วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

World War II : Japanese invasion of Thailand Part II

สงครามโลกครั้งที่สอง : วันญี่ปุ่นขึ้นบก ตอนที่ 2

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 2.00 น.กองทัพญี่ปุ่นเริ่มต้นบุกประเทศไทยพร้อม ๆ กับ มาเลเซีย  ฮ่องกง และฟิลิปปินส์ ช่วงเวลาเดียวกับที่คนกรุงเทพกำลังร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญกันอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางอากาศหนาวกำลังพอเหมาะและงานฉลองก็มีถึงรุ่งเช้า กองเรือขนาดใหญ่ญี่ปุ่นซึ่งเตรียมพร้อมอยู่กลางอ่าวไทย  ได้ทำการแยกกองเดินทางไปยังเป้าหมายจำนวน 7 เส้นทาง ประกอบไปด้วย ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และบางปู (สมุทรปราการ) ญี่ปุ่นยังได้เคลื่อนกำลังพลทางบกจากพระตะบอง เข้าสู่ชายแดนไทยด้านอรัญประเทศ ปฐมบทสงครามโลกครั้งที่สองในเมืองไทยเริ่มขึ้นแล้ว

บทความแรกผู้เขียนได้เขียนถึงมูลเหตุของสงคราม การเตรียมความพร้อมของทหารไทยและทหารญี่ปุ่น รวมทั้งการรบที่ปัตตานีและสงขลาเป็นที่เรียบร้อย ในบทความนี้จะขอเขียนถึงการรบที่เหลือจนแล้วเสร็จ ผู้อ่านสามารถติดตามความเดิมตอนที่แล้วได้จากลิงค์ด้านล่างเลยครับ


ความเดิมตอนที่แล้ว ---> World War II : Japanese invasion of Thailand

เมืองคอนก่อนสงครามโลก

นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมากที่สุดในภาคใต้ และมีพื้นที่ใหญ่อันดับสองของภาคใต้ ภูมิประเทศแต่ล่ะส่วนแตกต่างกัน ตามลักษณะเทือกเขานครศรีธรรมราช สามารถแบ่งพื้นที่ออกได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบไปด้วย เทือกเขาตอนกลาง ที่ราบชายฝั่งด้านตะวันออก และที่ราบชายฝั่งด้านตะวันตก เป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งยาวสุดในประเทศ คือยาวถึง 225 กิโลเมตร มีแหลมที่ยาวที่สุดในประเทศ คือแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง

เนื่องจากเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ จึงเป็นสถานที่ตั้งของมณฑลทหารบกที่ 6 ค่ายวชิราวุธ ที่บ้านท่าแพ ตำบลปากพูน อำเภอเมือง ภายใต้การนำของพลเอกหลวงเสนาณรงค์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก มีหน่วยทหารประจำการประกอบไปด้วย ร.พัน 39 และ ป.พัน 15 ทำหน้าที่ดูแลหน่วยทหารภาคใต้ทั้งหมด โดยในช่วงแรกสุดใช้ชื่อมณฑลทหารบกที่ 5 ก่อนเปลี่ยนมาเป็นมณฑลทหารบกที่ 6 ในเวลาต่อมา ทหารส่วนใหญ่ล้วนตามกันมาจากราชบุรีตั้งแต่ปี 2482 ซึ่งเริ่มย้ายค่ายวชิราวุธมาอยู่ในท่าแพ


ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกเล็งเห็นภัยร้ายตรงหน้า จึงได้เตรียมพร้อมในการรับมือทหารญี่ปุ่น มีการฝึกฝนหน่วยทหารประจำการ และหน่วยยุวชนทหารให้มีความพร้อมรบ คัดเลือกราษฎรอาสาสมัครเข้ามาฝึกฝน หวังระดมกำลังพลเพื่อต้านทานให้มากที่สุด เพราะรู้ดีว่าทหารญี่ปุ่นมีศักยภาพสุง แต่ทว่าเมืองคอนมีชายหาดยาวมากเกินไป จึงไม่อาจคาดเดาจุดที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก พลเอกหลวงเสนาณรงค์ ตัดสินใจคงกำลังส่วนใหญ่ไว้ในค่าย และพร้อมเคลื่อนพลไปยังจุดปะทะตลอดเวลา เป็นแผนการณ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ

นครราชศรีธรรมราชก็เป็นเช่นจังหวัดอื่น จารชนชาวญี่ปุ่นลอบแฝงตัวเข้ามาในพื้นที่ ประมาณต้นปีพศ. 2475 ได้มีครอบครัวชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งรกราก เปิดกิจการเป็นทั้งร้านหมอฟันและร้านถ่ายรูป ทุกคนในเมืองรู้จักในชื่อหมอลูและแม่ศรี กิจการเจริญก้าวหน้ากระทั่งสร้างตึกขนาด 3 คูหา ลูกจ้างชายหนุ่มญี่ปุ่นหมุนเวียนกันมาทำงาน ในภายหลังเริ่มมีวิศวกรญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง เข้ามาควบคุมการก่อสร้างถนนสายปากพนัง-นครศรีธรรมราช และก่อนหน้านี้ไม่ถึงหนึ่งขวบปีดี เริ่มมีพ่อค้าแร่มากกว่า 7 คนเข้ามาในพื้นที่ พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นจารชนญี่ปุ่น ทว่าฝ่ายไทยไม่ได้ระแคะระคายเรื่องนี้เลย

ค่ายวชิราวุธ ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองถึง 7 กิโลเมตร เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ญี่ปุ่นต้องการควบคุม เพื่อใช้ค่ายเป็นที่ตั้งทางทหารของตนเอง จึงวางแผนขึ้นบกบริเวณชายฝั่งปากพูน และปากนคร แล้วลำเลียงพลมาตามคลองท่าแพ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจะถึงสะพานท่าแพ จากนั้นจึงใช้กำลังเข้าควบคุมค่ายวชิราวุธ ด้วยข้อมูลที่ได้รับจากจารชนในพื้นที่

                                                                                           สะพานท่าแพซึ่งเป็นจุดชี้เป็นชี้ตาย

ในการขึ้นบกที่ปัตตานีและสงขลานั้น ญี่ปุ่นใช้ทหารราบจากกองทัพที่ 25 ซึ่งกำลังส่วนใหญ่ขึ้นบกที่แหลมมลายู ส่วนการขึ้นบกเป้าหมายอื่นในประเทศไทย ใช้ทหารราบจากกองทัพที่ 15 ทั้งหมด รวมทั้งการขึ้นบกที่นครศรีธรรมราช ด้วยเรือลำเลียงที่ดัดแปลงมาจากเรือขนส่งสินค้าจำนวน 3 ลำ ชื่อ Zenyo Maru Miike Maru และ Toho Maru ภายใต้การปกป้องจากเรือคุ้มกันขนาด 870 ตันชื่อ Shimushu

