วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566

Netherlands Navy Common Fleet

 

rMCM Programme

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2021 บริษัท Naval Group ทำพิธีวางกระดูกงูเรือกวาดทุ่นระเบิดลำแรกของกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียม ตามโครงการ rMCM Programme ซึ่งมียอดรวมจำนวนเรือเท่ากับ 12 ลำ แบ่งเป็นกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์จำนวน 6 ลำกับกองทัพเรือเบลเยียมจำนวน 6 ลำ

เรือลำแรกพร้อมส่งมอบภายในปี 2024 ส่วนเรือลำสุดท้ายพร้อมส่งมอบภายในปี 2030 เรือกวาดทุ่นระเบิดตามโครงการ rMCM Programme มีระวางขับน้ำ 2800 ตัน ยาว 82.6 เมตร กว้าง 17 เมตร ความเร็วสูงสุด 15.3 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 3500 ไมล์ทะเล มีพื้นที่รองรับลูกเรือ 63 นาย อาวุธป้องกันตัวประกอบไปด้วย ปืนกลอัตโนมัติ Bofors 40mm Mk4 ขนาด 40 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara Hitrole NT ขนาด 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนกลเบา FN MAG ขนาด 7.62 มม.อีก 2 กระบอก

แบบเรือรุ่นใหม่จากฝรั่งเศสทำหน้าที่ประหนึ่งยานแม่หรือ Mother Ship ท้ายเรือวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 3 ตู้ มาพร้อมเครนขนาด 15 ตันสำหรับยกตู้คอนเทนเนอร์และอุปกรณ์อื่นๆ กลางเรือเป็นจุดติดตั้งยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดรุ่น Inspector 125 จำนวน 2 ลำ สามารถติดตั้งโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิด โซนาร์ลากท้าย และยานใต้น้ำปราบทุ่นระเบิดได้หลายรุ่นตามความต้องการ

เรือกวาดทุ่นระเบิด rMCM ช่วยให้กองเรือปราบทุ่นระเบิดเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมแข็งแกร่งกว่าเดิม

ชมภาพประกอบที่สองกันต่อ นี่คือภาพกราฟิกเรือกวาดทุ่นระเบิด rMCM ซึ่งถูกเผยแพร่ในปี 2020 เรือติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ Terma Scanter 4100 และติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara Marlin 30 ขนาด 30 มม. เมื่อมีการสร้างเรือจริงปรากฏว่า Scanter 4100 กับ Marlin 30 ถูกปรับเปลี่ยนเป็นเรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ AESA Thales NS50 กับปืนกลอัตโนมัติ Bofors 40mm Mk4 ขนาด 40 มม.

Marlin 30 เป็นอาวุธมาตรฐานกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ มีใช้งานบนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งกับเรือยกพลขึ้นบกอเนกประสงค์จำนวนหลายลำ แล้วเหตุใดเล่าเรือกวาดทุ่นระเบิดลำใหม่ถึงล่วงละเมิดความเป็น Common Fleet มิตรแฟนเพลงชาวไทยหลายคนพร้อมลงคอมเมนต์ว่านี่คือหายนะของการซ่อมบำรุงและความพร้อมรบ เป็นภาระให้กับลูกหลานไปอีกหลายสิบปีทีเดียวเชียว เนเธอร์แลนด์รวมทั้งเบลเยียมไม่มีความคิดกันบ้างเลยหรือไร

ผู้เขียนขอเก็บเรื่อง Common Fleet ไว้พูดคุยตอนจบบทความ

เหตุผลที่เนเธอร์แลนด์กับเบลเยียมเปลี่ยนมาใช้งาน Bofors 40mm Mk4 เพราะเรื่องประสิทธิภาพ

ก่อนปี 2000 เรือรบจำนวนมากใช้งานปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 30 มม.อัตรายิงสูงสุด 600 นัดต่อนาที ต่อมาไม่นานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานประสิทธิภาพสูงขึ้นและเข้าถึงง่ายกว่าเดิม ประกอบกับมีภัยคุกคามรูปแบบใหม่นั่นคือเรือยางท้องแข็งติดระเบิด จึงได้มีการพัฒนานำปืนกลอเนกประสงค์ขนาด 30 มม.อัตรายิง 200 นัดต่อนาที มาใช้งานบนเรือทดแทนปืนกลต่อสู้อากาศยานซึ่งไม่จำเป็นอีกต่อไป อัตรายิงลดลงแลกกับอายุการใช้งานยาวนานกว่าเดิม ดูแลซ่อมบำรุงสะดวกกว่าเดิม รวมทั้งมีความเหมาะสมกับเป้าหมายผิวน้ำมากกว่าเดิม

นับจากนั้นเป็นต้นมาปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ก็เข้ามาแทนที่ปืนกลต่อสู้อากาศยานขนาด 30 มม.

ต่อมาในปี 2020 กองเรือน้อยใหญ่ทั่วโลกมีการปรับปรุงตัวเอง เพื่อรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่นั่นคืออากาศยานไร้คนขับติดอาวุธกับอากาศยานไร้คนขับติดระเบิด เนื่องจากเรือกวาดทุ่นระเบิด rMCM มีอ่าวุธหลักเป็นปืนกลอัตโนมัติขนาดใหญ่จำนวน 1 กระบอก เนเธอร์แลนด์มองว่าไม่เพียงพอในการรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้งาน Bofors 40mm Mk4 ขนาด 40 มม.เพราะมีอัตรายิงสูงกว่า ระยะยิงไกลกว่า ประสิทธิภาพในการทำลายเป้าหมายมากกว่า รวมทั้งใช้งานกระสุนฉลาด 3P ซึ่งสามารถตั้งชนวนแบบอัตโนมัติได้ถึง 6 รูปแบบ มากเพียงพอในการรับมือทั้งเป้าหมายผิวน้ำและเป้าหมายกลางอากาศ

ASWF Programme

วันที่ 29 มิถุนายน 2023 บริษัท Damen กับ Thales Netherlands เซ็นสัญญาร่วมกับกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์กับเบลเยียม ในการจัดหาเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่จำนวน 4 ลำ แบ่งเป็นกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์จำนวน 2 ลำกับกองทัพเรือเบลเยียมจำนวน 2 ลำ กำหนดส่งมอบเรือฟริเกตลำแรกภายในปี 2029 ส่วนเรืออีกสามลำจะทยอยส่งมอบห่างกันประมาณปีละหนึ่งลำ

เรือฟริเกตตามโครงการ ASWF Programme มีระวางขับน้ำ 5,865 ตัน ยาว 134.5 เมตร กว้าง 17.5 เมตร กินน้ำลึก 5.45 เมตร เป็นเรือฟริเกตทันสมัยที่สุดในยุโรปมาพร้อมออปชันครบถ้วน หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ Oto Melara 76/62 Sovraponte ทำงานร่วมกับกระสุนนำวิถีต่อสู้อากาศยาน DART ถัดไปเป็นแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จำนวน 16 ท่อยิงสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM Block 2 ต่อด้วยปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara Marlin 40 ขนาด 40 มม.ที่ว่างกลางเรือติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM จำนวน 8 นัด มีพื้นที่ว่างสำหรับคอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ตู้หรือติด NSM เพิ่มได้อีก 8 นัด ถัดไปคือแท่นยิงเป้าลวง NGDS จำนวน 4 แท่นยิง ปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara Marlin 40 กระบอกที่สอง และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด RAM Block 2 ขนาด 21 ท่อยิง ส่วนแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk-54 ซ่อนอยู่ที่สองกราบเรือ

