เรือหลวงสุโขทัยแห่งราชนาวีไทย
นี่คือบทความเฉพาะกิจที่ผู้เขียนไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่า
วันใดวันหนึ่งตัวเองต้องทำภารกิจสุดแสนเจ็บปวดยิ่งกว่าสิ่งใด
ในเมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วเราจำเป็นต้องยอมรับความจริง
เจอปัญหาก็แก้ไขกันไปดีไม่ดีใช่ไม่ใช่ค่อยว่ากันในภายหลัง ไม่พูดพร่ำทำเพลงเข้าสู่เนื้อหาบทความปิดท้ายปี
2565 กันได้เลย
Tacoma Boat Completes $143-Million
Financing To Build Two Thai Corvettes
ย้อนกลับไปในปี
1983 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นิตยสาร MARITIME REPORTER
AND ENGINEERING NEWS ประจำเดือนตุลาคมลงข่าวเล็กๆ ข่าวหนึ่งว่า
บริษัท Tacoma Boatbuilding Co ได้รับสัญญามูลค่า 143
ล้านเหรียญ ในการออกแบบและสร้างเรือคอร์เวตขนาด 252 ฟุตจำนวน 2 ลำให้กับกองทัพเรือไทย
นายบี.เจมส์
โลว์ ประธานบริษัท Tacoma
ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สัญญาสร้างเรือคอร์เวตจำนวน 2 ลำได้รับการลงนามอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
บริษัทได้รับใบอนุญาตส่งออกอาวุธเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 1983 และได้รับตราสารเครดิตยืนยันการชำระเงินเมื่อวันที่
24 สิงหาคม 1983
สำหรับแบบเรือคอร์เวตของไทยที่ทางบริษัทได้รับการคัดเลือก
มีการออกแบบคล้ายคลึงแบบเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่ความยาว 245
ฟุต หรือ PATROL CHASER MISSILE (PCG) ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาตามหลักนิยมกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา และขายให้กับให้กับชาติพันธมิตรของอเมริกาไปแล้วจำนวน
4 ลำ
หมายเหตุ
:
ระหว่างปี 1983 ค่าเงินหนึ่งดอลลาร์เท่ากับ 23
บาท ฉะนั้น 143 ล้านดอลลาร์จึงเท่ากับ 3,289 ล้านบาท
นี่คือราคาสร้างเรือคอร์เวตจำนวน 2 ลำโดยบริษัท Tacoma Boatbuilding Co
ข้อมูลช่วงแรกของบทความมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้เขียนมีข้อมูล ‘โครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี’ จากประเทศไทยมาเปรียบเทียบให้เห็นความชัดเจนมากกว่าเดิม
โครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี
คณะกรรมการพิจารณาจัดหาเรือคอร์เวต
ตามคำสั่งกองทัพเรือ (เฉพาะ) ที่ 15/2525 ลงวันที่ 20 มกราคม 2525
ได้ดำเนินการตามหน้าที่ที่กองทัพเรือมอบหมายให้มาตามลำดับ
โดยได้เริ่มส่งหนังสือเชิญชวน พร้อมทั้ง Staff-Requirement ให้สถานเอกอัครราชทูตในประเทศไทย 7 แห่ง และตัวแทนในประเทศไทยของบริษัทผู้สร้างเรือในต่างประเทศ
15 รายในวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ในการนี้ได้มีบริษัทต่างๆ
ยื่นเอกสารรายละเอียดและซองราคา 11 ราย
จากการพิจารณาข้อเสนอบริษัทต่างๆ
โดยยังมิได้เปิดซองราคา ปรากฏว่ามีบริษัทที่เสนอแบบเรือที่ผ่านการพิจารณาขั้นแรก 3
บริษัทได้แก่ บริษัทซี.เอ็ม.อาร์จากอิตาลี บริษัททาโคม่า
โบ้ทบิลดิ้ง จำกัดจากสหรัฐอเมริกา และบริษัทวอสเปอร์แห่งอังกฤษ แต่เนื่องมาจากแบบเรือของทั้งสามบริษัทดังกล่าวมีข้อบกพร่องในเรื่องต่างๆ
อยู่ด้วยกันทั้งสิ้น กองทัพเรือจึงให้คณะกรรมการรวบรวมข้อบกพร่องทั้งหมดของแต่ละบริษัท
แล้วส่งให้ทราบและแก้ไขและให้ทั้งสามบริษัทยื่นข้อเสนอมาใหม่
โดยให้ยื่นราคาถึงวันที่ 30 กันยายน 2525
เมื่อบริษัททั้งสามยื่นข้อเสนอมาใหม่
กองทัพเรือพิจารณาเห็นว่าราคาเรือของบริษัทวอสเปอร์สูงกว่าอีก 2
บริษัทมาก จึงได้ตกลงใจให้ตัดบริษัทวอสเปอร์ออกจากการพิจารณา
คงเหลือไว้พิจารณาในขั้นสุดท้าย 2 บริษัท
อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาทบทวนแบบแปลนและรายละเอียดของเรือทั้งสองบริษัทแล้ว
กองทัพเรือเห็นว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมความต้องการ
ระบบอาวุธและลักษณะของเรือบางประการให้เหมาะสม
ซึ่งได้ให้คณะกรรมการแจ้งให้บริษัทแก้ไขเพิ่มเติมตามความต้องการกองทัพเรือต่อไป
เมื่อบริษัทซี.เอ็นและบริษัททาโคม่ายื่นข้อเสนอเข้ามาใหม่
คณะกรรมการได้พิจารณาเปรียบบเทียบลักษณะของเรือ รวมทั้งเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ
ของทั้งสองบริษัทแล้วสรุปพิจารณา และเสนอแนะต่อกองทัพเรือเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2525
ที่ประชุมคณะกรรมการนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธาน
ได้ประชุมพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการ
ประกอบกับข้อพิจารณาผู้บัญชาการทหารเรือเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม
2525 แล้วกองทัพเรือได้ตกลงใจให้คณะกรรมการเจรจากับผู้แทนบริษัททาโคม่าเป็นอันดับแรก
รวมทั้งแจ้งให้บริษัททาโคม่าแก้ไขข้อบกพร่องอีกบางประการ
แล้วเสนอแบบและราคาเรือมาใหม่
คณะกรรมการและอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ
ได้เจรจาเงื่อนไขของสัญญาและรายละเอียดของผนวกแนบท้ายสัญญา
กับบริษัททาโคม่าและสามารถเจรจาทำความตกลงกันได้
คณะกรรมการได้เจรจาต่อรองจนถึงขั้นที่คณะกรรมการเห็นว่า
ในระดับกรรมการลู่ทางที่จะให้บริษัททาโคม่าลดราคาลงไปอีกน่าจะมีอยู่น้อยมาก
แต่บริษัททาโคม่าน่าจะลดราคาเรือลงได้อีกในขั้นการต่อรองระดับกองทัพเรือ
จึงนำเรียนผู้บัญชาการทหารเรือว่าควรจะต่อรองกับบริษัททาโคม่าให้ลดราคาเรือลงอยู่ในเกณฑ์ที่พอจะยอมรับได้
ในการประชุมเจรจาขั้นสุดท้ายระหว่างผู้บัญชาการทหารเรือและคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่
กับบริษัททาโคม่าเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2526 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงราคาเรือกันได้ในราคา 143 ล้านเหรียญ
คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,296,150,000 บาท
(สามพันสองร้อยเก้าสิบหกล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท) และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่
