วันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560

HTMS Krabi meet the press

นานาสาระกับเรือหลวงกระบี่

กองทัพเรือมีความต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน  6 ลำ เพื่อใช้ปฏิบัติการทางทหารในการป้องกันประเทศ การป้องปรามและรักษากฎหมาย การช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถตามแผนยุทธศาสตร์ พื้นที่ในการปฏิบัติการของเรือตรวจการไกลฝั่ง โดยปรกติจะอยู่ที่ประมาณ 75 ถึง 200 ไมล์ทะเล จึงต้องใช้เรือที่มีคุณลักษณะเหมาะสมกับภารกิจ มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการน้อยกว่าเรือฟริเกต และมีขีดความสามารถป้องกันตนเองได้ในระดับหนึ่ง 
                ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งมีความจำเป็นสุงมาก โดยเฉพาะบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือ EEZ (Exclusive Economic Zone) ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อจากทะเลอาณาเขต มีระยะทางไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง (เกินกว่านั้นถือเป็นน่านน้ำสากล) ตามกฎหมายสากลระหว่างประเทศนั้น ประเทศไทยมีสิทธิ์ครอบครองทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งเหนือน้ำ ผิวน้ำ ใต้น้ำ และใต้ดินในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เท่าที่จะสามารถมีกำลังทางเรือเข้าไปดูแล ปัจจุบันทุกประเทศได้ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะกันหมดแล้ว จึงมีพื้นที่ทับซ้อนมากบ้างน้อยบ้างคละเคล้ากันไป
                ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะอยู่ประมาณ 420,280 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 304,000 ตารางกิโลเมตร และฝั่งทะเลอันดามัน 116,280 ตารางกิโลเมตร เทียบกับช่วงเวลาที่ยังไม่มีการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เราเสียพื้นที่ทำการประมงในเขตน่านน้ำสากลไปประมาณ 300,000 ตารางไมล์ และถ้าผู้อ่านลองคิดในทางกลับกัน พื้นที่ทำการประมงของประเทศเพื่อนบ้านก็หายไปใกล้เคียงกับเรา จึงเกิดปัญหาเรือต่างชาติลักลอบจับปลากันแทบทุกวัน ก็เลยต้องจับคนและยึดของกลางกันแทบทุกวันเช่นกัน
                ผู้อ่านบางท่านอาจได้ดูข่าวเรือหลวงสุโขทัย (ซึ่งเป็นเรือคอร์เวตติดอาวุธทันสมัยล้นลำ) เดินทางกลับฝั่งพร้อมลากเรือประมงต่างชาติตามหลังมา ไต้ก๋งและลูกเรือนั่งหลบแดดใต้แท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยานแอสปิเด้ ลูกเรือบางส่วนนั่งประจิ้มประเจ๋อใกล้แท่นยิงตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำสตริงเรย์ นี่คือภาพถ่ายที่ผู้เขียนประทับใจน้ำตาไหลพราก ไม่ใช่ว่าเราใจดีส่งเรือรบไปรับพวกเขาหรอกนะ แต่เรามีเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่จำนวนไม่มากพอ อีกทั้งยังใหญ่ไม่พอที่จะทำภารกิจห่างไกลชายฝั่ง เรือชุดใหม่ทั้ง 6 ลำคือคำตอบที่ตรงคำถามมากที่สุด
กำเนิดเรือหลวงกระบี่
                กองทัพเรือได้ตั้งโครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดแรกจำนวน 2 ลำ อาจวุ่นวายไปบ้างแต่แล้วก็ได้ผู้ชนะการประกวด จึงได้ขออนุมัติจัดหาเรือจากประเทศจีนในวันที่ 13 สิงหาคม 1999 โดยได้ว่าจ้างบริษัท ไชน่าชิป บิวดิ้ง เทรดดิ้ง จำกัด จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษคือรัฐบาลต่อรัฐบาล ใช้งบประมาณผูกพันตั้งแต่ปี 2001 ถึง 2005 วงเงิน 3,200 ล้านบาท โดยมีการสร้างเรือทั้งลำภายในประเทศจีน ติดตั้งอาวุธและอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในประเทศไทย เรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงนราธิวาส เข้าประจำการตั้งแต่ปี 2005 ทั้งยังได้เคยเดินทางไปปราบโจรสลัดเยเมนมาแล้ว

