วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

83-Footer Patrol Boat

 

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.11’

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ราชนาวีไทยประจำการเรือรบขนาดเล็กจากอเมริกาจำนวนหนึ่ง ประกอบไปด้วยเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.13’ ในปี 1954 จำนวน 4 ลำ ซึ่งเป็นเรือใหม่เอี่ยมติดอาวุธเหมือนหน่วยยามฝั่งอเมริกา ต่อด้วยเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.31’ ในปี 1955 จำนวน 3 ลำ เรือถูกสร้างระหว่างปี 1945 ก่อนโอนให้ไทยในอีก 10 ปีต่อมา เก่ากว่าก็จริงแต่เป็นเรือ Submarine Cheasers แท้ๆ ติดอาวุธมากกว่ากันโดยเฉพาะบริเวณหัวเรือ

นอกจากเรือทั้ง 2 ชั้นจำนวน 7 ลำแล้ว ยังมีเรือรบปริศนาอีกหนึ่งชั้นจำนวน 2 ลำ ที่อาจเลือนหายจากความทรงจำพี่น้องชาวไทย รวมทั้งแทบไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลจากกองทัพเรือ ผู้เขียนอนุญาตนำเธอกลับมาให้ชื่นชมอีกครั้ง เรือแฝดสองลำที่กลายเป็นคนแปลกหน้าก็คือ เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.11’ เรือปราบเรือดำน้ำรุ่นแรกสุดของลูกประดู่ไทย

ภาพถ่ายต้นฉบับเป็นภาพขาวดำ ผู้เขียนนำมาเพิ่มสีสันเล็กน้อยพอชื่นใจ ในภาพคือเรือปร.12 อันเป็นเรือลำที่สองในจำนวนสองลำ ขนาดเล็กกะทัดรัดเมื่อเทียบกับภาพลูกเรือยืนวันทยหัตถ์ เสากระโดงค่อนข้างบางสูงไม่มากและเอียงเล็กน้อย ยอดเสากระโดงคล้ายเรดาร์เดินเรือ SA-1 ที่อเมริกานำมาใส่บนเรือกวาดทุ่นระเบิดชายฝั่ง หรืออาจจะเป็นเรดาร์อีกตัวที่กำลังจะพูดถึงในย่อหน้าถัดไป หรืออาจเป็นอะไรสักอย่างบังเอิญอยู่ในภาพผู้เขียนไม่กล้าฟันธง

ไม่ต้องวิตกกังวลชมภาพถัดไปซึ่งชัดเจนมากขึ้นต่อดีกว่า

เรือปร.12 ลำเดิมช่างภาพชาวอเมริกาถ่ายในปี 1967 มองเห็นแท่นยิง Mark 20 ลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap ที่หัวเรือชัดเจน ต่อกันด้วยกล่องใส่ลูกจรวด Mousetrap อันเป็นอาวุธหลักของเรือปร.ทั้ง 9 ลำในเวลานั้น สะพานเดินเรือกับกระจก 4 ช่องอยู่ถัดไป ด้านบนเป็นจุดตรวจการณ์กางผ้าใบป้องกันแสงแดด เสากระโดงใกล้เคียงของเดิมแต่ตั้งตรง 90 องศา  โดมทรงกลมสีขาวยอดสุดเสากระโดงคือเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SO

SO Series Microwave Searh ถูกพัฒนาขึ้นมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อใช้งานบนเร็วตอร์ปิโดกับเรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก ต่อมาถูกนำไปใช้งานบนเรือระบายพลขนาดเล็ก เรือดำน้ำ เครื่องบินโจมตีทางทะเล รวมทั้งติดตั้งบนฝั่ง

เรดาร์ SO มีจำนวนหลายรุ่นด้วยกัน แบ่งเป็น SO และ SO-3 เหมาะสมกับเรือเร็วตอร์ปิโด โดมเรดาร์มีขนาดเล็กกว่าในภาพ ภายในโดมมีตัวส่งสัญญาณขนาดกะทัดรัด หมุนรอบตัวด้วยความเร็ว 12 รอบต่อนาที เสากระโดงสามารถพับเก็บได้อย่างง่ายดาย เพื่อความคล่องตัวในการหลบหนีหลังการโจมตี เรดาร์ SO และ SO-3 สามารถควบคุมการยิงตอร์ปิโดได้ด้วย

ขณะที่เรดาร์ SO-1 SO-2 และ SO-4 ใช้งานกับเรือขนาดเล็กทั่วไป รวมทั้งมีการนำมาติดตั้งบนเครื่องบิน ปิดท้ายด้วยเรดาร์ SO-7M สำหรับใช้งานบนฝั่งกับรถสื่อสารขนาดหนึ่งตัน ขนาดโดมจะใหญ่กว่า SO และ SO-3 อย่างชัดเจน เพราะจานส่งสัญญาณกว้างกว่าพอสมควร หมุนรอบตัวความเร็ว 12 รอบต่อนาทีเช่นกัน ระยะตรวจจับไกลสุด 8 ไมล์ทะเลเมื่อติดตั้งบนเสากระโดงสูง 15 ฟุต มีใช้งานแพร่หลายทั้งเรือหน่วยยามฝั่งและกองทัพเรืออเมริกา

เรดาร์บนเรือปร.12 รุ่น SO-2 เหมือนหน่วยยามฝั่งอเมริกา ถึงเป็นเรือขนาดเล็กแต่ระบบตรวจจับไม่เล็ก

สำหรับเรือลำใหญ่จอดใกล้กันคือเรือหลวงลาดหญ้า เป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น MSC-294 ที่อเมริกาโอนให้เราตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร อันเป็นผลสืบเนื่องจากการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชีย เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 375 ตัน ยาว 43.9 เมตร กว้าง 8.2 เมตร กินน้ำลึก 2.6 เมตร เทียบกับเรือปร.12 แตกต่างกันแบบพ่อกับลูก หมายความว่าเรือปราบเรือดำน้ำมีขนาดเล็กมาก ผู้อ่านคิดว่ายาวเท่าไรลองทายกันดูเล่นๆ ดีไหมครับ ตอนนี้กลับมาที่นางเอกบทความนี้กันอีกครั้ง

Superstructure กลางเรือเป็นแบบโปร่งไม่มีหลังคา ไล่ลงมาเรื่อยๆ เป็นทรงโค้งจนถึงพื้นเรือ รูปทรงแบบนี้เรือต.91 จนถึงเรือต.991ของเรานำมาใช้งานเช่นกัน ถัดมาหน่อยเดียวเป็นปล่องระบายความร้อน ต่อด้วยปืนกล Oerlikon 20 มม.ลำกล้องเดี่ยว 1 กระบอก ติดตั้งแท่นปล่อยระเบิดลึกแท่นละ 2 ลูกได้มากสุด 4 แท่น ที่สองกราบเรือ 2 แท่นท้ายเรืออีก 2 แท่น

แม้มีระวางขับน้ำปรกติเพียง 44.5 ตัน ทว่าเรือชั้นปร.11 ติดตั้งอาวุธเทียบเท่าเรือชั้นปร.13  ยกเว้นปืนกล 20 มม.ลำกล้องแฝดกลายเป็นลำกล้องเดี่ยว เพราะฉะนั้นราชนาวีไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Common Fleet’ นะครับ ส่วนราชนาวีไทยหลังสงครามปราบไวรัสอู่ฮั่นครั้งที่สอง ถ้าไม่ใช่กองเรือนานาชาติที่แท้จริงก็คงใกล้เคียง

เรือชั้นปร.11 เข้าประจำการก่อนปี 1954 แต่เป็นปีไหนผู้เขียนยังหาข้อมูลไม่พบ เรือปร.11 ปลดประจำการปี 1973 และพบ เรือปร.11 ปลดประจำการปี 1978 อายุใช้งานไม่ยาวนานหลายสิบปีเพราะตัวเรือทำจากไม้

คำถามก็คืออเมริกาโอนเรือรุ่นไหนให้กับไทย?

ข้อมูลต่อจากนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่าเป็นการคาดเดาด้วยภาพถ่ายไม่มีเอกสารยืนยัน โดยการแต่งเติมจิ๊กซอร์ที่ขาดหายไปให้ครบถ้วน มาครับมาเป็นนักสืบกำมะลอไปพร้อมกัน

เริ่มจากการตั้งข้อสันนิษฐานว่าเรือชั้นปร.11คือเรือ 83-Footer Patrol Boat จากนั้นจึงนำภาพถ่ายมาเปรียบเทียบ


ภาพนี้คือเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุตหน่วยยามฝั่งอเมริกา ถูกสร้างขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองจำนวน 230 ลำ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 76 ตัว ยาว 83 ฟุต 2 นิ้ว กว้าง 16 ฟุต 2 นิ้ว กินน้ำลึก 5 ฟุต 4 นิ้ว ใช้เครื่องยนต์ Gasoline Twin Screw แบบ 8 สูบ ทำความเร็วสูงสุด 20.6 นอต สามารถทำหน้าที่ตรวจการณ์ กู้ภัยทางทะเล ขนส่ง รวมทั้งปราบเรือดำน้ำ เรือในภาพคือเรือลำสุดท้ายซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ ถ่ายในปี 2008 ไม่ทราบว่าปัจจุบันเป็นเช่นไรไปแล้ว

นอกจากเรือ 230 ลำของอเมริกาเองแล้ว เรืออีก 12 ลำพร้อมระบบเรดาร์และโซนาร์ ถูกสร้างให้กับประเทศคิวบา 4 ลำ โดมินิกัน 3 ลำ ไฮติ 1 ลำ และเวเนซูเอลา 4 ลำ หลังสงครามโลกสิ้นสุดเรือจำนวนหนึ่งถูกโอนให้กับคิวบา 8 ลำ เปรู 6 ลำ เม็กซิโก 3 ลำ รวมทั้งโคลัมเบียอีก 2 ลำ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา

ไม่มีข้อมูลการถ่ายโอนให้ประเทศไทย ทว่ารูปร่างหน้าตาเหมือนกันราวฝาแฝด ขนาดแผ่นกันกระแทกข้างเรือยังเหมือนกันเป๊ะเว่อร์ ผิดกันแค่เพียงเรือไทยมีปล่องระบายความร้อน ถ้าเช่นนั้นเรามาตามสืบหาหลักฐานไปพร้อมกัน

ภาพนี้คือภาพถ่ายเรือ CG-83312 หลังสงครามโลก เรือลำนี้เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลเรียบร้อย มีปล่องระบายความร้อนตำแหน่งเดียวกับเรือไทย โดยมีรูปทรงต่างกันเล็กน้อย (เรือไทยวางบนแท่นส่วนเรืออเมริกาวางบนพื้น) ความสูงมากกว่ากันสักเล็กน้อย แต่เป็นหลักฐานชัดเจนว่าเรือชั้นปร.11ของไทย คือเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุต

เป็นอันว่าเราหาแบบเรือชั้นปร.11 เจอแล้ว แต่ยังไม่เจอแท่นยิง Mark 20 ลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap บนเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุต ไปครับคราวนี้เราไปประเทศสเปนพร้อมกัน

ตั้งแต่ปี 1963 อู่ต่อเรือ Bazan ได้สร้างเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุตรุ่นปราบเรือดำน้ำขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เรือสเปนมีระวางขับน้ำปรกติ 49 ตัน (เรือไทย 44.5ตันใกล้เคียงมาก) ระวางขับน้ำเต็มที่ 63 ตัน (เรืออเมริกา 76 ตันต่างกันพอสมควร) ขนาดเรือแตกต่างจากต้นฉบับเล็กน้อย เห็นแท่นยิง Mousetrap ที่หัวเรืออย่างชัดเจน มาพร้อมเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่หน้าตาทันสมัยกว่าเรดาร์ SO-2 ไม่ทราบเหมือนกันว่าใช้ ASDIC หรือโซนาร์ตัวอื่นในการค้นหาเป้าหมายใต้น้ำ

เรือตรวจการณ์ทำจากไม้อายุใช้ไม่มากเท่าไร ยิ่งนำมาใช้ภารกิจปราบเรือดำน้ำยิ่งสั้นกว่าเดิม ส่งผลให้ทั้งเรือไทยและเรือสเปนแทบไม่มีภาพถ่ายชัดเจน ด้วยไม่เป็นที่จับตามองเหมือนเรือพิฆาตหรือเรือดำน้ำ

ผลจากการตามสืบของผู้เขียนสรุปเอาเองได้ว่า เรือชั้นปร.11คือเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุตหน่วยยามฝั่งอเมริกา นำมาเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เพิ่มอายุใช้งาน ติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำเหมือนเรือตรวจการณ์สเปน ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นการคาดเดาด้วยภาพถ่าย วันใดก็ตามผู้เขียนมีหนังสือ เรือรบราชนาวีไทย จะมานำข้อมูลจากหนังสือมาตรวจทานข้อมูล

วันนี้ผู้เขียนนำเรือชั้นปร.11 กลับมาปรากฏโฉมอีกครั้ง หวังว่าทุกคนจะจดจำเธอได้บ้างไม่มากก็น้อย

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://stefsap.wordpress.com/2015/12/07/the-thai-navy/

https://www.history.navy.mil

http://rach1968.blogspot.com/2014/09/blog-post_20.html?m=1

https://www.yachtworld.com/research/wheeler-coast-guard-cutter-calling-history-buffs/

เอกสารดาวน์โหลด: U. S. Coast Guard Small Cutters and Patrol Boats 1915 - 2012

เอกสารดาวน์โหลด: U. S. Coast Guard Patrol Craft Major Classes -100-feet to 150 feet in Length 1915 to 2012

นิตยาสาร Janes Fighting Ships 1970-71

นิตยาสาร Conway's All The World's Fighting Ships 1947-1995

 

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

Cape Class Cutter

 

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.13’

สะพานพระพุทธยอดฟ้าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อสร้างและเริ่มใช้งานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีมาช้านาน

แบบสะพานที่ถูกคัดเลือกมาจากบริษัท Dorman Long ประเทศอังกฤษ เป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร ออกแบบให้ยกกลางสะพานเพื่อให้เรือใหญ่แล่นผ่านได้ ส่งผลให้มีภาพถ่ายเรือรบราชนาวีไทยจำนวนมาก กำลังแล่นผ่านสะพานพุทธเพื่อเข้าหรือออกกรมอู่ทหารเรือ

ผู้เขียนมีโอกาสตรวจสอบภาพถ่ายจากแหล่งต่างๆ ภาพเกือบทั้งหมดใส่ชื่อเรือไว้อย่างชัดเจน อาจมีคลาดเคลื่อนบ้างคงว่ากันไม่ได้ เนื่องจากคนใส่ภาพไม่ได้ชำนาญเรื่องชื่อเรือ (โดยเฉพาะเรือจากในอดีต) ผู้เขียนเองเคยพลาดท่าเสียทีบ่อยครั้ง ให้บังเอิญมีภาพเรือลำหนึ่งแล่นผ่านสะพาน ตรวจสอบจากหลายแห่งระบุแค่เพียง เรือหลวง บ้าง เรือรบหลวง บ้าง เรือขนาดกะทัดรัดลำนี้ช่างไม่คุ้นตาเอาเสียเลย เห็นหมายเลข 14 ติดอยู่บนหัวเรืออย่างชัดเจน


ตกลงเรือลำนี้ชื่อเรืออะไร? มิตรสหายท่านหนึ่งได้เอ่ยถามขึ้นมา

มาครับเรามาสวมวิญญาณโคนันยอดนักสืบไปพร้อมกัน เริ่มจากเสากระโดงเรือค่อนข้างเล็กและบาง เอียงมาทางด้านหลังเล็กน้อยและไม่ได้ติดตั้งเรดาร์ สองกราบเรือห้อยแพชูชีพรุ่นโบราณสีค่อนข้างเข้ม ภาพรวมเหมือนเรือยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มีเสาอากาศวิทยุ 1 ต้นอย่างชัดเจน ฉะนั้นภาพนี้ต้องเลยสงครามโลกมาแล้วสักพักหนึ่ง ดูจากทรงเรือไม่เหมือนเรืออิตาลีหรือเรือญี่ปุ่น ค่อนมาทางเรืออเมริกามากกว่าเรืออังกฤษ เรือลำนี้ไม่มีปืนใหญ่หรือปืนกลที่หัวเรือ แต่ติดอาวุธปราบเรือดำน้ำขนาดกะทัดรัดของอเมริกา เรือลำนี้ราชนาวีไทยตั้งชื่อไว้ว่า ปร.14’

ย้อนเวลากลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเรือไทยมีเรือรบประจำการจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรือปืนหนักเรือหลวงศรีอยุธยา เรือสลุปเรือหลวงแม่กลอง เรือดำน้ำชั้นมัจฉานุทั้ง 4 ลำ เรือตอร์ปิโดทั้งใหญ่และเล็กก็มีเยอะแยะ ปัญหาสำคัญในตอนนั้นคือสงครามปราบเรือดำน้ำ มีเพียงเรือหลวงแม่กลองลำเดียวติดแท่นยิงระเบิดลึกของญี่ปุ่น จำเป็นต้องหาเรือปราบเรือดำน้ำเข้าประจำการเร่งด่วน ป้องกันเรือดำน้ำข้าศึกปิดล้อมอ่าวไทยเหมือนในอดีต

เรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำชั้น Flower จากอังกฤษ 2 ลำเข้าประจำการปี 1946 กับ 1947 ต่อมาในปี 1951 เรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma จากอเมริกาก็มาอีก 2 ลำ (อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเสียเรือคอร์เวตชั้น Flower จำนวน 1 ลำในสงครามเกาหลี) เรือทุกลำติดอาวุธปราบเรือดำน้ำถึง 3 ชนิดด้วยกัน มาพร้อมเรดาร์และระบบโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำ ถือเป็นการยกระดับความสามารถของกองทัพ แต่เรือมีขนาดใหญ่ราคาแพงค่าใช้จ่ายสูง กองทัพเรือยังต้องการเรือเล็กติดอาวุธปราบเรือดำน้ำ ใช้ป้องกันชายฝั่งไล่มาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้มีการจัดหาเรือขนาดเล็กจากอเมริกาเข้าประจำการ

ช่วงนั้นเรามีเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC461 หรือเรือชั้นเรือหลวงสารสินธุ์จำนวน 8 ลำก็จริง แต่ยังต้องการเรือขนาดเล็กกว่าไว้ใช้งานเขตน้ำตื้น จึงได้มีการจัดหาเรือจำนวน 3 ชั้นรวมทั้งสิ้น 9 ลำ เข้าประจำการระหว่างปี 1950 ถึง 1954 ใช้ชื่อเรียกว่าเรือ ปร.’ ย่อมาจากคำว่า ปราบเรือดำน้ำและหนึ่งในสามโครงการที่ว่าคือนางเอกของเราในบทความนี้

ปี 1953 อู่ต่อเรือ US Coast Guard Yard ได้รับสัญญาสร้างเรือตรวจการณ์ 95 ฟุตจำนวน 4 ลำ โดยใช้แบบเรือและอาวุธเหมือนหน่วยยามฝั่งอเมริกา ราคาต่อลำอยู่ที่ 475,000 เหรียญ ราคารวมอยู่ที่ 1.9 ล้านเหรียญ เรือถูกส่งมอบและเข้าประจำการในปี 1954 โดยใช้ชื่อว่า ปร.13’ ปร.14’ ปร.15’ และ ปร.16’ ตามลำดับ ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารจากอเมริกา รวมทั้งเรือปราบเรือดำน้ำขนาดเล็กอีก 5 ลำที่เหลือ แตกต่างจากการซื้อเรือมือสองหลังสงครามโลกสิ้นสุดไม่นาน แต่ยังหาข้อมูลที่ชัดเจนมายืนยันไม่ได้นะครับ ต้องขอชี้แจงไว้ก่อนจะได้เข้าใจตรงกันชัดเจน

ภาพนี้คือเรือ ปร.14 ลำเดิมนั่นเอง มาพิจารณารายละเอียดไปพร้อมกัน หัวเรือมีราวกันตกทำจากเหล็กสูงเพียงครึ่งเดียวจากปรกติ ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap จำนวน 2 แท่นยิง แต่มองไม่เห็นเนื่องจากแท่นยิงถูกพับเก็บอย่างดี ที่เห็นสีขาวยาวๆ คือฟองคลื่นหรือความเสียหายของภาพถ่าย ไม่ใช่ปืนกลอย่าหลงเข้าใจผิดแบบผู้เขียนล่ะ  มีเสาอากาศวิทยุหนึ่งตัวเท่าเดิม ห้อยแพชูชีพรุ่นโบราณที่เดิม แต่เรือถูกปรับปรุงแล้วฉะนั้นไม่ใช่ภาพปี 1954

การปรับปรุงที่เห็นชัดเจนก็คือเสากระโดงเรือ เปลี่ยนจากเสาเดี่ยวมาเป็นเสาสามเหลี่ยมรูปทรงทันสมัย โดยการตั้งเสา 2 ต้นคู่กันบนสะพานเดินเรือ และเสาอีก 1 ต้นบนปล่องระบายความร้อนเครื่องยนต์ ปรับปรุงเสากระโดงไปเพื่ออะไร? เพื่อติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SL เข้าไปนั่นเอง ส่งผลให้เรือปร.14 มีอุปกรณ์ทันสมัยเทียบเท่าเรือรบลำใหญ่กว่า

