วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

Taiwan Navy: The Future Program

อย่างที่พวกเราทราบกันดีว่า ภัยคุกคามของประเทศไต้หวันก็คือประเทศจีน ซึ่งอยู่ห่างไกลแค่ทะเลขวางกั้น 160 กิโลเมตร จีนประกาศปาวๆ ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ส่วนไต้หวันก็บอกชาวโลกว่าตัวเองเป็นตัวของตัวเอง ถ้าความขัดแย้งเริ่มรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้กำลัง ผู้อ่านคิดว่ารูปแบบสงครามจะเป็นแบบไหน?
ประมาณว่าจีนยกกองทัพมาทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และเหล่านาวิกโยธิน ภายใต้การคุ้มกันจากเครื่องบินรบเต็มท้องฟ้า มีการส่งพลร่มไปยึดพื้นที่บางส่วนไว้ก่อน เหมือนการยกพลขึ้นบกในสงครามโลกครั้งที่สอง คำตอบก็คือไม่ใช่ครับทำแบบนั้นคงได้สูญเสียมหาศาล ไต้หวันมีจรวดต่อสู้เรือรบกับจรวดต่อสู้อากาศยานไว้รอต้อนรับ เรือรบรบเอย เรือช่วยรบเอย เครื่องบินขับไล่เอย หรือเครื่องบินลำเลียงเอย ทะเล่อทะล่าบุกเข้าไปอาจโดนทำลายถึงครึ่งต่อครึ่ง
แล้วถ้าระดมยิงลูกยาวเข้ามาก่อนล่ะ ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างให้พังพินาศ เหมือนที่อเมริกาและยุโรปเคยทำกับซีเรีย อันที่จริงใช้แผนนี้ก็ได้เหมือนกัน ปัญหามีอยู่สองประการ หนึ่งคุณทำลายเป้าหมายได้เพียงบางส่วน แต่คนไต้หวันทั้งเกาะจะลุกขึ้นมาสู้ สองโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่จีนกับไต้หวัน แผนนี้ต้องใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ รับรองประเทศอื่นเข้ามาแทรกแซงได้ทัน
เพราะฉะนั้นจีนต้องจัดการปัญหาใหญ่ ด้วยการส่งเครื่องบินและหรือเรือรบ ไปทำลายอะไรก็ตามที่สามารถยิงใส่ตนเองได้ เมื่อสามารถครองอากาศและครองน่านน้ำได้แล้ว ค่อยส่งกำลังทหารเข้ามายกพลขึ้นเกาะไต้หวัน เพื่อทำการรบขั้นแตกหักและครอบครองพื้นที่ จีนต้องบุกยึดไต้หวันให้เร็วที่สุดของที่สุดของแจ้ ก่อนที่อเมริกา ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ จะทันเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งออสเตรเลียซึ่งเคยมีสัญญาใจกันอยู่ว่า ถ้าไต้หวันโดนจีนโจมตีพวกเขาจะส่งทหารมาร่วมรบด้วย
ในเมื่อจีนมีแผนการรบที่คาดเดาไม่ยาก การตั้งรับของไต้หวันยิ่งคาดเดาได้ง่ายกว่า ถ้าเป็นฟุตบอลคงเรียกว่าแผน 5-4-1 นั่นคือพยายามตั้งรับให้ลึกที่สุด ถ่วงเวลาให้นานที่สุด รักษาอาวุธสำคัญไว้ให้มากที่สุด ถ้าจีนทำไม่สำเร็จสถานการณ์อาจพลิกผัน และอาวุธที่จะช่วยไต้หวันในการตั้งรับโซนลึก ก็คือจรวดต่อสู้เรือรบกับจรวดต่อสู้อากาศยานนั่นเอง
ในภาพคือพิฆาตชั้น Gearing ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน SM-1 เรียบร้อยแล้ว ไต้หวันนำเรือบางลำมาจอดในพื้นที่เขตชุมชน ด้วยเหตุผลหลัก 3 ประการด้วยกัน หนึ่งเพื่อประชาสัมพันธ์การใช้งบประมาณ เงินก้อนโตจากภาษีได้อะไรกลับคืนมาบ้าง สองเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ถ้าจีนบุกเข้ามาจริงๆ กองทัพเรือจะยืนอยู่เคียงข้าง สุดท้ายคือใช้เป็นฐานยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน ติดตั้งอยู่ในจุดที่ศัตรูไม่อาจคาดเดา และพร้อมจะเคลื่อนที่ไปไหนก็ได้ตลอดเวลา
เมื่อพิฆาตชั้น Gearing ทุกลำปลดประจำการ ไต้หวันส่งเรือฟริเกตชั้น Knox ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน SM-1 มาทำหน้าที่แทน การจอดเรือมีจุดหลักๆ ที่กำหนดไว้ก่อนหน้า โดยต้องเป็นจุดที่มีร่องน้ำลึกมากเพียงพอ แต่ไม่กำหนดตายตัวว่าจอดวันไหนหรือจุดไหน ใช้วิธีหมุนเวียนเพื่อป้องกันตนเองระดับหนึ่ง ผู้เขียนอาจนึกสงสัยว่าไม่กลัวจีนล้วงข้อมูลบ้างหรือ คำตอบก็คือเรือทั้งสองรุ่นเก่าจนไม่มีอะไรให้ล้วง อยากถ่ายภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวเชิญตามสะดวก
ประเทศไทยมีมุกจีบสาวมุกหนึ่งว่า น้องสาวจ๋าให้พี่ไปส่งไหมจ๊ะ กลับบ้านคนเดียวระวังโจรมุมตึกนะ!’
ไต้หวันก็มีมุกจีบสาวเช่นกันว่า น้องสาวจ๋าให้พี่ไปส่งไหมจ๊ะ กลับบ้านคนเดียวระวังเรือพิฆาตมุมตึกนะ!’
หลังจากปล่อยมุกไม่ฮาพาเพื่อนเซ็งกันไปหนึ่งดอก ขอพาเข้าสู่เนื้อหาของบทความต่อกันไปเลย ผู้เขียนได้เคยเขียนถึงกองทัพเรือไต้หวันมาแล้ว 2 บทความ ลองอ่านทบทวนกันดูสักนิดตามนี้เลยครับ

