ทายาทแฮริเออร์
ทายาทแฮริเออร์
ราชนาวีอังกฤษสั่งซื้อเครื่องบินขับไล่
Sea Harrier FRS.1
จำนวน 34 ลำ บินตกเรือขณะฝึกซ้อมไป 1 ลำเหลือแค่
33 ลำ เมื่อเกิดสงครามเพิ่งได้รับมอบแค่ 26 ลำ ต้องเร่งประจำการส่วนที่เหลือด่วนที่สุด เรื่องนี้โทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง
ถ้าเกิดสงครามก่อนหน้าประมาณ 6 เดือน พวกเขาจะมี Sea Harrier มากสุดแค่ 18 ลำ
วันที่ 5 เมษายน 1982 หลังอาเจนติน่าบุกยึดฟอล์กแลนด์เพียง 3 วัน กองเรือเฉพาะกิจออกเดินทางจากท่าเรือเมือง
Portsmouth ก่อนไปหยุดพักเพื่อเตรียมความพร้อมที่เกาะ Ascension สถานที่นี้ถูกกำหนดให้เป็นฐานทัพส่วนหน้า เป็นกองบัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจ
หลังเติมน้ำมัน รับเสบียง ทาสีเครื่องบินและเรือบางลำแล้วเสร็จ กองเรือจึงได้เดินทางเข้าสู่เขตประกาศสงคราม
เรามาดูการจัดกำลังกันก่อนนะครับ ฝูงบิน
801 ประจำเรือ
HMS Invincible ได้เครื่องเพิ่มจาก 5 ลำเป็น 8 ลำ ส่วนฝูงบิน 800 ประจำเรือ
HMS Hermes ได้เครื่องเพิ่มจาก 5 ลำเป็น
12 ลำ (เพราะมีขนาดใหญ่กว่าและทำหน้าที่เป็นเรือธง) พร้อมกับจัดตั้งฝูงบิน
809 เพิ่มเติมขึ้นมา Sea Harrier สีเทาอ่อนจำนวน
8 ลำจะเดินทางตามไปสมทบ จำนวนเครื่องบินที่ไปราชการจึงเท่ากับ
28 ลำ จากยอดรวม 31 ลำที่ส่งมอบทันเวลา
เทหน้าตักรักหมดใจกันเลยทีเดียว
วันออกเดินทางจากอังกฤษนั้น เครื่องบินทาสีเทาเข้มครึ่งลำ
จมูกสีดำ ท้องสีขาว ติดเครื่องหมายดั้งเดิมราชนาวีอังกฤษ มีลวดลายประจำฝูงที่แพนหางดิ่ง
ครั้นถึงฟอล์กแลนด์เปลี่ยนมาเป็นสีเทาเข้มทั้งลำ จมูกสีดำ ท้องไม่ขาวแล้ว
ติดเครื่องหมายเหมือนกับกองทัพอากาศ ทั้งนี้ก็เพื่อความเหมาะสมในการสงคราม
ส่วนปัญหาเรื่องเครื่องบินโจมตีนั้น
กองทัพอากาศอังกฤษจะเป็นผู้รับหน้าเสื่อ เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะไกล Avro Vulcan B Mk.2 ได้มาประจำการที่เกาะ Ascension เพื่อโจมตีเป้าหมายโดยใช้ระยะทาง
8,000 ไมล์ทะเลเดินทางไปกลับ Vulcan จึงถูกใช้งานไม่มากเท่าไหร่ เพราะไกลเกินเหตุน้ำมันหมดตกทะเลจบกัน
และมีการจัดส่ง Harrier GR.3 มารับหน้าที่นี้
แต่ช้าก่อน...!! ใช่ว่าอยู่ดี ๆ
จะไปสนามรบได้เลย ต้องปรับปรุงเครื่องบินให้ทนทะเลกว่าเดิม นักบินก็ต้องฝึกอบรมเพิ่มเติม
ทั้งการบินขึ้นลงบนดาดฟ้าเรือที่แคบและลื่น
โดยเฉพาะการบินขึ้นจากสกีจัมป์พร้อมลูกระเบิด ฝึกการใช้งานจรวดต่อสู้อากาศยานรุ่นใหม่
ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมีเวลา 4 อาทิตย์ที่เร่งรีบ ยุ่งยาก
วุ่นวาย อึดอัด และกดดันอย่างถึงที่สุด
วันที่ 3 พฤษภาคม 1982 Harrier GR.3 จำนวน 10 ลำทยอยเดินทางไกลไปยังเกาะ
Ascension เครื่องบินจำนวน 6 ลำพร้อมนักบิน
เดินทางต่อด้วยเรือขนส่ง Atlantic Conveyor
เพื่อตามไปร่วมขบวน ที่เหลืออีก 4 ลำถูกจัดให้เป็นกองหนุน
ภาพซ้ายมือถ่ายบนเรือ Atlantic Conveyor
ประกอบไปด้วย Sea Harrier ฝูงบิน 809 จำนวน
8 ลำ Harrier GR.3 กองทัพอากาศจำนวน 6 ลำ และเฮลิคอปเตอร์หลายรุ่นจำนวนหนึ่ง ภาพขวาบนคือนักบินกองทัพอากาศอังกฤษ
ภาพขวากลางคือการเดินทางไกลพร้อมเครื่องบินเติมน้ำมัน Victor ภาพขวาล่างคือการฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะกิจ นักบินและเจ้าหน้าที่เพิ่งกลับจากฝึกประจำปีของนาโตที่แคนาดา
ไม่ทันพักผ่อนต้องไปราชการสงครามต่อเลย
เรือ Atlantic Conveyor
เดินทางมาถึงกองเรือเฉพาะกิจในวันที่ 18 พฤษภาคม 1982 Harrier GR.3 ทั้งหมดถูกย้ายไปลงเรือ HMS
Hermes ส่วน Sea Harrier ฝูงบิน 809 จำนวน 8 ลำ แบ่งครึ่งให้กับเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง
2 ลำ ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 1982 เรือ Atlantic Conveyor ถูกโจมตีเสียหายอย่างหนักก่อนที่จะจม
เฮลิคอปเตอร์ Westland Wessex จำนวน 6
