กองทัพเรือซาอุดิอาระเบีย
ตอนที่ 2 : สงครามในเยเมน
บทความเกี่ยวข้องกับกองทัพเรือซาอุดิอาระเบีย
ผู้เขียนได้เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 หรือ 19 เดือนที่แล้ว
สาเหตุเป็นเพราะไม่เคยเจอบทความภาษาไทยเลย จึงเขียนขึ้นมาเองหวังให้ตนเองเข้าใจเองก็ยังดี
ยอดอ่านบทความนี้มีน้อยตามที่คาดคิด แต่ที่ไม่ได้คาดคิดนั่นคือ…ยังมีผู้อ่านคลิกเข้าไปอ่านอยู่สม่ำเสมอ ครั้นเห็นว่ามีเรื่องราวเพิ่มเติมมากเพียงพอ
จึงตัดสินใจเขียนภาคสองต่อกันไป
กองเรือซาอุดิอาระเบียระหว่างการฝึก Gulf Shield 1 Exercise ในวันที่ 5 ตุลาคม 2016 ก่อนจะได้ปฎิบัติการจริงในอีก 6 เดือนถัดมา
Saudi Naval
Expansion Program II
กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียมีแผนใหญ่ในการปรับปรุงกองทัพ
ประกอบไปด้วย เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ MH-60R จำนวน 10
ลำ ซึ่งจะส่งมอบล๊อตแรกกันในปี 2018
เรือตรวจการณ์ความเร็วสุงยาว 45 เมตรจำนวน 20-24 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลจำนวน 3 ลำ
และอากาศยานไร้คนขับจำนวน 30-50 ลำ ยังอยู่ในระหว่างการจัดหา
เรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศขนาด 3,500 ตันจำนวน 4 ลำสั่งซื้อแล้ว และเรือฟริเกตอเนกประสงค์ขนาด
2,500 ตันจำนวน
6 ลำได้แบบเรือแล้ว
ซาอุดิอาระเบียได้สั่งซื้อเรือ Multi-Mission Surface Combatant (MMSC) พร้อมอาวุธจำนวน 4 ลำจากอเมริกา
มูลค่ารวมทั้งโครงการอยู่ที่ตัวเลข 11.25 พันล้าน
อาจไม่ใช่เรือรบระบบ Aegis ติดเรดาร์ SPY-1F ตามความต้องการหลัก ทว่าเรือติดตั้งอาวุธนานาชนิดจนล้นลำ
เหนือกว่าต้นแบบคือเรือ LCS ของอเมริกามากมายก่ายกอง
แบบเรือที่จัดแสดงอย่างเป็นทางการ MMSC ติดตั้งปืนใหญ่
Oto 76/62 มม.จำนวน 1 กระบอก ปืนกลควบคุมด้วยรีโมท Mk38 Mod 2 จำนวน 2 กระบอก (ซาอุเลือกปืนขนาด 20 มม.) ปืนกล 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด
SeaRAM จำนวน 1 ระบบ จรวดต่อสู้เรือรบ RGM-84 Harpoon Block II จำนวน 8 นัด จรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM
จำนวน 64 นัด (จากแท่นยิง VLS จำนวน 16 ท่อยิง) ตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำขนาด 324
มม.จำนวน 6 ท่อยิง เรดาร์ตรวจการณ์
3 มิติรุ่น TRS-4D AESA
Radar เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS-200 จำนวน 2 ตัว ระบบเป้าลวงจำนวน 4 จำนวนแท่นยิง ระบบเป้าลวงตอร์ปิโด
Nixie
AN/SLQ-25A โซนาร์ลากท้าย Variable Depth Sonar รุ่นใหม่
บนเสากระโดงมีระบบดาต้าลิงค์รุ่น Link-16
และระบบ ESM รุ่น WBR-2000
ทว่าไม่มีระบบสงครามอิเล็คทรอนิคส์ AN/SLQ-32 อาจเป็นไปได้ว่ารอรุ่นใหม่คือ
SEWIP Block 2 ที่ตอนนี้อเมริกายังไม่ขายให้กับพันมิตร
ทางด้านโครงการเรือฟริเกตอเนกประสงค์ขนาด
2,500 ตัน
พวกเขาเลือกแบบเรือ AVANTE 2200SA Combatant ซึ่งก็คือแบบเรือฟริเกต F-538 ของอู่ต่อเรือ Navantia นั่นเอง
เป็นแบบเรือรบอเนกประสงค์รุ่นใหม่ล่าสุดของบริษัท เอาชนะแบบเรือ DCNS ของฝรั่งเศสได้อย่างไรก็ไม่รู้ ซาอุดิอาระเบียต้องการเรือจำนวน 5 ถึง 6 ลำ ในวงเงิน 3.3 พันล้านยูโร
F-538 มีความยาว 113.2 เมตร กว้าง 15.6 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 3,800
ตัน มากกว่าเรือ MMSC ของอเมริกานิดหน่อย
และมากกว่าความต้องการคือ 2,500 ตันพอสมควร
Navantia จัดแสดงภาพเรือ F-538 เวอร์ชั่นซาอุในงาน NAVDEX 2017 มีความแตกต่างจากเวอร์ชั่นเปรูนิดหน่อย อาวุธและระบบเรดาร์ใกล้เคียงกับเรือ
MMSC แต่มีเรดาร์ควบคุมการยิง CEROS-200 เพียงตัวเดียว (จึงอาจใช้จรวดต่อสู้อากาศยาน VL Mica) ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด SeaRAM เปลี่ยนมาเป็น RAM 21 ท่อยิง (ไม่สามารถยิงสกัดโดยอัตโนมัติได้ ไม่มีระบบเรดาร์ค้นหาและล๊อคเป้าหมาย)
ปืนกล 12.7 มม.ใช้ระบบรีโมทควบคุม
ติดตั้งปืนกล Bofors MK4 ขนาด 40 มม.ทดแทน Mk38 Mod 2 ขนาด 20
มม.ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกเพราะไม่ใช่อาวุธมาตราฐาน
ถ้าซาอุดิอาระเบียสั่งซื้อเรือ F-538
โดยไม่มีการพลิกโผ จะถือเป็นการขายเรือรุ่นนี้ได้ครั้งแรกสุดของโลก
หลังจากเคยหัวใจสลายในโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสุงของไทย เริ่มคุ้นหน้าคุ้นตาเรือลำนี้กันหรือยัง
;)
Yemeni Crisis
ประเทศเยเมนมีพรมแดนติดกับซาอุดิอาระเบีย
เริ่มส่อเค้าความวุ่นวายจากการปฏิวัติในปี 2011
กระทั่งทำให้ประธานาธิบดีซอและห์ผู้นำเยเมนต้องลาออก ปิดตำนานผู้คุมกฎยาวนานถึง
