที่สาม ATR-42 MPA ทาสีพรางเทาครามดูน่าเกรงขาม แตกต่างจากATR-42 รุ่นปรกติที่กองทัพอากาศทาสีขาวเล่นลายนิดหน่อย

4.ฝูงบินโจมตีทางทะเล

ปลายปี 2018 กองทัพอากาศพม่าประจำการเครื่องบินขับไล่ JF-17M ที่นั่งเดี่ยวจำนวน 4 ลำ ตั้งแต่หมายเลข 1701 ถึง 1704 ปีถัดไปถึงคิวของ JF-17M สองที่นั่งจำนวน 2 ลำ ตั้งแต่หมายเลข 1706 ถึง 1707 ตามภาพประกอบที่สี่

ฝูงบินโจมตีทางทะเลแก่งกองบินทหารเรือพม่า ประจำการเครื่องบินขับไล่ JF-17M จำนวน 6 ลำ

นี่คือข้อมูลถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2021

อากาศยานประจำการเพิ่มเติม

ต่อมาในวันที่ 16 ธันวาคม 2021 กองทัพอากาศพม่าประจำการเฮลิคอปเตอร์ AS-365N2 เพิ่มจำนวน 2 ลำ ตามภาพประกอบที่ห้า    เท่ากับว่าฝูงบินค้นหาและกู้ภัยมี AS-365N2 จำนวน 8 ลำ

ล่าสุดวันที่ 16 ธันวาคม 2022 กองทัพอากาศพม่าประจำการเฮลิคอปเตอร์ Ka-28 จำนวน 2 ลำตามภาพประกอบที่หก หน้าที่หลักคือปราบเรือดำน้ำก็จริง ทว่าในการฝึกบินเก็บชั่วโมงควรบินเหนือแผ่นดินเพื่อความปลอดภัย จึงมีภาพถ่าย Ka-28 ลอยลำเหนือป่าเขาลำเนาไพรให้ใครต่อใครตกใจเล่น

Ka-28 หมายเลข 6351 กับ 6352 จะทำงานร่วมกับเรือฟริเกต F-12 กับ F-14 ที่ติดอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่แล้ว อนาคตเมื่อเรือฟริเกตขนาด 135 เมตรเข้าประจำการ กองทัพอากาศพม่าต้องจัดหา Ka-28 เพิ่มเติม

          สิ่งที่ผู้เขียนยังหาคำตอบไม่ได้ก็คือ กองบินทหารเรือพม่ามีการจัดตั้งฝูงบินที่ 5 สำหรับ Ka-28 หรือไม่?

ปิดท้ายกันด้วยอากาศยานไร้คนขับ CAMCOPTER S-100 พม่ามีใช้งานบนเรือรบจำนวนหนึ่งตั้งแต่ปี 2018 เข้าใจว่าเป็นทรัพย์สินกองทัพเรือเหมือนอากาศยานไร้คนขับกองทัพบก เพราะมีขนาดเล็กไม่ใช้นักบินไม่จำเป็นตัองสังกัดกองทัพอากาศ

กองเรือปราบเรือดำน้ำกองทัพเรือพม่า

          ปัจจุบันพม่ามีเรือติดอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ทันสมัยจำนวน 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือฟริเกต UMS Sin Phyu Shin F14 เข้าประจำการวันที่ 24 ธันวาคม 2015 เรือฟริเกต UMS Kyan Sitta F12 เข้าประจำการวันที่ 31 มีนาคม 2014 ทั้งสองลำคือเรือฟริเกตชั้นเดียวกันระวางขับประมาณ 3,000 ตัน

นอกจากติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 81 ขนาดห้าท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิงที่หัวเรือ F12 กับ F-14 ยังได้มีการติดตั้งโซนาร์หัวเรือ HUMSA HMS-X กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Shyena จากอินเดียเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง โดยใช้แท่นยิงขนาดสามท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิงติดอยู่ใต้สะพานเดินเรือแปลกพิลึกดี

เรืออีกสองลำคือเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น Yan Nyein Aung เข้าประจำการพร้อมกันวันที่ 24 ธันวาคม 2020 ประกอบไปด้วยเรือ Yan Nyein Aung 443 กับเรือ Yan Ye Aung 446 ระวางขับน้ำ 600 ตัน ยาว 63 เมตร กว้าง 7.5 เมตร กินน้ำลึก 1.75 เมตร โดยมีเขี้ยวเล็บสำคัญโซนาร์หัวเรือ HUMSA HMS-X กับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Shyena จากอินเดียเหมือนเรือฟริเกต F-12 กับ F-14

เรือทั้ง 4 ลำมีหน้าที่จัดการภัยคุกคามใต้น้ำ ที่ดูเป็นไปได้มากที่สุดคือเรือดำน้ำชั้นหมิงหรือ Type 035G ของบังกลาเทศ ประกอบไปด้วย เรือ BNS Nabajatra S161 กับเรือ BNS Joyjatra S162 เข้าประจำการพร้อมกันวันที่ 12 มีนาคม 2017

ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าพม่าค่อนข้างพร้อมรับมือเรือดำน้ำบังกลาเทศ เพราะอะไรน่ะหรือ...เพราะพม่ามีเรือดำน้ำ Type 035B รุ่นใกล้เคียงกันจำนวน 1 ลำ

เรือดำน้ำ UMS Min Ye Kyaw Htin (72) เข้าประจำการวันที่ 24 ธันวาคม 2021 ผ่านพ้นไปหนึ่งปีกว่าพม่าคงรู้ไส้รู้พุงเรือดำน้ำเพื่อนบ้านหมดแล้ว ส่วนเพื่อนบ้านอีกรายยังหาเครื่องยนต์ให้เรือดำน้ำไม่ได้เสียที รวมทั้งแบบเรือไม่แตกต่างจากเรือดำน้ำชั้น Kilo ชื่อ UMS Minye Theinkhathu (71) ของตัวเองสักเท่าไร ในเมื่อตัวเองเคยซ้อมค้นหาจนคุ้นมือพวกเขาคงไม่ค่อยกังวลใจ อย่างน้อยที่สุดก็พอแยกออกอะไรคือเรือดำน้ำอะไรไม่ใช่

กองทัพเรือพม่ากำลังก้าวเดินอย่างช้าๆ แต่มั่นคงและยืนยาว

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://web.facebook.com/austin.faith.397/posts/pfbid0FF9JGyFLziWETff6UnkgN8gDwtCKSr86AvppRW6fqarKQXYKr8YKUDKVodUdVnbgl