วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2562

HTMS Khamronsin

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2529 กองทัพเรือได้ออกหนังสือเชิญชวนให้บริษัท ห้างร้าน และอู่ต่อเรือต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ให้เสนอราคาและรายละเอียดสำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ โดยมีคุณลักษณะโดยย่อดังนี้

1. ประเภท เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำหรือ ตกด. (Patrol Ship-ASW)
2. ภารกิจ ลาดตระเวนตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ เพื่อป้องกันเรือลำเลียงและคุ้มครองทรัพยากรของชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน
3. ขีดความสามารถ
3.1 ลาดตระเวนตรวจการณ์ทางพื้นน้ำและใต้น้ำ
3.2 คุ้มกันเรือลำเลียงด้วยการป้องกัน ปราบปราม หยุดยั้ง หรือทำลายเรือดำน้ำ
3.3 คุ้มครองทรัพยากรของชาติในทะเล
3.4 สนับสนุนกำลังรบทางบกด้วยการทำลายเป้าหมายบนฝั่งในระยะใกล้
3.5 ป้องกันตนเองได้จากภัยคุกคามทางผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ
3.6 วางทุ่นระเบิดทางรับได้
3.7 ป้องกันการแทรกซึมทางทะเล
3.8 ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดบางอย่างทางทะเล
3.9 ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
 4. ขนาดและความเร็ว
                4.1 ความยาวตลอดลำระหว่าง 55-65 เมตร
                4.2 ระวางขับน้ำปรกติระหว่าง 450-550 ตัน
                4.3 ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 25 นอต
                4.4 ระยะปฏิบัติการณ์ด้วยความเร็วเดินทางไม่น้อย 2,500 ไมล์ เมื่อระวางขับน้ำเต็มที่
5. ตัวเรือ
                5.1 ตัวเรือเป็นเหล็ก เก๋งสะพานเดินเรือเป็นอลูมีเนียมอัลลอยด์
                5.2 เป็นเรือแบบที่เคยใช้ได้ผลดีมาแล้ว (Well-Proven) หรือดัดแปลงน้อยที่สุดจากเรือแบบที่เคยใช้ได้ผลดีมาแล้ว การดัดแปลงนี้อนุญาตเฉพาะการเปลี่ยนแปลงความยาวเรือไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์
                5.3 สามารถปฏิบัติภารกิจในทะเลไม่น้อยกว่าระดับ 4
                5.4 มีมาตรฐานการสร้าง การออกแบบ วัสดุ ฝีมือ และอุปกรณ์ทนทานต่อแรงกระแทกและการสั่นสะเทือน
                5.5 เป็นเรือที่มีการออกแบบให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้เกิดเสียงใต้น้ำน้อยที่สุด
ลักษณะของโครงการแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยเริ่มต้นโครงการในปีงบประมาณ 2530 ดังนี้
โครงการส่วนที่ 1 เป็นการจัดซื้อลิขสิทธิ์รวมทั้งแบบเรือ วัสดุอุปกรณ์สำหรับสร้างเรือ รวมทั้งจัดผู้เชี่ยวชาญเพื่อควบคุม แนะนำ และตรวจงานสร้างเรือ ทดสอบและทดลองเรือจนเสร็จเรียบร้อยสมบรูณ์จำนวน 1 ลำ
 โครงการส่วนที่ 2 ว่าจ้างสร้างเรือจำนวน 2 ลำ
