วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567

Offshore Patrol Vessel made in Thailand

  

บทความยาวบทความสุดท้ายประจำปี 2567 ค่อนข้างพิเศษ ผู้เขียนขอย้อนเวลากลับไปยังโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งในประเทศลำแรก โครงการนี้มีเรื่องราวน่าสนใจมากมายที่คนทั่วไปไม่มีโอกาสรับรู้ เรื่องราวซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารถึงทุกคนก็คือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งออกแบบโดยกรมอู่ทหารเรือ

จุดเริ่มต้นโครงการ

ปลายปี 2549 ผู้บัญชาการทหารเรือโทรศัพท์สอบถามเจ้ากรมอู่ทหารเรือว่า กรมอู่ทหารเรือสามารถสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งได้หรือไม่ หลังได้รับคำยืนยันว่าทำได้มีการสนทนารายละเอียดทั่วไปเล็กน้อย ก่อนที่ผู้บัญชาการทหารเรือจะพูดปิดประเด็นให้ฝ่ายอำนวยการติดต่อกลับมาเพื่อขอประสานงาน

ต่อมาไม่นานกรมอู่ทหารเรือได้รับข้อมูลเรื่องคุณลักษณะเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง ผู้เกี่ยวข้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์และคำนวณการออกแบบในระดับหลักการ รวมทั้งปรับปรุงแบบเรือตามความต้องการซึ่งทยอยเพิ่มเติมเข้ามา กระทั่งพอมองเห็นภาพจึงเริ่มเดินหน้าโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ลำใหญ่ที่สุดเท่าที่กรมอู่ทหารเรือเคยทำ

หัวหน้าคณะทำงานให้ความสนใจเรือชั้น SIGMA 9113 ของบริษัท Schelde Naval Shipbuilding ประเทศเนเธอร์แลนด์ และเรือชั้น Meko 100 ของบริษัท Thyssen Krupp Marine ประเทศเยอรมันค่อนข้างมาก โดยจะขอซื้อแบบเรือที่ได้จากการออกแบบเบื้องต้นหรือ Basic Design จากบริษัทที่กองทัพเรือคัดเลือก นำมาให้นักออกแบบกรมอู่ทหารเรือจัดการรายละเอียดทั้งหมด วิธีนี้จะช่วยให้นักออกแบบกรมอู่ทหารเรือได้รับประสบการณ์มากขึ้น โดยใช้เวลาทำงานแบบเต็มตัวหรือ Full Time Designing ประมาณ 1 ปี

ปัญหาสำคัญ

        อุปสรรคชิ้นใหญ่ส่งผลกระทบต่อคณะทำงานก็คือ โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งยังไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงกลาโหม ขาดความชัดเจนเรื่องกองทัพเรือจะเริ่มต้นเดินหน้าโครงการตอนไหน  ส่งผลให้การทำงานทั้งหมดเป็นไปอย่างตะกุกตะกัก

        วันหนึ่งเจ้ากรมอู่ทหารเรือได้รับแจ้งข้อมูลสำคัญว่า กองทัพเรือเสนอให้โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา ดังนั้นเรือต้องเสร็จเรียบร้อยในปี  2554 เพื่อให้กองทัพเรือนำขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายภายในเดือนธันวาคม 2554

        ปัญหาสำคัญของวิธีซื้อแบบเรือเบื้องต้นจากบริษัทเอกชนก็คือ นอกจากกรมอู่ทหารเรือจะต้องออกแบบเรือทั้งลำให้ตรงตามความต้องการ ระยะเวลาในการสร้างตัวเรือหรือ Hull Structure ก็มีมากถึง 2 ปี 9 เดือน โอกาสที่เรือจะสร้างเสร็จทันเดือนธันวาคม 2554 เป็นไปอย่างฉิวเฉียด และมีแนวโน้มว่าโครงการอาจล้มเหลวไปไม่ถึงฝั่งฝัน กรมอู่ทหารเรือจึงเสนอทางเลือกใหม่จำนวน 2 วิธีในการสร้างเรือประกอบไปด้วย

        1.กรมอู่ทหารเรือจะจัดทำแบบเบื้องต้นหรือ Preliminary Design ก่อนส่งมอบให้ผู้รับจ้างจัดทำแบบรายละเอียดหรือ Construction Drawings จนเสร็จสมบูรณ์ ส่วนพัสดุสำหรับการสร้างเรือให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ดำเนินการ

        2.กองทัพเรือเลือกแบบเรือเสร็จสมบูรณ์จากบริษัทเอกชน ส่วนพัสดุสำหรับสร้างเรือจัดหาโดยเจ้าหน้าที่กองทัพเรือ

        เพื่อเตรียมความพร้อมในกรณีกองทัพเรือเลือกวิธีที่ 1 กรมอู่ทหารเรือเดินหน้าทำแบบเบื้องต้นให้เสร็จเรียบร้อย กระทั่งได้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งตามภาพประกอบที่หนึ่ง และพร้อมส่งมอบให้ผู้รับจ้างจัดทำแบบรายละเอียดเพื่อสร้างเรือลำจริง

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งสร้างโดยคนไทยมีความยาว 72 เมตร กว้างประมาณ 9.7 เมตร กินน้ำลึกสุดประมาณ 3.3 เมตร รูปทรงโดยรวมมีความคล้ายคลึงเรือชั้น SIGMA 9113 โดยความตั้งใจ ตัวเรือมีคุณลักษณะลดการตรวจจับด้วยคลื่นเรดาร์ในระดับหนึ่ง ความสวยงามผู้เขียนให้คะแนนสิบเต็มสิบโดยไม่ต้องคิดมาก