ญี่ปุ่นขึ้นท่าแพ

เวลาประมาณ 05.00 น.ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ได้รับข่าวจากนายไปรษณีย์นครศรีธรรมราช ว่าญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลาแล้ว จึงสั่งการนายพันตรีหลวงประหารริปูราบ (ชื่น โหระกุล) ผู้บังคับกองพันทหารรบที่ 39 หรือ ร.พัน 39 ให้เตรียมกำลังพลเดินทางไปสนับสนุนที่สงขลา และให้กำลังบางส่วนไปสกัดกั้นทหารญี่ปุ่น ที่สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองและชุมทางท่าแพ อันเป็นจุดสำคัญในการเดินทางไปแหลมมลายู

ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนอยู่นั้นเอง พลทหารจาก ป.พัน 15 ซึ่งเป็นเวรยามอยู่ที่คลองท่าแพ ได้แจ้งว่าพบทหารญี่ปุ่นพร้อมเรือระบายพลหลายลำ ช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดฝนตกหนักทั่วพื้นที่ น้ำในคลองขึ้นสุงเหมาะกับการเคลื่อนพล อีกทั้งมีรายงานว่าพบทหารญี่ปุ่นแฝงตัวอยู่บนเรือหลายลำ จึงได้ระงับคำสั่งเดินทางไปที่สงขลา กำลังทหาร ร.พัน 39 เปลี่ยนเส้นทางโดยเร่งด่วน เมื่อไฟสงครามมาเยือนถึงหน้าประตูบ้าน

การวางกำลังตั้งรับเป็นไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการสนับสนุนจาก ป.พัน 13  ซึ่งมีปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง 105 มม.จำนวน 5 กระบอก และปืนใหญ่ภูเขาแบบ 63 อีกจำนวน 2 กระบอก ทหารช่วยรบมณฑลทหารบกประจำแนวรับตะวันออก และมียุวชนทหารจากหน่วยฝึกยุวชนที่ 55 จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนประมาณ 30 นาย เข้ามาเสริมทัพ สนามบินขนาดเล็กติดกับค่ายวชิราวุธ มีเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 3 ลำจอดอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตั้งรับญี่ปุ่น ด้วยการส่งเครื่องบินกระจายไปตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญ

กระสุนปืนนัดแรกดังขึ้นในเวลา 06.50 น. การปะทะระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นเริ่มแล้ว ผู้บุกรุกดาหน้าเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน เรือระบายพลจำนวนมากลอยอยู่ในคลอง กำลังบางส่วนหนึ่งขึ้นฝั่งเป็นที่เรียบร้อย เสียงปืนใหญ่จากทั้งสองฝ่ายดังถี่กว่า เสียงปืนกลดังกระหึ่มตลอดเวลาที่สะพานท่าแพ ทหารญี่ปุ่นใกล้เข้ามามากขึ้นตามลำดับ มีคำสั่งให้เอาเครื่องบินขึ้นออกโจมตีได้ ทว่าฟ้าฝนไม่เป็นใจให้กับฝ่ายตั้งรับ เนื่องจากฝนตกหนักพื้นสนามเละเป็นโคลน เครื่องบินรบทั้ง 3 ลำจึงไม่สามารถขึ้นบินได้

                                                                                            ทหารญี่ปุ่นในคลองท่าแพ

หยุดยิงชั่วคราว

  เวลาประมาณ 07.30 น.รัฐบาลไทยมีคำสั่งหยุดยิงชั่วคราว เพื่อรอผลการเจรจาจากกรุงเทพอีกที ทว่าคำสั่งไม่เกิดผลกับท่าแพ เป็นเพราะอยู่ในช่วงการรบติดพัน ทหารฝ่ายไทยจำเป็นต้องป้องกันตัวไว้ก่อน ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากวิ่งเข้าใส่อย่างบ้าบิ่น โดยมีเรือคุ้มกันช่วยยิงปืนใหญ่สนับสนุน โรงเรือนค่ายวชิราวุธโดนถล่มจนหลังคาเปิด ส่วนปืนใหญ่จาก ป.พัน 13 ก็ยิงใส่ทหารญี่ปุ่นตลอดเวลา การสู้รบมีความรุนแรงตลอดเวลา ความสูญเสียมีมากขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่าย แนวรบถนนราชดำเนินหน้าค่ายวชิราวุธ กลายเป็นจุดปะทะที่ดุเดือดมากที่สุด กระทั่งญี่ปุ่นเข้ามาในระยะประชิด จึงกลายเป็นการรบด้วยดาบปลายปืนกับซามูไร

บนท้องฟ้าปรากฎเครื่องบินญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง บางลำบินปักหัวลงต่ำแต่ไม่ได้โจมตี คาดว่าทำหน้าที่ชี้เป้าให้กับเรือคุ้มกัน เพื่อใช้ปืนใหญ่เรือขนาด 120/45 มม.จำนวน 3 กระบอกจากเรือ Shimushu  ยิงถล่มทหารฝ่ายไทยตลอดเวลา การรบยังคงทวีความรุนแรงหนักหน่วง กระทั่งยุวชนทหารที่อยู่แนวป้องกันท้ายสุด เริ่มเข้าสู่การรบจริงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยุวชนทหารบางคนไม่มีอาวุธปืน จึงทำหน้าที่ลำเลียงกระสุนมาส่งแนวหน้า

เวลาประมาณ 11.00 น.พระสาครบุรานุรักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัด ได้นำโทรเลขจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาส่งให้กับผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 6 ข้อความก็คือ "หยุดรบ ปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านได้" และนำโทรเลขจากจอมพลป.พิบูลสงคราม มาส่งมอบในคราวเดียวกัน ข้อความก็คือ "ให้ระงับการต่อต้านปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านไป ขณะนี้รัฐบาลกำลังเจรจา"

