วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567

Offshore Patrol Vessel made in Thailand

  

บทความยาวบทความสุดท้ายประจำปี 2567 ค่อนข้างพิเศษ ผู้เขียนขอย้อนเวลากลับไปยังโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งในประเทศลำแรก โครงการนี้มีเรื่องราวน่าสนใจมากมายที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสรับรู้ เรื่องราวซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารถึงทุกคนก็คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งออกแบบโดยกรมอู่ทหารเรือ

จุดเริ่มต้นโครงการ

ปลายปี 2549 ผู้บัญชาการทหารเรือโทรศัพท์สอบถามเจ้ากรมอู่ทหารเรือว่า กรมอู่ทหารเรือสามารถสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งได้หรือไม่ หลังได้รับคำยืนยันว่าทำได้มีการสนทนารายละเอียดทั่วไปเล็กน้อย ก่อนที่ผู้บัญชาการทหารเรือจะพูดปิดประเด็นให้ฝ่ายอำนวยการติดต่อกลับมาเพื่อขอประสานงาน

ต่อมาไม่นานกรมอู่ทหารเรือได้รับข้อมูลเรื่องคุณลักษณะเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์และคำนวณการออกแบบในระดับหลักการ รวมทั้งปรับปรุงแบบเรือตามความต้องการซึ่งทยอยเพิ่มเติมเข้ามา กระทั่งพอมองเห็นภาพจึงเริ่มเดินหน้าโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ลำใหญ่ที่สุดเท่าที่กรมอู่ทหารเรือเคยทำ

หัวหน้าคณะทำงานให้ความสนใจเรือชั้น SIGMA 9113 ของบริษัท Schelde Naval Shipbuilding ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเรือชั้น Meko 100 ของบริษัท Thyssen Krupp Marine ประเทศเยอรมันค่อนข้างมาก โดยจะขอซื้อแบบเรือที่ได้จากการออกแบบเบื้องต้นหรือ Basic Design จากบริษัทที่กองทัพเรือคัดเลือก นำมาให้นักออกแบบกรมอู่ทหารเรือจัดการรายละเอียดทั้งหมด วิธีนี้จะช่วยให้นักออกแบบกรมอู่ทหารเรือได้รับประสบการณ์มากขึ้น โดยใช้เวลาทำงานแบบเต็มตัวหรือ Full Time Designing ประมาณ 1 ปี

ปัญหาสำคัญ

        อุปสรรคชิ้นใหญ่ส่งผลกระทบต่อคณะทำงานก็คือ โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งยังไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ขาดความชัดเจนเรื่องกองทัพเรือจะเริ่มต้นเดินหน้าโครงการตอนไหน  ส่งผลให้การทำงานทั้งหมดเป็นไปอย่างตะกุกตะกัก

        วันหนึ่งเจ้ากรมอู่ทหารเรือได้รับแจ้งข้อมูลสำคัญว่า กองทัพเรือเสนอให้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ดังนั้นเรือต้องเสร็จเรียบร้อยในปี  2554 เพื่อให้กองทัพเรือนำขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายภายในเดือนธันวาคม 2554

        ปัญหาสำคัญของวิธีซื้อแบบเรือเบื้องต้นจากบริษัทเอกชนก็คือ นอกจากกรมอู่ทหารเรือจะต้องออกแบบเรือทั้งลำให้ตรงตามความต้องการ ระยะเวลาในการสร้างตัวเรือหรือ Hull Structure ก็มีมากถึง 2 ปี 9 เดือน โอกาสที่เรือจะสร้างเสร็จทันเดือนธันวาคม 2554 เป็นไปอย่างฉิวเฉียด และมีแนวโน้มว่าโครงการอาจล้มเหลวไปไม่ถึงฝั่งฝัน กรมอู่ทหารเรือจึงเสนอทางเลือกใหม่จำนวน 2 วิธีในการสร้างเรือประกอบไปด้วย

        1.กรมอู่ทหารเรือจะจัดทำแบบเบื้องต้นหรือ Preliminary Design ก่อนส่งมอบให้ผู้รับจ้างจัดทำแบบรายละเอียดหรือ Construction Drawings จนเสร็จสมบูรณ์ ส่วนพัสดุสำหรับการสร้างเรือให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ดำเนินการ

        2.กองทัพเรือเลือกแบบเรือเสร็จสมบูรณ์จากบริษัทเอกชน ส่วนพัสดุสำหรับสร้างเรือจัดหาโดยเจ้าหน้าที่กองทัพเรือ

        เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีกองทัพเรือเลือกวิธีที่ 1 กรมอู่ทหารเรือเดินหน้าทำแบบเบื้องต้นให้เสร็จเรียบร้อย กระทั่งได้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งตามภาพประกอบที่หนึ่ง และพร้อมส่งมอบให้ผู้รับจ้างจัดทำแบบรายละเอียดเพื่อสร้างเรือลำจริง

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งสร้างโดยคนไทยมีความยาว 72 เมตร กว้างประมาณ 9.7 เมตร กินน้ำลึกสุดประมาณ 3.3 เมตร รูปทรงโดยรวมมีความคล้ายคลึงเรือชั้น SIGMA 9113 โดยความตั้งใจ ตัวเรือมีคุณลักษณะลดการตรวจจับด้วยคลื่นเรดาร์ในระดับหนึ่ง ความสวยงามผู้เขียนให้คะแนนสิบเต็มสิบโดยไม่ต้องคิดมาก

หัวเรือค่อนข้างสูงใช้ราวกันตกแบบทึบเพิ่มความแข็งแกร่ง ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.เป็นปืนหลัก สะพานเดินเรือรูปทรงหกเหลี่ยมมาพร้อมเสากระโดงขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ มีจุดติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ เรดาร์เดินเรือ และเรดาร์ควบคุมการยิง พื้นที่ว่างกลางเรือคือจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4 นัด ข้างปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่คือจุดติดตั้งแท่นยิงเป้าลวง ถัดไปเล็กน้อยคือจุดติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ปิดท้ายด้วยลานจอดเฮลิคอปเตอร์น้ำหนักไม่เกิน 7 ตัน

สังเกตนะครับเรือลำนี้มีเรือยางท้องแข็งเพียง 1 ลำที่กราบขวา น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับภารกิจลาดตระเวนตรวจการณ์ทั่วน่านน้ำไทย เหตุผลที่เป็นไปได้ก็คือคนออกแบบจงใจใส่เรือเพียงลำเดียว หรือใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์มีจุดจอดเรือยางท้องแข็งขนาดใหญ่อีก 1 ลำ ส่วนตัวผู้เขียนให้น้ำหนักเหตุผลข้อที่หนึ่งมากกว่า

ผู้อ่านเดาถูกหรือเปล่าว่าเรือลำนี้มีต้นกำเนิดจากเรือประเทศไหน?

คำใบ้อยู่ที่ปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ยักษ์

คิดว่าเดากันถูกทุกคนนะครับ แต่ถ้าไม่ถูกผู้เขียนจะช่วยอธิบาย

ที่มาของเรือ

        การออกแบบเบื้องต้นจะนำข้อมูลเรื่องเรือถูกนำไปใช้ในภารกิจอะไรเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนกำลังพล จำนวนวันที่เรือต้องออกทะเล รวมทั้งลักษณะการทำงานของเครื่องจักรใหญ่ มาประมวลผลก่อนออกแบบเรือให้ตรงตามความต้องการ บังเอิญช่วงนั้นกองทัพเรือมีโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหินจำนวน 3 ลำ เรือชุดนี้กรมอู่ทหารเรือเป็นผู้ออกแบบก่อนส่งข้อมูลไปทำ Model Test ที่สถาบัน WUXI ประเทศจีน คณะทำงานจึงตัดสินใจนำเรือหลวงหัวหินมาขยายความยาวเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์หรือ 12 เมตร กลายเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกสร้างโดยฝีมือคนไทย

        ผู้เขียนขอสรุปง่ายๆ แต่เข้าใจค่อนข้างยากให้ตรงกันตามนี้

        -เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 72 เมตร ถูกปรับปรุงจากเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหิน

        -เรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหิน ถูกปรับปรุงจากเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ

        -เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ ถูกปรับปรุงจากเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Province ของบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์ประเทศอังกฤษ

        แม้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 72 เมตรจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายเรือเนเธอร์แลนด์ ทว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงมาจากเรือประเทศอังกฤษเมืองผู้ดี

ภาพประกอบที่สองเป็นการเปรียบเทียบของใหม่กับของเก่า กรมอู่ทหารเรือนำเรือหลวงหัวหินมาขยายความยาว 12 เมตร สร้างหัวเรือให้สูงขึ้นเหมาะสมกับการเผชิญหน้าคลื่นลมแรง สร้างจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบหลังเสากระโดง และสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือด้วยตัวเอง โดยนำโครงสร้างดาดฟ้าเรือหลวงจักรีนฤเบศรมาศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนย่อขนาดให้เล็กลงแต่รักษาอัตราส่วนความยาวต่อความกว้างให้คงที่ นำมาใช้เป็นโครงสร้างดาดฟ้าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งได้โดยไม่ขัดเขิน