ลำ Boeing Chinooks จำนวน 3 ลำ และ Westland
Lynx อีก 1 ลำ ตอนนั้นจอดอยู่บนเรือเลยก็ซวยไปด้วย
การรบทางอากาศในฟอล์กแลนด์สรุปได้ดังนี้
Sea Harrier ยิงเครื่องบินฝ่ายตรงข้ามตก
20 ลำ โดยที่ตัวเองไม่เป็นอะไรเลย เป็นผลงานจรวดต่อสู้อากาศยาน
AIM-9L Sidewinders ถึง 16 ลำ
นี่คือจรวดนำวิถีอินฟาเรดใหม่ล่าสุดของอเมริกา ล๊อคเป้าหมายและยิงจากด้านหน้าได้เลย
บวกกับความคล่องตัวในการบินระดับต่ำ เครื่องบินอาเจนติน่าที่แม้จะเร็วกว่าแต่ก็ล้าสมัยกว่า
อาวุธที่ใช้ก็ด้อยประสิทธิภาพกว่า การซ่อมบำรุงทำได้ไม่ดีพอ นักบินมือใหม่หัดรบจึงทำผลงานได้อย่างเกินตัว
เครื่องบิน Sea Harrier
บินชนกันเองเพราะหมอกหนาจำนวน 2 ลำ โดนลมพัดตกจากเรือจำนวน 1
ลำ บินตกทะเลไปเองอีก 1 ลำ โดนยิงตกจากภาคพื้นดินจำนวน
2 ลำ ยอดรวมความสูญเสียจึงเท่ากับ 6 ลำ
ส่วน Harrier GR.3 ถูกยิงตกจากภาคพื้นดินจำนวน 3 ลำ ลงจอดฉุกเฉินเสียหายอย่างหนัก 1 ลำ โดยลำสุดท้ายนำไปซ่อมเข้าประจำการได้ใหม่
เรือพิฆาตป้องกันภัยอากาศยานปะทะจรวดต่อสู้เรือรบ
ถ้าเรือพิฆาต HMS Sheffield (D80)
คือสัญลักษณ์การโดนโจมตีจากจรวดยุคใหม่ เรือพิฆาต HMS Glamorgan (D19) ก็คือสัญลักษณ์การเอาตัวรอดจากจรวดยุคใหม่ เรือลำนี้เข้าประจำการในปี 1966
ระวางขับน้ำเต็มที่ 6,200 ตัน ยาว 160 เมตร กว้าง 16 เมตร มีจรวดต่อสู้อากาศยาน Seaslug จำนวน 24 นัดเป็นลูกยาว ใช้แท่นยิงและแมกกาซีนขนาดมหึมาที่ท้ายเรือ
และมีจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ Seacat จำนวน 2 แท่นยิงเป็นตัวแถม
HMS Glamorgan แล่นประกบเรือธงตั้งแต่เริ่มเดินทาง
กระทั่งมาถึงฟอล์กแลนด์จึงได้แยกตัวไปทำภารกิจ เช้าตรู่วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน 1982 ท้องฟ้ายังคงมืดมิดมองไม่เห็นแสงตะวัน
ระหว่างสนับสนุนภารกิจบนฝั่งที่ร้อนระอุ เรือถูกโจมตีด้วยจรวดต่อสู้เรือรบ Exocet จำนวน 1 นัด
อาเจนตินาถอดแท่นจรวดออกจากเรือรบตัวเอง ยัดใส่เครื่องบิน C-130 แอบลำเลียงมาโมดิฟายติดรถบรรทุก โดยใช้เรดาร์กองทัพบกเฝ้าติดตามเป้าหมาย สบจังหวะจึงลั่นไกใส่เรือหมายเลข
D19
ขณะนั้นเอง HMS Glamorgan แล่นห่างจากฝั่ง
18 ไมล์ทะเลด้วยความเร็ว 20 น๊อต อาจเป็นเพราะความมืดหรืออะไรก็ตาม มีรายงานว่าพบวัตถุลึกลับวิ่งตรงเข้ามาหา กัปปิตันสั่งเพิ่มความเร็วแล่นซิกแซกไปมา
และให้ยิงจรวดต่อสู้อากาศยานออกไปสกัด เมื่อล๊อคเป้าได้นายทหารการอาวุธนำวิถีจึงไม่รอช้า
ทว่าแท่นยิงเงียบสนิทราวกับป่าช้าวัดดอน มีคำสั่งให้ยิงจรวดออกไปอีกครั้ง คราวนี้ลูกจรวดจุดชนวนพุ่งออกไปจากแท่น
ท่ามกลางเสียงตะโกนดังลั่นทุ่งของผู้ลั่นไก
จรวด Seaslug GWS.2
มีความยาว 6.1 เมตร หนัก 2.3 ตัน ความเร็วสุงสุด 1.8 มัค ระยะยิงไกลสุด 32
กิโลเมตร ออกแบบให้ยิงเครื่องบินที่อยู่สุงลิบ มีแผนติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ให้ด้วย
(แต่ไม่ได้ทำเพราะมันแพง) ส่วนจรวด MM38 Exocet มีความยาว 4.7
เมตร หนัก 670 กิโลกรัม ความเร็วสุงสุด 0.92
มัค ระยะยิงไกลสุด 42 กิโลเมตร ใช้วิธีบินสุงกว่าน้ำทะเลเพียง
2 เมตร ล๊อคเป้าหมายด้วยตัวเองก่อนพุ่งเข้าโจมตี
ไม่ต้องทายผลผู้อ่านคงเดากันได้ Seaslug พลาดในการยิงครั้งสำคัญที่สุด
มีคำสั่งให้ยิงสกัดครั้งที่สาม
ทว่าไม่ทันเพราะเป้าหมายใกล้ถึงเป้าหมายแล้ว จรวดจะพุ่งเข้าใส่สะพานเดินเรือหรือไม่ก็กลางลำ
กัปปิตันตะโกนลั่นให้รีบหักหลบไปทางโน้น Exocet เข้าปะทะกราบซ้ายค่อนไปทางท้ายเรือ หัวรบจุดระเบิดกลางอากาศแต่ส่วนอื่นยังวิ่งไม่หยุด
โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์โดนเข้าไปอย่างจัง เฮลิคอปเตอร์ที่อยู่ด้านในพังยับเยิน
แท่นยิงจรวด Seacat กระเด็นหายทั้งยวง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 13
ราย ทว่า HMS Glamorgan ก็ยังไม่จมตามความต้องการ