จรวดต่อสู้เรือรบนับว่าเป็นอาวุธสำคัญ ใช้ในการหยุดยั้งเรือรบจากจีนจำนวนมหาศาล ไต้หวันเริ่มประจำการจรวด Hsing Feng I ตั้งแต่ช่วงปี 1978 (ภาพบนสุด) โดยซื้อลิขสิทธิ์จรวดต่อสู้เรือรบ Gabriel Mk I ของอิสราเอลมาปรับปรุงเพิ่มเติม ระยะยิงไกลสุด 40 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 0.65 มัค นำวิถีด้วยเรดาร์ควบคุมการยิงจากเรือ ท่อยิงขนาดกะทัดรัดติดกับเรือได้ทุกขนาด ปัจจุบันจรวดรุ่นนี้ปลดประจำการหมดแล้ว อาจไม่ทันสมัยที่สุดแต่ผ่านการรบมาอย่างโชกโชน
ภาพกลางคือจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II ไต้หวันพัฒนาขึ้นมาโดยความช่วยเหลือจากอเมริกา เทียบได้กับแฝดต่างฝาของจรวด Harpoon มีบูทเตอร์ท้ายจรวดซึ่งจะสลัดทิ้งหลังบินขึ้นฟ้า ระยะยิงไกลสุดมากถึง 160 กิโลเมตร มีเรดาร์ค้นหาเป้าหมายอยู่ในหัวรบ ส่วนที่เห็นเหมือนไฟฉายส่องกบใกล้หัวจรวด คือระบบค้นหาเป้าหมายด้วยอินฟาเรดหรือคลื่นความร้อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาจากจรวดต้นฉบับ โดยมีรุ่นยิงจากบนฝั่งเข้ามาเสริมทัพอีกหนึ่งด่าน
ส่วนภาพล่างสุดคือจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng III ความเร็วระหว่างเดินทาง 2-4 มัค (ใช้เครื่องยนต์เล็ก 2 ตัว) ส่วนความเร็วเข้าโจมตีไต้หวันโม้ว่ามากกว่านั้น (ใช้เครื่องยนต์หลัก) ระยะยิงไกลสุดมากถึง 400 กิโลเมตร นี่คือไม้ตายใช้จัดการกองเรือจีนให้พังพินาศ จรวดผ่านการยิงจริงมาแล้วแต่ไม่ได้นับแต้ม เพราะยิงใส่เรือหาปลาและที่สำคัญเรือไม่จม! เป็นการพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าแม่นยำจริง ขนาดเรือตังเกลำเล็กลำน้อยพี่แกก็ยังวิ่งใส่
ชมภาพถ่ายระยะเผาขนบนเรือฟริเกตชั้น Perry ของไต้หวัน ท่อยิงจรวด Hsing Feng III ใหญ่กว่าจรวด Hsing Feng II อย่างเห็นได้ชัด เพราะตัวจรวดมีรูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่สามารถติดตั้งแทนกันแบบลำบากเล็กน้อย เรือตรวจการณ์ขนาด 580 ตันก็ติดจรวด Hsing Feng III ได้ ถ้าจีนจะยกกำลังเข้ามาบุกอย่างที่ข่มขู่ทุกเช้าเย็น พวกเขาต้องจัดการเรือทุกลำที่ติดจรวดให้หมดเสียก่อน มิฉะนั้นอาจกลายเป็นหอกข้างแคร่ในภายหลังได้
ผู้อ่านรู้จักอาวุธเด็ดชนิดแรกกันไปแล้ว ขอพามายังอาวุธเด็ดชนิดที่สองกันต่อเลย Sea Chaparral คือจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นแรกของราชนาวีไต้หวัน เข้าประจำการพร้อมๆ กับจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng I และจนถึงทุกวันนี้ยังคงใช้งานจรวดรุ่นนี้อยู่ ถือเป็นสัญลักษณ์กองทัพเรือไต้หวันก็ว่าได้ แต่เนื่องจากจรวดค่อนข้างล้าสมัย ยิงได้ระยะสั้นๆ ระบบนำวิถีสุดแสนโบราณ กองทัพเรือจึงมีแผนนำจรวดรุ่นใหม่มาทดแทน เริ่มต้นจากเรือฟริเกตชั้น Lafayette จำนวน 6 ลำ
แผนแรกสุดพวกเขาอยากได้จรวด Aster เพราะเป็นเรือฝรั่งเศสและใช้ระบบฝรั่งเศสทั้งลำ โชคร้ายฝรั่งเศสไม่กล้าขายเพราะเกรงใจจีน ไม่เหมือนสมัยอยากขายเรือที่มีการทุจริตกันอย่างโจ๋งครึ่ม ไต้หวันก็เลยจำเป็นต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเอง โดยการติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน Tien Chien II หรือ TC-2N หรือ Sea Sword ทดแทนมันเสียเลย
Tien Chien II คือแฝดน้องจรวดอากาศ-สู่-อากาศ Sky Sword II ของกองทัพอากาศ มีระยะยิงไกลสุด 100 กิโลเมตร ทดสอบยิงจริงสำเร็จเรียบร้อยเมื่อต้นปีนี้ สื่อมวลชนไต้หวันพร้อมใจกันพาดหัวข่าวว่า ที่คือจรวดที่เกิดมาเพื่อฆ่า Su-35 ของจีนโดยเฉพาะ โดยไม่ได้พูดถึง J-10 หรือ J-20 แม้แต่ประโยคเดียว คล้ายเป็นการแซะว่าจีนก็ซื้ออาวุธเหมือนกันแหละว้า
Tien Chien II ติดบูทเตอร์เพิ่มเข้ามาที่ท้ายจรวด ใช้ท่อยิงแฝดสี่ขนาดเล็กตั้งทำมุม 60 องศา แล้วสร้างกล่องขึ้นมาสวมทับลดการสะท้อนคลื่นเรดาร์ เรือฟริเกตชั้น Lafayette ติดจรวด Tien Chien II ได้ถึง 16 นัด ส่วนหัวของจรวดมีเรดาร์ค้นหาเป้าหมาย แต่เรือจะต้องติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติทันสมัย ใช้กำหนดเป้าหมายและส่งข้อมูลระหว่างจรวดเดินทาง อีกไม่นานทุกคนได้เห็น Tien Chien II บนเรือชั้น Lafayette อย่างแน่นอน
เมื่อการปรับปรุงเรือเสร็จเรียบร้อยตอนไหน ไต้หวันจะมีฐานยิงจรวดต่อสู้อากาศยานเพิ่มขึ้นอีก 6 ฐาน และที่สำคัญเคลื่อนที่ในน้ำไปไหนก็ได้ พวกเขาตั้งใจติดตั้งจรวดรุ่นใหม่บนเรือน้อยใหญ่ เพื่อจัดการเครื่องบินรบผู้รุกรานให้มากที่สุด นับได้คร่าวๆ จำนวนเรือ 4 แบบเข้าไปแล้ว เป็นสิ่งที่น่าติดตามว่าจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน

มีข้อมูลน่าสนใจจากรายงานกองทัพเรืออเมริกา จรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Chaparral ใช้แท่นยิงแฝดสี่ควบคุมด้วยพลยิงหรือรีโมท ใช้จรวดต่อสู้อากาศยาน AIM-9 Siidewinder มีเรดาร์ในการติดตามรวมทั้งเลือกเป้าหมาย ใช้ระบบนำวิถีอินฟาเรดจากหัวจรวด ระยะยิงไกลสุดถึง 11 ไมล์หรือ 17.7 กิโลเมตร ระยะยิงสูงสุด 914 เมตร ส่วนจรวด RAM ขวัญใจมิตรรักแฟนเพลงชาวไทยนั้น มีระยะยิง 2 ไมล์หรือ 3.2 กิโลเมตร และยิงได้สูงสุดประมาณ 3 ถึง 100 เมตรหรือมากกว่า
ตัวเลขประหลาดกว่าข้อมูลจากในวิกิ ตัวเลขพวกนี้อาจสื่อกับเราทางอ้อมว่า ข้อมูลที่แท้จริงบางอย่างเราคงไม่อาจทราบได้ ไต้หวันใช้จรวด Tien Chien-1 กับ Sea Chaparral หรือเรียกว่าจรวด Siidewinder เวอร์ชัน F4 ก็คงไม่ผิด
มาที่โครงการเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกหรือ LPD ที่ตอนนี้ทุกชาติกำลังเสียเงินซื้อกันอย่างสนุกมือ ไต้หวันมีแผนสร้างเรือขนาด 10,000 ตันขึ้นมาเอง ยาว 155 เมตร กว้าง 23 เมตร กินน้ำลึก 6 เมตร หน้าตาเหมือนเรือชั้น San Antonio ของอเมริกาโดนไฟฉายย่อส่วน ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.1 กระบอก Phalanx CIWS 2 ระบบ ปืนกลอัตโนมัติ XTR-101 RWS 2 กระบอก และจรวดต่อสู้อากาศยาน Tien Chien II อีก 16 นัด เสากระโดงหน้าติดตั้งเรดาร์ 3 มิติทันสมัย
บรรทุกยานเกราะ AAV-7 ได้จำนวน 9 ลำ พร้อมนาวิกโยธินอีกจำนวน 250 นาย จะมีการจัดหายานเกราะสะเทินน้ำสะเทินบกเพิ่มเติม นาวิกโยธินของไต้หวันคล้ายคลึงกับลูกคนสวน คือมีอาวุธและเรือที่ไม่ทันสมัยเหมือนกับทัพอื่น บางอย่างเก่ามากส่วนบางอย่างเก่ามากที่สุด ไต้หวันไม่สามารถยกพลขึ้นบกที่จีนได้แน่นอน แต่จำเป็นต้องมีนาวิกโยธินและต้องเก่งกาจพอตัว เรือลำใหม่จะทำให้พวกเขาแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม รวมทั้งใช้เป็นฐานยิงจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่แบบที่ 2
ภาพนี้เป็นอาวุธที่ไต้หวันพัฒนาขึ้นมาเอง (อีกแล้ว) ซ้ายมือคือ XTR-102 Remote Weapon System ติดปืนกล T-75 ขนาด 20 มม.ลำกล้องแฝด ใช้งานบนรถเกราะหรือยานลำเลียงพล ผู้เขียนไม่เห็นระบบควบคุมการยิง ส่วนขวามือคือ XTR-101 Remote Weapon System ติดปืนกล T-75 ขนาด 20 มม.ลำกล้องเดี่ยว พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้งานบนเรือรบ ติดระบบควบคุมการยิงฝั่งซ้ายมือ มีกระสุน 2 กล่องขนาบซ้าย-ขวา สามารถยิงกระสุนเจาะเกราะหรือแตกอากาศสลับกันได้
การยิงปืนบนเรือยุ่งยากวุ่นวายกว่าบนฝั่ง เพราะเรืออยู่ในน้ำโคลงไปโคลงมาตลอดเวลา ป้อมปืนจึงต้องมีระบบต่างๆ เข้ามาช่วยเสริม เพื่อให้ความน่าจะเป็นในการยิงถูกเป้าหมายสูงขึ้น แต่ก็อย่างที่พวกเรารู้กันดีอยู่ว่า กระสุนปืนส่วนใหญ่เป็นอาวุธไม่นำวิถี ต่อให้มีเรดาร์ควบคุมการยิงทันสมัยสักแค่ไหน แต่การยิงปืนทุกนัดต้องอาศัยโชคช่วยอีกครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะการยิงเครื่องบินหรือจรวดซึ่งมีความเร็วสูง โอกาสยิงโดนย่อมน้อยกว่าเรือรบหรือประภาคาร

