อาวุธปืนจากอังกฤษมีบทบาทในกองทัพเรือไทยมาอย่างยาวนาน
เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 มีการสั่งซื้อปืนอาร์มสตรองขนาด 4.7 นิ้ว ระยะยิงไกลสุด 7,600 เมตร
และปืนใหญ่ฮอทชกีสขนาด 6 ปอนด์ ระยะยิงไกลสุด 4,000 เมตร มาใช้งานบนเรือพระที่นั่งมหาจักรี
นี่คือครั้งแรกที่กองทัพเรือมีปืนใหญ่แบบบรรจุท้ายหรือปืนยิงเร็ว
(Quick
Firing Gun) ใช้งาน
ถัดมาเพียง
3 ปีมีการสั่งซื้อปืนยิงเร็วอาร์มสตรองขนาด 4.7 นิ้ว (120 มม.) ปืนยิงเร็วฮอทชกีสขนาด 6 ปอนด์ (57 มม.) ขนาด 3 ปอนด์
(47 มม.) และขนาด 1 ปอนด์ (37 มม.) มาใช้งานบนเรืออีก 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือมกุฎราชกุมาร
เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ (ลำที่สอง) เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง
และนี่ก็คืออาวุธปืนมาตรฐานรุ่นแรกสุดแห่งราชนาวีสยาม ผู้เขียนขออนุญาตใช้คำว่า Common
Fleet ให้เห็นภาพอย่างชัดเจน
นับจากนั้นเป็นต้นมาลูกประดู่ไทยไม่เคยห่างหายจากปืนอังกฤษ
ผู้เขียนใช้เวลานั่งคิดนอนคิดอยู่ประมาณสามสี่วัน
ก่อนตัดสินใจขั้นเด็ดขาดแบบชายชาตินักรบหัวใจทระนงว่า
จะใช้เวลาว่างสร้างบทความเกี่ยวกับอาวุธปืนจากเมืองผู้ดีขึ้นมา รวบรวมข้อมูลอาวุธปืนที่ยังคงประจำการอยู่ในประเทศไทย
ส่วนอาวุธปืนที่เลิกใช้งานแล้วให้แล้วกันไปไม่เขียนถึงก็แล้วกัน
ก่อนเข้าสู่เนื้อหาขอแวะกลับมาที่เกาะอังกฤษอีกครั้ง
ภาพประกอบที่หนึ่งคือศูนย์ฝึกการใช้อาวุธปืนแห่งกองทัพเรืออังกฤษชื่อ HMS
Cambridge บริเวณชายฝั่งเมือง Plymouth
ถูกจัดตั้งขึ้นมาในปี 1956 เพื่อฝึกฝนการใช้งานอาวุธปืนทันสมัยให้กับกำลังพล
ต่อมาในปี 2001 กองทัพเรืออังกฤษมีคำสั่งปิดศูนย์ฝึกตลอดกาล สถานที่แห่งนี้จึงได้ร้างราผู้คนกลายเป็นพื้นที่รกร้าง
เหลือเพียงตำนานให้เล่าขานสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน
อาวุธปืนในภาพประกอบที่หนึ่งกองทัพเรือไทยมีใช้งานทุกกระบอก…ประกอบไปด้วย
ปืนใหญ่ 4.5
นิ้ว BAE Systems Mk.8 mod.0
นี่คือปืนใหญ่รุ่นใหม่ถูกพัฒนาขึ้นมาในยุค
70 แตกต่างจากปืนรุ่นเก่าที่มีขนาดใหญ่โตเทอะทะต้องใช้พื้นที่มหาศาล ภายหลังมีการปรับปรุงให้ล้ำสมัยกว่าเดิมในรุ่น
Mk.8 mod.1 โดยการออกแบบป้อมปืนใหม่เพื่อลดการตรวจจับด้วยเรดาร์
ปืนรุ่นนี้ใช้ลำกล้องปืนขนาด 4.5 นิ้วหรือ 114 มม. อัตรายิงเร็วสุด 25 นัดต่อนาที สามารถยิงถล่มเป้าหมายพื้นน้ำหรือชายฝั่งได้ไกลสุด
22 กิโลเมตร เคยออกรบยิงมาแล้วในสงครามฟอล์คแลนด์ระหว่างปี 1982 ดวลกับปืนใหญ่ลากจูงบนบกบ้าง
ยิงสกัดเครื่องบินโจมตี A-4 Skyhawk บ้าง
ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้างคละเคล้ากันไป เรือรบอังกฤษยิงถล่มชายฝั่งอย่างหนักจนปืนบางกระบอกชำรุดเสียหาย
Mk.8 mod.0 คือปืนหลักเรือฟริเกตและเรือพิฆาตราชนาวิอังกฤษทุกลำ
ยกเว้นแค่เพียงเรือฟริเกตชั้น Type22 สอง Batch แรกเท่านั้น กองทัพเรือไทยมีใช้งานเรือหลวงกุฎราชกุมารจำนวน 2 กระบอก เรือหลวงมกุฎราชกุมารทำพิธีปล่อยน้ำวันที่
18 พฤศจิกายน 1971 ก่อนที่เรือราคา 375 ล้านบาทจะเดินทางไกล 14,476 ไมล์กลับมายังประเทศไทย จากนั้นจึงทำพิธีเข้าประจำการในวันที่ 7
พฤษภาคม 1973 ต่อไป
ภาพประกอบที่สองเห็นปืนใหญ่
4.5
นิ้วท้ายเรืออย่างชัดเจน แต่แท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea
Cat โดดเด่นสะดุดตามากที่สุด เรือฟริเกตจากอังกฤษอายุ 49 ปี 6 เดือนต้องถือว่านานมาก ทว่าเรือหลวงมกุฎราชกุมารยังอยู่ในสถานะประจำการ