                ถึงตอนนี้เราได้เรือชุดใหม่มาแล้ว 2 ลำ แต่ยังขาดอยู่อีก 4 ลำจึงต้องจัดหาต่อไป โดยในวันที่ 11 พฤษจิกายน 2008 กระทรวงกลาโหมได้ขอนุมัติงบประมาณจำนวน 3,014 ล้านบาท เพื่อจัดหาเรือตรวจการไกลฝั่งจํานวน 1 ลำ เรือลำใหม่จะสร้างขึ้นเองภายในประเทศ (โดยซื้อแบบเรือชั้น River บริษัท BAE Systems ประเทศอังกฤษ) ถือเป็นการพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริ ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ  ซึ่งจะได้ร่วมกันดำเนินการออกแบบเรือ จัดส่งพัสดุสำหรับการสร้างเรือ รวมทั้งสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญระหว่างสร้างเรือ
                โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งภายในประเทศลำแรก ใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2012 บริษัท ช.ทวีดอลลาเซียนเป็นผู้บริหารสัญญา บริษัทอู่กรุงเทพเป็นผู้จัดสร้าง กรมอู่ทหารเรือเป็นผู้ควบคุม โดยใช้สถานที่ในอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช เรือหลวงกระบี่ (OPV-551) เข้าประจำการวันที่ 1 สิงหาคม 2013
คุณลักษณะทั่วไป
                ความยาวตลอดลำ 90.50 เมตร
                ความกว้าง 13.50 เมตร
                กินน้ำลึก 3.80 เมตร
                ความเร็วสูงสุด 23 นอต
                ระวางขับน้ำสูงสุด 1,969 ตัน
                ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3,500 ไมล์ ที่ 15 นอต
                ความคงทนทะเล ได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 5
                ปฏิบัติการต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 14 วัน
                กำลังพลประจำเรือ 92 นาย
                อากาศยานประจำเรือ Super Lynx 300
ระบบตรวจการณ์
                เรดาร์ 2D Thales Variant
                เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales LIROD Mk.2
                เรดาร์เดินเรือ X Band
                เรดาร์เดินเรือ S Band
                กล้องตรวจการณ์ 1 ระบบ
                ระบบพิสูจน์ฝ่าย Thales TSA 2525 (IFF)
ระบบอาวุธ
                ปืนหลัก OTO Melara 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก
                ปืนกล 30 มม. DS-3OMR จำนวน 2 กระบอก
                ปืนกล 12.7มม.จำนวน 2 กระบอก
ระบบขับเคลื่อนและเครื่องจักรช่วย
                เครื่องจักรใหญ่ 2 x Diesels
                ใบจักร แบบ CPP 2 พวง
                เครื่องไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งต่างจากเรือรบตรงไหน หรือเป็นเรือรบที่ไม่ติดอาวุธหนัก
                หลังได้เกริ่นนำค่อนข้างยาวพอสมควร รวมทั้งใส่ข้อมูลพื้นฐานแก่ผู้อ่านหน้าใหม่ที่อาจพลัดหลงเข้ามา ผู้เขียนขอตัดเข้าประเด็นหลักของบทความ คือตอบข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับเรือหลวงกระบี่ เริ่มต้นกันเลยดีกว่า
                สำหรับคำถามข้อแรกสุด ขอนำบทสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ระดับสุงอู่กรุงเทพจาก www.thaiarmedforce.com มาช่วยชี้แจงนะครับ เรือหลวงกระบี่ใช้แบบเรือตรวจการณ์ขนาด 90 เมตรจากบริษัท BAE เหล็กที่ใช้ในการสร้างมีความทนทานน้อยกว่าเรือรบ โครงสร้างของเรือมีความซับซ้อนน้อยกว่า จึงแข็งแรงและทนต่อการรบน้อยกว่า แต่ได้ออกแบบห้องผนึกน้ำตามแบบฉบับเรือรบแท้ ๆ ซึ่งถ้าโดนโจมตีก็จะสามารถจำกัดความเสียหายได้
                ห้องผนึกน้ำหรือ Water Tight Compartments คืออะไร เหมือนกับในภาพยนตร์หลายเรื่องนั่นแหละครับ ที่เรือดำน้ำโดนยิงมีน้ำทะลักเข้าท้ายเรือ เพื่อนพระเอกถีบพระเอกออกจากห้องแล้วล๊อคประตู ตนเองยอมจมน้ำแต่เรือปลอดภัยเพื่อนนางเอกปลอดภัย เพราะห้องผนึกน้ำช่วยป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านไปยังส่วนอื่น ฉะนั้น...จึงอาจกล่าวได้ว่า เรือหลวงกระบี่ใช้มาตราฐานสร้างเรือสุงกว่าเรือสินค้าแต่ต่ำกว่าเรือรบ และไม่ใช่เรือรบที่ไม่ติดอาวุธหนักแต่อย่างใด
ติดตั้งอาวุธน้อยเกินไปหรือไม่ และใช้คุ้มกันเรือหาปลาเท่านั้นเองหรือ
                เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งก็คือเรือตรวจการณ์นั่นแหละครับ เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่าเพราะต้องออกทะเลลึกกว่า หน้าที่หลักนอกจากคุ้มกันเรือหาปลาของเราและจับกุมเรือหาปลาของเขาแล้ว ยังใช้ในการป้องกันการแทรกซึมทางทะเล การดูแลคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การรักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ การปราบปรามการลักลอบขนส่งยาเสพติด รวมทั้งปัญหาผู้ลี้ภัยทางทะเลจากประเทศในโลกที่สาม
                เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งติดอาวุธน้อยเกินไปหรือไม่ สำหรับเรือ 3 ลำแรกผู้เขียนมองว่า ติดอาวุธกำลังพอดีถ้าดูจากภัยคุกคามในปัจจุบัน และติดอาวุธน้อยเกินไปถ้าภัยคุกคามถูกยกระดับสุงขึ้น ส่วนแนวโน้มที่ภัยคุกคามจะรุนแรงกว่าเดิมนั้น เป็นไปได้ก็จริงแต่น่าจะมาจากเรือดำน้ำมากกว่า ซึ่งเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งไม่มีทางต่อสู้ได้อยู่แล้ว
                อาวุธหลักบนเรือได้แก่ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.รุ่นที่ขายดีที่สุดในโลก โดยใช้เรดาร์และออปโทรนิกส์ในการควบคุมการยิง มีประสิทธิภาพในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคาม ที่ระยะ 8 กิโลเมตรสามารถ "ยิงหยุด" เรือที่ลุกล้ำน่านน้ำเข้ามาได้ เทียบกับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งของอังกฤษ โปรตุเกส นิวซีแลนด์ หรือบราซิล ซึ่งติดตั้งปืนกลขนาด 30 มม.เป็นอาวุธหลัก จึงทำได้เพียง "ยิงสกัด" หรือป้องกันตัว แต่ยิงหยุดเป้าหมายโดยทันทีไม่ได้แน่ เรือของเรายังติดตั้งปืนกลขนาด 20 ถึง 30 มม.และปืนกลขนาด 12.7 มม.เป็นอาวุธรอง โดยที่ปืน 30 มม.ของเรือหลวงกระบี่สามารถสั่งยิงได้จากห้องควบคุม