นี่คือแผนภาพการสร้างเรือของไต้หวันในรอบ 40 ปี เริ่มจากการสร้างเรือลำเลียงพลขนาดใหญ่ในปี 1975 ต่อด้วยเรือเร็วโจมตีขนาดเล็กชั้น Dvora ใช้แบบเรืออิสราเอล และเรือเร็วโจมตีขนาดใหญ่ชั้น PSMM Mk5 ใช้แบบเรืออเมริกา (ฝาแฝดเรือตรวจการณ์ชั้นเรือหลวงสัตหีบของเราเอง) ตามด้วยเรือส่งกำลังบำรุงขนาดใหญ่ และเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีชั้น Perry ซึ่งเป็นโครงการใหญ่โต ต่อมาไต้หวันเริ่มพัฒนาแบบเรือได้เอง โดยลำล่าสุดก็คือเรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang ขนาด 600 ตัน
ทำงานใหญ่ต้องวางแผนล่วงหน้านับสิบปี จนกว่าแผนจะสำเร็จหรือบางครั้งก็ไม่สำเร็จ แต่คุณจะเอาเงินซื้อเรือแล้วขอถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยที่หลังบ้านไม่จัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยไม่ได้ หลังจากล้มลุกคลุกคลานอยู่กับโครงการเรือชั้นเพอร์รี่ พวกเขาสั่งสมประสบการณ์ด้วยเรือตรวจการณ์และเรือคอร์เวต นาทีนี้ไต้หวันพร้อมสร้างเรือฟริเกตออกแบบเองแล้ว
พิจารณาเรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang เจ้าของฉายา ‘Carrier Killer’ กันอย่างละเอียด จะเห็นได้ว่าหัวเรือสูงกว่าท้ายเรือหนึ่งชั้น หัวเรือเรียบตรงไม่มีอะไรอยู่หน้าปืนหลัก โซ่สมอเรือเอย เสาผูกเชือกเอย ช่องระบายอากาศเอย ถูกย้ายลงมาอยู่ด้านล่างดาดฟ้าเรือ ภาพเล็กขวามือจะเห็นช่องเล็กๆ ใช้ผูกเชือกเรือ และช่องขนาดใหญ่ให้ลูกเรือสื่อสารกับคนนอก นี่คือเรือลดการตรวจจับด้วยเรดาร์แบบ Full Stealth ที่แท้จริง ซึ่งไต้หวันได้รับถ่ายโอนเทคโนโลยีมาจากฝรั่งเศส
ไต้หวันจะสร้างเรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang อีกจำนวน 11 ลำ แบ่งออกเป็น 3 เฟสคือ 3+3+4=11 โดยจะมีรุ่นป้องกันภัยทางอากาศเพิ่มเข้ามา ระวางขับน้ำมากขึ้นเป็น 700 ตัน ตัวเรือยาวกว่าเดิมเล็กน้อย ตัดระบบปราบเรือดำน้ำออกไป ใช้เรดาร์ 3 มิติแบบ Phased-Array ทำงานร่วมกับจรวดต่อสู้อากาศยาน Tien Chien II นี่คือฐานยิงจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่แบบที่ 3 ผู้เขียนไม่ค่อยเห็นด้วยแต่เข้าใจเรื่องความจำเป็น อนาคตที่ไม่ใกล้ไม่ไกลเราคงได้เห็นเรือลำจริง
อีกไม่นานเรือลำนี้จะถอด Phalanx รุ่นเก่าออก เพื่อติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Sea Oryx (ภาพเล็กซ้ายมือ) ที่ตอนนี้ไต้หวันกำลังเร่งพัฒนาอยู่ โดยนำจรวด Tien Chien-1 มาปรับปรุงใหม่ ระยะยิงไกลสุด 9 กิโลเมตร ระยะยิงสูงสุด 3 กิโลเมตร นำวิถีอินฟาเรดและมีระบบดาต้าลิงก์ ใช้ระบบ Lock-on after-launch สุดทันสมัย แท่นยิงในภาพบรรจุจรวดได้ถึง 16 นัด มีระบบควบคุมการยิงติดตั้งถาวร ถ้าเทียบกับจรวด FL-3000N ผู้อ่านชอบของจีนหรือไต้หวันมากกว่ากัน?
มีอยู่เรื่องหนึ่งผู้เขียนลืมบอกไป ไต้หวันวางแผนสร้างเรือคอร์เวตจำนวน 3 แบบ เรือชั้น Tuo Chiang เป็นแบบแรกสุดและมีขนาดเล็กสุด รุ่นป้องกันภัยทางอากาศเป็นแบบที่ 2 หรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่เดี๋ยวจะมีอีกหนึ่งแบบตามมาในบทความ
บังเอิญไต้หวันไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ พวกเขากำลังพัฒนา Sea Oryx รุ่น CIWS ที่แท้จริง โดยลดจำนวนจรวดเหลือ 12 นัด แล้วใส่เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติเพิ่มเข้ามา สามารถติดตาม ค้นหา และระบุเป้าหมายได้ด้วยตัวเอง อาวุธชิ้นนี้ผู้เขียนให้ความสนใจเป็นพิเศษ รอดูกันต่อไปในอนาคตว่า แรมวอชิงตัน แรมปักกิ่ง และ แรมไทเป แรมตัวไหนจะคุ้มราคามากกว่ากัน
เรือลำถัดไปมีขนาดเล็กเพียง 500 ตัน แต่มีความสำคัญมากในการป้องกันเรือรบจีน เพราะเป็นเรือวางทุ่นระเบิดความเร็วสูงรุ่นใหม่ ไต้หวันสั่งเฟสแรกจำนวน 4 ลำอยู่ระหว่างสร้าง ข้อมูลของเรือลำนี้ยังมีแค่เพียงเล็กน้อย จากโมเดลเรือสามารถบรรทุกทุ่นระเบิดได้ 2 ชั้น ติดเครนยกทุ่นระเบิดที่กราบซ้ายท้ายเรือ มีปืนกลขนาดไม่เกิน 20 มม.ไว้ป้องกันตัว พวกเขากำลังพัฒนาระบบควบคุมเรือระยะไกล สำหรับภารกิจเสี่ยงตายในช่วงเวลาสุดคับขัน
