วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

World War II : General Nakamura

คำนำคำนัย

            บทความที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สอง เริ่มต้นจากความสนใจใคร่รู้ของตัวผู้เขียน เป็นเรื่องราวที่สนใจมาเนิ่นนานพอสมควร และได้พบว่ามีข้อมูล(เฉพาะที่อยู่ในมือ)ค่อนข้างเยอะพอสมควรเช่นกัน เฉพาะเอกสารภาษาอังกฤษก็ปาเข้าไปร่วมหมื่นหน้า เกิดปัญหาว่าจะเริ่มอ่านจากจุดไหนหรืออย่างไร กระทั่งรู้สึกเหนื่อยหน่ายขาดความกระตือรืนร้น

                จึงได้ตัดสินใจเขียนบทความขึ้นมาเสียเอง เพื่อบังคับให้อ่านและเรียบเรียงให้มันเป็นเรื่องเป็นราว (ไม่อย่างนั้นก็คงไม่อ่านแน่นวล) ทว่าผู้เขียนเป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอยนัก ประกอบกับมีเรื่องราวน่าสนใจค่อนข้างเยอะ ผลงานในแต่ละตอนจึงอาจย้อนช่วงเวลาไปบ้าง เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและไม่งุนงง ผู้เขียนจะขอใช้พื้นที่ในการอธิบายความซักนิดนึง

บทความเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทย มีค่อนข้างเยอะทั้งในหนังสือ ตำรา หรือเอกสารดาวน์โหลด ผู้เขียนพยามรวมรวบเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ด้วยกัน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนเพราะมีผู้เล่นหลักอยู่ 3 ฝ่าย โดยจะเน้นไปยังเรื่องราวที่ไม่เคยมีในฐานข้อมูล (หรือมีแค่เพียงเล็กน้อย) ส่วนเรื่องราวที่มีคนเขียนชัดเจนและดีอยู่แล้ว ก็จะใช้ในการอ้างอิงเท่านั้นนะครับ เฉพาะบทความที่เขียนจบประกอบไปด้วย

การปฎิบัติการจากฝ่ายญี่ปุ่น



               3.General Nakamura : นายพลนากามูระ  (ซึ่งก็คือบทความนี้)

การปฎิบัติการจากฝ่ายสัมพันธมิตร



การปฎิบัติการจากฝ่ายไทย

            เรื่องราวของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม สงครามที่เชียงตุง รวมทั้งขบวนการเสรีไทย

                ช่วงเวลาแต่ละบทความประมาณนี้ครับ เริ่มต้นมาจากการยกพลขึ้นบกของญี่ปุ่น ก่อนแตกออกเป็นแม่น้ำสามสาย ไหลมาบรรจบกันในตอนท้ายสุดของสงคราม ผู้เขียนคาดหวังว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สงครามโลกครั้งที่สอง : นายพลนากามูระ

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เวลาประมาณ 2.00 .กองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศไทยพร้อมกับ มลายู  ฮ่องกง และฟิลิปปินส์
วันที่ 21 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น โดยทำเป็นข้อตกลงตามวิถีการทูตใช้ชื่อว่า กติกาสัญญาพันธมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
วันที่ 16 มกราคม 2485 กองทัพญี่ปุ่นเริ่มต้นบุกพม่าในหลายเส้นทาง โดยใช้กำลังทางทะเลเข้ายึดเกาะสองหรือวิคตอเรีย พอยต์ เพื่อใช้เป็นฐานทัพอากาศในการบุกเข้าสู่กรุงย่างกุ้ง กำลังทางบกใช้เส้นทางรถไฟสายหนองปลาดุก-ด่านเจดีย์สามองค์ รวมทั้งเส้นทางรถยนต์สายเชียงใหม่-ตองอู ซึ่งยังเป็นทางเกวียนแคบ ๆ ลัดเลาะไปตามภูเขา
วันที่ 25 มกราคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2485 สิงคโปร์ยอมจำนนต่อญี่ปุ่นแบบไม่มีเงื่อนไข
วันที่ 9 มีนาคม 2485 กองทัพญี่ปุ่นยึดกรุงร่างกุ้งได้อย่างเด็ดขาด กำลังทหารอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ถอยร่นเข้าสู่อินเดีย กองทัพญี่ปุ่นวางแผนบุกทางทิศตะวันตก เพื่อยึดเมืองอิมพาลและโคฮิมาของอินเดียต่อไป

                ปฎิบัติการที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกี่ยวข้องกับการขยายแผนการสถาปนา “ระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออก” ให้กลายมาเป็น “วงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา” หรือ “Greater East Asia Co - Prosperity Sphere” ทำไมญี่ปุ่นถึงตัดสินใจทำสงคราม ทั้งยังเป็นสงครามใหญ่ระดับโลก กินพื้นที่ตั้งแต่ทวีปเอเชียไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย ทำไมคนในชาติถึงได้เห็นดีเห็นงามกับทหารสายเหยี่ยว พวกเขาคิดอะไรกันแน่ หรือว่าพวกเขาอยากเป็นประเทศมหาอำนาจ เมื่อเป็นแล้วได้อะไรกลับคืนบ้าง


หนึ่งในแผนที่ New Asia Order แสดงประเทศสมาชิกวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา ราชอาณาจักไทยกินดินแดนไปถึงเกาะสุมาตรา ซาราวัก และเกาะลังกาโน่น ส่วนญี่ปุ่นจับจองออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินโดนีเซียซึ่งเป็นแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ นี่คือความฝันบนหอคอยงาช้างที่ไม่มีวันเป็นจริง

กำเนิดพายุกามิกาเซ่

ประเทศญี่ปุ่นช่วงเวลาก่อนหน้านี้ ได้ถูกปกครองโดยทหารและกลุ่มชนชั้นสูง ซึ่งต้องการขับไล่อิทธิพลตะวันตกออกจากเอเชียอาคเนย์ จากนั้นจึงเข้าควบคุมประเทศต่าง ๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม จึงได้กำเนิดนโยบายสำคัญที่มีชื่อว่า “วงไพบูลย์ร่วมกันแห่งมหาเอเชียบูรพา” เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมันในสงครามทวีปยุโรป ญี่ปุ่นจึงฉวยโอกาสขยายอำนาจเข้ามาในอินโดจีน รวมทั้งจัดตั้งกระทรวงกิจการมหาเอเชียบูรพา (Ministry of Great East Asia Affairs) เพื่อกระชับอำนาจและควบคุมประเทศในวงไพบูลย์ให้แน่นแฟ้น พวกเขาหวังผลประโยชน์หลายประการด้วยกัน ใช้เป็นฐานทัพสำหรับดำเนินการรบ เป็นแหล่งสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ เป็นตลาดใหญ่เพื่อจัดจำหน่ายสินค้า เป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำหรับพลเมืองที่เพิ่มมากขึ้น