ท้ายปล่องระบายความร้อนเป็นแท่นปืนกล 20 มม.ลำกล้องแฝด ถัดมาที่เห็นสีดำคล้ายถังน้ำมันคือระเบิดลึก โดยที่หนึ่งแท่นปล่อยใส่ระเบิดลึกได้ 2 ลูก โดยวางซ้อนแบบเอียงลงแล้วมัดลวดสลิงติดแท่น เวลาใช้งานปลดลวดสลิงระเบิดจะไหลลงส่ทะเล กราบซ้ายของเรือมองเห็น 2 แท่นปล่อย เท่ากับว่าเรือมีระเบิดลึกพร้อมใช้งาน 8 ลูกจาก 4 แท่นปล่อย บริเวณท้ายสุดของเรือเป็นเรือบดขนาดเล็กใช้วิธีวางคว่ำ นี่คืออาวุธทั้งหมดบนเรือปราบเรือดำน้ำขนาด 95 ฟุต

เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap คืออาวุธขนาดกะทัดรัดจากอเมริกา แท่นยิงถูกออกแบบค่อนข้างง่าย โดยนำแท่งเหล็กจำนวน 5 ท่อนมาเชื่อมต่อกัน น้ำหนักเบาสามารถพับเก็บดาดฟ้าเรือ เมื่อต้องการใช้งานลูกเรือจะกางแท่นยิงทำมุม 48 องศา นำ Mousetrap มาบรรจุเข้าไปแบบในภาพ เมื่อกดปุ่มยิง Mousetrap จะวิ่งขึ้นท้องฟ้าภายใน 4 วินาที ลอยละล่องตกสู่ท้องทะเลไกลสุดประมาณ 280 เมตร แหล่งข้อมูลบางแห่งบอกว่ายิงได้ไกลสุด 183 เมตร

 เรือปร.14 ติดตั้งแท่นยิง Mark 20 จำนวน 2 แท่นยิง แต่ละแท่นยิงบรรจุ Mousetrap ได้ 4 นัด จำนวนรวมอยู่ที่ 8 นัดต่อการยิงหนึ่งชุด Mousetrap แต่ละนัดยาว 99 เซนติเมตร หนัก 65 ปอนด์ บรรจุหัวรบ TNT ขนาด 33 ปอนด์หรือ Torpex ขนาด 30 ปอนด์ ติดตั้งเครื่องยนต์จรวด 2.25 นิ้ว Mk3 ใช้เวลาติดเครื่องยนต์เพียง 0.2 ถึง 0.7 วินาที


ภาพนี้แสดงรายละเอียดลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap ส่วนหัวเป็นระบบจุดชนวนให้มาตั้งค่าตรงนี้ เลยมาหน่อยเดียวเป็นหัวรบขนาดไม่เกิน 33 ปอนด์ ถัดมาเป็นแท่งยาวๆ คือระบบขับเคลื่อน ท้ายสุดมีแพนหางควบคุมทิศทางกับช่องเสียบอาวุธเข้ากับแท่นยิง ออกแบบง่ายๆ แต่ใช้งานได้จริงตามสไตล์ลุงแซมเขาล่ะ

อเมริกายังได้พัฒนาแท่นยิงรุ่น Mark 22 เพิ่มเติม บรรจุ Mousetrap ได้ถึง 8 นัดต่อแท่นยิง จำนวนรวมอยู่ที่ 16 นัดต่อการยิงหนึ่งชุด โดยการติดตั้งแท่นยิงทำจากเหล็ก 5 ท่อนซ้อนกัน 2 ชั้น แต่มีใช้งานบนเรือพิฆาตขนาดใหญ่เท่านั้น

                ภาพถัดไปคือเรือปร.13 ซึ่งเป็นเรือลำแรกของชั้น (และสมควรเป็นชื่อชั้นเรือในระดับประเทศ) กำลังจอดเคียงข้างเรือหลวงรางเกวียนหมายเลข 11 ซึ่งเป็นเรือสนับสนุนการกวาดทุ่นระเบิดลำแรกของไทย เรือลำนี้เคยเป็นที่ตั้งกองบังคับการกองเรือทุ่นระเบิดมาแล้วในอดีตและ เรือลำนี้ผู้เขียนอยากวาดภาพมากที่สุดพอๆ กับเรือหลวงเกร็ดแก้ว

เรือทั้งสองลำจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากกรมอู่ทหารเรือแถวบางกอกน้อย มองเห็นปล่องเหลี่ยมอันเป็นสัญลักษณ์กรมอู่ทหารเรือมาช้านาน หัวเรือปร.13 มองเห็นแท่นยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap อย่างชัดเจน หน้าสะพานเดินเรือเป็นกล่องใส่ลูกจรวด Mousetrap เห็นแท่นปล่อยระเบิดลึกด้านข้างจำนวน 2 แท่นบริเวณท้ายเรือ

ภาพถ่ายใบนี้มาจากกองทัพเรืออเมริกา พวกเขาเข้ามาเมืองไทยพร้อมกล้องถ่ายรูปทันสมัยราคาแพง ไม่ได้ระบุวันที่ถ่ายภาพอย่างชัดเจน แต่เรือปร.13 เปลี่ยนเสากระโดงและติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SE แล้ว (ผู้เขียนไม่ทราบรุ่นย่อยจนด้วยเกล้า) ทาสีดำช่วยลดคราบสกปรกจากปล่องระบายความร้อน อันเป็นจุดแตกต่างจากเรือปร.14ในภาพก่อนหน้านี้

เรดาร์ SE พัฒนาต่อมาจากเรดาร์ SG ซึ่งมีใช้งานบนเรือใหญ่ ขนาดกะทัดรัดกว่าเดิมเหมาะสมกับเรือขนาดเล็ก ระยะตรวจจับไกลสุด 12 ไมล์ทะเลบนเรือใหญ่เสากระโดงสูง ของเราเรือเล็กเสากระโดงเตี้ยน่าจะได้ประมาณ 8 ไมล์ทะเล เรื่องระบบเรดาร์ผู้เขียนคาดเดาเองจากข้อมูลต่างประเทศ ถ้าไม่ถูกในอนาคตจะนำข้อมูลมาหักล้างในภายหลัง

ภาพถัดไปคือเรือตรวจการณ์ 85 ฟุตจำนวน 2 ลำจอดคู่กันในแม่น้ำเจ้าพระยา เรือปร.13 เปลี่ยนเสากระโดงแล้วติดเรดาร์แล้ว มีเรืออีกหนึ่งลำจอดคู่กันเสากระโดงสีดำเหมือนกัน ฉะนั้นไม่น่าใช่เรือปร.14 ซึ่งเสากระโดงทาสีเทาคราม แต่จะเป็นปร.15 หรือปร.16 งานนี้ต้องเดาอย่างเดียวแล้วครับ

ท้ายเรือมองเห็นเรือบดลงมาลอยลำในแม่น้ำ ขนาดเล็กมากเท่าเรือพายบ้านเก่าแม่ผู้เขียน ท้ายเรือกางผ้าใบกันแดดกันฝนให้กับลูกเรือ เรือสองลำจอดคู่กันกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ทอดสะพานเล็กๆ สำหรับลงเรือบดเพื่อขึ้นฝั่ง อาคารสีขาวฝั่งขวามือดูคุ้นตาอย่างไรพิกล และจุดเด่นที่สุดของภาพนี้ก็คือเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap

Mousetrap มีเรื่องราวน่าสนใจมาก หลังจากอเมริกานำเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog ของอังกฤษเข้าประจำการ พวกเขาอยากพัฒนาอาวุธใกล้เคียงกันขึ้นมาเอง เพื่อนำมาใช้งานบนเรือเล็กตามความต้องการ

 ต้นฉบับจากอังกฤษเป็นเครื่องยิงลูกระเบิดลึก แท่นยิงเป็นกล่องมีเหล็กแท่งใช้ติดตั้งลูกระเบิดจำนวน 24 ลูก เวลายิงพลยิงจะโยกไกยิงส่ง Hedgehog ขึ้นสู่ฟ้าทีละแถว เวลายิง 24 ลูกต้องโยกคันยิง 6 ครั้งติดกัน สร้างพื้นที่ทำลายล้างเป็นรูปไข่ กว้าง 59 เมตร ยาว 51 เมตร มีค่าเฉลี่ยการโจมตีอยู่ที่การโจมตี 5.7 ครั้งต่อ 1 เป้าหมาย

Hedgehog ลอยไปตกทะเลด้วยแรงส่งจากเครื่องยิง แต่ Mousetrap ติดเครื่องยนต์จรวดไว้ที่ท้ายเครื่อง ใช้พลังงานของตัวเองในการลอยขึ้นฟ้า กองทัพเรืออเมริกาไม่เรียกอาวุธชนิดนี้ว่า Projectile เหมือนอังกฤษ แต่ใช้คำว่า Anti-Submarine Rocket ฉีกออกมาให้ดูแตกต่าง ผู้เขียนอยากใช้คำว่าจรวดปราบเรือดำน้ำเหมือนกัน บังเอิญ Mousetrap ยังดูเป็นลูกผสมระหว่างอาวุธ 2 ชนิด ไม่เหมือนจรวดปราบเรือดำน้ำ Weapon Alpha ที่พัฒนาขึ้นมาในภายหลัง

ภาพนี้คือแท่นยิงทำจากเหล็ก 5 ท่อน  ซึ่งถูกออกแบบได้อย่างแหวกแนวแต่ใช้งานดีเยี่ยม ในภาพลูกเรือกำลังกางแท่นยิงขึ้นมาเตรียมพร้อม โดยการดันเหล็กแท่นยิงขึ้นมาแล้วนำเหล็กฐานรองมาเสียบใต้ล่าง ลักษณะคล้ายคลึงกับดักหนูในอดีตกาลเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เองอาวุธสุดยิกของลุงแซมถึงได้ชื่อว่า Mousetrap

ส่วนภาพนี้คือระบบควบคุมการยิง อังกฤษสร้างระบบควบคุม Hedgehog เป็นแผงหน้าปัดมีคันโยกฝั่งขวามือ ส่วนอเมริกาสร้างเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเล็กเท่ากล่องผ้า บนสุดเป็นปุ่มป๊อกแป๊กเปิดปิดระบบพร้อมไฟแสดงสถานะ ตรงกลางเป็นปุ่มกดสีดำเพื่อยิง Mousetrap ที่อยู่ล่างสุดเป็นปุ่มป๊อกแป๊กควบคุมการทำงานแท่นยิงซ้าย (Port) และแท่นยิงขวา (Starboard) มีไฟแจ้งเตือนความปลอดภัยอยู่ตรงกลางหนึ่งดวง มีขุดไขนอตยึดกล่องสี่เหลี่ยมติดพื้นไม่ให้กลิ้งหายไปไหน

จากภาพถ่ายผู้เขียนขอเดามั่วๆ ว่า Mousetrap สามารถเลือกยิงแท่นยิงซ้ายหรือขวาจำนวน 4 นัดแยกกันได้ หรือยิงพร้อมกันแบบซัลโว 8 นัดรวดได้ ทันสมัยกว่าของอังกฤษที่ต้องใช้คันโยก ต่อมาไม่นาน Hedgehog ได้พัฒนาแท่นยิงรุ่นใหม่ Mark 11 สามารถใช้ปุ่มกดแบบนี้ได้เช่นกัน แต่ผู้เขียนชอบรุ่นคันโยกมากกว่ามันดูอินดี้สุดๆ

