วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ASROC Frigate

 

อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC คือหมัดเด็ดใช้ในการเผด็จศึกเรือดำน้ำจากระยะไกล สามารถโจมตีเป้าหมายตั้งแต่ระยะทาง 10 กิโลเมตรขึ้นไป มีลักษณะผสมระหว่างอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบกับอาวุธปราบเรือดำน้ำ โดยมีอุปกรณ์สำคัญๆ ที่จำเป็นต้องใช้งานประกอบไปด้วย

    - อาวุธปล่อยนำวิถี

    - แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถี

    - ระบบโซนาร์สำหรับตรวจจับและพิสูจน์ทราบเป้าหมาย เพื่อส่งข้อมูลไปยังเครื่องควบคุม

    - ระบบควบคุมการยิง มีหน้าที่ควบคุมการโคจรของอาวุธนำวิถี ให้เดินทางไปถึงยังจุดหมายที่กำหนด ก่อนปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำให้ตกสู่พื้นน้ำ

อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC ประกอบไปด้วย โครงลูกจรวดใช้บรรจุอาวุธปราบเรือดำน้ำ มอเตอร์ขับเคลื่อนตัวจรวด และชุดกลไกปลดอาวุธปราบเรือดำน้ำให้ตกสู่พื้นน้ำ ASROC จะเดินทางสู่เป้าหมายด้วยระบบขับเคลื่อนเชื้อเพลิงแข็ง ก่อนที่อาวุธปราบเรือดำน้ำจะลงสู่พื้นน้ำเหนือตำแหน่งที่ตั้งข้อมูลไว้ล่วงหน้า

ถ้าอาวุธปราบเรือดำน้ำเป็นตอร์ปิโด ทันทีที่ตอร์ปิโดแยกตัวจากโครงจรวด ร่มหน่วงความเร็วท้ายตอร์ปิโดจะกางออก เพื่อลดอัตราความเร็วในการตกสู่พื้นน้ำ และควบคุมการตกสู่พื้นน้ำให้มีความปลอดภัย ร่มจะปลดออกโดยอัตโนมัติเมื่อตอร์ปิโดตกถึงพื้นน้ำ และแบตเตอรี่ตอร์ปิโดจะเริ่มทำงานเมื่อสัมผัสน้ำทะเล

ถ้าอาวุธปราบเรือดำน้ำเป็นระเบิดลึกนิวเคลียร์ ทันทีที่แยกตัวจากโครงจรวด ลูกระเบิดลึกจะยังคงโคจรต่อไปด้วยแรงเฉื่อย โดยใช้ครีบหางรักษาเสถียรภาพการทรงตัว ซึ่งครีบหางจะกางออกโดยอัตโนมัติ และหลุดออกเมื่อกระทบกับพื้นน้ำโดยแรง ลูกระเบิดลึกจะจมลงและระเบิดตามความลึกที่กำหนดไว้

อเมริกาเริ่มต้นพัฒนา RUR-5 ASROC ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 ตั้งใจนำมาประจำการทดแทน RUR-4 Weapon Alpha ซึ่งล้าสมัยและมีระยะยิงค่อนข้างสั้น Weapon Alpha รูปร่างหน้าตาคล้ายปืนใหญ่ขนาด 5.25 นิ้ว ใช้ยิงระเบิดลึกขนาด 238 กิโลกรัมได้ไกลสุดเพียง 730 เมตร เมื่ออเมริกาพัฒนาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 เข้าประจำการเป็นที่เรียบร้อย จึงได้ต่อยอดกลายเป็น RUR-5 ASROC ระยะยิงไกลสุด 10 กิโลเมตร

ราชนาวีไทยเคยมี RUR-5 ASROC ใช้งานบนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำจากสหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ลำ

เรือฟริเกตชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

การจัดหาเรือฟริเกตที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูง รวมทั้งติดตั้งอาวุธที่ทันสมัยนั้น จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการที่สูงมาก ดังนั้นแนวคิดที่จะหาเรื่องที่สร้างใหม่ให้ได้ครบตามความต้องการกองทัพเรือ จึงมีความเป็นไปได้ไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มพิจารณาการสะสมอาวุธลงเพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการป้องกันประเทศ โดยได้กำหนดแผนที่จะปลดเรือ เครื่องบิน และอาวุธหลายประเภทออกจากการประจำการด้วยวิธีการขายหรือให้เช่าแก่ประเทศพันธมิตร

ในการนี้กองทัพเรือจึงมีความสนใจที่จะจัดหาเรือฟริเกตที่กองทัพเรือสหรัฐจะปลดระวางประจำการดังกล่าว เนื่องจากมีราคาถูก และยังคงมีอายุใช้งานได้อีกนาน อีกทั้งสมรรถนะและระบบอาวุธก็มีความสามารถสูงตามมาตรฐานกองทัพเรือสหรัฐ ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการทางยุทธการและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางเรือของกองทัพเรือได้เป็นอย่างดี

เพื่อเป็นการจัดหาขีดความสามารถด้านการป้องกันภัยทางอากาศเป็นพื้นที่ (Area Air Defence) ให้แก่กองเรือในทะเล รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการรบพื้นน้ำ และปราบเรือดำน้ำ กองทัพเรือจึงได้แสดงความจำนงที่จะจัดหาเรือพิฆาตชั้น Charles F. Adam (DDG-2) ซึ่งมีขนาด สมรรถนะ และขีดความสามารถ รวมทั้งระบบอาวุธเช่นเดียวกับเรือฟริเกตแบบที่กองทัพเรือต้องการ โดยมีอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะปานกลางแบบ Standard Missile SM-1 ระยะยิง 25 ไมล์ทะเลเป็นอาวุธหลัก แต่กองทัพเรือสหรัฐได้ชี้แจงว่า เรือพิฆาตชั้น Charles F. Adam มีอายุมากถึง 30 ปีแล้ว จะต้องใช้งบประมาณในการบำรุงรักษาสูงมาก อีกทั้งระบบต่างๆ ก็มีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากต่อการบำรุงรักษา จึงได้เสนอแนะเรือฟริเกตชั้น Knox ซึ่งมีอายุน้อยกว่าถึง 10 ปี มีระบบอุปกรณ์ต่างๆ ทันสมัยและยุ่งยากน้อยกว่า โดยที่ขีดความสามารถและสมรรถนะรวมทั้งระบบอาวุธอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน และเนื่องจาก เรือฟริเกตชั้น Knox นี้ กองทัพเรือสหรัฐได้ทยอยส่งมอบให้กับกองทัพเรือของประเทศพันธมิตร ทั้งในลักษณะการขายและให้เช่าในราคาถูกแล้วหลายประเทศ ได้แก่ กรีซ ไต้หวัน อียิปต์ และตุรกี เป็นต้น จึงมีประสบการณ์ในการปรับปรุงเรือและฝึกอบรมกำลังพลให้สามารถใช้เรือได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากกองทัพเรือจัดหาเรือฟริเกตชั้น Knox ดังกล่าว ก็เชื่อถือได้ว่าจะสามารถรับมอบเรือมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า

