วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Portuguese Navy M-frigates

 

สาธารณรัฐโปรตุเกสตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปยุโรป เป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การสินธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์และช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกภัยคุกคามจากภายนอก เนื่องจากเป็นชาติเล็กๆ จำนวนประชากรประมาณสิบล้านคน ขนาดกองทัพจึงเล็กตามกันจำนวนทหารเพียงสามหมื่นกว่านาย อาวุธที่มีใช้งานส่วนมากค่อนข้างเก่าไม่ค่อยทันสมัยสักเท่าไร

โปรตุเกสเคยเป็นมหาอำนาจทางการทหารของยุโรป กองเรือของพวกเขายึดครองดินแดนทวีปแอฟริกาก่อนชาติอื่น เส้นทางเดินเรือจากยุโรปไปยังอินเดียโปรตุเกสคือผู้บุกเบิก มีเส้นทางการค้าทางทะเลยาวไกลมากกว่า 15,000 กิโลเมตร รวมทั้งแวะมาเยี่ยมเยียนอยุธยาเพื่อเผยแผ่ศาสนากับทำมาค้าขาย

อดีตกองทัพเรือโปรตุเกสเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกรแต่ทว่าในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งพวกเขาอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด กองเรือตัวเองถูกเรือดำน้ำเยอรมันไล่ยิงอย่างเมามือจมไปถึง 96 ลำ หลังสงครามโลกครั้งที่สองกลับกลายมาเป็นลูกไล่อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส แต่เนื่องมาจากอยู่ในช่วงสงครามเย็นกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จึงมีเรือคอร์เวตกับเรือฟริเกตเข้าประจำการพอสมควร เมื่อสหภาพโซเวียตกับกลุ่มวอร์ซอร์ล่มสลายนาโต้พาลล่มสลายตามกัน สมาชิกทุกประเทศลดงบประมาณทางทหารแบบฮวบฮาบเนื่องจากไม่มีความจำเป็น

กองทัพเรือโปรตุเกสเองถูกหางเลขเข้าไปเต็มๆ  ผู้เขียนขอยกตัวอย่างโดยไม่ได้ไล่เรียงตามวันเวลา

-เรือฟริเกตกับเรือคอร์เวตรุ่นเก่าซึ่งมีปืนใหญ่ 100 มม.เป็นอาวุธหลักนั้น มีแผนการติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบได้ถูกยกเลิกทั้งหมด ลากใช้งานอาวุธเดิมเป็นกองเรือปืนเหมือนเดิมต่อไป

-เรือฟริเกตชั้น Vasco da Gama ซึ่งใช้แบบเรือ Meko 200 จากเยอรมันสร้างขึ้นเพียงเฟสเดียวจำนวน 3 ลำ เฟสที่สองปรับเปลี่ยนเป็นจัดหาเรือฟริเกตมือสองจากเพื่อนบ้านมาใช้งาน

-เรือดำน้ำชั้น Tridente ซึ่งใช้แบบเรือ Type 209PN จากเยอรมันถูกตัดงบจาก 3 ลำเป็น 2 ลำ

-โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Viana do Castelo ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเองจำนวน 10 ลำ เพื่อทดแทนเรือคอร์เวตกับเรือตรวจการณ์รุ่นเก่า อู่ต่อเรือในประเทศเดินหน้าสร้าง 2 ลำแรกในปี 2004 จากนั้นหยุดยาวไป 11 ปีถึงกลับมาเริ่มสร้างเพิ่มเติมอีก 2 ลำ ตอนนี้เข้าประจำการแล้ว 4 ลำส่วนอีก 6 ลำเป็นเพียงแผนการ

เรือฟริเกตมือสองจากเนเธอร์แลนด์

สิ่งที่เกิดขึ้นกับโปรตุเกสเกิดขึ้นกับอดีตคู่รักคู่แค้นเก่าเช่นกัน ก่อนโซเวียตล่มสลายไม่กี่ปีเนเธอร์แลนด์สร้างเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Karel Doorman หรือ M-frigates จำนวน 8 ลำเข้าประจำการ เมื่องบประมาณทางทหารลดลงจำนวนเรือจำเป็นต้องลดตามกัน ระหว่างปี 2004 ถึง 2006 เนเธอร์แลนด์ขาย M-frigates จำนวน 6 ลำออกไปเลือกเก็บ 2 ลำใหม่ที่สุดไว้ประจำการ และหนึ่งในสามลูกค้าผู้โชคดีคือกองทัพเรือโปรตุเกส

เรือฟริเกตมือสอง 2 ลำเข้าประจำการปี 2007 โปรตุเกสตั้งชื่อว่าเรือชั้น Bartolomeu Dias ประกอบไปด้วย Bartolomeu Dias F333 กับ Dom Francisco de Almeida F334 เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 3,320 ตัน ยาว 122 เมตร กว้าง 14 เมตร กินน้ำลึกสุด 6.1 เมตร ระบบขับเคลื่อน CODOG ความเร็วสูงสุด 32 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต รูปร่างหน้าตาปรากฏชัดเจนในภาพประกอบที่หนึ่ง

นี่คือเรือฟริเกต Dom Francisco de Almeida F334 ปืนใหญ่หัวเรือ Oto 76/62  mm Compact ซึ่งทุกคนรู้จักกันดี พื้นที่ว่างหน้าสะพานเดินเรือติดแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีก็จริง แต่ถูกปล่อยโล่งมีเพียงปืนกล 12.7 มม.2 กระบอกกับทุ่นลอยกันเรือกระแทกฝั่ง ทั้งนี้เนื่องมาจากเลือกใช้งานแท่นยิงแนวดิ่ง Mk48 จำนวน 16 ท่อยิง ติดอยู่บริเวณกราบซ้ายเรือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow

เพราะเป็นเรือเนเธอร์แลนด์อุปกรณ์ต่างๆ บนเรือจึงเป็นของ  Signaal ยกชุด ใช้ระบบอำนวยการรบรุ่น DAISY VII เหมือน S-frigates หรือระบบอำนวยการรบ SEWACO FD รุ่นปรับปรุงตามความต้องการเนเธอร์แลนด์ โซนาร์ปราบเรือดำน้ำหัวเรือรุ่น  PHS-36 บนเสากระโดงคือเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SMART-S Mk1 ทำงานร่วมกับเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะไกล LW08 โดยมีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Scout เข้ามาเสริมทัพ

ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.8 จำนวน 2 ตัว ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ APECS II/700 ทำหน้าที่ดักจับและรบกวนการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ (เป็นทั้ง ESM และ ECM) ติดอยู่หน้าสะพานเดินเรือกราบขวากับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์กราบซ้าย ทำงานร่วมกับระบบเป้าลวง Mk 36 SRBOC จำนวน 4 ท่อยิงใกล้ๆ เรือยาง RHIB

มีปืนกล 12.7 มม.อีก 2 กระบอกข้างสะพานเดินเรือ อาวุธปล่อยต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 นัดติดอยู่กลางลำ ถัดไปเล็กน้อยคือท่อยิงแฝดสองตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk 46 ในห้องคลังแสง ระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Goalkeeper อยู่บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ท้ายเรือเป็นระบบเป้าลวงตอร์ปิโด AN/SLQ-25 Nixie แบบลากท้าย มาพร้อมระบบสื่อสารรุ่นใหม่ทันสมัยตรงตามมาตรฐานนาโต้

การปรับปรุงเรือ

          รับเรือมาแล้วโปรตุเกสใช้งานเรือทั้งสองลำในสภาพตามมีตามเกิด  เนื่องจากต้องทุ่มงบประมาณให้กับเรือดำน้ำรุ่นใหม่ติดระบบ AIP จากเยอรมัน วันเวลาผ่านพ้นจนถึงวันที่ 27 เมษายน 2018  มีการเปิดเผยว่าเรือฟริเกตชั้น Bartolomeu Dias ทั้งสองลำจะถูกส่งไปปรับปรุงที่เนเธอร์แลนด์ โครงการนี้จะเสร็จเรียบร้อยภายในปี 2019 เพื่อให้เรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้นทำงานร่วมกับกองเรือนาโต้ได้ และมีอายุประจำการยาวนานถึงปี 2035

          ข่าวในตอนนั้นว่าเช่นนั้นนะครับ เรือมาชมภาพประกอบที่สองกันต่อดีกว่า ภาพบนคือเรือ Bartolomeu Dias F333 จอดในท่าเรือประเทศเนเธอร์แลนด์วันที่ 21 มกราคม 2018 ส่วนภาพล่างเรือลำเดิมถูกถอดอาวุธและเรดาร์ทั้งหมดในวันที่ 19 มิถุนายน 2018 นี่คือการปรับปรุงเรือตามปรกติไม่น่ามีเป็นพิเศษ หลังปรับปรุงแล้วเสร็จเรือจึงเดินทางกลับสู่ดินแม่ ภาพประกอบที่สามคือ Bartolomeu Dias F333 หลังการปรับปรุง

          เรือลำนี้เดินทางถึงโปรตุเกสวันที่ 25 ตุลาคม 2021 มีการเผยแพร่ข่าวและมีพิธีต้อนรับขับสู้กันพอสมควร เมื่อผู้เขียนบวกลบคูณหารแล้วต้องพบกับความประหลาดใจเรือใช้เวลาปรับปรุงถึง 2 ปี 9 เดือน

