วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2567

SK 105 Kürassier

 

การทดสอบรถถัง SK 105 ในประเทศไทย

ผู้เขียนมีบทความจากนิตยสารสงครามปี 2527 มาฝาก เป็นข้อมูลการทดสอบรถถัง SK 105 ในประเทศไทย ในฐานะแฟนพันธุ์แท้ตัวจริงผู้เขียนอยากนำมาเผยแพร่ต่อ โดยไม่มีการตัดเนื้อหานอกจากปรับปรุงเล็กน้อย  (ใช้ชื่อรุ่นถังเป็นภาษาอังกฤษล้วน) เพื่อให้ผู้อ่านซึ่งคนเป็นคนรุ่นใหม่ได้รับรู้เรื่องราวในอดีต กาลครั้งหนึ่งรถถังชนิดนี้เคยเข้ามาทดสอบในเมืองไทย

ไม่พูดพร่ำทำเพลงตัดเข้าสู่เนื้อหาบทความกันเลย

++++++++++++++++

นับตั้งแต่ปี 2525 ท่านผู้อ่านคงพอจำกันได้ว่า นิตยสารสงครามเล่มประจำวันที่ 20 เมษายน 2525 ได้แนะนำรถถังชนิดหนึ่งซึ่งมีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด ปรากฏว่าข่าวชิ้นนี้สร้างความฮือฮาต่อวงการทหารม้าและบรรดาพ่อค้ารถถัง คุณลักษณะเด่นของรถถังชนิดนี้ก็คือ มีน้ำหนักเบากว่ารถถังรุ่นอื่นที่ติดตั้งปืนใหญ่ 105 มม.เหมือนกัน ผลจากการทดสอบที่ชายแดนประเทศกัมพูชาและด้านลาว ยังสร้างความประหลาดใจต่อผู้ทดสอบเป็นอย่างยิ่ง เพราะพื้นที่ของการทดสอบลักษณะเป็นที่ลุ่ม เป็นบ่อและเป็นคลอง ขนาดรถถังของไทยคือ M-41 ยังเอาตัวแทบไม่รอด แต่รถถังชนิดที่ผมจะพูดถึงสามารถผ่านการทดสอบได้สบาย

พูดถึงตอนนี้พาลนึกไปถึงตอนที่เวียดนามเอา T.54 บุกเข้ามาทางช่องเขาพระพลัย ขนาดพี่ไทยเราเอา M-41 ไปวิ่งก็ย่ำแย่อยู่แล้วเพราะน้ำหนักตั้ง 23 ตันกว่า ส่วนที่เวียดนามเอา T.54 บุกเข้ามาถึง 1 กองร้อยรถถัง เข้ามาเลยรับรองเสร็จเราแน่ทั้งกองร้อย ไม่ใช่โดนกระสุนปืนใหญ่หรือจรวดต่อสู้รถถังอย่างเดียวหรอก แต่ติดหล่มจมโคลนพี่ไทยวิ่งไม่ออกแน่นอน T.54 ปาเข้าไปตั้ง 36.5 ตันจะมีปัญญาอะไรวิ่งเข้ามาได้…จมลูกเดียว

SK 105 คือรถถังเบาที่สุด เหมาะสมสำหรับประเทศไทยมากที่สุด นี่คือคำพูดของนิตยสารสงครามเมื่อปี 2525 นิตยสารสงครามเป็นเพียงฉบับเดียวที่ได้รับเอกสารจากบริษัท สไตเออร์-เดมเลอร์-ปุ๊ค อาเก้ พูดง่ายๆ ว่าเราเป็นนิตยสารภาษาไทยฉบับแรกที่ตีพิมพ์เรื่องราวของรถถัง SK 105 นับจากนั้นเป็นต้นมาเรื่องราวก็เงียบมาโดยตลอด จนถึงปลายปี 2526 ชื่อรถถังชนิดนี้จึงเริ่มได้ยินอีกครั้ง เพราะออสเตรียนำเข้ามาทดสอบในประเทศไทย ให้รู้ดำรู้แดงเสียที ที่เขาบอกว่าเหมาะสมนั้นเหมาะสมจริงหรือไม่

มีเหตุผลบางอย่างที่ชัดเจนว่าจะทำให้พ่อค้าอาวุธ ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายขายมีอยู่มากมายหลายบริษัทในไทย ได้นำรถถังของตัวเองเข้ามาทดสอบ เหตุผลดังกล่าวนั้นคือมีข่าว (บรรดาข่าวลือ) ออกมาว่า กองทัพบกจะจัดหารถถังแบบใหม่เข้าประจำการ แต่ผมได้ยินมาจากคุณอัคฤทธิ์ซึ่งเป็นผู้ประสานงานฝ่ายขายรถถัง SK 105 พูดว่า ‘ยังไม่มีหน่วยไหน กรมไหน หรือกองทัพไหนประกาศออกมาว่าจะซื้อรถถัง อาจเป็นเพราะสถานการณ์ด้านชายแดนตูมตามอยู่ในขณะนี้ จึงมีข่าวลือออกมาว่ากองทัพบกมีความจำเป็นต้องการรถถังไว้ปฏิบัติการบริเวณชายแดน ในเมื่อคนอื่นเขานำเข้ามาทดสอบผมก็นำเข้ามาทดสอบบ้าง เผื่อเขาจะซื้อจริงๆ ผมจะได้สิทธิ์ขายของผมบ้าง’