ย้อนเวลากลับไปประมาณ 100 ปีหลังสิ้นสุดสงครามฝิ่น ทวีปเอเชียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งอเมริกาที่เริ่มขยายอำนาจมากขึ้นทุกขณะ มีผู้คนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจ ต้องการปลดแอกประเทศและได้รับเอกราช ญี่ปุ่นได้แอบติดต่อผู้นำทุกชาติเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายต่อต้านที่ไม่มีกำลังทหารในมือ เมื่อทหารญี่ปุ่นบุกเข้ายืดเป็นที่เรียบร้อย ผู้นำเหล่านั้นจะได้รับการจัดตั้งเป็นรัฐบาลต่อไป

ทำไมประเทศไทยเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศหรือไม่ หรือเพราะเราเป็นมหามิตรกับญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นมาจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประเทศไทย นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยคณะราษฎร ภายใต้การปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข หลังบริหารประเทศได้เพียงไม่กี่เดือน คณะผู้นำใหม่ถอดด้ามก็ได้ออกงานใหญ่ระดับโลก และได้สร้างความแปลกใจขนาดใหญ่ระดับโลก

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2476 ในการประชุมสมัชชาใหญ่เฉพาะกาลสันนิบาตชาติ ที่กรุงเจนีวาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีการโหวตให้ญี่ปุ่นถอนตัวจากแมนจูเรีย (ซึ่งได้ส่งทหารเข้ารุกรานตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2474) ผลการลงคะแนนอยู่ที่ 42 ต่อ 1 ตามความคาดหมาย ญี่ปุ่นถอนตัวจากสันนิบาตชาติตามความคาดหมาย สันนิบาตชาติเป็นได้แค่เสือกระดาษตามความคาดหมาย แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายนั่นก็คือ ผู้แทนจากไทยเป็นชาติเดียวที่ขอสละสิทธิ์การลงคะแนน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยอยู่ในระดับดีเยี่ยม มีการลงทุนในไทยโดยพ่อค้าชาวญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น การค้าขายระหว่างประเทศพูดได้คำเดียวว่าอู้ฟู่ ญี่ปุ่นได้ขึ้นมาเทียบอังกฤษที่มีกิจการมากมายในประเทศ รวมทั้งพ่อค้าชาวจีนที่ผูกขาดตลาดล่างมาเนิ่นนาน ประเทศไทยยังได้จัดซื้อเรือรบจำนวน 11 ลำ เครื่องบินทะเลจำนวน 6 ลำ รวมทั้งอาวุธชนิดอื่น ๆ อีกมากมายจากญี่ปุ่น เพื่อนำมาใช้ป้องกันประเทศจากภัยคุกคามที่กำลังร้อนระอุ สนใจรายละเอียดอ่านบทความ –>  โครงการบำรุงกำลังทางเรือ พ.. 2478  ได้เลยครับ

                ก่อนเกิดสงครามใหญ่แค่เพียงไม่กี่เดือน ได้มีชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยจำนวนหนึ่ง ขับร้องเพลงที่แต่งขึ้นเองในงานบันเทิงกลางกรุง เนื้อเพลงกล่าวถึงการฉลองชัยปี 2600 ของการก่อตั้งประเทศญี่ปุ่น และยังได้โยงมาถึงความสัมพันธ์กับประเทศไทย ผู้ที่จะช่วยสร้างระเบียบใหม่ให้กับเอเชียตะวันออก อาจเป็นเพลงที่ทางการญี่ปุ่นจงใจเผยแพร่ หรือคนญี่ปุ่นแต่งขึ้นมาเองไม่ขอยืนยัน แต่สิ่งหนึ่งที่กล้ายืนยันโดยไม่กลัวเพื่อนบ่น นั่นก็คือการบุกเอเชียไม่ได้เป็นความลับอะไรเลย


                แล้วทำไมญี่ปุ่นถึงได้ท้าตีท้าต่อยไปทั่วโลก ขอนำผู้อ่านมายังหนังสือเรียนระดับประถมศึกษา ภาพการ์ตูนด้านบนมาจากหนังสือเล่มหนึ่ง อธิบายมุมมองที่มีต่อสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ในภาพแสดงแผนที่ทวีปเอเชียแฟซิฟิคก่อนสงคราม ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอเมริกาถึง 90 เปอร์เซนต์ กลางภาพค่อนไปทางซ้ายมือจะเห็นธงไตรรงค์ของไทย โบกสะบัดท่ามกลางธงยูเนี่ยนแจ๊คและธงสามสีฝรั่งเศส ภาพนี้แสดงตัวผู้ร้ายได้อย่างชัดเจน


                ภาพถัดมาแสดงแผนที่ทวีปเอเชียแฟซิฟิคหลังสงคราม ทหารญี่ปุ่นเป็นฮีโร่ขับไล่ผู้รุกรานตกทะเลหมดสิ้น ธงฮิโนะมะรุโบกสะบัดทั่วทั้งทวีป วงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาได้ถือกำเนิดขึ้น ความสงบสุขอันเป็นนิรันดร์กลับคืนสู่มาตุภูมิ และแน่นอนที่สุดธงไตรรงค์ของไทยยังคงปักอยู่ที่เดิม โดยมีขนาดใหญ่ขึ้นตามขนาดพื้นที่ประเทศ

ทหารญี่ปุ่นในไทย

                หลังได้รับชัยชนะในพม่าและแหลมลายู ทหารบางส่วนบุกตะลุยเข้าสู่ประเทศอินเดีย ทหารบางส่วนเสริมกำลังไปยังอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย และทหารบางส่วนประจำการอยู่ในประเทศไทย ภายใต้สังกัดกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ ตั้งอยู่ที่โชนันหรือเกาะสิงคโปร์ในปัจจุบัน โดยมีจอมพลฮิซะอิจิ เทราอูจิเป็นผู้บัญชาการ

                งานสำคัญในไทยตลอดทั้งปี 2485 นั้น คือการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เพื่อสร้างระบบคมนาคมข้ามประเทศให้ลุล่วง ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานการขนส่งกำลังทหาร เสบียงอาหาร รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อใช้เป็นกำลังบำรุงให้กับทัพหน้าในพม่าและแหลมมลายู งานสำคัญชิ้นแรกที่ต้องรีบทำก็คือ เข้าควบคุมเส้นทางรถไฟไทยทั้งประเทศ