          เวลา 2 ปี 9 เดือนจีนสร้างเรือฟริเกตได้ 1 ลำแต่เนเธอร์แลนด์ปรับปรุงเรือได้ 1 ลำ

          การปรับปรุงใช้เวลายาวนานจนน่าตกใจ ทว่าผู้เขียนมีเรื่องน่าตกใจมาเล่าขานให้ฟังเป็นตัวอย่าง โปรตุเกสตั้งงบประมาณปรับปรุงเรือลำจำนวน 50 ล้านยูโร ต้องการให้เหมือนเรือเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมให้มากที่สุด เพียงแต่ระบบปราบเรือดำน้ำจะไม่มีโซนาร์ลากจูง VDS ทำงานโหมด Active ของ Ultra Electronics มาพิจารณาจากภาพประกอบไปพร้อมกันว่า Bartolomeu Dias F333 ได้ของใหม่อะไรมาบ้าง

          เริ่มต้นจากเสากระโดงทรงแปดเหลี่ยมใหญ่โตกว่าเดิม เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SMART-S Mk1 กับเรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.8 อยู่ในตำแหน่งเดิม เพิ่มออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงตัวเล็กมากหน้า STIR 1.8 ตัวแรก ใช้ควบคุมปืนใหญ่ 76/62 มม.ในกรณี STIR 1.8 ไม่ว่างกำลังควบคุม Sea Sparrow (หรือไม่ก็ใช้คุมปืนถาวรให้ STIR 1.8 ช่วยส่งข้อมูลเป้าหมาย) เสากระโดงทั้ง 4 ทิศทางติดตั้ง GateKeeper เพิ่มเติมเข้ามา สำหรับตรวจสอบรอบตัวเรือ 360 องศาตลอด 24 ชั่วโมง ทันสมัยกว่ากล้องตรวจการณ์ตอนกลางคืนปรกติทั่วไป

          GateKeeper จะมีทั้งสิ้น 4 ระบบรวมกัน ใน 1 ระบบมีกล้องโทรทัศน์กับกล้องตรวจจับความร้อน 3 ตัววางเรียงกัน ตรวจจับเรือตรวจการณ์ได้ไกลสุด 7 กิโลเมตร เรือยางไกลสุด 2 กิโลเมตร หรือคนว่ายน้ำเข้ามาไกลสุด 600 เมตร เพียงแต่ระบบเลเซอร์วัดระยะถูกตัดออกไปเนื่องจากไม่ได้ใช้ควบคุมการยิง

          ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ระบบรบกวนการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ APECS II หน้าสะพานเดินเรือกราบขวาหายไป แต่เสา AR-700 หรือ HK-253 สำหรับดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ยังคงอยู่ อุปกรณ์อีกหนึ่งชิ้นที่เปลี่ยนใหม่คือจานดาวเทียมสื่อสารใต้เสากระโดง ของใหม่ขนาดเล็กลงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด อุปกรณ์ชิ้นถัดไปที่ได้รับการปรับปรุงก็คือ….เอ่อก็คือเอ่อหมดแล้วครับ

          ใช่ครับการปรับปรุงซึ่งใช้เวลาเวลา 2 ปี 9 เดือนจบสิ้นแต่เพียงเท่านี้

ปัญหาในการปรับปรุงเรือ

          ผู้เขียนเห็นครั้งแรกรู้สึกทันทีว่าน้อยมาก น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับงบประมาณ 50 ล้านยูโร เพื่อให้ปริศนาค้างคาใจถูกขจัดออกไปหมด จึงหาภาพประกอบที่สี่มาให้รับชมเพื่อความชัดเจน

          พี่น้องผู้ถูกชะตากรรมพลัดพรากเจอหน้ากันอีกครั้ง ฝั่งขวามือคือ Bartolomeu Dias F333 ของโปรตุเกส ส่วนฝั่งซ้ายคือ HNLMS Van Amstel F831 แห่งราชนาวีเนเธอร์แลนด์ ให้เวลาผู้อ่านตรวจสอบความแตกต่าง 5 นาทีแล้วกัน ตรงไหนไม่เหมือนเอาปากกามาวงเดี๋ยวผู้เขียนแจกโชคมะลิเงินล้าน

          ติ๊กตอกติ๊กตอกติ๊กตอกติ๊กตอกติ๊กตอก

          ครบเวลาแล้วขอเฉลยเลยแล้วกัน นอกจากโทนสีซึ่งเรือโปรตุเกสค่อนมาทางเขียวอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่แตกต่างกันก็คือเรือเนเธอร์แลนด์มีเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SeaWatcher 100 Active Phased Array Surface Detection And Tracking Radar ฝังรอบเสากระโดงเรือ 4 ทิศทาง ระยะตรวจจับไกลสุด 80 กิโลเมตร สามารถค้นหาเป้าหมายผิวน้ำ 360 องศาตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ควบคุมการลงจอดเฮลิคอปเตอร์ได้ด้วย ใช้เป็นเรดาร์เดินเรือได้ ใช้ตรวจจับเป้าหมายขนาดเล็กๆ บนผิวน้ำอาทิเช่นทุ่นระเบิดได้

          โปรตุเกสต้องการ SeaWatcher 100 ซึ่งใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ เสากระโดงเรือจึงถูกปรับปรุงให้เหมือน HNLMS Van Amstel F831 ของเนเธอร์แลนด์ โชคร้ายเหลือกิน SeaWatcher 100 ไม่มาตามนัดหมาย อุปกรณ์ชิ้นนี้รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ สีอ่อนเล็กน้อย อยู่เหนือ GateKeeper ซึ่งมีตำแหน่งติดตั้งแปลกๆ ไม่มากนัก

          ข้อแตกต่างระหว่างเรือสองลำอีกอย่างก็คือ อุปกรณ์ดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์ Vigile APX ซึ่งจะติดหน้าและหลังเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ SMART-S Mk1 ซึ่งเป็น ESM รุ่นใหม่ล่าสุดทันสมัยที่สุดของ THALES

          ทำไม SeaWatcher 100 กับ Vigile APX ESM ไม่มาตามนัด?

          ผู้เขียนสามารถอธิบายได้ด้วยคำว่า เงินไม่มางานไม่เดิน

โปรตุเกสตั้งงบประมาณเพียงพอสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยทั้งหมด บังเอิญเมื่อเรือลำแรกของตัวเองเริ่มปรับปรุงได้เพียงเล็กน้อย พวกเขาไม่ได้จ่ายเงินก้อนที่สองให้อู่ต่อเรือเอกชนเนเธอร์แลนด์ การปรับปรุงจึงถูกดองเค็มอย่างเลี่ยงไม่ได้ เรือจอดนิ่งในอู่แห้งโดยเปลี่ยนเสากระโดงใหม่แล้ว ต่อมาไม่นานรัฐบาลโปรตุเกสยื่นข้อเสนอใหม่ให้ โดยการตัด SeaWatcher 100 กับ Vigile APX ESM ออกไป เรื่องราวจึงได้จบลงด้วยประการฉะนี้

Vigile APX ESM ติดตั้งเพิ่มเติมในภายหลังได้ง่ายมาก เรือเนเธอร์แลนด์ช่วงแรกยังคงใช้งาน เสา AR-700 ไปก่อนเช่นกัน แต่ SeaWatcher 100 คงไม่มาแน่นอนแล้วล่ะครับ

เรือลำที่สอง Dom Francisco de Almeida F334 ตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง มีกำหนดเดินทางกลับระหว่างปี 2022 ถ้าไม่เกิดคดีพลิกเสียก่อน อุปกรณ์ที่ถูกปรับปรุงเหมือน Bartolomeu Dias F333 ร้อยเปอร์เซ็นต์

บทสรุปปิดท้าย

เรือฟริเกตชั้น Bartolomeu Dias ต้องประจำการถึงปี 2035 เป็นอย่างต่ำ พิจารณาเพียงเท่านี้ผู้เขียนคงบอกว่ากองทัพเรือโปรตุเกสอาการหนัก นอกจากเรือดำน้ำที่เหลือไม่มีความน่าเกรงขามสักลำ แต่หากพิจารณาโดยนำแผนที่กับนาโต้เข้ามาข้องเกี่ยว พบว่าภัยคุกคามเดียวของโปรตุเกสอาจเป็นโมรอคโค  แม้มีความเป็นไปได้น้อยมากจนถึงน้อยมากที่สุดก็ตาม กองเรือผิวน้ำสูสีกันก็จริงแต่โมรอคโคไม่มีเรือดำน้ำ ที่สำคัญสเปนกับฝรั่งเศสอยู่ห่างออกไปหน่อยเดียว สองชาติเป็นสมาชิกนาโต้ย่อมมาช่วยเหลือโปรตุเกสแน่นอน

มีเรื่องน่าสนใจเล็กน้อยมาฝากในช่วงท้ายบทความ เรือฟริเกตชั้น Brandenburg หรือ F123 ของเยอรมันกับเรือฟริเกตชั้น Bartolomeu Dias ของโปรตุเกส เรือทั้งสองลำสร้างห่างกันเพียงไม่กี่ปี ใช้ระบบเรดาร์เหมือนกัน 85 เปอร์เซ็นต์ ใช้ระบบอาวุธเหมือนกัน 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นเรือมาตรฐานนาโต้จากยุคเดียวกันพูดแบบนี้ก็คงได้ ปรับปรุงใหญ่เรือโปรตุเกส SeaWatcher 100 ไม่มาด้วยซ้ำ ส่วนเรือเยอรมันถอดระบบเรดาร์ของ THALES ออกทั้งหมดแล้วใส่ SAAB เข้ามาแทน ค่าปรับปรุงเรือย่อมแตกต่างกันตามเงินในกระเป๋าสตางค์

บทความนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจ ค่อนข้างหดหู่รันทดใจเสียมากกว่า ที่ผู้เขียนเลือกนำมาเสนอเนื่องจากทุกชาติไม่ว่ารวยหรือจนเล็กหรือใหญ่ มีโอกาสถังแตกไม่เหลือเงินปรับปรุงกองทัพมากน้อยว่ากันไป รวมทั้งประเทศไทยซึ่งกู้เงินมาใช้สอยช่วงโควิคระบาดกี่ล้านล้านบาทจำไม่ได้เหมือนกัน

ให้ความสนใจเรื่องพวกนี้บ้างก็ดี บางทีเรือหลวงตากสินอาจประจำการถึงปี 2040 โน่น

                                        +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

https://www.seaforces.org/marint/Portuguese-Navy/Frigate/F-333-NRP-Bartolomeu-Dias.htm

https://www.seaforces.org/marint/Portuguese-Navy/Frigate/F-334-NRP-Francisco-de-Almeida.htm

https://marineschepen.nl/schepen/kareldoorman.html

https://www.maritimequest.com/warship_directory/netherlands/pages/hnlms_van_nes_f833_page_1.htm

https://www.navaltoday.com/2018/04/27/portuguese-navy-frigate-to-undergo-midlife-upgrade/

https://www.defesaaereanaval.com.br/tag/nrp-bartolomeu-dias-f-333

https://shisportting.com

https://twitter.com/MarinhaPT/status/1452643407030067203

 

 

 

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Battle of Phuket

 สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ต

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเดินทางมาถึงกลางปี 1944 ญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำต่ออเมริกาและอังกฤษ ทหารจำนวนมากต้องเสียชีวิตรวมทั้งนักบินฝีมือฉกาจ ดินแดนในครอบครองถูกแย่งชิงกลับคืนทีละแห่งๆ ญี่ปุ่นได้พัฒนาอาวุธร้ายแรงชนิดใหม่ขึ้นมาต่อกร ใช้ชื่อเรียกว่ากามิกาเซ่หรือ Kamikaze แปลว่าพายุเทพเจ้า

กามิกาเซ่คือกองกำลังจู่โจมพิเศษรูปแบบใหม่ ใช้การโจมตีแบบพลีชีพโดยขับเครื่องบินพุ่งชนฝ่ายตรงข้าม เริ่มปฏิบัติการครั้งแรกเดือนตุลาคม 1944 แม่นยำกว่าระเบิดหรือตอร์ปิโดทุกชนิด สร้างความเสียหายได้มากกว่า ทำลายขวัญกำลังใจฝ่ายตรงข้ามได้ดีกว่า ผลสำเร็จจากการโจมตีอยู่ที่ประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้อ่านสักเรื่อง เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Bunker Hill ขนาด 36,000 ตันของอเมริกา วันที่ 11พฤษภาคม 1945 ถูกโจมตีด้วยกามิกาเซ่จำนวน 2 ลำ ส่งผลให้เกิดไฟไหม้อย่างรุนแรงบนดาดฟ้า ลูกเรือเสียชีวิต 389 รายสูญหาย 264 ราย เรืออาจไม่จมก็จริงแต่ไม่สามารถทำภารกิจได้อีกต่อไป

ปรกติเรือลำไหนถูกโจมตีด้วยกามิกาเซ่ ถ้าไม่จมก็ต้องเสียหายหนักกลายเป็นภาระเพื่อนๆ ให้บังเอิญมีเรือรบลำหนึ่งแห่งราชนาวีอังกฤษ ถูกกามิกาเซ่ลำหนึ่งพุ่งชนกราบเรือฝั่งซ้ายแบบเต็มเหนี่ยว ทว่าเรือกลับมีแค่เพียงรอยประทับตรายางรูปเครื่องบิน ปรากฏอยู่บนภาพประกอบที่หนึ่งของบทความ

หลักฐานที่กราบเรือชัดเสียยิ่งกว่าชัด มองเห็นแม้กระทั่งฐานล้อเครื่องบินญี่ปุ่น ผู้อ่านคงอยากรับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว ทว่าผู้เขียนมีทีเด็ดครูวัยใหญ่มาบอกกล่าวเล็กน้อย

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเขตน่านน้ำไทย บริเวณชายฝั่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากเกาะภูเก็ต

อยากอ่านกันแล้วใช่ไหมถ้าเช่นนั้นทุกคนตามข้าพเจ้ามา

ภูเก็ตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

          สงครามโลกครั้งที่สองในไทยเริ่มปะทุวันที่ 8 ธันวาคม 1941 ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารยกพลขึ้นบกพร้อมกันหลายจุด มีการปะทะกันก่อนทหารทั้งสองฝ่ายได้รับคำสั่งหยุดยิง รัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นผ่านทางไปยังพม่าและมลายู รวมทั้งเข้าร่วมสงครามในภายหลังจะด้วยเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

ช่วงเวลาดังกล่าวภูเก็ตมีความสำคัญในระดับหนึ่ง ญี่ปุ่นส่งทหารกับพลเรือนมาตั้งค่ายกองสำรวจแผ่นที่บนเกาะ มีเรือสลุปขนาด 1,500 ตันพร้อมเครื่องหยั่งน้ำบนเรือ เพื่อสำรวจร่องน้ำต่างๆ ในอ่าวพังงาและภูเก็ต อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางขนส่งปีนัง-ร่างกุ้ง เชื่อมโยงดินแดนมลายูกับพม่าของตัวเองไว้ด้วยกัน

สองปีแรกเส้นทางเดินเรือไม่มีปัญหากวนใจ ญี่ปุ่นใช้เรือกับเครื่องบินจำนวนมากดูแลคุ้มกัน ต่อมาไม่นานเมื่อสายลมเริ่มเปลี่ยนทิศทาง เรือลำเลียงจำนวนมากถูกเรือดำน้ำอังกฤษยิงจม กำลังทางเรือของญี่ปุ่นมีขนาดลดลง เรือปราบเรือดำน้ำ เรือพิฆาต หรือเครื่องบินทะเลย้ายมาอยู่ฐานทัพเรือปีนังแห่งเดียว

การลำเลียงยุทธปัจจัยระหว่าง ปีนัง-วิคตอเรียพอยต์-มะริด-ร่างกุ้ง เปลี่ยนมาใช้เรือกลไฟขนาดเล็กกับเรือใบลำเลียงติดเครื่องยนต์สร้างด้วยไม้ ญี่ปุ่นใช้เรือยามฝั่งขนาดเล็กทำหน้าที่คุ้มกันเส้นทาง มีปืนกลหนักที่หัวเรือกับตอร์ปิโดที่ท้ายเรือเป็นเขี้ยวเล็บ เห็นเล็กๆ แบบนี้เรือดำน้ำลำหนึ่งเคยถูกเผด็จศึกมาแล้ว

เส้นทางลำเลียงใช้วิธีเดินเรือเลียบชายฝั่ง ป้องกันตัวเองจากเรือดำน้ำอังกฤษหอกข้างแคร่ และหลบคลื่นลมแรงในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่ถึงกระนั้นเรือลำเลียงญี่ปุ่นยังถูกยิงจมอยู่เป็นประจำ โดยลำใหญ่ที่สุดชื่อไทงะมารูระวางขับน้ำ 700 ตัน ถูกยิงจมด้วยตอร์ปิโดมากกว่าหนึ่งนัดมีหลักฐานชัดเจน

ผู้เขียนขอเขียนถึงเรื่องราวฝั่งประเทศไทยบ้าง การเดินทางจากกรุงเทพมาที่ภูเก็ตยังสามารถทำได้ ใช้วิธีโดยสารรถไฟจากหัวลำโพงมาลงสถานีกันตังจังหวัดตรัง สองทุ่มตรงขึ้นเรือโดยสารสาย กันตัง-กระบี่-พังงา-ภูเก็ต ใช้เรือหลวงถลางลำที่หนึ่งเป็นพาหนะ ถึงจุดหมายปลายบนเกาะใหญ่เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น

เรือหลวงถลางมีระวางขับน้ำ 920 ตัน ยาว 53.3 เมตร กว้าง 10.7 เมตร กินน้ำลึก 2.8 เมตร เป็นเรือเหล็กลำเดียวของไทยในเขตภาคใต้ ช่วยให้เส้นทางเดินเรือในประเทศยังคงใช้งานได้ ส่วนเส้นทางเดินเรือนอกประเทศ ภูเก็ต-ปีนังถูกยกเลิกอย่างไม่เป็นทางการ เจ้าของเรือเอกชนรายไหนอยากเสี่ยงภัยก็แล้วแต่ดวง

กองทัพเรือมีเรือประจำการที่ภูเก็ตเพียงลำเดียว ชื่อเรือหลวงสารสินธุลำที่หนึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ประมง ระวางขับน้ำเพียง 50 ตัน ยาว 22 เมตร กว้าง 4 เมตร กินน้ำลึก 1 เมตร ติดปืนขนาด 37/20 มม.ที่หัวเรือ 1 กระบอก ทำหน้าที่ตรวจจับเรือประมงต่างชาติลักลอบเข้ามาหาปลา

ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 1944 กองทัพเรือจัดตั้ง หน่วยทหารเรือภูเก็ต ขึ้นมา มีการก่อสร้างสนามบินน้ำในอ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต ทำหน้าที่ลาดตระเวนฝั่งมหาสุมทรอินเดีย และบินคุ้มกันเส้นทางเดินเรือกันตัง-ภูเก็ตจากเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตร โดยใช้เครื่องบินทะเล บรน.2 และหรือบรน.3 ในการทำภารกิจ

ผู้อ่านอาจมีข้อสงสัยในใจว่า เครื่องบินทะเลป้องกันภัยจากเรือดำน้ำได้เช่นไร?

