วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

Other 2020 Stories

 

นานาสาระในปี 2020

สำหรับบทความส่งท้ายปี 2020 เป็นบทความเฉพาะกิจ รวบรวมมาจากบทความสั้นลงในเว็บเพจผู้เขียนเองครับ ผู้อ่านท่านใดต้องการติดตามเชิญได้ตามลิงก์ข้างล่างนี้ครับ ไม่พูดพร่ำทำเพลงอ่านนานาสาระในปี 2020 กันได้เลยครับ

https://web.facebook.com/superboy.shipbucket

                                                ++++++++++++++++++++++++++++++

นี่คือภาพถ่ายเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย FF-462 ใน 'การฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือ 2001' หรือ Cooperation Afloat Readiness and Training 2001 หรือ CARAT 2001 ร่วมกับกองทัพเรืออเมริกาที่อ่าวไทย โดยมีเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำเรือหลวงตาปี กับเรือบรรทุกเครื่องบินเรือหลวงจักรีนฤเบศรเข้าร่วมเช่นกัน ส่วนเรืออเมริกาประกอบไปด้วย เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกชั้น Whidbey Island ชื่อ USS Rushmore (LSD-47), และเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Oliver Hazard Perry อีกสองลำคือ USS Curts (FFG 38) กับ USS Wadsworth (FFG 9)

การฝึก CARAT 2001 อเมริกาไม่ได้มาประเทศเราเพียงแห่งเดียว แต่คุณพี่ไล่กวาดไปเรื่อยจนเกือบครบทุกชาติในอาเซียน โดยเริ่มต้นจากอินโดนีเซีย ต่อด้วยไทยแลนด์ ไปที่สิงคโปร์ ข้ามฝั่งมาที่มาเลเซีย ก่อนปิดท้ายเฟสแรกที่บรูไน ส่วนเฟสสองมีฟิลิปปินส์เพียงชาติเดียว สำหรับประเทศไทยพวกเขามาเยือนวันที่ 19 ถึง 29 มิถุนายน 2001 โดยเข้าเทียบท่าที่จุกเสม็ดจังหวัดชลบุรี ใช้เรือจำนวน 3 ลำ มีนาวิกโยธินและเจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งเข้าร่วมฝึกซ้อม

การฝึกความร่วมมือและความพร้อมทางเรือหรือ CARAT เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1995 จนถึงปัจจุบัน โดยครั้งแรกเป็นการฝึกซ้อมร่วมกับราชนาวีไทย และในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 26 ของการฝึกซ้อม ลำบากพอสมควรเนื่องจากการระบาดของโรคร้ายโควิด-19 เท่าที่แอดพบข่าวมีเพียงบรูไนกับบังคลาเทศเข้าร่วมการฝึกซ้อม ส่วนศรีลังกาตัดสินใจยกเลิกในภายหลัง แม้ปีนี้เป็นเพียงการฝึกกับชาติเล็กชาติน้อยก็ตาม แต่ยังต้องนับว่ามีการฝึก CARAT อีกหนึ่งขวบปี

สำหรับประเทศไทยการฝึกผสม CARAT 2020 ถูกเลื่อนไม่มีกำหนด ก็ตามสภาพแหละครับว่ากันไม่ได้ โม้มาตั้งนานไม่ได้พูดถึงเรือแม้แต่ประโยคเดียว มีโอกาสแอดจะเขียนบทความยาวๆ แล้วกันเนอะ

https://catalog.archives.gov/id/6609787

 

                                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

ประมาณปี 1995 กองทัพเรือไทยสั่งซื้อเรือโฮเวอร์คราฟต์ (Hovercraft) หรือยานเบาะอากาศจากอังกฤษจำนวน 3 ลำ นำมาใช้งานภารกิจค้นหากู้ภัยและช่วยเหลือน้ำท่วม โดยเลือกแบบเรือ Griffon 1000TD ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีเรือโฮเวอร์คราฟต์วางขายตั้งแต่ปี 1976 แบบเรือ Griffon 1000TD คือเรือรุ่นแรกที่ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล เริ่มวางขายตั้งแต่ปี 1983 โดยมีลูกค้ารายเดียวคือกองทัพเรือไทยนั่นเอง

เรือทั้ง 3 ลำใช้หมายเลข 401 ถึง 403 ต่างประเทศเรียกชื่อเรือว่า Griffon 401 Griffon 402 และ Griffon 403 แต่ทหารเรือไทยเรียกชื่ออะไรแอดจนด้วยเกล้า มาดูข้อมูลโดยทั่วไปของเรือกันบ้าง มีความยาว 27.6 เมตร กว้างวัดที่เบาะอากาศ 12.5 เมตร กว้างวัดที่ตัวเรือ 8.4 เมตร ความกว้างห้องโดยอยู่ที่ 3.8 เมตร เรือลำนี้ไม่มีระวางขับน้ำสูงสุดเหมือนเรือทั่วไป แต่มีน้ำหนักรวมสูงสุดที่ 3,200 กิโลกรัม มีน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 1,000 กิโลกรัม สามารถบรรทุกทหารได้มากสุด 10 นาย (ทหาร 9 นายบวกถอดลูกเรือ 1 นาย)

ปรกติใช้ลูกเรือ 2 นายแต่ใช้ 1 นายในยามฉุกเฉินก็ได้นะเออ ใช้เครื่องยนต์ดีเซล Deutz BF6L913C จำนวน 1 ตัว ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า (เดี๋ยวนี้รถกระบะบางคันแรงม้าแซงไปเสียแล้ว) ความเร็วสูงสุด 33 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ไกลสุด 200 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 27 นอต ส่วนความเร็วสูงสุดบนฝั่งอยู่ที่ 15 นอต ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสามารถแล่นบนฝั่งได้ เพื่อนๆ สมาชิกอย่าสับสนนะครับเดี๋ยวแอดงงตามไปด้วย

เรือลำนี้ถือเป็นความลับสุดยอดครับ หมายถึงเจ้าหน้าที่ไทยนี่แหละบอกว่าลับสุดยอด ขนาดจำนวนเรือยังไม่สามารถเอ่ยออกมาชัดเจน แต่ให้ตายเถอะโรบินข้อมูลเรือลำนี้คนทั่วโลกเขารู้เขาเห็นกันหมดแล้ว

ภาพประกอบแรกมาจากนิตยสาร Janes Fighting Ships 2009-2010 เป็นภาพถ่ายเรือ Griffon 401 ในปี 1999 สังเกตุนะครับว่าเรือทาสีขาวคาดเหลือง (จริงๆ แอดอยากเรียกว่ายานมากกว่า) ประตูเข้าเรือเป็นแบบปีกนกพับขึ้นไปข้างบน ให้อารมณ์รถเสปอร์ตฟอร์รารียังไงยังงั้น เบาะอากาศสีดำสนิท มีเรดาร์เดินเรือ I-Band ของ Raytheon จำนวน 1 ตัว ภาพนี้เป็นสิ่งยืนยันว่าราชนาวีไทยมีเรือโฮเวอร์คราฟต์หรือยานเบาะอากาศใช้งาน

เรือทั้ง 3 ลำถูกใช้งานมาตามลำดับ ใช้งานหนักใช้งานน้อยแอดไม่มีข้อมูล เวลาต่อมามีการเปลี่ยนแปลงสีเรือเล็กน้อย โดยเปลี่ยนจากสีขาวคาดเหลืองเป็นสีขาวคาดส้มลวดลายเหมือนเดิม ปรกติเรือจะจอดอยู่ที่กองเรือยุทธการสัตหีบ เป็นอาคารเก่าๆ คล้ายโรงยิมติดถนนเรียบหาดข้างสโมสรสัญญาบัตร ข้อมูลที่ยืนยันได้คือปี 2011 เรือยังคงจอดอยู่ตรงนี้ แต่ปลดประการเอาตอนไหนแอดมืนตื้บครับผม

เรือปลดประจำการแล้วยังไงต่อคำตอบก็คือขายให้กับเอกชน เพื่อไม่ให้เสียเวลาขอตัดมายังปี 2019 หรือปีที่แล้ว บริเวณริมถนนมิตรภาพอำเภอมวกเหล็ก ซึ่งมีฉายา นมดีกระหรี่ดังมาตั้งแต่แอดตัวเท่าฝาหอย ได้ปรากฏเรือ Griffon 1000TD ลำหนึ่งในสภาพไม่ค่อยสวยสักเท่าไร ส่องเข้าไปดูระยะประชิดเรือลำนี้ชื่อ Griffon 402 หรือเรือหมายเลข 402 เรือลำนี้เจ้าของประกาศขายราคาไม่แพงแค่ 2 ล้านถ้วนเท่านั้นเอง

แอดขอนำภาพบางส่วนมาลงเพื่อบันทึกไว้ในเว็บเพจตัวเอง เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าครั้งหนึ่งลูกประดู่ไทยเคยใช้งานเรือโฮเวอร์คราฟต์หรือยานเบาะอากาศ ปัจจุบัน Griffon 402 ยังอยู่ริมถนนมิตรภาพหรือเปล่า ตอนนี้สระบุรีมีผู้ติดเชื้อโควิค 8 รายแล้ว อีกไม่นานจะขยับจากสีเหลืองเป็นสีส้ม (ได้ไปแน่ๆ) เพราะฉะนั้นแอดขออยู่บ้านเหมือนต่อไปนะครับ อีกอย่างก็คือขับรถไปไม่ถูกกลัวหลงฮา

อ้างอิงจาก : นิตยสาร Janes Fighting Ships 2009-2010

https://web.facebook.com/0921235552.max/posts/2457909090927655/

 

                                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

หลังสงครามฟอคแลนด์ประมาณ 5 ปี รัฐบาลอังกฤษจัดตั้งกองกำลังทางทะเลให้กับหมู่เกาะฟอคแลนด์ ทำหน้าที่ลาดตระเวณตรวจการณ์ไม่ติดอาวุธในยามปรกติ เน้นมาที่การทำประมงนอกเขตชายฝั่งและพื้นที่ต่อเนื่อง โดยมีกองกำลังติดอาวุธจากอังกฤษจำนวนหนึ่ง คอยดูแลความปลอดภัยของหมู่เกาะแยกกันชัดเจน

สาเหตุที่จัดตั้งหลักๆ มาจากการกำหนดเขตทำประมง จำเป็นต้องมีสักหน่วยงานเข้ามาดูแลรับผิดชอบ ด้วยเหตุนี้กองกำลังฟอคแลนด์จึงถือกำเนิดจนถึงปัจจุบัน

กำลังทางน้ำประกอบไปด้วยเรือ 5 ลำ ระวางขับน้ำรวมกัน 6,907 ตัน แบ่งเป็นเรือใช้งานทั่วไป 2 ลำ และเรือตรวจการณ์ประมงอีก 3 ลำ