ทางรถไฟสายใต้มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมโยงไปยังแหลมมลายูและพม่า เมื่อเรือสินค้าเข้าจอดบริเวณท่าเรือคลองเตย จะทยอยลำเลียงมายังสถานีรถไฟต้นทางสายใต้ ขบวนรถเที่ยวพิเศษออกเดินทางวันละ 2 ขบวน เริ่มต้นจากสถานีบางกอกน้อยหรือธนบุรี สิ้นสุดที่สถานีปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา และเมื่อทหารญี่ปุ่นบุกยึดสิงคโปร์เป็นที่สำเร็จ มีการเชื่อมต่อทางรถไฟสายใต้กับทางรถไฟมลายูสายตะวันตกมาสิ้นสุดที่สิงคโปร์ เชื่อต่อทางรถไฟมลายูสายตะวันออกมาสิ้นสุดที่กัวลาลิปิส นี่คือยุคเรืองรองผ่องอำไพของกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้

ย้อนกลับมายังสมรภูมิฝั่งพม่ากันบ้าง เส้นทางหลักในการขนส่งอาวุธยุทธปัจจัย คือใช้เรือสินค้าลำเลียงเข้ามาในอ่าวมะตะบัน กองทัพเรือญี่ปุ่นควบคุมน่านน้ำได้ทั้งหมด จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด และง่ายที่สุด ทว่ากองทัพไม่ได้พอใจแค่เพียงเท่านี้ ทหารญี่ปุ่นในไทยได้รับมอบหมายงานสำคัญ ให้สำรวจเส้นทางทุกจังหวัดที่เชื่อมต่อกับพม่า พวกเขาต้องการเส้นทางที่ตรงที่สุด สะดวกที่สุด และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อสร้างถนนความกว้าง 4 เมตรรองรับรถถังและยานหุ้มเกราะ

มีการตัดถนนขนาดเล็กเชื่อมโยงภายในประเทศ เพื่อเป็นการทดสอบก่อนลงมือทำงานใหญ่ กระทั่งปลายปีจึงได้มีการเลือกเส้นทาง จุดเริ่มต้นอยู่ที่บ้านแม่มาลัย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอปาย อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม บ้านห้วยต้นนุ่น ออกชายแดนพม่าไปถึงเมืองตองอูของพม่า เป็นถนนที่มีความยาวมากที่สุด สร้างยากที่สุด และใช้เวลานานที่สุด แต่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดจากจำนวน 8 เส้นทางที่ทำการสำรวจ

ญี่ปุ่นยังได้วางแผนสร้างทางรถไฟไปยังพม่า เชื่อมโยงชายแดนอินเดียจรดสิงคโปร์ที่ตั้งกองทัพใหญ่ มีการสำรวจเส้นทางหลายสายเช่นเดียวกับถนน ก่อนตัดสินใจเลือก 2 เส้นทางที่เหมาะสมที่สุด เส้นทางแรกเริ่มต้นจากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จุดปลายทางอยู่ที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า รู้จักกันในชื่อทางรถไฟสายไทย-พม่า แต่มักถูกขนานนามว่า "ทางรถไฟสายมรณะ"

เส้นทางที่สองรู้จักกันในชื่อทางรถไฟสายคอคอดกระ เชื่อมต่อเส้นทางสายใต้ที่สถานีชุมพร วิ่งมาสิ้นสุดที่สถานีกระบุรี จังหวัดระนอง ทางรถไฟขนานแนวถนนสายชุมพร-กระบุรี และถนนสายกระบุรี-ระนอง ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร กำลังทหารและเสบียงอาหารซึ่งมาจากต้นทาง จะถูกลำเลียงมายังสถานีเขาฝาชีเพื่อลงเรือที่ท่าเรือละอุ่น ก่อนล่องไปตามแม่น้ำกระบุรี ออกสู่ปากน้ำจังหวัดระนอง ตรงไปยังวิคตอเรีย พอยต์ประเทศพม่า ญี่ปุ่นสร้างเส้นทางสายนี้ด้วยเหตุจำเป็น การทิ้งระเบิดในพื้นที่พม่ามีมากขึ้นทุกวัน กองทัพต้องการทางเลือกเผื่อเหลือเผื่อขาด ทางรถไฟสายคอคอดกระจึงเริ่มนับหนึ่งทันที ทว่าไม่เหมาะสมกับการลำเลียงอาวุธหนักนะครับ เพราะท่าเรือมีขนาดเล็กการขนส่งจึงทำได้ลำบาก

โครงการทั้งสองเริ่มต้นเดินหน้าในปี 2486 ทางรถไฟสายไทย-พม่าสร้างเสร็จวันที่ 17 ตุลาคม 2486 โดยใช้แรงงานนักโทษสงครามเป็นหลัก ใช้เวลาสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ 10 เดือน ทางรถไฟสายคอคอดกระสร้างเสร็จวันที่ 25 ธันวาคม 2486 โดยใช้แรงงานกรรมกรชาวมลายูและชาวจีนเป็นหลัก ใช้เวลาสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ 7 เดือน ผู้เขียนหมายถึงพิธีเปิดใช้งานนะครับ มีการทดลองวิ่งด้วยรถไฟขบวนพิเศษ แต่คงต้องตามเก็บงานกันอีกหลายเดือน

นอกจากทางรถยนต์และทางรถไฟแล้ว สนามบินก็เป็นอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากเข้าใช้งานสนามบินเดิมของไทย ญี่ปุ่นยังได้แอบสร้างสนามบินลับเพิ่มเติมจำนวนหนึ่ง ผู้เขียนตั้งใจที่จะเขียนเป็นตอนพิเศษ ติดตามกันต่อว่าจะสำเร็จหรือไม่ ขอเวลาหาข้อมูลเพิ่มเติมซักพักหนึ่ง

การทดสอบเดินรถไฟสายไทย-พม่าขบวนแรกที่จุดแก่งคอยท่า หรือตังกอนตะ (KonKoita) ซึ่งเป็นจุดที่ทางรถไฟในเขตไทยและพม่าเชื่อมโยงกัน ปัจจุบันจุดแก่งคอยท่าจมอยู่ในเขื่อนวชิราลงกรณ์เป็นที่เรียบร้อย รถไฟหัวรถจักรไอน้ำหมายเลข C5631 ซึ่งเป็น 1 ใน 90 คันที่นำมาจากญี่ปุ่น ภายหลังถูกให้กับประเทศไทยและเปลี่ยนมาเป็นหมายเลข 725 กระทั่งในปี 2522 ญี่ปุ่นได้ขอซื้อกลับคืนประเทศ เพื่อนำไปบูรณะซ่อมแซมและจัดเก็บอยู่ในอนุสรณ์สถานสงครามโลก