20 กว่าปี เกิดการแบ่งก๊กแบ่งเหล่าแบบในหนังจีนเรื่องดัง
รองประธานาธิบดีฮาดีได้พยายามรวบรวมแผ่นดิน แล้วขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนถัดไป
แต่ทว่าในเดือนกันยายน 2014 ทหารจากกลุ่มฮูธีเข้ายึดเมืองหลวงเป็นที่สำเร็จ
ประธานาธิบดีฮาดีย้ายไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองเอเดน และใช้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศ
รวมทั้งประกาศจะขอสู้ต่อไปจนถึงที่สุด
ด้วยการสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าของกลุ่มอัล
เคดา และการสนับสนุนอย่างไม่ออกนอกหน้าของอิหร่าน รวมทั้งได้กลุ่มอัลกออิดะห์แห่งคาบสมุทรอาระเบีย
(AQAP) เข้ามาร่วมแจมต่อสู้ภายในพื้นที่
กองกำลังกลุ่มฮูธีซึ่งมีกำลังพลประมาณ 20,000 นาย สามารถยึดครองพื้นที่ฝั่งตะวันตกได้ทั้งหมด
ดินแดนสองในสามของประเทศกลายเป็นสนามรบ ทำให้เพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันเริ่มมีอาการก้นร้อน
จนไม่อาจทนนิ่งเฉยเหมือนที่เคยผ่านมา
วันที่
25 มีนาคม 2015
ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ บาร์เรน คูเวต จอร์แดน โมร็อคโค ยูเออี
รวมทั้งกาตาร์ ได้เริ่มปฎิบัติการทางอากาศครั้งแรกสุด ต่อกองกำลังกลุ่มฮูธีในพื้นที่ประเทศเยเมน
(ผู้เขียนขอเรียกว่ารัฐบาลกลุ่มฮูธีนะครับ) สงครามใหญ่อุบัติขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
การโจมตีทางอากาศดำเนินไปอย่างหนักหน่วง
ทั้งยังมีการปิดเส้นทางเดินเรือเข้าออกประเทศเยเมน เพื่อป้องกันคาราวานเรือขนอาวุธจากประเทศอิหร่าน
สปอนเซอร์หลักอย่างเป็นทางการของกลุ่มฮูธี
ถ้าอเมริกาคือผู้ให้กำเนิดกลุ่มการร้ายไอเอสที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
ซาอุดิอาระเบียอยู่เบื้องหลังกลุ่มหัวรุนแรงในหลายทวีป
อิหร่านก็คือผู้ช่วยเหลือกองกำลังติดอาวุธประเทศเพื่อนบ้าน และในเยเมนซึ่งเปรียบเสมือนหลังบ้านซาอุนั้น
อิหร่านให้ความช่วยเหลือกลุ่มฮูธีเยอะมาก เรียกว่าเทหมดหน้าตักรักหมดใจถึงไหนถึงกัน
ก่อนอื่นเลยมาดูแผนที่กัน
ซาอุดิอาระเบียมีพรมแดนฝั่งตะวันตกติดกับทะเลแดง
บังเอิญว่าทะแลแดงแม้จะยาวมากแต่ก็แคบมาก โดยมีช่องแคบบับเอลมันเดบซึ่งมีความกว้างเพียง
40 กิโลเมตร
เชื่อมต่อไปยังอ่าวเอเดนต่อด้วยทะเลอาหรับ ซึ่งต้องแล่นผ่านเขตน่านน้ำเยเมนไปก่อน
ถ้ารัฐบาลกลุ่มฮูธีปิดตายช่องแคบบับเอลมันเดบ ซาอุดิอาระเบียจะเป็นหนูติดจั่นเหมือนเอริเทเรีย
เราเคยได้ยินนิทานปิดอ่าวไทยมานักต่อนัก ซาอุก็คงมีนิทานปิดตายทะเลแดงเช่นกัน
แม้ว่ากลุ่มประเทศอาหรับจะไม่เข้าร่วมด้วยก็ตาม ผู้เป็นเจ้าของหินดำแห่งนครเมกกะ
มีความจำเป็นจะต้องเปิดศึกเพียงลำพัง
อ่าวเอเดนซึ่งมีโจรสลัดชุกชุมยิงกว่ายุง
และทะเลแดงซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเลแห่งเดียวของซาอุ เต็มไปด้วยเรือรบน้อยใหญ่จากกลุ่มประเทศอาหรับ
ลอยลำห่างฝั่งมากบ้างน้อยบ้างคละเคล้ากันไป ทหารรัฐบาลกลุ่มฮูธีซึ่งถูกขัดขวางเส้นทางขนส่ง
ได้แอบแวะมาเยี่ยมของพร้อมของขวัญเมดอินอิหร่าน
สงครามอ่าวเอเดนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ต่างฝ่ายต่างมีเขี้ยวเล็บแหลมคมไม่แพ้กัน
และพร้อมประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามให้แดดิ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของประเทศตน
Yemeni Forces Targeted and
Destroyed Saudi Warships
ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนธันวาคม 2015 รัฐบาลเยเมนของกลุ่มฮูธีรวมทั้งประเทศอิหร่าน
ได้แจ้งข่าวสารผ่านทุกช่องทางไปสู่ชาวโลก
ว่ากำลังฝ่ายตนยิงถล่มเรือรบซาอุดิอาระเบียจำนวน 7 ครั้ง
จมเรือรบได้ทั้งสิ้น 7 ลำเท่าการโจมตี
กระทั่งย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม 2016 ตัวเลขก็เพิ่มขึ้นเป็นการโจมตีจำนวน
13 ครั้ง จมเรือรบได้จำนวน 13 ลำ
พวกเขายังได้เผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านอินเตอร์เน็ต พร้อมคำอธิบายที่มาที่ไปของเรื่องราวตามภาพ
ผู้อ่านสามารถหาชมได้เดี๋ยวนี้เลย
การโจมตีจำนวนหลายครั้งที่เกิดขึ้น กลุ่มฮูธีอ้างว่าใช้จรวดต่อสู้เรือรบยิงใส่เป้าหมาย
ฉายา One Shot One Kill of The Red Sea ไม่ใช่ได้มาเพราะโชดช่วยหรือจับฉลากได้ กองแช่งซาอุทั่วโลกพากันยกย่องและกดไลค์
เทพเจ้าแห่งการรบยุคใหม่ถือกำเนิดขึ้นแล้ว นี่คือสิ่งที่อเมริกา รัสเซีย
รวมทั้งจีน ไม่มีวันทำได้สำเร็จ
เรือที่ถูกโจมตีและมีการระบุชื่ออย่างเป็นทางการ
