วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

Royal Thai Navy Anti-Submarine Weapon Part IV : Sonar System


ความเดิมตอนที่แล้ว

หน้าจอระบบโซนาร์บนเรือพิฆาตอาวุธนำวิถี USS The Sullivans (DDG 68) ประเทศอเมริกา แสดงภาพสีเขียวเป็นเส้นยึกยือมองยังไงก็ไม่เข้าใจ จึงมั่นใจได้เลยว่าคุณมาถูกห้องแล้ว

อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 4 ระบบโซนาร์
โซนาร์ Sonar : Sound navigation and ranging เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจจับวัตถุใต้น้ำ มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกับระบบเรดาร์ โดยที่เรดาร์ใช้ชั้นบรรยากาศแอทโมสเฟียร์ เป็นตัวกลางสำหรับทางเดินทางของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ส่วนโซนาร์ใช้น้ำทะเลเป็นตัวกลาง สำหรับการแพร่พลังงานเสียงความถี่สุงเกินกว่ามนุษย์ได้ยิน
พลังงานเสียงหรือคลื่นเสียงที่แพร่ออกไป จะมีความถี่อยู่ที่ประมาณ 50,000 รอบต่อวินาที เมื่อกระทบกับวัตถุที่อยู่ในทะเล อาทิเช่น ปลาโลมา เรือดำน้ำ หรือพื้นทะเลเข้า จะสะท้อนข้อมูลกลับมายังเครื่องรับบนเรือ เครื่องรับจะวัดช่วงเวลาที่เสียงเดินทางไปกลับ เพื่อคำนวณหาระยะทางของวัตถุอีกทอดหนึ่ง โดยทั่วไปสามารถแบ่งโซนาร์ออกเป็น 2 ชนิด ตามลักษณะของการแพร่คลื่นเสียง ได้แก่
1. โซนาร์แบบส่อง (Search Light Sonar) : ใช้การแพร่คลื่นเสียงออกไปเป็นมุมจำกัด คล้ายคลึงกับการฉายไฟฉายนั่นแหละครับ นิยมใช้ในเรือดำน้ำเพื่อค้นหาตำแหน่งของเรือผิวน้ำ รวมทั้งเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม ส่วนเรือผิวน้ำที่ยังคงใช้งานจะเป็นรุ่นเก่าราคาถูก โซนาร์ประเภทนี้ต้องติดตั้งบริเวณหัวเรือ เพื่อให้ห่างจากเสียงใบจักรเรือตนเองรบกวน
2. โซนาร์แบบกราด (Scanning Sonar) : ใช้การแพร่คลื่นเสียงออกไปรอบตัวเป็นรูปวงแหวน ด้วยกำลังส่งเท่ากันทุกทิศทาง นิยมใช้กับเรือผิวน้ำ นิยมติดตั้งบริเวณหัวเรือหรือใกล้เคียง (รวมทั้งบริเวณกลางเรือและท้ายเรือ ในลักษณะหย่อนชักหรือลากท้าย) ส่วนเรือประมงจะติดโซนาร์หาปลาไว้บนท้ายเรือ เมื่อใช้งานจึงหย่อนเครื่องส่งสัญญาณลงไปในทะเล
ระบบโซนาร์มีใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งกับเรือเดินสมุทร เรือสำรวจ เรือขนส่ง เรือสำราญ รวมทั้งเรือหาปลาน้อยใหญ่ ปัจจุบันมีโซน่าหาปลารุ่นพกพาระบบ Wireless ควบคุมแบบไร้สายได้ไกลสุดถึง 40 เมตร อุปกรณ์ควบคุมขนาดเทียบเท่าโทรศัพท์มือถือ ส่วนเครื่องโซนาร์เล็กกว่ากันครึ่งหนึ่ง เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับนักตกปลาเวอร์ชั่น 4.0
โซน่าหาปลา แบบ Wireless (Wireless Fish Finder FFW 1108-11) ใช้ถ่านก้อน AAA หน้าจอ LCD พร้อมไฟส่องสว่าง ผ่านการใช้งานเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น ราคา 1700 บาท รวมส่ง EMS
กลับมาสู่บทความอาวุธปราบเรือดำน้ำราชนาวีไทย ระบบโซนาร์ถูกใช้ในภารกิจต่อต้านเรือดำน้ำ เพื่อทำการค้นหาและตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำ รวมทั้งติดตามร่องรอยในบริเวณพื้นที่สุ่มเสี่ยง ก่อนเป้าหมายจะสร้างอันตรายให้กับเรือฝ่ายเรา สามารถแบ่งระบบโซนาร์จากโหมดการค้นหาออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
1. Passive Sonar สำหรับการค้นหาในโหมดพาสซีพ (Passive) คือการดักรับเสียงใต้น้ำย่านความถี่ต่ำ ได้แก่ เสียงจากใบจักร เครื่องจักร รวมทั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำฝ่ายตรงข้าม ยกตัวอย่างจากภาพยนต์สงคราม ที่มีเจ้าหน้าที่สวมหูฟังนั่งทำหน้าปวดท้องหนัก แล้วตะโกนให้ทุกคนบนเรือได้ยินว่า
มีเสียงใบจักรทำงานครับกัปตันเรือพิฆาตกำลังเลี้ยวขวามีเสียงของหนักตกลงสู่ท้องทะเลจำนวนเยอะมากจนผมนับไม่ทันมันมาแล้ว มาแล้ว ทุกคนระวัง…!!” อะไรประมาณนี้
2. Active Sonar สำหรับการค้นหาในโหมดแอคทีฟซีพ (Active) ระบบโซนาร์จะแพร่คลื่นเสียงออกไปในทะเล เมื่อคลื่นเสียงกระทบวัตถุที่เป็นของแข็ง เสียงจะสะท้อนกลับมายังเรือติดตั้งโซนาร์อีกที คล้ายคลึงกับการใช้คำสั่งปิง (Ping) บนเครื่องคอมพิวเตอร์ โซนาร์จะทำการปิงเพื่อแพร่คลื่นเสียงออกไปติดต่อกัน ยกตัวอย่างจากภาพยนต์สงคราม ที่มีเจ้าหน้าที่นั่งอมทุกข์เฝ้ามองหน้าจอสีเขียว แล้วก็มีเสียงดัง ปิ๊ง………ปิ๊ง……ปิ๊งปิ๊ง ปิ๊งๆๆๆๆ ตลอดเวลาประมาณนี้
Passive Sonar จะให้แค่เพียงข้อมูลทางแบริ่ง (Bearing) ส่วน Active Sonar จะได้ทั้งแบริ่งและพิกัดระยะ (Range) จึงค้นหาตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ทว่าอีกฝ่ายก็อาจค้นหาเราได้จากคลื่น Active Sonar เช่นกัน
เจ้าหน้าที่ไทยกำลังทดสอบใช้งานระบบโซนาร์บนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ USS CURTS (FFG 38) ประเทศอเมริกา ระหว่างการฝึกร่วม CARAT Exercise 2001 โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำเรือคอยให้คำแนะนำ
ระบบโซนาร์กองทัพเรือไทยยุคเริ่มต้น
ปี 1916 ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฝ่ายสัมพันธมิตรนำโดยอังกฤษและอเมริกา ได้คิดค้นระบบตรวจจับเรือดำน้ำขึ้นมาสำเร็จ โดยใช้ชื่อเรียกว่า ASDIC (Anti-Submarine Detection and Identification Commission) ซึ่งเป็นชื่อย่อของคณะกรรมการค้นคว้าการปราบเรือดำน้ำ นับเป็น Active Sonar รุ่นแรกสุดของโลก แม้จะมีระยะทำการแค่เพียง 1 ไมล์ทะเล แต่ทำให้การรับมือเรืออูของเยอรมันดีกว่าเดิม ภารกิจปราบเรือดำน้ำประสบความสำเร็จมากขึ้น
ปี 1947 กองทัพเรือไทยซื้อเรือคอร์เวตชั้น Flower มือสามจำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) เรือชั้นนี้ออกแบบมาเพื่อปราบเรือดำน้ำเป็นภารกิจหลัก ทั้งยังเป็นรุ่นใหม่ที่ปรับปรุงให้ทันสมัยมากกว่าเดิม เป็นเรือลำของไทยที่ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog เป็นเรือลำแรกของไทยที่ติดตั้งระบบเรดาร์ตรวจการณ์และชี้เป้า Type 271 ซึ่งสามารถตรวจจับเรือดำน้ำเยอรมัน (ขณะลอยลำ) ได้ไกลถึง 2,500 เมตร หรือตรวจจับกล้องเพอริสโคปได้ไกลถึง 900 เมตร 
และยังเป็นเรือลำแรกของราชนาวีไทย ที่มีการติดตั้งระบบโซนาร์ค้นหาและโจมตีรุ่น Type 144 ซึ่งเป็นระบบโซนาร์แบบ Retractable (สามารถหดเข้ามาเก็บใต้ท้องเรือได้) มีระยะตรวจจับไกลสุด 2,500 หลา หรือ 2,286 เมตร พัฒนาต่อจากโซนาร์รุ่น Type 123 ซึ่งติดตั้งบนเรือชั้น Flower รุ่นแรก ๆ เป็นโซนาร์แบบส่องหรือ Search Light Sonar ทำงานด้วยความถี่สุงและมีกำลังส่งต่ำ โดยจะส่งคลื่นเสียงออกไปเป็นบีมแคบเพียงบีมเดียว (ขอให้คิดถึงแสงไฟเรียกแบทแมนในรัตติกาลเข้าไว้) เป็นระบบ ASDIC ที่มีการพัฒนาปรับปรุงจนดีกว่าเดิม ทว่าการค้นหาเป้าก็ยังต้องใช้เวลาพอสมควร
เรื่องน่าเศร้าประการหนึ่งที่ต้องเขียนไว้ในบทความ เรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำจากอังกฤษทั้งสองลำ ถูกขายมาให้ในสภาพไม่ค่อยสมบรูณ์นัก ทั้งยังขาดการซ่อมบำรุงที่ดีจากเจ้าของใหม่ด้วย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัยจึงได้รับผลกระทบ เรือหลวงบางปะกง (ลำที่หนึ่ง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่หนึ่ง) เข้าร่วมทำสงครามเกาหลีระหว่างปี 1950 ถึง 1951 ระหว่างการปฎิบัติภารกิจ 2 ปีเต็ม ระบบเรดาร์ Type 271 ทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือบางช่วงเวลาก็ทำงานไม่ได้เลย จึงคาดการณ์ได้ว่าระบบโซนาร์ Type 144 ก็คงประสบปัญหาเช่นเดียวกัน
แผงควบคุมระบบ ASDIC กองทัพเรือออสเตรเลีย การใช้งานต้องสวมหูฟังแบบในภาพด้านขวามือ สี่เหลี่ยมสีเหลืองคือ Gear ASDIC ในโดมโซนาร์รุ่นแรก ใช้งานในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง


เรือตรวจการณ์ PCT-1 ความยาว 70 ฟุตของอเมริกา ติดตั้งระบบ ASDIC รุ่นเล็กกลางเรือ เครื่องยิงระเบิดลึก Y-gun 2 ระบบจำนวน 4 ลูก (ติดตั้งเพิ่มได้อีก 4 ลูก) และรางระเบิดลึก Mark 4 บรรจุระเบิดลึกขนาด 136 กก.ได้จำนวน 4 ลูก เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำ
ระบบโซนาร์จากอเมริกา
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด คณะกรรมการค้นคว้าการปราบเรือดำน้ำแยกย้ายบ้านใครบ้านมัน อังกฤษพยายามพัฒนาระบบตรวจจับใต้น้ำให้ดียิ่งขึ้น ทว่าติดขัดเรื่องงบประมาณจึงไม่ค่อยรุดหน้า ส่วนอเมริกาได้ก่อตั้ง University of California Division of War Reserch (UCDWR) ขึ้นมา สถาบันแห่งนี้ได้ช่วยพัฒนาระบบตรวจจับใต้น้ำรุ่นใหม่ โดยใช้ชื่อเรียกว่า Sonar หรือ Sound navigation and ranging ผมงานชิ้นแรกสุดก็คือระบบโซนาร์ QA ในปี 1933 ทำงานย่านความถี่15 ถึง 20 kHz โดยใช้เทคโนโลยี Transducer สำหรับการเปลี่ยนกำลังไฟฟ้าเป็นคลื่นเสียง ตามติดมาด้วยระบบโซนาร์ตระกูล QB และ QC ซึ่งได้ติดตั้งบนเรือรบอเมริกาจำนวนมากกว่า 800 ลำ (โซนาร์ QA ทดสอบติดตั้งบนเรือพิฆาตจำนวน 8 ลำ) ส่วนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำและเรือขนาดเล็กกว่า ซึ่งหลังสงครามโลกยังคงเหลืออยู่จำนวน 1,204 ลำนั้น มากกว่า 80 เปอร์เซนต์ยังคงใช้ระบบ ASDIC รุ่นเล็กในการตรวจจับเรือดำน้ำ เพราะมีขนาดกระทัดรัดพอดีกับขนาดเรือ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แนวคิดระบบโซนาร์ของเมริกาและอังกฤษค่อนข้างแตกต่าง อเมริกาพัฒนาโซนาร์แบบกราด หรือ Scanning Sonar ค้นหาได้รอบตัวโดยการส่งคลื่นโซนาร์เพียงครั้งเดียว ส่วนอังกฤษยังคงยึดมั่นระบบโซนาร์แบบส่อง ด้วยแนวความคิดที่ว่า การส่งคลื่นโซนาร์ออกไปเพียงบีมเดียวย่อมมีกำลังส่งสูงกว่า จึงมีโอกาสจับเป้าได้มากกว่าและไกลกว่า โดยปรับปรุงให้ส่งได้ถึง 5 ถึง 9 บีมติดต่อกัน เพื่อช่วยลดเวลาในการค้นหาเป้าหมาย
กระทั่งปี 1958 ข้อจำกัดแนวคิดทั้งสองได้สิ้นสุดลง เมื่อมีการพัฒนาวิธีส่งคลื่นแบบ RDT หรือ Rotating Directional Transmission ด้วยการรวมข้อดีทั้งสองระบบไว้ด้วยกัน โดยการส่งคลื่นเป็นบีมแคบติดต่อกันกระทั่งรอบตัว ทำให้มีกำลังส่งสุงค้นหาได้รอบตัว ปลายปี 1958 อเมริกาพัฒนาระบบโซนาร์ระยะไกล AN/SQS - 23 โดยใช้ระบบ RDT มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 40,000 หลา หรือ 36.57 กิโลเมตร ทำงานย่านถี่ตํ่าแค่ 4.5 ถึง 5.5 KHz กำลังส่งสูงกว่าโซนาร์รุ่นเก่าเกือบ100 เท่า
ปี 1947 อเมริกาโอนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 จำนวน 3 ลำให้กองทัพเรือไทย ในเวลาต่อมาเราได้จัดหาเพิ่มจำนวน 5 ลำ รวมทั้งหมดจำนวน 8 ลำด้วยกัน เรือชั้น PC-461 ติดตั้งระบบค้นหาเรือดำน้ำครบทุกลำ (ส่วนใหญ่เป็น ASDIC Type 119 ซึ่งลดย่านความถี่เหลือเพียง 14 ถึง 22 KHz) เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลว่าอเมริกาถอดระบบออกก่อนส่งมอบให้ไทย จึงขอนับว่าเป็นเรือลำแรกที่ติดตั้งระบบโซนาร์จากอเมริกา
 ปี 1951 กองทัพเรือไทยเข้าประจำการเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงท่าจีน (ลำที่สอง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่สอง) ติดตั้งระบบโซนาร์ QBF ปี และในปี 1959 กองทัพเรือไทยเข้าประจำการเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Cannon จำนวน 1 ลำ ได้แก่ เรือหลวงปิ่นเกล้า ติดตั้งระบบโซนาร์ QCJ ต่อได้มีการติดตั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-17B ทดแทนระบบโซนาร์ QBF รวมทั้งบนเรือชั้น PC-461 บางลำ และติดตั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-11 ทดแทนระบบโซนาร์ QCJ เพิ่อรองรับการใช้งานติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำรุ่น Mark 44 Mod 1 นั่นเอง
                ภาพถ่ายเรือหลวงปิ่นเกล้าในปี 1969 เป็นเรือลำแรกและลำเดียวของราชนาวีไทยที่ติดตั้งระบบโซนาร์ QCJ
ปี 1971 และ 1973 กองทัพเรือไทยเข้าประจำการเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น PF-103 จำนวน 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงตาปี และเรือหลวงคีรีรัฐ ติดตั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-17B ทำงานร่วมกับตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำรุ่น Mark 44 Mod 1 เป็นเรือรบใหม่เอี่ยมลำแรกของไทยที่สร้างโดยอเมริกา ใช้งบประมาณกองทัพเรือและงบช่วยเหลือทางทหารอเมริกา
ปี 1973 กองทัพเรือไทยเข้าประจำการเรือฟริเกตอีก 1 ลำ ได้แก่ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร สร้างโดยอู่ต่อเรือยาร์โรว์ประเทศอังกฤษ ติดตั้งระบบโซนาร์ค้นหาและโจมตี Plessey PMS-26 ทำงานร่วมกับเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Limbo ที่กล่าวทั้งหมดคือระบบโซนาร์กองทัพเรือไทยยุคเริ่มต้น ซึ่งได้ปลดประจำการหรือใช้งานไม่ได้แล้ว ช่วงเวลาหลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ เมื่อกองทัพเรือมีแนวคิดระบบโซนาร์รุ่นมาตราฐาน ติดตั้งบนเรือทุกลำที่ใช้ทำภารกิจปราบเรือดำน้ำ ยกเว้นเรือที่ต่อจากประเทศจีนจำนวน 6 ลำ ด้วยเหตุผลเรื่องงบประมาณและความเข้ากันไม่ได้
ระบบโซนาร์กองทัพเรือไทยยุคปัจจุบัน
ระหว่างปี 1984 กองทัพเรือไทยปรับปรุงใหญ่เรือหลวงตาปีและเรือหลวงคีรีรัฐ หนึ่งในนั้นคือการติดตั้งระบบโซนาร์ DSQS-21C ทดแทนระบบโซนาร์ AN/SQS-17B ปีถัดไปถึงคิวของเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ซึ่งเกิดอุบัติเหตุไฟใหม้ห้องเครื่องยนต์จนต้องซ่อมใหญ่ รวมทั้งติดตั้งระบบโซนาร์ DSQS-21C ทดแทนระบบโซนาร์ Plessey PMS-26 และนี่ก็คือปฐมบทระบบโซนาร์กองทัพเรือไทยยุคปัจจุบัน
การใช้งานระบบโซนาร์นั้น ไม่แตกต่างไปจากราชนาวีทั่วโลก โดยใช้สำหรับภารกิจสำรวจและค้นหา (Search) การโจมตีเป้าหมาย (Attack) การสร้างเสียงรบกวน (Noise making) การเดินเรือ (Navigation) การสำรวจพื้นท้องทะเล (Bottom search) การติดต่อสื่อสาร (Communication) การสมุทรศาสตร์ (Oceanographic) การสกัดกั้นแอคทีฟ (Active interrupt) การเตือนภัยตอร์ปิโด (Torpedo warning) การจำแนกชนิดเป้าหมาย (Classification) การเตือนเสียงรบกวนของตัวเรือ (Self noise monitoring) การหลบหลีกทุ่นระเบิด (Mine Avoidance) รวมทั้งการวัดพิกัดระยะเป้าหมายทางพาสซีฟ (Passive range) ราชนาวีไทยประจำการระบบโซนาร์จำนวน 8 รุ่น แต่ผู้เขียนจะเขียนถึงมากกว่านิดหน่อย
ระบบโซนาร์ DSQS–21C
นี่คือระบบโซนาร์หัวเรือ ( Hull Mounted Sonar หรือ Bow Sonar) รุ่นมาตราฐานกองทัพเรือไทย มีชื่อทางการค้าอีกชื่อหนึ่งว่า ASO 85 ผลิตโดย Krupp Atlas Elektronik ประเทศเยอรมัน นับเป็นระบบโซนาร์ยุคใหม่อย่างแท้จริง ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อช่วยในการค้นหา พิสูจน์ทราบ และติดตามเป้าหมาย แสดงผลข้อมูลผ่านหน้าจอด้วยสี 3 สี คือ แดง เขียว และ เหลือง ทำให้สะดวกในการใช้งานมากกว่าเดิม ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active และโหมด Passive มีขนาดกระทัดรัดติดตั้งบนเรือได้หลายขนาด ภายในโดมโซนาร์รูปทรงเพรียวน้ำทำจากเหล็ก ติดตั้งทรานสดิวเซอร์รูปทรงกระบอก (Cylindrical Arrays) ประกอบไปด้วยตัวทรานสดิวเซอร์ขนาดเล็กจำนวน 6 แถว ๆ ล่ะ 32 ตัว สามารถแพร่คลื่นเสียงในการบีมได้ทั้งทางตั้ง (Vertical) และแนวราบ (Horizonta)
ระบบโซนาร์ DSQS-21C พัฒนาต่อจากโซนาร์ DSQS-21B ของกองทัพเรือเยอรมัน เพราะเป็นรุ่นส่งออกจึงตัดออปชั่นบางส่วนออก ต่อมาได้ปรับปรุงเป็นรุ่น DBQS-21D ติดตั้งบนเรือดำน้ำชั้น Type 206A ที่ผู้อ่านทุกท่านคุ้นเคยกันดี สามารถติดตามเป้าหมายแบบ ATT ( Automatic Target Tracker) ได้พร้อมกันจำนวน 3 เป้าหมาย ตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำได้ครบ 360 องศา สามารถเลือกส่งความถี่ไกลสุดได้ถึง 29 กิโลเมตร แต่มีระยะตรวจจับหวังผลประมาณ 12 กิโลเมตร เรือที่ติดตั้งโซนาร์รุ่นนี้มีจำนวนรวม 8 ลำ ได้แก่ เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงคำรณสินธุ เรือหลวงทยานชล และเรือหลวงล่องลม
ภาพพิธีปล่อยเรือหลวงรัตนโกสินทร์ลงน้ำ วันที่ 11 พฤษภาคม 1985 อู่ต่อเรือ Tacoma ประเทศอเมริกา เป็นเรือลำแรกที่ติดตั้งระบบโซนาร์ DSQS-21C ตั้งแต่เริ่มเข้าประจำการ
ระบบโซนาร์ SJD-5A
นี่คือร่างอวตารระบบโซนาร์แบบส่องรุ่น TAMIR-11 (หรือ MG-11) จากสหภาพโซเวียต ซึ่งเข้าประจำการในช่วงต้นทศวรรษ 1950 เพื่อใช้งานควบคู่กับจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 ( หรือร่างอวตารของ RBU-1200) ค้นหาเป้าหมายในโหมด Active เท่านั้น ระยะตรวจจับไกลสุดที่ 7.4 กิโลเมตร ใช้เทคนิคการส่งบีมหลายครั้งติดต่อกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการค้นหาเป้าหมาย แม้จะเป็นระบบโซนาร์เก่าแก่จิ๊กโก๋เรียกป๋า แต่มีความน่าเชื่อถือในค้นหาและติดตามเป้าหมาย รวมทั้งทำงานในสภาวะท้องทะเลไม่ปรกติได้ดีมาก
พัฒนาปรับปรุงจากระบบโซนาร์ SJD-3A ซึ่งก็คือ TAMIR-11เวอร์ชั่นจีนนั่นเอง เปลี่ยนแปลงจากระบบ Retractable สามารถยืดและหดโดมโซนาร์ได้ มาเป็นโดมหัวเรือชนิดตายตัวแบบโซนาร์รุ่นใหม่ ติดตั้ง Transducer Array โดยแช่อยู่ในน้ำจืด ระบบมีขนาดกระทัดรัด น้ำหนักเบา ง่ายต่อการใช้งาน และสะดวกต่อการบำรุงรักษา เรือที่ติดตั้งระบบโซนาร์แบบ SJD-5A มีจำนวนรวม 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี
โดมโซนาร์บริเวณหัวเรือเรือหลวงบางปะกง ติดตั้งระบบโซนาร์รุ่น SJD-5A ในภาพทำสีโดมเข้มกว่าเรือลำอื่นของราชนาวีไทย (ที่มักทาสีแดงเหมือนกันกับบริเวณใต้ท้องเรือ)
ระบบโซนาร์ SJD-7A
นี่คือร่างอวตารระบบโซนาร์รุ่น DE-1164 จากอิตาลี จีนได้นำมาปรับปรุงเรื่องตัดเสียงรบกวน และลดการสั่นสะเทือนระหว่างใช้งาน ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active และโหมด Passive ระยะตรวจจับไกลสุดที่ 9.3 กิโลเมตร เข้าประจำการตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 ส่วนเวอร์ชั่นจีนนับเพิ่มเข้าไปอีก 10 ปี เรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสิน เคยติดตั้งโซนาร์รุ่นนี้ ช่วงเข้าประจำการ ทว่าหลังการปรับปรุงใหญ่ในปี 2014 ได้ติดตั้งระบบโซนาร์ Atlas Elektronik DSQS-24C ทดแทน โซนาร์ทำงานร่วมกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk-46 Mod 5 ได้เป็นอย่างดี ไม่ทราบสถานะปัจจุบันว่าสุขสบายมากน้อยแค่ไหน
               โดมโซนาร์บริเวณหัวเรือเรือหลวงตากสิน เคยติดตั้งระบบโซนาร์รุ่น SJD-7A ตั้งแต่เริ่มเข้าประจำการ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นรุ่น DSQS-24C ในปัจจุบัน
ระบบโซนาร์ AN/SQS–26 CX
นี่คือระบบโซนาร์หัวเรือระยะไกลตัวแรกและตัวเดียวของกองทัพเรือไทย ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นระบบตรวจจับเรือดำน้ำมาตราฐานอเมริกา ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active และโหมด Passive ทำงานโหมด Active ที่ย่านความถี่ 3.102 ถึง 3.91kHz ทำงานโหมด Passive Broad Band ที่ย่านความถี่ 1.5 ถึง 2.5 KHz และโหมด Passive Narrow Band ที่ย่านความถี่ 0.1 ถึง 2.6 KHz มีระยะตรวจจับไกลสุดถึง 50 ไมล์ทะเล หรือ 92.75 กิโลเมตร ส่วน  AN/SQS-26 AXR ซึ่งเป็นรุ่นแรกสุด มีระยะตรวจจับไกลสุด 40 ไมล์ทะเล หรือ 74.2 กิโลเมตร
AN/SQS–26 ออกแบบมาเพื่อรับมือกับเรือดำน้ำรุ่นใหม่ของโซเวียต รวมทั้งเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็น มีขนาดโดมโซนาร์ที่ค่อนข้างใหญ่ เหมาะสมกับเรือรบขนาดใหญ่เท่านั้น ระยะตรวจจับเป้าหมายค่อนข้างไกล เป็นระบบโซนาร์หัวเรือมาตราฐานกองทัพเรืออเมริกา ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ถึง 1950 ประจำการบนเรือรบจำนวน 8 รุ่น จำนวนเรือที่ติดตั้งมากกว่า 100 ลำ ทั้งยังได้รับการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม และกลายมาเป็นระบบโซนาร์รุ่น AN/SQS – 53 ที่มีใช้งานในปัจจุบัน ประจำการกองทัพเรืออเมริกาและญี่ปุ่น จำนวนเรือติดตั้งมากกว่า 100 ลำเช่นกัน
ระบบโซนาร์หัวเรือระยะไกล AN/SQS–26 CX ติดตั้งในโดมโซนาร์บริเวณหัวเรือเรือหลงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในภาพอยู่ระหว่างการเข้าอู่ลอยเพื่อทาสีเรือใต้ท้องเรือใหม่ ยังไม่เสร็จนะครับเพิ่งจะรองพื้นเท่านั้น
ระบบโซนาร์ AN/SQS–35 IVDS
นี่คือระบบโซนาร์ชักหย่อน (Variable Depth Sonar) รุ่นแรกของกองทัพเรือไทย ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ระดับความลึกในการปล่อยตั้งแต่ 50 ถึง 600 ฟุต ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active และโหมด Passive ทำงานย่านความถี่ 11.9 ถึง 14.1 KHz โดยมีโหมดในการส่งคลื่นจำนวน 2 แบบ แต่ 5 โหมด ได้แก่ แบบ ODT (Omnidirectional Transmission) 1 โหมด และแบบ RDT (Rotating Directional Transmission) อีก โหมด
เป็นระบบโซนาร์ที่มีความถี่ในการส่งสูงแต่มีกำลังในการส่งต่ำ มีระยะตรวจจับไกลสุด 10 ไมล์ทะเล หรือ 18.55 กิโลเมตร เริ่มเข้าประจำการปลายทศวรรษ 1960 บนเรือรบอเมริกาและสมาชิกองค์การนาโต้อีกหลายประเทศ
ระบบโซนาร์ AN/SQS–35 IVDS ถูกปล่อยจากท้ายเรือฟริเกตชื่อ Fong Yang FF-933 ของกองทัพเรือไต้หวัน โดยเป็นเรือชั้นเดียวกับเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ระบบโซนาร์ AN/SQR–18 A(V)1
นี่คือระบบโซนาร์ลากท้าย (Towed Array Sonar) รุ่นแรกของกองทัพไทยเช่นกัน ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีชื่อเต็มว่า AN/SQR-18A(V)1 Sonar Tactical Towed Array System (TACTAS) ทำงานร่วมกับระบบโซนาร์ชักหย่อน SQS–35 โดยจะต้องปล่อยลงน้ำในภายหลังเท่านั้น ระดับความลึกสุงสุดในการปล่อยอยู่ที่ 600 ฟุต ความยาวสายลากโซนาร์หรือ Towed Array อยู่ที่ 612 ฟุต ค้นหาเป้าหมายในโหมด Passive จึงมีความเงียบเป้าหมายตามรอยได้ยาก ทำงานโหมด Passive Broad Band ที่ย่านความถี่ 300 ถึง 1,300 Hz และโหมด Passive Narrow Band ที่ย่านความถี่ 50 ถึง 1,300 Hz แต่เพราะถูกรบกวนโดยเสียงจากเรือมีความถี่ต่ำ (Higher Beam Noise) การทำงานในโหมด Passive Narrow Band มีความถี่จำกัดอยู่ในช่วง 140 ถึง 1,300 Hz
AN/SQR-18A(V)1 ตรวจับเป้าหมายได้โดยอัตโนมัติ ก่อนส่งผลการวิเคราะห์กลับมายังเครื่องรับ สายรับสัญญาณ (Towed Array) ต่ออยู่กับตัว Towed Body (มีชื่อเรียกว่า FISH หรือปลา) ของโซนาร์ AN/SQS - 35 (V) จึงต้องปรับตามระดับความลึกของตัว Towed Body ไปด้วย สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบโซนาร์หัวเรือ AN/SQS - 26 CX ทำงานแบบบูรณาการเพื่อช่วยกันค้นหาเป้าหมายใต้น้ำ
ก่อนหน้านี้เราเคยมีระบบโซนาร์ AN/SQR–18 A(V)2 ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย ทว่าเรือได้ปลดประจำการเป็นที่เรียบร้อย จึงเหลือแค่เพียงรุ่น (V)1 จำนวน 1 ระบบ ส่วนรุ่นใหม่กว่าคือ (V)3 ราชนาวีไทยไม่มีครับ
ระบบโซนาร์ AN/SQR–17A(V)2
นี่คือระบบโซนาร์วิเคราะห์สัญญาณเสียง (Sonar Signal Processing Set) รุ่นแรกสุดเช่นกัน ติดตั้งบนเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สำหรับวิเคราะห์สัญญาณเสียงที่ได้รับจาก Sonobuoy โดยตรง หรือรับข้อมูลผ่านระบบ Link จากอากาศยานปีกหมุน โดยจะวิเคราะห์สัญญาณ Passive Narrow Band ที่ได้รับจากระบบโซนาร์ AN/SQS – 26 CX อีกที ระบบโซนาร์ SQR–18 ทำงานย่านความถี่ตั้งแต่ 0 ถึง 3.4 KHz
จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้เขียนมือเป็นระวิง จะเห็นได้ว่าเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ใช้ระบบโซนาร์ทำงานร่วมกันถึง 4 ระบบ ทั้งยังสามารถรับสัญญานข้อมูลจากโซโนบุย ที่อากาศยานปีกหมุนนำไปปล่อยในทะเลได้ นับเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำที่ดีที่สุดของราชนาวีไทย เทียบกับเรือฟริเกตลำใหม่ล่าสุดคือเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ 3) ลำหลังได้เปรียบเรื่องระบบต่อสู้อากาศยานและระบบต่อต้านเรือผิวน้ำ แต่ยังเป็นรองในเรื่องระบบต่อสู้เรือดำน้ำ จนกว่าจะติดตั้งอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ VL-ASROC เพิ่มเติม จึงจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงชนิดต้องใช้ภาพถ่าย
ระบบโซนาร์ Atlas Elektronik DSQS-24C
นี่คือระบบโซนาร์หัวเรือรุ่นล่าสุดของราชนาวีไทย มีชื่อทางการค้าอีกชื่อหนึ่งว่า Atlas Elektronik ASO 94 ทำงานในย่านความถี่ปานกลาง ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ที่ความถี่ 6 ถึง 9 KHz และโหมด Passive ที่ความถี่ 1 ถึง 11 KHz ตรวจจับได้ทั้งเรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ หรือวัตถุขนาดเล็ก ได้แก่ ยานใต้น้ำไร้คนขับ และทุ่นระเบิด สามารถแจ้งเตือนภัยเมื่อตรวจพบตอร์ปิโด รวมทั้งใช้สื่อสารกับเรือดำน้ำฝ่ายเดียวกัน ประจำการบนเรือฟริเกตจำนวน 3 ลำ ได้แก่ เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน รวมทั้งเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ 3 ) ที่เพิ่งทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 23 มกราคม 2017
โซนาร์ DSQS-24C หรือ ASO 94 พัฒนาปรับปรุงจากโซนาร์ DSQS-23B หรือ ASO-90 ซึ่งประจำการบนเรือฟริเกตชั้น F-122 และ F-123 ของเยอรมัน ส่วนโซนาร์ DSQS-23B ก็พัฒนาปรับปรุงจากโซนาร์ DSQS-21B หรือ ASO-80 อีกทอดหนึ่ง ทหารเรือไทยจึงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เพราะเคยมีประสบการณ์จากโซนาร์ DSQS-21C มาอย่างยาวนาน เป็นระบบตรวจจับเรือดำน้ำมาตราฐานกอทัพเรือเยอรมัน เพียงแต่เป็นรุ่นส่งออกที่ตัดออปชั่นบางอย่างออก
เกียร์โซนาร์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.88 เมตร อยู่ภายในโดมหัวเรือหรือใต้ท้องเรือบริเวณสะพานเดินเรือ สามารถเลือกส่งความถี่ไกลสุด 40 กิโลเมตร และมีระยะตรวจจับหวังผลอยู่ที่ 15 กิโลเมตร โซนาร์ถูกติดตั้งบนเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศ F-124 หรือชั้น Sachsen ของเยอรมัน เรือฟริเกตชั้น Ivar Huitfeldt และชั้น Absalon ของเดนมาร์ค รวมทั้งเรือฟริเกตชั้น Dutch Zeven Provincien ของเนเธอร์แลนด์ ในทวีปเอเชียนอกจากประเทศไทยแล้ว ยังติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น F-22P ของปากีสถานจำนวน 4 ลำด้วย เป็นเรือฟริเกตที่สร้างโดยจีนและติดตั้งระบบโซนาร์เยอรมัน
เรือฟริเกตชั้น DW-3000F ลำแรกสุดของโลก ได้รับพระราชทานชื่อว่าเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ ) ในภาพอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่อู่ต่อเรือ DSME เกาหลีใต้ ติดตั้งโดมโซนาร์ DSQS-24C ใต้สะพานเดินเรือพอดิบพอดี

