โคลอนคา ระบบควบคุมการยิงสุดเก๋าจากรัสเซีย
ใครบางคนเคยกล่าวไว้ว่า
ถ้าคุณเขียนบทความสั้นๆ กระชับและชัดเจน…คุณจะได้แฟนพันธ์แท้มากขึ้นหลายเท่าตัว
ใครคนนั้นยังได้กล่าวต่อไปว่า ถ้าคุณเขียนบทความสั้นๆ กระชับและชัดเจน…คุณจะไม่สามารถเขียนบทความยาวๆ ได้อีกเลย ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าคำพูดนี้เป็นจริงหรือเท็จ
แต่มีสิ่งหนึ่งที่แน่ใจมากนั่นก็คือ..บทความที่กำลังอ่านอยู่นี้ยาวแน่นอน
อยากให้อ่านและอยากให้อ่านจนจบนะครับ เพราะคนเขียนมีอะไรที่อยากเขียนเยอะแยะมาก
ปี
1945
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ทวีปยุโรปถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน
ฝั่งตะวันตกมีการจัดตั้งองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโตขึ้นมา นำโดยอเมริกาซึ่งไม่ได้มีพื้นที่ในยุโรปแม้แต่ฟุตเดียว
ส่วนฝั่งตะวันออกมีการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอหรือหรือกติกาสัญญาวอร์ซอขึ้นมา
นำโดยสหภาพโซเวียตซึ่งมีพื้นที่ใหญ่โตครึ่งค่อนโลก ทั้งนาโต้และวอร์ซอต่างเผชิญหน้ากันโดยเปิดเผย
มีการสั่งสมกำลังทหารและอาวุธจำนวนมหาศาล เพื่อเตรียมความพร้อมถ้าเกิดสงครามที่ชายแดนประเทศเยอรมัน
ช่วงเวลานี้ผู้คนทั่วโลกต่างเรียกขานว่า ‘สงครามเย็น’
ช่วงเวลาที่เกิดสงครามเย็นนั้น
เครื่องบินไอพ่นถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างจริงจัง นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในทุกๆ
สมรภูมิ เรือรบทุกลำของทุกประเทศตกอยู่ในสภาวะเสี่ยง
เพราะปืนกลต่อสู้อากาศยานที่ตนเองครอบครองอยู่นั้น อาจมีอัตรายิงมากเพียงพอที่จะรับมือก็จริงอยู่
แต่ระบบป้อนกระสุนยังใช้แรงงานจากมนุษย์เป็นหลัก ปืนกลกระบอกเล็กมีกล่องกระสุนก็จริงแต่จำนวนกระสุนจำกัด
ไม่สามารถยิงสกัดเครื่องบินไอพ่นรุ่นใหม่ได้ดีเท่าที่ควร
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนสักนิด
ในสงครามเกาหลีกองกำลังสหประชาชาติเผชิญหน้าเครื่องบิน Mig-15 เรือรบที่เข้าร่วมปฏิบัติการณ์ต้องติดปืนกลต่อสู้อากาศยานให้มากที่สุด
อย่างน้อยก็คือ 8-10 กระบอกเพื่อที่จะสามารถป้องกันตนเองได้
(ถ้าน้อยกว่านี้ต้องพยายามอยู่ใกล้เพื่อนเข้าไว้)
ที่ว่าป้องกันตัวเองคือยิงขับไล่จนเครื่องบินล่าถอยไปเอง ส่วนเรื่องยิงโดนทำให้เครื่องบินเสียหายหรือตกลงทะเลนั้น
เปอร์เซ็นต์น้อยลงกว่าสงครามโลกครั้งที่สองอย่างลิบลับ
ปัญหาข้อนี้ถูกปรับปรุงแก้ไขอย่างรวดเร็ว
ด้วยการพัฒนาปืนกลอัตโนมัติพร้อมเรดาร์ควบคุมการยิง
ฝั่งนาโต้มีการพัฒนาจากหลายประเทศ ส่วนฝั่งวอร์ซอโต้โผใหญ่คือโซเวียตเป็นผู้ออกโรง
ต่อมาไม่นานจึงเกิดอาวุธปืนประจำเรือที่ดีกว่าเดิม แต่ด้วยเหตุผลทางกายภาพรวมทั้งหลักนิยม
ทำให้โซเวียตพัฒนาระบบควบคุมการยิงขนาดเล็กเพิ่มขึ้นมา และถูกใช้งานบนเรือตัวเองตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งวันนี้
อุปกรณ์ชิ้นดังกล่าวผู้คนทั่วโลกต่างเรียกขานว่า ‘Kolonka’
เมื่อคุณมองโลกเบี้ยวๆ
ใบนี้ผ่าน Kolonka
คุณจะพบว่าตัวเองกลับมาอายุสิบสี่อีกครั้ง
เพราะมันช่างเหมือนตู้เกมที่ชอบโดดเรียนไปเล่นเหลือเกิน ทาบวงกลมให้ตรงกลางเป้าแล้วยิงเข้าไปสิ
มีห้าสิบบาทหมดทั้งห้าสิบบาทวันนั้นแหละ ผู้เขียนมีปริศนาคาใจมาร่วมเล่นสนุก
คำถามก็คือถ้าเราบังคับ Kolonka ไปทางขวามือหรือซ้ายมือนิดหน่อยแล้วกดปุ่มยิง เสาวิทยุที่เห็นอยู่ในภาพจะมีสภาพอย่างไร?