เวลาต่อจากนั้นไม่นานนัก ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งคณะผู้เจรจา ก่อนมาตกลงกันตรงถนนหน้าค่ายวชิราวุธ ระหว่างที่เจรจาอยู่มีการยิงกันประปราย และมีมูลเหตุขยายตัวเป็นการตะลุมบอน ต้องมีการหยุดพักเพื่อห้ามหทารทั้งสองฝ่าย การเจรจาดำเนินไปอย่างทุลักทุเลและเนิ่นนาน ท่ามกลางความกดดันและตึงเครียดจากทุกฝ่าย กระทั่งเวลาประมาณ 14.00 น.จึงสามารถทำข้อตกลงร่วมกันได้ การรบที่เมืองคอนยุติลงในท้ายที่สุด

หลังญี่ปุ่นเข้าเมืองคอน

ที่นครศรีธรรมราชมีความสูญเสียมากที่สุด ทหารจากค่ายวชิราวุธเสียชีวิต 39 นาย ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตไม่ทราบจำนวน คาดว่ามีจำนวนสุงพอสมควร จากนั้นทหารญี่ปุ่นเข้ายึดค่ายวชิราวุธ อาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมด รวมทั้งสนามบินซึ่งต้องการมากที่สุด ตำรวจและทหารรวมทั้งครอบครัว ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่นในวันนั้นเลย

เนื่องจากทหารญี่ปุ่นอยู่ในค่ายวชิราวุธทั้งหมด โดยออกมาซื้ออาหารช่วงเช้าและเย็นเท่านั้น คนเมืองคอนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากเรื่องข้าวยากหมากแพงซึ่งเลี่ยงไม่ได้ การกระทบกระทั่งระหว่างสองฝ่ายแทบจะไม่มี เพราะมีคำสั่งห้ามทหารญี่ปุ่นยุ่งกับสาวไทยโดยเด็ดขาด กองทัพได้นำผู้หญิงตัวเองมาบริการในค่าย เคยมีคดีความเกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง และมีการตัดสินอย่างเด็ดขาดไม่เลือกฝ่าย

เมื่อสงครามโลกทวีความดุเดือดมากขึ้น สนามบินถูกขยายให้มีขนาดใหญ่โต จากการทำงานอย่างหนักของนายทหารญี่ปุ่น ที่ควบคุมการก่อสร้างและลงมือด้วยตัวเอง ภายหลังได้มีเครื่องบินรบญี่ปุ่นนับร้อยลำ มาจอดพักเพื่อเติมน้ำมันหรือซ่อมบำรุง เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มทิ้งระเบิดในไทย ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนเมืองคอนมีน้อยมาก เพราะเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ค่ายวชิราวุธ และค่ายนี้ก็ตั้งอยู่โดดเดี่ยวท่ามกลางป่าเขา
สนามบินทหารอยู่ด้านล่างของภาพ ต่อมาได้ถูกก่อสร้างให้ใหญ่โตขึ้น เพื่อรองรับเครื่องบินรบญี่ปุ่นจำนวนนับร้อยลำ

หลั่งเลือดที่สุราษฎร์ฯ

สุราษฎร์ธานีหรือสุราษฎร์ฯ เป็นจังหวัดตั้งอยู่ภาคใต้ตอนบนฝั่งตะวันออก มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ ภูมิประเทศค่อนข้างหลากหลาย ประกอบไปด้วย ที่ราบสูง ภูเขา และที่ราบชายฝั่ง มีพื้นที่ชายฝั่งติดกับอ่าวไทย รวมทั้งหมู่เกาะน้อยใหญ่จำนวนถึง 108 เกาะ แต่ทว่าสุราษฎร์ฯไม่ได้เป็นจุดยุทธศาสตร์อะไร ไม่มีการตั้งกองกำลังทหารในพื้นที่ จึงน่าจะปลอดภัยจากการรุกรานของญี่ปุ่น ซึ่งจองกฐินครบทุกจังหวัดที่มีค่ายทหาร

ศูนย์กลางของเมืองศรีวิชัยในอดีต มีแม่น้ำตาปีไหลผ่านกลางจังหวัด เมื่อมีการจัดสร้างทางรถไฟในปี 2449 และเส้นทางจากชุมพรไปยังนครศรีธรรมราช จึงต้องตัดผ่านแม่น้ำสำคัญอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทางการไทยได้ก่อสร้างสะพานจุลจอมเกล้า ที่ตำบลท่าข้าม เมืองไชยา โดยมีแค่ทางรถไฟกับทางคนเดินเท่านั้น สะพานแห่งนี้คือมูลเหตุสำคัญที่สุด เพราะเป็นจุดเชื่อมโยงในการเดินทางด้วยรถไฟ ถ้ายึดไม่ได้ก็จะลำเลียงทหารและยุทธปัจจัยไม่ได้ แผนการทั้งหมดจะล่าช้าหรือไม่ก็ล้มเหลว ทหารญี่ปุ่นได้วางแผนขึ้นบกที่สุราษฎร์ธานี และตั้งค่ายทหารริมสะพานจุลจอมเกล้าเลย เพื่อควบคุมการลำเลียงพลไปสู่แหลมมลายู หรือส่งกำลังทหารย้อนกลับไปยังพม่า

เช่นเดียวกับเป้าหมายอื่นทั่วภาคใต้ จารชนญี่ปุ่นได้แฝงตัวเข้ามาในพื้นที่ เพื่อสืบหาข่าวสารสำคัญ จัดทำแผนที่โดยรวม กำหนดจุดยกพลขึ้นฝั่ง สืบหาข้อมูลทางทหารทั้งหมด รวมทั้งตีสนิทกับคนสำคัญในพื้นที่  รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเจรจา ที่สุราษฎร์ฯได้มีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง เปิดร้านขายจานชามกระเบื้องที่บ้านดอนหลายปีดีดัก จึงเป็นที่รู้จักของคนทั้งเมืองก็ว่าได้ เพราะเป็นคนมีอัธยาศัยไมตรี

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 6.30 น.ได้ปรากฎเรือระบายพลติดธงญี่ปุ่นจำนวน 2 ลำ แล่นเข้ามาในแม่น้ำตาปีพร้อมทหารเต็มลำ ก่อนขึ้นฝั่งตั้งขบวนเดินทางไปยังศาลากลาง โดยมีพ่อค้าขายจานแต่งชุดร้อยโทเดินนำขบวน ข่าวญี่ปุ่นบุกสุราษฎร์ฯถึงทางการไทยทันที ตำรวจพร้อมอาวุธครบมือถูกสั่งให้เตรียมพร้อม โดยตั้งจุดสกัดที่ท่าน้ำศาลกลางจังหวัด กับถนนด้านหลังศาลากลางจังหวัดรวม 2 จุด
                                                                                             ตำรวจสุราษฎร์ฯยืนอยู่ริมแม่น้ำตาปี