ระบบโซนาร์ Atlas Electronics ACTAS (Active Towed Array Sonar)
นี่คือระบบโซนาร์ลากท้ายรุ่นล่าสุดของราชนาวีไทย ค้นหาเป้าหมายได้ทั้งโหมด Active ด้วยระบบ Active Variable-Depth Towed Body ติดตั้ง Transducer จำนวน 2 ชุดพร้อมสายเคเบิ้ลยาว 400 เมตร และค้นหาเป้าหมายในโหมด Passive ด้วยระบบ Dependent Passive Towed Array จำนวน 2 ชุด พร้อมสายเคเบิ้ลยาว 500 เมตร ต่อพว่งจาก Active Variable-Depth Towed Body อีกที ระยะตรวจจับตั้งแต่ 2 ถึง 60 กิโลเมตร สามารถใช้ระบบ ATLAS Modular ASW Combat System (AMACS) ควบคุมระบบโซนาร์ DSQS-24C และ ACTAS ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กองทัพเรือไทยสั่งซื้อ ACTAS จำนวน 1 ระบบเพื่อติดตั้งบนเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ 3 ) แต่ว่าเป็นคำสั่งซื้ออันดับ 2 นะครับ เพราะกองทัพเรืออินเดียเป็นลูกค้ารายแรกสุด โดยได้สั่งซื้อจำนวนมากถึง 6 ระบบ เพื่อติดตั้งบนเรือฟริเกตชั้น Talwar จำนวน 3 ลำ และเรือพิฆาตชั้น Delhi จำนวน 3 ลำ มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ 40 ล้านยูโร นำมาหารกันง่าย ๆ ได้ราคาหน่วยล่ะ 6.66 ล้านยูโรหรือ 245.2 ล้านบาท ของเราคงแพงกว่านิดหน่อยเพราะสั่งซื้อแค่เพียง 1 ระบบ
บริเวณท้ายเรือเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ ) มีช่องสำหรับติดตั้งระบบโซนาร์ ACTAS (Active Towed Array Sonar) เป็นสัญญานบ่งบอกว่าพ่อแท๊กซี่เขียว-เหลืองหางยาวมาแน่นอน

