วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

MEKO Frigate for RTN

 

เดือนกันยายน 1997 สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ขึ้นโครงการจัดหาอาวุธ The Strategic Defence Package มูลค่ารวม 4.8 พันล้านเหรียญ เพื่อซื้ออาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยให้กับทุกเหล่าทัพมีรายละเอียดดังนี้

กองทัพเรือ

-เรือคอร์เวตจำนวน 4 ลำ

-เฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ

-เรือดำน้ำโจมตีจำนวน 3 ลำ

กองทัพอากาศ

-เครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ 28 ลำ

-เครื่องบินฝึกขั้นสูงจำนวน 24 ลำ

-เฮลิคอปเตอร์ชนิดต่างๆ จำนวน 48 ลำ

กองทัพบก

-รถถังหลักจำนวน 108 คัน

Project Sitron

ก่อนหน้านี้ในปี 1994 กองทัพเรือแอฟริกาใต้ได้ขึ้นโครงการ Project Sitron เพื่อจัดหาเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีรุ่นใหม่เข้าประจำการจำนวน 4 ลำ แต่เนื่องมาจากปัญหาบางประการทำให้โครงการต้องหยุดพักชั่วคราว เมื่อรัฐบาลขึ้นโครงการรวมแบบเรือคอร์เวตได้ถูกปรับปรุงความต้องการใหม่ กำหนดให้เรือมีระวางขับน้ำมากกว่า 3,000 ตัน ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Exocet MM40 Block 2 อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Umkhonto IR จากท่อยิงแนวดิ่ง และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Denel ขนาด 35มม.ลำกล้องแฝด เรือต้องติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซลและแก๊สเทอร์ไบน์ ทำความเร็วสูงสุดได้มากกว่า 27 นอตขึ้นไป

โครงการนี้บริษัท German Frigate Consortium หรือ GFC ส่งแบบเรือฟริเกต MEKO 200 SAN เข้าร่วมชิงชัย เรือมีระวางขับน้ำ 3,580 ตัน ยาว 118 เมตร กว้าง 15.2 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG เครื่องยนต์ดีเซล MTU 12 V1163 TB 93 จำนวน 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ Rolls Royce SM1C Spey หรือ GE LM 2500 จำนวน 1 ตัว ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 6,700 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต

บริษัท GFC พัฒนาแบบเรือ MEKO 200 SAN จากเรือลำไหน?

คำตอบก็คือใช้แบบเรือฟริเกต MEKO 200 ที่ขายดิบขายดีทั่วโลกมาปรับปรุงทั้งลำ

ผู้เขียนมีภาพเรือฟริเกต MEKO 200 กองทัพเรือทูร์เคียให้เปรียบเทียบ (ภาพประกอบที่สอง) รูปทรงเรือมาจากยุค 70-80 ซึ่งนิยมใช้งานปล่องระบายความร้อนคู่แบบเฉียงเล็กน้อย กว้านสมอเรือและจุดผูกเชือกหัวเรืออยู่บนดาดฟ้าเรือตามปรกติ แต่ย้ายแท่นยิงแนวดิ่งมาติดตั้งหลังปล่องระบายความร้อนจำนวน 16 ท่อยิง มีจุดติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ระยะกลางกับระยะไกล ติดระบบป้องกันตัวเองระยะประชิดได้มากสุดถึง 3 ระบบ

ระวางขับน้ำและขนาดเรือทั้งสองลำใกล้เคียงกันมาก สะพานเดินเรือ เสากระโดง และปล่องระบายความร้อนอยู่ตำแหน่งเดิมด้วยซ้ำ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ทรงเฉียงใช้หางเสือเรือขนาดใหญ่อันเดียวเหมือนเดิม ทว่าแบบเรือ MEKO 200 SAN ลดการตรวจจับด้วยคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ได้ดีกว่า มีการย้ายแท่นยิงแนวดิ่งมาไว้หน้าสะพานเดินเรือและเพิ่มมากถึง 32 ท่อยิง จึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมใกล้เคียงแบบเรือฟริเกตรุ่นใหม่ ที่ตัวเองขโมยดีไซน์การออกแบบหัวเรือมาใส่ในแบบเรือเก่าได้อย่างเนียนกริบ

