วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

Ecuadorian Navy 2020

 

กองทัพเรือเอกวาดอร์ในปี 2020

สาธารณรัฐเอกวาดอร์เป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป พรมแดนทางเหนือติดโคลอมเบีย ทิศตะวันออกกับทิศใต้ติดเปรู ทิศตะวันตกเป็นชายฝั่งติดมหาสมุทรแปซิฟิก ประชากรทั้งประเทศมีประมาณ 17 ล้านคน รายได้ต่อหัวในปี 2018 อยู่ที่ 6,344.87 ดอลลาร์ เทียบกับประเทศไทยที่ 7,273.56 ดอลลาร์ไม่แตกต่างเท่าไร รายได้หลักมาจากวงการปิโตรเลียม สามารถผลิตน้ำมันได้เกือบ 550,000 บาร์เรลต่อวัน

                ปี 2018 เอกวาดอร์มีมูลค่า GDP 3.2 ล้านล้านบาท มีหนี้สาธารณะของประเทศเท่ากับ 45.2 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เงินทุนสำรองลดจาก 185,000 ล้านบาทเหลือเพียง 83,000 ล้านบาท ต้องกู้ยืมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ 128,000 ล้านบาท เอกวาดอร์ยังประสบปัญหาโควิด 19 ชนิดหนักหนาสาหัส รัฐบาลล้มเหลวในการจัดการเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุข

ประเทศนี้มีปัญหาภายในเยอะมาก แต่เอกวาดอร์มีพื้นที่ติดทะเลถึงสองส่วนห้า จำเป็นต้องมีกองทัพเรือไว้คอยดูแลป้องกัน บทความนี้จะพูดราชนาวีเอกวาดอร์ครับ อดีตเขามีแนวทางใช้กำลังแบบไหน และในอนาคตเขาเพ่งมองไปทางไหน

เรือฟริเกต

            ราชนาวีเอกวาดอร์มีเรือฟริเกตชั้น Leander Batch III หรือ Type 12I จำนวนสองลำ ประกอบไปด้วย BAE Eloy Alfaro (FM-01) และ BAE Morán Valverde (FM-02) ระวางขับน้ำปรกติ 2,500 ตัน ยาว 113 เมตร กว้าง 12 เมตร กินน้ำลึก 5.5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ 4.5 นิ้วลำกล้องแฝด 1 กระบอก ใช้เรดาร์ควบคุมการยิง ELM-2221 STGR ของอิสราเอล ติดตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม 2 แท่นยิง อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet จำนวน 4 นัด ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ พร้อมระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ELTA 905 จากอิสราเอล


                ผู้อ่านอาจรู้สึกคุ้นตาอย่างไรพิกล ทั้งนี้เนื่องมาจากเป็นเรือมือสองจากชิลี ต้นสายปลายเหตุเกิดจากการล่มสลายของโครงการ Tridente Frigate ปลายปี 2000 ทำให้ชิลีต้องปรับปรุงเรือเก่าชนิดจัดหนักจัดเต็ม ต่อมาในปี 2007 ชิลีได้เรือฟริเกตใหม่แต่มือสองประจำการครบ 8 ลำ เรือฟริเกตชั้น Leander เพิ่งปรับปรุงใหม่กลายเป็นส่วนเกิน จำเป็นต้องปลดประจำการอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตอนนั้นเองประธานาธิบดี Rafael Correa ของเอกวาดอร์ ยื่นข้อเสนอขอซื้อเรือฟริเกตแลกกับน้ำมัน

                ใช่แล้วครับเรือฟริเกตมือสองแลกกับน้ำมัน

อ่านไม่ผิดหรอกครับเรือฟริเกตมือสองแลกกับน้ำมัน

                เหตุผลที่เอกวาดอร์สนใจเรืออายุ 33 ปีมีด้วยกันสองประการ หนึ่งเรือลำนี้เพิ่งปรับปรุงใหม่ได้เพียงไม่นาน มีการซ่อมเครื่องยนต์หลักให้มีสภาพเหมือนใหม่ ส่งผลให้เรือมีอายุการใช้งานไปอีก 15-20 ปี ชิลีกับเอกวาดอร์มีความรักใคร่ชอบพอกันมานาน ทั้งสองประเทศไม่กินเส้นกันเปรูเหมือนๆ กัน การเจรจาซื้อขายเรือจึงเป็นไปอย่างสะดวกราบรื่น

                มีนาคม 2008 เรือฟริเกตทั้งสองลำถูกขายให้กับเอกวาดอร์ ในวงเงิน 28 ล้านเหรียญหรือลำละ 14 ล้านเหรียญเท่านั้น ราคาถูกกว่าระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx ใหม่เอี่ยม ซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณ 16-18 ล้านเหรียญ ถัดมาเพียงหนึ่งเดือน BAE Eloy Alfaro (FM-01) และ BAE Morán Valverde (FM-02) เข้าประจำการพร้อมทำหน้าที่ มาครบทุกอย่างรวมทั้งระบบสื่อสารและ Phalanx CIWS ที่ว่ากันว่าเป็นของมือสองจากอิสราเอลการช่าง

เอกวาดอร์ใช้อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet เหมือนชิลีอยู่แล้ว ทำให้เรือแทบไม่ต้องปรับปรุงสิ่งใดเพิ่มเติม นอกจากติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานนำวิถีความร้อนระยะใกล้รุ่น Mistral ใช้แท่นยิงแฝดสองรุ่น Simbad ซึ่งต้องใช้พลยิงควบคุมไม่ใช่รีโมทเหมือนรุ่นใหม่ ผู้เขียนขอสารภาพว่าหา Simbad ไม่เจอเนื่องภาพไม่ค่อยชัดเจน

เหตุผลข้อที่สองที่เอกวาดอร์ซื้อเรือฟริเกตจากชิลี เพราะก่อนหน้านี้เขามีเรือฟริเกตมือสอง Leander Batch II จากอังกฤษจำนวน 2 ลำ สภาพค่อนข้างโทรมเครื่องยนต์ใกล้กลับบ้านเก่า ค่าใช้จ่ายในการออกเรือแต่ละครั้งค่อนข้างสูง เรือจากชิลีสามารถตอบโจทย์ได้อย่างถูกต้อง หนึ่งราคาถูกแต่ได้เรือทันสมัยกว่าเดิม สองลูกเรือใช้เวลาปรับตัวค่อนข้างสั้น สามอะไหล่หลายอย่างใช้งานร่วมด้วยกันได้ สี่อุปกรณ์บนท่าเรือไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ ห้าค่าใช้จ่ายน้อยลงตามสภาพเครื่องยนต์หลัก

เรือเก่าทั้งสองลำชื่อ BAE Eloy Alfaro (FM-01) และ BAE Morán Valverde (FM-02) เช่นเดียวกัน ในภาพคือเรือฟริเกต BAE Morán Valverde (FM-02) ปลดประจำการปี 2008 หลังได้รับเรือใหม่ ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 นัด กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat แฝดสี่ 1 แท่นยิง ในภาพถูกถอดออกแล้วเพราะจรวดหมดอายุ รวมทั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสาม 2 แท่นยิง ซึ่งมีการปรับปรุงติดตั้งเพิ่มเติมเข้ามา เนื่องจากของเดิมอังกฤษใช้จรวดปราบเรือดำน้ำ Limbo เหมือนเรือหลวงมกุฏราชกุมาร ล้าสมัยเกินไปในปี 1991 ที่เรือเข้าประจำการ

