โครงการเรือฟริเกต
Type 31e แห่งราชนาวีอังกฤษ
ปี
2010 ราชนาวีอังกฤษเริ่มต้นโครงการสำคัญอีกโครงการหนึ่ง คือการจัดหาเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำรุ่นใหม่แทนที่เรือฟริเกตชั้น
Type 23 เรือลำใหม่ถูกตั้งชื่อว่า ‘Type 26 Global Combat Ship’ โดยเปลี่ยนชื่อมาจาก The
Future Surface Combatant (FSC) ซึ่งเริ่มศึกษาข้อมูลตั้งแต่ปี 1998 กำหนดราคาไว้ที่ 500 ล้านปอนต่อเรือหนึ่งลำ ต่อมามีการลดขนาดเรือและลดราคาลงมาอยู่ที่
350 ล้านปอนด์ต่อลำ เห็นถูกๆ ขนาดนี้ยังได้เรือขนาด 5,400 ตันเชียวนะครับ
เอาเข้าจริงเมื่อโครงการเป็นรูปเป็นร่างในปี
2016 เรือฟริเกต Type 26 Global Combat Ship มีระวางขับน้ำปรกติ 6,900 ตัน ระวางขับน้ำสูงสุดถึง
8,000 ตัน
กองทัพเรืออังกฤษต้องการจัดหา 13 ลำในวงเงิน 11.5 พันล้านปอนด์ แพงกว่าราคาประมาณการณ์ไปไกลลิบลับ จำเป็นต้องลดจำนวนเรือเหลือเพียง
8 ลำในวงเงิน 8 พันล้านปอนด์
ตามสภาวะเงินเฟ้อ ปริมาณเรือที่ลดน้อยลง และการบานปลายของงบประมาณ
(ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของทุกโครงการ)
หมายความว่าอังกฤษจะมีเรือฟริเกตน้อยกว่าแผนการ
แน่นอนว่าพวกเขาจะมีปัญหาหลายอย่างตามมา จำเป็นต้องงัดแผนสองคือจัดหาเรือฟริเกตรุ่นอื่นเพิ่มเติม
กำหนดให้มีขนาดเล็กลงติดอาวุธน้อยกว่าเดิม รัฐบาลได้ตั้งวงเงินไว้อย่างชัดเจนแจ่มแจ๋วว่า
เรือฟริเกตจำนวน 5 ในราคา 1.25 พันล้านปอนด์หรือลำละ 250 ล้านปอนด์นั่นเอง
นี่คือที่มาเรือฟริเกตชั้น
Type
31 อันเป็นโครงการที่เต็มไปด้วยปัญหาแปลกๆ ต่างจากเรือฟริเกต Type
26 ซึ่งวางแผนทั้งหมดตั้งแต่แรกเริ่ม เรือลำใหม่คนใช้งานไม่อยากได้สักเท่าไร
ฝายคนขายก็ไม่ทันตั้งหลักไม่มีสินค้าในมือ แต่ในเมื่อมีส้มหล่นตรงหน้าทุกคนต้องรีบไขว่คว้า
ผู้เขียนได้รวบรวมแบบเรือทั้งหมดในโครงการมาให้ชมกันอย่างจุใจ
อย่างที่รู้ว่าราคาเรือค่อนข้างถูก
ฉะนั้นแล้วดาดฟ้าเรือจะค่อนข้างโล่งตามราคา ระบบอาวุธบนเรือฟริเกต Type
31e คร่าวๆ ก็คือ ปืนหลักกับปืนรองซึ่งไม่ได้ระบุรุ่น
โดยที่ปืนรองใช้เป็นระบบอาวุธป้องกันระยะประชิดหรือ CIWS ได้
(ตามที่ราชนาวีอังกฤษต้องการนะครับ) มีจรวดต่อสู้อากาศยานระยะใกล้หรือ Point
Defence Missile System ติดตั้งโซนาร์หัวเรือได้
(แต่ไม่ชัดเจนว่าติดมาเลยไหม) และมีพื้นที่รองรับโซนาร์ลากท้าย Towed Array
Sonar ในอนาคต
นอกจากนี้ก็เป็นระบบเรดาร์
ระบบอำนวยการรบ ระบบสื่อสาร และระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีบนเรือทว่ายังไม่ได้จำเพราะเจาะจงชัดเจน
ไม่มีจรวดต่อสู้เรือรบติดตั้งเหมือนเรือรบทั่วไป
แต่มีพื้นที่รองรับแท่นยิงแนวดิ่งสำหรับจรวดโจมตีชายฝั่งระยะไกล มีเรื่องน่าแปลกใจเกี่ยวข้องกับอากาศยาน
คือต้องมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์รุ่น Merlin ขนาด
15 ตัน แต่โรงเก็บกลับกลายเป็นรุ่น Wildcat หรือขนาดไม่เกิน 10 ตัน เรามาเมากาวไปพร้อมกับคนอังกฤษสักสองวัน
ลานจอดกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ผู้เขียนรับได้
เพราะไม่ใช่เรือฟริเกตหลักมีเท่าไรก็ใช้เท่านั้น
บังเอิญคนอื่นเขาไม่คิดแบบนี้สิครับ จึงโดนคนทั้งยุโรปล้อเลียนเป็นที่สนุกสนาน
แต่ก็แค่พอขำๆ ไม่ได้ขนาดเอาเป็นเอาตาย ข้อมูลที่เหลือก็ทั่วๆ ไปไม่มีอะไรสำคัญ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา…พบแบบเรือทั้งหมดกันเลยดีกว่าครับ
VENATOR-110
เรือลำแรกมาจากบริษัท
BMT
Defence Services ประเทศอังกฤษ ถือกำเนิดตั้งแต่ปี 2012 ประมาณ 5 ปีก่อนเริ่มโครงการ ระวางขับน้ำ 4,000 ตัน ยาว 117 เมตร กว้าง 18
เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร ทั้งปืนหลัก จรวดต่อสู้อากาศยาน
และจรวดต่อสู้เรือรบกองรวมกันหน้าสะพานเดินเรือ คือใช้หลักการเดียวกันกับเรือฟริเกตชั้น
Type 23 และเรือพิฆาตชั้น Type 45
กลางเรือกับท้ายเรือมีจุดติดอาวุธฝั่งละ 2 จุด มีลานจอดกับโรงเก็บสำหรับเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง
คอนเซ็ปต์ของเรือลำนี้ก็คือ
Flexible
and Affordable ท้ายเรือมี Mission Bay รองรับเรือยางท้องแข็ง