นี่เป็นคำกล่าวที่ได้รับฟังในวันทดสอบรถถัง SK 105 เมื่อกลางเดือนที่แล้ว

เป็นที่ทราบกันดีในบรรดาพ่อค้าอาวุธทุกราย นโยบายหลักของกองทัพบกที่จะจัดซื้ออาวุธใดๆ ก็ตาม จะต้องอยู่ในนโยบาย 2 ประการใหญ่ๆ ก็คือ

1.ซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จะไม่มีพ่อค้าคนกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง และจำนวนเงินในการจัดหาเป็นแบบเครดิต

2.อุปกรณ์หรือยุทโธปกรณ์ใดๆ ก็ตามที่จะจัดหา จะต้องมีความเหมาะสมกับภูมิประเทศของเราเป็นอย่างยิ่ง ใครจะว่าของดีมาจากไหนก็ไม่สนใจ หรือมีใช้งานทั่วโลกก็ไม่สนใจ แต่ที่แน่ๆ ต้องมาเจ๋งในเมืองไทย คือต้องเข้ามาทดสอบในภูมิประเทศเราให้ดูเสียก่อน อันไหนเหมาะสมและดีที่สุดถึงจะสนใจ

ในเมื่อมีข่าวลือออกมาอย่างนี้ บรรดาพ่อค้ารถถังทั้งหลายแหล่จึงเริ่มทยอยนำรถถังของตัวเองเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อทำการทดสอบให้เห็นสมรรถนะสินค้าของตัวเอง เขาเอามาให้ทดสอบฟรีๆ ไม่ต้องจ่ายอะไร แถมยังมีค่าเหนื่อยที่เป็นธรรมแต่ไม่เต็มอิ่มให้แก่ทหารผู้ทำการฝึกทดสอบ รายแรกทุกท่านคงทราบข่าวไปแล้ว Vickers Mark 3 รถถังที่สร้างในอังกฤษ แต่ไม่มีเข้าประจำการในกองทัพต่างๆ ของอังกฤษ ขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณา

อันดับสองเป็นคิวของ SK 105 ยกขบวนมาทั้งตระกูล ประกอบไปด้วย ยานเกราะกู้ภัย ยานลำเลียงพล และรถถัง SK 105 ทั้งหมดจำนวน 3 คัน ก่อนรถทั้ง 3 คันจะเยื้องย่างเข้าสู่ประเทศไทย ได้ไปโชว์ลวดลายที่อินโดนีเซียจนคนเขารู้กันทั้งเมือง ใช้ระยะทางในการทดสอบมากกว่าสองพันกิโลเมตร ขณะนี้อินโดนีเซียกำลังเตรียมตัวจัดหารถถัง SK 105 เข้าประจำการ หรือกำลังรวบรวมเงินอยู่ก็ได้ว่าจะซื้อสักกี่กองร้อย เพราะรถถัง SK 105 ราคาเบ็ดเสร็จตกประมาณคันละ 21 ล้านบาทเท่านั้น ที่ผมเขียนว่าเท่านั้นคือเอามาเปรียบเทียบกับราคารถถัง M-48 A5 ที่ปู่เรแกนให้เป็นยาหอมถึง 40 ขวด ประมาณขวดละ 17 ล้านบาทยังไม่รวมค่าปรับปรุงใหม่ ถ้าคิดจะซื้อแบบมือสองผมว่าเพิ่มเงินอีกสักหน่อย ถอยมาจากอู่ซิงๆ ไม่ดีกว่าหรือ

ภายหลังจากสิ้นสุดภารกิจที่อินโดนีเซีย SK 105 ก็มุ่งหน้าเข้าสู่ประเทศไทย ปลายเดือนพฤศจิกายน 2526 เริ่มการทดสอบที่สระบุรีเป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นจึงยกให้ พล.ม.2 นำไปทดสอบในภูมิประเทศจริง ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อชายแดนประเทศกัมพูชา ผลการทดสอบออกมาว่า SK 105 สามารถผ่านได้ทุกพื้นที่ โดยใช้เวลาในการทดสอบที่อรัญประเทศ 1 เดือนเต็ม ต่อจากนั้นจึงให้ พล.ม.1 นำไปทดสอบอีก 1 เดือนในพื้นที่อำเภอนาแห้ว จังหวัดน่าน ติดชายแดนประเทศลาว และในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ กระทั่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2527 ที่ผ่านมา