หัวเรือค่อนข้างสูงใช้ราวกันตกแบบทึบเพิ่มความแข็งแกร่ง ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.เป็นปืนหลัก สะพานเดินเรือรูปทรงหกเหลี่ยมมาพร้อมเสากระโดงขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ มีจุดติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ เรดาร์เดินเรือ และเรดาร์ควบคุมการยิง พื้นที่ว่างกลางเรือคือจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบจำนวน 4 นัด ข้างปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่คือจุดติดตั้งแท่นยิงเป้าลวง ถัดไปเล็กน้อยคือจุดติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ปิดท้ายด้วยลานจอดเฮลิคอปเตอร์น้ำหนักไม่เกิน 7 ตัน

สังเกตนะครับเรือลำนี้มีเรือยางท้องแข็งเพียง 1 ลำที่กราบขวา น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับภารกิจลาดตระเวนตรวจการณ์ทั่วน่านน้ำไทย เหตุผลที่เป็นไปได้ก็คือคนออกแบบจงใจใส่เรือเพียงลำเดียว หรือใต้ลานจอดเฮลิคอปเตอร์มีจุดจอดเรือยางท้องแข็งขนาดใหญ่อีก 1 ลำ ส่วนตัวผู้เขียนให้น้ำหนักเหตุผลข้อที่หนึ่งมากกว่า

ผู้อ่านเดาถูกหรือเปล่าว่าเรือลำนี้มีต้นกำเนิดจากเรือประเทศไหน?

คำใบ้อยู่ที่ปล่องระบายความร้อนขนาดใหญ่ยักษ์

คิดว่าเดากันถูกทุกคนนะครับ แต่ถ้าไม่ถูกผู้เขียนจะช่วยอธิบาย

ที่มาของเรือ

        การออกแบบเบื้องต้นจะนำข้อมูลเรื่องเรือถูกนำไปใช้ในภารกิจอะไรเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนกำลังพล จำนวนวันที่เรือต้องออกทะเล รวมทั้งลักษณะการทำงานของเครื่องจักรใหญ่ มาประมวลผลก่อนออกแบบเรือให้ตรงตามความต้องการ บังเอิญช่วงนั้นกองทัพเรือมีโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหินจำนวน 3 ลำ เรือชุดนี้กรมอู่ทหารเรือเป็นผู้ออกแบบก่อนส่งข้อมูลไปทำ Model Test ที่สถาบัน WUXI ประเทศจีน คณะทำงานจึงตัดสินใจนำเรือหลวงหัวหินมาขยายความยาวเพิ่มขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์หรือ 12 เมตร กลายเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกสร้างโดยฝีมือคนไทย

        ผู้เขียนขอสรุปง่ายๆ แต่เข้าใจค่อนข้างยากให้ตรงกันตามนี้

        -เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 72 เมตร ถูกปรับปรุงจากเรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหิน

        -เรือตรวจการณ์ปืนชั้นเรือหลวงหัวหิน ถูกปรับปรุงจากเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ

        -เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุ ถูกปรับปรุงจากเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Province ของบริษัทวอสเปอร์ ธอร์นิครอพท์ประเทศอังกฤษ

        แม้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 72 เมตรจะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายเรือเนเธอร์แลนด์ ทว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงมาจากเรือประเทศอังกฤษเมืองผู้ดี

ภาพประกอบที่สองเป็นการเปรียบเทียบของใหม่กับของเก่า กรมอู่ทหารเรือนำเรือหลวงหัวหินมาขยายความยาว 12 เมตร สร้างหัวเรือให้สูงขึ้นเหมาะสมกับการเผชิญหน้าคลื่นลมแรง สร้างจุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบหลังเสากระโดง และสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ท้ายเรือด้วยตัวเอง โดยนำโครงสร้างดาดฟ้าเรือหลวงจักรีนฤเบศรมาศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนย่อขนาดให้เล็กลงแต่รักษาอัตราส่วนความยาวต่อความกว้างให้คงที่ นำมาใช้เป็นโครงสร้างดาดฟ้าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งได้โดยไม่ขัดเขิน

        ความเห็นส่วนตัว : กรมอู่ทหารเรือทำดีที่สุดเท่าที่ตัวเองสามารถทำได้

นี่คือจุดสุดยอดของเรือตระกูล Province ไม่สามารถไปต่อได้มากกว่านี้ ในอนาคตถ้ามีการทำแบบรายละเอียดหรือ Construction Drawings และสร้างเรือเข้าประจำการจริง จะเป็นเรือที่ผู้เขียนภูมิใจมากที่สุดติดอันดับหนึ่งในสามตลอดกาล

ผู้ถูกคัดเลือก

        เนื่องจากระยะเวลาในการส่งมอบเรือค่อนข้างกระชั้นชิด คณะกรรมการตัดสินใจเลือกวิธีที่ 2 คือเลือกแบบเรือเสร็จสมบูรณ์จากบริษัทเอกชน กำหนดให้เป็นเรือแบบ Well Proven หรือเคยสร้างใช้งานมาแล้ว โดยต้องส่งผลการทดสอบ Model Test ของเรือมาพร้อมเอกสารเสนอราคา วิธีนี้จะใช้เวลาน้อยกว่าวิธีที่ 1 ซึ่งการทำงานมีเรื่องจุกจิกมากกว่า

การประกวดราคาแบบเรือต้องทำถึง 3 ครั้งกว่าจะได้ผู้ชนะเลิศ ปรากฏว่าบริษัทอู่กรุงเทพ จำกัดซึ่งใช้แบบดัดแปลงจากเรือชั้น River ของบริษัท BVT Surface Fleet ผ่านการคัดเลือกได้รับการเซ็นสัญญาตามภาพประกอบที่สาม และด้วยเหตุผลนี้เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 72 เมตรของกรมอู่ทหารเรือจึงไม่ได้ไปต่อ มีเพียงแบบเบื้องต้นหรือ Preliminary Design ซึ่งยังไม่ผ่านการทำ Model Test