มีเรื่องแปลกให้ปวดหัวเล่นก็คือ เรือใช้เรดาร์ตรวจการณ์ผิวน้ำรุ่น Type 992 ซึ่งทันสมัยน้อยกว่า Type 993Q บนเรือลำใหม่ เข้าใจว่าอังกฤษเปลี่ยนเรดาร์ให้ตอนขายเรือ เพราะปรกติเรือฟริเกตรุ่นนี้ใช้เรดาร์ Type 993Q เป็นส่วนใหญ่ เห็นอย่างชัดเจนว่าเรือใหม่มีรูปทรงเหมือนเรือเก่า แต่ติดอาวุธและระบบเรดาร์ทันสมัยกว่ากันพอสมควร

เรือมือสองจากอังกฤษมีอายุประจำการ 15 ปีกับ 17 ปี ส่วนเรือมือสองจากชิลีตอนนี้ใช้มาแล้ว 12 ปี เครื่องยนต์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่น่าจะอยู่ได้อีกสักพักหนึ่ง ฉะนั้นภายใน 5 ถึง 10 ปีเอกวาดอร์ต้องซื้อเรือฟริเกตลำใหม่

แอดขอเปรียบเทียบเพื่อความสนุกสนาน ระหว่างราชนาวีเอกวาดอร์กับราชนาวีไทย (อย่าคิดมากครับแค่พอขำๆ) ระบบป้องกันตนเองระยะประชิดทำงานอัตโนมัติ (รุ่นใช้พลยิงควบคุมผู้เขียนขอไม่นับนะครับ ปัดไปเป็นปืนหลักกับปืนรองอย่าว่ากันเด้อ) เอกวาดอร์มี Phalanx 2 ระบบ ส่วนไทยมี 1 ระบบบนเรือหลวงภูมิพล (เรือหลวงพุทธทั้ง 2 ลำปลดประจำการแล้ว ส่วนเรือชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์มีแต่จุดติดตั้ง) เพราะฉะนั้นเราโดนนำเขาไปแล้ว 1 คะแนน

เรือคอร์เวต

            เรือคอร์เวตติดอาวุธครบ 3 มิติมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ คือความใฝ่ฝันของหลายชาติที่มีงบประมาณจำกัด เพราะสามารถจัดหามาใช้งานในปริมาณมากเพียงพอ ค่าใช้จ่ายในการใช้งานไม่แพงเลือดสาดเหมือนเรือฟริเกต ปี 1978 เอกวาดอร์สั่งซื้อเรือคอร์เวตจำนวน 6 ลำ จากอู่ต่อเรือ Cantieri Navali Riuniti หรือ CNR โดยใช้แบบเรือ Type 550 เหมือนเรือคอร์เวตชั้น Laksamana มาเลเซีย แต่มีความแตกต่างเรื่องรายละเอียดเล็กน้อย เรือทุกลำเข้าประจำการระหว่างปี 1982 ถึง 1984  

เรือคอร์เวตชั้น Esmeraldas ระวางขับน้ำ 650 ตัน ยาว 62.3 เมตร กว้าง 9.3 เมตร กินน้ำลึก 2.9 เมตร ความเร็วสูงสุด 37 นอต ระยะปฏิบัติการณ์ไกลสุด 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.1 กระบอก ปืนกล 40/70 มม.ลำกล้องแฝด 1 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  Aspide จำนวน 4 นัด อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM40 Exocet  จำนวน 6 นัด และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Whitehead A244 จำนวน 6 นัด


ในภาพนี้คือเรือชื่อ CM-13 Los Rios ติดจรวด Aspide เพียง 2 ท่อยิง และจรวด MM40 Exocet เพียง 3 ท่อยิง เรือชั้นนี้ทำงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ Bell 206 JetRanger จำนวน 3 ลำ และ Bell TH-57 SeaRanger อีก 3 ลำ สังเกตนะครับว่าเรือไม่มีปล่องระบายความร้อน และไม่ได้ทาสีกราบเรือเป็นสีดำแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เป็นแบบเรือจากยุค 70 แปลกดีไหมครับ

แม้เป็นเรือขนาดเล็กแต่ติดอาวุธครบ 3 มิติ รวมทั้งเรดาร์ตรวจการณ์ RAN-10S (ซึ่งจีนซื้อลิขสิทธิไปผลิตและติดตั้งบนเรือหลวงนเรศวรกับตากสิน ปัจจุบันมีใช้งานบนเรือหลวงกระบุรีและสายบุรี รวมทั้งมีใช้งานบนเรือคอร์เวต Type-056 ของจีน ที่มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยอยากได้เหลือเกิน) เรือยังติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง Selenia Orion 10X ถึง 2 ตัว สามารถยิงจรวด Aspide พร้อมกันสองทิศทางได้ มีโซนาร์หัวเรือ Thomson Sintra Diodon ใช้ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ELT 211 ESM กับ ELT 318 ECM พร้อมระบบเป้าลวง SCLAR 105 รุ่นหกท่อยิงบนหลังคาสะพานเดินเรือ

ภาพนี้มาจากงาน Open House ต้นเดือนพฤษจิกายน 2000 เทียบได้กับงานวันเด็กบ้านเรานั่นแหละครับ เรือคอร์เวตในภาพชื่อ CM-12 Manabí ติดท่อยิงจรวด Aspide ครบ 4 ท่อนัด มองเห็นโดม ELT 828 ลูกกลมๆ ซึ่งเป็นจานส่งสัญญาณระบบก่อกวนเรดาร์ ELT 318 ECM เรือหลวงมกุฏราชกุมารกับเรือชั้นเรือหลวงชลบุรีมีระบบนี้ใช้งานเช่นกัน

บนลานมีเฮลิคอปเตอร์ Bell 206 JetRanger พร้อมทุ่นลอยน้ำที่ฐานสกี ผูกมัดไว้อย่างดีป้องกันการพลัดหล่นทะเล แต่อย่างที่รู้เรือลำนี้ขนาดไม่ใหญ่เท่าไร เหมาะสมกับภารกิจไม่ไกลจากชายฝั่งสักเท่าไร ถ้าออกทะเลลึกคงทำได้แค่ลานจอดรับส่งชั่วคราว จานส่งสัญญาณเรดาร์ควบคุมการยิง Selenia Orion 10X ค่อนข้างบาง แต่ใช้งานได้จริงก็เอาเถอะไม่ว่ากัน

เรือคอร์เวตชั้น Esmeraldas ถือเป็นกระดูกสันหลังของกองทัพเรือ รวมทั้งเคยสวมบทบาทผู้เสียสละในปี 1991 เมื่อกองทัพเรือซื้อเรือฟริเกต Leander Batch II จำนวน 2 ลำจากอังกฤษ เรือคอร์เวต 2 ลำต้องเสียสละแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำให้ ต่อมาอีก 17 ปีเรือฟริเกตปลดประจำการ แท่นยิงตอร์ปิโดได้กลับคืนสู่สถานที่ที่ตัวเองจากมา

