วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

1933 Thai Army Vehicles รถถังยานเกราะไทยในเหตุการณ์กบฎบวรเดช

    กบฏบวรเดช (Bavoradej rebellion) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม  2476 ถือเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 สาเหตุเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และชนวนสำคัญที่สุดก็คือ ข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ จนนำไปสู่การใช้กำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช


      เหตุการณ์ในครั้งนี้กินระยะเวลารวม 15 วัน เป็นการสู้รบกันระหว่างทหารหัวเมืองจากนครราชสีมา สระบุรี และอยุธยา โดยเรียกชื่อตัวเองว่าคณะกู้บ้านกู้เมือง กับทหารฝ่ายรัฐบาลในกรุงเทพที่มีอาวุธประสิทธิภาพสุง ผลการสู้รบทหารฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตรวม 17 นาย ฝ่ายกบฏเสียชีวิตพอๆกันแต่ไม่ทราบจำนวนที่ชัดเจน ท้ายที่สุดฝ่ายรัฐบาลสามารถเอาชนะและจับกุมตัวฝ่ายกบฎส่วนใหญ่ได้ ต่อมาภายหลังได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ปราบกบฏหรืออนุสาวรีย์หลักสี่ในปัจจุบัน เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้

    กบฏบวรเดชมีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ไปว่าจะเป็นมูลเหตุที่มาที่ไป รายละเอียดและแผนการสู้รบของทั้งสองฝ่าย บทสรุปของเหตุการณ์และผลกระทบที่ตามมา รวมถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังที่เชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงรายละเอียดแค่ที่จำเป็น แต่จะเทน้ำหนักไปยังรถถัง ยานเกราะ และอาวุธสำคัญๆทั้งหลายแทน ทั้งนี้เป็นเพราะอาวุธดังกล่าวมีรายละเอียดและความน่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และมีนัยยะสำคัญเชื่อมโยงไปสู่เหตุการณ์อื่นๆในภายหลังด้วย ภาพและข้อมูลส่วนใหญ่ผู้เขียนอ้างอิงจากที่นี่ครับ

                      ------->  http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0

อากาศยาน  

 
    เริ่มต้นกันที่อากาศยานสำคัญๆในเหตุการณ์นี้ก่อนเลยครับ ในช่วงเวลาดังกล่าวกองทัพอากาศเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกองทัพบก โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากกองบินทหารบกในปี 2456 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมอากาศยานทหารบกในวันที่ 19 มีนาคม 2461 และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นกรมอากาศยานในวันที่ 1 ธันวาคม 2464 กระทั่งวันที่ 9 เมษายน 2480 จึงได้ถูกยกฐานะเป็นกองทัพอากาศในที่สุด และมีการจัดงานวันกองทัพอากาศทุกปีในวันนี้

    วันที่ 9 ตุลาคม 2476 นักบินผู้หนึ่งชื่อเรืออากาศโทขุนไสวมัณยากาศ ได้บังคับเครื่องบินลงจอดที่สนามมณฑลทหารราชบุรี และได้ยื่นจดหมายฉบับหนึ่งให้แก่พลตรีพระยาสุรพันธเสนี สมุหเทศาภิบาลมณฑล ก่อนแจ้งว่าเป็นสาสน์จากพระองค์เจ้าบวรเดช และนั่นก็ทำให้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวกับตาตัวเอง จึงรีบเดินทางกรุงเทพเพื่อเตรียมตัวรับมือโดยเร่งด่วน พูดว่านักบินผู้นี้ทำแผนแตกหรือดวงซวยมากก็คงไม่ผิด แต่อันที่จริงแล้วฝ่ายรัฐบาลรู้ระแคะระคายเรื่องการก่อกบฎมานานพอสมควร ได้มีการเตรียมรับมือและตัดทอนอาวุธของทหารหัวเมืองไว้ก่อนหน้านี้ เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าใครเป็นใครและจะลงมือกันวันไหนที่ไหนกันแน่

    คืนวันที่ 11 ตุลาคม 2476 คณะกู้บ้านกู้เมืองได้เคลื่อนพลจากนครราชสีมาเข้ายืดสถานีรถไฟดอนเมือง หลักสี่ บางเขน และพื้นที่ใกล้เคียงรวมทั้งสนามบินดอนเมืองด้วย ในเวลานั้นเองนักบินจากฐานบินอื่นๆได้รับคำสั่งลวงให้มาแข่งเทนนิสที่ดอนเมือง โดยให้นำเครื่องบินรบประจำตัวมาด้วย เมื่อรู้ความจริงเข้าพวกเขาจึงประกาศวางตนเป็นกลางไม่เข้ากับฝ่ายใด 3 วันต่อมามีนักบิน 2 นายลักลอบนำเครื่องบินนิเออร์ปอร์ต เดอลาจ หลบหนีออกมาได้สำเร็จ เครื่องบินลำแรกลงจอดฉุกเฉินในสนามหลวงสำเร็จ แต่อีกลำตกในเขตพระราชฐานชั้นในนักบินเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อทหารฝ่ายรัฐบาลยืดดอนเมืองคืนจากอีกฝ่ายได้แล้ว จึงได้สั่งให้นักบินจำนวนหนึ่งนำเครื่องบินไล่ตามคณะกู้บ้านกู้เมืองไป จนกระทั่งได้มาเจอกองกำลังส่วนใหญ่ที่แถวๆปากช่อง เหล่านักบินดวงตกทำหน้าที่ตัวเองโดยทิ้งระเบิดใส่ทุ่งนาแล้วกลับมารายงานผล ฝ่ายรัฐบาลจึงได้รู้ที่ตั้งของอีกฝ่ายอย่างชัดเจนแม้จะไม่ค่อยปลื้มผลงานนักบินนัก

    เครื่องบินขับไล่ 2 ที่นั่งแบบ ข.2 นิเออร์ปอร์ต เดอลาจ หรือ Nieuport-Delage NiD 29 เป็นเครื่องบินที่ซื้อมาจากฝรั่งเศสทำความเร็วได้สุงสุด 235 กม./ชม. มีระยะทำการ 580 กม. ติดอาวุธปืนกลขนาด 7.7 มมจำนวน  2 กระบอก กองบินทหารบกนำเข้าประจำการในปี 2462 จำนวน 4 ลำ นอกจากนี้ยังได้ให้กรมช่างอากาศสร้างเพิ่มในปี 2467 อีกจำนวนหนึ่งด้วย ผลงานในการรบไม่ปรากฎแน่ชัดแต่มีบางเหตุการณ์ที่สำคัญๆคือ

    วันที่ 19 กรกฎาคม 2469 นายเรือโททองพูล ชื่นสุวรรณ กับนายสิบตรีทองเจือ  อ่างแก้ว  ศิษย์การบินชั้นมัธยมได้นำเครื่องบินนิเออปอรต์เดอลาจจำนวน 2 ลำทำการฝึกบินที่สนามบินโคกกระเทียม  ที่ระดับความสูงประมาณ 800 เมตรเครื่องบินทั้งสองลำได้ชนกันกลางอากาศ เครื่องบินของนายร้อยโท ทองพล ชื่นสุวรรณตกลงกระแทกพื้นนักบินเสียชีวิตทันที ส่วนเครื่องบินของนายสิบตรี ทองเจือ อ่างแก้วควงสว่านลงปะทะยอดไม้ นักบินกระโดดออกจากเครื่องบินทันแต่ได้รับบาดเจ็บพอสมควร นับเป็นการชนกันทางอากาศครั้งแรกในประเทศไทย

     วันที่ 15 พฤศจิกายน 2472 นายร้อยโทนาม  พันธุ์นักรบผู้ช่วยผู้บังคับฝูงบินที่ 4 ตำบลโคกกะเทียม จังหวัดลพบุรี ได้นำเครื่องบินนิเออปอรต์เดอลาจทำการบินผาดแผลงในระยะสูงประมาณ 1,000 เมตร ทว่าเครื่องบินได้เกิดไฟไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ นักบินถูกไฟลวกและไม่สามารถบังคับเครื่องบินได้แล้ว จึงตัดสินใจโดดร่มชูชีพออกจากเครื่องโดยปลอดภัย นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีนักบินโดดร่มออกจากเครื่องบิน

    จากนั้น ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2473 กรมอากาศยานจึงออกคำสั่งให้กองบินต่าง ๆ จัดการแก้ไขที่นั่งเครื่องบินทุกแบบทุกชนิด ให้ใช้ร่มชูชีพได้ทุกเครื่อง เว้นไว้แต่เครื่องบินนิเออปอรต์ 23 ตารางเมตร

    อากาศยานที่สำคัญลำสุดท้ายก็คือเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบท.1 เบรเกต์ ( BREGUET 14B) วันที่ 24 ตุลาคม 2476 พระองค์เจ้าบวรเดชและพระชายา ได้เสด็จโดยเครื่องบินออกจากสนามบินทหารนครราชสีมามุ่งไปยังปลายทางที่พนมเปญ ร้อยเอกหลวงเวหนเหินเห็จคนสนิทเป็นนักบินนำเครื่องไปสู่จุดหมายโดยสวัสดิภาพ กรมอากาศยานมีประจำการเครื่องบินรุ่นนี้อยู่ 2 หน่วยคือ กองบินใหญ่ที่ 2 (ลาดตระเวน) ดอนเมือง และกองบินใหญ่ที่ 3 (ทิ้งระเบิด) นครราชสีมา นอกจากใช้ในภารกิจทิ้งระเบิดในการศึกสงครามแล้ว เครื่องบินยังมีหน้าที่ตรวจการณ์บินธุรการหรือเป็นเครื่องบินเมล์ และได้มีการดัดแปลงเป็นเครื่องบินพยาบาลเพิ่มเติมอีกด้วย

เรือหลวงสุโขทัยลำที่ 1



    เมื่อพื้นที่แถวดอนเมืองโดนกองกำลังฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองยึดสำเร็จ แผนการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาลที่คิดขึ้นมาแรกสุดก็คือ ให้กองทัพเรือนำเรือหลวงสุโขทัยล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังแถวสะพานพระรามหก จากนั้นในช่วงเช้าตรู่จึงเปิดฉากยิงปืนใหญ่เรือถล่มไปยังที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากสะพานพระรามหกประมาณ 13 กิโลเมตร ทันทีที่ทราบเรื่องผู้บัญชาการทหารเรือก็รีบปฎิเสธทันที เพราะปืนใหญ่ของเรือลำนี้มีอำนาจทำลายล้างสุงมาก เมื่อวังปารุสก์ยังยืนยันที่จะให้ยิงให้จงได้ทหารเรือจึงได้ประกาศวางตัวเป็นกลาง จากนั้นจึงรีบเอาเรือไปจอดทอดสมอที่กรมสรรพาวุธบางนาเพื่อเติมน้ำมันและเสบียง ผู้บัญชาการทหารเรือตัดสินใจนำเรือหลวงสุโขทัยกับเรือหลวงเจ้าพระยาออกทะเล เพื่อไปถวายอารักขาพระเจ้าอยู่หัวต่อไม่สนใจคำสั่งจากวังปารุสก์

    เรือหลวงสุโขทัยต่อโดยอู่อาร์มสตรอง วิทเวิร์ธ ประเทศอังกฤษ เป็นแบบเรือเดียวกันกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์ที่เคยซื้อมาก่อนหน้านี้ กองทัพเรือไทยจัดหาเข้าประจำการในวันที่ 6 มิถุนายน 2473 ในราคา 20,300 ปอนด์ จัดอยู่ในประเภทเรือปืนเบารักษาชายฝั่ง มีระวางขับน้ำปกติ 886 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,000 ตัน ความยาวตลอดลำ 52.47 เมตร กว้างสุด 11.85 เมตร กินน้ำลึก 4.80 เมตร ติดอาวุธปืนใหญ่ขนาด152/50 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนใหญ่ขนาด 76/45 มม.อีก 4 กระบอกในเวลานั้น ปลดประจำการในวันที่ 15 ธันวาคม 2513 หลังรับใช้ชาติ 40 ปีเต็ม ภารกิจแรกสุดหลังเข้าประจำการได้เพียง 4 เดือน ก็เกือบจะกลายเป็นการยิงทหารไทยด้วยกันเองเสียแล้ว

 ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63


    ปืนใหญ่ภูเขาขนาดกระทัดรัดรุ่นนี้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่น เข้าประจำการกองทัพบกไทยในปี 2463 ปากลำกล้องปืนมีขนาดกว้าง 75 มม. ภายในบรรจุด้วยเกลียวทั้งหมด 32 เกลียว มีระยะยิงไกลสุดถึง 6 กิโลเมตร ใช้พลยิงรวมกันทั้งหมดจำนวน 5 นาย โดยทำหน้าที่ยิงลั่นไก ป้อนกระสุน รับส่งวิทยุ และหาตำแหน่งข้าศึก ถูกจัดให้เป็นอาวุธประจำกองพันทหารปืนใหญ่ทั่วประเทศ สามารถใช้เทียมลากด้วยม้าได้จึงมีความคล่องตัวสุงมาก

    ช่วงต้นของเหตุการณ์กบฎบวรเดชปืนใหญ่รุ่นนี้มีบทบาทมากพอสมควร  คณะกู้บ้านกู้เมืองเคลื่อนขบวนทัพหลักเข้าสู่พระนคร โดยมีกองระวังหน้าจำนวน 2 หมวดใช้รถไฟขบวนเล็กวิ่งล่วงหน้าไปก่อน ตามติดมาด้วยขบวนรถหลักใช้รถข.ต.(ข้างต่ำ) บรรทุกปืนใหญ่ภูเขาไว้ด้านหน้า 2 กระบอกและด้านหลังอีก 3 กระบอก ตรงกลางขบวนจะเป็นตู้โดยสารสำหรับบรรทุกทหารราบ ทหารม้า และทหารปืนใหญ่จำนวน 5 กองพัน รวมทั้งมีตู้ขบวนกองบัญชาการของแม่ทัพกับฝ่ายเสนาธิการด้วย คณะกู้บ้านกู้เมืองตัดสินใจใช้สถานีรถไฟดอนเมืองเป็นฐานทัพหลัก โดยจัดให้ทหารทัพหน้าสุดตั้งมั่นอยู่ที่สถานีบางเขน  ทหารส่วนที่เหลือตั้งแถวเรียงรายยาวมาจนถึงสถานีหลักสี่

    เมื่อทราบข่าวว่าสถานีดอนเมืองโดนยึดเป็นที่แน่ชัดแล้ว ทหารฝ่ายรัฐบาลจึงได้เคลื่อนขบวนทัพจากลานพระบรมรูปทรงม้า ไปยังลานสินค้าของบริษัทปูนซีเมนต์สยามที่สถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟบางเขนไปประมาณ 5 กิโลเมตรเศษๆ จากนั้นจึงเอาปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 มาตั้งเรียงแถวอยู่บนถนนประดิพัทธิ์ ก่อนจะเริ่มระดมยิงใส่ทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองประมาณ 40 นัดเห็นจะได้ กระสุนทั้งหมดลอยข้ามทหารหัวเมืองไปตกท้องนาท้องไร่แถวนั้นหมด โดยที่ทหารปืนใหญ่ของอีกฝ่ายไม่ได้ยิงโต้ตอบเลย เนื่องจากพวกเขามีแต่กระสุนซ้อมยิงหล่อซีเมนต์ที่ใช้ได้ผลในระยะใกล้ๆเท่านั้น ก่อนหน้านี้ไม่นานรัฐบาลได้เรียกเก็บกระสุนจริงจากทั่วประเทศ นัยว่าเพื่อเป็นการป้องกันการก่อกบฎที่เคยได้ข่าวมา

    ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ยังมีบทบาทในฐานะหัวหมู่ทะลวงฟันของกองกำลังฝ่ายรัฐบาล โดยได้นำปืนใหญ่ขึ้นใส่รถข.ต.พร้อมรถถังและหรืออาวุธลับใหม่เอี่ยมอ่อง จากนั้นจึงใช้หัวรถจักรไอน้ำดันท้ายรถข.ต.แล่นเข้าไปยิงต่อสู้กับทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง บริเวณสนามรบที่มีการยิงจริงเริ่มต้นจากสถานีรถไฟบางเขน หลักสี่ ไปจนถึงดอนเมืองซึ่งเป็นที่มั่นท้ายสุด ทว่าหลังจากฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองล่าถอยกำลังไปตั้งมั่นอยู่แถวปากช่องแล้ว ยุทธวิธีการรบแม้จะยังอยู่บนรางรถไฟเหมือนเดิมก็ตาม แต่ก็เปลี่ยนไปเป็นการปะทะกันด้วยทหารราบในพื้นที่แคบๆแทน ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ที่ทหารฝ่ายรัฐบาลขนไปด้วยจึงแทบไม่ได้ใช้งาน ได้ปรากฎโฉมต่อสาธารณะชนอีกทีก็ตอนสวนสนามฉลองชัยโน่น

    ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ได้เข้าร่วมทำศึกครั้งสำคัญมากในเวลาต่อมาด้วย วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพเข้าประเทศไทยจำนวน 8 แห่งด้วยกัน คือทางบกที่อรัญประเทศ ส่วนทางทะเลได้ยกพลขึ้นบกที่ บางปู สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และ ปัตตานี การยกพลขึ้นบกที่สงขลามีลักษณะแตกต่างกว่าที่อื่นอยู่บ้าง เพราะเป็นจุดที่ญี่ปุ่นส่งกำลังเข้ามามากเป็นพิเศษเนื่องจากสามารถขึ้นบกได้อย่างสะดวก มีบริเวณหาดทรายที่กว้างและยาวมากกว่า 9 กิโลเมตร ทั้งยังสามารถเดินทางไปสู่รัฐไทรบุรีและปีนังของมาเลเซียได้ใกล้ที่สุดแล้ว ทหารญี่ปุ่นสามารถยกพลขึ้นบกได้อย่างง่ายดายตามแผน ทว่ากองทหารไทยก็ยังโชคดีที่ทราบข่าวได้เร็วและพอมีเวลาเตรียมตัว จึงสามารถวางกำลังตามแนวรบได้ใกล้เคียงกับแแผนที่เคยวางไว้ ปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 จากกองร้อยที่ 3 ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ตั้งยิงบริเวณเขารูปช้าง เพื่อช่วยคุ้มกันทหารราบที่อยู่แนวหน้า และทำหน้าที่เป็นปืนใหญ่ต่อสู้รถถังของข้าศึกอีกด้วย การปะทะกันครั้งนั้นกินเวลานานถึง 7 ชั่วโมงเต็ม ก่อนมีคำสั่งทางโทรเลขจากผู้บังคับบัญชามณฑล 6 ค่ายนครศรีธรรมราช ให้ทหารทุกนายหยุดยิงและหลีกทางให้ทหารญี่ปุ่นผ่านไปตามคำสั่งรัฐบาล ผลจากการรบทหารไทยเสียชีวิต 7 นายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ขณะที่ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตประมาณ 200 นายและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76


    หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาสั่งซื้อปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานขนาดปากลำกล้อง 40 มม.แบบอัตโนมัติ ติดตั้งบนรถสายพานหลังคาเปิดมีเกราะเหล็กรอบด้านขนาด 6 ตัน จากบริษัท วิคเกอร์อาร์มสตรองประเทศอังกฤษ โดยได้สั่งซื้อผ่านบริษัทบาโรบราวน์ ประเทศไทยรวมทั้งสิ้นจำนวน 10 คัน อาวุธใหม่เอี่ยมอ่องได้เดินทางมาถึงไทยในเดือนสิงหาคม 2476 และขึ้นทะเบียนเป็นอาวุธประจำการชื่อว่า ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 นับเป็นปืนต่อสู้อากาศยานเคลื่อนที่ด้วยตนเองแบบแรกสุดของประเทศ

    วันที่ 14 ตุลาคม 2476 ทหารฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนทัพเข้าปะทะทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ยึดสถานนีรถไฟบางเขนเอาไว้ โดยใช้หัวรถจักรหุ้มเกราะดันหลังรถข.ต.บรรทุกรถถังเคลื่อนที่เข้าหาพร้อมกันทั้ง 2 ราง นอกจากนี้แล้วยังมีเหล่าทหารราบอยู่ในรถพ่วงคันหลังอีกจำนวนหนึ่ง ผลจากการปะทะในช่วงเช้าส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลสูญเสียผู้บังคับกองพันที่มีความสำคัญมากไป ผู้บัญชาการกองกำลังผสมฝ่ายรัฐบาลจึงรีบแก้เกมส์ที่กำลังจะเพลี่ยงพล้ำทันที โดยสั่งการให้ไปนำปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ที่เพิ่งผ่านการตรวจรับสดๆร้อนๆมาแล้วจำนวน 2 คันมาออกสนามรบจริงทันที อาวุธใหม่เอี่ยมอ่องจึงได้เริ่มต้นทำงานในวันแรกสุดที่เข้าประจำการ

    ผบ.หน่วยกรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ได้นำปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76ขึ้นบรรทุกบนรถข.ต.แล้วใช้หัวรถจักรดันท้ายเหมือนเช่นเคย กระทั่งพบเป้าหมายจึงเปิดฉากยิงชุดแรกด้วยตัวเองจำนวน 4 นัด กระสุนพุ่งไปยังรังปืนกลทหารฝ่ายตรงข้ามบริเวณหน้าต่างโบสถ์วัดเทวสุนทร อำนาจการยิงของปืนกลขนาด 40 มม.เป็นเรื่องที่น่าตกใจมาก กระสุนปืนทำให้โบสถ์มีรูขนาดใหญ่โตรวมทั้งปืนก็ยิงได้เร็วและรุนแรงติดต่อกัน ทหารหัวเมืองทั้งหมดไม่เคยเจออาวุธทันสมัยแบบนี้มาก่อน จึงพากันหนีตายทิ้งที่มั่นวิ่งหนีเอาตัวรอดกลับไปยังฐานทัพหลักที่ดอนเมือง ทหารราบจากฝ่ายรัฐบาลจึงสามารถเข้ายืดพื้นที่ท้องทุ่งบางเขนไว้ได้โดยละม่อม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานเป็นพระเอกตัวจริงในวันนี้ และจะเป็นไม้เด็ดในการปราบกบฎที่ได้ผลดีเกินคาด ทว่าวันรุ่งขึ้นอาวุธลับใหม่เอี่ยมอ่องจากอังกฤษของฝ่ายรัฐบาล ก็โดนไอเท็มลับเมดอินเยอรมันของอีกฝ่ายเล่นงานเข้าจนได้ ผู้เขียนจะย้อนกลับมาเล่าเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ

    ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ถูกลำเลียงขึ้นรถไฟไปปราบกองกำลังคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ปากช่องด้วย แต่แทบไม่ได้นำมาใช้งานจริงเลยนอกจากเข้าพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะ รถสายพานขนาด 6 ตันติดปืนกลมีผลงานอีกครั้งเมื่อกลับคืนสู่พระนคร ทางรัฐบาลได้มีการจัดรัฐพิธีอย่างยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้เสียชีวิตฝ่ายตนทั้ง 17 คน โดยได้จัดสร้างเมรุชั่วคราวขึ้นที่ทุ่งพระเมรุหรือสนามหลวง รถสายพานที่เหลือทั้ง 9 คันทำหน้าที่ลำเลียงหีบศพทหารกล้า จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังเมรุชั่วคราวสนามหลวง และเมื่อสิ้นสุดงานยังได้นำอัฐิของผู้เสียชีวิตไปบรรจุไว้ในสถูปชั่วคราวอีกที

    ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 40 มม.มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Ordnance QF 2-pounder พัฒนาต่อมาจากปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มม. Ordnance QF 1-pounder ซึ่งอังกฤษเริ่มนำเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1890 โน่น ทว่าคนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อ "ปอมปอม" (pom-pom) เสียมากกว่า เป็นปืนกลขนาดลำกล้องกว้าง 40/39 มม.ระบายความร้อนด้วยน้ำ มีอัตรายิงสุงสุดถึง 115 นัด/นาทีที่เป้าหมายไกลสุด 6,220 เมตร ปอมปอมยังมีรุ่นใช้งานบนเรือรบอีกด้วยและได้รับความนิยมสุงมากในเวลานั้น มีทั้งรุ่นลำกล้องเดี่ยว สี่ลำกล้อง และแปดลำกล้อง ปืนได้รับความนิยมมากมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในราชนาวีหลายประเทศรวมทั้งญี่ปุ่น และชาติท้ายสุดที่ได้นำปืนไปใช้งานคืออเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เฉพาะปอมปอมรุ่นท้ายๆได้รับการปรับปรุงให้มีอัตรายิงสุงสุดมากถึง 200 นัด/นาที ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง กองทัพบกอังกฤษมีปืนใหญ่ติดรถถังและอาวุธปืนต่อสู้รถถังชื่อเดียวกันคือ QF 2-Pounder โดยมีขนาดลำกล้อง 40มม.เท่ากัน แต่มีความยาวลำกล้องต่างกันและมีอัตรายิงสุงสุดเพียง 20 นัด/นาที

    ปอมปอมผ่านสมรภูมิใหญ่มาทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง นับเป็นปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานของอังกฤษรุ่นที่ดีที่สุด ได้รับความนิยมมากที่สุดคือผลิตออกมาประมาณ 7,000กระบอก และเป็นปืนอังกฤษแท้ๆรุ่นท้ายสุดในสารบบอีกด้วย เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไปได้เพียงครึ่งทางทุกคนก็รู้ว่าปอมปอมไปต่อไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากอาวุธปืนมีอัตรายิงต่ำเกินไป ระยะยิงสั้นเกินไป ความแม่นยำน้อยเกินไป ความน่าเชื่อถือน้อยเกินไป การซ่อมบำรุงสุงเกินไป และที่สำคัญระบบระบายความร้อนด้วยน้ำสร้างปัญหาใหญ่เกินไป อังกฤษจึงได้ริเริ่มจัดหาปืนกลต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่มาแทนที่ ปืนต่อสู้อากาศยานโบฟอร์ส 40/L60 มม. และปืนเออลิคอน 20 มม.เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก เมื่อปืนทั้ง 2 ชนิดล้าสมัยลงและต้องหารุ่นใหม่มาแทนที่อีกครั้ง อังกฤษก็เลือกจรวดต่อสู้อากาศยานซีแคทมาแทนที่ปืนโบฟอร์ส 40/L60 มม. (ในตอนแรกต้องการใช้งานปืนโบฟอร์ส 40/L70มม.แต่ได้ถูกยกเลิกไป) และเลือกปืนเออลิคอน 20 มม.รุ่นที่ใหม่กว่ามาแทนที่ของเดิม ปิดฉากปืนต่อสู้อากาศยานเมดอินอิงแลนด์แท้ๆไปโดยปริยาย

 รถถังเบาแบบ 73 (Light tank, Carden Loyd Mark VI)


       ในปี 2473 กองทัพบกได้สั่งซื้อรถถังเบาแบบ Carden Loyd Mk6 จากประเทศอังกฤษจำนวน 10 คัน เพื่อนำมาใช้งาน นับเป็นรถถังรุ่นแรกสุดของประเทศไทย โดยจัดตั้งเป็นกองร้อยที่ 3 กองรถรบใน ม.พัน.1รอ. รถถังขนาดจิ๋วคันนี้สร้างโดยบริษัท วิกเกอร์ อาร์มสตรอง อังกฤษ มีชื่อเล่นเรียกกันในแวดวงทหารว่ารถถังรุ่นไอ้แอ้ด ทางด้านกองทัพบกได้ตั้งชื่อรถตามปี พ.ศ.ที่นำเข้าประจำการ คือรถถังเบาแบบ 73 ก่อนหน้านี้ได้รับภารกิจจอดคุ้มกันฝ่ายรัฐบาลอยู่ด้านหน้าวังปารุสก์

    วันแรกของการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่าย รถถังแบบ 63 รับหน้าที่เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันร่วมกับปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 ทว่าปืนกลเบาวิกเกอร์ระบายความร้อนด้วยน้ำขนาด 7.7 มม.ที่ติดมากับรถ ไม่สามารถเจาะทะลุทะลวงรังปืนกลเบา(ขนาด 7.7มม.เช่นกัน) ของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองได้ ฝ่ายรัฐบาลจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้อาวุธที่ทรงประสิทธิภาพกว่า คือปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ตามที่ผู้เขียนได้เขียนถึง รถถังแบบ 73 ถูกส่งไปปราบคณะกู้บ้านกู้เมืองที่ปากช่องด้วย แต่ไม่ได้แสดงบทบาทอะไรมากมายซักเท่าไหร่ นอกจากเข้าพิธีสวนสนามฉลองชัยชนะแล้วก็กลับพระนคร

    รถถังเบาแบบ 73 หรือไอ้แอ้ดมีความยาว 2.46 เมตร กว้าง 1.70 เมตร สุง 1.29 เมตร ติดปืนกลเบาขนาด 7.7 มม.พร้อมกระสุน 1,000 นัด ใช้เครื่องยนต์แก๊สโซลีน 4 สูบ 22 แรงม้า ความเร็วสูงสุดบนถนน 45 กม/ชม และมีระยะปฏิบัติการ 160 กม  ด้วยขนาดที่ค่อนข้างเล็กมากมีเกราะบางและติดอาวุธเบา เลยไม่ได้ออกรบแนวหน้าอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเท่าไหร่นัก ไอ้แอ้ดปลดประจำการในปี 2495 หลังรับใช้ชาติ 22 ปีเต็ม

รถถังเบาแบบ 76 (Lighttank Carden Loyd 6 tons  Mark E)


            ปี 2476 กองทัพบกสั่งซื้อรถถังขนาดเบาแบบ Carden Loyd 6 tons  Mark E จากประเทศอังกฤษเข้ามาใช้งานจำนวน 10 คัน รถถังขนาด 6 ตันสร้างโดยบริษัท วิกเกอร์ อาร์มสตรองเช่นเดียวกับรถถังเบาแบบ 73 รถถังคันนี้ถูกตั้งชื่อเล่นว่าไอ้โกร่งเพื่อคล้องจองกับไอ้แอ้ดนั่นเอง มีบทบาทสำคัญมากในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน ช่วงเดือนธันวาคม 2483 ถึงเดือนเมษายน 2484 โดยเฉพาะการรบครั้งสำคัญที่สมรภูมิบ้านพร้าว ระหว่างทหารไทยกับทหารต่างชาติของฝรั่งเศส รถถังเบาแบบ 76 จำนวน 2 คันได้บุกตะลุยฝ่ากระสุนปืนไปข้างหน้าอย่างห้าวหาญ จนสามารถบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามจนได้รับชัยชนะเด็ดขาดในที่สุด สร้างตำนานสงครามรถถังครั้งแรกของประเทศไทยเอาไว้อย่างสง่างาม

    ทันทีที่ทราบแน่ชัดว่ามีการก่อกบฎขึ้นแล้ว ฝ่ายรัฐบาลจึงได้เคลื่อนทัพรถถังเบาแบบ 76 มาป้องกันหน้าวังปารุสก์ฐานบัญชาการหลักทันที อาวุธใหม่เอี่ยมชนิดนี้ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดในประเทศ เพราะรถถังเบาแบบ 76 หรือ Carden Loyd 6 tons  Mark E หรือ Vickers 6-Ton Mark E Light Tank หุ้มเกาะแบบเฉียงหนาถึง 13 มม. ติดตั้งอาวุธปืนใหญ่ขนาด 47 มม.รุ่น OQF 3-Pounder Gun จำนวน 1 กระบอก ปืนกลเบาขนาด 7.7 มม. อีกจำนวน 1 กระบอกเคียงคู่กัน (มีรุ่นติดเฉพาะปืนกล 7.7 มม.ลำกล้องแฝดด้วย แต่กองทัพบกไม่ได้จัดซื้อมาใช้งาน) จึงสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มียานยนต์ชนิดไหนในไทยสามารถผ่านรถคันนี้ไปได้ ที่ฝ่ายรัฐบาลรีบเข็นอาวุธสุดทันสมัยออกมาป้องกันตัวเองนั้น เพราะคาดจะว่ามีทหารในพระนครเข้าร่วมกับฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองด้วยนั่นเอง ซึ่งเป็นความคิดที่ถูกต้องทุกประการเพียงแต่พวกเขาไม่ได้มาตามนัดเท่านั้นเอง

    กว่ารถถังเบาแบบ 76 ได้ออกรบจริงๆจังๆก็ปาเข้าไปวันสุดท้ายที่มีการยิงกัน วันที่ 24 ตุลาคม 2476 ที่บริเวณถนนหน้าตลาดดงพระยาเย็นอำเภอปากช่อง ทหารฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองชุดท้ายสุดตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ตั้งรับ ทหารฝ่ายรัฐบาลใช้รถถังเบาแบบ 76 บุกนำหน้าขบวนเข้าไปตามถนนหน้าตลาด เมื่อวิ่งเข้าใกล้เป้าหมายจนถึงระยะยิงหวังผลของปืน ผู้บังคับกองพันจึงออกคำสั่งให้รถถังทำการยิงขู่ออกไป 1 ชุด ทหารชั้นผู้น้อยของอีกฝ่ายรอจังหวะสำคัญอยู่แล้ว จึงรีบโบกธงขาวขอยอมแพ้และมอบตัวแต่โดยดีทุกนาย ปิดฉากเหตุการณ์กบฏบวรเดชลงแบบไม่เสียเลือดเนื้อเพิ่มเติม ไอ้โกร่งปลดประจำการในปี 2495 หลังรับใช้ชาติ 22 ปีเต็มเช่นเดียวกับไอ้แอ้ด

รถไฟ   



    หลังจากเขียนมานานพอสมควรจึงถึงเวลาพระเอกตัวจริงเสียที ในยุคสมัยนั้น(ปี 2476)การเดินทางระหว่างพระนครกับหัวเมืองสามารถทำได้โดย ทางรถไฟ ทางเรือ และทางเกวียนเท่านั้น การขนทหารจำนวนมากและอาวุธหนักใช้ทางรถไฟเท่านั้นจึงจะสะดวกที่สุด ประกอบกับช่วงเดือนตุลาคมอยู่ในช่วงฤดูน้ำหลากแล้ว ทุ่งนาทุ่งข้าวตลอดข้างทางที่ไม่ใช่ที่ดอนล้วนเจิ่งนองไปด้วยน้ำ น้ำ แล้วก็น้ำท่วมขังตลอดพื้นที่ การรบกันระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงทำกันบนรางรถไฟเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมีฝนตกลงมาก็ต้องหาที่หลบใต้ตู้ขบวนโดยสารพลางยิงป้องกันตัววุ่นวายไปหมด บนรางรถไฟที่มีความกว้าง 1 เมตรจากบางซื่อถึงปากช่อง เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในเวลาเพียง 15 วัน มีผู้กล้าหาญมีผู้เสียสละ มีคนหักหลังมีคนวิ่งหนี มีผู้ชนะและมีผู้แพ้ หลังเหตุการณ์นี้จบลงประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทว่าไม่ได้เป็นไปตามที่คณะกู้บ้านกู้เมืองมีความปราถนาแม้แต่น้อย

    ผู้เขียนจะพาไปดูการจัดขบวนรถไฟของทหารฝ่ายรัฐบาล เพื่อตามไปปราบทหารฝ่ายกู้บ้านกู้เมืองซึ่งทราบที่อยู่อย่างชัดเจนแล้ว วันที่ 17 ตุลาคม 2476 รัฐบาลจัดเตรียมทหารจำนวน 2 กองพันพร้อมอาวุธหนักกระสุนปืนและเสบียงครบครัน แล้วยกทัพติดตามไปเพื่อไล่ล่าทหารหัวเมืองฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช ขบวนหน้าสุดจะเป็นรถไฟขบวนเล็กบรรทุกทหารพร้อมอาวุธหนัก รวมทั้งทหารช่างส่วนหน้าเพื่อทำการสำรวจเส้นทางที่ชำรุดจากการกระทำของอีกฝ่าย การเดินทางเป็นไปด้วยความล่าช้ามากเพราะต้องจอดซ่อมรางรถไฟเป็นระยะๆ หรือในบางช่วงก็จะมีตู้ชบวนว่างๆถูกผลักให้ตกรางจึงต้องเสียเวลาเอาออก ขบวนถัดมาจะเป็นหัวรถจักรไอน้ำที่มีใช้งานในเวลานั้น (มีภาพรถจักรสวิส 450 แรงม้าหมายเลข 504 ขณะสวมเกราะกันกระสุน ซึ่งเป็นภาพถ่ายจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นช่วงเวลาเข้าปะทะกันที่ดอนเมืองมากกว่าช่วงเวลาที่ตามไปปากช่อง) บางส่วนของตู้ขบวนจะเป็นรถข.ต.(ข้างต่ำ) สำหรับบรรทุก รถถัง ปืนใหญ่ภูเขา รถปตอ. รถหุ้มเกราะ และที่สำคัญมากที่สุดก็คือ รถปั้นจั่นสำหรับยกอาวุธหนักทั้งหลายขึ้นบนรถข.ต.อีกที บางตู้ขบวนจะเป็นรถตู้ ถ.ค.หรือรถโถงมีหลังคาสุง เพื่อใช้สำหรับโดยสารม้าศึกทั้งหลายรวมทั้งเก็บเสบียง อาวุธ และอื่นๆ น้ำหนักบรรทุกที่ค่อนข้างมากทำให้หัวรถจักรทำความเร็วได้ต่ำกว่าปรกติพอสมควร

    หัวรถจักรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเหตุการณ์กบฎบวรเดช และถือเป็นไอเท็มลับสุดยอดของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองก็คือ หัวรถจักรไอน้ำแปซิฟิค (ฮาโนแมก) หมายเลข 277 สร้างโดยบริษัท แอนโนเวอร์เช แมชชีนเนนเบอะ (ยอร์จ อีเกสทอฟ์ฟ, แฮนโนเวอร์) ประเทศเยอรมัน วันที่ 15 ตุลาคม 2476 มีการขนอาวุธต่างๆเข้ามาปะทะกันตั้งแต่เช้าตรู่ ทหารทั้งสองฝ่ายต่างยันกันไปยันกันมาไม่มีผลแพ้ชนะเด็ดขาด กระทั่งเวลาประมาณ 16:00 น. คือยิงกันไปมาเกือบ 10 ชั่วโมงเต็มแล้ว ระหว่างที่ฝ่ายรัฐบาลรุกคืบหน้าใกล้สถานีสถานีหลักสี่มากขึ้น โดยใช้อาวุธทันสมัยล่าสุดคือปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 เป็นไม้เด็ด กระทั่งหัวขบวนรถไฟอยู่ห่างแนวต้านทหารหัวเมืองไม่ไกลนัก เสนาธิการฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองเห็นว่าทหารคงจะเอาไม่อยู่แล้ว จึงได้ออกคำสั่งให้ปล่อยรถจักรไอน้ำคันนี้ที่จอดติดเครื่องรออยู่ทันที หัวรถจักรเคลื่อนตัวแล่นมาตามทางคู่ขนานด้านตะวันออกจากสถานีดอนเมือง ก่อนคนขับจะเร่งความเร็วขึ้นจนมิดเกจ์แล้วชิงกระโดดหนีออกมาทันที ทหารฝ่ายรัฐบาลเริ่มรู้ตัวเมื่อเห็นหัวรถจักรกำลังจะวิ่งผ่านสถานีหลักสี่ แม้จะพยายามช่วยกันระดมยิงสกัดด้วยปืนใหญ่ภูเขาจำนวนหลายกระบอกแล้วก็ตาม ทว่ากระสุนปืนลูกกระจ้อยร่อยก็มิอาจทำอะไรยักษ์เฮอคิวลิสคันนี้ได้



    หัวรถจักรหมายเลข 277 พุ่งเข้าปะทะขบวนรถไฟของฝ่ายรัฐบาลเสียงดังสนั่นหวั่นไหว แรงปะทะทำให้รถไฟทั้งสองขบวนพลิกคว่ำตกรางในที่สุด ไอเท็มลับสุดยอดยังได้ลากรถไฟฝ่ายรัฐบาลถอยหลังไปไกลประมาณหนึ่งร้อยเมตร  ส่งผลให้ทหารที่อยู่บนรถไฟบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 ใหม่เอี่ยมที่เพิ่งใช้งานได้เพียง 2 วัน และปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 อีกจำนวนหนึ่งเสียหายหนักใช้การไม่ได้ทันที การยิงกันในวันนั้นเป็นอันยุติลงเมื่อรถไฟทั้งสองขบวนจอดสนิท ทหารฝ่ายรัฐบาลช่วยเหลือคนเจ็บออกจากรถแล้วถอยกลับไปตั้งหลักก่อน ทางด้านฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองก็รีบเก็บข้าวเก็บของรวบรวมไพร่พลทุกนาย แล้วพากันขึ้นรถไฟแล่นไปตั้งหลักที่ปากช่องในคืนนั้นเลย

    ไอเท็มลับสุดยอดคือรถจักรไอน้ำหมายเลข 277 เองก็มีความเสียหายหนักมากเช่นกัน นับเป็นการชนะน๊อคที่ต้องสังเวยด้วยตัวเองยังไงยังงั้น เมื่อเหตุการณ์ความวุ่นวายต่างๆภายในประเทศสิ้นสุดลงแล้ว กรมรถไฟได้ทำการซ่อมแซมและนำหัวรถจักรหมายเลข 277 มาใช้งานตามปกติจนหมดอายุ 

บทส่งท้าย

    การเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยในปี 2475 ได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงการจัดหาอาวุธหลักสำคัญๆของประเทศอีกด้วย ในส่วนกองทัพบกที่เป็นกำลังพลใหญ่สุดและสำคัญที่สุด ได้มีการจัดหารถถัง ยานเกราะ และอาวุธปืนกลจากประเทศอังกฤษเป็นหลัก โดยได้เริ่มต้นโครงการจัดหาอาวุธหลังจากตั้งคณะรัฐบาลสำเร็จได้ไม่นาน ตามแผนระยะ 10 ปีจะมีการจัดหารถถังจากอังกฤษรวมทั้งสิ้น 64 คันด้วยกัน (แต่ได้มาเพียง 60 คันเพราะอังกฤษขอยกเลิก 4 คันสุดท้าย) นั่นก็คือ รถถังเบาแบบ 73 จำนวน 10 คัน รถถังเบาแบบ 76 จำนวน 10 คัน รถถังลอยน้ำแบบ 76 จำนวน 2 คัน รถถังเบาแบบ 77 จำนวน 30 คัน รถถังเบาแบบ 81 จำนวน 12 คัน  เมื่อรวมกับรถถังเบาแบบ 83 จากญี่ปุ่นอีก 50 คันที่จัดหาเพิ่มเติมในภายหลังแล้ว ทำให้กองทัพบกไทยมีจำนวนรถถังมากถึง 110 คันเลยทีเดียว ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานมากขึ้นอีกด้วย นอกจากรถสายพานติดปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 76 จำนวน 10 คันแล้ว ยังได้มีการจัดหาปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานแบบ 77 ขนาด 75 มม.จากสวีเดนมาเพิ่มเติมอีก 8 คัน และได้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมป้องกันต่อสู้อากาศยานขึ้นมาทันที

    ด้านกองทัพเรือก็มีการเสริมกำลังขนาดใหญ่เช่นกัน โดยสั่งต่อเรือตอร์ปิโดขนาดใหญ่จากประเทศอิตาลีจำนวน 2 ลำก่อนและอีกจำนวน 7 ลำในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังมีเรือวางทุ่นระเบิดจากอิตาลีจำนวน 2 ลำ เรือสลุปติดปืนใหญ่ 120 มม.ระวางขับน้ำ 1,400 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ เรือตอร์ปิโดเล็กจากญีปุ่นจำนวน 3 ลำ เรือปืนหนักหุ้มเกราะติดปืนใหญ่ขนาด 200 มม.ระวางขับน้ำ 2,340 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ เรือดำน้ำชายฝั่งขนาด 430 ตันจากญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำ เรือวางทุ่นระเบิดระวางขับน้ำ 395 ตันจากอิตาลีจำนวน 2 ลำ และเรือลำเลียงขนาด 1,374 ตันจากญี่ปุ่นอีกจำนวน 2 ลำ นอกจากนี้ยังได้มีการต่อเรือเล็กเรือน้อยในประเทศอีกจำนวนหนึ่ง กองทัพเรือไทยใช้เวลา 10 ปีเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉกเช่นกองทัพบก


    กรมอากาศยานมีการเสริมกำลังเช่นเดียวกัน ก่อนหน้านั้นได้ประจำการด้วยเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดจากฝรั่งเศสเป็นหลัก ทว่าหลังจากปี 2475 เป็นต้นไป ประเทศไทยได้หันไปสนใจเครื่องบินจากประเทศอื่นแทน เริ่มจากการจัดหาเครื่องบินขับไล่แบบ บ.ข.9 (ฮอว์ค 2) จากอเมริกาจำนวน 12 ลำในปี 2476 จากนั้นในปีถัดไปกรมอากาศยานได้สร้างเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิด บ.จ.1 (คอร์แซร์) ลำแรกจากจำนวน 84 ลำ นับเป็นเครื่องบินรบรุ่นแรกสุดที่สร้างเองภายในประเทศ  ปี 2479 ได้สร้างเครื่องบินขับไล่แบบ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) ลำแรกจากจำนวนรวม 74 ลำ นับเป็นเครื่องบินขับไล่รุ่นแรกสุดที่สร้างเองภายในประเทศเช่นกัน กรมอากาศยานหรือกองทัพอากาศในปัจจุบันมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเทียบเท่าเหล่าทัพอื่นๆ โดยมีพัฒนาการที่สำคัญกว่าและลึกซึ้งมากกว่า เพราะสามารถสร้างเครื่องบินขึ้นมาได้เองภายในประเทศ ถ้าทัพอื่นกระโดดหนึ่งก้าวทัพนี้จะถือว่ากระโดดสองหรือสามก้าวก็คงไม่ผิด

    การจัดหาอาวุธหลักสำคัญๆของทุกเหล่าทัพอาจแตกต่างเรื่องที่มาของอาวุธอยู่บ้างก็ตาม แต่ที่เหมือนๆกันก็มีอยู่ข้อหนึ่งและสำคัญมากที่สุด นั่นก็คือจะพยายามหลีกเลี่ยงการจัดหาอาวุธจากประเทศฝรั่งเศส ด้วยว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้นสมัยนั้น หรือเป็นแผนการของทุกเหล่าทัพที่จัดวางไว้แล้วก็ตามแต่

ภาคผนวก :    

    รถไฟไทยเริ่มต้นในรัชกาลที่ 5 (2411-2453) เป็นรถไฟของบริษัทเอกชนเดนมาร์กที่ได้รับสัมปทานในปี 2429 แต่กว่าจะเปิดเดินรถก็จนกระทั่งวันที่ 11 เมษายน 2436 เพราะบริษัทมีทุนน้อยจนรัฐบาลต้องให้ยืมเงิน แต่รถไฟที่มีบทบาทในประเทศไทยคือรถไฟของรัฐบาล กล่าวคือในปี 2430 รัฐบาลได้จ้างวิศวกรชาวอังกฤษสำรวจเส้นทางภาคเหนือและอีสาน ต่อมาในเดือนตุลาคมรัฐบาลได้ตั้งกรมรถไฟ โดยจ้างนายเบทเก (Bethge) วิศวกรเยอรมันเป็นอธิบดี มีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ

    ต่อมารัฐบาลได้ตัดสินใจสร้างรถไฟสายอีสานเป็นสายแรก เพราะขณะนั้นฝรั่งเศสมีท่าทีคุกคามไทยมากที่สุด โดยยึดเขมรและเวียดนามและสิบสองจุไทไปแล้ว ในปี 2434 มีการประมูลสร้างรถไฟสายอีสานช่วงกรุงเทพฯ-โคราช บริษัทอังกฤษชนะการประมูลในราคา 9.96 ล้านบาท เงินค่าก่อสร้างนำมาจากการขายหุ้นหุ้นละ 100 บาท จำนวน 160,000 หุ้น แต่ปรากฏว่าบริษัทอังกฤษสร้างได้ล่าช้ากว่าสัญญามาก รัฐบาลจึงเลิกสัญญาและสร้างเองช่วงกรุงเทพฯ-อยุธยาสามารถสร้างเสร็จและเปิดเดินรถวันที่ 26 มีนาคม 2439 และเสร็จถึงโคราชเปิดเดินรถวันที่ 21 ธันวาคม 2443 ขนาดความกว้างของราง แบบ Standard Guage (1.435 เมตร)

    -ภาคอีสานเปิดเดินรถถึงอุบลราชธานี (สถานีปลายทางอยู่ที่อำเภอวารินชำราบ) เมื่อ 1 เมษายน 2473 ถึงขอนแก่นปี 2476 ถึงอุดรธานีปี 2484 และหนองคายปี 2499 (ร.9)
    -ภาคเหนือถึงปากน้ำโพปี 2848 ถึงเชียงใหม่ปี 2464 เสียเวลา 11 ปีเพื่อสร้างอุโมงค์ขุนตาลยาว 1.3 กม.
    -ภาคใต้ถึงสุไหงโกลกปี 2464 (ร 6)
    -ภาคตะวันออกถึงฉะเชิงเทราปี 2450 อารัญประเทศปี 2469 (ร.7)
    - ภาคตะวันตกถึงสุพรรณบุรี ปี 2502 (ร.9)

    ในสมัยรัชกาลที่ 5 เปิดใช้ทางรถไฟ 932 กม. กำลังก่อสร้าง 690 กม. ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีทางรถไฟเปิดใช้ 2581 กม. กำลังก่อสร้าง 497 กม. จะเห็นได้ว่าเส้นทางรถไฟไทยเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี

หมายเหตุ : 

    ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทางรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือเป็นทางรถไฟที่มีขนาดความกว้างของราง 1.435 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่ได้มาตรฐานสากล และเส้นทางรถไฟสายใต้ของไทยนั้น รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้กู้ยืมเงินจากประเทศอังกฤษมาทำการก่อสร้าง โดยประเทศอังกฤษมีเงื่อนไขว่าไทยจะต้องสร้างทางรถไฟให้ความกว้างของรางมีขนาด 1 เมตร และจะต้องสร้างเชื่อมต่อกับทางรถไฟในประเทศมลายู สถานีหลักของทางรถไฟสายใต้คือสถานีรถไฟบางกอกน้อยทางฝั่งธนบุรี และสถานีหลักในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือคือสถานีหัวลำโพง เพื่อความสะดวกในการเดินทางขนส่ง ทางรัฐบาลไทยจึงต้องตัดสินใจขยับความกว้างของรางรถไฟในเส้นทางสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 1.435 เมตร เป็นขนาด 1 เมตร และยังได้สร้างสะพานพระราม6 เพื่อเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างสายใต้กับสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน การปรับขนาดรางรถไฟใช้เวลานานพอสมควร จนเสร็จหมดทุกสายในปี พ.ศ.2473

    -------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9A%E0%B8%8F%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%8A
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3363.0
http://www.network54.com/Forum/330333/search?searchterm=thai&sort=match
http://www.oocities.org/haadyai.history/source/utapaonihon.html
https://en.wikipedia.org/wiki/QF_2-pounder_naval_gun
http://www.tungsong.com/ram5/Rama5005.html
https://sites.google.com/site/pankungtest/wiwathnakar-rth-thang-thiy
http://portal.rotfaithai.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=1654
http://suwit-history.blogspot.com/2015/06/blog-post_27.html
http://www.wing2rtaf.net/wing2a/wing2/history.html
http://www.dae.mi.th/articles/aeronautical.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_aircraft_of_the_Royal_Thai_Air_Force

                           -------------------------------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Royal Saudi Navy : พัฒนาการของกองทัพเรือซาอุดิอาระเบีย


     กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน มีกำลังพลรวมทั้งสิ้นประมาณ 90,000 นาย (รวมเหล่านาวิกโยธินด้วยประมาณ 30,000 นาย) มีกองบัญชาการหลักอยู่ที่กรุงริยาด ฐานทัพเรือฝั่งตะวันตกในทะเลแดงอยู่ที่เมืองญิดดะฮ์ และฐานทัพเรือฝั่งตะวันออกในอ่าวเปอร์เซียตั้งอยู่ที่เมืองจูเบล นอกจากนี้ยังมีฐานทัพเรือย่อยและอู่ซ่อมบำรุงเรืออยู่ที่เมืองยันบู เมืองอัดดัมมาม และเมืองรัส อัล มิช๊าบ ที่มีฐานทัพอากาศขนาดใหญ่อยู่ใกล้กันอีกด้วย

     ย้อนกลับไปในปี 1960 ซึ่งกองทัพเรือซาอุดิอาระเบียได้ถือกำเนิดขึ้น ช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับอังกฤษประกาศถอนกองกำลังของตนเองออกจากคลองสุเอซฝั่งตะวันออก เมื่อกองทัพเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นซาอุดิอาระเบียได้สั่งซื้อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งและเรือโฮเวอร์คราฟจำนวนหนึ่งจากประเทศอังกฤษ แต่กลับมีอุปสรรคปัญหาต่างๆมากมายทำให้โครงการมีความล่าช้ามากและยกเลิกการจัดซื้อไปในท้ายที่สุด ความพยายามในการจัดหาเรือรบทันสมัยเข้าประจำการยังคงมีอยู่ กระทั่งถึงปี 1969 พวกเขาได้รับเรือเร็วโจมตีตอร์ปิโดชั้น Type140 Jaguar Class ที่สั่งซื้อจากเยอรมันตะวันตกจำนวน 3 ลำโดยใช้ชื่อว่า Dammam class เรือมีความยาว 42.6 เมตร กว้าง 7.1 เมตร กินน้ำลึก 2.1 เมตร ทำความเร็วได้สุงสุด 42 น๊อต ติดตั้งปืนกล 40/70 มม. จำนวน 2 กระบอก ตอร์ปิโดขนาด 533มม. 4 ท่อยิง และระเบิดลึกจำนวน  4 ลูก หรือเปลี่ยนเป็นทุ่นระเบิดจำนวน 4 ลูก Jaguar Class จัดว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุด เพราะเรือลำอื่นๆที่ทยอยเข้าประจำการเป็นแค่เพียงเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเท่านั้น

ความช่วยเหลือจากอเมริกา

     ในปี 1970  กองทัพเรือซาอุดีอาระเบียมีกำลังพลประมาณ 1 พันนายและเรืออีกประมาณ 12 ลำ นับว่ามีขนาดเล็กกว่าชาติเพื่อนบ้านอยู่พอสมควร เวลาเดียวกันนั้นเองอเมริกาได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในอ่าวเปอร์เซีย โดยเข้ามาแทนที่อังกฤษซึ่งถอนตัวออกไปเมื่อ 10 ปีก่อน อิหร่านคือชาติพันธมิตรที่สำคัญที่สุดและมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากที่สุด รัฐบาลของกษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาเลวีลได้สั่งซื้ออาวุธทันสมัยจำนวนมากจากอเมริกาอาทิเช่น เครื่องบินขับไล่ทันสมัยรุ่น F-4 และ F-14 รวมทั้งเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Kouroush Class ติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานทันสมัยรุ่น SM-1 เป็นต้น นอกจากอิหร่านแล้วอเมริกายังได้ให้ความสำคัญกับซาอุดิอาระเบียเป็นพิเศษ ความช่วยเหลือจากแดนไกลได้รวมมาถึงกองทัพเรือที่ยังมีขนาดเล็กมากไปด้วย อเมริกาสร้างฐานทัพเรือขนาดมาตราฐานให้ ฝึกสอนทหารให้มีความรู้ความสามารถในการทำการรบสมัยใหม่ และช่วยจัดตั้งหน่วยนาวิกโยธินให้ชนิดตั้งแต่ตอกตะปูตัวแรกกันเลยทีเดียว ทั้งอเมริกาและซาอุดิอาระเบียมีความเห็นตรงกันว่า ต้องขยายกองทัพเรือให้มีขนาดใหญ่มากขึ้นและทันสมัยขึ้น โดยจะใช้กองทัพเรืออิหร่านเป็นบรรทัดฐานในทุกๆด้าน

