วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

Mine Countermeasure Support Ship

โครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์
                เรือหลวงถลาง (MCS 621) สร้างขึ้นเองในประเทศโดยอู่ต่อเรือกรุงเทพ ใช้แบบเรือของ FERROSTAAL A-G MSSEN ประเทศเยอรมัน ขึ้นระวางประจำการวันที่ 25 มิถุนายน 2523 ระวางขับน้ำสุงสุด 1,102 ตัน ยาว 54.2 เมตร กว้าง 10 เมตร กินน้ำลึก 3.1 เมตร จัดอยู่ในประเภทเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดหรือเรือ สตท.ทำหน้าที่เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดน้ำตื้น รวมทั้งเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้นบางระจันและชั้นลาดหญ้า

                เรือลำนี้อายุอานามปาเข้าไป 37 ปีแล้ว มีแผนปลดประจำการในปีงบประมาณ 2563 คาดว่าคงล่าช้าไปอีกประมาณ 3- 5 ปี เพราะต้องจัดหาเรือพี่เลี้ยงลำใหม่เข้ามาทดแทน คุณสมบัติเรือตามข้อมูลในปี 2554 มีระวางขับน้ำประมาณ 1,500 ตัน ทดแทนภารกิจเดิมรวมทั้งรองรับภารกิจวางทุ่นระเบิด ข้อมูลเพียงเท่านี้ยังไม่ชัดเจนมากนัก
                วันเวลาผันผ่านย่างเข้าสู่กลางปี 2017 โครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์ จึงได้เริ่มตั้งไข่กันอย่างเป็นจริงเป็นจัง อู่ต่อเรือในประเทศซึ่งจับมือกับต่างชาติจำนวน 2 ราย นำเสนอแบบเรือของตนเข้าร่วมในโครงการ และคาดว่าจะมีรายที่สามเข้าร่วมชิงชัย โครงการนี้ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร แล้วเสร็จสะเด็ดน้ำอย่างน้อยต้องมี 12 เดือน
อู่ต่อเรือทั้งสองรายคือใคร ใช้แบบเรือรุ่นไหน มีรายละเอียดหรือเปล่า
                ผู้เขียนมีรายละเอียดแค่พอประมาณ ขอขอบคุณไปยังเฟสบุค "Navy For Live" ที่ได้นำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะชน ความต้องการกองเรือทุ่นระเบิดในปัจจุบัน นอกจากทดแทนเรือเก่าและทำภารกิจวางทุนระเบิด ยังใช้เรือเป็นเป็นศูนย์สงครามทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ เป็นฐานปฎิบัติการส่วนหน้านอกอาณาเขต รองรับการจัดเก็บทุ่นระเบิดแบบลอยตามกระแสน้ำ เป็นฐานปฎิบัติการยานใต้น้ำไร้คนขับ จึงต้องการพื้นที่รองรับหน่วยปฎิบัติการดังกล่าว สามารถวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module เพิ่มเติม มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง ใช้หย่อนเจ้าหน้าที่ทำลายวัตถุระเบิดทางอากาศ
                แบบเรือลำแรกเป็นของอู่ต่อเรืออิตัลไทยมารีน จับมือกับ BMT Defense Services ประเทศอังกฤษ นำเสนอแบบเรือ VENARI-85 ซึ่งเป็นเรือต่อต้านทุ่นระเบิดและสำรวจอุทกศาสตร์ขนาดใหญ่ เรือลำนี้เพิ่งเปิดตัวต้นเดือนกันยายน 2017 แต่แอบนำเสนอกองทัพเรือไทยก่อนซะงั้น ยาว 85.9 เมตร น้ำหนักบรรทุก 500 ตัน ติดเครนขนาดใหญ่สุด 25 ตัน ทำภารกิจต่อต้านทุ่นระเบิดร่วมกับยานผิวน้ำไร้คนขับหรือ USV( Unmanned Surface Vehicle ) และยานใต้น้ำไร้คนขับหรือ UUV ( Unmanned Underwater Vehicle ) เราไปชมภาพวาดเรือกันเลยดีกว่า