ขอพามารู้จักเรือแบบลำนี้ให้ชัดเจนกว่าเดิม เมื่อสงครามเย็นและสงครามเกาหลีได้เริ่มก่อตัว หน่วยยามฝั่งอเมริกาต้องการเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ นำมาทดแทนเรือตรวจการณ์ 83 ฟุตของตัวเอง อันมีวีรกรรมระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองจำนวนมากมาย เรือลำใหม่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ทันสมัยกว่าเดิม ตัวเรือมีความแข็งแรงกว่าเดิม ใส่เครื่องยนต์รุ่นใหม่ทันสมัยกว่าเดิม สามารถติดอาวุธหนักได้ในระดับหนึ่ง สามารถทำภารกิจปราบเรือดำน้ำได้ รวมทั้งภารกิจหลักคือการตรวจการณ์ ค้นหาและช่วยเหลือในทะเล

อู่ต่อเรือ US Coast Guard Yard สร้างเรือรุ่นใหม่ขึ้นมา 2 ขนาดด้วยกัน คือเรือตรวจการณ์ 82 ฟุตซึ่งในภายหลังใช้ชื่อชั้นว่า Point Class กับเรือตรวจการณ์ 95 ฟุตขนาดใหญ่กว่าติดอาวุธมากกว่า เรือลำนี้ในภายหลังใช้ชื่อว่า Cape Class หน่วยยามฝั่งอเมริกาเรียกเรือตรวจการณ์ว่า Cutter ด้วยเหตุนี้เองบทความจึงใช้ชื่อว่า ‘Cape Class Cutter’

การตั้งชื่อชั้นเรือมีความเกี่ยวพันกับการตั้งชื่อเรือ เหตุผลก็คือ Cape Class ทุกลำมีชื่อขึ้นต้นว่า Cape เพิ่มเติมในภายหลัง อาทิเช่นเรือลำแรกใช้หมายเลข 95300 และใช้ชื่อว่า Cape Small เรือลำอื่นก็เป็นแบบนี้ครบทุกลำ

การสร้างเรือแบ่งออกเป็น 3 เฟสหรือที่อเมริกาเรียกว่า Type ทยอยสร้างทีละ Type มีความแตกต่างกันตามภารกิจ ประกอบไปด้วย Type A รุ่นปราบเรือดำน้ำติด Mousetrap ที่หัวเรือจำนวน 12 ลำ ต่อด้วย ด้วย Type B รุ่นปราบเรือผิวน้ำติดปืนกล 40 มม.ที่หัวเรือจำนวน 8 ลำ สุดท้ายคือ Type C ค้นหาและกู้ภัยติดเพียงปืนกล 12.7 มม.อีกจำนวน 15 ลำ

เรือ 35 ลำทยอยเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1953 ถึง 1959 เมื่อ US Coast Guard Yard สร้างเรือ Type A รุ่นปราบเรือดำน้ำครบทุกลำ จึงได้สร้างรุ่นเดียวกันให้กองทัพเรือไทยต่อทันที เท่ากับว่าโครงการนี้เราได้เรือรุ่นใหม่ล่าสุดจากอเมริกา

คุณสมบัติทั่วไปของเรือตรวจการณ์ 95 ฟุต Cape Class Type A มีระวางขับน้ำ 102 ตัน ยาว 95 ฟุต กว้าง 19 ฟุต กินน้ำลึก 6.4 ฟุต พูดง่ายๆ ก็คือเรือยาว 29 เมตรนั่นแหละครับ ใช้เทคโนโลยีใหม่ 2 อย่างเหนือกว่าเรือตรวจการณ์ 83 ฟุตรุ่นเก่า หนึ่งตัวเรือทำจากเหล็กไม่ใช่ไม้มะกอก และสองใช้เครื่องยนต์ดีเซลไม่ใช่แก๊สโซลีน

ด้วยกำลัง 2,200 แรงม้าส่งผลให้เรือวิ่งเร็วสุด 20 นอต (22 นอตในรุ่น Type C ซึ่งไม่ติดอาวุธหนัก) มีความประหยัดกว่าเครื่องยนต์แก๊สโซลีนอย่างชัดเจน บวกกับตัวเรือทำจากเหล็กแข็งแรงทนทานมากขึ้น เรือชั้น Cape Class มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมพอสมควร คนเลือกแบบเรือให้ราชนาวีไทยฝีมือฉกาจใช้ได้เลย


ภาพนี้คือเรือหมายเลข 95306 Cape George  เห็นรายละเอียดทุกอย่างชัดเจนกว่าภาพถ่ายเรือไทย หัวเรือเชิดสูงเล็กน้อยมีสมอเรือจำนวน 2 อัน แท่นยิง Mousetrap สีดำสนิทดูน่าเกรงขามไม่เบา ที่อยู่ด้านหลังเป็นกล่องใส่ลูกจรวดนั่นเอง ถ้าใส่ได้กล่องละ 8 นัดเท่ากับมีจรวด16 นัด สามารถยิง Mousetrap แบบซัลโวได้ถึง 2 ชุด สะพานเรืออยู่บนเก๋งเรือชั้นสอง มีคนโผล่ออกมาโบกมือให้กล้องน่าจะถ่ายจากเครื่องบิน ภาพนี้ถ่ายในปี 1955 เรือใช้เสากระโดงสามเหลี่ยมติดเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SL ชัดเจน เอแล้วภาพเรือปร.14 เสากระโดงเดี่ยวแล่นผ่านสะพานพุทธนี่มันยังไงหนอ?

Mousetrap ถือเป็นอาวุธมาตรฐานกองทัพเรืออเมริกา เรือที่ติดตั้ง Mousetrap จะมีระบบโซนาร์ขนาดเล็กซึ่งยุคนั้นใช้ชื่อว่า ASDIC ติดตั้งมากับเรือ ลักษณะเป็น Retractable Dome เวลาใช้งานจะยืดออกมาเวลาไม่ใช้งานก็หดกลับคืน เมื่อ ASDIC ตรวจสอบพบเป้าหมายใต้ท้องทะเล กัปตันจะสั่งให้เบนหัวเรือเข้าหาเป้าหมาย (ตามตำแหน่งที่เจ้าหน้าที่ ASDIC บอก) เมื่อเข้าสู่ระยะยิง Mousetrap ทั้ง 8 ลูกลอยละล่องขึ้นสู่ท้องฟ้า จากนั้นเรือจะหักหลบทางอื่นเพื่อหาโอกาสโจมตีครั้งถัดไป

Mousetrap จำนวน 8 ลูกน้อยเกินไปที่จะจมเรือดำน้ำ แต่ Mousetrap จำนวน 8 ลูกอาจทำให้เรือดำน้ำเสียหาย ต้องเปิดเผยตัวเองให้เรือใหญ่ฝ่ายเราจัดการเผด็จศึก หรืออาจทำให้กัปตันเรือดำน้ำตัดสินใจสั่งถอยหลัง ไม่เข้ามายิงเรือสินค้ารวมทั้งเรือรบจอดอยู่ในท่าเรือ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าภารกิจประสบความสำเร็จแล้ว

เรือตรวจการณ์ชั้นปร.13เข้าประจำการกองทัพเรือไทยมาเรื่อยๆ ต่อมามีการปรับปรุงกองเรือให้ทันสมัยกว่าเดิม เรือทุกลำจึงถูกโยกมาอยู่กองเรือตรวจการณ์ รวมทั้งถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเรือ .81’ .82’ .83’ และ .84’ ตามลำดับ ก่อนทยอยปลดประจำการในปี 1982 จนครบทุกลำ ปิดตำนานเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งอเมริกาในกองทัพเรือไทย

ส่วนเรือตรวจการณ์ของอเมริกาอายุยาวนานกว่ากัน เรือที่ไม่ได้โอนให้ชาติอื่นทยอยปลดประจำการหลังปี 1990 โดยมีบางลำลากยาวมาถึงปี 2010 ซึ่งถือว่านานมาก สาเหตุเป็นเพราะเรื่องการซ่อมบำรุงนั่นเอง ประเทศไทยในยุคนั้นมีอู่ต่อเรือดีๆ ไม่กี่แห่ง ส่วนกองทัพเรือแม้ได้รับเรือจากอเมริกาจำนวนมาก แต่งบประมาณประจำปีค่อนข้างต่ำต้อยติดดิน ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเมืองทำพิษเข้าอย่างจัง เรือรบและกำลังพลเกือบทั้งหมดถูกโยกย้ายออกจากเมืองหลวง เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นปร.13 พลอยอายุใช้งานสั้นกว่าที่ควร เรื่องราวของเธอจึงพลอยเลือนหายไปจากคนรุ่นหลัง

วันนี้ผู้เขียนนำเรือชั้นปร.13กลับมาอีกครั้ง หวังว่าทุกคนจะจดจำเธอได้บ้างไม่มากก็น้อย


        -------------------------------

อ้างอิงจาก

https://stefsap.wordpress.com/2015/12/07/the-thai-navy/

https://www.history.navy.mil

https://www.history.navy.mil/content/history/nhhc/our-collections/photography/numerical-list-of-images/nhhc-series/nh-series/NH-102000/NH-102403.html

https://www.history.navy.mil/content/history/museums/nmusn/explore/photography/wwii/wwii-atlantic/battle-of-the-atlantic/anti-submarine-warfare/mousetrap.html

https://chuckhillscgblog.net/2020/05/23/new-multi-mission-very-light-weight-torpedo/

https://www.northropgrumman.com/what-we-do/sea/very-lightweight-torpedo/

https://www.popularmechanics.com/military/weapons/amp35085267/navy-first-new-torpedo-in-decades/

https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/naval_tradition/02_5.html

https://marines.navy.mi.th/htm56/htm_old55/yuttakan55/asia_war.html

http://rach1968.blogspot.com/2014/09/blog-post_20.html?m=1

http://indicatorloops.com/usn_pequot_escorts.htm

https://www.yachtworld.com/research/wheeler-coast-guard-cutter-calling-history-buffs/

https://en.wikipedia.org/wiki/Hedgehog_(weapon)

เอกสารดาวน์โหลด: ADVANCED UNDERSEA WARFARE SYSTEMS

เอกสารดาวน์โหลด: U. S. Coast Guard Small Cutters and Patrol Boats 1915 - 2012

เอกสารดาวน์โหลด: U. S. Coast Guard Patrol Craft Major Classes -100-feet to 150 feet in Length 1915 to 2012

นิตยาสาร Janes Fighting Ships 1970-71

นิตยาสาร Conway's All The World's Fighting Ships 1947-1995

 

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

Ecuadorian Navy The End

 