แบบเรือในวันนี้

        เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างปี 2550 หรือผ่านมาแล้ว 17 ปี ถ้าวันนี้ผู้บัญชาการทหารเรืออยากนำแบบเรือกลับมาใช้งาน กรมอู่ทหารเรือต้องปรับปรุงแบบเบื้องต้นหรือ Preliminary Design ให้กลายเป็นแบบรายละเอียดหรือ Construction Drawings แล้วส่งข้อมูลไปทำ Model Test ที่สถาบัน WUXI ประเทศจีนหรือที่ไหนก็ได้ การทำงานจนแล้วเสร็จน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีบวกลบ 1 เดือน

        แบบเรือที่เสร็จสมบูรณ์กรมอู่ทหารเรือได้รับลิขสิทธิ์เต็มตัว กองทัพเรือนำแบบเรือไปใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ส่วนขั้นตอนการสร้างเรือให้บริษัทเอกชนจัดการแบบต้นน้ำถึงปลายน้ำ กองทัพเรือแค่รับมอบเรือมาใช้งานเท่านั้นก็พอ

        เราสามารถนำแบบเรือลำนี้ไปทำอะไรได้บ้าง ผู้เขียนขอยกตัวอย่างสัก 4 เรื่อง

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง

        เรือได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยกว่าเดิมตามภาพประกอบที่สี่ โดยการติดตั้ง Bulbous Bow ที่หัวเรือช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่น มีทุกอย่างเหมือนเรือชั้นเรือหลวงปัตตานีหลังการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งาน แต่ติดอาวุธมากกว่าและทันสมัยกว่าสมความตั้งใจกองทัพเรือประกอบไปด้วย หัวเรือติดตั้งปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ข้างสะพานเดินเรือคือปืนกลขนาด 12.7 มม.รุ่น M2 จำนวน 2 กระบอก กลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ NSM จำนวน 4 นัด หลังปล่องระบายความร้อนติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.รุ่น Sentinel 30 จำนวน 1 กระบอก

        ระบบตรวจจับบนเรือประกอบไปด้วย ระบบอำนวยการรบ CATIZ เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe 1X เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 Mk2 (ย้ายมาติดบนหลังคาสะพานเดินเรือ) เรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัว กล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์ D CoMPASS ระบบดาต้าลิงก์ Link Y Mk2 ระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Vigile 100 Mk2 และแท่นยิงเป้าลวงขนาด 12 ท่อยิงรุ่น SKWS DL-12T จำนวน 2 แท่นยิง

        ข้อเสียของเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำนี้ก็คือขนาดเล็กเกินไป ทหารเรืออาจไม่มีปัญหาเรื่องการใช้งานเพราะเรือก็คือเรือ แต่บรรดามิตรรักแฟนเพลงจะบอกว่าไม่เหมาะสมอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าดันทุรังสร้างเข้าประจำการอาจทำให้เกิดโน่นนุ่นนี่นั่นแน่

        ข้อดีของเรือลำนี้ก็คือขนาดเรือและแบบเรือ เราไม่ต้องจ่ายค่าแบบเรือให้กับบริษัทเอกชนเหมือนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ ราคาสร้างเรือย่อมถูกกว่าเดิมมากไปกันใหญ่ และด้วยความยาว 72 เมตรบริษัทเอกชนทุกแห่งสร้างเรือลำนี้ได้อย่างสบาย กองทัพเรือแบ่งให้บริษัทมาร์ซันกับเอเชียนมารีน เซอร์วิส สร้างเรือบริษัทละ 1 ลำพร้อมกันก็ยังได้ ภายใน 4 ปีกองทัพเรือจะได้รับมอบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งพัฒนาโดยฝีมือคนไทยพร้อมกันจำนวน 2 ลำ

        เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งเป็นทางเลือกที่ดีแต่ยังไม่ดีที่สุดและเหมาะสมมากที่สุด

เรือตรวจการณ์อเนกประสงค์

        ทางเลือกที่ดีที่สุดและเหมาะสมมากที่สุดก็คือ โครงการเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์หรือเรือตรวจการณ์ขนาดปานกลาง ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ขนาดปานกลางราชนาวีไทยลดจำนวนลงจาก 10 ลำเหลือ 8 ลำ และมีแนวโน้มจะลดเหลือ 4 ลำภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี แบบเรือพัฒนาโดยกรมอู่ทหารเรือจะเข้ามาอุดช่องว่างตามภาพประกอบที่ห้า

        การติดตั้งอาวุธและเรดาร์ลดลงจากเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หัวเรือเปลี่ยนมาใช้ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จากบริษัท Hundai WIA ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตรายิง 100 นัดต่อนาที (ราคาถูกกว่า OTO 76/62 Super Rapid พอสมควร) ส่วนปืนกลขนาด 20 มม.จำนวน 2 กระบอกกับปืนกลขนาด 12.7 มม.อีก 2 กระบอกถอดออกมาจากเรือเก่า ซ่อมคืนสภาพให้พร้อมใช้งานแล้วนำมาติดตั้งบนเรือใหม่ ส่วนจุดติดอาวุธหลังปล่องระบายความร้อนปล่อยว่างไปก่อน อนาคตภายภาคหน้าหากมีงบประมาณมากพอค่อยว่ากันอีกที

        เรือใช้ระบบอำนวยการรบ CATIZ มีเรดาร์เดินเรือจำนวน 2 ตัว ออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง Mirador จำนวน 1 ตัว และกล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์ D CoMPASS อีก 1 ตัว ลานจอดเฮลิคอปเตอร์วางตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบได้ โดยใช้เครนเรือยางท้องแข็งในการยกยานใต้น้ำชนิดต่างๆ ขึ้น/ลงจากผิวน้ำ เหมาะสมกับการทำภารกิจเสริมอาทิเช่นปราบทุ่นระเบิดหรือสำรวจอุทกศาสตร์