บริษัทอิตัลไทย มารีนจำกัด ได้ติดต่อกับบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นอู่เรือที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบเรือ และเคยต่อเรือผิวน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กให้กับกองทัพเรือแห่งราชนาวีอังกฤษและบรรดามิตรประเทศมาแล้วมากมาย โดยเลือกแบบเรือในชั้น Province Class ซึ่งมีความยาว 56.7 เมตร และนำมาดัดแปลงยืดเฉพาะความยาวไปอีก 9 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้ความยาวตลอดลำใหม่เป็น 62 เมตร

เหตุผลที่บริษัทตัดสินใจเลือกแบบเรือในชั้น Province Class มาเสนอให้กับกองทัพเรือ เนื่องมาจากบริษัทวอสเปอร์ได้เคยต่อเรือชุดนี้ให้กับกองทัพเรือโอมานมาแล้ว 4 ลำ โดยมีมาตรฐานการออกแบบและการสร้าง รวมทั้งการตรวจงานภายใต้การควบคุมของราชนาวีอังกฤษ เพื่อใช้ในภารกิจคุ้มครองเส้นทางลำเลียงน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียและช่องแคบฮอร์มุซ มีความเร็วสูงและมีสมรรถนะดีเยี่ยมสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทวอสเปอร์เป็นอันมาก อีกทั้งได้เคยพิสูจน์ตัวเองในการทดสอบทางทะเล โดยการวิ่งฝ่าคลื่นลมในสภาพระดับ 7 มาแล้ว (ความสูงของคลื่นเฉลี่ยประมาณ 8 เมตร) เป็นเวลา 9 วันโดยไม่มีอันตรายใดๆ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและแข็งแกร่งกับตัวเรือมากขึ้น บริษัทได้ตกลงกับบริษัทวอสเปอร์ให้ออกแบบโครงสร้างตัวเรือใหม่ทั้งหมดตามกฎของลอยด์ และให้สถาบันลอยด์แห่งอังกฤษตรวจรับรองแบบโครงสร้างใหม่นี้ทั้งหมดด้วย
บริษัทได้ยื่นซองประกวด ราคา และรายละเอียดทั้งหมดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2530 และได้รับให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาทั้ง 2 รายการ ได้มีการเจรจาทางด้านรายละเอียดและเทคนิคอื่นๆ ต่อมาอีกเป็นเวลา 7 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้ส่วนที่เป็นรายละเอียดต่างๆ ใกล้เคียงความต้องการกองทัพเรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในที่สุดได้มีการลงนามในสัญญาทั้ง 2 ฉบับในวันที่ 24 กันยายน 2530 โดยพลเรือเอกธาดา ดิษฐบรรจง ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเป็นประธานในพิธี
หลังการเซ็นสัญญาบริษัทอิตัลไทย มารีนโดยความร่วมมือจากบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์ เริ่มวางแผนงานพร้อมทั้งเตรียมการด้านวิศวกรรม ทั้งด้านการต่อเรือและการสั่งของโดยละเอียด จากนั้นจึงเริ่มต้นโครงการที่ 1 โดยการประกอบสร้างเรือลำที่ 1 ที่กรมอู่ทหารเรือ พร้อมๆ กับเรื่องต้นโครงการที่ 2 โดยการประกอบสร้างเรือลำที่ 2 ที่อู่ต่อเรือของตัวเอง ดังนั้นตามแผนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำทั้ง 2 ลำจะแล้วเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน
การสร้างเรือที่อิตัลไทยเริ่มต้นปลายเดือนมีนาคม 2531 ควบคู่ไปกับการสร้างเรือที่กรมอู่ทหารเรือ ชิ้นส่วนแรกซึ่งมีน้ำหนัก 20 ตันสร้างแล้วเสร็จกลางเดือนพฤษภาคม การดำเนินงานได้ดำเนินก้าวหน้ามาด้วยดี และเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้โดยตลอด ทำการปิดดาดฟ้าภายหลังที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย เครื่องหางเสือ ทำการติดตั้งเพลาใบจักร ทำการติดตั้งเก๋งสะพานเรือรวมทั้งเสากระโดง และพร้อมที่จะปล่อยเรือลงในภายในเดือนกรกฎาคม 2534 การก่อสร้างเรือลำนี้ให้แล้วเสร็จสมบรูณ์ รวมทั้งการทดสอบและปรับแต่งอุปกรณ์ทุกอย่าง จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 18 เดือน โดยบริษัทมีแผนจะส่งให้กองทัพเรือได้ในเดือนมกราคม 2534

เรือตรวจการณ์ที่กรมอู่ทหารเรือสร้างใช้ชื่อว่าเรือหลวงล่องลม หรือ HTMS Longlom วันที่ 8 สิงหาคม 2532 กองทัพเรือได้เชิญคุณชนิดา กมลนาวิน ภรรยารองผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้นเป็นประธานในพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ถัดมาไม่กี่วันคือวันที่ 15 สิงหาคม 2532 เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำลำที่สองชื่อเรือหลวงคำรณสินธุ หรือ HTMS Khamronsin ได้ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำโดย นอ.หญิงวัชรินทร์ นาคะเทศ ภริยาผู้บัญชาการกองเรือยุทธการเป็นประธาน ส่วนเรือตรวจการลำที่สามกำลังดำเนินการที่อู่ต่อเรืออิตัลไทย มีความคืบหน้าค่อนข้างมากกำหนดให้ชื่อเรือหลวงทยานชล หรือ HTMS Thayanchon สามารถทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 7 ธันวาคม 2532 (ต้องใช้คำว่าเร็วฟ้าผ่าความเห็นส่วนตัวผู้เขียน)
เหตุการณ์หลังจากนั้น
บทความช่วงแรกทั้งหมดผู้เขียนนำมาจากนิตยสารสงคราม หรือ ALL WARFARE ปี 2532 จริงอยู่ว่าเป็นข้อมูลเปิดเผยทว่าในชีวิตไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะฉะนั้นจะขออ้างอิงจากนิตยสารสงครามเป็นหลัก รวมทั้งอยากขอร้องผู้ต้องการนำข้อมูลไปเผยแพรต่อว่า กรุณาลงเครดิตให้ตรงเจ้าของที่แท้จริงด้วยขอบคุณครับ
เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำทั้ง 3 ลำเข้าประจำการในปี 2535-2536  ตามแผนการบริษัทจะส่งมอบลำแรกให้กองทัพเรือต้นปี 2534 ซึ่งดูเหมือนว่าล่าช้าไปประมาณ 1 ปีกว่า ขณะที่พิธีปล่อยเรือล่าช้าแค่เพียง 1 เดือนเท่านั้น ผู้เขียนไม่ทราบเบื้องลึกเบื้องหลังว่าติดปัญหาตรงไหน และการส่งมอบกับการเข้าประจำการต้องทำอะไรก่อนหรือไม่ ทว่าเมื่อลองเปรียบเทียบกับโครงการอื่นโดยเฉพาะในปัจจุบัน ไม่ถือว่าล่าช้ามากอยู่ในระดับค่อนข้างใช้ได้ ผู้อ่านต้องไม่ลืมประเด็นสำคัญในโครงการนี้ว่า เรือหลวงคำรณสินธุเป็นเรือติดโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำลำแรกที่สร้างในไทย เรือหลวงคำรณสินธุเป็นเรือติดปืนใหญ่อัตโนมัติ 76/62 มม.ลำแรกที่สร้างในไทย และเรือหลวงคำรณสินธุเป็นเรือติดระบบอำนวยการรบลำแรกที่สร้างในไทย

