เรือฟริเกตชั้น Leander สำหรับกองทัพเรือไทย
Type
31e General Purpose Frigate
ทั้งนี้เนื่องมาจากเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น
Type
26 Global Combat Ship มีราคาค่อนข้างแพง
รัฐบาลอังกฤษจำเป็นต้องลดการจัดหาจาก 13 ลำเหลือเพียง 8
ลำ และตั้งโครงการเรือฟริเกตอเนกประสงค์ชั้น Type 31e General Purpose Frigate ขึ้นมาในเดือนกันยายน
2017 กองทัพเรืออังกฤษต้องการเรือจำนวน 5 ลำในวงเงิน 1.25 พันล้านปอนด์ ติดตั้งเพียงปืนใหญ่
ปืนกลอัตโนมัติ และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
แม้ถูกกำหนดให้เป็นเรือฟริเกตทว่า Type
31e
ไม่ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบและตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ
ทว่าบนเรือต้องมีที่ว่างรองรับระบบโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำที่หัวเรือและอาจเพิ่มเติมโซนาร์ลากท้ายกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ
ต้องมีพื้นที่ว่างรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จำนวน 1
ระบบหรือ 8 ท่อยิง
สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีชายฝั่งระยะไกลที่อังกฤษกำลังพัฒนาใกล้แล้วเสร็จในอีกไม่นาน
ทำให้ภาพรวม Type 31e จึงเทียบเท่าเรือฟริเกตติดอาวุธเทียบเท่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง
นอกจากผู้เขียนจะคิดเช่นนี้บริษัท BAE Systems ยักษ์ใหญ่ด้านอาวุธของประเทศอังกฤษก็มีความเห็นใกล้เคียงกัน
หนึ่งในสามแบบเรือที่บริษัท BAE
Systems นำเสนอต่อกองทัพเรืออังกฤษ คือแบบเรือชั้น Cutlass ซึ่งนำเรือคอร์เวตชั้น Al Khareef ของกองทัพเรือโอมานมาเพิ่มความยาวจาก
99 เมตรเป็น 117 เมตรตามภาพประกอบที่หนึ่ง ตั้งแต่หัวเรือถึงเสากระโดงหลักยังคงใช้รูปทรงเดิม
ความยาวเพิ่มขึ้น 3 เมตรรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง GW-35 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Captor พื้นที่กลางเรือความยาวเพิ่มขึ้น
15 เมตรรองรับความต้องการตามโครงการ สร้างปล่องระบายความร้อนจุดที่สองเพิ่มเติมเข้ามา
ถัดไปเป็นพื้นที่ว่างรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จำนวน 1
ระบบหรือ 8 ท่อยิง
ขนาบด้วยแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโดจำนวน 2 แท่นยิง
สองกราบเรือสร้างจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งขนาดใหญ่ซึ่งโมเดลเรือในภาพประกอบไม่ได้ใส่ไว้
ถัดจากพื้นที่ซึ่งได้เพิ่มเติมเข้ามาเป็นจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
ต่อด้วยปล่องระบายความร้อนกับระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด และเนื่องมาจากมีการย้ายจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งมาไว้กลางลำ
ที่ว่างข้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์สามารถติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ DS-30M
Mk2 จำนวน 2 กระบอก
ลานจอดกับโรงเก็บรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันตามปรกติ
บริเวณบั้นท้ายเหมือนเรือคอร์เวตชั้น Al Khareef ทุกประการ
ว่ากันตามจริง BAE
Systems คาดว่าแบบเรือ Cutlass