RHIB ได้อีก 2 ลำ (รวมเป็น 4 ลำ) ภายในเรือมีความทันสมัยต่างจากเรือรุ่นเก่า เพียงแต่หัวเรือไม่สูงเท่าไรเมื่อเทียบกับเรือลำอื่น
ตีแผ่นเหล็กแทนเสากันตกเพื่อกันคลื่นลมด้านหน้าเรือ ลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่
นอกจากติดตั้งเรดาร์และระบบอำนวยการรบอังกฤษแล้ว
ยังมีรุ่นใช้เรดาร์กับระบบอำนวยการรบจากสวีเดนได้ด้วย โดยใช้อาวุธจากสวีเดนกับปืนใหญ่
76/62
ของอิตาลี ใส่ปืนกล 40 มม.ท้ายเรือ 2 กระบอก ใส่จรวดต่อสู้อากาศยาน SIMBAD-RC กลางเรืออีก 2 แท่นยิง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรือสามารถดัดแปลงปรับปรุงได้ง่ายดาย
เห็นหน้าคร่าตาครั้งแรกหลายคนบอกว่า
นี่แหละ…เรือฟริเกตลำใหม่ของอังกฤษ
ต้องเป็นลำนี้แน่นอนต่อร้อยบาทเอาขี้หมากองเดียว แต่ผู้เขียนค้านแบบหัวชนฝาว่าไม่น่าใช่นะ
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นสงสัยไหมครับ เพราะเรือลำนี้เหมือนเรือรบน้อยที่สุด
เป็นเรือที่สานต่อจากโครงการเรือสลูปอเนกประสงค์ ซึ่งอังกฤษเคยอยากมีอยากได้เมื่อนานมานี้
รูปร่างหน้าตาคล้ายเรือตรวจการณ์มากกว่าเรือฟริเกต ควรอยู่เฝ้าบ้านมากกว่าออกไปล่อมือล่อเท้าที่อ่าวเปอร์เซีย
ถึงมีระวางขับน้ำมากกว่าเรือฟริเกตลำใหม่ของเราก็ตาม
แต่ BMT
ระบุเองว่า VENATOR-110 เป็น Light
Frigate มีรุ่น Patrol Frigate กับ
Patrol Ship ซึ่งติดอาวุธน้อยลงให้เลือกใช้งาน
รวมทั้งผู้เขียนพยายามส่องแบบเรือจนปวดตา ก็ยังไม่พบระบบปราบเรือดำน้ำบนเรือเสียที
จริงอยู่ว่าติดตั้งเพิ่มเติมภายหลังได้เพราะเรือลำใหญ่ แต่ต้องปรับปรุงแบบเรือเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ
เรือซึ่งมีปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่สไตล์อังกฤษ ยังดูไม่เหมาะสมกับความต้องการเท่าที่ควร
ภาพนี้คือการปรับปรุงเรือให้เหมาะสมกับความต้องการ
ฝั่งซ้ายเป็นแท่นยิงแนวดิ่ง ExLS จำนวน 6 ท่อยิง ใส่จรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Captor ได้ 24
นัด (ท่อยิงละ 4 นัด)
ฝั่งขวาเป็นแท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41
ใส่จรวดโจมตีชายฝั่งระยะไกลได้ 8 นัด โดยใช้ปืนใหญ่ขนาด 5
นิ้วเป็นปืนหลัก แต่เอาเข้าจริงๆ ผู้เขียนคิดว่าต้องมีปัญหาแน่นอน
กองทัพเรืออังกฤษใช้ท่อยิงเฉพาะรุ่นของจรวด
Sea
Captor โดยที่ 1 ระบบจะมีจำนวน 6 ท่อยิง (ท่อยิงละ 1 นัด) เพราะฉะนั้น VENATOR-110 จะใส่จรวด Sea Captor ได้มากสุดแค่ 12 นัด หรือ จรวด Sea Captor 6
นัดกับจรวดโจมตีชายฝั่งระยะไกล 8 นัด ซึ่งเท่านี้มันไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน
ต้องปรับปรุงให้ติดแท่นยิงแนวดิ่งได้มากกว่าเดิม
The Avenger
เรือลำที่สองมาจากบริษัท
BAE
System โดยนำเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้น River Batch 2 มาเพิ่มความยาวจาก 90 เมตรเป็น 111 เมตร หัวเรือติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้ว
ใส่เรือยางท้องแข็ง RHIB ที่กราบเรือจำนวน 4 ลำ สร้าง Superstructure สำหรับแท่นยิงแนวดิ่งไว้กลางลำ
ท้ายเรือสร้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลาง โดยใช้เจ้าหน้าที่ประจำเรือแค่เพียง 70 นาย เรือมีค่าใช้จ่ายในการใช้งานค่อนข้างต่ำ เนื่องจากแปลงร่างมาจากเรือตรวจการณ์ดีๆ
นี่เอง
ผู้อ่านคงเคยจินตนาการบ่อยครั้งว่า
ทำไมเราไม่เอาเรือหลวงกระบี่มาขยายความยาว
แล้วสร้างโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์เพิ่มเติมเข้าไปล่ะ? เราจะได้สุดยอดเรือตรวจการณ์ที่เหนือชั้นกว่าเรือฟริเกต
F-14 ของพม่า (เรื่องความทนทะเลอย่างเดียวนะครับ) ความคิดนี้เองได้ลอยเข้าหัวบริษัทเจ้าของแบบเรือ
เขาจึงสร้างเรือตามความต้องการของเราขึ้นมาให้ยลโฉม ผลตอบรับค่อนข้างดีมากเลยครับ
คนอังกฤษร้อยละหนึ่งร้อยช่วยกันโหวตไม่ได้ไปต่อ ลองเดากันดูเล่นๆ สิครับว่าเพราะอะไร
หัวข้อความสวยงามผู้เขียนขอตัวทิ้ง
บางคนอาจมองว่าเรือสวยมากก็เป็นไปได้ แต่เรื่องหลักๆ มาจากประสิทธิภาพของเรือ The
Avenger ไม่ใช่เรือฟริเกตและไม่มีวันเป็นเรือฟริเกต