        โครงการนี้สร้างเรือเฟสละ 2 ลำโดยใช้บริษัทเอกชนจำนวน 2 แห่งได้ ยกเว้นกรณีมีงบประมาณมากเพียงพอจึงสร้างเฟสละ 3 ลำ สร้างไปเรื่อยๆ เมื่อยเราก็พักไม่ต้องคิดอะไรมาก ในเมื่อแบบเรือเป็นของกรมอู่ทหารเรือจึงไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ราคาอาจแพงกว่าเรือตรวจการณ์ขนาด 60 เมตรนิดหน่อย แต่มีความอเนกประสงค์มากกว่าและมีอนาคตที่ดีกว่า ที่สำคัญต้องไม่จ่ายเงินค่าแบบเรือให้กับบริษัทเอกชนช่วยประหยัดงบประมาณกองทัพเรือ

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำ

        ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำชั้นเรือหลวงคำรณสินธุอายุมากกว่า 30 ปี ฉะนั้นภายในไม่เกิน 10 ปีต้องมีการจัดหาเรือตรวจการณ์รุ่นใหม่เข้าประจำการทดแทน เราก็แค่ต่อยอดจากโครงการเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ให้กลายเป็นภาพประกอบที่หก โดยการติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe 1X และระบบดาต้าลิงก์ Link Y Mk2 เพิ่มเติมเข้ามา แล้วนำปืนกลอัตโนมัติ DS3OM Mk2 จากเรือเก่ามาติดตั้งหลังปล่องระบายความร้อน ช่วยประหยัดงบประมาณเรื่องการจัดซื้ออาวุธได้ประมาณ 132 ล้านบาท

ระบบปราบเรือดำน้ำที่ติดตั้งเพิ่มเติมประกอบไปด้วย โซนาร์หัวเรือ HUMSA HMS-X จากอินเดีย แท่นยิงตอร์ปิโดเบาปราบเรือดำน้ำ Shyena ขนาดสามท่อยิงจำนวน 2 แท่นยิง จากอินเดียเช่นเดียวกัน และแท่นยิงเป้าลวงตอร์ปิโดขนาด 6 ท่อยิงรุ่น Mk137 จำนวน 2 แท่นยิง เนื่องจากเรือต้องทำงานร่วมกับอากาศยานไร้คนขับปราบเรือดำน้ำรุ่น MQ-8C Fire Scout จากสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องติดตั้งจานรับสัญญาณเพิ่มหน้าปล่องระบายความร้อน นี่คือออปชันเสริมที่ผู้เขียนเพิ่มเติมเข้ามาและคาดหวังว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นจริงเข้าสักวัน

เรือตรวจการณ์ปราบเรือดำน้ำขนาด 72 เมตรถือว่ากำลังเหมาะสม

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นส่งออก

        ปัจจุบันเรือตรวจการณ์ขนาด 60 เมตรขึ้นไปมักถือเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง โดยที่เรือต้องบรรทุกเชื้อเพลิง อาหาร และน้ำดื่มมากเพียงพอในการออกทะเลมากกว่าเรือตรวจการณ์รุ่นเก่า เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาดเล็กได้รับความนิยมไม่แตกต่างจากเรือขนาดใหญ่ โดยเฉพาะประเทศน้อยใหญ่ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมทั้งเอเชียกลาง

ถ้ากรมอู่ทหารเรือจับมือกับบริษัทเอกชนอาทิเช่นมาร์ซันหรือเอเชียนมารีน เซอร์วิส ผลึกกำลังเป็นดิ อเวนเจอร์ไล่ล่าลูกค้าซึ่งต้องการเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาดไม่ใหญ่เกินไป ราคาไม่แพงเกินไป มีรูปทรงทันสมัยสวยงาม ติดตั้งอาวุธได้มากกว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งทั่วไป อุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศไทยอาจโชติช่วงชัชวาลมากกว่านี้ก็เป็นได้

ภาพประกอบที่เจ็ดคือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่บริษัทมาร์ซันนำเสนอให้กับกองทัพเรือเติร์กเมนิสถาน โดยจ่ายเงินค่าแบบเรือให้กับกรมอู่ทหารเรือตามสมควร

หัวเรือติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 40 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น OTO DARDO ถัดไปเล็กน้อยคือแท่นยิงจรวดปราบเรือดำน้ำ Roketsan ขนาด 6 ท่อยิง ทำงานร่วมกับโซนาร์ Simrad SP92MKII ข้างปล่องระบายความร้อนติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 12.7 มม.รุ่น STAMP จำนวน 2 กระบอก หลังปล่องระบายความร้อนติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ขนาด 8 ท่อยิง ระบบอำนวยการรบและระบบเรดาร์ยกมาจากประเทศทูร์เคีย ตามความต้องการกองทัพเรือเติร์กเมนิสถานซึ่งเป็นเจ้าของเรือตัวจริง

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งรุ่นส่งออกเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ค่อนข้างเหมาะสม

บทสรุป

        กรมอู่ทหารเรือเคยออกแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำแรกของประเทศไทย และน่าจะเป็นลำสุดท้ายเนื่องจากแนวคิดเปลี่ยนแปลงไป กองทัพเรือสร้างเรือเองประสบปัญหาเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบเรือค่อนข้างล่าช้า ไม่มีสถานที่สร้างเรือขนาดใหญ่ที่เหมาะสม หรือเรื่องปวดหัวกับบรรดาลูกจ้างซึ่งมีร้อยพ่อพันแม่

ปัจจุบันกองทัพเรือต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศมากกว่าเดิม อนาคตเราอาจเห็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งสัญชาติไทยเชื้อชาติเยอรมันหรือเนเธอร์แลนด์ แต่จะไม่มีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งออกแบบโดยกรมอู่ทหารเรืออีกต่อไป

เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งขนาด 72 เมตรลำนี้จึงเปรียบได้กับอดีตอันหอมหวานที่ไม่อาจหวนคืน