เรือตรวจการณ์ประมงลำแรกชื่อ Falkland Desire (ภาพที่หนึ่ง) ระวางขับน้ำ 1,949 ตัน ยาว 74.5 เมตร กว้าง 12.7 เมตร กินน้ำลึก 4.7 เมตร ระยะปฏิบัติการณ์ไกลสุด 15,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต มีจุดรับส่งคนจากเฮลิคอปเตอร์แต่ไม่มีลานจอด

เรือลำนี้ในอดีตชื่อ Southella สร้างในเมืองอเบอร์ดีนปี 1969 ย้ายมาสังกัดฟอคแลนด์ปี 1987 อันเป็นปีถือกำเนิดกองกำลัง ต่อมาในปี 1994 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Northern Desire อีก 4 ปีถัดมาถูกเปลี่ยนมาใช้ชื่อเดิม เข้าประจำการจนถึงปี 2003 ก่อนส่งไม้ให้กับเรือใหม่กว่าชื่อ Sigma รวมทั้ง Dorada

เรือตรวจการณ์ประมงลำที่สองชื่อ Falkland Right ระวางขับน้ำ 1,878 ตัน ยาว 69.2 เมตร กว้าง 12 เมตร กินน้ำลึก 5 เมตร เป็นเรือประเทศโปแลนด์ถูกอังกฤษเช่ามาใช้งานที่ฟอคแลนด์ในปี 1987 เช่นกัน

เรือตรวจการณ์ประมงลำสุดท้ายชื่อ Falkland Sound (ภาพที่สอง) ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,200 ตัน ยาว 53.5 เมตร กว้าง 11.3 เมตร กินน้ำลึก 3.4 เมตร เรือลำนี้สร้างในเยอรมันเป็นของอาเจนตินา ใช้ขนส่งสัมภาระกับวางทุ่นระเบิด กองทัพเรืออังกฤษยึดครองในเดือนมิถุนายน 1982 สุดท้ายถูกส่งมาสังกัดหมู่เกาะฟอคแลนด์ช่วงสิ้นปี 1986 ถือเป็นเรือตรวจการณ์ลำแรกของหมู่เกาะชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก


นอกจากนี้ยังมีเรือใช้งานทั่วไปชั้น Aberdovey อีก 2 ลำ ชื่อ Beaulieu A99 กับ Blakeney A104 เรือมีระวางขับน้ำ 117 ตัน ยาว 24 เมตร กว้าง 5.5 เมตร กินน้ำลึก 1.7 เมตร หมู่เกาะฟอคแลนด์มีเครื่องบินตรวจการณ์ Dornier 228 MPA อีก 1 ลำด้วยนะครับ มีโดมเรดาร์ใต้ทัองเครื่องไว้ตรวจจับเรือประมงทั้งหลาย แต่ไม่มีอาวุธบนเครื่องบินแต่อย่างใด เหมือนเครื่องบิน Dornier 228 กองทัพเรือไทยในปัจจุบัน

สังเกตุนะครับว่าเรือตรวจการณ์ฟอคแลนด์ลำเล็กกว่าเรือหลวงปัตตานี แต่กินน้ำลึกมากกว่าเพราะต้องใช้ในทะเลคลั่งอันดับต้นๆ ของโลก ทะเลแถบนี้สัตว์น้ำค่อนข้างอุดมสมบรูณ์ นอกจากปลาน้ำลึกหลากชนิดยังมีหมึกราคาแพงจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงจัดตั้งกองกำลังไม่ติดอาวุธ เพื่อคอยดูแลเรื่องการทำประมงที่เริ่มยุ่งยากกว่าเดิม

เรือตรวจการณ์ประมงคืออะไรมีหน้าที่อย่างไร ปีหน้าแอดเขียนบทความยาวๆ ให้อ่านแล้วกัน มีของไทยด้วยแหละแต่ขอเก็บข้อมูลก่อน ที่เคยหาเจอมันหายไปกับ Harddisk ไม่รักดีเสียแล้ว

http://www.shipspotting.com/gallery/photo.php?lid=1912452

http://rfanostalgia.org/.../RFA.../Aftermath/Black-Pig

 

                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

กองบังคับการตำรวจน้ำก่อตั้งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2495 โดยพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อันเป็นผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง

ตอนนั้นทั่วโลกปลูกข้าวได้น้อยเป็นของดีราคาแพง ส่วนประเทศไทยปลูกข้าวได้มากแต่ราคาตกต่ำ ส่งผลให้มีการลักลอบส่งข้าวออกขายต่างประเทศ หน่วยงานราชการไม่มีเรือมากพอและใหญ่พอในการจับกุมผู้กระทำผิด ปี 2490 รัฐบาลมอบหมายให้กองทัพเรือเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ ถัดมาเพียง 3 ปีกองทัพเรือมีแผนปรับปรุงใหญ่ชนิดหน้ามือหลัง มีการรับยุทธวิธีและอาวุธยุทโธปกรณ์แบบใหม่จากอเมริกา เพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่มีชื่อว่า คอมมิวนิสต์การดูแลเรื่องลักลอบส่งออกข้าวจำเป็นต้องเปลี่ยนมือ

มีการจัดตั้ง 'กองตำรวจน้ำ' ขึ้นมา โดยให้อยู่ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ปี 2494 กรมตำรวจได้สั่งต่อเรือขนาด 60 ฟุต จำนวน 3 ลำจากประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งโอนเรือจากหน่วยดับเพลิงทางน้ำ และหน่วยปราบปรามทางน้ำปากคลองสานมาอีก 2 ลำ ถือเป็นเรือชุดแรกสุดของหน่วยงานใหม่เอี่ยมอ่องของชาติไทย

กองบังคับการตำรวจน้ำมีโครงสร้างองค์กรไม่ยุ่งยาก แบ่งออกเป็นกองกำกับการ 11 กองด้วยกัน กองกำกับการ 1 ดูแลเรื่องงานช่าง กองกำกับการ 2 เป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองกำกับการ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการทางเรือ กองกำกับการ 4 ถึง 11 เป็นฝ่ายปฏิบัติการ มีที่ตั้งและพื้นที่รับผิดชอบทั่วทั้งประเทศ มีหน่วยงานในสังกัดเป็นสถานีตำรวจน้ำทั้งหมด

สำหรับเรือที่แอดนำมาลงเป็นภาพประกอบ คือเรือตรวจการณ์ขนาด 30 ฟุตจากกองกำกับการ 10 กองบังคับการตำรวจน้ำ อันมีที่ทำการอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ดูแลรับผิดชอบเขตแม่น้ำโขงโดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานที่ตำรวจน้ำ 5 แห่ง เรือลำนี้ค่อนข้างเก่าพอสมควร มีประจำการจำนวน 38 ลำประกอบไปด้วยเรือหมายเลข 301 ถึง 338 แอดหาข้อมูลทั่วไปของเรือไม่ได้เลย รู้แค่เพียงติดปืนกล 12.7 มม.ไว้ 1 กระบอก มีเสากระโดงขนาดเล็กกลางเรือ หลังคาท้ายสุดของเรือทาสีธงชาติไทยหรือธงไตรรงค์

เรามักจะเห็นเรือตรวจการณ์ขนาด 30 ฟุตกับเรือตรวจการณ์ขนาด 50 ฟุต รูปทรงเรือทั้งสองลำแบนๆ ยาวๆ หน้าต่างเยอะคล้ายคลึงกัน (เรือตรวจการณ์ขนาด 40 ฟุตและ 60 ฟุตไม่ค่อยเห็นสักเท่าไร ทั้งที่มีจำนวนเรือน้อยกว่ากันไม่มาก) สองลำนี้ทำงานร่วมกันประมาณว่าเป็นคู่หูคู่ฮา ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ขนาด 50 ฟุตยังได้ไปต่อ แต่เรือตรวจการณ์ขนาด 30 ฟุตเริ่มถูกแทนที่ด้วยเรือสปีดโบ๊ทขนาดเท่ากัน เป็นไปตามยุคสมัยและไม่น่าแปลกใจสักนิด กรมเจ้าท่าเองยังใช้เรือแบบนี้ไล่จับผู้กระทำผิดในแม่น้ำโขง

http://www.div10.marine.police.go.th/index.php

 

                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2020 เรือคอร์เวต CM-56 ARC Almirante Tono เดินทางมาถึงท่าเรือเมือง Cartagena ประเทศโคลัมเบียโดยสวัสดิภาพ ท่ามกลางการตอนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง นี่คือเรือรบลำใหม่ล่าสุดแห่งประเทศที่มี เรเน่ ฮิคิต้า ผู้รักษาประตูผู้ชอบออกมาไกลถึงครึ่งสนาม

เรือลำนี้คือเรือคอร์เวตชั้น Pohang Flight IV ลำแรกสุด ที่เกาหลีใต้บริจาคให้กับต่างชาติ เดิมชื่อเรือ ROSK Iksan PCC-768 เข้าประจำการปี 1987 ปลดประจำการปี 2018 ทันสมัยกว่าเรือที่บริจาคให้ฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรืออียิปต์ ซึ่งเป็นรุ่นเก่ากว่าพอสมควร เรามาดูข้อมูลทั่วไปกันสักเล็กน้อย

ARC Almirante Tono มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,220 ตัน ยาว 88.3 เมตร กว้าง 10 เมตร กินน้ำลึก 2.9 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOG ความเร็วสูงสุด 32 นอต ระยะปฏิบัติการ 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 15 นอต

ข้อแตกต่างกับรุ่นเก่า Flight I ถึง III อยู่ที่ระบบเรดาร์และระบบอาวุธ โดยการโละระบบจากเนเธอร์แลนด์ทิ้งทั้งหมด หันมาใช้ระบบอำนวยการรบ wsa-423 combat system ซึ่งพัฒนาโดย Samsung Thales ประเทศเกาหลีใต้ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง Marconi S1810 รุ่นส่งออกของอังกฤษ อยู่ในโดมสีขาวบนสุดเสากระโดงมองเห็นชัดเจน

อย่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรดาร์ควบคุมการยิง WM22 นะครับ เรือลำนี้ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง Marconi ST1802 รุ่นส่งออกของอังกฤษจำนวน 2 ตัว สามารถควบคุมอาวุธปืนได้คล่องตัวกว่า WM22 เพียงตัวเดียวเหมือนรุ่นเก่า ทำให้เรือมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม

มาดูระบบอาวุธบนเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำจากเกาหลีใต้กันต่อ ประกอบไปด้วยปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 2 กระบอกหน้า-หลัง สมัยอยู่เกาหลีใต้ติดปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝดอีก 2 กระบอกหน้า-หลัง ถือเป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิดที่ดีพอสมควร แต่พอมาอยู่กับโคลัมเบียปืนกล 40 มม.ถูกถอดออก แทนที่ด้วยปืนกล 20 มม.หกลำกล้องรวบที่เกาหลีใต้พัฒนาขึ้นเอง

ทำไมถึงเปลี่ยนปืนรอง? เรื่องนี้แอดไม่ทราบเหมือนกัน ดูเหมือนรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือจะหายไปด้วย ปัจจุบันความสำคัญแทบไม่เหลือแล้วไม่มีก็งั้นๆ