ฉะนั้นปืนใหญ่ 4.5 นิ้วทั้งสองกระบอกยังอยู่ในสถานะใช้งานเช่นเดียวกัน
ปืนกล 20 มม. Oerlikon GAM-BO1
ปืนกลขนาด
20
มม.ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกคือ Oerlikon
20 mm/70 จากสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษนำมาใช้งานระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองโดยใช้ชื่อว่า
20 mm/70 Mark I กับ Mark II
ปืนรุ่นนี้ถูกใช้งานอย่างยาวนานจนถึงยุค 80 บริษัท BMARC หรือ British Manufacture and Research Company ได้พัฒนาปืนกล
20 มม.รุ่นใหม่ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า GAM-BO1 อาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยจึงถูกใช้งานอย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 1985
GAM-BO1 ใช้ปืน Oerlikon 20 mm/85 KAA
ติดตั้งบนป้อมปืนพัฒนาขึ้นเอง อัตรายิงสูงสุด 1,000 นัดต่อนาที
ระยะยิงหวังผล 2 กิโลเมตรกับเรือผิวน้ำและ 1.5 กิโลเมตรกับอากาศยาน ป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงได้ 1 สาย มีกระสุนรวมทั้งสิ้น
200 นัด น้ำหนักรวมป้อมปืนบวกกระสุนเท่ากับ 182 กิโลกรัม
ยิงเร็วกว่า Oerlikon 20 mm/70 ประมาณ 50
เปอร์เซ็นต์ ยิงไกลกว่า Oerlikon 20 mm/70 ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ใช้กระสุน 20x128 มม.ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่
สร้างความเสียหายต่อเป้าหมายทุกประเภทได้กว่าเดิม
กองทัพเรือไทยเริ่มใช้งานปืนกล GAM-BO1 น่าจะระหว่างปี 1988-1989 โดยการติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC-461 ที่ได้รับโอนมาจากอเมริกา ภาพประกอบที่สามเรือหลวงสารสินธุติดปืนกล GAM-BO1 บริเวณกลางเรือจำนวน 1 กระบอก แล้วถอดเครนใหญ่ย้ายเรือเล็กบริเวณกลางเรือไปไว้ท้ายเรือ รวมทั้งถอดระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำทุกชนิดออกจากเรือเป็นการถาวร สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากกองทัพเรือเปลี่ยนแปลงภารกิจ จากเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำให้กลายมาเป็นเรือตรวจการณ์ปืน
ภาพเล็กมุมบนซ้ายคือพิธีรับมอบเรือการณ์ชายฝั่งชุดเรือ
ต.265 จำนวน 5 ลำในวันที่ 9 พฤษภาคม 2561
มีการติดตั้งปืนกล GAM-BO1
บริเวณหัวเรือใช้เป็นอาวุธหลัก โดยการนำปืนเก่าจากเรือปลดประจำการแล้วมาใช้งานใหม่
มีการซ่อมคืนสภาพปืนให้ดีดังเดิมด้วยงบประมาณไม่เกิน 4 ล้านบาท
ประหยัดกว่าซื้อปืนกล 20 มม. Denel GI-2ใหม่เอี่ยมจากแอฟริกาใต้กระบอกละ
13.5 ล้านมาใช้งาน (ราคาในตอนนั้น)
ปัจจุบันปืนกล
GAM-BO1 มีใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก หลายบริษัทผลิตชุดแต่งให้สามารถควบคุมปืนด้วยรีโมทคอนโทรลได้
โดยใช้ระบบออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงในการค้นหาและติดตามเป้าหมาย
เพียงแต่ว่าผู้เขียนยังไม่เคยเห็นชาติไหนซื้อไปใช้งานอย่างจริงจัง
มีเพียงอียิปต์ที่สั่งซื้อปืนกลอัตโนมัติ Oerlikon SeRanger จากบริษัท
Rhienmetall ของเยอรมัน (นำ GAM-BO1
มาปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิม) ไปใช้งานบนเรือตรวจการณ์ลำใหม่จากบริษัท Lurssen ของเยอรมันจำนวนไม่กี่กระบอก
บางทีอาจเป็นเพราะปืนกลอัตโนมัติขนาด
30
มม.กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก เหตุผลก็คือยิงได้ไกลกว่า