กองทัพเรือเอกวาดอร์ตอนจบ

สวัสดีปีใหม่ 2021 อันแสนโสภา ผู้เขียนได้เขียนถึงกองทัพเรือเอกวาดอร์ไปแล้ว 2 ตอน บทความตอนแรกเป็นกำลังรบหลักกองทัพเรือเอกวาดอร์ ส่วนบทความตอนที่สองคือภัยคุมคามในปัจจุบัน ซึ่งมาในรูปแบบกองเรือประมงขนาดใหญ่จากประเทศจีน สำหรับตอนนี้จะเป็นตอนจบบริบูรณ์แบบช้อยเก็บฉาก ทีเด็ดทีขาดที่ถูกเก็บซ่อนกำลังจะเปิดเผย

ผู้เขียนอยากให้อ่านทบทวนบทความ 2 ตอนแรกเล็กน้อย เพื่อรับรู้เบื้องลึกเบื้องหลักทัพเรือประเทศเล็กๆ ในอเมริกาใต้ เรียบร้อยแล้วก็ลุยกันเลยกับบทความแรกสุดประจำปี ขอเตือนสักเล็กน้อยว่าค่อนข้างยาวจนต้องตัดทิ่ง

Ecuadorian Navy 2020

Chinese Fleet in Latin America            

เรือดำน้ำ

กองทัพเรือเอกวาดอร์มีขนาดไม่ใหญ่โตสักเท่าไร จำนวนเรือรบหลักมีจำนวนจำกัดตามงบประมาณและกำลังพล เรือรบขนาดใหญ่เกิน 1,000 ตันพวกเขาใช้เรือมือสองทุกลำ อายุใช้งานไม่เกิน 20 ปีต้องเปลี่ยนลำใหม่อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรือพิฆาตชั้น Gearing จากอเมริกาซึ่งเข้าโครงการปรับปรุงใหญ่ FRAM I แต่ไม่มีจรวดปราบเรือดำน้ำ ASROC เรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma จากอเมริกา รวมทั้งเรือฟริเกตชั้น Hunt (Type 1) จากอังกฤษ

ต่อมาในปี 1978 มีการจัดหาเรือฟริเกตชั้น Leander Batch II จากอังกฤษจำนวน 2 ลำ ปัจจุบันประจำการเรือฟริเกตชั้น Leander Batch III ซื้อต่อจากชิลีจำนวน 2 ลำเท่าเดิม หมายเลขสองคือจำนวนเรือฟริเกตที่เอกวาดอร์มีประจำการ

เรือฟริเกตมือสองเพียง 2 ลำจะไปทำอะไรได้? ผู้เขียนคิดว่าใช้งานทั่วไปและเป็นเรือธงกองเรือผิวน้ำ เพราะเป็นเรือใหญ่ออกทะเลลึกได้ มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ มีอาวุธครบ 3 มิติในการป้องกันตัวเอง รวมทั้งเข้าสกัดกั้นเรือไม่ปรากฏสัญชาติในทะเลอาณาเขต แต่เอาไปบวกกับกองเรือรบทันสมัยฝ่ายตรงข้ามไม่ได้แน่นอน

ถามในเมื่อเรือฟริเกตเน่าๆ ทั้ง 2 ลำเอาไปบวกไม่ได้ แล้วเอกวาดอร์จะจัดการผู้รุกรานได้อย่างไร

ตอบจะไปยากอะไรใช้เรือดำน้ำสิครับ อาศัยความชำนาญพื้นที่บุกเข้าจู่โจมแบบเงียบกริบ

ขอพาทุกท่านย้อนกลับไปในยุคเจ็ดศูนย์ กองทัพเรือเอกวาดอร์มีความต้องการเรือดำน้ำรุ่นใหม่ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บในการป้องกันประเทศให้สมบูรณ์แบบ และเรือดำน้ำคือไพ่เด็ดในการป้องกันการเกิดสงคราม กองเรือผิวน้ำของพวกเขามีขนาดไม่ใหญ่โต ช่วงนั้นได้เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีกับเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีเข้ามาเสริมทัพแล้วก็จริง แต่เรือทุกลำเป็นเรือขนาดเล็กมีขีดความสามารถจำกัด ขณะเรือฟริเกตมือสองก็พึ่งพาอะไรไม่ค่อยได้ เรือดำน้ำใหม่เอี่ยมคือโครงการสำคัญที่ล่มไม่ได้

โครงการนี้มีบริษัทเข้าร่วมชิงชัยจาก 4 ประเทศ ประกอบไปด้วยอังกฤษ อิตาลี สเปน และเยอรมัน ผลการชิงชัยเรือดำน้ำขนาด 1,300 ตันจากเยอรมันเข้าวิน มีการเซ็นสัญญาในวันที่ 18 มีนาคม 1974 โดยจะสร้างเรือที่เมือง Kiel ประเทศเยอรมัน เรือดำน้ำ BAU-91 Shyri วางกระดูกปี 1974 เข้าประจำการวันที่ 5 พฤศจิกายน 1977 ส่วนเรือดำน้ำ BAU-92 Huancavilca วางกระดูกงูปี 1975 เข้าประจำการวันที่ 16 มีนาคม 1978 สัญญาซื้อเรือดำน้ำสองลำอยู่ที่ 66 ล้านเหรียญ

เงิน 66 ล้านเหรียญในปี 1974 เทียบกับปี 2021 จะเป็นเท่าไร ผู้เขียนตอบไม่ได้เพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องค่าเงิน แต่ขอให้เชื่อผู้เขียนสักเรื่องเถอะนะครับว่า กองทัพเรือเอกวาดอร์ใช้เงิน 66 ล้านเหรียญได้คุ้มค่าเหลือเกิน

มาดูรายละเอียดเรือดำน้ำสักนิด เป็นแบบเรือ Type 209/1300 หรือเรียกว่า 209 Class (Type 1300) แบบเยอรมันได้เหมือนกัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,285 ตันที่ผิวน้ำ และ 1,390 ตันที่ใต้น้ำ ยาว 59.5 เมตร กว้าง 6.3 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU 12V493 TY60 ความเร็วสูงสุด 11 นอตที่ผิวน้ำหรือระดับกล้องตาเรือ และ 21 นอตขณะดำน้ำลึก สามารถดำน้ำลึกสุด 250 เมตร ใช้ลูกเรือจำนวน 33 นาย มีท่อยิงตอร์ปิโดขนาด 533 มม.จำนวน 8 ท่อยิง พร้อมลูกตอร์ปิโดอีก 14 นัด

ชมภาพเรือลำจริงกันเลยครับ เมื่อเข้าประจำการเรือถูกเปลี่ยนหมายเลขเป็น S-11 Shyri กับ S-12 Huancavilca เรือขนาดไม่ใหญ่ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเก็บใหญ่โต นำมาจอดปากแม่น้ำอเมซอนร่วมกับเรือผิวน้ำได้ โดยใช้วิธีจอดซ้อนสองลำไม่เปลืองพื้นที่ ถึงเวลาออกปฏิบัติภารกิจก็แล่นออกไปเท่านั้นเอง ไม่ต้องทำอะไรให้มันอลังการงานสร้างโดยใช่เหตุ

เรือดำน้ำทั้ง 2 ลำประจำการมาเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 5 พฤศจิกายน 2017 กองทัพเรือเอกวาดอร์ได้จัดพิธีฉลองการเข้าประจำการครบ 40 ปีเต็ม มีการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ร่วมกันทั่วทั้งประเทศ เงิน 66 ล้านเหรียญช่างแสนคุ้มค่าเหลือเกิน

ปัจจุบันเรือเข้าประจำการ 43 ปีกว่าๆ แล้ว ยังคงใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนเดิม อาจไม่มีระบบ AIP ดำน้ำได้ 21 วัน  อาจยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบไม่ได้ อาจไม่มีโพรโมชันซื้อ 2 แถม 1 (ที่ไม่เคยมีจริง) อาจไม่มีกองอวยบอกว่าเรือดำน้ำเยอรมันยัดไส้ตะวันตก แต่เรือสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะได้มีการปรับปรุงครึ่งอายุใช้งานเรียบร้อยแล้ว

วันที่ 10 มกราคม 2008 รัฐบาลเอกวาดอร์เซ็นสัญญามูลค่า 120 ล้านเหรียญ กับบริษัท ASMAR ประเทศชิลีซึ่งเป็นอู่ต่อเรือใหญ่โตที่สุดในอเมริกาใต้ เพื่อปรับปรุงเรือดำน้ำ Type 209/1300 ทั้ง 2 ลำให้ทันสมัยมากขึ้น รวมทั้งยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานอีก 20 ปีขึ้นไป โดยการติดตั้งระบบโซนาร์ S-Cube Sonar Suite ของ THALES  เปลี่ยนมาใช้ระบบอำนวยการรบ SUBTICS CCS ของ Naval Group หรือ DCNS ในอดีต ใส่เรดาร์เดินเรือ Furuno 1832 ใส่ระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ DMA301 ECM Suite และต้องการตอร์ปิโด Black Shark เข้ามาใช้งานแทนของเดิม

S-11 Shyri เข้าปรับปรุงในปี 2012 ส่วน S-12 Huancavilca เข้าปรับปรุงในปี 2014 ภาพนี้ถ่ายหลังปรับปรุงเสร็จเรียบร้อย ทันสมัยกว่าเดิมใช้งานอีก 20 ปีได้อย่างแน่นอน นี่คือผลจากการคัดเลือกแบบเรืออย่างชาญฉลาด

การเลือกอู่ต่อเรือ ASMAR ทำให้ราคาปรับปรุงเรือลดต่ำกว่าไปประเทศเยอรมัน กองทัพเรือชิลีใช้งานเรือดำน้ำ Type 209/1400 อยู่แล้วจำนวน 2ลำ ส่วน ASMAR ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก Naval Group หรือ DCNS ค่อนข้างมาก เพื่อรองรับการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ Scorpene กองทัพเรือชิลี การปรับปรุงเรือดำน้ำเอกวาดอร์จึงผ่านฉลุยไม่ติดขัดปัญหา

การมีเรือดำน้ำเข้าประจำการอย่างยาวนาน ช่วยให้กองทัพเรือเติมเต็มทุกอย่างที่ขาดหาย นอกจากลูกเรือเรือดำน้ำจะมีความชำนาญเป็นพิเศษ เรือฟริเกต 2 ลำกับเรือคอร์เวต 6 ลำ ได้มีโอกาสฝึกฝนทำสงครามปราบเรือดำน้ำกับของจริง ได้ใช้งานโซนาร์ตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำกับของจริง ทุกอย่างจริงหมดเพราะฉะนั้นพวกเขามีประสบการณ์สูง

นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ การจัดหาอะไหล่สำหรับใช้งาน การฝึกหนีภัยออกจากเรือดำน้ำ การฝึกทำงานร่วมกับอากาศยานปีกหมุน การฝึกรับส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษใต้น้ำ ทุกอย่างที่พูดถึงถ้าไม่มีเรือดำน้ำย่อมทำอะไรไม่ได้ เอกวาดอร์ฝึกฝนมาแล้ว 43 ปีเต็มเขาเหนือกว่าเราเรื่องนี้อย่างชัดเจน

