วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

Chinese Fleet in Latin America

 

กองเรือประมงจีนในลาตินอเมริกา

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2018 โครงการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งประเทศอาเจนติน่า ซึ่งยืดเยื้อคาราคาซังมานานเริ่มเดินหน้าเต็มตัว บริษัท Naval Group หรือ DCNS ในอดีต ได้รับสัญญาส่งมอบเรือตรวจการณ์ Gowind หรือเรือชั้น L’Adroit จำนวน 4 ลำ แบ่งเป็นเรือมือสองจำนวน 1 ลำกับเรือสร้างใหม่อีก 3 ลำ เรือมือสองคือเรือที่บริษัท Naval Group สร้างขึ้นมาเอง แล้วให้กองทัพเรือฝรั่งเศสเช่าใช้งานตั้งแต่ปี 2012 ถึง 2018 จนกระทั่งได้ลูกค้าจากประเทศลาตินอเมริกาในท้ายที่สุด

หนึ่งปีต่อมาในวันที่ 23 ธันวาคม 2019 เรือตรวจการณ์ ARA Bouchard หมายเลข P-51 เข้าประจำการกองทัพเรืออาเจนตินา โดยได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมใหม่หมดทั้งลำ เรือมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,450 ตัน ยาว 87 เมตร กว้าง 13 เมตร กินน้ำลึก 3.3 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลความเร็วสูงสุด 21 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 8,000 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต ติดปืนกลอัตโนมัติ 20 มม.ที่หัวเรือ 1 กระบอก กับปืนกล 12.7 มม.สองกราบเรืออีก 2 กระบอก

ARA Bouchard มีลูกเรือเพียง 30 นาย รองรับเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษอีก 30 นาย ใช้ระบบอำนวยการรบ Polaris ของฝรั่งเศส ติดตั้งระบบเรดาร์ Termar Scanter 6002 กับ 4102 จากเดนมาร์ก ระบบออปทรอนิกส์ตรวจการณ์ Sagem จากฝรั่งเศส ได้ระบบตรวจจับสัญญาณเรดาร์ Thales Vigile ESM ทำงานคู่กับระบบเป้าลวง Sylena

ตามข้อมูลในอนาคตอาจมีการติดตั้งระบบปราบเรือดำน้ำ แต่ผู้เขียนหาข้อมูลไม่เจอว่ามีหรือไม่มีสิ่งใดบ้าง ทว่าหน้าสะพานเดินเรือหลังปืนกลอัตโนมัติ 20 มม.ของ Nexter มีที่ว่างติดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำได้สบายๆ


ชมภาพท้ายเรือกันบ้างนะครับ มองเห็นสะพานเดินเรือแบบ 360 องศาอย่างชัดเจน ท้ายเรือมี Ramp หรือช่องปล่อยเรือเล็กจำนวน 2 ช่อง รองรับเรือยางท้องแข็งขนาด 9 เมตรจำนวน 2 ลำ กราบขวาเรือเจาะช่องใส่เรือยางขนาดไม่เกิน 5 เมตรอีก 1 ลำ ส่วนกราบซ้ายคล้ายมีสะพานขึ้นลงเรือ เท่ากับว่ามีเรือเล็กถึง 3 ลำเหมาะสมกับภารกิจ

ลานจอดเฮลิคอปเตอร์เหมาะกับอากาศยานไม่เกิน 5 ตัน แต่ขนาด 10 ตันก็พอรับไหวไมมีปัญหา มีโรงเก็บอากาศยานขนาดไม่ใหญ่สักเท่าไร อาเจนตินาใช้อากาศยานไร้คนขับ S-100 ทำงานกับเรือลำนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งยุคปัจจุบัน หรือใช้วางตู้คอนเทนเนอร์ Mission Mudule ทำภารกิจอื่นได้เช่นกัน

ก่อนตัดสินใจเลือกเรือตรวจการณ์ฝรั่งเศส อาเจนตินาให้ความสนใจแบบเรือ P18 ของจีนค่อนข้างมาก เรือลำนี้ก็คือเรือชั้นเรือหลวงปัตตานีนั่นเอง แต่ติดอาวุธนำวิถีต่อสู้เรือรบมาพร้อมสรรพ มีออปชันเป็นโซนาร์หัวเรือกับตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ ช่วงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศค่อนข้างดี นอกจากเรือตรวจการณ์อาวุธล้นลำฝาแฝดเรือไทยแล้ว จีนมีโอกาสขายรถหุ้มเกราะลำเลียงพล VN-1 เครื่องบินขับไล่ FC-1 หรือ FJ-17 รวมทั้งเครื่องบินฝึก FTC-2000G ได้อีกด้วย