ทำลายเป้าหมายได้ดีกว่า มีความคุ้มค่ามากกว่า และเหมาะสมกับภัยคุกคามใหม่อย่างเรือเร็วพลีชีพมากกว่า
แม้อัตรายิงไม่สูงเทียบเท่าปืนกลขนาด 20 มม. ทว่าสถานการณ์ในปัจจุบันอัตรายิงอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป
ปืนกล 30
มม. ลำกล้องแฝด GCM-AO3-2
หลังสงครามโลกครั้งที่สองราชนาวีอังกฤษมีปืนกลต่อสู้อากาศยาน
2
รุ่น ประกอบไปด้วย Oerlikon 20 mm/70 Mark II
กับ Bofors 40 mm L/60 ที่มาพร้อมเรดาร์ควบคุมการยิงรุ่นเก่า
ปืนกลขนาด 40 มม.ยิงได้ไกลกว่าย่อมมีความสำคัญมากกว่า
จึงได้มีการพัฒนาอาวุธปืนรุ่นใหม่มาใช้งานทดแทนต่อไป
ความพยายามครั้งที่หนึ่งคือการพัฒนาปืนกล
Bofors
40 mm L/70 ใช้ป้อมปืนแบบเต็มมาพร้อมระบบป้อนกระสุนอัตโนมัติ
แต่แล้วในปี 1960 โครงการนี้ได้ถูกยกเลิกเพราะความพยายามครั้งที่สอง
กองทัพเรืออังกฤษตัดสินใจเลือก Sea Cat GWS-20 ใช้งานทดแทน Bofors
40 mm L/60 บนเรือรบ
อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
Sea
Cat ถูกพัฒนาจากอาวุธปล่อยนำวิถีโจมตีรถถัง Malkara ของออสเตรเลีย ระยะยิงไกลสุด 5 กิโลเมตรใช้ระบบนำวิถีคลื่นวิทยุ
แท่นยิงขนาด 4 ขนาดกะทัดรัดนัดน้ำหนักเบา ใช้เรดาร์ควบคุมการได้หลากหลายรวมทั้งจากประเทศอื่น
ส่งผลให้ Sea Cat ฮอทอฮิตติดลมบนขายดิบขายดีทั่วโลก เรือหลวงมกุฎราชกุมารมีใช้งานเช่นกันบริเวณกลางเรือก่อนถึงปืนใหญ่
4.5 นิ้วกระบอกท้าย
Sea
Cat อาจมีคุณสมบัติโดดเด่นทว่าแอบมีจุดอ่อนสำคัญ เพราะไม่สามารถทำหน้าที่ทดแทนปืนกลได้อย่างครบถ้วน
เรือตรวจการณ์ก็ดี เรือยกพลขึ้นบกก็ดี เรือกวาดทุ่นระเบิดก็ดี นำ Sea Cat มาใช้งานทดแทน Bofors 40 mm L/60 ไม่ได้ ส่งผลให้อังกฤษจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องพัฒนาอาวุธปืนรุ่นใหม่
ครั้งนี้พวกเขาหันมาให้ความสนใจปืนกลขนาด 30 มม.จากสวิตเซอร์แลนด์
โครงการใหม่คือการจับมือกันอีกครั้งระหว่าง
Oerlikon
กับ BMARC โดยการนำปืน Oerlikon 30 mm/75 KCB จำนวน 2 กระบอก แต่ละกระบอกอัตรายิงสูงสุด
650 นัดต่อนาที อัตรายิงสูงสุดรวมจึงเท่ากับ 1,300 นัดต่อนาที มาติดตั้งบนแท่นยิงรุ่นใหม่ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า มีที่นั่งพลยิงฝั่งขวาป้อมปืนพร้อมระบบควบคุมการทรงตัว
ใช้ระบบป้อนกระสุนอัตโนมัติมีกล่องกระสุนขนาด 125 นัดจำนวน 2
กล่อง เท่ากับว่าปืนมีกระสุนขนาด 30 มม.พร้อมยิงจำนวน 250 นัด
อาวุธทันสมัยถูกพัฒนาขึ้นมาจำนวนสามรุ่นประกอบไปด้วย
1.GCM-AO3-1 คือปืนรุ่นต้นแบบ ที่นั่งพลยิงถูกปกคลุมด้วยกระจกกับหลังคาป้องกันแดดลมฝน
โชคร้ายปืนรุ่นนี้ไม่มีการสร้างจริงเพราะมีราคาสูงเกินไป
2.GCM-AO3-2 ถูกใช้งานจริงบนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Type 22 จำนวน 2 กระบอก ทำงานร่วมกับปืนกล 20 มม.Oerlikon
20 mm/70 อีก 2 กระบอก
(หลังปี 1985 ได้ถูกแทนที่ด้วย GAM-BO1)
โดยไม่มีปืนใหญ่ 4.5 นิ้วที่หัวเรือตามปรกติ เพราะถูกติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
MM38 Exocet จำนวน 4 ท่อยิงในตำแหน่งปืนหลัก
ปืนกล GCM-AO3-2 จึงเป็นที่พึ่งหลักหากมีเครื่องบินเล็ดลอดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
Seawolf เข้ามา
3.GCM-AO3-3 ใช้กล่องกระสุนแบบยาวบรรจุกระสุนมากถึง 160 นัดจำนวน
2 กล่อง มีใช้งานจำนวนไม่มากอาทิเช่น
บนเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Waspada กองทัพเรือบรูไนจำนวน
3 ลำ
อัตรายิงสูงสุด
1,300
นัดกับกระสุนขนาด 30 มม.