Project Sitron เป็นโครงการที่สนุกมากผู้เขียนอ้างอิงถึงบ่อยครั้ง เคยวาดภาพเรือฟริเกตทุกลำที่เข้าร่วมโครงการมาแล้วด้วยซ้ำ เหตุผลก็คือแต่ละบริษัทสามารถส่งแบบเรือเข้าร่วมมากกว่า 1 แบบเรือ บริษัท GFC จึงนำแบบเรือ MEKO A200 SAN ซึ่งมีความทันสมัยมากที่สุดเข้าร่วมชิงชัยอีกหนึ่งแบบเรือ (ภาพประกอบที่สาม)

เรือมีระวางขับน้ำ 3,590 ตัน ยาว 121 เมตร กว้าง 16.5 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG WARP เครื่องยนต์ดีเซล MTU 12 V1163 TB 93 จำนวน 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ Rolls Royce SM1C Spey หรือ GE LM 2500 จำนวน 1 ตัวทำงานร่วมกับระบบวอเตอร์เจ็ต ความเร็วสูงสุด 28 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 7,700 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 16 นอต

MEKO A200 SAN กับ MEKO A200 SAN ระวางขับน้ำต่างกันเพียง 10 ตัน ทว่า MEKO A200 SAN ซึ่งเป็นแบบเรือรุ่นใหม่ล่าสุดยาวกว่า 3 เมตร กว้างกว่า 1.3 เมตร เพิ่มระบบวอเตอร์เจ็ตเข้ามาก็จริงกลับทำความเร็วสูงสุดเท่าเดิม สิ่งที่ลูกค้าได้รับเพิ่มเติมคือระยะปฏิบัติการมากขึ้น 1,000 ไมล์ทะเล

ฉะนั้นอยู่ดีๆ เราถอดระบบวอเตอร์เจ็ตออกจาก MEKO A200 ไม่ได้ ต้องปรับปรุงแบบเรือให้รองรับระบบขับเคลื่อน CODAG ซึ่งมันจะวุ่นวายมาก ส่งผลให้แบบเรือ MEKO A200 ต้องใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG WARP เท่านั้น ข้อดีก็คือระยะปฏิบัติการไกลกว่าเดิม ส่วนข้อเสียไม่มีพื้นที่ท้ายเรือสำหรับโซนาร์ลากท้ายขนาดใหญ่ เป็นเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำแท้ๆ ไม่ได้เพราะไม่มีออปชันเสริม

การพิจารณารอบสุดท้ายของ Project Sitron มีแบบเรือเข้ารอบจำนวน 5 ลำ คู่แข่งสำคัญของ MEKO ทั้งสองลำคือแบบเรือ 590B จากบริษัท Bazan ประเทศสเปน ภาพประกอบที่สี่คือผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ (นี่คือภาพที่ผู้อ่านทุกคนไม่มีวันได้เห็นจากกองทัพเรือไทย)

กองทัพเรือแอฟริกาใต้คัดเลือกผู้ชนะโครงการด้วย คะแนนประสิทธิภาพเรือบวกราคาเรือ

ภาพบนซ้ายคือผลคะแนนประสิทธิภาพเรือที่เข้าร่วมชิงชัยทั้ง 5 ลำ MEKO A200 SAN ครองอันดับหนึ่งได้คะแนน 810.5 อันดับสองคือ MEKO 200 SAN ได้คะแนน 790.0 ส่วน 590B ที่สามได้คะแนน 766.6 สังเกตนะครับว่าแบบเรือจากเยอรมันนำขาดแบบเหนือๆ แบบเรืออังกฤษกับฝรั่งเศสถูกกลุ่มผู้นำทิ้งห่างชนิดสู้กันไม่ได้

ภาพบนขวาคือราคาเรือที่ใส่เข้ามาในซองประกวด แบบเรือ 590B ราคาต่ำสุดจำนวน 4 ลำเพียง 851.9 ล้านเหรียญ MEKO 200 SAN อยู่อันดับสาม 969.2 ล้านเหรียญ ส่วน MEKO A200 SAN อยู่อันดับสี่ 979.9 ล้านเหรียญ แบบเรือจากอังกฤษอยู่อันดับสอง ส่วนแบบเรือฝรั่งเศสราคาแพงสุดทั้งที่ประสิทธิภาพย่ำแย่มากที่สุด