ระบบตรวจจับเรือฟริเกตลำนี้ไม่น้อยหน้าใคร ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ Thales APAR Block 2.0 จำนวน 4 ตัว ในการตรวจจับระยะกลางและควบคุมอาวุธปล่อยนำวิถี ESSM Block 2 ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ Thales SM400 block 2 จำนวน 4 ตัวในการตรวจจับระยะไกล ใช้ออปโทรนิกส์/เรดาร์ควบคุมการยิง Thales PHAROS ทำงานร่วมกับปืนใหญ่ Oto Melara 76/62 Sovraponte และใช้ใช้ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Thales Mirador จำนวน 2 ตัวทำงานร่วมกับปืนกลอัตโนมัติ Oto Melara Marlin 40 จำนวน 2 กระบอก

Mirador ตัวแรกติดอยู่หน้าเสากระโดงหลัก ส่วน Mirador ตัวที่สองติดอยู่กราบขวาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ (อยู่ด้านล่างแท่นยิง RAM Block 2) ไม่ทราบเหมือนกันว่ามุมซ้ายของปืนจะถูกตัวเรือบดบังหรือไม่

ดูเหมือนว่ากองทัพเรือเนเธอร์แลนด์จะสร้างปัญหาให้กับลูกหลานอีกแล้ว

แทนที่จะใช้งาน Bofors 40mm Mk4 เหมือนเรือกวาดทุ่นระเบิด คุณพรี่กลับเลือกสินค้าใหม่เอี่ยมจากอิตาลีนั่นคือ Marlin 40 ผู้เขียนคาดเดาว่าภารกิจหลักของ Marlin 40 คือจัดการเป้าหมายผิวน้ำ ส่วนเป้าหมายกลางอากาศปล่อยให้ ESSM Block 2 กับ RAM Block 2 รวมทั้ง Sovraponte ได้แสดงฝีมือบ้าง เหตุผลที่ไม่เลือกใช้งาน Marlin 30 เหมือนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง อาจเป็นเพราะเผื่อเหลือเผื่อขาดในกรณีอากาศยานไร้คนขับเล็ดลอดสามทหารเสือเข้ามา ถึงอย่างไรปืนกล 40 มม.อัตรายิง 300 นัดต่อนาทีย่อมดีกว่าปืนกล 30 มม.อัตรายิง 200 นัดต่อนาที

มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยอาจมีคำถามแล้วภารกิจระดมยิงชายฝั่งล่ะ?

คำตอบก็คือเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศชั้น De Zeven Provinciën จำนวน 4 ลำได้รับมอบภารกิจนี้

กองทัพเรือเนเธอร์แลนด์อยู่ระหว่างการจัดหาปืนใหญ่ Oto Melara 127/64 ขนาด 127 มม.จำนวน 4 กระบอกพร้อมกระสุนต่อระยะยิงได้ไกลสุด 100 กิโลเมตร มาติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น De Zeven Provinciën ซึ่งคนเนเธอร์แลนด์เรียกว่าเรือ LCF ในช่วงกลางปี 2024 (ทยอยติดตั้งไปเรื่อยๆ จนครบทุกลำ) รวมทั้งอยู่ระหว่างการคัดเลือกอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่งระยะไกลมาใช้งานบนเรือ (คาดว่าจะเป็น Tomahawk) เท่ากับว่าอีกไม่ช้าไม่นานเรือ LCF จะกลายเป็นเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ/โจมตีชายฝั่งระยะไกล

Future Netherlands Navy

          ปี 2028 หรือถัดจากนี้ประมาณ 5 ปี เรือผิวน้ำสำคัญๆ กองทัพเรือเนเธอร์แลนด์จะประกอบไปด้วย

          1.เรือฟริเกตชั้น De Zeven Provinciën ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ Thales APAR กับ Thales Smart-L อาวุธป้องกันตัวคือปืนใหญ่ Oto Melara 127/64 กับระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Goalkeeper

2.เรือฟริเกตชั้น ASWF ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ Thales APAR Block 2.0 กับ Thales SM400 block 2 อาวุธป้องกันตัวคือปืนใหญ่ Oto Melara 76/62 Sovraponte กับปืนกลอัตโนมัติ Marlin 40

          3.เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Holland ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ I-MAST 400 อาวุธป้องกันตัวคือปืนใหญ่ Oto Melara 76/62 Super Rapid กับปืนกลอัตโนมัติ Marlin 30

          4.เรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น rMCM ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ Thales NS50 อาวุธป้องกันตัวคือปืนกลอัตโนมัติ Bofors 40mm Mk4

          เรือ 4 แบบของเนเธอร์แลนด์ติดตั้งเรดาร์และอาวุธปืนไม่เหมือนกันเลย ถ้าเป็นประเทศไทยผู้หลงใหล Common Fleet รับรอง Marlin 40 กับ Bofors 40mm Mk4 รวมทั้ง Sovraponte ไม่ได้เกิดแน่นอน

          แท้จริงแล้วกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์ติดตั้งเรดาร์และอาวุธปืนตามความเหมาะสมชนิดเรือ ทว่าพวกเขาคิดถึงเรื่อง Common Fleet เช่นเดียวกัน โดยการจัดหาเรือฟริเกตกับเรือกวาดทุ่นระเบิดรุ่นเดียวกับกองทัพเรือเบลเยียม จำนวนเรือที่สั่งซื้อเพิ่มขึ้นสองเท่า ราคาสร้างเรือลดลงไม่มากก็น้อย การสั่งซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นสองเท่า ราคาอาวุธลดลงไม่มากก็น้อย การซ่อมบำรุงและจัดหาอะไหล่เพิ่มขึ้นสองเท่า ราคาอะไหล่ลดลงไม่มากก็น้อย การปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นสองเท่า ราคาปรับปรุงเรือลดลงไม่มากก็น้อย ซึ่งมันเห็นผลชัดเจนกว่าการซื้อเรือทีละหนึ่งลำแต่ติดอาวุธเหมือนเรือชนิดอื่นโดยไม่คำนึงถึงภารกิจ ประสิทธิภาพ และภัยคุกคาม

          นี่แหละ Common Fleet ของกองทัพเรือเนเธอร์แลนด์และเบลเยียม

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

https://swzmaritime.nl/news/2022/06/16/construction-of-first-new-dutch-mine-countermeasure-vessel-kicks-off/

https://web.facebook.com/photo?fbid=742678807863213&set=pcb.742678831196544

https://www.seaforces.org/marint/Netherlands-Navy/Offshore-Patrol-Vessel/Holland-class.htm

https://www.abc-engines.com/de/news/abc-selected-for-the-new-belgian-and-dutch-navy-mine-counter-measures-vessel-programme-mcmv

https://www.defensie.nl/actueel/nieuws/2023/06/29/defensie-in-zee-met-bouwers-nieuwe-anti-submarine-warfare-fregatten

https://www.navalnews.com/naval-news/2021/11/naval-group-lays-keel-of-1st-mcm-vessel-of-belgian-dutch-rmcm-program/

 

         

วันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2566

VENARI-85 for RTN

 

โครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด

สมุดปกขาวกองทัพเรือ พ..2566 มีข้อมูลน่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศของกองทัพเรือ ข้อมูลสมุดปกขาวหน้าที่ 29 ส่วนหนึ่งระบุไว้ตามนี้

5.1 กองทัพเรือมุ่งเน้นและสนับสนุนอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศเพื่อการพึ่งพาตัวเอง โดยที่ผ่านมากองทัพเรือได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในการต่อเรือประเภทต่างๆ อาทิ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และเรือตรวจการณ์ประเภทอื่นๆ เรือสำรวจอุทกศาสตร์ เรือระบายพล เรือลากจูง เรือปฏิบัติการความเร็วสูง อีกทั้งสนับสนุนในการซ่อมบำรุงเรือของกองทัพเรือ โดยในอนาคตกองทัพเรือมุ่งเน้นการดำเนินโครงการจัดหายุทโธปกรณ์สำคัญ ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศมากยิ่งขึ้น เช่น โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำ และโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด ซึ่งมีวงเงินรวม 82,950 ล้านบาท อีกทั้งมีแผนการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง และเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ภายในประเทศในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตามในระยะแรกยังคงมีความจำเป็นต้องจัดหายุทโธปกรณ์ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยยังไม่มีขีดความสามารถดำเนินการได้เอง