ความเร็วเป็นเรื่องของปีศาจหายใจอยู่ดีๆ เส้นทางเดินเรือถูกปิดตาย ต่อให้เป็นกองเรือที่ 7 ของอเมริกาก็ฝ่าไม่ไหว ต้องเสียเวลาค่อนข้างนานในการกำจัดทุ่นระเบิด หรือใช้เส้นทางที่อ้อมกว่าแต่อันตรายน้อยกว่า การใช้เครื่องบินวางทุ่นระเบิดเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ถ้าใช้เรือเล็กลอบเข้ามาทำภารกิจกลางดึก การตรวจจับจะทำได้ยากกว่าและอันตรายน้อยกว่า
นอกจากไต้หวันสร้างเรือเพื่อใช้งานเองแล้ว พวกเขายังเริ่มส่งออกเรือขายต่างประเทศอีกด้วย มีการนำโมเดลเรือจำนวนหนึ่งมาจัดแสดง ผู้เขียนขอเลือกเฉพาะรุ่นที่น่าสนใจมาสัก 3 ลำ ลำแรกเป็นเรือเร็วโจมตีขนาดเล็กแบบท้องแฝด ติดปืนกลลำกล้องแฝดคล้าย XTR-102 แต่ใช้ลำกล้องปืนขนาด 12.7 มม.ติดจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng II ได้ถึง 4 นัด ท้ายเรือมีที่ว่างตั้งตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module พูดง่ายๆ ว่านี่คือเรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang สมัยเด็กน้อย
ลำถัดไปเป็นเรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang รุ่นบวมน้ำมันก๊าด ใหญ่โตกว่าเดิมทำให้ออกนอกชายฝั่งได้ไกลกว่าเดิม มีเรดาร์ 3 มิติอยู่ในเสากระโดงหลัก มีปล่องระบายความร้อนโผล่ขึ้นมาแล้ว ลานจอดท้ายเรือรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 5 ตัน เพราะฉะนั้นยาวกว่าเรือต้นฉบับอย่างแน่นอน ผู้อ่านอาจตั้งคำถามในใจขึ้นมาว่า นี่คือเรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang รุ่นป้องกันภัยทางอากาศหรือเปล่า? ผู้เขียนเห็นท่อยิงตอร์ปิโดเบาอยู่ด้วยจึงคิดว่าไม่น่าใช่
ส่วนลำนี้ใช้ชื่อว่า Light Frigate ระวางขับน้ำ 1,500 ตัน ยาวประมาณ 110 เมตร กว้าง 17 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร เทียบกับเรือฟริเกตลำใหม่ของเรา ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,700 ตัน ยาว 124.1 เมตร กว้าง 14.4 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร ตัวเลขเรื่องระวางขับน้ำรู้สึกว่าน้อยเกินไป คงต้องรอให้มีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สามารถเพิ่มเติมเข้ามาได้ โดยการลดจุดติดตั้งจรวดกลางลำ ขยับปล่องระบายความร้อนมาด้านหน้า ก่อนสร้างโรงเก็บต่อกับลานจอดที่อยู่ท้ายเรือ
รูปร่างหน้าตาแปลกประหลาดพอตัว แล้วแบบนี้จะมีใครกล้าจ่ายเงินซื้อ? คำตอบก็คือมีแน่นอนครับ!
นี่คือภาพเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ล่าสุดของไต้หวัน รูปร่างหน้าตาเหมือน Light Frigate ทุกตารางนิ้ว หัวเรือติดปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติคล้ายกับ Thales SMART-S Mk2 ลูกศรสีแดงคือจรวดต่อสู้อากาศยาน Tien Chien II ลูกศรสีเหลืองคือจรวดต่อสู้เรือรบ Hsing Feng III ลูกศรสีฟ้าคือช่องปล่อยเรือเล็ก RHIB ลูกศรสีเขียวคือช่องยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ลูกศรสีชมพูคือ Sea Oryx 12 ท่อยิง และลูกศรสีส้มก็คือ XTR-101 RWS ขนาด 20 มม.
เรือลำนี้คือฐานยิงจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่แบบที่ 4 เรือลำนี้คือเรือคอร์เวตที่ดุดันที่สุดในสามโลก และเรือลำนี้ก็คือ Patrol Frigate ที่ไต้หวันตามมาแสนนาน ภารกิจหลักของเรือคือชนกับเรือคอร์เวตชั้น Type-056 ของจีน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและติดอาวุธน้อยกว่า แต่เส้นทางทำมาหากินทับกันโดยความตั้งใจ เรือคอร์เวตชั้น Tuo Chiang จะเป็นจ่าฝูงเรือเร็วโจมตีนำวิถี ส่วนเรือลำนี้จะเป็นจ่าฝูงเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่ง ฉะนั้นแล้วเรือ Type-056 ของจีนหนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น
ต่อไปเป็นโครงการ Future Frigate ซึ่งมีความสำคัญมากไม่แพ้โครงการอื่น ไต้หวันต้องการนำมาแทนเรือฟริเกตชั้น Knox ที่เริ่มชราภาพ และนี่ก็คือภาพวาดแรกสุดของเรือในโครงการนี้ น่าจะประมาณสัก 3 ปีที่ผ่านมา