            ชมภาพนางเอกในบทความนี้กันสักนิด เรือหลวงคำรณสินธุซึ่งเปลี่ยนมาใช้หมายเลข 531 ในภายหลัง ระวางขับน้ำปกติ 475 ตัน ยาว 62 เมตร กว้าง 8.22 เมตร กินน้ำลึกสุด 4.5 เมตร ความเร็วมัธยัสถ์ 15 นอต ความเร็วสูงสุด 25 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,850 ไมล์ กำลังพลประจำเรือ 58 นาย ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.1 กระบอกที่หัวเรือ ปืนกล 30 มม.แท่นคู่ 1 กระบอกท้ายเรือบนดาดฟ้าชั้นสอง ปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอก แท่นยิงตอร์ปิโดแบบแฝดสามจำนวน 2 แท่น แท่นยิงระเบิดลึกจำนวน 2 แท่น รางปล่อยระเบิดลึกจำนวน 1 ราง รวมทั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดอีก 2 ราง
                เรือทั้ง 3 ลำติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ Plessey AWS-4 ระยะตรวจจับไกลสุด 110 กิโลเมตร ใช้ระบบอำนวยการรบ NAUTIS-P เรดาร์ควบคุมการยิง Sea Archer 1A Mod 2s เป็นเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นส่งออกปรับปรุงจากรุ่น GSA.8 ที่มีใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Type22 กับ Type23 ของราชนาวีอังกฤษ มีเรดาร์เดินเรืออีก 2 ตัว (ติดเพิ่มเติมในภายหลัง 1 ตัว) จะเห็นได้ว่าเรือหลวงคำรณสินธุและพี่น้องอีกสองลำ มีเรดาร์รวมทั้งอาวุธอันทรงประสิทธิภาพในยุคนั้น ที่น่าสังเกตก็คือทั้งเรือ เรดาร์ แท่นยิงตอร์ปิโด และระบบอำนวยการรบยกมาจากอังกฤษ ส่วนโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำมาจากเยอรมัน เพราะต้องการใช้รุ่น DSQS-21C ของ Atlas ซึ่งเป็นรุ่นมาตรฐานกองทัพเรือไทย

                เรามาชมสองพี่สาวของเรือหลวงคำรณสินธุกันต่อ ภาพใหญ่คือเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Nyayo ของเคนยา ติดจรวดต่อสู้เรือรบออโตแมทจากอิตาลีได้มากสุด 8 นัด (ในภาพไม่มีนะครับ) เข้าประจำการปี 2531 ก่อนหน้าเรือเรา 4 ปี ส่วนลำบนซ้ายเป็นเรือชั้น Dhofar แห่งกองทัพเรือโอมาน หรือเรือชั้น Province Class แบบดั้งเดิม ติดจรวดต่อสู้เรือรบเอ็กโซเซ่ต์จากฝรั่งเศสได้มากสุด 8 นัด เข้าประจำการปี 2525 ก่อนหน้าเรือเราถึง 10 ปี และภาพบนขวาคือเรือหลวงทยานชลของเรา ดูอวบอั๋นบวมน้ำมากขึ้น มีความทันสมัยมากขึ้น มีปล่องควันขนาดใหญ่กลางลำ ทว่าทรวดทรงองค์เอวไม่ต่างไปจากพี่น้องเลย
                จำคุณสมบัติที่กองทัพเรือกำหนดได้ไหมครับ เรือที่เข้าร่วมชิงชัยโครงการเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ ต้องเป็นเรือที่มีการออกแบบให้มีคุณสมบัติที่จะทำให้เกิดเสียงใต้น้ำน้อยที่สุด นี่คือการปรับปรุงโครงสร้างตัวเรือใหม่หมดตามกฎของลอยด์ และให้สถาบันลอยด์แห่งอังกฤษตรวจรับรองแบบโครงสร้างใหม่ แต่อย่างที่รู้ว่าแบบเรือไม่ได้เกิดมาเพื่อภารกิจปราบเรือดำน้ำ ถึงมีการปรับปรุงจนหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดินค่อนข้างมากก็ตาม แต่ยังห่างไกลเรือรบที่ออกแบบมาเพื่อภารกิจปราบเรือดำน้ำโดยตรง ใช้งานได้ดีในระดับหนึ่งซึ่งน่าจะมากเพียงพอกับความต้องการ