จากข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าระหว่างปี 2566 ถึง 2580 กองทัพเรือมีแผนจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำ กับเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิดไม่ระบุจำนวน แต่จากข้อมูลเก่าคาดเดาได้ว่าจำนวน  1 ลำทดแทนเรือหลวงถลาง (MCS 621) ซึ่งเป็นเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด ราคาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำเท่ากับ 80,400 ล้านบาท ฉะนั้นเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิดจำนวน 1 ลำจึงมีราคา 2,550 ล้านบาท ซึ่งอาจรวมยานผิวน้ำไร้คนขับหรือยานใต้น้ำไร้คนขับเพิ่มเติมเข้ามาในโครงการ

เป็นการจัดหาโดยมีข้อกำหนดต้องสร้างเรือเองในประเทศ ทั้งนี้ทั้งนั้นมีรายละเอียดเติมปิดท้ายอาจจัดหาจากต่างประเทศ ถ้าบริษัทในประเทศไม่มีขีดความสามารถดำเนินการได้เอง ฉะนั้นถ้ากองทัพเรือซื้อเรือฟริเกตจากประเทศจีน2 ลำกับสร้างเอง 2 ลำ ย่อมไม่ผิดไปจากข้อกำหนดสมุดปกขาวเพราะเขียนไว้แล้วอย่างชัดเจนแล้ว

เอกสารทางราชการต้องอ่านให้ละเอียดและแตกฉานนะครับ

ที่ผ่านมากองทัพเรือยังไม่เคยริเริ่มโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิด ทว่าในปี 2560 เคยมีโครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์ เพื่อทดแทนเรือหลวงถลางซึ่งใกล้ปลดประจำการเต็มที โดยมีบริษัทสร้างเรือในไทยจับมือกับบริษัทต่างชาติเสนอแบบเรือเข้าร่วมโครงการ 2 บริษัท บังเอิญโครงการนี้ไปไม่ถึงดวงดาวถูกเก็บเข้ากรุตามระเบียบพักไปเสียก่อน

ผู้เขียนไม่ทราบความต้องการในปัจจุบันของกองทัพเรือ จึงใช้วิธีคาดเดาว่าเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิดต้องเป็นศูนย์สงครามทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ เป็นฐานปฏิบัติการส่วนหน้าในพื้นที่ฝ่ายตรงข้าม รองรับการจัดเก็บทุ่นระเบิดแบบลอยตามกระแสน้ำ เป็นฐานปฏิบัติการของยานใต้น้ำไร้คนขับหรือ UUV เป็นฐานปฏิบัติการยานล่าทำลายทุ่นระเบิดหรือ MDV  มีพื้นที่บนเรือรองรับหน่วยปฏิบัติการ วางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module ได้ รวมทั้งมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางสำหรับเจ้าหน้าที่ทำลายวัตถุระเบิดจากทางอากาศ

ในอนาคตถ้ากองทัพเรือขึ้นโครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ปฏิบัติการสงครามทุ่นระเบิดจริง แบบเรือจากโครงการจัดหาเรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์อาจได้เกิดใหม่อีกครั้ง บทความนี้ผู้เขียนขอนำแบบเรือจากประเทศอังกฤษมานำเสนออีกครั้งพร้อมทางเลือกใหม่เพิ่มเติม

BMT VENARI-85

วันที่ 2 มิถุนายน 2560 เว็บเพจ "Navy For Live" ลงบทความเกี่ยวข้องกับกองทัพเรือตามนี้

++++++++++++++++++

Navy Updates

บริษัท อิตัลไทย มารีน จำกัด ร่วมมือกับ บริษัท BMT Defense Services ประเทศอังกฤษ ได้ยื่นเสนอแบบเรือเพื่อประกอบการพิจารณากับ กองเรือทุ่นระเบิด ในการจัดเตรียมโครงการ "เรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิดอเนกประสงค์" เพื่อทดแทน ร.ล.ถลาง ที่ใกล้ถึงวาระการปลดระวางประจำการ โดยปัจจุบัน ยังอยู่ในขั้นการเตรียมข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้านเพื่อเสนอโครงการต่อไปนั่นเอง

เรือสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด (Mine Countermeasure Support Ship) นั้น ตามความต้องการของหน่วยผู้ใช้ จะรองรับการปฏิบัติการต่อต้านทุ่นระเบิด ทั้งในและนอกประเทศ โดยจะต้องมีขีดความสามารถในการสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด ร่วมกับ ชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ (MCM Mobile Team) เพื่อสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด ในพื้นที่ของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะการต่อต้านฯ ก่อนการปฏิบัติการยกพลขึ้นบก

สำหรับแบบเรือที่เสนอโดย BMT Defense Service นั้น จะเป็นไปตามแนวความคิดการใช้เรือสมัยใหม่ คือ Mission Module Concept เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้งานให้มากที่สุด และ ยังสามารถใช้เป็นเรือวางทุ่นระเบิด ไม่น้อยกว่า 150 ลูกต่อเที่ยว ด้วยรางวางทุ่นระเบิดระบบปิดท้ายเรือ จำนวน 4 ราง พร้อมระบบตั้งค่าทุ่นระเบิดภายใน

ภายในห้องศูนย์ยุทธการ จะทำหน้าที่ เป็นศูนย์สงครามทุ่นระเบิดเคลื่อนที่ ให้กับกองกำลังทางเรือ โดยจะสามารถวางแผนร่วมกับ กำลังต่อต้านทุ่นระเบิดอื่นๆ ด้วยระบบ Thales M-cube ที่มีการออกแบบระบบโดยการใช้ MCM Expert Program ซึ่งเป็นโปรแกรมมาตรฐานที่ใช้ในกองกำลังต่อต้านทุ่นระเบิด NATO

ความต้องการของลานจอดเฮลิคอปเตอร์ นั้นเพื่อรองรับการใช้งาน MCM Pouncer คือ เมื่อตรวจพบทุ่นระเบิดแบบลอยตามกระแสน้ำ หรือ ทุ่นระเบิดที่ขาดจากสายยึดทุ่นลอยตามกระแสน้ำนั้น จะดำเนินการส่ง ฮ. พร้อมเจ้าหน้าที่ EOD ในการต่อต้านทุ่นระเบิดให้หมดสภาพจากการเป็นภัยคุกคาม

นอกจากบริษัท อิตัลไทยมารีน จำกัด จะมีการเสนอแบบ เพื่อประกอบการพิจารณาแล้ว ยังมี บริษัท มาร์ซัน จำกัด ที่กำลังเตรียมการจัดหาความร่วมมือจากอู่ต่อเรือตุรกีในครั้งนี้ด้วย

ป.ล. ภาพประกอบ ยังไม่ใช่แบบสำเร็จ หรือ ความต้องการของ กทบ. นะครับ เป็นเพียงแบบที่เสนอ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุง

By Admin ต้นปืน561

++++++++++++++++++

ภาพประกอบที่ 2 และ 3 มาจากเว็บเพจ Navy For เป็นภาพแบบเรือที่บริษัทอิตัลไทยมารีนกับบริษัท BMT Defense Services ประเทศอังกฤษนำเสนอในโครงการ โดยนำแบบเรือปราบทุ่นระเบิด VENARI-85 มาปรับปรุงเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับภารกิจสนับสนุนการต่อต้านทุ่นระเบิด มีการตัดจุดรับส่งยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดท้ายเรือออกไป แล้วสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางขึ้นมาทดแทน ใต้ลานจอดเป็นพื้นที่จัดเก็บทุ่นระเบิดจำนวนมากสุด 150 ลูกพร้อมรางปล่อยทุ่นระเบิด 4 ราง กราบขวาเรือติดตั้งเครนขนาด 15 ตันสำหรับจัดเก็บทุ่นระเบิดบนเรือ ถัดจากเครนเล็กน้อยคือจุดรับส่งสิ่งของกลางทะเลกับปืนฉีดน้ำความดันสูง

ภาพประกอบที่ 2 มองเห็นจุดวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module จำนวน 1 ตู้ ผู้เขียนเข้าใจว่าใช้จุดนี้ในการหย่อนทุ่นระเบิดลงสู่ห้องเก็บ เสร็จเรียบร้อยถึงนำตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตมาวางปิดท้าย ถ้าต้องวางทุ่นระเบิดหลายรอบติดกันท่าทางคงยุ่งยากพอสมควร เข้าใจว่าจุดที่ปรับปรุงเพิ่มเติมแตกต่างจากเดิมมีเพียงเท่านี้

VENARI-85 มีความยาว 85.9 เมตร น้ำหนักบรรทุกรวมประมาณ 500 ตัน ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 ตัว เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 4 ตัว สองกราบเรือติดตั้งเรือยางท้องแข็งขนาด 7 เมตร ใต้ท้องเรือติดตั้งโซนาร์เตือนภัยทุ่นระเบิด เสากระโดงติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติกับเรดาร์เดินเรือ หน้าสะพานเดินเรือมีจุดติดตั้งปืนหลักกับแท่นยิงระบบเป้าลวงอาวุธนำวิถี มีที่พักสำหรับลูกเรือ 58 นาย รองรับการทำงานแบบ Mission Module Concept

กรณีต้องการเรือคุณลักษณะตามเดิม

จากภาพกราฟิกผู้เขียนนำมาวาดเป็นภาพเรือสไตล์ Shipbucket ตามภาพประกอบที่ 4

เรือลำบนติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ Thales Variant มาพร้อมปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mark2 ขนาด 30 มม.ใช้ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง EOFCS บนเสากระโดง มีปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอกกับปืนกลขนาด 12.7 มม.อีก 2 กระบอก ไม่มีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์และระบบเป้าลวง เสากระโดงหลักเหมือนแบบเรือที่นำเสนอทุกประการ จัดเป็นรุ่นราคาประหยัดมีอาวุธสำหรับป้องกันตัวแค่พอประมาณ

เรือลำล่างติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ Thales NS50 มาพร้อมปืนใหญ่ OTO ขนาด 76/62 มม.รุ่น Sovraponte เป็นปืนรุ่นอเนกประสงค์ธรรมดาไม่มีระบบ Strales System ใช้กระสุนนำวิถีต่อสู้อากาศยานไม่ได้ ราคาจึงไม่แพงเกินไปสามารถจัดหามาใช้งานได้ เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกรุ่นนี้เพราะไม่ใช่พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ บรรจุกระสุนพร้อมยิงในป้อมปืนจำนวน 76 นัด ถ้าต้องการเน้นป้องกันภัยทางอากาศก็ใส่กระสุนแตกอากาศ เน้นป้องกันภัยผิวน้ำก็ใส่กระสุนเจาะเกาะ จัดเป็นรุ่นท็อปราคาแพงติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันตัวอย่างครบถ้วน

ปืนรองเป็นปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอกกับปืนกลขนาด 12.7 มม.อีก 2 กระบอก ติดตั้งระบบดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ VIGILE Mk2 R-ESM และแท่นยิงเป้าลวง SKWS DL-12T จำนวน 2 แท่นยิง ใช้ระบบอำนวยการรบ TACTICOS มาพร้อมระบบดาต้าลิงก์ Link-Y มีกล้องตรวจการณ์ตอนกลางคืนอีก 1 ตัว

เฉพาะราคาเรือไม่น่าเกิน 2,550 ล้านบาทนะครับ

กรณีต้องการเรือคุณลักษณะใหม่

          ถ้ากองทัพเรือเปลี่ยนใจอยากได้ออปชัน Mother Ship มาใช้งานทดแทนการวางทุ่นระเบิด ผู้เขียนขอนำเสนอภาพประกอบที่ 5 ซึ่งใช้แบบเรือ VENARI-85 รุ่นดั้งเดิมของบริษัท BMT Defense Services

          เรือลำบนติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติ Thales Variant กับปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mark2 ขนาด 30 มม.กลางเรือเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดไม่เกิน 7 ตัน ใต้ลานจอดเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ มีจุดรับส่งยานใต้น้ำไร้คนขับเฉพาะกราบขวาจุดเดียว ท้ายเรือเป็นจุดรับส่งยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดจำนวน 2 ลำ วางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module ได้จำนวน 2 ตู้ ติดตั้งเครนขนาด 15 ตันไว้ที่บั้นท้ายเรือ

          เรือลำล่างติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 4 มิติ Thales NS50 กับปืนใหญ่ OTO ขนาด 76/62 มม.รุ่น Sovraponte ท้ายเรือถอดจุดรับส่งยานผิวน้ำไร้คนขับปราบทุ่นระเบิดออก สามารถวางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Module ได้มากสุดถึง 6 ตู้ รองรับภารกิจอื่นอาทิเช่น ขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขนส่งยุทโธปกรณ์ สำรวจอุทกศาสตร์ รวมทั้งปราบเรือดำน้ำด้วยระบบ Mission Module ในอนาคตภายภาคหน้า

บทสรุป

          แบบเรือ VENARI-85 ทั้งรุ่นดั้งเดิมและรุ่นปรับปรุงเพื่อกองทัพเรือไทย มีความอเนกประสงค์รองรับการทำสงครามรูปแบบใหม่ได้เป็นอย่างดี ติดขัดแค่เพียงบริษัท BMT Defense Services วางขายสินค้าตัวนี้กำลังจะขึ้นปีที่ 8 ปรากฏว่ายังหาลูกค้าเงินถุงเงินถังไม่ได้สักรายรวมทั้งกองทัพเรืออังกฤษประเทศผู้ผลิต

ถ้ากองทัพเรือไทยจัดหามาใช้งานอาจเป็นลำเดียวบนโลก

ถ้าไม่คิดมากก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

เอกสารดาวน์โหลด : สมุดปกขาวกองทัพเรือ พ..2566

https://web.facebook.com/NavyForLifePage/posts/pfbid0XmSYeGnBsBE1cWqCdMbKbWgkPuMfNL7xzwy8xVQwqGyi4qN32YxVPFMtq7rdwxNDl

https://www.bmt.org/projects/project/3355/bmt-venari-85

 

         


วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

MEKO Frigate for RTN

 

เดือนกันยายน 1997 สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ขึ้นโครงการจัดหาอาวุธ The Strategic Defence Package มูลค่ารวม 4.8 พันล้านเหรียญ เพื่อซื้ออาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยให้กับทุกเหล่าทัพมีรายละเอียดดังนี้

