วันเสาร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2567

Project SAM-X0

 

จรวดธนูฟ้า

วันที่ 29 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการฝึกร่วม 25 บริเวณเขาอีด่าง จังหวัดปราจีนบุรี มีการจัดแสดงอาวุธและอำนาจการยิงจากสามเหล่าทัพ เพื่อโชว์แสนยานุภาพส่วนหนึ่งของกองทัพไทยให้ประชาชนชาวไทยเกิดความอุ่นใจว่า ทหารไทยสามารถปกป้องอธิปไตยจากการรุกรานของข้าศึกต่างชาติ

ในการแสดงอำนาจการยิงครั้งนี้ กองทัพอากาศโดยสำนักงานวิจัยและพัฒนาอาวุธยุทธภัณท์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองทัพอากาศ หรือ วพย.ศวท.ทอ.นำผลสำเร็จจากการพัฒนาจรวดมาแสดงและทดสอบยิงต่อหน้าผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายทหารระดับสูงจากกองบัญชาการทหารสูงสุด นายทหารระดับสูงจากสามเหล่าทัพ ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน ผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ ตลอดจนประชาชนจำนวนรวมประมาณหนึ่งหมื่นคน

การแสดงอำนาจการยิงของจรวดที่ วพย.ศวท.ทอ.พัฒนาขึ้นนั้น นาวาอากาศเอก มรกต ชาญสำรวจ รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รายงานต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุดในฐานะประธานการแสดงอาวุธและอำนาจการยิงดังนี้

ภารกิจการยิงสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกด้วยอาวุธภาคพื้นดินเป็นสิ่งจำเป็น แม้กองทัพอากาศจะมีเครื่องบินขับไล่คอยสกัดกั้นข้าศึก และสามารถทำลายเครื่องบินข้าศึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เครื่องบินข้าศึกส่วนหนึ่งอาจบินฝ่าการสกัดกั้นเข้าสู่พื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายทางทหาร จึงเป็นหน้าที่กองกำลังภาคพื้นดินกองทัพอากาศต้องต่อสู้กับเครื่องบินข้าศึก กองทัพอากาศจึงได้พัฒนาอาวุธจรวดพื้นสู่อากาศขึ้นมาใช้งาน เพื่อยิงสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกทั้งในระดับต่ำ ระดับปานกลาง และระดับสูง

การยิงจรวดพื้นสู่อากาศที่กองทัพอากาศพัฒนาเองทั้งหมดนั้น นอกจากเป็นการทำลายเครื่องบินข้าศึกโดยตรงแล้ว ยังสามารถยิงอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กว้างเป็นฉากกั้น เพื่อลดขีดความสามารถการเข้าโจมตีของเครื่องบินข้าศึกได้อีกหนึ่งทาง วิธียิงจรวดพื้นสู่อากาศเป็นฉากกั้นนับเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่ง สามารถจำกัดการเข้าโจมตีของเครื่องบินข้าศึก และบังคับให้ข้าศึกโจมตีในทิศทางและระดับความสูงตามที่ฝ่ายเราต้องการ อาวุธจรวดพื้นสู่อากาศที่กองทัพอากาศทำการวิจัยและพัฒนาเป็นผลสำเร็จ เมื่อนำมาใช้งานทางยุทธวิธีที่เหมาะสมแล้ว จะทำให้กองทัพไทยสามารถยับยั้งการโจมตีของเครื่องบินข้าศึกราคาแพง ด้วยอาวุธจรวดราคาถูกที่เราวิจัยและพัฒนาด้วยตัวเอง

การแสดงอานุภาพการยิงอาวุธจรวดพื้นสู่อากาศที่วพย.ศวท.ทอ.วิจัยและพัฒนาขึ้นมาใช้งาน กองทัพอากาศสร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชมด้วยการยิงจรวดเห่าฟ้า-1 ซึ่งเป็นจรวดชนิดหางเลื่อนจากฐานยิง 32 นัดจำนวน 3 ฐานรวมจำนวนรวม 44 นัด นั้น นาวาอากาศเอก มรกต ชาญสำรวจ เปิดเผยว่าอำนาจการยิงของจรวดเห่าฟ้า-1 ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 2,600 ตารางเมตร อำนาจทำลายรัศมีทรงกลมโดยรอบประมาณ 30 เมตรหรือเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เมตร สามารถยิงเป็นฉากสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกที่ระดับความสูง 4,000 ถึง 6,000 ฟุต