คืออย่างนี้ครับกองทัพเรืออังกฤษใช้เรือดำน้ำ 2 แบบในการโจมตี แบบที่หนึ่งเรือดำน้ำชั้น S ระวางขับน้ำ 930 ตันระหว่างดำน้ำ ยาว 61.72 เมตร กว้าง 7.3 เมตร ติดตั้งตอร์ปิโด 533 มม.จำนวน 6 ท่อยิง ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.1 กระบอก และปืนกล 20 มม.อีก 1 กระบอก แบบที่สองเรือดำน้ำชั้น T ระวางขับน้ำ 1,575 ตันระหว่างดำน้ำ ยาว 84.28 เมตร กว้าง 7.7 เมตร ติดตั้งตอร์ปิโด 533 มม.จำนวน 6 ท่อยิง ปืนใหญ่ขนาด 100 มม.1 กระบอก และปืนกล 20 มม.อีก 1 กระบอก สามารถติดตอร์ปิโดมนุษย์นอกตัวเรือได้อีก 2 ลำ

ในการโจมตีถ้าเป็นเรือใหญ่จะใช้ตอร์ปิโด ปัญหาก็คือญี่ปุ่นมีเพียงเรือกลไฟขนาดเล็กกับเรือใบสร้างจากไม้ ตอร์ปิโดขนาด 533 มม.มักวิ่งลอดใต้ท้องเรือญี่ปุ่นรวมทั้งไทย เรือดำน้ำอังกฤษจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ ทำลายเรือเป้าหมายด้วยปืนใหญ่พร้อมกับช่วยเหลือลูกเรือขึ้นฝั่ง

เครื่องบินทะเล บรน.2 หรือนากาชิมา หรือ Nakajima E8N Dave เป็นเครื่องบินทะเลทุ่นเดี่ยวติดปืนกล 7.7 มม.จำนวน 2 กระบอก บรรทุกระเบิดขนาด 30 กิโลกรัมได้อีก 2 ลูก ส่วนเครื่องบินทะเล บรน.3 หรือซีโร่ หรือ Aichi E13A Jake เป็นเครื่องบินทะเลทุ่นคู่ติดปืนกล 7.7 มม.จำนวน 2 กระบอก บรรทุกระเบิดขนาด 60 กิโลกรัมได้อีก 2 ลูก ป้องกันตนเองได้ดีในระดับหนึ่ง และทำลายเรือข้าศึกได้ด้วยลูกระเบิด

บรน.2 กับ บรน.3 สามารถโจมตีเรือดำน้ำอังกฤษได้ ในการคุ้มกันจะทำงานร่วมกับเรือยามฝั่ง ทั้งเรือไทยและเรือญี่ปุ่นซึ่งมีตอร์ปิโดเป็นไม้เด็ด ผู้บังคับฝูงบินประจำฐานอ่าวมะนาวเขียนถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อกองบินทหารเรือประจำการเครื่องบินทะเลติดอาวุธ เรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรไม่สามารถโจมตีเรือพาณิชย์ไทยได้อีกเลย

The Empire Strikes Back

          อังกฤษสูญเสียพม่ากับมลายูให้กับญี่ปุ่นตั้งแต่ปลายปี 1941 นับจากวันนั้นพวกเขาต้องวุ่นวายอยู่กับการรบในยุโรป จนกระทั่งเยอรมันยอมแพ้แบบไร้เงื่อนไขในวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 อังกฤษได้ริเริ่มแผนการโต้กลับญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบ ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งหมู่เกาะใกล้เคียง

          สถานการณ์ฝั่งนี้อังกฤษเข้าพม่าได้แล้ว ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากถอยร่นกลับมาตั้งหลักในไทย แต่เป้าหมายสำคัญอยู่ที่มลายูอดีตดินแดนในอาณานิคม โดยมีทหารญี่ปุ่นฝีมือดีทั้ง 3 เหล่าทัพเป็นก้างขวางคอ

อังกฤษใช้เวลา 4 เดือนฝึกฝนกำลังทหารอย่างหนัก เพื่อให้ทุกคนพร้อมทำภารกิจใหญ่ในอนาคต ต่อมาในเดือนมิถุนายนจึงได้จัดกองเรือเฉพาะกิจขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินหลายลำ เรือประจัญบาน เรือลาดตระเวน เรือพิฆาต และเรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวนมาก เดินทางสู่พื้นที่เป้าหมายเพื่อกวาดล้างทหารญี่ปุ่น โดยการทำภารกิจเล็กภารกิจน้อยไปตลอดเส้นทาง เริ่มต้นจากเกาะสุมาตรามาสิ้นสุดที่แหลมมลายู

หนึ่งในภารกิจเล็กภารกิจน้อยของอังกฤษก็คือจังซีลอนเกาะขนาดใหญ่ที่สุดของไทย

วันที่ 19 กรกฎาคม 1945 กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 อันประกอบไปด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำ เรือประจัญบาน 1 ลำ เรือลาดตระเวน 1 ลำ เรือพิฆาต 4 ลำ กับกวาดทุ่นระเบิด 5 ลำ ทำการแยกตัวออกมาจากกองเรือหลัก มุ่งตรงมายังน่านน้ำภูเก็ตเพื่อทำภารกิจสำคัญใช้ชื่อว่า ‘Operation LIVERY’

ก่อนเข้าสู่ปฏิบัติการผู้เขียนปูเรื่องเล็กน้อย ภูเก็ตระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองคล้ายดั่งแหล่งรวมจอมยุทธ เรือรบหลายชาติแวะมาเยี่ยมเยียนต่างกรรมต่างวาระ เรือบางลำพลาดท่าเสียทีให้ข้าศึกต้องจมดิ่งสู่ก้นทะเล

อังกฤษเองให้ความสนใจเกาะภูเก็ตไม่แพ้ชาติอื่น วันที่ 3 มกราคม 1945 พวกเขาส่งเรือดำน้ำมาวางทุ่นระเบิดชนิดทอดประจำใกล้อ่าวภูเก็ตจำนวน 50 ลูก โดยวางสองแนวแนวละ 25 ลูกระยะระหว่างลูก 250 ฟุต ตั้งความลึกไว้ที่ 6-8 ฟุต ต่างจากเกาะตะรุเตาซึ่งวางทุ่นระเบิดแบบอิทธิพลจำนวน 8 ลูก ที่เป็นเช่นนั้นผู้เขียนเดาว่าเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเรือตัวเอง รู้ตำแหน่งทุ่นระเบิดชัดเจนจะได้ไม่เกิดเหตุถล่มพวกเดียวกัน

การวางทุ่นระเบิดยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนยกพลขึ้นบกภูเก็ต กวาดล้างทหารญี่ปุ่นยึดครองพื้นที่และตัดเส้นทางลำเลียงระหว่างปีนังกับร่างกุ้ง ใช้เป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงทหารญี่ปุ่นทั้งในมลายู ประเทศไทย และพม่า อังกฤษจริงจังเรื่องนี้มากมีการตั้งชื่อปฏิบัติการว่า Operation ROGER โผล่ขึ้นมาพร้อมแผนยกพลขึ้นบกกรุงร่างกุ้งประเทศพม่า ซึ่งถูกตั้งชื่อปฏิบัติการว่า Operation DRACULA

ปัญหาของอังกฤษมีด้วยกันสองประการใหญ่ๆ หนึ่งเรือยกพลขึ้นบกน้อยไปบุกสองจุดพร้อมกันไม่ได้ และสองควรทำภารกิจให้เรียบร้อยก่อนเดือนมิถุนายน มิฉะนั้นจะต้องเผชิญคลื่นลมแรงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ท้ายที่อังกฤษเลือกบุกร่างกุ้งทางบกโดยใช้ทหารจากอินเดีย และลักลอบส่งคนมาสำรวจพื้นที่เตรียมบุกยึดภูเก็ต บังเอิญการสู้รบในพม่ากลับไม่เป็นดั่งใจหวัง ทหารราบ 2 กองพล นาวิกโยธิน 1 กองพลน้อยซึ่งเตรียมขึ้นฝั่งเกาะใหญ่ ต้องเปลี่ยนเส้นทางมุ่งสู่แม่น้ำร่างกุ้งเพื่อทำปฏิบัติการ Operation DRACULA

วันที่ 2 พฤษภาคม 1945 ร่างกุ้งเต็มไปด้วยทหารอังกฤษจำนวนมาก ถัดมาไม่กี่วันฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มาเยือนทะเลอันดามัน Operation ROGER ถูกยกเลิกภูเก็ตรอดตายแบบโชคช่วย

เดือนพฤษภาคม Operation ROGER ถูกยกเลิก เดือนมิถุนายนอังกฤษเดินหน้าแผนบุกแหลมมลายู โดยใส่ภารกิจ Operation LIVERY เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อโจมตีสนามบินกับค่ายทหารญี่ปุ่นบนเกาะภูเก็ต และกวาดทุ่นระเบิดญี่ปุ่นในน่านน้ำให้มากที่สุด เป็นการกรุยทางให้กับการยกพลขึ้นบกหลังฤดูมรสุม