ภาพล่างซ้ายคือผลคะแนนรวมอย่างเป็นทางการ เมื่อนำประสิทธิภาพกับราคารวมกันแบบเรือ 590B ได้อันดับหนึ่ง MEKO A200 SAN ได้อันดับสอง และ MEKO 200 SAN ครองอันดับสาม กองทัพเรือแอฟริกาใต้ตัดสินให้บริษัท Bazan ประเทศสเปนคือผู้ชนะโครงการ บังเอิญระหว่างเจรจาประสบปัญหาเรื่องระยะเวลาส่งมอบเรือกับวิธีการชำระเงิน จึงหันมาเจรจากับอันดับสองและตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อเรือ MEKO A200 SAN จากบริษัท GFC จำนวน 3 ลำ

แบบเรือฟริเกต MEKO A200 แจ้งเกิดอย่างเป็นทางการจากโครงการนี้ ปัจจุบันมียอดขายรวมกันจำนวน 10 ลำ และอาจมีการสั่งซื้อเพิ่มอีก 2 ลำในภายหลังจากกองทัพเรืออียิปต์ ข้อมูลจากโครงการ Project Sitron  แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เรือฟริเกตจากเยอรมันประสิทธิภาพสูงกว่าทุกชาติ และมีราคาสูงกว่าทุกชาติยกเว้นฝรั่งเศสซึ่งไม่สันทัดเรือฟริเกตขนาดมากกว่า 3,000 ตันที่ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG

ส่วนแบบเรือ MEKO 200 รุ่นใหม่ถูกส่งเข้าร่วมชิงชัยโครงการ Project Tridente ของกองทัพเรือชิลีในปี 2000 สามารถเอาชนะคู่แข่งได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นทางการ โดยใช้แบบเรือเยอรมัน ระบบอาวุธจากอเมริกาไม่ว่าจะเป็นอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะกลาง SM-2 รวมทั้งโซนาร์ลากท้าย AN/SQR-18A

โครงการนี้ชิลีตั้งใจสร้างเรือฟริเกตด้วยตัวเองทุกลำ บังเอิญโชคร้ายรัฐบาลถังแตกในช่วงเวลาไม่เหมาะสม จำเป็นต้องยกเลิกโครงการหันมาซื้อเรือฟริเกตมือสอง Type 23 จากอังกฤษใช้งานทดแทนเรือใหม่

แบบเรือ MEKO A200 กับ MEKO 200 ขนาดใกล้เคียงกัน ประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ราคาใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับว่าถ้าลูกค้าอยากได้เรือฟริเกตอเนกประสงค์รูปทรง Stealth ตัวเอ็กส์ให้เลือก MEKO A200 ถ้าลูกค้าอยากได้เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำติดโซนาร์ลากท้ายตัวใหญ่ให้เลือก MEKO 200

โครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูง

ระหว่างปี 2013 กองทัพเรือไทยเดินหน้าโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 2 ลำมูลค่า 30,000 ล้านบาท เพราะเป็นการจัดหาเรือฟริเกตติดอาวุธค่ายตะวันตกล้วนครั้งแรกในรอบหลายสิบปี จึงมีบริษัทเอกชนจำนวนพอสมควรส่งแบบเรือเข้าร่วมชัย หนึ่งในนั้นก็คือบริษัท ThyssenKrupp Marine Systems หรือ TKMS จากประเทศเยอรมัน ซึ่งส่งแบบเรือฟริเกต MEKO 200 RTN ติดระบบอาวุธและเรดาร์ตามความต้องการลูกค้า

ภาพประกอบที่ห้าคือแบบเรือที่คาดว่าบริษัท TKMS นำเสนอต่อกองทัพเรือไทย ใช้แบบเรือ MEKO 200 SAN กองทัพเรือแอฟริกาใต้มาปรับปรุงให้เหมาะสมกับราชนาวีไทย เรือมีระวางขับน้ำ 3,580 ตัน ยาว 118 เมตร กว้าง 15.2 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG เครื่องยนต์ดีเซล 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์อีก 1 ตัว หัวเรือยกสูงกว่าแบบเรือ MEKO 200 ต้นฉบับค่อนข้างมาก กว้านสมอเรือและจุดผูกเชือกหัวเรือย้ายลงอยู่ใต้ดาดฟ้าเรือ เป็นการหยิบยืมดีไซน์แบบเรือ MEKO A200 ซึ่งทันสมัยกว่ามาใช้งานได้อย่างเหมาะสม