250 นัดของ GCM-AO3-2
เคยดวลเดี่ยวกับเครื่องบินโจมตี A-4 Skyhawk
และเครื่องบินขับไล่ Dagger กองทัพอากาศอาเจนตินามาแล้ว
ปรากฏว่าไม่มีใครกินใครลงเสมอกันไปศูนย์ต่อศูนย์ เรือฟริเกต Type 22 ถูกยิงก็จริงทว่าเสียหายเพียงเล็กน้อย A-4 Skyhawk กับ Dagger หลบกระสุนปืนจาก GCM-AO3-2 สำเร็จ โชคร้ายบินไปเจอ Sea Harrier ตามมาเก็บดาบสองก็เลยไม่ได้กลับบ้าน
ว่ากันตามตรง
GCM-AO3-2 สมควรขายดิบขายดีใกล้เคียง GAM-BO1 บังเอิญสงครามฟอล์คแลนด์ผลาญงบประมาณกระทรวงกลาโหมอังกฤษอย่างมหาศาล
รวมทั้งกองเรือทั้งกองมีจุดอ่อนใหญ่โตต้องเร่งแก้ไขทันทีทันควัน เรือฟริเกต
Type 22 ตั้งแต่ Batch 2
เป็นต้นไปจึงได้ใช้งาน GCM-AO3-2 บ้างไม่ได้ใช้บ้าง
ส่วนเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศชั้น Type 42 ที่วางแผนการไล่ติดตั้งให้ครบทุกลำ
ถูกยกเลิกโครงการแล้วหันมาจัดหาระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx CIWS จากอเมริกาไว้ป้องกันตัว
ด้วยเหตุผลต่างๆ
นานา ทำให้ผู้คนทั่วโลกแทบจำหน้าตา GCM-AO3-2 ไม่ได้ด้วยซ้ำ
สำหรับประเทศไทยมีปืนกล
30
มม.GCM-AO3-2 ใช้งานจำนวน 2 กระบอก กระบอกแรกบนเรือตรวจการณ์หมายเลข 1804 หรือเรือศรีนรินทร์กองบังคับการตำรวจน้ำ
ภาพประกอบที่สี่มองเห็นปืน Oerlikon 30 mm/75 KCB จำนวน 2 กระบอกอย่างชัดเจน
สังเกตนะครับว่าปลอกลดแสงที่ปลายปืนค่อนข้างยาว
ภาพประกอบที่ห้าปืนกล
GCM-AO3-2 กระบอกที่สองถูกติดตั้งบนเรือตรวจการณ์หมายเลข 1803 หรือเรือลพบุรีราเมศวร์กองบังคับการตำรวจน้ำ หัวเรือใช้ราวกับตกแบบทืบค่อยๆ
เล็กลงมาจนเป็นแบบโปร่ง แตกต่างจากเรือศรีนรินทร์ใช้ราวกันตกแบบโปร่งจอดอยู่ฝั่งขวามือในภาพถ่าย
ส่วนเรือลำกลางมองเห็นบั้นท้ายกลางเต็นท์แบบเต็มพื้นที่นั้นคือ เรือตรวจการณ์หมายเลข
1802 หรือเรือดำรงราชานุภาพฝาแฝดเรือลพบุรีราเมศวร์
เรือดำรงราชานุภาพไม่มีปืนกล
GCM-AO3-2 เพราะถูกติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/50 มม.ที่หัวเรือ
สังเกตนะครับว่า
GCM-AO3-2 มีฝาครอบสายกระสุนแบบเต็ม จุดป้อนกระสุนเยื้องมาทางกลางปืน
ท้ายปืนมีฝาครอบปิดอุปกรณ์ทั้งหมดอย่างมิดชิด โดยมีกล่องกระสุนขนาด 125 นัดจำนวน 2 กล่องประกบซ้ายขวา
ทั้งนี้เนื่องมาจากปืนกล
30
มม.อัตโนมัติ Mauser Mk.30
mod.F บนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงเรือหลวงคำรณสินธุทั้ง
3 ลำ ปลดประจำการหมดแล้วถูกแทนที่ด้วยปืนกลรุ่นใหม่จากอังกฤษแล้ว
ส่งผลให้แชมป์ปืนกลยิงเร็วแห่งประเทศไทยเป็นของกองบังคับการตำรวจน้ำ อัตรายิง 1,300
นัดต่อนาทีของ GCM-AO3-2
ชนะปืนกลทุกรุ่นของกองทัพเรือด้วยคะแนนเอกฉันท์
โชคดีแชมป์ยิงเร็วแห่งประเทศไทยยังเป็นของลูกประดู่
ไม่มีใครเอาชนะระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx บนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชสำเร็จ (4,500 นัดต่อนาทีไม่ใช่ได้มาเพราะจับฉลากหรือโชคช่วย)
ปืนกล 30