เรือรบสำคัญในกองเรือเฉพาะกิจที่ 63

เรามารู้จักตัวละครสำคัญในบทความกันสักนิด เริ่มตันจากเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer (D01) กับ HMS Empress (D42) ทั้งสองลำเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็ก ระวางขับน้ำ 7,800 ตัน ยาว 151.05 เมตร กว้าง 21.18 เมตร กินน้ำลึก 7.9 เมตร ติดตั้งปืนกล 40 มม.กับ 20 มม.เป็นอาวุธป้องกันตัว บรรทุกเครื่องบินได้ 24 ลำหรือ 1 ฝูงบินพอดิบพอดี ขนาดไม่ใหญ่เท่าไรการสร้างเรือไม่ยุ่งยากกินเวลาไม่นาน

อเมริกาสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดเล็กมอบให้อังกฤษจำนวน 24 ลำ ใช้งานทดแทนเรือเดิมซึ่งจมหรือเสียหายอย่างหนัก HMS Ameer คือเรือลำแรกของกลุ่มรับมอบในปี 1943 จึงถูกนำชื่อมาตั้งชื่อกลุ่มเรือตามธรรมเนียม มาพร้อมเครื่องบินประจำเรือจากอเมริกาเช่นกัน ก่อนออกเดินทางฝูงบิน 804 ถูกคัดเลือกให้มาประจำการบน HMS Ameer พร้อมเครื่องบิน Grumman Hellcat II ของอเมริกาซึ่งค่อนข้างใหม่และทันสมัย

ก่อนมาประเทศไทย HMS Ameer กับ HMS Empress เข้าร่วมกองเรือเฉพาะกิจที่ 62 ส่งเครื่องบินโจมตีค่ายทหารญี่ปุ่นบนเกาะสุมาตราแบบวันเวย์ รวมทั้งช่วยคุ้มกันกองเรือกวาดทุ่นระเบิดของตัวเอง เสร็จเรียบร้อยถึงมารวมกลุ่มกองเรือเฉพาะกิจที่ 61 ซึ่งประสบปัญหาระหว่างเดินทางล่าช้าเล็กน้อย

ตัวละครสำคัญลำที่สองคือเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex เป็นเรือชั้น County กลุ่มสองหรือเรือชั้น London เข้าประจำการปี 1929 ระวางขับน้ำเต็มที่ 13,315 ตัน ยาว 193 เมตร กว้าง 20 เมตร กินน้ำลึก 6.4 เมตร มีปืนใหญ่ 203 มม.จำนวน 8 กระบอกกับตอร์ปิโด 533 มม.8 ท่อยิงเป็นอาวุธปราบเรือผิวน้ำ มีปืนใหญ่ 102 มม. 4 กระบอก กับปืนกล 40 มม.แฝดสี่ 2 กระบอกและลำกล้องเดี่ยว 2 กระบอกไว้ต่อสู้อากาศยาน

HMS Sussex ทำหน้าที่คุ้มกันกองเรือร่วมกับเรือประจัญบาน HMS Nelson (28) เรือที่สวยที่สุดในโลก เดินทางจากอังกฤษไปทำภารกิจที่เมดิเตอร์เรเนี่ยนก่อน เสร็จเรียบร้อยจึงตียาวมาร่วมทีมดิอเวนเจอร์สในภายหลัง การบุกเกาะภูเก็ตถือเป็นการประเดิมสนามแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดิอเวนเจอร์สหรือกองเรือเฉพาะกิจที่ 63 รวมทีมออกเดินทางวันที่ 19 กรกฎาคม 1945 นี่คือภาพถ่ายจากเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer มองเห็นเครื่องบิน Grumman Hellcat II ฝูงบิน 804 จำนวนหนึ่งจอดอยู่บนลานบิน ติดปืนกล 12.7 มม.จำนวน 6 กระบอกไว้ป้องกันตัว บรรทุกระเบิดหรือจรวดไม่นำวิถีได้ถึง 1,800 กิโลกรัม เทียบกันตัวต่อตัวเครื่องบินทะเล บรน.2 หรือ บรน.3 เราตกเป็นรองอย่างชัดเจน

โปรดสังเกตเรือเล็กแล่นประกบ HMS Ameer กลางภาพ นี่คือเรือกวาดทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ชั้น Algerine แต่ไม่แน่ใจว่าชื่ออะไร เรือชั้นนี้ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,125 ตัน ยาว 78 เมตร กว้าง 10.8 เมตร กินน้ำลึก 3.5 เมตร นอกจากอุปกรณ์สำหรับจัดการทุ่นระเบิดท้ายเรือ ยังมีปืนใหญ่ 102 มม. 1 กระบอก กับปืนกล 20 มม.4 กระบอกไว้ป้องกันตัว ประเทศไทยมีประจำการจำนวน 1 ลำคือเรือหลวงโพธิ์สามต้นนั่นเอง

เพราะความใหญ่โต ทนคลื่นลมได้ดี และติดอาวุธพอสมควร หลายชาตินำเรือชั้น Algerine มาใช้งานเป็นเรือคอร์เวตหรือเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ ประเทศไทยเราไม่ยอมน้อยหน้าใครเช่นกัน ช่วงเวลาที่ลูกประดู่ขาดแคลนเรือรบขนาดใหญ่ เรือหลวงโพธิ์สามต้นเคยย้ายไปสังกัดกองเรือฟริเกตมาแล้ว

บทความนี้ถ้า HMS Sussex เป็นพระเอก HMS Ameer เป็นนางเอก เรือชั้น Algerine จะเป็นแฟนเก่าพระเอกผู้เสียสละ ส่วนเครื่องบินรบญี่ปุ่นเป็นแฟนเก่านางเอกตัวโกงตามท้องเรื่อง

สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ต

 วันที่ 24 กรกฎาคม 1945 กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 บุกเข้าสู่อ่าวภูเก็ต โดยแบ่งกำลังเป็น 2 ส่วนเพื่อจัดการเป้าหมายตามภารกิจ กำลังส่วนแรกถล่มข้าศึกให้แหลกเป็นจุณ เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ส่งฝูงบิน 804 ไปทิ้งระเบิดใส่สนามบิน ค่ายทหาร เส้นทางสัญจรบนเกาะ รวมทั้งเรือน้อยใหญ่ โดยมี HMS Sussex กับ HMS Nelson และเรือพิฆาต 2 ลำทำหน้าที่คุ้มกัน นี่คือการโจมตีแบบวันเวย์ฝ่ายตรงข้ามไม่มีโอกาสป้องกันตัว

กำลังส่วนที่สองเข้ามาจัดการทุ่นระเบิดตามเส้นทางเดินเรือ ใช้เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Algerine จำนวน 5 ลำทำงานพร้อมๆ กัน มีเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Empress กับเรือพิฆาตอีก 2 ลำทำหน้าที่คุ้มกัน

ผลการโจมตีปรากฏตามภาพถ่ายจากนักบิน Hellcat II ฝูงบิน 804 บังเอิญคนนำภาพมาลงไม่แน่ใจว่าภูเก็ตหรือสุมาตรา ผู้เขียนตรวจสอบภาพถ่ายใบอื่นจากเซตเดียวกันพบว่า ภาพทุกใบมาจากสงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ต จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าภาพทั้ง 3 ใบมาจากภูเก็ตเช่นกัน

การโจมตีวันแรกไม่ได้รับการต่อต้านจากฝ่ายญี่ปุ่น ทว่าอังกฤษต้องสังเวยเรือกวาดทุ่นระเบิดชื่อ HMS Squirrel ให้กับทะเลภูเก็ต ลูกเรือ HMS Empress เขียนรายงานว่าอยู่ดีๆ เรือลำนี้ก็หายไป เข้าใจว่าแล่นชนทุ่นระเบิดแต่ไม่ทราบของชาติไหน ทุ่นระเบิดอังกฤษชนิดทอดประจำก็จริง ทว่ามีโอกาสหลุดออกมาสร้างอันตรายได้เช่นกัน เพราะต้องเผชิญคลื่นลมแรงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งแรงเสียจนตัวเองยังไม่กล้ายกพลขึ้นบก

วันที่ 25 กรกฎาคม 1945 การโจมตีเป็นแบบวันเวย์อีกครั้ง อังกฤษไม่มีความสูญเสียทั้งเรือและเครื่องบิน วันที่ 26 กรกฎาคม 1945 วันสุดท้ายของ Operation LIVERY มีการเปลี่ยนแปลงแผนให้ HMS Sussex กับ HMS Nelson ช่วยคุ้มกันเรือกวาดทุ่นระเบิด เนื่องจากวันนี้ต้องทำหน้าที่เก็บกวาดใกล้ฝั่ง อาจถูกทหารญี่ปุ่นบนเกาะยิงถล่มตอนไหนก็ได้ ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 2 ลำส่งเครื่องบินไปถล่ม Kra Isthmus หรือคอคอดกระ

เวลาประมาณ 18.25 .ผู้บัญชาการกองเรือตั้งใจแจ้งเรือทุกลำว่าช้อยเก็บฉาก ทันใดนั้นเองมีเครื่องบินรบญี่ปุ่น 3 ลำปรากฏตัวเหนือน่านน้ำภูเก็ต มุ่งตรงมายังเรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex เป้าหมายขนาดใหญ่

แผนโต้กลับกองทัพบกญี่ปุ่น

เมื่อเครื่องบินรบญี่ปุ่นบุกโจมตีพร้อมกัน กัปตันเรือ HMS Sussex  สั่งการให้ปืนทุกกระบอกระดมยิงใส่เป้าหมาย เครื่องบินความเร็วเต่ากัดยาง 2 ลำพลาดท่าเสียที บังเอิญเครื่องบินลำที่สามซึ่งบินต่ำมาทางกราบซ้าย เล็ดลอดกระสุนมากมายพุ่งชนกลางเรือค่อนมาทางท้าย ใกล้เสากระโดงรองใต้ป้อมปืนกล 40 มม.แฝดสี่

ผลการโจมตีกราบซ้ายเรือมีรอยประทับตรายางรูปเครื่องบินก็จริง ทว่าเรือแค่เสียหายเล็กน้อยไม่มีลูกเรือบาดเจ็บ ตรวจสอบภายหลังพบว่าเป็นเครื่องบิน Mitsubishi Ki-51 กองทัพบกญี่ปุ่น

ในภาพประกอบฝั่งซ้ายมือคือ HMS Sussex  กับภาพกราฟิกเครื่องบิน Ki-51 ขณะพุ่งชน ภาพขวามือคือ USS Sterett (DD-407) เรือพิฆาตชั้น Benham กองทัพเรืออเมริกา ระวางขับน้ำเพียง 1,500 ตันเล็กกว่ากันพอสมควร ถูกกามิกาเซ่โจมตีเกิดเป็นรูใหญ่กราบขวาหัวเรือ อันเป็นผลสืบเนื่องจากหลายปัจจัยด้วยกัน

ทำไมการโจมตีแบบกามิกาเซ่ที่ภูเก็ตถึงไม่ได้ผล?