ท้ายเรือใช้รูปทรงเดิมและสูงกว่าเดิมเล็กน้อย ปิดช่องว่างทั้งหมดมีจุดจุดผูกเชือกท้ายเรือใต้ดาดฟ้า เพราะใช้บั้นท้ายเรือทรงแหลมฉะนั้นจุดติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS (Active Towed Array Sonar) ถ้าไม่อยู่กราบซ้ายก็กราบขวา Superstructure ทั้งลำพยายามปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น การตรวจจับด้วยคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ทำได้ยากขึ้น ทว่าสู้แบบเรือ Stealth ที่แท้จริงรุ่นใหม่อาทิเช่น MEKO A200 ไม่ได้อยู่ดี

หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ถัดมาคือแท่นยิงแนวดิ่ง Mk46 จำนวน 8 ท่อยิง สำหรับ อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ขนาบข้างด้วยแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโด ติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงอาวุธปล่อยนำวิถีข้างเสากระโดงหลัก กลางเรือติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 ท่อยิง หลังปล่องระบายความร้อนคือปืนกลอัตโนมัติ DS-3OMR จำนวน 2 กระบอก ต่อด้วยระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Phalanx เหนือโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 10 ตัน ช่องว่างสองกราบเรือติดตั้งสะพานขึ้นเรือกับแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk54 (นี่คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรือฟริเกต MEKO 200 ทุกลำ)

เรือใช้ระบบอำนวยการรบ 9LV Mk4 เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะกลาง Sea Giraffe AMB เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะกลาง Sea Giraffe 4A เรดาร์ควบคุมการยิง CEROS200 จำนวน 2 ตัว ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง EOS500 อีก 1 ตัว ที่ผู้เขียนเขียนถึงทั้งหมดยกแผงมาจากบริษัท SAAB ใช้ระบบดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ ES-3601 ติดตั้งโซนาร์หัวเรือ DSDQ-24 กับโซนาร์ลากท้าย ACTAS จากบริษัท Atlas Electronics ประเทศเยอรมัน

ความสวยงามแล้วแต่สายตาผู้เขียนยัดเยียดไม่ได้ ทว่าประสิทธิภาพแบบเรือ MEKO 200 RTN ไม่เป็นรองใครอย่างแน่นอน ปัญหาสำคัญก็คือบริษัท TKMS กดราคาต่ำกว่าลำละ 15,000 ล้านบาทไม่ไหว การแข่งขันในรอบชิงจึงเป็นการดวลกันระหว่างแบบเรือสเปนกับแบบเรือเกาหลีใต้ จนกระทั่งได้ผู้ชนะเลิศจากแดนกิมจิกลายเป็นเรือหลวงภูมิพลดุลยเดช FFG-471 ในปัจจุบัน

บังเอิญกองทัพเรือปรับขนาดโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูงเหลือเพียงลำเดียว แล้วหันมาขึ้นโครงการเรือดำน้ำกับเรือพี่เลี้ยงมูลค่ารวมมากกว่า 45,000 ล้านบาท ส่งผลให้กองเรือฟริเกตที่ 1 พิกลพิการรับมือภัยคุกคามทางอากาศ ผิวน้ำ และโดยเฉพาะใต้น้ำได้อย่างยากลำบาก

ความเห็นส่วนตัวผู้เขียนไม่ชอบเรือที่มีสะพานเดินเรือสูงๆ ฉะนั้น MEKO 200 RTN จึงเข้าทางปืนโดยไม่ต้องคิดมาก แท่นยิงแนวดิ่ง 32 ท่อยิงเป็นจุดแข็งเสริมสร้างประสิทธิภาพเรือให้สูงกว่าเดิม รวมทั้งแบบเรือ MEKO 200 รุ่นดั้งเดิมซึ่งขายได้รวมกันมากถึง 25 ลำคือสิ่งรับประกันคุณภาพเรือลำนี้