12 เมษายน 2526 ให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อเป็นค่าสร้างเรือดังกล่าว
ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2527 ถึงปีงบประมาณ 2530
บัดนี้คณะกรรมการและบริษัททาโคม่า
โบ้ทบิลดิ้ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย
ได้เตรียมสัญญาและผนวกแนบท้ายสัญญาไว้พร้อม
ได้ตรวจสอบร่วมกันถูกต้องและลงนามกำกับทุกหน้าเรียบร้อยแล้ว
ผู้ที่จะลงนามทั้งในฐานะคู่สัญญาและในฐานะพยานตลอดจนผู้เข้าร่วมในพิธีทั้งสองฝ่ายได้มาพร้อมหน้ากันณ
ที่นี้แล้ว จึงขออนุญาตกราบเรียนเชิญผู้บัญชาการทหารเรือ
ได้ลงนามในสัญญาและผนวกแนบท้ายสัญญารวมสองชุด ร่วมกับ Mr.Robert
M Hill Vice President บริษัททาโคม่าซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบริษัท
ให้เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้รับจ้างต่อไป ทั้งนี้ได้มีเสนาธิการทหารเรือ
และเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารเรือลงนามในฐานะพยานฝ่ายกองทัพเรือ
และมีเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย และนายชัยยุทธ
กรรณสูตรประธานกรรมการบริษัทอิตัลไทยมารีน จำกัด ลงนามในฐานะพยานฝ่ายบริษัททาโคม่า
โบ้ทบิลดิ้ง
การสร้างเรือโดยบริษัท
Tacoma
ประเทศสหรัฐอเมริกา
สรุปความได้ว่าข้อมูลของผู้เขียนทั้งจากอเมริกาและประเทศไทยตรงกัน
เรือคอร์เวตสองลำราคา 143 ล้านเหรียญหรือ 3,296
ล้านบาท สูงกว่าราคาคูณด้วย 23 อันเป็นค่าเงินดอลลาร์หรือ
3,289 ล้านบาทเล็กน้อย
เรือหลวงสุโขทัยคือเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถีสร้างโดยอเมริกาลำที่สอง
ต่อจากเรือหลวงรัตนโกสินทร์ซึ่งถูกใช้ชื่อเป็นชั้นเรือตามหลักสากล ยึดตามสูจิบัตร ‘ที่ระลึกปล่อยเรือหลวงสุโขทัย’ ในภาพประกอบที่หนึ่ง
มีการประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม 1986 นีคือเรือรบขนาดใหญ่ลำท้ายๆ ของบริษัททาโคม่าที่ได้รับการว่าจ้างจากลูกค้า
หลังจากนั้นไม่นานบริษัทสร้างเรือแห่งนี้ถูกธนาคารฟ้องล้มละลาย ก่อนปิดตัวเองตลอดไประหว่างปี
1992 นับอายุรวมได้เท่ากับ 66 ปีพอดิบพอดี
ผู้เขียนคิดถึงบริษัทสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์หมายเลข
911
จากเยอรมันขึ้นมาทันที…ฮา
อาถรรพ์ชื่อเรือไทยมีจริงหรือไม่ผู้เขียนไม่ทราบ
ทว่าอาถรรพ์สร้างเรือไทยระดับไฮเอนด์ได้รับการพิสูจน์ทราบครั้งแล้วครั้งเล่า
ล่าสุดคือบริษัท DSME หลังสร้างเรือฟริเกตให้เราก็เกือบสูญหายตายจากเพราะเรื่องการเงิน
ภาพกราฟิกในสูจิบัตรลงรายละเอียดระบบเรดาร์และระบบอาวุธบนเรือตามแผนการ
ทว่าเรือลำจริงของมาไม่ครบเพราะงบประมาณไม่เพียงพอ
แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนขออนุญาตใช้คำว่าล้นหลามและล้นลำ
เรียกว่าแบกจนหลังแอ่นตามฉายาที่ผู้เขียนแอบตั้งให้เมื่อนานมาแล้ว
ส่วนจะแอ่นอย่างไรเดี๋ยวเรามาว่ากันอีกที
ภาพประกอบที่สองมาจากพิธีปล่อยเรือหลวงรัตนโกสินทร์ลงน้ำ
ในวันที่ 11 พฤษภาคม 1985 ที่อู่ต่อเรือ Tacoma ประเทศสหรัฐอเมริกา นี่คือเรือรบลำแรกของราชนาวีไทยที่ติดตั้งระบบอาวุธทันสมัยครบ
3 มิติ มองเห็นแท่นยิงแฝดแปด Albatross บริษัทอิตาลีที่ท้ายเรือ สำหรับติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE Mk.2
ซึ่งจัดว่าทันสมัยมากที่สุดในย่านอาเซียนและพื้นที่ใกล้เคียง
ส่วนที่เห็นสีส้มแดงถัดไปอาจเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือเปล่าผู้เขียนไม่แน่ใจ
ระบบเรดาร์ตรวจการณ์และเรดาร์ควบคุมการยิงติดตั้งมาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ภาพประกอบที่สามมาจากพิธีปล่อยเรือหลวงสุโขทัยลงน้ำในวันอาทิตย์ที่
20
กรกฎาคม 1986 สื่อมวลชนที่อเมริกาเรียกเรือเราว่า
Gun Boat หรือเรือปืนอย่าไปโมโหเขาเลยเขาไม่รู้ข้อเท็จจริง ในภาพระบบเรดาร์ตรวจการณ์ถูกติดตั้งมาอย่างครบถ้วน
ทว่าเรดาร์ควบคุมการยิงกับอาวุธชนิดต่างๆ ยังมาไม่ถึง
ข้อมูลจากใต้ภาพถ่ายบ่งบอกสถานะบริษัทสร้างเรือได้เป็นอย่างดีว่า
กำลังเจียนอยู่เจียนไปอาการโคม่าต้องการเงินก้อนใหญ่มาช่วยเยียวยา
และนี่ก็คือภาพประวัติศาสตร์ภาพหนึ่งของบริษัท
Tacoma
Boatbuilding Co ก่อนล้มละลาย
เข้าประจำการ
เมื่อบริษัท
Tacoma ติดตั้งอาวุธและทดสอบเดินเรือเป็นที่เรียบร้อย เรือหลวงสุโขทัยจะคล้ายคลึงเรือรบทุกลำคือต้องเข้าประจำการ
ข้อมูลจากกองทัพเรือไทยระบุว่าเป็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1997
(หรือ 2530) ข้อมูลจากนิตยสาร Jane's
Fighting Ships 2002–2003 ระบุว่าเป็นวันที่ 10
มิถุนายน 1997 ระยะเวลาแตกต่างกัน 3 ปี 20 วันโดยประมาณ
ส่วนตัวผู้เขียนมีความเห็นว่า
เรือหลวงสุโขทัยเข้าประจำการวันที่ 19 กุมภาพันธ์
1997 ที่สหรัฐอเมริกา
ใช้เวลาฝึกฝนลูกเรือให้เกิดความชำนิชำนาญประมาณ 2-3 เดือน
ก่อนล่องเรือกลับสู่ประเทศและทำพิธีรับมอบเรืออย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 10 มิถุนายน 1997 นี่คือไทมไลน์ที่ค่อนข้างเหมาะสมมากที่สุด
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นผู้เขียนมีเหตุผลสำคัญสองข้อด้วยกัน
1.เรือหลวงสุโขทัยทำพิธีปล่อยลงน้ำวันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม
1986 โดยที่เรือยังติดตั้งระบบอาวุธไม่ครบถ้วน เวลาเพียง 7
เดือนในการติดตั้งระบบอาวุธ ทดลองเดินเรือหาข้อบกพร่อง
ฝึกฝนลูกเรือให้เกิดความชำนิชำนาญ และล่องเรือกลับคืนสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่
ผู้เขียนพยายามคิดเข้าข้างทุกหนทางแต่คิดไม่ออกจริงๆ
2.ผู้เขียนมีหลักฐานยืนยันเป็นภาพถ่ายอย่างชัดเจน
ภาพประกอบที่สี่เรือหลวงสุโขทัยจอดอยู่ที่ Pearl Harbor หมู่เกาะฮาวาย
เข้าใจว่าอยู่ระหว่างการฝึกฝนลูกเรือให้เกิดความชำนิชำนาญ
หรืออยู่ระหว่างการเดินทางกลับคืนสู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่ ภาพใบนี้ถ่ายทำในวันที่ 1
เมษายน 1987
ถ้าเรือหลวงสุโขทัยเข้าประจำการวันที่
19
กุมภาพันธ์ 1997 ที่ประเทศไทยไปแล้ว
แล้วเรือหลวงสุโขทัยที่
Pearl Harbor คือเรือหลวงสุโขทัยลำไหนกันหรอกหรือ?