ฉะนั้นจะไปไล่ล่าเรือดำน้ำให้ดีเหมือนเรือฟริเกต ต้องปรับปรุงใหม่หมดทั้งลำถึงจะดีแค่พอใช้
แต่ไม่มีทางเทียบเท่าเรือที่ออกแบบมาสำหรับภารกิจนี้
การลดการตรวจจับจากคลื่นเรดาร์ขอใช้คำว่าสุดเลวร้าย ส่งเข้าร่วมชิงชัยโดนตัดออกรายแรกทุกๆ
โครงการ ถ้าเจ้าของแบบเรือไม่อัดฉีดโปรโมชั่นซื้อ 2 แถม 1
ผู้อ่านอาจค้านว่าเรือมันราคาถูกนะคุณ
อาจจะไม่ดีเท่าเรือฟริเกตแท้ๆ แต่ราคาถูกมาก นี่คือการพูดโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับ
อย่าลืมนะครับว่าเรือต้องมีราคา 250 ล้านปอนด์ ตามความต้องการรัฐบาลอังกฤษซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจน
(มากที่สุด) คนไหนละเมอขึ้นมาว่าลำละ 150-200 ล้านปอนด์
คุณเมากัญชาแล้วเพื่อนเกลอรีบไปถอนเดี๋ยวนี้ และในบรรดาเรือฟริเกตราคา 250 ล้านปอนด์เท่าๆ กัน เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ The Avenger รั้งท้ายขบวนโดยไม่มีข้อแม้
ผู้เขียนพยายามเข้าข้างเต็มที่แล้วนะ
แต่พอเห็นคู่แข่งขันเข้าก็หงายหลังตึง เรามาชมเรือลำอื่นกันต่อเถอะครับ
Cutlass
เรือลำที่สามมาจาก
บริษัท BAE System เช่นกัน
โดยการนำเรือคอร์เวตชั้น Al Khareef ของกองทัพเรือโอมานมาปรับปรุง เพิ่มความยาวจาก 99
เมตรเป็น 117 เมตร
บริเวณกลางเรือความยาวเพิ่มขึ้น 15 เมตร ใส่เรือยางท้องแข็ง RHIB พร้อมแผ่นเหล็กปิดไว้เรียบร้อย มีปล่องระบายความร้อนสไตล์อังกฤษถึง 2
ปล่อง ปรับปรุงตรงโน้นตรงนี้ให้ตรงตามความต้องการ ถ้าสังเกตดีๆ
จะพบว่ามีการออกแบบแบบเรือ เพื่อลดการตรวจจับด้วยเรดาร์แบบ Full Stealth ให้มากที่สุด
ใส่ปืนใหญ่ขนาด
5
นิ้วเป็นปืนหลักตามมาตรฐาน
หัวเรือแบนราบไม่มีจุดผูกเรือหรือกว้านสมอเรือ (ลงไปอยู่ใต้ดาดฟ้าเรือทั้งหมด)
ช่วยลดการสะท้อนคลื่นเรดาร์ได้ดีในระดับหนึ่ง (ว่ากันตามหลักการออกแบบเรือ Full
Stealth ของแท้ต้องแบบนี้เท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ใช่ให้ถือว่าเป็น Full
Stealth เซินเจิ้น แต่ถ้าว่ากันตามหลักการอื่นๆ ผู้เขียนไม่ทราบ ฉะนั้นแล้วเรือฟริเกตจากเกาหลีใต้ของเราไม่ใช่
Full Stealth แท้ๆ นะครับ) มีจุดติดตั้งโซนาร์ลากท้าย Towed Array Sonar แต่ดูเหมือนจะมีเรือยางท้องแบนแค่ 2 ลำเท่านั้น รายละเอียดเรือลำนี้มีค่อนข้างน้อยมาก
ส่วนตัวผู้เขียนชอบเรือชั้น
Cutlass ค่อนข้างมาก แม้ตัวเองยังไม่มีข้อมูลครบถ้วนและชัดเจนก็ตาม
เรือที่มีปล่องควันขนาดใหญ่ 2 ปล่องดูดุดันกว่าลำอื่น
(เหมือนเรือสเปนที่มาพ่ายแพ้ในโครงการเรือฟริเกตสมรรถนะสูง
ลำนั้นผู้เขียนก็ชอบมากเสียดายไม่ได้แจ้งเกิด) การจัดวางอาวุธ เรดาร์ และระบบอื่นๆ
ก็พอถูๆ ไถๆ ดีกว่า The Avenger ซึ่งต้องมีราคา 250 ล้านปอนด์เท่ากันชนิดฟ้ากับเหว แต่อาจยังไม่ดีเพียงพอเมื่อเทียบกับเรือลำอื่น
BAE จึงไม่ได้โหมโปรโมทเรือลำนี้สักเท่าไร
นี่คือภาพโมเดลเรือชั้น
Cutlass แบบชัดๆ ใช้ลายพรางสมัยสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งเชยมาก
กลางเรือเป็นแท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 จำนวน 8 ท่อยิง ท้ายเรือมีปืนกลอัตโนมัติ DS-30MR 2 กระบอก กับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์
ถ้าเรือได้รับการคัดเลือก Phalanx คงไม่มาเพราะแพงเกินไป
แบบเรือเขาติดโชว์ว่าสามารถติดได้เท่านั้นเอง พูดโดยไม่อวยแบบเรือสวยใช้ได้เลย
แต่ถ้านำมาต่อกรกับเรือฟริเกต Avante ของสเปน หรือ Gowind
ของฝรั่งเศส หรือ Sigma ของเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่า
คงลำบากไม่ใช่น้อยๆ และโอกาสชนะค่อนข้างรางเลือน
ผู้อ่านอาจสงสัยว่าทำไมจู่ๆ
BAE
ถึงมีแบบเรือ Cutlass พร้อมลงชิงชัย
ได้รับการออกแบบมาอย่างดีต่างจาก The Avenger แบบหน้ามือหลังมือ
ผู้เขียนแอบกระซิบตรงนี้อย่าไปบอกใครล่ะ แบบเรือลำนี้มาจากโครงการ Al
Khareef 2 Frigate Programme ที่ BAE เคยเสนอให้กับกองทัพเรือโอมานนั่นเอง พอดีทางนั้นยังไม่ซื้อจึงนำมาขายประเทศตัวเองเสียเลย
ผ่านไป
3
ลำแล้วนะครับ จะเห็นได้ว่าเป็นแบบเรือเก่านำมาโมใหม่ ยกเว้น VENATOR-110 ซึ่งเป็นแบบเรือใหม่แต่ขายไม่ออกเสียที และยังไม่มีลำไหนโดดเด่นเข้าตาเท่าที่ควร
นี่คือโอกาสทองของบริษัทขนาดเล็กในเกาะอังกฤษ