                กราบเรือค่อนข้างสุงตามหลักสมัยนิยม ติดตั้งปืนหลักและระบบเป้าลวงบริเวณหัวเรือ สะพานเดินเรือสุง-ยาว-ใหญ่-ตีโป่ง ติดกระจกบานโตให้มุมมองกว้างไกล กราบเรือสองฝั่งเจาะช่องเป็นจุดปล่อยเรือเล็กขนาด 7 เมตร ระหว่างปล่องควันคู่เป็นที่ตั้งห้องควบคุมการบิน ส่วนชั้นล่างเป็นโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับ
                ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตัน ใต้ลานจอดฝั่งขวามีช่องปล่อยยานล่าทำลายทุ่นระเบิดหรือ MDV (Mine Disposal Vehicle ) รองรับยานใต้น้ำควบคุมด้วยรีโมทหรือ ROV (Remotely Operated Underwater Vehicle) และยานใต้น้ำทำงานอัตโนมัติหรือ AUV (Autonomous Underwater Vehicle) บริเวณท้ายเรือกดเตี้ยลงพอสมควร ติดตั้งตู้ Mission Module จำนวน 2 ระบบ ขนาบข้างด้วยยานผิวน้ำไร้คนขับจำนวน 2 ลำ ปิดท้ายด้วยเครนขนาด 15 ถึง 25 ตัน
                เรือลำล่างเป็นของไทยนั่นเอง มีข้อแตกต่างตั้งแต่กลางลำเป็นต้นไป ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ยาวจรดท้าย บรรทุกทุ่นระเบิดจำนวน 150 ลูกใต้ลานจอด ไม่มีจุดปล่อยยานใต้น้ำไร้คนขับ ยานผิวน้ำไร้คนขับ และโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับ มีจุดวางตู้ Mission Module หน้าห้องควบคุมการบิน (เจาะช่องเผื่อไว้แล้ว) มีเครนขนาด 15 ตันบริเวณกราบขวาเรือ เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผู้อ่านนึกถึงรถกระบะตอนเดียวกับสองตอน ของเราเป็นรถตอนเดียวที่มีฝาครอบกระบะท้าย
                กองทัพเรือต้องการปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.พร้อมระบบควบคุมการยิงและระบบตรวจจับสัญญานเรดาร์ ผู้เขียนนำมาใส่ไว้อย่างครบถ้วน โดยใช้ปืนรุ่น Compact มืองสองปรับปรุงใหม่ (เหมือนเรือหลวงกระบี่และเรือหลวงแหลมสิงห์) ทำงานร่วมกับออปโทรนิคควบคุมการยิง อาวุธรองเป็นปืนกลขนาด 20 มม.และปืนกลขนาด 12.7 มม.ตามระเบียบพัก แค่ติดให้เป็นมาตราฐานเท่านั้นเอง ส่วนของจริงเป็นอย่างไรค่อยว่ากัน เรือลำแรกมีข้อมูลเพียงเท่านี้ ไปเรือลำที่สองกันต่อเลย

                อู่ต่อเรือกรุงเทพจับมือกับ Damen ประเทศเนเธอร์แลนด์ (ผ่านบริษัทล๊อกเลย์) เสนอแบบเรือคล้ายคลึงเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น OPV2400 ระวางขับน้ำ 2,400 ตัน ยาว 90 เมตร กว้าง 14.4 เมตร ความเร็วสูงสุด 20 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 5,000 ไมล์ทะเล ปฏิบัติงานได้ต่อเนื่อง 30 วัน ทดตัวเลขไว้ในใจก่อนนะครับ
                ด้านท้ายปืนใหญ่ 76/62 มม.ติดตั้งเครนขนของจำนวน 1 ตัว สะพานเดินเรือแตกต่างจากต้นฉบับ ของเรายาวมากขึ้น บานกระจกก็เยอะขึ้น ถัดไปเป็นจุดติดตั้งเรือเล็กขนาด 8.5 เมตร ปล่องควันและโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เหมือนต้นฉบับ (ถ้ามีโรงเก็บนะ) ใต้ลานจอดไม่มีช่องปล่อยเรือเล็ก ใช้เป็นจุดบรรทุกทุ่นระเบิดจำนวน 100-150 ลูก ลานจอดเฮลิคอปเตอร์มีช่องเปิดปิดได้ ใช้วางตู้ Mission Modules จำนวน 2 ระบบลงไปด้านใต้ ต้องเลือกว่าจะใช้เรือลำนี้วางทุ่นระเบิด หรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอย่างใดอย่างหนึ่ง บั้นท้ายสุดมีช่องปล่อยเรือเล็กอีก 1 ลำ ครบเครื่องเรื่องผู้หญิงอย่างถึงที่สุด