เรือทุกลำถูกซ่อมบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี โดยเฉพาะในปี 2017 ถึง 2018 เรือ 3 ลำชื่อ CM-12 Manabí CM-13 Los Ríos และ CM-16 Loja ถูกปรับปรุงใหญ่โดยอู่ต่อเรือภายในประเทศในวงเงิน 71 ล้านเหรียญ โดยการซ่อมคืนสภาพให้เหมือนเรือใหม่มากที่สุด รวมทั้งติดตั้งระบบอำนวยการรบ Orion ซึ่งเอกวาดอร์พัฒนาเอง

ถูกต้องครับผมเอกวาดอร์พัฒนาระบบอำนวยการรบขึ้นมาเอง

จริงแท้แน่นอนเอกวาดอร์พัฒนาระบบอำนวยการรบขึ้นมาเอง

นี่คือภาพเรือ CM-13 Los Ríos หลังการปรับปรุงเสร็จแล้ว เรดาร์ตรวจการณ์ RAN-10S หายไปจากเสากระโดง ได้เรดาร์เดินเรือตัวใหม่กับกล้องตรวจการณ์มาแทนที่ กราบซ้ายใส่เรือยางท้องแข็งกับเครนแทนแท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ ส่วนกราบขวายังคงมีแท่นยิงตามปรกติ แท่นยิงจรวด MM40 Exocet ยังอยู่เหมือนเดิม แต่ลูกจรวดไม่ใส่เพราะเหลือใช้งานได้ไม่มาก ถ้าจะใส่จรวดต้องเอาเรือยางขึ้นไปเก็บบนฝั่งก่อน สาเหตุที่ต้องใส่เรือยางเพราะเขตเศรษฐกิจจำเพาะ รวมทั้งภัยร้ายรูปแบบใหม่ที่เป็นปัญหาใหญ่ของชาติ


เอกวาดอร์มีแม่น้ำกับป่าอเมซอนครึ่งประเทศ (ดั่งที่เห็นในภาพ) ฐานทัพเรือที่ Guayaquil ตั้งอยู่ค่อนข้างลึกเข้ามาในทวีป (ให้นึกถึงภาพเสือโครงถ่ายด้านข้าง ฐานทัพเรืออยู่แถวๆ ฟันกรามของเสือ) เรือกินน้ำเยอะๆ ค่อนข้างลำบากในการใช้เส้นทาง ทำให้เรือคอร์เวต Esmeraldas ใช้งานได้อย่างสะดวกคล่องตัวกว่าเรือฟริเกต

ผู้เขียนนึกประเทศพม่าขึ้นมาทันที พร้อมกับเรือฟริเกตกินน้ำตื้นที่โดนเหยียดหยามเหลือเกิน พม่ามีภูมิประเทศใกล้เคียงเอกวาดอร์ค่อนข้างมาก ยังมีป่าเขาลำเนาไพรและธรรมชาติอันแสนสมบรูณ์ ไม่เหมือนประเทศเพื่อนบ้านเหลือแต่เขาหัวโล้น เราจึงได้เห็นเรือดำน้ำ Kilo เจ้าของฉายาหลุมดำแห่งมหาสมุทร ลอยลำอย่างอ้อยอิ่งอยู่ในแม่น้ำสีขุ่นอันเป็นท่าจอดเรือ

ผลจากการปรับปรุงเรือเองใช้ระบบอำนวยการรบตัวเอง ทำให้ประหยัดงบประมาณแผ่นดินถึง 100 ล้านเหรียญ เรืออีก 3 ลำถูกปรับปรุงแล้วระหว่างปี 2008 ถึง 2010 ภายใต้โครงการ Esmeraldas program โดยไม่ได้เปลี่ยนเรดาร์ตรวจการณ์และระบบอำนวยการรบ ด้วยพิษร้ายเศรษฐกิจรวมทั้งโควิด 19 ผู้เขียนคาดว่าคงไม่ได้ปรับปรุงใหม่อีกนานพอสมควร

มาถึงปัญหาใหญ่ที่น่าสนใจมาก เอกวาดอร์กำลังประสบปัญหาเรื่องอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ พวกเขาต้องการซื้อ MM40 Exocet Block 3 มาใช้งานบนเรือตัวเอง ปัญหาก็คือจรวดนัดละ 5 ล้านเหรียญ

ใช่แล้วครับ… MM40 Exocet Block 3 นัดละ 5 ล้านเหรียญ!

เอกวาดอร์ต้องการ  MM40 Exocet Block 3 จำนวน 40 นัด ต้องใช้เงิน 200 ล้านเหรียญหรือ 6,298.20 ล้านบาท

ได้ข่าวว่าราชนาวีไทยสนใจจรวดรุ่นนี้มาติดบนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ผู้เขียนแนะนำว่าให้หยุดดูสถานการณ์ไปก่อน ตอนนี้ทุกอย่างในประเทศกำลังย่ำแย่นักศึกษาอย่าห้าว ใช้ Harpoon กับ C-802A ไปพลางๆ ไม่น่าเกินความสามารถ

ต่อจากนี้เรามาเปรียบเทียบอาวุธนำวิถีระหว่างสองชาติ เริ่มจากอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานก่อน เอกวาดอร์มีจรวด ASpide บนเรือคอร์เวต 6 ลำ ส่วนไทยมีจรวด ESSM บนเรือฟริเกต 3 ลำ (ภูมิพล นเรศวร ตากสิน) จรวด ASpide บนเรือคอร์เวต 2 ลำ (รัตนโกสินทร์ สุโขทัย) นำมารวมกันแล้วเท่ากับ 5 ลำยังแพ้เขาอยู่ 1 ลำ

Ship-หา-และ!!

ถ้าเป็นอีหรอบนี้เอกวาดอร์จะนำเรา 2 แต้ม เห็นท่าจะไม่ได้การจำเป็นต้องแจกลูกโทษ ทันใดนั้นเองผู้เขียนนึกขึ้นมาได้ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินของเราติดตั้ง Sadral ยิงจรวด Mistral ไว้ด้วยนี่นา ฉะนั้นเรามี 6 ลำเท่าเขาไม่มีใครได้แต้มนี้ไปครอง ส่วนจรวด Mistral บนเรือฟริเกตเอกวาดอร์ถือว่าไม่นับ เพราะยังหาภาพไม่เจอรวมทั้งใช้ยิงด้วยมือไม่ใช้รีโมท

ต่อไปเป็นอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ เอกวาดอร์มีเรือฟริเกต 2 ลำเรือคอร์เวต 6 ลำเท่ากับ 8 ลำ ส่วนไทยมี Harpoon บนเรือฟริเกต 3 ลำ (ภูมิพล นเรศวร ตากสิน) เรือคอร์เวต 2 ลำ (รัตนโกสินทร์ สุโขทัย) เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง 1 ลำ (ประจวบ) มี C-802A บนเรือฟริเกต 2 ลำ (กระบุรี สายบุรี) ส่วน C-801 ผู้เขียนขอไม่นับขอเถอะนะ เพราะฉะนั้นเรามีเรือ 8 ลำเท่าเขาพอดี สรุปความได้ว่าไม่มีใครเก็บแต้มนี้ เอกวาดอร์ยังนำหน้าไทยแลนด์อยู่เพียง 1 แต้ม