ประกอบไปด้วย เรือขนส่งน้ำมันขนาด 11,800
ตันชื่อ Yunbou ของซาอุดิอาระเบีย
(ต่อมาได้แจ้งว่าเป็นเรือน้ำมันชื่อ Boraida) ลำที่สองคือเรือยอร์ชอายุ
150 ปี ชื่อ Al Mahrousa ของอียิปต์ ลำถัดไปเป็นเรือคอร์เวตชั้น Baynunah ของยูเออี
ซึ่งเป็นเรือรบใหม่เอี่ยมติดจรวดต่อสู้อากาศยาน ESSM
(แต่อิหร่านระบุว่าเป็นเรือรบซาอุดิอาระเบีย)
และลำสุดท้ายเป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำขนาด 4,000 ตันชื่อ Taba
ของอียิปต์ ซึ่งเป็นเรือเก่าโอนมาจากกองทัพเรืออเมริกา
ติดจรวดต่อสู้อากาศยาน SM-1 ได้มากสุดถึง 40 นัด
ภาพถ่ายเรือทั้ง 4 ลำที่โดนยิงจมน้ำไปแล้ว ผู้อ่านคนไหนบังเอิญไปเจอเข้า แนะนำให้รีบโกยเถอะเกย์อย่างไวที่สุด
กลุ่มฮูธีใช้จรวดต่อสู้เรือรบชนิดไหน และใช้อะไรในการโจมตีตามที่กล่าวอ้าง
ย้อนกลับไปในปี 1995 รัฐบาเยเมนได้จัดหาเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น
Type-021 Hounan จากประเทศจีนจำนวน 3 ลำ ระวางขับน้ำ 205 ตัน ยาว 38.6 เมตร กว้าง 6.8 เมตร ติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ C-801
จำนวน 4 นัดเป็นอาวุธเด็ด
จัดหาและเข้าประจำการใกล้เคียงกับเรือฟริเกตชั้นเจียงหูของบ้านเรา
ด้วยความเร็วที่สุงมากถึง 35 น๊อต และความคล่องตัวในการรบไม่ห่างจากฝั่งนัก
การลักลอบเข้าโจมตีบริเวณปากอ่าวเอเดน เป็นภารกิจสุดหมูตู้ของเรือจากจีนทั้งสามลำ
การโจมตีทั้ง
13 ครั้งตามที่ได้กล่าวอ้าง
ถึงตอนนี้ก็ล่วงเลยมาแล้วมากกว่าหนึ่งปี คลิปวิดีโอมากมายได้เผยแพร่อยู่ในยูทูป
บางคลิปใช้การตัดต่อกับเรือลำอื่นในการซ้อมรบที่อื่น บางคลิปโผล่มาให้อยากแล้วก็จากไป
ส่วนบางคลิปมีแต่ภาพเรือลอยลำอยู่ในทะเล ดูจนจบก็ไม่เห็นจะว่าจะมีอะไร สรุปความได้ว่า…ยังไม่ปรากฎหลักฐานชัดเจนของเรือทั้งสี่ลำ จึงต้องยกประโยชน์ให้จำเลยเอาไว้ก่อน
จนกว่าจะมีหลักฐานใหม่แล้วค่อยรื้อคดีอีกครั้ง
การโจมตีใส่เรือที่เดินทางผ่านช่องแคบ
ไม่ได้กระทำแค่เพียงเรือรบกลุ่มประเทศอาหรับเท่านั้น ยกตัวอย่างก็คือ วันที่ 1 มิถุนายน 2014 เรือลำเลียงขนาด 7,000 ตันของสหประชาชาติ
ซึ่งบรรทุกเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นไปยังเมืองเอเดน
ได้ถูกโจมตีจนเกิดการระเบิดบนเรือ ขณะแล่นห่างชายฝั่งประมาณ 1 ไมล์ทะเล มีผู้เสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
ไม่มีใครแสดงความรับผิดชอบตามคาด ทั้งที่การโจมตีมาจากพื้นที่ของกลุ่มฮูธี
แล้วการโจมตีต่อเรือรบกลุ่มประเทศอาหรับ
โดยเฉพาะเรือของซาอุมีจริงหรือเปล่า มีจริงแน่นอนเพราะอยู่ในสงครามนี่นา
การโจมตีส่วนใหญ่น่าจะใช้จรวดต่อสู้รถถัง ผู้โชดร้ายก็คือเรือขนาดเล็กของหน่วยยามฝั่ง
รวมทั้งเรือจากหน่วยปฎิบัติการพิเศษ การโจมตีบางครั้งอาจใช้จรวดต่อสู้เรือรบ
มีความเสียหายเกิดขึ้นจริงและมีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจริง
แต่ถึงขั้นเรือจมเลยหรือเปล่านั้น เป็นข้อกังขาที่ผู้เขียนไม่อาจพิสูจน์ได้
ทหารฮูธีซึ่งชอบอัพเดทโซเชียลเน็ตเวิร์คยิ่งกว่ารบ ไม่ได้นำหลักฐานที่ชัดเจนมาจัดแสดง
ก็เลยไม่กล้ายืนยันเหตุการณ์ทั้ง 13
ครั้ง ซึ่งอาจมีเรือโดนยิงจมหรือไม่มีอะไรเลยก็เป็นได้
กลับมายังเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี Type-021 กันอีกครั้ง
เป็นไปได้ไหมว่าจะมีการนำเรือออกไปโจมตี เพราะเรือจอดอยู่ในฐานทัพเมืองอัลฮุไดดะห์
ซึ่งเป็นเขตปกครองของรัฐบาลกลุ่มฮูธี
จรวดต่อสู้เรือรบ
C-801 ต้องใช้เรดาร์ควบคุมการยิง
ในการนำวิถีลูกจรวดไปสู่เป้าหมาย ต่างจากจรวดรุ่นใหม่ที่สามารถค้นหาเป้าด้วยตัวเอง
ทหารฮูธีซึ่งขับเรือรบออกจากท่ายังแทบไม่รอด
จะสามารถยิงจรวดโดนเป้าหมายได้เชียวหรือ กองทัพเรือไทยซ้อมยิงจรวด C-801 หลายครั้งเหมือนกัน และมีอยู่ 2 ครั้งจรวดตกน้ำด้วยสาเหตุโน่นนั่นนี่
ข้อมูลที่ผู้เขียนหาได้จาก
http://www.hisutton.com ปรากฎภาพเรือ Type-021 ของเยเมนจำนวน 2
ลำ จมครึ่งลำอยู่ในท่าเรือตั้งแต่ช่วงต้นปี 2015 (การโจมตีครั้งแรกเริ่มในช่วงเดือนตุลาคม 2015) ท้ายเรือว่างเปล่าไม่มีกล่องสี่เหลี่ยมซักใบ
เรือ Type-021 อีกลำที่ยังลอยเท้งเต้งอยู่ไม่ไกลนั้น
ไม่มีแท่นยิงจรวดต่อสู้เรือรบเช่นเดียวกับสองลำแรก
สาเหตุเป็นเพราะจรวดกลับบ้านเก่าหมดแล้ว C-801 จึงไม่น่าใช่ไอเท็มลับในสมรภูมินี้
ภาพซ้ายมือเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถี Type-021 จมอยู่ในน้ำ ภาพขวามือคือลำที่ยังไม่จมทว่าไม่มีจรวดต่อสู้เรือรบ C-801 แล้ว
คืนวันที่
1 ตุลาคม 2016