เรือหลวงตรังแตกต่างจากเรือหลวงกระบี่ตรงไหน
            เรือหลวงตรังใช้แบบเรือเดียวกันกับเรือหลวงกระบี่ ส่วนที่แตกต่างกันหลัก ๆ มีข้อมูลประมาณนี้
                -ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม. เปลี่ยนจากรุ่น Compact มือสองมาเป็นรุ่น Super Rapid มือหนึ่ง อัตรายิงสุงสุดเพิ่มขึ้นจาก 85 นัด/นาที เป็น 120 นัด/นาที สามารถใช้กระสุนปืนรุ่นใหม่ได้ อาทิเช่นกระสุนต่อระยะทาง ผู้เขียนไม่ลงรายละเอียดเรื่องกระสุนปืน เพราะไม่ได้ผูกตายตัวว่าปืนรุ่นนี้ต้องใช้กระสุนรุ่นนี้
                -จรวดต่อสู้เรือรบ RGM-84L Harpoon Block II จำนวนมากสุด 8 นัด ระยะยิงไกลสุดอยู่ที่ 124 กิโลเมตร เป็นจรวดรุ่นเดียวกับที่ใช้บนเรือหลวงท่าจีนเรือฟริเกตลำใหม่ของเรา และต่อไปการจัดหาจรวดรุ่นนี้จะเป็น Block II ทั้งหมด (เพราะ Block I เลิกผลิตแล้ว) จรวด 8 นัดพร้อมแท่นยิงมีน้ำหนักรวม 5.896 ตัน จึงต้องมีการเสริมความแข็งแรงให้กับจุดติดตั้ง
                -ระบบเป้าลวง Terma DL-12T SKWS Decoy ขนาด 16 ท่อยิงจำนวน 2 ระบบ ใช้ยิงเป้าลวงขนาด 130 มม.มาตราฐานนาโต้ ยิงได้ทั้งเป้าลวงจรวดต่อสู้เรือรบและเป้าลวงตอร์ปิโด อยู่ที่ว่าจะมีเงินซื้อเป้าลวงแบบไหนบ้าง
                -ระบบตรวจจับสัญญานเรดาร์ Thales VIGILE R-ESM (Radar Electronic Support Measures) ใช้ตรวจจับคลื่นเรดาร์ความถี่ต่าง ๆ ทุกประเภท โดยที่น่าจะเป็นรุ่น Lightweight หรือ LW สามารถตรวจจับในย่านความถี่ 2 ถึง 18 GHz ระบบจะทำการแจ้งเตือนทันทีที่ตรวจพบ แสดงทิศทางการแพร่คลื่นและระบุชนิดเรดาร์ตามฐานข้อมูล ซึ่งก็รวมเรดาร์ควบคุมการยิงเช่นกัน เหมือนในภาพยนต์ที่เจ้าหน้าเรดาร์ตะโกนบอกกัปตันว่า "บร๊ะเจ้าโจ๊ก! เรือเราโดนล๊อคเป้าแล้วครับ"
                VIGILE R-ESM ทำงานควบคู่ระบบเป้าลวง Terma DL-12T SKWS เมื่อตรวจพบจรวดต่อสู้เรือรบลอยเข้ามาสู่ระยะอันตราย ก็จะสั่งปล่อยเป้าลวงออกไปล่อลวงได้ทันท่วงที ส่วนเป้าลวงจะล่อลวงสำเร็จหรือไม่ผู้เขียนไม่กล้ายืนยัน