        ความเห็นส่วนตัว : กรมอู่ทหารเรือทำดีที่สุดเท่าที่ตัวเองสามารถทำได้

นี่คือจุดสุดยอดของเรือตระกูล Province ไม่สามารถไปต่อได้มากกว่านี้ ในอนาคตถ้ามีการทำแบบรายละเอียดหรือ Construction Drawings และสร้างเรือเข้าประจำการจริง จะเป็นเรือที่ผู้เขียนภูมิใจมากที่สุดติดอันดับหนึ่งในสามตลอดกาล

ผู้ถูกคัดเลือก

        เนื่องจากระยะเวลาในการส่งมอบเรือค่อนข้างกระชั้นชิด คณะกรรมการตัดสินใจเลือกวิธีที่ 2 คือเลือกแบบเรือเสร็จสมบูรณ์จากบริษัทเอกชน กำหนดให้เป็นเรือแบบ Well Proven หรือเคยสร้างใช้งานมาแล้ว โดยต้องส่งผลการทดสอบ Model Test ของเรือมาพร้อมเอกสารเสนอราคา วิธีนี้จะใช้เวลาน้อยกว่าวิธีที่ 1 ซึ่งการทำงานมีเรื่องจุกจิกมากกว่า

การประกวดราคาแบบเรือต้องทำถึง 3 ครั้งกว่าจะได้ผู้ชนะเลิศ ปรากฏว่าบริษัทอู่กรุงเทพ จำกัดซึ่งใช้แบบดัดแปลงจากเรือชั้น River ของบริษัท BVT Surface Fleet ผ่านการคัดเลือกได้รับการเซ็นสัญญาตามภาพประกอบที่สาม และด้วยเหตุผลนี้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 72 เมตรของกรมอู่ทหารเรือจึงไม่ได้ไปต่อ มีเพียงแบบเบื้องต้นหรือ Preliminary Design ซึ่งยังไม่ผ่านการทำ Model Test


แบบเรือในวันนี้

        เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างปี 2550 หรือผ่านมาแล้ว 17 ปี ถ้าวันนี้ผู้บัญชาการทหารเรืออยากนำแบบเรือกลับมาใช้งาน กรมอู่ทหารเรือต้องปรับปรุงแบบเบื้องต้นหรือ Preliminary Design ให้กลายเป็นแบบรายละเอียดหรือ Construction Drawings แล้วส่งข้อมูลไปทำ Model Test ที่สถาบัน WUXI ประเทศจีนหรือที่ไหนก็ได้ การทำงานจนแล้วเสร็จน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีบวกลบ 1 เดือน

        แบบเรือที่เสร็จสมบูรณ์กรมอู่ทหารเรือได้รับลิขสิทธิ์เต็มตัว กองทัพเรือนำแบบเรือไปใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ส่วนขั้นตอนการสร้างเรือให้บริษัทเอกชนจัดการแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ กองทัพเรือแค่รับมอบเรือมาใช้งานเท่านั้นก็พอ

        เราสามารถนำแบบเรือลำนี้ไปทำอะไรได้บ้าง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสัก 4 เรื่อง

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

        เรือได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิมตามภาพประกอบที่สี่ โดยการติดตั้ง Bulbous Bow ที่หัวเรือช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่น มีทุกอย่างเหมือนเรือชั้นเรือหลวงปัตตานีหลังการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งาน แต่ติดอาวุธมากกว่าและทันสมัยกว่าสมความตั้งใจกองทัพเรือประกอบไปด้วย หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ข้างสะพานเดินเรือคือปืนกลขนาด 12.7 มม.รุ่น M2 จำนวน 2 กระบอก กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM จำนวน 4 นัด หลังปล่องระบายความร้อนติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.รุ่น Sentinel 30 จำนวน 1 กระบอก

        ระบบตรวจจับบนเรือประกอบไปด้วย ระบบอำนวยการรบ CATIZ เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe 1X เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 Mk2 (ย้ายมาติดบนหลังคาสะพานเดินเรือ) เรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัว กล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์ D CoMPASS ระบบดาต้าลิงก์ Link Y Mk2 ระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Vigile 100 Mk2 และแท่นยิงเป้าลวงขนาด 12 ท่อยิงรุ่น SKWS DL-12T จำนวน 2 แท่นยิง