ปืนพกปะทะปืนกล

เวลาประมาณ 7.30 น.นายพันตำรวจโทหลวงประพันธ เมฆะวิภาต ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนายร้อยตำรวจเอก ขุนวารินทร์สัญจร รองผู้กำกับ ได้เข้าไปเจรจากับนายทหารญี่ปุ่น โดยมีพ่อค้าจานชามเป็นล่ามให้ การพูดคุยไม่ประสบความสำเร็จ การปะทะกันด้วยอาวุธจึงได้ตามมา

กำลังฝ่ายไทยประกอบไปด้วย ตำรวจภูธร ลูกเสือในเครื่องแบบ ราษฎรอาสาสมัคร รวมทั้งประชาชนในพื้นที่  โดยมีอาวุธปืนพกและปืนเล็กยาวจำนวนหนึ่ง ต้องต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นพร้อมอาวุธครบมือจำนวนมาก เมื่อการเจรจาล้มเหลวลง ผู้รุกรานนั้นจึงเริ่มยิงใส่ทันควัน พร้อมเคลื่อนพลโหมตีเพื่อยึดสถานที่สำคัญ เป้าหมายหลักก็คือ ท่าเรือ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข และศาลากลางจังหวัด ทว่าฝ่ายไทยได้ตั้งรับอย่างเต็มกำลัง ด้วยอาวุธที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า และกำลังพลที่ชำนาญการรบน้อยกว่า

ผ่านไปไม่นานสถานที่หลายแห่งถูกยึด เหลือแค่เพียงจุดสกัดติดศาลากลางทั้งสองจุด ผู้เขียนมีข้อมูลบางส่วนว่า พบเครื่องบินญี่ปุ่นบินวนอยู่เหนือพื้นที่ แต่ผู้เขียนไม่ขอยืนยันนะครับ เพราะข้อมูลในมือมีน้อยเกินไป กระทั่งเวลาประมาณ 13.00 น.สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ประกาศว่า รัฐบาลไทยให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังผ่านประเทศได้ รวมทั้งมีโทรเลขสั่งให้หยุดยิงจากรัฐบาล การปะทะกันที่บ้านดอนจึงได้ยุติลง

ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ฝ่ายไทยเสียชีวิตประมาณ 18 คน บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตและบาดเจ็บไม่ทราบจำนวน พลบค่ำเกิดไฟใหม้ที่ศาลากลางจังหวัด ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นฝีมือของฝ่ายไหน ญี่ปุ่นเข้ามาตั้งค่ายทหารหลายจุด อาทิเช่น  ริมสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำตาปี  สวนยางพาราที่ท่าข้าม ท่าน้ำสวนสราญรมย์  เพื่อควบคุมเส้นทางรถไฟไปยังแหลมมลายู สำหรับสะพานจุลจอมเกล้านั้น ยังมีบทบาทสำคัญในเวลาต่อมา ผู้เขียนจะขอยกยอดไปยังตอนถัดไปนะครับ
                                                                                           ศาลากลางจังหวัดถูกเผาในตอนกลางคืน

ยุวชนทหารที่ชุมพร

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 มีเรือลำเลียงพลญี่ปุ่นเข้ามาในอ่าวชุมพร แต่เนื่องจากเผชิญพายุฝนอย่างหนัก จึงไม่สามารถทำภารกิจตามเวลานัดหมายได้ อีกทั้งการขึ้นบกยังเกิดข้อผิดพลาด เพราะบ้านคอสนและบ้านแหลมซึ่งเป็นจุดขึ้นฝั่ง ยังอยู่ในช่วงน้ำลดและไม่มีหาดทรายเลย จึงต้องเดินลุยโคลนด้วยความยากลำบาก กว่าจะรวมพลสำเร็จก็ปาเข้าไปเช้าตรู่ ทหารญี่ปุ่นแบ่งกำลังไปตั้งฐานที่ริมถนนหน้าวัดท่ายางใต้ ส่วนที่เหลือตั้งฐานริมถนนหน้าสะพานท่านางสังข์ อันเป็นเส้นทางหลักมุ่งตรงเข้าไปในเมือง
เนื่องจากที่นี่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยทหารเช่นกัน ทว่าทหารทั้งหมดจาก ร.พัน 38 ได้เดินทางไปฝึกภาคสนามที่สนามบินทับไก่ หลวงจรูญประศาสน์ (จรูญ คชภูมิ) ข้าหลวงประจำจังหวัดชุมพร ทราบข่าวญี่ปุ่นขึ้นบกเวลาประมาณ 6.30 น.จึงรีบแจ้งข่าวให้กับ นายพันตรี ขุนเอกสิงห์สุรศักดิ์ (เชิด  เอกสิงห์) ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 38 และนายร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหารที่ 52 รับทราบ ทหารจาก ร.พัน 38 จำนวน 1 หมวด รีบเดินทางกลับเพื่อสกัดกั้นญี่ปุ่น พร้อมไอเท็มลับปืนกลเบาแบบ 66 หรือปืนกลแมดเสนขนาด 8 มม.จำนวน 9 กระบอก 

แนวปะทะบนถนนสายชุมพร–ปากน้ำ บริเวณสะพานท่านางสังข์ ทางด้าน พ.ต.ต.หลวงจิตการุณราษฎร์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรชุมพร ได้นำกำลังตำรวจเข้ามาสกัดกั้นไว้ก่อน รวมทั้งนายร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ได้นำกำลังยุวชนทหารที่ 52 เข้ามาเสริมทัพ จำนวนยุวชนทหารมีประมาณ 100 นาย แต่มีปืนเล็กยาวเพียง 30 กระบอก และปืนกลเบาแบบ 66 อีก 1 กระบอกเท่านั้น ยุวชนทหารส่วนที่เหลือจึงต้องเป็นกำลังเสริม