สำหรับบทความแรกคะแนนกองทัพเรือเอกวาดอร์กับไทยเสมอกัน หัวข้อเรือดำน้ำเราเป็นรองเขาหลายเสาไฟต้องแจกแต้มให้เขา คะแนนในตอนนี้กลายเป็นเอกวาดอร์ 2 คะแนนและไทยแลนด์ 1 คะแนน

อากาศยานปีกแข็ง

                ถึงเป็นกองทัพขนาดเล็กแต่จำเป็นต้องมีอากาศยานปีกแข็ง เอกวาดอร์มีใช้งานจำนวนไม่มากแต่ครอบคลุมเกือบทุกภารกิจ พระเอกของเขาคือเครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเล CASA CN-235 MPAจำนวน 2 ลำ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ผิวน้ำใต้ท้องเครื่อง ใช้พื้นที่ภายในสำหรับเจ้าหน้าที่เรดาร์เพียงน้อยนิด เครื่องบินสามารถทำภารกิจขนส่งหรือโดยสารได้ตามปรกติ โดยมีเครื่องบิน Beechcraft Super King Air MPA อีก 3 ลำซึ่งเก่ากว่ากันช่วยกันทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

Super King Air MPA นอกจากเรดาร์ตรวจการณ์แล้ว ยังมีระบบกล้องตรวจการณ์ออปทรอนิกส์หรือ FLIR กับระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์หรือ ESM ช่วยกันค้นหาเป้าหมายได้ดีกว่าเดิม เครื่องบินทั้ง 5 ลำเปรียบได้กับม้างานของเอกวาดอร์

แต่เครื่องบินเพียง 5 ลำย่อมไม่เพียงพอต่อการใช้งาน รวมทั้งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าเหมาะสมกว่าและน่าสนใจกว่า ประเทศเล็กๆ ในอเมริกาใต้ประเทศนี้ปรับตัวได้รวดเร็วมาก ปี 2009 หรือย้อนกลับไป 11 ปีกว่าๆ  กองทัพเรือเอกวาดอร์สั่งซื้ออากาศยานไร้คนขับหรือ UAV จากอิสราเอลมาใช้งานเหนือท้องทะเลจำนวน 6 ลำ มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 23 ล้านเหรียญเท่านั้นเอง ถือเป็นกองทัพเรือแรกๆ ในแถบอเมริกาใต้ที่ใช้งาน UAV แบบจริงจัง

อุปกรณ์ทันสมัยประกอบไปด้วย หนึ่งอากาศยานไร้คนขับรุ่น Heron จำนวน 2 ลำ น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 1,150 กิโลกรัม ยาว 8.5 เมตร ปีกกาง 16.6 เมตร  ตามข้อมูลจากการใช้งานจริง Heron บินได้สูงถึง 25,000 ฟุต บินได้นานสุด 19 ชั่วโมง ติดตั้งทั้งเรดาร์ตรวจการณ์และกล้องตรวจการณ์ออปทรอนิกส์ ทุกครั้งที่ขึ้นบินใช้เจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 5 นาย ประกอบไปด้วย นักบิน ผู้ควบคุมเรดาร์ ผู้ควบคุมกล้องตรวจการณ์ ผู้บัญชาการภารกิจ และหัวหน้าสถานี

อากาศยานไร้คนขับหนึ่งลำใช้เจ้าหน้าที่ 5 นาย แบ่งหน้าที่กันเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะ Heron มีขนาดใหญ่บินได้สูงบินได้ไกล มีทั้งเรดาร์และกล้องตรวจการณ์จึงทำหน้าที่ได้ใกล้เคียงเครื่องบิน

อากาศยานไร้คนขับรุ่นที่สองคือ Searcher จำนวน 4 ลำ น้ำหนักบินขึ้นสูงสุด 500 กิโลกรัม ยาว 5.8 เมตร ปีกกาง 8.54 เมตร  ตามข้อมูลจากการใช้งานจริง Seacher บินได้นานสุด 12 ชั่วโมง ติดตั้งกล้องตรวจการณ์ออปทรอนิกส์ ทำงานร่วมกันหน่วยยามฝั่งเป็นภารกิจหลัก โดยใช้เจ้าหน้าที่รวมกันแค่ 4 นาย ประกอบไปด้วย นักบิน ผู้ควบคุมกล้องตรวจการณ์ ผู้บัญชาการภารกิจ และหัวหน้าสถานี ส่วนผู้ควบคุมเรดาร์ไม่มีเนื่องจากไม่มีเรดาร์

อุปกรณ์ชิ้นใหม่เข้าประจำการได้เพียงปีกว่าๆ เริ่มมีผลงานจริงในการค้นหาเส้นทางลำเลียงยาเสพติด จนกลุ่มพ่อค้าต้องคิดหาวิธีการใหม่ๆ ในการลำเลียงสินค้า หนึ่งในนั้นก็คือเรือดำน้ำลำเลียงยาเสพติดที่โลกระบือ

อากาศยานปีกแข็งมีประจำการเพียงเท่านี้ ตอนนี้ผู้เขียนอยากให้สนใจภาพเล็กมุมล่างซ้าย นี่คือห้องวอร์รูมหรือห้องบัญชาการกองเรือตรวจการณ์ หน้าที่หลักคือดูแลคุ้มครองพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล มีเจ้าหน้าที่ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้รับจากเรือและอากาศยาน ก่อนส่งมอบต่อให้ผู้บัญชาการตัดสินใจต่อไป

ห้องวอร์รูมฟังดูยิ่งใหญ่อลังการ แต่ของจริงเป็นเพียงพื้นที่ว่างหน้าห้องประชุม นำมากั้นพาติชันก่อนติดตั้งหน้าจอกับระบบสื่อสาร ง่ายๆ แบบนี้แหละครับแต่สามารถทำงานได้ดีพอสมควร สังเกตได้ว่าบนหน้าจอใหญ่สุดกับตรงกลางซ้าย คือภาพหมู่เกาะกลาปากอสกับเขตพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะ อันเปรียบเสมือนไข่แดงที่ต้องดูแลประคบประหงมอย่างดี

นอกจากภารกิจทางทหารจำนวนมากมาย เครื่องบินตรวจการณ์ CN-235 MPA ยังรับหน้าที่อื่นควบคู่กันไป ไม่ว่าจะนำคนป่วยมาส่งโรงพยาบาลในเมืองหลวง การลำเลียงสิ่งของหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ทั้งในยามปรกติหรือต้องเผชิญโรคระบาดร้ายแรงจากประเทศจีน เนื่องจากเครื่องบินมีพื้นที่ภายในค่อนข้างมาก รวมทั้งมีประตูท้ายขนาดใหญ่รองรับการขนส่ง CN-235 MPA ทั้งสองลำจึงเป็นทุกอย่างให้กับกองทัพเรือเอกวาดอร์


เอกวาดอร์ยังมีเครื่องบินลำเลียงขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง ประกอบไปด้วย Beechcraft Super King Air จำนวน 6 ลำ และ Cessna 172 อีก 2 ลำ ใช้งานทั้งในภารกิจปรกติและภารกิจวีไอพี ไม่มีเครื่องบินหรูหราสำหรับท่านผู้นำแต่อย่างใด

อากาศยานปีกหมุน

                เฮลิคอปเตอร์เป็นอีกหนึ่งพาหนะที่มีความสำคัญ กองทัพเรือเอกวาดอร์มีเฮลิคอปเตอร์ Bell 206 JetRanger จำนวน 3 ลำ มี Bell TH-57 SeaRanger อีก 3 ลำ ใช้งานร่วมกับเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีชั้น Esmeraldas จำนวน 6 ลำ มีเฮลิคอปเตอร์ Bell 230 (ใบพัดหลักมี 2 กลีบ) จำนวน 2 ลำ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ผิวน้ำไว้ที่ปลายจมูก เพื่อใช้งานบนเรือฟริเกตชั้น Leander จำนวน 2 ลำ นี่คืออากาศยานปีกหมุนประจำกองเรือผิวน้ำนั่นเอง

แต่เนื่องมาจาก Bell 230 เกิดอุบัติเหตุจนถูกจำหน่าย 1 ลำ พวกเขาจำเป็นต้องนำเฮลิคอปเตอร์ Bell 430 (.ใบพัดหลักมี 4 กลีบ) จำนวน 1 จาก 4 ลำมาติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ไว้ที่ปลายจมูก เพื่อใช้งานบนเรือฟริเกตทดแทนของเดิม สำหรับเฮลิคอปเตอร์ Bell 430 ช่วงแรกที่เข้าประจำการยังใช้ล้อกางตามปรกติ ทว่าในภายหลังติดขาสกีเพิ่มเข้ามาและใช้งานแบบนี้ ฐานล้อยังอยู่นะครับแต่ไม่รู้ยังใช้งานได้อีกหรือไม่ แปลกทั้งรุ่นเฮลิคอปเตอร์และอุปกรณ์ในการลงจอด

เฮลิคอปเตอร์มาจากอเมริกาทั้งหมดเลย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นอกจากใช้งานทางทหารยังใช้งานทางพลเรือนด้วย โดยในภาพนี้คือรับผู้ป่วยฉุกเฉินไปส่งโรงพยาบาล กองทัพเรือเอกวาดอร์พยายามประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างเต็มที่  เจ้าหน้าที่ทุกนายพยายามผูกมิตรกับประชาชน ไม่คิดทำตัวแตกต่างออกไปถือเป็นสิ่งที่ดีมาก

ตอนนี้ต้องให้คะแนนอีกแล้วครับ ผู้เขียนขอบอกตามตรงว่าน่าหวาดเสียว

กองทัพเรือเอกวาดอร์ใช้งานอากาศยานไร้คนขับตั้งแต่ปี 2009 ขณะที่ไทยแลนด์เพิ่งก้าวเท้าก้าวแรกยังไปไม่ถึงไหน (แต่จะเอารุ่นติดอาวุธเสียด้วย หวยล๊อกเมืองจีนหรือเปล่าหนอ) ฉะนั้นเอกวาดอร์สมควรได้คะแนนนี้ไป แต่เนื่องมาจากไทยแลนด์มีเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลสามารถติดอาวุธได้ด้วย (ถึงแม้ใกล้ปลดประจำการแล้วก็ตาม) ผู้เขียนตัดสินให้ทั้งสองฝ่ายได้คะแนนเท่ากัน ฉะนั้นแล้วคะแนนรวมยังอยู่ที่ 2 ต่อ 1 ดังเดิม

หน่วยยามฝั่ง

            หน่วยยามฝั่งเอกวาดอร์ถูกจัดตั้งในปี 1980 หน้าที่หลักคือการบังคับใช้กฎหมายเหมือนประเทศอื่น เพียงแต่ที่นี่ครอบคลุมมาถึงแม่น้ำทุกสายด้วย มีกำลังพลไม่มากเพียง 300 กว่านาย เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพเรือไม่ได้แยกขาดจากกัน มีเรือตรวจการณ์ขนาดเล็กจนถึงเรือตรวจการณ์ลำน้ำประมาณ 40 ลำ ที่เด่นๆ หน่อยก็คือเรือหมายเลข LG-44 ถึง LG-47 ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ชั้น Stan Patrol 2606 ความยาว 26 เมตรจากอู่ต่อเรือ Damen เนเธอร์แลนด์ ส่วนที่เห็นในภาพคือเรือตรวจการณ์ชั้น Stan Patrol 5009 จากอู่ต่อเรือ Damen เนเธอร์แลนด์เช่นกัน