เหตุผลสำคัญสองข้อทำให้ผู้เขียนมีความเห็นตามที่ชี้แจงก่อนหน้านี้
เรื่องเข้าประจำการก็ตามนี้แหละครับ
เรามาชมภาพภาพประกอบที่สี่ให้ชัดเจนกันอีกครั้ง ภาพนี้สำคัญที่สุดเพราะอะไรรู้ไหม
เพราะอาวุธและเรดาร์ทั้งหมดยังใหม่เอี่ยมไม่ผ่านการใช้งานหนัก
ยังไม่มีการปรับปรุงซ่อมแซมเรือสักจุด นับเป็นเรือป้ายแดงเพิ่งออกมาจากอู่ต่อเรือยังไงยังงั้น
ระบบอาวุธและเรดาร์บนเรือ
เรือหลวงสุโขทัยใช้แบบเรือ
PFMM
Mk.16 ของบริษัททาโคม่า โบ้ทบิลดิ้ง ระวางขับน้ำปรกติ 840 ตัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 960 ตัน ยาว 76.8 เมตรหรือ 252 ฟุต กว้าง 9.6 เมตร
กินน้ำลึกสุด 4.5 เมตร ปืนหลักที่หัวเรือคือปืนใหญ่ OTO 76/62 IROF อัตรายิง 100 นัดต่อนาทีทันสมัยที่สุดในยุคนั้น
ปืนรองที่อยู่ถัดไปคือปืนกล OtoBreda 40L70 DARDO ลำกล้องแฝด อัตรายิง 600 นัดต่อนาทีบรรจุกระสุนอัตโนมัติ
ถือเป็นระบบป้องกันตนเองระยะประชิดรุ่นมาตรฐานกองทัพเรืออิตาลี
เพียงแต่ไม่ได้ทำงานอัตโนมัติเหมือน Phalanx ของสหรัฐอเมริกา
ประสิทธิภาพน้อยกว่ากันในเรื่องจัดการอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
ปืนกล
40L70 DARDO ทำงานร่วมกับเรดาร์ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง
LIROD-8 ของบริษัท Signaalประเทศเนเธอร์แลนด์
ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อจัดการเป้าหมายบนอากาศโดยเฉพาะ คู่หู 40L70 DARDO+LIROD-8 คือคอมโบเซตที่มีประสิทธิภาพสูงอันดับต้นๆ
ในช่วงเวลานั้น บนเรือหลวงสุโขทัยยังมีเรดาร์ควบคุมการยิง Signaal WM-25 รูปร่างเหมือนไข่บนเสากระโดงหลัก
สำหรับควบคุมปืนใหญ่กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
ใช้คำว่าจัดเต็มเรื่องระบบควบคุมการยิงเห็นไม่ผิดไปจากนี้สักเท่าไร
ระบบตรวจหน้าเสากระโดงหลักประกอบไปด้วย
เรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำระยะใกล้ ZW-06
รุ่นดีที่สุดของ Signaal เรดาร์เดินเรือ Decca 1226 ไว้ช่วยเสริมทัพอีก 1 ตัว ส่วนโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำที่หัวเรือคือ
DSQS-21C มาจากบริษัท Atlas ประเทศเยอรมันตะวันตก ตรวจจับเป้าหมายใต้น้ำได้ครบ 360 องศา
สามารถเลือกส่งความถี่ได้ไกลสุด 29 กิโลเมตร โดยมีระยะตรวจจับหวังผลอยู่ที่ประมาณ
12 กิโลเมตร
เป็นที่ชัดเจนนะครับว่า…ราชนาวีไทยใช้สิ่งที่ดีที่สุดในเวลานั้นบนเรือหลวงสุโขทัย
บังเอิญงบประมาณในการสร้างเรือค่อนข้างสูงเกินไป
รวมทั้งต้องจัดหาอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยที่สุดมาใช้งาน
กองทัพเรือจำเป็นต้องตัดอุปกรณ์บางอย่างทิ้งไป
และผู้โชคร้ายก็คือระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์จากอิตาลี ระบบส่งสัญญาณรบกวนการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ
ECM
รุ่น Elettronica ELT 318 หายไปจากเสากระโดง
ไม่มีจานส่งสัญญาณรบกวน ELT 828 จำนวน 2-4 ใบทั้งที่สร้างจุดติดตั้งรอไว้แล้ว เหลือแค่เพียงระบบตรวจการแพร่คลื่นเรดาร์หรือ
ESM รุ่น Elettronica ELT 211
ติดอยู่บนเสาสูงเหนือเรดาร์ควบคุมการยิง WM-25 รูปไข่
ภาพประกอบที่ห้าจาก
Pearl
Harbor วันที่ 1 เมษายน 1987 เช่นเดียวกัน
จากภาพนี้จะเห็นดีไซน์หลังแอ่นอย่างชัดเจน
อันเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเคยเขียนถึงไปก่อนหน้าว่าเรือแบกอาวุธจนหลังแอ่น
ปรกติเรือโดยทั่วไปจะลดระดับความสูงตัวเรือหรือ Hull ตั้งแต่หัวเรือ ไล่มาเรื่อยๆ จนถึงสะพานเดินเรือหรือไกลสุดไม่เกินกลางเรือ
ทว่าเรือหลวงสุโขทัยมีการลดระดับความสูงตัวเรือบริเวณกลางเรือค่อนมาทางท้ายเรือด้วย
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเรือต้นแบบ PATROL CHASER MISSILE
(PCG) ถูกออกแบบไว้เช่นนี้ เมื่อบริษัท Tacoma นำมาปรับปรุงโดยการสร้าง Superstructure ยาวมากขึ้นกว่าเดิม
ดีไซน์หลังแอ่นจึงมีความชัดเจนตามกันอย่างเลี่ยงไม่ได้
แต่ไม่มีปัญหาอะไรนะครับสามารถใช้งานเรือได้ตามปรกติ
ดีไซน์หลังแอ่นปรากฏบนเรือเร็วโจมตีปืนชั้นเรือหลวงชลบุรีจากอิตาลีเช่นกัน
เพียงแต่ไม่มากเท่าไรผู้เขียนวาดภาพใช้เวลาไม่นาน ไม่เหมือนเรือชั้นเรือหลวงรัตนโกสินทร์ที่ต้องแก้แล้วแก้อีกหลายวัน
ดีไซน์ทั้งหมดเกิดจากความต้องการกองทัพเรือไทยอย่างแท้จริง บริษัท Tacoma ต้องปรับปรุงแบบเรือถึง 3 ครั้งก่อนได้รับการคัดเลือกในโครงการเรือคอร์เวตอาวุธนำวิถี
จึงเป็นแบบเรือที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร The Special One
เหตุผลที่ผู้เขียนเรียกเรือลำนี้ว่า
‘เดอะแบก’ เพราะดีไซน์หลังแอ่นข้อหนึ่ง
อีกข้อหนึ่งก็คือเรือติดอาวุธทันสมัยมากที่สุดของกองทัพเรือ
วันใดวันหนึ่งหากมีสงครามทางทะเลเกิดขึ้นในอ่าวไทย เดอะแบกทั้งสองลำต้องทำหน้าที่เสี่ยงอันตรายในแนวหน้า
เป็นตัวเปิดเข้าไปปะฉะดะด้วยอาวุธทันสมัยทุกชนิดบนเรือ