โอกาสแรกของแบบเรือ MEKO กับราชนาวีไทยผ่านพ้นไปเสียแล้ว

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่สาม

          ต้นปี 2017 หรือ 2560 มีการเผยแพร่ข้อมูลได้รับอนุญาตจากบริษัท มาร์ซัน จำกัดดังนี้

ในวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 0900-1200 บริษัทมาร์ซันจำกัด และ บริษัท Thyssen Krupp Marine System ได้เข้ามาบรรยายเทคโนโลยีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (Offshore Patrol Vessel : OPV) ให้กับนายทหารสัญญาบัตร ในกองเรือตรวจอ่าวรับฟัง โดยได้นำเสนอแบบเรือ MEKO A100 OPV ด้วยการนำแนวความคิด Mission Module Concept แบบ FLEX มาอยู่ในกรอบแนวความคิดในการออกแบบด้วย

สำหรับ Mission Module Concept แบบ FLEX สำหรับเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง แบบ MEKO A100 นั้น ออกแบบให้รองรับการปฏิบัติการในสาขา ASUW (Anti Surface Warfare), AAW (Anti Air Warfare), ASW (Anti Submarine Warfare), Special Operation และ Mine Countermeasure โดยสามารถเลือกนำ Module ต่างๆ มาเปลี่ยนเพื่อรองรับการปฏิบัติการทางเรือตามสาขาได้ นอกจากนั้น MEKO A100 OPV ยังออกแบบให้รองรับการ Upgrade เป็นเรือ Corvette ได้อีกด้วย หากมีความต้องการเพิ่มขีดความสามารถในปฏิบัติการทางเรือให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทัพเรืออยู่ระหว่างการต่อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ตามแบบ ร.ล.กระบี่ (ลำที่ 2) โดยได้จ้าง บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด ในการจัดส่งแบบเรือและพัสดุให้กับ ทร.โดยในส่วนของการต่อเรือนั้น ทร. โดย กรมอู่ทหารเรือ (อู่ทหารเรือมหิดลอดุลยเดช อรม.) เป็นผู้ดำเนินการต่อเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ปัจจุบัน เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) ของกองทัพเรือ มีประจำการแล้วทั้งสิ้น 3 ลำ ได้แก่ ร.ล.ปัตตานี ร.ล.นราธิวาส และ ร.ล.กระบี่ และอยู่ระหว่างการต่ออีก 1 ลำ คือ ร.ล.ตรัง โดย ทร.มีความต้องการ เรือ OPV เป็นจำนวน 6 ลำ

          ระหว่างการบรรยายบริษัทมาร์ซันได้นำเสนอแบบเรือ MEKO A100 OPV จากภาพประกอบที่หกเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งตระกูล MEKO สร้างเรือจำลองทดสอบแล่นในถังเรียบร้อยแล้ว ออกแบบด้านพื้นฐานทางวิศวกรรมเบื้องต้นแล้ว ออกแบบรายละเอียดต่างๆ ภายในตัวเรือแล้ว อีกไม่นานแบบเรือที่เสร็จสมบูรณ์จะพร้อมใช้งาน

          ช่วงนั้นอย่างที่ทราบกันดีราชนาวีไทยอยากสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเพิ่มเติม และเนื่องมาจากแบบเรือ River Batch 2 ซึ่งถูกปรับปรุงเป็นเรือหลวงกระบี่กับเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ไม่อาจเติมเต็มความต้องการทั้งหมดโดยเฉพาะเรื่องโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ส่งผลให้กองทัพเรือไม่สร้างเรือลำที่ 3 แต่หันมามองแบบเรือรุ่นอื่น บริษัทมาร์ซันกับ TKMS จึงเสนอแบบเรือ MEKO A100 OPV ให้กองทัพเรือพิจารณา

          ผู้เขียนพยายามค้นหาข้อมูลแบบเรือ MEKO A100 OPV โชคร้ายไม่ได้ความ ข้อมูลในปัจจุบันมีเพียงเรือคอร์เวตกับเรือฟริเกตเบาซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าติดอาวุธมากกว่า เจอแค่เพียงข้อมูลเรือตรวจการณ์ MEKO OPV ในปี 2012 มีรายละเอียดตามนี้