การปะทะอย่างดุเดือด

กระสุนนัดแรกดังขึ้นเวลาประมาณ 7.00 น.เมื่อหน่วยลาดตระเวนญี่ปุ่นพบกับกำลังตำรวจไทย ทั้งสองฝ่ายต่างใช้สะพานเป็นเส้นแบ่งเขต การปะทะกันมีอย่างประปรายและเบาบาง เพราะไม่มีคำสั่งที่ชัดเจนออกมา เวลาผ่านไปประมาณหนึ่งชั่วโมง นายร้อยเอกประชา มัณยานนท์ ได้นำกำลังทหารจาก ร.พัน 38 เข้ามาสมทบ โดยใช้รถบรรทุกทหารวิ่งข้ามสะพานไปฝั่งตรงข้าม ก่อนมาหยุดที่ถนนหน้าวัดท่ายางใต้ แล้วใช้ปืนกลเบาทั้ง 9 กระบอก ยิงใส่ทหารญี่ปุ่นที่ตั้งมั่นอยู่ในดงมะพร้าว อำนาจการยิงสร้างความเสียหายทันที บังเอิญว่ากระสุนปืนมีจำนวนจำกัดจำเขี่ย เพราะรีบกลับมาจากฝึกภาคสนาม ครั้นให้รถบรรทุกวิ่งกลับไปเอากระสุน ก็โดนยิงสกัดจนข้ามสะพานไม่ได้ ไอเท็มลับที่เตรียมมาใช้งานได้เพียงครึ่งชั่วโมง
                                                                                                  ปืนกลเบาแบบ 66 จากเดนมาร์ค

ทางด้านแนวปะทะริมสะพานท่านางสังข์ มีความดุเดือดมากขึ้นตามไปด้วย ฝ่ายไทยต้องการยึดสะพานทั้งสองฝั่ง เนื่องจากอีกฝ่ายมีกำลังเยอะกว่ามาก รวมทั้งอาวุธก็ทันสมัยเทียบกันไม่ติด ถ้าหารญี่ปุ่นข้ามมาฝั่งนี้สำเร็จ อาจโดนโอบล้อมโจมตีจากหลายด้าน แต่ทหารญี่ปุ่นไม่ยอมให้ยึดสะพาน จึงได้สกัดกั้นด้วยอำนาจการยิงที่เหนือกว่า กระทั่งฝ่ายไทยสูญเสียผู้บังคับหน่วยฝึกยุวชนทหาร ปืนกลเบาเพียงกระบอกเดียวขาทรายเกิดชำรุด กระสุนปืนที่มีถูกใช้ไปจนแทบไม่เหลือ จึงจำเป็นต้องเล็งยิงอย่างประหยัด ประสิทธิภาพการรบลดลงทันตาเห็น 

เวลาประมาณ 12.00 น.การรบที่ชุมพรได้สิ้นสุด เนื่องจากมีคำสั่งให้หยุดยิงจากรัฐบาล จากนั้นไม่นานการเจรจาจึงเกิดขึ้น และอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนพลเข้าตัวเมือง เพื่อเข้าพักที่โรงเรียนสตรีสอาดเผดิมวิทยา (โรงเรียนอนุบาลชุมพรในปัจจุบัน) โรงเรียนช่างไม้ (วิทยาลัยเทคนิคชุมพรในปัจจุบัน) และโรงเรียนชุมพรศรียาภัย (โรงเรียนศรียาภัยในปัจจุบัน) ก่อนเดินทางไปยังอำเภอกระบุรี จังหวัดระนองในเวลาต่อมา

ความสูญเสียฝ่ายไทยประกอบไปด้วย ผู้บังคับหน่วยและยุวชนทหารเสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บ 5 นาย  ทหารเสียชีวิต 1 นาย ตำรวจเสียชีวิต 2 นาย ราษฎรอาสาสมัครเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน ความสูญเสียฝ่ายญี่ปุ่นเท่าที่มีหลักฐาน ทหารญี่ปุ่นได้ฝังศพทหารจำนวน 11 นาย บาดเจ็บไม่ทราบจำนวน 

การรบที่ประจวบ

กองบินน้อยที่ 5 ตั้งอยู่ที่อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีทางวิ่งดินลูกรังบดอัดแน่นจำนวน 2 รันเวย์ความยาว 800 เมตรและ 1,000 เมตร นาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย เป็นผู้บังคับกองบินน้อย มีกำลังพลรวมกันประมาณ 160 นาย ประจำการเครื่องบินขับไล่ บ.ข.9 (ฮอว์ค 2) จำนวน 1 ฝูงบิน เครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 1 ฝูงบิน และเครื่องบินโจมตี บ.จ.1 (คอร์แซร์) จำนวน 1 ฝูงบิน กองบินผสมมีอากาศยานรวมจำนวน 27 ลำ มีหน้าที่ป้องกันภาคใต้ไปจนถึงแหลมมลายู ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก เพราะเป็นประตูทางเข้าระหว่างภาคใต้กับภาคกลาง 

กองบินแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ จึงใช้เป็นสถานที่ฝึกใช้อาวุธภาคพื้นดินและอากาศยาน ช่วงเวลาก่อนหน้านั้นไม่นานนัก กองทัพอากาศเพิ่งประจำการเครื่องบินโจมตี บ.จ.2 (Ki-30 นาโกย่า) ที่จัดหาจากญี่ปุ่นจำนวน 24 ลำ เครื่องบินบางลำถูกนำมาฝึกบินที่อ่าวมะนาว ทำการสอนโดยครูฝึกชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่ง ทหารเหล่านี้ทำหน้าที่จารชนอีกหนึ่งตำแหน่ง พื้นที่โดยรอบอ่าวมะนาว ตัวเมืองประจวบ รวมทั้งกำลังทหารที่กองบินน้อยที่ 5 ถูกญี่ปุ่นล้วงความลับอย่างละเอียด ถือเป็นความได้เปรียบชนิดมหาศาล
                                                                                             เครื่องบินโจมตี บ.จ.2 ผู้มาพร้อมจารชนญี่ปุ่น

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 02.00 น. เรือลำเลียงขนาดใหญ่ลำหนึ่ง พร้อมทหารญี่ปุ่นจำนวน  1 กรมผสม แล่นเข้าประชิดชายฝั่งไทยอย่างเงียบกริบ เรือระบายพลจำนวน 4 ลำมุ่งไปยังอ่าวประจวบ เพื่อขึ้นบกบริเวณหัวถนนตลาดนอก ห่างจากตัวเมืองประจวบเพียงหน่อยเดียว ทหารญี่ปุ่นกระจายกำลังเพื่อยึดพื้นที่สำคัญ กำลังบางส่วนมาถึงสถานีตำรวจภูธร และได้เกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ การรบดำเนินอยู่ประมาณ 20 นาที ตำรวจไทยซึ่งมีกำลังน้อยกว่าจึงล่าถอยไป ตัวเมืองประจวบถูกยึดอย่างง่ายดาย ความสูญเสียที่เกิดขึ้น ตำรวจไทยเสียชีวิต 13 นาย บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บและเสียชีวิตไม่ทราบจำนวน