อ้างอิงจาก

        นาวิกศาสตร์ ปีที่ 99 เล่มที่ 6 เดือนมิถุนายน 2559

        www.shipbucket.com

http://www.theopv.com/index.php ปัจจุบันเข้าไม่ได้แล้ว


 

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2567

Chumporn-class Offshore Patrol Vessel

 

ปีงบประมาณ 2569 กองทัพเรือต้องการจัดซื้อเรือฟริเกตจำนวน 2 ลำในวงเงิน 35,000 ล้านบาท หรือลำละ 17,500 ล้านบาท เหตุผลก็คือราชนาวีไทยมีเรือฟริเกตติดอาวุธครบ 3 มิติเพียง 3 ลำ ส่วนเรือคอร์เวตติดอาวุธครบ 3 มิติอีก 1 ลำอายุค่อนข้างมากใกล้ปลดประจำการ กำหนดให้เรือฟริเกตทุกลำสร้างเองในประเทศโดยอู่ต่อเรือเอกชน

ผลกระทบจากเมกะโพรเจกต์ส่งผลกระทบต่องบประมาณประจำปี โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งจำเป็นต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ถึงกระนั้นเจ้ากรมอู่ทหารเรือกลับไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเสียเปล่า เขามีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้องออกแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งราคาประหยัด โดยนำเรือหลวงปัตตานีเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชุดแรกที่จัดซื้อจากประเทศจีนมาปรับปรุงทั้งลำ เพื่อลบจุดอ่อนทั้งหมด พัฒนาแบบเรือให้สมบูรณ์แบบ และมีความเหมาะสมกับการรบในอนาคตซึ่งมีความแตกต่างไปจากเดิม

เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องใช้เวลา 11 เดือนในการออกแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่สองของอู่ทหารเรือ ก่อนส่งแบบเรือให้เจ้ากรมส่งต่อไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งสัญชาติไทยเชื้อชาติจีนมีรายละเอียดดังนี้

เรือต้นแบบ

ภาพประกอบที่หนึ่งคือเรือต้นแบบของโครงการ ติดตั้งระบบอาวุธและเรดาร์เหมือนเรือชั้นเรือหลวงปัตตานี เพื่อให้ผู้บัญชาการกองทัพเรือพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อ มีการตั้งชื่อชั้นเรือว่าเรือหลวงชุมพรเป็นการชั่วคราว หากมีการสร้างจริงอาจเปลี่ยนชื่อเรือในภายหลังตามความเหมาะสม

รูปทรงโดยรวมคล้ายดีไซน์เรือจากยุค 90 ตอนต้น อาจไม่ทันสมัยเหมือนเรือตรวจการณ์ไกลฝังรุ่นใหม่ เพราะผู้ออกแบบเน้นความประหยัดเพื่อให้การสร้างเรือใช้เงินน้อยที่สุด เรือแบ่งเป็นสามส่วนประกอบไปด้วย สะพานเดินเรือ ปล่องระบายความร้อน และโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ กรมอู่ทหารเรือออกแบบเรือเหมือนเรือหลวงปัตตานีตลอดทั้งลำ จนได้รับชื่อเล่นเรียกกันเองว่า ปัตตานีน้อยกลอยใจ แม้ในความเป็นจริงเรือได้รับการปรับปรุงข้อบกพร่องตั้งแต่หัวเรือจรดท้ายเรือ

เรือหลวงชุมพรมีระวางขับน้ำเต็มที่ 1,528 ตัน ยาว 86.5 เมตร กว้าง 12.8 เมตร กินน้ำลึก 3.2 เมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน CODAD เครื่องยนต์ดีเซล MAN จำนวน 2 ตัว ความเร็วสูงสุด 23 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 4,500 ไมล์ทะเลที่ความเร็ว 12 นอต ออกทะเลนานสุด 21 วัน กำลังพลประจำเรือ 80 นาย

ระบบอาวุธประจำเรือมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เนื่องจากปืนใหญ่ OTO 76/62 Super Rapid ราคามากกว่า 400 ล้านบาทแพงเกินมือเอื้อม ผู้เกี่ยวข้องจึงแนะนำให้ใช้งานปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จากบริษัท Hundai WIA ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งมีอัตรายิง 100 นัดต่อนาที ประสิทธิภาพเทียบเท่าปืนใหญ่ OTO 76/62 IROF บนเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ส่วนปืนรองเป็นปืนกลขนาด 20 มม.รุ่น GI-2 จำนวน 2 กระบอก กับปืนกลขนาด 12.7 มม.รุ่น M2 ยอดนิยมอีก 2 กระบอก

ระบบเรดาร์บนเรือประกอบไปด้วย ระบบอำนวยการรบ CATIZ จากบริษัท Navantia เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติ Sea Giraffe 1X จากบริษัท Saab เรดาร์ควบคุมการยิง STIR 1.2 Mk2 จากบริษัท Thales ระบบดาต้าลิงก์ Link Y Mk2 จากบริษัท Thales นอกจากนี้ยังมีเรดาร์เดินเรือ Furuno จำนวน 3 ตัว กับกล้องตรวจการณ์ออปโทรนิกส์ D CoMPASS อีก 1 ตัวตามมาตรฐานเรือรบลูกประดู่ไทย

กระทบไหล่เรือจีน

          ภาพประกอบที่สองภาพบนคือเรือหลวงปัตตานีหลังการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งาน เรือมีความยาว 95.5 เมตร กว้าง 11.8 เมตร กินน้ำลึก 3.3 เมตร นำมาเปรียบเทียบกับเรือหลวงชุมพรภาพล่างผลปรากฏว่า เรือหลวงชุมพรสั้นกว่า 9 เมตรแต่กว้างกว่า 1 เมตร กินน้ำลึกน้อยกว่า 0.1 เมตร เท่ากับว่าเรือมีรูปทรงเรือรบยุคใหม่มากกว่าเดิม