เร็วขนส่งความเร็วสุงชั้น HSV-2 Swift หมายเลข 9283928 ของกองทัพเรือยูเออี
โดนจรวดต่อสู้เรือรบวิ่งเข้าปะทะบริเวณหัวเรือ
การโจมตีเกิดขึ้นบริเวณช่องแคบบับเอลมันเดบ เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงและมีไฟใหม้ข้าวของบนเรือเสียหายพังพินาศภายในพริบตา
แต่ทว่าหัวรบขนาด 165 กิโลกรัมของจรวด
ไม่อาจทำให้เรือสองท้องระวางขับน้ำ 955 ตัน ลงไปนอนจมก้นอ่าวเอเดนได้อย่างใจหวัง
กลุ่มฮูธีออกมาประกาศก้องในทันที ว่าตนเองเป็นผู้ยิงเรือรบซาอุจมน้ำ (อีกแล้ว…เมิงไม่คิดจะใช้คำอื่นเลยนะ) พร้อมลงคลิปขั้นตอนการปล่อยจรวดจำนวนมาก
ตามนิสัยคนรุ่นใหม่ผู้ชอบแบ่งปัน
นี่คือชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของพวกเขา
หลังโดนทั่งโลกปรามาสว่าดีแต่สร้างคลิปหลอกเด็ก
ปฎิบัติการครั้งนี้สร้างขวัญกำลังใจขนาดมหึมา ให้กับกำลังพลทุกนายรวมทั้งพันธมิตรร่วมสงคราม
และปฎิบัติการครั้งนี้ส่งผลกระทบขนาดมหึมาด้วย เนื่องจากเป็นการเปิดช่องขนาดเบ้อเริ่มเทิ่ม
ให้กองทัพเรืออเมริกาเข้ามาในพื้นที่
Arleigh Burke Destroyer VS Noor
Missile
ถึงตอนนี้ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า HSV-2 Swift โดนยิงด้วยจรวดต่อสู้เรือรบรุ่น Noor (หรือจรวด C-802
ของจีน ที่ผลิตในประเทศอิหร่าน) จรวดวิ่งมาจากชายฝั่งประเทศเยเมน
โดยใช้เรดาร์บนบกตรวจจับเป้าหมาย อิหร่านคือผู้ขนจรวดข้ามน้ำข้ามทะเลมาส่ง
และนักรบกลุ่มฮูธีคือผู้ส่งจรวดไปยังผู้โชดร้าย เรือ HSV-2 Swift
มีแค่เพียงปืนกล 12.7 มม.จำนวน 4 กระบอก จะเอาอะไรไปรับมือกับการโจมตีด้วยจรวด
ต้องเป็นเรือรบติดอาวุธทันสมัยถึงจะคู่ควร
วันที่
3 ตุลาคม 2016
เรือจากกองทัพอเมริกาจำนวน 3 ลำ ได้แก่ USS
Mason (DDG-87) กับ USS Nitze (DDG-94)
ซึ่งเป็นเรือพิฆาตระบบเอจิสชั้น Arleigh Burke รวมทั้ง USS
Ponce (LPD-15) ซึ่งเป็นเรือสนับสนุกการยกพลขึ้นบกชั้น Austin
ได้ถูกส่งเข้ามาลาดตระเวนอย่างเป็นทางการ บริเวณทะเลแดงนอกชายฝั่งประเทศเยเมน
อเมริกาให้เหตุผลกิ๊บเก๋ยูเรก้า “เพื่อปกป้องสิทธิการเดินเรือโดยเสรีภาพ
และป้องกันการกระทำอันมิชอบจากกฎหมายสากล”
แล้วเหตุผลที่แท้จริงล่ะ
อเมริกาเข้ามายุ่งกับสงครามนี้เพื่ออะไร พวกเขาไม่ได้ต้องการโค่นล้มรัฐบาลกลุ่มฮูธี
ไม่ได้อยากช่วยซาอุดิอาระเบียหรือเยเมน ต้องการผลประโยชน์ในอนาคตหรือก็เปล่า เพราะที่พูดมาทั้งหมดอเมริกากระทำอยู่แล้ว
เหตุผลสำคัญที่สุดของภารกิจนี้ก็คือ
การซ้อมรบทางทะเลด้วยอาวุธจริงของอิหร่านนั่นเอง
จรวดต่อสู้เรือรบ Noor ที่ใช้ยิงเรือ HSV-2 Swift คืออาวุธประจำตัวเรือฟริเกตอิหร่านทุกลำ
จริงอยู่ว่ามันคือจรวด C-802 นั่นแหละ
ทว่าไม่เคยเปิดตัวในการรบอย่างเป็นทางการมาก่อน
กระทั่งกลุ่มฮูธีใช้ยิงเรือขนส่งความเร็วสุงของยูเออี
จึงมีข้อมูลของจรวดหลุดออกมามหาศาล ผู้เขียนขอใช้คำว่า "อเมริกาต้องการลองของ" น่าจะเหมาะสมที่สุด ไม่ว่าเรือล่อเป้าจะโดนยิงหรือหลบพ้นก็ตาม
พวกเขาจะได้รับข้อมูลจริงจากการรบจริง นำไปปรับปรุงป้องกันตัวเองในอนาคต
ปฎิบัติการเมียหลวงลวงสังหารจึงได้อุบัติขึ้น ต้องยอมรับใจลูกเรืออเมริกาในเรื่องนี้
วันที่
9 ตุลาคม 2016
ขณะลอยลำอยู่ไม่ห่างจากช่องแคบบับเอลมันเดบ USS Mason
(DDG-87) ถูกโจมตีด้วยจรวดต่อสู้เรือรบจำนวน 2 นัด ยิงมากจากพื้นที่รัฐบาลกลุ่มฮูธีตามนัดหมาย ระบบเรดาร์
AN/SPY-1D จับเป้าหมายได้ที่ระยะ 30 ไมล์ทะเล ปฎิบัติการป้องกันภัยทางอากาศเกิดขึ้นใน
90 วินาที มีการยิงจรวดต่อสู้อากาศยานระยะไกล SM-2 จำนวน 2 นัด จรวดต่อสู้อากาศยานระยะกลาง ESSM
จำนวน 1 นัด (นี่คือครั้งแรกสุดที่ ESSM ได้ถูกใช้งานจริง) มีการปล่อยเป้าลวงจรวด Nulka ซึ่งทันสมัยที่สุด
รวมทั้งเปิดระบบสงครามอิเล็คทรอนิคส์ AN/SLQ-32 (V)3 ตั้งแต่แรกเริ่มตรวจพบเป้าหมาย
จรวดทั้งสองนัดวิ่งไปไม่ถึงฝั่งฝัน
จรวดหนึ่งนัดถูก AN/SLQ-32 (V)3 ก่อกวนจนบินตกทะเลห่างจากเรือ 12 ไมล์ทะเล จรวดนัดที่สองซึ่งยิงตามมาในอีกหนึ่งชั่วโมง ไม่แน่ใจว่าโดนยิงตกหรือโดนก่อกวนตกทะเล
สรุปความได้ว่าถูกสกัดที่ระยะ 9 ไมล์ทะเล การรบในยกแรกอเมริกาชนะเลิศ
แม้จะยังไม่เข้าที่เข้าทางเท่าที่ควร
ทำไมระบบสงครามอิเลคทรอนิคจึงทำให้จรวดตกทะเล
พออธิบายง่าย ๆ ได้ประมาณนี้ บริเวณหัวจรวดติดตั้งระบบเรดาร์เพื่อใช้ทำงานหลายอย่าง
หนึ่งในนั้นก็คือใช้วัดระดับความสุงจากระดับน้ำ จรวดทุกนัดจะมีวิถีโคจรเหมือนกัน
อาทิเช่น เมื่อยิงออกไปแล้ว 5 กิโลเมตรจะบินสุง 30 เมตรจากระดับน้ำ
เมื่อตรวจจับเป้าหมายได้จะลดลงมาอยู่ที่ 10 เมตร อะไรประมาณนี้ AN/SLQ-32 (V)3 ได้เข้าไปแจมระบบเรดาร์ของจรวด
