วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

83-Footer Patrol Boat

 

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.11’

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ราชนาวีไทยประจำการเรือรบขนาดเล็กจากอเมริกาจำนวนหนึ่ง ประกอบไปด้วยเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.13’ ในปี 1954 จำนวน 4 ลำ ซึ่งเป็นเรือใหม่เอี่ยมติดอาวุธเหมือนหน่วยยามฝั่งอเมริกา ต่อด้วยเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.31’ ในปี 1955 จำนวน 3 ลำ เรือถูกสร้างระหว่างปี 1945 ก่อนโอนให้ไทยในอีก 10 ปีต่อมา เก่ากว่าก็จริงแต่เป็นเรือ Submarine Cheasers แท้ๆ ติดอาวุธมากกว่ากันโดยเฉพาะบริเวณหัวเรือ

นอกจากเรือทั้ง 2 ชั้นจำนวน 7 ลำแล้ว ยังมีเรือรบปริศนาอีกหนึ่งชั้นจำนวน 2 ลำ ที่อาจเลือนหายจากความทรงจำพี่น้องชาวไทย รวมทั้งแทบไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลจากกองทัพเรือ ผู้เขียนอนุญาตนำเธอกลับมาให้ชื่นชมอีกครั้ง เรือแฝดสองลำที่กลายเป็นคนแปลกหน้าก็คือ เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.11’ เรือปราบเรือดำน้ำรุ่นแรกสุดของลูกประดู่ไทย

ภาพถ่ายต้นฉบับเป็นภาพขาวดำ ผู้เขียนนำมาเพิ่มสีสันเล็กน้อยพอชื่นใจ ในภาพคือเรือปร.12 อันเป็นเรือลำที่สองในจำนวนสองลำ ขนาดเล็กกะทัดรัดเมื่อเทียบกับภาพลูกเรือยืนวันทยหัตถ์ เสากระโดงค่อนข้างบางสูงไม่มากและเอียงเล็กน้อย ยอดเสากระโดงคล้ายเรดาร์เดินเรือ SA-1 ที่อเมริกานำมาใส่บนเรือกวาดทุ่นระเบิดชายฝั่ง หรืออาจจะเป็นเรดาร์อีกตัวที่กำลังจะพูดถึงในย่อหน้าถัดไป หรืออาจเป็นอะไรสักอย่างบังเอิญอยู่ในภาพผู้เขียนไม่กล้าฟันธง

ไม่ต้องวิตกกังวลชมภาพถัดไปซึ่งชัดเจนมากขึ้นต่อดีกว่า

เรือปร.12 ลำเดิมช่างภาพชาวอเมริกาถ่ายในปี 1967 มองเห็นแท่นยิง Mark 20 ลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap ที่หัวเรือชัดเจน ต่อกันด้วยกล่องใส่ลูกจรวด Mousetrap อันเป็นอาวุธหลักของเรือปร.ทั้ง 9 ลำในเวลานั้น สะพานเดินเรือกับกระจก 4 ช่องอยู่ถัดไป ด้านบนเป็นจุดตรวจการณ์กางผ้าใบป้องกันแสงแดด เสากระโดงใกล้เคียงของเดิมแต่ตั้งตรง 90 องศา  โดมทรงกลมสีขาวยอดสุดเสากระโดงคือเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SO

SO Series Microwave Searh ถูกพัฒนาขึ้นมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อใช้งานบนเร็วตอร์ปิโดกับเรือตรวจการณ์ขนาดเล็ก ต่อมาถูกนำไปใช้งานบนเรือระบายพลขนาดเล็ก เรือดำน้ำ เครื่องบินโจมตีทางทะเล รวมทั้งติดตั้งบนฝั่ง

เรดาร์ SO มีจำนวนหลายรุ่นด้วยกัน แบ่งเป็น SO และ SO-3 เหมาะสมกับเรือเร็วตอร์ปิโด โดมเรดาร์มีขนาดเล็กกว่าในภาพ ภายในโดมมีตัวส่งสัญญาณขนาดกะทัดรัด หมุนรอบตัวด้วยความเร็ว 12 รอบต่อนาที เสากระโดงสามารถพับเก็บได้อย่างง่ายดาย เพื่อความคล่องตัวในการหลบหนีหลังการโจมตี เรดาร์ SO และ SO-3 สามารถควบคุมการยิงตอร์ปิโดได้ด้วย

