วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567

Chumporn-class Offshore Patrol Vessel

 

ปีงบประมาณ 2569 กองทัพเรือต้องการจัดซื้อเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำในวงเงิน 35,000 ล้านบาท หรือลำละ 17,500 ล้านบาท เหตุผลก็คือราชนาวีไทยมีเรือฟริเกตติดอาวุธครบ 3 มิติเพียง 3 ลำ ส่วนเรือคอร์เวตติดอาวุธครบ 3 มิติอีก 1 ลำอายุค่อนข้างมากใกล้ปลดประจำการ กำหนดให้เรือฟริเกตทุกลำสร้างเองในประเทศโดยอู่ต่อเรือเอกชน

ผลกระทบจากเมกะโพรเจกต์ส่งผลกระทบต่องบประมาณประจำปี โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำเป็นต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ถึงกระนั้นเจ้ากรมอู่ทหารเรือกลับไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเสียเปล่า เขามีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องออกแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งราคาประหยัด โดยนำเรือหลวงปัตตานีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดแรกที่จัดซื้อจากประเทศจีนมาปรับปรุงทั้งลำ เพื่อลบจุดอ่อนทั้งหมด พัฒนาแบบเรือให้สมบูรณ์แบบ และมีความเหมาะสมกับการรบในอนาคตซึ่งมีความแตกต่างไปจากเดิม

เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องใช้เวลา 11 เดือนในการออกแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่สองของอู่ทหารเรือ ก่อนส่งแบบเรือให้เจ้ากรมส่งต่อไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งสัญชาติไทยเชื้อชาติจีนมีรายละเอียดดังนี้

เรือต้นแบบ

ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือต้นแบบของโครงการ ติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์เหมือนเรือชั้นเรือหลวงปัตตานี เพื่อให้ผู้บัญชาการกองทัพเรือพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อ มีการตั้งชื่อชั้นเรือว่าเรือหลวงชุมพรเป็นการชั่วคราว หากมีการสร้างจริงอาจเปลี่ยนชื่อเรือในภายหลังตามความเหมาะสม

รูปทรงโดยรวมคล้ายดีไซน์เรือจากยุค 90 ตอนต้น อาจไม่ทันสมัยเหมือนเรือตรวจการณ์ไกลฝังรุ่นใหม่ เพราะผู้ออกแบบเน้นความประหยัดเพื่อให้การสร้างเรือใช้เงินน้อยที่สุด เรือแบ่งเป็นสามส่วนประกอบไปด้วย สะพานเดินเรือ ปล่องระบายความร้อน และโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ กรมอู่ทหารเรือออกแบบเรือเหมือนเรือหลวงปัตตานีตลอดทั้งลำ จนได้รับชื่อเล่นเรียกกันเองว่า ปัตตานีน้อยกลอยใจ แม้ในความเป็นจริงเรือได้รับการปรับปรุงข้อบกพร่องตั้งแต่หัวเรือจรดท้ายเรือ

เรือหลวงชุมพรมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,528 ตัน ยาว 86.5 เมตร กว้าง 12.8 เมตร กินน้ำลึก 3.2 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD เครื่องยนต์ดีเซล MAN จำนวน 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 23 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต ออกทะเลนานสุด 21 วัน กำลังพลประจำเรือ 80 นาย

ระบบอาวุธประจำเรือมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เนื่องจากปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ราคามากกว่า 400 ล้านบาทแพงเกินมือเอื้อม ผู้เกี่ยวข้องจึงแนะนำให้ใช้งานปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จากบริษัท Hundai WIA ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตรายิง 100 นัดต่อนาที ประสิทธิภาพเทียบเท่าปืนใหญ่ OTO 76/62 IROF บนเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ส่วนปืนรองเป็นปืนกลขนาด 20 มม.รุ่น GI-2 จำนวน 2 กระบอก กับปืนกลขนาด 12.7 มม.รุ่น M2 ยอดนิยมอีก 2 กระบอก

ระบบเรดาร์บนเรือประกอบไปด้วย ระบบอำนวยการรบ CATIZ จากบริษัท Navantia เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe 1X จากบริษัท Saab เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 Mk2 จากบริษัท Thales ระบบดาต้าลิงก์ Link Y Mk2 จากบริษัท Thales นอกจากนี้ยังมีเรดาร์เดินเรือ Furuno จำนวน 3 ตัว กับกล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์ D CoMPASS อีก 1 ตัวตามมาตรฐานเรือรบลูกประดู่ไทย