            บริเวณปากคลองละอุ่นเชื่อมต่อกับแม่น้ำกระบุรี เป็นเส้นทางที่เรือลำเลียงทหารญี่ปุ่นใช้เดินทางสู่วิคตอเรีย พอยต์ ประเทศพม่า


ผลกระทบต่อชีวิตคนไทย

            อย่างที่ผู้อ่านทราบกันโดยทั่วไป ว่าผลของสงครามสร้างความลำบากไปทุกหย่อมหญ้า นอกจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายพันธมิตรแล้ว ยังมีผลกระทบตามมาอีกตั้งหลายอย่าง ขอนำมายังเรื่องปากท้องเป็นอย่างแรกสุด เพราะมันใกล้ตัวที่สุดและส่งผลรุนแรงที่สุด สินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดมีราคาสุงขึ้น ดูตัวเลขโดยรวมกันหน่อยนะครับ

เครื่องอุปโภคหรือของกินสูงราคาขึ้นโดยเฉลี่ย 170 เปอร์เซ็นต์ ราคาข้าวสารสูงขึ้น 38 เปอร์เซ็นต์ ปลาสุงขึ้น 191เปอร์เซ็นต์ เนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ สุงขึ้น 191 เปอร์เซ็นต์ ผักและผลไม้สุงขึ้น 307 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าคุณซื้อมะละกอ 1 ลูกในราคา 3 ลูกตามปรกติ ตรงข้ามกับกระเป๋าสตางค์ผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งมีเงินน้อยลงกว่าเดิมเพราะไม่ค่อยมีงานให้ทำ

เครื่องอุปโภคหรือของใช้ราคาสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 1,226 เปอร์เซ็นต์ แยกเป็นของใช้เบ็ดเตล็ดสูงขึ้น 843 เปอร์เซ็นต์ เครื่องนุ่งห่มสูงขึ้นถึง 1,604 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าคุณซื้อกางเกง 1 ตัวในราคา 16 ตัวตามปรกติ แต่ถึงคุณจะกำเงินสดเดินเข้าตลาด ก็ใช่ว่าหาซื้อเสื้อตราห่านคู่ได้โดยละม่อม เนื่องจากขาดแคลนอย่างหนักทั่วประเทศ

เห็นตัวเลขแล้วปวดใจกันบ้างไหมครับ ทว่าชีวิตจริงลำบากกว่านี้หลายเท่า สินค้าในภาคใต้มีราคาสุงกว่าภาคอื่น นอกจากปัญหาการผลิตในช่วงสงครามแล้ว ขบวนรถไฟจากกรุงเทพได้ถูกแบ่งให้กับญี่ปุ่น การขนส่งสินค้าจึงทำได้ยากลำบากกว่าเดิม การเข้ามาของกรรมกรชาวมลายูและชาวจีน ได้แย่งชิงของกินของใช้คนในพื้นที่อย่างเลี่ยงไม่ได้ เทียบราคาขายจริงกันบ้างนะครับ ข้าวขาว 15 เปอร์เซนต์ (มีข้าวหักปะปน 15 เปอร์เซนต์ ) ส่วนกลางขายกิโลกรัมละ 0.21 บาท จังหวัดสงขลาขายกิโลกรัมละ 1.6 บาท ไข่ไก่สดส่วนกลางขายฟองละ 0.09 บาท จังหวัดสงขลาขาย 0.20 บาท ผักบุ้งส่วนกลางขายกิโลกรัมละ 0.10 บาท จังหวัดสงขลาขาย 0.80 บาท ฉายหนังตัวอย่างแค่เพียงเท่านี้แล้วกัน

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาใหญ่โต กองทัพญี่ปุ่นมีความต้องการเครื่องอุปโภคบริโภคทุกวัน ช่วงต้นสงครามญี่ปุ่นแจ้งความต้องการผักสดวันละ 4-5 ตัน เนื้อโคและเนื้อกระบือสดวันละ 1-2 ตัน ช่วงปลายสงครามแจ้งเพิ่มเป็นวันละ 6-7 ตัน และ 3-4 ตันตามลำดับ รวมทั้งมีการกว้านซื้อจากรายย่อย ก่อให้เกิดปัญหาของหายไปจากตลาด มีการแก้ไขให้จัดซื้อผ่านทางการไทยเท่านั้น เอาเข้าจริงญี่ปุ่นแค่เพียงแจ้งตัวเลขประจำวัน ส่วนการจัดซื้อทำผ่านบริษัทคู่ค้าญี่ปุ่นด้วยกัน ซึ่งนำมาจากพ่อค้าไทยที่ไปกว้านซื้อมาอีกที ทั้งยังมีการกักตุนเพื่อขายต่อในตลาดมืด ปัญหาของแพงจึงไม่อาจแก้ไขได้เลย

เรื่องถัดมาก็คือการขาดแคลนข้าวสาร ญี่ปุ่นไม่เพียงแค่ซื้อสำหรับทหารในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังส่งออกไปให้ทหารญี่ปุ่นในมลายูด้วย ปัญหาสำคัญอีกเรื่องคือการใช้เงินดอลลาร์ทหารญี่ปุ่นภายในประเทศ โดยปรกติเงินชนิดนี้นิยมใช้ในมลายู แต่ที่เมืองไทยไม่มีสถานที่รับแลกเปลี่ยนเงิน เพราะทางการไทยไม่ได้รับรองเงินชนิดนี้ เรื่องสำคัญอีกอย่างก็คือผู้หญิงปลอบขวัญ นับว่าโชดดีที่ในไทยพบปัญหาน้อยมาก ไม่เกิดกรณีบังคับคนในพื้นที่เฉกเช่นไต้หวันหรือสิงคโปร์