เมื่อพิจารณาว่าเรือฟริเกตชั้น Knox ยังมีอายุไม่มากนัก การซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่ยังดำเนินการได้โดยสะดวก เพราะยังคงมีเรือดังกล่าวประจำการอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐ และกองทัพเรือของประเทศพันธมิตรหลายประเทศ มีเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือพร้อมโรงเก็บ อีกทั้งระบบอาวุธก็คล้ายคลึงกับแบบที่กองทัพเรือจัดหามาติดตั้งบนเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งกำลังบำรุงให้กับเรือดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด เพราะสามารถใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์บางอย่างร่วมกันได้ กองทัพเรือจึงตกลงใจที่จะพิจารณาดำเนินการจัดหาเรือดังกล่าวมาใช้ราชการจำนวน 4 ลำ

ในขั้นแรกกองทัพเรือสหรัฐ สามารถจัดหาเรือฟริเกตชุดนี้ให้กองทัพเรือไทยได้เพียง 2 ลำ แต่เมื่อพลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของผู้บัญ๙การทหารเรือสหรัฐ ท่านได้ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นของกองทัพเรือในการจัดหาเรือฟริเกตชั้น Knox จำนวน 4 ลำ จนสหรัฐเข้าใจและยอมเลื่อนความต้องการของไทยไว้เป็นลำดับแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กองทัพเรือสามารถจัดหาเรือชุดนี้ได้เพียง 2 ลำเท่านั้น โดยกองทัพเรือได้รับมอบเรือลำแรก คือ เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 461 แล้ว เมื่อ 30 กรกฎาคม 2537 ส่วนเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย 462 ได้รับมอบจากสหรัฐเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2541

โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูง

เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย คือเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำทันสมัยที่สุดในย่านอาเซียน แต่เนื่องมาจากเป็นเรือเก่าเหลืออายุการใช้งานเพียง 20 กว่าปี ฉะนั้นในปี 2556 รัฐบาลจึงได้อนุมัติให้กองทัพเรือจัดหาเรือฟริเกตรุ่นใหม่จากประเทศเกาหลีใต้จำนวน 1 ลำในวงเงิน 14,600 ล้านบาท ลดจากแผนเดิมจำนวน 2 ลำในวงเงิน 30,000 ล้านบาทตามความต้องการกองทัพเรือ ใช้งบผูกพันระหว่างปี 2556-2561 ระยะเวลาสร้าง 1,800 วัน ระหว่างสร้างเรือกองทัพเรือได้จัดส่งกำลังพลไปเรียนรู้ระบบเรือ (Platform System) และระบบการรบ (Combat System) ที่ประเทศเกาหลีใต้เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช (FFG-471) เข้าประจำการวันที่ 7 มกราคม 2562 เป็นเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัยจัดเต็มเรื่องระบบปราบเรือดำน้ำจากเยอรมัน หัวเรือติดตั้งโซนาร์ Atlas Elektronik DSQS-24C ทำงานในย่านความถี่ปานกลาง ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ที่ความถี่ 6 ถึง 9 KHz และโหมด Passive ที่ความถี่ 1 ถึง 11 KHz ตรวจจับได้ทั้งเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ หรือวัตถุขนาดเล็กอาทิเช่นยานใต้น้ำไร้คนขับหรือทุ่นระเบิด สามารถแจ้งเตือนภัยเมื่อตรวจพบตอร์ปิโด รวมทั้งใช้สื่อสารกับเรือดำน้ำฝ่ายเดียวกัน สามารถเลือกส่งความถี่ได้ไกลสุด 40 กิโลเมตร และมีระยะตรวจจับหวังผลอยู่ที่ประมาณ 15 กิโลเมตร

ท้ายเรือติดตั้งโซนาร์ลากท้าย Atlas Electronics ACTAS (Active Towed Array Sonar) รุ่นใหม่ทันสมัยดีที่สุดจากเยอรมัน ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ด้วยระบบ Active Variable-Depth Towed Body ติดตั้ง Transducer จำนวน 2 ชุดพร้อมสายเคเบิลยาว 400 เมตร และค้นหาเป้าหมายในโหมด Passive ด้วยระบบ Dependent Passive Towed Array จำนวน 2 ชุด พร้อมสายเคเบิลยาว 500 เมตร ซึ่งต่อพว่งจาก Active Variable-Depth Towed Body ระยะตรวจจับตั้งแต่ 2 ถึง 60 กิโลเมตร ใช้ระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำ ATLAS Modular ASW Combat System (AMACS) ควบคุมโซนาร์ DSQS-24C และ ACTAS ให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เทียบกับเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกถือว่าดีขึ้นตามระดับเทคโนโลยี

เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชประสิทธิภาพสูงกว่าเรือฟริเกตรุ่นเก่าก็จริง โชคร้ายไม่สามารถใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUM-139 VL-ASROC จากท่อยิงแนวดิ่ง Mk.41 Vertical Launching System ได้ เหตุผลก็คือระบบอำนวยการรบจากสวีเดน กับระบบอำนวยการรบปราบเรือดำน้ำจากเยอรมัน ไม่เคยทำงานร่วมกับ VL-ASROC จากสหรัฐอเมริกา เรือฟริเกตสมรรถนะสูงจึงมีสมรรถนะสูงแค่เพียงนามปากกา จนถึงปัจจุบันกองทัพเรือยังไม่มีวิธีอุดช่องว่างจากการขาดหายไปของ RUR-5 ASROC เรือหลวงพุทธทั้งสองลำ

โชคดีในโชคร้ายสินค้าจากประเทศจีนสามารถแก้ปัญหาใหญ่ให้กับกองทัพเรือ

อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-8E/ET-80

          จีนพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำมานานพอสมควร รุ่นใหม่ล่าสุดคือ YU-8 ใช้งานร่วมกับแท่นยิงแนวดิ่งพัฒนาขึ้นมาเอง ระยะยิงไกลสุดไม่รวมระยะยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำเท่ากับ 50 กิโลเมตร มีใช้งานบนเรือฟริเกต Type 054A เรือฟริเกต Type 054B (เมื่อเรือเข้าประจำการ) เรือพิฆาต Type 052D และเรือพิฆาต Type 055 ขนาดหนึ่งหมื่นตัน

          นอกจากพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำเพื่อใช้งานเองแล้ว จีนยังได้ต่อยอดพัฒนาอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นส่งออกใช้ชื่อว่า YU-8E (E ย่อมาจากคำว่า Export) ใช้งานร่วมกับแท่นยิงแนวดิ่งพัฒนาขึ้นมาเอง ระยะยิงไกลสุดไม่รวมระยะยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำเท่ากับ 30 กิโลเมตร สามารถใช้งานบนเรือฟริเกต Type 054AE และเรือพิฆาต Type 052DE ซึ่งเป็นเรือรบรุ่นส่งออกทั้งสองรุ่น

          ต่อมาไม่นานบริษัทผู้ผลิตได้กำหนดชื่อใหม่จาก YU-8E เป็น ET-80 แต่ถึงกระนั้นจะเรียกชื่อไหนก็คือสินค้าชนิดเดียวกัน แม้ ET-80 จะถูกลดประสิทธิภาพยิงได้ไกลสุดแค่ 30 กิโลเมตร แต่ถึงกระนั้นเมื่อเทียบกับ RUM-139 VL-ASROC ซึ่งยิงได้ไกลสุด 22 กิโลเมตร ยังถือว่าสินค้าจากประเทศจีนนำหน้าอยู่สองเสาไฟ

          ติ๊งต่างว่ากองทัพเรือขอเปลี่ยนเรือดำน้ำ S26T เป็นเรือฟริเกต ผู้เขียนแนะนำว่ารัฐบาลสมควรต่อรองให้จีนยอมขายเรือฟริเกตชั้น Type 054A Flight 3 แทนที่จะเอารุ่นส่งออกเหมือนกองทัพเรือปากีสถาน เรือต้องมาพร้อมโซนาร์ลากท้ายรุ่นส่งออก TLAS-1 (Towed Line Array Sonar) ซึ่งจีนนำโซนาร์ลากท้าย H/SJG-206 ของตัวเองมาตัดออปชันออกเล็กน้อย ทำงานร่วมกับโซนาร์ลากจูงรุ่นส่งออก TVDS-1 (Towed Variable-Depth Sonar) ซึ่งถูกปรับปรุงจากโซนาร์ลากจูง H/SJG-311 ของจีนให้มีประสิทธิภาพลดลงเล็กน้อย

          ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าจีนพัฒนาโซนาร์ลากจูงรุ่นส่งออก TVDS-1 เสร็จหรือยัง แต่ถึงกระนั้นถ้ากองทัพเรือสั่งซื้อเรือฟริเกต Type 054A/T ปลายปี 2023 กว่าเรือจะสร้างเสร็จพร้อมประจำการก็อีก 3 ปีเต็ม ถึงตอนนั้น TVDS-1 ต้องพร้อมส่งมอบให้กับลูกค้าเงินหนา เผลอๆ ไทยแลนด์นี่แหละคือลูกค้ารายแรกตัดหน้าปากีสถาน

          ภาพประกอบที่ห้าคือเรือหลวงแม่กลองลำที่สอง 481 เรือฟริเกต Type 054A/T ลำแรกของราชนาวีไทย แท่นยิงแนวดิ่งหัวเรือบรรจุอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน LY-80N (หรือ HQ-16 รุ่นส่งออก) ระยะยิงไกลสุด 40 กิโลเมตรจำนวน 24 นัด กับอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำ ET-80 ระยะยิง 30+ กิโลเมตรจำนวน 8 นัด หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม. กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 8 ท่อยิง ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 ใช้ปืนกล 30 มม.สิบเอ็ดลำกล้องจำนวน 2 ระบบ แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ YU-7 รุ่นแฝดสามจำนวน 6 ท่อยิง แท่นยิงเป้าลวง Type 726-4 ขนาด 24 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง ทำงานร่วมกับระบบดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ HZ-100 ESM

          เห็นเสากระโดงรองเหนือปล่องระบายความร้อนหรือเปล่าครับ ในโดมทรงกลมติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 หรือชื่อรุ่นส่งออก MR-36A ระยะตรวจจับไกลสุด 100 กิโลเมตร รบกวนผู้อ่านทุกคนกรุณาทด MR-36A ไว้ในใจสักครู่หนึ่ง

อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Yu-11E/ET-81

          เรือหลวงแม่กลอง 481 เข้ามาปิดจุดอ่อน ASROC Frigate ได้อย่างดีเยี่ยมก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่า เรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 461 กับเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย 462 แบก RUR-5 ASROC รวมกันมากสุดถึง 48 นัด (ถ้าจำเป็นต้องทำ) เท่ากับว่าลูกประดู่ไทยยังเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไม่ครบถ้วนทุกระบวนท่า