กองทัพเรือ

-เรือคอร์เวตจำนวน 4 ลำ

-เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ

-เรือดำน้ำโจมตีจำนวน 3 ลำ

กองทัพอากาศ

-เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ 28 ลำ

-เครื่องบินฝึกขั้นสูงจำนวน 24 ลำ

-เฮลิคอปเตอร์ชนิดต่างๆ จำนวน 48 ลำ

กองทัพบก

-รถถังหลักจำนวน 108 คัน

Project Sitron

ก่อนหน้านี้ในปี 1994 กองทัพเรือแอฟริกาใต้ได้ขึ้นโครงการ Project Sitron เพื่อจัดหาเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีรุ่นใหม่เข้าประจำการจำนวน 4 ลำ แต่เนื่องมาจากปัญหาบางประการทำให้โครงการต้องหยุดพักชั่วคราว เมื่อรัฐบาลขึ้นโครงการรวมแบบเรือคอร์เวตได้ถูกปรับปรุงความต้องการใหม่ กำหนดให้เรือมีระวางขับน้ำมากกว่า 3,000 ตัน ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Exocet MM40 Block 2 อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Umkhonto IR จากท่อยิงแนวดิ่ง และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Denel ขนาด 35มม.ลำกล้องแฝด เรือต้องติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลและแก๊สเทอร์ไบน์ ทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่า 27 นอตขึ้นไป

โครงการนี้บริษัท German Frigate Consortium หรือ GFC ส่งแบบเรือฟริเกต MEKO 200 SAN เข้าร่วมชิงชัย เรือมีระวางขับน้ำ 3,580 ตัน ยาว 118 เมตร กว้าง 15.2 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG เครื่องยนต์ดีเซล MTU 12 V1163 TB 93 จำนวน 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ Rolls Royce SM1C Spey หรือ GE LM 2500 จำนวน 1 ตัว ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 6,700 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต

บริษัท GFC พัฒนาแบบเรือ MEKO 200 SAN จากเรือลำไหน?

คำตอบก็คือใช้แบบเรือฟริเกต MEKO 200 ที่ขายดิบขายดีทั่วโลกมาปรับปรุงทั้งลำ

ผู้เขียนมีภาพเรือฟริเกต MEKO 200 กองทัพเรือทูร์เคียให้เปรียบเทียบ (ภาพประกอบที่สอง) รูปทรงเรือมาจากยุค 70-80 ซึ่งนิยมใช้งานปล่องระบายความร้อนคู่แบบเฉียงเล็กน้อย กว้านสมอเรือและจุดผูกเชือกหัวเรืออยู่บนดาดฟ้าเรือตามปรกติ แต่ย้ายแท่นยิงแนวดิ่งมาติดตั้งหลังปล่องระบายความร้อนจำนวน 16 ท่อยิง มีจุดติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลางกับระยะไกล ติดระบบป้องกันตัวเองระยะประชิดได้มากสุดถึง 3 ระบบ

ระวางขับน้ำและขนาดเรือทั้งสองลำใกล้เคียงกันมาก สะพานเดินเรือ เสากระโดง และปล่องระบายความร้อนอยู่ตำแหน่งเดิมด้วยซ้ำ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทรงเฉียงใช้หางเสือเรือขนาดใหญ่อันเดียวเหมือนเดิม ทว่าแบบเรือ MEKO 200 SAN ลดการตรวจจับด้วยคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ได้ดีกว่า มีการย้ายแท่นยิงแนวดิ่งมาไว้หน้าสะพานเดินเรือและเพิ่มมากถึง 32 ท่อยิง จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมใกล้เคียงแบบเรือฟริเกตรุ่นใหม่ ที่ตัวเองขโมยดีไซน์การออกแบบหัวเรือมาใส่ในแบบเรือเก่าได้อย่างเนียนกริบ

Project Sitron เป็นโครงการที่สนุกมากผู้เขียนอ้างอิงถึงบ่อยครั้ง เคยวาดภาพเรือฟริเกตทุกลำที่เข้าร่วมโครงการมาแล้วด้วยซ้ำ เหตุผลก็คือแต่ละบริษัทสามารถส่งแบบเรือเข้าร่วมมากกว่า 1 แบบเรือ บริษัท GFC จึงนำแบบเรือ MEKO A200 SAN ซึ่งมีความทันสมัยมากที่สุดเข้าร่วมชิงชัยอีกหนึ่งแบบเรือ (ภาพประกอบที่สาม)

เรือมีระวางขับน้ำ 3,590 ตัน ยาว 121 เมตร กว้าง 16.5 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG WARP เครื่องยนต์ดีเซล MTU 12 V1163 TB 93 จำนวน 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ Rolls Royce SM1C Spey หรือ GE LM 2500 จำนวน 1 ตัวทำงานร่วมกับระบบวอเตอร์เจ็ต ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 7,700 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต

MEKO A200 SAN กับ MEKO A200 SAN ระวางขับน้ำต่างกันเพียง 10 ตัน ทว่า MEKO A200 SAN ซึ่งเป็นแบบเรือรุ่นใหม่ล่าสุดยาวกว่า 3 เมตร กว้างกว่า 1.3 เมตร เพิ่มระบบวอเตอร์เจ็ตเข้ามาก็จริงกลับทำความเร็วสูงสุดเท่าเดิม สิ่งที่ลูกค้าได้รับเพิ่มเติมคือระยะปฏิบัติการมากขึ้น 1,000 ไมล์ทะเล

ฉะนั้นอยู่ดีๆ เราถอดระบบวอเตอร์เจ็ตออกจาก MEKO A200 ไม่ได้ ต้องปรับปรุงแบบเรือให้รองรับระบบขับเคลื่อน CODAG ซึ่งมันจะวุ่นวายมาก ส่งผลให้แบบเรือ MEKO A200 ต้องใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG WARP เท่านั้น ข้อดีก็คือระยะปฏิบัติการไกลกว่าเดิม ส่วนข้อเสียไม่มีพื้นที่ท้ายเรือสำหรับโซนาร์ลากท้ายขนาดใหญ่ เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำแท้ๆ ไม่ได้เพราะไม่มีออปชันเสริม

การพิจารณารอบสุดท้ายของ Project Sitron มีแบบเรือเข้ารอบจำนวน 5 ลำ คู่แข่งสำคัญของ MEKO ทั้งสองลำคือแบบเรือ 590B จากบริษัท Bazan ประเทศสเปน ภาพประกอบที่สี่คือผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ (นี่คือภาพที่ผู้อ่านทุกคนไม่มีวันได้เห็นจากกองทัพเรือไทย)

กองทัพเรือแอฟริกาใต้คัดเลือกผู้ชนะโครงการด้วย คะแนนประสิทธิภาพเรือบวกราคาเรือ

ภาพบนซ้ายคือผลคะแนนประสิทธิภาพเรือที่เข้าร่วมชิงชัยทั้ง 5 ลำ MEKO A200 SAN ครองอันดับหนึ่งได้คะแนน 810.5 อันดับสองคือ MEKO 200 SAN ได้คะแนน 790.0 ส่วน 590B ที่สามได้คะแนน 766.6 สังเกตนะครับว่าแบบเรือจากเยอรมันนำขาดแบบเหนือๆ แบบเรืออังกฤษกับฝรั่งเศสถูกกลุ่มผู้นำทิ้งห่างชนิดสู้กันไม่ได้

ภาพบนขวาคือราคาเรือที่ใส่เข้ามาในซองประกวด แบบเรือ 590B ราคาต่ำสุดจำนวน 4 ลำเพียง 851.9 ล้านเหรียญ MEKO 200 SAN อยู่อันดับสาม 969.2 ล้านเหรียญ ส่วน MEKO A200 SAN อยู่อันดับสี่ 979.9 ล้านเหรียญ แบบเรือจากอังกฤษอยู่อันดับสอง ส่วนแบบเรือฝรั่งเศสราคาแพงสุดทั้งที่ประสิทธิภาพย่ำแย่มากที่สุด

