วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2567

Operation Naval Arrow

 

สงครามทุ่นระเบิด

        วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2017 สหรัฐอเมริกาออกคำเตือนมายังเรือสินค้าเอกชนทุกลำที่แล่นผ่านทะเลแดง ให้คอยระวังทุ่นระเบิดใต้น้ำกองกำลังกลุ่มกบฏฮูธี ซึ่งแอบลักลอบนำมาวางบริเวณช่องแคบบับเอลมันเดบ เลยมาจนท่าเรือโมกาประเทศเยเมน เพื่อโจมตีเรือทุกลำที่ดันทะเล่อทะล่าวิ่งเข้าใกล้ เป็นการเอาคืนเรื่องพ่ายแพ้สงครามอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบกับเรือพิฆาตสหรัฐอเมริกาแบบสู้กันไม่ได้

        วันที่ 8 มีนาคม 2017 เรือประมงลำหนึ่งแล่นชนทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำรอยต่อระหว่างเยเมนกับซาอุดีอาระเบีย ทุ่นระเบิดคาดว่ามาจากอิหร่านทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย เรือประมงเสียหายอย่างหนักและจมลงสู่ก้นทะเลในเวลาต่อมา

        วันที่ 10 มีนาคม 2017 เรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งเยเมนลำหนึ่ง แล่นชนทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำประเทศตัวเอง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 รายบาดเจ็บอีก 8 ราย เรือเกิดความเสียหายอย่างหนักต้องใช้เรือลำอื่นช่วยลากจูงเข้าฝั่ง

        กลุ่มกบฏฮูธีออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อทั้งสองเหตุการณ์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเคลมเป็นผลงานตัวเองโดยไม่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอ

        วันที่ 25 มีนาคม 2017 กองเรือกวาดทุ่นระเบิดกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียประกอบไปด้วย เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Sandown จำนวน 3 ลำ สร้างจากประเทศอังกฤษติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยเต็มลำ ออกปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิดในทะเลแถบน่านน้ำเมืองโมกา โดยมีเจ้าหน้าที่เยเมนร่วมทำภารกิจจำนวนหนึ่ง ท่ามกลางการคุ้มกันจากเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีและเรือคอร์เวตกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียจำนวนหลายลำ

        กองเรือกวาดทุ่นระเบิดกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียสามารถตรวจพบและเก็บกู้ทุ่นระเบิดจำนวนมาก ทุ่นระเบิดส่วนใหญ่สภาพค่อนข้างเก่าแต่ยังคงใช้งานได้ ถูกออกแบบให้ปล่อยจากเรือดำน้ำหรือเครื่องบิน ก่อนถูกดัดแปลงให้สามารถปล่อยจากเรือผิวน้ำขนาดเล็ก เหตุผลก็คือกลุ่มกบฏฮูธีไม่มีเรือดำน้ำหรือเครื่องบินขนาดใหญ่

        สงครามทุ่นระเบิดเกิดขึ้นทั้งในน่านน้ำและบนแผ่นดินประเทศเยเมน กองทัพเรือซาอุดีอาระเบียทำภารกิจกวาดทุ่นระเบิดเป็นงานประจำ แม้เป็นทุ่นระเบิดรุ่นเก่าทว่าฤทธิ์เดชไม่เก่าตามอายุ ส่งผลให้พวกเขามีประสบการณ์สงครามทุ่นระเบิดมากที่สุดชาติหนึ่ง

        หลังจากวันนั้นกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียยังกวาดทุ่นระเบิดต่อไปเรื่อยๆ เพราะมีค่อนข้างมากส่งผลให้เรือหลายลำโดนลูกหลง รัฐบาลเยเมนในตอนนั้นรู้สึกกระดากอายประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขาหันมาปรึกษากับอเมริกาเพื่อนผู้แสนดีจากแดนไกล ต่อมาในวันที่ 16 เมษายน 20167 กองทัพเรือเยเมนเริ่มปฏิบัติการธนูทะเลหรือ Operation Naval Arrow เพื่อตรวจจับและเก็บกวาดทุ่นระเบิดกลุ่มกบฏฮูธีให้หมดสิ้นจากน่านน้ำ

        เยเมนมีเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Yevgenia จำนวน 2 ลำ และชั้น Natya จำนวน 1 ลำ เรือจากโซเวียตทั้ง 3 ลำอายุรวมกันประมาณ 150 ปี พวกเขาจำเป็นต้องรีบจัดหาเรือชนิดอื่นเข้ามาเสริมทัพ โดยการติดตั้งอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิดรุ่นใหม่ทันสมัยที่อเมริกาให้ยืม ตามแนวคิดสุดโต่ง เรือทุกลำเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดได้อย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้ง