เรือหมายเลข LG-30 กับ LG-31 ถือเป็นเรือธงหน่วยยามฝั่งในปัจจุบัน จัดเป็นเรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดมาอย่างยาวนาน Stan Patrol 5009 มีระวางขับน้ำ 479 ตัน ยาว 50.1 เมตร กว้าง 9.4 เมตร กินน้ำลึกสุด 3.5 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU จากเยอรมัน ความเร็วสูงสุด 29.5 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,900 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต ใช้ลูกเรือเพียง 28 นาย ตัวเรือทำจากเหล็กส่วนเก๋งเรือหรือ Super Structure ทำจากอะลูมิเนียม


จุดเด่นของ Stan Patrol 5009 อยู่ที่หัวเรือแบบ Sea Axe อันเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ DAMEN เพียงเจ้าเดียว Sea Axe สามารถรักษาการวิ่งด้วยความเร็วสูง ในทะเลแปรปรวนมีคลื่นลมค่อนข้างรุนแรงได้ดีกว่าเดิม ลูกเรือมีความปลอดภัยมากขึ้น ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมากขึ้น หัวเรือแข็งแก่รงขึ้นทนการปะทะได้ดีกว่าเดิม โดยมีข้อแม้ว่าเรือ (โดยเฉพาะหัวเรือ) กินน้ำลึกมากกว่าปรกติ ใช้งานในทะเลลึกได้ดีกว่าเรือตรวจการณ์ความยาว 50 เมตรทั่วไป

Stan Patrol 5009 มีสะพานเดินเรือ 360 องศามองได้ทุกมุมโดยไม่มีจุดบอด ใส่เรือยางท้องแข็ง RHIB ขนาด 7.5 เมตรจำนวน 2 ลำ จะเห็นอยู่ในภาพฝั่งขวามือว่าเรือยางลำใหญ่มาก บรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่าและทนคลื่นลมได้มากกว่า Stan Patrol 5009 มีจุดติดปืนกลอัตโนมัติขนาดไม่เกิน 30 มม.ที่หัวเรือ แต่หน่วยยามฝั่งเอกวาดอร์ไม่จำเป็นต้องใช้ปืนราคาแพงหูฉี่ เนื่องจากงานหลักคือไล่จับพ่อค้ายาเสพติดกับเรือประมงต่างชาติเท่านั้น

เอกวาดอร์มีเรือจำนวนไม่มากก็จริง แต่ไม่ได้กำหนดว่าเรือทุกลำต้องติดอาวุธหนักทำการรบได้ ทำให้สามารถจัดเรือใหม่มาใช้งานได้อย่างเหมาะสม โลกเปลี่ยนไปแล้วสงครามเย็นจบสิ้นนานแล้ว หวังใจว่าสักวันบางประเทศจะเปลี่ยนแนวคิด

                ภาพต่อไปเป็นเรือตรวจการณ์ลำน้ำขนาดเล็ก ติดเรดาร์เดินเรือ Furuno ไว้ด้วยจำนวน 1 ตัว สถานที่ถ่ายภาพอยู่ในแม่น้ำอเมซอนนี่แหละ เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งยึดยาเสพติดจากพ่อค้าได้จำนวนหนึ่ง  (ในถุงสีดำใกล้เจ้าหน้าที่ขวาสุด) นี่คือหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งหน่วยยามฝั่งในปี 1980 โดยมีเรือเร็วขนาด 40 ฟุตจำนวนไม่กี่ลำใช้งาน


                อเมริกาใต้เป็นแหล่งค้าขายยาเสพติดขนาดมหึมา เส้นทางผลิตเส้นทางลำเลียงของพ่อค้ารายใหญ่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน รวมทั้งโยงใยกับหลายประเทศไม่แตกต่างใยแมงมุม เอกวาดอร์ต้องเข้าร่วมสงครามปราบยาเสพติดเช่นกัน โดยมีพันธมิตรชื่ออเมริกาช่วยกันทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ การต่อสู้กับพ่อค้ายาเสพติดสามารถบรรยายได้ดังนี้

เริ่มต้นจากเครื่องบินตรวจการณ์ P-8 Poseidon ของอเมริกา ขึ้นบินตรวจการณ์กลางทะเลลึกตามหน้ที่ประจำวัน เมื่อตรวจพบเรือต้องสงสัยว่ากำลังมาส่งหรือรับยาเสพติด ข้อมูลเรือลำนี้จะถูกส่งต่อมายังกองทัพเรือเอกวาดอร์ เครื่องบินตรวจการณ์ของเอกวาดอร์เข้ามารับช่วงต่อเป็นไม้ถัดไป ครั้นเรือเข้าใกล้ฝั่งอากาศยานไร้คนขับรีบเข้ามาตามติดระยะประชิด ก่อนที่เรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งจะเข้าจับกุมเมื่อเรือเข้าใกล้แผ่นดิน

สงครามปราบยาเสพติดต้องใช้ทั้งเงิน เวลา อุปกรณ์ทันสมัย เจ้าหน้าที่มีประสบการณ์ รวมทั้งแผนการที่ดีที่เหมาะสม ถึงตรงนี้ผู้อ่านพอมองภาพออกหรือยังครับ การจัดตั้งหน่วยยามฝั่งในปี 1980 ก็ดี การจัดหาเรือทันสมัยไม่ติดอาวุธหนักมาใช้งานก็ดี การจัดหาอากาศยานไร้คนขับในปี 2009 ก็ดี ทั้งหมดคือแนวความคิดที่เอกวาดอร์ได้รับมาจากอเมริกา กองทัพเรือจากประเทศเล็กๆ จึงรับมือกับภัยคุกคามหลักได้อย่างไม่ตึงมือ แต่ก็นั่นแหละครับใช่ว่าจะปราบกันหมดเสียที่ไหน

ถึงเวลาให้คะแนนอีกแล้ว เนื่องจากประเทศไทยไม่มีหน่วยยามฝั่ง ฉะนั้นคะแนนนี้ตกเป็นของเอกวาดอร์อย่างแน่นอน และทำให้เขาออกนำเราไปแล้วถึง 3 ต่อ 1 คะแนน

จบกันนี่เราจะแพ้จริงๆ หรือ เหลือเวลาอีกแค่ 5 นาทีไม่รวมทดเจ็บ บ้าชะมัดบ้าชะมัดบ้าชะมัด!

ผู้อ่านอย่าได้กังวลใจไปเลย ด้วยระบบ VAR ที่ทันสมัยในโลกลูกหนัง ประเดี๋ยวผู้เขียนจัดจุดโทษให้สักสองลูกดีไหม

นาวิกโยธิน

            มาถึงลูกจุดโทษลูกแรกสุดกันเลย  เอกวาดอร์มีทหารบกในทหารเรือเพื่อทำภารกิจจำนวนหนึ่ง เริ่มก่อตั้งในปี 1962 นานพอสมควร มีกำลังพลประมาณ 1,700 นายไม่เยอะอะไรมากมาย อาวุธหนักพอมีบ้างแต่ไม่มากเท่าไร อาทิเช่นปืนครกขนาด 60 มม.และ81 มม. ปืนไร้แรงสะท้อนขนาด 106 มม.มีรถลำเลียง HMMWV หรือ Humvee อีกจำนวนหนึ่ง


                นาวิกโยธินเอกวาดอร์เคยมีเรือยกพลขึ้นบกชั้น Country หรือ LST-542 จำนวน 1 ลำ ชื่อ Hualcopo (TR-61) เป็นเรือมือสองซื้อต่อจากอเมริกาในปี1977 รูปร่างหน้าตาเหมือนกับเรือหลวงช้างเรือ LST ของเรานั่นแหละครับ ที่พิเศษหน่อยคือหลังปี 2005 มีการติดตั้งปืนกล Emerson Electric ขนาด 30 มม.ลำกล้องคู่แทนปืนกล 40L60 มม. หัวเรือ โดยนำปืนมาจากเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Manta จำนวน 3 ลำที่เพิ่งปลดประจำการ

                เอกวาดอร์มีเรือยกพลขึ้นบกขนาดกลางชั้น LSM-1 อีกจำนวน 1 ลำ รูปร่างหน้าตาเหมือนเรือหลวงครามของเราไมมีผิดเพี๊ยน ทว่าในปัจจุบันทั้งเรือ LST และเรือ LSM จากยุคสงครามโลกครั้งที่สองปลดประจำการหมดแล้ว ยังไม่มีโครงการซื้อเรือใหม่เพราะไม่มีงบประมาณ พวกเขาต้องใช้เรือเท่าที่มีในการฝึกฝนนาวิกโยธินตัวเองไปพลางๆ

                เทียบกับราชนาวีไทยซึ่งกำลังจะได้เรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าโล่งขนาด 20,000 ตันจากจีน (ที่มันโล่งเพราะจ่ายเงินเฉพาะตัวเรือไม่นับรวมอาวุธ) ทำให้เราเก็บแต้มสำคัญไล่มาเป็น 2 ต่อ 3 และตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ

                ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงให้เสียเวลา ลูกประดู่ไทยมีเรือบรรทุกเครื่องบินสกีจัมป์จำนวน 1 ลำ ปัจจุบันกลายเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ไปแล้วก็จริง รวมทั้งหลายคนพยายามบอกว่าจริงๆ แล้วมันเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ แต่เรือลำนี้ทุกคนบนโลกเบี้ยวๆ ใบนี้เรียกว่า Harrier Carrier ฉะนั้นผู้เขียนขอเรียก่าเรือบรรทุกเครื่องบินอย่าโกรธกันนะครับ

                ด้วยอิทธิฤทธิ์เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีเครื่องบิน (เก็ตสิโนว่ามาเอง) คะแนนทั้งสองประเทศกลับมาเท่ากันที่ 3 ต่อ 3 ทันใดนั้นเอง ปิแอร์ลุยจิ คอลิน่า กรรมการชื่อดังเจ้าของฉายา หัวหลอดไฟ ได้เป่านกหวีดยาวหมดเวลา เป็นอันว่ากองทัพเรือเอกวาดอร์เจ้าถิ่นเสมอกับกองทัพเรือไทยผู้มาเยือน ต้องใช้วิธียิงลูกโทษตัดสินโดยไม่มีการต่อเวลาพิเศษ

เรือตรวจการณ์จากเกาหลีใต้

            วันที่ 27 มีนาคม 2020 มีข่าวสำคัญมาจากเอเชีย รัฐบาลเกาหลีใต้มอบเรือตรวจการณ์ชั้น Haeuri ซึ่งเพิ่งปลดประจำการไปหมาดๆ ให้กับเอกวาดอร์จำนวน 2 ลำ โดยเป็นเรือหมายเลข KCG 303 กับ KCG 303 ตามลำดับ