Project Spartan
เรือลำที่สี่มาจากบริษัท
Steller
Systems พวกเขาเสนอแบบเรือใหม่เอี่ยมภายใตสโลแกน ‘A
flexible, adaptable multi-role platform’ แบบเรือ Project Spartan
พัฒนาขึ้นมาในปี 2015 ภายใต้ชื่อ An
Innovative Light Frigate Design ถ้าเรือ VENATOR-110 ไม่เหมือนเรือฟริเกตมากที่สุด เรือ The Avenger
คือฟริเกตรุ่นย้อมแมวขาย Project Spartan
จะเทียบได้กับเรือฟริเกตในฝันของทุกคน แต่เป็นฝันที่ไกลเกินตัวจนกลายเป็น Personal
Design มากกว่า Real Design
เรือลำนี้ไม่มีข้อมูลระวางน้ำหรือสัดส่วนต่างๆ ในเมื่อเจ้าของแบบเรือจงใจปกปิดผู้เขียนก็จนใจ
เรามาชมภาพเรือกันอย่างชัดเจนกันดีกว่า หัวเรือโค้งขึ้นสูงและไม่ลดการตรวจจับด้วยเรดาร์
เห็นจุดผูกเรือกับกว้านสมอเรืออย่างชัดเจน มีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วกับแท่นยิงแนวดิ่ง
Mk-41 รวมกันถึง 16 ท่อยิง
ถัดจากสะพานเดินเรือมีช่องปล่อยเรือเล็กพร้อมกับแผ่นเหล็ก กลางเรือใส่จรวดต่อสู้เรือรบ
Harpoon ได้ 8 นัด กับปืนกลอัตโนมัติ DS-30MR ขนาด 30 มม.อีก 2 กระบอก
ลานจอดเฮลิคอปเตอร์รองรับ
Merlin ส่วนโรงเก็บรองรับ NH90 ฝั่งซ้ายเป็นโรงเก็บอากาศยานไร้คนขับ
ส่วนฝั่งขวามีแท่นยิงจรวด Sea Captor อีก 12 ท่อยิง ท้ายเรือมี Mission Bay ขนาดใหญ่รองรับเรือยางท้องแข็ง
RHIB ได้อีก 3 ลำ กับตู้คอนเทนเนอร์ Mission
Module อีก 3 ตู้ ทำการรบได้ 3 มิติแต่ในภาพหาแท่นยิงตอร์ปิโดไม่เจอ? เป็นเรือ Light
Frigate ที่ติดอาวุธได้ดุดันเหลือเกิน ใช้ระบบเครื่องยนต์ CODLAD
ซึ่งจัดว่าทันสมัยมาก ที่เขียนมาทั้งหมดอยู่ในราคา 250 ล้านปอนด์
มาถึงบทวิเคราะห์กันบ้างดีกว่า
แบบเรือ Project
Spartan เป็นแค่เรือกระดาษที่แท้จริง ยังไม่มีการทดสอบด้วยเรือจำลองในพื้นที่ทดสอบรูปแบบต่างๆ
ข้อมูลจากโบรชัวร์จึงได้สวยหรูงดงามแบบนี้ ผู้เขียนติดใจ Mission Bay ท้ายเรือที่โชว์ในภาพ เพราะมีราคาค่อนข้างแพงมากฉุดให้ราคาเรือสูงขึ้นตามกัน
ส่วนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ก็แสนอลเวงดีแท้ โดยมีทั้งที่จอดเฮลิคอปเตอร์
อากาศยานไร้คนขับ และแท่นยิงจรวด Se Captor รวมอยู่ด้วยกัน โปรดสังเกตปล่องระบายความร้อนดีๆ
นะครับ โดนเฮลิคอปเตอร์ NH90 กินพื้นที่เข้าไปตั้งเยอะ
แล้วความร้อนมันจะระบายออกมาทางไหนกันล่ะหนอ?
ทีนี้นำภาพเรือมาให้คนอังกฤษดูบ้าง
คำพูดแรกก็คือ Steller Systems คือบริษัทอะไร? คำพูดที่สองก็คือนี่ไม่ใช่เรืออังกฤษ
ตั้งแต่หัวจรวดท้ายไม่มีความเป็นอังกฤษแม้สักนิด มีการติดปล่องระบายความร้อนเล็กๆ
หลังเสากระโดงหลักก็จริง (เรืออังกฤษยุคก่อนฮิตแบบนี้มาก)
แต่ปล่องระบายความร้อนหลักมันเล็กมากไม่ใช่แล้ว เป็นเรือขายฝันที่น่าสนใจแต่ไม่สมควรเสียเงินซื้อ
กลับไปหา The Avenger สุดที่รักของผู้เขียนยังน่าสนใจกว่า
ในกรณีที่ต้องการเรือซึ่งสามารถสร้างได้จริงๆ
Arrowhead 120
แบบเรือลำถัดไปมาจากบริษัท Babcock International
ซึ่งมีส่วนร่วมพัฒนาเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นใหม่ของอเมริกา กับสร้างชิ้นส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น
Queen Elizabeth ของอังกฤษทั้งสองลำ แบบเรือพวกเขาใช้ชื่อว่า
Arrowhead 120 มาพร้อมคอนเซ็ปต์ Capable Adaptable and Flexible พร้อมกับข้อมูลเรือรุ่นใหม่แบบเจาะลึกครบทุกส่วน
เรือมีระวางขับน้ำประมาณ
4,000
ตัน ยาว 120 เมตร กว้าง 19 เมตร มาพร้อมความเอนกประสงค์ใกล้เคียง Project Spartan หัวเรือแบนราบไม่มีจุดผูกเรือหรือกว้านสมอเรือ มีปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วกับแท่นยิงแนวดิ่ง Mk-41 ได้มากสุด 16 ท่อยิง (ในภาพมีแค่ 8 ท่อยิง)
กลางเรือใส่จรวดต่อสู้เรือรบ 8 นัด กับปืนกลอัตโนมัติ DS-30MR ขนาด 30 มม.อีก 2 กระบอก รวมทั้งท้ายเรือก็ยังมี DS-30MR อีก 2
กระบอก ลานจอดเฮลิคอปเตอร์รองรับ Merlin
ส่วนโรงเก็บรองรับ NH90 ตามแผน
ความอเนกประสงค์เริ่มตั้งแต่กลางลำเรือฝั่งซ้าย
มี Mission
Bay ขนาดใหญ่สำหรับยานผิวน้ำไร้คนขับจำนวน 3 ลำ