มม. MSI DS30B Mark 1
เนื่องจากปืนกล
30 มม. GCM-AO3-2 ราคาค่อนข้างสูงแต่ความนิยมค่อนข้างต่ำ
ขนาดกะทัดรัดก็จริงแต่มีน้ำหนักรวมถึง 2,150 กิโลกรัม
กองทัพเรืออังกฤษยังคงต้องการปืนกล 30 มม.ราคาประหยัดน้ำหนักเบา นำมาใช้งานบนเรือตรวจการณ์ เรือยกพลขึ้นบก
และเรือกวาดทุ่นระเบิด จึงส่งไม้ต่อให้บริษัท MSI-Defence Systems LTD นำ GCM-AO3-2 มาปรับปรุงใหม่ให้ตรงตามความต้องการ
MSI
ลดจำนวนปืน 30 มม.เหลือเพียงกระบอกเดียว
น้ำหนักรวมแค่ 1,200 กิโลกรัม
ปรับปรุงโน่นนั่นนี่เล็กน้อยก่อนตั้งชื่อใหม่ว่า LS-30B เมื่อปืนได้รับความนิยมจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อ DS30B Mark 1 ด้วยอัตรายิง 650 นัดต่อนาทีพร้อมกระสุน 1 กล่อง 160 นัด มากเพียงพอที่จะป้องกันตนเองจากภัยคุกคามได้ในระดับหนึ่ง
DS30B
Mark 1 ถูกติดตั้งบนเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำ Type 23 และเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศ Type 45 เวอร์ชันกองทัพเรืออังกฤษทำงานร่วมกับออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง
เวอร์ชันเรือฟริเกตมาเลเซียกับเรือคอร์เวตบรูไนไม่ใช้ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง
เพราะเป็นออปชันเสริมขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าต้องการหรือไม่ (โดยคิดเงินเพิ่ม)
กองทัพเรือไทยมี
DS30B
Mark 1 ใช้งานจำนวน 2 กระบอก บนเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้นเรือหลวงลาดหญ้าที่ซื้อมาจากอิตาลี
ชมภาพประกอบที่หกแล้วเล่นเกมจับผิดไปพร้อมกัน ภาพซ้ายมือคือช่วงแรกที่เรือทั้งสองลำเพิ่งเข้าประจำการ
DS30B ยังคงใช้ปืน Oerlikon 30 mm/75 KCB ตามปรกติ ปลอกลดแสงที่ปลายปืนค่อนข้างยาว
มีฝาครอบสายกระสุนแบบเต็ม จุดป้อนกระสุนเยื้องมาทางกลางปืน ท้ายปืนมีฝาครอบปิดอุปกรณ์ทั้งหมดอย่างมิดชิด
โดยมีกล่องกระสุนขนาด 160 นัดจำนวน 1 กล่องที่ฝั่งซ้ายป้อมปืน
ภาพขวามือคือช่วงที่เรือเข้าประจำการหลายปีแล้ว
มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับลำกล้องปืนอย่างชัดเจน ปืน Oerlikon
30 mm/75 KCB
ถูกแทนที่ด้วย Mark 44 Bushmaster II จากบริษัท Northrop
อเมริกา เป็นปืนกลอเนกประสงค์ใช้งานบนรถหุ้มเกราะชนิดต่างๆ
อัตรายิงสูงสุดลดลงมาเหลือเพียง 200 นัดต่อนาที
Mark
44 Bushmaster II ใช้ปลอกลดแสงค่อนข้างสั้น
กระบอกปืนเรียวแหลมกว่ากันเล็กน้อย ไม่มีฝาครอบสายกระสุนแบบเต็ม
ท้ายปืนถูกเปิดโล่งมองเห็นชิ้นส่วนต่างๆ ชัดเจน เพราะ Mark 44 Bushmaster
II มีจุดป้อนกระสุนเยื้องมาทางท้ายปืน
(เห็นอุปกรณ์สี่เหลี่ยมคล้ายช่องใส่กระสุนเหนือหมวกพลยิงกันบ้างไหมครับ)
แต่มีข้อดึสามารถป้อนกระสุนใส่รังเพลิงได้สองสายฝั่งซ้ายฝั่งขวา
จำนวนกระสุนปืนก็เลยเพิ่มขึ้นมาสองเท่าตัวไปด้วย
เนื่องจาก
DS30B
Mark 1 มีที่นังพลยิงฝั่งขวามือป้อมปืน จึงไม่สามารถเพิ่มกระสุนกล่องที่สองจำนวน
160 นัด
ปืนกล 30