ท้ายบทความมีเฉลยตอนนี้ผู้อ่านคิดคำตอบเล่นๆ ไปก่อน
Kolonka คืออะไร? มีการกำหนดคำนิยามอุปกรณ์ชิ้นนี้ไว้อย่างมากมาย
ส่วนใหญ่เรียกกันง่ายๆ ว่า Optical Director
แต่ถ้าจะให้วุ่นวายหน่อยก็เรียกว่า Simple Optical Director หรือ
Optical Backup Director ทีนี้ถ้าพิจารณาตามรูปลักษณ์อุปกรณ์
อาจเรียกว่า Optical Sights หรือกล้องเล็งที่ชาวบีบีกันทุกคนรู้จักดี
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผู้เขียนขอเรียกอุปกรณ์ชิ้นนี้ว่าระบบความคุมการยิง
ง่ายๆ แบบนี้แหละครับจะได้เขียนบทความต่อเสียที
Kolonka มีรูปร่างหน้าตาประมาณนี้ ในภาพเป็นเวอร์ชันโปแลนด์นะครับ
อาจมีบางอย่างแตกต่างกับต้นฉบับแต่น้อยมาก มีขาตั้งสูงขึ้นมาจากพื้นระดับสายตา
มีก้านจับซ้ายขวา มีเครื่องเล็ง มีสายไฟ มีปุ่มบังคับ รวมทั้งมีระบบไฮโดรลิคช่วยในการหมุน
โซเวียตพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นระบบสำรอง ในกรณีที่เรดาร์ควบคุมการยิงไม่สามารถทำงานได้
หรือกรณีต้องยิงปืนพร้อมกันหลายกระบอกในหลายทิศทาง Kolonka จะเป็นนารีขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ
แต่พอใช้ไปใช้มาจนมาถึงปัจจุบัน
มีการนำ Kolonka มาเป็นระบบหลักกับอาวุธปืนรุ่นใหม่ เนื่องมาจากภัยคุมคามเปลี่ยนไป
หลักนิยมเปลี่ยนไป รวมทั้งภารกิจของเรือก็เปลี่ยนไป
หน่วยยามฝั่งรัสเซียใช้กับเรือตรวจการณ์เป็นชาติแรกสุด ก่อนแพร่กระจายไปยังประเทศอื่นต่อไปเรื่อยๆ
การใช้งานเป็นระบบสำรองก็ยังคงได้รับความนิยม
ขนาดโปแลนด์ซึ่งปัจจุบันย้ายค่ายเรียบร้อยแล้ว มีโครงการพัฒนาปืนกล 35 มม.ประจำเรือรบรุ่นใหม่
ให้มีคุณสมบัติเทียบเท่าระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด พี่แกยังพ่วง Kolonka เวอร์ชันตัวเองเป็นระบบสำรอง แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในประสิทธิภาพ
เรามาชมภาพของจริงบนเรือรบจริงกันบ้าง
เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากที่สุด การติดตั้ง Kolonka ควรอยู่ไม่ไกลจากอาวุธปืนที่ใช้ควบคุม
เพราะถูกออกแบบให้เล็งยิงด้วยสายพลยิง ถ้าติดห่างเกินไปต้องฝึกฝนพลยิงให้ใช้งานคล่อง
แต่ถ้าติดตามภาพจะเล็งยิงง่าย ใช้งานก็ง่าย โอกาสยิงโดนมีมากขึ้น
เพียงแต่เกะกะไปบ้างโดยเฉพาะเรือฟริเกตหรือเรือพิฆาต
ที่ต้องแบกจรวดต่อสู้เรือรบหรือจรวดต่อสู้อากาศยานไปด้วย
ฉะนั้นสมควรออกแบบจุดติดตั้งกันตั้งแต่พิมพ์เขียว
ภาพถ่ายใบนี้เห็นอะไรบ้าง?
เห็น Kolonka ตั้งอยู่บนแท่นยิงยกสูงเล็กน้อย
มีตู้ไฟอยู่ในคอกเหล็กที่ล้อมเอาไว้เพื่อกันตก
สามารถเข้าไปยืนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น
เพราะฉะนั้นเวทีแห่งนี้ไม่มีพี่เลี้ยงจะคอยเสี้ยมสอน พลยิงต้องได้รับการฝึกอบรมจนเกิดความชำนาญ
ถัดไปหน่อยเดียวเป็นปืนกล 30 มม.รุ่น AK-630 เห็นอะไรแปลกๆ กันบ้างไหมครับ
AK-630 คือระบบป้องกันตัวเองระยะประชิดรุ่นแรกของโซเวียต ใช้ปืนกล 30 มม.หกลำกล้องรวบควบคุมด้วยระบบเรดาร์
มีอัตรายิงสูงถึง 4,000-5,000 นัดต่อนาที
ป้อมปืนมีขนาดเล็กและเป็นป้อมโล้นๆ (ใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือพอสมควร)
ไม่สามารถเดินไปหลังป้อมเพื่อบังคับยิงด้วยมือได้ เพราะฉะนั้นถ้าเรดาร์ควบคุมการยิงกลับบ้านเก่าไปก่อน
อาวุธปืนทันสมัยจะมีค่าเท่ากับเศษเหล็กผุพัง พวกเขาจำเป็นต้องพัฒนา Kolonka ขึ้นมาควบคู่กัน เป็นระบบสำรองที่ใช้งานง่าย ซ่อมบำรุงก็ง่าย
แข็งแรงทนทาน ราคาไม่แพง และต้องมีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง
ถ้าเปรียบเทียบกับระบบอาวุธในยุคปัจจุบัน
เรียก Kolonka ว่าระบบควบคุมปืนด้วยรีโมทแบบเปิดโล่งก็คงไม่ผิด มีหลักการทำงานง่ายๆ