                -เรดาร์และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales STIR 1.2 EO Mk2 หรือ STING EO Mk2 ขณะที่เรือหลวงกระบี่ใช้รุ่น Thales Lirod Mk2 ทั้ง 2 ระบบมีข้อแตกต่างสำคัญก็คือ Lirod Mk2 ทำงานย่านความถี่ K-Band มีระยะตรวจจับ 36 กิโลเมตร ส่วน  STIR 1.2 EO Mk2 ทำงานย่านความถี่ K-Band มีระยะตรวจจับ 36 กิโลเมตร และยังทำงานย่านความถี่ I-Band มีระยะตรวจจับ 120 กิโลเมตรอีกด้วย ช่วยล๊อคเป้าเรือผิวน้ำให้กับจรวดต่อสู้เรือรบได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ต้องทำงานควบคู่กับระบบพิสูจน์ฝ่ายหรือ IFF ด้วยนะครับ
                 STIR 1.2 EO Mk2 ได้รับความนิยมค่อนข้างสุง โดยเฉพาะบนเรือคอร์เวตและเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี เมื่อนำมาติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่แบกจรวดต่อสู็เรือรบ ผู้เขียนอ่านเจอดีใจน้ำตาไหลพรากคำรบสอง STIR 1.2 EO Mk2 ยังทำงานกับจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM ได้เป็นอย่างดี ใช้เป็นเรดาร์ชี้เป้าหรือ (Illuminator) ให้กับจรวดระหว่างเดินทาง แต่ต้องติดตั้งระบบส่งคลื่นเรดาร์แบบต่อเนื่องหรือ Continuous Wave (CW) เพิ่มเติมเข้าไปด้วย จัดเป็นออปชั่นเสริมราคาแพงที่มีประสิทธิภาพตามราคา เรือหลวงตรังไม่ได้ติดตั้งจรวด ESSM ก็คงไม่มีออปชั่นนี้

ซ้ายมือคือ Lirod Mk2 ส่วนขวามือคือ STIR 1.2 EO Mk2 ซึ่งมีประสิทธิภาพสุงกว่า มีออปชั่นทำงานร่วมกับจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM ให้เลือก

ไหนบอกว่าอาวุธบนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเพียงพอแล้ว แล้วทำไมถึงติดจรวดให้กับเรือหลวงตรัง
            กองทัพเรือให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า กองเรือตรวจอ่าวมีอำนาจการยิงลดลงกว่าในอดีต เนื่องจากจรวดต่อสู้เรือรบกาเบรียลบนเรือชั้นเรือหลวงปราบปรปักษ์จำนวน 3 ลำนั้นหมดอายุไข ส่วนเรือหลวงวิทยาคมซึ่งติดจรวดต่อสู้เรือรบเอ๊กโซเซ่ต์ก็ได้ปลดประจำการเรียบร้อยแล้ว คงเหลือเรือที่ติดจรวดเอ๊กโซเซ่ต์แค่เพียง 2 ลำ จึงต้องมีการเสริมอำนาจการยิงจรวดต่อสู้เรือรบเพิ่มเติม และเรือหลวงตรังก็คือคำตอบที่ตรงคำถาม (อีกแล้ว) เนื่องจากมีขนาดใหญ่สุดและยังไม่ได้สร้าง
เรือหลวงตรังคือการเอาเรือหลวงกระบี่มาหั่น Superstructure ทิ้ง 3 เมตร เพื่อรองรับเฮลิคอปเตอร์ S-70B ใช่หรือไม่ การแบกเฮลิคอปเตอร์ลำใหญ่เกินตัวจะมีผลอะไรบ้างหรือเปล่า
                คำตอบข้อนี้ก็คือ "ใช่และไม่ใช่ครับ"
                เรือหลวงตรังหั่น Superstructure เรือหลวงกระบี่ทิ้ง 3 เมตรจริง แต่มีแบบเรือที่ตรงกับแบบเรือต้นฉบับ และรองรับอากาศยานปีกหมุนขนาด 11.5 ตัน ได้ตั้งแต่เกิด อ่านแล้วปวดหัวกันบ้างไหมครับ ผู้ขียนอธิบายด้วยภาพวาดน่าจะดีกว่า

เริ่มจากในปี 2010 เมื่อกองทัพเรือต้องการสร้างเรือหลวงกระบี่ในประเทศ ลำที่อยู่ด้านบนสุดจะเป็นแบบเรือแรกสุด ผู้เขียนวาดตามแบบเรือของกองทัพเรือนะครับ ไม่ได้อ้างอิงจาก Thales เพราะมีจุดที่แตกต่างนิดหน่อย จะเห็นได้ว่าบริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ได้มีการสร้าง Superstructure เพิ่มเติมและเป็นเอกเทศ เข้าใจว่าเป็นห้องควบคุมการบินและห้องเก็บอุปกรณ์ของนักบิน กองทัพเรือ (ในตอนนั้น) ต้องการใช้เฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 7 ตัน ลาดจอดจึงมีที่ว่างมากเพียงพอ
                เรือลำกลางเป็นเรือหลวงกระบี่เวอร์ชั่น 2 และได้กลายมาเป็นเรือจริงโดยมีจุดปรับปรุงไม่มากนัก ห้องควบคุมการบินถอยเข้าไปรวมอยู่ที่ Superstructure หลัก ลานจอดยาวกว่าเวอร์ชั่นแรกและดูไม่รกตา แต่ทว่าเฮลิคอปเตอร์ S-70B ก็ยังลงจอดไม่ได้ นั่นเป็นเพราะเรือหลวงกระบี่เพิ่มความยาว Superstructure ท้ายเรือขึ้นมา 3 เมตรจากต้นฉบับ
                เรือลำสุดท้ายก็คือเรือหลวงตรังนั่นเอง จะเห็นได้ว่า Superstructure ท้ายเรือตรงกับเรือลำแรกพอดีเป๊ะ บังเอิญผู้เขียนวาดเรือหลวงกระบี่ทั้ง 2 เวอร์ชั่นแล้วเสร็จ นึกเอะใจจึงนำแปลนเรือเรือหลวงตรังมาเปรียบเทียบ ผลก็คือเท่ากันพอดิบพอดี สรุปความตามท้องเรื่องได้ว่า เรือหลวงตรังใช้แปลนเรือต้นฉบับดั้งเดิม ส่วนเรือหลวงกระบี่ใช้แปลนเรือที่มีการต่อเติม Superstructure ให้ยาวมากขึ้น
เรือหลวงกระบี่ปรับปรุงจากต้นแบบมากแค่ไหน และจะมีผลอย่างไรต่อการใช้งานจริงบ้าง
                ว่ากันตามความจริง สิ่งที่เรือหลวงกระบี่ปรับปรุงคือสร้าง Superstructure เพิ่มขึ้น 3 เมตร และติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.เท่านั้นแหละครับ เรือชั้นเดียวกับเราของอังกฤษที่สร้างหลังเรา และเรือชั้นเดียวกับเราของบราซิลที่สร้างก่อนเรา ใช้แค่เพียงปืนกลขนาด 30 มม.บริเวณหัวเรือ มีแค่เราที่ใช้ของหนักและกินพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ แต่ทว่า...แต่ทว่า โดยปรกติจุดนี้เป็นจุดติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.ของเรือทุกลำอยู่แล้ว และภาพ CG แบบเรือก็มีการติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.เช่นกัน จึงเป็นการปรับปรุงที่ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมากมาย หัวเรือหนักขึ้นเล็กน้อยมีผลต่อการใช้งานจริงนิดหน่อย