สามารถทำภารกิจไล่ล่าทุ่นระเบิดได้อย่างสบาย ท้ายเรือมี Stern Ramp รองรับเรือยางท้องแข็ง RHIB ความยาว 11 เมตร มีช่องขึ้นเรือเล็กอยู่ใกล้เคียงกับระดับน้ำ เครื่องบิน V22 Osprey ลงจอดท้ายเรือลำนี้ได้ด้วยนะเออ
ที่น่าแปลกใจก็คือออกแบบปล่องระบายความร้อนชนิดท่อคู่ เหมือนกับเรือฟริเกต Sigma
ของเนเธอร์แลนด์ค่อนข้างมาก
ส่วนภาพนี้เป็น
Arrowhead
120 อีกหนึ่งเวอร์ชัน จะเห็นได้ว่าฝั่งขวากลางเรือไม่มีช่อง Mission
Bay ปืนกลอัตโนมัติ DS-30MR
กลางลำต้องตีโป่งออกมาจากกราบเรือ
และสิ่งที่แตกต่างก็คือมีระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx จำนวน 2 ระบบที่ท้ายเรือ
ตีโป่งออกมาเช่นกันพร้อมเสริมความแข็งแรง จากมองมุมนี้เหมือนเรือฟริเกต Sigma จริงๆ ด้วย
เรือในภาพไม่ตรงความต้องการราชนาวีอังกฤษ
เพราะมีการติดอาวุธผิดไปจากข้อกำหนด และมีราคารวมสูงกว่า 250
ล้านปอนด์อย่างแน่นอน พวกเขาจะเลิกใช้งานจรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon หลังหมดอายุไข โดยเปลี่ยนมาใช้จรวดรุ่นใหม่ยิงจากแท่นยิงแนวดิ่ง
ภาพโมเดลแค่แสดงให้เห็นว่า Arrowhead 120 สามารถทำอะไรได้บ้าง
Leander
หลังให้โอกาสบริษัทเล็กบริษัทน้อยปล่อยของไปก่อน
บริษัท BAE System จึงกลับมาตลบหลังในช่วงเวลาเหมาะสม ด้วยการปล่อยแบบเรือชั้น Leander
ออกสู่สาธารณะชน โดยการนำแบบเรือ Cutlass
มาทำศัลยกรรมเสียจนหล่อกว่าเดิม วิศวกรตัดปล่องระบายความร้อนหน้าออกไป
ใส่เรือยางท้องแข็ง RHIB กลางเรือจำนวน 4 ลำ สร้าง Superstructure ยาวมาชนปล่องระบายความร้อนหลัง
รวมทั้งใส่เครนไว้กลางลำสำหรับติดตั้งจรวดในท่อยิงแนวดิ่ง
เรือมีระวางขับน้ำ
3,677
ตัน ยาว 117 เมตรเท่าเดิม กว้าง 14.6 เมตร กินน้ำลึก 4.5 เมตร มีปืนใหญ่ 76/62 เป็นปืนหลัก แท่นยิงจรวด Sea Captor จำนวน 12
ท่อยิง กลางเรือมีแท่นยิงแนวดิ่ง MK-41 อีก 8
ท่อยิง จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon 8 นัด
ท้ายเรือมีปืนกลอัตโนมัติ DS-30MR กับระบบป้องกันตนเองระยะประชิด
Phalanx และด้วยวิธีนี้จึงไม่ต้องมี Mission Bay ขนาดใหญ่ท้ายเรือ สามารถกดราคาลงมาให้อยู่พอดีกับงบประมาณ ต้องถือว่า BAE ทำการบ้านมาค่อนข้างดีมาก
มิตรรักแฟนเพลงอังกฤษและคนทั่วโลกกล่าวขึ้นมาพร้อมกันว่า
นี่คือเรือฟริเกต Type31e อย่างจริงแท้และแน่นอน
รวมทั้งอังกฤษมีเรือฟริเกตขนาดไม่เกิน 4,000 ตันมาตีตลาดโลกแล้ว
โดยส่วนตัวแม้ผู้เขียนจะชอบ Cutlass ที่ดูดุดันกว่าเยอะ
แต่ยอมรับว่า Leander อเนกประสงค์กว่าและน่าสนใจกว่า
ติดอยู่แค่เพียงกลางเรือออกจะยาวมากเกินไป ถ้าตัดทิ้งสัก10 เมตรแล้วลดเรือยางเหลือแค่
2 ลำ น่าจะดูเหมาะสมและลงตัวกว่านี้หรือเปล่า?
แบบเรือ
Leander จากสายตะวันตกเข้ามานั่งรอแล้ว
เหลือแค่เพียงผู้ท้าชิงจากสายตะวันออกจะเป็นใคร?
Arrowhead 140
แบบเรือลำถัดไปมาจากบริษัท Babcock International เมื่อเห็น BAE ใช้วิธีตลบหลังจึงไม่อาจทนนิ่งเฉยได้
พวกเขาโยนแบบเรือ Arrowhead 120 ทิ้งไปอย่างไม่ใยดี
แล้วหันมาจูบปากกับบริษัท Thales จากเนเธอร์แลนด์ อู่ต่อเรือ
Odense Steel Shipyard จากเดนมาร์ก นำเสนอแบบเรือ Arrowhead
140 เข้าแข่งขันกับแบบเรือ Leander
ชนิดใครดีใครอยู่
Arrowhead
140 มีระวางขับน้ำ 5,800 ตัน (แม่เจ้า!) ยาว 138.7 เมตร กว้าง 19.8 เมตร
กินน้ำลึก 4.8 เมตร มีปืนใหญ่ 76/62 เป็นปืนหลัก
กลางเรือรองรับแท่นยิงแนวดิ่งได้มากสุด 32 ท่อยิง
ท้ายเรือมีกลอัตโนมัติ DS-30MR อีกจำนวน 2 กระบอก ใส่เรือยางท้องแข็ง RHIB กลางเรือจำนวน 4
ลำ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์รองรับ Merlin
โรงเก็บก็รองรับ Merlin (สุดยอด) เป็นเรือลำใหญ่ที่สุดในบรรดาเรือทุกลำที่ร่วมโครงการ
และติดอาวุธได้มากที่สุดในบรรดาเรือทุกลำที่ร่วมโครงการ
ที่ผู้เขียนกล้ายืนยันเพราะมีเหตุผลรับรอง
Arrowhead
140 ก็คือเรือฟริเกตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Iver
Huitfeldt ของเดนมาร์กนี่แหละ แต่นำมาใส่เรดาร์กับระบบอำนวยการรบของ
Thales ต่างจากเรือทุกลำซึ่งใช้ระบบของอังกฤษเป็นหลัก แต่ไม่มีปัญหาเพราะใน
RFI เปิดช่องทิ้งไว้ ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าจึงสามารถกดราคาให้อยู่ในวงเงิน?