ไม่ยุ่งยาก แต่ทำงานได้จริงผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน ทีนี้มาชมภาพถ่ายที่ชัดเจนกันต่อเลย
ในภาพเห็นพลยิงเล็ง
Kolonka ไปทางซ้ายพร้อมยกแป้นขึ้นสูง ปืนกลจะหันไปทางเดียวกันพร้อมพ่นกระสุนปืนจนไฟลุก
อุปกรณ์มีน้ำหนักรวมเทียบเท่าเด็กประถม การควบคุมทำได้อย่างง่ายดายยิ่งกว่าขี่จักรยาน
ผู้หญิงตัวเล็กนิดเดียวก็ยังสามารถยิงปืนได้ อาจมีปัญหาบ้างเรื่องความสูงแก้ไขโดยใส่รองเท้าส้นตึก
ในปี
1960
ปืนกล AK-230 เข้าประจำการบนเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น
Osa (หรือ Project 205)
ต่อมาไม่นานเริ่มมีการใช้งาน Kolonka บนเรือจริง
ผ่านไปประมาณ 10 ปีปืนกล AK-630 เข้าประจำการบ้าง
พร้อมกับ Kolonka ถูกใช้เป็นระบบควบคุมการยิงสำรองแบบเต็มตัว
ผ่านไปอีก 10 ปีกองทัพเรือโซเวียตมีแนวคิดใหม่ ต้องการลดจำนวนอาวุธปืนกลให้น้อยที่สุด
เพื่อให้การซ่อมบำรุงจัดหาอะไหล่เป็นไปอย่างสะดวก จึงได้มีการพัฒนาปืนกล AK-306
ขึ้นมาอีกหนึ่งรุ่น
AK-306 คือปืนกลที่เห็นอยู่ภาพ รูปร่างหน้าตาภายนอกเหมือนกับ AK-630 แต่ลดอัตรายิงจาก 5,000 นัดต่อนาทีลงมาเหลือ 1,000
นัดต่อนาที นำมาใช้เป็นแทน AK-230
บนเรือตรวจการณ์ตัวเองและประเทศพันธมิตร ข้อแตกต่างที่สำคัญก็คือ AK-630 มีปลอกหุ้มลำกล้องปืนติดตั้งไว้ด้วย ส่วน AK-306
ไม่มีมองเห็นลำกล้องปืน 6 ลำกล้องมัดติดกัน
ผู้อ่านอาจมีข้อสงสัยว่า
การใช้ Kolonka ควบคุมการยิงปืนกล AK-306 ทั้งเป็นระบบหลักและระบบสำรอง
จะมีความแม่นยำสักแค่ไหน?
จะยิงเครื่องบินหรือเรือโจรสลัดโดนไหม?
ในเมื่ออุปกรณ์ใช้เทคโนโลยีปลายสงครามโลกครั้งที่สอง นี่คือคำถามที่ดีมาก
เพื่อให้คำอธิบายมีความชัดเจนมากขึ้น
ผู้เขียนขอเปรียบเทียบกับอาวุธปืนชนิดอื่นด้วย
ภาพนี้ก็คือปืนกล
30 มม.รุ่น DS30MR
บนเรือหลวงอ่างทอง นี่คือปืนรองมาตรฐานกองทัพเรือไทยปี 2019
แต่เลยจากนี้ไปผู้เขียนไม่แน่ใจแล้วล่ะ นอกจากควบคุมด้วยระบบเรดาร์หรือออปทรอนิกส์แล้ว
DS30MR สามารถยิงโดยการบังคับด้วยมือได้ด้วย มีปัญหาสำคัญเรื่องขนาดและน้ำหนักอยู่บ้าง
เรามาจินตนาการไปพร้อมๆ กันนะครับ
พลทหารบัวลอยทำหน้าที่บนเรือหลวงอ่างทองตำแหน่งพลยิง
วันหนึ่งเขาถูกเรียกตัวให้ไปประจำการที่ปืนตัวเอง เพราะเรดาร์ควบคุมการยิงเสียหายใช้งานไม่ได้
สิ่งแรกที่ต้องทำคือปรับราวกันตกให้แบนราบ จากนั้นเข้าควบคุมปืนและปรับมาเป็นโหมดอัตโนมือ
ทันใดนั้นเองเครื่องบินซีโร่ไม่ปรากฏสัญชาติบินผ่านมา พลทหารบัวลอยผู้มีความสูง 165
เซนติเมตรได้รับคำสั่งยิง เขารีบสวมหมวกกันกระแทกแล้วกระโดดเข้าใส่ทันที
DS30MR มีความสูงมากกว่าชายไทยโดยเฉลี่ย มีน้ำหนักรวมกระสุน 2 กล่องประมาณหนึ่งตันกว่าๆ ทหารหนุ่มยืนอยู่บนฐานรองทำให้ตัวเองสูงขึ้น
ทว่าเขาต้องออกแรงกดปืนสักเล็กน้อย จากนั้นทำการเล็งด้วยเครื่องเล็งวงกลมความเร็วแบบโลหะเปิด
ปรากฏว่าหาไม่เจอเจอแต่สายกระสุน 2 สายในระดับสายตา ครั้นมองเห็นเครื่องบินพลทหารตัดสินใจเหนี่ยวไกปืน
ปรากฏว่าไม่โดนเพราะอัตรายิง 200 นัดต่อนาทีช้าเกินไป
ต่อมาไม่นานมีเรือหางยาวแล่นเข้ามาใกล้
ผู้การเรือสั่งให้เปลี่ยนเป้าหมายแล้วรีบยิงสกัด
ทั้งนี้เนื่องมาจากเรือหลวงอ่างทองมีขนาดค่อนข้างใหญ่และสูง ส่วนปืนกล DS30MR ก็ติดอยู่ชั้นสะพานเดินเรือ ทำให้ปืนอยู่สูงกว่าระดับผิวน้ำอย่างลิบลับ
พลทหารบัวลอยใช้สองมือประคองปืนขึ้นข้างบน เพื่อกดปากลำกล้องปืนให้ลดต่ำลงมากที่สุด
จากนั้นจึงเล็งด้วยเครื่องเล็งวงกลมความเร็วแบบโลหะเปิด เอ่อ…เล็งไม่ได้สินะเพราะไม่มี หรือถ้ามีตอนนี้เครื่องเล็งจะอยู่สูงลิบลับ ต้องเป็นกระเหรี่ยงคอยาวเท่านั้นถึงจะชะโงกหัวมองได้
แต่จะไม่ใช่กับชายไทยหัวใจลูกทุ่งรายนี้แน่นอน