เรือลำที่สามยังไม่มีแบบเรือให้ชม อู่ต่อเรือมาร์ซันจับมือกับ SEFT ประเทศตุรกี เอ่ยชื่อนี้ขึ้นมาคงไม่รู้จักกันทั้งบาง แต่ถ้าเอ่ยถึงเรือหลวงมาตรา เรือบรรทุกน้ำมันลำใหม่ของราชนาวีไทย อู่ต่อเรือกรุงเทพใช้แบบเรือจากที่นี่ทุกคนคงร้องอ๋อ…!! เมื่อเจ้าพ่อเรือเล็กจับมือกับเจ้าพ่อเรือช่วยรบ น่าจับตามมองว่าจะได้เรือหน้าตาแบบไหน โดยปรกติมาร์ซันใช้แบบเรือเยอรมันเกือบทุกลำ แปลกใจไม่ใช่น้อยว่าทำไมถึงมาแจมกับตุรกี หรือว่า SEFT มีไอเทมลับและรอฤกษ์ดีเพื่อปล่อยของ
เรืออังกฤษกับเรือเนเธอร์แลนด์ก็ดูสวยดี แล้วใครเหมาะสมที่สุดและดีที่สุด
            เรือที่เหมาะสมที่สุดกับเรือที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่ลำเดียวกัน กรณีของเรืออังกฤษกับเรือเนเธอร์แลนด์ก็เช่นกัน VENARI-85 ขนทุ่นระเบิดและสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดได้พร้อมกัน เพราะมีจุดวางตู้ Mission Module แยกออกไป ท้ายเรือเป็นลานโล่งยาวประมาณ 35 เมตร นอกจากใช้จอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางแล้ว ยังใช้วางอะไรต่อมิอะไรได้อีกสารพัด รวมทั้งตู้  Mission Module เพิ่มเติมได้อย่างสบาย ยังเหลือที่ว่างให้จุมโพ่ได้นอนอาบแดด
                ส่วนเรือ OPV2400 มีความอเนกประสงค์มากกว่า จริงอยู่ว่าเลือกภารกิจได้เพียงหนึ่งภารกิจ แต่โดยปรกติก็ทำแค่หนึ่งภารกิจอยู่แล้ว เรือเนเธอร์แลนด์มีพื้นที่ภายในกว้างขวาง ทุกอย่างที่คุณต้องการใส่มาในเรือลำนี้หมด มีกระทั่งจุดรับคนจากเรือเล็กที่ระดับน้ำ สาวน้อยสาวใหญ่ไม่ต้องปีนบันไดลิงให้ลิงโผล่ เรือจึงทำภารกิจเสริมได้อย่างหลากหลาย คุณสมบัติของเรือตรวจการณ์สุงกว่าเรือหลวงกระบี่ด้วยซ้ำ มีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาดเบ้อเริ่ม ทนทะเลมากกว่าอีก 1 ระดับ พื้นที่ภายในก็เยอะกว่า นำเรือเล็กไปด้วยได้มากกว่า ติดโซนาร์ลากท้ายใช้ปราบเรือดำน้ำได้อีก 2 ตัว
ดูเหมือน OPV2400 จะเป็นรองอยู่สองเสาไฟ Damen มีแบบเรือที่เหมาะสมกว่ามั้ย
                คำถามข้อนี้ ผู้เขียนขอตอบว่า....มี๊!!! (เสียงสุง)
                ว่ากันตามภารกิจหลักที่ต้องการ แบบเรือของ Damen ไม่โดดเด่นอะไรมากมาย ไปโดดเด่นที่ภารกิจรองเสียมากกว่า ทว่าพวกเขายังมีแบบเรือที่น่าจะเหมาะสมกว่า ทั้งยังเกี่ยวพันกับแบบเรือที่นำเสนอให้กับไทย
                ขอนำผู้อ่านทุกท่านไปยังประเทศออสเตรเลีย ในปี 2011 พวกเขาต้องการเรือฝึกอเนกประสงค์ลำใหม่ โครงการนี้ Damen นอนมาพร้อมพระสวด ตามข่าวจะใช้แบบเรือ OPV2400 ปรับปรุงเพิ่มเติม กลางปี 2016 เรือที่ต่อจากเวียตนามก็เสร็จสมบรูณ์ มีการส่งมอบและเข้าประการเป็นที่เรียบร้อย เรือฝึกลำใหม่มีชื่อว่า MV Sycamore จัดอยู่ในประเภทเรือ Multi-role Aviation Training Vessel (MATV) มีรูปร่างหน้าตาตามนี้เลย