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนแอบยิ้มมุมปากก็คือ เรือรบปากีสถานใช้ระบบเรดาร์หัวเรือจากเยอรมัน ส่วนเรือรบอินเดียใช้ระบบโซนาร์ท้ายเรือจากเยอรมัน นำมารวมกันได้เป็นเรือหลวงท่าจีน (ลำที่ 3) ของไทย ขณะที่เรือรบลำใหม่เอี่ยมของเยอรมันคือเรือชั้น F-125 ซึ่งว่ากันว่าเป็นเรือฟริเกตลำใหญ่ที่สุดในโลก (7,200 ตัน) ติดตั้งเพียงโซนาร์วัดความลึกสำหรับเดินเรือ ไม่มีอุปกรณ์ตรวจจับเรือดำน้ำแม้แต่ชิ้นเดียว (ไม่นับบนอากาศยานประจำเรือ) ราคาเรือลำหนึ่งแปรผันกับอุปกรณ์บนเรือเสมอไป
บทส่งท้าย
มหากาพย์อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ได้เดินทางมาถึงตอนจบที่แท้จริงในที่สุด ผู้เขียนขอข้ามเรื่องอากาศยานปราบเรือดำน้ำ ด้วยว่าเนื้อหามีน้อยเพราะมีแค่เพียง 2 รุ่น และอาจเขียนถึงในบทความอากาศยานปราบเรือดำน้ำ ทั่วโลก ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 อ้างอิงจาก

