วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

Cape Class Cutter

 

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น ปร.13’

สะพานพระพุทธยอดฟ้าเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อสร้างและเริ่มใช้งานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีมาช้านาน

แบบสะพานที่ถูกคัดเลือกมาจากบริษัท Dorman Long ประเทศอังกฤษ เป็นสะพานเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร ออกแบบให้ยกกลางสะพานเพื่อให้เรือใหญ่แล่นผ่านได้ ส่งผลให้มีภาพถ่ายเรือรบราชนาวีไทยจำนวนมาก กำลังแล่นผ่านสะพานพุทธเพื่อเข้าหรือออกกรมอู่ทหารเรือ

ผู้เขียนมีโอกาสตรวจสอบภาพถ่ายจากแหล่งต่างๆ ภาพเกือบทั้งหมดใส่ชื่อเรือไว้อย่างชัดเจน อาจมีคลาดเคลื่อนบ้างคงว่ากันไม่ได้ เนื่องจากคนใส่ภาพไม่ได้ชำนาญเรื่องชื่อเรือ (โดยเฉพาะเรือจากในอดีต) ผู้เขียนเองเคยพลาดท่าเสียทีบ่อยครั้ง ให้บังเอิญมีภาพเรือลำหนึ่งแล่นผ่านสะพาน ตรวจสอบจากหลายแห่งระบุแค่เพียง เรือหลวง บ้าง เรือรบหลวง บ้าง เรือขนาดกะทัดรัดลำนี้ช่างไม่คุ้นตาเอาเสียเลย เห็นหมายเลข 14 ติดอยู่บนหัวเรืออย่างชัดเจน


ตกลงเรือลำนี้ชื่อเรืออะไร? มิตรสหายท่านหนึ่งได้เอ่ยถามขึ้นมา

มาครับเรามาสวมวิญญาณโคนันยอดนักสืบไปพร้อมกัน เริ่มจากเสากระโดงเรือค่อนข้างเล็กและบาง เอียงมาทางด้านหลังเล็กน้อยและไม่ได้ติดตั้งเรดาร์ สองกราบเรือห้อยแพชูชีพรุ่นโบราณสีค่อนข้างเข้ม ภาพรวมเหมือนเรือยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มีเสาอากาศวิทยุ 1 ต้นอย่างชัดเจน ฉะนั้นภาพนี้ต้องเลยสงครามโลกมาแล้วสักพักหนึ่ง ดูจากทรงเรือไม่เหมือนเรืออิตาลีหรือเรือญี่ปุ่น ค่อนมาทางเรืออเมริกามากกว่าเรืออังกฤษ เรือลำนี้ไม่มีปืนใหญ่หรือปืนกลที่หัวเรือ แต่ติดอาวุธปราบเรือดำน้ำขนาดกะทัดรัดของอเมริกา เรือลำนี้ราชนาวีไทยตั้งชื่อไว้ว่า ปร.14’

ย้อนเวลากลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเรือไทยมีเรือรบประจำการจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรือปืนหนักเรือหลวงศรีอยุธยา เรือสลุปเรือหลวงแม่กลอง เรือดำน้ำชั้นมัจฉานุทั้ง 4 ลำ เรือตอร์ปิโดทั้งใหญ่และเล็กก็มีเยอะแยะ ปัญหาสำคัญในตอนนั้นคือสงครามปราบเรือดำน้ำ มีเพียงเรือหลวงแม่กลองลำเดียวติดแท่นยิงระเบิดลึกของญี่ปุ่น จำเป็นต้องหาเรือปราบเรือดำน้ำเข้าประจำการเร่งด่วน ป้องกันเรือดำน้ำข้าศึกปิดล้อมอ่าวไทยเหมือนในอดีต

เรือคอร์เวตปราบเรือดำน้ำชั้น Flower จากอังกฤษ 2 ลำเข้าประจำการปี 1946 กับ 1947 ต่อมาในปี 1951 เรือฟริเกตตรวจการณ์ชั้น Tacoma จากอเมริกาก็มาอีก 2 ลำ (อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเสียเรือคอร์เวตชั้น Flower จำนวน 1 ลำในสงครามเกาหลี) เรือทุกลำติดอาวุธปราบเรือดำน้ำถึง 3 ชนิดด้วยกัน มาพร้อมเรดาร์และระบบโซนาร์ตรวจจับเรือดำน้ำ ถือเป็นการยกระดับความสามารถของกองทัพ แต่เรือมีขนาดใหญ่ราคาแพงค่าใช้จ่ายสูง กองทัพเรือยังต้องการเรือเล็กติดอาวุธปราบเรือดำน้ำ ใช้ป้องกันชายฝั่งไล่มาจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้มีการจัดหาเรือขนาดเล็กจากอเมริกาเข้าประจำการ