การออกแบบมีความเป็นไต้หวันอย่างชัดเจน ใช้แท่นยิงแนวดิ่งหัวเรือ 16 ท่อยิง และกลางเรือ 16 ท่อยิง ติดจรวดต่อสู้เรือรบจำนวน 16 นัด หัวเรือติดปืนใหญ่ 76/62 มม. ท้ายเรือมี Sea Oryx 12 ท่อยิง กับปืนกลอัตโนมัติ XTR-101 RWS อีก 2 กระบอก ใช้เรดาร์แบบ Phased-Array 4 ตัวฝังติดเสากระโดง ลานจอดรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน มีท่อยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ระบบเป้าลวง SATCOM ช่องปล่อยเรือเล็ก RHIB รวมทั้งสะพานขึ้นเรือหรือ Gangway ระหว่างเสากระโดงรองเป็นปล่องระบายความร้อนแฝด มีเรดาร์ควบคุมการยิงสำหรับปืนหลัก หัวเรือออกแบบให้ลาดเอียงต่ำลงเล็กน้อย
ภาพต่อมาเป็นโมเดลเรือในปี 2017 ระวางขับน้ำ 4,500 ตัน ยาว 138 เมตร กว้าง 16.5 เมตร ใช้แท่นยิงแนวดิ่ง 32 ท่อยิงที่หัวเรือ จรวดต่อสู้เรือลดลงมาเหลือ 8 นัด ใช้ปล่องระบายความร้อนเดี่ยวขนาดใหญ่ กลับมาใช้งาน Phalanx CIWS กันอีกครั้ง หัวเรือสูงกว่าท้ายเรือใช้รูปทรงแบบ Full Stealth ท้ายเรือมีช่องปล่อยโซนาร์ลากท้ายขนาดใหญ่ ไม่มีจรวดปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC ข่าวว่าแบบนี้ ภัยคุกคามใต้น้ำสำคัญน้อยกว่าภัยคุกคามจากบนฟ้า
โครงการ Future Frigate หรือ New Generation Missile Guard Ship หรือ Shenzhen Project มีเรื่องราวน่าสนใจมากที่อยากนำเสนอ นอกจากไต้หวันออกแบบเรือเองแล้ว พวกเขายังได้พยายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
เรือลำนี้ใช้ระบบอำนวยการรบ Xunlian Project ไต้หวันพัฒนาเอง ใช้จรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Bow Three หรือ Tiangong-3 ระยะยิง 200 กิโลเมตรไต้หวันพัฒนาเอง ใช้ระบบเรดาร์ Shipborne Phase Array พัฒนาเองเช่นกัน เรียกกันสั้นๆ ว่าเรดาร์ ADAR-HP ระยะตรวจจับไกลสุดถึง 400 กิโลเมตร เท่ากับเรือใช้เรดาร์และอาวุธที่พัฒนาเองเกือบทั้งลำ ประสิทธิภาพเท่านั้นคือสิ่งที่ยังคาใจ ไต้หวันทดลองยิงจริงไปเมื่อปลายปี 2018 นั่นก็ใช่ แต่ยังไม่เคยออกสนามรบจริงกันเลยสักครั้ง
เพราะฉะนั้นกับโครงการที่สำคัญมากที่สุด พวกเขายังคงเลือกใช้อาวุธจากอเมริกาเหมือนเก่า โครงการที่ว่าก็คือ Future Aegis Destroyer ที่จะนำมาทดแทนเรือพิฆาตชั้น KIDD ในอนาคต ทั้งระบบอำนวยการรบ Aegis ก็ดี ระบบเรดาร์ SPY-1D ก็ดี หรือจรวดต่อสู้อากาศยาน SM-2 ก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่บนเรือพิฆาตลำใหม่อย่างแน่นอน
กาลครั้งหนึ่งยังไม่นานสักเท่าไหร่ ไต้หวันพยายามนำระบบ Mini Aegis มาติดบนเรือชั้น Perry ของตัวเอง ทว่าล้มเหลวไม่เป็นท่าด้วยเหตุผลมากมาย ไต้หวันยังเคยขอซื้อเรดาร์ SPY-1D กับระบบอำนวยการรบ Aegis เพื่อนำมาติดบนเรือพิฆาตชั้น KIDD ของตัวเอง แต่อเมริกาปฏิเสธด้วยเหตุผลมากมาย บอกแต่ว่าที่ยูได้ไปนั่นดีที่สุดสำหรับยูแล้ว
เวลาเดินทางเข้าสู่ปี 2002 ไต้หวันลองของอีกครั้งโดยสอบถามว่า อยากซื้อเรือพิฆาตชั้น Arleigh Burke จำนวน 4 ลำจะได้หรือไม่ คราวนี้อเมริกาตอบกลับมาว่าได้สิจ๊ะ คนกันเองแท้ๆ อยากได้ทำไมถึงไม่บอก อู่ต่อเรือพร้อมส่งมอบเรือใหม่ภายในปี 2010 ราคารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 4.8 พันล้านเหรียญเท่านั้นเอง ไต้หวันก็เลยโบกมืออำลาทางใครทางมัน
ทำไมไต้หวันถึงอยากมีอยากได้หนักหนา? โคนันแอบกระซิบข้างหูว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไป สมัยสงคราวอ่าวครั้งที่สองในปี 2003 อเมริกาใช้ระบบ Aegis บนเรือรบของตัวเอง ช่วยนำวิถีให้กับจรวด Patriot ซึ่งยิงมาจากบนฝั่ง เพื่อจัดการกับจรวดพื้น-สู่-พื้นที่ฝ่ายอิรักถล่มเข้าใส่ ผลก็คือประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไต้หวันอยากมีอยากได้
ในโลกนี้มีหลายประเทศกล่าวอ้างว่า เรดาร์ก็ดี ระบบอำนวยการรบก็ดี ไอ้โน่นไอ้นี่ก็ดี ช่วยนำวิถีจรวดต่อสู้อากาศยานซึ่งยิงมาจากที่อื่นได้ ในโลกนี้มีหลายประเทศกล่าวอ้างว่า อาวุธของตนเองสามารถจัดการจรวดต่อสู้เรือรบรุ่นใหม่ได้ แต่ในโลกนี้ยังมีแค่อเมริกาเพียงประเทศเดียว สามารถทำทั้งสองอย่างได้จริงในการรบจริงและเอาตัวรอดได้จริง ส่วนที่เหลือยังเป็นแค่ราคาคุยหรือเทพเจ้ายูทูป ไต้หวันซึ่งอดีตเคยเจ็บมาเยอะจึงไม่คิดชายตาแล
ชมคลิปวิดีโอเรือพิฆาตระบบ Aegis ของไต้หวันกันสักนิด ลำนี้ใหม่ล่าสุดแล้วแต่ยังไม่ใช่ของจริงแน่นอน ย้ำอีกครั้งว่าควรรับชมเพื่อความสำราญใจ อย่าไปคิดอะไรมากมายถือว่าเป็นเกมกดก็แล้วกัน

