วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2567

Patrol Boats Made in Myanmar

 

กองเรือตรวจการณ์กองทัพเรือพม่าในยุค 80 ประกอบด้วยเรือตรวจการณ์จากประเทศจีน ยูโกสลาเวีย และเรือมือสองจากสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ  ระบบอาวุธบนเรือมีทั้งของสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ยูโกสลาเวีย และรัสเซีย ต่อมาในปี 1983 เรือตรวจการณ์สร้างเองในประเทศ  2 ลำแรกเข้าประจำการ เป็นเรือที่พม่าสร้างเองโดยปรับปรุงจากเรือตรวจการณ์สหรัฐอเมริกา ยอดรวมการสร้างเรืออยู่ที่ 6 ลำถือว่ากำลังเหมาะสม

ต่อมาในปี 1991 กองทัพเรือพม่าขึ้นโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่กว่าเดิม ใช้พื้นที่อู่ต่อเรือทหารเรือเมืองย่างกุ้งในการสร้างเรือตามภาพประกอบที่หนึ่ง ได้รับความช่วยเหลือจากวิศวกรชาวจีนจำนวนหนึ่งซึ่งเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ ฉะนั้นทั้งแบบเรือและระบบอาวุธบนเรือย่อมอ้างอิงประเทศจีนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ปี 1991 กองทัพเรือพม่าไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพึ่งพาจีน เนื่องจากพม่าอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร ตอนนั้นจีนเองก็ยังไม่เชี่ยวชาญเรื่องสร้างเรือรบมากเท่าปัจจุบัน ฉะนั้นการคาดเดาแบบเรือที่จีนให้ความช่วยเหลือพม่าจึงไม่ใช่เรื่องยาก

โครงการเฟสหนึ่ง

ปี 1996 เรือตรวจการณ์พม่าสร้างเองจำนวน 5 ลำเข้าประจำการ โดยใช้หมายเลข 551 ถึง 555 และใช้ชื่อเรือว่า UMS 551 ถึง UMS 555 เรื่องนี้ผู้เขียนอยากขยายความสักเล็กน้อย วันกองทัพเรือพม่าซึ่งมักจัดในวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี เรือทุกลำที่ได้รับมอบในปีนั้นต้องประกอบพิธีเข้าประจำการโดยพร้อมเพรียง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการอวดกำลังพลให้คนในชาติได้รับรู้ ธรรมเนียมนี้กองทัพอากาศพม่าได้นำไปใช้งานเช่นเดียวกัน

กลับมาที่เนื้อหาบทความกันอีกครั้ง แม้กองทัพเรือพม่าจะสร้างเรือเข้าประจำการแล้วถึง 5 ลำ แต่กลับไม่มีข้อมูลเรือรวมถึงชื่อชั้นเรือเล็ดลอดออกมา ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติจำเป็นต้องตั้งชื่อกันเองตามหลักการตัวเอง บางคนเรียกว่าเรือชั้น  No.551 เพราะเรือลำแรกคือเรือหมายเลข 551 บางคนเรียกว่าเรือชั้น 5-Series เพราะเรือใช้หมายเลข 5 นำหน้า ส่วนนิตยสาร Jane’s Fighting Ship ฉีกไปเรียกรวมๆ ว่า MYANMAR CLASS สำหรับชื่อเรือผู้เขียนขออนุญาตเรียกแบบไทยๆ ว่าเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้า

ภาพประกอบที่สองภาพบนคือเรือตรวจการณ์ UMS 553 ของกองทัพเรือพม่า ส่วนภาพล่างคือเรือตรวจการณ์ชั้น Type-062I ที่จีนขายให้กับกองทัพเรือติมอร์ตะวันออก Type-062I มีระวางขับน้ำ 175 ตัน ยาว 43 เมตร ติดตั้งปืนกล H/PJ17 30 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนกล 14.5 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก

จะเห็นนะครับว่าเรือสองลำหน้าตาเหมือนกันตั้งแต่หัวจรดท้าย

ข้อมูลจากนิตยสาร Jane’s Fighting Ship ระบุว่า เรือตรวจการณ์ UMS 553 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 213 ตัน ยาว 45 เมตร กว้าง 7 เมตร กินน้ำลึก 2.5 เมตร ผู้เขียนจะใช้ข้อมูลนี้เป็นหลักในการเขียนบทความ (รวมทั้งภาพวาดเรือชุดนี้ในอดีตเมื่อหลายปีที่แล้ว) ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัวของบริษัท Mercedes Benz ประเทศเยอรมัน เพียงแต่ไม่ทราบรุ่นและกำลังเรื่อง ความเร็วสูงสุดไม่มีข้อมูลชัดเจนแต่คาดว่าไม่เกิน 30 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 1,800 ไมล์ทะเลที่ความเร็วเดินทาง โดยใช้ลูกเรือจำนวน 34 นาย

มาดูระบบอาวุธป้องกันตัวกันบ้าง หัวเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 37 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น Type 76A เหมือนเรือหลวงกระบุรี  ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Type 341 Rice Lamp เหมือนเรือหลวงเจ้าพระยา ส่วนปืนรองเป็นปืนกลขนาด 25 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น Type 61A จำนวน 3 กระบอก โดยมีเรดาร์เดินเรือจำนวน 1 ตัวบนยอดเสากระโดง

นิตยสาร Jane’s Fighting Ship กำหนดให้เรือชั้นนี้เป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งหรือ Coastal Patrol Craft ทว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตหลายแห่งระบุว่าเรือชั้นนี้คือเรือเร็วโจมตีหรือ Fast Attack Craft แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยควรเป็นเรือตรวจการณ์มากกว่า เพราะเรือถูกปรับปรุงจากเรือตรวจการณ์ชั้น ชั้น Type-062I โดยมีความยาวเพิ่มขึ้นเพียง 2 เมตร

โครงการเฟสสอง

        เรือเฟสหนึ่งจำนวน 5 ลำช่วยให้กองทัพเรือพม่าเกิดความมั่นใจ ต่อมาในปี 2002 กองทัพเรือพม่าสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นห้าซีรีส์เพิ่มอีก 5 ลำแบ่งเป็น 3 รุ่นย่อย เริ่มต้นจากเรือ UMS 556 และ UMS 557 คือเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีเข้าประจำการปี 2004 ตามภาพประกอบที่สาม

        ข้อมูลจากนิตยสาร Jane’s Fighting Ship ระบุว่ายาว 45 เมตร เท่าเดิม แต่ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่าเรือความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 56 เมตร ผู้เขียนไม่สามารถวัดความยาวเรือด้วยสายตาเปล่าๆ ได้ ต้องนำมาจอดข้างเรือหลวงแหลมสิงห์แล้ววัดความแตกต่าง ถ้าสั้นกว่า 2 เมตรเท่ากับว่าเรือยาว 56 เมตร ถ้าสั้นกว่า 13 เมตรเท่ากับว่าเรือยาว 45 เมตร

        ข้ามเรื่องความยาวที่ไม่อาจพิสูจน์ได้มาดูของเล่นบนเรือกันดีกว่า เรือ UMS 556 ติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น AK-230 จำนวน 2 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก ท้ายเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-801 ระยะยิงไกลสุด 40 กิโลเมตรจำนวน 4 นัด เรือ UMS 556 และUMS 557 คือเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีลำแรกสร้างโดยพม่า เข้าประจำการก่อนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีลำแรกสร้างโดยคนไทยมากถึง 13 ปี

        ในเมื่อเขาสร้างก่อนย่อมเข้าประจำการก่อนอย่าคิดมาก

        ระบบเรดาร์บนเรือ UMS 556 จัดแน่นจัดเต็มไม่แพ้กัน ประกอบไปด้วยเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 จำนวน 1 ตัว เรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G จำนวน 1 ตัว ออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka จำนวน 2 ตัว และเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Type 352 Square Tie อีก 1 ตัวบนยอดเสากระโดง

        การติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีมาจากหลักนิยมกองทัพเรือสหภาพโซเวีนต จีนนำมาใช้งานบ้างส่วนพม่าก็ตามลายแทงลอกการบ้านจีนอีกที เรือฟริเกตชั้นเจียงหูกองทัพเรือไทยก็มี Type 352 Square Tie ใช้งานทั้ง 4 ลำ ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ลำคือเรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกง ส่วนเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรีถอดออกแล้ว หลังเปลี่ยนอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-801 เป็นรุ่น C-802A

        สำหรับผู้อ่านที่ให้ความสนใจหลักการทำงานออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka ผู้เขียนเคยอธิบายอย่างละเอียดแล้วในบทความตามลิงก์ด้านล่าง

https://thaimilitary.blogspot.com/2019/11/the-kolonka.html

เรือลำที่ 3 ที่เข้าประจำการในปี 2024 คือเรือ UMS 558 ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตระบุว่าเป็นเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีเหมือนเรือ 2 ลำก่อน แต่จากภาพถ่ายกลับกลายเป็นเรือตรวจการณ์ปืนที่ทันสมัยกว่าเดิม ติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น AK-230 จำนวน 2 กระบอก และปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก

เสากระโดงขนาดเล็กกว่าเรือ UMS 556 อย่างเห็นได้ชัด ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 จำนวน 1 ตัว เรดาร์เดินเรือ FURUNO จำนวน 1 ตัว เรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G จำนวน 1 ตัว และออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka อีก 2 ตัว แต่ไม่มีเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Type 352 Square Tie

ตั้งแต่เรือเฟสสองเป็นต้นไปพม่ามักสร้างเรือพร้อมกันครั้งละ 2 ลำ เรือ UMS 558 มีฝาแฝดเช่นเดียวกับเรือชุดอื่น แต่เป็นฝาแฝดที่ค่อนข้างแปลกประหลาดเหนือคำบรรยาย ผู้เขียนขอเก็บไว้เป็นไอเทมลับเจอกันอีกครั้งในช่วงท้ายของบทความ

อยากให้ผู้อ่านสังเกตด้านท้ายเก๋งเรือหรือ Superstructure ที่อยู่ด้านล่างแพชูชีพ สิ่งนี้ก็คือท่อทรงกลมคล้ายเรือหลวงแหลมสิงห์ของลูกประดู่ไทย คาดว่าใช้ระบายอากาศจากเครื่องยนต์ตามปรกติทั่วไป เก็บท่อทรงกลมใหญ่เทอะทะไว้ในใจพร้อมกันนะครับ

ภาพประกอบที่ 5 คือปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่ที่พม่าสร้างเอง โดยการนำปืนกลหนัก KPV ของรัสเซียจำนวน 4 กระบอกมาติดตั้งบนแท่นยิงควบคุมด้วยรีโมท ควบคุมการยิงจากห้องยุทธการผ่านกล้องโทรทัศน์ติดอยู่บนป้อมปืน และคาดว่าสามารถควบคุมปืนผ่านตัวออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka ได้ด้วย โดยมีกระสุนพร้อมใช้งานประมาณ 400 นัดในกล่องกระสุน 4 กล่อง

นี่คืออาวุธที่น่าสนใจมากอีกหนึ่งรุ่นจากกองทัพเรือพม่า

ต่อมาในปี 2005 กองทัพเรือพม่าเข้าประจำการเรือตรวจการณ์อีก 2 ลำ ประกอบไปด้วยเรือ UMS 559 และ UMS 560 ตามภาพประกอบที่ 6 ทุกอย่างบนเรืออย่างเหมือนเรือ UMS 558 แต่เปลี่ยนเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 เป็นเรดาร์เดินเรือตัวที่ 2 สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนได้แก่ระบบอาวุธป้องกันตัว ประกอบไปด้วย ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.รุ่น CRN91 จำนวน 2 กระบอก ปืนกลขนาด 25 มมลำกล้องแฝดรุ่น Type 61A จำนวน 1 กระบอก และปืนกลขนาด 14.5 มม.รุ่น KPV จำนวน 2 กระบอก

ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.รุ่น CRN91 คือสินค้าส่งออกจากประเทศอินเดีย โดยการนำปืนกล Medak ซึ่งปรกติมีใช้งานกับรถหุ้มเกราะสายพานและล้อยาง อัตรายิงสูงสุด 200-300 นัดต่อนาที เพราะเป็นปืนกลอเนกประสงค์ไม่ใช่ปืนกลต่อสู้อากาศยาน (หลักการเดียวกับปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mark2 ของทร.ไทยนั่นแหละครับ) อินเดียนำมาใส่ป้อมปืนทรงสูงบรรจุสายกระสุนคู่พร้อมติดตั้งออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง

พม่าจัดหา CRN91 จำนวน 4 กระบอกมาใช้งานบนเรือตรวจการณ์จำนวน 2 ลำ ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังเช่นไร อาจเป็นเพราะได้ข้อเสนอที่ดีไม่อาจบอกปัดได้ ไม่ก็รัฐบาลอยากซื้อใจอินเดีย หรืออยากลองของแปลกที่แตกต่างจากอาวุธจีนกับรัสเซีย

โครงการเฟสสาม

        เว้นระยะไป 4 ปีกองทัพเรือพม่าได้รับมอบเรือตรวจการณ์ที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุด ปลายปี 2008 เรือ UMS 561 และ UMS 562 เข้าประจำการเรียกเสียงครางฮือจากทั่วโลก (จริงๆ น่าจะเป็นแค่กลุ่มคนที่สนใจและติดตามกองทัพเรือพม่า) เพราะเรือถูกปรับเปลี่ยนให้มีความดุดันน่ากลัวมากกว่าเดิม ทั้งจากรูปทรงเรือ ระบบเรดาร์ และระบบอาวุธ

UMS 561 ตามภาพประกอบที่ 7 ติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น AK-230 จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก และอาวุธลับสุดยอดที่คาดว่าเป็นแท่นยิง Ghibka สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 9K38 Igla จำนวน 4 นัดอีก 1 แท่นยิงหลังเสากระโดง พื้นที่ว่างกลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802 ระยะยิงไกลสุด 120 กิโลเมตรจำนวน 2 นัด

ว่ากันตามจริงผู้เขียนสงสัยว่าบนเรือ UMS 556 และ UMS 557 น่าจะติด C-802 มากกว่า (พิจารณาจากรูปทรงท่อยิง) เพราะ C-801 ไม่มีวางขายนับตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2003 บังเอิญกองทัพเรือพม่ามีเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Type-037IG ติด C-801 อยู่หลายลำ ฉะนั้นช่วงแรก UMS 556 และ UMS 557 น่าจะใช้งาน C-801 ของเก่าไปจนอาวุธปลดประจำการ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้งาน C-802 ที่เพิ่งสั่งซื้อใหม่จากประเทศจีน

เหตุผลที่เรือ UMS 561 และ UMS 562 ติด C-802 เพียง 2 นัดแทนที่จะเป็น 4 นัด เนื่องจากตอนนั้นกองทัพเรือพม่าขึ้นโครงการสร้างเรือคอร์เวตขนาด 77 เมตรจำนวน 2 ลำ และเรือฟริเกตขนาด 108 เมตรอีก 1 ลำ พม่าจึงมีเรือขนาดใหญ่ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบเพิ่มขึ้นถึง 3 ลำ ฉะนั้นเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีขนาด 45 เมตรติด C-802 จำนวน 2 นัดก็น่าจะเพียงพอ

เสากระโดงเรือ UMS 561 รูปทรงใหม่ค่อนข้างสูงเป็นพิเศษ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 จำนวน 1 ตัว เรดาร์เดินเรือ FURUNO จำนวน 2 ตัว เรดาร์ควบคุมการยิง MR-104 จำนวน 1 ตัว และออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka จำนวน 2 ตัว มาพร้อมอุปกรณ์ดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM บนยอดเสากระโดง และแท่นยิงเป้าลวงจากประเทศจีนจำนวน 4 แท่นยิงบนหลังคาสะพานเดินเรือ (อยู่ด้านข้าง MR-104) รวมทั้งอุปกรณ์แปลกประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อนติดอยู่ด้านหน้า MR-104