        ข้อเสียของเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำนี้ก็คือขนาดเล็กเกินไป ทหารเรืออาจไม่มีปัญหาเรื่องการใช้งานเพราะเรือก็คือเรือ แต่บรรดามิตรรักแฟนเพลงจะบอกว่าไม่เหมาะสมอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าดันทุรังสร้างเข้าประจำการอาจทำให้เกิดโน่นนุ่นนี่นั่นแน่

        ข้อดีของเรือลำนี้ก็คือขนาดเรือและแบบเรือ เราไม่ต้องจ่ายค่าแบบเรือให้กับบริษัทเอกชนเหมือนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ราคาสร้างเรือย่อมถูกกว่าเดิมมากไปกันใหญ่ และด้วยความยาว 72 เมตรบริษัทเอกชนทุกแห่งสร้างเรือลำนี้ได้อย่างสบาย กองทัพเรือแบ่งให้บริษัทมาร์ซันกับเอเชียนมารีน เซอร์วิส สร้างเรือบริษัทละ 1 ลำพร้อมกันก็ยังได้ ภายใน 4 ปีกองทัพเรือจะได้รับมอบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งพัฒนาโดยฝีมือคนไทยพร้อมกันจำนวน 2 ลำ

        เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเป็นทางเลือกที่ดีแต่ยังไม่ดีที่สุดและเหมาะสมมากที่สุด

เรือตรวจการณ์อเนกประสงค์

        ทางเลือกที่ดีที่สุดและเหมาะสมมากที่สุดก็คือ โครงการเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์หรือเรือตรวจการณ์ขนาดปานกลาง ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ขนาดปานกลางราชนาวีไทยลดจำนวนลงจาก 10 ลำเหลือ 8 ลำ และมีแนวโน้มจะลดเหลือ 4 ลำภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี แบบเรือพัฒนาโดยกรมอู่ทหารเรือจะเข้ามาอุดช่องว่างตามภาพประกอบที่ห้า

        การติดตั้งอาวุธและเรดาร์ลดลงจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หัวเรือเปลี่ยนมาใช้ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จากบริษัท Hundai WIA ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตรายิง 100 นัดต่อนาที (ราคาถูกกว่า OTO 76/62 Super Rapid พอสมควร) ส่วนปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอกกับปืนกลขนาด 12.7 มม.อีก 2 กระบอกถอดออกมาจากเรือเก่า ซ่อมคืนสภาพให้พร้อมใช้งานแล้วนำมาติดตั้งบนเรือใหม่ ส่วนจุดติดอาวุธหลังปล่องระบายความร้อนปล่อยว่างไปก่อน อนาคตภายภาคหน้าหากมีงบประมาณมากพอค่อยว่ากันอีกที

        เรือใช้ระบบอำนวยการรบ CATIZ มีเรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัว ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Mirador จำนวน 1 ตัว และกล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์ D CoMPASS อีก 1 ตัว ลานจอดเฮลิคอปเตอร์วางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบได้ โดยใช้เครนเรือยางท้องแข็งในการยกยานใต้น้ำชนิดต่างๆ ขึ้น/ลงจากผิวน้ำ เหมาะสมกับการทำภารกิจเสริมอาทิเช่นปราบทุ่นระเบิดหรือสำรวจอุทกศาสตร์

        โครงการนี้สร้างเรือเฟสละ 2 ลำโดยใช้บริษัทเอกชนจำนวน 2 แห่งได้ ยกเว้นกรณีมีงบประมาณมากเพียงพอจึงสร้างเฟสละ 3 ลำ สร้างไปเรื่อยๆ เมื่อยเราก็พักไม่ต้องคิดอะไรมาก ในเมื่อแบบเรือเป็นของกรมอู่ทหารเรือจึงไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ราคาอาจแพงกว่าเรือตรวจการณ์ขนาด 60 เมตรนิดหน่อย แต่มีความอเนกประสงค์มากกว่าและมีอนาคตที่ดีกว่า ที่สำคัญต้องไม่จ่ายเงินค่าแบบเรือให้กับบริษัทเอกชนช่วยประหยัดงบประมาณกองทัพเรือ

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ

        ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุอายุมากกว่า 30 ปี ฉะนั้นภายในไม่เกิน 10 ปีต้องมีการจัดหาเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่เข้าประจำการทดแทน เราก็แค่ต่อยอดจากโครงการเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ให้กลายเป็นภาพประกอบที่หก โดยการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe 1X และระบบดาต้าลิงก์ Link Y Mk2 เพิ่มเติมเข้ามา แล้วนำปืนกลอัตโนมัติ DS3OM Mk2 จากเรือเก่ามาติดตั้งหลังปล่องระบายความร้อน ช่วยประหยัดงบประมาณเรื่องการจัดซื้ออาวุธได้ประมาณ 132 ล้านบาท