สามารถเข้าวินแบบนอนมาพระสวดแบบสบาย ว่ากันตามจริงผู้เขียนในตอนนั้นเห็นด้วยเพราะไม่มีคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ
ให้บังเอิญบริษัท Babcock International ดันจูบปากกับบริษัท Thales
จากเนเธอร์แลนด์และอู่ต่อเรือ Odense Steel Shipyard จากเดนมาร์กนำเสนอแบบเรือชั้น Arrowhead 140 เข้าร่วมชิงชัย
แบบเรือใหม่เอี่ยมเป็นการนำเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Iver
Huitfeldt ของเดนมาร์ก มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับความต้องการที่ค่อนข้างแปลกประหลาดของราชนาวีอังกฤษ
พูดง่ายๆ ว่าหั่นออปชันจนสามารถขายเรือราคาลำละ 250 ล้านปอนด์ได้นั่นเอง
แบบเรือชั้น Arrowhead
140 ขนาดใหญ่โตแบกเรือยางท้องแข็งไปกับเรือมากถึง 4 ลำ แบบเรือชั้น Cutlass แบกได้เพียง 2 ลำและมีการออกแบบที่รกหูรกตามาก BAE Systems
ตัดสินใจนำแบบเรือมารีโนเวทใหม่ให้มีความทันสมัยกว่าเดิม ก่อนตั้งชื่อใหม่ว่าแบบเรือชั้น
Leander เพื่อส่งชิงชัยในรอบตัดสินขั้นเด็ดขาด
จากภาพประกอบที่สองแบบเรือชั้น Leander มีระวางขับน้ำ 3,677 ตัน ยาว 117 เมตรเท่าเดิม
กว้าง 14.6 เมตรเท่าเรือคอร์เวตชั้น Al Khareef (เพราะนำแบบเรือเก่ามาขยายความยาวมันดื้อๆ)
กินน้ำลึก 4.5 เมตร ติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super
Rapid ที่หัวเรือ ต่อด้วยแท่นยิงแนวดิ่ง GW-35 สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Captor จำนวน
12 ท่อยิง ปรับเปลี่ยน Superstructure
หน้าสะพานเดินเรือจากทรงเฉียงไล่ระดับเป็นทรงเหลี่ยม สำหรับติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีขนาด
6 ท่อยิงจำนวน 4 แท่นยิง
สะพานเดินเรือกับเสากระโดงหลักใช้รูปทรงเดิม
ปรับปรุงพื้นที่กลางเรือให้เชื่อมโยงมาถึงปล่องระบายความร้อน
ด้านบนเป็นจุดติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ ต่อด้วยพื้นที่ว่างรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง
Mk.41 กับเครนขนาดใหญ่ ด้านล่างเจาะช่องกราบเรือละสองช่องใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์
กลายเป็นจุดรับส่งเรือยางท้องแข็งจำนวน 4 ลำ (เล็ก 2 ลำ ใหญ่ 2 ลำ) และวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20
ฟุตจำนวน 2 ใบ
ตั้งแต่ปล่องระบายความร้อนถึงบั้นท้ายเหมือนเรือชั้น Cutlass
ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์
ปลายปี
2019 รัฐบาลอังกฤษประกาศว่าแบบเรือ Arrowhead 140 เป็นผู้ชนะโครงการ Type 31e General
Purpose Frigate ส่งผลให้บริษัท BAE Systems แพ้คาบ้านตัวเองแบบหมดสภาพ
เมื่อมีการจัดตั้งโครงการเรือฟริเกต Type 32 หรือ Type 31e Batch 2 ขึ้นมาในปี 2022 แบบเรือชั้น Cutlass กับ Leander ถูกเก็บเข้ากรุโดยพร้อมเพรียง บริษัท BAE
Systems นำเสนอแบบเรือ Adaptable Strike Frigate ซึ่งพัฒนาขึ้นมาใหม่ทั้งลำ
และหมายมั่นปั้นมือว่าตัวเองจะสามารถล้างอายลบรอยแค้นฝังลึกในใจสำเร็จ
ชมหนังตัวอย่างกันเรียบร้อยแล้ว…ผู้เขียนขอเข้าสู่เนื้อหาบทความที่แท้จริง
RTN
Super Frigate Program
จากนี้ไปเป็นเรื่องราวสมมุติหรือโลกคู่ขนาน
วันที่
3
มีนาคม 2024
กองทัพเรือไทยประกาศเดินหน้าโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำมูลค่า 80,400 ล้านบาท