ผู้เขียนใช้เวลาหลายปีก่อนได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า เนื่องจากเรือ UMS 561 ไม่ได้ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Type 352 Square Tie ฉะนั้นอุปกรณ์ประหลาดจึงน่าจะเป็นเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีรุ่นใหม่ ซึ่งก็คือเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำทะลุขอบฟ้านั่นแหละครับ รัสเซียใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ในการค้นหาและติดตามเป้าหมายให้กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบของตัวเอง ส่วนอเมริกากลับมีแนวคิดตรงกันข้าม คือใช้ค้นหาและติดตามเป้าหมายอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบของฝ่ายตรงข้ามที่บินเข้าใกล้เรือ

เรากลับมาพูดถึงอาวุธลับสุดยอดซึ่งคาดว่าเป็นแท่นยิง Ghibka ที่อยู่หลังเสากระโดง จากภาพเล็กจะเห็นว่าปัจจุบันแท่นยิงตรงจุดนั้นกลายเป็นแท่นยิงร้าง เท่ากับว่า Ghibka ซึ่งอาจมีจริงไม่มีจริงก็ได้ถูกกองทัพพม่าปลดประจำการ แล้วหันไปใช้งานแท่นยิงจากเกาหลีเหนือซึ่งสามารถติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 9K38 Igla มากถึง 6 นัด บนเรือฟริเกตและเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ซึ่งมีระบบตรวจการณ์ทางอากาศทันสมัยกว่าเรือตรวจการณ์

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจค่อนข้างมาก เรดาร์ควบคุมการยิง MR-104 บนเรือ UMS 561 และ UMS 562 ถูกแทนที่ด้วยเรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G เหมือนเรือลำอื่น พม่าปลดประจำการเรดาร์ควบคุมการ MR-104 และแท่นยิง Ghibka ทั้งที่ยังไม่หมดอายุใช้งาน อาจเป็นเพราะไม่ต้องการความยุ่งยากในการซ่อมบำรุงก็เป็นได้

ประเด็นสุดท้ายของ UMS 561 อยู่ที่การปรับปรุงตัวเรือ  เก๋งเรือชั้นล่างประตูทางเข้าออกลดลงเหลือเพียง 3 บาน ผู้อ่านยังจำท่อทรงกลมหลังเก๋งเรือ UMS 558 ได้หรือไม่ บนเรือ UMS 561 ท่อทรงกลมหายไปถูกแทนที่ด้วยแท่นยิง C-802 มีการสร้างช่องระบายอากาศแบบรูปทรงสี่เหลี่ยมบริเวณด้านล่างจุดติดตั้งแพชูชีพ เท่ากับว่าท่อทรงกลมถูกพม่าปรับเปลี่ยนเป็นตะแกรงทรงเหลี่ยมได้อย่างน่าชื่นชม

เจ้าหน้าที่บริษัทมาร์ซันกรุณาเซฟภาพนี้เก็บไว้นะครับ เรือตรวจการณ์ M58 Batch 2 สมควรปรับปรุงให้เหมือนเรือตรวจการณ์ UMS 561 ของพม่า

โครงการเฟสสี่

        ปี 2012 กองทัพเรือพม่าเข้าประจำการเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีสห้าจำนวน 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือ UMS 563 UMS 564 UMS 565 และ UMS 566 และเนื่องมาจากตัวเองมีเรือตรวจการณ์อาวุธปล่อยนำวิถีจำนวน 4 ลำถือว่ามากเพียงพอ เรือเฟสสี่จึงมีการปรับเปลี่ยนอาวุธให้เหมาะสมกับภารกิจ นั่นคือการลาดตระเวนในน่านน้ำและคอยปกป้องเรือสินค้ากับเรือประมงติดธงพม่า โอกาสเข้าปะทะกับเรือไม่ทราบฝ่ายที่บุกรุกเข้ามามีน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยให้เปลืองงบประมาณ

ภาพประกอบที่ 8 คือเรือ UMS 563 ฝาแฝด UMS 564 และเป็นเรือลำแรกในโครงการเฟสสี่ ใช้เสากระโดงทรงสูงเหมือนเรือเฟสสามทว่าเรือค่อนข้างโล่ง มีเพียงเรดาร์เดินเรือ 1 ตัว ปืนกลขนาด 14.5 มม.จำนวน 2 กระบอก และอาวุธปืนหน้าตาประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อนอีก 2 กระบอก โดยไม่มีระบบควบคุมการยิงบนหลังคาสะพานเดินเรือ