อาวุธอย่างอื่นยังอยู่ครบถ้วนทั้งหมด ทั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม 2 แท่น และแท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4 ท่อยิง ซึ่งแอดเดาว่าเป็น SSM-700K Haeseong มากกว่า Harpoon เพราะโคลัมเบียซื้อมาใช้งานตั้งแต่ปี 2012 จำนวน 16 นัด ทำการทดสอบยิงไปแล้วประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา แหล่งข่าวส่วนใหญ่ในโคลัมเบียแจ้งเหมือนที่แอดเข้าใจเช่นกัน

การบริจาคเรืออาจเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อจรวดเพิ่มเติม เนื่องจากในปี 2011 หลังเซ็นสัญญาซื้อจรวด 16 นัด โคลัมเบียได้รับบริจากเรือคอร์เวตชั้น Donghae จำนวน 1 ลำ ปัจจุบันมีชื่อใหม่ว่า CM-55 ARC Nariño

เกาหลีใต้ยังเหลือเรือคอร์เวต ชั้น Pohang Flight IV ถึง Flight VI อีกพอสมควร โพรโมชันซื้ออาวุธแถมเรือยังสามารถใช้งานได้เรื่อยๆ เพื่อนสมาชิกคนไหนสนใจกรุณาติดต่อเกาหลีใต้โดยตรง ต้องขออภัยเรื่องความไม่สะดวก พอดีแอดไม่ใช่นายหน้าอดได้คอมมิชชันแย่จัง ~_^

https://thearchipielagopress.co/desde-corea-del-sur-llega-a-cartagena-el-arc-almirante-tono-destinado-a-la-armada-nacional-de-colombia/?fbclid=IwAR0pecQIVvKcMDSqG-SrNYM2v8yQkj2yZzwEesrkAM8k4hcgBGzE4WHwdVU

 

                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

คืนนี้แอดพามาพบเรือรบประเทศไทยบ้าง ในภาพคือเรือ ล.122 กับ ล.141 ซึ่งมีชื่อเรียกว่า 'เรือตรวจการณ์ลำน้ำแบบเก่า' หรือ รตล.ซึ่งก็คือแบบเรือ PBR MK2 ได้รับความนิยมใช้งานแพร่หลายทั่วโลก

กองเรือลำน้ำ กองเรือยุทธการมีใช้งานจำนวน 39 ลำ ปัจจุบันมีการจัดหาเรือรุ่นใหม่เข้าประจำการทดแทน ไม่ทราบเหมือนกันยังหลงเหลือปฏิบัติงานอีกหรือไม่ เนื่องจากใช้งานมาอย่างยาวนาน 30 ปีขึ้นไป รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ยกเลิกสายการผลิตไปแล้ว

PBR MK2 ตัวเรือทำจากไฟเบอร์กลาสเคลือนเรซิ่น ระวางขับน้ำ 8 ตัน ยาว 9.6 เมตร กว้าง 3.5 เมตร กินน้ำลึกสุด 0.6 เมตรที่ท้ายเรือ ความเร็วสูงสุด 25 นอต ความเร็วเดินทาง 20 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ 150 ไมล์ทะเล ใช้นายทหาร 1 นายกับทหารชั้นประทวน 4 นาย

อาวุธบนเรือประกอบไปด้วย ปืนกล 12.7 มม.แท่นคู่ 1 แท่นที่หัวเรือ ปืนกล 12.7 มม.แท่นเดี่ยว 1 แท่นที่ท้ายเรือ ปืนกล 7.62 มม.อีก 2 กระบอกสองกราบเรือ เครื่องยิงลูกระเบิด 40 มม.กับ 60 มม.อย่างละ 1 กระบอก จำนวนอาวุธค่อนข้างมากเพราะต้องใช้งานในที่เสี่ยงภัย

อุปกรณ์สื่อสารบนเรือประกอบไปด้วย เครื่องรับ-ส่งวิทยุแบบ AN/VRC-46 จำนวน 2 เครื่อง โดยในภาพเรือ ล.122 ติดเรดาร์เดินเรือสีขาวของ Raytheon จำนวน 1 ตัว ขณะที่เรือล.141 ติดเรดาร์เดินเรือสีดำไม่ทราบยี่ห้อ 1 ตัวเช่นกัน ที่เห็นผมสีทองสวมแว่นดำทหารอเมริกานะครับ ส่วนพวกเขามาฝึกซ้อมอะไรนั้นแอดไม่ทราบจริงๆ

PBR MK2 สามารถขนส่งทหารได้จำนวน 10 ถึง 15 นาย ต้องเบียดๆ กันหน่อยเพราะพื้นที่โดยสารมีไม่มาก หลังการใช้งานมาอย่างยาวนานพอได้ข้อสรุปว่า เรือไม่เหมาะสมกับภารกิจปฏิบัติการตามลำน้ำในยุคปัจจุบัน ไม่สามารถรับ-ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษหรือ ชปพ.ได้ และที่สำคัญระยะปฏิบัติการณ์ค่อนข้างสั้นมาก

เรือลำใหม่ที่เข้ามาทดแทนถูกปรับปรุงจุดอ่อน สามารถทำภารกิจได้ดีกว่าเดิมหลายเท่าตัว แต่เชื่อแอดเถอะไม่มีเรือตรวจการณ์ลำน้ำลำไหน เป็นที่นิยมแพร่หลายมีผู้คนรู้จักทั่วโลกเท่าเรือ PBR MK2 ลำนี้ นอกจากประเทศไทยในอาเซียนยังมีอีก 3 ชาติเคยใช้งาน ประกอบไปด้วย เวียดนามใต้ ราชอาณาจักรลาว และสาธารณรัฐเขมร ทว่าปัจจุบันไม่หลงเหลือให้เห็นอีกแล้ว ทั้งเรือตรวจการณ์ลำน้ำก็ดีประเทศเพื่อนบ้านก็ดีล้วนหายเรียบ

https://uk.wikipedia.org/wiki/%D0%A4%D0%B0%D0%B9%D0%BB:Royal_Thai_Navy_Riverine_Sailors_on_patrol_boats.jpg?fbclid=IwAR2pfRG1rReIGWxIbOKrIgitxH3dbrwukCBY4JrOKpSwSLPnhY_MLVbNKa0

 

                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

วันที่ 22 พฤศจิกายน 1980 หรือยัอนกลับไป 40 ปีที่แล้ว เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงขนาดใหญ่ Chinook HC1 ซึ่งมีชื่อเรียกขานฝูงบินว่า Bravo November ได้ถูกส่งมอบให้กองทัพอากาศอังกฤษเป็นลำแรก

ปี 1978 อังกฤษสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้เฟสแรกจำนวน 13 ลำในวงเงิน 200 ล้านเหรียญ นำมาทดแทน Westland Wessex ซึ่งแก่ชราภาพและขนาดเล็กกว่ากัน 4 ปีต่อมาพวกเขายังสั่งซื้อเพิ่มอีก 8 ลำ โดยใช้เครื่องยนต์เดิมปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเล็กน้อย


เข้าประจำการเพียงหนึ่งปีครึ่งก็เจองานใหญ่ สงครามฟอคแลนด์ Bravo November เข้าร่วมแนวหน้าอย่างดุเดือดเลือดพล่าน เคยทำสถิติขนทหาร 81 นายไปส่งยังที่หมาย แบกมากกว่าปรกติถึงสองเท่าแต่เอาตัวรอดสำเร็จ นี่คือสถิติโลกที่ยังอยู่ยงคงกระพันจนถึงทุกวันนี้ เคยทำภารกิจกลางคืนแล้วกล้องนักบินมีปัญหา เกือบบินตกทะเลแต่ยังเอาตัวรอดสำเร็จอีกครั้ง

ในสงครามฟอคแลนด์ Chinook ทำภารกิจมากมาย ทั้งลำเลียงทหาร 1,530 นายขึ้นฝั่ง ลำเลียงยุทธปัจจัย 600 ตันขึ้นฝั่ง รวมทั้งเชลยศึกอาเจนตินาอีก 650 คนไปที่ที่ควรไป โดยในภาพกำลังช่วยแบก Westland Wessex เสียหายกลับมาส่งเรือ พูดๆ ง่ายว่า Chinook เป็นทุกอย่างให้คุณแล้ว

ถึงดีแค่ไหนแต่  Bravo November ไม่รอดพ้นความเสียหาย เมื่อเรือลำเลียงขนาดใหญ่ Atlantic Conveyer ถูกโจมตีด้วยจรวด Exocet กระทั่งจมลงในเวลาต่อมา เฮลิคอปเตอร์ Chinook 3 ลำต้องจมทะเลพร้อม Westland Wessex 6 ลำและ Westland Lynx อีก 1 ลำ แต่ไม่มีเครื่องบินโจมตี Harrier GR.3 จมด้วยนะครับ เพราะนักบินจากฝูงบิน 809 บินไปขึ้นเรือบรรทุกเครื่องบินก่อนเรือถูกยิง เรื่องนี้แอดเคยเขียนถึงนานมาแล้วในบทความThe Ultimate Harrier

40 ปีผ่านไปอังกฤษมี Chinook ประจำการมากกว่า 60 ลำ ปี 2018 เพิ่งสั่งเพิ่มอีก 16 ลำ ถือเป็นกระดูกสันหลังในการทำภารกิจลำเลียงพล และจะเป็นต่อไปอีกเรื่อยๆ อย่างน้อยที่สุด 20 ปีเต็ม

https://www.raf.mod.uk/news/articles/chinook-arrival-with-royal-air-force-remembered/?fbclid=IwAR0vUJgqwXDZkg3Gvfch6ozSn1DlqHda2mLJPbArZlS1cLD3axcSKWMIOWo

 

                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

RFA Argus (A135) คือเรือช่วยรบขนาดใหญ่ของอังกฤษ เคยผ่านสงครามฟอคแลนด์ เคยผ่านสงครามอ่าวเปอร์เซีย เคยทำภารกิจมากมาย และเคยเป็นเรือฝึกถึง 4 ปีเต็ม เรือลำนี้เป็นทุกอย่างให้ Royal Navy พวกเขามีแผนปลดประจำการในปี 2024 ทว่าเรื่องราวของเธอยังคงโลดโผนโจนทะยานไม่หยุด

RFA Argus ระวางขับน้ำ 28,081 ตัน ยาว 175.1เมตร กว้าง 30.4 เมตร กินน้ำลึก 8.1 เมตร มีปืน 20 มม.GAM-BO1 เพียง 2 กระบอกไว้ป้องกันตัว กับปืนกล 7.62 มม.อีก 4 กระบอก มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์แบบไม่เต็มลำ มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ใต้ดาดฟ้าเรือ พร้อมลิฟท์ขนาดใหญ่พอสมควร ภาพรวมเรือดูขี้เหร่ในสายตาแฟนคลับชาวไทยทุกราย แต่ดูบนลานจอดของเธอสิครับ...เป็นอะไรที่น่าดูชมมาก