กลับมาที่โครงการเรือตรวจการณ์ Gowind กันอีกครั้ง วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2019 อู่ต่อเรือ KERSHIP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง PIRIOU กับ NAVAL GROUP สำหรับสร้างเรือส่งออก เดินหน้าสร้างเรือตรวจการณ์ลำที่สองให้กับอาเจนตินา 19 เดือนต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2020 เรือชื่อ  ARA Piedrabuena หมายเลข P-52 สร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

ใช่ครับ…19 เดือนสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเสร็จเรียบร้อย ไม่เกรงใจไทยแลนด์กันบ้างเลยนะคุณ

ตามสัญญาโครงการนี้ใช้เวลาเพียง 38 เดือน เรือลำแรกส่งมอบไตรมาสแรกปี 2020 เรือลำสุดท้ายส่งมอบไตรมาสแรกปี 2022 ปรากฏว่าเรือลำแรกส่งมอบเร็วกว่ากำหนด 3 เดือน เรือลำที่สองสร้างเสร็จทั้งลำแล้ว เหลืออีกสองลำคิดว่าไม่น่าเกินความสามารถ ถือเป็นเรือขนาดใหญ่ชุดแรกในรอบ 30 ปีของราชนาวีอาเจนตินา

หลังเกริ่นนำเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งอาเจนตินา ต่อจากนี้ผู้เขียนขอพามาพบผลงานจริง วันที่ 5 พฤษภาคม 2020 เรือตรวจการณ์ ARA Bouchard ได้เข้าสกัดเรือประมงจีนชื่อ Hong Pu 16 ซึ่งเข้ามาตกปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือ EEZ ของอาเจนตินา (200 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง) เรือลำนี้ปิดระบบระบุตัวตนพร้อมกับเปิดไฟตกปลา

นอกจากนี้ที่ระยะ 201 ไมล์ทะเล หรือห่างจากเขตเศรษฐกิจจำเพาะเพียงไมล์เดียว เรดาร์ค้นพบเรือประมงมากกว่า 100 ลำกำลังตกหมึกอย่างเมามันไม่เกรงใจธรรมชาติ เมื่อเรือตรวจการณ์วิทยุแจ้งไปยังเรือประมงจีน ปรากฏว่าเรือประมงจีนรีบแล่นหนีออกมาจากน่านน้ำ หลบอยู่ในกองเรือประมงนานาชาติร้อยกว่าลำ เรือตรวจการณ์อาเจนตินาตามไล่จับถึง 3 ชั่วโมงกว่า จึงสามารถส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจสอบบนเรือประมง พบปลาสดจำนวน 700 กิโลกรัมกับปลาแช่งแข็ง 300 กิโลกรัม ถือเป็นการทำความผิดตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ไต้ก๋งกับลูกเรือถูกจับกุมส่วนเรือถูกยึดไว้ตามระเบียบ

ก่อนหน้านี้วันที่ 28 เมษายน 2020 เรือตรวจการณ์หน่วยยามฝั่งชื่อ GC-27 Prefecto Fique ตรวจพบเรือประมง Lu Rong Yuan Yu 668 ของจีน เข้ามาทำประมงแบบผิดกฎหมายในน่านน้ำอาเจนตินา เกิดการไล่ล่ากลางทะเลลึกเหมือนกับเคสแรก โดยมีเครื่องบินตรวจการณ์ตามมาช่วยเหลืออีกแรง ทว่าเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนัก หลังผ่านพ้นการไล่ล่ากินเวลาหลายชั่วโมง อาเจนตินาตัดสินใจยกเลิกภารกิจเพื่อความปลอดภัยของเรือทั้งสองลำ

หลังจากรับทราบเรื่องราวอันเป็นปัญหาใหญ่โต ทีนี้เรามาคุยเบื้องลึกเบื้องหลังสักเล็กน้อย บริษัทเอกชนจีนมาลงทุนเปิดบริษัทนอมินี ในประเทศอาเจนตินา ชิลี และเปรู นานพอสมควรแล้ว ข้อมูลในปี 2016 บริษัทจีนมีเรือประมงหลายสิบลำ มูลค่าสินค้ารวมทั้งปีอยู่ที่ 200 ล้านเหรียญ มีพนักงานลูกจ้างหลายพันคน มีโกดังกักเก็บสินค้าขนาดใหญ่โต มีอู่ต่อเรือสำหรับซ่อมแซมเรือตัวเอง รวมทั้งมีเหตุการณ์รุกล้ำน่านน้ำบ่อยครั้ง ตามประสาตังเกทั่วโลกที่ชอบข้ามเขตแดนเพื่อนบ้าน