ถ้าจรวดเยื้องฝั่งซ้ายจะโดนห้องเครื่องยนต์
ถ้าเยื้องฝั่งขวาและกดลงต่ำจะโดนคลังแสงจรวด Seaslug
บังเอิญจรวดเข้าตรงกลางจึงรอดตัวไป
HMS Glamorgan ปลดประจำการในปี 1986
ถูกขายต่อให้ชิลีและใช้ชื่อ Almirante Latorre DLG-14 เรือยังคงแล่นฉิวต่อไปอีก 12 ปีเต็ม กระทั่งจรวด Seaslug หมดอายุไขทุกนัด เรือที่ Exocet ทำได้เพียงรอยแมวข่วนจึงต้องปิดตำนานลง
วันที่ 14 มิถุนายน 1982
มีการเซ็นสัญญายุติสงครามบนเรือชื่อ HMS Plymouth (F126) ซึ่งเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 12M ประจำการมาแล้ว
21 ปีมากเป็นอันดับ 3 ของกองเรือ ทำไมใช้ห้องรับแขกเรือที่ค่อนข้างชราภาพ
อาจเป็นเพราะเธอเข้าสงครามขบวนแรกสุด ร่วมรบสมรภูมิแรกคือปฎิบัติการแย่งชิงหมู่เกาะ
South Georgia โดยแล่นเรือเข้าใกล้ใช้ปืนใหญ่ 4.5 นิ้วลำกล้องแฝดยิงถล่มชายฝั่ง ส่งเฮลิคอปเตอร์ Westland Wasp ร่วมโจมตีเรือดำน้ำชื่อ ARA Santa Fe กระทั่งเรือดำน้ำถูกทำลายในเวลาต่อมา
ทั้งหมดทั้งปวงเกิดขึ้นก่อนทัพใหญ่เดินทางมาถึง เกิดในช่วงทัพเรืออาเจนตินายังอยู่แถวนั้น
ย้อนกลับไปวันที่ 8 มิถุนายน 1982 HMS Plymouth ถูกโจมตีจากเครื่องบิน Dagger จำนวนหลายลำ (IAI Nesher ของอิสราเอล) โดนระเบิดเข้าไปเนื้อ
ๆ ถึง 4 ลูก กระสุนปืนกล 30 มม.อีกหลายร้อยนัด อาเจนตินายิงจนกระสุนหมดก็เลยถอดใจ เกิดไฟไหม้อย่างหนักโดยเฉพาะส่วนท้าย
ลูกเรือช่วยกันดับและป้องกันไม่ให้น้ำเข้า นี่คือตำนานเรือที่ยิงไม่จมอย่างแท้จริง
HMS Plymouth เดินทางกลับบ้านในสภาพยับเยิน
ถูกใช้งานต่ออีกเพียง 6 ปีก็ถึงเวลาพักผ่อน หลังปลดประจำการได้ย้ายไปอยู่สก๊อตแลนด์
มีการเปลี่ยนมือเจ้าของสองสามครั้ง ครั้นถึงปี 2014 จึงถูกแปรสภาพเพราะไม่มีเงินดูแล
เรื่องของเธอยังไม่จบนะครับ...ในปี 2020 เรือฟริเกตรุ่นใหม่ Type
26 ลำแรกสุดจะเข้าประจำการ มีการรณรงค์ให้ใช้ชื่อ HMS
Plymouth ซึ่งจะเป็นชื่อชั้นของเรือทุกลำไปด้วย ผู้เขียนคิดว่าเหมาะสมที่สุดแล้ว
ไม่เกี่ยวกับทีมฟุตบอลนะครับ ฮ่า ฮ่า
(ภาพซ้ายมือ)
การเดินทางกลับบ้านของเรือธงลำสุดท้ายแห่งราชนาวีอังกฤษ (เพราะหลังจากนี้ไม่มีการรบเดี่ยวแล้ว)
HMS Hermes (R12) เข้าประจำการในปี 1959 จอดบ้างออกทะเลบ้างให้เพรียงเกาะเล่นไปวัน ๆ (เจ๊แตงมาเอง) วันดีคืนดีกองทัพเรืออยากได้เครื่องบิน
F-4K Phantom II ของอเมริกา เรือถูกเลือกให้ได้ไปต่อเปรียบได้กับสามล้อถูกหวย
มีการนำเครื่องบินมาทดสอบใช้งานจริง แต่แล้วสุดท้ายก็ไม่เอาเพราะมีขนาดเล็กเกินไป
อังกฤษจึงเสนอขายต่อให้ออสเตรเลียมันเสียเลย แต่ทางโน้นก็ไม่เอาบอกว่าขนาดใหญ่เกินไปอีก
ก็เลยถูกย้ายไปช่วยราชการโซนตะวันออกกลาง
เข้าสู่ปี 1971 อังกฤษถอนทหารทั้งหมดออกจากตะวันออกกลาง
HMS Hermes จึงกลับมาแบกเฮลิคอปเตอร์ให้กับนาวิกโยธิน อีก 10
ปีต่อมาจึงได้ติดสกีจัมป์และเครื่องบินขับไล่
ครั้นอาเจนตินาบุกยืดฟอร์กแลนด์ที่ฝั่งกระโน้น ผู้อาวุโสอันดับหนึ่งจึงได้รับบทบาทเรือธงลำสำคัญ
HMS Hermes กลับสู่บ้านเกิดในฐานะวีระสตรี ทั้งที่ก่อนหน้าเอ่ยชื่อแทบไม่มีคนรู้จัก
เรือปลดประจำการในปี 1985 ขายต่อให้กับอินเดียหลังจากนั้น 2
ปี ปิดตำนานเรือธงที่โลกลืมไปโดยปริยาย
กระทั่งปีในปีนี้เอง อินเดียเพิ่งปลดประจำการเรือ
INS Viraat
(ชื่อใหม่) มีการรณรงค์ให้ซื้อกลับมาทำเป็นพิพิทธภัณฑ์สันติภาพ แต่ดูแล้วงานนี้คงยากพอสมควร
เพราะเรือลำใหญ่ค่าใช้จ่ายก็ใหญ่ตามกัน แล้วใครกันที่จะเป็นคนควักกระเป๋า
(ภาพขวามือ) HMS Invincible (R05)
ในสงครามฟอล์กแลนด์มีคุณสมบัติดังนี้ เสากระโดงทุกต้นทาสีอ่อนทั้งเสา (ปรกติจะทาสีดำครึ่งบน)
ไม่มี Phalanx CIWS ทั้งหน้าและหลัง ไม่มี Harrier
GR.3 แม้แต่ลำเดียว มี Sea Harrier FRS.1 ทั้งสีอ่อนและสีเข้ม
และมีเรือโท Prince Andrew เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์