อาวุธสุดท้ายเป็นตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ เอกวาดอร์มีเรือฟริเกต 2 ลำเรือคอร์เวต 6 ลำเท่ากับ 8 ลำ ส่วนไทยมีเรือฟริเกต 4 ลำ (ภูมิพล นเรศวร ตากสิน มกุฏราชกุมาร) เรือคอร์เวต 4 ลำ (รัตนโกสินทร์ สุโขทัย ตาปี คีรีรัฐ) เรือตรวจการณ์ 3 ลำ (คำรณสินธุ ทยานชล ล่องลม) และมีบนเรือพิฆาตคุ้มกันอีก 1 ลำ (ปิ่นเกล้า) รวมทั้งหมดเท่ากับเรามีเรือถึง 12 ลำ ได้คะแนนอย่างใสสะอาดมาครอบครอง ทำให้คะแนนรวมกลับมาเสมอกันที่ 1 ต่อ 1

เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี

            กาลครั้งหนึ่งเรือชนิดนี้คือดาวรุ่งพุ่งแรง ปัจจุบันกลายเป็นดาวร่วงไม่เว้นกระทั่งประเทศเล็กๆ ในอเมริกาใต้ เอกวาดอร์เคยมีเรือชนิดนี้ถึง 2 ชั้นด้วยกัน เริ่มจากลำเล็กสุดเรือชั้น Manta จากอู่ต่อเรือ Lurssen ประเทศเยอรมัน เรือมีระวางขับน้ำ 134 ตัน ยาว 36.2 เมตร กว้าง 5.8 เมตร กินน้ำลึก 1.7 เมตร ใช้ระบบเรดาร์จาก Thomson-CSF ทั้งลำ ติดปืนกล Emerson Electric ขนาด 30 มม.ลำกล้องแฝด กับอาวุธนำวิถีปราบเรือรบ Gabriel Mk II อีก 4 นัด

เรือชั้น Manta ทั้ง 3 ลำเข้าประจำการในปี 1971 ช่วงแรกติดตั้งตอร์ปิโด 533 มม.เป็นอาวุธหลัก ต่อมาในปี 1980 จึงนำจรวด Gabriel Mk II พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิงมาติดตั้งแทน จรวดถูกถอดออกเมื่อตกลงเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือ EEZ กับประเทศเพื่อนบ้านได้ ตอนนี้ปลดประจำการครบถ้วนทุกลำ ได้เรือตรวจการณ์ปืนซึ่งเหมาะสมกว่าทำหน้าที่แทน

นอกจากเรือจิ๋วแจ๋วยาวเพียง 30 กว่าเมตร พวกเขายังมีเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น TNC 45 จากอู่ต่อเรือ Lurssen ประเทศเยอรมันอีก 3 ลำ เข้าประจำการระหว่างปี 1976  ถึง 1977 เรือมีระวางขับน้ำ 265 ตัน ยาว 45 เมตร กว้าง 7 เมตร กินน้ำลึก 2.4 เมตร ความเร็วสูงสุดถึง 35 นอต ใช้ระบบเรดาร์จาก Thomson-CSF ทั้งลำ ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.1กระบอก ปืนกล 35 มม.ลำกล้องแฝด Oerlikon GDM-A 1 กระบอก ปืนรุ่นนี้ใช้พลยิงควบคุมเหมือนปืนกล Bofors 40 มม.รุ่นเก่า ทีเด็ดทีขาดคืออาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ MM38 Exocet จำนวน 4 นัด ทันสมัยกว่า Gabriel Mk II ที่ต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิง

ชมภาพเรือจริงกันบ้าง มุมบนขวาในกรอบแดงคือเรือชั้น Manta มองเห็นแท่นยิงจรวด Gabriel Mk II อย่างชัดเจน ประเทศชิลีก็เคยมีเรือชั้นนี้เช่นเดียวกัน ส่วนภาพบนคือเรือชั้น TNC 45 หมายเลข LM-24 Quito เข้าร่วมซ้อมรบใหญ่ประจำปี 2017 โดยมีเรือคอร์เวต CM-11 BAE Esmeraldas  แล่นประกบ ส่วนภาพล่างเรือชื่อ LM-26 Cuenca เข้าร่วมการซ้อม Pacific Ocean 2018 กับเรือพิฆาต USS Wayne E. Meyer (DDG 108) สังเกตนะครับว่าเรือมีท่อยิงจรวด MM38 Exocet ติดไว้ด้วย 2 ถึง 4 นัด แต่ใครเลยจะทราบเป็นกล่องดัมมี่หรือกล่องจริงมีจรวดจริง

เห็นภาพแล้วรู้สึกคุ้นเคยบ้างไหมครับ แน่นอนอยู่แล้วเพราะใช้แบบเรือเดียวกับเรือชั้นเรือหลวงปราบปรปักษ์ ซึ่งเราสั่งต่อจากประเทศสิงคโปร์ (สิงคโปร์ก็มีเรือชั้นนี้ประจำการเช่นกัน แต่ต่อจากอู่ต่อเรือ Lurssen เยอรมันงงดีเนอะ) เรือเราใช้ปืนใหญ่ Bofors 57 มม.ปืนกล Bofors 40/70 มม.อาวุธนำวิถีปราบเรือรบ Gabriel Mk II 5 นัด ควบคุมการยิงโดยเรดาร์ WM22 รูปลักษณ์ภายนอกจึงดูแตกต่างสักเล็กน้อย

เปรียบเทียบกับเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีประเทศไทย ปัจจุบันเรือชั้นเรือหลวงราชฤทธิ์เหลือเพียงลำเดียว ส่วนเรือชั้นเรือหลวงปราบปรปักษ์จำนวน 3 ลำ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเหลือประจำการจริงกี่ลำ จรวด Gabriel Mk II ปลดประจำการหมดแล้ว ส่วนจรวด MM38 Exocet ได้ข่าวว่ายังเหลืออยู่ จะซ้อมยิงก่อนปลดประจำการเรือชั้นเรือหลวงราชฤทธิ์ในเร็วๆ นี้

สำหรับหัวข้อนี้ผู้เขียนให้คะแนนเสมอกัน เพราะไม่มีความชัดเจนเรืออาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ แต่ที่ชัดเจนก็คือใกล้ปลดระวางทั้งหมด บ่งบอกอนาคตเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

ผู้เขียนอยากเขียนให้จบในบทความเดียว ครั้นเหลียวมองเนื้อหาที่เหลือแล้วพลันถอนใจ ยังมีเรื่องราวสนุกตื่นเต้นอีกมากมาย ขออนุญาติตัดจบตอนแรกไว้ที่กองเรือผิวน้ำ รออ่านตอนที่สองเดือนตุลาคมนะครับ ช่วงหลังเป็นการเจาะลึกนโยบายกองทัพเรือเอกวาดอร์ กับการปรับตัวเข้าหาภายคุกคามในปัจจุบัน วันนี้ขออำลากันไปก่อนสวัสดีครับ ;)

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://base.mforos.com/1139583/5292349-armada-de-ecuador/?pag=2

https://web.facebook.com/armadaecuatoriana/?tn-str=k*F

https://en.wikipedia.org/wiki/Ecuadorian_Navy

https://base.mforos.com/1139583/5292349-armada-de-ecuador/?pag=2

http://www.milpower.org/modarmedforces.asp?value=243

https://americamilitar.com/ecuador/260-armada-del-ecuador-p21.html

https://www.jetphotos.com/airline/Ecuador%20-%20Navy

https://products.damen.com/-/media/Products/Images/Clusters-groups/High-Speed-Crafts/Stan-Patrol-Vessel/Stan-Patrol-5009/Documents/Product_Sheet_Damen_Stan_Patrol_5009_St.pdf

https://www.navyrecognition.com/index.php/news/defence-news/2020/march/8216-south-korea-will-deliver-two-decommissioned-haeuri-class-patrol-vessels-to-ecuador-s-coastguard.html

https://web.facebook.com/ROKArmedForces/photos/a.805807109517678/2808689162562786/?type=3&theater

https://dialogo-americas.com/articles/uavs-help-ecuadors-navy-catch-drug-traffickers-from-the-air/

https://en.wikipedia.org/wiki/Condell-class_frigate

 

