วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

Zeta 60E Large Patrol Vessel

  

บริษัทมาร์ซันประเทศไทยพัฒนาเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่รุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อเจาะตลาดส่งออกหวังส่วนแบ่งจากเค้กก้อนใหญ่ และขยายกิจการให้มีขนาดใหญ่โตมากกว่าเดิม เป้าหมายหลักคือประเทศในทวีปเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้ รวมทั้งหมู่เกาะน้อยใหญ่ที่มีงบประมาณป้องกันประเทศค่อนข้างจำกัด

 แบบเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ถูกตั้งชื่อใหม่ว่า Zeta 60E (E ย่อจากคำว่า Export) แม้มีรูปร่างหน้าตาคล้ายเรือตระกูล Sigma จากเนเธอร์แลนด์หลายส่วนรวมทั้งปล่องระบายความร้อนคู่ ทว่าแบบเรือถูกพัฒนาจากเรือตรวจการณ์ระยะปานกลาง M58 และถือเป็นเรือลำแรกของตระกูล Zeta ซึ่งจะเป็นเครื่องหมายการค้าบริษัทมาร์ซันไปอีกยาวนาน

 หลังจากนี้ไม่กี่ปีบริษัทมาร์ซันจะพัฒนาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง Zeta 80 และ Zeta 90 เรือคอร์เวต Zeta 100 ปิดท้ายด้วยเรือฟริเกต Zeta 110 กับ Zeta 120 ซึ่งมีขนาดใหญ่โตมากที่สุด เท่ากับว่าเรือตระกูลนี้จะมีขนาดให้ลูกค้าเลือกใช้งานมากถึง 6 รุ่น

 แบบเรือ M58 ถูกขยายทุกสัดส่วนเพื่อเพิ่มพื้นที่ติดอาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ ระวางขับน้ำสูงสุดเท่ากับ 640 ตัน ความยาวเพิ่มขึ้นจาก 58 เมตรเป็น 63.4 เมตร ความกว้างเพิ่มขึ้นจาก 9.3 เมตรเป็น 9.7 เมตร กินน้ำลึกสุด  3.2 เมตรในรุ่นปราบเรือดำน้ำ ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 22 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด : 4,200 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 14 นอต ความเร็วสำหรับการใช้ระบบโซนาร์ : 12 นอต ออกทะเลได้นานสุด 21 วัน (เพราะมีการขยายพื้นที่จัดเก็บเชื้อเพลิง อาหาร และน้ำดื่ม) ลูกเรือจำนวน 34-38 นาย

 ตั้งแต่หัวเรือจรดท้ายติดราวกับตกแบบทึบ ใช้สะพานเดินเรือแบบมองเห็น 360 องศา พื้นที่ด้านหน้ามีจุดติดอาวุธจำนวน 1 ถึง 2 จุดขึ้นอยู่กับชนิดอาวุธ กลางเรือเป็นพื้นที่ว่างสำหรับรับส่งสิ่งของระหว่างเรือหรือทางอากาศ ปล่องระบายความร้อนคู่รูปทรงสวยงามขนาดกำลังเหมาะสม ด้านหลังปล่องระบายความร้อนมีจุดติดตั้งอาวุธอีกหนึ่ง 1 จุด

 พื้นที่ท้ายเรือเป็นจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาด 5.2 เมตรจำนวน 2 ลำ ต่อกันด้วยทางขึ้นลงดาดฟ้าเรือชั้นล่างซึ่งเป็นห้องพักลูกเรือ จากนั้นจึงเป็นจุดติดอาวุธท้ายเรือซึ่งถูกขยายความยาวมากกว่าเดิม ด้านบนใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ในการทำภารกิจรอง ด้านล่างเพิ่มพื้นที่พักผ่อนสำหรับลูกเรือและพื้นที่จัดเก็บอาหารกับน้ำดื่ม

 มีการกำหนดแบบเรือให้ลูกค้าเลือกใช้งาน 4 เวอร์ชันประกอบไปด้วย

        

1.เรือตรวจการณ์อเนกประสงค์

        หัวเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ Bofors 40 mm Mk4 จำนวน 1 กระบอก สามารถปรับเปลี่ยนเป็นปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ได้ ข้างสะพานเดินเรือติดตั้งปืนกล 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก (ในภาพผู้เขียนไม่ได้ใส่เพราะใส่แล้วไม่สวย) หลังปล่องระบายความร้อนติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ Nexter Narwhal ขนาด 20 มม.จำนวน 1 กระบอก โดยมีออปชันเสริมตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบพร้อมเครนอเนกประสงค์ บริเวณพื้นที่ว่างท้ายเรืออันเป็นจุดติดตั้งที่เหมาะสมมากที่สุด

 ระบบตรวจจับประกอบไปด้วย เรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัว สามารถปรับเปลี่ยนเป็นเรดาร์ตรวจการณ์ 2 มิติหรือ 3 มิติได้ ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงจำนวน 1 ตัว ระบบอำนวยการรบและระบบดาต้าลิงก์เลือกได้ว่าจะติดหรือไม่ติด กล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์เลือกได้เช่นกันว่าจะติดหรือไม่ติด แบบเรือเวอร์ชันนี้คาดว่าจะขายดีมากที่สุด

         

2.เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ

         การติดตั้งระบบอาวุธมากกว่าเดิมประกอบไปด้วย หลังปืนกลอัตโนมัติ Bofors 40 mm Mk4 ติดตั้งแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan ขนาด 6 ท่อยิง ระยะยิงไกลสุด 2,000 เมตร ระยะยิงลึกสุด 300 เมตร ถ้าลูกค้าเลือกใช้งานปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid จะติดแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan ไม่ได้เพราะมีพื้นที่ว่างไม่เพียงพอ ข้างสะพานเดินเรือติดตั้งปืนกล 12.7 มม.จำนวน 2 กระบอก หลังปล่องระบายความร้อนติดตั้งแท่นยิง Simbad-RC ขนาด 4 ท่อยิง สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Mistral 3 ระยะยิงไกลสุด 7 กิโลเมตร ท้ายเรือติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Shyena ระยะยิง 19 กิโลเมตรขนาดสามท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง

         จรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan มีหน้าที่ปิดช่องว่างการไล่ล่าเรือดำน้ำในเขตน้ำตื้น แม้ไม่อาจทำลายเป้าหมายแต่ยังช่วยกดดันให้เรือดำน้ำแล่นออกห่างเพื่อเอาตัวรอด จรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan ยังช่วยจัดการเรือดำน้ำขนาดเล็กที่แอบเข้าใกล้ฐานทัพเรือหรือสถานที่สำคัญ รวมทั้งยานใต้น้ำไร้คนขับติดอาวุธซึ่งเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยการตั้งค่าระเบิดให้ลึกน้อยที่สุดก่อนโจมตีจำนวน 6 นัดพร้อมกัน จะเกิดการระเบิดในวงกว้างสร้างความเสียหายต่อยานใต้น้ำไร้คนขับติดอาวุธฝ่ายตรงข้าม

         มีการติดตั้งระบบอำนวยการรบ ระบบดาต้าลิงก์ ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง และเรดาร์ตรวจการณ์  3 มิติตามความต้องการลูกค้า ระบบโซนาร์หัวเรือเลือกใช้งาน HUMSA HMS-X จากอินเดียเพราะมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป พื้นที่ว่างกลางเรือติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงขนาด 130 มม.รุ่นหกท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง ใช้งานได้ทั้งเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีและเป้าลวงตอร์ปิโด เพียงแต่ไม่มีการติดตั้งระบบดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM

               

3.เรือตรวจการณ์ปราบเรือผิวน้ำ

         เป็นการนำเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำมาปรับปรุงเพิ่มเติม โดยการติดตั้งระบบดักจับการแพร่คลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM บนเสากระโดง เปลี่ยนแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan เป็นแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ขนาดแปดท่อยิง เปลี่ยนแทนยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Shyena เป็นแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Marte ER ขนาดแปดท่อยิง โดยไม่ลืมถอดโซนาร์หัวเรือ HUMSA HMS-X ออกเพราะไม่ได้ใช้งาน เท่ากับว่าบนเรือมีอาวุธปล่อยนำวิถีพร้อมใช้งานมากถึง 20 นัด

 

Spike NLOS ระยะยิงไกลสุด 32 กิโลเมตรสำหรับจัดการเป้าหมายขนาดเล็ก Marte ER ระยะยิงไกลสุด 100 กิโลเมตรสำหรับจัดการเป้าหมายขนาดใหญ่ หัวรบขนาด 70 กิโลกรัมจมเรือขนาด 600 ตันได้ในการยิงนัดเดียว และทำให้เรือขนาด 1,500 ตันหมดสภาพเกิดความเสียหายอย่างหนัก ทั้ง Spike NLOS และ Marte ER ใช้โจมตีเป้าหมายบนชายฝั่งได้อีกหนึ่งภารกิจ ราคาย่อมเยากว่า Harpoon Block 2 ค่อนข้างมาก สามารถจัดหามาใช้งานได้มากกว่าโดยไม่ต้องตัดงบประมาณส่วนอื่นของกองทัพ

            

4.เรือตรวจการณ์ติดอาวุธ 3 มิติ

         เป็นการนำเรือตรวจการณ์ปราบเรือผิวน้ำมาปรับปรุงเพิ่มเติม โดยการเปลี่ยนแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS เป็นแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan และติดตั้งโซนาร์นาร์ Simrad SP96MKII ระยะตรวจจับ 3,600 เมตรเพิ่มเติมเข้ามา กลายเป็นเรือตรวจการณ์ติดอาวุธ 3 มิติคู่แข่งสำคัญเรือตรวจการณ์ P1200 จากทูร์เคีย

         จรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan อาจมีระยะยิงค่อนข้างสั้นเพียง 2,000 เมตร ลูกจรวดหนัก 35.5 กิโลกรัมหัวรบขนาด 12 กิโลกรัมถือว่าเล็กมาก แต่ถึงกระนั้นถ้าโดนเข้าไปสักนัดเรือดำน้ำเจ้ากรรมอาจเกิดความเสียหาย เหมาะสมกับประเทศเบี้ยน้อยหอยน้อยไม่มีเงินซื้อตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำราคานัดละ 2 ล้านยูโร

 บทสรุป

         เรือตรวจการณ์ Zeta 60E เป็นเรือที่ผู้เขียนแต่งแต้มเติมฝันขึ้นมาเอง ไม่มีวางขายจริงนอกเสียจากมาร์ซันเห็นดีเห็นงามตามกันแล้วแอบลอกการบ้าน เป็นแบบเรือที่สามารถติดอาวุธได้ถึง 6 จุดประกอบไปด้วย หัวเรือ 2 จุด ข้างสะพานเดินเรือ 2 จุด และท้ายเรืออีก 2 จุด ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าอยากติดอาวุธหรืออยากใช้เป็นเรืออเนกประสงค์

         เนื่องจากเรือตรวจการณ์ Zeta 60E มีรูปทรงสวยงามล้ำสมัยเทียบเท่าเรือชาติอื่น จึงเหมาะสมกับการส่งไปแข่งขันแย่งชิงลูกค้าจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญมากที่สุดก้าวหนึ่ง ในการขายเรือตรวจการณ์เมดอินไทยแลนด์ให้ดังกระหึ่มทั่วโลก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น