ผิดไปจากนี้ของปลอมเสิ่นเจิ้นทั้งสิ้น
ASTOVL มาอีกแล้ว
หลังสงครามฟอร์กแลนด์สิ้นสุดลง อังกฤษเหลือเครื่องบิน
Sea Harrier เพียง 26
ลำ ที่ส่งมารบนั้นรอดกลับไป 22 ลำ
ที่ไม่ได้มาบินตกไปเอง 1 ลำเหลือแค่ 4 ลำ
เหตุการณ์ที่ว่านั้นก็คือ เครื่องบินหมายเลข XZ438 ซึ่งปรกติใช้ทดสอบและโชว์ตัว
วันที่ 19 พฤษภาคม 1982 ได้ถูกนำเข้าประจำการเพราะประเทศเกิดสงคราม
ครั้นถึงวันที่ 17 มิถุนายน 1982 นักบินทำเครื่องตกขณะฝึกบินขึ้นสกีจัมป์ จึงมีอายุราชการแค่เพียง 29 วัน
แม้จะเหลือเครื่องบินน้อยลงกว่าเดิม
ที่เหลือกลับไปก็ต้องซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่ไม่มีคำสั่งซื้อเพิ่มเติมแม้แต่ลำเดียว
ทั้งที่เครื่องบินบางส่วนยังต้องอยู่ณ.จุดเกิดเหตุ เวลาผ่านไปเกือบ 3 ปีเต็มโน่นแหละครับ
เครื่องบินลำที่ 27 จึงจะได้เข้าประจำการ
ทำไมถึงได้ใจเย็นขนาดนี้ บทเรียนก็มียังไม่จำกันอีกหรือ เรื่องนี้ต้องมีเบื้องหลังอย่างแน่นอน
ก่อนเกิดสงครามฟอร์กแลนด์ได้ไม่นาน
กองทัพเรือจับมือกับกองทัพอากาศ (อีกแล้ว) เพื่อพัฒนาเครื่องบิน V/STOL ความเร็วเหนือเสียง
(อีกแล้ว) แบ่งเป็นรุ่นโจมตีของกองทัพอากาศและรุ่นขับไล่ของกองทัพเรือ ออกแบบให้มีลำตัวแฝดหรือสองหาง (อีกแล้ว) ใช้งานบนเรือชั้น
Invincible ได้ เพื่อทดแทน Sea Harrier
ที่ไม่ถูกใจพระเดชพระคุณในอนาคต
โครงการ P.1216 จึงได้ถือกำเนิดขึ้น
สืบสานทายาทจากรุ่น P.1127 ที่เคยทำค้างไว้ ขนาดใหญ่กว่า Harrier ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ เร่งความเร็วจาก 0.9 มัคถึง 1.38 มัคได้ใน 90 วินาที
ใช้เครื่องยนต์ 1 ตัวพร้อมท่อปรับทิศทางจำนวน 3 ท่อ ระบบลอยตัวและขับเคลื่อนที่ดีที่สุดตามตำราเขาว่างั้น
แม้เครื่องยนต์จะให้กำลังไม่มากเท่าไหร่ แต่ด้วยรูปทรงที่ปาดเปรียวออกแบบมาอย่างดี
จึงสามารถบินทะลุกำแพงเสียงสมใจสมหวัง มีจุดติดตั้งอาวุธมากกว่าเดิม
แบกระเบิดและจรวดได้มากกว่าเดิม ติดเรดาร์ขนาดใหญ่กว่าเดิม ถังน้ำมันจุเยอะกว่าเดิม
สรุปความได้ว่าดีกว่าเดิมทุกประการ
มีความเป็นผู้ดีอังกฤษชัดเจนมาก กำลังเครื่องยนต์มากกว่าแฮริเออร์ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ สามารถลากตัวถังที่หนักกว่าฝ่ากำแพงความเร็วเสียงไปได้ ทว่าอัตราการบินไต่ระดับช้ากว่าประมาณ 20 เปอร์เซนต์ ได้อย่างเสียอย่างพี่ป้อมและพี่โต๊ะได้กล่าวไว้
เครื่องบิน P.1216 รุ่นขับไล่ภาพบนซ้าย และรุ่นโจมตีภาพล่างซ้าย ภาพกลางคือโมเดลเครื่องบิน P.1216 ที่ใช้ในการทดสอบ เห็นหางประหลาดแบบนี้ยิงไม่ผิดตัวแน่ ส่วนภาพขวามือมาอีกแล้วครับท่าน
The SkyHook Submarine สุดยอดความฝันของมวลมนุษยชาติ
คราวนี้เป็นเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อเมริกา ผู้เขียนไม่มีหนังสือเล่มนี้ก็เลยไม่มีข้อมูลเพิ่ม
นอกจากเครื่องบินที่แสดงอัตลักษณ์อังกฤษอย่างชัดเจน
พวกเขายังได้พัฒนารุ่นอื่นไปพร้อมกัน โครงการ P.1214 Harrier II หรือ The X-Wing Harrier หรือ “เครื่องบินปีกรูปตัวเอ็กซ์ขึ้นลงแนวดิ่งทางวิ่งสั้นแนวคิดก้าวหน้าความเร็วเหนือเสียงใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินติดสกีจัมป์”
ซึ่งถูกออกแบบได้น่าตื่นตาตื่นใจที่สุด ประหนึ่งยานรบจากภาพยนตร์เรื่อง
Star Trek + Star Wars + Starship Troopers + Macross + Gundam + Galaxy
Express 999 นี่คือเครื่องบินขวัญใจมหาชนอีกลำหนึ่ง โดยใช้ส่วนหัวของ
P.1216 มาใส่ปีกและท้ายเป็นรูปตัวเอ็กซ์ ติดตั้งอาวุธ เรดาร์
และระบบอื่น ๆ ใกล้เคียงกัน
มีการกำหนดชนิดเครื่องบินขึ้นมาใหม่
ทั้ง P.1214 และ P.1216 ถูกเรียกว่า Advanced
Short Take Off/Vertical Landing หรือ ASTOVL มีการสร้างแบบจำลองขึ้นมาทดสอบ
มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเดิม (ตั้งแต่สมัย P.1154 The
Original Harrier) นั่นก็คือเรื่องความร้อนและอาการสั่นของเครื่องยนต์