     เมื่อกองทัพเรือซาอุดิอาระเบียมีความพร้อมเทียบเท่ามาตราฐานชาติอื่นๆแล้ว อเมริกาจึงได้ทยอยจัดส่งเรือรบและเรือช่วยรบมือสองจำนวนหนึ่งมาให้ตามข้อตกลง เรือกวาดทุ่นระเบิดชายฝั่ง MSC322 Class 4 ลำ เรือลากจูงขนาดใหญ่ 2 ลำ เรือ utility landing craft 2 ลำ เรือ LCM-6 4 ลำ เรือ LCU-1610 4 ลำ และเรือ LCM landing craft อีก 4 ลำ แผนการถัดไปคือการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ปืนขนาด 500 ตัน และเรือตรวจการณ์ขนาด 1,000 ตันติดจรวดต่อสู้เรือรบ ทว่าตอนนั้นเองได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นที่ประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวเปอร์เซีย มีการการทำปฏิวัติในอิหร่านระหว่างปี 1978-1979  โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อขับไล่กษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาเลวี ลงจากอำนาจและก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านขึ้นมาแทน ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบียทนนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะทะเลด้านตะวันออกของประเทศที่เคยมีแต่ความสงบสุข ได้มีกองทัพเรือขนาดใหญ่ของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเข้ามาจ่อคอหอยอย่างไม่ทันตั้งตัว

     กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียได้ขอเปลี่ยนแปลงแบบเรือที่กำลังสั่งซื้อจากอเมริกา โดยขอให้ติดตั้งอาวุธจรวดต่อต้านเรือรบและระบบอาวุธป้องกันตัวเองระยะประชิดบนเรือทุกลำ ปลายปี 1980 เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี (guided missile craft หรือ PGG)  Al Sadiq Class ลำแรกจากจำนวน 9 ลำได้เข้าประจำการในทะเลฝั่งตะวันออก เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 495 ตัน ยาว 58.2 เมตร กว้าง 8.08 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ OTO-Melara 76/62 mm 1 กระบอก ระบบอาวุธป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon 4 นัด ปืนกลขนาด 20 มม. 2 กระบอก เครื่องยิงจรวดขนาด 81 มม. 1 กระบอก ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแฝด 3 ขนาด 324 มม. จำนวน 2แท่นยิง เรดาร์เดินเรือ AN/SPS-55 ระบบโซนาร์หัวเรือ AN/SQS-56/DE1160B ระบบเป้าลวง MK-36 SRBOC 2 แท่นยิง และระบบสงครามอิเลคทรอนิค  AN/SLQ-32(V)1

     ถัดมาอีกเพียง 1 ปีเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีขนาดใหญ่ (larger patrol-chaser missile craft หรือ PCG) Badr Class ลำแรกจากจำนวน 4 ลำได้เข้าประจำการเช่นกัน (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็นเรือคอร์เวต) เรือจากอู่ต่อเรือ Tacoma มีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,038 ตัน ยาว 74.7 เมตร กว้าง 9.6 เมตร กินน้ำลึก 2.6 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ OTO-Melara 76/62 mm 1 กระบอก ระบบอาวุธป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon 8 นัด ปืนกลขนาด 20มม. 2 กระบอก เครื่องยิงจรวดขนาด 81มม. 1 กระบอก ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำแฝด 3 ขนาด 324มม.จำนวน  2 แท่นยิง ยิง เรดาร์เดินเรือ AN/SPS-55 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ  AN/SPS-40B ระบบโซนาร์หัวเรือ  AN/SQS-56/DE1160B ระบบเป้าลวง MK-36 SRBOC 2 แท่นยิง และระบบสงครามอิเลคทรอนิค AN/SLQ-32(V)1

     นอกจากเรือรบสำคัญๆทั้ง 2 แบบนี้แล้ว ซาอุดิอาระเบียได้มีการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขนาด 21 ที่นั่งรุ่น Super Puma จำนวน 12 ลำ และเรือตรวจการณ์ชายฝั่งขนาดเล็กจากฝรั่งเศสอีก 12 ลำเพิ่มเติมด้วย (ต่อมาได้สั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ Super Puma เพิ่มเติมอีก 8 ลำ) รวมทั้งจัดหาเรือกวาดทุ่นระเบิด Sandown class เข้าประจำการเพิ่มเติมอีก 3 ลำ เรือกวาดทุ่นระเบิดจากอังกฤษลำนี้ติดตั้งระบบตรวจจับและทำลายทุ่นระเบิดที่ทันสมัยมาก เรือมีระวางขับน้ำสุงสุด 600 ตัน ยาว 52.5 เมตร กว้าง 10.9 เมตร กินน้ำลึก 2.3 เมตร Sandown class ทั้ง 3 ลำทยอยเข้าประจำการในปี 1991-1994 กองเรือทุ่นระเบิดของพวกเขาจึงมีจำนวนเรือมากถึง 7 ลำด้วยกัน

Sawari I Program

     เรือรบทันสมัยติดจรวดต่อสู้เรือรบจำนวน 13 ลำทำให้กองทัพเรือมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อาวุธและระบบต่างๆที่ติดตั้งอยู่บนเรือล้วนแต่เป็นมาตราฐานเดียวกับกองทัพเรืออเมริกา แต่ถึงอย่างไรก็ตามพวกเขายังคงมีจุดอ่อนขนาดใหญ่มากอยู่ นั่นคือเรื่องการป้องกันภัยที่แอบลักลอบเข้ามาจากใต้น้ำและภัยทางอากาศ จริงอยู่ที่ว่าเรือทั้ง 13 ลำติดตั้งระบบโซนาร์และตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ด้วย แต่ก็มีประสิทธิภาพแค่เพียงป้องกันตัวเองในระยะใกล้เท่านั้นเอง นอกจากนี้พวกเขายังต้องการเรือที่สามารถติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานอีกด้วย จึงจำเป็นจะต้องจัดหาเรือฟริเกตทันสมัยขนาด 2,000 ตันขึ้นไป ติดอาวุธครบทั้ง 3 มิติและรองรับการปฎิบัติการของเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำได้ กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียเริ่มต้นโครงการ Sawari I Program ในปี 1980 และมีการเซ็นสัญญาซื้อเรือในช่วงกลางปี 1982 ฝรั่งเศสคือผู้ที่ได้สัญญาวงเงิน 1.9 พันล้านเหรียญไปครอบครอง แลกเปลี่ยนกับการสร้างเรือฟริเกต Type F-2000S พร้อมอาวุธจำนวน 4 ลำ

      Madina class หรือ Type F-2000S ลำแรกจากจำนวน 4 ลำเริ่มเข้าประจำการในปี 1985 เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,870 ตัน ยาว 115 เมตร กว้าง 12.5 เมตร กินน้ำลึก 4.65 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 100มม. 1 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Otomat ระยะยิง 160 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน Crotale ระยะยิง 11 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่อยิง (สามารถบรรทุกจรวดไปได้มากสุดถึง 26 นัด) ปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara 40mm/70 ลำกล้องคู่ 2 กระบอก ปืนกลขนาด 20 มม. 2 กระบอก  ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324มม. 4 ท่อยิง ติดตั้งโซนาร์หัวเรือ TSM 2022 และโซนาร์ลากท้าย TSM 2630 VDS รวมทั้งมีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์จำนวน 1 ลำที่ด้านท้ายเรือ ระบบสงครามอิเลคทรอนิคประกอบไปด้วย DR4000S intercept และ Janet jammer ติดตั้งระบบเป้าลวง Sagem Dagaie จำนวน 2 ระบบ นอกจากเรือฟริเกตและอาวุธประจำเรือแล้วพวกเขายังได้มีการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทางทะเลรุ่น  AS365 Dauphin จากฝรั่งเศสอีกจำนวน 24 ลำด้วยกัน โดยมีจรวดต่อสู้เรือรบ AS15 TT ระยะยิง 15กม. จำนนวน 221 นัดรวมอยู่ในสัญญาด้วย Sawari I Program ทำให้ซาอุดิอาระเบียมีขุมกำลังทางเรืออันทันสมัยเทียบเท่าประเทศจากค่ายตะวันตก เป็นการยกระดับกองทัพเรือตัวเองให้เข้มแข็งและทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม

 Sawari II Program

     เรือฟริเกต Madina class และเฮลิคอปเตอร์ Dauphin ถือเป็นอาวุธที่ทันสมัยที่สุดในอ่าวเปอร์เซีย ไม่กี่ปีต่อมาอ่าวเปอร์เซียก็ร้อนระอุด้วยไฟสงครามอีกครั้ง แม้ว่าสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านที่เริ่มต้นในเดือนกันยายน 1980 จะได้สิ้นสุดลงในเดือนสิงหาคม 1988 แล้วก็ตาม ทว่าอีกเพียง 2 ปีเท่านั้นคือในวันที่ 2 สิงหาคม 1990 กำลังรบขนาดมหึมาของอิรัคได้เคลื่อนพลเข้ารุกรานและยึดครองคูเวตไว้ทั้งประเทศ แม้จะมีการประณามจากนานาชาติและมีการคว่ำบาตรทางการค้าก็ตาม แต่รัฐบาลอิรัคไม่ได้แยแสเลยซักนิด ซ้ำยังเสริมกำลังรบมากกว่าเดิมและมีท่าทีแข็งกร้าวใส่ การรุกรานคูเวตในครั้งนี้ส่งผลร้ายต่ออิรัคในท้ายที่สุด เนื่องมาจากกำลังรบแทบทั้งหมดในคูเวตต้องล่มสลายลงรวมทั้งกองทัพเรือของพวกเขาด้วย เช้าตรู่วันที่ 17 มกราคม 1991 กองกำลังผสมจาก 10 ชาติได้เริ่มโจมตีกองกำลังอิรัคในคูเวต สงครามอ่าวเปอร์เซียได้ระเบิดขึ้นแล้วหลังความพยายามทางการทูตล้มเหลวลง ปฏิบัติการพายุทะเลทรายใช้เวลาเพียง 100 ชั่วโมงจึงได้ประกาศหยุดยิง กองกำลังผสม 10 ชาติเอาชนะขั้นเด็ดขาดได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว สามารถขับไล่ทหารอิรัคออกไปจากคูเวตและทำลายอาวุธร้ายแรงได้เกือบทั้งหมด ซาอุดิอาระเบียได้เข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ด้วยแต่ไม่ได้ออกโรงมากนัก เรือรบของพวกเขาทุกลำไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย นั่นก็เพราะเรือรบทั้งหมดของอิรัคโดนยิงจมในชั่วโมงแรกสุดของยุทธนาวี

     ความสงบสุขกลับคืนสู่อ่าวเปอร์เซียอีกครั้งหนึ่ง แม้ทุกคนจะรู้ดีว่ามันไม่ยั่งยืนถาวรเท่าไหร่ก็ตาม ระยะเวลา10ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลายชาติได้พัฒนาปรับปรุงและสั่งสมกำลังรบของตัวเองให้ดีขึ้นและมากขึ้น นับรวมไปถึงกองทัพเรืออิหร่านที่ไม่ได้ทำสงครามมานานมากแล้ว พวกเขาได้ซ่อมแซมปรับปรุงเรือรบเก่าๆที่ชำรุดเสียหายให้คืนสภาพพร้อมรบ รวมทั้งสร้างเรือรบรุ่นใหม่ๆขึ้นมาเองในประเทศโดยความช่วยเหลือจากต่างชาติบางประเทศ ความเคลื่อนไหวของอิหร่านอยู่ในสายตาของซาอุดิอาระเบียมาโดยตลอด เพราะภัยคุกคามของพวกเขากำลังเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ตอนนี้เรามาดูกราฟกองทัพเรือของทุกชาติในอ่าวเปอร์เซียช่วงปี 2002 กันหน่อยนะครับ เห็นได้ชัดเจนว่าอิหร่านนำโด่งทั้งเรื่องกำลังพลและอาวุธรบ ซาอุดิอาระบียอาจจะมีเรือฟริเกตและเรือคอร์เวตรุ่นใหม่มากที่สุด แต่อิหร่านก็มีเรือดำน้ำโจมตีทันสมัย Kilo Class จากรัสเซียจำนวน 3 ลำ และเรือเร็วโจมตีติดจรวดต่อสู้เรือรบ C-802 ของจีนจำนวนมากถึง 20 ลำ รวมทั้งมีเรือฟริเกตติดจรวดต่อสู้เรือรบ Sea Killer อีก 3 ลำด้วย นี่เองที่ทำให้กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียต้องจัดหาอาวุธทันสมัยเพิ่มเติมทันที


     Sawari II Program มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเรือฟริเกตที่ใหญ่กว่าและทันสมัยกว่าเรือฟริเกต Madina class หรือ Type F-2000S กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียต้องการเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศที่มีระบบเรดาร์ทันสมัยและมีจรวดต่อสู้อากาศยานระยะยิงปานกลาง ที่ดีพอที่จะหยุดเครื่องบินรบและหรือจรวดต่อสู้เรือรบ C-802 ของอิหร่านได้ โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียจบ หลังจากมีความล่าช้าอยู่พอสมควรจึงได้มีการเซ็นสัญญาซื้อเรือจำนวน 2 ลำในวันที่ 22 พฤษจิกายน 1994 และอีก 1 ลำในวันที่ 20 พฤษภาคม 1997 ฝรั่งเศสคือผู้ที่ได้รับสัญญาซื้อเรือไปครอบครองอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้เป็นแบบเรือ Type F-3000 ซึ่งปรับปรุงมาจากเรือฟริเกต La Fayette class อีกที Sawari II จะเป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัยที่สุดในย่านอ่าวเปอร์เซีย และติดตั้งอาวุธจรวดต่อสู้อากาศยานที่มีประสิทธิภาพสุงมากที่สุดเช่นกัน

     ในปี 2002 เรือฟริเกต  Al Riyadh class หรือ Type F-3000 ลำแรกสุดจากจำนวน 3 ลำได้เข้าประจำการ เรือมีระวางขับน้ำสุงสุด 4,650 ตัน ยาว 133 เมตร กว้าง 17 เมตร รูปทรงเรือทั้งลำลดการตรวจจับจากเรดาร์หรือ Stealth อย่างแท้จริง ติดตั้งปืนใหญ่ Oto Melara 76/62 Super Rapid gun 1 กระบอก ปืนกล Giat 15B ขนาด 20 มม. 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet MM-40 Block 2 จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน  Aster15 ระยะยิง 30 กม.จำนวน 16 นัดติดตั้งอยู่ในระบบแท่นยิงแนวดิ่ง Aster15 ทำงานร่วมกับระบบเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales  Arabel 3D เรดาร์ค้นหาทางอากาศระยะไกล Thales DRBV 26D Jupiter  ระบบอำนวยการรบ SENIT 7 ระบบสงครามอิเลคทรอนิค DR 3000 ESM กับ Salamandre B2 radar jammer และ TRC 281 communications jammer ระบบเป้าลวงใช้ Sagem Dagaie จำนวน 2 ระบบ ถึงจะเป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศแต่มีระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำที่ทันสมัยมาก ติดตั้งระบบโซนาร์ลากท้าย Thales CAPTAS 20 towed array sonar ติดตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 533 มม. DCNS F17 จำนวน 4 ท่อยิง บวกกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ AS365 Dauphin ที่มีระบบสื่อสารแบบเรียลไทม์กับเรือด้วยแล้ว นับว่ามีประสิทธิภาพสุงมากกว่าเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำแท้ๆบางรุ่นเสียด้วยซ้ำ (กองทัพเรือไทยเอาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ 533 มม.ของเยอรมันมาติดกับเรือฟริเกตใหม่บ้างก็ไม่เลวนะครับ เพราะระบบโซนาร์ของเราใช้ของเยอรมันยกชุดอยู่แล้ว) มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญ

     ข้อมูลของเรือฟริเกต Al Riyadh class เป็นข้อมูลทั่วไปที่ผู้อ่านทราบดีอยู่แล้ว แต่ผู้เขียนจะขอย้อนไปยังช่วงแรกสุดของโครงการ Sawari II Program หลังสงครามอ่าวเปอร์เซียเป็นช่วงเศรษกิจตกต่ำทั่วภูมิภาค ซาอุดิอาระเบียเองก็ประสบปัญหานี้เช่นกันจึงได้ตั้งงบประมาณไว้ไม่สุงมาก พวกเขาต้องการเรือฟริเกตขนาด 2,000-4,000 ตันที่ทันสมัยกว่าเรือฟริเกต Madina class ระหว่างดำเนินโครงการอยู่นั้นได้มีการแก้ไขสัญญาหลายครั้งหลายหนด้วยกัน สัญญาจริงที่เซ็นในวันที่ 22 พฤษจิกายน 1994 เป็นแบบเรือที่ปรับปรุงมาจากเรือฟริเกต La Fayette Class มีระวางขับน้ำสุงสุดประมาณ 3,700 ตัน ยาว 122 เมตร กว้าง 16.2 เมตร ติดปืนใหญ่ขนาด 100 มม. 1 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet MM-40 จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน Crotale NG ระยะยิง 11 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่อยิง (สามารถบรรทุกจรวดไปได้มากสุดถึง 26 นัด) ปืนกล Giat 15B ขนาด 20 มม. 2 กระบอก ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม. จำนวน 4 ท่อยิง ซึ่งภายหลังได้มีการแก้ไขสัญญาเปลี่ยนมาใช้จรวดต่อสู้อากาศยาน  Aster15 แทน ส่วนสัญญาของเรือลำที่ 3 แบบเรือจะมีขนาดใหญ่ขึ้นระวางขับน้ำมากขึ้นตามไปด้วย ระบบอาวุธเปลี่ยนไป และติดตั้งระบบเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales  Arabel 3D ท้ายที่สุดซาอุดิอาระเบียขอปรับเปลี่ยนให้แบบเรือ 2 ลำแรกมีแบบเรือเหมือนเรือลำสุดท้ายไปเลย เปิดฉาก Sawari II Program ที่กินเวลายาวนานหลายปีลงไปในที่สุด