                ไม่เหมือนเรือ OPV2400 ซักเท่าไหร่ เพราะไม่ไช่ Base on เพียงแต่ใช้ตัวเรือ (Hull) และโครงสร้างบางส่วนร่วมกัน การออกแบบภายในแตกต่างโดยสิ้นเชิง มีห้องพักให้ลูกเรือและนักเรียนมากกว่าเดิม ติดตั้งเครนพร้อมลิฟท์ขนของหน้าสะพานเดินเรือ ถ้าให้เหมาะสมกับความต้องการของไทย ต้องย้ายเครนไปไว้ด้านข้างแล้วติดปืนใหญ่ 76/62 มม.ทดแทน (ไม่งั้นก็ถอดออก) สะพานเดินเรือและเสากระโดงคล้ายเรือเรา ปล่องควันแบบท่อเดียวขนาดไม่ใหญ่นัก

                ชมภาพเรือ MV Sycamore จากมุมอื่นกันบ้าง บรรทุกเรือเล็กจำนวน 3 ลำ พร้อมเครนขนของกราบเรือฝั่งขวา ลานจอดมีขนาดใหญ่โตเพราะเป็นงานหลัก โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์กลายเป็นห้องเก็บของ ห้องควบคุมอากาศยานขนาดใหญ่โต ท้ายเรือกว้างและลึกบีบเข้าเล็กน้อย ถ้าปรับปรุงช่องเรือเล็กให้เป็นรางทุ่นระเบิดชั้นที่สอง ก็จะขนทุ่นระเบิดได้มากขึ้นพอประมาณ
                มีข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ เรือ OPV2400 ต้นฉบับใช้เครื่องยนต์ดีเซล 4 เครื่อง ความเร็วสุงสุด 23 น๊อต ระยะปฏิบัติการ 6,000 ไมล์ทะเล ออกทะเลได้ต่อเนื่อง 40 วัน ส่วนเรือไทยความเร็วสุงสุด 20 น๊อต ระยะปฏิบัติการ 5,000 ไมล์ทะเล ออกทะเลได้ต่อเนื่อง 30 วัน และเรือออสซี่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง ความเร็วสุงสุด 20 น๊อต ข้อมูลอย่างอื่นไม่รู้ ถึงตอนนี้พอมองเห็นไส้ในกันบ้างแล้ว Damen อาจสับขาหลอกชาวโลกอีกครั้งก็ได้ ด้วยการเปลี่ยนมาใช้แบบเรือที่เหมาะสมกว่า
                เรือช่วยรบออสเตรเลียทำอะไรได้บ้าง งานหลักก็คือฝึกนักบินเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ ฝึกเจ้าหน้าที่ควบคุมอากาศยานประจำเรือ และฝึกเจ้าหน้าที่สื่อสารประจำเรือ งานรองก็คือการฝึกลูกเรือบางส่วน การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย การค้นหาและกู้คืนตอร์ปิโด รวมทั้งสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด ใช้เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำได้อย่างสบาย ใช้เป็นเรือโรงพยาบาลฉุกเฉินก็ยังไหว อเนกประสงค์กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
ยุคนี้เขารบกันด้วยจรวดความเร็ว 3 มัค แล้วจะจัดหาเรือวางทุ่นระเบิดไปเพื่ออะไร
            จริงครับ ปัจจุบันรบกันด้วยจรวดต่อสู้เรือรบสมรรถนะสุง แต่จรวดเพียงอย่างเดียวทำทุกภารกิจไม่ได้ ทุ่นระเบิดอาจไม่ได้ใช้โจมตีกองเรือฝ่ายตรงข้าม แต่ใช้สำหรับปิดล้อมพื้นที่สำคัญ ๆ เฉพาะจุด ทั้งในน่านน้ำประเทศเราเองและน่านน้ำประเทศอื่น รวมทั้งป้องกันการเล็ดลอดเข้าสู่พื้นที่หวงห้าม จากเรือดำน้ำไม่ปรากฎสัญชาติทั้งมิตรและศัตรู เรือวางทุ่นระเบิดมีความจำเป็นไม่แพ้เรือชนิดอื่น เพื่อให้เห็นภาพรวมกว้างยิ่งกว่าเดิม ขอยกตัวอย่างให้พิจารณาซักสี่ห้าราย
                เริ่มต้นกันที่กองทัพเรือเกาหลีใต้ ประเทศนี้มีภัยคุกคามชื่อเกาหลีเหนือ เกาหลีเหนือมีเรือดำน้ำจำนวนมาก เคยยิงเรือคอร์เวตเกาหลีใต้จมมาแล้ว ทุ่นระเบิดทันสมัยมีความสำคัญไม่แพ้อาวุธอื่น เกาหลีใต้มีเรือวางทุ่นระเบิดชื่อ Wonsan บรรทุกทุ่นระเบิดได้มากสุด 500 ลูก รองรับเฮลิคอปเตอร์ MH-53 ในภารกิจกวาดทุ่นระเบิดทางอากาศ ทว่าพวกเขายังไม่หยุดอยู่แค่นี้ กลางปี 2017 มีพิธีปล่อยเรือวางทุ่นระเบิดชื่อ Nampo ซึ่งเป็นเรือลำแรกของชั้น โดยใช้เรือฟริเกตชั้น Incheon ผ่าตัดแปลงโฉม

                เรือจากโครงการ  MLS-II ยาว 114.3 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 4,240 เมตร บรรทุกทุ่นระเบิดได้มากสุด 500 ลูก ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.ระบบเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ ระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ ระบบเป้าลวงจรวดต่อสู้เรือรบ และระบบเป้าลวงตอร์ปิโด เพราะเป็นเรือวางทุ่นระเบิดปราบเรือดำน้ำ จึงมีระบบโซนาร์และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำด้วย มีจุดติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง K-VLS จำนวน 4 ท่อยิง สำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน K-SAM จำนวน 16 นัด หรือจรวดปราบเรือดำน้ำ K-ASROC จำนวน 4 นัด ที่เขียนมาทั้งหมดเกาหลีใต้ผลิตเองทั้งหมด รู้สึกขอบตาร้อนผ่าวขึ้นมากระทันหัน
                ไปที่ประเทศญี่ปุ่นกันบ้างดีกว่า กองกำลังป้องกันตนเองมีเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Uraga จำนวน 2 ลำ ระวางขับน้ำ 5,650 ตัน ยาว 141 เมตร สามารถแบกยุทธปัจจัยให้เรือกวาดทุ่นระเบิดมากสุดถึง 15 ลำ รองรับเฮลิคอปเตอร์ MH-53 ได้เช่นกัน บั้นท้ายนอกจากช่องลำเลียงขนาดใหญ่แล้ว ยังมีจุดปล่อยทุ่นระเบิด 2 ชั้น 4 ช่อง 12 ราง ยัดทุ่นระเบิดได้มากสุด 230 ลูก เรือลำที่สองติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.ที่หัวเรือด้วย รูปทรงโดยรวมมีความเป็นเรือญี่ปุ่นในกระแสเลือด