ทหารหนุ่มจำเป็นต้องเหนี่ยวไกปืนตามคำสั่ง
ทว่าไม่โดนเพราะเรือหางยาวหลบไปทางขวาเสียก่อน
เขาจำเป็นบังคับปืนไปทางซ้ายเพื่อไล่ยิง แม้ระบบควบคุมจะใช้มอเตอร์ช่วยผ่อนแรงก็ตาม
แต่ทว่าไม่มีผลต่อความสูงของมนุษย์และอาวุธปืน บัวลอยเขย่งเท้าไปทางขวาราวกับนักบัลเลย์ชื่อดังจากเลนินการ์ด
ลำกล้องปืนหันไปทางซ้ายจากการทำงานของมอเตอร์ พลทหารเหนี่ยวไกปืนโดยไม่เล็งเพราะไม่มีเครื่องเล็ง
ปรากฏว่ากระสุนกล่องซ้ายดันหมดเสียก่อน เขารีบปรับมาใช้กระสุนกล่องขวาซึ่งเหลืออยู่ประมาณ
80
นัด ทันใดนั้นเองเครื่องบินซีโร่ปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง!
บัวลอยปล่อยมือจากปืนให้แรงดึงดูดโลกทำงาน
จากนั้นออกแรงกดให้ปากกระบอกปืนยกขึ้นสูง แม้ว่าเขาจะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม
แต่ทว่าช้าเกินไปไม่สามารถจับเป้าหมายได้ทัน
เครื่องบินซีโร่บินตัดจากหัวเรือไปทางท้ายเรือ พลทหารออกแรงเหวี่ยงปืนไปทางขวามือทันที
มอเตอร์ควบคุมการหันเหวี่ยงแรงเกินไปจนเขาพลัดหล่นฐานรอง บัวลอยเหยียบปลอกกระสุนปืนเสียหลักหกล้มหงายเก๋ง
กระแทกเสากันตกที่วางแบนราบหนึ่งครั้ง จากนั้นจึงร่วงหล่นลงสู่ท้องทะเลอันดามัน
เดือนร้อนมายังเพื่อนๆ ต้องพาขึ้นเรืออย่างทุลักทุเล ปิดฉากตำนานพลยิง DS30MR ด้วยระบบอัตโนมือ
หนึ่งปีต่อมาพลทหารบัวลอยย้ายมาอยู่เรือต.997 ระหว่างลาดตระเวนบริเวณทะเลอันดามันจุดเดิม
เครื่องบินซีโร่กับเรือหางยาวลำเดิมได้ปรากฏตัวขึ้น พลทหารหนุ่มเดินมาประจำการที่ Kolonka บังคับด้วยปลายนิ้วเพื่อยิงปืนกล AK-306
ใส่เครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติ เขาใช้เวลาเหนี่ยวไก 12 วินาทีส่งกระสุนปืนขนาด
30 มม.จำนวน 200 นัดขึ้นสู่ท้องฟ้า
จากนั้นเป็นต้นมาไม่มีใครเจอเครื่องบินซีโร่อีกเลย ตอนนี้เรือหางยาวกำลังแล่นตรงเข้าใกล้เพื่อล้างแค้นแทนเพื่อน
ทหารหนุ่มเริ่มบิดขี้เกียจหนึ่งครั้ง
คว้าผ้าสีแดงแขวนบนราวกันตกมาเช็ดหน้า ก่อนหยิบไอโฟนออกมาอ่านข่าวกีฬาที่ตนเองโปรด
‘หงส์จมเรือใบมาเน่ยิงได้แต่ไม่ยอมพุ่ง’
เขาส่งยิ้มมุมปากให้กับตัวเองก่อนเก็บไอโฟน พร้อมกับจ้องมองเครื่องเล็งวงกลมความเร็วแบบโลหะเปิดของ
Kolonka ก่อนบรรจงเหนี่ยวไก 6 วินาทีส่งกระสุนปืนขนาด
30 มม.จำนวน 100 นัดไปยังเรือเป้าหมาย
จากนั้นเป็นต้นมาไม่มีใครเจอเรือหางยาวลำนี้อีกเลย
จากตัวอย่างที่ผู้เขียนนั่งเทียนเขียนจะเห็นได้ว่า
การใช้งาน Kolonka ทำให้ทุกอย่างง่ายดายกว่าเดิม บวกกับปืนกลรัสเซียมีกระสุนปืนจำนวน
500 นัด สามารถยิงสกัดโดยใช้ปริมาณและอัตรายิงเป็นสิ่งทดแทน ถ้าเรือหลวงอ่างทองมีอุปกรณ์นี้เป็นระบบควบคุมการยิงสำรอง
พลทหารบัวลอยคงไม่ตกน้ำป๋อมแป๋มให้เพื่อนล้อยันลูกบวช
ต้องบอกตรงนี้ว่าเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น
ข้อเท็จจริงการใช้งาน DS30MR อาจง่ายดายกว่านี้
กลับสู่เนื้อหาหลักของบทความกันอีกครั้ง
สมาชิกจากอาเซียนมีการใช้งาน Kolonka เช่นกัน
และประเทศที่มีใช้งานมากที่สุดก็คือพม่า ในภาพคือเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีหมายเลข 557
ยาวประมาณ 45 เมตร ระวางขับน้ำประมาณ 220
ตัน ติดปืนกล AK-230 จำนวน 2 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติ Type 91 ผลิตขึ้นเองอีก 2
กระบอก จรวดต่อสู้เรือรบ C-80X จำนวน 2
นัด ติดเรดาร์ตรวจการณ์ Type 362 1 ระบบ เรดาร์เดินเรือ Furuno 1 ระบบ
เรดาร์ควบคุมการยิงปืน Type 347G 1 เรดาร์ควบคุมการยิงจรวด
Type-352 อีก 1 ระบบ รวมทั้งระบบควบคุมการยิงสำรอง
Kolonka อีก 2 ระบบ
เรือลำนี้เป็นเรือลำแรกๆ
ที่มีการติดจรวด อาวุธบางอย่างยังเก่าอยู่อาทิเช่นปืนหลัก