ภาพประกอบอ้างอิงจาก

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

Royal Thai Navy Anti-Submarine Weapon Part III : Anti-Submarine Torpedo

อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 3 : ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ
ความเดิมตอนที่แล้ว ---> Royal Thai Navy Anti-Submarine Weapon Part II : Anti-Submarine Missile
อาวุธปราบเรือดำน้ำบนเรือรบราชนาวีไทย ตอนที่ 3 : ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ
                RUM-139 VL- ASROC คืออาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ล่าสุด และเป็นอาวุธที่ใช้จัดการกับเรือดำน้ำได้ดีที่สุด เพราะสามารถโจมตีเป้าหมายตั้งแต่ระยะ 10 กิโลเมตรขึ้นไป มีลักษณะผสมกันระหว่างอาวุธนำวิถี พื้น-สู่-พื้น กับอาวุธปราบเรือดำน้ำ ได้แก่ ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำหรือระเบิดลึกนิวเคลียร์ แปลเป็นไทยอีกครั้งก็คือ VL-ASROC จะต้องติดตั้งอยู่บนอาวุธปราบเรือดำน้ำอีกที เราได้รู้จักระเบิดลึกกันไปแล้วตั้งแต่ตอนที่หนึ่ง บทความนี้จะพูดถึงอาวุธปราบเรือดำน้ำอีกหนึ่งชนิด ที่สามารถใช้งานร่วมกับ VL- ASROC ได้ นั่นก็คือตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ หรือ Anti-Submarine Torpedo
กองทัพเรือไทยประจำการตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 324 มม.หรือ 12.74 นิ้ว นับเป็น Lightweight Anti-Submarine Torpedo เพราะมีขนาดเล็กที่สุด (ในเวลานี้) โดยมีประจำการรวมทั้งสิ้นจำนวน 3 รุ่นด้วยกัน ในอดีตเราเคยมีตอร์ปิโดขนาด 400 มม.สำหรับต่อต้านเรือรบผิวน้ำด้วย แต่ใช้ยิงเรือดำน้ำไม่ได้ผู้เขียนจึงไม่นำมารวม
ภาพถ่ายเรือหลวงตาปีเมื่อ 42 ปีที่แล้ว มีท่อยิงตอร์ปิโด Mark 32 Mod 5 มาตั้งแต่เริ่มเข้าประจำการ ในภาพยังคงติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/L60 ลำกล้องคู่ และ ปืนใหญ่ 3"/50 Mark 34 ด้านท้ายเรือ ก่อนถอดออกเมื่อได้มีการปรับปรุงใหญ่ แล้วติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน Bofors 40/L70 ลำกล้องเดี่ยวจำนวน 1 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน 20 มม. GAM-BO1 จำนวน กระบอกทดแทน

ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำกับกองทัพเรือไทย
                กลางปี 1947 อเมริกาโอนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 ปี 1947 จำนวน 3 ลำให้กับไทย จากนั้นไม่นานทร.ไทยได้จัดหาเพิ่มเติมอีก 5 ลำรวมเป็น 8 ลำด้วยกัน หลังจากผ่านใช้งานมาประมาณ 15 ปีเต็ม ได้มีการทยอยจัดส่งเรือไปปรับปรุงใหญ่ที่เกาะกวม โดยเป็นการซ่อมแซมตัวเรือรวมทั้งเครื่องยนต์ ติดตั้งระบบวิทยุและห้องควบคุม และระบบเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่ เรือบางลำได้รับการติดตั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-17B และตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mark 44 Mod 1 โดยใช้ท่อยิงตอร์ปิโด Mark 32 Mod 0 (ซึ่งเป็นระบบแท่นยิงเดี่ยว) จำนวน 2 แท่นยิงบริเวณท้ายเรือ
                ในเวลาไล่เรี่ยกันนั้นเอง เรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma ทั้ง 2 ลำ ได้แก่ เรือหลวงท่าจีน (ลำที่สอง) และเรือหลวงประแสร์ (ลำที่สอง) ได้ถูกส่งไปปรับปรุงใหญ่ที่เกาะกวมเช่นกัน รายละเอียดการปรับปรุงใกล้เคียงกับเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 ในส่วนระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำนั้น ได้มีการติดตั้งระบบโซนาร์ AN/SQS-17B ทดแทนระบบโซนาร์  QBF จากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโด Mark 32 Mod 0 (ซึ่งเป็นระบบแท่นยิงเดี่ยว) จำนวน 2 แท่นยิงบริเวณกลางเรือค่อนไปทางท้าย สำหรับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mark 44 Mod 1
                จากนั้นไม่นานนัก จึงเป็นคิวของเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Cannon ซึ่งมีอยู่ลำเดียว เรือหลวงปิ่นเกล้าได้รับการปรับปรุงใหญ่เช่นกัน  โดยได้ติดตั้ง AN/SQS-11 ทดแทนระบบโซนาร์  QCJ จากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโด Mark 32 Mod 5 (ซึ่งเป็นระบบแท่นยิงแฝดสาม) จำนวน 2 แท่นยิงบริเวณกลางเรือจากจากปล่องควันเรือ สำหรับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mark 44 Mod 1 แท่นยิงรุ่นนี้มีเครื่องหันหรือ Training Gear ติดตั้งอยู่ด้วย ช่วยบังคับให้ท่อยิงหมุนไปยังทิศทางที่ต้องการ ทำให้สะดวกกับการใช้งานมากกว่ารุ่น Mark 32 Mod 0 ที่ติดตั้งตายตัวบนกราบเรือบังคับทิศทางไม่ได้
วันที่ 1 พฤษจิกายน 1971 ทร.ไทยเข้าประจำการเรือหลวงตาปี วันที่ 2 มิถุนายน 1972 ทร.ไทยเข้าประจำการเรือหลวงคีรีรัฐ เรือทั้งสองลำเป็นเรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น PF-103 สร้างโดยอเมริกา ติดตั้งท่อยิงตอร์ปิโด Mark 32 Mod 5 แฝดสามจำนวน 2 แท่นยิงบริเวณท้ายเป็นที่เรียบร้อย ยุคถัดมาเรือรบขนาดใหญ่ของทร.ไทยเกือบทุกลำ จะติดตั้งตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำกันโดยครบถ้วน ยกเว้นก็เพียงเรือฟริเกตชั้นเจียงหูจำนวน 4 ลำ (เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงบางปะกง เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี) ซึ่งมีเพียงจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 86 (RBU-1200) ไว้สำหรับป้องกันตัว

ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 Mod 1
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองอันแสนยาวนาน อเมริกาได้เผชิญหน้ากับอันตรายจากเรืออูเยอรมัน กองทัพเรือจึงได้พยายามหาทางป้องกัน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาตอร์ปิโดขนาดเล็กน้ำหนักเบา เพื่อใช้งานกับอากาศยานปีกแข็งประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน รวมทั้งกับเฮลิคอปเตอร์ที่เริ่มมีมากรุ่นขึ้น ทั้งยังต้องการให้ใช้งานบนเรือผิวน้ำได้ในภายหลัง ตอร์ปิโดจะต้องติดตั้งระบบนำวิถี มีความแข็งแรงทนทานมากพอสมควร เป็นโจทย์ที่ไม่ยากนักแต่ก็ไม่ง่ายเท่าไหร่
หลังจากใช้เวลาในการพิจารณาโดยผู้ชำนาญการ การออกแบบจากบริษัท Brush Development จึงได้รับการคัดเลือก ตอร์ปิโด Mark 43 Mod 1 ขนาด 300 มม.หรือ 10 นิ้วเข้าประจำการในปี 1951 เป็นอาวุธสำคัญประจำเครื่องบินปราบเรือดำน้ำ Grumman AF2 Guardian และ Grumman S-2 Tracker รวมทั้งเครื่องบินโจมตี AD-4 Skyraider ซึ่งไม่มีระบบตรวจจับแต่อย่างใด กองทัพเรืออังกฤษได้จัดหา Mark 43 ไปใช้งานกับอากาศยานของตนเอง