ว่าตอนนี้บินสุงจากระดับน้ำ 70 เมตรอยู่นะเธอ จรวดจึงลดระดับลงทั้งที่ความสุงคงเดิม
สุดท้ายตกน้ำป๋อมแป๋มหมดสภาพนักศึกษา อ่านดูแล้วง่ายดีนะครับ
แต่ในการรบจริงทำได้ยากมาก และอุปกรณ์ดังกล่าวก็มีราคาแพงมาก
รวมทั้งยังมีอีกหลายวิธีในการก่อกวนเป้ามหาย
วันที่
12 ตุลาคม 2016
ขณะลอยลำอยู่ไม่ห่างจากช่องแคบบับเอลมันเดบ USS Mason
(DDG-87) ถูกโจมตีด้วยจรวดต่อสู้เรือรบจำนวน 2 นัด การโจมตีครั้งที่สองมาจากเมือง Al Hudaydah เขตพื้นที่รัฐบาลกลุ่มฮูธีเช่นเคย
แม้จะเป็นการยิงที่ใกล้กว่าครั้งแรกก็ตาม ทว่าระบบเรดาร์บนเรือจับเป้าหมายได้แทบจะทันที
ปฎิบัติการป้องกันภัยทางอากาศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จรวดของอิหร่านวิ่งไปไม่ถึงฝั่งฝันคำรบสอง
จรวดนัดแรกคาดว่าบินตกทะเลเพราะ AN/SLQ-32 (V)3 จรวดนัดที่สองถูกยิงสกัดที่ระยะ 8 ไมล์ทะเล (น่าจะเป็นจรวด ESSM) ทุกระบบบนเรือรบอเมริกาทำงานได้สมบรูณ์แบบ
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับการป้องกันตนเอง อเมริกาใช้ทั้งจรวดต่อสู้อากาศยานและระบบสงครามอิเล็คทรอนิคส์พร้อมกัน
ทันทีที่ตรวจพบวัตถุลอยฟ้าความเร็วสุง เมื่อเป้าหมายโดนแจมกระทั่งตกน้ำไปก่อน
จรวดที่ยิงออกจากเรือจึงไม่มีเป้าหมายให้สกัด เป็นบทสรุปที่ดีเรื่องหนึ่งว่า ระบบสงครามอิเล็คทรอนิคส์มีความสำคัญไม่แพ้จรวดต่อสู้อากาศยาน
วันที่
13 ตุลาคม 2016
เวลาประมาณตี 4 USS Nitze (DDG-94) ซึ่งเป็นตัวประกอบมาตลอดสัปดาห์ ได้ระดมยิงจรวดโทมาฮอร์คจำนวนหนึ่ง เข้าสู่เขตพื้นที่การควบคุมรัฐบาลกลุ่มฮูธี
เป้าหมายก็คือฐานเรดาร์บนบกจำนวน 3 แห่ง
เป็นการเปิดฉากภารกิจ “ยิงมายิงกลับไม่โกง” โทมาฮอร์ควิ่งเข้าหาเป้าหมายแบบสะดวกโยธิน ฐานเรดาร์ทั้ง 3 แห่งถูกทำลายไม่ก็เสียหายหนัก เพราะจรวดติดตั้งหัวรบขนาด 450 กิโลกรัม อำนาจทำลายล้างสุงกว่าจรวด Noor สามเท่าตัว
วันที่ 13 ตุลาคม 2016 ขณะลอยลำอยู่ในทะเลแดงใกล้ซาอุ ห่างจากช่องแคบบับเอลมันเดบมากกว่าทุกครั้ง
ระบบเรดาร์บนเรือ USS Mason (DDG-87) แจ้งเตือนว่าถูกโจมตีด้วยจรวดเป็นครั้งที่สาม
AN/SLQ-32 (V)3 ถูกเดินเครื่องเต็มกำลัง
เพื่อทำสงครามอิเล็คทรอนิคส์เข้าใส่เป้าหมาย ไม่มีการยิงจรวดต่อสู้อากาศยานเข้าสกัด
ไม่มีการยืนยันจากทางการอเมริกา ว่าจรวดโดนแจมตกทะเลตั้งแต่ไก่โห่
หรือเป็นแค่เพียงอะไรซักอย่างบินผ่านสายตา การโจมตีครั้งท้ายสุดยังคงคลุมเครือ
ว่าเกิดขึ้นจริงนะหรือลูกเรือระแวงไปเอง จากนั้นไม่นานกองเรืออเมริกาเดินทางกลับ
ไม่มีแม้แต่รอยเล็บแมวบนเรือทั้ง 3 ลำ
เป้าล่อจรวดราคา 1.2 พันล้านเหรียญ ติดตั้งปืนกลควบคุมด้วยรีโมท Mk38 Mod 2 จำนวน 2 กระบอก ปืนกล 12.7 มม.จำนวน 6 กระบอก เพื่อป้องกันเรือเล็กลักลอบเข้าโจมตี ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
Trick or Treat
วันที่ 30 มกราคม 2017 ระว่างที่เรือฟริเกตหมายเลข
702 ชื่อ Al Madinah ซึ่งเป็นเรือฟริเกตอาวุธนำวิถีของซาอุดิ
กำลังลาดตระเวนอยู่ไม่ไกลจากเมืองอัลฮุไดดะห์
ทิศตะวันตกของประเทศเยเมน ซึ่งเป็นพื้นที่ในการควบคุมของรัฐบาลกลุ่มฮูธี
ได้เกิดการระเบิดด้านท้ายเรืออย่างรุนแรง ทำให้ท้ายเรือได้รับความเสียหายทันควัน
ทางการอิหร่านและซาอุเสนอข่าวนี้ใกล้เคียงกัน
โดยไม่ได้ระบุสาเหตุเพราะยังไม่มีข้อมูลเหมือนกันด้วย ทว่าข่าวจากกลุ่มฮูธีมาเร็วเคลมเร็วเช่นเคย
ว่าตนเองเป็นผู้ยิงจรวดใส่เรือรบซาอุจนจมทะเล มีการเผยแพร่คลิปการระเบิดด้านท้ายเรือ
มีการส่งต่อทั่วโลกโดยไม่เช็คข้อมูลให้ดีเสียก่อน เฉพาะในไทยผู้เขียนนับได้มากเกินสิบราย
แต่ละรายพาดหัวเหมือนกันทุกประโยค ราวกับใช้คาถาเวทย์มนต์ชื่อ Copy and Paste
แค่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น
คดีนี้เกิดพลิกผันราวกับละครน้ำเน่า มีการเปิดเผยภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดบนเรือ
แสดงให้เห็นลานจอดพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่ง ห่างไปไม่ไกลมีเรือยางขนาดเล็กจำนวน
3 ลำ สะกดรอยตามจากด้านหลังฝั่งขวามือ
หนึ่งในนั้นแล่นเข้าใกล้ด้วยความเร็วสุง และทำการระเบิดตัวเองเมื่อเข้าใกล้เป้าหมาย
สรุปก็คือ…เรือฟริเกต Al Madinah โดนโจมตีด้วยเรือยางติดระเบิดควบคุมด้วยรีโมท
นี่คือของเล่นรุ่นใหม่ล่าสุดจากกลุ่มฮูธี
ซาอุดิอาระเบียมีเรือฟริเกตชั้น Al Madinah จำนวน 4 ลำ ระวางขับน้ำสุงสุด 2,610 ตัน ยาว 115 เมตร กว้าง 12.5 เมตร ต่อขึ้นในฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1985
โดยใช้แบบเรือฟริเกตอเนกประสงค์ Type F-2000S เป็นเรือรบจากยุคสงครามเย็นอย่างแท้จริง