นอกจากสัมภาระจำนวนมาก มีรถบรรทุกหลายคัน รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ยังมีเรือยางท้องแข็งขนาดใหญ่ติดเพิ่มเติมขวามือในภาพ ด้วยเหตุจำเป็นต้องใช้งานในภารกิจปัจจุบัน อากาศยานบนเรือประกอบไปด้วย เฮลิคอปเตอร์ Wildcat เฮลิคอปเตอร์ Merlins และเฮลิคอปเตอร์ Chinook ขนาดใหญ่ท้ายเรือ ซึ่งแวะมาเยี่ยมเยียนไม่ได้ประจำการแบบสองลำแรก

ภาพนี้เพิ่งถ่ายไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในทะเลแคริบเบี้ยนสถานที่ทำงานแห่งใหม่ RFA Argus ได้รับคำสั่งใหตามไล่ล่ายาเสพติด ที่มีการขนส่งผ่านทะเลย่านนี้แบบโจ๋งครึ่ม ก่อนเดินทางมาถึงคนเสพริมถนนกรุงลอนดอน จึงมีการติดเรือยางท้องแข็งเพิ่มเติม

และในวันนี้มีข่าวใหญ่จากอังกฤษ RFA Argus พร้อมเจ้าหน้าที่คอมมานโดบนเรือ (ขนไปด้วย 47 นาย พร้อมเฮลิคอปเตอร์หลายลำ) สามารถยึดโคเคนจำนวนมากจากกลางทะเลลึก มูลค่าเฉพาะครั้งนี้อยู่ที่ 120 ล้านปอนด์ และถ้านับรวมตั้งแต่เริ่มภารกิจประจำปี 2020 โดยมีหน่วยยามฝั่งอเมริกากับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำใหม่เอี่ยม HMS Medway ช่วยกันทำงาน (แอดเคยลงข่าวไปแล้วครั้งหนึ่ง) มูลค่ารวมของยาเสพติดถ้าหลุดไปถึงอังกฤษ จะอยู่ที่ประมาณ  357 ล้านปอนด์กันเลยทีเดียว แม่เจ้า!!

เรือฟริเกต Type 31e ขนาด 5,700 ตันราคาลำละ 250 ล้านปอนด์ ยาเสพติดที่ยึดสำเร็จสามารถซื้อเรือได้ถึง 1.39 ลำ นี่คือเหตุผลที่อังกฤษออกไปรบนอกบ้าน ขอใช้คำเดิมที่เคยเขียนไปแล้วอีกครั้ง เพราะเป็นคำพูดที่เหมาะสมมากที่สุด

                การผจญภัยของ RFA Argus ยังไม่เสร็จสิ้น ลองทายกันเล่นๆ ไหมครับ เมื่อเธอกับคู่หูเดินทางกลับแผ่นดินแม่ ตัวเลขอย่างเป็นทางการจะหยุดอยู่ที่เท่าไร ~_

 

                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2020 บริษัท Thales ได้แถลงข่าวว่า ระบบปืนกล 40 มม.RAPIDFire ที่ตัวเองกับ Nexter พัฒนาร่วมกัน ถูกคัดเลือกจากหน่วยงานจัดหาอาวุธกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส ให้นำมาติดตั้งบนเรือรบรุ่นใหม่ในอนาคต (ใช่สิ...บริษัทฝรั่งเศสทั้งคู่นี่นา)

RAPIDFire รุ่นใช้งานทางทะเลหรือมีชื่อใหม่ว่า T40aa ใช้ปืน 40 มม.รุ่นใหม่พัฒนาร่วมกันระหว่าง Nexter ฝรั่งเศสกับ BAE อังกฤษ ใช้กระสุนปืนรุ่นใหม่แบบไร้ปลอก ระยะยิงหวังผลผิวน้ำ 4 กิโลเมตรทางอากาศ 2.5 กิโลเมตร อัตรายิงสูงสุด 200 นัดต่อนาที น้ำหนักรวมทั้งระบบประมาณ 3 ตัน (หนักแฮะ) บรรจุกระสุนพร้อมยิงในป้อมปืนจำนวน 140 นัด โดยมีระบบควบคุมการยิงติดอยู่บนป้อมปืนเลย

ปืนรุ่นใหม่ยิงได้ทั้งเป้าผิวน้ำ เป้าบนฝั่ง เป้าบนอากาศ รวมทั้งอากาศยานไร้คนขับที่หลายคนหวาดเกรงสุดหัวใจ แต่บริษัทผู้ผลิตยังไม่เคยพูดถึงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบนะครับ ในภาพกราฟิกก็ยังไม่มีไม่เหมือนของสวีเดน ฉะนั้นแอดขอละไว้ก่อนไม่กล้าโม้เกินหน้าเกินตา

ตั้งแต่ปี 2019 ปืนกล 40 มม.ได้รับความนิยมอีกครั้ง เริ่มจากทัพเรือออสเตรเลียซื้อปืนกล 40 มม.รุ่นใหม่อิตาลี มาติดบนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งยาว 80 เมตรแบบเรือเยอรมันจำนวน 12 ลำ ต่อด้วยอังกฤษอุดหนุนสวีเดนซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซื้อปืน Bofor 40 mk4 มาติดบนเรือฟริเกต Type-31e จำนวน 5 ลำลำละ 2 กระบอก ฝรั่งเศสเป็นชาติใหญ่อันดับสามที่เริ่มจัดหามาใช้งาน บนเรือตรวจการณ์ใหม่เอี่ยมของตัวเอง

เรือมีระวางขับน้ำ 2,000 ตัน ยาวประมาณ 90 เมตร ความเร็วสูงสุด 22 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ 5,500 ไมล์ทะเล ออกทะเลได้ติดต่อกันนานสุด 40 วัน ที่น่าสนใจมากที่สุดของเรือลำนี้ก็คือ ในเอกสารเขียนอายุการใช้งานอย่างชัดเจนว่า 35 ปี (WOW!!) ส่งมอบระหว่างปี 2025-2029 รวมทั้งสิ้น 10 ลำ ตีความง่ายๆ ส่งมอบปีละ 2 ลำ ฉะนั้นมูลค่าการจัดหาย่อมถูกกว่าซื้อเรือทีละ 1 ลำอย่างแน่นอน

แม้แบบเรือยังไม่ชัดเจนก็จริง แต่เวลาส่งมอบกลับชัดเสียยิ่งกว่าชัด ผู้ใช้งานสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ ผู้ผลิตสามารถวางแผนตัวเองได้เช่นกัน มีแต่ข้อดีเยอะแยะแบบนี้ไทยแลนด์ควรทำตามบ้างเน่อ

https://defence-blog.com/news/future-french-navy-vessels-will-receive-new-generation-of-artillery.html?fbclid=IwAR3YMc1gV5ApmFl4ugOUKh1OUGBGIjg_HlhVUD3T_S4xfJ3LyocvdtRBw3E

https://www.navalnews.com/event-news/euronaval-2020/2020/10/euronaval-first-details-of-the-patrouilleurs-oceanique-po-platform-unveiled/?fbclid=IwAR2lmoUZWD5ibIpBkooo_vxDNOoqwFFeZFiy90UG-vHHKBFnFBcyTIQnc-k

 

                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

วันนี้กลับมาที่เรือดำน้ำอีกครั้ง ในภาพคือเรือชั้น Type 209/1400mod ลำที่สี่ของกองทัพเรืออียิปต์ เรือสามลำแรกส่งมอบเรียบร้อยแล้ว ส่วนลำนี้จะไปถึงมือลูกค้าปีหน้าตามแผน เรือมีระวางขับน้ำ 1,594 ตันขณะดำ ยาว 61.2 เมตร กว้าง 6.18 เมตร ดำน้ำลึกสุด 250 เมตร มีท่อยิงตอร์ปิโด 533 มม.8 ท่อยิง นำตอร์ปิโดไปด้วยมากสุด 14 นัด ความเร็วสูงสุด 21 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ไกลสุด 11,000 ไมล์ทะเล นี่คือเรือดำน้ำโจมตีเครื่องยนต์ดีเซลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดรุ่นหนึ่ง

แม้แบบเรือพัฒนามาจากเรือดำน้ำรุ่นเก่า แต่ได้รับการติดอุปกรณ์ทันสมัยล้นลำ โดยเฉพาะระบบโซนาร์จัดเต็มกันเลยทีเดียว มีทั้งโซนาร์หัวเรือ โซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิด โซนาร์ flank array สองกราบเรือทำงานร่วมกับ passive ranging sonar อีก 6 จุด ไม่มีระบบ AIP มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยคงร้องยี้ แต่โดยส่วนตัวแอดว่าเหมาะสมกับเรามากที่สุดลำหนึ่ง

มีข้อถกเถียงเล็กน้อยว่า...ทำไมอียิปต์ซื้อเรือดำน้ำรุ่นเก่า ทั้งที่มี Type 214 วางขายตั้งนานแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดีลนี้ค่อนข้างยาวนาน ประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัค สั่งซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำปลายปี 2010 และด้วยปัญหามากมายจึงใช้เวลายาวนานพอสมควร เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ Type 209 มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างต่ำ อายุการใช้งานค่อนข้างยาวนาน ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม อียิปต์เคยมีปัญหาความพร้อมรบสมัยใช้เรือดำน้ำจีน Type 209 จะช่วยเติมเต็มและแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดเป๊ะๆ

https://www.kn-online.de/Nachrichten/Wirtschaft/Kiel-Werft-TKMS-bringt-U-Boot-fuer-Aegypten-zu-Wasser

 

                                ++++++++++++++++++++++++++++++

 

วันนี้มีข่าวสั้นจากประเทศอังกฤษ บริษัท BAE ได้สัญญาจัดหาอาวุธปืนให้กับโครงการเรือฟริเกต Type 31ของตัวเองจำนวน 5 ลำ โดยลำแรกจะพร้อมเข้าประจำการในปี 2027 เรือฟริเกตลำนี้แอดเคยเขียนถึงไปแล้วเช่นกัน เพื่อนคนไหนอยากอ่านเชิญได้เลยครับ

https://thaimilitary.blogspot.com/.../type-31e-general...