เงิน ๆ ทอง ๆ ก็เป็นปัญหาที่ใหญ่โตเช่นกัน กองทัพญี่ปุ่นได้มีการกู้ยืมเงินจากรัฐบาลไทยหลายครั้ง ทั้งใช้ในการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับกำลังพล จัดหายุทธปัจจัยและน้ำมัน รวมทั้งใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟสายต่าง ๆ เงินที่ญี่ปุ่นกู้ไทยเพื่อใช้ในการทหารนั้น มีตัวเลขรวมกันสุงถึง 1,530,100,000 บาท ( หมายเหตุ : ปี 2487 รัฐบาลไทยมีงบประมาณประจำปีอยู่ที่ 125,860,000 บาท จำนวนเงินกู้มีตัวเลขสุงมากกว่าถึง 12.15 เท่า) นอกจากนี้ยังมีการนำตั๋วเงินทหารมาใช้ในไทย และยังปรับเปลี่ยนค่าเงินเยนจากอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาทต่อ 1.56 เยน มาเป็น1 บาทต่อ 1 เยน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2485 ทั้งหมดทั้งปวงก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ผลที่ตามมาผู้อ่านทุกคนคงทราบกันดี

ปัญหาทั้งหมดที่ได้ยกตัวอย่างขึ้นมานั้น ส่งผลกระทบกับคนไทยทุกคนก็จริง แต่ไม่ได้แสดงออกต่อหน้าต่อตาชัดเจน ราคามะละกอสุงขึ้นใครจะรู้ว่าเพราะอะไร รัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นไล่บี้กันแบบไหนมีใครรู้บ้าง ชีวิตในประจำวันของทุกคนยังคงเหมือนเดิม ความสัมพันธ์คนไทยกับทหารญี่ปุ่นไม่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ปัญหาไม่ได้หมดแค่เพียงเท่านี้


                  ภาพทหารญี่ปุ่นที่คนไทยทุกคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี ทว่ายังมีภาพอีกด้านที่คนไทยไม่อยากคุ้นเคยซักนิดเดียว

วัฒนธรรมของทุกประเทศล้วนมีความแตกต่าง กระทั่งประเทศเดียวกันก็ยังแตกต่างแบ่งแยกออกไป คนญี่ปุ่นเองก็ไม่พ้นคำพูดนี้ แม้จะมีทหารบางส่วนสุภาพเรียบร้อยและอยู่ในระเบียบ แต่ก็มีทหารอีกส่วนนิสัยก้าวร้าวดุดัน ชอบนุ่งผ้าเตี่ยวยืนปัสสาวะริมถนน และใช้วิธีตบหน้าเพื่อเป็นการลงโทษ ทหารญี่ปุ่นทำกันเป็นเรื่องปรกติ แต่กับคนไทยการตบหน้าถือเป็นการหยามศักดิ์ศรี เป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมความได้ จนทำให้เกิดเหตุร้ายตามมาในภายหลัง

วันที่ 18 ธันวาคม 2485 เวลาประมาณ 5 โมงเย็น ที่วัดดอนตูม อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี สามเณรรูปหนึ่งมอบบุหรี่ให้กับเชลยสงคราม สร้างความไม่พอใจให้กับนายทหารญี่ปุ่น จึงตบหน้าสามเณรเพื่อลงโทษจำนวน 3 ครั้ง กรรมกรชาวไทยและชาวบ้านเห็นเข้าพอดี คิดว่าพระโดนทำร้ายจึงรีบเข้ามาช่วยเหลือ บทสรุปของเรื่องวุ่นวายในครั้งนี้ ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตจำนวน 5 นาย ฝ่ายไทยเสียชีวิตมากกว่าเกือบ 2 เท่า แต่รายงานอย่างเป็นทางการระบุว่าบาดเจ็บ 1 นาย

นี่คือการปะทะกันครั้งแรกหลังวันญี่ปุ่นขึ้นบก ข้อเท็จเรื่องนี้ค่อนข้างสับสนวุ่นวาย ฝ่ายญี่ปุ่นบอกว่าคนไทยโจมตีค่ายทหารช่วงเวลากลางคืน ฝ่ายไทยบอกว่าญี่ปุ่นขนทหารมาถล่มโรงพัก มุมมองสองฝ่ายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ต่างว่าอีกฝ่ายเริ่มก่อนและเป็นผู้กระทำผิด แต่สิ่งหนึ่งที่มีมุมมองตรงกันก็คือ คนไทยจำนวนมากไม่พอใจทหารญี่ปุ่น

ฟังเขาเล่ามาอีกที

วันที่ 26 ธันวาคม 2485 รัฐบาลไทยประกาศให้ น้ำตาลทรายขาว ไม้ขีดไฟ และน้ำมันก๊าดเป็นสินค้าปันส่วน เพื่อเฉลี่ยสินค้าสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง แต่ในทางปฎิบัติมีปัญหาพอสมควร อาทิเช่น คนในพื้นที่ลดลงแต่ได้ปันส่วนเท่าเดิม สินค้าขาดหายไประหว่างเดินทาง มีการกักตุนไว้ขายต่อในตลาดมืด ทั้งหมดทั้งปวงได้พัฒนามาเป็นระบบโคตรโกงในปัจจุบัน



ผู้บัญชาการกองทัพประจำประเทศไทย

            วิกฤตการณ์บ้านโป่งส่งผลกระทบใหญ่โต พลเอกฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รู้สึกเป็นห่วงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปัญหามากมายรุมเร้าในช่วงเวลาแค่ปีเดียว การตบหน้าสามเณรถือเป็นจุดวิกฤตสุด วันที่ 1 มกราคม 2486 ได้มีการแต่งตั้งพลโทนากามูระ อาเคโตะ ด้วยวาจา ก่อนจะมีพระบรมราชโองการตามมาในอีก 3 วัน และในวันที่ 21 มกราคม 2486 ผู้ถูกแต่งตั้งเดินทางมาถึงประเทศไทย

                มีการจัดตั้งการกองทัพประจำประเทศไทย นายพลนากามูระเป็นผู้บัญชาการคนแรก ถึงจะอยู่ภายใต้สังกัดกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ ทว่าเป็นเอกเทศในการบริหารจัดการปัญหา หน้าที่หลักของนายพลสายพุทธประกอบไปด้วย การป้องกันประเทศไทย บีบบังคับกดดันจุงกิงจากภาคเหนือของรัฐฉาน รักษาระเบียบวินัยทหารญี่ปุ่นทั้งที่อยู่ในไทยและเดินทัพผ่าน ให้ที่พัก การอนามัย และอาหารกับทหารญี่ปุ่น ควบคุมศาลทหาร โดยตั้งบนพื้นฐานกติกาสัญญาพันธมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น หน่วยทหารภายใต้การบังคับบัญชาประกอบไปด้วย

                -กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 82 ประจำการในกรุงเทพ

                -กองทหารสารวัตรที่ 2 สังกัดกองบัญชาการใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ ประจำการในกรุงเทพ