ยกตัวอย่างในปี 2004 เปรูจับเรือประมงจีนลุกล้ำน่านน้ำรวดเดียว 9 ลำ ฉะนั้นแล้วเรือประมงจีนกับลาตินอเมริกาไม่ใช่ปัญหาใหม่ เพียงแต่กับอาเจนตินาค่อนข้างมีปัญหาหนัก เพื่อความเป็นธรรมกับจีนผู้เขียนอยากให้ชมภาพนี้ก่อน

ในภาพเรือตรวจการณ์ยามฝั่งประเทศอาเจนตินา กำลังไล่ล่ากองเรือประมงประเทศสเปนจำนวนรวม 8 ลำมอง เห็นสภาพอากาศแปรปรวนและเลวร้าย ในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ได้อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ตลอดทั้งปีแหละครับ ให้บังเอิญที่นี่มีทั้งปลาและหมึกเยอะกว่าที่อื่น เรือประมงสเปนจึงแวะมาเยี่ยมเยียนบ่อยครั้ง ตามข่าวไม่ได้แจ้งว่าจับได้หรือไม่ได้กี่ลำ ผู้เขียนเดาเอาเองว่าไม่เกินหนึ่งลำเพราะมีเรือยามฝั่งลำเดียว

อ้าว! ในเมื่อเรือประมงจีนทำเหมือนเรือประมงสเปน แล้วจีนไปมีปัญหากับอาเจนตินาตรงไหน?

ปัญหาของจีนมีด้วยกันสองประการใหญ่ หนึ่งปริมาณการลุกล้ำน่านน้ำค่อนข้างถี่ยิบ สองเรือประมงจีนพยายามหลบหนีอย่างสุดชีวิต ยอมเอาตัวเองเข้าเสี่ยงดีกว่าโดนจับกุมปรับเงินก้อนโต ส่งผลให้เรือทั้งสองลำเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เจอแบบนี้บ่อยครั้งอาเจนตินาต้องเปลี่ยนวิธีรับมือ บางครั้งพลปืนยิงกระสุนขู่หวังให้เรือประมงจีนหยุด รวมทั้งบางเหตุการณ์ที่เรือประมงจีนเลยเถิดเกินไป อาเจนตินามีความจำเป็นเหลือเกินต้องจมเรือประมง

วันที่ 15 มีนาคม 2016 เรือยามฝั่งอาเจนตินาจมเรือประมงจีนชื่อ Lu Yan Yuan YU 010 ซึ่งเป็นของบริษัทในเครือ China National Fisheries Corporation หรือ CNFC อันเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของรัฐบาลจีนอีกหนึ่งทอด เรือ Lu Yan Yuan YU 010 ความยาว 66 เมตร ถูกยิงจมนอกชายฝั่งเมือง Puerto Madryn ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องหมึกคุณภาพเยี่ยม เนื่องจากพยายามหลบหนีออกไปยังน่านน้ำสากล ลูกเรือ 32 นายได้รับความช่วยเหลือปลอดภัยทุกราย

ช่วงเวลานั้นทั้งสองชาติยังจูบปากแบบดูดดื่ม อาเจนตินาสนใจทั้งยานเกราะ เครื่องบินรบ และเรือตรวจการณ์จีน ผลจากอะไรหลายๆ อย่างทำให้อาเจนตินาทำตัวเหินห่าง กลับมาคบค้ากับฝรั่งเศสอดีตเพื่อนรักดังเดิม โดยการซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำนวน 4 ลำ รวมทั้งเครื่องบินโจมตี Super Etendard มือสองอีก 5 ลำ นำมาทดแทน Super Etendard จากยุคสงครามฟอคแลนด์ โดยนำเครื่องบินมา Refurbished ใหม่ทั้งลำก่อนส่งมอบให้ในปี 2019