รายการถัดไปคือการทดสอบยิงจรวดเห่าฟ้า-2 ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงจรวดเห่าฟ้า-1 ต่างกันก็เพียงจรวดเห่าฟ้า-2 ถูกพัฒนาให้มีความทันสมัยมากกว่าเดิม โดยออกแบบให้ระหว่างเดินทางหางจรวดนิ่งกว่าเดิมส่วนตัวจรวดจะหมุนแทน  ลักษณะเช่นนี้จะทำให้จรวดเห่าฟ้า-2 มีความแม่นยำมากขึ้น ในการทดสอบจรวดเห่าฟ้า-2 ใช้ฐานยิงบรรจุ 20 นัดจำนวน 3 ฐาน จำนวนรวมจรวดเห่าฟ้า-2 ที่ใช้ยิงทดสอบเท่ากับ 60 นัด

การทดสอบรายการปิดท้ายคือจรวดธนูฟ้า ซึ่งถูกออกแบบให้ยิงสกัดกั้นเป้าหมายระดับความสูงตั้งแต่ 16,000 ฟุตจนถึง 20,000 ฟุต จรวดธนูฟ้าเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้าควรค่าแห่งความภูมิใจ เพราะเป็นจรวดขนาดมาตรฐานขนาด 2.75 นิ้วเหมือนประเทศอื่น กองทัพอากาศทำการวิจัย พัฒนา และสร้างเองทั้งหมด โดยมิได้อาศัยวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศนอกจากวัตถุดิบบางอย่างที่จำเป็นต้องนำเข้า นับเป็นจรวดแบบมาตรฐานโลกที่คนไทย (วพย.ศวท.ทอ.) พัฒนาและสร้างเองทั้งหมดทุกชิ้นส่วน

จรวดธนูฟ้าหนัก 18.3 ปอนด์ ยาว 4.8 นิ้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.75 นิ้ว ระยะยิงไกลสุด 5 ไมล์หรือ 8 กิโลเมตร น้ำหนักหัวรบ 6.5 ปอนด์ ใช้ชนวนแตกอากาศเริ่มทำงานเมื่อยิงออกไปได้ประมาณ 10-15 วินาที ใช้ฐานยิงบรรจุ  4 นัดขนาดเล็กกะทัดรัด

ก่อนหน้านี้โครงการพัฒนาจรวดธนูฟ้าถูกตั้งชื่อว่า แซม-เอ็กซ์โอ ใช้เวลาวิจัยและพัฒนาประมาณ 10 เดือนกระทั่งประสบความสำเร็จเข้าสู่สายการผลิต จรวดธนูฟ้าเป็นจรวดชนวนแตกอากาศที่ระดับความสูง 16,000 ถึง 20,000 ฟุต ใช้หัวรบชนิดฟรักเมนเตชัน (Fragmentation) บรรจุเม็ดโลหะให้ความร้อนสูงถึง 3,300 องศาเซลเซียส เม็ดโลหะจำนวนมากในหัวรบจะแตกกระจายในวงกว้าง เมื่อสำผัสโดนลำตัวเครื่องบินเม็ดโลหะจะเกิดไฟลุกไหม้ทันที

จรวดธนูฟ้าแต่ละนัดสามารถครอบคลุมพื้นที่มากถึ ง 18,000 ตารางเมตร อำนาจทำลายรัศมีทรงกลมโดยรอบประมาณ 50 เมตรหรือเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 เมตร สามารถยิงเป็นฉากสกัดกั้นเครื่องบินข้าศึกที่ระดับความสูง 4,000 ถึง 6,000 ฟุต อำนาจการทำลายจึงเหนือกว่าทั้งจรวดเห่าฟ้า-1 และจรวดเห่าฟ้า-2

       หมายเหตุ : โครงการจรวดเห่าฟ้าถูกพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นจรวดเห่าฟ้า-5 MOD 1 ใช้ขนาด 2.75 นิ้วแบบมาตรฐานโลกเหมือนจรวดธนูฟ้า ส่วนจรวดธนูฟ้าเงียบหายไปเลยไม่มีผลการทดสอบครั้งใหม่ ผู้เขียนคาดเดาเอาเองว่าจรวดธนูฟ้ากลายร่างเป็น จรวดเห่าฟ้า-5 MOD 1 ในปี 2529 เพียงแต่ไม่มีหลักฐานชัดเจนช่วยในการยืนยันข้อมูล

++++++++++++++++

 

อ้างอิงจาก : นิตยสารสงคราม ฉบับวันที่ 20 กรกฎาคม 2525


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น