กลับมาที่ข่าวสั้นอีกครั้ง ในสัญญาประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ Bofors 57 Mk3 จำนวน 5 กระบอก มีอัตรายิงเร็วสุด 220 นัดต่อนาที กับปืนกล Bofors 40 Mk4 จำนวน 10 กระบอก อัตรายิงเร็วสุด 300 นัดต่อนาที เพราะฉะนั้นเรือ 1 ลำจะมีปืนใหญ่ 57 มม.1 กระบอก กับปืนกล 40 มม.2 กระบอกเป๊ะๆ

Type 31 ถือเป็นเรือฟริเกตลำแรกของราชนาวีอังกฤษนับจากเรือฟริเกต Type 22 ที่ไม่ใช้งานปืนกล 30 มม.ซึ่งผลิตเองภายในประเทศ (รุ่นที่พัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็น DS+30MR ในปัจจุบัน) ถือเป็นเรือฟริเกตลำแรกที่ใช้งานปืนใหญ่ Bofors 57 มม.รวมทั้งถือเป็นเรือฟริเกตลำแรกตั้งแต่เรือชั้น Type 12I หรือเรือชั้น Leander ที่กลับมาใช้งานปืนกล Bofors 40 มม.อีกครั้ง โดยครั้งนี้ใช้ลำกล้องปืนรุ่นเดิมแต่ทันสมัยมากกว่าเดิม

                ทั้งปืนใหญ่ 57 มม.กับปืนกล 40 มม. เคยเป็นของสวีเดนแต่ตอนนี้อยู่ในเครือ BAE อังกฤษเสียแล้ว ปืนรุ่นใหม่มีความทันสมัยมากกว่าเดิม ตวมทั้งมีระบบ Programmable 3P ammunition ให้เลือกใช้งาน

3P ammunition คืออะไร? คือการตั้งวิธีจุดชนวนกระสุนปืนแต่ละนัด ให้เหมาะสมกับเป้าหมายที่ต้องการทำลายอย่างสะดวกรวดเร็ว สามารถเลือกวิธีตั้งชนวนได้ถึง 6 แบบ ตั้งแต่ใช้ยิงจรวดต่อสู้เรือรบ ยิงเครื่องบิน ยิงเฮลิคอปเตอร์ ยิงเรือลำใหญ่ ยิงเรือยางลำเล็ก รวมทั้งยิงยานหุ้มเกราะบนชายฝั่งโน่น กระสุนปืน 40 มม.หนัก 2.5 กิโลกรัม ส่วนกระสุนปืน 57 มม.หนัก 6.1 กิโลกรัม ปืนทั้งสองชนิดอยู่ในความดูแลของ BAE System เป็นเรื่องง่ายในการจัดหามาใช้งานหรือพัฒนาเพิ่มเติม

วิธีการตั้งชวนกระสุนปืนทำได้อย่างง่ายดาย พลยิงตั้งชนวนกระสุน 3P ด้วยการกดปุ่ม แล้ว Fire Control Computer จะสั่งให้อุปกรณ์จัดการโดยอัตโนมัติ มีอุปกรณ์ในป้อมปืนยื่นมาจัดการตั้งชนวนที่หัวกระสุน โดยต้องเป็นกระสุน 3P เท่านั้นถึงจะทำแบบนี้ได้ เมื่อยิงเฮลิคอปเตอร์ร่วงแล้วผู้อ่านอยากยิงเรือหางยาวต่อ ผู้อ่านก็แค่กดปุ่มเลือกให้ระบบช่วยทำการเปลี่ยนให้

ปืน 2 รุ่นนี้เหมาะสมกับราชนาวีไทยไหม?? ส่วนตัวแอดชอบปืน 40 มม.มาแต่ไหนแต่ไร ทว่าเพ่งมองไปที่เรือฟริเกต เรือคอร์เวต รวมทั้งเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ยังคิดว่าใช้ 76/62 มม.กับ 30 มม.เหมือนเดิมดีกว่า ปืน 57 มม.ไม่ได้เกิดในบ้านเราแน่ๆ ส่วนปืน 40 มม.ถ้าจะจัดหามาใช้งานจริงๆ อาจนำมาใช้บนเรือ LPD กับเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตร ทดแทนปืนใหญ่ 76/62 มม.ราคาแพงก็คงพอไหวน่า

แต่ไม่มีก็เฉยๆ ครับ ถ้าติดจรวด ESSM หรือ Phalanx ค่อยตื่นเต้นหน่อย

http://www.navyrecognition.com/index.php/news/defence-news/2020/october/9061-bae-systems-awarded-naval-guns-contract-for-royal-navy-type-31-frigate-program.html?fbclid=IwAR0grn2eymaSi8eNSsOQ5hEYYQbgNDWihzmsaIO7BuXqzBxBJU27We2A_Nc

 

                                ++++++++++++++++++++++++++++++


วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563

Type 23 Frigate Air Defence Project

 

โครงการปรับปรุงเรือฟริเกต Type 23 กองทัพเรือชิลี

โครงการ  Type 23 Firgate Programme ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงปลายยุคเจ็ด อันเป็นช่วงเวลาตึงเครียดมากที่สุดของสงครามเย็น สหภาพโซเวียตมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์จำนวนมาก โดยมีฐานประจำการอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก พวกเขามักใช้เส้นทางเดินเรือผ่านกรีนแลนด์ - ไอซ์แลนด์ – สหราชอาณาจักร ซึ่งนาโต้พยายามตั้งด่านสกัดเรือดำน้ำขนาดใหญ่ อังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในชาติระดับหัวแถวของนาโต้ จำเป็นต้องพัฒนาระบบปราบเรือดำน้ำให้แข็งแกร่งกว่าเดิม

โครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำทันสมัย กำเนิดขึ้นมาเพื่อทดแทนเรือฟริเกตชั้น Type 12L หรือเรือชั้น Leander  และเรือฟริเกตชั้น Type 21 หรือเรือชั้น  Amazon กำหนดให้เป็นเรือฟริเกตขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ทำงานสนับสนุนเรือฟริเกตชั้น Type 22 หรือเรือชั้น Broadsword ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ติดระบบโซนาร์ลากท้ายทันสมัยเป็นไพ่เด็ด พร้อมเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำอีก 1 ลำ (เรือฟริเกตชั้น Type 22 บรรทุกได้ 2 ลำ) นี่คือคุณสมบัติเรือฟริเกตลำใหม่ของโครงการใหม่

HMS Norfolk (F230) คือเรือฟริเกต Type 23 ลำแรกเข้าประจำการปี 1990 ส่วน HMS St Albans (F83) คือเรือลำสุดท้ายเข้าประจำการปี 2002 จำนวนรวมของเรือเท่ากับ 16 ลำ แต่เนื่องมาจากการล่มสลายของโซเวียตในปี 1998 สมาชิกนาโต้ต้องลดกำลังพลลดงบประมาณแบบฮวบฮาบ ราชนาวีอังกฤษเองเป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน เรามาติดตามผลกระทบกันสักนิด

เรือฟริเกต Type 22 Batch III ซึ่งถูกปรับปรุงจนมีระวางขับน้ำ 5,300 ตัน ติดปืนใหญ่ 4.5 นิ้วที่หัวเรือมาให้เรียบร้อย เรือเฟสนี้จำนวน 4 ลำเข้าประจำการระหว่างปี 1988 ถึง 1990  ต่อมาถูกปลดประจำการในปี 2011 พร้อมกันทุกลำ ถูกรื้อถอนกลายเป็นเศษเหล็กทุกลำในอีก 2 ปีต่อมา เท่ากับว่าเรือเข้าประจำการแค่เพียง 11 ถึง 13 ปี

ผลกระทบไม่ได้จบแต่เพียงเท่านี้ เรือฟริเกต Type 22 Batch II อีก 6 ลำถูกปลดประจำการ โดยมี 3 ลำขายต่อมือสองให้กับโรมาเนีย และชิลี (แปลกใจทำไม Batch III ขายไม่ออก)  ส่วนเรือฟริเกต Type 22 Batch I อีกจำนวน 4 ลำ โดยมี 2 ลำเคยผ่านสงครามฟอคแลนด์ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้าประจำการ 1 ปีกับ 3 ปี  ถูกขายต่อให้กองทัพเรือบราซิลตั้งแต่ปี 1994 โน่น

แม้ว่าเรือฟริเกต Type 22 จะถูกหางเลขจนหายเรียบ แต่การลดกำลังรบทางเรือยังไม่สิ้นสุดแค่นี้

อังกฤษจำเป็นต้องขายเรือฟริเกต Type 23 บางลำ ประจวบเหมาะช่วงนั้นชิลีซึ่งเป็นลูกค้ารายสำคัญ ต้องการเรือรบมือสองเข้าประจำการถึง 8 ลำ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการล่มสลายของ Tridente Frigate Program

ธันวาคม  2004 ชิลีลงนามในสัญญาสั่งซื้อเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 23 จำนวน 3 ลำจากกองทัพเรืออังกฤษ ภายใต้สัญญามูลค่า 135 ล้านปอนด์ เรือฟริเกต HM Norfolk เรือฟริเกต HMS Marlborough และเรือฟริเกต HMS Grafton จะถูกโอนต่อให้กับกองทัพเรือชิลี ราชนาวีอังกฤษเหลือ Type 23 เพียง 13 ลำตามเงินในกระเป๋านั่นแหละครับ

ภาพนี้คือเรือฟริเกต FF-07  Almirante Lynch กองทัพเรือชิลี เข้าประจำการวันที่ 28 มีนาคม 2007  เรือมีระวางขับน้ำ 4,900 ตัน ยาว 133 เมตร กว้าง 16.1 เมตร กินน้ำลึก 5.5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว Mark 8 จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ DS30B ขนาด 30 มม. อีก 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  VL Seawolf จำนวน 32 นัด อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด รวมทั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ท่อยิง

ระบบตรวจจับเรือดำน้ำประกอบไปด้วย โซนาร์หัวเรือ Type 2050  ระบบโซนาร์ลากท้าย Type 2031z Towed Array Sonar ซึ่งเป็นระบบโซนาร์มาตรฐานอังกฤษในยุคนั้น  เรือลำนี้ค่อนข้างทันสมัยพอสมควร มีระบบแท่นยิงแนวดิ่งถึง 32 ท่อยิง ใช้ระบบขับเคลื่อน  Combined Diesel-electric and Gas หรือ CODLAG มีมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวต่อพ่วงกับเพลาใบจักร มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล 4 ตัวทำหน้าที่ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า ใช้งานที่ความเร็วต่ำทั้งประหยัดและลดเสียงดัง มีเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์อีก 2 ตัวใช้งานที่ความเร็วสูง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาให้น้อยกว่าเดิม

            ชิลีได้ของดีราคาประหยัดไปครอบครอง 3 ลำ โดยเฉพาะลำในภาพอังกฤษเข้าประจำการปี 1997 แม้ติดตั้งปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว MK8 รุ่นเก่าเหมือนเรือหลวงมกฎราชกุมาร  แต่เรือรบอายุสิบปีราคาเพียง 44.6 ล้านปอนด์ใครกันจะกล้าบอกปัด

หลังจากใช้งานเรือฟริเกต Type 23 ได้หลายปีดีดัก  อังกฤษมีโครงการเปลี่ยนโซนาร์ลากท้ายจาก  Type 2031z  มาเป็น Type 2087 หรือเรียกสั้นๆ ว่า S2087 พูดให้ชัดเจนก็คือโซนาร์ THALES CAPTAS-4 เวอร์ชันอังกฤษนั่นเอง มีทั้ง Variable Depth Sonar หรือ VDS ทำงานในโหมด Active Mode รวมทั้งสามารถปล่อย Towed Array Sonar หรือ TASS ทำงานในโหมด Passive ออกจากด้านท้าย เป็นระบบโซนาร์ทันสมัยที่สุดอันดับต้นๆ ในยุคปัจจุบัน