และด้วยเหตุผลนี้…เรือย่อมโอกาสถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีกลับคืนตอนไหนก็ได้
ฉะนั้นเรือหลวงสุโขทัยกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์
คือเรือที่มีความเสี่ยงถูกยิงจมอันดับหนึ่งในบรรดาเรือรบทั้งหมดของยุคนั้น เรือทั้งสองลำอาจจมเพราะภารกิจปกป้องน่านน้ำไทยหาใช่ชื่อเรือ
ไม่ใช่อาถรรพ์ชื่อเรือไทยที่ถูกตั้งตามชื่อเมืองหลวงประเทศ
รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาโน่นนั่นนี่นุ่นแน่แต่อย่างใด
บนเรือหลวงสุโขทัยมีแท่นยิงเป้าลวงอาวุธนำวิถี
Dagaie รุ่นใหม่ทันสมัยจำนวน 1 แท่นยิง ติดอยู่หลังเสากระโดงรูปร่างคล้ายหีบเพลงสามารถหมุนได้รอบตัว
และนับจนถึงปัจจุบันมีเพียงเรือชั้นนี้สองลำที่ติดตั้งแท่นยิงเป้าลวงแบบหมุนได้รอบตัว
ขนาดเรือหลวงภูมิพลอดุลเดชลำใหม่ล่าสุดราคา 15,000 ล้านบาท
ยังใช้แท่นยิงเป้าลวงทั้งอาวุธนำวิถีและตอร์ปิโดแบบตายตัวหมุนไม่ได้
นี่คือตลกร้ายที่ผู้เขียนบังเอิญค้นพบโดยไม่ได้ตั้งใจ
ถัดจากปล่องระบายความร้อนคือเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศระยะกลาง
Signaal
DA-05 ทาสีดำสนิท ขนาบสองฝั่งด้วยแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำแฝดสามสำหรับตอร์ปิโด
Sting Ray จากอังกฤษ
เพราะดีไซน์เรือทำให้ความสูงแท่นยิงตอร์ปิโดฝั่งหัวกับฝั่งท้ายไม่เท่ากัน
ดีไซน์แบบนี้มีแค่เพียงเรือหลวงสุโขทัยกับเรือหลวงรัตนโกสินทร์เท่านั้น
ที่เห็นเป็นท่อกลมขนาดใหญ่คือแท่นยิง
Mk.141
ลำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน
8 ท่อยิง ผู้เขียนมั่นใจว่าเป็นของแท้ทั้งหมดเพราะเรือยังมาไม่ถึงประเทศไทย
ยังไม่มีการถอดแท่นยิงจริงออกไปเก็บในคลังแสงแล้วใส่มอกอัพเข้ามาแทนที่
นี่คือภาพประวัติศาสตร์อีกภาพหนึ่งของเรือหลวงสุโขทัยและราชนาวีไทย
ถัดจากแท่นยิง
Mk.141 มีที่ว่างขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป
กองทัพเรือต้องการติดตั้งระบบป้องกันตนเองระยะประชิด Phalanx
CIWS รุ่นใหม่ล่าสุดทำงานอัตโนมัติ บังเอิญงบประมาณไม่พอจึงถูกตัดออกตามระเบียบ
ท้ายเรือติดตั้งแท่นยิงแฝดแปด Albatross ที่อิตาลีซื้อลิขสิทธิ์แท่นยิง
Mk.29 จากสหรัฐอเมริกามาสร้างเอง สำหรับใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
ASPIDE Mk.2
ที่อิตาลีซื้อลิขสิทธิ์อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea Sparrow จากสหรัฐอเมริกามาสร้างเองเช่นเดียวกัน
เราซื้อเรือหลวงสุโขทัยจากสหรัฐอเมริกามาใช้งานก็จริง
ทว่าสหรัฐอเมริกาไม่ขายอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน Sea
Sparrow ให้กับเรา
จำเป็นต้องหันมาใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ASPIDE
Mk.2 จากอิตาลี เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะยังอยู่ในยุคสงครามเย็นกับโซเวียตและกลุ่มวอซอร์
ตอนนั้น Sea Sparrow มีความสำคัญกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาค่อนข้างสูงมาก
มีประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินทุกลำ เรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบทุกลำ
เรือฟริเกตปราบเรือดำน้ำชั้น Knox รวมทั้งเรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำชั้น
Spruance รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่อยากปล่อย Sea Sparrow ออกไปนอกสมาชิกนาโต้ยกเว้นชาติใหญ่เท่านั้น
ส่วนอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
Harpoon ที่ยอมขายให้เราเหตุผลต่างกัน Harpoon ใช้ในการโจมตีเทคโนโลยีหลุดไปไม่เสียหายมากนัก ทว่า Sea Sparrow ใช้ในการตั้งรับฝ่ายตรงข้ามรู้จุดอ่อนเข้าไม่แย่หรอกหรือ
ผู้เขียนหาภาพประกอบทั้งสองใบได้นานหลายปีแล้ว
เพียงแต่ไม่ทราบจริงๆ ว่าจะนำมาลงในบทความไหน ไม่คิดไม่ฝันเหมือนกันว่าตัวเองจะได้ใช้งานในภารกิจสุดท้ายของเรือ
เรือหลวงสุโขทัยเข้าประจำการรับใช้ชาติยาวนานเกือบ
36
ปี ต่อมาในวันที่ 18 ธันวาคม 2022 (หรือ 2565) เรือออกเดินทางไปยังจังหวัดชุมพร เกิดเหตุการณ์ต่างๆ
มากมายจนเรืออับปางจมลงในช่วงค่ำคืน เป็นความสูญเสียครั้งสำคัญมากที่สุดของกองทัพเรือไทย
ด้วยรักและอาลัยเราจะคิดถึงคุณทุกคนตลอดกาล
ใครบางคนตั้งคำถามกับผู้เขียนว่า
‘เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นกับต่างประเทศหรือไม่’ คำตอบก็คือมีครับ…เรือลอยอยู่บนน้ำย่อมมีโอกาสจมน้ำทุกลำ
ไม่เว้นแม้กระทั่งเรือที่ไม่มีวันจมอย่างไททานิก
การเกิดอุบัติเหตุจนอาจทำให้เรือจมมีเหตุผลมากมาย
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพสัก 3 กรณี
1.เครื่องยนต์ดับ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ประเทศนอร์เวย์
ทันทีที่พูดชื่อนี้ผู้อ่านทุกคนคงนึกถึงเรือฟริเกตระบบเอจิส
HNoMS
Helge Ingstad (F313)
คำตอบก็คือผิด…คุณไม่ได้ไปต่อ!