ความเร็วที่ลดลงจาก 2.0 มัคเหลือแค่ไม่เกิน 1.38 มัค บวกเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่าในอดีต โครงการ P.1216 จึงถูกตั้งเป้าหมายว่าจะสำเร็จเข้าประจำการได้ ส่วนโครงการ P.1214 จะเป็นเครื่องบินรุ่นถัดไป
คือให้มีของจริงขึ้นมาก่อนแล้วค่อยต่อยอดความล้ำสมัย
นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้แวะมาเยี่ยมปลายปี
1982 ตอนนั้นโครงการยังเป็นความหวังเรืองรองผ่องนภา
ผ่านไป 2 ปีก็เหมือนเคยคือไปไม่ถึงไหน
อยากให้เร็วขึ้นต้องอัดเม็ดเงินก้อนโตเข้าช่วย กองทัพเรือฟังแล้วก็ใจหาย สงครามฟอร์กแลนด์ไม่ใช่เสียแค่เครื่องบินกับเฮลิคอปเตอร์
แต่ยังรวมถึงเรือพิฆาต 2 ลำ เรือฟริเกต 2 ลำ เรือช่วยรบขนาดใหญ่ 3 ลำ ที่เสียหายหนักเบาก็อีก 10
กว่าลำ (ยังไม่รวมเรือลำเล็กลำน้อย) ไหนจะลูกจรวดที่เบิกอเมริกามาก่อน
หันไปทางไหนล้วนมีแต่เบี้ยหัวแตก
ส่วนกองทัพอากาศคู่หูดูโอเพื่อนสนิท
กำลังสนใจเครื่องบินขับไล่โจมตีอเนกประสงค์ Panavia Tornado ที่พัฒนาร่วมกับเยอรมันและอิตาลี เครื่องต้นแบบเริ่มบินทดสอบในปี
1974 ก่อนเริ่มเข้าประจำการในอีก 5 ปีถัดมา
เครื่องบินลำใหม่บินได้ไกลแบกระเบิดได้มาก ใช้ขับไล่สกัดกั้นก็ทำได้ไม่น่าเกลียด มีปีกพับได้ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น
จึงได้เร่งสายการผลิตเพื่อนำมาปิดช่องโหว่ โครงการ P.1216 ปิดตัวเองในปี 1988 เทคโนโลยีที่ได้มาไม่ถึงกับสูญเปล่า
เก็บไว้ใช้กับโครงการร่วมในอนาคตได้
แฮริเออร์รุ่นที่สอง
ผู้เขียนขอย้อนเวลาเพื่อปูเรื่องนิดเดียว
กลับไปยังปี 1973
ในโครงการ Sea Control Ship ที่ผู้อ่านรู้จักกันดี
นอกจากมีการประกวดประชันแบบเรือแล้ว ยังได้คัดเลือกเครื่องบินประจำเรือไปพร้อมกัน บริษัท
McDonnell Douglas ผู้ผลิตเครื่องบิน Harrier ให้กับนาวิกโยธินภายใต้ชื่อ AV-8A ได้ส่งแบบเครื่องบิน AV-16A Advance Harrier
เข้าร่วมชิงชัย ออกแบบให้มีจุดติดอาวุธมากถึง 7 ตำแหน่ง ใช้งานจรวดนำวิถีพื้นสู่พื้นรุ่นใหม่ได้เกือบหมด รวมทั้งจรวดต่อสู้เรือรบ
Harpoon รุ่นใหม่เอี่ยม เครื่องบินราคาไม่แพง ค่าใช้จ่ายก็ไม่แพง
โครงการไม่ล่มแน่เพราะปรับปรุงมาจากของจริง
AV-16A Advance Harrier ไม่ผ่านการตัดตัวรอบแรก ความเร็วเหนือเสียงคือสิ่งสำคัญที่ขาดหายไป (เพราะต้องใช้สกัดกั้นเครื่องบินฝ่ายตรงข้าม)
ต่อมาโครงการ Sea Control Ship ถูกยกเลิก โครงการ VSTOL
Support Ship ถูกยกเลิก นาวิกโยธินได้เรือ LHD
ชั้น WASP ขนาด 40,000 ตัน เพื่อใช้ในภารกิจสนับสนุนการยกพลขึ้นบก เครื่องบินลำเดิมจึงได้กลับมาเป็นพระเอก ภายใต้ชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า AV-8B Harrier II ปรับปรุงโครงสร้างเครื่องให้แข็งแรงกว่าเดิม อายุใช้งานยาวนานกว่าเดิม ออกแบบปีกให้เป็นชิ้นเดียวและใหญ่กว่าเดิม
ล้อประคองย้ายมาอยู่กลางปีกเพิ่มจุดติดอาวุธ
เครื่องบินถูกแบ่งออกเป็น 2 รุ่นตามภารกิจ รุ่นโจมตีใช้ชื่อ
AV-8B Harrier II Night Attack มาพร้อมระบบช่วยบินตอนกลางคืน
รวมทั้งระบบตรวจจับเป้าหมายด้วยอินฟาเรด ส่วนรุ่นขับไล่ใช้ชื่อ AV-8B Harrier II Plus มาพร้อมเรดาร์ APG-65 และกระเปาะชี้เป้าหรือ Targeting Pod สำหรับโจมตีภาคพื้นดิน
รองรับจรวดต่อสู้อากาศยาน AIM-120 AMRAAM จึงยิงได้ไกลกว่าเดิมและแม่นกว่าเดิม แต่จะยิงเขาโดนหรือโดนเขายิงแล้วแต่พิจารณา
โครงการนี้ใช้เวลายาวนานพอสมควร ทำนองช้าแต่ชัวร์เพราะคนซื้อมีอยู่แล้ว
เริ่มจากปี 1978
สร้างเครื่องต้นแบบ YAV-8B ที่แปลงเครื่องเก่าให้คล้าย AV-16A กระทั่งปลายปี 1981 เครื่องต้นแบบของจริงเริ่มทดสอบบิน ถึงต้นปี 1985 เครื่องบินลำแรกเข้าประจำการ
อิตาลีและสเปนเป็น 2 ประเทศที่ขอซื้อไปใช้งานบ้าง
มียอดผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 340 ลำ