                ในภาพคือเรือชั้น River ของบราซิล (ภาพบน) และของอังกฤษ (ภาพล่าง) จะเห็นได้ว่า Superstructure ท้ายเรือมีอยู่แค่นี้แหละ สั้นกว่าเรือหลวงกระบี่และเท่ากับเรือหลวงตรัง ติดตั้งเครนขนาด 16 ตันตำแหน่งที่เราติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ ไม่ทราบว่าใช้ยี่ห้อเฮี๊ยบหรือเปล่าหนอ
เรือฟริเกต F14 UMS Sinphyushin ของพม่าทนทะเลได้แค่ระดับ 4 ส่วนเรือหลวงกระบี่ทนทะเลได้ถึงระดับ 5 หมายความว่าเรือของเราดีกว่าเรือของเขาสินะ
                คำตอบข้อนี้ก็คือ "ใช่และไม่ใช่ครับ"
                เรือรบทุกลำที่สร้างเองภายในประเทศพม่า รวมทั้งเรือฟริเกตจำนวน 3 ลำ เรือคอร์เวตจำนวน 3 ลำ และเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 1 ลำนั้น (นับเฉพาะที่สร้างแล้วเสร็จ) มีลักษณะเป็นเรือที่กินน้ำตื้นกว่าปรกติ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า shallow draught แล้วที่ว่ากินน้ำตื้นกว่าปรกติเป็นอย่างไร อธิบายด้วยภาพถ่ายน่าจะดี
                แต่ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อน ผู้เขียนจะอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์แบบชาวบ้าน นั่นคือตรวจสอบจากหลักกายภาพกันโต้ง ๆ ด้วยประสบการณ์เคยทำเรือเก็บบัวล่มมาแล้วนับสิบครั้ง ผู้เขียนกำหนดให้ขีดบนสุดของสีกันเพรียง คือระดับกินน้ำลึกของเรือแต่ละลำ เข้าใจตรงกันแล้วก็ลุยเลย

                ในภาพคือเรือใหญ่ 4 ลำล่าสุดที่พม่าสร้างเอง อยากให้ผู้อ่านสนใจ Underwater Hull หรือตัวเรือส่วนที่จมน้ำซักนิด ง่ายกว่านั้นก็คือตัวเรือส่วนที่ทาสีกันเพรียงสีแดง เรือ 2 ลำบนคือเรือฟริเกต F12 และ F14 นั้น มีลักษณะรูปทรงเรียว แหลม ยาว แต่กินน้ำลึกค่อนข้างน้อยผิดปรกติ มุมซ้ายด้านล่างคือเรือคอร์เวต UMS Tabinshwehti ขนาด 77 เมตร มีรูปทรงเรียว แหลม ยาว เช่นกันกับเรือฟริเกต สังเกตที่ขีดขาวบอกระดับน้ำบริเวณหัวเรือ ขอบบนสุดของสีกันเพรียงตรงกับตำแหน่ง 3.2 เมตร เท่ากับว่าเรือลำนี้กินน้ำลึก 3.2 เมตร ส่วนภาพล่างขวาคือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งความยาว 80 เมตร ตัวเรือมีลักษณะอวบอ้วน สุง พุงป่อง ผิดไปจากเพื่อนร่วมขบวนการ กินน้ำลึก 3.5 เมตรพอดิบพอดี ลำนี้เห็นตัวเลขชัดเจนมาก