รวมทั้งยังไม่มีระบบเป้าลวงและระบบแปลกๆ เป็นแท่งเหลี่ยมๆ มนๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรดาร์
3
มิติควบคุมจรวดหรือระบบดาต้าลิงก์
แต่เรือลำนี้ของพม่าถือว่าจัดแน่นจัดเต็มหนึ่งลำ ผู้เขียนมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องติด
Kolonka 2 ระบบ ผู้อ่านนึกสงสัยกันบ้างไหมครับ
ดูภาพถัดไปกันก่อนดีกว่า
เรือตรวจการณ์พม่าทดสอบยิงปืนกล AK-230 กระบอกหัวเรือ
จะเห็นว่ากระบอกปืนเล็งไปทางขวาทำมุม 10 นาฬิกา
แต่เรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G
อยู่ในตำแหน่งปรกติ เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมคือ Kolonka
ฝั่งซ้ายของเรือ พลยิงสวมชุดป้องกันไฟครบถ้วนถือว่าดีมาก
เยื้องต่ำลงมาเล็กน้อยเห็นปืนกล Type 91 ซึ่งใช้ปืนกลขนาด 14.5
มม.จำนวน 4 กระบอก
ปืนรุ่นนี้ออกแบบให้ใช้งานผ่านรีโมทควบคุม สามารถยิงด้วยมือจากหลังป้อมเหมือนกับ DS30MR ได้ ไม่ได้ติดเครื่องเล็งบนป้อมปืนเหมือนกัน แต่น่าจะใช้งานง่ายกว่าเพราะปืนน้ำหนักเบากว่า
เท่ากับว่าเรือลำนี้มีปืนอัตโนมัติหัวเรือถึง
3
กระบอก ที่จำเป็นต้องติดตั้ง Kolonka ถึง 2
ระบบนั้น ผู้เขียนอนุมานเอาเองว่าเพราะ Kolonka ควบคุมปืนได้ 2 กระบอก จึงต้องมี Kolonka ตัวที่สองเพื่อใช้ควบคุมปืนกล AK-230
กระบอกหลังด้วย กวาดตามองไปยังเรือประเทศอื่นก็ติดแบบนี้เช่นกัน คือใช้ Kolonka 1 ระบบกับปืนกล 2 กระบอก
ปืนกล
AK-230 มีความสำคัญกับรัสเซียหรือโซเวียตในอดีตมาก
สมัยก่อนนี้พวกเขาใช้ปืนกลขนาด 23 มม.แท่นคู่บ้าง
ขนาด 25 มม.แท่นคู่บ้าง รวมทั้งขนาด 37
มม.แท่นคู่ที่พวกเราคุ้นเคยกันดี ครั้นพอพัฒนา
AK-230 เข้าประจำการได้แล้ว ด้วยขนาดป้อมปืนที่เล็กกะทัดรัด
(แต่กินพื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือ) มีระบบบรรจุกระสุนปืนอัตโนมัติ พร้อมอัตรายิงสูงสุด 1,000
นัดต่อนาที ทำให้วอร์ซอประจำการปืนชนิดนี้บนเรือนับไม่ถ้วน
โดยเฉพาะเรือลำเล็กๆ สามารถป้องกันตนเองได้ดีกว่าเดิม นี่คือปืนที่เปลี่ยนหลักนิยมเรือรบค่ายตะวันออกตลอดกาล
มีความสำคัญมากแต่ชื่อเสียงน้อยกว่า AK-630 อย่างไม่น่าเชื่อ
ปัจจุบัน AK-230
แทบจะเลือนหายไปแล้ว เหลือใช้งานบนเรือเก่าจำนวนหนึ่งเท่านั้น
เรือตรวจการณ์และเรือช่วยรบรุ่นใหม่จะใช้งาน AK-306 ทดแทน
เพราะใช้อะไหล่จำนวนมากร่วมกับ AK-630 ได้เป็นอย่างดี เคยมีการนำ
Kolonka มาใช้งานกับปืนกลขนาด 23 มม. 25 มม. และ 37 มม.มาแล้ว ทว่าไม่ได้รับความนิยมจนแทบไม่ปรากฏภาพถ่าย
ภาพต่อไปเป็นเรือฟริเกต
F-14
ซึ่งทันสมัยมากที่สุดของพม่า
สารภาพบาปว่าเคยวาดภาพเรือลำนี้หลายครั้ง แต่จำชื่อไม่ได้จริงๆ
รวมทั้งเรือทุกลำของเขา รวมทั้งเรือทุกลำของชาติอื่นก็เช่นกัน
ผู้เขียนจำได้แค่ชื่อชั้นเรือที่คนทั่วมักนิยมเรียกกัน ส่วนชื่อยิบย่อยอะไรพวกนี้บอกได้คำเดียวว่าตาย
เพราะฉะนั้นขอเรียกเรือลำนี้ว่า F-14 ง่ายๆ แบบนี้แหละ
เล่นเกมจับผิดกันดูสักหน่อยเป็นไร
เรือลำนี้มีอะไรแปลกๆ ติดอยู่เต็มลำ เริ่มกันจากแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน
Igla แบบ 6 ท่อยิง รูปร่างประหลาดเหมือนตู้โทรศัพท์เสียบเสาทิ้งไว้
ต่อด้วยปืนกล AK-630 ใช้ป้อมปืนลดการตรวจจับด้วยเรดาร์
เพราะฉะนั้นป้อมปืนนี้มาจากจีนไม่ใช่รัสเซีย
ก้มลงไปเล็กน้อยเห็นระบบเป้าลวงอาวุธนำวิถี หน้าตาคล้ายคลึงระบบเป้าลวง Dagaie
ซึ่งมีใช้งานบนเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ท่อยิงตอร์ปิโดเบาแฝดสามอยู่ใต้สะพานเดินเรือถือว่าแปลก
ทีนี้แหงนหน้าขึ้นมองหลังคาสะพานเดินเรือบ้าง จะเห็น Kolonka
หน้าตาแปลกพิกลล้อมด้วยราวกันตก
Kolonka บนเรือ F-14 แปลกอย่างไร?