ช่วงนั้นเรามีเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้น PC461 หรือเรือชั้นเรือหลวงสารสินธุ์จำนวน 8 ลำก็จริง แต่ยังต้องการเรือขนาดเล็กกว่าไว้ใช้งานเขตน้ำตื้น จึงได้มีการจัดหาเรือจำนวน 3 ชั้นรวมทั้งสิ้น 9 ลำ เข้าประจำการระหว่างปี 1950 ถึง 1954 ใช้ชื่อเรียกว่าเรือ ปร.’ ย่อมาจากคำว่า ปราบเรือดำน้ำและหนึ่งในสามโครงการที่ว่าคือนางเอกของเราในบทความนี้

ปี 1953 อู่ต่อเรือ US Coast Guard Yard ได้รับสัญญาสร้างเรือตรวจการณ์ 95 ฟุตจำนวน 4 ลำ โดยใช้แบบเรือและอาวุธเหมือนหน่วยยามฝั่งอเมริกา ราคาต่อลำอยู่ที่ 475,000 เหรียญ ราคารวมอยู่ที่ 1.9 ล้านเหรียญ เรือถูกส่งมอบและเข้าประจำการในปี 1954 โดยใช้ชื่อว่า ปร.13’ ปร.14’ ปร.15’ และ ปร.16’ ตามลำดับ ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือทางทหารจากอเมริกา รวมทั้งเรือปราบเรือดำน้ำขนาดเล็กอีก 5 ลำที่เหลือ แตกต่างจากการซื้อเรือมือสองหลังสงครามโลกสิ้นสุดไม่นาน แต่ยังหาข้อมูลที่ชัดเจนมายืนยันไม่ได้นะครับ ต้องขอชี้แจงไว้ก่อนจะได้เข้าใจตรงกันชัดเจน

ภาพนี้คือเรือ ปร.14 ลำเดิมนั่นเอง มาพิจารณารายละเอียดไปพร้อมกัน หัวเรือมีราวกันตกทำจากเหล็กสูงเพียงครึ่งเดียวจากปรกติ ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap จำนวน 2 แท่นยิง แต่มองไม่เห็นเนื่องจากแท่นยิงถูกพับเก็บอย่างดี ที่เห็นสีขาวยาวๆ คือฟองคลื่นหรือความเสียหายของภาพถ่าย ไม่ใช่ปืนกลอย่าหลงเข้าใจผิดแบบผู้เขียนล่ะ  มีเสาอากาศวิทยุหนึ่งตัวเท่าเดิม ห้อยแพชูชีพรุ่นโบราณที่เดิม แต่เรือถูกปรับปรุงแล้วฉะนั้นไม่ใช่ภาพปี 1954

การปรับปรุงที่เห็นชัดเจนก็คือเสากระโดงเรือ เปลี่ยนจากเสาเดี่ยวมาเป็นเสาสามเหลี่ยมรูปทรงทันสมัย โดยการตั้งเสา 2 ต้นคู่กันบนสะพานเดินเรือ และเสาอีก 1 ต้นบนปล่องระบายความร้อนเครื่องยนต์ ปรับปรุงเสากระโดงไปเพื่ออะไร? เพื่อติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SL เข้าไปนั่นเอง ส่งผลให้เรือปร.14 มีอุปกรณ์ทันสมัยเทียบเท่าเรือรบลำใหญ่กว่า

ท้ายปล่องระบายความร้อนเป็นแท่นปืนกล 20 มม.ลำกล้องแฝด ถัดมาที่เห็นสีดำคล้ายถังน้ำมันคือระเบิดลึก โดยที่หนึ่งแท่นปล่อยใส่ระเบิดลึกได้ 2 ลูก โดยวางซ้อนแบบเอียงลงแล้วมัดลวดสลิงติดแท่น เวลาใช้งานปลดลวดสลิงระเบิดจะไหลลงส่ทะเล กราบซ้ายของเรือมองเห็น 2 แท่นปล่อย เท่ากับว่าเรือมีระเบิดลึกพร้อมใช้งาน 8 ลูกจาก 4 แท่นปล่อย บริเวณท้ายสุดของเรือเป็นเรือบดขนาดเล็กใช้วิธีวางคว่ำ นี่คืออาวุธทั้งหมดบนเรือปราบเรือดำน้ำขนาด 95 ฟุต

เครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap คืออาวุธขนาดกะทัดรัดจากอเมริกา แท่นยิงถูกออกแบบค่อนข้างง่าย โดยนำแท่งเหล็กจำนวน 5 ท่อนมาเชื่อมต่อกัน น้ำหนักเบาสามารถพับเก็บดาดฟ้าเรือ เมื่อต้องการใช้งานลูกเรือจะกางแท่นยิงทำมุม 48 องศา นำ Mousetrap มาบรรจุเข้าไปแบบในภาพ เมื่อกดปุ่มยิง Mousetrap จะวิ่งขึ้นท้องฟ้าภายใน 4 วินาที ลอยละล่องตกสู่ท้องทะเลไกลสุดประมาณ 280 เมตร แหล่งข้อมูลบางแห่งบอกว่ายิงได้ไกลสุด 183 เมตร

 เรือปร.14 ติดตั้งแท่นยิง Mark 20 จำนวน 2 แท่นยิง แต่ละแท่นยิงบรรจุ Mousetrap ได้ 4 นัด จำนวนรวมอยู่ที่ 8 นัดต่อการยิงหนึ่งชุด Mousetrap แต่ละนัดยาว 99 เซนติเมตร หนัก 65 ปอนด์ บรรจุหัวรบ TNT ขนาด 33 ปอนด์หรือ Torpex ขนาด 30 ปอนด์ ติดตั้งเครื่องยนต์จรวด 2.25 นิ้ว Mk3 ใช้เวลาติดเครื่องยนต์เพียง 0.2 ถึง 0.7 วินาที


ภาพนี้แสดงรายละเอียดลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap ส่วนหัวเป็นระบบจุดชนวนให้มาตั้งค่าตรงนี้ เลยมาหน่อยเดียวเป็นหัวรบขนาดไม่เกิน 33 ปอนด์ ถัดมาเป็นแท่งยาวๆ คือระบบขับเคลื่อน ท้ายสุดมีแพนหางควบคุมทิศทางกับช่องเสียบอาวุธเข้ากับแท่นยิง ออกแบบง่ายๆ แต่ใช้งานได้จริงตามสไตล์ลุงแซมเขาล่ะ

อเมริกายังได้พัฒนาแท่นยิงรุ่น Mark 22 เพิ่มเติม บรรจุ Mousetrap ได้ถึง 8 นัดต่อแท่นยิง จำนวนรวมอยู่ที่ 16 นัดต่อการยิงหนึ่งชุด โดยการติดตั้งแท่นยิงทำจากเหล็ก 5 ท่อนซ้อนกัน 2 ชั้น แต่มีใช้งานบนเรือพิฆาตขนาดใหญ่เท่านั้น

                ภาพถัดไปคือเรือปร.13 ซึ่งเป็นเรือลำแรกของชั้น (และสมควรเป็นชื่อชั้นเรือในระดับประเทศ) กำลังจอดเคียงข้างเรือหลวงรางเกวียนหมายเลข 11 ซึ่งเป็นเรือสนับสนุนการกวาดทุ่นระเบิดลำแรกของไทย เรือลำนี้เคยเป็นที่ตั้งกองบังคับการกองเรือทุ่นระเบิดมาแล้วในอดีตและ เรือลำนี้ผู้เขียนอยากวาดภาพมากที่สุดพอๆ กับเรือหลวงเกร็ดแก้ว

เรือทั้งสองลำจอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากกรมอู่ทหารเรือแถวบางกอกน้อย มองเห็นปล่องเหลี่ยมอันเป็นสัญลักษณ์กรมอู่ทหารเรือมาช้านาน หัวเรือปร.13 มองเห็นแท่นยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap อย่างชัดเจน หน้าสะพานเดินเรือเป็นกล่องใส่ลูกจรวด Mousetrap เห็นแท่นปล่อยระเบิดลึกด้านข้างจำนวน 2 แท่นบริเวณท้ายเรือ