 

วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563

Chilean Navy Frigate Program

 

โครงการจัดหาเรือฟริเกตกองทัพเรือชิลีตอนจบ

ความเดิมตอนที่แล้ว ‘Tridente Frigate Program’ หรือ ‘Project Tridente’ ถูกยกเลิกในปี 2000 เนื่องจากรัฐบาลชิลีอยู่ดีๆ เกิดถังแตก พวกเขาตัดสินใจเลือกเครื่องบิน F-16 Block 50 จำนวน 10 ลำ และยุติโครงการจัดหาเรือฟริเกตกองทัพเรือ อ่านของเดิมได้ในบทความนี้ครับ

Tridente FrigateProgram

เมื่อสถานการณ์พลิกผันหน้ามือเป็นหลังมือ ราชนาวีชิลีต้องเปลี่ยนแผนกะทันหัน แผนเดิมคือสร้างเรือฟริเกตจำนวน 6-8 ลำ ในเวลา 15 ปี เริ่มจากเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ 4 ลำในเฟสแรก ต่อด้วยเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ 2-4 ลำในเฟสสอง ระยะเวลาประมาณไว้ตั้งแต่ปี 2002-2017 จึงได้มีการปรับปรุงเรือรองรับแผนดังกล่าว

ปี 2000 พวกเขาเหลือเรือรบหลักเพียง 7 ลำ เพราะเรือพิฆาต DLG-14 Almirante Latorre ปลดประจำการตามอายุไข ส่วนเรือพิฆาตอีก 3 ลำได้รับการปรับปรุงใหม่ โดยการติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Barak 1 จำนวน 16 นัด พร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง ELM-2221 STGR  เรือทั้ง 3 ลำจะถูกใช้งานยาวนานมากที่สุด อย่างน้อยๆ ให้เรือเฟสสองลำแลกสร้างเสร็จ

แต่แล้วแผนการที่วางไว้กลับผิดพลาด กองทัพเรือชิลีต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะ พวกเขาจะแก้ไขด้วยวิธีไหน?

วิธีแก้ไขคือนำเรือฟริเกตชั้น Leander จำนวน 2 ลำมาปรับปรุงใหญ่ โดยเลือกเรือ PFG-06 Condell กับ PFG-07 Lynch ที่สั่งซื้อป้ายแดงจากอังกฤษ โดยเปลี่ยนเรดาร์ควบคุมการยิงปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว มาเป็น ELM-2221 STGR ของอิสราเอล ใส่ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ELTA 905 ของอิสราเอลเช่นกัน ใส่ระบบสื่อใหม่หมดรวมทั้งจานรับสัญญานดาวเทียม แท่นยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seacat ถูกถอดออก แทนที่ด้วยระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx

การปรับปรุงช่วยยืดอายุเรือได้ถึง 15-20 ปี เพราะมีการซ่อมแซมปรับปรุงเครื่องยนต์เรือ จนกลับมาดีเยี่ยมเหมือนเดิมอีกครั้ง โดยถอดออกมารื้อใหญ่เปลี่ยนอุปกรณ์สำคัญใหม่หมด ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติภารกิจลดต่ำลง นี่คือเรือฟริเกตชั้น Leander ติด Phalanx CIWS ลำแรกของโลก รับประกันคุณภาพโดยอิสราเอลการช่าง

การปรับปรุงครั้งนี้ทำให้กองทัพเรือชิลีมั่นใจได้ว่า ตัวเองมีเรือรบในสภาพพร้อมรบจำนวน 5 ลำ

ขณะที่โครงการปรับปรุงเรือชั้น Leander กำลังเดินหน้า ความเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดรเกิดขึ้นอีกครั้ง ปี 2002 รัฐบาลชิลีแก้ไขปัญหาการเงินสำเร็จ พวกเขาจึงกลับมาสนใจกองทัพเรือลูกเมียน้อย อันเป็นที่มา ‘Frigate Program’ ซึ่งมาแทนที่ ‘Project Tridente’ แผนการก็คือซื้อเรือมือสองอายุ 15-20 ปีในเฟสแรก ต่อด้วยจัดหาเรือรบใหม่เอี่ยมในเฟสสอง

ทั้งจำนวนเรือและความต้องการของชิลี ตรงใจหลายชาติในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ ซึ่งกำลังประสบปัญหาใหญ่โตเรื่องอาวุธส่วนเกิน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการล่มสลายของโซเวียต จำเป็นต้องปลดประจำการหรือขายต่อให้กับพันธมิตร ทีมที่ให้ความสนใจโครงการนี้ประกอบไปด้วย

ทีมอเมริกา

            สหรัฐอเมริกาเป็นพันธมิตรที่ดีของชิลี เคยโอนเรือรบมือสองมาให้จำนวนหนึ่ง กองทัพเรือชิลีอยากใช้อาวุธอเมริกาใจจะขาด ข้อเสนอของลุงแซมเป็นเรือรบมือสองประกอบไปด้วย เรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำชั้น Spruance จำนวน 2 ลำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 8,040 ตัน ยาว 161 เมตร กว้าง 16.8 เมตร กินน้ำลึก 8.8 เมตร และเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Oliver Hazard Perry อีก 2 ลำ ระวางขับน้ำเต็มที่ 4,100 ตัน ยาว 138 เมตร กว้าง 14 เมตร กินน้ำลึก 6.7 เมตร


                เรือทั้ง 4 ลำเป็นการโอนให้ชิลีไปฟรีๆ เหมือนกับที่เคยเสนอให้กับกองทัพเรือหลายชาติ แต่มีค่ายใช้จ่ายในการซ่อมใหญ่เรือแยกต่างหาก อย่างน้อยๆ ลำละ 40 ล้านเหรียญเท่ากับ 160 ล้านเหรียญ ซื้ออาวุธอเมริกาอีก 90 ล้านเหรียญรวมเป็น 250 ล้านเหรียญ นับเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมากพอสมควร บังเอิญข้อเสนอทีมอเมริกามีจุดอ่อนขนาดมหึมา

                เรือพิฆาตชั้น Spruance เป็นเรือรบในยุค 70 อายุมากแล้วค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่อนข้างสูง ปรกติติดจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC ก็จริง แต่เรือ 24 ลำจาก 31 ลำถอดออกเพื่อใส่แท่นยิงแนวดิ่ง 61 ท่อยิง ซึ่งอเมริกาไม่ให้มาด้วยอย่างแน่นอน ส่วนเรือติด ASROC ก็ปลดประจำการหมดแล้ว ฉะนั้นชิลีจะได้เรือ 8,000 ตันติดปืนใหญ่ 5 นิ้ว 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow 8 นัด ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ 6 นัด ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx อาจมาแค่ 1 ระบบ