ผู้เขียนรู้สึกว่าตรงก้านมันตันๆ เหมือนคอตัวเอง เพียงแต่ภาพไม่ค่อยชัดเจนสักเท่าไร
เพื่อให้ข้อสงสัยนี้กระจ่างแจ้งในคืนลอยกระทง จึงถอดจิตเดินทางไปสืบที่กองทัพเรือเวียดนามบ้าง
ประเทศนี้ใช้งาน Kolonka บนเรือรบจำนวนมากเช่นกัน
และภาพถัดไปมาจากเรือฟริเกตชั้น Gepard ซึ่งพวกเขามีอยู่จำนวน
4 ลำ
ค่อนข้างชัดเจนว่าเหมือนกับเรือ
F-14
ของพม่า Kolonka ของโปแลนด์และรัสเซียตรงก้านจับจะแยกซ้ายขวา
โดยมีช่องว่างเล็กๆ ตรงกลางใต้เครื่องเล็ง ผู้เขียนขอตั้งชื่อให้เองว่ารุ่นก้านวาย
แต่ของเวียดนามก้านจับจะเป็นเหล็กทั้งแท่ง ผู้เขียนขอตั้งชื่อให้เองว่ารุ่นก้านตัน
ขนาดเครื่องเล็งอาจต่างกันเล็กน้อยไม่ใช่ประเด็น ที่เป็นประเด็นจนเกิดคำถามตามมาก็คือ
ของเวียดนามเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดหรือเปล่า? หรือเป็นรุ่นส่งออก?
หรือเวียดนามกับพม่าพัฒนาขึ้นมาเอง? หรือจริงๆ แล้วมันไม่ใช่
Kolonka? ทั้งหมดนี้ผู้เขียนขอรวบรวมไว้เป็นคำถามข้อแรก
ก่อนอื่นมาทายคำถามข้อที่สองกันก่อน
คำถามมีอยู่ว่า…Kolonka ติดอยู่ตรงไหนของเรือฟริเกตชั้น Gepard? ให้เวลาคิด 5 นาทีแล้วค่อยดูภาพถัดไปนะครับ
(จะปิดบังภาพกันอย่างไรละหนอ?)
คำตอบคำถามข้อที่สองก็คือ
Kolonka ติดอยู่บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แบบเปิดโล่งของเรือฟริเกตชั้น Gepard ที่ว่าเปิดโล่งคือมีอุปกรณ์ลากเฮลิคอปเตอร์เข้ามาจอด
พับใบพัดเสียบเข้ามาในโรงเก็บขนาดค่อนข้างสั้น
ส่วนตัวเครื่องตากแดดตากฝนทนทุกสภาวะเช่นเดิม การใช้งาน Kolonka ค่อนข้างลำบากพอตัว พลยิงจะต้องปีนบันไดลิงจำนวน 3 ชั้นด้วยกัน
ขึ้นไปบนจุดที่มีธงเหลืองฟ้าโบกสะบัดนั่นแหละครับ จากนั้นจึงทำการเล็งจำลองไปยังเป้าหมายที่ต้องการ
การยิงปืนกลด้วย
Kolonka ทั้งหมดเป็นการเล็งจำลอง เพราะอุปกรณ์ช่วยเล็งไม่ได้อยู่ด้านหลังป้อมปืน
ต้องมีการปรับแต่งปืนแต่ละกระบอกให้ยิงดักยิงเผื่อล่วงหน้าไว้ก่อน
ถ้าอยู่ใกล้กันแบบเรือภาพที่ 3 หรือ 4 การปรับแต่งจะไม่ยากเท่าไร
แต่ถ้าอยู่ห่างไกลแบบภาพที่ 7 หรือ 8
งานนี้เริ่มลำบาก ถ้าต้องบังคับปืน 2 กระบอกที่อยู่ห่างไกลกัน
พลยิงจะเกิดอาการเหวอๆ อยู่บ้างในช่วงแรก วิธีแก้ไขคือซ้อมยิงด้วยกระสุนจริงมากครั้งเข้าไว้
และพยายามอย่าเปลี่ยนพลยิงให้บ่อยเกินไป
เนื่องมาจาก
Kolonka ไม่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์เลย สงครามอิเล็กทรอนิกส์จึงไม่ส่งผลกระทบกับการใช้งาน
แต่เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์ควบคุมโอกาสผิดเพี้ยนจึงมีสูง
ผู้ใช้งานต้องทำความเข้าใจระบบให้ดีเสียก่อน
เหมือนรถเก๋งสมัยก่อนมีสายคันเร่งภายในห้องเครื่อง แต่รถเก๋งปัจจุบันใช้ระบบไฟฟ้าทั้งหมดอะไรประมาณนี้
กลับมาที่คำถามข้อแรกอีกครั้ง
Kolonka รุ่นก้านตันคืออะไรกันแน่?