Saudi Naval Expansion Program II

     ปลายปี 2008 กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียได้เริ่มต้นโครงการที่ใหญ่ที่สุดและมีมูลค่าสุงที่สุด โดยจะเป็นการจัดหาเรือรบและอาวุธทันสมัยรุ่นใหม่มาทดแทนของเดิม ที่มีขนาดเล็กเกินไปล้าสมัยเกินไปและต้องปลดระวางลงในอีกไม่ช้า โครงการนี้มุ่งเป้าไปยังทะเลฝั่งตะวันออกหรืออ่าวเปอร์เซียเป็นหลัก เพราะภัยคุกคามที่เคยมีในอดีตยังไม่มีแน้วโน้มว่าจะลดลงแต่ประการใด เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถี 9 ลำ และเรือคอร์เวต 4 ลำที่ซื้อจากอเมริกาคือเรือเก่าที่กำลังจะถูกแทนที่ ส่วนเรือฟริเกต Madina class ซึ่งเพิ่งมีการปรับปรุงใหม่ไปไม่นานอาจจะเป็นเฟส 2 ในชื่อโครงการ Sawari III Program มีการประเมินมูลค่ารวมทั้งโครงการไว้ที่ประมาณ 15-20 พันล้านเหรียญ กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียได้ใช้เวลาเตรียมการอยู่หลายปีเต็ม และมีความต้องการเรือในขั้นต้นที่หลากหลายพอสมควรอาทิเช่น เรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ  Arleigh Burke class จากอเมริกา เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ FREMM Class จากฝรั่งเศส และเรือรบอเนกประสงค์ Littoral Combat Ship (LCS) จากอเมริกาเช่นกัน

     กระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ได้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย The letter of request (LoR) ฉบับที่ 2 ระบุรายละเอียด โครงการ Saudi Naval Expansion Program II ดังต่อไปนี้

     1. เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศขนาด 3,500 ตันจำนวน 4 ลำ ติดตั้งระบบแท่นยิงแนวดิ่งจำนวน 8-16 ท่อยิงพร้อมจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล SM-2 ระบบอำนวยการรบ Aegis และระบบเรดาร์ SPY-1F lightweight Aegis radar รองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R ได้ ทำความเร็วได้สุงสุดที่ 35 น๊อต
     2. เรือฟริเกตอเนกประสงค์ขนาด 2,500 ตันจำนวน 6 ลำ รองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R ได้
     3. เรือตรวจการณ์ความเร็วสุงยาว 40-45 เมตรใช้เครื่องยนต์ดีเซล2เครื่องจำนวน 20-24 ลำ  
     4. เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R 10 ลำ
     5. เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลจำนวน 3 ลำสำหรับหน่วยยามฝั่ง
     6. อากาศยานไร้คนขับจำนวน 30-50 ลำ สำหรับใช้งานบนเรือรบและฐานทัพบนชายฝั่ง

     วันที่ 20 ตุลาคม  2015 มีการเผยแพร่เอกสารความต้องการซื้อเรือ Multi-Mission Surface Combatant (MMSC) พร้อมอาวุธจำนวน 4 ลำให้กับสภาคองเกรสของอเมริกา มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 11.25 พันล้านเหรียญและซาอุดิอาระเบียจัดซื้อแบบ FMS (Foreign Military Sale)  เห็นตัวเลขกลมๆแล้วผู้เขียนตกใจพอสมควร แต่พอได้ดูรายละเอียดทั้งหมดแล้วจึงถึงบางอ้อ เพราะทุกอย่างมาครบมาเต็มและมาเกินดังต่อไปนี้ (อุปกรณ์บางอย่างไม่มีตัวเลขจำนวนที่ชัดเจน)

-4 MMSC Ships (Base on Freedom Class)
-5 COMBATSS-21 Combat Management Systems (4 installed,1 spare)
-5 TRS-4D Radars (4 installed,1 spare)
-5 IFF UPX-29 (Identification Friend or Foe) (4 installed,1 spare)
-5 Compact Low Frequency Active Passive Variable Depth Sonar หรือโซนาร์แบบลากท้าย (4 installed,1 spare)
-8 MK-41 Vertical Launch Systems (VLS) (16 cells per ship)
-532 tactical RIM-162 Evolved Sea Sparrow Missiles (ESSM) (128 installed, 20 test and training rounds, 384 spares)
-5 AN/SWG-l (V) Harpoon Ship Command Launch Control Systems (4 installed,1 spare)
-8 Harpoon Shipboard Launchers (installed 4 tube assemblies per ship)
-48 RGM-84 Harpoon Block II Missiles (32 installed, 16 test and training rounds)
-5 MK-15 Mod 31 SeaRAM Close-In Weapon System (CIWS) (4 installed, 1 spare)
-188 RIM 116C Block II Rolling Airframe Missiles (RAM) (44 installed, 12 test and training rounds, 132 spares)
-5 MK-75 76mm OTO Melara Gun Systems (4 installed, 1 spare)
-48 50-caliber machine guns (40 installed (10 per ship), 8 spares)
-Communications equipment employing Link 16 equipment
-Fire Control System/Ceros 200 Sensor and Illuminator
-20mm Nexter's Narwhal 20mm Remote Weapon Station
-MK-32 Surface Vessel Torpedo Tubes
-WBR-2000 Electronic Support Measure and Threat Warning System
-Automatic Launch of Expendables (ALEX) Chaff and Decoy-Launching System
-Nixie AN/SLQ-25A Surface Ship Torpedo Defense System หรือระบบเป้าลวงตอร์ปิโดแบบลากท้าย
-Combined Enterprise Regional Information Exchange System (CENTRIXS)
 -ARC-210 Radios
 -Automated Digital Network System
-Study, design and construction of operations, support and training facilities, spare and repair parts, support and test equipment, publications and technical documentation, personnel training and training equipment, U.S. Government and contractor engineering, technical and logistics support services, and other related elements of logistical and program support
                                                  ---------------------------------------

     เรือ Multi-Mission Surface Combatant (MMSC)ของ Lockheed Martin มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับเรือ Littoral Combat Ship Freedom Class ราวกับฝาแฝด แตกต่างกันตรงที่ MMSC เป็นเรือรบแท้ๆที่ไม่มี modular mission package ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนภารกิจได้อย่างรวดเร็วเหมือน LCS ของอเมริกา เรือมีระวางขับน้ำประมาณ 3,600 ตัน ยาว 118 เมตร กว้าง 17.2 เมตร ติดตั้งระบบ Water Jet สามารถทำความเร็วได้สุงสุดถึง 35 น๊อต พิจารณาโดยรวมแล้วก็จะตรงกับความต้องการข้อที่ 1 พอดี เพียงแต่ว่าระบบอำนวยการรบ Aegis ระบบเรดาร์ SPY-1F และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล SM-2 ถูกเปลี่ยนมาเป็นระบบอำนวยการรบ COMBATSS-21 ระบบเรดาร์ TRS-4D และจรวดต่อสู้อากาศยานระยะปานกลาง ESSM ระยะยิง 50 กม.  ผู้เขียนไม่ทราบเหตุผลที่ได้เปลี่ยนแปลง อาจเป็นเพราะรัฐบาลซาอุดิอาระเบียต้องการลดงบประมาณลง หรือทางอเมริกาตัดสินใจไม่ขายระบบเอจิสและจรวด SM-2 ให้ก็เป็นได้ แต่ทว่าจำนวนจรวด 64 นัดต่อเรือ 1 ลำก็นับว่ามีปริมาณมากพอที่จะป้องกันกองเรือยุทธการในรัศมี 50 กิโลเมตรได้ เพียงแต่ว่าเรดาร์ควบคุมการยิง Ceros 200 ตรวจจับและล๊อคเป้าหมายได้ไม่มากนัก จึงไม่สามารถยิงจรวดแบบซัลโวติดต่อกันหลายนัดเหมือนเรือรบติดระบบเอจิสได้

     ส่วนความต้องการในข้ออื่นๆมีความชัดเจนมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละหัวข้อ ผู้เขียนพอที่จะให้ความเห็นส่วนตัวได้นิดหน่อยอาทิเช่น เรือฟริเกตขนาด 2,500 ตันมีตัวเต็งหนึ่งก็คือแบบเรือ Gowind 2500 จากฝรั่งเศสเจ้าเก่านั่นแหละ ส่วนเต็งสองก็คือแบบเรือ Sigma 10514 Class จากเนเธอร์แลนด์ ในเดือนพฤษภาคม 2015 ที่ผ่านมาซาอุดิอาระเบียได้สั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R จำนวน10 ลำตรงตามความต้องการข้อ 4 พอดี ส่วนความต้องการในข้อที่ 5 ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเครื่องบิน P-8A Poseidon จากอเมริกาเช่นเคย

     จะเห็นได้ว่าคู่ค้าสำคัญของกองทัพเรือซาอุดิอาระเบียก็ยังคงเป็นอเมริกาและฝรั่งเศสเหมือนในอดีต ขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้ดีลใหญ่กว่าและใครจะได้ดีลเล็กกว่าเท่านั้นเอง พัฒนาการของกองทัพเรือซาอุดิอาระเบียเป็นไปตามยุคสมัยและภัยคุกคาม พวกเขาแสดงความสนใจที่จะซื้อเรือดำน้ำโจมตีเช่นกัน มีรายงานในปลายปี 2014 ว่าซาอุดิอาระเบียต้องการซื้อเรือดำน้ำ Type 209 จากเยอรมันจำนวน 5 ลำในวงเงิน 3.4 พันล้านเหรียญ และในอนาคตมีแผนการที่จะจัดหาเรือดำน้ำรวมทั้งสิ้นถึง 25 ลำด้วยกัน เป็นตัวเลขที่น่าตกใจและน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง ว่าชาติที่ไม่เคยมีเรือดำน้ำประจำการมาก่อน จะสามารถจัดหาและใช้งานเรือดำน้ำได้ตามความต้องการจริงหรือไม่ เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญมากของประเทศจากอ่าวเปอร์เซียที่เคยมีเรือรบเพียง 12 ลำในปี 1970


                      ---------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Royal_Saudi_Navy
http://www.globalsecurity.org/military/world/gulf/rsnf.htm
http://www.globalsecurity.org/military/world/gulf/rsnf-modernization.htm
http://www.wikiwand.com/de/Jaguar-Klasse
http://www.deagel.com/Frigates/Al-Madinah_a002832001.aspx
http://militaryedge.org/armaments/al-riyadh-class-f-3000s/
http://www.hazegray.org/worldnav/mideast/saudi.htm
http://www.dsca.mil/major-arms-sales/kingdom-saudi-arabia-multi-mission-surface-combatant-mmsc-ships
http://www.defensenews.com/story/defense/naval/ships/2015/02/28/saudi-eastern-fleet-navy-lcs-frigate-lockheed-aegis-letter-request/24085347/
http://www.navyrecognition.com/index.php/news/defence-news/year-2015-news/october-2015-navy-naval-forces-defense-industry-technology-maritime-security-global-news/3181-kingdom-of-saudi-arabia-may-order-four-multi-mission-surface-combatant-mmsc-ships.html
http://www.defensenews.com/article/20131103/DEFREG04/311030007/Report-Saudi-Arabia-Eyes-Buying-German-Submarines
                      ---------------------------------------------------------------------

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

Vietnam People's Navy : กองทัพเรือเวียดนามกับอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ


     กองทัพเรือประชาชนเวียดนามถือกำเนิดขึ้นในปี 1953 เพื่อดูแลความปลอดภัยในเขตน่านน้ำและเกาะน้อยใหญ่ของสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียตนามใต้ กองทัพเรือเริ่มต้นด้วยทหารหน่วยยามฝั่งจำนวน 500 นายก่อนเพิ่มเป็น 2,500 นายในปี 1964 ระหว่างสงครามเวียดนามที่กินเวลา 19 ปี 5 เดือน 4 อาทิตย์ 1 วัน เวียตนามใต้มีแค่เพียงเรือตรวจการณ์ปืนจากจีนจำนวน  28  ลำและเรือเร็วตอร์ปิโดขนาดเล็กจากโซเวียตอีก 30 ลำเท่านั้น  เรือรบส่วนใหญ่ที่เข้าปะทะฝ่ายกับตรงข้ามจึงเป็นเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน การรบทางทะเลที่หมู่เกาะพาราเซลระหว่างเวียตนามเหนือกับจีนในวันที่ 19 มกราคม 1974  ส่งผลให้เวียตนามและจีนที่เคยร่วมเป็นร่วมตายกันมาจนชนะสงคราม ต้องแตกคอกันในที่สุดเพราะการอ้างกรรมสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนแห่งนี้

     หลังสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975 พวกเขาได้ครอบครองเรือรบของกองทัพเรือสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียตนามเหนือมาได้จำนวนหนึ่ง ทว่าเป็นเพียงเรือตรวจการณ์ชายฝั่งและเรือวางทุ่นระเบิดขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ เรือพิฆาตคุ้มกันและเรือฟริเกตจำนวน 9 ลำได้ถูกโอนไปให้ฟิลิปปินส์ตัดหน้าไปแล้วถึง 7 ลำ เมื่อรวมกับเรือของตัวเองแล้วกองทัพเรือเงียตนามจึงมีขนาดใหญ่โตขึ้น สงครามสิ้นสุดไปแล้วแต่ปัญหาต่างๆก็ยังไม่จบตาม เพราะเรือรบที่ได้มาติดตั้งอาวุธและระบบต่างๆจากตะวันตก ทำให้การใช้งานดูแลหรือซ่อมบำรุงเป็นไปด้วยความยากลำบาก รัฐบาลจึงมีแผนเพื่อปฎิรูปกองทัพเรือให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยติดตั้งอาวุธและระบบต่างๆเป็นมาตราฐานเดียวกัน

      ระหว่างปี 1978 ถึง 1990 ความช่วยเหลือจากโชเวียตประกอบไปด้วยเรือรุ่นต่างๆมากพอสมควร เรือฟริเกตชั้น Petya II จำนวน 2 ลำเดินทางมาถึงเป็นชุดแรก จากนั้นไม่นานก็เป็นเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Osa โซเวียตยังสร้างฐานทัพเรือขนาดมาตราฐานเพิ่มเติมให้ด้วย แต่เวียตนามไม่ได้นิ่งนอนใจรอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว พวกเขามีความพยายามที่จะยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง และแล้วโครงการ TP-01 ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1977 เป็นโครงการต่อเรือตรวจการณ์ขึ้นมาเองภายในประเทศ 3 ปีถัดจากนั้นที่อู่ต่อเรือ Ba Son เรือตรวจการณ์ HQ-251 ถูกปล่อยลงน้ำและเข้าประจำการในปีถัดไป ถัดมาไม่นานนักจึงเป็นคิวของโครงการ TP-01M ซึ่งก็คือเรือ HQ-253 เรือทั้ง 2 ลำมีความคล้ายคลึงกับเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำ Type 037 Hinan ของประเทศจีนราวกับฝาแฝด

     หลังสิ้นสุดโครงการไม่ได้มีการต่อเรือเพิ่มหรือปรับปรุงแบบเรือให้ทันสมัยขึ้น สาเหตุแรกเป็นเพราะเรือต้นแบบจากจีนเองก็มีปัญหาในการใช้งานอยู่พอสมควร ทั้งนี้เนื่องมาจากเทคโนโลยีการต่อเรือของจีนในสมัยนั้นยังไม่ก้าวหน้าและอยู่ในขั้นลองผิดลองถูก เรือทั้ง 2 ลำของเวียตนามจึงมีสถานะใช้งานไปซ่อมแซมไปจนถึงวันปลดประจำการ  สาเหตุถัดไปเกิดจากทั้งสองประเทศเริ่มมีความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น  ทำให้ความช่วยเหลือทางการทหารจากจีนค่อยๆน้อยลงจนสิ้นสุดในเวลาต่อมา การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆมาให้จึงสิ้นสุดลงไปด้วยโดยปริยาย

     ก้าวเข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 90  หลังการล่มสลายของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต กองทัพเรือเวียดนามแทบไม่ได้จัดหาเรือรบรุ่นใหม่เพิ่มเติมเลย ที่พอจะมีอยู่บ้างก็เป็นเรือจากเกาหลีเหนืออาทิเช่นเรือดำน้ำขนาดเล็ก และเมื่อไม่มีความช่วยเหลือจากต่างประเทศการต่อเรือรบใช้เองก็แทบเป็นไปได้ พวกเขาจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการซ่อมแซมเรือเก่าให้ใช้งานได้เป็นพัลวัน กระทั่งสหพันธรัฐรัสเซียเริ่มเข้มแข็งทางด้านอุตสาหกรรมทางทหารมากขึ้น โครงการจัดหาเรือรบรุ่นใหม่ของเวียตนามจึงเป็นรูปเป็นร่าง เรือตรวจการณ์อาวุธปืนความยาว 50 เมตรชั้น Svetlyak จำนวน 6 ลำคือออเดอร์แรกสุด ตามมาด้วยเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Tarantul-I จำนวน 4 ลำ  และเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น BPS-500 อีก 1 ลำ ทั้งนี้เพื่อทดแทนเรือรุ่นเก่าๆที่หมดสภาพและต้องปลดประจำการเสียที

     เมื่อมีเรือรบรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเข้าประจำการแล้วความจำเป็นเร่งด่วนจึงหมดไปด้วย กองทัพเรือเวียดนามเริ่มต้นเดินหน้าในเรื่องสำคัญๆทันที การต่อเรือภายในประเทศถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเตรียมตัวอยู่หลายปีโครงการ TT400TP จึงได้เริ่มต้นขึ้น เรือตรวจการณ์ความยาว 54 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 455 ตันเริ่มต้นวางกระดูกในปี 2009 ก่อนปล่อยลงน้ำในปี 2011 และเข้าประจำการในปีถัดมา เรือชั้นนี้สามารถวิ่งด้วยความเร็วสุงสุดได้ถึง 32 น๊อต และด้วยความเร็วเดินทาง 15 น๊อตจะมีระยะปฎิบัติการ 2,500 ไมล์ทะเล เรือชั้น TT400TP เข้าประจำการแล้ว 4 ลำและอยู่ในระหว่างสร้างอีก 2 ลำ  ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ  AK-630 ขนาด 30 มม. 1 กระบอก ปืนกล 14.5 มม. 2 กระบอก และแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน  MANPAD รุ่น 9K38 Igla แบบถอดเก็บได้ 1 แท่น ติดตั้งอยู่บนดาดฟ้ากลางเรือค่อนไปทางท้าย

      แท่นยิงจรวด MANPAD แบบถอดเก็บได้เป็นระบบที่น่าสนใจมาก ตัวแท่นยิงเป็นเหล็กสุงระดับไหล่พร้อมจุดติดตั้งเลื่อนสุงต่ำได้ แค่นำอาวุธมาวางทาบแล้วกดล๊อคเข้าตำแหน่งก็พร้อมใช้งานแล้ว จุดติดตั้งที่แข็งแรงช่วยในการเล็งเป้าหมายได้ดีกว่าการประทับบ่ายิงโดยตรง อาทิเช่น ในกรณีคลื่นลมแรงทัศนะวิสัยไม่ดีจะเห็นผลต่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อไม่ใช้งานสามารถนำจรวดจัดเก็บภายในตัวเรือยืดอายุการใช้งานได้อีก หรือเลือกที่จะย้ายไปยิงด้านหน้าเรือด้านข้างเรือตามแต่สถานะการณ์ ถ้ากองทัพเรือไทยจะคิดปรับปรุงดัดแปลงใช้งานบ้างผู้เขียนก็เห็นดีด้วย