ภาพล่างซ้ายคือผลคะแนนรวมอย่างเป็นทางการ เมื่อนำประสิทธิภาพกับราคารวมกันแบบเรือ 590B ได้อันดับหนึ่ง MEKO A200 SAN ได้อันดับสอง และ MEKO 200 SAN ครองอันดับสาม กองทัพเรือแอฟริกาใต้ตัดสินให้บริษัท Bazan ประเทศสเปนคือผู้ชนะโครงการ บังเอิญระหว่างเจรจาประสบปัญหาเรื่องระยะเวลาส่งมอบเรือกับวิธีการชำระเงิน จึงหันมาเจรจากับอันดับสองและตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อเรือ MEKO A200 SAN จากบริษัท GFC จำนวน 3 ลำ

แบบเรือฟริเกต MEKO A200 แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการจากโครงการนี้ ปัจจุบันมียอดขายรวมกันจำนวน 10 ลำ และอาจมีการสั่งซื้อเพิ่มอีก 2 ลำในภายหลังจากกองทัพเรืออียิปต์ ข้อมูลจากโครงการ Project Sitron  แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรือฟริเกตจากเยอรมันประสิทธิภาพสูงกว่าทุกชาติ และมีราคาสูงกว่าทุกชาติยกเว้นฝรั่งเศสซึ่งไม่สันทัดเรือฟริเกตขนาดมากกว่า 3,000 ตันที่ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG

ส่วนแบบเรือ MEKO 200 รุ่นใหม่ถูกส่งเข้าร่วมชิงชัยโครงการ Project Tridente ของกองทัพเรือชิลีในปี 2000 สามารถเอาชนะคู่แข่งได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ โดยใช้แบบเรือเยอรมัน ระบบอาวุธจากอเมริกาไม่ว่าจะเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง SM-2 รวมทั้งโซนาร์ลากท้าย AN/SQR-18A

โครงการนี้ชิลีตั้งใจสร้างเรือฟริเกตด้วยตัวเองทุกลำ บังเอิญโชคร้ายรัฐบาลถังแตกในช่วงเวลาไม่เหมาะสม จำเป็นต้องยกเลิกโครงการหันมาซื้อเรือฟริเกตมือสอง Type 23 จากอังกฤษใช้งานทดแทนเรือใหม่

แบบเรือ MEKO A200 กับ MEKO 200 ขนาดใกล้เคียงกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ราคาใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับว่าถ้าลูกค้าอยากได้เรือฟริเกตอเนกประสงค์รูปทรง Stealth ตัวเอ็กส์ให้เลือก MEKO A200 ถ้าลูกค้าอยากได้เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดโซนาร์ลากท้ายตัวใหญ่ให้เลือก MEKO 200

โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูง

ระหว่างปี 2013 กองทัพเรือไทยเดินหน้าโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 2 ลำมูลค่า 30,000 ล้านบาท เพราะเป็นการจัดหาเรือฟริเกตติดอาวุธค่ายตะวันตกล้วนครั้งแรกในรอบหลายสิบปี จึงมีบริษัทเอกชนจำนวนพอสมควรส่งแบบเรือเข้าร่วมชัย หนึ่งในนั้นก็คือบริษัท ThyssenKrupp Marine Systems หรือ TKMS จากประเทศเยอรมัน ซึ่งส่งแบบเรือฟริเกต MEKO 200 RTN ติดระบบอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการลูกค้า

ภาพประกอบที่ห้าคือแบบเรือที่คาดว่าบริษัท TKMS นำเสนอต่อกองทัพเรือไทย ใช้แบบเรือ MEKO 200 SAN กองทัพเรือแอฟริกาใต้มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับราชนาวีไทย เรือมีระวางขับน้ำ 3,580 ตัน ยาว 118 เมตร กว้าง 15.2 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG เครื่องยนต์ดีเซล 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์อีก 1 ตัว หัวเรือยกสูงกว่าแบบเรือ MEKO 200 ต้นฉบับค่อนข้างมาก กว้านสมอเรือและจุดผูกเชือกหัวเรือย้ายลงอยู่ใต้ดาดฟ้าเรือ เป็นการหยิบยืมดีไซน์แบบเรือ MEKO A200 ซึ่งทันสมัยกว่ามาใช้งานได้อย่างเหมาะสม

ท้ายเรือใช้รูปทรงเดิมและสูงกว่าเดิมเล็กน้อย ปิดช่องว่างทั้งหมดมีจุดจุดผูกเชือกท้ายเรือใต้ดาดฟ้า เพราะใช้บั้นท้ายเรือทรงแหลมฉะนั้นจุดติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS (Active Towed Array Sonar) ถ้าไม่อยู่กราบซ้ายก็กราบขวา Superstructure ทั้งลำพยายามปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น การตรวจจับด้วยคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ทำได้ยากขึ้น ทว่าสู้แบบเรือ Stealth ที่แท้จริงรุ่นใหม่อาทิเช่น MEKO A200 ไม่ได้อยู่ดี

หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ถัดมาคือแท่นยิงแนวดิ่ง Mk46 จำนวน 8 ท่อยิง สำหรับ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ขนาบข้างด้วยแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโด ติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีข้างเสากระโดงหลัก กลางเรือติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 ท่อยิง หลังปล่องระบายความร้อนคือปืนกลอัตโนมัติ DS-3OMR จำนวน 2 กระบอก ต่อด้วยระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน ช่องว่างสองกราบเรือติดตั้งสะพานขึ้นเรือกับแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk54 (นี่คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรือฟริเกต MEKO 200 ทุกลำ)

เรือใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV Mk4 เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะกลาง Sea Giraffe AMB เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะกลาง Sea Giraffe 4A เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS200 จำนวน 2 ตัว ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง EOS500 อีก 1 ตัว ที่ผู้เขียนเขียนถึงทั้งหมดยกแผงมาจากบริษัท SAAB ใช้ระบบดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ ES-3601 ติดตั้งโซนาร์หัวเรือ DSDQ-24 กับโซนาร์ลากท้าย ACTAS จากบริษัท Atlas Electronics ประเทศเยอรมัน

ความสวยงามแล้วแต่สายตาผู้เขียนยัดเยียดไม่ได้ ทว่าประสิทธิภาพแบบเรือ MEKO 200 RTN ไม่เป็นรองใครอย่างแน่นอน ปัญหาสำคัญก็คือบริษัท TKMS กดราคาต่ำกว่าลำละ 15,000 ล้านบาทไม่ไหว การแข่งขันในรอบชิงจึงเป็นการดวลกันระหว่างแบบเรือสเปนกับแบบเรือเกาหลีใต้ จนกระทั่งได้ผู้ชนะเลิศจากแดนกิมจิกลายเป็นเรือหลวงภูมิพลดุลยเดช FFG-471 ในปัจจุบัน

บังเอิญกองทัพเรือปรับขนาดโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงเหลือเพียงลำเดียว แล้วหันมาขึ้นโครงการเรือดำน้ำกับเรือพี่เลี้ยงมูลค่ารวมมากกว่า 45,000 ล้านบาท ส่งผลให้กองเรือฟริเกตที่ 1 พิกลพิการรับมือภัยคุกคามทางอากาศ ผิวน้ำ และโดยเฉพาะใต้น้ำได้อย่างยากลำบาก

ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนไม่ชอบเรือที่มีสะพานเดินเรือสูงๆ ฉะนั้น MEKO 200 RTN จึงเข้าทางปืนโดยไม่ต้องคิดมาก แท่นยิงแนวดิ่ง 32 ท่อยิงเป็นจุดแข็งเสริมสร้างประสิทธิภาพเรือให้สูงกว่าเดิม รวมทั้งแบบเรือ MEKO 200 รุ่นดั้งเดิมซึ่งขายได้รวมกันมากถึง 25 ลำคือสิ่งรับประกันคุณภาพเรือลำนี้