เรามาชมทีเด็ดทีขาดของเรือกันดีกว่า นี่คือภาพถ่ายจากเรือชั้น Iver
Huitfeldt ของเดนมาร์ก จะเห็นได้ว่ากลางเรือมีแท่นยิง Mk-41 จำนวน 32 ท่อยิงสำหรับจรวดต่อสู้อากาศยาน SM-2
ขนาบข้างด้วยแท่นยิง Mk-56 จำนวน 24 ท่อยิง ซึ่งในภาพใส่จรวด ESSM ไว้เพียงสองนัด
(ที่มีฝาปิดสีแดง) และใส่จรวดต่อสู้เรือรบ Harpoon ได้อีก 8
นัด เท่ากับว่าเรือสามารถติดจรวดได้มากสุดถึง 64 นัด โดยมีเครนขนาดใหญ่ของ Heila Crane สำหรับติดตั้งจรวดในท่อยิงแนวดิ่ง
เดนมาร์กเคยทำแบบนี้กับเรือรบหลายลำ
พวกเขาเรียกว่า STANFLEX หรือ
Standard Flex นี่คือการตบหน้าแบบเรืออังกฤษกลางตลาด
เพราะเดนมาร์กทำได้ดีกว่า ง่ายกว่า ประหยัดกว่า และทำงานจริงได้ดีกว่าเพราะมีประสบการณ์มากกว่า
แท่นยิง
Mk-56 จะฝังลึกใต้ดาดฟ้า 1.9 เมตร
มีท่อระบายความร้อนตรงกลาง ขนาบด้วยท่อจรวด ESSM จำนวน 12
นัด เทียบกับแท่นยิง Mk-41 จะใหญ่กว่ากันเกือบเท่าตัว
แต่ใส่จรวดได้น้อยกว่าเพราะแท่นยิง Mk-41 ใส่จรวด ESSM
แบบ 4 นัดต่อ 1 ท่อ โดยมีข้อดีก็คือราคาถูกกว่า
ใช้พื้นที่ใต้ดาดฟ้าเรือน้อยกว่า และในกรณีเกิดปัญหาท่อยิงเสียหาย 2 ท่อ ยังคงเหลือจรวดให้ใช้งานอีก 10 นัดแบบสบายๆ
ส่วนแท่นยิง Mk-41 ถ้าเกิดเสียหาย 2 ท่อยิง
จรวด ESSM จะหายไปทันทีถึง 8 นัด
แรกสุดเมื่อผู้เขียนเห็นแบบเรือ
Arrowhead
140 พลันอุทานออกมาเสียงดังว่าบิงโก
เพราะมองไม่ออกเลยว่าเรือลำไหนจะเอาชนะได้ ไม่ว่าขนาดตัวเรือหรือการติดตั้งอาวุธบนเรือ
วงเล็บต่อท้ายว่าถ้าสามารถทำได้จริงๆ นะ
Meko A200
หลังจากได้เห็นแบบเรือครบทุกลำ
เริ่มเข้าสู่การแข่งขันอย่างจริงๆ จังเสียที ต้นปี 2018 รัฐบาลอังกฤษเชื้อเชิญให้ทุกๆ บริษัท ส่งแบบเรือเข้าร่วมชิงชัยโครงการ Type31e
Frigete อย่างเป็นทางการ ปรากฏว่า BMT Defence Services กับ Steller Systems ไม่มาตามนัด ปล่อยให้ BAE
System เสนอแบบเรือ Leander และ Babcock International (มี BMT เข้าร่วมด้วย)
เสนอแบบเรือ Arrowhead 140
เพียงสองบริษัท รัฐบาลอังกฤษเห็นท่าไม่ดีประกาศยุติการแข่งขันชั่วคราว
เรื่องของเรื่องก็คือมีแบบเรือน้อยเกินไป
พวกเขาอยากได้อย่างน้อย 3 แต่ดันมาแค่ 2 เกรงว่าจะเป็นมวยล้มต้มคนดูต้องรีบถอยฉาก
หลังจากดองเค็มได้ไม่กี่เดือนจึงเริ่มสตาร์ทโครงการใหม่ พร้อมกับเชิญชวนไปยังบริษัทอื่นๆ
ให้เข้าร่วมชิงชัย แล้วในที่สุดพวกเขาก็ได้เหยื่อรายใหม่ บริษัท Thyssenkrupp
Marine Systems จากเยอรมันจับมือกับ Atlas Elektronik UK จากอังกฤษ เสนอแบบเรือ Meko A200 เข้าร่วมชิงชัยโครงการนี้ด้วย
ครั้นถึงต้นปี 2019 รัฐบาลอังกฤษประกาศ 3 บริษัทเข้ารอบสุดท้าย พร้อมกับเริ่มให้คะแนนแบบเรือทั้ง 3 ลำไปตามขั้นตอนของตัวเอง
Meko
A200 เป็นแบบเรือที่ดีมากในยุคปัจจุบัน
มีใช้งานในกองทัพเรือแอฟริกาใต้กับอัลจีเรีย เรือมีระวางขับน้ำ 3,700 ตัน ยาว 121 เมตร กว้าง 16.34
เมตร กินน้ำลึก 4.9 เมตร นี่คือเรือรบรุ่น Full
Stealth ตัวจริงเสียงจริง วิศวกรออกแบบกราบเรือให้เป็นรูปตัว X
ทำให้คลื่นเรดาร์ที่วิ่งเข้ามาปะทะตกลงสู่ทะเล เพียงแต่ผู้เขียนหาแบบเรือในโครงการนี้ไม่ได้เลย
ในเมื่อหาไม่ได้คงต้องคาดเดากันไป
เนื่องจากเรือสามารถใส่แท่นยิงแนวดิ่งได้ถึง 32 ท่อยิง ฉะนั้นกลางเรือซึ่งเป็นจุดติดตั้งจรวดต่อสู้เรือรบ
อาจใช้ติดตั้งเรือยางท้องแข็ง RHIB อีก 2 ลำรวมเป็น 4 ลำ ท้ายเรือมีระบบ Water Jet ช่วยเพิ่มความเร็ว เวอร์ชันอังกฤษน่าจะตัดออกไปเพราะไม่จำเป็น แต่ถึงไม่ตัดก็ยังมีพื้นที่ใส่โซนาร์ลากท้าย
Towed Array Sonar ได้อยู่ดี
อาจใช้เรดาร์กับระบบอำนวยการรบจากสวีเดนเหมือนเรืออัลจีเรีย
บอกอีกครั้งนะครับว่าเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น
The Winner
ปลายปี 2019 รัฐบาลอังกฤษออกมาประกาศว่า แบบเรือ Arrowhead