เรื่องราวในอ่าวภูเก็ตแตกเป็นแม่น้ำหลายสาย หลายคนบอกว่าเครื่องบิน Ki-51 พุ่งชนเกราะข้างเรือหรือ Belt Armor ค่อนข้างหนา จึงมีแค่เพียงรอยแมวข่วนให้คนทั่วโลกฮือฮา หลายคนค้านว่า HMS Sussex  มี Belt Armor ก็จริงแต่บางมาก จุดที่เครื่องบินพุ่งชนเป็นเพียงแผ่นเหล็กหนา 1 นิ้ว บังเอิญเป็นจุดที่แผ่นเหล็กสองแผ่นประกบกัน แรงปะทะจึงถูกหารสองความเสียหายย่อมน้อยกว่าเหล็กแผ่นเดียว

กองทัพเรืออเมริกาให้ความสนใจ HMS Sussex เป็นพิเศษ มีการเปรียบเทียบกับเรือตัวเองซึ่งถูกกามิกาเซ่โจมตี มีการวิเคราะห์ตามหลักคณิตศาสตร์บวกวิทยาศาสตร์ ได้ผลสรุปโน้มเอียงมาทางขนาดกับความเร็วเครื่องบิน ลำไหนใหญ่กว่าความเร็วสูงกว่าย่อมสร้างความเสียหายได้มากกว่า

Mitsubishi Ki-51 คือเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดเล็ก จำนวนสองที่นั่งบรรทุกระเบิดได้เพียง 200 กิโลกรัม ออกแบบให้บุกโจมตีข้าศึกแบบดำดิ่ง ต้องบินช้าหน่อยเพื่อเล็งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ความเร็วสูงสุดทำได้เพียง 424 กิโลเมตร ช้ากว่าเครื่องบินทะเลกองทัพเรือไทยเสียด้วยซ้ำ Ki-51 พุ่งชนเรือลาดตระเวนด้วยความเร็วค่อนข้างต่ำ (จริงๆ เกือบบินตกทะเล) ความเสียหายมีเพียงน้อยนิดตามหลักคณิตศาสตร์บวกวิทยาศาสตร์

แนวคิดสุดท้ายได้รับความเห็นชอบอย่างแพร่หลาย เนื่องจากในที่เกิดมีหลักฐานสำคัญช่วยยืนยันชัดเจน นักบินญี่ปุ่นบนเครื่องแค่บาดเจ็บไม่ถึงกับสาหัส ลูกเรือ HMS Sussex ช่วยขึ้นมาจากทะเลอันดามันสำเร็จ

กลับมาที่การรบเหนือน่านน้ำภูเก็ตอีกครั้ง เมื่อการโจมตีระลอกแรกผ่านพ้นไป ต่อมาไม่นานมีเครื่องบิน Ki-51 จำนวนหลายลำ บินข้ามเกาะเข้ามาโจมตี  HMS Sussex ระลอกสอง แต่ถูกห่ากระสุนจากเรือหลายลำเป็นแนวกั้นขวาง จำเป็นต้องหักหัวเครื่องหนีความตายจ้าละหวั่น นักบินรายหนึ่งบังเอิญเห็นเป้าหมายใหม่อย่างชัดเจน ชายผู้นั้นบังคับเครื่องตัวเองพุ่งใส่เรือกวาดทุ่นระเบิดชื่อ HMS Vestal (J215)

ปืนใหญ่ 102 มม.กับปืนกล 20 มม.บนเรือกวาดทุ่นระเบิดขนาดใหญ่ มิอาจหยุดยั้งความตั้งใจนักบินจากแดนอาทิตย์อุทัย HMS Vestal ถูกเครื่องบิน Ki-51 พุ่งชนแบบพลีชีพกลางลำ เกิดการระเบิดไฟลุกท่วมแล้วค่อยๆ จมลงสู่ก้นทะเล ลูกเรือ 12 รายต้องสังเวยชีพให้แด่แผนโต้กลับกองทัพบกญี่ปุ่น

HMS Vestal คือเรือลำแรกที่ราชนาวีอังกฤษสูญเสียเพราะถูกกามิกาเซ่โจมตี

HMS Vestal คือเรือลำสุดท้ายที่ราชนาวีอังกฤษสูญเสียระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

ปัจจุบันเรือจมอยู่ก้นอ่าวระดับความลึก 70 เมตร ส่วน HMS Squirrel ซึ่งหายตัวไปในวันแรกของภารกิจ จมอยู่ที่ระดับความลึก 95 เมตรพื้นที่ใกล้เคียงกัน ‘The last British Royal Naval vessel sunk during WWII’ อยู่ลึกเกินไปสำหรับนักดำน้ำโดยทั่วไป จึงไม่ได้รับความนิยมเหมือนเรือรบไทยที่ปลดประจำการแล้ว

ภาพประกอบภาพบนคือเครื่องบิน Mitsubishi Ki-51 ตัวแสบ ใช้ลายพรางเสือดาวมาตรฐานกองทัพบกญี่ปุ่น ส่วนภาพล่างคือเรือกวาดทุ่นระเบิด HMS Vestal แฟนเก่าพระเอกผู้แสนโชคร้าย นี่คือผู้ล่ากับเหยื่อลำแรกและลำสุดท้ายแห่งน่านน้ำทะเลไทย สังเวยการโจมตีแบบพลีชีพไพ่เด็ดญี่ปุ่นในช่วงท้ายสงคราม

เรือบรรทุกเครื่องบินถูกโจมตี

          Operation LIVERY มีเรื่องประหลาดเกิดขึ้นหลายอย่าง นอกจากภูเก็ตอันเป็นเป้าหมายหลักตามแผนการ ยังได้มีการส่งเครื่องบินไปถล่มคอคอดกระซึ่งอยู่นอกแผน สาเหตุเพราะอะไรผู้เขียนมีคำตอบในใจแล้ว ทว่าตอนนี้กลับมาที่สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ตอีกครั้ง ถึงเวลาที่นางเอกบทความจะได้ออกโรงเสียที

การโต้กลับจากกองทัพบกญี่ปุ่นหาได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เครื่องบินหลายลำเปลี่ยนใจหันมาทางเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งลอยลำห่างออกไปมีเรือพิฆาตคอยคุ้มกัน เมื่อแน่ใจว่าภัยคุกคามเบนเข็มมายัง HMS Ameer กระสุนปืนใหญ่กับปืนกลจำนวนมากถูกสาดออกไปสกัดกั้น เครื่องบินญี่ปุ่นทำได้เพียงสาดกระสุนกลับแล้วหักเลี้ยวจากไป บังเอิญนักบินรายหนึ่งไม่รู้แอบกินดีหมีมาจากไหน บังคับเครื่องตัวเองพุ่งใส่เรือฝ่ายตรงข้ามอย่างบ้าดีเดือด

ปืนทุกกระบอกเปลี่ยนเป้าหมายมาที่เครื่องบินลำเดียว เมื่อนักบินใจสิงห์บังคับเครื่องเข้าใกล้ระยะ 500 หลา พลันถูกกระสุนปืน 40 มม.ของเรือบรรทุกเครื่องบินจนตกทะเล รายงานจากกัปตันแจ้งว่าเรือไม่ได้รับความเสียหาย แต่รายงานจากเรือ HMS Sussex แจ้งว่า HMS Ameer เสียหายไม่ทราบว่ามากหรือน้อย

ปฏิบัติการ Operation LIVERY จบสิ้นลงในเย็นวันนั้น ระยะเวลา 3 วัน HMS Ameer ส่งเครื่องบินโจมตีเป้าหมายมากกว่า 150 ครั้ง ทำลายค่ายทหาร สนามบิน ทางรถไฟ รวมทั้งเส้นทางหลัก เรือลำเลียง 3 ลำถูกโจมตีจมลงก้นอ่าว เรืออีก 11 ลำถูกยิงกราดด้วยปืนกล หัวรถจักร 11 คันถูกทำลาย (ที่คอคอดกระ) เครื่องบินญี่ปุ่น 30 กว่าลำถูกโจมตีบนพื้นดิน ตัวเลขทั้งหมดมาจากรายงานซึ่งมีการเผยแพร่ในภายหลัง