ออกแบบมาเพื่อปฎิบัติการในทะเลลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กับสงครามอสมมาตรในปัจจุบัน
เรือค่อนข้างล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์ทั้งหลายทั้งปวง รวมทั้งไม่ค่อยเหมาะสมกับปฎิบัติการใกล้ชายฝั่ง
การทำสงครามไม่มีข้อแก้ตัวใด
ๆ ทั้งสิ้น ก่อนส่งเรือฟริเกตออกมาทำภารกิจนั้น ซาอุได้พยายามปรับปรุงจุดด้อยของเรือแล้ว
อย่างที่พวกเราและคนทั่วโลกทราบกันดี ว่าบริเวณกลางเรือและท้ายเรือคือจุดบอดสำคัญ Al Madinah ติดตั้งปืนกล Breda
Bofors 40 มม.ลำกล้องแฝดบริเวณกลางลำ
จุดอ่อนจึงเหลือแค่เพียงท้ายเรือเท่านั้น พวกเขาก็เลยติดปืนกล 12.7 มม.เพิ่มเติม
เหมือนกันกับกองทัพเรืออเมริกาหรือไทยนั่นแหละ
ในเมื่อมีมาตราการป้องกันตัวเองอยู่แล้ว
ทำไมถึงถูกเรือเล็กโจมตีง่ายดายนัก ขอย้อนกลับไปยังปี 2015 กันอีกครั้ง ทั้งเรือคอร์เวตชั้น
Baynunah ของยูเออี และเรือฟริเกตชั้น OHP
ของอียิตป์ เคยถูกเรือยางกลุ่มฮูธีสะกดรอยตามบ่อยครั้ง เรือซาอุก็โดนสะกดรอยเช่นกัน
โดยเรือยางจะแล่นตามหลังซักพักหนึ่งแล้วจากไป
ทว่าคราวนี้ไม่เหมือนคราวโน้นหรือคราวไหน
เรือยางทั้งสามลำได้แปรขบวนรบเพื่อพุ่งโจมตี ตรงนั้นเองเป็นจุดติดตั้งปืนกล 12.7 มม.เพิ่มเติม
แต่ทว่าไม่มีพลยิงประจำการอยู่ที่ปืน ด้วยสาเหตุอะไรก็ช่างเถอะ การโจมตีจึงสำเร็จอย่างง่ายดาย
ลูกเรือเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 3 ราย บริเวณท้ายเรือมีร่องรอยจากการระเบิด หนึ่งอาทิตย์ต่อมาเรือฟริเกต
Al Madinah เดินทางกลับฐานทัพ ผู้บัญชาการเดินทางมามอบพวงมาลัย
รวมทั้งพิธีต้อนรับยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรี
สงครามทุ่นระเบิด
แม้กองทัพเรือซาอุจะถูกกระตุกหนวดแมวครั้งใหญ่
แต่การรบในประเทศเยเมนตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง
กองกำลังของกลุ่มฮูธีถูกโจมตีอย่างหนัก
ทั้งจากเครื่องบินทันสมัยและรถถังรุ่นใหม่จำนวนมาก กำลังทหารเยเมนจากฝั่งรัฐบาลฮาดี
ยึดครองพื้นที่ตอนเหนือของประเทศได้มากขึ้น ผลักดันฝ่ายตรงข้ามถอยร่นมากองรวมกัน ชายแดนซาอุปลอดภัยมากกว่าเดิม
จึงมีเวลาคิดแผนแก้เกมส์การยุทธนาวี ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็มีการแก้เกมส์เช่นกัน
หลังโดนของหนักจากอเมริกาจนอ่วม
ไม่ปรากฎจรวดต่อสู้เรือรบ Noor ในเขตทะเลแดงอีกต่อไป
กลุ่มฮูธีเปลี่ยนมาใช้เรือยางติดระเบิดทดแทน ซึ่งแม้จะได้ผลโด่งดังโลกก็ตาม
ทว่าเรือซาอุแทบไม่เกิดร่องรอยความเสียหาย พวกเขาต้องการอะไรที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม
และได้ของที่ว่ารวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม
แผนที่สถานการณ์ในประเทศเยเมนวันที่ 9 มกราคม 2017 ทหารกลุ่มทหารฮูธีสูญเสียพื้นที่ติดซาอุดิอาระเบียจำนวนมาก
วันที่
4 กุมภาพันธ์ 2017
อเมริกาได้กลับสู่ทะเลแดงอีกครั้ง
พวกเขาไม่ได้ขนกองเรือเข้ามาหรอกนะครับ แต่ออกคำเตือนไปยังเรือสินค้าเอกชนทุกลำ
ให้ระวังทุ่นระเบิดใต้น้ำของกองกำลังกลุ่มฮูธี
ซึ่งวางไว้บริเวณช่องแคบบับเอลมันเดบ เลยมาจนถึงท่าเรือโมกาประเทศเยเมน
เพื่อโจมตีเรือทุกลำที่ดันทะเล่อทะล่าวิ่งมาโดน
วันที่
8 มีนาคม 2017
เรือประมงลำหนึ่งแล่นไปชนทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำรอยต่อประเทศซาอุ
ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย
เรือประมงเสียหายหนักและจมในเวลาต่อมา
วันที่
10 มีนาคม 2017
เรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งเยเมน แล่นไปชนทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำตนเอง
มีผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย บาดเจ็บ 8 ราย
เรือเสียหายหนักต้องลากเข้าสู่ฝั่ง
กลุ่มฮูธีได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ
ทว่าคราวนี้ไม่มีการเผยแพร่คลิปนะครับ จรวดต่อสู้เรือรบหายไปแล้ว
ทุ่นระเบิดจำนวนมากโผล่เข้ามาแทนที่ อาวุธชนิดใหม่มีอันตรายไม่แพ้ของเก่า
อีกทั้งเป็นภัยคุกคามต่อการเดินเรือพาณิย์ ซึ่งใช้ขนส่งทั้งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติไปให้ลูกค้า
ผู้สูญเสียผลประโยชน์มากสุดก็คือ คนซาอุดิอาระเบียทั้งประเทศนั่นเอง
วันที่
25 มีนาคม 2017
กองเรือทุ่นระเบิดซาอุดิอาระเบีย
อันประกอบไปด้วยเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Sandown จำนวน 3
ลำ ซึ่งต่อจากอังกฤษติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัยเต็มลำ ได้ออกปฎิบัติการกวาดทุ่นระเบิดในทะเลแถบเมืองโมกา