ผู้เขียนสวมวิญญาณโคนันยอดนักสืบจิ๋ว ตามดมกลิ่นกลับไปยังอดีตกาลสมัยตัวเองเป็นเด็กน้อย
แล้วในที่สุดก็ได้พบเจอของดีของเด็ดโดนใจ
นี่คือภาพแสกนจากนิตยสารสงครามเมื่อ
32 ปีที่แล้ว เห็นทหารบนเรือลาดตระเวนของโซเวียต ยืนคาบซิการ์ใกล้กับ Kolonka รุ่นก้านตัน ส่วนอีกภาพสหายรัสเซียกำลังทดสอบเครื่องเล็ง
ซึ่งในนิตยาสารใช้คำว่า ‘ศูนย์รวมโคลอนคา’ เพราะฉะนั้นเราได้คำตอบชัดเจนแล้วว่า Kolonka
ของเวียดนามไม่ใช่รุ่นล่าสุด ไม่ใช่รุ่นส่งออก ไม่ได้พัฒนาขึ้นมาเอง และเป็น Kolonka ตัวจริงเสียงจริง ส่วนรุ่นก้านตันจะเก่ากว่าหรือใหม่กว่ารุ่นก้านวาย
ผู้เขียนขอติดไว้ก่อนแล้วกันนะครับ
เรามาชมแผนภาพระบบควบคุมการยิงของรัสเซียกันบ้าง
ผู้อ่านอย่าเพิ่งสับสนกับคำว่าโซเวียตและรัสเซียนะครับ เหตุการณ์ที่เกิดก่อนปี 1991 เป็นโซเวียต เหตุการณ์ที่เกิดหลังจากนั้นเป็นรัสเซียง่ายๆ แค่นี้เอง
จากแผนภาพแบ่งออกเป็น
2
ส่วนอย่างชัดเจน A คือระบบควบคุมการยิงหลัก
ใช้เรดาร์หรือออปทรอนิกส์ในการติดตามเป้าหมาย ทำงานผ่านระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัย พลยิงนั่งภายในเรือบังคับอาวุธปืนด้วยปลายนิ้ว
เหมือนกับระบบควบคุมการยิงฝั่งตะวันตก ส่วน B คือระบบควบคุมการยิงสำรอง
ใช้ Kolonka ตั้งบนดาดฟ้าเรือใกล้กับตู้ไฟ ใช้อุปกรณ์ติดตั้งควบคุมคล้ายคอมพิวเตอร์พกพา
หน้าตาโปรแกรมเหมือนสมัยบิล เกตส์ ยังอาศัยอยู่ในโรงรถพ่อตัวเอง
อย่างที่รู้ว่ากองทัพเรือไทยสั่งซื้อปืนกล
AK-306
จากรัสเซีย เพราะฉะนั้นเนื้อหาต่อจากนี้จะเกี่ยวข้องกับปืนกระบอกนี้
รวมทั้งอุปกรณ์ควบคุมการยิงรูปแบบแตกต่างกัน ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้นทุกคนตามข้าพเจ้ามา
เรือหมายเลข
11 ในภาพคือเรือชั้น Svetlyak หรือ Project
10412 ชื่อ VLN-11 Triglav ของสโลวาเนีย
ระวางขับน้ำเต็มที่ 375 ตัน ยาว 49.5 เมตร
กว้าง 9.2 เมตร กินน้ำลึก 2.5 เมตร ติดปืนกล
AK-306 ที่หัวเรือจำนวน 1 กระบอก
มาพร้อมระบบตรวจจับแบบจัดแน่นจัดเต็มล้นลำ เริ่มจากออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงจากรัสเซีย
ต่อกันด้วยระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ถัดไปหน่อยเดียวเป็นระบบควบคุมการยิงสำรอง Kolonka บนเสากระโดงเป็นเรดาร์เดินเรือ ถัดจากเรดาร์เป็นกล้องตรวจการณ์กลางคืน
เรือลำนี้ทันสมัยมากรวมทั้งราคาแพงมาก ใช้ระบบควบคุมการยิงปืนกล AK-306 แผน AB
ก่อนไปที่เรือลำอื่นผู้เขียนขอเฉลยปริศนาเสียก่อน
ภาพถ่ายใบแรกสุดมาจากเรือชื่อ VLN-11 Triglav
ของสโลวาเนียลำนี้แหละ เรือติด Kolonka หน้าเสากระโดง
ติดเสาวิทยุริมหน้าต่างสะพานเดินเรือ และติดปืนกล AK-306 1
กระบอกที่หัวเรือ ฉะนั้นถ้าเราบังคับ Kolonka
ไปทางขวามือหรือซ้ายมือนิดหน่อย เสาวิทยุที่เห็นอยู่ในภาพจะไม่เป็นอะไรเลย
เพราะนี่คือการเล็งจำลองไม่ใช่เล็งจริง ผู้อ่านท่านใดทายถูกโทรเลขมาบอกด้วยนะครับ J
ส่วนลำนี้เป็นเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งคาซัคสถาน
เรือชั้น Project 300 ถูกปรับปรุงมาจากแบบเรือ Project
22180 ของรัสเซีย ระวางขับน้ำ 218 ตัน ยาว 41.75 เมตร กว้าง 7.8 เมตร ความเร็วสูงสุด 30 นอต ติดปืนกล AK-306 บริเวณหัวเรือ
ใช้ระบบควบคุมการยิง Kolonka รุ่นก้านวายบนหลังคาสะพานเรือ จึงถูกจัดให้เป็นแผน
B อย่างชัดเจน
ลำถัดไปมาจากกองทัพเรือคาซัดสถานบ้าง
Project