มม. MSI DS30M Mark 2
เมื่อทุกคนบนโลกก้าวผ่าน
Y2K
หรือปี 2000 เป็นที่เรียบร้อย ภัยคุกคามที่มีต่อเรือเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลาเช่นกัน
การโจมตีอย่างห้าวหาญและบ้าบิ่นจากเครื่องบินโจมตี A-4 Skyhawk ไม่มีอีกต่อไป อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบบินเรี่ยน้ำถูกส่งเข้ามาทำหน้าที่แทน
รวมทั้งเกิดภัยคุกคามจากเรือยางท้องแข็งขนาดเล็กติดระเบิดขนาดใหญ่
ลักลอบเข้ามาสร้างความเสียหายต่อเรือรบรุ่นใหม่ทันสมัยติดอาวุธล้นลำ
บริษัท
MSI
พัฒนา DS30B Mark 1 ให้เหมาะสมกับภัยคุกคามใหม่
โดยการเปลี่ยนมาใช้ปืนกล Mark 44 Bushmaster II จากบริษัท Northrop อัตรายิงสูงสุด 200 นัดต่อนาทีเหมือนเรือหลวงลาดหญ้าเพราะเราทำตามเขา ใช้ระบบควบคุมการยิงผ่านระบบอำนวยการรบได้
หรือจะติดตั้งออปโทรนิกส์ควบคุมการยิงบนป้อมปืนก็ทำได้
ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะติดที่นั่งพลยิงเผื่อเหลือเผื่อขาดในยามฉุกเฉิน
หรือเพิ่มกล่องกระสุนขนาด 30 มม.อีก 1
หนึ่งกล่อง 200 นัด ส่งผลให้ยอดรวมกระสุนทั้งหมดอยู่ที่
400 นัด เสร็จเรียบร้อยจึงตั้งชื่อใหม่ว่า DS30M Mark
2 ต่อมาในภายหลัง MSI ตั้งชื่อใหม่อีกครั้งหวังผลทางการค้าว่า
SeaHawk รุ่นโน้นรุ่นนั้นรุ่นนี้ บังเอิญลูกค้าทั่วโลกรวมทั้ง
The Royal Navy ยังคงเรียกชื่อ DS30M Mark 2 เหมือนเดิมต่อไป
ปืนกล Mark 44 Bushmaster II อัตรายิงน้อยลงแบบฮวบฮาบก็จริง แต่มีข้อดีเรื่องความแข็งแรงทนทาน ซ่อมบำรุงง่าย ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีอายุใช้งานมากกว่าปืนกล 30 มม.รุ่นเก่า มีความเหมาะสมกับการไล่ยิงเรือยางท้องแข็งติดระเบิด เข้ามาเติมเต็มช่องโหว่ที่ในอดีตเรือรบอเมริกาพลาดเคยท่าเสียทีมาก่อน
กองทัพเรือไทยใช้งานปืนกลอัตโนมัติ
DS30M
Mark 2 จำนวนมาก เป็นอาวุธปืนมาตรฐานรุ่นล่าสุดแห่งราชนาวีสยาม
ปืนกระบอกแรกถูกตั้งบนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.991 เมื่อ 15
ปีที่แล้ว (เวลาเดินทางผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน)
ปืนกระบอกสองตั้งบนเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่ง ต.991 เช่นเดียวกันแต่เป็นปืนท้าย
เรือตรวจการณ์ยาว 38 เมตรติดปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.สองกระบอกพี่จะโหดไปถึงไหนครับ
ภาพประกอบที่เจ็ดคือ
DS30M
Mark 2 หน้าสะพานเดินเรือเรือ ต.991
มองเห็นกล่องกระสุนปืนจำนวน 2 กล่อง 400 นัดประกบซ้ายขวา สายกระสุนแบบเปลือย 2 สายพาดไปยังช่องใส่กระสุนใกล้ท้ายปืนแบบเปลือย
รอบป้อมปืนติดตั้งที่ยืนพลยิงยกสูงจากพื้นประมาณหนึ่งฟุต เพื่อให้ทหารเรือไทยกระดกป้อมปืนหนัก
1.2 ตันขึ้น-ลง-ซ้าย-ขวาได้ดีกว่าเดิม ทว่าการเล็งเป้าหมายจะไม่มีอุปกรณ์เสริมเหมือนดั่ง DS30B
Mark 1
ฉะนั้นการยิงปืนกล
DS30M
Mark 2 ด้วยมือเปล่า ความน่าจะเป็นที่จะถูกเป้าหมายแทบเป็นไปไม่ได้
ภาพรวมผู้เขียนคิดว่า