กำหนดให้สร้างเองในประเทศส่วนบริษัทไหนจะจับคู่บริษัทไหนก็ตามสะดวก
วันที่
26
มีนาคม 2024 บริษัทมาร์ซันจำกัดร่วมมือกับบริษัท ThyssenKrupp Marine Systems ประเทศเยอรมัน เสนอแบบเรือชั้น MEKO A100
ให้กับกองทัพเรือไทย ข้อมูลเรือลำนี้ตามบทความด้านล่าง
วันที่
13
เมษายน 2024 นายแอนดี้ โคล
หัวหน้าทีมโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจากบริษัท BAE Systems
เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ Soft Power แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้เป็นการเดินทางส่วนตัวทว่ามิตรรักแฟนเพลงชาวไทยจำนวนหลายร้อยชีวิต
กลับมารวมตัวที่สนามบินเพื่อชูป้ายไฟ ‘We Need Common Fleet’ บ้าง ‘Common Fleet Welcome Home’ บ้าง รวมทั้ง ‘Common
Fleet The Special One’ เป็นการต้อนรับแขกผู้มาเยือน
แอนดี้ โคลรู้สึกประทับใจและรับรู้ความต้องการอย่างชัดเจน เขารู้ว่าคนไทยจำนวนสิบสามล้านอยากสานงานต่อก่องานใหม่ร่วมกับ
BAE Systems
คืนนั้นเองชายหนุ่มประชุมทางไกลกับเจ้านายระดับสูงที่เกาะบริเตน
ก่อนได้ข้อสรุปจะนำเสนอแบบเรือชั้น The Avenger เข้าร่วมโครงการ
ไม่เกี่ยวข้องกับการจากไปของกัปตันอเมริกาแต่เป็นหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม
วันที่
16
เมษายน 2024 หลังเล่นสงกรานต์กันจนปอดบวม บริษัทอู่กรุงเทพจำกัดร่วมมือกับบริษัท BAE
Systems ประอังกฤษ เสนอแบบเรือชั้น River Batch 3 ให้กับกองทัพเรือไทยตามภาพประกอบที่สาม
แบบเรือชั้น
River Batch 3 คือการนำแบบเรือชั้น The Avenger ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการเรือฟริเกต Type 31e แต่เป็นเพียงตัวประกอบไม่มีบทพูด
ให้มีความเหมาะสมกับความต้องการราชนาวีไทยในปี 202
โดยนำการนำแบบเรือตรวจการณ์ความยาว 94 เมตรมาผสมผสานแบบเรือเดิมจนกลายเป็นศิลปะระดับสูง
หมายเหตุ
:
ภาพประกอบเกิดจากจินตนาการผู้เขียนซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงข้อเท็จจริงก็ได้
ผู้อ่านคนไหนอยากได้พิมพ์เขียวแบบเรือกรุณาติดต่อบริษัท BAE Systems
ประอังกฤษเอาเองเด้อ!
แอนดี้
โคลนำเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 2
มาเพิ่มความยาวจาก 90 เมตรเป็น 111 เมตร หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ข้างเสากระโดงติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ
DS-30M Kk2 จำนวน 2 กระบอก ถัดไปเล็กน้อยคือจุดติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
พื้นที่เพิ่มเติมกลางเรือคือที่ว่างรองรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จำนวน 2 ระบบหรือ 16 ท่อยิง
แต่ใส่แค่เพียง 1 ระบบหรือ 8 ท่อยิงที่ว่างอีกหนึ่งจุดใช้ติดตั้ง
SATCOM ขนาดใหญ่ ลดจำนวนเรือยางท้องแข็งจาก 4 ลำเหลือเพียง 2 ลำ นำที่ว่างมาติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำรุ่นแฝดสาม
ลานจอดกับโรงเก็บรองรับเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันเฉพาะรุ่นพับหางได้
แบบเรือชั้น
River Batch 3 คือความภูมิใจของเหล่าอิงลิชภักดี
ต่อมาไม่นานเมื่อแอนดี้ โคลกลับมาจากเทศกาลวันไหลที่พัทยา ตอนนั้นเองชายหนุ่มจากลอนดอนใต้พลันได้รู้ตัวหลังสร่างเมาว่า