ภาพถ่ายใบนี้มาจากกองทัพเรืออเมริกา พวกเขาเข้ามาเมืองไทยพร้อมกล้องถ่ายรูปทันสมัยราคาแพง ไม่ได้ระบุวันที่ถ่ายภาพอย่างชัดเจน แต่เรือปร.13 เปลี่ยนเสากระโดงและติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SE แล้ว (ผู้เขียนไม่ทราบรุ่นย่อยจนด้วยเกล้า) ทาสีดำช่วยลดคราบสกปรกจากปล่องระบายความร้อน อันเป็นจุดแตกต่างจากเรือปร.14ในภาพก่อนหน้านี้

เรดาร์ SE พัฒนาต่อมาจากเรดาร์ SG ซึ่งมีใช้งานบนเรือใหญ่ ขนาดกะทัดรัดกว่าเดิมเหมาะสมกับเรือขนาดเล็ก ระยะตรวจจับไกลสุด 12 ไมล์ทะเลบนเรือใหญ่เสากระโดงสูง ของเราเรือเล็กเสากระโดงเตี้ยน่าจะได้ประมาณ 8 ไมล์ทะเล เรื่องระบบเรดาร์ผู้เขียนคาดเดาเองจากข้อมูลต่างประเทศ ถ้าไม่ถูกในอนาคตจะนำข้อมูลมาหักล้างในภายหลัง

ภาพถัดไปคือเรือตรวจการณ์ 85 ฟุตจำนวน 2 ลำจอดคู่กันในแม่น้ำเจ้าพระยา เรือปร.13 เปลี่ยนเสากระโดงแล้วติดเรดาร์แล้ว มีเรืออีกหนึ่งลำจอดคู่กันเสากระโดงสีดำเหมือนกัน ฉะนั้นไม่น่าใช่เรือปร.14 ซึ่งเสากระโดงทาสีเทาคราม แต่จะเป็นปร.15 หรือปร.16 งานนี้ต้องเดาอย่างเดียวแล้วครับ

ท้ายเรือมองเห็นเรือบดลงมาลอยลำในแม่น้ำ ขนาดเล็กมากเท่าเรือพายบ้านเก่าแม่ผู้เขียน ท้ายเรือกางผ้าใบกันแดดกันฝนให้กับลูกเรือ เรือสองลำจอดคู่กันกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ทอดสะพานเล็กๆ สำหรับลงเรือบดเพื่อขึ้นฝั่ง อาคารสีขาวฝั่งขวามือดูคุ้นตาอย่างไรพิกล และจุดเด่นที่สุดของภาพนี้ก็คือเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Mousetrap

Mousetrap มีเรื่องราวน่าสนใจมาก หลังจากอเมริกานำเครื่องยิงลูกระเบิดปราบเรือดำน้ำ Hedgehog ของอังกฤษเข้าประจำการ พวกเขาอยากพัฒนาอาวุธใกล้เคียงกันขึ้นมาเอง เพื่อนำมาใช้งานบนเรือเล็กตามความต้องการ

 ต้นฉบับจากอังกฤษเป็นเครื่องยิงลูกระเบิดลึก แท่นยิงเป็นกล่องมีเหล็กแท่งใช้ติดตั้งลูกระเบิดจำนวน 24 ลูก เวลายิงพลยิงจะโยกไกยิงส่ง Hedgehog ขึ้นสู่ฟ้าทีละแถว เวลายิง 24 ลูกต้องโยกคันยิง 6 ครั้งติดกัน สร้างพื้นที่ทำลายล้างเป็นรูปไข่ กว้าง 59 เมตร ยาว 51 เมตร มีค่าเฉลี่ยการโจมตีอยู่ที่การโจมตี 5.7 ครั้งต่อ 1 เป้าหมาย

Hedgehog ลอยไปตกทะเลด้วยแรงส่งจากเครื่องยิง แต่ Mousetrap ติดเครื่องยนต์จรวดไว้ที่ท้ายเครื่อง ใช้พลังงานของตัวเองในการลอยขึ้นฟ้า กองทัพเรืออเมริกาไม่เรียกอาวุธชนิดนี้ว่า Projectile เหมือนอังกฤษ แต่ใช้คำว่า Anti-Submarine Rocket ฉีกออกมาให้ดูแตกต่าง ผู้เขียนอยากใช้คำว่าจรวดปราบเรือดำน้ำเหมือนกัน บังเอิญ Mousetrap ยังดูเป็นลูกผสมระหว่างอาวุธ 2 ชนิด ไม่เหมือนจรวดปราบเรือดำน้ำ Weapon Alpha ที่พัฒนาขึ้นมาในภายหลัง