140 ได้รับการคัดเลือกในโครงการ Type 31e General Purpose Frigate ทำให้ BAE System ต้องแพ้คาบ้านยับเยินเป็นครั้งแรก ทำให้
Babcock International ได้โครงการใหญ่ครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
และทำให้ลูกประดู่อังกฤษได้ใช้ระบบ Thales ครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน
แต่การเข้าประจำการต้องล่าช้าออกไปถึง 4 ปี เรือฟริเกต Type
31e ลำแรกเข้าประจำการปี 2027 เลือนออกมาจากปี 2023
ไล่จากหัวเรือไปท้ายเรือ
ปืนใหญ่ Bofors
Mk3 ขนาด 57 มม.อัตรายิง
220 นัดต่อนาที ต่อด้วยปืนกล Bofors Mk4 ขนาด 40 มม.อัตรายิง 300
นัดต่อนาที กลางเรือมีแท่นยิงจรวดต่อสู้อากาศยาน Sea Captor จำนวน 12 ท่อยิง มีปืนกล 7.62 มม. 6 ลำกล้องรวบอีก 4 กระบอก
และปืนกล Bofors Mk4 ขนาด 40 มม.บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ระบบอำนวยการรบ Thales Tacticos เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Thales
NS-100 ใช้ออปทรอนิกส์ควบคุมการยิง Thales Mirador จำนวน 2 ตัว
นอกจากนี้ยังมีเรดาร์เดินเรือ
3
ตัว มี datalink กับจรวด Sea Captor อีก 2 จุด มีระบบสื่อสารกับระบบสงครามอิเลคทรอนิกส์มาตรฐานอังกฤษ
ส่วนโซนาร์หัวเรือไม่แน่ใจว่าติดตั้งหรือเปล่า เรือฟริเกต Type 31e ไม่มีตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำก็จริง (ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นไปจัดการบนฟากฟ้า)
แต่การติดโซนาร์หัวเรือมีจุดประสงค์สำคัญก็คือ สามารถใช้ระบบเป้าลวงตอร์ปิโดได้อย่างสมบรูณ์แบบ
อาจใช้โซนาร์รุ่นอื่นซึ่งไม่ใช่ของ Thales ก็ได้ (เรือพิฆาต Type
45 เคยทำมาแล้ว)
ชมภาพโมเดลเรือที่นำมาจัดแสดงกันบ้าง
หัวเรือนอกจากปืนใหญ่ 57 มม.กับปืนกล
40 มม.แล้ว ยังมีระบบเป้าลวงจรวดแบบปล่อยลงน้ำ (ล่าง)
กับระบบเป้าลวงจรวดแบบปล่อยขึ้นอากาศ (บน) ท้ายเรือก็มีระบบเป้าลวงตอร์ปิโด ติดอยู่ใกล้ๆ ปืนกล 40 มม.นั่นแหละครับ
เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเรือมีที่ว่างค่อนข้างมาก
สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมในอนาคตได้อย่างสบาย
มีอีกหนึ่งจุดที่อังกฤษก็คืออังกฤษ
ทั้งที่แบบเรือมาจากเดนมาร์กทั้งลำก็ตาม พี่แกยังอุตส่าห์ดัดแปลงจุดผูกเชือกฝั่งท้ายเรือ
ให้เป็นช่องว่างลึกลงไปจากลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เรือเดนมาร์กตีปิดทั้งหมดแล้วใช้วิธีโยนเชือกลอดช่องเล็กๆ
ออกมา แต่อังกฤษไม่ชอบบอกว่ามันยากเกินไป ฉันชอบเผชิญแดดฝนมากกว่านะคุณเธอ
เรือฟริเกต Type 26 รวมทั้งเรือหลวงกระบี่ใช้จุดผูกเรือแบบนี้เช่นกัน
คาดว่าเรือจริงน่าจะมีราวกันตกกั้นด้านในด้วย ไม่อย่างนั้นได้มีหัวร้างข้างแตกกันบ้างล่ะ
มาถึงอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้เขียนอยากเน้นเล็กน้อย
ปรกติเรือรบอังกฤษจะติดปืนใหญ่ขนาด 4.5 นิ้วของตัวเอง
โชคร้ายที่ปืนถูกจำหน่ายออกจากสาระบบ เรือฟริเกต Type 26 จึงหันมาใช้งานปืนใหญ่
5 นิ้วที่ตัวเองเป็นเป็นเจ้าของ ส่วนเรือฟริเกต Type
31e หันมาใช้งานปืนใหญ่ 57 มม.ที่ตัวเองเป็นเจ้าของเช่นกัน นอกจากนี้ยังเป็นเรือลำแรกที่ติดปืนกล 40
มม. ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ เป็นการทดแทนปืนกล DS-30MR
ขนาด 30 มม.ที่ตัวเองเป็นเจ้าของเช่นกัน
ผู้เขียนเคยบอกเมื่อต้นปีที่แล้วว่า
‘ปืนกล 40 มม.กำลังจะกลับมา’
ตอนนี้มีหลายชาติหันกลับมาสนใจอย่างจริงจัง เพราะมีระยะยิงหวังผลไกลกว่าปืนกล 25
มม.สองเท่าตัว
และมีประสิทธิภาพในการทำลายล้างดีกว่าปืนกล 30 มม.พอสมควร นอกจากนี้ทั้งปืนใหญ่ 57 มม.กับปืนกล 40 มม.ยังมีระบบ Programmable
3P ammunition ให้เลือกใช้งาน
3P
ammunition คืออะไร? คือการตั้งวิธีจุดชนวนกระสุนปืนแต่ละนัด
ให้เหมาะสมกับเป้าหมายที่ต้องการทำลายอย่างสะดวกรวดเร็ว