                เนื่องจากโซนาร์ S2087 มีราคาแพงลิบลับ อังกฤษยังติดบนเรือตัวเองแค่ 8 ลำจาก 13 ลำ ชิลีสามารถจัดหามาใช้งานจำนวน 2 ระบบ ติดตั้งบนเรือ FF-06 Almirante Condell ซึ่งเห็นอยู่ในภาพ กับเรือ FF-07 Almirante Lynch อยู่ลิบๆ ใกล้เรือสนับสนุนยกพลขึ้นบกมือสองจากฝรั่งเศส เรือทั้ง 2 ลำถือเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำที่ดีที่สุดในอเมริกาใต้

                วันเวลาผ่านพ้นเข้าสู่ปี 2015 เรือฟริเกตทั้ง 3 ลำเริ่มมีอายุขัยพอสมควร ถึงเวลาต้องปรับปรุงใหญ่ครึ่งอายุการใช้งาน ประกอบกับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  VL Seawolf ใกล้หมดอายุการใช้งาน กองทัพชิลีตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้จรวดรุ่นอื่น อยากได้รุ่นทันสมัยกว่าประสิทธิภาพสูงกว่า อันเป็นที่ไปที่มาโครงการ ‘Type 23 Frigate Air Defence Project’

                โครงการใหญ่เริ่มเดินหน้าปลายปี 2015 รายละเอียดสำคัญหลักมี 3 อย่างประกอบไปด้วย

1.ปรับปรุงหรือเปลี่ยนระบบอำนวยการรบ

2.ปรับปรุงหรือเปลี่ยนเรดาร์ตรวจการณ์

3.เปลี่ยนอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL Seawolf เป็นรุ่นใหม่ (ส่งผลกระทบมาถึงเรดาร์ควบคุมการยิง)

 ทุกบริษัทต้องยื่นซองภายในเดือนกรกฎาคม 2016 จำวันเวลาได้แล้วผู้อ่านทดไว้ในใจก่อนนะครับ

วันที่ 1 กรกฎาคม 2016 สภาคองเกรตอเมริกา ทำการอนุมัติการขายอาวุธให้กับประเทศชิลี ประกอบไปด้วย อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  ESSM จำนวน 39 นัด (เป็นรุ่น Telemetry ถึง 6 นัด อยากซ้อมยิงบ่อยๆ ว่างั้นเถอะ) ระบบแท่นยิงแนวดิ่ง MK 41 รุ่น Tatical baseline VII จำนวน 3 ระบบ ท่อบรรจุจรวดแฝดสี่ MK25 อีก 10 ท่อ (ไม่มีท่อนี้จะไม่สามารถบรรจุ ESSM ในแท่นยิงได้) รวมอุปกรณ์อื่นๆ ทั้งหมดอยู่ในวงเงิน 140.1 ล้านเหรียญ

อเมริกาเปิดหน้ามาแบบนี้หมายความว่าอย่างไร? กองทัพเรือชิลีขอซื้อจรวด ESSM อย่างนั้นหรือ?

คำตอบคือไม่ใช่ครับ โครงการนี้ยังไม่ทันปิดรับซองประมูล เกิดชิลีสั่งซื้อ ESSM มีหวังโดนบริษัทเอกชนฟ้องล้มละลาย ที่อเมริกาทำแบบนี้เพราะกฎหมายบ้านเขาบังคับ การขายอาวุธผ่านโครงการ Foreign Military Sale หรือ FMS จะต้องเสนอให้สภาคองเกรสอนุมัติเสียก่อน กฎหมายผ่านแล้วทีนี้เอกชนขายของได้ฉลุย แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับชิลีสักนิดเดียว

พูดให้มันชัดเจนกว่านั้นก็คือ คนขายออกมาพูด-คนซื้อไม่ได้พูด ถ้าต้องการทราบข้อเท็จจริงท้ายที่สุด ต้องรอให้คนซื้อออกมาพูดภายหลัง รวมทั้งถ้าเขาซื้ออาวุธอเมริกาจริงๆ ก็ตาม ตัวเลขอาจน้อยกว่านี้ถึงหนึ่งในสี่เคยมีมาแล้ว

การขายอาวุธผ่านโครงการ FMS เป็นแบบนี้ทั้งหมด ผู้เขียนอยากเตือนให้ผู้อ่านระวังตัวสักหน่อย ไม่ใช่เห็นข่าวจากอเมริกาแล้วจัดชุดใหญ่ไฟกะพริบ เหมือนที่ผู้เขียนเคยเจ็บมาก่อนเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

กลับมาสู่การชิงชัยกันอีกครั้ง โครงการปรับปรุงเรือฟริเกต Type 23 มีผู้แข่งขันจำนวน 4 ราย ประกอบไปด้วยบริษัท IAI's MBT Division จากอิสราเอล ซึ่งมีความสนิทชิดเชื้อกองทัพเรือชิลี เคยปรับปรุงเรือพิฆาตชั้น Country จำนวน 3 ลำ เรือฟริเกตชั้น Leander จำนวน 2 ลำ และเรือฟริเกตชั้น Type 22 อีก 1 ลำ ผลงานกับคอนเน็กชันไม่ธรรมดาเอาเสียเลย

ในการชิงชัย IAI เสนออาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak 8 มาพร้อมระบบอำนวยการรบอิสราเอล และระบบเรดาร์ ELM-2248 MF-STAR ซึ่งเป็นเรดาร์ AESA แบบฝัง 4 มุมพร้อมระบบควบคุมการยิงในตัว เรดาร์ทันสมัยจรวดก็มีระยะยิงไกลลิบลับ การปรับปรุงจะทำให้มีประสิทธิภาพสูงอย่างไม่น่าเชื่อ แต่มีข้อเสียก็คือราคาแพงระยับเพราะใช้แต่ของดี

ผู้แข่งขันรายที่สองคือบริษัท Thales Nederland ซึ่งต้องถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทคนคุ้นเคย เนื่องจากชิลีมีเรือฟริเกตใช้ระบบ Thales  ประจำการอยู่แล้ว 4 ลำ ถ้าเพิ่มเข้าไปอีก 3 ลำบอกได้คำเดียว Common Fleet !

ข้อเสนอของ Thales น่าจะคาดเดาไม่ยาก เพราะได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก ประกอบไปด้วยระบบอำนวยการรบ Tacticos  เรดาร์ตรวจการณ์ Smart-S MK2 เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 ปิดท้ายด้วยอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM  ดีที่สุดเหมาะสมที่สุดใช้งานได้จริงแน่นอน แต่ราคาก็แพงจริงการยิงจรวด ESSM ต้องใช้อุปกรณ์พอสมควร

ทั้งสองบริษัทมีสินค้าชั้นดีคนชิลีล้วนคุ้นเคย แต่เป็นแค่เพียงม้ารองบ่อนวิ่งไล่หลังชาวบ้าน เต็งจ๋าพระนอนมาโครงการนี้คือบริษัท BAE Systems (teamed with QinetiQ) จากอังกฤษ เจ้าของโครงการปรับปรุงเรือฟริเกต Type 23 ราชนาวีอังกฤษ  ย่อมรู้ไส้รู้พุงเรือฟริเกตที่ชิลีซื้อต่อไปจากอังกฤษ ให้อังกฤษปรับปรุงเรืออังกฤษเหมาะสมที่สุดในสามโลก

ข้อเสนอคือการเปลี่ยนระบบอำนวยการรบจาก DNA (1) CMS มาเป็น DNA (2) CMS เปลี่ยนเรดาร์ตรวจ 3 มิติจาก Type 996 เป็น ARTISAN 3D (หรือที่อังกฤษเรียกว่าเรดาร์ Type 997) ติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor มีเรดาร์จับเป้าหมายอยู่ในหัวรบ (ใช้วิธีปล่อยจรวดแบบ Soft-Launch) ไม่จำเป็นต้องมีเรดาร์ควบคุมการยิงตัวใหญ่เบ้อเริ่ม แต่สมควรติดตั้งระบบ mid-course guidance updates สำหรับควบคุมทิศทางจรวดระหว่างเดินทางเข้าหาเป้าหมาย

ที่เห็นในภาพนำมาจากโครงการประเทศอังกฤษ แท่นยิงแนวดิ่ง VL Seawolf สามารถปรับปรุงให้ใช้งาน Sea Ceptor ได้เช่นกัน จรวดรุ่นนี้ระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 25 กิโลเมตร สามารถยิงสกัดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบได้ดีกว่าเดิม 

Sea Ceptor ถูกติดตั้งบนเรือฟริเกต Type 26 ลำละ 1,000 ล้านปอนด์ พร้อมเรดาร์กับระบบอำนวยการรบอังกฤษ ถูกติดตั้งบนเรือฟริเกต Type 31e ลำละ 250 ล้านปอนด์ แต่ใช้เรดาร์กับระบบอำนวยการรบของ Thales  รวมทั้งจะถูกติดตั้งบนเรือฟริเกต Type 32 ซึ่งช่วงนี้มีข่าวหนาหูว่าอังกฤษอยากได้เพิ่มเติม นิวซีแลนด์จัดหา Sea Ceptor มาใช้งานบนเรือฟริเกตMeko 200 ของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีบราซิลอีกหนึ่งชาติ ฉะนั้นแล้ว Sea Ceptor ยังมีอนาคตสดใสไปอีกยาวนาน

 หลังใช้เวลาพิจารณาสักพักใหญ่ ธันวาคม 2016 คณะกรรมการคัดเลือกประกาศ 2 บริษัทเข้ารอบสุดท้าย ถัดมาในเดือนพฤษภาคม 2017 บริษัทผู้ถูกคัดเลือกเป็นผู้ออกข่าวด้วยตัวเอง ไม่ใช่บริษัทจากอิสราเอลหรือเนเธอร์แลนด์อดีตเพื่อนสนิท ไม่ใช่บริษัทจากอังกฤษอดีตเต็งจ๋าม้าตีนต้น ทว่ากลับกลายเป็นบริษัท Lockheed Martin Canada

บริษัทจากแคนาดาไม่ถึงกับเป็นผู้เล่นหน้าใหม่  ปี 2000 พวกเขาเป็นผู้ชนะเลิศโครงการ Tridente Frigate Program กำลังจะได้รับสัญญาสร้างเรือเฟสแรกจำนวน 4 ลำ ถ้ารัฐบาลชิลีไม่บังเอิญถังแตกกะทันหันเสียก่อน