แบบเรือชั้น River Batch 3 ไม่มีจุดติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS
(Active Towed Array Sonar)
Leander
Class Frigate
เพราะความร้อนใจแอนดี้
โคลรีบติดต่อเท็ดดี้ เชอริ่งแฮมซีอีโอบริษัท BAE Systems
นายใหญ่ใช้ความคิดไม่นานได้พลันสั่งการจากชั้นสิบสี่ผ่านระบบปลาดาว ในเมื่อ The
Avenger ไปต่อไม่ได้เราจำเป็นต้องงัดลูกรัก The Leander ออกมาจากกรุ ขี้หมูขี้หมายังพอโฆษณากับลูกค้าได้ว่าเรือลำนี้เป็นญาติผู้พี่ของ
The River
แอนดี้
โคลได้ยินรีบประชุมทีมงานโครงการ The Super Frigate คืนนั้นเลย มีการทำงานหามรุ่งหามค่ำใช้เวลารวมทั้งสิ้น 72 ชั่วโมง และแล้วในที่สุดพวกเขาก็ได้แบบเรือ The Leander ติดอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการราชนาวีไทยในปี 2024 ส่งผลให้แบบเรือลำนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่าเรือฟริเกตชั้น Leander 2024
ภาพประกอบที่สี่คือแบบเรือฟริเกตชั้น
Leander V1 ติดอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการราชนาวีไทยในปี
2024
ความกว้างความยาวยังคงเท่าเดิมระวางขับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3,720 ตัน หลังเสากระโดงหลักคือจุดระบายความร้อนขนาดเล็กทดแทนปล่องขนาดใหญ่บนเรือชั้น
Cutlass นี่คือดีไซน์เฉพาะตัวเรือรบอังกฤษทุกลำเพิ่งมาสิ้นสุดที่เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น
Type 26 ปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ก็เป็นดีไซน์เฉพาะตัวเรือรบอังกฤษทุกลำเช่นกัน
อยู่ชิดโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เหลือพื้นที่ว่างตรงกลางมากเพียงพอสำหรับใช้งาน สังเกตนะครับว่าราวกันตกหัวเรือข้างจุดติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่งเว้นช่องว่างเล็กน้อย
ใช้เป็นจุดวางสะพานให้ลูกเรือที่อยู่ส่วนหัวเรือเดินขึ้นฝั่งได้อย่างสะดวก
หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่
OTO 76/62 Super Rapid ถัดมาเล็กน้อยคือแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 จำนวน 1 ระบบ 8 ท่อยิงสำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
ESSM จำนวน 32 นัด
หน้าสะพานเดินเรือติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโดขนาด 6 ท่อยิงจำนวน
4 แท่นยิง เรือใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV Mk4 เรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ 3 มิติ Sea Giraffe 4A เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ 3
มิติ Sea Giraffe 1X
เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS200 จำนวน 2 ตัว
และออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง EOS500 อีก 1 ตัว ใช้ระบบดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ ES-3601 ESM
ติดบนเสาทาสีดำเหนือปล่องระบายความร้อน ส่วนระบบก่อกวนคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ
ECM ไม่มีเหมือนเช่นกัน
จาภาพประกอบเรดาร์ตรวจการณ์
3
มิติ Sea Giraffe AMB หายไปจากเรือ เหตุผลก็คือแอนดี้
โคลหาจุดติดตั้งที่สมควรกับเหตุและผมไม่เจอ นายเฟรดริก ลุงเบิร์กที่ปรึกษาพิเศษบริษัท
SAAB ก็แนะนำให้ใช้งาน Sea Giraffe 4A คู่กับ Sea Giraffe 1X เหมือนเรือฟริเกตชั้น