ย้อนเวลากลับไปในยุค
60
หรือประมาณ 60 ปีที่แล้ว
กองทัพเรือนอร์เวย์ต้องการเรือรบรุ่นใหม่ทันสมัยจำนวน 5 ลำ
เข้าประจำการแทนเรือเก่าจากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเป็นที่มาของเรือฟริเกตชั้น
Oslo ที่นำแบบเรือพิฆาตคุ้มกันชั้น Dealey ของสหรัฐอเมริกามาปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับความต้องการ
เรือฟริเกตชั้น
Oslo มีระวางขับน้ำเต็มที่ 2,100 ตัน ยาว 96.6 เมตร กว้าง 11.2 เมตร กินน้ำลึก 5.5 เมตร เรือลำแรก HNoMS Oslo (F300)
เข้าประจำการวันที่ 28 มกราคม 1968
ระบบอาวุธป้องกันตนเองประกอบไปด้วย ปืนใหญ่ Mk.33 ขนาด 3"/50
นิ้วลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก จรวดปราบเรือดำน้ำ Terne
ASW นอร์เวย์พัฒนาเองยิงได้ไกลสุด 1,600 เมตร
(หน่วยยามฝั่งอเมริกาสั่งซื้อไปใช้งานกับเรือตัวเองจำนวนหนึ่ง) จำนวน 1 แท่นยิง ปืนกล 20
มม.จำนวน 2 กระบอก
และแท่นยิงแฝดสาม Mk.32 สำหรับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.46 อีก 2 แท่นยิง
โดยมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ขนาดกะทัดรัดอยู่ที่กลางเรือ
ประจำการได้ประมาณ 10 ปีมีการติดตั้งอาวุธเพิ่มเติม
เริ่มจากอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Penguin จำนวน 6
นัดท้ายเรือ บนลานจอดเฮลิคอปเตอร์สร้าง Superstructure เกือบเต็มพื้นที่ ใช้เป็นฐานเสากระโดงรองสำหรับเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี
Mk.95 ที่ว่างถัดไปเล็กน้อยติดตั้งแท่นยิงแฝดแปด Mk.29
สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน RIM-7M
Sea Sparrow จำนวน 8 นัดตามมาตรฐานนาโต้
เท่ากับว่าเรือฟริเกตชั้น
Oslo ติดอาวุธป้องกันตัวครบ 3 มิติ
ทำหน้าที่เดอะแบกนอร์เวย์ได้อย่างสมบูรณ์ ภาพประกอบที่หกคือเรือ HNoMS Oslo หลังการปรับปรุงใหม่ มองเห็นเรดาร์ควบคุมการยิง Mk.95 ที่เพิ่มเติมขึ้นมาอย่างชัดเจน
ส่วน Sea Sparrow กับ Penguin
ต้องใช้สายตาเพ่งมองกันสักเล็กน้อย
ต่อมาในวันที่
24
มกราคม 1994 เรือฟริเกต HNoMS Oslo ออกเรือไปลาดตระเวนตามปรกติ
ที่ไม่ปรกติคือเรือดันแล่นมาเจอพายุโจมตีกลางทะเลอย่างบ้าคลั่ง
ทำให้เกิดปัญหาระบบสูบน้ำป้อนหม้อน้ำเครื่องยนต์ใช้งานไม่ได้ ผลลัพธ์ก็คือเครื่องยนต์
Steam Turbine ดับสนิทไร้พลังงานขับเคลื่อน
ต้องลอยเคว้งคว้างกลางท้องนภาฝากความหวังไว้กับโชคชะตา โชคร้ายเหลือเกินพายุซัด HNoMS
Oslo เข้ามาเกยตื้นใกล้ประภาคารมาร์สเตนอันอเต็มไปด้วยโขดหินอย่างรุนแรง
ท้องเรือฝั่งซ้ายเกิดความเสียหายตั้งแต่ส่วนหัวถึงกลางเรือ
ส่งผลให้มีน้ำเข้าเรือทุกคนบนเรือต้องรีบช่วยกันแก้ไข
อุบัติเหตุครั้งนี้ทำให้ลูกเรือเสียชีวิต 1 นายและบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
เรือฟริเกต
HNoMS
Oslo ผจญพายุคลื่นลมอยู่ตรงนั้นเป็นเวลาหนึ่งวัน
กองทัพเรือนอร์เวย์จึงส่งเรือลากจูงมาช่วยลากเรือกลับคืนสู่ฝั่ง
โดยไม่ลืมขนถ่ายลูกเรือทั้งหมดไปยังเรือลำอื่น
การลากเรือออกจากโขดหินทำให้ท้องเรือเสียหายมากขึ้น ระหว่างเดินทางมีน้ำเข้าเรือมากขึ้นต้องทำงานแข่งกับเวลา
แม้ว่าขบวนเรือจะแล่นเกือบถึงท่าเรือเหลืออีกแค่เพียงเล็กน้อย แต่เรือฟริเกต HNoMS
Oslo ทำท่าจะไม่ไหวเรือลากจูงจะพลอยลำบากไปด้วย
กองทัพเรือนอร์เวยจึงตัดสินใจปล่อยให้เรือจมในเขตน้ำตื้น
ภาพประกอบที่เจ็ดเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสภาพเรือค่อนข้างดี
เรือจมไม่ถึงสะพานเดินเรือเสียด้วยซ้ำ
ทว่าหลังจากยกเรือขึ้นฝั่งพบว่าท้องเรือมีสภาพหนักหนาสาหัส
กองทัพเรือนอร์เวย์จึงถอดอาวุธทุกอย่างออกนำไปเก็บไว้ในคลังแสง
และปลดประจำการเรือขายให้บริษัทเอกชนนำไปรีไซเคิ่ลนำเหล็กกลับมาใช้งานต่อไป
สังเกตนะครับว่า…กองทัพเรือนอร์เวย์กำหนดให้มีเรือฟริเกต 5 ลำมาโดยตลอด
และตัวเองจะเหลือเรือฟริเกตเพียง 4 ลำมาโดยตลอด
ไม่ทราบเหมือนกันว่าเคยทำบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรบ้างหรือเปล่า…เฮ้อ
2.น้ำเข้าเรือ
HMS Endurance
(A171) คือเรือสำรวจที่สามารถแล่นผ่านทะเลน้ำแข็งได้
ตัวเรือค่อนข้างแข็งแกร่งกว่าเรือทั่วไปรวมทั้งเรือรบปรกติทุกลำ
เรือมีระวางขับน้ำมากถึง 6,100 ตัน ยาว 91 เมตร กว้าง 19.6 เมตร กินน้ำลึกสุด 8.5 เมตร เข้าประจำการกองทัพเรืออังกฤษระหว่างปี 1992 มีพี่น้องฝาแฝดจำนวน
3 ลำโดยที่ HMS Endurance
อายุน้อยที่สุดได้เป็นน้องสาม
ภาพประกอบที่แปดคือเรือสำรวจ
HMS
Endurance (A171) ในทะเลน้ำแข็งแอนตาร์กติค
ต่อมาในวันที่ 16 ธันวาคม 2008 ขณะที่ HMS Endurance แล่นเรืออยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้บริเวณน่านน้ำประเทศชิลี อยู่ดีๆ เกิดน้ำท่วมชั้นห้องเครื่องยนต์ส่งผลให้เรือแล่นต่อไม่ได้ น้ำทะเลยังคงขึ้นสูงท่วมชั้นถัดไปอันเป็นห้องพักลูกเรือกับเจ้าหน้าที่สำรวจ และมีแนวโน้มว่าเรือจะจมลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกใต้อย่างรวดเร็ว
โชคดีเหลือเกินเรือแล่นอยู่ในเขตน้ำทิ้งสมอได้
กัปตันเรือตัดสินใจจอดเรือทันทีไม่ให้ลอยเคว้งคว้างไปกับคลื่นลม
และสั่งให้ลูกเรือทุกคนช่วยกันต่อสู้กับน้ำทะเลเป็นเวลา 24
ชั่วโมงติดต่อกัน
ถัดมาหนึ่งวันกองทัพเรือชิลีส่งเรือลากจูงเดินทางมาช่วยเหลือ HMS Endurance ถูกลากมาที่ท่าเรือเมือง Punta Arenas ของชิลี