                คำถามตามมาก็คือมีประเทศอื่นใช้เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ แปลงร่างจากเรือตรวจการณ์หรือเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีแบบประเทศไทยไหม คำตอบคือมีแน่นอนในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ช่วงนั้นหลายๆ ประเทศขนาดกองทัพเรือค่อนข้างเล็ก เศรษฐกิจไม่ค่อยดีไม่มีเงินซื้อเรือลำใหญ่ ต้องใช้การปรับปรุงเรือไม่แตกต่างไปจากเรา ยกตัวอย่างก็คือเรือตรวจการณ์ชั้น Fearless ของสิงคโปร์จำนวน 6 ลำจาก 12 ลำ ติดโซนาร์หัวเรือและตอร์ปิโดเบาแฝดสามเหมือนเรือเรา ส่วนเรือคอร์เวตชั้น Victory ซึ่งใช้แบบเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีจากเยอรมัน มีโซนาร์ลากท้ายกับตอร์ปิโดเบาแฝดสามสุดแสนทันสมัย

ภาพนี้คือเรือตรวจการณ์ชั้น Fearless ซึ่งสิงคโปร์ออกแบบเองและสร้างเอง ระวางขับน้ำ 500 ตัน ยาว 55 เมตร กว้าง 8.6 เมตร ติดโซนาร์หัวเรือกับแท่นยิงตอร์ปิโดเบาแฝดสาม หัวเรือเป็นปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.ท้ายเรือมีแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยานระยะประชิดแฝดสอง หน้าตาเหมือนเรือตรวจการณ์มีท่อระบายความร้อนข้างตัวเรือ การเก็บเสียงใต้น้ำคิดว่าไม่น่าดีกว่าเรือของเรา ปัจจุบันเรือชั้นนี้ซึ่งเข้าประจำการหลังเรือเรา 3 ปีปลดประจำการหมดแล้ว เรือชั้น Victory ทุกลำก็ถอดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาออกแล้ว เพราะสิงคโปร์มีเรือฟริเกตทันสมัยติดโซนาร์ลากท้าย 6 ลำเข้ามาทำหน้าที่แทน

   กลับมาที่กองเรือยุทธการราชนาวีไทยกันต่อ ในปี 2532 กองเรือปราบเรือดำน้ำมีจำนวนเรือเท่าในภาพ เหลือเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำจากยุคสงครามโลกจำนวน 5 ลำ กองทัพเรือตั้งใจสร้างเรือใหม่เข้ามาทดแทนจำนวน 3 ลำ ถ้าดูจากปริมาณจะเห็นว่าลดน้อยลง ถ้านับยอดรวมก่อนเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตันจะมีมากถึง 8 ลำ แต่ต้องไม่ลืมว่าเราได้เรือคอร์เวตเพิ่มเข้ามาถึง 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือชั้นเรือหลวงตาปีระวางขับน้ำ 885 ตันจำนวน 2 ลำ เรือชั้นเรือหลวงรัตนโกสินร์ระวางขับน้ำ 840 ตันจำนวน 2 ลำ เมื่อรวมของใหม่อีก 3 ลำเท่ากับ 7 ลำใกล้เคียงกับของเดิม ฉะนั้นแล้วกองเรือปราบเรือดำน้ำไม่ได้เล็กลงจากยุคก่อนปี 2500 ให้บังเอิญแผนภาพของท่านจูดาสมีอายุสั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
                เนื่องมาจากกองทัพเรือได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ให้ซื้อเรือรบจากต่างประเทศจำนวนมากเข้าประจำการ รวมทั้งเครื่องบินขับไล่โจมตีมือสองอีก 2 ฝูงบิน ครั้นถึงเดือนมีนาคม 2435 มีการปรับปรุงโครงสร้างกองเรือยุทธการใหม่ กองเรือปราบเรือดำน้ำเปลี่ยนชื่อเป็นกองเรือฟริเกตที่ 1 เพิ่มกองเรือฟริเกตที่ 2 เพื่อประจำการเรือฟริเกตจากประเทศจีนจำนวน 6 ลำ เพิ่มกองเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์เพื่อประจำการเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จากสเปน เมื่อเรือหลวงคำรณสินธุเข้าประจำการในอีก 4 เดือนถัดมา จึงได้สังกัดกองเรือฟริเกตที่ 1 ทั้งที่ตัวเองไม่ใกล้เคียงเรือฟริเกตสักนิด