ผู้เขียนมีเรื่องแปลกมาเล่าให้ฟัง
การพัฒนาเครื่องบิน V/STOL ของอังกฤษและอเมริกา ช่วงเวลาและแนวคิดมักสลับขั้วกันอยู่เสมอ เริ่มจากปี
1960-1969 อังกฤษพัฒนาแฮริเออร์ความเร็วเหนือเสียงจนได้แฮริเออร์ความเร็วต่ำกว่าเสียง
อเมริกามีแค่ X-13 เครื่องบินแบทแมนสำหรับโชว์งานกาชาด
ต่อมาในปี 1970-1979 อเมริกาพัฒนา XFV-12A จนกระทั่งคว้าน้ำเหลว อังกฤษโดยเฉพาะกองทัพเรือมัวแต่บ้าเห่อ F-4K
Phantom II ครั้นถึงปี 1980-1985 อังกฤษพยายามสร้างเครื่องบินลำใหม่
อเมริกาเอาแต่ปรับปรุงเครื่องบินลำเก่า และไม่ว่าใครทำอะไร ที่ไหน หรืออย่างไหร่ก็ตาม
สุดท้ายทั้งคู่ได้ใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกัน
กลับมาที่เกาะอังกฤษกันอีกครั้ง
กองทัพอากาศเห็น AV-8B Harrier II แล้วน้ำลายไหลย้อย
ทำไมใต้ปีกจึงมีลูกดกถึงเพียงนี้ สวยเซี๊ยะเปี๊ยะระเบิดอีกต่างหาก ผลงานเครื่องบินตัวเองก็ไม่ค่อยดี
บินไปทิ้งระเบิดที่ฟอล์กแลนด์ได้เที่ยวล่ะ 2-4 ลูก
เปลืองค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเบี้ยเสี่ยงภัย ค่าโน่นค่านี่ต่างหาก
ว่าแล้วก็ซื้อเครื่องบินอเมริกามาใช้เสียเลย
เป็นประเพณีดั้งเดิมแต่โบราณ
ทุกครั้งที่อังกฤษซื้อเครื่องบินรบจากใครก็ตาม จะนำมาเปลี่ยนไอ้โน่นถอดไอ้นี่เสริมไอ้นั่น
แล้วบอกว่าเครื่องบินฉันเมดอินยูเคนะจ๊ะเธอ คราวนี้เป็นการซื้อเครื่องบินตัวเองที่มีการปรับปรุงใหม่แล้วนำมาปรับปรุงใหม่
บริษัท British Aerospace รับบทคุณหมอลงมีดแปลงโฉม
เครื่องต้นแบบ Harrier GR.5 เริ่มทดสอบบินกลางปี 1985 ก่อนเข้าประจำการปลายปี 1989 เครื่องบินทั้งสองรุ่นเหมือนกันแทบแยกไม่ออก
ที่แตกต่างก็เห็นจะเป็นส่วนโคนจมูก รวมทั้งเครื่องบินอังกฤษมีจุดติดอาวุธ 8
จุดส่วนเครื่องบินอเมริกามีแค่ 6 จุด แต่ลำหลังแบกระเบิดได้มากกว่าช่างแปลกดีแท้
ส่วนทางด้านกองทัพเรืออังกฤษพ่อคนหลายใจ
หลังเห็นว่าโครงการ P.1216 ยังไปไม่ถึงไหนเลย ก็เลยกลับใจสั่งซื้อ Sea
Harrier FRS.1 จำนวน 24 ลำ แล้วผุดโครงการปรับปรุงใหญ่ตามมาอีกที
Sea Harrier FA.2 เผยโฉมในปี 1988 ติดตั้งเรดาร์
Blue Vixen ที่ดีกว่าเดิม มาพร้อมจรวดต่อสู้อากาศยาน AIM-120 AMRAAM มีการปรับปรุงเครื่องเดิมจำนวน 29
ลำ สั่งซื้อเครื่องใหม่อีกจำนวน 18 ลำ
อาจติดอาวุธไม่มากเท่า อาจทันสมัยไม่มากเท่า แต่คุณสมบัติโดยรวมใกล้เคียงกับ Harrier
II
สี่ยอดกุมารกองหน้าตัวจิ๊ดจากทีมลิเวอร์พูล
ใครเป็นใครถ้าเดาไม่ออกเดี๋ยวบอกให้ ภาพบนซ้ายคือ Harrier GR.5 ทัพฟ้าอังกฤษ
ภาพล่างซ้ายคือ Sea Harrier FA.2 ทัพเรืออังกฤษ ภาพบนขวาคือ AV-8B Harrier II Night Attack ภาพล่างขวาคือ AV-8B Harrier II Plus ของนาวิกโยธินอเมริกา มาร่วมซ้อมรบในเมืองไทยอยู่เป็นประจำ
Joint
Strike Fighter Program
ปี 1993 หลังโครงการ P.1216 ปิดตัวไปแล้ว 5 ปีเต็ม
อเมริกาได้เริ่มโครงการจัดหาเครื่องบินรบเอนกประสงค์รุ่นใหม่ ทำงานได้ทั้งขับไล่สกัดกั้น
โจมตีทิ้งระเบิดทางยุทธวิธี และสนับสนุนภาคพื้นดินอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องเป็นเครื่องบินรบยุคที่
5 ใช้เทคโนโลยีลดการสะท้อนคลื่นเรดาร์ หรือที่เรียกกันบ้าน ๆ
ว่าเครื่องบินล่องหน ใช้ทดแทนเครื่องบินหลายรุ่นที่เริ่มล้าสมัย ลดมาเหลือรุ่นเดียวเพื่อลดต้นทุนและค่าซ่อมบำรุง
โดยจะแบ่งออกเป็นรุ่นย่อยตามความต้องการ
เนื่องจากว่าเป็นโครงการขนาดใหญ่โต
พลาดพลั้งขึ้นมาถึงกับล้มละลายได้เลย พี่กันจึงได้เชื้อเชิญมิตรสหายร่วมน้ำสาบาน
เข้ามาจอยกันสำเร็จด้วยกันล้มเหลวด้วยกัน ตั้งเป้าหมายผลิตเครื่องบินประมาณ 6,000 ลำ ราคารวมทั้งโครงการอยู่ที่
2 แสนล้านเหรียญ มีบริษัทส่งเครื่องบินเข้าประกวดจำนวน 4
ราย ผู้ที่ผ่านการคัดตัวจะได้สร้างเครื่องต้นแบบ ผลการตัดสินมีขึ้นในเดือนธันวาคม
1996 ผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศได้แก่….!!!