                                                                       ตอร์ปิโด Mark 43 Mod 1 ติดตั้งบนปีกเครื่องบินโจมตี AD-Skyraider
เมื่อ Mark 43 เข้าประจำการได้ไม่นาน กองทัพเรือได้ริเริ่มโครงการตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ สามารถใช้งานได้ทั้งกับอากาศยานปีกแข็ง เฮลิคอปเตอร์ และเรือรบผิวน้ำ เพื่อทดแทนตอร์ปิโดรุ่น Mark 43 ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่นแรกสุดของอเมริกา แม้ว่า Mark 43 Mod 3 จะสามารถใช้งานกับเรือผิวน้ำได้แล้ว ทว่าตอร์ปิโดมีขนาดเล็กเกินไป หัวรบมีขนาดเล็กเกินไป ความเร็วสุงสุดน้อยเกินไป โจมตีเป้าหมายได้ตื้นเกินไป ค้นหาเป้าหมายได้ไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งใช้งานกับเรือผิวน้ำแล้วค่อนข้างมีปัญหา ท้ายสุดจึงได้ปลดประจำการในปี 1957 หลังโครงการใหม่สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย
ตอร์ปิโดรุ่นใหม่ต้องการระบบขับเคลื่อนรุ่นใหม่ จะเริ่มทำงานเมื่อตอร์ปิโดอยู่ในทะเลแล้ว ต้องมีเสียงเครื่องยนต์เบากว่าเดิม จึงต้องออกแบบใหม่แทบจะทุกชิ้นส่วน โครงการนี้ได้แบ่งออกเป็นรหัสโครงการ EX-2A พัฒนาโดย Naval Ordnance Test Station หรือ NTOS และรหัสโครงการ EX-2B พัฒนาโดย General Electric หรือ GE ในท้ายที่สุดการออกแบบจาก EX-2B ได้รับการคัดเลือก ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mark 44 Mod 1 เข้าประจำการกองทัพเรืออเมริกาในปี 1957
                Mark 44 มีขนาดความยาว 2.5 เมตร กว้าง 324 มิลลิเมตร หนัก 196 กิโลกรัม สามารถใช้งานได้ทั้งบนเรือผิวน้ำและอากาศยาน ติดหัวรบ HBX-3 ขนาด 34 กิโลกรัม ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า จ่ายกระแสไฟด้วยระบบแบตเตอรี่น้ำทะเล (Seawater Battery) หลักการก็คือเมื่อตอร์ปิโดถูกปล่อยออกจากท่อยิง ลวดนิรภัยกั้นรูรับน้ำทะเลจะถูกดึงออก น้ำทะเลจะไหลเข้าไปกระตุ้นระบบแบตเตอรี่ เพื่อจ่ายกระแสไฟให้กับมอเตอร์ขับเคลื่อนต่อไป ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที ตอร์ปิโดติดตั้ง 2 ใบจักรและ 2 เพลา หมุนสวนทางกันช่วยลดเสียงดังและพรายน้ำ
Mark 44 สามารถโจมตีเป้าหมายได้ตั้งแต่ความลึก 50 ฟุตจนถึง 3,000 ฟุต ความเร็วสุงสุดเพิ่มขึ้นมาเป็น 30 น๊อต (ขณะที่ Mark 43 ความเร็วสุงสุดเพียง 21 น๊อต) ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด (Operational Range หรือ Optimum Range หรือ Endurance) อยู่ที่ประมาณ 5,500 เมตร จากนั้นแบตเตอรี่จะหมดพลังงานไม่จ่ายกระแสไฟ
                ส่วนจมูก (Nose Section) ติดตั้ง Transducer จำนวน 2 ชุดใช้สำหรับวัดสัญญานสะท้อนกลับ โดยจะแปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานเสียงส่งไปในน้ำ แล้วรอรับเสียงสะท้อนกลับส่งคืนเครื่องรับต่อไป ระบบนำวิถีค้นหาเป้าหมายได้ไกลสุด 911 เมตร นับเป็น ASW Homing Torpedo รุ่นใหม่อย่างแท้จริง ทั้งยังมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ดูแลสะดวก ระบบแท่นยิงใช้พื้นที่น้อย ไม่ต้องการพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ เทียบกับจรวดปราบเรือดำน้ำ (Anti-Submarine Rocket) ที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ ใช้พื้นที่ทั้งบนและใต้ดาดฟ้าเรือจำนวนมาก การใช้งานค่อนข้างยุ่งยาก มีความแม่นยำต่ำ และมีระยะยิงน้อยกว่า อาวุธชนิดใหม่จึงดีกว่ากันเกือบทุกด้าน ยกเว้นเพียงราคาต่อหน่อยเท่านั้น (ทดแทนได้ด้วยปริมาณใช้งานที่น้อยกว่า)

                ประเทศไทยใช้งานตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 ตั้งแต่กลางทศวรรษ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าปัจจุบันยังใช้งานอยู่หรือไม่ นั่นก็เพราะทั่วโลกได้เลิกใช้งานหมดแล้ว ชาติท้ายสุดที่ปลดประจำการก็คือนิวซีแลนด์ในปี 1993 สาเหตุสำคัญนอกจากเรื่องประสิทธิภาพ แบตเตอรี่ขนาด 24 กิโลวัตต์ซึ่งมีอายุใช้งานแค่เพียง 5 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการปลดประจำการ ด้านเรือรบที่ติดตั้ง Mark 44 Mod 1 และยังประจำการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ เรือหลวงตาปี เรือหลวงคีรีรัฐ รวมทั้งเรือหลวงปิ่นเกล้า

ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 46 Mod 5
            เมื่อตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 44 เข้าประจำการได้ไม่นาน อเมริกาได้พบปัญหาเรื่องใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา นั่นคือเรือดำน้ำรุ่นใหม่ล่าสุดของโซเวียต สามารถแล่นเรือได้เร็วกว่าเดิม มีระยะปฎิบัติการณ์มากกว่าเดิม มีความเงียบน้อยลงกว่าเดิม และดำน้ำได้ลึกกว่าเดิม ขณะเดียวกับที่ Mark 44 มีปัญหาเรื่องความเร็วในการเข้าโจมตี รวมทั้งปัญหากับการใช้งานในเขตน้ำตื้น พวกเขาต้องการตอร์ปิโดรุ่นใหม่ที่ดีกว่าเดิม เข้ามาปิดช่องว่างขนาดใหญ่กว่าเดิม จากเรือดำน้ำรุ่นใหม่ที่ทันสมัยกว่าเดิม
                Mark 46 เข้าประจำการในปี 1965 ขนาดใหญ่โตกว่าเดิมนิดหน่อย มีความยาว 2.6 เมตร กว้าง 324 มิลลิเมตร หนัก 230 กิโลกรัม ติดหัวรบ PBXN-103 ขนาด 44 กิโลกรัม สามารถใช้งานได้ทั้งกับเรือผิวน้ำ อากาศยานปีกแข็งและปีกหมุน รวมทั้งอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ ASROC ระบบขับเคลื่อนเปลี่ยนมาเป็นเชื้อเพลิงเหลว (OTTO FUEL II) เครื่องยนต์ลูกสูบแบบสันดาบภายนอก ทำความเร็วสุงสุดถึง 43.5 น๊อตในช่วงการโจมตีรวมทั้งขณะดำน้ำ และความเร็วสุงสุด 36 น๊อตในช่วงค้นหาเป้าหมาย ระยะปฎิบัติการณ์ 11,200 เมตรที่ความเร็ว 43.5 น๊อต และ18,000 เมตรที่ความเร็ว 43.5 น๊อต