โอกาสแรกของแบบเรือ MEKO กับราชนาวีไทยผ่านพ้นไปเสียแล้ว

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่สาม

          ต้นปี 2017 หรือ 2560 มีการเผยแพร่ข้อมูลได้รับอนุญาตจากบริษัท มาร์ซัน จำกัดดังนี้

ในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 0900-1200 บริษัทมาร์ซันจำกัด และ บริษัท Thyssen Krupp Marine System ได้เข้ามาบรรยายเทคโนโลยีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (Offshore Patrol Vessel : OPV) ให้กับนายทหารสัญญาบัตร ในกองเรือตรวจอ่าวรับฟัง โดยได้นำเสนอแบบเรือ MEKO A100 OPV ด้วยการนำแนวความคิด Mission Module Concept แบบ FLEX มาอยู่ในกรอบแนวความคิดในการออกแบบด้วย

สำหรับ Mission Module Concept แบบ FLEX สำหรับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง แบบ MEKO A100 นั้น ออกแบบให้รองรับการปฏิบัติการในสาขา ASUW (Anti Surface Warfare), AAW (Anti Air Warfare), ASW (Anti Submarine Warfare), Special Operation และ Mine Countermeasure โดยสามารถเลือกนำ Module ต่างๆ มาเปลี่ยนเพื่อรองรับการปฏิบัติการทางเรือตามสาขาได้ นอกจากนั้น MEKO A100 OPV ยังออกแบบให้รองรับการ Upgrade เป็นเรือ Corvette ได้อีกด้วย หากมีความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในปฏิบัติการทางเรือให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทัพเรืออยู่ระหว่างการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ตามแบบ ร.ล.กระบี่ (ลำที่ 2) โดยได้จ้าง บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด ในการจัดส่งแบบเรือและพัสดุให้กับ ทร.โดยในส่วนของการต่อเรือนั้น ทร. โดย กรมอู่ทหารเรือ (อู่ทหารเรือมหิดลอดุลยเดช อรม.) เป็นผู้ดำเนินการต่อเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ปัจจุบัน เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) ของกองทัพเรือ มีประจำการแล้วทั้งสิ้น 3 ลำ ได้แก่ ร.ล.ปัตตานี ร.ล.นราธิวาส และ ร.ล.กระบี่ และอยู่ระหว่างการต่ออีก 1 ลำ คือ ร.ล.ตรัง โดย ทร.มีความต้องการ เรือ OPV เป็นจำนวน 6 ลำ

          ระหว่างการบรรยายบริษัทมาร์ซันได้นำเสนอแบบเรือ MEKO A100 OPV จากภาพประกอบที่หกเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งตระกูล MEKO สร้างเรือจำลองทดสอบแล่นในถังเรียบร้อยแล้ว ออกแบบด้านพื้นฐานทางวิศวกรรมเบื้องต้นแล้ว ออกแบบรายละเอียดต่างๆ ภายในตัวเรือแล้ว อีกไม่นานแบบเรือที่เสร็จสมบูรณ์จะพร้อมใช้งาน

          ช่วงนั้นอย่างที่ทราบกันดีราชนาวีไทยอยากสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเพิ่มเติม และเนื่องมาจากแบบเรือ River Batch 2 ซึ่งถูกปรับปรุงเป็นเรือหลวงกระบี่กับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ไม่อาจเติมเต็มความต้องการทั้งหมดโดยเฉพาะเรื่องโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ส่งผลให้กองทัพเรือไม่สร้างเรือลำที่ 3 แต่หันมามองแบบเรือรุ่นอื่น บริษัทมาร์ซันกับ TKMS จึงเสนอแบบเรือ MEKO A100 OPV ให้กองทัพเรือพิจารณา

          ผู้เขียนพยายามค้นหาข้อมูลแบบเรือ MEKO A100 OPV โชคร้ายไม่ได้ความ ข้อมูลในปัจจุบันมีเพียงเรือคอร์เวตกับเรือฟริเกตเบาซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าติดอาวุธมากกว่า เจอแค่เพียงข้อมูลเรือตรวจการณ์ MEKO OPV ในปี 2012 มีรายละเอียดตามนี้

เรือมีระวางขับน้ำ 1,820 ตัน ยาว 87.3 เมตร กว้าง 13.9 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU 12V 1163 TB93 จำนวน 2 ตัว ใช้ลูกเรือ 78 นาย แบบเรือลำนี้อิสราเอลซื้อไปปรับปรุงใช้งานเป็นเรือคอร์เวตชั้น Saar 6 จำนวน 4 ลำ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนผู้เขียนมั่นใจว่าไม่ใช่ น่าจะเป็นแบบเรือ MEKO 80 OPV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ากัน

จนถึงปัจจุบันปริศนาแบบเรือ MEKO A100 OPV ยังไม่ผู้ใดเฉลยคำตอบ

จนถึงปัจจุบันโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่สามยังถูกดองเค็ม

โอกาสที่สองของแบบเรือ MEKO กับราชนาวีไทยผ่านพ้นไปเช่นเดียวกัน

โครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำ

          ระหว่างเดือนตุลาคม 2023 กองทัพเรือไทยเผยแพร่สมุดปกขาวหรือ ‘Royal Thai Navy White Paper 2023’ ข้อมูลส่วนหนึ่งระบุความต้องการจัดหาเรือเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำมูลค่า 80,400 ล้านบาท มุ่งเน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศมากยิ่งขึ้น ข้อมูลตรงนี้เองทำให้คนจำนวนมากตีความว่าเรือฟริเกตทั้ง 4 ลำต้องสร้างเองในประเทศ ทั้งที่กองทัพเรือระบุแค่เพียงอาจมีการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งและเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ภายในประเทศในอนาคตเท่านั้น

          ผู้เขียนอ่านหลายรอบแล้ว ไม่มีบรรทัดไหนเขียนว่า ต้องการจัดหาเรือฟริเกตภายในประเทศ มีแค่คำว่า มุ่งเน้น เพียงประโยคเดียว รบกวนผู้อ่านโหลดสมุดปกขาวกองทัพเรือปี 2023 มาตรวจสอบด้วยตัวเอง

ฉะนั้นถ้ากองเรือได้งบประมาณและสั่งซื้อเรือฟริเกตจากต่างประเทศ 4 ลำรวด กองทัพเรือไม่ผิดนะครับ

เข้าใจชัดเจนแล้วมาต่อกันที่งานจัดแสดงอาวุธ Defense and Security 2023

บริษัทมาร์ซันจำกัดร่วมมือกับบริษัท ThyssenKrupp Marine Systems หรือ TKMS ประเทศเยอรมันเสนอแบบเรือ MEKO A100 ให้กับกองทัพเรือไทย (ตามภาพประกอบที่เจ็ด) เรือมีระวางขับน้ำประมาณ 3,500 ตัน ยาว 107.2 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.2 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 25.5 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 5,000 ไมล์ทะเล นี่เป็นข้อมูลจากเรือฟริเกต MEKO A100 กองทัพเรือบราซิลซึ่งมีการสร้างจริงแล้วจำนวน 2 ลำจาก 4 ลำ

ผู้เขียนไม่มีโอกาสไปงาน Defense and Security 2023 ไม่มีโอกาสเห็นโบร์ชัวร์ที่บริษัทมาร์ซันนำมาแจกให้กับผู้ร่วมงาน ใครมีของจริงส่งให้ผู้ด้อยโอกาสเอ๊ยผู้เขียนหลังไมค์ได้นะครับ