                ทีนี้เรามาเปรียบเทียบเรือฟริเกตกันบ้าง ภาพซ้ายมือคือเรือฟริเกต F12 UMS Kyansitthar ระวางขับน้ำเต็มที่ประมาณ 3,000 ตัน ยาว108 เมตร กว้าง 13.5 เมตร กินน้ำลึก 3.5 เมตร ติดครีบกันโครงจำนวน 1 คู่ และไม่มีโดมโซนาร์ที่หัวเรือแต่ประการใด ในอินเตอร์เน็ตบอกว่าทนทะเลระดับ 4 สาเหตุคงมาจากกินน้ำตื้นผิดปรกติ แม้กระทั่งกับเรือธรรมดาที่ทนทะเลเท่ากันนั้น เมื่อเจอคลื่นลม F12 อาจโครงเครงกว่านิดหน่อย
                ภาพเล็ก ๆ มุมบนซ้ายยิ่งแล้วไปใหญ่ เรือฟริเกต F14 UMS Sinphyushin กินน้ำลึก 3.4 เมตรเอง ??? ทำไมถึงกินน้ำลึกไม่เท่ากันผู้เขียนก็ยังประหลาดใจไม่ใช่น้อย จะให้ทราบชัดเจนต้องขอไปส่องไฟที่ข้างเรือ
                ส่วนภาพขวามือคือเรือหลวงตากสิน FF422 จะเห็นได้ว่ามี Underwater Hull สุงกว่าเรือฟริเกตพม่า ระวางขับน้ำเต็มที่ประมาณ 3,000 ตัน ยาว120 เมตร กว้าง 13.7 เมตร จากวิกิบอกว่ากินน้ำลึก 6 เมตร ผู้เขียนพยายามเพ่งน่าจะเป็นเลข 4.x ทดลองตัดโดมโซนาร์ออกไป 1.2 เมตรก็ยังกินน้ำลึกตั้ง 4.8 เมตร สุงกว่าเรือฟริเกตพม่าถึง 1.3 เมตรและ 1.4 เมตรตามลำดับ นี่คือข้อแตกต่างระหว่างเรือธรรมดากับเรือ shallow draught
เรือหลวงตากสินติดตั้งครีบกันโครงถึง 3 คู่ด้วยกัน ช่วยในการทรงตัวได้ดีกว่าเรือพม่าแน่นอน (แต่ละตัวทำหน้าที่อย่างไรบ้างนั้น ถ้ามีโอกาสผู้เขียนจะอธิบายความอย่างละเอียดให้) ตามข้อมูลวิกิบอกว่าทนทะเลระดับ 6 เรือฟริเกตลำใหม่จากเกาหลีใต้ก็ทนทะเลระดับ 6 แต่ลำนั้นกินน้ำลึกถึง 8 เมตร เพราะมีขนาดใหญ่กว่าและโดมโซนาร์อยู่ใต้ปืนใหญ่ 76/62 มม.

                หันมาเปิดกระโปรงเรือหลวงกระบี่ของเราบ้าง เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีรูปทรงอวบอั๋นอิ่มเอมไม่แพ้ใคร บริเวณหัวเรือมีขนาดค่อนข้างใหญ่โต ตามวิกิบอกว่ากินน้ำลึก 3.8 เมตร แต่จากภาพเขียนไว้ว่า 4 เมตรพอดิบพอดี ติดตั้งครีบกันโครงถึง 3 คู่ ทั้งยังมีแท่งไอติมอันเบ้อเริ่มติดอยู่ด้านหน้า มีความทนทะเลอยู่ในระดับ 5  
ตอบคำถามข้อนี้ให้ชัดเจนก็คือ เรือหลวงกระบี่ทนทะเลกว่าเรือฟริเกตพม่าจริงครับ แต่พูดไม่ได้ว่าเรือของเราดีกว่าเรือของเขา ต้องพิจารณากันเป็นหัวข้อถึงจะพอชี้ชัดได้
                ทำไมพม่าสร้างเรือ shallow draught เป็นเพราะข้อจำกัดของอู่ต่อเรือหรือเปล่า เรือประเภทนี้ต่างจากเรือทั่วไปอย่างไร
                ผู้เขียนไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมพม่าสร้างเรือ shallow draught แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำค่อนข้างมาก แม่น้ำหลายช่วงก็มีความกว้างหลายกิโลเมตร ใช้เรือใหญ่หน่อยจึงน่าจะดีกว่าเรือเล็ก หน้าที่รักษาความปลอดภัยในแม่น้ำเป็นของกองทัพเรือ ทำให้พวกเขาต้องการใช้เรือในเขตแม่น้ำ และเรือที่กินน้ำตื้นใช้งานได้ดีกว่าเรือทั่วไป เราจึงได้เห็นภาพเรือ F-14 แล่นอยู่ในน้ำสีน้ำตาลโอวัลติน และเห็นภาพเรือลำเดียวกันแล่นอยู่ในน้ำสีเขียวมรกต