Operation Naval Arrow ประสบความสำเร็จเท่าที้รัฐบาลเยเมนสามารถทำได้ ภายในสองสัปดาห์พวกเขาทำลายทุ่นระเบิดจำนวนมากถึง 86 นัด แต่ถึงกระนั้นภัยคุกคามจากอาวุธสมัยสงครามโลกยังไม่สิ้นสุดแค่เพียงเท่านี้

        วันที่ 1 พฤษภาคม 2017 เรือประมงลำหนึ่งแล่นชนทุ่นระเบิดลูกหนึ่ง เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงคร่าชีวิตลูกเรือจำนวน 1 ราย ทางการเยเมนแจ้งว่าเป็นทุ่นระเบิดดัดแปลงที่ยังเก็บกู้ไม่หมด ไม่ก็เรือขนาดเล็กของกลุ่มกบฏฮูธีลักลอบนำมาวางเพิ่มเติม

ตลอดปี 2017 มีการตรวจพบทุ่นระเบิดในทะเลแดง และค่อยๆ เลือนหายในปีถัดไปจนกระทั่งแทบไม่มีรายงานความเสียหาย ทั้งนี้เนื่องมาจากกลุ่มกบฏฮูธีครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเยเมนสำเร็จ ปัจจุบันภัยคุกคามหลักถูกปรับเปลี่ยนเป็นอากาศยานไร้คนติดระเบิด อาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้นระยะไกล และขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่กลุ่มกบฏฮูธีได้รับเทคโนโลยีบวกความช่วยเหลือจากประเทศอิหร่าน

หมายเหตุ

ภาพประกอบที่ 1 ถึง 3 คือกองเรือกวาดทุ่นระเบิดกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียขณะฝึกซ้อม Gulf Shield 1 ประกอบไปด้วยเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Sandown กับเรือคอร์เวตชั้น Badr บนท้องฟ้ามีเฮลิคอปเตอร์ Super Puma สำหรับรับส่งเจ้าหน้าที่หน่วย EOD

ขณะปฏิบัติการจริงมีหารจัดกำลังทางเรือแบบนี้เลย เหตุผลที่ต้องมีเรือคุ้มกันเพราะอยู่ในเขตพื้นที่อันตราย ภัยคุกคามในช่วงนั้นคืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Noor หรือ C-802 เวอร์ชันอิหร่าน ทว่าเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างต่ำเนื่องจากเรือพิฆาตอเมริกาเผด็จหมดแล้ว ภัยคุกคามอันดับสองคือเรือยางพลีชีพติดระเบิดขนาดเล็ก ซึ่งกองทัพเรือซาอุดีอาระเบียใช้ปืนกล 12.7 มม.ไล่ยิงเหมือนยิงเป็ดได้รับชัยชนะเด็ดขาดในเวลาต่อ

ทั้งเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Al Sadiq และเรือคอร์เวตชั้น Badr สร้างโดยสหรัฐอเมริกา มีปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx ใช้งานบนเรือ โดยที่ลำหลังติดตั้งตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.46 เพิ่มเติมเข้ามา จึงมีทั้งความคล่องตัวและความเหมาะสมมากกว่าเรือฟริเกตสร้างโดยฝรั่งเศสทั้งสองรุ่น ซาอุดีอาระเบียมีเรือชั้น Al Sadiq จำนวน 9 ลำบวกเรือชั้น Badr อีก 4 ลำ มากเพียงพอในการคุ้มกันเรือกวาดทุ่นระเบิดจำนวน 3 ลำ

ภาพประกอบสุดท้ายคือการกู้ทุ่นระเบิดของจริงในทะเลแดง ในภาพเข้าใจว่าทุ่นระเบิดหลุดจากจุดติดตั้งจึงลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ เห็นแบบนี้เรือลำไหนทะเล่อทะล่าเข้ามามีหวังซวยยกแผง จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่หน่วย EOD เข้าไปตรวจสอบและเก็บกู้ขึ้นสู่ฝั่ง

การเก็บกู้ทุ่นระเบิดในทะเลแดงปี 2017 ใหญ่โตที่สุดในยุคปัจจุบัน เป็นสิ่งบ่งบอกชัดเจนถึงความสำคัญกองเรือกวาดทุ่นระเบิด อนาคตถ้าสงครามทุ่นระเบิดในทะเลแดงร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง ซาอุดีอาระเบียอาจหาตัวช่วยอาทิเช่นใช้ระบบ Mission Module บนเรือคอร์เวต Avante 2200 ซึ่งตัวเองมีประจำการจำนวน 5 ลำ

อ้างอิงจาก

https://thaimilitary.blogspot.com/2017/06/royal-saudi-navy-part-ii-yemen-civil-war.html

https://maritime-executive.com/article/saudi-forces-find-more-naval-mines-off-yemen

https://www.arabnews.com/node/995271/ajax/spa/page_action/aggregate

https://katehon.com/ar/news/hdth-khtyr-fy-bhr-lkhlyj-lyl-byn-yrn-wmryk


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น