                ข้ามทวีปไปยังประเทศสวีเดนกันบ้าง พวกเขามีเรือวางทุ่นระเบิดขนาด 3,800 ตัน ชื่อ HSwMS Carlskrona (P04) ปัจจุบันกลายเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งไปแล้ว แต่ก็ยังมีช่องปล่อยทุ่นระเบิดพร้อมเครนยก ไม่แน่ใจเรื่องตัวเลขเพราะเรือถูกปรับปรุงภายใน สวีเดนยังมีเรือคอร์เวตชั้น Visby อีกจำนวน 5 ลำ ระวางขับน้ำ 640 ตัน ยาว 72.7 เมตร นอกจากทำภารกิจต่อต้านเรือดำน้ำ ต่อต้านเรือผิวน้ำ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว ยังใช้วางทุ่นระเบิด และต่อต้านทุ่นระเบิดได้เป็นอย่างดี ติดตั้งยานล่าทำลายทุ่นระเบิดรุ่น Seafox และ Double-Eagle Mk III พร้อมโซนาร์อีกจำนวน 3 ตัวครบเซต เรือขนาดไม่ใหญ่เพราะเน้นป้องกันน่านน้ำอาณาเขต ระบบโซนาร์เล็กตามเรือไปด้วย ทว่าเหมาะสมกับการใช้งานในเขตน้ำตื้น

                ออกจากสวีเดนเพื่อไปยังประเทศฟินแลนด์ ที่นี่ให้ความสำคัญกับทุ่นระเบิดค่อนข้างสุง ผลิตทุ่นระเบิดทันสมัยได้เองอีกต่างหาก พวกเขามีเรือวางทุ่นระเบิดชั้น Pansio ขนาด 680 ตันจำนวน 3 ลำ เรือวางทุ่นระเบิดชั้น Hämeenmaa ขนาด 1,450 ตันอีกจำนวน 2 ลำ บรรทุกทุ่นระเบิดได้ 50 ลูกและ 150 ลูกตามลำดับ เรือลำหลังซึ่งอยู่มุมบนซ้ายของภาพ มีเม็ดสิวจำนวน 8 เม็ดเรียงตามขวาง บริเวณท้ายสุดดาดฟ้าชั้นที่หนึ่ง ใต้แท่นยิงระบบเป้าลวงมองเห็นไหมหนอ

                เม็ดสิวดังกล่าวคือท่อยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน Umkhonto-IR นั่นเอง นี่เรือวางทุ่นระเบิดต่อสู้อากาศยานที่แท้จริง เรือชั้น Hämeenmaa จะปลดระวางไม่เกินปี 2025 ฟินแลนด์จึงผุดโครงการ Squadron 2020 จัดหาเรือรบทันสมัยขนาด 2,500 ตัน เรือใหม่ยังวางทุ่นระเบิดได้เหมือนเรือเก่า จิ๊ดจ๊าดกว่าเดิมติดอาวุธครบ 3 มิติ เพราะต้องทดแทนเรือเร็วโจมตีชั้น Rauma จำนวน 4 ลำด้วย จึงมีเรือใหม่จำนวน 4 ลำวงเงิน 1.2 พันล้านยูโร ฟินแลนด์กำลังจะก้าวข้ามกองเรือชายฝั่งขนาดเล็ก
                ผู้เขียนขอปิดท้ายด้วยประเทศที่อยู่สองทวีป กองทัพเรือตุรกีไม่มีเรือวางทุ่นระเบิด ทว่าพวกเขามีเรือยกพลขึ้นบกวางทุ่นระเบิดจำนวน 3 ลำ อ่านไม่ผิดหรอกครับ..เรือยกพลขึ้นบกวางทุ่นระเบิด โดยที่ 2 ลำแรกมีขนาด 2,600 ตัน แบกทุ่นระเบิดไปด้วยจำนวน 135 ลูก ส่วนเรือลำที่สามขอลงภาพให้เห็นหน้าตาเสียก่อน

                นี่คือเรือยกพลขึ้นบก TCG Osman Gazi (NL 125) ระวางขับน้ำ 3,775 ตัน ยาว 105 เมตร (ไม่มีปล่องควันเสียด้วย) รองรับทหารจำนวน 900 นาย พร้อมรถถังหลักจำนวน 15 คัน ติดตั้งปืนกล Oerlikon 35 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น GDM-Aจำนวน 2 กระบอก ป้อมปืน GDM-A มีลูกเล่นน่ารักน่าชังจากยุค 197x ผู้ใช้สามารถเปิดหน้าต่างด้านบนป้อมปืน เพื่อเล็งยิงด้วยสายตาได้อย่างแม่นยำ เรดาร์ควบคุมการยิงราคาแพงไม่ได้กินเงินผมร๊อกกก...
                ถัดมาหน่อยเดียวเป็นแท่นยิงเป้าลวง SRBOC เหนือสะพานเดินเรือติดตั้งระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์ AN/SQL32-V2 (15 ล้านเหรียญ) มี SATCOM จำนวน 3 ใบ เรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัว ปืนกล 20 มม.จำนวน 2 กระบอก ปืนกล 12.7 มม จำนวน 2 กระบอก และระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx (16 ล้านเหรียญ) อีก 1 ระบบ แบกทุ่นระเบิดไปด้วย 200 ลูก ทั้ง AN/SQL32-V2 และ Phalanx นำมาจากเรือฟริเกตชั้น Knox ที่ปลดระวาง ไม่ทราบว่าเราพอทำแบบนี้บ้างได้มั้ย
เรือเกาหลีใต้ใหญ่ไป เรือญี่ปุ่นใหญ่เกิ๊น เรือสวีเดนก็เล็กโคตร เรือฟินแลนด์แพงหูฉี่ ส่วนเรือตุรกีก็นะ ยังมีเรือประเทศอื่นที่สร้างขึ้นจริง และเหมาะสมกับไทยมากกว่านี้หรือเปล่า
                คำถามข้อนี้ ผู้เขียนขอตอบว่า....มี๊!!! (เสียงสุง)
                ขอนำทุกท่านไปยังประเทศโปรตุเกส ผู้นำฝอยทองเข้าสู่เมืองไทยตั้งแต่กรุงศรี กองทัพเรือที่นี่ต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง เหมือนกันกับประเทศเราและประเทศทั่วโลกต้องการ ทว่าโปรตุเกสเลือกที่จะพัฒนาเรือภายในประเทศ ทั้งที่ตนไม่ค่อยมีชื่อเสียงเหมือนฝอยทอง เราไปชมผลงานน้าชายคริสเตียนโน โรนัลโด้กันเสียหน่อย