เรามาชมภาพประกอบหลักฐานสำคัญกันสักนิด นี่คือบอร์ดแสดงผลงานฝูงบิน 804 พร้อมมอดโต้เสือคาบดาบ ระบุชัดเจนทำลายเครื่องบินญี่ปุ่นบนพื้นดิน 16 ลำ ทำลายเครื่องบินญี่ปุ่นบนอากาศ 3 ลำ ภาพเล็กซ้ายมือคือผลงานเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ยิงเครื่องบินญี่ปุ่นตก 2 ลำรวมทั้งกามิกาเซ่ลุยเดี่ยวลำนั้น ตีความได้ว่านี่คือบอร์ดหลังวันที่ 26 กรกฎาคม 1945 อันเป็นวันสิ้นสุดปฏิบัติการอย่างแน่นอน

หมายความว่าฝูงบิน 804 จัดการเครื่องบินญี่ปุ่นได้เพียง 19 ลำ รวมผลงานเรือเข้าไปด้วยเท่ากับ 21 ลำ ไม่ถึง 30 กว่าลำตามรายงานที่ได้ปรากฏภายหลัง แต่ถ้านับผลงานเรือลำอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามา รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Empress ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างน้อย ตัวเลขผลงานน่าจะใกล้เคียงตัวเลขบนรายงาน

วันที่ 28 กรกฎาคม 1945 กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 กลับมายังฐานทัพเรือในศรีลังกา เพื่อซ่อมแซมเรือและเครื่องบินทุกลำให้อยู่ในสภาพพร้อมรบ และให้ลูกเรือกับนักบินทั้งหมดได้พักผ่อนตามอัธยาศัย ต่อมาในวันที่ 10 สิงหาคม 1945 กองเรือเฉพาะกิจออกเดินทางอีกครั้ง เหล่าอเวนเจอร์สถูกแบ่งออกเป็น 2 ทีมเหมือนเช่นเคย

เรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ย้ายมาอยู่กองเรือเฉพาะกิจที่ 61 เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการ Operation CARSON บุกโจมตีฐานทัพเรือปีนังของญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 14 ถึง 15 สิงหาคม พร้อมเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 4 ลำกับเรือคุ้มกันชนิดต่างๆ จำนวน14 ลำ นี่คือศึกแห่งศักดิ์ศรีครั้งสำคัญระหว่างอังกฤษกับญี่ปุ่น คือนัดล้างตาหลังจากตัวเองเคยพลาดท่าเสียทีแบบหมดสภาพ ตั้งแต่ปลายปี 1941 ช่วงเวลาที่ทหารญี่ปุ่นกำลังฉายแสงเจิดจ้า

เรือลาดตระเวนหนัก HMS Sussex ยังจอดอยู่ที่ท่าเรือ Trincomalee ประเทศศรีลังกา เพื่อซ่อมแซมเรือให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เต็มที่ รอเวลาทำภารกิจบุกโจมตีแหลมมลายูหรือ Operation ZIPPER ใช้ความคล่องตัวกับปืนใหญ่ 203 มม.ยิงถล่มชายฝั่ง ซึ่งเหมาะสมกับเรือมากกว่าบุกโจมตีฐานทัพเรือญี่ปุ่นที่ปีนัง

กองเรือเฉพาะกิจที่ 61 เดินทางได้เพียง 1 วัน มีคำสั่งด่วนจากเกาะอังกฤษให้หันหัวเรือกลับ Operation CARSON กับ Operation ZIPPER ถูกสั่งเลื่อนไม่มีกำหนด ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกครั้งที่สองอันแสนยาวนานเป็นอันสิ้นสุดลง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทย

ภูเก็ตหรือเมืองถลางปรากฏในบันทึกนักเดินทางตั้งแต่ 700 ปีที่แล้ว บรรดากัปตันเรือพร้อมใจกันเรียกว่าแหลมจังซีลอน อากาศดี ดินดี ท่าเรือกว้างขวาง โอบล้อมด้วยป่าทึบ แรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ จุดแวะจอดเรือสินค้า ต่อมาเมื่อพบว่าที่นี่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่โดยเฉพาะแร่ดีบุก จึงได้มีการทำเหมืองแร่กันอย่างแพร่หลาย มีการสร้างตึกรามบ้านช่องในเขตตัวเมือง มีคนจีน อังกฤษ และฮอลันดาเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากิน

ภูเก็ตถูกยกฐานะเป็นมณฑลประจำภาคใต้ มีการสั่งซื้อเรือจากฮ่องกงมาใช้งานตั้งชื่อว่า ถลาง หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเรือถูกส่งมอบให้กองทัพเรือ เรียกชื่อใหม่ว่าเรือหลวงถลางใช้เป็นเรือท่องเที่ยวกรุงเทพ-ศรีราชา ต่อมาเทศบาลเมืองภูเก็ตขอรับกลับคืนมาใช้งาน เรือจึงเดินทางมาที่ภูเก็ตพร้อมเรือหลวงสารสินธุลำที่หนึ่ง

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองภูเก็ตประสบภัยคุกคามจากเรือดำน้ำ เรือจำนวนมากถูกยิงจมรวมทั้งเรือกลไฟชื่อถ่องโหในภาพประกอบ ระหว่างปี 1944 เรือไม้ลำนี้ถูกเรือดำน้ำอังกฤษยิงจมก้นอ่าว ไม่ทราบชะตากรรมลูกเรือหรือสินค้ากับผู้โดยสารที่มาด้วยกัน เรือหลวงถลางซึ่งเป็นเรือเหล็กลำเดียวของไทยเคยถูกโจมตีเช่นกัน เรือดำน้ำอังกฤษลอยลำขึ้นมายิงถล่มด้วยปืนใหญ่ โชคดีกระสุนพลาดเป้าหมายกัปตันเรือรีบหักหลบเข้าหลังเกาะลันตา เรือยามฝั่งญี่ปุ่น 2 ลำซึ่งคอยคุ้มกันขบวนเรือแล่นเข้ามากดดันจนเรือดำน้ำล่าถอยไป

เรือหลวงถลางยังเป็นเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวของทุ่นระเบิดอังกฤษ เนื่องจากเรือลำอื่นขนาดเล็กกว่าและเป็นเรือไม้ทั้งลำ ภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงหาได้สร้างความเสียหายต่อเรือลำนี้ จวบจนอังกฤษส่งกองเรือเฉพาะกิจที่ 63 เข้ามาถล่มแบบปูพรม วาระสุดท้ายของเรือหลวงไทยบนเกาะภูเก็ตจึงได้มาเยือน

วันที่ 25 กรกฎาคม 1945 เรือหลวงถลางถูกเครื่องบินอังกฤษยิงจมบริเวณท่านเรศวรตำบลทุ่งคา วันเดียวกับเรือหลวงสารสินธุถูกเครื่องบินอังกฤษยิงจมในอ่าวฉลอง หลายปีถัดมากองทัพเรือกู้เรือหลวงถลางขึ้นมาใช้งานอีกครั้ง เปลี่ยนชื่อเป็นเรือหลวงสุริยะประจำการกรมอุทกศาสตร์ถึง 12 ปีเต็ม เรือหนังเหนียวจากมณฑลภูเก็ตมีอายุใช้งานรวม 33 ปี แบ่งเป็นลอยลำเหนือผิวน้ำ 25 ปีกับจมอยู่ใต้ท้องทะเลอีก 8 ปี

ความเสียหายของกองทัพเรือมีมากกว่านี้ สนามบินน้ำในอ่าวฉลองถูกโจมตีแบบไม่รู้ตัว ความสูญเสียทั้งหมดผู้เขียนค้นพบในอินเทอร์เน็ตสั้นๆ ใจความว่า เครื่องบินทะเล บรน.2 หรือนากาชิมาเสียหาย 2 ลำ

ข้อมูลเพียงน้อยนิดนำมาเขียนต่อยอดไม่ไหมแน่ บังเอิญผู้เขียนพบบทความเขียนโดยพลเรือตรีสนอง นิสาลักษณ์ ผู้บังคับฝูงบินประจำอ่าวฉลองในช่วงเวลาดังกล่าว จากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย) จึงขอคัดลอกมานำเสนอเพื่อความสมบูรณ์ของบทความ

สมัยหนึ่งกองทัพเรือไม่ค่อยสนใจต่อการข่าวนัก กับยังได้ยินนายทหารผู้ใหญ่ฝ่ายการข่าวพูดทีเล่นทีจริงว่า เจ้ากรมข่าวนั้นทำหน้าที่เหมือนผู้จัดการโรงแรมหรือหัวหน้าฝ่ายรับรองทำนองนั้น เพราะงานออกหน้าออกตาของกรมข่าวสมัยนั้นก็คือการรับรองชาวต่างประเทศ และข้าพเจ้าก็มีเรื่องติดใจเกี่ยวกับการข่าวควรแก่การศึกษาคือ

ตอนท้ายของสงครามโลกข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้บังคับฝูงบินประจำฐานบินที่อ่าวมะนาวจังหวัดภูเก็ต มีหน้าที่ลาดตระเวนฝั่งทะเลมหาสมุทรอินเดีย และทำการบินคุ้มกันเรือพาณิชย์ที่เดินระหว่างภูเก็ตกับกันตัง จังหวัดตรัง ข้าพเจ้าประจำทำงานอยู่ในตำแหน่งนั้นจนกระทั่งถูกกองเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษอันประกอบด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ เรือลาดตระเวน 1 ลำ กับเรือคุ้มกันอีก 10 กว่าลำ เข้ามาทิ้งระเบิดและระดมยิงฐานบินและเครื่องบินที่มีอยู่ทำให้เกิดไฟไหม้เสียหายหมดสิ้น