ผู้เขียนใช้เวลานานพอสมควรจึงกล้าฟันธงอย่างไม่กลัวหน้าแหกว่า อาวุธปืนหน้าตาประหลาดบนเรือคือปืนกล Bofors 40L70 เหมือนที่มีใช้งานบนเรือหลวงตาปี แต่มีการสร้างป้อมปืนแบบเต็มขนาดค่อนข้างเล็กครอบลงบนปืน ในป้อมจะมีที่นั่งพลยิงจำนวน 1 ถึง 2 ที่นั่ง กับกระสุนปืนขนาด 40 มม.พร้อมระบบโหลดอัตโนมัติไม่น่าเกิน 60 นัด

ปืนกล Bofors 40L70 ป้อมปืนพม่าไม่จำเป็นต้องใช้งานเรดาร์ควบคุมการยิง ฉะนั้นราคาจึงค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปืนกล 40 มม.รุ่นใหม่ทันสมัย แน่นอนที่สุดการซ่อมบำรุงย่อมใช้เงินน้อยกว่าใช้เวลาน้อยกว่า เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากของกองทัพเรือพม่า

สังเกตพื้นที่ว่างท้ายเก๋งเรือกันสักนิด ผู้อ่านทุกคนมองเห็นอะไรไหมครับ ท่อทรงกลมคล้ายเรือหลวงแหลมสิงห์กลับมาอีกครั้ง คราวนี้ใหญ่โตกว่าเดิมใกล้เคียงเรือหลวงแหลมสิงห์กันเลยทีเดียว แต่ช่องระบายอากาศตะแกรงทรงเหลี่ยมยังอยู่ตำแหน่งเดิมนะครับ ไปๆ มาๆ คล้ายดั่งพม่านำท่อทรงกลมมาติดตั้งแทนที่อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802

ภาพประกอบที่ 9 คือเรือ UMS 565 และ UMS 566 มาพร้อมเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 ระยะตรวจจับ 100 กิโลเมตร ภาพนี้มองเห็นปืนกล Bofors 40L70 ป้อมปืนพม่าเทียบกับลูกเรือได้อย่างชัดเจน ข้างปืนเจาะช่องกระจกเล็กๆ ให้พลยิงมองเห็นข้างนอกได้ ลักษณะคล้ายคลึงปืนกล Bofors 40L70 Type 520 ที่กองทัพเรืออินโดนีเซียและชิลีมีใช้งาน แต่กล Bofors 40L70 ป้อมปืนพม่าดูกะทัดรัดน่ารักตะมุตะมิมากกว่า

ไม่ทราบว่ากองทัพเรือไทยสนใจจัดหามาใช้งานบ้างไหมเอ่ย?

โครงการเฟสห้า

โครงการนี้ถือเป็นการลอกการบ้านโครงการเฟสสี่อย่างสมบูรณ์แบบ ปี 2013 กองทัพเรือพม่าเข้าประจำการเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีสห้าจำนวน 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือ UMS 567 UMS 568 UMS 569 และ UMS 570 ปิดฉากการสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้าไว้ที่ 20 ลำ เป็นโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ขนาดปานกลางที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้

ภาพประกอบที่ 10 คือเรือ UMS 567 และ UMS 568 ระหว่างทำพิธีเข้าประจำการในวันที่ 24 ธันวาคม 2013 สังเกตนะครับว่าปืนกล Bofors 40L70 ป้อมปืนพม่าที่ท้ายเรือหายตัวไปไร้ร่องรอย เป็นไปได้ว่ากองทัพเรือพม่าจะนำมาติดตั้งเพิ่มเติมในภายหลัง