เรือทั้งสองลำสังกัดหน่วยยามฝั่งเกาหลีใต้ ระวางขับน้ำปรกติ 300 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 430 ตัน ยาว 53.7 เมตร (เรือตรวจการณ์ความยาว 50 เมตรที่ได้รับความนิยมนั่นเอง) กว้าง 7.4 เมตร ความเร็วสูงสุด 19 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 1,900 ไมล์ทะเล ใช้ลูกเรือ 27 นาย เรือทั้งสองลำเข้าประจำการปี 1990 กับ 1991 ตามลำดับ ติดปืนกล 20 มม.หกลำกล้องรวบ Sea Vulcan ไว้ที่หัวเรือ มีเรือเล็กกราบขวาเรือจำนวน 1 ลำ ท้ายเรือเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สามารถรับ-ส่งคนหรือสิ่งของจากเฮลิคอปเตอร์ได้

นอกจากเรือตรวจการณ์ความยาว 50 เมตรจำนวน 2 ลำแล้ว ในปี 2021 รัฐบาลเกาหลีใต้จะมอบเรือตรวจการณ์ยาว 120 เมตรของหน่วยยามฝั่ง ให้เอกวาดอร์นำมาใช้ปกป้องน่านน้ำตัวเอง มิตรรักแฟนเพลงชาวเอกวาดอร์คาดเดาว่าอาจเป็นเรือหมายเลข 5001 แต่ผู้เขียนสงสัยว่า 5,000 ตันลำมันใหญ่เกินไปหรือเปล่า เรือขนาด 120 เมตรยังไม่มีข่าวที่ชัดเจนสักเท่าไร สื่อขนาดใหญ่ชื่อดังยังไม่ได้เล่นข่าวนี้ เพราะฉะนั้นถือว่าฟังหูไว้หูแล้วกันนะครับ

วันที่ 27 ธันวาคม 2020 มีพิธีรับมอบเรือตรวจการณ์ชั้น Haeuri จำนวน 2 ลำซึ่งได้รับบริจาคจากเกาหลีใต้ เรือถูกทาสีเทาหมอกมาตั้งแต่ต้นทาง ถึงเอกวาดอร์จึงได้มีการติดสัญลักษณ์หน่วยยามฝั่ง ปืนกล 20 มม.หกลำกล้องรวบไม่มานะครับ จานรับสัญญาณดาวเทียมหรือ SATCOM หายไปแต่เรดาร์เดินเรือยังมีเช่นเดิม เรือทั้ง 2 ลำเอกวาดอร์ตั้งใจนำไปใช้งานที่หมู่เกาะกลาปากาส ซึ่งในตอนนี้ใช้เรือคอร์เวตติดอาวุธนำวิถีไล่จับเรือประมงจีน ขนาดไม่ใหญ่เท่าไรอายุเกิน 30 ปีไปแล้วก็จริง แต่ยังใช้งานได้ดีทำภารกิจไล่ตบเด็กได้ดีเยี่ยม ถือเป็นอีกหนึ่งเขี้ยวเล็บในการปกป้องอธิปไตย

ช่วงปลายปี 2020 มีข่าวไม่กรองหลุดออกมาว่า กองทัพเรือเอกวาดอร์อยากได้เรือตรวจการณ์ 50 เมตรกับ 120 เมตรจากเกาหลีใต้เพิ่มอีก 2+1=3 ลำ โดยคราวนี้เป็นการจ่ายเงินซื้อในราคา 20 กว่าล้านเหรียญ ผู้เขียนยังไม่กล้ายืนยันเหมือนเรือตรวจการณ์ 120 เมตรลำแรก รอให้มีข่าวจากเกาหลีใต้เสียก่อนค่อยว่ากันอีกครั้งเนอะ

แผนการในอนาคต

มาถึงเรือลำใหม่และลำสุดท้ายของบทความนี้ เดือนธันวาคม 2019 บริษัท Fassmer ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือประเทศเยอรมันได้แถลงข่าวว่า บริษัทเซ็นสัญญากับบริษัท Ecuadorian Naval Shipyard Astilleros Navales Ecuatorianos หรือเรียกสั้นๆ ว่า Astinave EP อันเป็นอู่ต่อเรือในประเทศเอกวาดอร์นั่นเอง (ชื่อบริษัทจะยาวไปถึงไหน)

สัญญาฉบับนี้คือการสร้างเรืออเนกประสงค์ชั้น MPV70 Mk.II จำนวน 1 ลำขึ้นมาเองในเอกวาดอร์ อู่ต่อเรือ Astinave EP เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ใช้แบบเรือจาก Fassmer โดยมีวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันคอยให้คำแนะนำ

ประเทศนี้รสนิยมค่อนข้างดีพอสมควร รวมทั้งเลือกของใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีจากอิตาลีอย่างงี้ เรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีจากเยอรมันอย่างงี้ เรือฟริเกตมือสองจากอังกฤษอย่างงี้ เรือดำน้ำใหม่เอี่ยมจากเยอรมันอย่างงี้ เรือลำใหม่ของพวกเขาก็มาจากเยอรมัน ดูจากผลงานเดิมน่าจะโดดเด่นไม่แพ้รุ่นพี่ และเมื่อผู้เขียนพิจารณารายละเอียดเท่าที่หาได้  แบบเรือ MPV70 Mk.II ของเอกวาดอร์มีทีเด็ดโดนใจที่ผู้อ่านทุกคนต้องอึ้งทึ่งเสียว

เอกวาดอร์เดินหน้าอีกหนึ่งก้าวสำเร็จแล้ว เรือลำใหม่ลำนี้เทียบเท่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เป็นเรือใหม่เอี่ยมอ่องยังไม่มีข้อมูลชัดเจน บังเอิญ Fassmer มีแบบเรือ MPV70 ซึ่งไม่ได้ติดตั้งอาวุธ เรือมีความยาว 70 เมตรตามชื่อแบบเรือ ระวางขับน้ำถึง 2,400 ตันเพราะมีพื้นที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์  ผู้เขียนคาดเดาว่า MPV70 Mk.II น่าจะมีขนาดใกล้เคียงกัน

มาดูความทันสมัยของเรือกันบ้างนะครับ ใช้สะพานเดินเรือแบบ 360 องศาอีกแล้วสินะ (อิจฉาวุ้ย) หัวเรือติดปืนใหญ่ Oto 76/62 Super Rapid กลางเรือเป็นปืนกลอัตโนมัติ 20 มม.จากอิสราเอลพร้อมระบบควบคุมการยิง กลางเรือใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐานมากถึง 12 ตู้ มีเครนขนาดใหญ่มากรองรับน้ำหนัก 20 ตัน มีเรือยางท้องแข็งอีก 2 ลำบริเวณกลางเรือ

มีลานจอดขนาดใหญ่รองรับเฮลิคอปเตอร์ได้ถึง 11 ตัน มีปืนกล 12.7 มม.ติดอยู่ด้านท้ายอีก 2 กระบอก รวมทั้งมีช่องปล่อยเรือยางท้องแข็งจากท้ายเรืออีก 2 ลำ (หรือที่เรียกว่า Stern Launching Lamp) แต่ในภาพผู้เขียนยังมองไม่เห็นแฮะ

แบบเรือจาก Fassmer ว่าทันสมัยแล้ว แต่ยังมีสิ่งพิเศษเพิ่มเติมเข้ามาทำให้ผู้เขียนใจสั่น เรือลำนี้ ใช้ระบบอำนวยการรบ Orion ซึ่ง Astinave EP พัฒนาขึ้นมา (รุ่นเดียวกับที่ติดตั้งบนเรือคอร์เวตชั้น Esmeraldas บางลำ) ใช้เสากระโดงเรือ Integrated Mast ทันสมัยกว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งของเราลิบลับ รวมทั้งใช้เรดาร์ AESA พัฒนาโดย Virtualabs S.R.L จากอิตาลีร่วมกับ Astinave EP จากเอกวาดอร์ ในภาพจะเห็นแบบฝังสามมุมเป็นเรดาร์ตัวใหญ่ (อาจเป็นเรดาร์ S-Band) กับแบบฝั่งสี่มุมเป็นเรดาร์ตัวเล็ก (อาจเป็นเรดาร์ X-Band) ทั้งเรดาร์และระบบอำนวยการรบจะได้ไปต่ออย่างแน่นอน

                ในขณะที่ประเทศไทยบ้าเห่อระบบอำนวยการรบรุ่นใหม่จาก THALES เอาแต่ชื่นชมระบบเรดาร์รุ่นใหม่จาก SAAB ว่าจะใช้งาน SM-2 ได้เต็มประสิทธิภาพไหมหนอ เวลาเดียวกันเรือลำใหม่ของเอกวาดอร์ติดระบบอำนวยการรบพัฒนาขึ้นมาเอง ใช้ระบบเรดาร์ AESA แบบฝังสี่มุมพัฒนาร่วมกับอิตาลี นี่คือความแตกต่างระหว่างเขากับเราอย่างชัดเจน

และด้วยความแตกต่างนี้เอง ผู้เขียนให้กองทัพเรือเอกวาดอร์ชนะการยิงจุดโทษกองทัพเรือไทย

ปล.เนื่องจากบทความค่อนข้างยาว ผู้เขียนขอตัดเนื้อหาเกี่ยวกับอู่ต่อเรือ Astinave EP ออกไปนะครับ

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://base.mforos.com/1139583/5292349-armada-de-ecuador/?pag=2

https://web.facebook.com/armadaecuatoriana/?tn-str=k*F

https://en.wikipedia.org/wiki/Ecuadorian_Navy

https://base.mforos.com/1139583/5292349-armada-de-ecuador/?pag=2

http://www.milpower.org/modarmedforces.asp?value=243

https://americamilitar.com/ecuador/260-armada-del-ecuador-p21.html

https://www.jetphotos.com/airline/Ecuador%20-%20Navy

https://products.damen.com/-/media/Products/Images/Clusters-groups/High-Speed-Crafts/Stan-Patrol-Vessel/Stan-Patrol-5009/Documents/Product_Sheet_Damen_Stan_Patrol_5009_St.pdf

https://www.navyrecognition.com/index.php/news/defence-news/2020/march/8216-south-korea-will-deliver-two-decommissioned-haeuri-class-patrol-vessels-to-ecuador-s-coastguard.html

https://dialogo-americas.com/articles/uavs-help-ecuadors-navy-catch-drug-traffickers-from-the-air/

https://defbrief.com/2020/12/27/ecuador-welcomes-donated-south-korean-patrol-vessels/

https://defbrief.com/2020/03/28/germanys-fassmer-contracted-for-ecuadorian-navy-patrol-vessel-design/

https://www.elsnorkel.com/2017/11/el-shyri-40-anos-de-patrullaje-submarino.html

https://base.mforos.com/1104351/6609237-asmar-modernizara-209-ecuatorianos/