ทั้งนี้ตลอดเวลาข้าพเจ้าไม่เคยได้รับข่าวสารจากกองทัพเรือเลย จริงอยู่หน่วยทหารที่อยู่ในแนวรบมีหน้าที่ต้องหาข่าวทางยุทธการและเราก็กระทำอยู่ แต่ข่าวการเคลื่อนกำลังกองทัพเรือของอังกฤษน่าจะได้รับทราบจากหน่วยเหนือมิทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้าพเจ้าถอนตัวกลับมาถึงกันตังแล้วและคุยกับนายทหารญี่ปุ่นซึ่งเคยประจำอยู่ ณ สนามบินที่จังหวัดภูเก็ต ทราบว่าทหารญี่ปุ่นถอนตัวออกจากเกาะภูเก็ตหมดสิ้นแล้วก่อนกองเรืออังกฤษจะเข้ามาทิ้งระเบิดและระดมยิงชายฝั่ง ซึ่งแสดงว่าเขารู้ข่าวจึงทำให้เขาไม่ได้รับความเสียหาย

ผู้ที่ไม่อยู่ในสนามรบขณะนั้นอาจตั้งคำถามว่า ทำไมข้าพเจ้าไม่ประสานงานกับญี่ปุ่นเรื่องขาวสารการเคลื่อนไหวของข้าศึก ข้าพเจ้าก็ใคร่ที่จะแถลงว่าการทำงานของฝ่ายเราในขณะนั้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะสร้างความไว้วางใจให้กับญี่ปุ่นจนถึงขั้นที่จะให้ความร่วมมือกันได้สนิทนัก สรุปก็เก็บเอาไว้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงวิธีปฏิบัติต่อไปในอนาคต

ข้อมูลจากบทความพลเรือตรีสนอง นิสาลักษณ์ผู้เขียนสามารถอธิบายได้ดังนี้

1.เครื่องบินทะเลทุกลำถูกยิงถล่มเสียหายอย่างหนัก แต่ไม่ทราบจำนวนไม่ทราบว่าซ่อมแซมได้หรือไม่

          2.วันที่ 24 ถึง 25 กรกฎาคม 1945 ฝูงบิน 804 ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ไม่ได้ทำลายเครื่องบินญี่ปุ่นแต่เป็นเครื่องบินกองทัพเรือไทย ต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม 1945 จึงได้บินไปทิ้งระเบิดสนามบินญี่ปุ่นที่คอคอดกระ ก่อนถูกญี่ปุ่นย้อนรอยกลับมาทวงแค้นด้วยฝูงบินกามิกาเซ่

          3.แต้มสะสมบนเรือบรรทุกเครื่องบิน HMS Ameer ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องบินทะเลกองทัพเรือไทย

          4.บนเกาะภูเก็ตไม่มีทหารญี่ปุ่นแม้แต่รายเดียว เครื่องบินญี่ปุ่นที่ย้ายออกไปก่อนไม่ทราบชะตากรรม อาจอยู่สนามบินคอคอดกระแล้วถูกถล่มยับเยินก็เป็นได้

          การเขียนบทความสมควรมีข้อมูลครบทุกฝ่าย โชคร้ายเหลือเกินผู้เขียนไม่มีข้อมูลจากญี่ปุ่นแม้แต่นิดเดียว จึงขาดมุมมองที่สนใจมากที่สุดมุมมองนี้ไป ปฏิบัติการโจมตีภูเก็ตจัดอยู่ในลำดับความลับสุดยอดมากที่สุด สถานที่รวมพลเหล่าอเวนเจอร์สอยู่ห่างไกลถึงศรีลังกา ทว่าญี่ปุ่นกลับรับรู้เรื่องราวคล้ายตัวเองเข้าไปนั่งกลางที่ประชุม

          พวกเขารู้ความเคลื่อนไหวอังกฤษได้อย่างไร?

พวกเขาเคลื่อนกำลังพลออกจากเกาะอย่างเงียบกริบได้เช่นไร?

ในอนาคตหากผู้เขียนได้ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติม อาจเขียนบทความถึงเรื่องนี้อีกครั้งไว้รอดูกัน

บทสรุปปิดท้าย Operation LIVERY      

กองเรือเฉพาะกิจที่ 63 ของอังกฤษ

          Success หรือไม่: อังกฤษไล่ถล่มฝ่ายตรงข้ามอย่างเมามันก็จริง บังเอิญช่วงแรกพวกเขาเผชิญหน้าทหารญี่ปุ่นทิพย์ เสียเวลาเพราะหลงกลติดกับสองวันเต็มๆ แม้วันสุดท้ายจะแก้ตัวได้อย่างสวยหรูงดงาม ก็ยังโชคร้ายเสียเรือกวาดทุ่นระเบิดไปถึง 2 ลำ เรือลาดตระเวนหนักถูกครื่องบินกามิกาเซ่โจมตี เรือบรรทุกเครื่องบินมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตราย สรุปความได้ว่าอังกฤษ Success ก็จริงแต่ไม่เต็มร้อย

          Suckseed หรือไม่: การสูญเสีย HMS Vestal กับ HMS Squirrel ถือว่าร้ายแรงพอสมควร ส่งผลกระทบต่อแผนบุกโจมตีแหลมมลายูโดยตรง เนื่องจากจำนวนเรือกวาดทุ่นระเบิดหายไปทันที 2 ลำ แต่จะบอกว่าอังกฤษ Suckseed ก็คงไม่ถูก พวกเขาทำตามแผนการได้อย่างสะอาดหมดจด รวมทั้งแก้เกมส่งเครื่องบินโจมตีคอคอดกระซึ่งอยู่นอกแผน สร้างความเสียหายต่อฝูงบินญี่ปุ่นกับค่ายทหารไม่มากก็น้อย

 ทหารญี่ปุ่นประจำเกาะภูเก็ต

          Success หรือไม่: สองวันแรกต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นทำได้ดีมาก สับขาหลอกทั้งไทยทั้งอังกฤษจนวุ่นวายไปหมด บังเอิญวันสุดท้ายความลับเปิดเผยถูกยิงไส้แตก แม้ตัวเองใช้แผนโต้กลับจนเอาคืนสำเร็จก็จริง แต่ต้องแลกด้วยชีวิตนักบินและเครื่องบินจำนวนหลายลำ สรุปความได้ว่าญี่ปุ่น Success เพียงครึ่งเดียว

          Suckseed หรือไม่: เหมือนเดิมครับญี่ปุ่น Suckseed เพียงครึ่งเดียว กำลังทหารส่วนใหญ่รอดตายมาคุยโวให้ทหารไทยฟัง แต่ฐานทัพบนเกาะภูเก็ตเละเทะไม่เหลือชิ้นดี เครื่องบินที่เสียไปไม่ว่าฝูงบินไหนย่อมถือว่าสูญเสีย แต่ญี่ปุ่นในไทยสามารถเอาคืนอังกฤษได้อย่างถึงพริกถึงขิง หากกระสุนปืนเรือบรรทุกเครื่องบินไม่บังเอิญยิงถูกกามิกาเซ่ฉายเดี่ยวลำนั้น อาจเกิดเหตุการณ์ผนึกกำลังโจมตีซ้ำระลอกสองระลอกสาม HMS Vestal อาจไม่ถูกบันทึกว่าเป็นเรือลำสุดท้ายที่ราชนาวีอังกฤษสูญเสียระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

กองทัพเรือไทย

          Success หรือไม่: ไม่ใช่อย่างแน่นอน

          Suckseed หรือไม่: ใช่อย่างแน่นอน

          บทสรุปทหารเรือไทยเป็นไปตามบทความพลเรือตรีสนอง นิสาลักษณ์ เรามีจุดอ่อนใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มเรื่องการข่าวระดับประเทศ สงครามที่เกาะช้างเราถูกฝรั่งเศสบุกมาถล่มโดยไม่รู้ตัว สงครามที่เกาะภูเก็ตเราถูกอังกฤษบุกมาถล่มโดยไม่รู้ตัว มีเพียงปฏิบัติการยกพลขึ้นบกทหารญี่ปุ่นครั้งนั้นครั้งเดียว เราได้รับแจ้งข่าวการเคลื่อนกองเรือญี่ปุ่นจากสถานทูตอังกฤษ จุดปะทะบางจุดจึงสามารถต่อสู้กับผู้รุกรานได้อย่างสมศักดิ์ศรี

Operation LIVERY สงครามเหนือน่านน้ำภูเก็ต มีอันต้องสิ้นสุดบทความแต่เพียงเท่านี้ สิ่งใดก็ตามที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เก็บไว้เป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงวิธีปฏิบัติต่อไปในอนาคต วันนี้ขอลาไปก่อนสวัสดีครับ ^__*

                                        +++++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุสงครามชัย )

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสงัด ชะลออยู่

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกประพัฒน์ จันทวิรัช

https://www.naval-history.net/xGM-Chrono-06CA-Sussex.htm

https://en.wikipedia.org/wiki/Operation_Livery

http://www.royalnavyresearcharchive.org.uk/ESCORT/AMEER.htm#.YW6NatLP3IU

https://twitter.com/graham_euan/status/1231192073342091264

http://monsoonphotonews.blogspot.com/2016/01/blog-post.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Mitsubishi_Ki-51

https://www.thaiwreckdiver.com/hms_vestal.htm

https://en.wikipedia.org/wiki/HMS_Vestal_(J215)

https://alchetron.com/HMS-Sussex-(96)

https://www.windowonphuket.com/shopping/276/a-history-of-phuket

https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_58031