DS30M
Mark 2 เหมาะสมกับกองทัพเรือมากที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนต้องเข้าใจประสิทธิภาพอาวุธปืนให้กระจ่างชัดเจนเสียก่อน
การยิงสกัดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบด้วยกระสุนปืน
สามารถทำได้เพียง 2 วิธีประกอบไปด้วย
1.ใช้อัตรายิงมากกว่า 4,500 นัดต่อนาที ยิงกระสุนเป็นสายออกไปสกัดกั้นเหมือนดั่ง
Phalanx
2.ใช้กระสุนฉลาดที่สามารถจัดการเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
โดยมีอุปกรณ์ตั้งชนวนแตกอากาศด้วยระบบคอมพิวเตอร์ติดอยู่ที่ปลอกลดแสงเหมือนดั่ง Milliennium
Gun
เท่ากับว่า
DS30M
Mark 2 ไม่สามารถทำได้ทั้งสองวิธีการ DS30B Mark 1 ที่มีอัตรายิง 650 นัดต่อนาทีก็ทำไม่ได้เช่นกัน อยากให้
DS30M Mark 2 ยิงกระสุนแตกอากาศตั้งค่าด้วยคอมพิวเตอร์ได้
ต้องเปลี่ยนมาใช้ปืน KCE30/ABM จากบริษัท Rheinmetall ของเยอรมันเท่านั้น เปลี่ยนเสร็จแล้วเราค่อยปรับปรุงป้อมปืนให้เหมาะสมกว่าเดิม
จากนั้นจึงหากระสุนแตกอากาศตั้งค่าด้วยคอมพิวเตอร์จากบริษัท Rheinmetall มาใช้งานกับปืน
นี่คือวิธีการเดียวในการทำให้
DS30M
Mark 2 มีประสิทธิใกล้เคียง CIWS แต่ถึงกระนั้นยังไม่สามารถเป็น
CIWS ตัวจริงได้ ข้อเสียก็คือปืนและกระสุนจากเยอรมันราคาแพงเลือดสาด
การซ่อมบำรุงแพงบ้าเลือดต่างจากปืนอเมริการาวฟ้ากับเหว ส่งผลให้ทุกชาติหันมาใช้ปืนกล
Mark 44 Bushmaster II ป้องกันเรือตัวเอง
ปืนกล 30
มม. MSI DS30M Mark 2 New Version
ทั้งนี้เนื่องมาจากปืนกล
30
มม.อัตโนมัติ Mauser Mk.30
mod.F บนเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุหมดอายุการใช้งาน
กองทัพเรือจึงได้จัดหาปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mark 2
มาใช้งานทดแทนจำนวน 3 กระบอก สินค้าใหม่เอี่ยมจากบริษัท MSI
ประเทศอังกฤษส่งมอบให้กับลูกค้าแล้ว กองทัพเรือนำมาติดตั้งบนเรือครบถ้วนทุกลำแล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบหาข้อบกพร่องตามภาพประกอบที่แปด
เทียบกับภาพประกอบที่เจ็ดมองเห็นความแตกต่างชัดเจน DS30M Mark 2 รุ่นใหม่ใช้กล่องกระสุนกับฝาครอบปืนรูปทรงหกเหลี่ยม สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพื่อลดการสะท้อนคลื่นเรดาร์จากเรือฝ่ายตรงข้าม เทียบกับรุ่นเก่าที่เน้นการออกแบบรูปทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่ายแล้ว ปืนรุ่นใหม่ดูเนียนตากว่าเดิมและทันสมัยมากกว่านิดหน่อย
ต่อไปในอนาคต
DS30M
Mark 2 จะเป็นรุ่นนี้ทั้งหมด กองทัพเรือควรสั่งซื้อมาติดตั้งบนเรือ
ต.997 กับ ต.998 เสียที มัวแต่รอปืนกล 30
มม.หกลำกล้องรวบจากรัสเซียเรือไม่มีอาวุธใช้งานกันพอดี
และในอนาคตของอนาคตกองทัพเรือควรสั่งซื้อมาติดตั้งบนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดใหม่
เรือตรวจการณ์ขนาด 50 เมตรชุดใหม่
รวมทั้งเรือยกพลขึ้นบกขนาด 20,000 ตันจากประเทศจีน ระยะเวลา 10