เขียนมาถึงตรงนี้มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องหนึ่ง ขณะที่มิตรรักแฟนเพลงชาวไทยยังคงด่าไม่เลิกว่า ฝรั่งเศสโคตรโกงคบหาไม่ได้ ซื้ออาวุธแต่ไม่ยอมให้อาวุธตั้งไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ถ้าฝรั่งเศสไม่หักหลังอาเจนตินาชนะอังกฤษแน่นอน ปรากฏว่าอาเจนตินาที่โดนกล่าวอ้างซื้ออาวุธฝรั่งเศสล๊อตใหญ่ เขาก้าวข้ามสงครามฟอคแลนด์มาที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะแล้ว รวมทั้งอยากคงสภาพฝูงบินโจมตีทางทะเลในราคาประหยัด และฝรั่งเศสตอบโจทย์ทั้งสองข้อได้อย่างลงตัวมากที่สุด

ปัญหาเรือประมงจีนในมหาสมุทรแอตแลนติกใต้ ส่งผลต่ออาเจนตินาซึ่งมีแหล่งน้ำอุดมสมบรูณ์ แต่การทำประมงแบบผิดกฎหมายไม่ได้มีเฉพาะฝั่งนี้ ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิคใต้ก็เจอปัญหาเดียวกัน ประเทศที่รับเคราะห์ประกอบไปด้วย ชิลี เปรู และเอกวาดอร์ (พระเอกมาตอนจบ) โดยมีทั้งส่วนเพื่อนบ้านทำผิดกฎหมายกับกองเรือประมงจีนทำ

ภาพนี้แสดงเหตุการณ์อันถือเป็นเรื่องปรกติ ภาพใหญ่คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชิลีชื่อ Cabo Odger ระวางขับน้ำ 1,728 ตัน ยาว 80.6 เมตร กว้าง 13 เมตร กินน้ำลึก 3.8 เมตร เพิ่งเข้าประจำการวันที่ 10 สิงหาคม 2017 เริ่มใช้งานไม่ทันไรมีผลงานกลับมาอวดคนในครอบครัว โดยการจับกุมเรือประมงเปรูลักลอบเข้ามาจับปลา ชิลีมีเรือรุ่นนี้จำนวน 4 ลำสร้างเองภายในประเทศ ไว้คอยดูแลพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะซึ่งมีค่อนข้างมาก

ภาพบนซ้ายในกรอบสีส้มชิลีทหารชิลีเข้าตรวจค้นเรือประมงจีน อันเป็นเรือบริษัทนอมีนีท้องถิ่นของบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนแผ่นดินใหญ่ สังเกตนะครับว่าเรือลำใหญ่สภาพค่อนข้างยับเยิน จากนั้นให้ผู้อ่านทดไว้ในใจไปพลางๆ ก่อน ส่วนภาพบนขวาในกรอบสีเหลืองเป็นเรือตรวจการณ์เปรู เข้ามาสกัดกั้นเรือประมงท้องถิ่นจากเอกวาดอร์

จาก 3 เหตุการณ์เห็นได้อย่างชัดเจนว่า เรือประมงเปรูกับเอกวาดอร์มีขนาดเล็กมาก เป็นเรือชาวบ้านทำมาหากินตามปรกติ (คือล่วงล้ำน่านน้ำประเทศเพื่อนบ้านตามปรกติ) ทว่าเรือจีนค่อนใหญ่โตเต็มไปด้วยสนิม มีประสิทธิภาพการจับปลาที่ดีกว่ากัน มีระยะเวลาออกทะเลหาปลาที่นานกว่ากัน สร้างความสูญเสียได้มากกว่าค่าปรับจึงมากกว่าตามกัน

การทำประมงผิดกฎหมายไม่น่ามีอะไรตื่นเต้น ถ้าไม่บังเอิญมีเหตุการณ์ใหญ่โตเกิดขึ้น ปลายเดือนกรกฎาคม 2020 มีกองเรือประมงขนาดใหญ่เกินร้อยลำ เดินทางเข้ามาจับปลาในมหาสมุทรแปซิฟิคใต้ โดยใช้เส้นทางผ่านประเทศชิลี เปรู มุ่งตรงมายังเอกวาดอร์ เป้าหมายก็คือหมู่เกาะกาลาปากอสอันมีชื่อเสียง อยู่ห่างจากทวีปอเมริกาใต้ประมาณ 965 กิโลเมตร