ความสูงหัวเรือใกล้เคียงกันมากจนถือว่าไม่แตกต่าง สะพานเดินเรือเรือหลวงชุมพรเตี้ยกว่าประมาณ 1 เมตร (วัดจากดาดฟ้าเรือชั้นล่าง) จุดติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบหายไป ปล่องระบายความร้อนเรือหลวงชุมพรใหญ่กว่านิดหน่อย โรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ความยาวเท่ากัน ลานจอดเฮลิคอปเตอร์เรือหลวงชุมพรยาวกว่าเล็กน้อยและเตี้ยกว่าประมาณ 1.5 เมตร (วัดจากระดับน้ำทะเล) ไม่เจาะช่องสำหรับผูกเชือกเรือในดาดฟ้าเรือชั้นล่าง ท้ายเรือจึงปิดสนิทน้ำทะเลไม่อาจซัดสาดทะลุเข้าสู่ด้านใน ส่วนจุดผูกเชือกเรือย้ายไปอยู่ข้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์เหมือนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช

          ระบบอาวุธและเรดาร์เรือสองลำเหมือนกันเกือบทั้งหมด ยกเว้นแค่เพียงเรือหลวงชุมพรเปลี่ยนมาใช้ปืนใหญ่ขนาด 76/62 มม.จากเกาหลีใต้ กับยังไม่ได้ติดตั้งระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Vigile 100 Mk2 จากบริษัท Thales

 

          มาตรวจสอบรูปร่างใต้น้ำของเรือหรือที่เรียกว่า Hull Form กันบ้าง เรือหลวงชุมพรติดตั้ง Bulbous Bow ที่หัวเรือช่วยลดแรงกระแทกจากคลื่น และใช้ครีบลดอาการโคลงรุ่นเดียวกับเรือฟริเกต Meko A-100 ประเทศเยอรมัน ผลจากการปรับปรุงทั้งลำส่งผลให้เรือทรงตัวดีขึ้น อาการโคลงเพราะคลื่นลูกใหญ่ลดลง ลูกเรือใช้ชีวิตอย่างมีความสุข กินอาหารหรือนอนหลับพักผ่อนได้ตามปรกติ การทำภารกิจย่อมดีกว่ากันไปด้วย

ภารกิจปราบเรือผิวน้ำ/โจมตีชายฝั่ง

          นอกจากใช้ลาดตระเวนตรวจการณ์ตามปรกติ เจ้ากรมอู่ทหารเรือยังต้องการให้เรือหลวงชุมพรทำภารกิจอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เกี่ยวข้องจึงออกแบบให้หลังคาโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์แข็งแรงกว่าเรือหลวงปัตตานี รองรับการติดตั้งอาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยชนิดต่างๆ น้ำหนักรวมไม่เกิน 4 ตัน รวมทั้งมีการสร้าง Superstructure ยาว 3.2 เมตร กว้าง 4.2 เมตร สูง 1.7 เมตรเหนือห้องพักลูกเรือที่อยู่ติดโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ ด้านบนเป็นจุดติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงตัวที่สองหรือเสารับสัญญาณดาวเทียมทางทหารขนาดใหญ่ ส่วนด้านล่างเป็นห้องเก็บอาวุธติดแอร์พร้อมฉนวนป้องกันความร้อน

          สำหรับภารกิจปราบเรือผิวน้ำ/โจมตีชายฝั่งต่อเป้าหมายขนาดเล็กถึงปานกลาง เรือหลวงชุมพรติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ระยะยิงไกลสุด 32 กิโลเมตรจำนวน 8 ท่อยิง มาพร้อมระบบดักจับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ Vigile 100 Mk2 จากบริษัท Thales และแท่นยิงเป้าลวงขนาด 12 ท่อยิงรุ่น SKWS DL-12T อีก 2 แท่นยิง ตามภาพประกอบที่สาม

การปรับปรุงช่วยเสริมอำนาจการยิงมากขึ้นกว่าเดิม Spike NLOS นัดละ 7.7 ล้านบาทยิงได้ทั้งเรือผิวน้ำทุกชนิด ยานผิวน้ำไร้คนขับทุกชนิด ยานกึ่งดำน้ำไร้คนขับทุกชนิด เป้าหมายบนฝั่ง รถหุ้มเกราะ รถถัง เฮลิคอปเตอร์ และอากาศยานไร้คนขับทุกชนิด เข้ามาแทนที่อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ Harpoon Block 2 ซึ่งมีราคานัดละ 145.3 ล้านบาทได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยเฉพาะภารกิจเล็กภารกิจน้อยที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานเรือฟริเกต และมีระบบป้องกันตัวเองแบบ Soft Kill ดีเทียบเท่าเรือฟริเกต

เวอร์ชันนี้ผู้เขียนค่อนข้างชอบเป็นพิเศษ

ภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ (อาวุธปล่อยนำวิถี)

          ปัจจุบันภัยคุกคามทางอากาศไม่ได้มีแค่เพียงเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ หรืออาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ อาวุธที่มาแรงแซงทุกทางโค้งคืออากาศยานไร้คนขับทุกชนิด ซึ่งอาจโบยบินเข้ามาโจมตีจากทิศทางไหนก็ได้เวลาไหนก็ได้ จะรอพึ่งพาอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ESSM ราคาแพงก็คงไม่ทันกาล หนำซ้ำกองทัพเรือยังจัดหามาใช้งานจำนวนจำกัด ส่วนปืนใหญ่ 76/62 มม.กับปืนกล 30 มม.มีใช้งานอย่างแพร่หลายก็จริง แต่ไม่มีระบบนำวิถีความน่าเชื่อถือไม่เต็มร้อย บางครั้งอาจยิงถูกบางครั้งอาจยิงพลาดไปตามประสา