สามารถเลือกวิธีตั้งชนวนได้ถึง 6 แบบด้วยกัน
ตั้งแต่ใช้ยิงจรวดต่อสู้เรือรบ ยิงเครื่องบิน ยิงเฮลิคอปเตอร์ ยิงเรือลำใหญ่
ยิงเรือยางลำเล็ก รวมทั้งยิงยานหุ้มเกราะบนชายฝั่งโน่น กระสุนปืน 40 มม.หนัก 2.5 กิโลกรัม
ส่วนกระสุนปืน 57 มม.หนัก 6.1 กิโลกรัม อยู่ในความดูแลของ BAE System เป็นเรื่องง่ายในการจัดหามาใช้งานหรือพัฒนาเพิ่มเติม
วิธีการตั้งชวนกระสุนปืนทำได้อย่างง่ายดาย
เริ่มจากตรวจจับเป้าหมายด้วยเรดาร์ควบคุมการยิง วัดระยะให้ชัดเจนด้วยระบบเลเซอร์
จากนั้นพลยิงตั้งชนวนกระสุน 3P ด้วยการกดปุ่ม แล้ว Fire
Control Computer จะสั่งให้อุปกรณ์จัดการโดยอัตโนมัติ (มีอุปกรณ์ยื่นมาจัดการตั้งชนวนที่หัวกระสุน
โดยต้องเป็นกระสุน 3P เท่านั้นถึงจะทำแบบนี้ได้) เมื่อยิงเฮลิคอปเตอร์ร่วงแล้วผู้อ่านอยากยิงเรือหางยาวต่อ
ผู้อ่านก็แค่กดปุ่มเลือกให้ระบบช่วยทำการเปลี่ยนให้
ด้วยกระสุน 3P ทำให้ปืนกล Bofors 40 mm. Mk4 ทันสมัยกว่า DS-30MR ซึ่งมีแค่กระสุนเจาะเกราะกับแตกอากาศ 2 กล่อง ด้วยกระสุน 3P ทำให้ปืนกล Bofors 40 mm. Mk4 กลายเป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS ตามคำนิยามราชนาวีอังกฤษ เพราะฉะนั้นถ้าราชนาวีไทยอยากซื้อ Bofors 40 mm. Mk4 มาใช้งานบนเรือหลวงปัตตานี ต้องเอาProgrammable 3P ammunition และกระสุน 3P มาด้วยนะครับ ถ้ามาแค่ปืนเปล่าๆ ใช้ DS-30MR เหมือนเดิมต่อเถอะ
ด้วยกระสุน 3P ทำให้ปืนกล Bofors 40 mm. Mk4 ทันสมัยกว่า DS-30MR ซึ่งมีแค่กระสุนเจาะเกราะกับแตกอากาศ 2 กล่อง ด้วยกระสุน 3P ทำให้ปืนกล Bofors 40 mm. Mk4 กลายเป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิดหรือ CIWS ตามคำนิยามราชนาวีอังกฤษ เพราะฉะนั้นถ้าราชนาวีไทยอยากซื้อ Bofors 40 mm. Mk4 มาใช้งานบนเรือหลวงปัตตานี ต้องเอาProgrammable 3P ammunition และกระสุน 3P มาด้วยนะครับ ถ้ามาแค่ปืนเปล่าๆ ใช้ DS-30MR เหมือนเดิมต่อเถอะ
มีอยู่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลอังกฤษระบุไว้ก็คือ
เรือฟริเกต Type 31e ต้องส่งออกไปขายตลาดโลกได้ด้วยนะ
Babcock International
จึงมีเวอร์ชันส่งออกตามรายการคุณขอมา เรือถูกทาสีลายพรางดูสวยงามและทันสมัย
เปลี่ยนมาติดปืนใหญ่ขนาด 5 นิ้วของอิตาลี แล้วใส่จรวด RAM
รุ่น 21 ท่อยิงหน้าสะพานเดินเรือ
ใช้เรดาร์ควบคุมการยิงThales STIR 1.2 EO Mk2 กลางเรือมีแท่นยิงแนวดิ่ง MK-41 จำนวน 32 ท่อยิง กับจรวดต่อสู้เรือรบ Naval Strike อีก 8
นัด ท้ายเรือมีปืนกล Bofors 40 mm. Mk4 กับ STIR 1.2 EO Mk2 ตัวที่สอง
นอกจากนี้ยังเหลือที่ว่างบนเรืออีกพะเรอเกวียน
แบบเรือน่าสนใจมาก…อยู่ที่ว่าราคาเท่าไร ถ้าใส่อาวุธเหมือนเรือฟริเกตเกาหลีใต้แล้วราคาไม่ต่างกันเกินไป
ผู้เขียนอยากได้ลำนี้แทนโดยตั้งโครงการไปเลย 3 ลำรวด
แต่คงต้องรอให้โครงการเรือดำน้ำจีนเสร็จเสียก่อน
ไหนจะต้องสร้างท่าจอดพร้อมสนามฟุตบอล ต้องสร้างอู่ลอยไอ้โน่นไอ้นี่อีกมากมาย
อาจต้องรอคอยอีกประมาณ 7-8 ปีซึ่งผู้เขียนรอได้
แล้วในที่สุดบทความดองเค็มก็จบสิ้นลง
เรือฟริเกตสร้างในอังกฤษขนาด 5,800 ตันราคา 250
ล้านปอนด์ ติดตั้งอาวุธเท่านี้เหมาะสมกับราคาแล้ว
รัฐบาลเขาโหดมากที่กำหนดราคาไว้แบบนี้ แต่ยังเปิดช่องเรื่องระบบและอุปกรณ์ต่างๆ
บนเรือ ทำให้เจอทางออกที่วินวินด้วยกันทุกฝ่าย Thales เองก็เป็นของดีมีประสิทธิภาพไม่แพ้ใคร
วัดกันตัวต่อตัวดีกว่าของอังกฤษเองด้วยซ้ำไป บทความยาวๆ เรื่องนี้จึงได้จบลงแต่เพียงเท่านี้
ผู้เขียนขอกล่าวอำลากันตรงนี้สวัสดีรอบวงครับ J
-------------------------------------------------------
อ้างอิงจาก
รายงานเรื่อง : BOFORS 3P and System Concept
https://www.dailymail.co.uk/news/article-7455745/Royal-Navys-new-250-million-Arrowhead-140-warships.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น