จากภาพนี้ประเทศชิลีค่อนข้างผอมและยาว พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะติดทวีปอยู่ที่ 2.7 ตารางกิโลเมตร ครั้นพอรวมหมู่เกาะขนาดใหญ่อีก 3 แห่งกลางมหาสมุทร พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะกลายมาเป็น 4.4 ล้านตารางกิโลเมตร เส้นทางที่กองเรือประมงมุ่งมายังหมู่เกาะกาลาปากอส ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ฟันธงว่าตามลูกศรสีขาว

มาที่ภาพถัดไปกันต่อเลย ปี 1832 รัฐบาลเอกวาดอร์เข้าครอบครองหมู่เกาะกาลาปากอส มีการตั้งนิคมบนเกาะและสร้างเรือนกักขังจำนักโทษการเมือง นำสัตว์เลี้ยงกับพืชผักขึ้นเกาะมาขยายพันธุ์เพื่อเป็นอาหาร โดยไม่รู้ตัวเลยว่าในอนาคตจะกลายเป็นทรัพย์สมบัติอันแสนมีค่า เอกวาดอร์มีพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะติดทวีปแค่ 4 แสนตารางกิโลเมตร รวมกับของหมู่เกาะกาลาปากอสอีก 7 แสนตารางกิโลเมตร พื้นที่รวมเท่ากับ 1.15 ล้านตารางกิโลเมตร มีทั้งทรัพยากรและแหล่งพลังงานใต้นำจำนวนมาก จนตัวเองกลายเป็นประเทศส่งออกน้ำมันอีกชาติหนึ่ง

กาลาปากอสมีกระแสน้ำไหลผ่าน 3 สายมีความหลากหลายทางธรรมชาติ และมีความอุดมสมบรูณ์มากกว่าสถานที่อื่น ที่นี่เองคือจุดหมายปลายทางกองเรือประมง ซึ่งตอนนี้รับทราบแล้วว่าเป็นเรือสัญชาติประเทศจีน

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ เอกวาดอร์ได้พื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลถัดจากพื้นที่คุ้มครอง (หมู่เกาะกาลาปากอสได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 1978) เรือประมงจีนจึงมาจับปลาที่ระยะ 201 ไมล์ทะเลตามแผนการ จำนวนเรือในตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ 250 ลำขึ้นไป เอกวาดอร์ให้ข่าวว่ากองเรือจีนเริ่มมาที่นี่ตั้งแต่ปี 2017 เรือทุกลำช่วยกันจับปลาจากแหล่งน้ำสากลได้ประมาณ 1,000 ตัน จากนั้นจึงออกเดินทางไปส่งสินค้าหรือจับปลาที่อื่นต่อไป

เรือประมงจีนเดินทางมาถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ครั้นถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2020 เรือคอร์เวตเอกวาดอร์ชื่อ CM-12 Manabí แล่นเข้ามาจับกุมเรือจีนลุกล้ำเข้ามาในน่านน้ำ เรือลำนี้เพิ่งถูกปรับปรุงใหญ่ในปี 2017 มีการเปลี่ยนระบบอำนวยการรบเป็นรุ่น Orion ซึ่งเอกวาดอร์พัฒนาเอง ท่อยิงตอร์ปิโดกราบซ้ายเรือถูกถอดออก เพื่อใส่เครนกับเรือยางท้องแข็งสำหรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ อาวุธนำวิถีปราบเรือรบถูกถอดออกเช่นกัน แต่ยังมีแท่นยิงสามารถใส่กลับคืนตอนไหนก็ได้

เรือคอร์เวตสุดยิกลำนี้ผู้เขียนเคยเขึยนถึงอย่างละเอียด ตามไปอ่านได้ในบทความข้างใต้เลยครับ

                Ecuadorian Navy 2020 กองทัพเรือเอกวาดอร์ในปี 2020

การปรับปรุงเรือเพื่อรองรับการตรวจค้นเรือประมง อันเป็นภารกิจสำคัญในการป้องกันหมู่เกาะกาลาปากอส เห็นสภาพเรือจีนแล้วอเนจอนาถใจมาก ตามปรกติจีนจะใช้ไต้ก๋งกับลูกเรือเพียง 1 ปี หลังจากนั้นสลับคนชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน ส่วนเรือประมงต้องออกทะเลไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด นอกจากติดขัดปัญหาหรือติดมรสุมออกจับปลาไม่ได้ เรือประมงสเปนก็มีสนิมแต่ไม่มากเท่าเรือจีน ก็นะผู้เขียนไม่ได้ใส่ความว่ากันตามหลักฐาน แต่เอาแค่พอท้วมๆ แล้วกันนะครับ