                -กองร้อยรถยนต์พิเศษ กองร้อยต่อสู้อากาศยานอิสระ กองทหารส่งกำลังบำรุง โรงพยาบาลที่ 16 กองบัญชาการใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ ที่คุมขังเชลยศึกที่ 340 สภากาชาดญี่ปุ่น


                 พลโทนากามูระ อาเคโตะ ผู้บัญชาการกองทัพประจำประเทศไทยคนแรกและคนเดียว ในอดีตเคยนำทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดอินโดจีน-ฝรั่งเศสได้อย่างเด็ดขาด

                การจัดตั้งกองทัพประจำประเทศไทยมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2486 ช่วงนั้นทหารญี่ปุ่นในไทยมีจำนวนไม่มาก นอกจากส่วนที่ดูแลความปลอดภัยแล้ว ยังมีกองบัญชาการรถไฟ ภายใต้การควบคุมพลตรีโนบูโอะ ชิโมดะ ซึ่งมีกรมทหารรถไฟจำนวน 2 กรม และกองส่งกำลังบำรุงภายใต้กรมรถไฟ เพื่อทำการก่อสร้างทางรถไฟทั้ง 2 สายให้แล้วเสร็จ

ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องสะสางเป็นอย่างแรก ก็คือเรื่องความวุ่นวายเพราะบุหรี่มวนเดียวนั่นแหละ ศาลไทยตัดสินจำคุกสามเณรและกรรมกรชาวไทยตลอดชีวิต ส่วนทหารไทยที่ยิงญี่ปุ่นตัดสินจำคุก 10 ปี ทางการไทยจ่ายค่าชดเชยให้ครอบครัวผู้ตายจำนวน 8 หมื่นบาท ญี่ปุ่นมอบเงินก้อนนี้คืนให้กับครอบครัวคนไทย ที่เสียชีวิตจากการปะทะกันในวันยกพลขึ้นบก วิกฤตการณ์บ้านโป่งจบลงแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น นายพลนากามูระทำงานอย่างหนักในการเคลียร์หน้าเสื่อ

                ปัญหาถัดมาคือเรื่องหนี้สินกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งได้ตกค้างเนิ่นนานตั้งแต่วันยกพลขึ้นบก ความเสียหายของรัฐบาลไทย ข้าราชการท้องถิ่น และประชาชนพลเรือนมีพอสมควร แต่เพราะต้องรีบเดินทัพจึงไม่มีการจัดการ ญี่ปุ่นยังได้ค้างจ่ายค่าสินค้าจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาทหารแนวหน้าขาดแคลนอาหาร เมื่อมีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ปัญหาเรื่องการจัดซื้อจึงทยอยหมดสิ้นลง รวมทั้งหนี้สินตกค้างตั้งแต่วันยกพลขึ้นบกด้วย

                ปัญหาสำคัญเรื่องถัดไปก็คือ ความประพฤติทหารญี่ปุ่นสร้างความไม่พอใจให้กับคนไทย มีการให้ความรู้ที่เหมาะสมกับทหารทุกนาย สั่งห้ามไม่ให้มีการตบหน้า การแก้ผ้า หรือปัสสาวะริมชานชลารถไฟ รวมทั้งมารยาทการกิน การอนามัย ที่พักอาศัย จัดทำคู่มือทหารแจกจ่ายอย่างทั่วถึง สร้างความน่าเชื่อถือให้กับทหารญี่ปุ่นมากกว่าเดิม

                ปัญหาต่อไปก็คือทรัพย์สินกองทัพอังกฤษ โดยเฉพาะไม้สักซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก อังกฤษได้ผลประโยชน์จากป่าไม้มาเนิ่นนาน มีการสร้างโรงเลื่อยและโรงงานต่าง ๆ ทั่วไทย นอกจากนี้ยังมีห้องสมุด โรงพิมพ์ กิจการขนาดย่อมอีกจำนวนหนึ่ง ได้มีการตั้งกรมประสานงานพันธมิตรขึ้นมา เพื่อจัดแบ่งว่าส่วนไหนญี่ปุ่นใช้งาน ส่วนไหนไทยใช้งาน หรือส่วนไหนใช้งานร่วมกัน เสียดายว่าผู้เขียนไม่มีรายละเอียด จึงไม่รู้กันว่าจำนวนไม้สักมากน้อยแค่ไหน

                ปัญหาเรื่องท้ายสุดก็คือ การส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับไทยตามข้อตกลง เป็นปัญหาตกค้างมาเนิ่นนานเช่นกัน จึงมีการทยอยมอบอาวุธให้มากบ้างน้อยบ้าง รวมทั้งยาควิกนินซึ่งไทยต้องการมาก วันที่ 3 กรกฎาคม 2486 นายกโตโจเดินทางมาเยี่ยมประเทศไทย และเห็นว่าไทยควรมีเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ เพื่อป้องกันภัยจากการโจมตีทางอากาศ ปีถัดมาจึงมีการมอบเครื่องบินขับไล่ บ..13  (Ki–43 IIb Hayabusa) จำนวน 24 ลำ ประจำการอยู่ที่สนามบินดอนเมืองภายใต้ชื่อ "ฝูงบินรักษาพระนคร" ฮายาบูช่า 24 ลำคือการส่งมอบอาวุธยุทโธปกรณ์ล๊อตใหญ่ที่สุด

นายพลสายพุทธ

            ตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพประจำประเทศไทย เป็นงานที่ยากลำบากเต็มไปด้วยปัญหาน้อยใหญ่ กองทัพดังกล่าวมีขนาดเล็กพอสมควร แต่มีระบบการบัญชาการที่ค่อนข้างซับซ้อน นอกจากงานบริหารจัดการที่มีมากจนล้นมือแล้ว ยังมีงานทางด้านการเมืองระหว่างประเทศเพิ่มเติม ไทยกับญี่ปุ่นนั้นเป็นพันธมิตรกันก็จริง ทว่าความสัมพันธ์ค่อนข้างเปาะบางง่ายต่อการแตกหัก ส่วนรัฐบาลไทยก็มีแต่ความเคลือบแคลงใจ หมายถึงทั้งสองฝ่ายนั่นแหละครับ

                นายพลนากามูระใช้หลักคำสอนพุทธศาสนาในการทำงาน ถือเป็นทหารสายพิราบที่ผู้เขียนขอเน้นเสียงว่า พิร๊าบบพิราบ เขาได้พยายามประสานงาน ติดต่อช่วยเหลือ ขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย ช่วยสานสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่นไม่ให้แตกร้าวมากกว่าเดิม โชดดีประการหนึ่งที่กองทัพได้เปรียบในการรบ จึงมีเวลาทุ่มเทแก้ไขปัญหาจนสำเร็จลุล่วง (ในระดับหนึ่ง)