กระทบไหล่เรือจีน

          ภาพประกอบที่สองภาพบนคือเรือหลวงปัตตานีหลังการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งาน เรือมีความยาว 95.5 เมตร กว้าง 11.8 เมตร กินน้ำลึก 3.3 เมตร นำมาเปรียบเทียบกับเรือหลวงชุมพรภาพล่างผลปรากฏว่า เรือหลวงชุมพรสั้นกว่า 9 เมตรแต่กว้างกว่า 1 เมตร กินน้ำลึกน้อยกว่า 0.1 เมตร เท่ากับว่าเรือมีรูปทรงเรือรบยุคใหม่มากกว่าเดิม

ความสูงหัวเรือใกล้เคียงกันมากจนถือว่าไม่แตกต่าง สะพานเดินเรือเรือหลวงชุมพรเตี้ยกว่าประมาณ 1 เมตร (วัดจากดาดฟ้าเรือชั้นล่าง) จุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบหายไป ปล่องระบายความร้อนเรือหลวงชุมพรใหญ่กว่านิดหน่อย โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ความยาวเท่ากัน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์เรือหลวงชุมพรยาวกว่าเล็กน้อยและเตี้ยกว่าประมาณ 1.5 เมตร (วัดจากระดับน้ำทะเล) ไม่เจาะช่องสำหรับผูกเชือกเรือในดาดฟ้าเรือชั้นล่าง ท้ายเรือจึงปิดสนิทน้ำทะเลไม่อาจซัดสาดทะลุเข้าสู่ด้านใน ส่วนจุดผูกเชือกเรือย้ายไปอยู่ข้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์เหมือนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

          ระบบอาวุธและเรดาร์เรือสองลำเหมือนกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นแค่เพียงเรือหลวงชุมพรเปลี่ยนมาใช้ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จากเกาหลีใต้ กับยังไม่ได้ติดตั้งระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Vigile 100 Mk2 จากบริษัท Thales

 

          มาตรวจสอบรูปร่างใต้น้ำของเรือหรือที่เรียกว่า Hull Form กันบ้าง เรือหลวงชุมพรติดตั้ง Bulbous Bow ที่หัวเรือช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่น และใช้ครีบลดอาการโคลงรุ่นเดียวกับเรือฟริเกต Meko A-100 ประเทศเยอรมัน ผลจากการปรับปรุงทั้งลำส่งผลให้เรือทรงตัวดีขึ้น อาการโคลงเพราะคลื่นลูกใหญ่ลดลง ลูกเรือใช้ชีวิตอย่างมีความสุข กินอาหารหรือนอนหลับพักผ่อนได้ตามปรกติ การทำภารกิจย่อมดีกว่ากันไปด้วย

ภารกิจปราบเรือผิวน้ำ/โจมตีชายฝั่ง

          นอกจากใช้ลาดตระเวนตรวจการณ์ตามปรกติ เจ้ากรมอู่ทหารเรือยังต้องการให้เรือหลวงชุมพรทำภารกิจอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เกี่ยวข้องจึงออกแบบให้หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แข็งแรงกว่าเรือหลวงปัตตานี รองรับการติดตั้งอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยชนิดต่างๆ น้ำหนักรวมไม่เกิน 4 ตัน รวมทั้งมีการสร้าง Superstructure ยาว 3.2 เมตร กว้าง 4.2 เมตร สูง 1.7 เมตรเหนือห้องพักลูกเรือที่อยู่ติดโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ด้านบนเป็นจุดติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงตัวที่สองหรือเสารับสัญญาณดาวเทียมทางทหารขนาดใหญ่ ส่วนด้านล่างเป็นห้องเก็บอาวุธติดแอร์พร้อมฉนวนป้องกันความร้อน

          สำหรับภารกิจปราบเรือผิวน้ำ/โจมตีชายฝั่งต่อเป้าหมายขนาดเล็กถึงปานกลาง เรือหลวงชุมพรติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ระยะยิงไกลสุด 32 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่อยิง มาพร้อมระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Vigile 100 Mk2 จากบริษัท Thales และแท่นยิงเป้าลวงขนาด 12 ท่อยิงรุ่น SKWS DL-12T อีก 2 แท่นยิง ตามภาพประกอบที่สาม