ภาพนี้คือแท่นยิงทำจากเหล็ก 5 ท่อน  ซึ่งถูกออกแบบได้อย่างแหวกแนวแต่ใช้งานดีเยี่ยม ในภาพลูกเรือกำลังกางแท่นยิงขึ้นมาเตรียมพร้อม โดยการดันเหล็กแท่นยิงขึ้นมาแล้วนำเหล็กฐานรองมาเสียบใต้ล่าง ลักษณะคล้ายคลึงกับดักหนูในอดีตกาลเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เองอาวุธสุดยิกของลุงแซมถึงได้ชื่อว่า Mousetrap

ส่วนภาพนี้คือระบบควบคุมการยิง อังกฤษสร้างระบบควบคุม Hedgehog เป็นแผงหน้าปัดมีคันโยกฝั่งขวามือ ส่วนอเมริกาสร้างเป็นกล่องสี่เหลี่ยมเล็กเท่ากล่องผ้า บนสุดเป็นปุ่มป๊อกแป๊กเปิดปิดระบบพร้อมไฟแสดงสถานะ ตรงกลางเป็นปุ่มกดสีดำเพื่อยิง Mousetrap ที่อยู่ล่างสุดเป็นปุ่มป๊อกแป๊กควบคุมการทำงานแท่นยิงซ้าย (Port) และแท่นยิงขวา (Starboard) มีไฟแจ้งเตือนความปลอดภัยอยู่ตรงกลางหนึ่งดวง มีขุดไขนอตยึดกล่องสี่เหลี่ยมติดพื้นไม่ให้กลิ้งหายไปไหน

จากภาพถ่ายผู้เขียนขอเดามั่วๆ ว่า Mousetrap สามารถเลือกยิงแท่นยิงซ้ายหรือขวาจำนวน 4 นัดแยกกันได้ หรือยิงพร้อมกันแบบซัลโว 8 นัดรวดได้ ทันสมัยกว่าของอังกฤษที่ต้องใช้คันโยก ต่อมาไม่นาน Hedgehog ได้พัฒนาแท่นยิงรุ่นใหม่ Mark 11 สามารถใช้ปุ่มกดแบบนี้ได้เช่นกัน แต่ผู้เขียนชอบรุ่นคันโยกมากกว่ามันดูอินดี้สุดๆ

ขอพามารู้จักเรือแบบลำนี้ให้ชัดเจนกว่าเดิม เมื่อสงครามเย็นและสงครามเกาหลีได้เริ่มก่อตัว หน่วยยามฝั่งอเมริกาต้องการเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่ นำมาทดแทนเรือตรวจการณ์ 83 ฟุตของตัวเอง อันมีวีรกรรมระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองจำนวนมากมาย เรือลำใหม่จะใช้เทคโนโลยีใหม่ทันสมัยกว่าเดิม ตัวเรือมีความแข็งแรงกว่าเดิม ใส่เครื่องยนต์รุ่นใหม่ทันสมัยกว่าเดิม สามารถติดอาวุธหนักได้ในระดับหนึ่ง สามารถทำภารกิจปราบเรือดำน้ำได้ รวมทั้งภารกิจหลักคือการตรวจการณ์ ค้นหาและช่วยเหลือในทะเล

อู่ต่อเรือ US Coast Guard Yard สร้างเรือรุ่นใหม่ขึ้นมา 2 ขนาดด้วยกัน คือเรือตรวจการณ์ 82 ฟุตซึ่งในภายหลังใช้ชื่อชั้นว่า Point Class กับเรือตรวจการณ์ 95 ฟุตขนาดใหญ่กว่าติดอาวุธมากกว่า เรือลำนี้ในภายหลังใช้ชื่อว่า Cape Class หน่วยยามฝั่งอเมริกาเรียกเรือตรวจการณ์ว่า Cutter ด้วยเหตุนี้เองบทความจึงใช้ชื่อว่า ‘Cape Class Cutter’

การตั้งชื่อชั้นเรือมีความเกี่ยวพันกับการตั้งชื่อเรือ เหตุผลก็คือ Cape Class ทุกลำมีชื่อขึ้นต้นว่า Cape เพิ่มเติมในภายหลัง อาทิเช่นเรือลำแรกใช้หมายเลข 95300 และใช้ชื่อว่า Cape Small เรือลำอื่นก็เป็นแบบนี้ครบทุกลำ