เครื่องบินลำนี้ก็คือ
Boeing X-32 ใช้ปีกสามเหลี่ยมเรียวยาวมาด้านหน้า แพนหางดิ่งแบะออกด้านข้างเล็กน้อย
ท่อไอพ่นหดเข้ามาจากแพนหางระดับ ความเร็วสุงสุดประมาณ 1.5 มัค
เครื่องต้นแบบสร้างเสร็จในปี 1999 เริ่มทดสอบบินในปีถัดไป
เครื่องต้นแบบลำที่สองสร้างเสร็จตามกันมา และเป็นรุ่น X-32B V/STOL ที่จะมาทดแทน AV-8B
Harrier II
Boeing X-32B ใช้เครื่องยนต์ Pratt & Whitney F119 จำนวน 1
ตัว เมื่อต้องการลอยตัวจะปิดท่อไอพ่นท้ายลำ
แล้วใช้ท่อไอพ่นสำหรับยกตัวที่อยู่กลางลำ เป่าลมร้อนจากเครื่องยนต์เพื่อทำการยกตัว
โดยมีท่อไอพ่นขนาดเล็กช่วยในการทรงตัว ติดอยู่ใต้ห้องนักบิน บริเวณเกือบปลายปีก
และแพนหางระดับรวมทั้งสิ้น 6 จุด X-32B เริ่มทดลองบินในปี 2001 จำนวนรวมอยู่ที่ 68 เที่ยวบิน ส่วน X-32A รุ่นปรกติทดลองบินจำนวน
66 เที่ยวบิน ไม่มีอุบัติเหตุทำได้อย่างที่โม้ทุกประการ
เครื่องบินลำถัดไปก็คือ Lockheed Martin X-35 มีรูปทรงคล้ายคลึง F-22 ค่อนข้างมาก ใช้เครื่องยนต์ Pratt
& Whitney F119 จำนวน 1 ตัว
ปีกค่อนข้างหนาและเยื้องไปด้านหลัง แพนหางดิ่งแบะออกนิดเดียว ท่อไอพ่นหดเข้ามาจากแพนหางระดับ
ละม้ายคล้ายคลึง X-32 อยู่พอสมควร แต่ดูหล่อกว่าเพราะผอมเพรียวรูปร่างสมส่วน
ขนาดเครื่องบินใกล้เคียงกัน น้ำหนักบินขึ้นสุงสุดใกล้เคียงกัน แต่ X-35 ใส่อาวุธในลำตัวได้เยอะกว่า (เพื่อลดการตรวจจับด้วยเรดาร์ จึงไม่ติดอาวุธใต้ปีกและใต้ท้อง)
เครื่องต้นแบบมาช้ากว่าคู่แข่งหลายเดือน ความเร็วสุงสุดประมาณ 1.22 มัค ต่ำกว่าความต้องการอยู่บ้าง
เครื่องต้นแบบ X-35B ซึ่งเป็นรุ่น V/STOL ใช้เครื่องยนต์ตัวเดิมพร้อมท่อปรับแต่งทิศทาง
ติดตั้งพัดลมแนวนอนขนาดใหญ่หลังที่นั่งนักบิน (เรียกว่า Lift Fan) เป่าลมเย็นใส่พื้นเพื่อยกตัวในแนวดิ่ง ท่อไอพ่นท้ายลำจะเป่าลมร้อนเพื่อช่วยยกก้น
โดยมีท่อไอพ่นขนาดเล็กใต้ปีกช่วยประคอง พัดลมให้แรงยกตัวมากกว่าเครื่องยนต์หลายเท่า
กินแรงจากเครื่องยนต์แค่เพียงน้อยนิด
เมื่อการทดสอบภาคสนามได้สิ้นสุดลง
มีการนำผลมาเปรียบเทียบกันอย่างละเอียด วันที่ 26 ตุลาคม 2001 เครื่องบิน Lockheed Martin X-35 ได้ถูกคัดเลือกในโครงการ Joint Strike Fighter หรือ JSF และถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า F-35 Lightning II แบ่งออกเป็นรุ่น F-35A ใช้งานบนบกสำหรับกองทัพอากาศและนาวิกโยธิน
รุ่น F-35B ใช้งานบนเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกสำหรับนาวิกโยธิน
และรุ่น F-35C ใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินสำหรับกองทัพเรือ
F-35A ประจำการกองทัพอากาศหลายชาติแล้ว
ส่วน F-35B ประจำการนาวิกโยธินอเมริกาแล้ว และ F-35C อยู่ระหว่างทดสอบใช้งานจริง เครื่องบินทุกรุ่นมีหน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิม อ้วนขึ้น
กว้างขึ้น และหนักขึ้น (น้ำหนักบินขึ้นสุงสุด F-35A
เพิ่มขึ้นจาก 50,000 ปอนด์ในรุ่นต้นแบบ มาเป็น 70,000
ปอนด์ในรุ่นประจำการ) ความเร็วสุงสุดเพิ่มขึ้นคือ 1.6 มัค เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ Pratt & Whitney F135 ผลพวงจากการพัฒนาปรับปรุงข้อบกพร่อง แม้จะประสบกับความล่าช้าและงบบานปลาย
สุดท้ายได้เครื่องบินที่ดีตรงความต้องการ
ภาพบนซ้ายเปรียบเทียบเครื่องบินทั้ง
3 รุ่น จะเห็นได้ว่า F-35C
ปีกกว้างที่สุด เติมน้ำมันได้มากที่สุด ราคาแพงที่สุด
และพัฒนาเชื่องช้าที่สุด ภาพล่างซ้ายแสดงจำนวนเครื่องบินที่คาดว่าจะผลิต รวมทั้งแบบเครื่องบินที่จะนำมาทดแทน
ภาพบนขวาแสดงระบบเครื่องยนต์ F-35B ซึ่งเป็นรุ่นขึ้นลงแนวดิ่ง
ภาพล่างขวาแสดงข้อมูลการบินลอยตัวของ F-35B ซึ่งจะใช้แรงยกจากพัดลมกลางลำมากที่สุดคือ
48 เปอร์เซนต์ ท่อไอพ่นที่บั้นท้าย 43 เปอร์เซนต์
และท่อไอพ่นใต้ปีกอีก 9 เปอร์เซนต์
เรื่องลมร้อนลมเย็นนี่ก็เป็นประเด็น
เครื่องบิน X-32
ใช้ท่อไอพ่นกลางลำเพื่อลอยตัว ลมร้อนอาจโดนพื้นดินแล้วตีกลับเข้าช่องดูดอากาศ นานวันเข้าก็อาจเสียหายจนเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่ X-35 พ่นลมเย็นจากพัดลมกลางลำ ส่วนลมร้อนอยู่ด้านท้ายและกลางปีก โอกาสเจอแจ๊คพอตจึงมีน้อยกว่าอีกฝ่าย จึงได้คะแนนส่วนนี้เพิ่มเติมเข้าไป