                อีกประการหนึ่งก็คือ อู่ต่อเรือกองทัพเรือพม่าอยู่ที่เมือง Yangon และ Sinmalaik ส่วนอู่ต่อเรือของเอกชนก็อยู่ไม่ไกลจากกัน ที่ตั้งทางทหารจำนวนมากอยู่ระแวกนี้ แม้จะย้ายเมืองหลวงไปไกลลิบแล้วก็ตาม เมืองหลวงเดิมก็ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารเหมือนเก่า พม่าต้องใช้อู่ต่อเรือเพื่อซ่อมบำรุงตามวงรอบ เรือรบทุกลำจำเป็นต้องแล่นเข้าเขตน้ำตื้น เป็นข้อจำกัดของอู่ต่อเรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่พม่าน่าจะเป็นชาติเดียวในโลกที่ต่อเรือฟริเกตกินน้ำตื้น
                เรือ shallow draught มีข้อดีก็คือกินน้ำตื้นกว่าปรกติ ใช้ทำภารกิจในเขตน้ำตื้นได้ดีกว่าเรือทั่วไป การเข้าเทียบท่าเรือก็ง่ายกว่า แล่นได้เร็วกว่า บังคับเรือง่ายกว่า โอกาสเกยตื้นมีน้อยกว่า ส่วนข้อเสียไม่ต้องบอกก็คงรู้ เรือที่กินน้ำตื้นจะสู้แรงคลื่นได้ไม่ดี การควบคุมเรือเมื่อเจอพายุเป็นงานสุดหิน แต่ไม่ใช่ว่าเรือต้องอยู่ในแม่น้ำตลอดเวลา แล่นออกไปไกลฝั่งได้ตามปรกติ ใช้งานได้เหมือนเรือทั่วไปทุกประการ แต่การทรงตัวอาจสู้ไม่ได้เท่านั้นเอง
แล้วเรือหลวงกระบี่สู้เรือฟริเกตพม่าได้หรือไม่
            ถ้าแข่งกันเดินทางจากปากน้ำโพไปถึงเมืองเวนิช ผู้เขียนต่อเรือหลวงกระบี่ร้อยบาทเอาขี้หมากองเดียว แต่ถ้าต้องยิงกันด้วยสาเหตุที่ไม่มีสาเหตุ ผู้เขียนต่อเรือฟริเกตพม่าร้อยบาทเอาขี้หมากองเดียว เรือทั้งสองลำมีดีมีเลวกันคนล่ะอย่าง ถึงได้บอกว่าต้องพิจารณากันเป็นหัวข้อ
                แล้วเรือหลวงตรังพอสู้เขาได้ไหม ผู้เขียนถามต่อให้เองเลยแล้วกัน การรบทางทะเลโดยใช้จรวดต่อสู้เรือรบ ฝ่ายไหนออกหมัดได้ก่อนย่อมได้เปรียบ ถ้าเรือเราตรวจจับเรือเขาได้ก่อนและยิงจรวดได้ก่อน ก็มีโอกาสรอดตัวกลับบ้านสบายใจเฉิบ แต่ถ้าตรงกันข้ามคือเรือเขาตรวจจับเรือเราได้ก่อน เรามีเป้าลวงจำนวน 24 ท่อยิง และปืนใหญ่ 76/62 มม.ที่ยิงได้ 120 นัด/นาทีไว้ป้องกันตัว (ถ้ามีกระสุนแตกอากาศไปด้วยนะครับ) ส่วนปืนกล DS-30MR ซึ่งยิงได้เร็วสุด 200 นัด/นาที น่าจะใช้ได้ดีกับเป้าหมายพื้นน้ำ ชายฝั่ง เฮลิคอปเตอร์ หรือโดรนขนาดเล็ก โอกาสที่จะยิงจรวดต่อสู้เรือรบสำเร็จมีน้อยเหลือเกิน
                อาวุธบนเรือฟริเกตพม่าประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.6 ลำกล้องรวบ AK-630 จำนวน 3 กระบอก ปืนกล 14.5 มม.6 ลำกล้องรวบจำนวน 2 กระบอก จรวดต่อสู้อากาศยานอิ๊กล่าจำนวน 6 นัด (ควบคุมด้วยรีโมท) จรวดต่อสู้เรือรบ C-802A ระยะยิง 180 กม.จำนวน 8 นัด และจรวดปราบเรือดำน้ำ RBU-1200 จำนวน 2 แท่นยิง โดยมีเรดาร์ควบคุมการยิง Type-347G จำนวน 2 ระบบ ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Kolonka จำนวน 2 ระบบ (แท่งสุง ๆ อยู่หน้า Type-347G นั่นแหละครับ) เรือของเขาจึงสามารถยิงปืน 4 กระบอก 4 ทิศทางได้ในเวลาพร้อมกัน
                มาที่ระบบตรวจจับบนเรือฟริเกตพม่ากันบ้าง มีเรดาร์ตรวจการณ์ Type-362 ระยะทำการ 100-120 กม.เรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล RAWL-02 Mk III ระยะทำการ 350-400 กม.รวมทั้งเรดาร์เดินเรืออีก 2 ตัว ติดตั้งระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ Mirage NRJ-5 ติดตั้งระบบเป้าลวงไม่ทราบรุ่น เทียบกับเรดาร์ตรวจการณ์ Thales Variant บนเรือหลวงตรัง มีระยะทำการแค่เพียง 70 กิโลเมตร โอกาสที่ใครจะตรวจเจอใครก่อนคงพอเดาได้ นี่ว่ากันตามตัวเลขในโบรชัวร์นะครับ ใช้งานจริงระยะตรวจจับจะลดลงตามขนาดเป้าหมาย