การสร้างเรือแบ่งออกเป็น 3 เฟสหรือที่อเมริกาเรียกว่า Type ทยอยสร้างทีละ Type มีความแตกต่างกันตามภารกิจ ประกอบไปด้วย Type A รุ่นปราบเรือดำน้ำติด Mousetrap ที่หัวเรือจำนวน 12 ลำ ต่อด้วย ด้วย Type B รุ่นปราบเรือผิวน้ำติดปืนกล 40 มม.ที่หัวเรือจำนวน 8 ลำ สุดท้ายคือ Type C ค้นหาและกู้ภัยติดเพียงปืนกล 12.7 มม.อีกจำนวน 15 ลำ

เรือ 35 ลำทยอยเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1953 ถึง 1959 เมื่อ US Coast Guard Yard สร้างเรือ Type A รุ่นปราบเรือดำน้ำครบทุกลำ จึงได้สร้างรุ่นเดียวกันให้กองทัพเรือไทยต่อทันที เท่ากับว่าโครงการนี้เราได้เรือรุ่นใหม่ล่าสุดจากอเมริกา

คุณสมบัติทั่วไปของเรือตรวจการณ์ 95 ฟุต Cape Class Type A มีระวางขับน้ำ 102 ตัน ยาว 95 ฟุต กว้าง 19 ฟุต กินน้ำลึก 6.4 ฟุต พูดง่ายๆ ก็คือเรือยาว 29 เมตรนั่นแหละครับ ใช้เทคโนโลยีใหม่ 2 อย่างเหนือกว่าเรือตรวจการณ์ 83 ฟุตรุ่นเก่า หนึ่งตัวเรือทำจากเหล็กไม่ใช่ไม้มะกอก และสองใช้เครื่องยนต์ดีเซลไม่ใช่แก๊สโซลีน

ด้วยกำลัง 2,200 แรงม้าส่งผลให้เรือวิ่งเร็วสุด 20 นอต (22 นอตในรุ่น Type C ซึ่งไม่ติดอาวุธหนัก) มีความประหยัดกว่าเครื่องยนต์แก๊สโซลีนอย่างชัดเจน บวกกับตัวเรือทำจากเหล็กแข็งแรงทนทานมากขึ้น เรือชั้น Cape Class มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิมพอสมควร คนเลือกแบบเรือให้ราชนาวีไทยฝีมือฉกาจใช้ได้เลย


ภาพนี้คือเรือหมายเลข 95306 Cape George  เห็นรายละเอียดทุกอย่างชัดเจนกว่าภาพถ่ายเรือไทย หัวเรือเชิดสูงเล็กน้อยมีสมอเรือจำนวน 2 อัน แท่นยิง Mousetrap สีดำสนิทดูน่าเกรงขามไม่เบา ที่อยู่ด้านหลังเป็นกล่องใส่ลูกจรวดนั่นเอง ถ้าใส่ได้กล่องละ 8 นัดเท่ากับมีจรวด16 นัด สามารถยิง Mousetrap แบบซัลโวได้ถึง 2 ชุด สะพานเรืออยู่บนเก๋งเรือชั้นสอง มีคนโผล่ออกมาโบกมือให้กล้องน่าจะถ่ายจากเครื่องบิน ภาพนี้ถ่ายในปี 1955 เรือใช้เสากระโดงสามเหลี่ยมติดเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ SL ชัดเจน เอแล้วภาพเรือปร.14 เสากระโดงเดี่ยวแล่นผ่านสะพานพุทธนี่มันยังไงหนอ?

Mousetrap ถือเป็นอาวุธมาตรฐานกองทัพเรืออเมริกา เรือที่ติดตั้ง Mousetrap จะมีระบบโซนาร์ขนาดเล็กซึ่งยุคนั้นใช้ชื่อว่า ASDIC ติดตั้งมากับเรือ ลักษณะเป็น Retractable Dome เวลาใช้งานจะยืดออกมาเวลาไม่ใช้งานก็หดกลับคืน เมื่อ ASDIC ตรวจสอบพบเป้าหมายใต้ท้องทะเล กัปตันจะสั่งให้เบนหัวเรือเข้าหาเป้าหมาย (ตามตำแหน่งที่เจ้าหน้าที่ ASDIC บอก) เมื่อเข้าสู่ระยะยิง Mousetrap ทั้ง 8 ลูกลอยละล่องขึ้นสู่ท้องฟ้า จากนั้นเรือจะหักหลบทางอื่นเพื่อหาโอกาสโจมตีครั้งถัดไป