กองบินน้อยโดนจู่โจม

เรือระบายพลส่วนที่เหลือจำนวน 3 ลำ มุ่งตรงไปยังอ่าวมะนาวในเวลาเดียวกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือกองบินน้อยที่ 5 แม้กองบินจะเตรียมการรับมือญี่ปุ่นไว้แล้ว ด้วยการตั้งรังปืนกลหนักแบบ 77 หรือ ปืนกลวิคเกอร์ขนาด 7.7 มม.จำนวน 5 ฐานยิง รวมทั้งปืนกลเบาแบบ 66 ที่ได้ติดตั้งล้อมรอบสนามบิน บังเอิญว่าเครื่องบินรบได้ถูกกระจายไปทั่วภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการตั้งรับญี่ปุ่น จึงเหลือเพียงเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินโจมตี บ.จ.1 (คอร์แซร์) จำนวน 5 ลำ เพื่อป้องกันพื้นที่รอบกองบินเท่านั้น 

เวลาประมาณ 03.00 น.ทหารญี่ปุ่นลักลอบขึ้นฝั่งอย่างเงียบกริบ หน่วยจู่โจมเข้าจัดการทหารยามในที่ตั้งปืนกล ก่อนกระจายกำลังล้อมรอบพื้นที่สนามบิน เวลาเดียวกันนั้นเอง ผู้บังคับกองบินน้อยได้รับแจ้งว่า ทหารญี่ปุ่นบุกเข้าตัวเมืองแล้ว พร้อมกับเรืออากาศตรีสมศรี สุจริตธรรม ผู้บังคับกองทหารราบได้รายงานว่า พบเรือระบายพลจำนวน 3 ลำในอ่าวมะนาว เมื่อทราบเป็นที่แน่ชัดว่าญี่ปุ่นบุก นาวาอากาศตรีหม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย จึงได้สั่งการไปยังทหารทุกคน ให้ทำตามแผนการที่ได้กำหนดไว้

เครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 5 ลำ และเครื่องบินโจมตี บ.จ.1 (คอร์แซร์) จำนวน 5 ลำ ถูกติดเครื่องพร้อมบินอยู่บนรันเวย์ ทหารญี่ปุ่นที่ซุ่มอยู่จึงได้โจมตีอย่างหนัก เครื่องบินขับไล่ลำแรกสามารถบินขึ้นสำเร็จ แม้ว่าจะโดนยิงปืนใส่หลายนัดก็ตาม เรืออากาศตรี แม้น ประสงค์ดี ได้ใช้ระเบิดขนาด 50 กิโลกรัม โจมตีใส่เรือลำเลียงญี่ปุ่นที่ตรวจพบ ทว่าพลาดเป้าหมายเพราะความมืด นี่คือการโจมตีครั้งแรกและครั้งเดียวของเครื่องบินไทย เนื่องจากเครื่องบินที่เหลือล้วนเสียหายหนัก นักบินและช่างเครื่องบาดเจ็บเสียชีวิตกันถ้วนหน้า

เมื่อเครื่องบินรบโดนยึดหรือทำลายหมดสิ้น การรบครั้งนี้จึงต้องวัดกันที่ภาคพื้นดิน ทหารญี่ปุ่นทำการจู่โจมอย่างรวดเร็ว และสามารถยึดพื้นที่บางส่วนได้แล้ว อาทิเช่น กองรักษาการณ์ ทางวิ่งทั้ง 2 รันเวย์ แต่ก็ยังมีปืนกลหนักบางกระบอก ทำหน้าของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะรังปืนกลชายหาดใกล้โรงเก็บเครื่องบิน เป็นจุดที่ทหารญี่ปุ่นต้องสูญเสียจำนวนมาก 

กระทั่งเวลาประมาณ 07.00 น.สถานการณ์ญี่ปุ่นดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อสามารถยึดโรงเก็บเครื่องบินได้สำเร็จ ทหารไทยต้องถอดปืนกลและล่าถอยห่างออกไป ชายหาดทั้งหมดจึงปลอดภัยโดยสิ้นเชิง การส่งทหารมาเพิ่มเติมกระทำได้อย่างสะดวก ผู้บังคับกองบินน้อยสั่งเผาอาคารกองบังคับการกองบิน อันเป็นที่มั่นสำคัญของทหารไทยในเวลานั้น เพื่อทำลายเอกสารสำคัญทั้งหมด รวมทั้งป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นใช้งานได้ ครอบครัวทหารได้อพยพไปที่เชิงเขาล้อมหมวก เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากการปะทะกัน และจัดหาอาหารให้กับทหารที่อ่อนล้า
                                                                                                     ปืนกลหนักแบบ 77 จากอังกฤษ
สงครามวันสุดท้าย

ทหารญี่ปุ่นโหมกำลังเข้าตีอย่างดุเดือด ด้วยต้องการยึดกองบินน้อยที่ 5 ให้ได้อย่างเด็ดขาด ทหารไทยพยายามต้านทานจนสุดกำลัง ด้วยว่าถ้าแพ้ก็คือโดนยึดสนามบิน การรบดำเนินมาจนถึงช่วงเย็นในที่สุด ทว่ายังไม่มีผลแพ้ชนะเด็ดขาด เมื่อความมืดมิดเข้ามาเยือนตามกาลเวลา พร้อมมีพายุฝนกระหน่ำใส่อย่างรุนแรง ทั้งสองฝ่ายทำได้แค่ตรึงกำลังอยู่ในที่มั่น ตลอดคืนนั้นไม่มีการโหมบุกใส่กันแต่อย่างใด 

การรบที่อ่าวมะนาวข้ามมาถึงวันรุ่งขึ้น แม้ทหารไทยจะมีจำนวนน้อยกว่าอาวุธน้อยกว่า แต่ที่มั่นตั้งอยู่บนทำเลที่สุงกว่า จึงเห็นการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายอย่างชัดเจน ทหารญี่ปุ่นจึงไม่กล้าบุกใส่อย่างผลีผลาม แม้มีการเสริมกำลังพลรวมทั้งอาวุธหนักก็ตาม เช้าตรู่วันที่ 9 ธันวาคม 2484 มีการยิงกันประปรายพอเป็นน้ำจิ้ม