การปรับปรุงช่วยเสริมอำนาจการยิงมากขึ้นกว่าเดิม Spike NLOS นัดละ 7.7 ล้านบาทยิงได้ทั้งเรือผิวน้ำทุกชนิด ยานผิวน้ำไร้คนขับทุกชนิด ยานกึ่งดำน้ำไร้คนขับทุกชนิด เป้าหมายบนฝั่ง รถหุ้มเกราะ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และอากาศยานไร้คนขับทุกชนิด เข้ามาแทนที่อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block 2 ซึ่งมีราคานัดละ 145.3 ล้านบาทได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะภารกิจเล็กภารกิจน้อยที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานเรือฟริเกต และมีระบบป้องกันตัวเองแบบ Soft Kill ดีเทียบเท่าเรือฟริเกต

เวอร์ชันนี้ผู้เขียนค่อนข้างชอบเป็นพิเศษ

ภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ (อาวุธปล่อยนำวิถี)

          ปัจจุบันภัยคุกคามทางอากาศไม่ได้มีแค่เพียงเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ หรืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ อาวุธที่มาแรงแซงทุกทางโค้งคืออากาศยานไร้คนขับทุกชนิด ซึ่งอาจโบยบินเข้ามาโจมตีจากทิศทางไหนก็ได้เวลาไหนก็ได้ จะรอพึ่งพาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ราคาแพงก็คงไม่ทันกาล หนำซ้ำกองทัพเรือยังจัดหามาใช้งานจำนวนจำกัด ส่วนปืนใหญ่ 76/62 มม.กับปืนกล 30 มม.มีใช้งานอย่างแพร่หลายก็จริง แต่ไม่มีระบบนำวิถีความน่าเชื่อถือไม่เต็มร้อย บางครั้งอาจยิงถูกบางครั้งอาจยิงพลาดไปตามประสา

        กรมอู่ทหารเรือจึงแนะนำให้ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 9K38 IGLA-S ขนาด 6 ท่อยิง โดยเลือกใช้งานแท่นยิงรุ่นเดียวกับกองทัพเรือพม่า (พม่าซื้อจากที่ไหนเราก็ซื้อจากที่นั่น) ตามภาพประกอบที่สี่ เหตุผลที่เลือกแท่นยิงรุ่นนี้เพราะติดตั้ง IGLA-S ได้ถึง 6 นัด มากเพียงพอต่อการรับมือภัยคุกคามรูปใหม่จากสงครามอสมมาตร

IGLA-S สร้างโดยรัสเซียมีใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก ใช้ระบบนำวิถีคลื่นความร้อน ระยะยิงไกลสุด 6 กิโลเมตร มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง ราคาไม่ถูกไม่แพงกำลังเหมาะสม หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งหรือ สอ.รฝ. มีใช้งานอยู่ก่อนแล้ว การจัดหามาติดตั้งบนเรือหลวงชุมพรจะสามารถใช้งาน IGLA-S ร่วมกันได้ระหว่างสองหน่วยงาน

ภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ (อาวุธปืน)

        ทางเลือกที่สองในการทำภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ คือการติดตั้งแท่นยิงระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Millennium gun ตามภาพประกอบที่ห้า ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 35 มม.อัตรายิงสูงสุด 1,000 นัดต่อนาที จะทำงานร่วมกับกระสุนฉลาด  AHEAD ซึ่งมีบรรจุพร้อมใช้งานจำนวน 252 นัดในแท่นยิง ชนวนระเบิดแตกอากาศรุ่นใหม่ทำลายเป้าหมายได้ทั้งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ อากาศยานไร้คนขับทุกชนิด และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบที่ระยะไกลสุด 3.5 ถึง 5 กิโลเมตร โดยต้องติดตั้งออปโทรนิสก์ควบคุมการยิง Mirador จากบริษัท Thales เพิ่มอีก 1 ตัว