แล้วกองทัพเรืออังกฤษก็ส่งเรือขนาดใหญ่มาขน HMS Endurance
กลับคืนสู่ดินแดนแม่เพื่อตรวจสอบสภาพเรือต่อไป
ผลการสอบสวนอุบัติเหตุสรุปว่ากัปตันเรือตัดสินใจถูกต้อง
หากเขาพยายามบังคับเรือกลับฝั่งหรือล้มเลิกความพยายามต่อสู้น้ำท่วม
มีโอกาสสูงมากที่กองทัพเรืออังกฤษจะสูญเสียเรือลำนี้ให้กับมหาสมุทรแปซิฟิกใต้
ผู้อ่านทุกคนคงสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือสำรวจ
Icebreaker ขนาด 6,100 ตันอายุเพียง 16 ปี
ต้นตออุบัติเหตุเกิดจากการทำความสะอาดระบบผลิตน้ำดื่มจากน้ำทะเล
ใช้ระบบอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องมีลูกเรือคอยดูแลทุกขั้นตอน
ขณะทำความสะอาดระบบวาล์วควบคุมการเปิดปิดใช้งานไม่ได้ น้ำทะเลจึงไหลเข้ามาท่วมห้องเครื่องยนต์ทั้งชั้นภายในเวลา
30
นาที
HMS
Endurance มีพื้นที่สำหรับเจ้าหน้าที่มากกว่า 100 นายก็จริง แต่ด้วยระบบอัตโนมัติทันสมัยจึงมีลูกเรือเพียง 38 นาย ขณะทำความสะอาดระบบผลิตน้ำดื่มไม่มีคนคอยดูแลทุกขั้นตอน
ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเรือสร้างความเสียหายระดับร้ายแรง
อุบัติเหตุครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าเกิดจากจำนวนลูกเรือน้อยเกินไป
เพื่อนๆ
สมาชิกหลายคนเข้าใจว่าแค่น้ำเข้าเรือซ่อมแซมไม่ยาก
เอาเข้าจริงผลการประเมินเบื้องต้นการซ่อม HMS Endurance กลับคืนสภาพต้องใช้เงิน 30 ล้านปอนด์ ทว่าในปี 2013 หลังจากเรือลำนี้จอดคาอู่แห้งเป็นเวลาเกือบๆ 5 ปี
เรือถูกขายให้บริษัทเอกนำไปรีไซเคิ่ลเพื่อนำเหล็กกลับมาใช้งานต่อไป
กรณีที่
1
กับ 2 มีความเกี่ยวข้องกันตามนี้
1.เครื่องยนต์ดับ…บลาบลาบลา…น้ำเข้าเรือ…เรือจม
2.น้ำเข้าเรือ…บลาบลาบลา…เครื่องยนต์ดับ…เรือจม
ส่วนใหญ่แล้วการจมของเรือจะวนเวียนอยู่กับ
2
กรณีนี้ ไม่ทราบเหมือนกันว่าวันที่ 18 ธันวาคม
2022 เรือหลวงสุโขทัยเข้าข่ายกรณีไหนกันแน่
หรืออาจจะเป็นเครื่องยนต์ดับ+น้ำเข้าเรือพร้อมกันก็เป็นได้
เรามาพบกรณีสุดท้ายที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นง่ายๆ
กันต่อเลยครับ
3.ไฟไหม้
เรือพิฆาต
Otvazhny หมายเลข 530 แห่งกองทัพเรือสหภาพโซเวียต
คือเรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำชั้น Project 61 หรือเรือชั้น
Kashin ลำที่ 6 เรือทำพิธีวางกระดูกงูในวันที่
10 สิงหาคม 1963 ทำพิธีปล่อยลงน้ำวันที่
17 พฤศจิกายน 1964 และเข้าประจำการกองเรือทะเลดำในวันที่
31 ธันวาคม 1965
Otvazhny
มีระวางขับน้ำเต็มที่ 4,290 ตัน ยาว
144 เมตร กว้าง 15.8 เมตร กินน้ำลึก
4.66 เมตร ใช้เครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ 2 ตัวให้กำลัง
72,000 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 34 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด
3,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 18 นอต ใช้ลูกเรือรวมกันจำนวน
266 นาย
เรือพิฆาตลำนี้ค่อนข้างทันสมัยมากในยุคนั้น
นอกจากติดตั้งปืนใหญ่ AK-726 ขนาด 76 มม.ลำกล้องแฝด 2 แท่นยิงที่หัวเรือท้ายเรือ
จรวดปราบเรือดำน้ำ RBU-1000 ขนาด 6 ลำกล้อง
2 แท่นยิง จรวดปราบเรือดำน้ำ RBU-6000 ขนาด
12 ลำกล้อง 2 แท่นยิง และตอร์ปิโดปราบเรือดำน้ำขนาด
533 มม.ขนาด 6 ท่อยิงแล้ว
ยังมีแท่นยิงแฝดสองอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน SA-N-1 Goa จำนวน 2 แท่นยิงที่หัวเรือท้ายเรือ บรรจุ
SA-N-1 Goa ในคลังแสงใต้ดาดฟ้าเรือรวมกันเท่ากับ 16+16 = 32 นัด
เรือพิฆาตปราบเรือดำน้ำติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
32 นัดในปี 1965 ทันสมัยกว่าเรือพิฆาตป้องกันภัยทางอากาศสมาชิกนาโต้หลายชาติด้วยซ้ำไป
Otvazhny
เข้าประจำการในทะเลดำตามปรกติ ระหว่างนั้นได้เดินทางไปเยือนอียิปต์ในวันที่
10-14 กรกฎาคม 1967 และได้มาเยือนอิตาลีวันที่
15-22 ตุลาคม 1973 ตอนนั้นไม่มีใครในโซเวียตสักรายแอบคิดในใจว่า
นี่คือการเดินทางมาเยือนต่างประเทศครั้งสุดท้ายของเรือลำนี้
ถัดมาเพียงปีเดียวในวันที่
30 สิงหาคม 1974 กองเรือทะเลดำฝึกซ้อมประจำปีมีเรือรบเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง
ระหว่างการฝึก Otvazhny ได้รับภารกิจยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน
SA-N-1 Goa เพื่อทำลายเป้าหมายกลางอากาศที่ถูกสมมุติว่าเป็นเครื่องบินรบของนาโต้
หลังจากแท่นยิงแฝดสอง
ZIF-101 ท้ายเรือยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศ SA-N-1 ออกไปจำนวน 1 นัด ความร้อนจากไอพ่นส่งผลให้
SA-N-1 ที่เหลือในคลังแสงเกิดการระเบิดติดต่อกัน ตามติดมาด้วยไฟไหม้ครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์กองเรือ
ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วจากคลังแสงใต้ดาดฟ้าท้ายเรือ
เมื่อไฟลุกลามมาถึงปล่องระบายความร้อนอันที่สองนั่นคือหายนะ ลูกเรือรวมทั้งเรือพิฆาตชั้น
Kashin ลำอื่นพยายามควบคุมเพลิงอย่างเต็มที่ ทว่าน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ
Otvazhny ต้องจมลงสู่ใต้ท้องทะเลตลอดกาล โดยมีลูกเรือ 19 รายกับนักเรียนนายเรือ 5 รายต้องจากไปพร้อมเรือ
ภาพประกอบที่เก้าคือการสูญเสียเรือพิฆาต
Otvazhny ให้กับทะเลดำเพราะอุบัติเหตุไฟไหม้