                เมื่อใช้บนเรือผิวน้ำ Mark 46 สามารถโจมตีเป้าหมายในระดับความลึก 50 ฟุตถึง 2,500 ฟุต แต่ถ้ายิงจากอากาศยานหรือ ASROC สามารถตั้งค่าลึกต่ำสุดที่ 20 ฟุตได้ ส่วนจมูกติดตั้งระบบนำวิถีครบถ้วนทั้ง Active Sonar และ Passive Sonar ค้นหาเป้าหมายได้ไกลมากกว่าเดิมคือ 1,483 เมตร ตอร์ปิโดมีประสิทธิภาพสุงกว่าเดิมพร้อมเสียงที่ดังมากกว่าเดิม กองทัพเรืออเมริกายุติการใช้งาน Mark 44 ในปี 1967 ทว่ายังคงมีจำหน่ายให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกนาโต้ รวมทั้งพันธมิตรอื่น ๆ ทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 21 ประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือไทยแลนด์ของพวกเรานี่เอง
                ตอร์ปิโดทั้งสองรุ่นใช้ท่อยิงตอร์ปิโด Mark 32 Mod 5 รุ่นเดียวกัน ใช้ระบบควบคุมการยิง Mark 309 Mod 0 รุ่นเดียวกัน แสดงผลผ่านแผงควบคุม Mark 264 Mod 0 รุ่นเดียวกัน แต่ขั้นตอนในการยิงมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน อเมริกามีข้อกำหนดในการยิงอยู่ว่า เรือจะต้องเข้าใกล้จนถึงระยะยิงหวังผล (Optimum Range) เนื่องจากเปอร์เซนต์ยิงโดนเป้าหมายที่ระยะยิงไกลสุดอยู่ที่ 50 เปอร์เซนต์ แต่ถ้ายิงจากระยะยิงหวังผลจะขึ้นมาที่ 80 เปอร์เซนต์ รวมทั้งต้องหันหัวเรือไปในทิศทางที่ต้องการ เพื่อให้ตอร์ปิโดค้นหาและทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
หลังจากตรวจพบเป้าหมายใต้น้ำที่ต้องการยิง ระบบโซนาร์จะส่งข้อมูลทั้งหมดมายังแผงควบคุม ได้แก่ แบริงเป้า ระยะเป้า รวมทั้งสัญญาน Sonar On Target เจ้าหน้าที่จะต้องเลือกทิศทางการยิงตอร์ปิโด ก่อนกดปุ่มส่งสัญญานบอกทิศทางไปยังสะพานเดินเรือ เพื่อทำการเบนเข็มหัวเรือไปยังมุมองศาที่ต้องการ จากนั้นจึงเลือก Weapon Mode แล้วตั้ง ISD (Initial Search Depth) ซึ่งก็คือระดับความลึกและข้อมูลอื่น ๆ เพื่อป้อนข้อมูลล่วงหน้าให้กับตอร์ปิโดลูกนั้น สำหรับใช้ช่วงการเดินทางสู่เป้าหมาย (หรือ Guide) ตรงนี้เองที่ตอร์ปิโดทั้ง 2 รุ่นมีความแตกต่างกัน เราไปดูที่รุ่นเก่ากว่ากันก่อนนะครับ
                ตอร์ปิโด Mark 44 เลือก Weapon Mode เพื่อยิงตอร์ปิโดได้ 2 รูปแบบ รูปแบบแรกก็คือ Run Out โดยปรกติจะใช้งานกับเรือผิวน้ำ โดยตอร์ปิโดจะวิ่งส่ายซ้าย-ขวาทำมุม 45 องศาตลอดการเดินทางช่วงแรก (Snake Search) กระทั่งลงไปสู่ระดับลึกสุดของค่า ISD ที่ตั้งไว้ (หรือระยะทางประมาณ 3,000 ฟุต) จากนั้นจะค้นหาเป้าหมายโดยหมุนวนเป็นวงกลม (Circle Search) โดยจะวนซ้ายขึ้นสุงและลงต่ำสลับกันไปมา กระทั่งตรวจจับเป้าหมายได้หรือแบตเตอรี่หมดกำลัง
ตอร์ปิโด Mark 44 Mod 1 ค้นหาเป้าหมายในโหมด Run Out ด้วยการวิ่งส่ายซ้าย-ขวาไปจนถึงระดับความลึกที่ตั้งไว้ล่วงหน้า ก่อนค้นหาเป้าหมายแบบวงกลมวนซ้าย เหมาะสมกับเรือผิวน้ำโจมตีเป้าหมายระยะไกล
                รูปแบบที่สองก็คือ No Run Out โดยปรกติจะใช้งานกับอากาศยานเท่านั้น แต่ต่อมาได้ปรับปรุงให้ใช้งานบนเรือผิวน้ำได้ การตั้งค่า ISD ใส่ข้อมูลได้น้อยกว่าแบบแรก เมื่อยิงไปแล้วตอร์ปิโดจะดำลงไปสู่ระดับลึกสุดของค่า ISD โดยไม่มีการส่ายซ้าย-ขวาแบบ Run Out แต่อย่างใด จากนั้นจึงเริ่มค้นหาเป้าหมายด้วยการหมุนวนซ้าย และจะค้นหาตั้งแต่ระยะ 250 ฟุตลงไปเท่านั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกันเรือผิวน้ำ
ตอร์ปิโด Mark 44 Mod 1 ค้นหาเป้าหมายในโหมด No Run Out ด้วยการค้นหาเป้าหมายแบบวงกลมวนซ้าย หลังจากมาถึงระดับความลึกที่ตั้งไว้ (การตั้งค่าทำได้ไม่ละเอียดเท่าโหมด Run Out) เหมาะสมกับอากาศยาน หรือเรือผิวน้ำโจมตีเป้าหมายแบเร่งด่วนหรือระยะประชิด         
                ส่วนทางด้านตอร์ปิโด Mark 46 นั้น สามารถตั้งค่า ISD ให้ค้นหาตื้นสุดที่ 24 เมตร เพื่อใช้งานในพื้นที่เขตน้ำตื้นความลึกต่ำกว่า 40 เมตร หรือกับเป้าหมายความเร็วต่ำสุงระดับกล้องเพอริสโคป โดยสามารถเลือก Weapon Mode ได้รูปแบบเดียวคือ Run Out แต่รูปแบบการค้นหาเป้าหมายหรือ Search Pattern สามารถกำหนดได้ทั้งการค้นหาแบบวงกลมวนขวา (Circle Search) หรือการค้นหาแบบส่ายซ้าย-ขวา (Snake Search) ซึ่งถ้าเป็นการยิงระยะประชิดหรือการยิงเร่งด่วน มีข้อแนะนำให้ใช้การค้นหาแบบวงกลมจะเหมาะสมกว่า เนื่องจากตอร์ปิโดเข้าสู่โหมดค้นหาได้เร็วกว่า เหมือนการยิงจากอากาศยานหรืออาวุธนำวิถี ASROC สามารถเลือกโหมดยิงเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้ด้วย
                ขอกลับมายังเจ้าหน้าที่ยิงตอร์ปิโดอีกครั้ง เมื่อหัวเรือจำลองชี้เป้าตรงกับ Ordered Heading แล้ว ตอร์ปิโดถูกตั้งค่าตรงตามข้อมูลจากโซนาร์แล้ว และผู้ควบคุมได้ทำการสั่งยิงแล้ว พนักงานจะผลักกุญแจจากตำแหน่ง Standby ไปยัง Fire ตอร์ปิโดจะวิ่งพ้นท่อแหวกอากาศตกสู่พื้นน้ำ Mk-46 จะดำดิ่งทำมุม 45 องศาลงมาระดับความลึก ISD ด้วยความเร็ว 43.5 น๊อต (สามารถตั้งได้ลึกสุดที่ 427 เมตร) แล้วเริ่มค้นหารูปแบบวงกลมหรือรูปแบบส่ายที่ความเร็ว 36 น๊อต เมื่อถึงระยะการเข้าหาและต่อตีเป้าหมาย (Acquisition and Attack Phase) ตอร์ปิโดจะวิ่งด้วยความเร็ว 43.5 น๊อตพุ่งชนเป้าหมาย
ตอร์ปิโด Mk-46 Mod 5 ประจำการอยู่บนเรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน และเรือหลวงพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B จำนวน 6 ลำ ที่ประจำการอยู่บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ขนาด 11,544 ตันลำแรกและลำเดียวของกองทัพเรือไทย รวมทั้งติดตั้งบนอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ RUR-5 ASROC
                     ท่อยิงตอร์ปิโด Mark 32 Mod 5 บนเรือหลวงตากสินก่อนปรับปรุงใหญ่ ประจำการด้วยตอร์ปิโด Mark 46 Mod 5


                            ตอร์ปิโด Mark 46 Mod 5 (ลูกฝึก) ติดตั้งบนเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ S-70B กองทัพเรือไทย ระหว่างการฝึกผสม Guardian Sea 2016

ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Stringray 
                ตอร์ปิโดรุ่นสุดท้ายมาจากอังกฤษครับ ขับเคลื่อนด้วยด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าโดยแบตเตอรี่แมกนิเซี่ยม-เงิน ทำความเร็วสุงสุดได้ถึง 45 น๊อต ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 8 ถึง 11 กิโลเมตร ติดตั้งระบบนำวิถีทั้ง Active Sonar และ Passive Sonar ระบบควบคุมอัตโนมัติ (Auto Pilot) รวมทั้งระบบป้องกันสัญญานรบกวน มีความยาว 2.6 เมตร กว้าง 324 มิลลิเมตร หนัก 267 กิโลกรัม ติดหัวรบ Torpex (Torpedo Explosive) ขนาด 45 กิโลกรัม ใช้งานได้ทั้งกับเรือผิวน้ำและอากาศยาน
                ขอย้อนเวลากลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเรืออังกฤษมีแนวคิดเรื่องตอร์ปิโดระบบนำวิถี หรือ Guided Torpedo ขนาด 533 มม.กระทั่งในปี 1952 จึงได้สร้างต้นแบบแล้วเสร็จ ตอร์ปิโด Mark 12 Fancy ติดหัวรบ Torpex ขนาด 340 กิโลกรัม ใช้ระบบขับเคลื่อน Hydrogen-Peroxide ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 5 กิโลเมตร ที่ความเร็ว 28 น๊อต สามารถใช้งานได้ทั้งบนเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ แต่แล้วก็ต้องยุติโครงการนี้ลงในอีกไม่กี่ปี เนื่องจากระหว่างทดสอบบนเรือดำน้ำชื่อ HMS Sidon (P259) ตอร์ปิโดได้เกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้นภายในเรือ ส่งผลให้ลูกเรือเสียชีวิตจำนวน 13 นาย บาดเจ็บจำนวนมาก เรือดำน้ำเสียหายหนักจนต้องปลดประจำการ เป็นก้าวแรกของความล้มเหลวที่อาจนำพาสู่ความสำเร็จ
                อังกฤษยังมีโครงการพัฒนาตอร์ปิโดรุ่นอื่น นั่นก็คือตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด 533 มม. Mark 20 Bidder ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ติดตั้งระบบนำวิถี Passive Sonar ระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 11 กิโลเมตร ที่ความเร็ว 20 น๊อต ตอร์ปิโดรุ่นนี้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม สามารถติดตั้งบนเรือผิวน้ำขนาด 1,000 ตันได้อย่างสบาย และได้เข้าประจำการทร.อังกฤษในปี 1955 บนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 14 Blackwood และชั้น Type 12 Whitby ตามลำดับ
เรือฟริเกตชั้น Type 12 Whitby ของอังกฤษ ติดตั้ง Mark 20 Bidder จำนวน 12 ท่อยิง โดยเป็นท่อยิงเดี่ยวจำนวน ท่อยิง และท่อยิงแฝดจำนวน แท่นยิง ก่อนถอดออกในภายหลัง
                ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mark 44 ของอเมริกาเข้าประจำการแล้วเช่นกัน แม้จะมีระยะยิงน้อยกว่า Mark 20 Bidder ทว่ามีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก ใช้งานได้ทั้งกับเรือผิวน้ำและอากาศยาน และมีความอเนกประสงค์มากกว่ากัน อังกฤษและออสเตรเลียได้คิดแก้ไขเรื่องระยะยิง ด้วยการพัฒนาอาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Ikara ขึ้นมา โดยใช้จรวดไร้คนขับขนาดใหญ่ติดตั้งตอร์ปิโด Mark 44 ใต้ท้องเครื่อง ก่อนจะกางปีกหลักออกหลังบินขึ้นไปบนฟ้า บนสุดของแพนหางติดตั้งเสาอากาศรับส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุ Ikara มีระยะปฎิบัติการณ์ไกลสุด 19 กิโลเมตร (ไม่รวมระยะปฎิบัติการณ์ของตอร์ปิโด) เข้าประจำการช่วงต้นทศวรรษ 1960 และกลายเป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำมาตราฐานทร.อังกฤษ ส่งผลให้ Mark 20 Bidder ไม่ได้ไปต่อ เรือที่ติดตั้งไปก่อนหน้านี้ได้ถูกทยอยถอด ก่อนปลดประจำการอย่างเงียบเชียบต้นทศวรรษ 1980
                อาวุธนำวิถีปราบเรือดำน้ำ Ikara มีทั้งข้อดีและข้อด้อยอย่างชัดเจน ข้อดีก็คือระยะปฎิบัติการณ์ ส่วนข้อด้อยก็คือต้องการพื้นที่มหาศาล การออกแบบเรือรบรุ่นใหม่จึงเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะต้องติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานพร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง บริษัทผู้ผลิตพยายามพัฒนาระบบท่อยิงเดี่ยว เป็นกล่องสี่เหลี่ยมเหมือนจรวดปราบเรือรบนี่แหละ แต่แล้วก็ต้องยกเลิกแผนการทั้งหมด Ikara ปลดประจำการต้นทศวรรษ 1980 ขณะที่ ASROC ของอเมริกาได้ไปต่อ ด้วยการพัฒนาให้ใช้งานกับระบบแท่นยิงแนวดิ่ง (Vertical Launching System) ได้
Ikara ถูกแทนที่ด้วยเฮลิคอปตอร์ปราบเรือดำน้ำ ซึ่งได้รับการพัฒนาให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น บรรทุกอาวุธและระบบตรวจจับได้มากขึ้น ระยะปฎิบัติการณ์ไกลขึ้นและบินได้นานขึ้น อังกฤษยังได้พัฒนาตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำของตัวเอง เพื่อใช้เป็นอาวุธประจำตัวเฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งติดตั้งบนเรือผิวน้ำทดแทน Ikara โดยได้รวบรวมข้อด้อยจ่าง ๆของตอร์ปิโด Mark 44 เพื่อใช้กำหนดคุณสมบัติอาวุธใหม่ล่าสุด โครงการที่มีชื่อว่า Stringray จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