Type 123 กองทัพเรือเยอรมัน เรือคอร์เวตชั้น PHOJANMAA
กองทัพเรือฟินแลนด์ รวมทั้งเรือคอร์เวตขนาดใหญ่รุ่นใหม่กองทัพเรือสวีเดนในอนาคต
แอนดี้
โคลสอบถามว่าการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศกับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำใกล้กันมีปัญหาอะไรหรือไม่
ปรกติแล้วเขาติดเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศตัวใหญ่ตำแหน่งต่ำกว่ากันไม่ใช่เหรอ เฟรดริก
ลุงเบิร์กหัวเราะเฮฮาก่อนเฉลยปริศนาสำคัญค้างคาใจ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น Legend
หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ TRS-3D
กับเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ AN/SQS-9B บนเสากระโดงต้นเดียวกัน
โดยติด TRS-3D สูงกว่า AN/SQS-9B
เล็กน้อยก็ใช้งานได้ปรกติทั้ง 10 ลำไม่เห็นมีปัญหาตรงไหน
มาดูจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดกันต่อเลย
จุดรับส่งเรือยางท้องแข็งลดจำนวนจาก 4 ลำเหลือเพียง
2 ลำ
เพราะต้องการพื้นที่สำหรับคลังแสงและจุดติดตั้งแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk54
(เรือฟริเกตชั้น Leander ปี 2019 ไม่มีอุปกรณ์ตรงจับและทำลายเป้าหมายใต้น้ำ) ถัดไปเล็กน้อยคือสะพานเดินเรือแบบซ่อนรูปซึ่งมีเฉพาะกราบขวา
เป็นอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อให้ลูกเรือเกิดความสะดวกสบายมากกว่าเดิม
พื้นที่ด้านบนสำหรับแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
NSM จำนวน 8 ท่อยิง มีพื้นที่ว่างสำหรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 อีกจำนวน 1 ระบบ 8 ท่อยิง
แต่ไม่ได้ติดตั้งใช้เป็นจุดวางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบ
หรืออาจปรับเปลี่ยนเป็นแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM อีกจำนวน 8 ท่อยิง
ตามหลักนิยมใหม่ล่าสุดที่เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา
หน้าปล่องระบายความร้อนติดตั้ง
SATCOM
หรือจานรับสัญญาณดาวเทียมขนาดใหญ่
ขนาบสองฝั่งด้วยแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีขนาด 12 ท่อยิงจำนวน
2 แท่นยิง หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตันติดตั้งระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Millennium Gun ขนาบสองฝั่งด้วยปืนกลอัตโนมัติ DS-30M Mk2
เหตุผลที่ถอดระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด
Phalanx
ออกเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่
ปัจจุบันการโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามมีความหลากหลายมากขึ้นเกิน CIWS จากอเมริการับมือไหว Millennium Gun
จะเข้ามาจัดการอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ อากาศยานไร้คนขับติดอาวุธ
รวมทั้งอากาศยานไร้คนขับติดระเบิดที่กำลังระบาดอย่างหนักอยู่ในทะเลแดง ส่วน DS-30M
Mk2 รับหน้าที่จัดการยานผิวน้ำไร้คนขับติดระเบิด
ยานกึ่งดำน้ำไร้คนขับติดระเบิด รวมทั้งเรือยางพลีชีพหรือเรือโจรสลัดก๊อกๆ แก๊กๆ
อะไรทำนองนี้
การผลึกกำลังระหว่าง
Millennium
Gun กับ DS-30M Mk2 รับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้ดีกว่า