ขณะที่เรดาร์ SO-1 SO-2 และ SO-4 ใช้งานกับเรือขนาดเล็กทั่วไป รวมทั้งมีการนำมาติดตั้งบนเครื่องบิน ปิดท้ายด้วยเรดาร์ SO-7M สำหรับใช้งานบนฝั่งกับรถสื่อสารขนาดหนึ่งตัน ขนาดโดมจะใหญ่กว่า SO และ SO-3 อย่างชัดเจน เพราะจานส่งสัญญาณกว้างกว่าพอสมควร หมุนรอบตัวความเร็ว 12 รอบต่อนาทีเช่นกัน ระยะตรวจจับไกลสุด 8 ไมล์ทะเลเมื่อติดตั้งบนเสากระโดงสูง 15 ฟุต มีใช้งานแพร่หลายทั้งเรือหน่วยยามฝั่งและกองทัพเรืออเมริกา

เรดาร์บนเรือปร.12 รุ่น SO-2 เหมือนหน่วยยามฝั่งอเมริกา ถึงเป็นเรือขนาดเล็กแต่ระบบตรวจจับไม่เล็ก

สำหรับเรือลำใหญ่จอดใกล้กันคือเรือหลวงลาดหญ้า เป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น MSC-294 ที่อเมริกาโอนให้เราตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร อันเป็นผลสืบเนื่องจากการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชีย เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 375 ตัน ยาว 43.9 เมตร กว้าง 8.2 เมตร กินน้ำลึก 2.6 เมตร เทียบกับเรือปร.12 แตกต่างกันแบบพ่อกับลูก หมายความว่าเรือปราบเรือดำน้ำมีขนาดเล็กมาก ผู้อ่านคิดว่ายาวเท่าไรลองทายกันดูเล่นๆ ดีไหมครับ ตอนนี้กลับมาที่นางเอกบทความนี้กันอีกครั้ง

Superstructure กลางเรือเป็นแบบโปร่งไม่มีหลังคา ไล่ลงมาเรื่อยๆ เป็นทรงโค้งจนถึงพื้นเรือ รูปทรงแบบนี้เรือต.91 จนถึงเรือต.991ของเรานำมาใช้งานเช่นกัน ถัดมาหน่อยเดียวเป็นปล่องระบายความร้อน ต่อด้วยปืนกล Oerlikon 20 มม.ลำกล้องเดี่ยว 1 กระบอก ติดตั้งแท่นปล่อยระเบิดลึกแท่นละ 2 ลูกได้มากสุด 4 แท่น ที่สองกราบเรือ 2 แท่นท้ายเรืออีก 2 แท่น

แม้มีระวางขับน้ำปรกติเพียง 44.5 ตัน ทว่าเรือชั้นปร.11 ติดตั้งอาวุธเทียบเท่าเรือชั้นปร.13  ยกเว้นปืนกล 20 มม.ลำกล้องแฝดกลายเป็นลำกล้องเดี่ยว เพราะฉะนั้นราชนาวีไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง Common Fleet’ นะครับ ส่วนราชนาวีไทยหลังสงครามปราบไวรัสอู่ฮั่นครั้งที่สอง ถ้าไม่ใช่กองเรือนานาชาติที่แท้จริงก็คงใกล้เคียง

เรือชั้นปร.11 เข้าประจำการก่อนปี 1954 แต่เป็นปีไหนผู้เขียนยังหาข้อมูลไม่พบ เรือปร.11 ปลดประจำการปี 1973 และพบ เรือปร.11 ปลดประจำการปี 1978 อายุใช้งานไม่ยาวนานหลายสิบปีเพราะตัวเรือทำจากไม้

คำถามก็คืออเมริกาโอนเรือรุ่นไหนให้กับไทย?

ข้อมูลต่อจากนี้ผู้เขียนขอใช้คำว่าเป็นการคาดเดาด้วยภาพถ่ายไม่มีเอกสารยืนยัน โดยการแต่งเติมจิ๊กซอร์ที่ขาดหายไปให้ครบถ้วน มาครับมาเป็นนักสืบกำมะลอไปพร้อมกัน

เริ่มจากการตั้งข้อสันนิษฐานว่าเรือชั้นปร.11คือเรือ 83-Footer Patrol Boat จากนั้นจึงนำภาพถ่ายมาเปรียบเทียบ


ภาพนี้คือเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุตหน่วยยามฝั่งอเมริกา ถูกสร้างขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองจำนวน 230 ลำ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 76 ตัว ยาว 83 ฟุต 2 นิ้ว กว้าง 16 ฟุต 2 นิ้ว กินน้ำลึก 5 ฟุต 4 นิ้ว ใช้เครื่องยนต์ Gasoline Twin Screw แบบ 8 สูบ ทำความเร็วสูงสุด 20.6 นอต สามารถทำหน้าที่ตรวจการณ์ กู้ภัยทางทะเล ขนส่ง รวมทั้งปราบเรือดำน้ำ เรือในภาพคือเรือลำสุดท้ายซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ ถ่ายในปี 2008 ไม่ทราบว่าปัจจุบันเป็นเช่นไรไปแล้ว