ระบบปราบเรือดำน้ำที่ติดตั้งเพิ่มเติมประกอบไปด้วย โซนาร์หัวเรือ HUMSA HMS-X จากอินเดีย แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Shyena ขนาดสามท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง จากอินเดียเช่นเดียวกัน และแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโดขนาด 6 ท่อยิงรุ่น Mk137 จำนวน 2 แท่นยิง เนื่องจากเรือต้องทำงานร่วมกับอากาศยานไร้คนขับปราบเรือดำน้ำรุ่น MQ-8C Fire Scout จากสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องติดตั้งจานรับสัญญาณเพิ่มหน้าปล่องระบายความร้อน นี่คือออปชันเสริมที่ผู้เขียนเพิ่มเติมเข้ามาและคาดหวังว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นจริงเข้าสักวัน

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขนาด 72 เมตรถือว่ากำลังเหมาะสม

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นส่งออก

        ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ขนาด 60 เมตรขึ้นไปมักถือเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง โดยที่เรือต้องบรรทุกเชื้อเพลิง อาหาร และน้ำดื่มมากเพียงพอในการออกทะเลมากกว่าเรือตรวจการณ์รุ่นเก่า เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาดเล็กได้รับความนิยมไม่แตกต่างจากเรือขนาดใหญ่ โดยเฉพาะประเทศน้อยใหญ่ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมทั้งเอเชียกลาง

ถ้ากรมอู่ทหารเรือจับมือกับบริษัทเอกชนอาทิเช่นมาร์ซันหรือเอเชียนมารีน เซอร์วิส ผลึกกำลังเป็นดิ อเวนเจอร์ไล่ล่าลูกค้าซึ่งต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาดไม่ใหญ่เกินไป ราคาไม่แพงเกินไป มีรูปทรงทันสมัยสวยงาม ติดตั้งอาวุธได้มากกว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งทั่วไป อุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศไทยอาจโชติช่วงชัชวาลมากกว่านี้ก็เป็นได้

ภาพประกอบที่เจ็ดคือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่บริษัทมาร์ซันนำเสนอให้กับกองทัพเรือเติร์กเมนิสถาน โดยจ่ายเงินค่าแบบเรือให้กับกรมอู่ทหารเรือตามสมควร

หัวเรือติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 40 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น OTO DARDO ถัดไปเล็กน้อยคือแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan ขนาด 6 ท่อยิง ทำงานร่วมกับโซนาร์ Simrad SP92MKII ข้างปล่องระบายความร้อนติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.รุ่น STAMP จำนวน 2 กระบอก หลังปล่องระบายความร้อนติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ขนาด 8 ท่อยิง ระบบอำนวยการรบและระบบเรดาร์ยกมาจากประเทศทูร์เคีย ตามความต้องการกองทัพเรือเติร์กเมนิสถานซึ่งเป็นเจ้าของเรือตัวจริง

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นส่งออกเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ค่อนข้างเหมาะสม

บทสรุป

        กรมอู่ทหารเรือเคยออกแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกของประเทศไทย และน่าจะเป็นลำสุดท้ายเนื่องจากแนวคิดเปลี่ยนแปลงไป กองทัพเรือสร้างเรือเองประสบปัญหาเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบเรือค่อนข้างล่าช้า ไม่มีสถานที่สร้างเรือขนาดใหญ่ที่เหมาะสม หรือเรื่องปวดหัวกับบรรดาลูกจ้างซึ่งมีร้อยพ่อพันแม่

ปัจจุบันกองทัพเรือต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศมากกว่าเดิม อนาคตเราอาจเห็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งสัญชาติไทยเชื้อชาติเยอรมันหรือเนเธอร์แลนด์ แต่จะไม่มีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งออกแบบโดยกรมอู่ทหารเรืออีกต่อไป

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 72 เมตรลำนี้จึงเปรียบได้กับอดีตอันหอมหวานที่ไม่อาจหวนคืน

อ้างอิงจาก

        นาวิกศาสตร์ ปีที่ 99 เล่มที่ 6 เดือนมิถุนายน 2559

        www.shipbucket.com

http://www.theopv.com/index.php ปัจจุบันเข้าไม่ได้แล้ว


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น