        กรมอู่ทหารเรือจึงแนะนำให้ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 9K38 IGLA-S ขนาด 6 ท่อยิง โดยเลือกใช้งานแท่นยิงรุ่นเดียวกับกองทัพเรือพม่า (พม่าซื้อจากที่ไหนเราก็ซื้อจากที่นั่น) ตามภาพประกอบที่สี่ เหตุผลที่เลือกแท่นยิงรุ่นนี้เพราะติดตั้ง IGLA-S ได้ถึง 6 นัด มากเพียงพอต่อการรับมือภัยคุกคามรูปใหม่จากสงครามอสมมาตร

IGLA-S สร้างโดยรัสเซียมีใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก ใช้ระบบนำวิถีคลื่นความร้อน ระยะยิงไกลสุด 6 กิโลเมตร มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง ราคาไม่ถูกไม่แพงกำลังเหมาะสม หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งหรือ สอ.รฝ. มีใช้งานอยู่ก่อนแล้ว การจัดหามาติดตั้งบนเรือหลวงชุมพรจะสามารถใช้งาน IGLA-S ร่วมกันได้ระหว่างสองหน่วยงาน

ภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ (อาวุธปืน)

        ทางเลือกที่สองในการทำภารกิจป้องกันภัยทางอากาศ คือการติดตั้งแท่นยิงระบบป้องกันตัวเองระยะประชิด Millennium gun ตามภาพประกอบที่ห้า ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 35 มม.อัตรายิงสูงสุด 1,000 นัดต่อนาที จะทำงานร่วมกับกระสุนฉลาด  AHEAD ซึ่งมีบรรจุพร้อมใช้งานจำนวน 252 นัดในแท่นยิง ชนวนระเบิดแตกอากาศรุ่นใหม่ทำลายเป้าหมายได้ทั้งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ อากาศยานไร้คนขับทุกชนิด และอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบที่ระยะไกลสุด 3.5 ถึง 5 กิโลเมตร โดยต้องติดตั้งออปโทรนิสก์ควบคุมการยิง Mirador จากบริษัท Thales เพิ่มอีก 1 ตัว

การยิงสกัดเป้าหมายแต่ละครั้งจะใช้กระสุน AHEAD ประมาณ 30 นัด เท่ากับว่า Millennium gun สามารถจัดการ Harpoonsky ได้ถึง 8 ครั้งโดยไม่ต้องเติมกระสุนเพิ่ม เหตุผลที่กรมอู่ทหารเรือเลือกใช้งานเนื่องจากราคาอยู่ในระดับเอื้อมถึง

ปี 2015 กองทัพเรืออินโดนีเซียจัดซื้อ Millennium gun จำนวน 2 ระบบในราคา 12 ล้านยูโร ฉะนั้น 1 ระบบจึงเท่ากับ 6 ล้านยูโรหรือ 213.8 ล้านบาท

ย้อนเวลากลับไปในปี 2013 กองทัพเรือไทยจัดซื้อ Phalanx จำนวน 1 ระบบในราคา 16 ล้านเหรียญหรือ 540.2 ล้านบาท

ฉะนั้น Phalanx จำนวน 1 ระบบมีค่าเท่ากับ Millennium gun จำนวน 2.5 ระบบ ผู้เขียนถึงชูรักแร้สนับสนุนให้ราชนาวีไทยจัดหามาใช้งานบนเรือฟริเกตรุ่นใหม่

เหตุผลที่ Millennium gun ราคาถูกกว่า Phalanx นั้นมีอยู่ว่า ระบบ CIWS จากเดนมาร์กจะใช้งานเรดาร์ตรวจการณ์ เรดาร์ควบคุมการยิง และออบโทรนิกส์ควบคุมการยิงบนเรือ ส่วน Phalanx ติดตั้งทุกอย่างครบถ้วนและทำงานเป็นเอกเทศ หลักการทำงานอาจแตกต่างกันชนิดหน้ามือหลังมือ ทว่าประสิทธิภาพในการทำลายเป้าหมายไม่แตกต่างกัน

ภารกิจกวาดทุ่นระเบิด

        สำหรับภารกิจนี้ไม่จำเป็นต้องติดตั้งอาวุธหรือเรดาร์เพิ่มเติม แค่นำตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 2 ใบมาวางบนลานจอดเฮลิคอปเตอร์ แล้วติดเครนแบบพับเก็บได้อีก 1 ตัวสำหรับยกยานใต้น้ำชนิดต่างๆ ขึ้น/ลงจากผิวน้ำ โดยยังเหลือพื้นที่ว่างให้อากาศยานไร้คนขับแบบปีกหมุนบินขึ้นลงได้ตามภาพประกอบที่หก

เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเปลี่ยนเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งพัฒนาโดยคนไทย ให้กลายเป็นเรือกวาดทุ่นระเบิดอย่างน้อยที่สุดหนึ่งครั้งได้โดยไม่ขัดเขิน เป็นออปชันเสริมที่กองทัพเรือทุกชาติพยายามสรรหามาใช้งาน รวมทั้งกองทัพเรือไทยซึ่งได้ก่อตั้งชุดต่อต้านทุ่นระเบิดเคลื่อนที่เร็วหรือ Mobile MCM Team ขึ้นมา โดยมียานล่าทำลายทุ่นระเบิดรุ่น Seafox เป็นไอเทมลับในการเผด็จศึกทุ่นระเบิดชนิดต่างๆ

 Mobile MCM Team กับเรือหลวงชุมพรจึงไม่ใช่คนแปลกหน้าของกันและกัน

การปรับปรุงเรือเก่า

นอกจากเสนอแบบเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งพัฒนาเองต่อกองทัพเรือ เจ้ากรมอู่ทหารเรือยังได้แนะนำให้เรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงนราธิวาส ซึ่งกำลังจะเข้ารับการปรับปรุงครึ่งอายุการใช้งานในปี 2569 หรือ 2025 ให้ติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น Spike NLOS ขนาด 8 ท่อยิง กับแท่นยิงเป้าลวงขนาด 12 ท่อยิงรุ่น SKWS DL-12T อีก 2 แท่นยิงตามภาพประกอบที่เจ็ด