เรือรบทุกชนิดติดตั้งอาวุธและเรดาร์ทันสมัยบนเรือ
จำนวนมากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไปแล้วแต่ลำ
ในกรณีเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อยสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเอง
ความแข็งแรงทนทานจากการออกแบบและสร้างด้วยมาตรฐานทางทหาร
จะช่วยให้เรือมีความปลอดภัยมากกว่าเรือสินค้าหรือเรือตังเก แต่เมื่อไรก็ตามที่อุบัติเหตุลุกลามบานปลายขยายตัวกลายเป็นเรื่องใหญ่
โอกาสที่เรือรบจะจมทะเลอย่างรวดเร็วย่อมสูงกว่าเรือสินค้าหรือเรือตังเก
และมีโอกาสระเบิดลุกไหม้กลายเป็นลูกไฟดวงใหญ่ตอนไหนก็ได้ เพราะอะไรน่ะเหรอ…เพราะบนเรือติดตั้งอาวุธล้นลำยังไงล่ะครับ
ผู้เขียนหวังใจว่าเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยจะช่วยให้ทุกคนมองเห็นภาพชัดเจนกว่าเดิม
เรือรบไม่ได้แข็งแรงทนทานจมไม่ได้เหมือนเรือสินค้าหรือเรือตังเก
เรือรบแค่จมช้ากว่าเรือสินค้าหรือเรือตังเกนิดหน่อยเท่านั้น
โครงการจัดหาเรือทดแทนเรือหลวงสุโขทัยจากประเทศเยอรมัน
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 18 ธันวาคม
2022 ส่งผลให้เรือรบติดอาวุธครบ 3 มิติลูกประดู่ไทยลดลงเหลือเพียง 4 ลำ
ประกอบไปด้วย เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช 471 เรือหลวงนเรศวร 421 เรือหลวงตากสิน 422
และเรือหลวงรัตนโกสินทร์ 441 ซึ่งมีอายุ 36 ปี 3 เดือนใกล้ปลดประจำการเต็มที
ผู้เขียนขอเสนอทางเลือกในการจัดหาเรือฟริเกตมือสองให้พิจารณาตามใจชอบ
เริ่มจากลำแรกเรือฟริเกต
F122 หรือเรือฟริเกตชั้น Bremen ของกองทัพเรือเยอรมัน
เรือลำสุดท้าย Lübeck (F214) เพิ่งทำพิธีปลดประจำการวันที่
15 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา เรืออายุ 32 ปีลำนี้เรานำมาอุดช่องว่างแค่ 10 ปี
จากนั้นค่อยขึ้นโครงการเรือฟริเกตรุ่นใหม่ทันสมัย นำมาทดแทนพร้อมเรือหลวงนเรศวร
เรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี จำนวนเรือประมาณ 4
ลำแบ่งเป็นสองเฟสในภายหลัง
Lübeck (F214) ใช้อาวุธส่วนใหญ่ตามมาตรฐานราชนาวีไทย เรือมีระวางขับ 3,680 ตัน ยาว
130.5 เมตร กว้าง 14.6 เมตร กินน้ำลึก 6.30 เมตร ปืนใหญ่หัวเรือ OTO 76/62 mm Compact เรานำกระสุนปืนเรือหลวงสุโขทัยมาใช้งานได้
กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon จำนวน 8 ท่อยิง เรานำ Harpoon เรือหลวงสุโขทัยมาใช้งานได้
ก่อนถึงโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์มีห้องยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Mk.46 จำนวนรวม 4 ท่อยิง เรานำ Mk.46
เรือหลวงสุโขทัยมาใช้งานได้ เรือมีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ขนาด 7 ตันจำนวน 2 ลำ
ค่อนข้างใหญ่โตโออ่าสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง
รวมทั้งลำเลียงเจ้าหน้าที่นาวิกโยธินกับสอ.รฝ
ภาพประกอบที่สิบคือเรือฟริเกต
Lübeck
(F214) ในช่วงที่ยังเป็นกระดูกสันหลังทัพเรือเยอรมัน
สิ่งที่ต้องปรับปรุงคือระบบป้องกันภัยทางอากาศ
ผู้เขียนมีแผนการรองรับจำนวน 3 แผนประกอบไปด้วย
1.ในกรณีต้องการใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้ต่อสู้อากาศยาน
ให้กองทัพเรือจัดหา RIM-7M Sea
Sparrow มือสองจากอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น
หรือเนเธอร์แลนด์ชาติไหนก็ได้จำนวน 6 นัด ทดสอบยิง 1 นัดเก็บไว้ใช้งานกันผีหลอก 5
นัด เมื่อเรือปลดประจำการ Sea Sparrow จะหมดอายุการใช้งานช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
หากใช้แผนนี้ให้เยอรมันถอดแท่นยิง
Mk.49 บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ออกไปทั้งหมด หาปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mk.2 มาติดตั้งแทนจำนวน 2 กระบอก
เมื่อเรือปลดประจำการเราสามารถนำปืนไปใช้งานบนเรือลำอื่นได้
2.ในกรณีต้องการใช้งานระบบป้องกันระยะประชิด CIWS
ให้เยอรมันถอดแท่นยิง Mk.49
บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ออกไป 1 แท่นยิง เหลือเพียง 1 แท่นยิง ให้กองทัพเรือจัดหา RAM
Block 1 มือสองจากเยอรมันนี่แหละจำนวน 8 นัด ทดสอบยิง 1
นัดเก็บไว้ใช้งานกันผีหลอกอีก 7 นัด เมื่อเรือปลดประจำการ RAM Block 1 จะหมดอายุการใช้งานช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
แท่นยิง
Mk.29 ที่หัวเรือสำหรับ Sea Sparrow ถอดออกไปเลย
แล้วหาปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mk.2
มาติดตั้งแทนจำนวน 1 กระบอก
เมื่อเรือปลดประจำการเราสามารถนำปืนไปใช้งานบนเรือลำอื่นได้
3.ในกรณีต้องการใช้งานอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้ต่อสู้อากาศยานและระบบป้องกันระยะประชิด
ถ้าต้องการแผนนี้ให้เยอรมันถอดแท่นยิง Mk.49
บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ออกไป 1 แท่นยิง ให้กองทัพเรือจัดหา RIM-7M Sea Sparrow มือสองจำนวน 6 นัดกับ RAM
Block 1 มือสองอีก 8 นัดมาใช้งาน
ส่วนจะทดสอบยิงแบบไหนหรืออย่างไรตามใจชอบได้เลย
Lübeck (F214) จะมาช่วยอุดช่องว่างประมาณ 10 ปีเท่านั้น
ผู้เขียนคาดว่าใช้งบประมาณไม่มากนัก
โครงการจัดหาเรือทดแทนเรือหลวงสุโขทัยจากประเทศจีน