                เรือชั้น Oliver Hazard Perry ซึ่งใหม่กว่าและเล็กกว่า ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน SM-1 32 นัด อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.1 กระบอก ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ 6 นัด ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx 1 ระบบ แม้เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำก็จริง แต่หลายชาติใช้เป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ ถ้าทีมอเมริกาเสนอเรือชั้นเพอรี่จำนวน 4 ลำ ชิลีคงคิดหนักและอาจยอมรับข้อเสนอนี้ ครั้นพอมีเรือพิฆาตชั้น Spruance รวมอยู่ด้วย โครงการซื้อเหล้าพ่วงเบียร์จึงไม่น่าสนใจอีกต่อไป

ทีมสเปน

กองทัพเรือสเปนไม่มีเรือใกล้ปลดประจำการ บริษัท IZAR ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือในประเทศที่ใหญ่ที่สุด เสนอแบบเรือใหม่เข้าร่วมชิงชัยเฟสสอง แบบเรือดังกล่าวไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ ข้อมูลที่หลุดออกมาโดยอับดุลเอ๊ยใช้ชื่อว่า F-100 Downsized เรือชั้น F-100 คือเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Alvaro de Bazan ของสเปน ถูกลดขนาดลงและถอดระบบเอจิสกับเรดาร์ SPY-1 ออก เพื่อให้ราคาลดลงกว่าเดิมอย่างชัดเจน กลายเป็นเรือรบส่งออกรุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัท

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันนอร์เวย์มีโครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ บริษัท IZAR ส่งแบบเรือ ว่า F-100 Downsized เข้าร่วมชิงชัย พร้อมระบบเอจิสและเรดาร์ SPY-1 ตามความต้องการลูกค้า และได้รับการคัดเลือกจนกลายเป็นเรือฟริเกตชั้น Fridtjof Nansen บริษัทผู้ผลิตถือเป็นเรือฟริเกตตระกูล F-100 เช่นกัน โดยที่เรือสเปนใช้รหัสเรือ F-100 เรือออสเตรเลียซึ่งเหมือนกันหมดใช้รหัสเรือ F-105 และเรือนอร์เวย์รุ่น Downsized ใช้รหัสเรือ F-85

ย้อนกลับมาที่ประเทศชิลีอีกครั้ง เรือที่ IZAR เสนอให้น่าจะใกล้เคียงกับภาพวาดนี้ นี่คือแบบเรือ F-310C หรือ F-100 Downsized อันเป็นเรือฝาแฝดกับเรือฟริเกตนอร์เวย์ แต่ไม่มีระบบเอจิสและเรดาร์ SPY-1

ถาม: ทำไมถึงใช้ชื่อแบบเรือว่า F-310C

ตอบ: เพราะเรือนอร์เวย์ถูกเรียกภายหลังว่ารุ่น F-310

ถาม : ทำไมเรือนอร์เวย์ถูกเรียกภายหลังว่ารุ่น F-310

ตอบ: เพราะเรือลำแรกใช้หมายเลขเรือ 310

มาดูรายละเอียดเรือลำนี้สักเล็กน้อย ระวางขับน้ำ 4,350 ตัน ยาว 127.1 เมตร กว้าง 16 เมตร ความเร็วสูงสุด 27 นอต ระยะปฏิบัติการ 6,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต ติดปืนใหญ 76/62 มม.1 กระบอกปืนกล 40 มม.1กระบอก อาวุธนำวิถีปราบเรือรบ 8 ท่อยิง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 4 ท่อยิง แท่นยิงแนวดิ่งสำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 16 ท่อยิง ติดเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะกลาง 1 ตัว เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล 1 ตัว และเรดาร์ควบคุมการยิงอีก 2 ตัว

F-310C เป็นเรือฟริเกตที่ดีลำหนึ่ง แต่ไม่ใช่ตัวเต็งและน่าจะอยู่อันดับท้ายๆ เพราะมีขนาดใหญ่เกินไปกดราคาไม่ลง ฝ่ายชิลีก็ไม่เคยซื้อเรือฟริเกตจากสเปนมาก่อน โอกาสฝ่าเสือสิงห์กระทิงแรดเข้าเส้นชัยมีน้อยมาก

ทีมอิตาลี

            อิตาลีส่งเรือตัวเองเข้าร่วมชิงชัยทั้งสองเฟส เริ่มจากเรือฟริเกตมือสองชั้น Lupo จำนวน 4 ลำ มีอายุประมาณ 22-25 ปี พร้อมโอนให้กับชิลีภายในปี 2002 ทันที เรือมีระวางขับน้ำ 2,506 ตัน ยาว 113.4 เมตร กว้าง 11.3 เมตร กินน้ำลึก 3.7 เมตร ใช้เครื่องยนต์ CODOG ความเร็วสูงสุดถึง 35 นอต ติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว 1 กระบอก ปืนกล 40 มม.ลำกล้องแฝด 2 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  Aspide 8 ท่อยิง อาวุธนำวิถีปราบเรือรบ Otomat 8 ท่อยิง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 6 ท่อยิง มีลานจอดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน สามารถทำการรบครบ 3 มิติได้อย่างสบาย

                เรือลำนี้เหมาะสมกับกองทัพเรือไทย แต่ไม่เหมาะสมกับกองทัพเรือชิลี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

วิเคราะห์ความต้องกองทัพเรือชิลี เรือชั้น Lupo ไม่เหมาะกับภารกิจปราบเรือดำน้ำ เพราะมีแค่โซนาร์หัวเรือไม่มีโซนาร์ลากท้าย เรือชั้น Lupo ไม่เหมาะกับภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ เพราะมีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะยิง 15 กิโลเมตรเพียง 8 นัด เรือชั้น Lupo ไม่เหมาะกับกองทัพเรือชิลี เพราะมีขนาดเล็กเกินไปจากความต้องการ รวมทั้งเรือชั้น Lupo ใช้อาวุธอิตาลีทั้งลำ แต่ชิลีต้องการอาวุธอเมริกาทั้งลำ เพราะฉะนั้นเรืออิตาลีตกรอบแบบไม่ต้องคิดมาก

เรือฟริเกตชั้น Lupo ทั้ง 4 ลำทยอยปลดประจำการตั้งแต่ปี 2002 และต้องรอคอยพี่มากที่ท่าน้ำนานถึง 7 ปีเต็ม จึงได้กลับมาโลดแล่นในทะเลใต้ธงราชนาวีเปรู อันเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของชิลีนั่นเอง

เวลาเดียวกันบริษัท Fincantieri ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ของอิตาลี เสนอแบบเรือฟริเกต Falco ในโครงการเฟสสอง โดยนำเรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำที่เคยเสนอให้ยูเออีในปี 1993 มาขยายใหญ่ขึ้นมีระวางขับน้ำ 3,600 ตัน จากภาพกราฟิกเห็นปืนใหญ่ 76/62 ที่หัวเรือ ปืนกล 20 มม.กลางเรือ ปืนกลขนาด 40 มม.บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ มีแท่นยิงแนวดิ่งอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานหน้าสะพานเรือ แท่นยิงอาวุธนำวิถีปราบเรือรบกลางเรือ ส่วนแท่นยิงตอร์ปิโดสร้างเป็นห้องภายในเรือ มีเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง 1 ตัว เรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล 1 ตัว รวมทั้งเรดาร์ควบคุมการยิงจำนวน 2 ตัว