เหตุการณ์ต่อจากนี้
            การสร้างเรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุถือเป็นก้าวกระโดดสำคัญ เพราะเป็นแบบเรือรุ่นใหม่มีความสลับซับซ้อน ติดตั้งอาวุธและเรดาร์ทันสมัยพร้อมใช้งาน รวมทั้งใช้วิธีสร้างเรือแบบ Block Technology ทำให้ลดระยะเวลาในการสร้างเรือ มีความสะดวกสบายกว่าเดิม ผลงานมีคุณภาพมากกว่าเดิม แต่ต้องใช้พื้นที่ในการสร้างเรือมากกว่าเดิม ต้องใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งบุคลการในการสร้างเรือมากกว่าเดิม ต้องมีการควบคุมการจัดการและบริหาร การควบคุมคุณภาพ และข้อกำหนดต่างๆ อย่างเคร่งครัด การสร้างเรือจึงจะเป็นผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในภายหลัง
ปี 2525-2535 เป็นยุคเรืองรองการสร้างเรือในประเทศไทย มีการสร้างเรือยกพลขนาดใหญ่ระวางขับน้ำ 3,000 ตันจำนวน 2 ลำ สร้างเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงสัตหีบความยาว 50 เมตรจำนวน 6 ลำ สร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุอีก 3 ลำ จากนั้นเว้นระยะไปอีก 8 ปีถึงได้มีการสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงหัวหินอีก 3 ลำ โดยใช้แบบเรือบริษัทวอสเปอร์มาปรับปรุงให้เหมาะสม กรมอู่ทหารเรือเป็นคนออกแบบโดยได้รับคำแนะนำจากวิศวกรบริษัทวอสเปอร์ แต่ทว่าหลังจากนั้นเราหักเลี้ยวไปทิศทางอื่น ไม่มีการสร้างเรือตรวจการณ์ความยาว 60 เมตรเพิ่มเติม ละทิ้งความรู้ความสามารถทั้งหมดลอยสู่ท้องทะเล กระทั่ง 3 ปีที่ผ่านมามีการสร้างเรือหลวงแหลมสิงห์ความยาว 58 เมตรเพิ่มเติม 1 ลำ

ในภาพเป็นพิธีขึ้นระวางประจำการเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงสัตหีบจำนวน 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือหลวงตากใบ เรือหลวงกันตรัง เรือหลวงเทพา และเรือหลวงท้ายเหมือง ซึ่งเป็น 4 ลำสุดท้ายของเรือสร้างโดยบริษัทอิตัลไทย มารีน ภาพแบบนี้หาดูในยุคสมัยนี้ไม่ได้แล้วนะครับ แต่ถ้าเป็นเรือตรวจการณ์ความยาว 25-35 เมตรยังมีให้เห็นเป็นกระษัย จากภาพจะเห็นว่าเรือติดอาวุธปืนรุ่นเก่าที่ซ่อมคืนสภาพ ทำการเล็งยิงด้วยสายตา บังคับทิศทางด้วยสองมือ ราคาเรือจึงไม่แพงสั่งซื้อรวดเดียว 6 ลำได้ทันที ครั้นนำมาติดอาวุธทันสมัยพร้อมระบบควบคุมการยิง ก็เกิดเหตุการณ์คดีพลิกขึ้นมากะทันหัน

หลังเข้าประจำการปี 2527 กับ 2529 เมื่อถึงปี 2532 เรือหลวงคลองใหญ่กับเรือหลวงตากใบได้รับการปรับปรุง โดยการติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.ปืนกล 40/70 มม.และระบบควบคุมการยิง NA-18 จากอิตาลี คำถามมีอยู่ว่าทำไมปรับปรุงแค่เพียง 2 ลำ คำตอบก็คือราคาปรับปรุงเรือแพงกว่าราคาสร้างเรือทั้งลำ โดยเฉพาะปืนใหญ่ 76/62 มม.นี่แพงเลือดสาด ปัจจุบันมีขายแต่รุ่น Super Rapid คราวนี้ยิ่งแพงไปใหญ่ เรือหลวงคำรณสินธุจึงไม่ใช่แค่เพียงเรือตรวจการณ์ที่ดีที่สุด ติดอาวุธและเรดาร์ทันสมัยที่สุด ใช้วิธีการสร้างเรือรุ่นใหม่ล่าสุด แต่ยังเป็นเรือตรวจการณ์ราคาแพงที่สุดอีกหนึ่งตำแหน่ง