โดยมีเจ้าหน้าที่เยเมนร่วมทำภารกิจด้วยกัน ท่ามกลางการอารักขาจากเรือรบซาอุจำนวนหลายลำ
คราวไม่ใช้เรือฟริเกตชั้น Al Madinah ที่เคยสร้างชื่อเสียให้กับซาอุแล้วนะครับ
ผลการทำงานอย่างหนักในวันที่
25 มีนาคม 2017
สามารถตรวจพบและกู้ทุ่นระเบิดได้เป็นจำนวนมาก ทุ่นระเบิดส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างเก่า
ออกแบบมาเพื่อใช้กับเรือดำน้ำสมัยพระเจ้าเหา ก่อนถูกดัดแปลงเพื่อใช้งานบนเรือผิวน้ำ
เยเมนไม่เคยมีเรือดำน้ำแต่ดันมีทุ่นระเบิดสำหรับเรือดำน้ำ(นี่ก็ไอเท็มลับชิ้นใหม่ของทร.ไทย) ปริศนาข้อนี้พอเดากันได้ไม่ยากนัก
ภายในห้องโซนาร์ของเรือกวาดทุ่นระเบิดซาอุดิอาระเบีย ต้องใช้คีย์บอร์ดนะครับไม่ใช่หน้าจอสัมผัส มุมบนขวาคือทุ่นระเบิดที่ค้นพบในอ่าวเอเดน หวังว่าของเรือดำน้ำเราจะดีกว่านี้
กองทัพเรือซาอุยังคงกวาดทุ่นระเบิดต่อไป
เพราะมีเยอะมากเรือประมงโดนลูกหลงบ่อยครั้ง ทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกกระดากอายขึ้นมา
จึงหันไปปรึกษากับอเมริกาเพื่อนผู้แสนดี วันที่ 16 เมษายน 2016 กองทัพเรือเยเมนได้เริ่มปฎิบัติการธนูทะเล
หรือ Operation Naval Arrow เพื่อทำการกวาดทุ่นระเบิดของกลุ่มฮูธี
ให้หมดไปจากน่านน้ำประเทศตนเอง
เยเมนมีเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Yevgenia จำนวน 2 ลำ และชั้น Natya จำนวน 1 ลำ เรือจากโซเวียตอายุรวมกันประมาณ
150 ปี พวกเขาจึงใช้เรือชนิดอื่นเข้ามาเสริมทัพ ติดตั้งอุปกรณ์กวาดทุ่นระเบิดที่อเมริกาให้ยืม
ด้วยแนวความคิดที่ว่า "เรือทุกลำสามารถเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดได้อย่างน้อยหนึ่งครั้ง" ปฎิบัติครั้งใหญ่ที่สุดประสบความสำเร็จเท่าที่สามารถทำได้
วันที่
1 พฤษภาคม 2017
เรือประมงลำหนึ่งแล่นชนทุ่นระเบิดลูกหนึ่ง
เกิดการระเบิดขึ้นหนึ่งครั้งคร่าชีวิตลูกเรือหนึ่งนาย เจ้าหน้าที่นายหนึ่งของเยเมนแจ้งว่า
เป็นทุ่นระเบิดเรือดำน้ำลูกหนึ่งจากเจ้าเก่าเจ้าเดิม
สงครามทุ่นระเบิดยังคงมีมาถึงปัจจุบัน
ทั้งในน่านน้ำและบนแผ่นดินประเทศเยเมน กองทัพเรือซาอุยังคงทำภารกิจกวาดทุ่นระเบิด
ซึ่งแม้จะเป็นรุ่นเก่าทว่าฤทธิ์เดชไม่เก่าตามอายุ ได้แต่หวังใจว่าทุ่นระเบิดจะหมดไปโดยเร็ววัน
กลับมาทำยุทธนาวีด้วยจรวดต่อสู้เรือรบเหมือนเดิมยังดีเสียกว่า พลเมืองเยเมนจะได้ไม่โดนลูกหลงเฉกเช่นทุกวันนี้
ใครลืมปิ่นโตสนามเอาไว้ มารับได้ที่เยเมนตลอด 24 ชั่วโมง
เปลี่ยนแผนเปลี่ยนพระเอก
หลังเกิดเหตุการณ์เสียหน้าปลายเดือนมกราคม
กองทัพเรือซาอุเปลี่ยนแผนใหม่แทบจะทันที โดยได้หันมาใช้บริการเรือตรวจการณ์ชั้น Al Saddiq จำนวน 9 ลำ และเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ชั้น Badr จำนวน 4
ลำมากกว่าเดิม ส่วนเรือฟริเกตก็ยังใช้งานนะครับ
แต่เป็นภารกิจห่างไกลจากชายฝั่ง และได้รับคำสั่งให้ยิงทุกอย่างที่ลอยเข้าใกล้
เรือชั้น Al Saddiq และเรือชั้น Badr มีความกระทัดรัดคล่องตัว ทำการรบใกล้ฝั่งได้ดีกว่าเรือของหน่วยยามฝั่ง จริงอยู่ว่าเรือไม่ได้ติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยานเหมือนเรือฟริเกต
ทว่ามีทั้งปืนใหญ่ขนาด 76 มม.จรวดต่อสู้เรือรบ
Harpoon ปืนกลขนาด 20 มม.ปืนกลขนาด
12.7 มม.เครื่องยิงจรวดขนาด 40 มม.ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด Phalanx รวมทั้งระบบสงครามอิเลคทรอนิคส์ AN/SLQ-32 (V)1 และแม้ว่าเรือจะเริ่มเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1981 (อายุน้อยกว่าเรือหลวงราชฤทธิ์ของเราเพียง 2 ปี) ทว่าเขี้ยวเล็บยังคงแหลมคมเหมือนเดิมทุกประการ
อีกทั้งมีโน่นนั่นนี่ไว้เพื่อป้องกันตัวเอง
ทั้งคนในกองทัพและผู้เชี่ยวชาญทางการทหารทั่วโลก
ต่างออกมาพูดไปในแนวทางเดียวกันว่า สงครามอิเลคทรอนิคส์ หรือ Electronics Warfare (EW) มีความสำคัญมากต่อกองทัพซาอุดิอาระเบีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ซึ่งต้องทำภารกิจเสี่ยงภัยอยู่เหนือทะเลแดง
จำเป็นต้องมีระบบ EW ที่ดีที่สุดติดตัวไปด้วย ผู้เขียนจึงได้เห็นเรือตรวจการณ์ขนาด
500 ตัน ติดตั้งทั้ง AN/SLQ-32 (V)1 และ Phalanx ถือเป็นบุญตาวาสนาเหลือเกิน
พระเอกอีกคนก็คือเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ชั้น
Badr ซึ่งกองทัพเรือประเทศอื่นเรียกว่าเรือคอร์เวต
เพราะมีระวางขับน้ำมากถึง 1,038 ตัน ยาว 75 เมตร กว้าง 9.6 เมตร ติดอาวุธครบครันเหมือนเรือชั้น Al
Saddiq รวมทั้งระบบโซนาร์และตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำ ถูกต่อขึ้นโดยอู่ต่อเรือทาโคม่าประเทศอเมริกา