                นี่คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Viana do Castelo ระวางขับน้ำเต็มที่ 1,850 ตัน ยาว 83.10 เมตร กว้าง 12.95 เมตร เป็นเรือตรวจการณ์ในสายโลหิตร้อยเปอร์เซ็นต์ ติดตั้งปืนกลควบคุมด้วยรีโมท 30 มม.จำนวน 1 กระบอก ความพิเศษของเรือลำนี้อยู่ที่ส่วนท้าย ดูภาพแปลนเรือมุมบนขวากันก่อน มีจุดวางตู้ Mission Module กลางเรือสีน้ำเงินเข้ม ถัดไปสีเหลืองคือลิฟท์ขนของขนาดใหญ่ กราบซ้ายเรือติดตั้งเครนขนาด 10 ตัน ใช้ยกทุ่นระเบิด ยุทธปัจจัย หรือฮอนด้าแจ๊สได้อย่างสบาย ท้ายเรือติดตั้งรางปล่อยทุ่นระเบิดจำนวน 2 ราง โดยจะติดเมื่อจำเป็นต้องทำภารกิจ มีพื้นจัดเก็บทุ่นระเบิดซึ่งขอใช้คำว่าอเมซิ่ง ดูภาพแปลนเรือมุมบนซ้ายต่อนะครับ ใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาด 5.4 ตัน มีพื้นที่กว้างขวางยาวเหยียดตามสี่เหลี่ยมสีแดง พื้นที่สี่เหลี่ยมสีเขียวถูกกั้นเป็นห้อง รองรับนาวิกโยธินพร้อมอาวุธจำนวน 32 นาย หรือใช้เก็บทุ่นระเบิดที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ

            ทีนี้เราไปชมพื้นที่ท้ายเรือกันอย่างเต็มอิ่ม ปูยางกันลื่นแต้มจุดวางทุ่นระเบิดตลอดแนว มุมบนซ้ายคือห้องผ่าตัดขนาดเล็ก มุมบนกลางคือจุดวางตู้ Mission Module (หมายเลข 1 ) และลิฟท์ขนของขนาดใหญ่ (หมายเลข 2) ขวามือบนคือความกว้างขวางพื้นที่ใต้ลานจอด ใช้ลำเลียงนักท่องเที่ยวติดค้างบนเกาะ หรือลูกเรือประมงต่างชาติได้ประมาณ 80-100 คน ขวามือล่างคือห้องพักนาวิกโยธิน กินลึกเข้ามาจนติดห้องกั้นปล่องควันเรือ ในภาพพื้นเรียบเท่ากันหมดนะครับ แค่เล่นสีแผ่นกันลื่นทางเดินเท่านั้นเอง นี่คือแบบเรือที่ไม่มีความซับซ้อนแม้แต่น้อย อู่ต่อเรือเอกชนของเราทุกรายสร้างได้แน่นอน
                เรือชั้น Viana do Castelo เพิ่งต่อแล้วเสร็จจำนวน 2 จาก 8 ลำ เนื่องจากติดขัดปัญหางบประมาณพอสมควร ก็เลยเพิ่งสร้างลำที่ 3 ในปี 2015 ด้วยวงเงิน 87 ล้านเหรียญ ผู้เขียนทดลองปรับปรุงเรือให้เหมาะสมกับประเทศไทย