ผู้เขียนขอริอ่านปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยา 455 กับเรือหลวงบางปะกง 456 ให้กลายเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวหรือ ASROC Frigate กำหนดให้แล้วเสร็จภายในปี 2025 สามารถประจำการต่อได้อีก 20 ปีหรือถึงปี 2045 เท่ากับว่าเรือทั้งสองลำมีอายุราชการมากกว่า 50 ปีไปโดยปริยาย

          หมัดเด็ดของเรือหลวงเจ้าพระยาคืออาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นส่งออก YU-11E ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า ET-81 ใช้งานร่วมกับแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A โดยมีการปรับปรุงเล็กน้อย ET-81 ใช้ระบบขับเคลื่อนเทอร์โบเจ๊ตมีบูตเตอร์ช่วยเร่งความเร็วที่ด้านท้าย ระยะยิงไกลสุดไม่รวมระยะยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำมากถึง 60 กิโลเมตร ยิงจากแท่นยิงบนฝั่งได้ด้วยเป็นอีกหนึ่งออปชันที่น่าสนใจมาก

          บริษัทผู้ผลิตระบุว่า ET-81 สามารถใช้งานบนเรือคอร์เวต Type 056 เรือคอร์เวต C28A เรือฟริเกต F-22P และเรือฟริเกต Type 054AE สังเกตนะครับว่าเรือบางรุ่นไม่มีโซนาร์ลากท้ายก็ยังสามารถใช้งานได้ โดยใช้เป็นฐานยิงเคลื่อนที่เดินทางไปพร้อมกองเรือ หน้าที่ตรวจจับและกำหนดเป้าหมายมอบให้กับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ เมื่อได้พิกัดจากเฮลิคอปเตอร์ผู้การเรือจะสั่งยิง ET-81 มายังตำแหน่งต้องสงสัย ปล่อยให้ระบบตรวจจับในตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำทำหน้าที่ค้นหาและตีต่อเป้าหมายด้วยตัวเอง

          การปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยา 455 กับเรือหลวงบางปะกง 456 ให้มีอายุใช้งานถึงปี 2045 ผู้เขียนขอเปลี่ยนมาใช้อาวุธ เรดาร์ และอุปกรณ์ต่างๆ เหมือนเรือฟริเกต Type 054A/T ประกอบไปด้วย

-ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5

-ปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.แทนที่ปืนใหญ่ขนาด 100 มม.หัวเรือ

-เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362

-เรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นส่งออก TR47C

-ระบบดาต้าลิงก์

-ระบบดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ HZ-100 ESM

-อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ ET-81 จำนวน 7 นัด

-อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A จำนวน 1 นัด (กันผีหลอก)

-แท่นยิงเป้าลวง Type 726-4 ขนาด 24 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง แทนที่ปืนกล 37 มม.ลำกล้องแฝดท้ายเรือ

-ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 จำนวน 1 ระบบ

-สร้าง Superstructure สำหรับคลังแสงกระสุนปืนกลขนาด 30 มม.ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 และจัดเก็บเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีกับเป้าลวงตอร์ปิโด

-สร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์แทนที่ปืนใหญ่ขนาด 100 มม.ท้ายเรือ

-ท้ายเรือติดตั้งโซนาร์ลากท้ายรุ่นส่งออก TLAS-1 (Towed Line Array Sonar)

-เรดาร์เดินเรือ โซนาร์หัวเรือ และอาวุธเก่าบางชนิดยังคงติดตั้งและใช้งานตามเดิม

โซนาร์ลากท้าย TLAS-1 ใช้ตรวจจับเรือดำน้ำจากระยะไกล ก่อนส่งพิกัดอย่างคร่าวๆ ให้เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำช่วยค้นหาเป้าหมายใต้น้ำต่อไป รวมทั้งใช้เป็นโซนาร์เตือนภัยตอร์ปิโดทำงานร่วมกับระบบเป้าลวงตอร์ปิโดจากจีน ส่วนโซนาร์ลากจูงรุ่นส่งออก TVDS-1 ไม่จำเป็นต้องซื้อมาติดให้เสียเงิน ไม่ว่าอย่างไรเราคงไม่นำเรือฟริเกตทั้งสองลำเข้าใกล้เรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามแน่นอน

ภาพประกอบที่เจ็ดคือเรือหลวงเจ้าพระยา 455 หลังการปรับปรุงใหญ่ในปี 2025 เนื่องจากบนเรือมีแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีจำนวน 8 ท่อยิง ในภารกิจปราบเรือดำน้ำผู้เขียนกำหนดให้ติดตั้ง ET-81 จำนวน 7 นัดกับ C-802A จำนวน 1 นัด ถ้าเป็นภารกิจปราบเรือผิวน้ำอาจเปลี่ยนเป็น ET-81 จำนวน 1 นัดกับ C-802A จำนวน 7 นัดอะไรทำนองนี้ การป้องกันภัยทางอากาศดีขึ้นกว่าเดิมเพราะได้ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 มาช่วยคุมท้าย ส่วนเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำตามภาพประกอบอาจมาหรือไม่มาก็ได้โปรดจงทำใจ

หลังการปรับปรุงเรือหลวงเจ้าพระยา 455 จะอยู่รับใช้ชาติได้อีก 20 ปีเต็ม

ของฝากนักกอล์ฟ

          เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวหรือ ASROC Frigate จำนวน 3 ลำอาจมากเพียงพอในการป้องกันกองเรือ ทว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเรายังมีเรือฟริเกตติด C-802A อีก 2 ลำนี่นา ผู้เขียนจึงอยากปรับปรุงเรือหลวงกระบุรี 457 กับเรือหลวงสายบุรี 458 ให้สามารถแบกอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ ET-81 ไปกับเรือได้ ใช้เป็นฐานยิงเคลื่อนที่โดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งโซนาร์ลากท้าย TLAS-1 ให้เปลืองเงิน

โครงการนี้แค่ปรับปรุงแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีให้รองรับ ET-81 เผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน ทำก็ดีไม่ทำก็ได้ไม่ส่งผลกระทบต่อกองเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวแต่อย่างใด

เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวหรือมีความสำคัญอย่างไร?

อันที่จริงถ้ากองทัพเรือมีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำจำนวนมากเพียงพอ ลูกยาวจากจีนหรือสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นส่วนเกินไม่มีใครต้องการ บังเอิญเรามีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำเพียง 6 ลำ มีโซนาร์ชักหย่อนแค่เพียง 3 ระบบ เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำทุกลำอายุมากกว่า 25 ปี และเรามีเรือฟริเกตรองรับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำขนาด 10 ตันแค่เพียง 1 ลำ

เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวจะเข้ามาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย

ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B ตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำได้อย่างชัดเจน ทว่าตัวเองไม่มีตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำเฮลิคอปเตอร์ลำอื่นก็ดันอยู่อีกฟากของขอบฟ้า เรือหลวงสายบุรี 458 ซึ่งอยู่ห่างออกไป 50 กิโลเมตรจะส่ง ET-81 ลอยละล่องขึ้นสู่เวหาเข้ามาช่วยเหลือได้ทันท่วงที ET-81 อาจยิงไม่ถูกในนัดเดียว (ส่วนใหญ่ก็ยิงกันไม่ค่อยถูก) แต่ยังสามารถผลักดันเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้ามให้ยอมล่าถอยออกจากน่านน้ำเขตหวงห้าม

ติ๊งต่างว่าเรามีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำใหม่เอี่ยมจำนวน 12 ลำกับโซนาร์ชักหย่อนจำนวน 6 ชุด เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาวคงไม่จำเป็นแม้แต่ลำเดียว ใช้เฮลิคอปเตอร์นี่แหละครับแทนอาวุธปล่อยนำวิถี

เวลาเดียวกันเรือหลวงช้างลำที่สาม 792 จะได้รับการปรับปรุงไม่ให้เป็นเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าโล่ง ใช้วิธีเดียวกับเรือหลวงเจ้าพระยาคือยกอาวุธและเรดาร์จากเรือฟริเกต Type 054A/T มาใช้งานประกอบไปด้วย

-ระบบอำนวยการรบ ZKJ-5 (อาจยังไม่ติดก็ได้ถ้างบประมาณไม่เพียงพอ)

-เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362

-ระบบดาต้าลิงก์

-ระบบดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ HZ-100 ESM

-แท่นยิงเป้าลวง Type 726-4 ขนาด 24 ท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง

-ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 จำนวน 1 ระบบที่หัวเรือ แทนที่ปืนใหญ่ H/PJ-26 ขนาด 76 มม.เพราะไม่รู้จะติดไปเพื่ออะไร

-นำปืนกลขนาด 20 มม. GAM-BO1 จากคลังแสงกองทัพเรือจำนวน 4 กระบอกมาติดตั้งรอบลำเรือ

          ได้ของเพียงเท่านี้ผู้เขียนคิดว่ามากเพียงพอแล้ว โดยเฉพาะระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Type 1130 สำคัญมากที่สุด อนาคตถ้างบประมาณประเทศเกินดุลมากๆ ค่อยหา RAM เมืองจีนมาใช้งาน

บทสรุป

          ขณะที่ทุกคนรุมประณามหยามเหยียดเรือฟริเกตจีนอย่างน่าเกลียดมากจนถึงมากที่สุด ผู้เขียนกลับมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มองเห็นวิธีแก้ไขปัญหาขนาดใหญ่ที่ถูกละเลย มองเห็นวิธีอุดช่องโหว่อันเกิดจากเรือฟริเกตสมถรรนะสูงไม่สูงจริงเหมือนชื่อ รวมทั้งมองเห็นวิธีปรับปรุงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งให้กลับมาเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดลูกยาว เหตุผลที่ผู้เขียนมองเห็นโอกาสมากมายเพราะราชนาวีไทยมีเรือจีนถึง 10 ลำ!

          ผู้อ่านละครับมองเห็นอะไรบ้าง??

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์

https://thaimilitary.blogspot.com/2016/11/royal-thai-navy-anti-submarine-weapon.html

https://thaimilitary.blogspot.com/2023/07/the-off-shore-navy.html

https://picryl.com/media/a-port-view-of-the-frigate-uss-barbey-ff-1088-firing-two-harpoon-missiles-from-f28099

https://twitter.com/andavamas/status/1595768085847629825

https://web.facebook.com/groups/586945348127017/posts/2305473479607520/

https://www.sohu.com/a/721579764_100185604

 

         

วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566

Naresuan-Class General Purpose Frigate

 

วันที่ 1 ตุลาคม 2530 กองทัพเรือไทยยังอยู่ในสภาพของกองทัพเรือชายฝั่ง (Coastal Navy) โดยมีเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กที่ใช้ในภารกิจป้องกันการแทรกซึมทางทะเลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จำนวนมาก โดยเรือเล็กเหล่านี้มีขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองในการรบทางเรืออย่างจำกัดมาก กองทัพเรือไทยมีเรือรบขนาดใหญ่ที่สามารถออกปฏิบัติการในทะเลลึกและมีขีดความสามารถในการรบทางเรือยุคใหม่จำนวนน้อย เรือรบขนาดใหญ่ที่มีอยู่ส่วนใหญ่อายุระหว่าง 40 ถึง 50 ปี และใกล้หมดคุณค่าทางยุทธการแล้ว เรือรบสมัยใหม่ที่มีอยู่บ้างก็มีขนาดเล็ก ระยะปฏิบัติการจำกัดและไม่สามารถปฏิบัติการในสภาพคลื่นลมแรง

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ กองทัพเรือไทยไม่มีเรือรบที่มีดาดฟ้าและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เลยแม้แต่ลำเดียว ทั้งๆ ที่เฮลิคอปเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทในการรบทางเรือกว่าสามทศวรรษแล้ว ทั้งในด้านการลาดตระเวนตรวจการณ์ การเตือนล่วงหน้าในอากาศ การปราบเรือดำน้ำ การโจมตีเรือรบผิวน้ำ การค้นหาและกู้ภัย การชี้เป้าและควบคุมอาวุธนำวิถีระยะยิงพ้นขอบฟ้าเรดาร์