ทางบ้านส่งโทรเลขมาสอบถามว่า การสร้างเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำยังเหมาะสมหรือไม่ และยังมีความจำเป็นอยู่อีกหรือไม่ เรื่องความจำเป็นผู้เขียนคิดว่ามีดีกว่าไม่มี แต่เรื่องสร้างเรือใหม่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะเรือมีขนาดเล็กเกินไป ออกทะเลลึกไม่ไหว ทำงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำได้ก็จริง แต่ไม่มีลานจอดและไม่มีระบบดาต้าลิงก์กับอากาศยาน ที่สำคัญเรือดำน้ำทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิม อย่าลืมนะครับว่าเราสร้างเรือลำนี้เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเรายังไม่มีรถไฟฟ้ามีแต่ถนนดินลูกรัง ปัจจุบันเรามีรถไฟฟ้าคู่ถนนดินลูกรังแล้ว เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว
มาลองคิดราคาแบบมั่วๆ กันดูสักหน่อย เรือหลวงแหลมสิงห์ราคาเรือเปล่า 700 ล้านบาท ราคารวมปืนใหญ่ 76/62 มม.มือสอง ปืนกล DSM-30MR และระบบควบคุมการยิงเท่ากับ 1,200 ล้านบาท (700+500=1,200) ถ้าติดปืนใหญ่ 76/62 Super Rapid ในฝันของมิตรรักแฟนเพลงทั้งหลาย จะมีราคาสยองขวัญวันพระใหญ่มากไปกว่านี้

สมมุติว่านำเรือชั้นเรือหลวงแหลมสิงห์มาติดโซนาร์หัวเรือ ขนาดไม่ใหญ่นักราคา 10 ล้านเหรียญไม่น่ามีถูกกว่านี้ ติดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาและอุปกรณ์ 2 แท่นตีว่า 6 ล้านเหรียญ หาชุดคิทแปลงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่น Mk46 เป็นรุ่น Mk54 นัดละ 1.5 ล้านเหรียญ จำนวน 6 นัดรวมเท่ากับ 9 ล้านเหรียญ ติดระบบเป้าลวง V-Canto 24 นัด นัดละ 6.56 ล้านบาทรวมเท่ากับ 158 ล้านบาท ต้องติดแท่นยิงและอุปกรณ์ด้วยใช่ไหมตีกว่า 120 ล้านบาท เพราะฉะนั้นจะมีราคา1,200+300+180+270+158+120=2,228 ล้านบาทต่อลำ ถ้ายังไม่จัดหาลูกตอร์ปิโดกับเป้าลวงอยู่ที่ 1,800 ล้านบาทต่อลำ
เรือ 3 ลำเท่ากับ 5,400 ล้านบาทแพงจับใจ ไม่นับรวมการแก้ไขแบบเรือให้มีความเงียบกว่าเดิม ซึ่งว่ากันตรงๆ ขนาดเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River ยังทำไม่ได้ ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับแผนนี้แบบออกหน้า แต่ทว่าแต่ทว่า ถ้าเป็นเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำราคาประหยัด อันนี้ผู้เขียนเห็นด้วยสมควรมีเผื่อเหลือเผื่อขาด ติดโซนาร์เรือหาปลาราคาไม่เกิน 2 ล้านเหรียญ กับจรวดปราบเรือดำน้ำไม่นำวิถี รวมทั้งรางปล่อยระเบิดลึกท้ายเรือเป็นท่าไม้ตาย อยากประหยัดกว่าเดิมไม่ต้องติดปืนใหญ่ 76/62 มม. ตัดความต้องการระดมยิงฝั่งให้เรือลำอื่นทำแทน ราคาเรือจะลดลงมาอยู่ในระดับสามารถแตะต้องได้

นี่เป็นการยกตัวอย่างเท่านั้น ในภาพคือเรือตรวจการณ์ชั้น P1200 ของตุรกี ราคาในปี 2547 อยู่ที่ลำละ 840 ล้านบาท ไทยแลนด์ซื้อแบบเรือมาสร้างเองใช้ระบบอำนวยการรบกับโซนาร์ตามเขาก็ได้ ปืนกล 40 มม.แท่นคู่ถ้าแพงเกินไปซื้อ Bofors 40 มม. Mk4 แท่นเดี่ยวมาใช้งานแทนก็ได้ สามารถยิงกระสุน 3P ตี่ต่อเป้าหมายพื้นน้ำและบนอากาศได้ดีกว่าเดิม ปืนรองใช้ 20 มม.กระบอกละ 10 กว่าล้านบาทประหยัดดี ส่วนปืนกล 12.7 มม.แล้วแต่สะดวกเลย ท้ายเรือมีรางปล่อยระเบิดลึกกับจรวดปราบเรือดำน้ำ Rocketsan ระยะยิง 2 กิโลเมตร ใช้ตรวจการณ์เป็นงานหลักปราบเรือดำน้ำเป็นงานรอง