                ลำที่หนึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (เรายังต้องการอีก 2 ลำ) ทุกอย่างหมือนเดิมหมด ติดตั้งปืนใหญ่ 76/62 มม.ตามที่ควรจะเป็น สะพานเดินเรือและเสากระโดงปรับปรุงเล็กน้อย กราบเรือตรงกลางถูกตีปิดช่องว่าง เพื่อความสวยงามและขยายห้องพักเล็กน้อย ใส่เรือเล็กขนาด 6.8 เมตรนั่งได้ 9 คน และเรือเล็กขนาด8.5 เมตรนั่งได้ 15 คน พร้อมเครนขนาด 10 ตันเหมือนต้นฉบับ ขยายลานจอดเฮลิคอปเตอร์จนไปสุดบั้นท้าย ใต้ลานจอดเป็นพื้นที่อเนกประสงค์เหมือนเก่า ติดสะพานขึ้นเรือหรือ Gangway ให้ด้วย 1 ตัว ผู้ที่บังเอิญต้องมาใช้บริการเรือลำนี้ จะได้ไม่ไปวุ่นวายส่วนอื่นให้ต้นหนลำบากใจ
            ลำที่สองเป็นเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด พื้นที่หลังปืนหลักแปลงร่างเป็นห้องยุทธการ (ติดกระจกเพิ่ม 1 บานแสดงสัญลักษณ์ ) เรือเล็กขนาด 8.5 เมตรที่อยู่กราบขวา ถูกแทนที่ด้วยเรือเล็กขนาด 6.8 เมตรพร้อมเครนเล็ก เพื่อจะได้ช่วยยกยานใต้น้ำไร้คนขับลงสู่น้ำ ใต้ลานจอดมีการปรับปรุงมากกว่าเดิม ขยายพื้นที่ห้องติดแอร์รองรับทุ่นระเบิดชนิดพิเศษ สะพานขึ้นเรือถูกโยกไปอยู่ด้านบน ผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทุ่นระเบิด จะได้ไม่มาเข้าใกล้อาวุธอันตรายชนิดนี้
                เรือตรวจการณ์ติดปืนใหญ่ 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกล 30 มม.ควบคุมด้วยรีโมทจำนวน 2 กระบอก และปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ส่วนเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด จะมีแค่เรือเปล่าพร้อมโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิดและระบบ Thales M-cube เท่านั้น อาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วย ปืนกล 40/60 มม.จำนวน 1 กระบอกจากเรือหลวงถลาง ปืนกล 20 มม.จำนวน 2 กระบอกจากเรือหลวงถลาง และปืนกลขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอกจากเรือหลวงถลางเช่นกัน ผู้เขียนอยากเอาเงินไปลงระบบต่อต้านทุ่นระเบิดให้มากที่สุด ไว้ได้งบเพิ่มค่อยหาปืนใหม่มาใส่ก็แล้วกัน
                เรือชั้น Viana do Castelo วางตู้ Mission Module ได้จำนวน 1 ระบบ พร้อมทุ่นระเบิดประมาณ 150 ลูก เหมาะสมกับความต้องการไม่มากก็น้อย ถ้ามีการจัดหาเรือจำนวน 3 ลำโดยเป็นเรือตรวจการณ์จำนวน 2 ลำ เท่ากับว่าเรามีเรือวางทุ่นระเบิดจำนวน 3 ลำ หรือเรือตรวจการณ์จำนวน 3 ลำแล้วแต่จะเลือก กรณีเรือพี่เลี้ยงต้องเข้าอู่แห้งตามวงรอบ หยิบยืมเรือตรวจการณ์ใช้งานไปก่อนก็ได้ หรือกรณีกองเรือตรวจอ่าวต้องการกำลังหนุน เรือหลวงถลางหมายเลข 2 พร้อมรับใช้ตลอดเวลา (มีเรือเหมือนกันหลายลำมันดีแบบนี้นี่เอง) รวมทั้งกรณีขาดแคลนเรือขนส่งเจ้าหน้าที่หรือขนส่งกำลังบำรุง ตู้เย็นอเนกประสงค์เคลื่อนนี้ลำนี้ ตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจนที่สุดแล้ว
                แต่ทว่าเรือลำนี้ไม่มีอุปกรณ์มาตราฐานราชนาวีไทยชิ้นหนึ่ง นั่นก็คือห้องควบคุมอากาศยานใกล้ลานจอด เพราะจำเป็นต้องมีพื้นที่วางตู้ Mission Module จึงสร้างไม่ได้และไม่เหลือพื้นที่อื่นแล้ว วิธีแก้ไขมีด้วยกัน 2 ประการ ใช้ระบบอัตโนมือพร้อมกล้อง CCTV แบบโปรตุเกส หรือวางตู้ Mission Module ควบคุมอากาศยานมันเสียเลย
เรือลำใหม่ของเราทำภารกิจอะไรได้บ้าง และต้องมีอะไรหรือควรมีอะไรมากับเรือบ้าง
            นอกจากเป็นเรือพี่เลี้ยงเรือกวาดทุ่นระเบิดน้อยใหญ่ ยังใช้ทำภารกิจวางทุ่นระเบิดและสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด ผู้เขียนอยากให้ชมแผนภาพถัดไป แสดงความสามารถเรือวางทุ่นระเบิดยุคใหม่อย่างชัดเจน

                ทุกระบบล้วนทำงานโดยอัตโนมัติ เรือเกาหลีใต้และเรือญี่ปุ่นได้ตามแผนภาพทุกประการ ส่วนเรือฟินแลนด์อาจใช้คนเพิ่มในบางจุด ขณะที่เรือสวีเดนและโปรตุเกสซึ่งติดตั้งชั่วคราว เวลาใช้งานจะมีหน้าจอคอนโซลและระบบไฟฟ้าควบคุม แต่ต้องพึ่งพาแรงคนมากกว่าประเทศอื่น ส่วนเรือตุรกีผู้เขียนไม่กล้าคาดเดา เจอเรือยกพลขึ้นบกแค่ลำเดียวถึงกับมืนตึ๊บ
                มาที่ภารกิจสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดกันบ้าง ประกอบไปด้วยสิ่งที่จำเป็นต้องมีจำนวน 3 อย่าง (ภาพมุมบน) และสิ่งที่สมควรจะมีอีกจำนวน 3 อย่าง (ภาพมุมล่าง) ส่วนสิ่งที่อยากได้แต่อยู่เกินเอื้อมก็ช่างมันเถอะ