     ต่อจากโครงการ TT400TP ก็เป็นโครงการเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น  Molniya ( ซึ่งเวียตนามเรียกว่าเรือคอร์เวต ) เรือมีความยาว 56.9 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 550 ตัน ทำความเร็วสุงสุดได้ถึง 38 น๊อต ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ AK-630 ขนาด 30 มม. 2 กระบอก และจรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 16 นัด เวียตนามได้ลิคสิทธิ์ต่อเรือจากรัสเซียจำนวน 12 ลำ บวกออปชั่นเสริม 4 ลำ อู่ต่อเรือ Ba Son ได้ต่อเรือจำนวน 6 ลำเข้าประจำการแล้ว และอยูในระหว่างการสั่งซื้ออีก 4 ลำครบตามแผนคือ 10 ลำ เวียตนามยังเหลือโควต้าต่อเรือชั้น Molniya อีก 6 ลำ สำหรับอนาคตหรืออาจขายให้กับชาติอื่นๆก็เป็นได้

    นอกจากเรือรบติดอาวุธทั้ง 2 แบบแล้ว กองทัพเรือเวียดนามยังได้ต่อเรือช่วยรบชนิดอื่นๆอีกหลายลำด้วยกัน อาทิเช่น เรือลำเลียงทหารชั้น K 122 หมายเลขเรือ HQ-571 ต่อด้วยเรือพยาบาลชั้น Z189 หมายเลขเรือ HQ-561  และเรือสำรวจและวิจัยทางทะเลชั้น HSV-6613 หมายเลขเรือ HQ-888  โดยใช้แบบเรือของ Damen เนเธอร์แลนด์แต่ต่อโดยอู่ต่อเรือ Song Thu ของเวียตนาม มีระวางขับน้ำประมาณ 1,500 ตัน ยาว 66.3 เมตร เซึ่งก็ป็นแบบเรือเดียวกันกับเรือหลวงพฤหัสบดีของเรานี่แหละ เพียงแต่รายละเอียดบางอย่างแตกต่างกันออกไปบ้างเท่านั้นเอง

     เพื่อจะมองภาพรวมให้กว้างขึ้นผู้เขียนจะขอข้ามไปพูดถึงหน่วยยามฝั่งเวียตนามซักครู่หนึ่ง หน่วยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกประชาชนเวียดนามได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1998 หน้าที่หลักก็เหมือนหน่วยยามฝั่งประเทศอื่นๆแต่เรือที่ใช้งานค่อนข้างน่าสนใจ ผู้เขียนได้พูดถึงเรือตรวจการณ์ TT400TP ไปแล้วว่ากองทัพเรือเวียตนามมีจำนวน  6 ลำ ทางด้านหน่วยยามฝั่งเวียตนามก็มีเรือชั้นนี้เช่นกันโดยใช้ชื่อรุ่น TT400 ติดเพียงอาวุธปืนกลขนาด 23 มม. มีการจัดหาทั้งหมด 8 ลำและเข้าประจำการแล้ว 5 ลำ นอกจากนี้ในตระกูลเดียวก็ยังมีเรือชั้น TT200 ระวางขับน้ำ 200 ตัน มีการจัดหาทั้งหมดจำนวน 10 ลำ และเรือชั้น TT120 ระวางขับน้ำ 120 ตัน มีการจัดหาอีกจำนวน 5 ลำตามแผนการ

     ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงเรือตรวจการณ์สำคัญที่สุดของหน่วยยามฝั่งเวียตนาม นั่นคือเรือชั้น DN 2000 ซึ่งใช้แบบเรือ Damen 9014 จากเนเธอร์แลนด์มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งาน เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีความยาว 90 เมตร ระวางขับน้ำ  2,500 ตัน ต่อที่อู่ต่อเรือ Ha Long ซึ่งเป็นอู่ในเครือ Damen Group ที่ได้ลงทุนมาสร้างให้ถึงเวียตนาม ทำไมถึงได้กล้าลงทุนขนาดนี้ เป็นเพราะปริมาณยังไงล่ะครับ ตามแผนการที่วางไว้เรือชั้น DN 2000 จะมีจำนวนถึง 9 ลำด้วยกัน เรือ DN 2000 เข้าประจำการแล้ว 2 จาก 4 ลำแรก และอีก 5 ลำที่เหลือกำลังรอคำสั่งซื้อในเฟสถัดไป ตามแผนการที่วางไว้หน่วยยามฝั่งเวียตนามจะมีเรือรวมทั้งสิ้น 48 ลำ เรือที่ไม่ได้ต่อเองในประเทศก็จะนำเข้าจากเกาหลีใต้และเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก บวกด้วยเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กรุ่นเก่าของรัสเซียอีก 5 ลำ

     อุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศเวียตนามรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทว่ายังคงเป็นเพียงการต่อเรือช่วยรบและเรือรบติดอาวุธขนาดไม่เกิน 600 ตันเท่านั้น ส่วนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น DN 2000 ขนาด 2,500 ตันก็ยังไม่ใช่การต่อด้วยมาตราฐานเรือรบแท้ๆ การจัดหาเรือรบขนาดใหญ่ของพวกเขายังคงเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ในปี 2006 กองทัพเรือเวียตนามได้สั่งซื้อเรือฟริเกตชั้น Gepard 3.9 จากรัสเซียจำนวน 2 ลำวงเงิน 350 ล้านเหรียญและ เข้าประจำการแล้ว ต่อมายังได้สั่งซื้อเรือแบบเดียวกันเพิ่มอีก 2 ลำในปี 2011 ขณะนี้อยู่ระหว่างสร้าง นอกจากนี้ในอนาคตก็จะสั่งเพิ่มอีก 2 ลำครบ 6 ลำตามความต้องการ เรือมีความยาว 102 เมตร ระวางขับน้ำ 2,100 ตัน  ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ AK-630 ขนาด 30 มม. 2 กระบอก ระบบ CIWS Palma (หรือ Kashtan รุ่นส่งออก) 1 ระบบ ประกอบไปด้วยปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ 30 มม. 2 กระบอกและจรวดต่อสู้อากาศยาน SA-N-11 ระยะยิง 8 กิโลเมตรจำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 8 นัด มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่น Kamov Ka-27 แต่ไม่มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์

     เรือฟริเกต Gepard 3.9 มีความทันสมัยมากก็จริง แต่มีจุดอ่อนสำคัญคือทำการรบได้เพียง 2 มิติเท่านั้น เนื่องมาจากเรือไม่มีระบบอาวุธต่อต้านเรือดำน้ำและโซนาร์ทางการทหารแต่อย่างใด มีเพียงเฮลิคอปเตอร์ Ka-27 ในการไล่ล่าเรือดำน้ำเท่านั้น ถ้าโดนเรือดำน้ำตลบหลังคงลำบากเพราะไม่มีอะไรป้องกันตัว ภารกิจปราบเรือดำน้ำยังคงเป็นหน้าที่ของเรือฟริเกตจากยุคทศวรรษที่ 50 ชั้น Petya II  จำนวน 5 ลำ เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำมีความยาว 81 เมตร ระวางขับน้ำ 1,150 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-726 ขนาด 76 มม.ลำกล้องแฝด จำนวน 2 กระบอก  จรวดต่อต้านเรือดำน้ำ RBU-6000  12 ท่อยิงจำนวน 2 ระบบ แท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.แฝด 5 จำนวน 2 ระบบ ติดตั้งโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำและระบบ VDS (variable depth sonar) เรือจำนวน 2 ใน 5 ลำถูกดัดแปลงให้ติดอาวุธปืนกลขนาด 23 มม. และ 37 มม.แทนที่อาวุธเก่า โดยยังคงมีแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.แฝด 5 จำนวน 1 ระบบไว้ด้านท้ายเรือ เนื่องจากเรือมีอายุการใช้งานมากพอสมควร ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าระบบโซนาร์จะยังทำงานได้ตามปรกติหรือไม่ ให้เดาก็คงคาดว่าเรือ 2 ลำที่ถูกดัดแปลงระบบโซนาร์คงใช้งานไม่ได้แล้ว

     นอกจากเรือรบรุ่นใหม่จำนวนมากจากประเทศรัสเซียแล้ว กองทัพเรือเวียตนามยังได้สั่งซื้อเรือรบจากประเทศเนเธอร์แลนด์อีกด้วย อู่ต่อเรือ Damen ได้รับคำสั่งซื้อเรือฟริเกตชั้น SIGMA 9814 จำนวน 2 ลำจากความต้องการรวม 4 ลำ โดยจะเป็นการต่อเรือที่เนเธอร์แลนด์ 1 ลำและในเวียตนามอีก 1 ลำ ติดตั้งอาวุธและระบบต่างๆจากค่ายตะวันตกทั้งหมด ปืนใหญ่อัตโนมัติ Oto Melara ขนาด 76 มม.1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara  MARLINขนาด 30 มม. จำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Exocet  MM40 Block 3 จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน MICA VL  จำนวน 12 นัด ตามแบบโมเดลเรือที่จัดแสดงได้ติดตั้งระบบโซนาร์ด้วย จึงคาดว่าน่าจะมีแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.รวมอยู่ด้วย เรือ SIGMA 9814 มีขนาดเล็กกว่าเรือ Gepard 3.9 อยู่นิดหน่อย ทว่ามีอาวุธครบทั้ง 3 มิติและมีความทันสมัยมากกว่า ผู้เขียนไม่คิดว่ากองทัพเรือเวียตนามจะนำเรือ SIGMA 9814 มาใช้ในกองเรือปราบเรือดำน้ำ เพราะเป็นเรือรบทันสมัยมากที่สุดติดจรวดต่อสุ้อากาศยานที่ดีที่สุดมีระยะยิงไกลมากที่สุด เรือฟริเกตชั้นนี้จึงน่าจะมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มากกว่าเรือลำอื่นๆ

     แล้วเวียตนามจะใช้เรือรบชนิดไหนในการไล่ล่าเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม นอกจากเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Petya จำนวน 3 ลำแล้ว พวกเขายังได้สั่งซื้อเรือดำน้ำพิฆาตชั้น Kilo 636M จากรัสเซียจำนวนถึง 6 ลำด้วยกัน เรือยาว 70 เมตร ระวางขับน้ำประมาณ 3,000 ตัน ติดตั้งได้ทั้งตอร์ปิโดขนาด 533 มม. ต่อสู้เรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ จรวดต่อสู้เรือรบรุ่น 3M-54 Klub และจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่น SA-N-8 Gremlin ในเวอร์ชั่นเวียตนามอาจมีการลดสเป็กอุปกรณ์บางอย่างลง แต่ก็ยังติดตั้งโซนาร์ตระกูล  MGK 400E ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับไกลมาก

     ก่อนหน้านี้ในปี 1997 เวียตนามมีเรือดำน้ำแล้ว 2 ลำด้วยกัน โดยเป็นเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือชั้น Yugo ความยาว 20 เมตร ระวางขับน้ำประมาณ 110 ตัน  รองรับการติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือผิวน้ำขนาด 533 มม.ได้ 2 นัด หรือบรรทุกเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษได้มากสุด 6 นาย  เรือชั้น Yugo ของเวียตนามน่าจะเป็นเวอร์ชั่นสำหรับฝึกเท่านั้น และอาจจะเป็นเรือดำน้ำมือสองที่ผ่านการใช้งานมาพอสมควร สถานะปัจจุบันไม่แน่ใจอาจปลดประจำการแล้วก็เป็นได้  กลับมาที่เรือดำน้ำใหม่เอี่ยมชั้น Kilo อีกครั้ง เรือจำนวน 4 ลำได้ทำการส่งมอบและเข้าประจำการเรียบร้อยแล้ว เรือดำน้ำอีก 2 ลำที่เหลืออยู่ระหว่างการทดสอบในอู่ต่อเรือประเทศรัสเซีย ในดีลนี้ไม่มีการต่อเองในประเทศเพราะเทคโนโลยีของอู่ต่อเรือในเวียตนามยังคงก้าวไม่ถึง

     ผู้เขียนพอสรุปได้ว่า เรือฟริเกต SIGMA 9814 ลำที่ 2 ที่จะสร้างในอีก 1-2 ปีข้างหน้า จะเป็นเรือฟริเกตลำแรกของเวียตนามที่ต่อขึ้นเองในประเทศ และเรือฟริเกต SIGMA 9814 ในเฟส 2 อีกจำนวน 2 ลำก็น่าจะต่อเองในประเทศเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ถ้าเวียตนามมีความพร้อมและเจราจากับรัสเซียดีๆแล้วล่ะก็ เรือฟริเกต Gepard 3.9  เฟสสุดท้ายจำนวน 2 ลำก็น่าจะมีการต่อในประเทศด้วยเช่นกัน

     จำนวนอู่ต่อเรือในประเทศเวียตนามนับรวมได้ประมาณ 32 แห่ง อู่ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกก็คือ Ha Long Ba Son และSong Thu ซึ่งมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือค่อนข้างทันสมัย สามารถรองรับการก่อสร้างและซ่อมบำรุงเรือรบขนาด 5,000 ตันได้อย่างสบาย นอกจากนี้เวียตนามยังสามารถส่งออกเรือได้เป็นครั้งแรกแล้ว โดยในวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 อู่ต่อเรือ Ha Long ได้ทำพิธีปล่อยเรือระบายพลขนาดใหญ่ชั้น RoRo 5612 ลงน้ำ กองทัพเรือบาฮามาส (หรือกองกำลังป้องกันตนเองบาฮามาส) ได้สั่งซื้อเรือลำนี้พร้อมกับเรือตรวจการณ์ 8 ลำจาก Damen Group บริษัทแม่ในเนเธอร์แลนด์ได้ส่งงานต่อเรืออเนกประสงค์ Stan Lander 5612 มาที่อู่ต่อเรือในเวียตนาม เรือมีความยาว 56.2 เมตร กว้าง 12 เมตร กินน้ำลึก 2.7 เมตร จะทำหน้าที่เป็นเรือพี่เลี้ยงให้กับเรือตรวจการณ์ของกองทัพเรือบาฮามาส และยังสามารถทำหน้าที่อื่นๆได้อย่างหลากหลาย ทั้งบรรทุกขนส่งสิ่งของเครื่องจักรขนาดใหญ่ หรือจะเป็นสัมภาระ น้ำดื่ม น้ำมัน ลำเลียงทหารและตำรวจ จนถึงติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ได้อีกด้วย

     โอกาสที่อู่ต่อเรือจากเวียตนามจะรับงานนอกประเทศเองเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเป็นงานรับช่วงต่อมาอีกทีเหมือนดีลเรือบาฮามาสก็ช่างน่ารักน่าลุ้น กองทัพเรือเวียตนามยังมีความต้องการเรือรุ่นใหม่ๆอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่จะหนักไปทางเรือตรวจการณ์ขนาดต่างๆและเรือช่วยรบรูปแบบต่างๆ เช่น เรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกบรรทุกรถถัง เรือขนส่งน้ำมัน หรือเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดเป็นต้น
 
     โครงการในอนาคตของกองทัพเรือเวียตนาม ก็น่าจะเป็นการจัดหาเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำทดแทนเรือฟริเกตชั้น Petya II ผู้เขียนเดาใจไม่ถูกว่าจะมีการจัดหาทดแทนหรือโอนหน้าที่ไปให้กองเรือดำน้ำเลย เนื่องมาจากพวกเขาจะมีเรือฟริเกตรุ่นใหม่10 ลำในการป้องกันประเทศอยู่แล้ว และยังลงทุนไปมากโขกับกองเรือดำน้ำจำนวน 6ลำ ซึ่งทำการรบได้ครบทั้ง 3 มิติ แฟนเพจชาวเวียตนามได้คาดเดาว่าน่าจะเป็นเรือฟริเกตชั้น SIGMA 10514 ของเนเธอร์แลนด์ คงเป็นเพราะมีการจัดหาเรือฟริเกต SIGMA 9814 จำนวน 2 ลำแล้วนั่นเอง ทว่าเรือ SIGMA 10514 ติดระบบตรวจจับเรือดำน้ำทันสมัยจะมีราคาค่อนข้างแพงพอสมควร งบประมาณที่กองทัพเรือตั้งไว้อาจจะบานปลายได้โดยง่าย

     ก่อนหน้านี้ประมาณ 3-4 ปี เรือจากรัสเซียที่แฟนเพจชาวเวียตนามพูดถึงก็คือเรือชั้น SKR-2100 ( ซึ่งเป็นแบบเรือของหน่วยยามฝั่งรัสเซียที่ไม่ได้มีการสร้างขึ้นมาจริง ) เรือชั้นนี้มีระวางขับน้ำประมาณ 3,000 ตัน ติดอาวุธปืนใหญ่อัตโนมัติขนาด 100 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 6 ลำกล้องรวบ AK-630 ขนาด 30 มม. 2 กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ Kh-35 Uran-E จำนวน 8 นัด ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.จำนวน 4 ท่อยิง  จรวดต่อสู้อากาศยาน Shtil-1 Buk missile system จำนวน 24 นัดจากระบบ VLS จำนวน 3 หน่วย ท้ายเรือมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำรุ่น Kamov Ka-27 พร้อมโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ 1ลำ ติดตั้งระบบโซนาร์ขนาดปานกลางราคาไม่แพงมาก

     เรือชั้น SKR-2100 มีอาวุธครบครันทั้ง 3 มิติโดยเฉพาะระบบอาวุธต่อสู้อากาศยาน ซึ่งถ้าเวียตนามซื้อมาใช้ในภารกิจปราบเรือดำน้ำคงไม่ใช่แบบนี้แน่ เพราะเรือจะมีราคาแพงจนเกินงบประมาณไปไกลโข อีกทั้งยังไม่รู้ว่ารัสเซียจะขายจรวด Shtil-1ให้หรือไม่ ผู้เขียนคาดว่าอาจจะเปลี่ยนเป็นปืนใหญ่อัตโนมัติ AK-176 ขนาด 76 มม. 1 กระบอกด้านหัวเรือ ส่วนระบบจรวดต่อสู้อากาศยานก็คงตัดทิ้งเหลือเพียงระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำเท่านั้น

     ผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่าเรือฟริเกตชั้น Gepard ติดระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำได้หรือไม่ คำตอบก็คือสามารถติดได้ครับเพราะเรือ Gepard Pr11661 ของรัสเซียติดตั้งโซนาร์ประสิทธิภาพสุงราคาแพง 2 ระบบ มีท่อยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 533 มม.จำนวน 4 ท่อยิง และจรวดต่อต้านเรือดำน้ำ RBU-6000 12 ท่อยิงจำนวน 2 ระบบด้านหัวเรือ แต่การปรับปรุงเรือน่าจะมีราคาแพงพอสมควรเลยทีเดียว ทั้งยังไม่แน่ใจว่ารัสเซียจะขายระบบโซนาร์รุ่นนี้ให้หรือไม่  เทียบกับการติดตั้งโซนาร์ขนาดเล็กกว่ากับตอร์ปิโดปรบเรือดำน้ำขนาด 406 มม.จำนวน 4 ท่อยิงในตำแหน่งเดียวกับเรือชั้น SKR-2100 แล้ว ดูจะมีราคาถูกกว่ากันพอสมควรรวมทั้งราคาตอร์ปิโดด้วย หรืออาจจะข้ามสายพันธ์ไปติดตั้งระบบโซนาร์จากค่ายตะวันตก และตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.แทนก็เป็นไปได้ ส่วนจะใช้งานได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับบริษัทที่รับปรับปรุงเรือ ใครอยากได้ดีลนี้ข้ามศพ Damen Group ไปก่อน (ขอซักมุขเถอะ)

     โครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำของกองทัพเรือเวียตนามยังไม่มีความความชัดเจน แต่โครงการที่จะเกิดก่อนแน่ๆก็คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งระวางขับน้ำประมาณ 2,000 ตัน แม้หน่วยยามฝั่งเวียตนามจะมีแผนจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น DN2000 จำนวนถึง 9 ลำอยู่แล้วก็ตาม แต่เรือติดอาวุธแค่เพียงปืนกลขนาดเล็กและใช้ในภารกิจค้นหากู้ภัยบังคับใช้กฎหมายกลางทะเล ส่วนทางด้านเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งของกองทัพเรือเวียตนาม จะเน้นในภารกิจป้องปรามลาดตระเวณพื้นที่สุ่มเสียงและติดอาวุธหนักกว่ากัน  ปลายปี 2014 ได้เคยมีข่าวกับเรือตรวจการณ์จากอินเดียจำนวน 4 ลำ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเรือชั้น Saryu ระวางขับน้ำ 2,300 ตัน คงต้องรอดูกันต่อไปว่าท้ายที่สุดจะเป็นจริงตามนี้หรือไม่ คาดว่าไม่เกินกลางปีหน้าโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งน่าจะได้ข้อสรุป

      กองทัพเรือประชาชนเวียดนามกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดแต่เป็นระเบียบ อาวุธและอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นของรัสเซียบวกกับค่ายตะวันตกที่เริ่มมีเข้ามาเรื่อยๆ อุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศก็กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดตามกัน ปริมาณเรือจำนวนมากทำให้พวกเขาสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ ทว่าอีก10ปีข้างเมื่อความต้องการภายในประเทศลดน้อยลง เราจะมาดูกันอีกทีว่าพวกเขาจะก้าวข้ามปัญหาต่างๆที่ตามมาได้หรือไม่และอย่างไร


-----------------------------------------------------------------------


อ้างอิงจาก

http://www.shephardmedia.com/news/mil-log/damen-roro-5612-launches-vietnam/
https://en.wikipedia.org/wiki/Vietnam_People%27s_Navy
https://en.wikipedia.org/wiki/Vietnam_Coast_Guard
http://defenceforumindia.com/forum/threads/vietnam-launches-first-locally-made-warship.30262/
http://www.globalsecurity.org/military/world/vietnam/navy.htm
http://www.vietnamshipbuildingnews.com
http://www.globalsecurity.org/military/world/vietnam/navy.htm
http://defence.pk/threads/vietnam-military-news-discussion.211882/page-141
------------------------------------------------------------------


วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

PGM-997 โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997

โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997

     วันนี้ผู้เขียนขอนำทุกท่านมาสู่บทความแห่งจินตนาการกันบ้าง หลังจากได้อ่านเรื่องเครียดๆกันไปเยอะแล้วจึงเป็นเวลาพักผ่อน บทความนี้เป็นการจิตนาการถึงโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งลำใหม่ ที่ได้พัฒนาต่อยอดจากเรือที่เข้าประจำการไปแล้ว แต่จะขอกล่าวปูพื้นถึงโครงการเดิมก่อนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันและชัดเจน

โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา

     โครงการเรือตรวจเรือใกล้ฝั่งเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นการต่อยอดโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.91 ถึงต.99 ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีจุดเริ่มต้นจากพระราชกระแสรับสั่งแก่ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวลและผู้เข้าเฝ้า ฯ ณ วังไกลกังวล เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือ ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2545 ความว่า “เรือรบขนาดใหญ่มีราคาแพงและมีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานสูง กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสมและสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้นและสร้างเพิ่มเติม” ทั้งยังได้มีพระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงโดยได้ทรงยกตัวอย่างจากการพึ่งพาตนเองในโครงการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ในอดีตของกองทัพเรือ

     ในช่วงเวลานั้น กองทัพเรือได้มีแผนปลดประจำการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากใช้งานมานานประมาณ 40 ปีแล้ว กองทัพเรือจึงได้นำพระราชดำริฯ มาดำเนินการพัฒนาแบบเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ ให้มีคุณสมบัติครบถ้วน และสอดคล้องกับแนวพระราชดำรัสดังกล่าว โดยขยายแบบเรือจากชุดเรือ ต.91 - ต.99 ให้ใหญ่ขึ้น

     กองทัพเรือได้รับอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ให้ดำเนินโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2546 เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.11 และรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งพร้อมกัน 3 ลำ ในวงเงินรวมประมาณ 1,912 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการรวม 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 - 2550 เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 เรือลำแรกคือ ต.991 เข้าประจำการในวันที่ 27 พฤษจิกายน 2550 และอีก 2 ลำในปีถัดไป ราคาต่อเรือจำนวน 3 ลำอยู่ที่ประมาณ 1,912 ล้านบาท หรือลำล่ะ 637 ล้านบาท เรามาดูคุณลักษณะโดยรวมของเรือกันหน่อยนะครับ

ชื่อเรือ: เรือ ต.991, ต.992 และ ต.993
ประเภท: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
ระวางขับน้ำ: ปกติ 170 ตัน เต็มที่ 186 ตัน
ความยาว: 38.7 เมตร
ความกว้าง: 6.49 เมตร
กินน้ำลึก: 1.813 เมตร
เครื่องจักร:
     - เครื่องจักรใหญ่ดีเซล MTU 16V 4000 M90 กำลัง 3,650 แรงม้า 2 เครื่อง
      -เพลาใบจักร 2 เพลา ใบจักร Wartsila Lips Defence แบบมุมตายตัว
     - เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล MTU กำลังไฟฟ้า 140 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
ความเร็วสูงสุด: 27 นอต
รัศมีทำการสูงสุด: 1,500 ไมล์ทะเล
กำลังพลประจำเรือ: 29 นาย (นายทหาร 5 พันจ่า 4 จ่า/พลฯ 20)
อาวุธ:
     - ปืนกลขนาด 30 มม. รุ่น DS-30M 2 กระบอก
     - ปืนกลขนาด 12.7 มม 2 กระบอก
ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOS
ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador
เรดาร์เดินเรือ Sperry Marine BridgeMaster E และ Furuno

โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.994

หลังจากที่เรือ ต.991 เข้าประจำการได้เพียงปีเดียว กองทัพเรือไทยก็ได้สานต่อโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดหาเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งรุ่นใหม่เพิ่มเติมอีก 3 ลำในวงเงิน 1,570 ล้านบาท หรือลำล่ะ 523 ล้านบาท โดยนำแบบเรือเดิมมาพัฒนาให้มีความเหมาะสมในการใช้งานมากขึ้น เรือชุดใหม่มีระวางขับน้ำใกล้เคียงกับของเดิม แต่ตัวเรือมีขนาดใหญ่กว่า ยาวมากกว่า กว้างมากกว่า ความเร็วสุงกว่า โดยใช้ระบบขับเคลื่อนชุดเดิมที่ให้กำลังเครื่องยนต์เท่าเดิม กรมอู่ทหารเรือออกแบบและสร้างเรือเอง 1 ลำและได้ว่าจ้างบริษัทมาร์ซันสร้างเพิ่มอีก 2 ลำตามแบบที่กองทัพเรือกำหนด เรือชุดใหม่กำหนดชื่อไว้ว่า ต.994 ต.995 และ ต.996 ตามลำดับ

ชื่อเรือ: เรือ ต.994, ต.995 และ ต.996
ประเภท: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
ระวางขับน้ำ: เต็มที่ 215 ตัน
ความยาว: 41.7 เมตร
ความกว้าง: 6.49 เมตร
กินน้ำลึก: 1.813 เมตร
เครื่องจักร:
     - เครื่องจักรใหญ่ดีเซล MTU 16V 4000 M90 กำลัง 3,650 แรงม้า 2 เครื่อง
      -เพลาใบจักร 2 เพลา ใบจักร Wartsila Lips Defence แบบมุมตายตัว
     - เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล MTU กำลังไฟฟ้า 140 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
ความเร็วสูงสุด: 29 นอต
รัศมีทำการสูงสุด: 1,500 ไมล์ทะเล
กำลังพลประจำเรือ: 32 นาย
อาวุธ:
     - ปืนกลขนาด 30 มม. รุ่น DS-30M 1 กระบอก
     - ปืนกล OTO Melara Naval Terret ขนาด 12.7 มม. แท่นเดี่ยว 1 แท่น
     - ปืนกลขนาด 12.7 มม 2 กระบอก
ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOS
ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador
เรดาร์เดินเรือ Sperry Marine BridgeMaster E และ Furuno

     เรือชุดใหม่มีขนาดใหญ่มากขึ้นและมีสมรรถนะดีมากขึ้น ทว่าราคาเฉลี่ยต่อลำลดลงจาก 637 ล้านบาทมาเป็น 523 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนำแบบเรือเดิมที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาปรับปรุง และที่สำคัญก็คือมีการติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.รุ่น DS-30M เพียง1กระบอกหัวเรือ ส่วนด้านท้ายเปลี่ยนมาใช้ปืนกลอัตโนมัติขนาด12.7 มม.แทน ทำให้ลดค่าอาวุธลงได้พอสมควรเนื่องจากปืนมีราคาต่างกันมาก ทั้งยังสามารถควบคุมปืนกลอัตโนมัติทั้ง 2กระบอกได้พร้อมๆกัน ต่างจากเรือชุด ต.991ที่สามารถควบคุมได้ครั้งละ 1 กระบอกเท่านั้น

     นอกจากปรับปรุงเรือในทุกๆด้านให้ดีขึ้นแล้ว เรือชุด ต.994 ยังรองรับการติดตั้งอาวุธจรวดได้อีกด้วย มีการขยายความยาวด้านท้ายเรือออกไปประมาณ 3 เมตร และเลื่อนหัวเก๋งเรือหรือสะพานเดินเรือไปด้านหน้าอีกประมาณ 2 เมตร ทำให้ด้านท้ายเรือมีที่ว่างมากพอติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบขนาดเล็กได้ 2-4 นัด ข้อมูลจากกองทัพเรือระบุไว้ว่า รองรับแท่นยิงอาวุธปล่อยพื้น-สู่-พื้น C-704 แท่นละ 2 ท่อยิงจำนวน 2 แท่น

     นับได้ว่าเรือชุดนี้มีความทันสมัยและอเนกประสงค์มากขึ้น สามารถเสริมเขี้ยวเล็บด้วยอาวุธทันสมัยเพิ่มเติมได้อีกด้วย ผู้เขียนพิจารณาดูอยู่หลายรอบแต่ไม่ได้ตื่นเต้นดีใจอะไรมากนัก จะว่าไปแล้วไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เสียด้วยซ้ำ เป็นเพราะเรือชุด ต.994 ถูกออกแบบให้เป็นเรือตรวจเรือใกล้ฝั่งไม่ใช่เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี แม้ท้ายเรือจะรองรับการติดตั้งอาวุธจรวดได้ก็ตาม แต่ระบบอาวุธป้องกันตัวมีน้อยมากและอุปกรณ์ต่างๆก็ประสิทธิภาพต่ำ ขณะที่อุปกรณ์อีกหลายอย่างที่เรือรบควรจะมีก็ไม่มีและไม่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ การนำเรือเข้าไปปะทะกับเรือรบฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสมากที่จะพบกับการสูญเสีย ทั้งยังไม่รู้ว่าทำเสร็จแล้วจะได้สมรรถนะใกล้เคียงความต้องการหรือไม่ ถ้าอยากได้เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีจริงๆควรสร้างเรือลำใหม่ที่ตรงตามความต้องการจะดีที่สุด

โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997

     หลังสิ้นสุดโครงการเรือชุด ต.994 ไปแล้ว ข่าวเรื่องการสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งเพิ่มเติมก็เงียบหายไปด้วย กองทัพเรือได้หันไปพัฒนาโครงการเรือตรวจการณ์ชายฝั่งรุ่นใหม่ เพื่อนำมาทดแทนเรือของเดิมจำนวนมากที่ทยอยปลดประจำการ นอกจากนี้ยังมีโครงการเรือตรวจการระยะปานกลางความยาว 58 เมตร โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เรือฟริเกตสมรรถนะสุง และเรือดำน้ำโจมตีที่กำลังเป็นประเด็นร้อนๆของคนในประเทศ จึงพอคาดการณ์ได้ว่า จะไม่มีโครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดใหม่ในช่วงเวลาใกล้ๆนี้แน่ แต่ผู้เขียนใจร้อนเลยพัฒนาแบบเรือชุดใหม่ขึ้นมาเสียเอง มาดูกันหน่อยนะครับว่าจะตรงใจหรือขัดใจผู้อ่านมากน้อยแค่ไหน

     แบบเรือพัฒนามาจากเรือชุด ต.991และ ต.994 รวมกัน โดยออกแบบท้ายเรือเหมือนกันกับเรือ ต.994 แต่มีการขยายพื้นที่ด้านหน้าเรือให้ยาวมากขึ้น จากนั้นจึงสร้างห้องพักรับรองหน่วยปฏิบัติการพิเศษหรือผู้ประสบภัยทางทะเล โดยส่วนตัวผู้เขียนไม่ถูกใจเรือชุด ต.994 เท่าไหร่ที่หัวเรืออยู่ชิดเก๋งเรือมากเกินไป ต่างจากเรือชุด ต.991 ที่เก๋งเรืออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกว่า เรือชุด ต.997 ถูกขยายความยาวด้านหน้าเพื่อให้เก๋งเรืออยู่ตรงกลางมากที่สุด

     ก่อนอื่นเลยเพื่อประหยัดงบประมาณและแก้ข้อบกพร่องในอดีต เรือชุดใหม่จะใช้ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ที่ถอดมาจากเรือชุด ต.991 เป็นอาวุธหลัก โดยที่เรือชุด ต.991 จะติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.เข้าไปแทนที่ ทำให้สามารถยิงปืนกลอัตโนมัติด้านหน้าและด้านท้ายเรือได้อย่างพร้อมกันเสียที ปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.ติดตั้งระบบช่วยเล็งอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว จึงสามารถใช้ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador คุมปืนหน้าเพียงกระบอกเดียวได้ตลอดเวลา



นอกจากหัวเรือจะยาวขึ้นและด้านท้ายรองรับการติดตั้งอาวุธจรวดแล้ว เสากระโดงเรือยังได้รับการขยายขนาดเพื่อรองรับการติดตั้งเรดาร์ทันสมัยในอนาคต และยังรองรับอุปกรณ์อื่นๆอาทิเช่น  ระบบอุปกรณ์สงครามอิเลคทรอนิคขนาดเล็ก ระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมหรือSatCom ระบบเครือข่ายเน็ตเวิร์ค Link 11 Link RTN และ T-Link ในอนาคต เรามาดูคุณลักษณะโดยรวมของเรือชุด ต.997ของผู้เขียนกันครับ

ชื่อเรือ: เรือ ต.997, ต.998 และ ต.999
ประเภท: เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง
ระวางขับน้ำ: เต็มที่ 242 ตัน
ความยาว: 43.9 เมตร
ความกว้าง: 6.49 เมตร
กินน้ำลึก: 1.813 เมตร
เครื่องจักร:
     - เครื่องจักรใหญ่ดีเซล MTU 16V 4000 M90 กำลัง 3,650 แรงม้า 2 เครื่อง
      -เพลาใบจักร 2 เพลา ใบจักร Wartsila Lips Defence แบบมุมตายตัว
     - เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล MTU กำลังไฟฟ้า 140 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง
ความเร็วสูงสุด: 28 นอต
รัศมีทำการสูงสุด: 1,500 ไมล์ทะเล
กำลังพลประจำเรือ: 32 นาย
อาวุธ:
     - ปืนกลขนาด 30 มม. รุ่น DS-30M 1 กระบอก
     - ปืนกล OTO Melara Naval Terret ขนาด 12.7 มม. แท่นเดี่ยว 1 แท่น
     - ปืนกลขนาด 12.7 มม 2 กระบอก
ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOS
ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador
เรดาร์เดินเรือ Furuno จำนวน 2 ระบบ S-Band และ X-Band

     เทียบกับเรือ ต.994 แล้วระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยความเร็วเรือลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเรือยาวขึ้นมีการสร้างห้องพักและห้องเก็บของเพิ่มเติมบริเวณหัวเรือ อาวุธที่ติดตั้งเหมือนกับเรือชุด ต.994 รวมทั้งอาวุธและอุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ ผู้เขียนได้จำลองรูปแบบการใช้งานเรือไว้ 6 แบบด้วยกันคือ

     1 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งตามปรกติ ติดอาวุธปืนกลอัตโนมัติหน้า-หลังตามปรกติ ด้านท้ายเรือรองรับอากาศยานไร้คนขับขึ้นลงทางดิ่ง รุ่น DTI RTN KSM-150R ซึ่งเป็นรุ่นใช้งานจริงบนเรือได้ 1-2 ลำ
     2 เรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ มีการติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ด้านท้ายเรือ 2 ชุด จึงสามารถปรับเปลี่ยนภารกิจได้อย่างยืดหยุ่น (Flexible Mission) อาทิเช่น ห้องผ่าตัดตู้คอนเทนเนอร์ของสถาบันวิจัยและพัฒนาการทางทหาร กองทัพเรือ (สวพ.ทร.) ภายในตู้คอนเทนเนอร์ประกอบด้วยระบบต่างๆ ดังนี้