การป้องกันพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะหมู่เกาะกาลาปากอส นอกจากเรือคอร์เวตติดอาวุธ 3 มิติสุดทันสมัยแล้ว ยังมีเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลช่วยเหลืออีกแรง บนเครื่องบินมีเรดาร์ตรวจการณ์ติดไว้ใต้ท้อง ที่มองเห็นจุดเล็กๆ บนแผงจอเรดาร์เยอะแยะไปหมด นั่นแหละครับกองเรือประมงจีน 250 ลำ จากภาพมุมนี้สามารถมองเห็น (ไม่ค่อยชัดเจน) ว่า เรือคอร์เวต CM-12 Manabí ติดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำที่กราบขวา ยังมีประสิทธิภาพทำการรบครบทั้ง 3 มิติเช่นเดิม

เห็นภาพถ่ายจากราชนาวีเอกวาดอร์กันไปแล้ว ผู้อ่านมองเห็นสิ่งผิดปรกติบ้างไหมครับ สิ่งนั้นก็คือเรือที่ใช้จับกุมเรือประมงจีน เป็นคอร์เวตติดอาวุธล้นลำจากยุคสงครามเย็น ใส่อาวุธนำวิถีกับตอร์ปิโดรวมกันมากถึง 16 นัด วางเครื่องยนต์ตัวแรงความเร็วสูงสุด 37 นอต มีระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ครบถ้วน เมื่อนำมาใช้ตรวจการณ์เกิดปัญหาตามมามากมาย

เริ่มจากข้อที่หนึ่งเรือมีขนาดเล็กเกินไปไม่ทนคลื่นลม สองค่าใช้จ่ายในการทำภารกิจสูงเกินไป สามการซ่อมบำรุงเรือต้องทำมากกว่าเดิม สี่การซ่อมบำรุงอาวุธและเรดาร์บนเรือต้องทำมากกว่าเดิม ห้ามีเรือเล็กแค่เพียงลำเดียวขนาดไม่ใหญ่เท่าไร ถ้าใส่ลำที่สองต้องถอดแท่นยิงตอร์ปิโดเบาออกทั้งหมด หกไม่มีพื้นที่รองรับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษ รวมทั้งพื้นที่กักขังลูกเรือประมงลำที่ถูกจับกุม นอกเสียจากขึ้นไปนั่งโต้คลื่นลมบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์

ในเมื่อประสบปัญหาเยอะแยะมากมาย คำถามแรกทำไมเอกวาดอร์ใช้เรือคอร์เวตจับเรือประมง? คำตอบก็คือพวกเขาไม่มีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (เหมือนอาเจนตินาหรือชิลี) คำถามถัดไปทำไมเอกวาดอร์ไม่ซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง? คำตอบก็คือพวกเขาไม่เงินซื้อ การรุกล้ำพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะเป็นภัยคุกคามอันดับสอง อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากประชาชนส่วนใหญ่ ภัยคุกคามอันดับหนึ่งน่ากลัวกว่าอันตรายมากกว่า เอกวาดอร์มีปัญหาให้ต้องตามล้างตามแก้กันต่อไป

ชมภาพถ่ายการจับกุมเรือประมงจีนลำอื่นบ้าง คราวนี้พระเอกเปลี่ยนเป็นเรือคอร์เวตชื่อ CM-16 Loja เห็นแท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำอย่างชัดเจน เรือลำนี้เปลี่ยนระบบอำนวยการรบใหม่แล้วเช่นกัน รวมทั้งเรดาร์ตรวจการณ์ RAN-10S ถูกทดแทนด้วยเรดาร์เดินเรือตัวใหม่ ส่วนเรือประมงจีนรูปร่างแตกต่างจากลำที่แล้ว ทว่าเต็มไปด้วยสนิมจากการทำงานไม่หยุดเช่นเดียวกัน สังเกตนะครับเรือประมงจีนยาวเกิน 60 เมตรทุกลำ ไม่ใช่เรือประมงลำเล็กเหมือนประเทศอื่นในย่านนี้