                เริ่มกันที่ระบบอำนวยการล่าทำลายทุ่นระเบิด Thales M-cube ซึ่งใช้โปรแกรมมาตรฐาน NATO ในการทำงาน จึงใช้งานอุปกรณ์จากค่ายตะวันตกได้เกือบหมด การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมีความสะดวกมากมาย ถัดมาก็คือตู้ Mission Module ความยาว 20 ฟุตน้ำหนัก 10 ตัน เป็นทั้งห้องควบคุมหรือห้องจัดเก็บอุปกรณ์ตามภารกิจ ตอนนี้กำลังขายดิบขายดีไปทั่วโลก ท้ายสุดก็คือบรรดาสิ่งอำนวยความสะดวก ในการจัดเก็บทุ่นระเบิดโดยใช้คนหย่อนทางอากาศ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า MCM Pouncer นั่นเอง ประกอบไปด้วยลานจอดและเฮลิคอปเตอร์ (ลำไหนก็ได้น่า) รวมทั้งอุปกรณ์โน่นนั่นนี่ครบเซต
                ภาพมุมล่างเริ่มจากยานใต้น้ำไร้คนขับ Remus100 เพื่อใช้ค้นหาทุ่นระเบิดตั้งวางบนพื้นทะเล อุปกรณ์วิ่งตามเส้นทางที่กำหนดให้โดยอัตโนมัติ แล้วเสร็จจึงค่อยเก็บขึ้นเรือภายหลัง สามารถเก็บข้อมูลอุณหภูมิในแต่ละความลึก ความเค็ม รวมทั้งระดับความลึก ช่วยในการประมวลผลก่อนจัดการเป้าหมาย เรือลำใหม่น่าจะมี Remus100 อย่างแน่นอน ถัดมาก็คือยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Pluto Plus จากสวิสเซอร์แลนด์ ดำได้ลึกสุด 400 เมตร เมื่อพบเป้าหมายจะนำระเบิดสีเหลืองไปติดตั้ง โอกาสที่จะมามีเพียงประการเดียว คือยกทั้งระบบมาจากเรือหลวงลาดหญ้า ด้วยว่ามีของใหม่ทดแทนหรืออะไรก็ตาม
                อุปกรณ์ชิ้นท้ายสุดก็คือยานล่าทำลายทุ่นระเบิด Seafox ดำได้ลึกสุด 300 เมตร ติดตั้งระเบิดขนาด 1.5 กิโลกรัมที่ส่วนหัว เรามี Sefox รุ่น Mobile จำนวน 1 ระบบ ขนาดกระทัดรัด น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายสะดวก ควบคุมด้วยแผงคอนโซลหน้าตาเหมือนโน็ตบุค โอกาสที่จะมาเรือใหม่มากพอสมควร ขึ้นอยู่ภารกิจและงบประมาณในการจัดหา
                กองเรือทุ่นระเบิดยังมีความต้องการ ยานกวาดทุ่นระเบิดอิทธิพลไร้คนบังคับควบคุมระยะไกล หรือ RUMV (Remote Unman Mine countermeasure Vehicle) ซึ่งถ้ามาจริงวันใดวันหนึ่งในอนาคต คงไม่หนีจากเรือลำนี้ไปไหนหรอกครับ
คุยกันปิดท้าย
                โครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์ เป็นการยกระดับมาตราฐาน รวมทั้งช่วยสร้างเสริมในสิ่งที่ขาดหาย สงครามทุ่นระเบิดยังคงมีอยู่ในตะวันออกกลาง กองทัพเรือซาอุยังคงทำงานอยู่ไม่เว้นวัน สมควรเป็นอย่างยิ่งที่ไทยจะพัฒนาให้ดีขึ้น และสมควรพัฒนาตามลำดับไม่กระโดดจากสามไปสิบ
                 เทคโนโลยีกำลังก้าวข้ามจากรุ่นปัจจุบันไปสู่รุ่นถัดไป นั่นคือการใช้ยานผิวน้ำไร้คนขับ แล่นออกห่างเรือแม่ในระยะสมควร แล้วบังคับยานใต้น้ำไร้คนขับลงไปจัดการทุ่นระเบิดใต้น้ำ คนใช้งานจึงมีความปลอดภัยมากกว่าเดิม แต่ต้องมีความรู้มากกว่าเดิมอีกเท่าตัว การจัดการทุ่นระเบิดเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประสบการณ์จริงและการฝึกฝนเท่านั้นที่ช่วยคุณได้
                เรือลำใหม่จะช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถของกำลังพล ทำภารกิจได้ดีเยี่ยมทั้งตั้งรับและโต้กลับ มีความอเนกประสงค์ตามหลักสมัยนิยม เมื่อโครงการชัดเจนมากขึ้นเราค่อยว่ากันใหม่ ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)
กองทัพเรืออาจใช้เรือเกาหลีใต้เป็นต้นแบบ แต่ผู้เขียนมองว่าเหมือนเรือสวีเดนมากกว่า ถ้ามีการจัดหาอุปกรณ์ครบถ้วน เรือเราจะทำได้ตามแผนภาพเหมือนเรือชั้นวิสบี้
         --------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
                        --------------------------------------------------------------------------------------