การปรับปรุงเรือจะผสมผสานระบบต่างๆ จากหลายประเทศ มีการติดตั้งระบบ Link-16,Link-22 บริษัท VIASAT ติดตั้งระบบ Datalink 11,16&22 บริษัท IBM ติดตั้งระบบ Advance Navigation System บริษัท OSI ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติรุ่นใหม่ TRS-4D บริษัท HENSOLDT ประเทศเยอรมัน มาพร้อมระบบพิสูจน์ฝ่ายรุ่นใหม่ทั้งภาครับและภาคส่ง ที่น่าสนใจมากเป็นพิเศษนั่นก็คือ ใช้อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor เหมือนข้อเสนอจากบริษัทอังกฤษ

รอบชิงชนะเลิศเป็นการพบกันระหว่าง Lockheed Martin Canada กับ BAE Systems (teamed with QinetiQ) ที่ชิลีไม่เลือกปรับปรุงเหมือนอังกฤษแท้ๆ ซึ่งรับประกันว่าใช้งานได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น เนื่องจากข้อเสนอจากแคนาดามีราคาประหยัดกว่า รวมทั้งมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้อุปกรณ์ต่างๆ เนื่องจาก BAE ใช้สินค้าจากอังกฤษทั้งหมด แต่ Lockheed Martin Canada เลือกของดีมีคุณภาพจากหลายชาติ เทียบน้ำหนักปอนด์ต่อปอนด์คะแนนจึงเทมาทางแคนาดา

ก่อนหน้านี้ Lockheed Martin Canada เพิ่งปรับปรุงเรือฟริเกตชั้น Halifax ให้กับกองทัพเรือแคนาดา ผลงานที่นำมาเสนอเข้าตากองทัพเรือชิลีเข้าอย่างจัง เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญทำให้ตัวเองได้รับการคัดเลือก

ผู้เขียนขอเจาะลึกรายละเอียดการปรับปรุงเรือ เริ่มต้นจากระบบอำนวยการรบซึ่งสำคัญที่สุด มีการติดตั้ง Combat Management System 330 หรือ CMS 330 ซึ่งเป็นของ Lockheed Martin Canada โดยการนำระบบอำนวยการรบ 9LV ของ SAAB ประเทศสวีเดนมาพัฒนาเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องความต้องการกองทัพเรือแคนาดามากที่สุด

รู้สึกคุ้นเคยกันบ้างไหม? เหมือนว่าเคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้มาก่อน? มาครับผู้เขียนจะพาไปพบความจริงที่แสนรันทด การนำระบบอำนวยการรบบริษัท SAAB มาพัฒนาเพิ่มเติม ประเทศไทยเคยทำมาก่อนโดยใช้ชื่อว่าถิร  หรือ ‘TIRA’ อันเป็นชื่อย่อมาจากคำว่า Tactacal Information&Realtime Awareness บริษัทผู้พัฒนาเน้นมาที่เรือขนาดกลางกับขนาดเล็ก พูดให้ชัดเจนก็คือเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งจนถึงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง อันเป็นเรือราคาไม่แพงเท่าไรสามารถสร้างได้เองในประเทศ

CMS 330 กับ TIRA มีพัฒนาการคล้ายคลึงกันก็จริง เพียงแต่มีชะตากรรมต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะ CMS 330 ถูกใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Halifax จำนวน 12 ลำ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Harry DeWolf จำนวน 8 ลำ เรือฟริเกตชั้น Type 23 ของชิลีจำนวน 3 ลำ และจะถูกติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น Type 26 ของแคนาดาอีก 15 ลำ  จำนวนรวมขายสินค้าได้ถึง 38 ระบบ

ขณะที่ TIRA อันเป็นความหวังเล็กๆ ของผู้เขียน เคยโมเมนำมาใส่บนเรือรบตัวเองตั้งหลายลำ มาบัดนี้ได้สูญสลายกลายเป็นเม็ดฝุ่นติดส้นรองเท้า หายไปกับแสงแดด สายลม และสองเราพร้อมพี่เบิร์ดธงชัยซ่อมได้

เรื่องสำคัญถัดไปคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Lockheed Martin Canada เลือก TRS-4D จากบริษัท HENSOLDT ประเทศเยอรมัน อันเป็นสินค้าใหม่เอี่ยมเพิ่งวางขายได้ไม่นาน โดยเลือกรุ่นหมุนรอบตัวระยะตรวจจับไกลสุด 250 กิโลเมตร ขณะที่รุ่นฝังติดเสากระโดงซึ่งต้องใช้เรดาร์ 4 ตัวเหมือนเรือฟริเกต Type 125 เยอรมัน มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 300 กิโลเมตร จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าเรดาร์ ARTISAN 3D ของอังกฤษ ซึ่งมีระยะตรวจจับไกลสุดหน่อมแน้มเพียง 200 กิโลเมตร

TRS-4D เป็น Active Electronic Scanning Radar  หรือ AESA แท้ๆ ติดตามเป้าหมายได้ประมาณ 1,000 เป้าหมาย ใช้ควบคุมอาวุธปืนได้ถึง 4 หน้าจอ โดยเน้นมาที่จัดการเป้าหมายพื้นน้ำ การยิงเป้าหมายบนอากาศควรเป็นระบบควบคุมการยิงแท้ๆ เหมาะสมกว่า ด้วยประสิทธิภาพที่ค่อนข้างดีของเรดาร์รุ่นใหม่ ทำงานร่วมกับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Ceptor ได้เป็นอย่างดี เรดาร์ TRS-4D มีใช้งานบนเรือคอร์เวต K130 Batch 2 ของเยอรมัน รวมทั้งบนเรือ LCS ชั้น Freedom ของอเมริกา ขนาดกะทัดรัดน้ำหนักรวมไม่ถึง 900 กิโลกรัม  นำมาติดบนเรือตรวจการณ์ยาว 50 เมตรได้อย่างสบาย

เรดาร์ SAAB SeaGriffe AMB ประเทศไทยมีใช้งานบนเรือหลวงจักรีนฤเบศร และเรือฟริเกตทันสมัยที่สุดอีก 3 ลำ ตกเป็นรองเรดาร์ TRS-4D อยู่พอสมควร บริษัทนี้ยังมีเรดาร์ TRS-3D น้ำหนักรวมเพียง 575 กิโลกรัม ระยะตรวจจับไกลสุด 200 กิโลเมตร ติดตามเป้าหมายได้ประมาณ 750 เป้าหมาย ควบคุมอาวุธปืนได้ 2 หน้าจอ เรดาร์ตัวนี้ทันสมัยกว่าเรดาร์ SeaGriffe AMB สักเล็กน้อย มีใช้งานแพร่หลายเช่นกันรวมทั้งเรือฟริเกตใหม่เอี่ยมของฟิลิปปินส์

หลัง Lockheed Martin Canada ออกข่าวได้รับการคัดเลือก การเซ็นสัญญาจริงพลันตามติดมาในอีกไม่นาน มูลค่ารวมทั้งโครงการหาได้ค่อนข้างยาก ตัวเลขที่ผู้เขียนหาได้อยู่ที่ 600 ล้านเหรียญ เพียงแต่จะนำมาหารสามตามจำนวนเรือไม่ได้ ชิลีต้องการซื้อโซนาร์ลากท้าย S2087 ตัวที่ 3 มาใส่บนเรือ FF-05 Almirante ไม่แน่ใจว่ารวมอยู่ในนี้หรือแยกออกมาต่างหาก

เมื่อมีการเซ็นสัญญาสิ่งที่ตามมาคือการทำงาน เรือลำแรกที่ได้รับการเสริมหล่อคือ FF-05 Almirante Cochrane เข้าประจำการกองทัพเรือชิลีในปี 2006 เป็นลำแรก โครงการนี้ Lockheed Martin Canada เป็นผู้ควบคุม ใช้สถานที่บริษัท ASMAR ซึ่งเป็นบริษัทสร้างเรือใหญ่ที่สุดของชิลี บริษัทเคลมว่าตนเองใหญ่ในที่สุดในอเมริกาใต้  มีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ในสังกัดถึง 3 แห่งด้วยกัน การปรับปรุงใช้อู่ต่อเรือเมือง Talcahuano แถวๆ ภาคกลางชิลีเป็นแอ่งกระทะเว้าเข้ามาในฝั่ง มีธรรมชาติช่วยป้องกันลมมรสุมได้เป็นอย่างดี นี่คือท่าเรือสำคัญที่สุดของชิลีมาตั้งแต่กาลนมนาน

ในภาพถอดเรดาร์ตรวจการณ์ Type 996 ออกจากเสากระโดงหลักแล้ว มองเห็นปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว MK8 Mod1 ซึ่งใช้ป้อมปืนลดการตรวจจับด้วยเรดาร์อย่างชัดเจน โซนาร์หัวเรือ Type 2050 ค่อนข้างใหญ่โตน่าเกรงขาม ลำนี้แหละครับที่ชิลีอยากซื้อมหาเทพโซนาร์ลากท้าย S2087 มาใส่เพิ่มเติม ส่วนจะได้ไอเทมลับมาหรือไม่โปรดติดตามต่อไป

ขอเขียนถึงอุตสาหกรรมการต่อเรือของชิลีสักเล็กน้อย  โดยเฉพาะบริษัท ASMAR ซึ่งถือกำเนิดตั้งแต่ปี 1895 บริษัทนี้มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1981 ASMAR ต่อเรือให้กับกองทัพเรือประมาณ 50 ลำ ไม่ว่าจะเป็นเรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก เรือลำเลียงพล เรือสำรวจ เรือยกพลขึ้นบก รวมทั้งเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 80 เมตร จำนวน 4 ลำ โดยใช้แบบเรือ OPV 80 ของบริษัท FASSMER ประเทศเยอรมัน มั่นใจได้เต็มที่ทั้งเรื่องประสบการณ์และระดับฝีมือ

สถานที่ก่อสร้างปรับปรุงเรือมีความสำคัญเช่นกัน บริษัท ASMAR ให้บริการเรือรบและเรือช่วยรบกองทัพเรือชิลีทุกลำ รวมทั้งมีอู่แห้งในร่มขนาดใหญ่โตสำหรับเรือดำน้ำ Scorpene และ Type209/1400 จำนวน 4 ลำ ทาสีเรือได้หมดทั้งลำโดยไม่โดนแดดโดนฝนแม้แต่หยดเดียว ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อมเต็มที่ ชิลีเริ่มมองมาที่การสร้างเรือฟริเกตภายในประเทศ

นี่เป็นเอกสารนำเสนอโครงการในที่ประชุม ซึ่งหลุดออกมาเผยแพร่ได้สักพักใหญ่ๆ  ผู้เขียนอ่านข้อมูลเสร็จร้องไห้ทันที ไม่ใช่อะไรอ่านไม่ออกแม้แต่ประโยคเดียว แต่ยังสามารถหาข่าวลือมาบอกต่อได้สักเล็กน้อย