                การรับราชการในไทยนั้นเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ และต้องเผชิญสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ลูกระเบิดจากฟากฟ้าอาจพรากชีวิตนับพันในเวลา 2 ปี แต่การระบาดของโรคอหิวาต์ได้คร่าชีวิตนับหมื่นในเวลา 2 เดือน การสร้างทางรถไฟที่อังกฤษใช้เวลา 5 ปีให้เสร็จภายใน 1 ปี ญี่ปุ่นต้องขนผู้เชี่ยวชาญระดับครูมาช่วยทำงาน กระทั่งแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด แต่ก็มีปัญหาวุ้นวายตามมาอย่างที่ทราบกันดี นายพลนามุระไม่ได้ดูแลเรื่องนี้โดยตรง จึไม่โดนลูกหลังภายหลังสงครามสิ้นสุด

                งานที่ยากที่สุดคือการประสานงานระดับประเทศ นายกรัฐมนตรีของไทยมีทีท่าเฉยชาและไม่เคยยิ้ม การเข้าพบก็แสนยุ่งยากรวมทั้งหายตัวบ่อยครั้ง ไม่มีความหวานชื่นเหมือนประเทศร่วมวงศ์ไพบูลย์ ราวกับว่าต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างมีความระแวง ต่างคนต่างทำหน้าที่ตนโดยไม่บอกอีกฝ่าย ปัญหาเรื่องนี้รัฐบาลญี่ปุ่นรับรู้มาเนิ่นนาน

                วันที่ 3 กรกฎาคม 2486 นายกโตโจเดินทางมาเยี่ยมประเทศไทย เป็นความลับสุดยอดและไม่มีพิธีการใหญ่โต นายกไทยเดินทางมารับและกลับด้วยรถยนต์คันเดียวกัน งานเลี้ยงตอนเย็นที่บ้านนายพลยามากุระคือสุดยอดปัญหาโลกแตก นายกไทบเคยโดนลอบวางยาพิษหลายครั้ง จึงไม่ทานอาหารอื่นนอกจากคนในครอบครัวทำให้ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี วันถัดมานายกโตโจได้มอบ 2 รัฐฉาน (เชียงตุงและเมืองพัน) กับ 4 รัฐมลายู (ปะลิส ไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู) คืนสู่ประเทศไทย นับได้ว่าเป็นยุคทองของไทย-ญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ความบาดหมางที่เคยมีหายไปจนแทบไม่เหลือ


                ต้นเดือนพฤษภาคม 2486 ทหารญี่ปุ่นอยู่ในสถานะได้เปรียบมากที่สุด สงครามมหาเอเชียบูรพาเดินไปตามแผนทุกประการ ปัญหาเล็กน้อยที่เข้ามากวนใจก็คือ กองทัพอากาศยังมีเครื่องบินและนักบินไม่เพียงเพียงพอ ในเดือนนี้มีการประชุมผู้บัญชาการทหารที่สิงคโปร์ เพื่อปรึกษาการยุทธและสร้างความรู้จักกันให้มากขึ้น

ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วย ผู้บัญชาการกองทัพใหญ่ภาคพื้นทิศใต้ ผู้บัญชาการภาคพม่า ผู้บัญชาการทหารประจำอินโดจีน-ฝรั่งเศส ผู้บัญชาการกองทัพที่ 12 ประจำนิวกินี ผู้บัญชาการกองทัพที่ 16 ประจำชวา ผู้บัญชาการกองทัพที่ 25 ประจำสุมาตรา ผู้บัญชาการกองทัพที่ 15 ประจำพม่า ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาบอเนียว และผู้บัญชาการกองทัพประจำประเทศไทย ในการประชุมมีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ไม่มีใครซักคนคิดถึงความพ่ายแพ้ การรบอาจกินเวลายาวนานไปอีกหลายปี แต่ท้ายที่สุดพวกเขาจะเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด และเดินทางกลับบ้านเกิดในฐานะวีรบุรุษ

ความได้เปรียบในสนามรบแปรผันได้ทุกเมื่อ แม้ญี่ปุ่นกำลังเป็นฝ่ายบุกในสงครามทวีปเอเชีย แต่ที่ทวีปยุโรปเกิดการเปลี่ยนแปลงกระทันหัน เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำประเทศอิตาลี ได้หลุดพ้นจากตำแหน่งพร้อมหลบหนีหัวซุกหัวซุน กองกำลังปาติซานจากพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีได้กลายเป็นผู้ไล่ล่า ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มโอบล้อมเยอรมันมากกว่าเดิม

ย่างเข้าสู่ปีพุทธศักราช 2487 สายลมแห่งชัยชนะเริ่มพัดเปลี่ยนทิศ การทิ้งระเบิดในพม่าหนักหน่วงรุนแรงกว่าเดิม เรือดำน้ำอเมริกาแสดงบทบาทเพิ่มขึ้นเท่าตัว การขนส่งทางเรือแทบจะทำไม่ได้เลย ต้องเปลี่ยนมาใช้ทางรถไฟสายไทย-พม่า และทางรถไฟสายคอคอดกระ ญี่ปุ่นได้นำหัวรถจักรไอน้ำจำนวน 90 คันเข้ามาใช้งาน นี่คือเป้าหมายใหม่ที่อีกฝ่ายจ้องตามเป็นมัน ส่งผลให้การทิ้งระเบิดในไทยมีมากขึ้นตามติดกันมา

น้ำผึ้งเริ่มขม

หลังเข้าสู่ปีใหม่ได้ไม่กี่วัน รัฐบาลไทยได้ผูดโครงการ "นครบาลเพชรบูรณ์" ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ วัตถุประสงค์เพื่อย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพไปยังเพชรบรูณ์ มีการออกพระราชกำหนดในช่วงปลายเดือน พร้อมกับเร่งมือเดินหน้าก้าวแรก ด้วยการย้ายโรงเรียนนายร้อย กระทรวงการคลัง กระทรงยุติธรรม รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม ไปที่เพชรบรูณ์เป็นชุดแรก การก่อสร้างเมืองหลวงใหม่เป็นไปอย่างเร่งรีบ มีการระดมกรรมกรชาวไทยนับหมื่นคนเข้าสู่พื้นที่ ผู้อำนวยการก่อสร้างประเมินราคาเบื้องต้นไว้ที่ 100 ล้านบาท แผนย้ายเมืองหลวงทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คำตอบที่ได้รับจากฝ่ายไทยไม่ชัดเจน รวมทั้งแย่งแรงงานและอุปกรณ์ก่อสร้างไปจนเกือบหมด ยุคทองระหว่างไทย-ญี่ปุ่นสั้นแค่เพียงไม่กี่เดือน