เวลาประมาณ 07.00 น. บุรุษไปรษณีย์ชื่อนายหยอย ทิพย์นุกูล ได้นำโทรเลขจากพันเอกหลวงเชวง ศักดิ์สงคราม (ช่วง เชวงศักดิ์สงคราม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาส่งให้ผู้บังคับกองบินน้อย แจ้งว่าหยุดรบและปล่อยให้ญี่ปุ่นผ่านได้ ทว่านาวาอากาศตรี หม่อมหลวงประวาศ ชุมสาย กลัวว่าเป็นกลลวงของฝ่ายญี่ปุ่น จึงไม่ได้ทำตามและตรึงกำลังไว้เช่นเดิม

เวลาประมาณ 10.00 น. กำลังทหารไทยยังคงโดนล้อมกรอบ ไม่มีช่องทางให้ถอยหนีออกจากกองบิน ไม่มีความหวังจะได้รับช่วยเหลือจากภายนอก พวกเขาใช้เชิงเขาล้อมหมวกเป็นที่มั่นท้ายสุด ผู้บังคับกองบินน้อยสั่งเผาคลังน้ำมันทิ้ง พร้อมสั่งให้ทหารทุกนายพร้อมสู้ตาย ส่วนทหารญี่ปุ่นยังคงล้อมกรอบอยู่เช่นเดิม ไม่มีการโหมบุกเข้าตีอย่างหนัก ทั้งที่มีกำลังทหารอีก 1 กองพันเข้ามาสมทบ

เวลาประมาณ 12.00น.นายจรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมผู้ติดตามจำนวนหนึ่ง  ใช้รถบรรทุกทหาร 6 ล้อติดธงสีขาว วิ่งผ่านทหารญี่ปุ่นเข้ามาอย่างปลอดภัย พร้อมกับยื่นโทรเลขจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แจ้งว่ารัฐบาลไทยยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย จึงได้มีการเจรจาสงบศึกตามมา และมีการหยุดยิงในเวลาประมาณ14.00 น. 

ความสูญเสียที่อ่าวมะนาวประกอบไปด้วย ทหารฝ่ายไทยเสียชีวิต 38 นาย ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย พลเรือนเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บรวมทั้งหมด 27 คน ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต 217 นาย ส่วนใหญ่เป็นทหารเกณฑ์ชาวเกาหลีและไต้หวัน ทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บประมาณ 300 นาย และมีบางส่วนเสียชีวิตในเวลาต่อมา


การเผชิญหน้าที่บางปู

หลังได้รับคำสั่งให้บุกประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เรือลำเลียงที่ดัดแปลงมาจากขนส่งสินค้าญี่ปุ่นชื่อ Sydney Maru ได้แยกตัวจากกองเรือมุ่งตรงไปยังสมุทรปราการ ก่อนจอดห่างประภาคารสันดอนประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วปล่อยเรือระบายพลหลายลำมุ่งตรงมายังบางปู อันเป็นสถานตากอากาศใหม่เอี่ยมของไทย และเปิดให้บริการได้เพียง 2 ปีพอดิบพอดี 

เวลาประมาณ 03.00 น.ทหารญี่ปุ่นจากกองพันที่ 3 กองพลรักษาพระองค์โคโนเอะ สังกัดกองทัพที่ 15 ภายใต้การนำของพันโทโยชิดะ ได้ทำการยึดสะพานสุขตาและคุมตัวพนักงานทั้งหมด พนักงานบางคนแอบเล็ดลอดออกไปสำเร็จ และได้มีการแจ้งข่าวกับนายร้อยคำรวจเอกจินดา โกมลสุต รองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ จึงมีคำสั่งให้ตำรวจประมาณ 20 นาย ยกขบวนไปที่บางปูโดยเร่งด่วน กำลังตำรวจเผชิญหน้าทหารญี่ปุ่นระหว่างเส้นทาง ทั้งสองฝ่ายตั้งแนวรับระหว่างสองฟากถนนทันที

                                                                                               สะพานสุขตาหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ

เวลาประมาณ 06.00 น.มีทหารญี่ปุ่นถือธงขาวเดินเข้ามาขอเจรจา นายร้อยตำรวจตรีสุวิทย์ เอกศิลป์ ได้เดินเข้าไปเจรจาด้วย ญี่ปุ่นขอผ่านทางแต่ทางเรายังไม่ได้รับคำสั่ง ผลการเจรจายังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายกลับไปที่มั่นตนเองเช่นเก่า ต่อมากำลังทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทย ได้เดินทางเข้ามาสมทบพวกเดียวกัน ตำรวจสมุทรปราการยกมาทั้งโรงพัก โดยมีอาวุธแค่เพียงปืนพกกับปืนเล็กยาว

กระทั่งฟ้าสว่างมองเห็นหน้ากันชัดเจน คณะผู้แทนรัฐบาลไทยได้เดินทางมาพบตำรวจ นายพันเอกหลวงยอดอาวุธ (ฟ้อน ฤทธาคนี) หัวหน้าคณะผู้แทนได้แจ้งว่า รัฐบาลตัดสินใจให้ทหารญี่ปุ่นเดินทางเข้ากรุงเทพ ตำรวจสมุทรปราการจึงได้เปิดทางตามคำสั่ง การเผชิญหน้ากันเป็นอันสิ้นสุดลง โดยไม่มีความสูญเสียจากทั้งสองฝ่าย เป็นแนวรบแรกและแนวรบเดียวที่ไม่มีการปะทะกัน ทหารญี่ปุ่นทุกนายออกจากสมุทรปราการในเย็นวันนั้น

แนวรบด้านชายแดนตะวันออก

นอกจากกำลังทหารที่มาทางเรือ ญี่ปุ่นได้เตรียมกำลังบางส่วนไว้ในอินโดจีนฝรั่งเศส กองพลรักษาพระองค์โคโนเอะ สังกัดกองทัพที่ 15 ภายใต้การนำของพลโททาคูโมะ นิชิมูระ มีกำลังทหารญี่ปุ่นหลักหมื่นนาย พร้อมรถถังยานเกราะประมาณ 600 คัน ได้เคลื่อนทัพผ่านจังหวัดพระตะบอง ซึ่งในเวลานั้นเป็นพื้นที่ประเทศไทย เกิดการปะทะกันกับตำรวจไทยจำนวนไม่กี่คน ก่อนเดินทางต่อโดยคงกำลังไว้นิดหน่อย เมื่อเคลื่อนทัพผ่านจังหวัดพิบูลสงคราม ไม่ปรากฎการต่อต้านจากทหารไทย เพราะได้รับคำสั่งจากรัฐบาลให้ระงับการต่อสู้ 