ด้วยข้อจำกัดอันร้ายแรงดังกล่าว กองทัพเรือไทยในช่วงนั้นจึงต้องกำหนดยุทธศาสตร์ทางเรือในลักษณะพึ่งพากองทัพเรือของประเทศมหาอำนาจ ในการคุ้มครองจำนวนหลายร้อยหลายพันลำที่ต้องลำเลียงยุทธปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำรงอยู่และกองทัพไทยสามารถทำการรบได้โดยต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยในช่วงนั้นตกอยู่ในภาวะความมั่นคงอันไม่แท้จริง (False Sense of security) โดยสิ้นเชิง

          การเสริมกำลังด้วยเรือขนาดใหญ่ มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการไกลฝั่งและในสภาพคลื่นลมแรงจึงเป็นความจำเป็น ระหว่างปี 2530 ถึง 2540 กองทัพเรือได้จัดหาเรือชนิดต่างๆ เข้าประจำการ เพื่อปรับเปลี่ยนจากกองทัพเรือชายฝั่ง (Coastal Navy) เป็นกองทัพเรือไกลฝั่ง (Off-Shore Navy) หนึ่งในนั้นก็คือการจัดหาเรือฟริเกตอเนกประสงค์ซึ่งมีความทันสมัยเทียบเท่าเรือฟริเกตจากยุโรป

โครงการเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวร

          เรือฟริเกตชุดนี้เป็นเรือที่ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ใฝ่ฝันที่จัดหาให้กองทัพเรือไทยเป็นเวลานานแล้ว ถึงขนาดลงทุนเขียนแบบ Conceptual Design ด้วยตัวท่านเอง แล้วให้บริษัทออกแบบต่อเรือของ สปจ. ออกแบบรายละเอียดเป็นพิมพ์เขียว และทำ Model Tank Test อย่างสมบูรณ์ เรือชุดนี้เป็นเรือฟริเกตอเนกประสงค์ (General Purpose Frigate) สามารถปฏิบัติการในทะเลลึกในสภาพคลื่นลมแรงได้ดีกว่าเรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา มีขีดความสามารถในการรบทั้ง 3 มิติ โดยมีทั้งดาดฟ้าเรือและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ สามารถนำเฮลิคอปเตอร์ออกทะเลไปด้วยอย่างปลอดภัยในทุกสภาพอากาศ เรือชุดนี้มีขนาดและขีดความสามารถใกล้เคียงกับเรือฟริเกตทั้งสมัยของกองทัพเรือต่างๆ ในยุโรป เช่น เรือฟริเกตชั้น LUPO ของกองทัพเรืออิตาลี

          เนื่องจากเรือฟริเกตชุดนี้จะเป็นกำลังรบที่สำคัญของกองทัพเรือต่อไป ท่านจึงไม่ยอมผลีผลามเชื่อถือผลงานออกแบบและทดลองหุ่นจำลองเรือของจีนเลยทันที แต่ได้ส่งแบบเรือและผลการทดลองใน Model Tank Test ให้กับกองทัพเรือสหรัฐช่วยตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยคอมพิวเตอร์ที่กองทัพเรือสหรัฐใช้การออกแบบ แตรวจสอบผลการทำ Model Tank Test  สำหรับเรือรบของเรือสหรัฐเอง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบเรือของกองทัพเรือสหรัฐ ได้ช่วยแก้ไขแบบเรือทั้งการจัดห้องต่างๆ ภายในเรือให้สะดวกต่อการปฏิบัติการ และลดความเสียหายจากอาวุธของข้าศึก การปรับปรุงการทรงตัวของเรือ การเสริมความมั่นคงของดาดฟ้าเรือการปรับปรุงระบบสนับสนุนต่างๆ บนดาดฟ้าบินและในโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการทนต่อลมที่เข้าปะทะด้านข้างของตัวเรือจาก 90 นอตตามมาตรฐานการต่อเรือของกองทัพเรือจีนเป็น 100 นอตตามมาตรฐานสหรัฐ เพื่อให้เรือชุดนี้มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการในทะเลลึกได้สูงขึ้น นอกจากนี้สหรัฐยังได้ช่วยแก้ไขแบบเรือเพื่อลดพื้นที่สะท้อนคลื่นเรดาร์ลงอีกด้วย นับว่าเป็นเรือไทยชุดแรกที่ใช้เทคโนโลยีล่องหน (Stealth Technology)

          เรือชุดนี้มีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,980 ตัน ความยาว 120 เมตร ความเร็วสูงสุด 32 นอต นับว่าเป็นเรือฟริเกตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความเร็วสูงที่สุดเท่าที่กองทัพเรือเคยมี ตัวเรือออกแบบสร้างโดยอู่ต่อเรือของจีนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนเครื่องจักรใหญ่ เครื่องจักรช่วย และเพลาใบจักรเป็นของเยอรมนีและสหรัฐที่ใช้กันทั่วไป และเป็นมาตรฐานของกองทัพเรือไทยอยู่แล้ว เว้นเครื่องกังหันก๊าซซึ่งมีใช้กันทั่วโลกรวมทั้งกองทัพเรือสหรัฐ แต่กองทัพเรือไทยเพิ่งสั่งซื้อมาใช้ราชการเป็นครั้งแรก สำหรับระบบค้นหาเป้านั้นใช้ของเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก ส่วนระบบอาวุธใช้ของกองทัพเรือสหรัฐเป็นสำคัญ โดยกองทัพเรือยอมรับระบบควบคุมและสั่งการของจีนบางส่วนเท่าที่รับได้เพื่อลดราคาเรือลงให้มากที่สุด

          ในด้านการติดตั้งและเชื่อมต่อระบบอาวุธของเรือชุดนี้ซึ่งกองทัพเรือจะดำเนินการเองในประเทศไทยนั้น เพื่อความรอบคอบและเป็นการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี กองทัพเรือได้ตกลงว่าจ้างหน่วยงานเชื่อมต่อระบบอาวุธของสหรัฐ เพื่อให้เข้ากับระบบควบคุมและสั่งการของจีนและสหรัฐ โดยในลำแรกกองทัพเรือตกลงให้เจ้าหน้าที่สหรัฐเป็นผู้ดำเนินการและเจ้าหน้าที่ของไทยฝึกงาน ส่วนลำที่สองนั้นฝ่ายไทยจะเป็นผู้เชื่อมต่อระบบอาวุธเอง โดยสหรัฐจะคอยติดตามผลการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด

          สำหรับระบบอาวุธตลอดจนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นนั้น กองทัพเรือได้ตกลงใจที่จะจัดหาจากสหรัฐเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเห็นว่ากองทัพเรือลงทุนสร้างเรือฟริเกตขนาดใหญ่ด้วยงบประมาณสูงพอสมควร จึงต้องการให้เรือมีขีดความสามารถในการรบสูง อาวุธของสหรัฐนั้นมีสมรรถนะและความเชื่อถือได้สูงมาก เพราะสหรัฐลงทุนทำการวิจัยและพัฒนาอย่างละเอียดรอบคอบโดยใช้ระยะเวลานานและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก ส่วนทางด้านการเมืองระหว่างประเทศก็นับว่าสหรัฐเป็นพันธมิตรที่ดี ให้ความช่วยเหลือประเทศไทยมาโดยตลอด ให้บริการหลังการขายเป็นไปด้วยดี อะไหล่ต่างๆ จัดหาได้สะดวกและยังมีใช้งานไปอีกนาน เพราะสหรัฐเองก็ยังใช้อาวุธที่กองทัพเรือจะจัดหา และที่สำคัญมากอีกประการก็คือสหรัฐสามารถให้ความช่วยเหลือในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งสามารถฝึกอบรมทั้งระดับผู้ใช้งานและผู้ซ่อมให้แก่กองทัพเรือได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเพื่อความประหยัด กองทัพเรือจึงจำเป็นต้องเลือกใช้ระบบอาวุธและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนบางแบบที่ทันสมัยและพอยอมรับได้ไปก่อน

          ในขั้นการพิจารณาระบบอาวุธที่จะใช้งานกับเรือชุดนี้ กองทัพเรือทราบตั้งแต่ต้นแล้วว่า ระบบไฟฟ้าของเรือต่างกับระบบไฟฟ้าที่ใช้กับระบบอาวุธของสหรัฐ และต้องจัดหาเครื่องแปลงความถี่ไฟฟ้ารวมทั้งเครื่องทำความเย็นเพื่อระบายความร้อนของเรดาร์อากาศ และเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธเพิ่มเติมในภายหลัง อย่างไรก็ตามในขั้นการทำข้อตกลงจ้างสร้างเรือ กองทัพเรือยังไม่สามารถซื้อเครื่องแปลงความถี่ไฟฟ้าและเครื่องทำความเย็นดังกล่าวได้ เพราะยังไม่ได้รับรายละเอียดข้อมูลคุณลักษณะความต้องการที่แท้จริง

          ผลการเจรจากับอู่ต่อเรือจงหัวของจีน สามารถตกลงราคาและงวดการชำระเงินได้ตามความสามารถในการชำระเงินของกองทัพเรือในช่วงนั้น โดยกองทัพเรือได้ปรับโครงการพัฒนากองทัพและชะลอโครงการบางโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่ำกว่า แล้วนำงบประมาณที่เตรียมไว้มาร่วมสมทบอีกหนึ่งทาง คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อ 19 กันยายน 2532 ให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณในโครงการนี้ และอนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารเรือลงนามในหนังสือตกลงจ้างเรือฟริเกตชุดนี้ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล จำนวน 2 ลำแทนรัฐบาลไทย ซึ่งได้มีการลงนามกันที่กรุงเทพเมื่อ 21 กันยายน 2532 เมื่อรวมราคาเรือพร้อมอาวุธและระบบเรดาร์ต่างๆ แล้ว เรือฟริเกตชุดนี้มีราคาลำละ 4,725 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าเรือฟริเกตขนาดเดียวกันที่สร้างในยุโรป และมีราคาเฉลี่ยลำละประมาณ 8,000 ล้านบาท ทำให้เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรเป็นที่สนใจของกองทัพเรือต่างๆ อาทิเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ซึ่งต่อมากองทัพเรือออสเตรเลียได้ตัดสินใจเปลี่ยนปืนขนาด 76 มิลลิเมตร ของเรือฟริเกต ANZAC เป็นปืนขนาด 127 มิลลิเมตร แบบเดียวกับเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรด้วย

          ตามข้อตกลงการจ้างสร้างเรือชุดนี้กำหนดให้มีการฝึกอบรมระดับผู้ใช้งานและผู้ซ่อมอย่างครบถ้วน อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมการต่อเรือเช่นเดียวกับเรือฟริเกตชุดแรกซึ่งกองทัพเรือไทยได้ส่งนายทหารสัญญาบัตรอีก 16 คนไปรับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 2 ปี

          กองทัพเรือได้รับมอบเรือหลวงนเรศวร มาใช้ราชการในกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการแล้ว ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2537 และได้รับมอบเรือหลวงตากสินแล้วตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2538 เรือทั้งสองลำได้รับการติดตั้งและเชื่อมต่อระบบอาวุธ รวมทั้งได้ทำงานยิงตรวจรับอาวุธเรียบร้อยแล้ว โดยดำเนินการในประเทศด้วยฝีมือของทหารเรือไทยเองทั้งสิ้น ทั้งที่เรือหลวงนเรศวร (421) ได้ขึ้นระวางประจำการเมื่อ 14 ธันวาคม 2537 และเรือหลวงตากสินขึ้นระวางประจำการเมื่อ 28 ธันวาคม 2538

คุณสมบัติเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น F25T

ระวางขับน้ำ : 2,985 ตัน

          ยาว : 120.5 เมตร       

กว้าง : 13.7 เมตร

กินน้ำลึก : 4.3 เมตร

ระบบขับเคลื่อน : CODOG เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ LM-2500 จำนวน 1 ตัว กับเครื่องยนต์ดีเซล MTU 20V1163 จำนวน 2 ตัว