เรือมีระวางขับน้ำ 1,820 ตัน ยาว 87.3 เมตร กว้าง 13.9 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU 12V 1163 TB93 จำนวน 2 ตัว ใช้ลูกเรือ 78 นาย แบบเรือลำนี้อิสราเอลซื้อไปปรับปรุงใช้งานเป็นเรือคอร์เวตชั้น Saar 6 จำนวน 4 ลำ พิจารณาอย่างถี่ถ้วนผู้เขียนมั่นใจว่าไม่ใช่ น่าจะเป็นแบบเรือ MEKO 80 OPV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ากัน

จนถึงปัจจุบันปริศนาแบบเรือ MEKO A100 OPV ยังไม่ผู้ใดเฉลยคำตอบ

จนถึงปัจจุบันโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่สามยังถูกดองเค็ม

โอกาสที่สองของแบบเรือ MEKO กับราชนาวีไทยผ่านพ้นไปเช่นเดียวกัน

โครงการจัดหาเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำ

          ระหว่างเดือนตุลาคม 2023 กองทัพเรือไทยเผยแพร่สมุดปกขาวหรือ ‘Royal Thai Navy White Paper 2023’ ข้อมูลส่วนหนึ่งระบุความต้องการจัดหาเรือเรือฟริเกตสมรรถนะสูงจำนวน 4 ลำมูลค่า 80,400 ล้านบาท มุ่งเน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศมากยิ่งขึ้น ข้อมูลตรงนี้เองทำให้คนจำนวนมากตีความว่าเรือฟริเกตทั้ง 4 ลำต้องสร้างเองในประเทศ ทั้งที่กองทัพเรือระบุแค่เพียงอาจมีการจัดหาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งและเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ภายในประเทศในอนาคตเท่านั้น

          ผู้เขียนอ่านหลายรอบแล้ว ไม่มีบรรทัดไหนเขียนว่า ต้องการจัดหาเรือฟริเกตภายในประเทศ มีแค่คำว่า มุ่งเน้น เพียงประโยคเดียว รบกวนผู้อ่านโหลดสมุดปกขาวกองทัพเรือปี 2023 มาตรวจสอบด้วยตัวเอง

ฉะนั้นถ้ากองเรือได้งบประมาณและสั่งซื้อเรือฟริเกตจากต่างประเทศ 4 ลำรวด กองทัพเรือไม่ผิดนะครับ

เข้าใจชัดเจนแล้วมาต่อกันที่งานจัดแสดงอาวุธ Defense and Security 2023

บริษัทมาร์ซันจำกัดร่วมมือกับบริษัท ThyssenKrupp Marine Systems หรือ TKMS ประเทศเยอรมันเสนอแบบเรือ MEKO A100 ให้กับกองทัพเรือไทย (ตามภาพประกอบที่เจ็ด) เรือมีระวางขับน้ำประมาณ 3,500 ตัน ยาว 107.2 เมตร กว้าง 16 เมตร กินน้ำลึกสุด 5.2 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 4 ตัว ความเร็วสูงสุด 25.5 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 5,000 ไมล์ทะเล นี่เป็นข้อมูลจากเรือฟริเกต MEKO A100 กองทัพเรือบราซิลซึ่งมีการสร้างจริงแล้วจำนวน 2 ลำจาก 4 ลำ

ผู้เขียนไม่มีโอกาสไปงาน Defense and Security 2023 ไม่มีโอกาสเห็นโบร์ชัวร์ที่บริษัทมาร์ซันนำมาแจกให้กับผู้ร่วมงาน ใครมีของจริงส่งให้ผู้ด้อยโอกาสเอ๊ยผู้เขียนหลังไมค์ได้นะครับ