                ผู้อ่านคงเห็นได้อย่างชัดเจน ว่าเรือฟริเกตพม่าติดตั้งอาวุธน้อยใหญ่จนล้นลำ ระบบลิงค์ระหว่างเรือพม่าก็มีนะครับ เพียงแต่ผู้เขียนไม่ทราบว่ารุ่นไหนและใหม่หรือเก่า ข่าวล่าสุดพม่าได้จัดหาโซนาร์หัวเรือ BEL HMS-X และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำจากอินเดีย เพื่อนำมาติดตั้งบนเรือฟริเกต F-12 และ F-14 นั่นเอง (พื้นที่บริเวณหลังปืนกล AK-630 ท้ายเรือพอได้อยู่) ซึ่งจะทำให้เรือของเขากินน้ำลึกมากขึ้น ผู้การเรือต้องแสดงฝีมือมากขึ้นตามกัน "F12 UMS Kyansitthar และ F14 UMS Sinphyushin เป็นเรือฟริเกตแม่น้ำที่ดีที่สุดในโลก" ผู้เขียนใช้คำพูดนี้ก็คงไม่ผิดนัก เพราะไม่มีคู่แข่งเข้ามาเปรียบเทียบซักราย
นอกจากเรือ shallow draught แล้ว ยังมีเรือแปลก ๆ แบบอื่นอีกบ้างไหม
            มีสิครับมีเยอะด้วย จะให้อธิบายความจนครบถ้วนก็คงไม่ไหว ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเฉพาะ "เรือท้องป้าน" ก็แล้วกัน เรือชนิดนี้มีลักษณะพิเศษคือหัวเรือและท้ายเรือกินน้ำลึกต่างกันมาก (เหมือนมุมป้านนั่นเอง) ถึงตอนนี้เริ่มงงกันแล้วสินะ J ผู้เขียนอ่านเจอครั้งแรกก็มึนตึบไปสามชั่วโมง เราไปชมภาพเรือท้องป้านเทียบกับเรือชนิดอื่นกันเลยดีกว่า

เรือลำบนสุดคือเรือฟริเกต F14 UMS Sinphyushin ซึ่งเป็นเรือกินน้ำตื้นกว่าปรกติ เรือลำกลางคือเรือหลวงตรังลำใหม่ของเรา ซึ่งเป็นเรือธรรมดากินน้ำลึกตามปรกติ และเรือลำล่างสุดก็คือเรือท้องป้านชื่อเรือหลวงพระทอง เป็นเรือยกพลขึ้นบกหรือ LST (Tank Landing Ship ) ซึ่งอเมริกาโอนให้เราจำนวน 5 ลำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ระวางขับน้ำสุงสุด 4,080 ตัน ยาว 100 เมตร กว้าง 15 เมตร หัวเรือกินน้ำลึก 0.71 เมตร ท้ายเรือกินน้ำลึก 2.29 เมตร เรือ LST ถูกออกแบบให้บรรทุกรถถัง ยานเกราะ สัมภาระ และทหารได้เป็นจำนวนมาก สามารถแล่นเกยชายหาดเปิดประตูหัวเรือบริการรับ-ส่งชนิดเท้าไม่เปียกน้ำ จึงมีการออกแบบให้หัวและท้ายเรือกินน้ำลึกต่างกัน ผู้เขียนไมได้วาดผิดสเกลนะเออโปรดเข้าใจ
                ข้อดีของเรือท้องป้านนั่นคือเกยชายหาดได้ แต่ข้อเสียนั่นคือไม่ทนทะเลซักเท่าไหร่ (แม้จะมีระวางขับน้ำเยอะก็ตาม) รวมทั้งบังคับเรือได้ยากกว่าเรือทั่วไป ยามออกรบจริงหรือฝึกซ้อมชุดใหญ่ไฟกระพริบ ทหารบกที่พลัดหลงมายังเรือยกพลขึ้นบก ต่างได้เคยผลิตโจ๊กกองปราบกันมาแล้วทั้งกองพัน ปัจจุบันความนิยมของเรือท้องป้านลดลงมาก ทุกประเทศหันไปสนใจเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกหรือ LPD (Landind Platform Dock) ซึ่งมีอู่ลอยอยู่ท้ายเรือกันหมด
คุยกันส่งท้าย
            กำลังเขียนถึงเรือหลวงกระบี่อยู่แท้เชียว ไฉนมาโผล่บนเรือหลวงพระทองได้หนอ บทความนี้จำต้องขออำลาเป็นการชั่วคราว เนื่องจากยาวจนตรวจทานคำผิดไม่ไหว ตอนต่อไปผู้เขียนจะรีบปั่นให้เร็วที่สุด โดยจะเป็นเรื่องคุณสมบัติเรือหลวงกระบี่ ข้อดีข้อเสียแตกต่างจากเรือหลวงปัตตานี การปรับปรุงให้เป็นเรือรบทำได้ขนาดไหน เรือคอร์เวตยุคใหม่ที่แนวความคิดเปลี่ยนไป และทำไมเรือหลวงกระบี่ถึงไม่เหมาะสมกับภารกิจปราบเรือดำน้ำ ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)

เรือหลวงสุรินทร์ LST722 คือเรือท้องป้านลำใหญ่ที่สุดของราชนาวีไทยในปัจจุบัน เข้าประจำการมาแล้ว 28 ปีก็ยังใช้งานได้ตามปรกติ เป็นเรือช่วยรบลำใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นเองภายในประเทศ
        ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
 ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------