ครั้นต้องการเคลื่อนทัพผ่านจังหวัดปราจีนบุรี ก็ดันมีสนามบินวัฒนานครขวางทางอยู่ ในสนามบินมีเครื่องบินรบจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นอันตรายอันดับหนึ่งต่อการเคลื่อนทัพ ญี่ปุ่นตัดสินใจบุกโจมตีสายฟ้าแลบ เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาในภายหลัง เพราะการสนับสนุนทางอากาศยังทำได้จำกัด ต้องใช้เครื่องบินจากสนามบินในอินโดจีนฝรั่งเศส ถ้ากองกำลังเข้าสู่ประเทศไทยมากกว่าเดิม จะอยู่เกินระยะทำการของเครื่องบินญี่ปุ่น เครื่องบินของไทยที่วัฒนานครจึงเป็นอันตราย ชิงลงมือก่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ข่าวการบุกของญี่ปุ่นบริเวณชายแดนตะวันออก มีมาซักพักหนึ่งแล้วจากข่าวสารหลากหลาย เพียงแต่ไม่ทราบวันเวลาที่ชัดเจน กำลังทหารฝ่ายไทยที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นที่ตั้งค่ายทหารของกองพลที่ 2 แต่ทว่ารัฐบาลตัดสินใจยอมเปิดทาง เพราะคาดว่าคงต้านทานได้ไม่เกิน 2 วัน แนวรบด้านนี้จึงแทบไม่มีการหลั่งเลือด นอกจากตำรวจเสียชีวิต 2 นายที่จังหวัดพระตะบอง ก็มีการรบเหนือสนามบินวัฒนานครอีกแห่งเดียว

ยุทธเวหา 20 ต่อ 3

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 09.00 น. เครื่องบินขับไล่ Ki-27 จากกองบินน้อยที่ 77 จำนวน 11 ลำ และเครื่องบินโจมตี Ki-30 จากกองบินน้อยที่ 31 จำนวน 9 ลำ บินออกมาจากฐานทัพญี่ปุ่นในอินโดจีนฝรั่งเศส ก่อนตรงดิ่งเข้าโจมตีสนามบินวัฒนานคร ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกประเทศไทย กว่าที่คนในสนามบินจะทันรู้ตัว ก็พบเครื่องบินจำนวนมากอยู่บนหัวแล้ว การจู่โจมแบบสายฟ้าแลบประสบความสำเร็จ 

แต่ทว่าฝูงบินที่ 43 กองบินผสมที่ 80 ไม่คิดยอมแพ้ จึงได้ส่งเครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 (ฮอว์ค 3) จำนวน 3 ลำเข้าสกัดกั้น การรบบนฟากฟ้าดำเนินไปอย่างดุเดือด เครื่องบินปีกสองชั้นของไทยพยายามอย่างเต็มที่ แต่ไม่อาจต้านทานเครื่องบินขับไล่ Ki-27 ที่มีปีกชั้นเดียวและทันสมัยกว่าได้ ท้ายที่สุดจึงถูกญี่ปุ่นยิงตกทั้ง 3 ลำ นักบินบนเครื่องเสียชีวิตทุกนาย ยุทธเวหาเหนือน่านฟ้าไทยได้ยุติลง พร้อมการต่อต้านครั้งสุดท้ายของชายแดนตะวันออก กองพลรักษาพระองค์โคโนเอะเข้าไทยได้สำเร็จ โดยสูญเสียแค่ทหารจำนวน 3 นายที่พระตะบอง

                                                                                               เครื่องบินขับไล่ บ.ข.10 กองทัพอากาศไทย
บทสรุปที่ยังไม่จบ

ญี่ปุ่นบุกไทยโดยใช้เส้นทางจำนวนมาก ประกอบไปด้วย ปัตตานี สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ บางปู (สมุทรปราการ) และชายแดนด้านอรัญประเทศ เพื่อควบคุมเส้นทางระหว่างแหลมมลายู-พม่า ควบคุมกำลังทหารไทยในภาคใต้ทั้งหมด ต้องการที่พักสำหรับทหารหลายหมื่นนาย รวมทั้งทหารที่จะตามมาภายหลัง เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการให้ไทยเป็นทางผ่าน จึงไม่มีการโจมตีอย่างหนักระหว่างปะทะกัน เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้อยู่ในระดับที่ดี รวมทั้งต้องการประหยัดอาวุธ ยุทธปัจจัย และกำลังทหารไปในตัว 

ญี่ปุ่นมีความต้องการใช้พื้นที่ประเทศไทย เป็นสถานที่คุมตัวนักโทษสงครามจำนวนมาก มีการตัดถนนเพื่อใช้ในการขนส่ง รวมทั้งสร้างทางรถไฟเพิ่มเติม หรือซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ญี่ปุ่นยังใช้ไทยเป็นสถานที่พักผ่อน ของทหารที่กลับมาจากแนวหน้า รวมทั้งสถานที่รักษาตัวทหารที่ได้รับบาดเจ็บ ญี่ปุ่นจึงพยายามควบคุมทหารตัวเอง ไม่ให้มีเรื่องประทบกระทั่งกับคนไทย เพราะไม่ต้องการให้เกิดการต่อต้านในวงกว้าง จนส่งผลกระทบต่อการรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ที่แหลมมลายู พม่า รวมทั้งอินเดีย


บทความเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง : วันญี่ปุ่นขึ้นบก ตอนที่ 2 ก็ได้จบลงเป็นที่เรียบร้อย ญี่ปุ่นสามารถบุกเข้าไทยได้ตามแผน ทว่าเป็นเพียงปฐมบทของสงครามใหญ่เท่านั้น บทความที่เกี่ยวข้องตอนถัดไป จะเป็นเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน แต่คราวนี้จะสลับผู้ร้าย-ผู้ดีกันบ้าง โดยเป็นเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนี้ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ  ;)

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
  
อ้างอิงจาก




















ภาพที่เกี่ยวข้องกับนครศรีธรรมราชอ้างอิงจาก : http://www.gotonakhon.com/