รูปร่างโดยรวมคล้ายคลึงเรือพิฆาตญี่ปุ่น มีแท่นยิงแนวดิ่ง MK-41 จำนวน 32 ท่อยิง ติดเรดาร์ SPY-1D ทั้ง 4 ตัวเหนือสะพานเดินเรือ ใช้ปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วและระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของอเมริกา กลางเรือมีที่ว่างให้ลูกเรือเตะตะกร้อลอดห่วง ถัดไปเป็นแท่นยิงจรวดต่อสู้เรือรบจำนวน 16 นัด บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์มีจรวด Sea Oryx รุ่น 16 ท่อยิง และมีเรดาร์ DAR-HP (หรือเปล่า?) แปะอยู่อีก 2-4 ตัว เรือมีขนาด 6,000-8,000 ตัน ไม่มีข้อมูลเรื่องความกว้างความยาวแต่อย่างใด
ลานจอดเฮลิคอปเตอร์เหมือนเรือญี่ปุ่นทุกประการ ท้ายเรือซึ่งลาดเอียงต่ำลงใช้เป็นจุดผูกเชือกเรือ จากอุปกรณ์ที่เห็นผู้เขียนคาดเดาเอาเองว่า เรือไต้หวันติดตั้งระบบช่วยจอดเฮลิคอปเตอร์หรือ Ship Landing Assist System หรือ SLAS ของมิตซูบิชิ ระบบจะปรับความเอียงของเรือเข้ากับอากาศยานโดยอัตโนมัติ ในกรณีนักบินสลบหรือไม่สามารถควบคุมเครื่องได้ ก็ยังสามารถใช้ Auto Pilot ลงจอดบนเรือที่ติด SLAS ได้ โดยใช้ระบบ Differential GPS กับเลเซอร์เป็นตัวช่วยเหลือจัดการ
นี่คือแบบเรือจากปี 2017 นะครับ ค่อนข้างประหลาดเพราะยาวเกินเหตุ ไม่มีปล่องระบายความร้อน และไม่รู้จะมีสนามตะกร้อไปเพื่ออะไร แต่ก็พอคาดเดากันเอาเองได้อีกว่า ไต้หวันใช้เทคโนโลยีจำนวนมากจากประเทศญี่ปุ่น ท้ายคลิปวีดีโอจะเห็น UAV ขนาดใหญ่บินกลับฐาน ของจริงเริ่มเข้าประจำการแล้วนะครับ เหลือพี่ไทยนี่แหละเมื่อไหร่จะมีกับเขาเสียที
สุดท้ายเรามาชมภาพหลุดโดยตั้งใจ จากคลิปวีดีโอการประชุมกองทัพเรือไต้หวัน ผู้อ่านจะเห็นเรือ LPD ลำใหม่ เรือคอร์เวตลำใหม่ เรือฟริเกตลำใหม่ เรือพิฆาตลำใหม่ รวมทั้งไอเทมลับอย่างเรือ LPD ดาดฟ้าเรียบขนาด 16,000 ตัน และเรือดำน้ำที่ใช้ท่อนหารูปทรงตัว X เมื่อมีโอกาสคงได้เขียนถึงไอเทมลับกันอีกครั้ง ส่วนวันนี้ขอลาไปก่อนสวัสดีครับ J
อ้างอิงจาก



วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

HTMS Phosamton


หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง อังกฤษได้ขายหรือส่งมอบเรือรบและเรือช่วยรบตัวเองจำนวนหนึ่ง ให้กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายจากจำนวนเรือที่มากเกินไป พม่าซึ่งในตอนนั้นอังกฤษยังคงมีอิทธิพลค่อนข้างสูง ได้จัดหาทั้งเรือรบและเรือช่วยรบเข้ามาใช้งานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นฟริเกตชั้น River จำนวน 1 ลำ หรือเรือกวาดทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ชั้น Algerine จำนวน 1 ลำ
เรือกวาดทุ่นระเบิดลำที่ว่าก็คือ UMS YAN MYO AUNG ซึ่งในอดีตเคยชื่อว่าเรือ J380 HMS Mariner เรือสร้างเสร็จในปี 1945 ที่เมืองโตรอนโตประเทศแคนาดาโน่นแหละครับ ก่อนเข้าประจำการกองทัพเรือพม่าในปี 1948 ทำหน้าที่ทั้งเรือกวาดทุ่นระเบิดและเรือตรวจการณ์ไปพร้อมกัน จนกระทั่งถึงปี 1982 พม่าจึงได้ปลดประจำการ



คุณสมบัติทั่วไปของเรือมีดังนี้
 ระวางขับน้ำปรกติ : 990 ตัน
ยาว: 69 เมตร
กว้าง: 10.82 เมตร
กินน้ำลึก: 2.59 เมตร
ระบบขับเคลื่อน : Geared turbines, 2 shafts หรือ Reciprocating engines, 2 shafts, 2,000 shp (1,500 kW)
ความเร็วสูงสุด: 16.5 นอต
ลูกเรือ: 85
ระยะปฏิบัติการณ์ไกลสุด: 5,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 10 นอต
เรดาร์ :Type 144 (ต่อมาได้ติดตั้งเรดาร์เดินเรือ Decca 202 เพิ่มเติม)
ปืนใหญ่ QF 102/45 มม.จำนวน 1 กระบอก
ปืนกล Bofors 40L60 จำนวน 3 กระบอก
แท่นปล่อยระเบิดลึกจำนวน 2 ระบบ
แท่นยิงระเบิดลึกจำนวน 4 ระบบ
อุปกรณ์ในการกวาดและทำลายทุ่นระเบิดที่ท้ายเรือ

ประเทศไทยก็มีเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Algerine จำนวน 1 ลำเช่นกัน เรือชื่อ J445 HMS Minstrel สร้างเสร็จในปี 1944 ก่อนขายต่อให้กับราชนาวีไทยในปี 1947 (อายุใช้งาน 3 ปีเท่ากัน) ทั้งนี้เพื่อมานำกวาดทุ่นระเบิดจำนวนมหาศาล ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรแอบเข้ามาทิ้งในอ่าวไทยระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นเราอยู่ฝ่ายญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการก็เลยซวยไป ส่วนอย่างไม่เป็นทางการก็อย่างที่รู้กันเรื่องเสรีไทย


ภาพถ่ายของเรือ  J445 HMS Minstrel ในปี 1946 กับเรือหลวงโพธิ์สามต้นในปี 1969 หาค่อนข้างยากมากนะครับ

เรือหลวงโพธิ์สามต้นรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเรือพม่าถึง 95 เปอร์เซ็นต์ จุดที่แตกต่างคือเรือเราติดเรดาร์ตรวจการณ์ Type 271 รวมทั้งติดปืนกล Bofors 40L60 เพียง 1 กระบอกที่ท้ายเรือ เนื่องจากสะพานเดินเรือมีระเบียงขนาดเล็กกว่ากันครึ่งหนึ่ง จำเป็นต้องติดปืนกลขนาด 20 มม.เข้ามาแทนที่ สมัยนั้นเรือมีจำนวนมากเพราะอยู่ในช่วงสงคราม รูปแบบเรือแต่ล่ะลำจึงมีความแตกต่างกันอยู่บ้างก็ว่ากันไป
ในปี 1953 มีการสวนสนามทางเรือในพิธี Coronation Review ของอังกฤษ  เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในพิธีพระบรมราชาภิเษกสมเด็จพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ส่งเรือหลวงโพสามต้นเข้าร่วมพิธี ทั้งนี้ได้ส่งนักเรียนนายเรือร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อฝึกภาคต่างประเทศไปพร้อมกัน โดยได้เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 1953 ร่วม ในพิธีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1953 และได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1953 นักเรียนนายเรือรุ่นนี้ เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือได้รับสมญาว่า รุ่น Coronation เรือของเราอยู่ในสี่เหลี่ยมสีแดงที่ทา่านจูดาสวาดไว้นั่นแหละครับ


เพราะเรือลำนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่โต ติดอาวุธครบครันและสามารถออกทะเลลึกได้ เมื่อราชนาวีไทยประสบปัญหาเรื่องการเมืองเข้าอย่างจัง จนไม่สามารถซื้อเรือใหม่เข้ามาทดแทนของเดิม เรือหลวงโพธิ์สามต้นจึงได้ถูกปรับปรุงครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนมาใช้งานเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่ ติดปืนใหญ่ขนาด 3 นิ้วเป็นอาวุธหลัก ถอดระบบกวาดทุ่นระเบิดท้ายเรือออกไปทั้งหมด ติดปืนกล 20 มม.เพิ่มเติมอีก 2 กระบอก แล้วสร้าง Superstrure ด้านท้ายเรือเพิ่มเติมเข้ามาด้วย เป็นพื้นที่สำหรับลูกเรือและแขกผู้มาเยี่ยมเยือน ก่อนโอนมาอยู่กองเรือฟริเกตเป็นการแก้ปัญหาขัดตาทัพ

มีการเปลี่ยนหมายเลขเรือเป็น FF415 ในเวลาต่อมา ทำหน้าที่เป็นเรือฟริเกตอยู่นานหลายปี จนกระทั่งมีการจัดหาเรือฟริเกตแท้ๆ เข้ามาเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง เรือหลวงโพธิ์สามต้นจึงถูกโอนกลับมาอยู่กองเรือกวาดทุ่นระเบิด ก่อนย้ายไปทำหน้าที่เรือฝึกทหารใหม่ในช่วงบั้นปลาย เรือปลดประจำการประมาณปี 2008-2011



ปัจจุบันเรือหลวงโพธิ์สามต้นจอดอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ในสภาพค่อนข้างทรุดโทรมจนผู้เขียนไม่กล้าลงภาพถ่าย เพราะผู้ที่ขอเรือไปไม่ได้นำงบประมาณมาซ่อมแซมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ นี่คือหนึ่งในกรณีศึกษาการมอบเรือรบให้กับเอกชนทั้งหลาย ซึ่งกองทัพเรือต้องระมัดระวังและตรวจสอบให้ละเอียดมากที่สุด
ผู้เขียนได้ข่าวมาว่า….กองทัพเรือได้อนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งให้ปรับปรุงเรือ เพื่อจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ลอยน้ำ พระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระนามแรกของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช งานนี้ต้องรอดูกันต่อไปล่ะครับว่า ท้ายที่สุดจะลงเอยแบบไหนกันแน่ บทความนี้สั้นๆ ห้วนๆ แค่นะครับ พอดีผู้เขียนไม่ค่อยสบายแต่นึกอยากเขียนก็เลยเขียน ;)

อ้างอิงจาก