นอกจากเรือ 230 ลำของอเมริกาเองแล้ว เรืออีก 12 ลำพร้อมระบบเรดาร์และโซนาร์ ถูกสร้างให้กับประเทศคิวบา 4 ลำ โดมินิกัน 3 ลำ ไฮติ 1 ลำ และเวเนซูเอลา 4 ลำ หลังสงครามโลกสิ้นสุดเรือจำนวนหนึ่งถูกโอนให้กับคิวบา 8 ลำ เปรู 6 ลำ เม็กซิโก 3 ลำ รวมทั้งโคลัมเบียอีก 2 ลำ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา

ไม่มีข้อมูลการถ่ายโอนให้ประเทศไทย ทว่ารูปร่างหน้าตาเหมือนกันราวฝาแฝด ขนาดแผ่นกันกระแทกข้างเรือยังเหมือนกันเป๊ะเว่อร์ ผิดกันแค่เพียงเรือไทยมีปล่องระบายความร้อน ถ้าเช่นนั้นเรามาตามสืบหาหลักฐานไปพร้อมกัน

ภาพนี้คือภาพถ่ายเรือ CG-83312 หลังสงครามโลก เรือลำนี้เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลเรียบร้อย มีปล่องระบายความร้อนตำแหน่งเดียวกับเรือไทย โดยมีรูปทรงต่างกันเล็กน้อย (เรือไทยวางบนแท่นส่วนเรืออเมริกาวางบนพื้น) ความสูงมากกว่ากันสักเล็กน้อย แต่เป็นหลักฐานชัดเจนว่าเรือชั้นปร.11ของไทย คือเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุต

เป็นอันว่าเราหาแบบเรือชั้นปร.11 เจอแล้ว แต่ยังไม่เจอแท่นยิง Mark 20 ลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap บนเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุต ไปครับคราวนี้เราไปประเทศสเปนพร้อมกัน

ตั้งแต่ปี 1963 อู่ต่อเรือ Bazan ได้สร้างเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุตรุ่นปราบเรือดำน้ำขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เรือสเปนมีระวางขับน้ำปรกติ 49 ตัน (เรือไทย 44.5ตันใกล้เคียงมาก) ระวางขับน้ำเต็มที่ 63 ตัน (เรืออเมริกา 76 ตันต่างกันพอสมควร) ขนาดเรือแตกต่างจากต้นฉบับเล็กน้อย เห็นแท่นยิง Mousetrap ที่หัวเรืออย่างชัดเจน มาพร้อมเรดาร์เดินเรือรุ่นใหม่หน้าตาทันสมัยกว่าเรดาร์ SO-2 ไม่ทราบเหมือนกันว่าใช้ ASDIC หรือโซนาร์ตัวอื่นในการค้นหาเป้าหมายใต้น้ำ

เรือตรวจการณ์ทำจากไม้อายุใช้ไม่มากเท่าไร ยิ่งนำมาใช้ภารกิจปราบเรือดำน้ำยิ่งสั้นกว่าเดิม ส่งผลให้ทั้งเรือไทยและเรือสเปนแทบไม่มีภาพถ่ายชัดเจน ด้วยไม่เป็นที่จับตามองเหมือนเรือพิฆาตหรือเรือดำน้ำ

ผลจากการตามสืบของผู้เขียนสรุปเอาเองได้ว่า เรือชั้นปร.11คือเรือตรวจการณ์ขนาด 83 ฟุตหน่วยยามฝั่งอเมริกา นำมาเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่เพิ่มอายุใช้งาน ติดตั้งอาวุธปราบเรือดำน้ำเหมือนเรือตรวจการณ์สเปน ขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นการคาดเดาด้วยภาพถ่าย วันใดก็ตามผู้เขียนมีหนังสือ เรือรบราชนาวีไทย จะมานำข้อมูลจากหนังสือมาตรวจทานข้อมูล

วันนี้ผู้เขียนนำเรือชั้นปร.11 กลับมาปรากฏโฉมอีกครั้ง หวังว่าทุกคนจะจดจำเธอได้บ้างไม่มากก็น้อย

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://stefsap.wordpress.com/2015/12/07/the-thai-navy/

https://www.history.navy.mil

http://rach1968.blogspot.com/2014/09/blog-post_20.html?m=1

https://www.yachtworld.com/research/wheeler-coast-guard-cutter-calling-history-buffs/

เอกสารดาวน์โหลด: U. S. Coast Guard Small Cutters and Patrol Boats 1915 - 2012

เอกสารดาวน์โหลด: U. S. Coast Guard Patrol Craft Major Classes -100-feet to 150 feet in Length 1915 to 2012

นิตยาสาร Janes Fighting Ships 1970-71

นิตยาสาร Conway's All The World's Fighting Ships 1947-1995

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น