แบบเรือ Falco ขนาด 3,600 ตันค่อนข้างทันสมัยมาก กระซิบเบาๆ ว่าโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงราชนาวีไทย แบบนี้เรือนี้แหละครับที่ Fincantieri เสนอให้เรา มีการปรับปรุงจนทันสมัยมากกว่าเดิม เข้ารอบ 5 ลำสุดท้ายแต่ไม่ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ ส่วนโครงการที่ชิลีมีโอกาสคว้าชัยเฟสสองเช่นกัน แต่ต้องผ่านกระดูกขัดมันเรือลำถัดไปให้ได้เสียก่อน

ทีมเยอรมัน

            กระดูกขัดมันที่ว่าก็คือทีมเยอรมัน ซึ่งส่งของแข็งเรือฟริเกต Meko-A200 เข้าร่วมชิงชัย นี่คือแบบเรือลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ที่แท้จริง ถูกออกแบบสองกราบเรือเป็นรูปตัวเอ็กส์ เพื่อผลักดันคลื่นเรดาร์ให้สะท้อนกลับตกทะเล เรือมีระวางขับน้ำ 3,590 ตัน ยาว 121 เมตร กว้าง 16.5 เมตร กินน้ำลึก 5.9 เมตร ใช้เครื่องยนต์ CODOG พร้อมระบบ Waterjet

ตามข้อเสนอเรือติดปืนใหญ่ 5 นิ้วของอิตาลี มีระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Sea Zenith ซึ่งกาลครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM อาวุธนำวิถีปราบเรือรบกลางเรือ Harpoon และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk-46 ใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV ของSaab เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe AMB เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS 200 ระบบเป้าลวงอาวุธนำวิถี MASS ระบบเป้าลวงตอร์ปิโด WASS เยอรมันเสนอเรือจำนวน 6-8 ลำ โดยที่ครึ่งหนึ่งต่อในเยอรมันครึ่งหนึ่งต่อในชิลี พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการต่อเรือฟริเกตให้กับชิลี

                อูยเสียวฟันเป็นอย่างยิ่ง นี่คือข้อเสนอสุดเร้าใจจากเมืองเบียร์

ปัญหาสำคัญมีเพียงเรื่องเดียวเงินไม่พอ แบบเรือ Meko-A200 ก็ดี อาวุธจากอเมริกาก็ดี การเตรียมความพร้อมสร้างเรือในประเทศก็ดี ล้วนมีราคาแพงลิบต้องใช้เงินก้อนโต รัฐบาลชิลีจะไปเอางบประมาณที่ว่ามาจากไหน

โครงการจัดหาเรือฟริเกตเฟสหนึ่ง

            ผลการประกวดโครงการจัดหาเรือฟริเกตเฟสหนึ่ง เรือจากประเทศอังกฤษผู้เป็นมิตรแท้ประกันภัย ได้รับการคัดเลือกแบบนอนพระสวดที่แท้จริง ชิลีได้รับเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ Type 22 Batch II จำนวน 1 ลำ ในอดีตชื่อ HMS Sheffield เข้าประจำการราชนาวีอังกฤษปี 1988 ก่อนปลดประจำการวันที่ 15 พฤษจิกายน 2002 และเข้าประจำการกองทัพเรือชิลีวันที่ 5 กันยายน 2003 โดยใช้ชื่อ FF-19 Almirante Williams พร้อมถูกแต่งตั้งให้เป็นเรือธงมาจนถึงปัจจุบัน

                เรือมีระวางขับน้ำ 5,300 ตัน ยาว 148.2 เมตร กว้าง 14.8 เมตร กินน้ำลึก 6.4 เมตร ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Seawolf จำนวน 12 นัด ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 6 นัด กับปืนกล 20 มม.2 กระบอก ออกแบบมาเพื่อปราบเรือดำน้ำในทะเลลึก ทำงานร่วมกับเฮลิคอปเตอร์ AS532SC Cougar ได้ มีโซนาร์หัวเรือ S2016 ทำงาน Active Mode กับโซนาร์ลากท้าย  S2031 Towed Array Sonar ทำงาน Passive Mode ชิลีเป็นหนึ่งในสองชาติที่ได้ใช้งานโซนาร์รุ่นนี้

                อาวุธป้องกันตัวเองของ FF-19 Almirante Williams ก็คือจรวด Seawolf รุ่นปรกติหรือ GWS-25 ระยะยิงไกลสุด 6.5 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 2 มัคนำวิถีด้วยเรดาร์ เคยผ่านสงครามฟอคแลนด์กับสงครามอ่าวมาแล้ว มีผลงานดีพอสมควรในการป้องกันอากาศยาน แต่กับอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบไม่สามารถต่อกรได้ ราคาเรือฟริเกต Type 22 ลำนี้ไม่ปรากฏอย่างชัดเจน อาจมีหลุดออกมาบังเอิญผู้เขียนหาไม่เจอ ขอพาไปชมเรืออังกฤษอีกสามลำในโครงการนี้

                เดือนธันวาคม  2004 ชิลีลงนามในสัญญาสั่งซื้อเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 23 จำนวน 3 ลำจากกองทัพเรืออังกฤษ ภายใต้สัญญามูลค่ารวม 135 ล้านปอนด์ เรือฟริเกต HM Norfolk HMS Marlborough และ HMS Grafton จะถูกโอนให้กับราชนาวีชิลี มีการซ่อมบำรุงตัวเรือให้อยู่สภาพดีก่อนส่งมอบ เรือจากอังกฤษทั้งสามลำประกอบไปด้วย

-FF-05 Almirante Cochrane เข้าประจำการปี 2006

-FF-07 Almirante Lynch เข้าประจำการปี 2007

-FF-06 Almirante Condell เข้าประจำการปี 2008

ในภาพคือเรือฟริเกต FF-05 Almirante Cochrane ติดธงราชนาวีชิลี สมัยอยู่อังกฤษใช้ชื่อว่า HMS Norfolk (F230) เรือมีระวางขับน้ำ 4,900 ตัน ยาว 133 เมตร กว้าง 16.1 เมตร กินน้ำลึก 5.5 เมตร ติดปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว Mark 8 Mod 1 รุ่นใหม่ล่าสุด ปืนกลอัตโนมัติ DS30B ขนาด 30 มม.2กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน  VL Seawolf จำนวน 32 นัด อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด (ในภาพใส่ไว้ 2 นัด) และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ 4 ท่อยิง

อังกฤษยอมปล่อยเรือในราคาไม่แพง สาเหตุข้อหนึ่งชิลีเป็นลูกค้าที่ดีมาอย่างยาวนาน สองอังกฤษต้องการลดจำนวนเรือฟริเกตกับเรือพิฆาต จาก 31 ลำเหลือ 25 ลำตามงบประมาณท และสามอังกฤษสามารถขายจรวด VL Seawolf ได้ จรวดรุ่นใหม่ GWS-26 ใช้ท่อยิงแนวดิ่ง ระยะยิงไกลสุด 10 กิโลเมตรที่ความเร็ว 3 มัค มีความทันสมัยกว่ารุ่นเก่าพอสมควร

ที่เห็นลำถัดไปคือเรือฟริเกตชั้น Lupo ของเปรู ชื่อเรือ FM-58 Quiñones ที่อิตาลีเคยเสนอให้ชิลีแต่ชิลีไม่สนใจ และที่เห็นไกลสุดคือเรือฟริเกตชั้น Halifax ของแคนาดา ซึ่งเคยเสนอให้กับชิลีในโครงการ Tridente Project แต่สู้ทีมอเมริกาไม่ได้จึงตกรอบแรก สรุปก็คือเรือทุกลำเกี่ยวข้องกับโครงการของชิลี เพียงแต่ได้รับการคัดเลือกหรือไม่เท่านั้นเอง

เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 23 ค่อนข้างทันสมัย นอกจากโซนาร์หัวเรือ S2050 ทำงาน Active Mode Mode แล้ว ยังมีโซนาร์ลากท้าย S2031 Towed Array Sonar ทำงาน Passive Mode ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับเรือฟริเกต Type 22 นั่นเอง ต่อมาชิลีได้ปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิม โดยการติดโซนาร์ S2087 แทน S2031 ของเดิม ที่อยู่กราบซ้ายท้ายเรือสีเหลืองเข้มแหละครับ ตัวนั้นคือ Variable Depth Sonar หรือ VDS ทำงาน Active Mode Mode และสามารถปล่อย Towed Array Sonar ทำงาน Passive Mode ออกจากด้านท้ายได้ด้วย ฉะนั้นชิลีใช้โซนาร์แค่ตัวเดียวทำงานได้ทุกโหมด

โซนาร์ S2087 ก็คือ THALES CAPTAS-4 เวอร์ชันอังกฤษ ราคาแพงมากแต่ประสิทธิภาพดีเยี่ยมไม่แพ้ใคร ชิลีเริ่มใช้งานอย่างจริงจังในปี 2017 โดยมาครบทุกออปชั่นเหมือนเรืออังกฤษหรือฝรั่งเศส ทันสมัยที่สุดในบรรดากองทัพเรืออเมริกาใต้ และจะทันสมัยที่สุดไปอีกน้อยๆ สิบปีถัดจากนี้ เพราะยังไม่มีชาติไหนขึ้นโครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ

ภาพถัดไปผู้อ่านทุกท่านอย่าเพิ่งสับสน นี่คือกองเรือชิลีในปี 2007 ไม่ใช่กองเรืออังกฤษเมืองผู้ดี

เรือที่เห็นในภาพไล่จากใกล้ไปไกล ประกอบไปด้วยเรือฟริเกต Type 12I หรือ Leander ชื่อเรือ PFG-06 Condell เห็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx อย่างชัดเจน เรือลำถัดไปคือเรือฟริเกต Type 23 FF-07 Almirante Lynch ซึ่งเป็นเพียงลำเดียวที่ติดปืนใหญ่ 4.5 นิ้ว Mark 8 รุ่นเก่า (เหมือนเรือหลวงมกุฏราชกุมาร) และเรือลำสุดท้ายที่ยาวโคตรๆ ติดแท่นยิงจรวด SeaWolf รุ่นหกท่อ คือเรือฟริเกต Type 22 ชื่อเรือ FF-19 Almirante Williams เรือ 3 ลำใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 แบบไม่ซ้ำรุ่นกัน และเรือเก่าที่สุดมีเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกลเพียงลำเดียว

โครงการจัดหาเรือฟริเกตเฟสสอง

                อันที่จริงเฟสนี้ชิลีอยากได้เรือฟริเกตใหม่ พร้อมกับต้องการสร้างเรือเองอย่างน้อยๆ ครึ่งหนึ่ง ติดอยู่แค่เพียงราคาแพงหูฉี่สู้ไม่ไหว ต้องกลับมาพึ่งพาเรือฟริเกตมือสองสมาชิกนาโต้ และผู้ได้รับการคัดเลือกก็คือทีมเนเธอร์แลนด์

ปี 2004 กองทัพเรือชิลีทำสัญญามูลค่า 350 ล้านเหรียญ เพื่อจัดซื้อเรือฟริเกตมือสองจากกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ สัญญาฉบับนี้ประกอบไปด้วยเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำ เป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Type Lจำนวน 2 ลำ และเรือฟริเกตเอนกประสงค์ Type M อีก 2 ลำ ผู้เขียนเคยเขียนถึงอย่างละเอียดไว้แล้วในบทความนี้ครับ

Chilean NavyAir-Defence Frigate

                เพื่อไม่ให้เสียเวลาขอสรุปสั้นๆ ดังนี้ เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ Type L มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,750 ตัน ยาว 130.5 เมตร กว้าง 14.6 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง SM-1 มากถึง 40 นัดเป็นไพ่เด็ด มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow เป็นไพ่รอง และมีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Goldkeeper  เป็นไพ่ตาย เรือลำแรกชื่อ FF 11 Captain Prat   เรือลำที่สองชื่อ FF 14 Almirante Latorre ย่านอเมริกาใต้ไม่มีเรือลำนี้ติดจรวดมากเท่าลำนี้

ส่วนเรือฟริเกตเอนกประสงค์ Type M มีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,340 ตัน ยาว 123.72 เมตร กว้าง 14.37 เมตร กินน้ำลึก 6.1 เมตร มีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน VL Sea Sparrow จำนวน 16 นัด ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.1 กระบอก อาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัด และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอีก 6 นัด ระบบเรดาร์บนเรือมาแบบจัดเต็มไม่มีกั๊ก เทียบกับเรือฟริเกตชั้น Lupo ของอิตาลีผู้เขียนขอกล่าวว่า ทิ้งกันร่วมๆ สองเสาไฟชิลีคิดถูกที่เลือกลำนี้

ในที่สุดบทความกองทัพเรือชิลีก็เดินทางถึงตอนจบ แต่เรื่องราวของเรือบางลำยังไม่จบเพียงเท่านี้ เรือลำไหนจะได้ขึ้นหน้าปกบทความถัดไป อดใจรออีกไม่นานได้พบกันแน่นอน ขออำลาด้วยภาพสวยๆ ของกองเรือราชนาวีชิลี อันเป็นเรือที่ได้มาจากโครงการ ‘Frigate Program’ ซึ่งมาแทนที่ ‘Project Tridente’ นั่นเอง


            -------------------------------

อ้างอิงจาก

รายงานเรื่อง : The Market for Naval Surface Combatants

https://base.mforos.com/1716042/3414429-las-fragatas-tipo-leander-pfg-06-condell-pfg-07-lynch-pfg-08-zenteno-y-pf-09-gral-baquedano/?pag=2

https://en.wikipedia.org/wiki/Spruance-class_destroyer

https://www.shipbucket.com

https://en.wikipedia.org/wiki/Oliver_Hazard_Perry-class_frigate

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_active_ships_of_the_Chilean_Navy

https://www.forecastinternational.com/notable/defdaily.htm

https://en.mercopress.com/2002/05/08/chilean-navy-ready-to-shop

https://www.lockheedmartin.com/en-ca/chile.html

http://navalphotos.blogspot.com/2011/06/cs-almirante-williams-ff-19.html?m=1

http://navalphotos.blogspot.com/2011/08/cns-almirante-condell-ff06.html?m=1

https://web.facebook.com/armadaecuatoriana/?tn-str=k*F

http://www.shipspotting.com/gallery/search.php?query=CNS+Almirante+Williams+FF19&x=28&y=11

https://www.secretprojects.co.uk/threads/fincantieri-falco-frigate.10905/

https://razonyfuerza.mforos.com/549911/13083096-reemplazo-de-las-fragatas-clase-l-y-type-22-williams-ii/?pag=126

https://en.wikipedia.org/wiki/Lupo-class_frigate