โครงการสร้างเรือในประเทศจะเริ่มต้นประมาณปี 2030 .ในภาพใช้แบบเรือฟริเกต Type 26 ของอังกฤษมานำเสนอ แต่เชื่อเถอะว่าไม่ใช่ลำจริงอย่างแน่นอน รวมทั้งโครงการนี้อาจล่มสลายเหมือนที่ผ่านมา อย่างที่ทุกคนรู้เรือฟริเกตราคาแพงโหดเลือดสาด ยิ่งนำมาสร้างเองในประเทศยิ่งแพงนรกเรียกพี่ ถ้าชิลีไม่สร้างสัก 4 ลำติดต่อกันโครงการนี้ไม่น่าเกิด เพราะฉะนั้นสิ่งแรกสุดต้องหางบประมาณมาลงเสียก่อน และให้บังเอิญงบผูกพันก้อนโตใช่ว่าจะหากันได้ง่ายๆ

กว่าจะถึงเส้นชัยยังต้องชิลีหกล้มอีกหลายครั้ง วันใดวันหนึ่งเขาจะทำสำเร็จผู้เขียนเชื่อเช่นนั้น

กลับมาที่เรื่องการปรับปรุงเรืออีกครั้ง หลังใช้เวลา 18 เดือนในอู่ต่อเรือเมือง Talcahuano วันที่ 8 พฤศจิกายน 2019 เรือฟริเกต FF-05 Almirante Cochrane เดินทางกลับมายังฐานทัพเรือ และนี่ก็คือภาพถ่ายภาพแรกสุดที่ถูกเผยแพร่

Sea Ceptor มีเรดาร์จับเป้าหมายอยู่ในหัวรบ เรดาร์ควบคุมการยิง Type 911 ก็เลยหายไปทั้ง 2 ตัว ปืนใหญ่ 4.5 นิ้วใช้ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง Sea Archer 30 ที่เห็นกลมๆ บนเสากระโดงหลัก ส่วนที่เห็นเป็นแท่งยาวๆ หัวกลมเหนือสะพานเดินเรือกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ คือจานส่งสัญญาณจากเรือไปยังจรวด Sea Ceptor ช่วยควบคุมทิศทางระหว่างเดินทางเข้าหาเป้าหมาย ขนาดเล็กกะทัดรัดกินพื้นที่เพียงเล็กน้อย เป็นอุปกรณ์สำคัญชนิดหนึ่งขาดไม่ได้เลยทีเดียว

ยกตัวอย่างตอนสั่งยิงเป้าหมายอยู่กราบขวา  ทันใดนั้นเองเป้าหมายวิ่งมาทางกราบซ้าย  ไม่มีอุปกรณ์ตัวนี้จรวดจะวิ่งไปยังพื้นที่เวิ้งว้างว่างเปล่า เรดาร์ในหัวรบจับได้เพียงฝูงนกนางนวลบินโฉบไปมา จานส่งสัญญาณคือวิธีแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะเหม็ง เรดาร์ TRS-4D จะช่วยติดตามเป้าหมายและกำหนดทิศทางให้ Sea Ceptor รวมทั้งพลยิงอาจเปลี่ยนเป้าหมายไปเป้าหมายอื่น ซึ่งมีความสำคัญกว่าหรือน่ากลัวมากกว่า การป้องกันภัยทางอากาศจึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม

ที่ผู้เขียนเขียนถึงเป็นหลักการโดยทั่วไป Sea Ceptor ทำได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับจรวดล่ะครับ

หลังปรับปรุงเรือดูโล่งสะอาดตาเอามากๆ ผู้เขียนชอบเรือแบบนี้ครับไม่ต้องมีอาวุธมากมายเกินเหตุ ในอนาคตเมื่อติดโซนาร์ลากท้าย S2087 กับระบบเป้าลวงตอร์ปิโด SSTD ( Surface Ship Torpedo Defence System) ของอังกฤษเข้าไปแล้ว สามารถประจำการต่ออีก 20 ปีได้อย่างสบาย โดยที่ระบบเรดาร์ไม่ล้าสมัยและอาวุธทุกชนิดสามารถใช้งานได้

มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยมักไม่ชอบเรือโล่งๆ อย่างแรกที่พูดถึงก็คือไม่มีระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS ถ้าเป็นข้าพเจ้าข้าพเจ้าจะเปลี่ยนปืนใหญ่ 4.5 นิ้วเป็นปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid พร้อมกระสุนนำวิถี DART หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ต้องมี Phalanx Block 1B สิพ่อคุณ ฝ่ายชิลีตอบกลับมาสั้นๆ แต่ได้ใจความ ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิต Sea Ceptor สามารถจัดการฮาร์พูนสกี้ได้ตั้งแต่ไกลลับตา ข้าพเจ้านำเงิน 40 ล้านเหรียญมาซื้อ Sea Ceptor ให้เต็มทุกท่อไม่ดีกว่าหรือ

การปรับปรุงเรือไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก ขึ้นอยู่กับงบประมาณ หลักนิยม ความต้องการ รวมทั้งภารกิจหลักของเรือ ชิลีใช้ชื่อโครงการว่า Type 23 Frigate Air Defence Project นั่นก็ใช่ บังเอิญพวกเขาอยากได้โซนาร์ลากท้าย S2087 มากกว่าปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid หรือ Phalanx Block 1B เขาจึงนำเงินไปซื้อโซนาร์ลากท้าย S2087 ก็เท่านั้นเอง

เรื่องถัดไปขอพากลับมายังเรือฟริเกต Type 23 ราชนาวีอังกฤษ ในอดีตติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  VL Seawolf โดยใช้ระบบแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 16 ท่อยิงต่อหนึ่งระบบ (เรือคอร์เวต F2000 ขนาด 2,000 ตันของบรูไนมีพื้นที่รองรับ 16 ท่อยิง แต่ไม่ได้ติดจรวดเพราะมีปัญหาเรื่องสัญญาสร้างเรือ ) เรือฟริเกต Type 23 ใส่ไว้ 2 ระบบเท่ากับมี  VL Seawolf มากสุดถึง 32 นัด ท่อยิงพวกนี้สามารถปรับปรุงให้ใช้งาน Sea Ceptor ได้อย่างเหมาะเหม็ง รูปร่างหน้าตาคล้ายเห็ดชนิดหนึ่งตามป่าเขาลำเนาไพร ผุดขึ้นมาจำนวน 32 ท่อยิงเท่าของเดิมพอดิบพอดี

ขณะที่เรือฟริเกต Type 23 ของราชนาวีชิลี ใส่ท่อยิง Sea Ceptor ไว้เพียงระบบละ 8 ท่อยิง รวมทั้งหมดจึงเท่ากับ 16 ท่อยิง (ใส่หนึ่งแถวเว้นไว้หนึ่งแถว) ถือเป็นจำนวนมากเพียงพอในการป้องกันตนเอง อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block II ยังไม่มานะครับ มีเพียงจุดติดตั้งโล่งๆ อยู่ถัดท่อยิงเห็ดขบเผาะเพียงเล็กน้อย

ชมภาพบั้นท้ายเรือ FF-05 Almirante Cochrane กันบ้าง โซนาร์ลากท้าย S2087 ยังไม่มารวมทั้งไม่รู้จะมาตอนไหน เนื่องจากราคาแพงเลือดสาดตามประสิทธิภาพ แต่ถึงอย่างไรชิลีต้องดิ้นรนขวนขวายหามาติดตั้งให้จงได้

ที่จอดข้างกันคือเรือฟริเกต Type M ซึ่งชิลีซื้อต่อมาจากกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,340 ตัน ยาว 123.72 เมตร กว้าง 14.37 เมตร มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL Sea Sparrow จำนวน 16 นัดไว้ป้องกันตนเอง ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.8 จำนวน 2 ตัวมองเห็นชัดเจน ทำงานคู่กับเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales Smart-S Mk1 และเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Thales LW-08 รวมทั้งมีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบจัดแน่นจัดเต็ม

กองทัพเรือชิลีมีเรือฟริเกตทันสมัยถึง 8 ลำก็จริง เพียงแต่ช่วงนี้เรือ 3 ลำนี้ห้ามป่วยห้ามตายเด็ดขาด เพราะเรือฟริเกต Type 23 อีก 2 ลำต้องเข้าปรับปรุงใหญ่ เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Type L ปลดประจำการแล้ว ได้เรือฟริเกต Oliver Hazard Perry ของออสเตรเลียมาทดแทนก็จริง แต่ยังอยู่ในช่วงปรับปรุงอีกนานเลยกว่าจะพร้อมรบ ขณะที่เรือฟริเกต Type 22 Batch II ซึ่งเป็นเรือธงอีกจำนวน 1 ลำ ใช้เครื่องยนต์ COGOG ค่อนข้างสิ้นเปลืองไม่สมควรใช้งานบ่อย

FF-19 Almirante Williams เรือธงราชนาวีชิลีถูกปรับปรุงใหม่เช่นกัน ติดตั้งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak ระยะยิงไกลสุด 12 กิโลเมตรจำนวน 16 ท่อยิง เรือฟริเกตชิลีทุกลำติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน และต้องมีอย่างน้อยๆ 16 นัดขึ้นไป ถือเป็นมาตรฐานที่ต้องทำตามและสามารถทำได้ ผู้เขียนหวังว่าวันหนึ่งราชนาวีไทยจะทำได้เช่นกัน (8 นัดต่อลำก็ได้น่า)

บทความเกี่ยวกับกองทัพเรือชิลีน่าจะหมดแล้ว บทความถัดไปกำลังจะตามมา...วันนี้ขอลาไปก่อนสวัสดีครับ ^_*

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://www.dsca.mil/press-media/major-arms-sales/chile-evolved-seasparrow-missiles-essms

https://www.lockheedmartin.com/en-ca/chile.html

https://www.armada.cl/armada/unidades-navales/superficie/fragatas/ff-05-almirante-cochrane/2014-04-15/113128.html

https://www.moddb.com/groups/ship-lovers-group/images/almirante-lynch-ff-07

https://www.naval.com.br/blog/2019/06/16/fragata-chilena-almirante-lynch-inicia-sua-modernizacao/

https://www.hensoldt.net/products/radar-iff-and-datalink/trs-4d-rotator/

http://www.defensa.pe/forums/showthread.php/124-Fragatas-Type-23/page65

https://www.asmar.cl/en/

https://defensanacional.foroactivo.com/t65p450-armada-de-chile

https://www.lockheedmartin.com/en-ca/cms330.html

https://ukdefencejournal.org.uk/type-23-duke-class-frigate-guide/

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_ships_of_the_Chilean_Navy

https://www.armada.cl/site/unidades_navales/511.htm

www.hensoldt.net

https://www.navalnews.com/naval-news/2019/05/lockheed-martin-details-chilean-navy-type-23-frigates-upgrade/

เอกสารดาวน์โหลด : Combat Management System 330 (CMS 330)

เอกสารดาวน์โหลด : TRS-4D® Rotator Multi-function surveillance and target acquisition radar