Phalanx กับ DS-30M Mk2
การผลึกกำลังระหว่าง
Sea
Giraffe 4A กับ Sea Giraffe 1X มีความเหมาะสมและประสิทธิภาพเข้ากันได้ดีกว่า Sea
Giraffe 4A กับ Sea Giraffe AMB
อย่าลืมนะครับว่าราชนาวีไทยต้องการ
Phalanx กับ Sea Giraffe AMB ในปี 2013
หรือย้อนเวลากลับไป 11 ปี
การเปลี่ยนแปลงความต้องการเพื่อรองรับภัยคุกคามรูปแบบใหม่คือสิ่งสมควรกระทำ
Common
Fleet Welcome Home
ต้นเดือนพฤษภาคม
2024 มีการจัดตั้งบริษัท BAE Systems Thailand ขึ้นมาที่ซอยงามดูพลี รองรับการสร้างเรือฟริเกตจำนวน 4 ลำมูลค่า 80,400 ล้านบาท มีการรับสมัครพนักงานชาวไทยจำนวนมากเพื่อช่วยใช้เงิน
รวมทั้งเฮียตือ สะพานเหลืองซึ่งเข้าร่วมบริษัทในตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้เชี่ยวชาญและช่ำชองกองทัพไทย
สัปดาห์แรกของเดือนมีการประชุมใหญ่ร่วมกันเป็นครั้งแรก
แอนดี้ โคลนำแบบเรือฟริเกตชั้น Leander V1 มาอวดโฉมเพื่อนร่วมงานชาวไทยเป็นครั้งแรก ทุกคนบอกว่าสุดยอดมากครับนาย…คราวนี้แหละเราต้องชนะแน่นอน
มีเพียงเฮียตือคนเดียวที่โกรธเสียจนหนวดกระดิก
แกตะโกนเสียงดังกึกก้องทำแบบนี้ไม่ได้จะเกิดหายนะ
จะเกิดภัยพิบัติร้ายแรงทั่วโลกยิ่งกว่าไวรัสโคโรน่าจากประเทศจีน จะเกิดน้ำท่วมฟ้าปลากินดาว
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอยน้ำเต้าน้อยจะถอยจม
คุณแก้ไขแบบเรือตามใจชอบแบบนี้ผมก็ตายสถานเดียว
คุณต้องติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์ให้เหมือนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชทุกประการเข้าใจไหม
สัปดาห์ที่สองของการทำงานมีการประชุมใหญ่ครั้งที่สอง
แอนดี้ โคลนำแบบเรือเรือฟริเกตชั้น Leander V2 ติดตั้งระบบเรดาร์และอาวุธตามความต้องการปี 2013
มาอวดโฉมพนักงานทุกคนตามภาพประกอบที่ห้า
อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
Harpoon เข้ามาแทนที่ NSM ระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด
Phalanx เข้ามาแทนที่ Millennium Gun เรดาร์ตรวจการณ์
Sea Giraffe 1X หายไปได้ Sea
Giraffe AMB แทนที่บนเสากระโดงหลัง โยกเรดาร์ตรวจการณ์
Sea Giraffe 4A
มาไว้บนเสากระโดงรองหน้าปล่องระบายความร้อน พื้นที่ว่างสำหรับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk.41 อีกจำนวน 1 ระบบ 8 ท่อยิงหายไปเพราะต้องสร้างเสากระโดงรอง
เมื่อเฮียตือเห็นภาพแบบเรือ V2
แกร้องไอ้หย่าเสียงดังลั่นห้อง เจ้าตัวให้คำแนะนำตามหน้าที่คุณฉลาดแต่ขาดความเฉลียว
ทำไมไม่สร้างเสากระโดงรองหลังปล่องระบายความร้อนเหมือนเรือฟริเกตสเปน
ลำนั้นสร้างได้สวยงามคะแนนเต็มสิบไม่ทราบเหมือนกันทำไมรอบชิงถึงได้แพ้พ่ายให้กับเรือเกาหลีใต้
สัปดาห์ที่สามของการทำงานมีการประชุมใหญ่ครั้งที่สอง
แอนดี้ โคลนำแบบเรือเรือฟริเกตชั้น Leander V3 ติดตั้งระบบเรดาร์และอาวุธตามความต้องการปี 2013
มาอวดโฉมพนักงานทุกคนตามภาพประกอบที่หก
แบบเรือเหมือน V1
ตั้งแต่หัวเรือจนถึงจุดเติมเชื้อเพลิงกลางทะเล
มีการสร้างเสากระโดงรองเชื่อมต่อกับปล่องระบายความร้อนเหมือนเรือฟริเกตสเปน
บังเอิญเรือฟริเกตอังกฤษใช้ปล่องขนาดใหญ่มากและสูงมาก
พลอยทำให้เสากระโดงรองทั้งใหญ่ทั้งสูงและหนาตามกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
แบบเรือฟริเกตชั้น