     - ห้องผ่าตัดฉุกเฉิน และห้องผ่าตัด อย่างละ 1 ห้อง

     - ระบบไฟฟ้า ซึ่งสามารถรองรับไฟฟ้าได้ 3 ระบบ ได้แก่ ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าขนาด 380 V 3 เฟส 50 Hz ไฟฟ้าจากเรือ 440 V 3 เฟส 60 Hz และไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 380 V 3 เฟส 50 Hz

     - ระบบสื่อสารทางไกลทางการแพทย์ เพื่อขอใช้คำปรึกษาทางการแพทย์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในส่วนกลาง โดยสามารถติดต่อสื่อสารกันด้วยระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL ระบบ WiFi และระบบ WIMAX

     - ระบบไฮโดรลิก 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ใช้ขยายขนาดของตู้คอนเทนเนอร์ และส่วนที่ใช้ยกตู้คอนเทนเนอร์เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายด้วยรถชานต่ำ

     - ระบบปรับอากาศ ทั้งในส่วนของห้องฉุกเฉินและห้องผ่าตัด แต่ละห้องมีขนาด 3 หมื่นบีทียู พร้อมติดตั้งเครื่องฟอกอากาศและเติมอากาศภายในห้องผ่าตัด

     - ระบบเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ เตียงผ่าตัด, โคมไฟฟ้าห้องฉุกเฉินและห้องผ่าตัด, เครื่องเอกซเรย์ระบบดิจิตอล, เครื่องดมยาสลบ, เครื่องอัลตราซาวนด์, เครื่องติดตามสัญญาณชีพแบบดิจิตอล, เครื่องจี้-ตัดด้วยไฟฟ้า, เครื่องดูดของเหลว, ชุดปฐมพยาบาลห้องฉุกเฉิน, ชุดเครื่องมือผ่าตัดเล็กและผ่าตัดใหญ่ และระบบทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ

     - ระบบบันทึกเวชระเบียนแบบไร้สาย ควบคุมการใช้งานเครื่องมือและเวชภัณฑ์ภายในห้องฉุกเฉิน และช่วยรายงานการคงเหลือของอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ให้ส่วนกลางทราบ

     ราคาเฉลี่ยต่อ1ระบบอยู่ที่20ล้านบาท ขณะที่ราคาจัดซื้อจากต่างประเทศจะสุงมากถึง50ล้านบาท แม้ตัวเรือจะมีขนาดเล็กไม่ทนทานต่อคลื่นลมขนาดใหญ่กลางทะเลลึกได้ แต่การเข้าจอดเทียบท่าเพื่อเป็นห้องผ่าตัดเคลื่อนที่สามารถทำได้อย่างแน่นอน จึงเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณประโยชน์มหาศาลในกรณีเหตุการณ์ฉุกเฉินเฉพาะหน้า

     3 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งติดอาวุธจรวดนำวิถีต่อสู้เรือ Penguin MK2 แม้ผู้เขียนจะไม่ค่อยชอบการใช้งานรูปแบบนี้ซักเท่าไหร่ แต่ในเมื่อเรือต้นแบบรองรับได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะปฎิเสธ โดยที่เรือจะได้รับการติดตั้งเรดาร์ SAAB Sea Gireffte 1X ซึ่งเป็นเรดาร์ 3D AREA ขนาดเล็กระยะทำการ 100 กม. สามารถตรวจจับเป้าหมายบนอากาศได้พร้อมกัน 100 เป้าหมายและเป้าหมายบนพื้นน้ำได้พร้อมกัน 200 เป้าหมาย พร้อมกันนี้ยังได้เปลี่ยนไปใช้ระบบอำนวยการรบ Tira และระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง SAAB EOS-500 แทนอีกด้วย ปลายสุดเสากระโดงเรือ ติดตั้งระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ ESM ES-3601

     Penguin MK2 ของนอร์เวยมีระยะยิงไกลสุดประมาณ 34 กิโลเมตร แม้ว่าจะจรวดจะเข้าประจำการตั้งแต่ปี 2515 ก็ตาม แต่ก็ยังได้รับความนิยมจากหลายชาติมาจนถึงทุกวันนี้ แม้แต่กองทัพเรืออเมริกายังสั่งไปใช้งานโดยใช้ชื่อรหัสว่า AMG-119 ถึงปัจจุบันก็ยังได้รับการสั่งซื้อลูกจรวดอยู่เรื่อยๆ โดยที่ลูกค้าล่าสุดก็คือกองทัพเรือบราซิลในปี 2555 และกองทัพเรือนิวซีแลนด์ในปี 2556

          3 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งติดอาวุธจรวดนำวิถีต่อสู้เรือ C-704 อาวุธจรวดขนาดเล็กจากจีนมีระยะยิงไกลสุดประมาณ 35 กิโลเมตรซึ่งใกล้เคียงกับจรวด Penguin MK2 ตัวเรือสามารถรองรับการติดตั้งได้ถึง 4 นัดแต่ผู้เขียนใส่ไว้เพียง 2 นัดเพราะคิดว่าเพียงพอแล้ว เรือได้รับการติดตั้งเรดาร์ Thales Variant 2D ระยะทำการบนอากาศประมาณ 120 กิโลเมตรส่วนบนพื้นน้ำประมาณ 70 กิโลเมตร สามารถตรวจจับเป้าหมายบนอากาศได้พร้อมกัน 200 เป้าหมายและเป้าหมายบนพื้นน้ำได้พร้อมกัน 200 เป้าหมาย ระบบอำนวยการรบและระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงเป็นรุ่นมาตราฐาน   ติดตั้งระบบเป้าลวงจรวดนำวิถีขนาดเล็กจำนวน 2 ชุด ซึ่งก็น่าจะเพียงพอสำหรับการป้องกันตัวในระยะเวลาสั้นๆ  เสริมด้วยระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม SatCom Link 11 Link RTN

     การเลือกใช้จรวดต่อสู้เรือรบขนาดเล็กทั้ง 2 รุ่น นอกจากจะอยู่ในระยะตรวจจับของเรดาร์หลักที่มีประสิทธิภาพสุงมากขึ้นแล้ว ขนาดของตัวเรือและราคาจรวดที่ไม่แพงนักก็เป็นประเด็นที่สำคัญด้วย

     5 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งติดอาวุธจรวดอเนกประสงค์ Spike-ER  ของอิสราเอล โดยปรกติแล้วอาวุธปืนกลขนาด 20-30 มม. จะมีประสิทธิภาพในการหยุดหรือสกัดกั้นเป้าหมายขนาดเล็กเท่านั้น เมื่อนำมาใช้ในภารกิจลาดตระเวณประจำวันก็มีความเพียงพอในการป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามแล้ว การติดตั้งอาวุธจรวดอเนกประสงค์ขนาดเล็กเพิ่มเติม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ทำลายเป้าหมายขนาดเล็ก หรือสกัดกั้นหรือหยุดเป้าหมายขนาดใหญ่ จรวดอเนกประสงค์ Spike-ER  พัฒนาต่อยอดมาจากจรวดต่อสู้รถถังโดยมีระยะยิงเพิ่มขึ้นเป็น 8 กิโลเมตร จรวดจำนวน 4 นัดบนแท่นยิงขนาดเล็กใช้ระบบออปโทรนิกส์ในการเล็งเป้าหมาย

     ผู้เขียนติดตั้งแท่นยิง Spike-ER ไว้แทนที่ตำแหน่งปืนกลอัตโนมัติ 12.7 มม.กลางเรือ และได้ติดปืนกล 12.7 มม. ไว้ด้านท้ายเรือเพิ่มเติมซึ่งสามารถถอดประกอบได้โดยง่าย สาเหตุเนื่องจากตำแหน่งนี้มีความสุงมากพอที่จรวดจะไม่โดนน้ำทะเลรบกวน อีกทั้งยังไม่เกะกะในกรณีต้องการตั้งตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์เพิ่มเติม

     5 เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งติดอาวุธจรวดอเนกประสงค์ LMM จรวด Lightweight  Multirole  Missile ของ Thales สามารถติดตั้งบนเรือได้ถึง 2 ระบบด้วยกัน แบบแรกคือแท่นยิงขนาดเล็กพร้อมจรวดระยะยิงไกลสุด 8 กิโมเมตรจำนวน 4 นัด แบบที่สองคือติดด้านขวามือของระบบปืนกลอัตโนมัติ DS-3OM โดยมีความจุสุงสุดถึง7 นัด

     ผู้เขียนไม่ค่อยชอบระบบที่ติดจรวดข้างปืนกลเท่าไหร่นัก แม้จะประหยัดพื้นที่บนตัวเรือและมีจำนวนจรวดมากกว่ากันก็เถอะ เป็นเพราะด้านหน้าเรือจะโดนทั้งลมและคลื่นซัดใส่ตลอดเวลา ถึงจะเป็นจำนวนไม่มากแต่ก็ทำให้จรวดมีความเสี่ยงที่จะโทรมเร็วกว่าตำแหน่งอื่น นอกจากนี้ถ้าระบบอาวุธตรงนี้ใช้งานไม่ได้นั่นหมายถึงอาวุธทั้ง 2 ชนิดจะหายไปเลย การแยกแท่นยิงของจรวดออกจากปืนกลน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด (ในกรณีที่สามารถเลือกได้นะครับ) จรวดอเนกประสงค์เหมาะสมกับภารกิจลาดตะเวณในน่านน้ำที่อาจจะมีความเสี่ยง แต่กับน่านน้ำที่มีความสุ่มเสี่ยงสุงมากเช่นบริเวณชายแดน แนะนำว่าใช้เรือตรวจการณ์ที่ใหญ่กว่านี้หรือเรือรบจริงๆเลยจะดีกว่า

ความเหมาะสมและอุปสรรคของโครงการ

     โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997 เป็นการต่อยอดมาจากของเดิมที่มีประจำการอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงใช้ระบบและอาวุธต่างๆใกล้เคียงกัน ทำให้ใช้งานดูแลและซ่อมบำรุงได้อย่างไม่ติดขัด ผู้เขียนขอสนับสนุนโครงการนี้อย่างเต็มที่ถ้าได้เริ่มต้นหลังเรือชุด ต.994 เข้าประจำการใหม่ๆ ทว่า 3 ปีผ่านไปมีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง ทำให้ความเหมาะสมในการสร้างเรือชุดนี้เข้าประจำการดูจะมีอุปสรรค แต่เป็นอุปสรรคที่ส่งผลดีมากกว่าผลเสียนะครับอย่างเพิ่งตกใจไป ปัจจัยสำคัญบางประการที่ส่งผลกระทบโดยตรงมีดังนี้

เรือตรวจการณ์ระยะปานกลาง  M58  หรือเรือชุดเรือหลวงแหลมสิงห์

     วันที่ 25 สิงหาคม 2558 ได้มีพิธีปล่อยเรือหลวงแหลมสิงห์ลงน้ำ เรือตรวจการณ์ระยะปานกลางลำใหม่มีความยาว 58 เมตร กว้าง 9.30 เมตร กินน้ำลึก 2.50 เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด 520 ตัน ความเร็วสูงสุด 23 นอต ระยะปฏิบัติการ 2,500 ไมล์ทะเล มีความคงทนสภาวะทะเลระดับ 4 ( SEA STATE 4 ) ออกปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องได้ 7 วัน กำลังพลประจำเรือ จำนวน 53 นาย ติดตั้งปืนใหญ่อัตโนมัติ 76/62 มม. 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ  30 มม.จำนวน 1 กระบอก และปืนกล 12.7 มม. อีก 2 กระบอก ด้านท้ายเรือออกแบบให้ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์หรืออาวุธจรวดได้ ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOSระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador เรดาร์เดินเรือ Furuno จำนวน 2 ระบบ S-Band และ X-Band

     ที่เขียนมาทั้งหมดใช้งบประมาณรวมแค่เพียง 699ล้านบาทต่อลำ เทียบกับราคาเรือ ต.991คือ 637 ล้านบาทแล้วนับว่าไม่แพงเลย ได้เรือที่ใหญ่กว่าเดิมติดอาวุธดีกว่าเดิมทั้งที่สร้างห่างกัน8ปีเต็ม รองรับการติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้ดีกว่ามีพื้นที่ว่างมากกว่าระวางขับน้ำมากกว่าและเหมาะสมมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้ากองทัพเรืออยากได้เรือตรวจการณ์ที่สามารถติดจรวดต่อสู้เรือรบเพิ่มได้ล่ะก็ เรือหลวงแหลมสิงห์คือคำตอบที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

เรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ M36 หรือเรือชุด ต.111

     เรือหลวงแหลมสิงห์มีความเหมาะสมกับการติดอาวุธจรวดเพิ่มเติม อีกทั้งมีขนาดใหญ่กว่าติดอาวุธที่ดีกว่าและอานุภาพรุนแรงกว่า จึงเหมาะสมกับภารกิจลาดตระเวณในน่านน้ำที่มีความสุ่มเสี่ยงสุงมากกว่า แต่เพราะเรือมีขนาดใหญ่กว่าจึงมีระวางขับน้ำมากกว่าเรือชุด ต.994 ถึง 300 ตัน ถ้านำมาใช้งานทดแทนในภารกิจตรวจการณ์ทั่วๆไปแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายทั้งส่วนของเรือและลูกเรือสุงมากกว่าแน่นอน ทว่าก่อนหน้านี้เพียง 1 ปีกองทัพเรือได้นำเรือสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือชุด M36 หรือเรือชุด ต.111 เข้าประจำการจำนวน 3 ลำเรียบร้อยแล้ว

    เรือ ต.111 มีความยาว 36 เมตร กว้าง 7.60 เมตร กินน้ำลึก1.70 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ ประมาณ 150 ตัน ความเร็วสูงสุด 27 นอต ระยะปฏิบัติการ 1,200 ไมล์ทะเล สามารถปฏิบัติการในสภาวะทะเลได้ถึง Sea State 5 ปฏิบัติการทางเรือได้อย่างต่อเนื่องในทะเลได้ 10 วัน ติดอาวุธปืนกล 20 มม. 1 กระบอกและปืนกล 12.7 มม.อีก 2 กระบอก ด้านท้ายเรือถูกออกแบบให้ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์หรืออาวุธจรวดเพิ่มเติมได้ งบประมาณในการต่อเรือทั้ง 3 ลำอยู่ที่ 553 ล้านบาท หรือลำละ 184.3ล้านบาท

     จะเห็นได้ว่าเรือชุดนี้มีขนาดใกล้เคียงกับเรือชุด ต.991 มาก แต่มีความอเนกประสงค์ในการใช้งานเทียบเท่าเรือชุด ต.994 สามารถปรับเปลี่ยนภารกิจได้อย่างยืดหยุ่น (Flexible Mission) แม้กระทั่งภารกิจขนน้ำมันหรือน้ำจืดก็สามารถทำได้ และทำได้ดีกว่าเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งทั้ง 2 รุ่นที่ไม่รอบรับภารกิจแบบนี้ ถ้านำเรือมาติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม. ระบบอำนวยการรบ Thales TACTICOS และระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales  Mirador ผู้เขียนคิดว่าจะสามารถใช้งานเรือได้ไม่ต่างไปจากของเดิม โดยที่ราคารวมหลังติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดจะต่ำกว่าเรือชุด ต.994 อยู่บ้าง เรือ ต.111 ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 3 เครื่องพร้อมเพลาใบจักร 3 เพลา สามารถเลือกใช้งานเครื่องยนต์ทั้งหมดหรือเฉพาะบางเครื่องได้ มีความยืดหยุ่นมากกว่าและน่าจะมีค่าใช้จ่ายในการปฎิบัติงานถูกลง

     จริงอยู่ว่าเรือชุด ต.991และ ต.994 ออกแบบให้เป็นเรือรบอย่างแท้จริง ขณะที่เรือชุด ต .111 ถูกออกแบบให้เป็นเรืออเนกประสงค์รุ่นใหม่ก็ตาม แต่ภารกิจและความเหมาะสมในปัจจุบันนี้ผู้เขียนมองว่า ใช้เรือชุดเรือหลวงแหลมสิงห์ในภารกิจลาดตระเวณในน่านน้ำที่มีความสุ่มเสี่ยงสุงมาก และใช้เรือชุด ต.111 ในภารกิจสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ  ตรวจสอบเรือต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ลาดตระเวนป้องกันการแทรกซึมในน่านน้ำทั่วไป รวมทั้งคุ้มครองเรือประมงและทรัพยากรธรรมชาติ น่าจะเหมาะสมมากที่สุดแล้ว
                                           เรือ ต.111 จอดเทียบข้างเรือ ต.994 จะเห็นได้ว่ามีขนาดใกล้เคียงกันมาก

สรุปส่งท้ายและอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ

     โครงการเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.997  อาจจะมีการพัฒนาต่อหรือไม่มีอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้ แต่พัฒนาการของการต่อเรือภายในประเทศไทย สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายผู้เขียนอยู่บ้าง เรามีเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ที่มีแบบเรือทันสมัยและเหมาะสมกับการใช้งานจริง ปัจจุบันอนาคตและต่อๆไปกองทัพเรือไทยไม่จำเป็นต้องซื้อเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางจากต่างประเทศเลย โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเราก็สร้างสำเร็จไปแล้ว 1 ลำ และยังมีความต้องการอีกอย่างน้อย 3 ลำแน่นอนครับต้องสร้างเองในประเทศ  โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสุงแบบเรือเกาหลีใต้  กองทัพเรือได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะประกอบเรือลำที่ 2 ภายในประเทศ อุตสาหกรรมต่อเรือของเราดีมากขึ้นตามลำดับ แม้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง อาทิเช่น อู่ต่อเรือหลายแห่งไม่มีอุปกรณ์ทันสมัยหรืออาคารในร่มขนาดใหญ่ ความล่าช้าของโครงการต่างๆ รวมถึงปัญหาหน้างานที่ต้องแก้ไขกันวันต่อวัน

     ถ้าเราสามารถบริหารข้อบกพร่องๆต่างได้ดีมากขึ้นหรือทำให้หมดไปได้เลย ในอนาคตข้างหน้าเราอาจได้เห็นเรือฟริเกตที่ออกแบบเองในประเทศวิ่งโชว์ธงไปทั่วโลกก็เป็นได้ ผู้เขียนคาดหวังไว้ว่าจะได้เห็นภาพแบบนี้ในอนาคตไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ถึงตอนนั้นเราคงได้พูดคุยกันอีกครั้งด้วยหัวใจที่พองโตมากกว่าเดิม
                                                 --------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B9%83%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4_80_%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%B2
http://www.thaiarmedforce.com/distribution/viewtopic.php?f=6&t=3013&start=15
http://www.komchadluek.net/detail/20120625/133610/%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%9E.%E0%B8%97%E0%B8%A3.%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4.html
https://en.wikipedia.org/wiki/C-704
https://en.wikipedia.org/wiki/Penguin_%28missile%29
http://pantip.com/topic/34025685