การยิงสกัดเป้าหมายแต่ละครั้งจะใช้กระสุน AHEAD ประมาณ 30 นัด เท่ากับว่า Millennium gun สามารถจัดการ Harpoonsky ได้ถึง 8 ครั้งโดยไม่ต้องเติมกระสุนเพิ่ม เหตุผลที่กรมอู่ทหารเรือเลือกใช้งานเนื่องจากราคาอยู่ในระดับเอื้อมถึง

ปี 2015 กองทัพเรืออินโดนีเซียจัดซื้อ Millennium gun จำนวน 2 ระบบในราคา 12 ล้านยูโร ฉะนั้น 1 ระบบจึงเท่ากับ 6 ล้านยูโรหรือ 213.8 ล้านบาท

ย้อนเวลากลับไปในปี 2013 กองทัพเรือไทยจัดซื้อ Phalanx จำนวน 1 ระบบในราคา 16 ล้านเหรียญหรือ 540.2 ล้านบาท

ฉะนั้น Phalanx จำนวน 1 ระบบมีค่าเท่ากับ Millennium gun จำนวน 2.5 ระบบ ผู้เขียนถึงชูรักแร้สนับสนุนให้ราชนาวีไทยจัดหามาใช้งานบนเรือฟริเกตรุ่นใหม่

เหตุผลที่ Millennium gun ราคาถูกกว่า Phalanx นั้นมีอยู่ว่า ระบบ CIWS จากเดนมาร์กจะใช้งานเรดาร์ตรวจการณ์ เรดาร์ควบคุมการยิง และออบโทรนิกส์ควบคุมการยิงบนเรือ ส่วน Phalanx ติดตั้งทุกอย่างครบถ้วนและทำงานเป็นเอกเทศ หลักการทำงานอาจแตกต่างกันชนิดหน้ามือหลังมือ ทว่าประสิทธิภาพในการทำลายเป้าหมายไม่แตกต่างกัน

ภารกิจกวาดทุ่นระเบิด

        สำหรับภารกิจนี้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งอาวุธหรือเรดาร์เพิ่มเติม แค่นำตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบมาวางบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์ แล้วติดเครนแบบพับเก็บได้อีก 1 ตัวสำหรับยกยานใต้น้ำชนิดต่างๆ ขึ้น/ลงจากผิวน้ำ โดยยังเหลือพื้นที่ว่างให้อากาศยานไร้คนขับแบบปีกหมุนบินขึ้นลงได้ตามภาพประกอบที่หก

เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเปลี่ยนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งพัฒนาโดยคนไทย ให้กลายเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดอย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้งได้โดยไม่ขัดเขิน เป็นออปชันเสริมที่กองทัพเรือทุกชาติพยายามสรรหามาใช้งาน รวมทั้งกองทัพเรือไทยซึ่งได้ก่อตั้งชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่เร็วหรือ Mobile MCM Team ขึ้นมา โดยมียานล่าทำลายทุ่นระเบิดรุ่น Seafox เป็นไอเทมลับในการเผด็จศึกทุ่นระเบิดชนิดต่างๆ

 Mobile MCM Team กับเรือหลวงชุมพรจึงไม่ใช่คนแปลกหน้าของกันและกัน

การปรับปรุงเรือเก่า

นอกจากเสนอแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งพัฒนาเองต่อกองทัพเรือ เจ้ากรมอู่ทหารเรือยังได้แนะนำให้เรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงนราธิวาส ซึ่งกำลังจะเข้ารับการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งานในปี 2569 หรือ 2025 ให้ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ขนาด 8 ท่อยิง กับแท่นยิงเป้าลวงขนาด 12 ท่อยิงรุ่น SKWS DL-12T อีก 2 แท่นยิงตามภาพประกอบที่เจ็ด

พื้นที่ว่างหลังสะพานเดินเรือถูกนำมาใช้งานเช่นกัน โดยการตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 1 ใบ (ตั้งขวาง) สำหรับจัดเก็บยานใต้น้ำชนิดต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยใช้เครนยกเรือยางท้องแข็งที่อยู่กราบซ้ายในการยกขึ้น/ลงจากผิวน้ำ เป็นการดัดแปลงเพื่อทำภารกิจเสริมโดยไม่สูญเสียพื้นที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์

การปรับปรุงจะช่วยให้เรือเรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงนราธิวาสมีอำนาจการยิงสูงสุด มีความอเนกประสงค์มากขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายไม่แพงเกินไปสามารถยอมรับได้

                +++++++++++++++

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น