Leander V3 เป็นการผสมผสานระหว่าง V1 ที่ทันสมัยกับ
V2 ที่อนุรักษนิยมได้อย่างลงตัว ผู้เขียนหมายถึงถ้าไม่นับรวมความสวยงามหรือประสิทธิภาพการใช้งานเรือที่แท้จริง
เมื่อเฮียตือเห็นภาพแบบเรือ V2
แกร้องไอ้หย่าเสียงดังลั่นห้อง เย็นนั้นแกเดินมายื่นใบลาออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้เชี่ยวชาญและช่ำชองกองทัพไทย
ให้เหตุผลว่าจะไปทำงานบริษัทเยอรมันเพราะอยากกินไส้กรอก
The Problems
ปัญหาที่บริษัท
BAE
Systems Thailand ต้องจัดการให้เสร็จเรียบร้อยมีด้วยกันตามนี้
1.ราชนาวีไทยต้องการใช้งานระบบขับเคลื่อน CODAG
เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์จำนวน
1 ตัว ทว่าแบบเรือฟริเกตชั้น Leander
ใช้ระบบขับเคลื่อน CODELOD เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัวทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ทันสมัยมากที่สุดก็จริงบังเอิญไม่ตรงความต้องการของลูกค้า
2.การติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการราชนาวีไทยปี 2013 จะทำเช่นไรให้เหมาะสม
3.ปัญหาเรื่องระบบตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำ
รบกวนผู้อ่านชมภาพประกอบที่เจ็ดไปพร้อมกัน
อย่างที่ทราบกันดีเรือฟริเกตชั้น
Leander คือการนำเรือคอร์เวตชั้น Al Khareef
มาเพิ่มเฉพาะความยาว 18 เมตร เพราะฉะนั้นบั้นท้ายเรือย่อมมีรูปร่างหน้าตาตามภาพประกอบ
การติดตั้งโซนาร์หัวเรือ DSDQ-24 ไม่น่ามีปัญหารบกวนจิตใจ
โชคร้ายโซนาร์ลากท้าย ACTAS จากบริษัท Atlas
Electronics ประเทศเยอรมันขนาดใหญ่โตมาก
เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชซึ่งเป็นเรือฟริเกตแท้ๆ จากเกาหลีใต้ยังประสบปัญหา คุยกันทีแรกบอกสบายๆ
ชิวๆ ยังไงก็ได้ ครั้นเอาเข้าจริงๆ บริษัท DSME ต้องตีโป่งบั้นท้ายออกมาไม่เช่นนั้นยัดโซนาร์ไม่ได้ความขี้เหร่โผล่ทันที
เรือฟริเกตชั้น
Leander ติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS ได้หรือไม่ผู้เขียนไม่กล้าให้คำตอบ
รวมทั้งขออนุญาตไม่เชื่อทุกคำตอบจากทุกคนนับรวมเจ้าของแบบเรือด้วย
ต้องเห็นเรือจริงติดตั้งโซนาร์จริงกับตาตัวเองเสียก่อนถึงจะยอมเชื่อ
ทั้งนี้เนื่องมาจากในอดีตผู้เขียนเคยเจ็บมาเยอะขอเชื่อแค่เพียงสายตาตัวเอง
The
end
วันที่ 12 มิถุนายน 2024 นายแอนดี้ โคล ซีอีโอบริษัท BAE
Systems Thailand ร่วมมือกับบริษัทอู่กรุงเทพจำกัด เสนอแบบเรือฟริเกตชั้น Leander และแบบเรือฟริเกตชั้น River Batch 3
เข้าร่วมโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงกองทัพเรือไทย โดยกดราคาเรือฟริเกตชั้น Leander ติดระบบอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการราชนาวีไทยปี 2024 อยู่ที่ลำละ 480 ล้านเหรียญ ส่วนเรือฟริเกตชั้น River
Batch 3 ซึ่งทันสมัยน้อยกว่าและติดโซนาร์ลากท้ายไม่ได้ราคาลำละ 400
ล้านเหรียญ
เป็นการวัดใจลูกค้าว่ายังอิงลิชภักดีเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไป
++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
:
https://thaimilitary.blogspot.com/2020/03/type-31e-general-purpose-frigate.html
http://www.shipbucket.com/drawings/6171
http://www.shipbucket.com/drawings/6175
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น