Mousetrap จำนวน 8 ลูกน้อยเกินไปที่จะจมเรือดำน้ำ แต่ Mousetrap จำนวน 8 ลูกอาจทำให้เรือดำน้ำเสียหาย ต้องเปิดเผยตัวเองให้เรือใหญ่ฝ่ายเราจัดการเผด็จศึก หรืออาจทำให้กัปตันเรือดำน้ำตัดสินใจสั่งถอยหลัง ไม่เข้ามายิงเรือสินค้ารวมทั้งเรือรบจอดอยู่ในท่าเรือ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าภารกิจประสบความสำเร็จแล้ว

เรือตรวจการณ์ชั้นปร.13เข้าประจำการกองทัพเรือไทยมาเรื่อยๆ ต่อมามีการปรับปรุงกองเรือให้ทันสมัยกว่าเดิม เรือทุกลำจึงถูกโยกมาอยู่กองเรือตรวจการณ์ รวมทั้งถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเรือ .81’ .82’ .83’ และ .84’ ตามลำดับ ก่อนทยอยปลดประจำการในปี 1982 จนครบทุกลำ ปิดตำนานเรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งอเมริกาในกองทัพเรือไทย

ส่วนเรือตรวจการณ์ของอเมริกาอายุยาวนานกว่ากัน เรือที่ไม่ได้โอนให้ชาติอื่นทยอยปลดประจำการหลังปี 1990 โดยมีบางลำลากยาวมาถึงปี 2010 ซึ่งถือว่านานมาก สาเหตุเป็นเพราะเรื่องการซ่อมบำรุงนั่นเอง ประเทศไทยในยุคนั้นมีอู่ต่อเรือดีๆ ไม่กี่แห่ง ส่วนกองทัพเรือแม้ได้รับเรือจากอเมริกาจำนวนมาก แต่งบประมาณประจำปีค่อนข้างต่ำต้อยติดดิน ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเมืองทำพิษเข้าอย่างจัง เรือรบและกำลังพลเกือบทั้งหมดถูกโยกย้ายออกจากเมืองหลวง เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นปร.13 พลอยอายุใช้งานสั้นกว่าที่ควร เรื่องราวของเธอจึงพลอยเลือนหายไปจากคนรุ่นหลัง

วันนี้ผู้เขียนนำเรือชั้นปร.13กลับมาอีกครั้ง หวังว่าทุกคนจะจดจำเธอได้บ้างไม่มากก็น้อย


        -------------------------------

อ้างอิงจาก

https://stefsap.wordpress.com/2015/12/07/the-thai-navy/

https://www.history.navy.mil

https://www.history.navy.mil/content/history/nhhc/our-collections/photography/numerical-list-of-images/nhhc-series/nh-series/NH-102000/NH-102403.html

https://www.history.navy.mil/content/history/museums/nmusn/explore/photography/wwii/wwii-atlantic/battle-of-the-atlantic/anti-submarine-warfare/mousetrap.html

https://chuckhillscgblog.net/2020/05/23/new-multi-mission-very-light-weight-torpedo/

https://www.northropgrumman.com/what-we-do/sea/very-lightweight-torpedo/

https://www.popularmechanics.com/military/weapons/amp35085267/navy-first-new-torpedo-in-decades/

https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/naval_tradition/02_5.html

https://marines.navy.mi.th/htm56/htm_old55/yuttakan55/asia_war.html

http://rach1968.blogspot.com/2014/09/blog-post_20.html?m=1

http://indicatorloops.com/usn_pequot_escorts.htm

https://www.yachtworld.com/research/wheeler-coast-guard-cutter-calling-history-buffs/

https://en.wikipedia.org/wiki/Hedgehog_(weapon)

เอกสารดาวน์โหลด: ADVANCED UNDERSEA WARFARE SYSTEMS

เอกสารดาวน์โหลด: U. S. Coast Guard Small Cutters and Patrol Boats 1915 - 2012

เอกสารดาวน์โหลด: U. S. Coast Guard Patrol Craft Major Classes -100-feet to 150 feet in Length 1915 to 2012

นิตยาสาร Janes Fighting Ships 1970-71

นิตยาสาร Conway's All The World's Fighting Ships 1947-1995

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น