คำพูดจากผู้ทำการทดสอบ ‘น่าทึ่งมากครับสำหรับรถถังคันนี้ เหมาะสมสำหรับภูมิประเทศบ้านเรา เพราะที่ดินในประเทศเราส่วนมากเป็นที่ลุ่ม ดินมีความอ่อนตัวมาก รถถังที่มีน้ำหนักมากไปมักไม่ค่อยรอด ขนาดตอนที่ผบ.พล.ม.1 ผู้บัญชาการผม ให้ผมนำรถถัง SK 105 ลงไปในเลนหลังกองบัญชาการลึกเกือบหนึ่งเมตรครึ่ง ผมพูดกับพี่ตรงๆ เลยนะครับ มีการได้เสียกันเลยว่าจะรอดหรือไม่รอด ท้ายที่สุดเจ้ารถถังซึ่งมีน้ำหนัก 17.5 ตันขึ้นมาจากเลนได้โดยไม่มีปัญหา

การซ่อมบำรุงผมว่าสะดวกดีเพราะเป็นรถตระกูลเดียวกันทั้งหมด เครื่องของเขาก็อึดดีตั้งแต่นำเข้ามาทดสอบไม่มีอะไรขัดข้อง ไอ้หรั่งที่มากับรถบอกผมว่าที่อินโดนีเซียก็ไม่มีปัญหาอะไร สรุปแล้วใช้ระยะการทดสอบประมาณเกือบๆ ห้าพันกิโลเมตร ก็ยังไม่เห็นสิ่งบกพร่องของเครื่องยนต์รถถังคันนี้

ส่วนความแม่นยำปืนใหญ่รถถัง105 มม.ติดตั้งบน SK 105 ที่ระยะหวังผล 1.5 กิโลเมตรสูงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ การทดสอบที่สระบุรีพูดได้ว่ากระสุนเข้าเป้าเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม ผู้การกรมเป็นผู้ลงมือยิงนัดแรกด้วยตัวเอง เหตุผลที่พลาดอาจเป็นเพราะความตื่นเต้น แต่พอนัดที่สองเป็นต้นมากระสุนเข้าเป้าทุกนัด’

ครับ…ที่ผมเขียนมาทั้งหมดคือเรื่องราวรถถัง SK 105 ซึ่งมาพัวพันกับกองทัพบกไทย อนึ่งเมื่อปี 2522 รัฐบาลออสเตรียได้เชิญทหารม้าของไทยหลายท่านไปทดสอบรถถังชนิดนี้ ที่ประเทศตัวเองบริเวณพื้นที่ติดชายแดนยูโกสลาเวีย ผลการทดสอบยังเป็นที่ประทับใจของทหารหนุ่มไทยจวบจนถึงทุกวันนี้ รายละเอียดผมจะไม่พูดถึงเพราะเคยลงให้อ่านแล้วหนึ่งครั้ง ถ้ากองทัพบกเราคิดจะมีรถถังชนิดนี้เข้าประจำการ ค่อยอ่านกันอีกครั้งนะครับ…สวัสดี

++++++++++++++++

จากบทความผู้เขียนสามารถสรุปความได้ว่า

1.ระหว่างปี 2526 พ่อค้าอาวุธจะนำรถถังเข้ามาทดสอบในประเทศแบบฟรีๆ มีเบี้ยเลี้ยงให้กับทหารผู้เข้าร่วมการทดสอบในระดับเหมาะสม

2.มีการทดสอบรถถัง SK 105 ในประเทศไทยเป็นเวลา 2 เดือนกว่า ระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร

3.ก่อนมาประเทศไทยรถถัง SK 105 ไปทดสอบที่อินโดนีเซีย ระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร

4.รถถัง SK 105 หนัก 17.5 ตัน ส่วน M-41 หนัก 23 ตัน และ T-54 หนัก 36.5 ตัน

5.รถถัง SK 105 คันละ 21 ล้านบาท ส่วน รถถังมือสอง M-48 A5 ราคา17 ล้านบาทยังไม่รวมค่าปรับปรุง

6.โครงการนี้กองทัพบกจัดหารถถัง Commando Stingray จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 106 คัน แบ่งเป็นรถถังบังคับการติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารพิเศษจำนวน 26 คัน กับรถถังลูกแถวจำนวน 80 คัน มูลค่ารวมทั้งโครงการเท่ากับ 4,136 ล้านบาทหรือคันละประมาณ 39 ล้านบาท เป็นชาติแรกและชาติเดียวที่ใช้งานรถถังเบาจากบริษัทคาดิแลคเกจ

7.รถถัง SK 105 มีใช้งานจำนวน 8 ประเทศ ยอดผลิตรวมเท่ากับ 784 คัน

เรื่องราวน่าสนใจจากในอดีตเป็นอันสิ้นสุดเพียงเท่านี้…สวัสดี

++++++++++++++++

อ้างอิงจาก : นิตยสารสงคราม ปีที่ 6 ฉบับที่ 210 วันที่ 10 พฤษภาคม 2527

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น