ราคาเรือแพงสุดน่าจะประมาณ 1,000-1,100 ล้านบาท ได้อาวุธใหม่หมดไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องการซ่อมแซมก่อนเวลา เริ่มต้นโครงการในปี 2563 กำหนดให้สร้างเฟสละ 3 ลำใช้เวลา 3 ปี เฟสแรกนำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบที่ไม่ได้รับการปรับปรุง เฟสสองในปี 2566 นำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงสัตหีบที่ได้รับการปรับปรุง อาวุธปืน 76/62 เอาไปทำอะไหล่ให้กับเรือลำอื่น ส่วนเฟสสามในปี 2569 นำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงหัวหิน ถ้าเรือเก่ายังใหม่อยู่อาจโอนไปสังกัดตำรวจน้ำ กรมประมง กรมเจ้าท่า หรือแบ่งเรือมาสนับสนุนการกวาดทุ่นระเบิดโดยใช้ Mission Module ตามความเหมาะสม  
และเฟสสี่ในปี 2572 นำมาทดแทนเรือชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ สร้างแล้วเสร็จทั้ง 3 ลำในปี 2575 ตอนนั้นเรือมีอายุ 40 ปีพอดิบพอดี สมควรกับเวลาแล้วเธอควรพักผ่อนได้แล้ว เราจะมีเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ถึง 12 ลำหน้าตาเหมือนกัน (เฟสห้าแล้วแต่กองทัพเรือเลยครับ) โดยไม่จำเป็นต้องใช้เรือและอาวุธตามใจผู้เขียน แต่ให้ทำเป็นเฟสๆ โดยใช้แบบเรือเดียวกัน กำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจน ระบุว่าสร้างภายในประเทศเท่านั้น ที่เหลือให้เอกชนจัดการเหมือนโครงการเรือหลวงคำรณสินธุ
แม้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ ใช้เรือฟริเกตกับเฮลิคอปเตอร์ที่ออกแบบมาโดยตรงดีที่สุด ให้บังเอิญเรือตรวจการณ์ความยาว 50 เมตรของเราชราภาพเต็มที แค่เพิ่มระบบปราบเรือดำน้ำราคาประหยัดเข้ามาไม่น่ามีปัญหา จะใช้ RBU-1200 กับโซนาร์รุ่นสงครามโลกของรัสเซียก็ได้ หรือรุ่นก๊อปปี้จากจีนที่เราซื้อเรือรบจากเขาเกิน 10 ลำแล้วก็ได้ นำมาใช้งานพื้นที่ใกล้ฝั่ง เขตน้ำตื้น หรือตามท่าเรือ เพื่อกดดันและหรือขับไล่ให้เรือดำน้ำข้าศึกทำภารกิจไม่สำเร็จ
เรือหลวงคำรณสินธุเป็นโครงการที่ดีมากในปี 2530 เสียดายว่าเราไม่ได้สานต่อให้เป็นเรือคอร์เวตความยาว 80 เมตร ระวางขับน้ำ 1,500 ตันมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทำนองนี้ ความรู้ความชำนาญของทีมงานสร้างเรือรางเลือนไปตามเวลา ดูจากหน้าเสื่อกว่าจะเริ่มต้นได้ใหม่ก็คงอีกนาน ตามอ่านกันต่อในบทความหน้าสวัสดีปีใหม่ 2563 ผู้อ่านทุกท่านครับ J
                     -------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
            นิตยสารสงคราม หรือ ALL WARFARE ฉบับที่ 282 400 411 และ 416
                เฟซบุ๊คนิตยาสารสงคราม สมรภูมิ แทงโก้ และอื่นๆ ทางการรถไฟและการทหาร
เฟซบุ๊คเรือหลวงคำรณสินธุ
                วารสารกรมอูทหารเรือประจำปี 2551 ฉบับที่ 1