นี่คือการกลับมาอีกครั้งของท่านเทพเจียงเว่ยที่เราคุ้นชื่อเป็นอย่างดี
การกลับมาครั้งนี้เป็นแผนที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้เขียนหาได้
กองทัพเรือจะใช้ความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมซื้อต่อเรือฟริเกตชั้น Type
053H3 จำนวน 2 ลำ
กำหนดให้เป็นสองลำสุดท้ายเข้าประจำการระหว่างปี 2005 พร้อมกัน ได้แก่เรือฟริเกต Luoyang
527 กับเรือฟริเกต Mianyang 528
ภาพประกอบที่สิบเอ็ดคือเรือฟริเกต Mianyang
528 หลังการปรับปรุงใหม่ เฉพาะ 527 กับ 528
เท่านั้นคือเป้าหมายที่กองทัพเรือไทยต้องพุ่งชน ที่ซื้อ 2
ลำเพราะต้องการทดแทนเรือหลวงรัตนโกสินทร์ 441 ในอนาคต
Mianyang 528 มีระวางขับน้ำ 2,393
ตัน ยาว 112 เมตร กว้าง 12.4 เมตร กินน้ำลึก 4.3 เมตร
หัวเรือติดตั้งจรวดปราบเรือดำน้ำ Type 87 ขนาด 240
มม.หกลำกล้องจำนวน 2 แท่นยิง ทำงานร่วมกับโซนาร์หัวเรือ SJD-7A
ระยะตรวจจับ 9.3 กิโลเมตร
ที่เรือหลวงนเรศวรและเรือหลวงตากสินเคยติดตั้งช่วงเข้าประจำการใหม่ๆ
ถ้ากองทัพเรือไม่อยากใช้งาน Type 87
ให้จีนเอาออกไปเลยเหลือเพียงโซนาร์อย่างเดียว
ปืนใหญ่หัวเรือ
Type
79A ขนาด 100
มม.ลำกล้องแฝดเรามีใช้งานอยู่แล้ว ถัดไปหน้าสะพานเดินเรือคือระบบป้องกันตนเองระยะประชิด
FL-3000N จำนวน 8 ท่อยิง
อาวุธใหม่ชิ้นนี้ต้องจัดหามาใช้งานเพราะมีประสิทธิภาพสูง
เรือบรรทุกเครื่องบินกับเรือยกพลขึ้นบกดาดฟ้าเรียบประเทศจีนมีใช้งานทุกลำ
กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ
C-802A จำนวน 8 ท่อยิงเรามีใช้งานอยู่แล้ว
บนโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ 30 มม.หกลำกล้องรวบจำนวน 2 กระบอก
สั่งให้จีนถอดออกติดตั้งปืนกลอัตโนมัติ Type 76A ขนาด 37 มม.ลำกล้องแฝดกลับคืนดังเดิม
จะได้เหมือนกับที่ใช้งานบนเรือหลวงกระบุรีและเรือหลวงสายบุรี
ส่วนระบบเรดาร์กับระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นของจีนทั้งหมด ตอนนี้ใช้ๆ
ไปก่อนไว้พอมีเงินอยากโมดิฟายค่อยว่ากันใหม่ในภายหลัง
ได้เรือมาแล้วต้องปรับปรุงเฉพาะสิ่งที่สำคัญ
โดยการติดตั้งโซนาร์ลากท้าย H/SJG-206
Towed Line Array Sonar (TLAS) ที่บั้นท้ายเรือ
ทำได้แน่นอนเพราะตอนที่จีนพัฒนาโซนาร์ใช้เรือฟริเกต Type 053H3 นี่แหละเป็นหนูทดลองยา
จากนั้นให้จัดหาอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำรุ่นส่งออก LQ-008
(ร่างทรง YU-8) ระยะยิง 30 กิโลเมตร
มาใช้งานร่วมกับแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802A
ที่มีอยู่ 8 ท่อยิง อาจแบ่งเป็น C-802A
จำนวน 4 นัดกับ LQ-008 อีก 4
นัดสลับฟันปลาฝั่งล่ะ 2 นัดแบบนี้ก็ได้
อาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ LQ-008 จะเข้ามาเสริมทัพการป้องกันภัยใต้น้ำ
ในกรณีเรือฟริเกตมือสองจากจีนตรวจสอบด้วยโซนาร์ลากท้าย H/SJG-206 แล้วพบอะไรบางอย่าง จึงติดต่อมายังเฮลิอปเตอร์ S-70B ให้บินมาที่ตำแหน่งดังกล่าว
เพื่อใช้โซนาร์ชักหย่อน HELRAS ประจำเฮลคอปเตอร์ตรวจสอบอย่างละเอียด
เมื่อเจ้าหน้าที่บนเฮลิคอปเตอร์สามารถตรวจพบว่า
มีวัตถุต้องสงสัยดำน้ำอยู่ที่พิกัดxxx ห่างออกไป
23 กิโลเมตร ทิศ 10 นาฬิกา จึงร้องขอให้เรือฟริเกตมือสองจากจีนยิงลูกยาวมายังทิศทางดังกล่าว
เพื่อกดดันหรือทำลายเป้าหมายหรือบังคับให้เป้าหมายเปิดเผยตัวก็ว่ากันไป
เรือฟริเกต Luoyang 527 และเรือ Mianyang 528 ไม่ว่าใช้ชื่อไทยว่าอะไร
จะใช้เวลาไม่เกิน 90 วินาทีในการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีปราบเรือดำน้ำ LQ-008 มาที่พิกัดxxx ห่างออกไป 23 กิโลเมตร ทิศ 10
นาฬิกา
อ่านทบทวนดูแล้วพอได้อยู่นะ
ส่วนตัวไม่ว่าอาวุธชาติไหนถ้าใช้งานได้และใช้งานดีผู้เขียนไม่มีปัญหา
อาวุธก็อาวุธจีนซีไม่เห็นเป็นไร….ขอแค่ใช้งานได้จริงตามโบรชัวร์เท่านั้นพอ
เรือฟริเกต Luoyang 527 และเรือ Mianyang 528 เพิ่งมีอายุเพียง 17 ปี
นำมาปรับปรุงแล้วประจำการไปอีก 20 ปี แล้วปลดประจำการ
ถึงตอนนั้นบรรดาลูกยาวปราบเรือดำน้ำจะหมดอายุการใช้งานใกล้เคียงกัน
เรือฟริเกตจากสองชาตินี้สามารถซื้อมาใช้งานได้ทันที
อาจไม่ได้ที่สุดเหมาะสมที่สุด แต่เร็วที่สุดและมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด
ขนาดกำลังเหมาะสมราคากำลังเหมาะเหม็ง ส่วนเรือคอร์เวต Type
056 ไม่เหมาะสมสักเท่าไร เพราะมีขนาดเล็กเกินไปติดอาวุธน้อยเกินไป
ขนาดกองทัพเรือจีนเองยังมีปัญหาเรื่องการใช้งาน
ไว้มีโอกาสผู้เขียนจะเขียนบทความถึงเรือคอร์เวตแยกต่างหาก เนื่องจากยุคนี้สมัยนี้กลายเป็นยุคเรือคอร์เวตครองเมืองไปเสียแล้ว สำหรับบทความนี้ถึงเวลาต้องอำลาจากกันเสียที จนกว่าจะพบกันใหม่สวัสดีครับ ^_*
+++++++++++++++++++++++
อ้างอิงจาก
https://www.bannakarn.com/product/dcus1986-00001/
https://catalog.archives.gov/id/6476239
https://catalog.archives.gov/id/6476238
https://www.seaforces.org/marint/German-Navy/Frigate/F-214-FGS-Lubeck.htm
https://thaimilitary.blogspot.com/2021/08/thai-navy-missile-corvette.html
https://twitter.com/TheSubHunter1/status/1514646836853678090
https://wavellroom.com/2019/07/23/mayday-in-the-magellan-part-iii-what-caused-the-flood
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น