แบบเรือป้อมๆ กลมๆ ค่อนข้างสั้นและกว้างตามสมัยนิยม กว้านสมอเรือและจุดผูกเชือกหัวเรืออยู่บนดาดฟ้าเรือตามปรกติ รูปทรง Stealth ตัวเอ็กส์จากแบบเรือ MEKO A100 โปแลนด์ถูกเททิ้งเสียแล้ว การลดการตรวจจับด้วยคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ย่อมน้อยกว่าเรือคอร์เวตโปแลนด์ตามเทคโนโลยี ทว่ารูปทรงธรรมดาๆ ทำให้การสร้างเรือง่ายกว่าเดิม น้ำหนักเบากว่าเดิมนิดหน่อย และพลอยทำให้ราคาถูกลงกว่าเดิมไม่มากก็น้อย

โมเดลเรือ MEKO A100 ที่นำมาจัดแสดงติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง Mk41 จำนวน 16 ท่อยิง ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AESA Hensoldt TRS-4D ระยะตรวจจับ 250 กิโลเมตร ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM จำนวน 8 ท่อยิง และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด RAM ขนาด 21 ท่อยิง มีความแตกต่างจากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำแรกจำนวนหลายจุด ผู้เขียนจึงทำภาพประกอบที่แปดขึ้นมาเพื่อให้มองเห็นภาพรวมหลังการปรับปรุงอย่างชัดเจน

นี่คือแบบเรือฟริเกต MEKO A100 RTN ซึ่งมีความใกล้เคียงเรือจริงมากที่สุด เรือลำบนติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์เหมือนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชทั้งหมด ส่วนเรือลำล่างเปลี่ยนมาใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM ทดแทน Harpoon กับระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Milliennium Gun ทดแทน Phalanx

เลือกลำที่รัก-เลือกบั๊กที่ใช่กันได้อย่างเต็มที่

ส่วนตัวผู้เขียนชอบลำล่างมากกว่าแต่ถ้าได้ลำบนก็ไม่เดือดร้อนอะไร

ปัญหาของ MEKO A100 RTN

          ก่อนบริษัทมาร์ซันกับ TKMS จะได้รับสัญญาสร้างเรือฟริเกตมูลค่า 80,000 ล้าน (ถ้ามีการขึ้นโครงการจริงนะครับ ซึ่งผู้เขียนไม่รู้เหมือนกันกองทัพเรือจะหางบประมาณได้จากที่ไหน) มีปัญหาใหญ่จำนวน 2 เรื่องที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยเสียก่อน

1.ระบบขับเคลื่อน

          MEKO A100 ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 4 ตัว แต่เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG เครื่องยนต์ดีเซล 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์อีก 1 ตัว ถ้าเป็นจริงตามนี้เท่ากับว่า MEKO A100 ใช้ระบบขับเคลื่อนไม่ตรงตามความต้องการ

          ไม่ตรงก็ไม่ตรงสิข้าพเจ้าจะเอาสักอย่างใครจะทำไม?

          ปัญหาเรื่องนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเรือคอร์เวตกองทัพแอฟริกาใต้อีกครั้ง

โครงการ Project Sitron กำหนดให้เรือคอร์เวตต้องติดตั้งเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ด้วย ฉะนั้นแบบเรือส่วนใหญ่ในรอบแรกจึงใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG บังเอิญแบบเรือ La Fayette จากฝรั่งเศสซึ่งเสนอระบบขับเคลื่อนถึง 3 แบบได้คะแนนย่ำแย่อันดับสุดท้าย ในรอบชิงพวกเขาจึงเปลี่ยนมานำเสนอแบบเรือ Patrol Corvette ซึ่งใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG และมีขนาดใหญ่โตกว่าเดิม โดยพ่วงแบบเรือ La Fayette ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOD เข้ามาอีกลำเป็นทางเลือกเพิ่มเติมของคนรุ่นใหม่

ในรอบชิงบริษัทอิตาลีลักไก่เสนอแบบเรือ F3000 ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOD อีกหนึ่งลำ

ก่อนการพิจารณาจริงแบบเรือ La Fayette CODOD กับ F3000 CODOD ถูกตัดสิทธิ์เพราะใช้ระบบขับเคลื่อนไม่ตรงตามความต้องการ ทำความเร็วสูงสุดตามความต้องการไม่ได้ รวมทั้งฝรั่งเศสเสนอขายเรือ La Fayette แค่เพียง 3 ลำ ทั้งสองลำถูกคัดออกตั้งแต่เปิดซองเพราะกรรมการคัดเลือกแบบเรือทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

เท่ากับว่าถ้า MEKO A100 ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD แต่กองทัพเรือไทยต้องการระบบขับเคลื่อน CODAG โอกาสที่สามของแบบเรือ MEKO กับราชนาวีไทยจะหายไปทันที

2.การติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS (Active Towed Array Sonar)

ท้ายเรือ MEKO A100 มีพื้นที่อเนกประสงค์ขนาดค่อนข้างใหญ่ รองรับตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 4 ตู้ กับเรือยางท้องแข็งหรือยานผิวน้ำไร้คนขับขนาด 11 เมตรอีก 1 ลำ ไม่มีที่ว่างสำหรับติดตั้งโซนาร์ขนาดใหญ่เหมือนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ วิธีแก้ไขแบบง่ายๆ มีด้วยกันสองวิธีประกอบไปด้วย

2.1 ใช้งานโซนาร์ลากท้าย ACTAS รุ่น Mission Module เหมือนเรือฟริเกต F126 กองทัพเรือเยอรมัน

เวลาใช้งานให้นำตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ตู้มาติดตั้งกราบเรือฝั่งไหนก็ได้ เลิกใช้งานก็ถอดตู้ออกมาจัดเก็บในคลังแสงกองเรือยุทธการ ปัญหาก็คือเจ้าหน้าที่บนเรือต้องเรียนรู้การใช้งาน Mission Module ให้เข้มข้นมากๆ หน่อย รวมทั้งการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ต้องไม่เกิดปัญหาแม้เพียงน้อยนิด ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงเวลาใช้งานแล้วบังเอิญแขนกลไม่ทำงาน ส่งตัวโซนาร์ออกไปไม่ได้งานนี้แหละได้ตายทั้งกองเรือ

2.2 ติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS เป็นการถาวรบริเวณกราบซ้ายหรือกราบขวาของเรือ

ปัญหาก็คือความอเนกประสงค์หายไปทันทีครึ่งหนึ่ง สามารถติดตั้งคอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตเพิ่มได้เพียง 2 ตู้ ภารกิจเสริมกวาดทุ่นระเบิดอาจไม่มีปัญหาอะไร แต่ภารกิจเสริมวางทุ่นระเบิดจะลดจำนวนลงมากถึงครึ่งหนึ่ง ถ้าเลือกติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS บริเวณกลางเรือแทนที่เรือยางท้องแข็งขนาด 11 เมตร ก็ทำให้เรือเหลือเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตรเพียงลำเดียวที่กราบขวา ภารกิจเสริมต่างๆ จะทำได้อย่างลำบากลำบน เท่ากับว่าไม่สมควรวางโซนาร์ลากท้าย ACTAS ไว้ที่กลางเรือ

ไม่ว่า MEKO A100 RTN จะมาจริงและได้รับคัดเลือกจริงหรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนต้องขอชื่นชมบริษัทมาร์ซันกับ TKMS ที่นำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับราชนาวีไทยเป็นรายแรก หวังใจว่าจะมีบริษัทอื่นส่งแบบเรือเข้าร่วมชิงชัยจำนวนมากที่สุด เราจะได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นและสามารถคัดเลือกแบบเรือที่เหมาะสมกับความต้องการ

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

https://web.facebook.com/photo/?fbid=652069043747623&set=pcb.652069173747610

https://thaimilitary.blogspot.com/2015/05/south-african-corvette-program.html

http://www.navy.mil.za/

http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=13&t=5899&sid=b24c0f394d98103a8999f057a34b2e9a

https://web.facebook.com/NavyForLifePage/photos/a.535101473194418/1262131107158114/?type=3&_rdc=1&_rdr