ปีต่อจากนี้ไม่สมควรจัดหาปืนกลอัตโนมัติรุ่นอื่นนอกจาก DS30M
Mark 2 นอกเสียจากขึ้นโครงการเรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำขนาด 4,000
ตันจำนวน 4 ลำ
และต้องการปืนรองรุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม ยิงกระสุนฉลาดอเนกประสงค์ได้อาทิเช่นปืนกลอัตโนมัติ
40 มม.รุ่นใหม่
ไว้ถึงตอนนั้นค่อยว่ากันใหม่ภายหลังก็ยังไม่สาย
ปืนกล 30
มม. MSI DS30M Mark 2 With Martlet Missiles
วันที่
16 กรกฎาคม 2019 กองทัพเรืออังกฤษทดสอบยิงอาวุธปล่อยนำวิถี
Martlet
จากป้อมปืน DS30M Mark 2 บนเรือฟริเกต Type
23 ชื่อ HMS Sutherland ผลการทดสอบ Martlet
พุ่งทำลายเป้าหมายเรือผิวน้ำได้อย่างแม่นยำ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกหนึ่งขั้นในการพัฒนาอาวุธป้องกันตนเองระยะใกล้
Martlet หรือ Lightweight Multirole Missile หรือ LMM
คืออาวุธปล่อยอเนกประสงค์นำวิถีเลเซอร์บวกอินฟราเรด ระยะยิงไกลสุดประมาณ
8 กิโลเมตร ใช้ยิงเรือลำเล็กลำน้อย เรือยางพลีชีพ ยานผิวน้ำไร้คนขับ
อากาศยานไร้คนขับ เฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งเครื่องบินตรวจการณ์ได้อย่างสบาย แต่ต้องแลกกับกระสุนขนาด
30 มม.หายไปหนึ่งกล่อง 200 นัด และไม่สามารถสลับชนิดกระสุนระหว่างการใช้งานได้เหมือนเก่า
DS30M
Mark 2 ติด Martlet คืออีกหนึ่งทางเลือกในอนาคต
เหมาะสมกับชาติที่ต้องการทำลายเป้าหมายไม่ใช่ยิงสกัดเป้าหมาย
แลกกับค่าใช้จ่ายในการจัดหา Martlet มาใช้งานเป็นเงินพอสมควร
ทว่า DS30M Mark 2 ติด Martlet
มีปัญหาสำคัญสมควรนำมาพิจารณา
สิ่งนั้นก็คือจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการซื้อไปใช้งานจริงเสียที
ผู้เขียนอาจไม่มีปัญหาเรื่องเงินๆ
ทองๆ ก็จริง ทว่าตราบใดที่กองทัพเรืออังกฤษไม่สั่งซื้อ DS30M
Mark 2 ติด Martlet มาใช้งานบนเรือตัวเอง ผู้เขียนขออนุญาตนั่งกำเงินตัวเองอยู่ในบ้านพักตากอากาศต่อไป
บทสรุป
บทความ
British
Guns in Royal Thai Navy บอกเรื่องหนึ่งกับผู้เขียนว่า กองทัพเรือยังคงเชื่อมั่นอาวุธปืนจากประเทศอังกฤษค่อนข้างสูง
จึงได้มีการจัดหามาใช้งานบนเรือรบชนิดต่างๆ จำนวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่
DS30M
Mark 2 ผงาดครองเมือง เราจะได้เห็นอาวุธปืนอังกฤษในกองทัพเรือไทยไปอีกแสนนาน
แม้ว่าอังกฤษจะหนีไปใช้งานปืนกลอัตโนมัติขนาด
40
มม.แล้วก็ตาม
+++++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
รายงานเรื่อง
:
การพัฒนาด้านอาวุธของกองทัพเรือ โดย ร.ท.กรณ์พิสิฐ กอบกิจสิทธิชัย
https://twitter.com/sebh1981/status/1235234004116410371
https://thaimilitary.blogspot.com/2015/08/blog-post.html
https://thaimilitary.blogspot.com/2018/05/m21-class-patrol-boat.html
https://web.facebook.com/MineSquadron
https://web.facebook.com/photo/?fbid=1931687037082755
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น