F-35B
ของอังกฤษ
อังกฤษเข้าร่วมโครงการ JSF มาตั้งแต่ต้น ลำดับความสำคัญรองจากอเมริกาเพียงชาติเดียว
มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลายสิ่งหลายอย่าง นำประสบการณ์ที่เจ็บมาเยอะปรับปรุงระบบลอยตัวในแนวดิ่ง
โดยเฉพาะพัดลมยกตัวซึ่งเป็นจุดเด่นราคาแพง นาทีนี้แก้ไขปัญหาได้(น่าจะ)หมดแล้ว และ(น่าจะ)เป็นเทคโนโลยีที่ยกระดับเครื่องบินให้สุงกว่าเดิม
เหมือนตอนพวกเขาพัฒนา Harrier GR.1 สำเร็จในครั้งกระโน้น
จนกระทั่งมาเป็น F-35B ในครั้งกระนี้
อังกฤษมีแผนจัดหา F-35B จำนวน 138
ลำ (ไม่รวมเครื่องทดสอบประมาณ 10 ลำ)
กองทัพเรือใช้งานบนเรือบรรทุกเครื่องบินติดสกีจัมป์
ส่วนกองทัพอากาศใช้งานบนบกเนี่ยแหละ ที่สั่งแบบนี้คงใช้แผนเดิมตอนสงครามฟอล์กแลนค์
ถึงคราวจำเป็นเครื่องบินกองทัพอากาศจะบินไปจอดบนเรือ ส่วนจะมี F-35A ตามมาหรือเปล่าไว้ดูกัน
หันไปดูเรือบรรทุกเครื่องบินกันบ้าง
ได้เครื่องบินใหม่แล้วก็ต้องได้เรือลำใหม่ด้วย เพื่อทดแทนเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น
Invincible ที่เกิด-แก่-เจ็บ-ตายและโด่งดังพร้อมกันกับ
Sea Harrier ภาพเรือลำบนโผล่ขึ้นในปี 1997 มีเครื่องบินจากโครงการ
JSF มีเฮลิคอปเตอร์ EH-101 มีสกีจัมป์ที่หัวเรือ
มีเรดาร์ตรวจการณ์ระยะไกล Type 1046 หรือ Thales S1850M มีระวางขับน้ำประมาณ 30,000 ถึง 40,000 ตัน รองรับอากาศยานตั้งแต่ 20 ถึง 40 ลำ และมีแบบเรือให้เลือกว่าจะเอาเล็ก-กลาง-ใหญ่
เรื่องราวของเมืองผู้ดีนั้นสุดแสนดราม่า
เพียง 2 เดือนหลังปรากฎภาพเรือลำใหม่
อังกฤษได้มีการเลือกตั้งตามวาระ พรรคแรงงานกลับมาครองเสียงข้างมากอีกครั้ง
หลายโครงการจึงถูกดองเค็มไว้ทำส้มตำ หลายโครงการถูกยกเลิกเพราะนายกไม่ปลื้ม
และหลายโครงการได้เกิดใหม่จากกองเถ้าถ่าน
โครงการ Super Carriers เป็นผู้โชดดีอยู่ในกลุ่มท้ายสุด
เรือบรรทุกเครื่องบินหอคอยคู่ยาว 284 เมตร ระวางขับน้ำสุงสุด
70,600 ตัน ได้กลับคืนสู่ราชนาวีอังกฤษอีกครั้ง หลังฝ่ามรสุมกระทั่งเอาชนะครบทุกด่าน
รวมทั้งโครงการ JSF เป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจน ปี 2008 จึงได้มีคำสั่งซื้อเรือจากรัฐบาล HMS Queen Elizabeth R08 วางกระดูกงูปี 2009 เข้าประจำการวันที่ 9 ธันวาคม 2017 ส่วน HMS Prince of Wales R09 วางกระดูกงูปี 2011 คาดว่าจะเข้าประจำการในปี 2020
เรื่องดราม่าของอังกฤษยังไม่จบ
เมื่อได้ Super Carriers เป็นที่แน่นอนแล้ว หลายคนเห็นลานบินยาว ๆ ก็เลยอยู่ไม่สุข จึงได้เสนอให้เปลี่ยนเครื่องบินมาเป็นรุ่น F-35C แล้วติดตั้งเครื่องส่งเครื่องบินทดแทนสกีจัมป์ จะได้เครื่องที่บินได้ไกลขึ้น
ติดอาวุธได้มากขึ้น ซ่อมบำรุงง่ายขึ้น เป็นมาตราฐานเดียวกับกองทัพเรืออเมริกา ต่อมาไม่นานก็กลับมาเลือก
F-35B เหมือนเดิม เพราะ F-35C
พัฒนาล่าช้าจนเกินงาม เรือลำใหม่จะมีแต่ลานบินโล่ง ๆ ไปอีกหลายปี รวมทั้งมีราคาแพงกว่ากันนิดนึง
HMS Queen Elizabeth เข้าประจำการราชนาวีอังกฤษแล้ว
ส่วนฝูงบิน 809 ก็กำลังฝึกบินกันอย่างเข้มข้น และในปีหน้า F-35B
จะเข้าประจำการบ้าง สิ้นสุดการรอคอยอันแสนยาวนานในปีที่ 58 แม้จะไม่ใช่เครื่องบินสองหางก็ตามที
-----------------------------------------------------------
ภาคผนวก : กองทัพเรือไทยเคยมีเครื่องบิน
AV-8S Matador จำนวน 7 ลำ
และเครื่องบินฝึก TAV-8S Matador จำนวน 2 ลำ ปลดประจำการหมดแล้วเพราะไม่มีอะไหล่ซ่อมบำรุง แต่เรือหลวงจักรีนฤเบศรยังปรกติสุขทุกประการ
ถ้าผู้อ่านต้องการฟื้นฟูฝูงบิน 301 ขึ้นมาอีกครั้ง
ด้วยการจัดหา AV-8B Harrier II มือสองจากอเมริกา
กรุณาตรวจสอบรุ่นให้ตรงกับความต้องการด้วย ไปคว้าเครื่องบินโจมตีมาใส่จรวดอัมรามแล้วยิงไม่ออก
จะหาว่าหล่อไม่เตือนไม่ได้นะครับ ;)
อ้างอิงจาก
เอกสารดาวน์โหลด : Joint Strike Fighter
Presentation.pdf
เอกสารดาวน์โหลด : The Road to JSF: Forty years of
UK ASTOVL work and its impact today.pdf
เอกสารดาวน์โหลด : AMERICAN X-VEHICLES An
Inventory—X-1 to X-50.pdf
เอกสารดาวน์โหลด : The Fighter of the 21st
Century.pdf