                เนื่องจากมีประสบการณ์จาก Mark 44 มาก่อนแล้ว การพัฒนาจึงเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว โครงสร้างส่วนใหญ่ของตอร์ปิโดรุ่นใหม่ทำจากอลูมิเนียมอัลลอย ใส่หัวรบขนาดใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะใส่ได้ เพื่อรับมือกับเรือดำน้ำตัวถังสองชั้นของสหภาพโซเวียต ส่วนจมูกติดตั้งระบบนำวิถีและติดตามเป้าอัตโนมัติ ระบบโซนาร์สามารถส่งสัญญานได้ 4 รูปแบบ ได้แก่
 1.Board Band ใช้สำหรับตรวจจับเป้าระยะไกล และใช้เป็นระบบหลักในการปฏิบัติการในเขตน้ำลึก
2.Narrow Band ใช้เป็นหลักในการตรวจจับเป้าหมาย เมื่อต้องปฏิบัติการในเขตน้ำตื้น
3.Passive ใช้ตรวจจับเสียงซึ่งแพร่ออกมาโดยไม่ตั้งใจจากเป้าหมาย และในกรณีเป้าหมายทำมาตราการต่อต้าน
4.Heightsense ใช้ในการตรวจสอบความลึกของตอร์ปิโดเหนือพื้นท้องทะเล เมื่อต้องปฏิบัติการในเขตน้ำตื้น
                Stringray ใช้งานกับระบบท่อยิง PMW 49 A ผ่านเครื่องควบคุมการยิง LCC จากอังกฤษ สามารถใช้งานผ่านระบบท่อยิงของอเมริกาได้ โดยการปรับปรุงไอ้โน่นนิดไอ้นี่หน่อย การใช้งานง่ายกว่าตอร์ปิโดจากอเมริกามากมาย เพราะสามารถยิงตอร์ปิโดออกไปได้เลย โดยไม่ต้องจำเป็นต้องหันหัวเรือให้เข้ามุมยิง เมื่อได้รับข้อมูลเป้าหมายใต้น้ำจากระบบโซนาร์ เจ้าหน้าที่จะตั้งค่าการเดินทางสู่เป้าหมายให้กับตอร์ปิโด ได้แก่ ระดับความลึกของน้ำ ระยะทางที่ตอร์ปิโดเคลื่อนที่โดยไม่ส่งสัญญานหรือ Silent Mode (กำหนดได้มากสุดถึง 3,656 เมตร) รวมทั้งวิธีการค้นหาเป้าหมาย ซึ่งกำหนดได้ถึง 4 รูปแบบ ได้แก่ การค้นหาแบบวงกลม (Circular) ในน้ำตื้น การค้นหาแบบซิกแซก (Corridor) ในน้ำตื้น การค้นหาแบบวงกลมในน้ำลึก และการค้นหาแบบซิกแซกในน้ำลึก พร้อมกับคำนวนความเร็วลม ความเร็วเรือ ทิศทางและความเร็วของเป้าหมาย
เมื่อ Stringray ได้ถูกยิงลงสู่ท้องทะเล ระบบควบคุมอัตโนมัติจะเริ่มทำงานทันที ตอร์ปิโดจะขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อตรวจเช็คความห่างจากท้องทะเล จากนั้นจะดำลงไปสู่ระดับ 15 เมตรจากท้องทะเลในการปฎิบัติงานเขตน้ำตื้น หรือ 34 เมตรถึงระดับเหมาะสมในการปฎิบัติงานเขตน้ำลึก  การกำหนดว่าเป็นเขตน้ำตื้นหรือน้ำลึกนั้น โซนาร์ .Heightsense จะวัดระดับว่ามีความลึกเท่าไหร่ ถ้าน้อยกว่า 180 เมตรให้ถือเป็นเขตน้ำตื้น ถ้ามากกว่า 180 เมตรให้ถือเป็นเขตน้ำลึก จากนั้นตอร์ปิโดจึงเริ่มเดินทางตามข้อมูล แล้วเริ่มค้นหาเป้าหมายใต้น้ำด้วยระบบโซนาร์ ส่วนจมูกของ Stringray ติดตั้ง Transducer ถึง 31 ตัว สามารถส่งบีมพร้อมกันได้ถึง 8 บีมในโหมด Active และจำนวน 6 บีมในโหมด Passive สามารถโจมตีเป้าหมายได้ตั้งแต่ความลึก 40 เมตรจนถึง 700 เมตร นับเป็นตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำที่มีประสิทธิภาพสุงรุ่นหนึ่ง
               สี่เหลี่ยมสีแดงคือการทำงานในเขตน้ำตื้น สี่เหลี่ยมสีฟ้าคือการทำงานในเขตน้ำลึก โดยมีระดับความลึก 180 เมตรจากท้องทะเลเป็นตัวแบ่งเขต
Stringray เข้าประจำการในปี 1983 (มีรายงานในสงครามฟอคแลนด์ปี 1982 ว่า เรือหลวง HMS Antelope ที่โดนเครื่องบิน A-4 ของอาเจนติน่าทิ้งระเบิดจนจมนั้น มีตอร์ปิโด Stringray จำนวน 4 นัดอยู่บนเรือ) ปัจจุบันกองทัพเรืออังกฤษประจำการ Stringray Mod 1 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด ส่วนกองทัพเรือไทยประจำการ Stringray Mod 0 บนเรือรบจำนวน 6 ลำ ได้แก่ เรือหลวงคำรณสินธุ เรือหลวงทยานชล เรือหลวงล่องลม เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงสุโขทัย รวมทั้งเรือหลวงมกุฎราชกุมาร
              เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ติดตั้งระบบท่อยิง PMW 49 A แฝดสามพร้อมตอร์ปิโด Stringray Mod 0 เป็นอาวุธปราบเรือดำน้ำ

ตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ Mark 54 Lightweight Hybrid Torpedo (LHT)
            วันที่ 29 สิงหาคม 2016 บริษัท Raytheon ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เสนอข่าวว่า กองทัพเรือไทยจัดหาตอร์ปิโดรุ่น Mk. 54 จากบริษัท โดยไม่มีการเปิดเผยจำนวนหรือข้อมูลเชิงลึก ข่าวชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นนี้ช่วยชี้ทางสว่างให้กับผู้เขียน ถึงเรื่องอาวุธปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่ของทร.ไทย ว่าจะมีประสิทธิภาพสุงเทียบเท่าอารยประเทศ สามารถนอนหลับฝันดีโดยไม่มีสำลีแปะหัว เนื่องจากยังไม่ได้ประจำการอย่างเป็นทางการ จึงขอลงแค่ภาพอย่างเดียวแล้วกันนะครับ

บทส่งท้าย
บทความตอนต่อไปจะเป็นตอนสุดท้ายของอาวุธปราบเรือดำน้ำ ผู้เขียนพยายามที่จะใส่รวมกับตอนนี้แต่สุดท้ายก็จนด้วยเกล้า โดยเป็นเรื่องระบบโซนาร์และอากาศยานปราบเรือดำน้ำ ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ  ;)
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
 อ้างอิงจาก
ภาพประกอบอ้างอิงจาก