เป็นญาติสนิทกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์ของเราเอง เรือชั้น Badr ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ
AN/SPS-40B ตรวจจับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ไกลสุด 400 กิโลเมตร จึงถูกใช้เป็นเรือธงของกองเรือตรวจการณ์
รวมทั้งกองเรือกวาดทุ่นระเบิดซึ่งต้องทำภารกิจทุกวี่วัน
วันที่
17 เมษายน 2016
เรือตรวจการณ์ชั้น Al Saddiq (ไม่ได้ระบุชื่อและหมายเลข)
ลอยลำอยู่ไม่ไกลจากเมืองญีซานประเทศตนเอง ได้มีเรือเล็กจำนวน 3 ลำจากฝั่งเยเมน แล่นซิกแซกเกาะกลุ่มเข้ามาในเขตน่านน้ำซาอุ นอกจากเปลี่ยนมาใช้เรือเล็กทำภารกิจแล้ว
ซาอุยังเปลี่ยนมาใช้ยุทธวิธีการรบยุคดั้งเดิม เมื่อเข้าสู่ระยะอันตรายตามที่กำหนด
เรือตรวจการณ์จึงเริ่มระดมยิงใส่เป้าหมาย ผลสุดท้ายตามภาพเลยครับ
การใช้เรือยาง
3 ลำวิ่งแปรขบวนเข้าโจมตี
เป็นสิ่งที่ซาอุเคยโดนมาแล้วเมื่อต้นปี พวกเขาเปลี่ยนมาเป็นโหมดโหดคือยิงก่อนถาม
ซึ่งอันที่จริงก็ควรจะทำแบบนี้ตั้งนานแล้ว ผู้เขียนไม่ทราบว่าเรือยางโดนยิงด้วย
ปืนใหญ่ขนาด 76 มม.ปืนกลขนาด 20
มม.ปืนกลขนาด 12.7 มม.เครื่องยิงจรวดขนาด 40 มม.หรือระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด
Phalanx กันแแน่ แต่คงไม่ใช่จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ร้อยเปอร์เซนต์ เพราะเป้าหมายอยู่ใกล้มากเกินไป
ทั้งยังราคาถูกกว่าจรวดไม่รู้กี่ร้อยเท่า
คุยกันส่งท้าย
สงครามในเยเมนที่ซาอุดิอาระเบียเข้าไปยุ่งเกี่ยว
สร้างเสริมประสบการณ์การรบให้กับทหารทุกเหล่าทัพ ในส่วนกองทัพเรือมีภารกิจปิดล้อมเส้นทาง
รวมทั้งกวาดทุ่นระเบิดจำนวนมากในทะเล ซึ่งแม้จะเป็นรุ่นเก่าจัดการไม่ยากนัก แต่ก็มีอันตรายและต้องทำอย่างเป็นขั้นตอน
กองเรือทุ่นระเบิดซึ่งมีขนาดพอสมควร
ได้เรียนรู้มากมายจากทุ่นระเบิดจริงในสนามรบจริง เป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้ในการซ้อม
เกิดความชำนิชำนาญมากขึ้นทันตาเห็น
กองเรือตรวจการณ์ก็ได้ประสบการณ์เช่นกัน
พวกเขาซึ่งเคยเป็นตัวประกอบตัวเล็กตัวน้อย ได้ก้าวเข้ามาเป็นพระเอกคนใหม่ของวงการ ทั้งยังตั้งคำถามทหารเรือทั่วโลกอีกว่า
เรือรบขนาดเล็กติดอาวุธเต็มลำยังจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะในปัจจุบันกองทัพเรือแทบจะทั้งหมด
เน้นเรือขนาดใหญ่ขึ้นและทำภารกิจได้หลากหลายขึ้น ส่วนเรือขนาดเล็กติดแค่เพียงอาวุธปืนทั่วไป
ดีที่สุดก็คือปืนใหญ่ 76 มม.รุ่นยอดนิยม การป้องกันตัวเองจากจรวดต่อสู้เรือรบ ขอใช้คำว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
กองทัพเรือซาอุดิอาระเบียในอนาคต
จะเข้าประจำการเรือ Multi-Mission Surface Combatant
(MMSC) ทดแทนเรือฟริเกตชั้น Al Madinah เข้าประจำการเรือ
F-358 ทดแทนเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ชั้น Badr และใช้เครื่องบินขับไล่โจมตี F-15SA จำนวน 152 ลำ ทำภารกิจโจมตีทดแทนเรือตรวจการณ์ชั้น Al
Saddiq สำหรับเรื่องสุดท้ายยังมีการพลิกโผได้ ซาอุอาจเปลี่ยนใจจัดหาเรือเล็กติดอาวุธล้นลำ
เช่นเดียวกับอียิปต์และยูเออีก็เป็นได้
กองทัพเรือซาอุยังมีเรือฟริเกตชั้น Al Riyadh หรือ Type F-3000
อีกจำนวน 3 ลำ เป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่สุด
ใหม่ที่สุด ทันสมัยที่สุด และติดตั้งอาวุธที่ดีที่สุด เรือฟริเกตชั้น Al
Riyadh จะยังคงประจำการไปอีกอย่างน้อย 20 ปีเต็ม
หันมาดูเรือดำน้ำเป็นเรื่องท้ายสุด
พวกเขายังไม่เคยมีประจำการมาก่อน อาจเป็นเพราะทะเลแดงมันแคบกระมังครับ เคยมีข่าวว่าซาอุสนใจซื้อเรือดำน้ำเยอรมัน
และซาอุสั่งซื้อเรือดำน้ำขนาด 400 ตันจากเกาหลีใต้ แต่ที่มาแรงแซงทางโค้งในปีนี้ก็คือ มาเลเซียได้ออกปากชวนอย่างเป็นทางการ
ให้ซาอุส่งเจ้าหน้ามาฝึกกับเรือดำน้ำตนเอง ต้องรอดูกันไปว่าจะเป็นจริงหรือไม่
บทความเรื่อง
กองทัพเรือซาอุดิอาระเบีย 2 : สงครามในเยเมน มีความยาวค่อนข้างมากชนิดอ่านกันตาแฉะ ส่วนจะมีตอนที่ 3
หรือเปล่านั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในเยเมนเป็นเรื่องสำคัญ
ตามอ่านเพื่อเป็นกำลังใจกันต่อไปนะครับ ;)
เรือตรวจการณ์ชั้น Al Saddiq หมายเลข 511 ชื่อ Al Saddiq ติดตั้งระบบสงครามอิเลคทรอนิคส์ AN/SLQ-32 (V)1 บริเวณด้านหน้าเสากระโดง และระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด Phalanx ด้านท้ายสุดของเรือ
---------------------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น