เรือตรวจการณ์พม่ากับเรือตรวจการณ์ไทยมีความแตกต่างอย่างชัดเจน เรือตรวจการณ์ไทยเปรียบได้กับรถบ้านสภาพเดิมๆ จากโรงงาน ตอนเข้าประจำการบนเรือมีอะไรบ้าง ตอนปลดประจำการบนเรือย่อมมีเท่าเดิมทุกอย่าง ยกเว้นโครงการที่มีปัญหาอาทิเช่นเรือ ต.997 กับ ต.998 ส่วนเรือตรวจการณ์พม่าเปรียบได้กับรถซิ่งเหล่าขาโจ๋วัยรุ่นสร้างตัว ตอนส่งมอบจะเป็นเรือโล่งๆ ไม่มีทั้งอาวุธและเรดาร์ กองทัพเรือพม่าจะทยอยนำมาติดเพิ่มจนกระทั่งเต็มลำ และถ้าตัวเองได้ของเล่นใหม่จะรีบถอดของเก่าโยนทิ้งทันที

เป็นความแตกต่างที่อ้างอิงกับหลักการจัดหาและติดตั้งอาวุธ

ภาพประกอบที่ 11 คือเรือ UMS 569 และ UMS 570 ระหว่างทำพิธีเข้าประจำการในวันที่ 24 ธันวาคม 2013 เป็นเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้าสองลำสุดท้ายก่อนปิดโครงการ สังเกตนะครับว่าท่อทรงกลมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นสองจุด นีคือความแตกต่างไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนที่มีเฉพาะเรือ 2 ลำสุดท้าย ไม่ทราบเหมือนกันว่าพม่าจะวุ่นวายกับท่อทรงกลมระบายอากาศอะไรกันนักกันหนา

เรือตรวจการณ์ลึกลับ

        ย้อนกลับมาที่การสร้างเรือ UMS 556 ซึ่งเป็นเรือลำเดียวโด่เด่ แท้จริงแล้วพม่ามีเรือฝาแฝดถูกตัดสายสะดือพร้อมเรือ UMS 556 ตามภาพประกอบที่ 12 เรือลำนี้ถูกทาสีขาวอมฟ้าตลอดทั้งลำ ส่วนปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น AK-230 จำนวน 2 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก และออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka จำนวน 2 ตัวบาหลังคาสะพานเดินเรือทาสีดำสนิท

        คาดว่าเรือลำนี้คือเรือตรวจการณ์ VIP สำหรับท่านผู้บัญชาการระดับสูงทั้งหลาย

        เก๋งเรือชั้นล่างของเรือลึกลับมีประตูมากถึง 6 บาน ไม่ทราบเหมือนกันทำไมใช้ประตูเปลืองได้ถึงเพียงนี้ เรือรุ่นถัดไปลดจำนวนประตูลงเหลือเพียง 3 บาน และใช้ 3 บานมาตลอดจนถึงลำสุดท้ายโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน การออกแบบเรือของพม่าเป็นอะไรที่แปลกและน่าสนใจมาก รวมทั้งท่อทรงกลมขนาดใหญ่ยักษ์ที่เรือแต่ละเฟสมีไม่เท่ากัน

บทสรุป

        พม่าสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้าเข้าประจำการจำนวน 21 ลำ เริ่มต้นเดินหน้าโครงการในปี 1991 และปิดโครงการในปี 2013 อาจมีช่วงหยุดพักบ้างเนื่องจากกองทัพประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ เมื่อสบโอกาสก็เดินหน้าสร้างเรือจำนวน 8 ลำภายในเวลาไม่กี่ปี ทั้งนี้ทั้งนั้นโครงการนี้ช่วยให้อู่ต่อเรือมีงานตลอดเวลา ช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาฝีมือ ก่อนก้าวขึ้นอีกหนึ่งระดับเพื่อสร้างเรือคอร์เวตและเรือฟริเกตด้วยตัวเอง

        โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้าจึงถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศพม่า

 อ้างอิงจาก

นิตยสาร Jane’s Fighting Ship จำนวนหลายฉบับ

https://www.navypedia.org/ships/myanmar/mya_cf_551.htm

https://shipbucket.com/forums/viewtopic.php?t=5475&hilit=myanmar+navy

https://en.wikipedia.org/wiki/5-Series-class_fast_attack_craft

https://www.coursesidekick.com/history/20927907


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น