แบบเรือป้อมๆ กลมๆ ค่อนข้างสั้นและกว้างตามสมัยนิยม กว้านสมอเรือและจุดผูกเชือกหัวเรืออยู่บนดาดฟ้าเรือตามปรกติ รูปทรง Stealth ตัวเอ็กส์จากแบบเรือ MEKO A100 โปแลนด์ถูกเททิ้งเสียแล้ว การลดการตรวจจับด้วยคลื่นอิเล็กทรอนิกส์ย่อมน้อยกว่าเรือคอร์เวตโปแลนด์ตามเทคโนโลยี ทว่ารูปทรงธรรมดาๆ ทำให้การสร้างเรือง่ายกว่าเดิม น้ำหนักเบากว่าเดิมนิดหน่อย และพลอยทำให้ราคาถูกลงกว่าเดิมไม่มากก็น้อย

โมเดลเรือ MEKO A100 ที่นำมาจัดแสดงติดตั้งแท่นยิงแนวดิ่ง Mk41 จำนวน 16 ท่อยิง ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ AESA Hensoldt TRS-4D ระยะตรวจจับ 250 กิโลเมตร ติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM จำนวน 8 ท่อยิง และระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด RAM ขนาด 21 ท่อยิง มีความแตกต่างจากเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชเรือฟริเกตสมรรถนะสูงลำแรกจำนวนหลายจุด ผู้เขียนจึงทำภาพประกอบที่แปดขึ้นมาเพื่อให้มองเห็นภาพรวมหลังการปรับปรุงอย่างชัดเจน

นี่คือแบบเรือฟริเกต MEKO A100 RTN ซึ่งมีความใกล้เคียงเรือจริงมากที่สุด เรือลำบนติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์เหมือนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชทั้งหมด ส่วนเรือลำล่างเปลี่ยนมาใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM ทดแทน Harpoon กับระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Milliennium Gun ทดแทน Phalanx

เลือกลำที่รัก-เลือกบั๊กที่ใช่กันได้อย่างเต็มที่

ส่วนตัวผู้เขียนชอบลำล่างมากกว่าแต่ถ้าได้ลำบนก็ไม่เดือดร้อนอะไร

ปัญหาของ MEKO A100 RTN

          ก่อนบริษัทมาร์ซันกับ TKMS จะได้รับสัญญาสร้างเรือฟริเกตมูลค่า 80,000 ล้าน (ถ้ามีการขึ้นโครงการจริงนะครับ ซึ่งผู้เขียนไม่รู้เหมือนกันกองทัพเรือจะหางบประมาณได้จากที่ไหน) มีปัญหาใหญ่จำนวน 2 เรื่องที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยเสียก่อน

1.ระบบขับเคลื่อน

          MEKO A100 ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล 4 ตัว แต่เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG เครื่องยนต์ดีเซล 2 ตัวกับเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์อีก 1 ตัว ถ้าเป็นจริงตามนี้เท่ากับว่า MEKO A100 ใช้ระบบขับเคลื่อนไม่ตรงตามความต้องการ

          ไม่ตรงก็ไม่ตรงสิข้าพเจ้าจะเอาสักอย่างใครจะทำไม?

          ปัญหาเรื่องนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเรือคอร์เวตกองทัพแอฟริกาใต้อีกครั้ง

โครงการ Project Sitron กำหนดให้เรือคอร์เวตต้องติดตั้งเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ด้วย ฉะนั้นแบบเรือส่วนใหญ่ในรอบแรกจึงใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG บังเอิญแบบเรือ La Fayette จากฝรั่งเศสซึ่งเสนอระบบขับเคลื่อนถึง 3 แบบได้คะแนนย่ำแย่อันดับสุดท้าย ในรอบชิงพวกเขาจึงเปลี่ยนมานำเสนอแบบเรือ Patrol Corvette ซึ่งใช้ระบบขับเคลื่อน CODAG และมีขนาดใหญ่โตกว่าเดิม โดยพ่วงแบบเรือ La Fayette ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOD เข้ามาอีกลำเป็นทางเลือกเพิ่มเติมของคนรุ่นใหม่

ในรอบชิงบริษัทอิตาลีลักไก่เสนอแบบเรือ F3000 ใช้ระบบขับเคลื่อน CODOD อีกหนึ่งลำ

ก่อนการพิจารณาจริงแบบเรือ La Fayette CODOD กับ F3000 CODOD ถูกตัดสิทธิ์เพราะใช้ระบบขับเคลื่อนไม่ตรงตามความต้องการ ทำความเร็วสูงสุดตามความต้องการไม่ได้ รวมทั้งฝรั่งเศสเสนอขายเรือ La Fayette แค่เพียง 3 ลำ ทั้งสองลำถูกคัดออกตั้งแต่เปิดซองเพราะกรรมการคัดเลือกแบบเรือทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