ระหว่างการมาเยือนหมู่เกาะกาลาปากอสจากกองเรือประมงจีน เอกวาดอร์พยายามเจรจากับรัฐบาลจีนตลอดเวลา ทว่าผลตอบรับกลับคืนคือความเฉยชา เหมือนดั่งสุภาษิตไทยโบราณที่ว่า ไม่มี-ไม่หนี-ไม่จ่าย เวลาล่วงเลยผ่านไปหนึ่งเดือนกว่าๆ คราวนี้เอกวาดอร์เปลี่ยนแผนดึงอเมริกาเข้ามาร่วมแจม ครั้นถึงปลายเดือนกันยายนมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

กองเรือประมงจำนวนมากกว่า 250 ลำ แล่นเรียงแถวเป็นขบวนใหญ่โตมายังประเทศเปรู เพื่อจับปลาในเขตทะเลสากลห่างชายฝั่ง 201 ไมล์ทะเล ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเกิดจากการเจรจาหลายฝ่าย หรือปลาแถบหมู่เกาะกาลาปากอสหายเรียบหมดแล้ว ทว่างานนี้กองทัพเรือเปรูงานเข้าเต็มๆ แล้วยังเลยเถิดมาถึงกองทัพเรือชิลี อันมีพื้นที่บนท้องทะเลติดกันไม่มีกำแพงกั้น

และนี่ก็คือสถานการณ์ในวันที่ 2 ตุลาคม 2020 กองเรือประมงจีนอยู่ไม่ไกลจากน่านน้ำเปรูกับชิลี

ผู้อ่านคงเคยสงสัยเรือตรวจการณ์ไกลทำหน้าที่อะไรกันแน่ อังกฤษใช้แบบเรือชั้น River Batch II เหมือนเราแต่ติดแค่ปืนกล 30 มม.ส่วนเรืออาเจนตินาโจทก์เก่าในปี 1982 หนักกว่าด้วยซ้ำ เรือคุณพี่มีปืนกล 20 มม.แค่กระบอกเดียว บทความนี้น่าจะตอบคำถามคาใจได้ส่วนหนึ่ง คำตอบก็คือเนื่องจากภัยคุกคามในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป

เพราะต้องทำภารกิจทุกวันแทบไม่หยุดพัก การใช้เรือตรวจการณ์มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเรือฟริเกต การแบกอาวุธแพงๆ ไปตากแดดตากลมตากน้ำทะเล มีแต่จะทำให้อาวุธบนเรือเสียหายโดยใช่เหตุ ที่ว่างอเนกประสงค์บนเรือทั้งจำเป็นและสำคัญมาก เพราะฉะนั้นแบบเรือควรรองรับภารกิจมากมาย สมดังกับสโลแกนยอดนิยมที่ว่า เป็นทุกอย่างให้คุณแล้ว

ในจำนวนสี่ชาติที่ต้องเผชิญหน้ากองเรือประมงจีน ราชนาวีเอกวาดอร์หนักหนาสาหัสที่สุด พวกเขามีแผนรับมือกองเรือประมงจีนอย่างไร? แล้วภัยคุกคามประเทศอันดับหนึ่งคืออะไร? ติดตามบทสรุปปิดท้ายในบทความ กองทัพเรือเอกวาดอร์ในปี 2020 ตอนจบ เร็วๆ นี้สวัสดีครับ

-------------------------------

อ้างอิงจาก

https://base.mforos.com/1139583/5292349-armada-de-ecuador/?pag=2

https://www.theguardian.com/environment/2020/aug/25/can-anyone-stop-china-vast-armada-of-fishing-boats-galapagos-ecuador

https://newsbeezer.com/chileeng/armada-captured-a-surprised-peruvian-ship-in-chilean-waters/

http://cimsec.org/latin-american-navies-combat-illegal-fishing/26361

https://dialogo-americas.com/articles/argentine-navy-captures-chinese-vessel-fishing-illegally/

https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Fleet-of-250-Chinese-fishing-boats-monitored-by-Peru-navy

https://dialogo-americas.com/articles/argentine-navy-captures-chinese-vessel-fishing-illegally/

https://www.navyrecognition.com/index.php/news/defence-news/2020/september/9038-french-shipyard-kership-has-completed-hull-and-superstructure-of-second-opv-for-argentine-navy.html

https://en.mercopress.com/2020/05/05/argentine-patrol-arrests-chinese-jigger-illegally-fishing-in-the-county-s-eez

https://en.wikipedia.org/wiki/Gal%C3%A1pagos_Islands

https://www.voanews.com/east-asia-pacific/voa-news-china/300-chinese-fishing-ships-south-america-coast-raise-food-security

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น