นายพลนากามูระเองไม่ได้นิ่งนอนใจ ความเปลี่ยนแปลงเริ่มมีเค้ามาได้ซักพักหนึ่ง วันที่ 5 พฤษจิกายน 2486 มีการประชุมผู้นำวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาที่ประเทศญี่ปุ่น ผู้เข้าร่วมประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรีโตโจ ประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีวังจิงเว่ย ประเทศสาธารณรัฐจีน นายกรัฐมนตรีจังจินฮุย ประเทศแมนจูกัว ประธานาธิบดี โฮเซ เป เรอเรล ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ นายกรัฐมนตรีบามอ ประเทศพม่า อิสระสุภาษ จันทรโบส ประธานคณะกู้อิสรภาพของอินเดีย ในฐานะตัวแทนรัฐบาลชั่วคราวประเทศอินเดีย และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร


ผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพาที่ประเทศญี่ปุ่น จากซ้ายไปขวา นายกรัฐมนตรีบามอ ประเทศพม่า นายกรัฐมนตรีจังจินฮุย ประเทศแมนจูกัว นายกรัฐมนตรีวังจิงเว่ย ประเทศสาธารณรัฐจีน นายกรัฐมนตรีโตโจ ประเทศญี่ปุ่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ตัวแทนประเทศไทย จูกัว ประธานาธิบดี โฮเซ เป เรอเรล ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และอิสระสุภาษ จันทรโบส ตัวแทนรัฐบาลชั่วคราวประเทศอินเดีย 

เอกอัคราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้พยายามเชิญนายกไทยไปญี่ปุ่นถึง 4 ครั้ง แต่ถูกปฎิเสธทุกครั้งด้วยสาเหตุนานับประการ ไทยจึงเป็นชาติเดียวที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ปัญหาเรื่องนี้รัฐบาลญี่ปุ่นรับรู้ทั้งหมด จึงได้เตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และหนึ่งในหลายวิธีการนั่นก็คือ การเพิ่มกำลังพลทหารประจำการ

วันที่ 1 มกราคม 2487 มีการจัดตั้งกองพลน้อยที่ 29 ขึ้นในประเทศไทย ภายใต้การบัญชาการของนายพลนากามูระ ประกอบไปด้วย กองพันทหารราบอิสระที่ 158 159 160 161 และ 162 (กองพันที่ 2 กรมทหารราบที่ 82 ย้ายกลับไปสังกัดกองทัพอินโดจีน-ฝรั่งเศส) เท่ากับว่าทหารญี่ปุ่นมีมากขึ้นถึง 4 กองพัน อาจยังไม่มากเพียงพอกับแผนที่ประเทศไทย เพราะต้องแบ่งทหารจำนวน 2 กองพันไปดูแลภาคใต้ แต่ก็ดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ในตอนนั้น

นอกจากจะต้องชิงไหวชิงพริบกับเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ซึ่งมีความเขี้ยวชนิดทั่วโลกต้องตะลึงมาแล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรยังได้ส่งไอเท็มลับใหม่เข้ามาในพื้นที่ สิ่งนั้นก็คือขบวนการเสรีไทย หรือ Free Thai Movement

วันที่ 15 มีนาคม 2487 นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายประทาน เปรมกมล และนายเปรม บุรี เสรีไทยสายอังกฤษ ได้ลักลอบกระโดดร่มเข้าสู่ประเทศไทย ที่บ้านน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ทั้งสามคนถูกตำรวจไทยจับกุมตัวในที่สุด แต่ด้วยความช่วยเหลือจากตำรวจที่เป็นเสรีไทยในไทยนั้น จึงสามารถติดต่อกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทยได้ ส่วนวิทยุติดต่อทหารอังกฤษที่นำมาด้วย ถูกจัดเก็บอยู่ที่กรมตำรวจโดยไม่ได้ใช้งาน นี่คือรายงานอย่างเป็นทางการนะครับ

วันที่ 10 มิถุนายน 2487 ร้อยเอกนายการะเวก ศรีวิจารณ์ ร้อยโท สมพงศ์ ศัลยพงศ์ พร้อมผู้นำทาง ได้ลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้าง ทว่าถูกตำรวจท้องที่ยิงเสียชีวิตทั้งหมด เพราะต้องการทรัพย์สินโดยเฉพาะทองคำ อุปกรณ์อื่น ๆ รวมทั้งวิทยุกำลังส่ง 500 ไมล์ ถึงมือพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจในที่สุด

2 อาทิตย์ถัดมา ร้อยโทโผน อินทรทัต ได้ข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวเข้าสู่จังหวัดน่าน ก่อนมอบตัวกับตำรวจไทยตามแผนการ เขาและเพื่อนอีก 7 คนเป็นเสรีไทยสายอเมริการุ่นแรก ที่ลักลอบเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยได้สำเร็จ


เสรีไทยทั้งหมดอยู่ในความควบคุมตำรวจไทย โดยการบังคับบัญชาจากพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส ซึ่งเป็นหนึ่งในสามบุคคลระดับสุงของไทย ที่นายพลนากามูระหวาดหวั่นมากที่สุด


เส้นทางการเดินเท้าลักลอบเข้าสู่ประเทศไทย ของเสรีไทยสายอเมริกาชุดแรก ระบุพิกัดที่แครี่และแซล (ร้อยเอกนายการะเวก ศรีวิจารณ์ และร้อยโท สมพงศ์ ศัลยพงศ์ ) เสียชีวิตหลังจากเข้าไทยเป็นทีมแรกสุด

คุยส่งท้าย
บทความนี้เดินทางมาถึงช่วงเวลาใกล้เคียงกับบทความ ”The Tragic Year : 2487 มหาวิปโยค เพื่อไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำแม้จะเป็นมุมมองที่ต่างกันก็ตาม ส่วนตอนต่อไปจะเป็นเรื่องอะไรนั้น ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ  ;)

     -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

อ้างอิงจาก
หนังสือ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามและสงครามแปซิฟิก โดย Toshiharu Yoshikawa
หนังสือ ผู้บัญชาการชาวพุทธ โดย Nakamura Aketo
บทความเรื่อง ชีวิตราษฎรไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา โดย พวงทิพย์ เกียรติสหกุล
ภาพถ่ายอ้างอิงจาก