เท่ากับว่าถ้า MEKO A100 ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD แต่กองทัพเรือไทยต้องการระบบขับเคลื่อน CODAG โอกาสที่สามของแบบเรือ MEKO กับราชนาวีไทยจะหายไปทันที

2.การติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS (Active Towed Array Sonar)

ท้ายเรือ MEKO A100 มีพื้นที่อเนกประสงค์ขนาดค่อนข้างใหญ่ รองรับตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 4 ตู้ กับเรือยางท้องแข็งหรือยานผิวน้ำไร้คนขับขนาด 11 เมตรอีก 1 ลำ ไม่มีที่ว่างสำหรับติดตั้งโซนาร์ขนาดใหญ่เหมือนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ วิธีแก้ไขแบบง่ายๆ มีด้วยกันสองวิธีประกอบไปด้วย

2.1 ใช้งานโซนาร์ลากท้าย ACTAS รุ่น Mission Module เหมือนเรือฟริเกต F126 กองทัพเรือเยอรมัน

เวลาใช้งานให้นำตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ตู้มาติดตั้งกราบเรือฝั่งไหนก็ได้ เลิกใช้งานก็ถอดตู้ออกมาจัดเก็บในคลังแสงกองเรือยุทธการ ปัญหาก็คือเจ้าหน้าที่บนเรือต้องเรียนรู้การใช้งาน Mission Module ให้เข้มข้นมากๆ หน่อย รวมทั้งการจัดเก็บตู้คอนเทนเนอร์ต้องไม่เกิดปัญหาแม้เพียงน้อยนิด ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงเวลาใช้งานแล้วบังเอิญแขนกลไม่ทำงาน ส่งตัวโซนาร์ออกไปไม่ได้งานนี้แหละได้ตายทั้งกองเรือ

2.2 ติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS เป็นการถาวรบริเวณกราบซ้ายหรือกราบขวาของเรือ

ปัญหาก็คือความอเนกประสงค์หายไปทันทีครึ่งหนึ่ง สามารถติดตั้งคอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตเพิ่มได้เพียง 2 ตู้ ภารกิจเสริมกวาดทุ่นระเบิดอาจไม่มีปัญหาอะไร แต่ภารกิจเสริมวางทุ่นระเบิดจะลดจำนวนลงมากถึงครึ่งหนึ่ง ถ้าเลือกติดตั้งโซนาร์ลากท้าย ACTAS บริเวณกลางเรือแทนที่เรือยางท้องแข็งขนาด 11 เมตร ก็ทำให้เรือเหลือเรือยางท้องแข็งขนาด 6.5 เมตรเพียงลำเดียวที่กราบขวา ภารกิจเสริมต่างๆ จะทำได้อย่างลำบากลำบน เท่ากับว่าไม่สมควรวางโซนาร์ลากท้าย ACTAS ไว้ที่กลางเรือ

ไม่ว่า MEKO A100 RTN จะมาจริงและได้รับคัดเลือกจริงหรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนต้องขอชื่นชมบริษัทมาร์ซันกับ TKMS ที่นำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับราชนาวีไทยเป็นรายแรก หวังใจว่าจะมีบริษัทอื่นส่งแบบเรือเข้าร่วมชิงชัยจำนวนมากที่สุด เราจะได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นและสามารถคัดเลือกแบบเรือที่เหมาะสมกับความต้องการ

++++++++++++++++++++

อ้างอิงจาก :

https://web.facebook.com/photo/?fbid=652069043747623&set=pcb.652069173747610

https://thaimilitary.blogspot.com/2015/05/south-african-corvette-program.html

http://www.navy.mil.za/

http://www.shipbucket.com/forums/viewtopic.php?f=13&t=5899&sid=b24c0f394d98103a8999f057a34b2e9a

https://web.facebook.com/NavyForLifePage/photos/a.535101473194418/1262131107158114/?type=3&_rdc=1&_rdr

         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น