250 Patrol Vessel หรือ Kazakhstan Class ปรับปรุงมาจากเรือชั้น Project 300
ของหน่วยยามฝั่งอีกที ระวางขับน้ำ 230 ตัน ยาว 42.2 เมตร กว้าง 7.8 เมตร ใช้เครื่องยนต์ MTU จากเยอรมันจำนวน 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 30 นอต ติดปืนกล AK-306 บริเวณหัวเรือ
ใช้ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง Sens-2-250 พัฒนาขึ้นมาเอง ติดตั้งจรวดต่อสู้อากาศยาน
Igla พร้อมแท่นยิงแฝดสี่รุ่น Arbalet-K
รวมทั้งระบบแท่นยิงแฝดสี่ Baryer-VK สำหรับจรวดอเนกประสงค์นำวิถีเลเซอร์รุ่น
RK-2V ซึ่งมีระยะยิงไกลสุดประมาณ 7.5 กิโลเมตร
Kazakhstan Class เป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งตัวจิ๊ดลำหนึ่งของโลก ประเทศคาซัดสถานไม่มีพื้นที่ติดกับทะเลหลวง
ทั้งกองทัพเรือและหน่วยยามฝั่งต้องทำงานในทะเลแคสเบี้ยน ประเทศเขามีพื้นที่น้อยนิดยังแยกหน่วยงานเลยครับ
ไม่ทราบว่าประเทศเราจะทำกันเมื่อไหร่ เรือลำนี้ใช้ระบบควบคุมการยิงปืนกล AK-306 แผน A+ คือใช้ระบบออปทรอนิกส์ของตัวเอง
แล้วแผน
A
แท้ๆ ที่ใช้ออปทรอนิกส์ของรัสเซียมีหรือไม่? มีสิครับ….เยอะแยะตาแป๊ะไก่
กลับมาที่กองทัพเรือคาซัคสถานกันอีกครั้ง
เพื่อได้พบกับเรือกวาดทุ่นระเบิดใกล้ฝั่ง Project 10750E
สภาพใหม่เอี่ยม MCM Alatau สร้างโดยอู่ต่อเรือในรัสเซีย
ระวางขับน้ำ 169 ตัน ยาว 32 เมตร กว้าง
6.9 เมตร ติดปืนกล AK-306 บริเวณหัวเรือ ใช้ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิงจากรัสเซีย รวมทั้งโซนาร์ตรวจจับทุ่นระเบิดกับยานทำลายทุ่นระเบิดใต้น้ำรุ่น
A9-M
เรือลำนี้ขนาดเล็กมากจนถูกเรียกว่า
Harbor
Minesweeper ทว่าติดปืนกลอัตโนมัติพร้อมระบบควบคุมการยิงทันสมัย
โดยใช้พื้นที่จำนวนน้อยนิดบนเรือได้อย่างเหมาะเจาะ นี่คือแผน A แท้ๆ จากดินแดนหลังม่านเหล็ก นำมาใช้งานบนเรือลำเล็กลำน้อยกองทัพเรือไทยได้อย่างสบาย
ไม่ทราบว่ามีใครสนใจบ้างไหมเอ่ย?
บทความเดินทางมาถึงตอนจบแล้ว
ผู้เขียนสามารถสรุปความตามท้องเรื่องได้ 3 ประการดังนี้
1. AK-306 คือปืนกลอัตโนมัติธรรมดาๆ นี่แหละ
สามารถใช้เรดาร์หรือออปทรอนิกส์ทุกรุ่นควบคุมการยิงได้
ไม่อยากใช้ของรัสเซียใช้ของสวีเดนหรืออเมริกาก็ได้
เพียงแต่ต้องจ่ายเงินค่าพัฒนาระบบเพิ่มเติมเข้าไปด้วย
2. Kolonka ยังได้รับความนิยมในการใช้เป็นระบบควบคุมการยิงสำรอง แต่มีคู่แข่งมากขึ้นในการใช้เป็นระบบควบคุมการยิงหลัก
เนื่องจากใช้งานตอนกลางคืนลำบาก ใช้งานตอนฝนตกก็ลำบาก
สู้ควบคุมด้วยรีโมทจากภายในเรือไม่ได้
3. Kolonka จะมาประเทศไทยหรือไม่มีด้วยกัน 2 เงื่อนไข ถ้านำมาติดบนเรือตรวจการณ์ไม่กี่ลำคิดว่าคงไม่มา
แต่ถ้าเรือฟริเกตรัสเซียมาตามนัดไม่ว่าลำไหนก็ตาม อาจต้องส่งพลยิงไปฝึกใช้งาน Kolonka ที่เวียดนาม ไปพม่าไม่ได้เพราะระบบผูกกับเรดาร์ควบคุมการยิงของจีน
อยากโหดสลัดรัสเซียต้องฮอยอันฉันรักเธอสถานเดียว
บทความนี้ค่อนข้างยาวพอสมควร
มีการใส่จินตนาการเหนือความรู้เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อให้เห็นภาพจากมุมมองอื่นชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้นผู้อ่านควรใช้วิจารณญาณมากๆ แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าสวัสดีครับ ^_+
-------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
นิตยาสารสงครามฉบับปี 2530
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น