ความเร็วสูงสุด : 32 นอต

ระยะปฏิบัติการไกลสุด : 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต

มีลานจอดและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน

ระบบเรดาร์

          เรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลาง Type 360

          เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล Thales LW-08

          เรดาร์เดินเรือ Raytheon AN/SPS-64(V)15

เรดาร์เดินเรือและควบคุมการลงจอดอากาศยาน Raytheon AN/SPS-64(V)5

เรดาร์ควบคุมการยิงปืนใหญ่ Thales STIR-18

เรดาร์ควบคุมการยิงปืนกล Type 347G

โซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำ SJD-7

ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์

          อุปกรณ์รบกวนการแพร่สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Mirage NRJ-5 ECM

          อุปกรณ์ดักจับการแพร่สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Model 945 GPJ ESM

          แท่นยิงเป้าลวง Type 945 ขนาด 26 ท่อยิงจำนวน 4 แท่น

ระบบอาวุธ

          ปืนใหญ่ Mk 45 Mod. 2 ขนาด 5 นิ้วจำนวน 1 กระบอก

ปืนกลอัตโนมัติ Type 76A ขนาด 37 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก

อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ RGM-84A Harpoon จำนวน 8 ท่อยิง

ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 Mod. 5 จำนวน 6 ท่อยิง

มีพื้นที่ว่างสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน RIM-7 VL-Sea Sparrow จำนวน 8 ท่อยิง

โครงการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งาน

          วันที่ 3 มิถุนายน 2554 กองทัพเรือได้จัดพิธีลงนามในสัญญาฯ สำหรับโครงการปรับปรุงเรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรจำนวน 2 ลำโดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ รายละเอียดทั้งหมดของโครงการประกอบไปด้วย

ระยะที่ 1 วงเงิน 2,951 ล้านบาท ประกอบด้วย                         

1. แท่นยิง แบบ Lockheed Martin Mk.41 VLS สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-อากาศ ESSM จำนวน 1 แท่น 8 ท่อยิง ท่อยิงละ 4 นัด รวม 32 นัด

2. ระบบอำนวยการรบ แบบ Saab 9LV Mk.4                           

3. เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ/อากาศ แบบ Saab Sea Giraffe AMD 3D         

4. เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง แบบ Saab CEROS 200 with CWI

5. ระบบพิสูจน์ฝ่าย แบบ Selex SIT422 interogator และ Selex M425 transponder

6. ระบบรวมการสื่อสาร แบบ Saab TactiCall ICS                      

7. ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี แบบ Saab Link-E/G (TIDLS) 

8. ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี แบบ AviaSatcom Link-RTN  

9. ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางยุทธวิธี แบบ Link-11 (TADIL-A)                  

10. ระบบแสดงตนอัตโนมัติสำหรับเรือ (AIS)                              

11. ระบบอุตุนิยมวิทยา                                                                                              

ระยะที่ 2 วงเงิน 3,300 ล้านบาท ประกอบด้วย                         

1. ลูกอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น-สู่-อากาศ แบบ Raytheon RIM-162B ESSM (600 ล้านบาท)

2. แท่นยิงเป้าลวง แบบ Terma DL-12T จำนวน 2 แท่น แท่นละ 12 ท่อยิง  

3. แท่นยิงเป้าลวง แบบ Terma Mk.137 จำนวน 4 แท่น แท่นละ 6 ท่อยิง   

4. ระบบอำนวยการรบ แบบ Saab 9LV Mk.4 (ติดตั้งคอนโซลเพิ่มเติม)         

5. ระบบควบคุมการยิงเป้าลวง แบบ Terma SKWS (C-Guard)                  

6. เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง แบบ Saab CEROS 200 with CWI (ติดตั้งเพิ่มอีก 1 ชุด)

7. ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง แบบ Saab EOS 500                     

8. ศูนย์เล็งกำหนดเป้าหมาย แบบ Saab Bridge Pointers TDS                  

9. ระบบ radar ESM แบบ ITT ES-3601 (AN/SLQ-4)                 

10. ระบบ communication ESM                                        

11. ระบบนำร่องด้วยแรงเฉื่อย แบบ Raytheon Anschutz MINS 2 (ring laser gyro)

12. ระบบวิทยุสื่อสาร                                                       

13. ระบบโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV)                                                                               

ระยะที่ 3 วงเงิน 810 ล้านบาท ประกอบด้วย                            

1. โซนาร์หัวเรือ Atlas Elektronic DSQS-24                            

2. ปืนใหญ่กล MSI-DSL/ATK DS-30MR/Mk.44 ขนาด 30 มม. แท่นเดี่ยว 2 แท่น

มูลค่ารวมทั้งโครงการเท่ากับ 2,951 + 3,300 + 810 = 7,061 ล้านบาท หรือเท่ากับลำละ 3,530.5 ล้านบาท รวมราคาสร้างเรือลำละ 4,725 ล้านบาท เท่ากับว่าเรือฟริเกตชุดนี้ราคารวมเท่ากับ 8,255.5 ล้านบาท

บทสรุป

          เรือฟริเกตชุดเรือหลวงนเรศวรยังคงเป็นกำลังรบหลักให้กับราชนาวีไทยต่อไปได้อีกประมาณ 15 ปี เมื่อถึงเวลาปลดประจำการจะค่อนข้างใกล้เคียงแผนการสร้างเรือฟริเกต 4 ลำมูลค่า 80,000 ล้านบาทจากสมุดปกขาวกองทัพเรือ เท่ากับว่าเรือฟริเกตทั้งสองลำจะมีอายุประจำการ 42 ปีบวกลบ 5 ปีแต่ค่อนมาทางบวก

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก ประพัฒน์ กฤษณจันทร์

https://www.navalanalyses.com/2017/02/naresuan-class-frigates-of-royal-thai.html

https://www.navy.mi.th/namo/index.php?option=com_content&view=article&id=288:2012-10-12-04-29-35&catid=57:2009-08-25-02-29-04&Itemid=28

https://www2.navy.mi.th/993a3785a74bf88bd1ba75743d74f4c0