พื้นที่ว่างหลังสะพานเดินเรือถูกนำมาใช้งานเช่นกัน โดยการตั้งตู้คอนเทนเนอร์อเนกประสงค์ขนาด 20 ฟุตจำนวน 1 ใบ (ตั้งขวาง) สำหรับจัดเก็บยานใต้น้ำชนิดต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยใช้เครนยกเรือยางท้องแข็งที่อยู่กราบซ้ายในการยกขึ้น/ลงจากผิวน้ำ เป็นการดัดแปลงเพื่อทำภารกิจเสริมโดยไม่สูญเสียพื้นที่ลานจอดเฮลิคอปเตอร์

การปรับปรุงจะช่วยให้เรือเรือหลวงปัตตานีและเรือหลวงนราธิวาสมีอำนาจการยิงสูงสุด มีความอเนกประสงค์มากขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายไม่แพงเกินไปสามารถยอมรับได้

                +++++++++++++++

 

 

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2567

Patrol Boats Made in Myanmar

 

กองเรือตรวจการณ์กองทัพเรือพม่าในยุค 80 ประกอบด้วยเรือตรวจการณ์จากประเทศจีน ยูโกสลาเวีย และเรือมือสองจากสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ  ระบบอาวุธบนเรือมีทั้งของสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ยูโกสลาเวีย และรัสเซีย ต่อมาในปี 1983 เรือตรวจการณ์สร้างเองในประเทศ  2 ลำแรกเข้าประจำการ เป็นเรือที่พม่าสร้างเองโดยปรับปรุงจากเรือตรวจการณ์สหรัฐอเมริกา ยอดรวมการสร้างเรืออยู่ที่ 6 ลำถือว่ากำลังเหมาะสม

ต่อมาในปี 1991 กองทัพเรือพม่าขึ้นโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ขนาดใหญ่กว่าเดิม ใช้พื้นที่อู่ต่อเรือทหารเรือเมืองย่างกุ้งในการสร้างเรือตามภาพประกอบที่หนึ่ง ได้รับความช่วยเหลือจากวิศวกรชาวจีนจำนวนหนึ่งซึ่งเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ ฉะนั้นทั้งแบบเรือและระบบอาวุธบนเรือย่อมอ้างอิงประเทศจีนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ปี 1991 กองทัพเรือพม่าไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพึ่งพาจีน เนื่องจากพม่าอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร ตอนนั้นจีนเองก็ยังไม่เชี่ยวชาญเรื่องสร้างเรือรบมากเท่าปัจจุบัน ฉะนั้นการคาดเดาแบบเรือที่จีนให้ความช่วยเหลือพม่าจึงไม่ใช่เรื่องยาก

โครงการเฟสหนึ่ง

ปี 1996 เรือตรวจการณ์พม่าสร้างเองจำนวน 5 ลำเข้าประจำการ โดยใช้หมายเลข 551 ถึง 555 และใช้ชื่อเรือว่า UMS 551 ถึง UMS 555 เรื่องนี้ผู้เขียนอยากขยายความสักเล็กน้อย วันกองทัพเรือพม่าซึ่งมักจัดในวันที่ 24 ธันวาคมของทุกปี เรือทุกลำที่ได้รับมอบในปีนั้นต้องประกอบพิธีเข้าประจำการโดยพร้อมเพรียง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการอวดกำลังพลให้คนในชาติได้รับรู้ ธรรมเนียมนี้กองทัพอากาศพม่าได้นำไปใช้งานเช่นเดียวกัน

กลับมาที่เนื้อหาบทความกันอีกครั้ง แม้กองทัพเรือพม่าจะสร้างเรือเข้าประจำการแล้วถึง 5 ลำ แต่กลับไม่มีข้อมูลเรือรวมถึงชื่อชั้นเรือเล็ดลอดออกมา ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติจำเป็นต้องตั้งชื่อกันเองตามหลักการตัวเอง บางคนเรียกว่าเรือชั้น  No.551 เพราะเรือลำแรกคือเรือหมายเลข 551 บางคนเรียกว่าเรือชั้น 5-Series เพราะเรือใช้หมายเลข 5 นำหน้า ส่วนนิตยสาร Jane’s Fighting Ship ฉีกไปเรียกรวมๆ ว่า MYANMAR CLASS สำหรับชื่อเรือผู้เขียนขออนุญาตเรียกแบบไทยๆ ว่าเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้า

ภาพประกอบที่สองภาพบนคือเรือตรวจการณ์ UMS 553 ของกองทัพเรือพม่า ส่วนภาพล่างคือเรือตรวจการณ์ชั้น Type-062I ที่จีนขายให้กับกองทัพเรือติมอร์ตะวันออก Type-062I มีระวางขับน้ำ 175 ตัน ยาว 43 เมตร ติดตั้งปืนกล H/PJ17 30 มม.จำนวน 2 กระบอก และปืนกล 14.5 มม.ลำกล้องแฝดจำนวน 2 กระบอก

จะเห็นนะครับว่าเรือสองลำหน้าตาเหมือนกันตั้งแต่หัวจรดท้าย

ข้อมูลจากนิตยสาร Jane’s Fighting Ship ระบุว่า เรือตรวจการณ์ UMS 553 มีระวางขับน้ำเต็มที่ 213 ตัน ยาว 45 เมตร กว้าง 7 เมตร กินน้ำลึก 2.5 เมตร ผู้เขียนจะใช้ข้อมูลนี้เป็นหลักในการเขียนบทความ (รวมทั้งภาพวาดเรือชุดนี้ในอดีตเมื่อหลายปีที่แล้ว) ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจำนวน 2 ตัวของบริษัท Mercedes Benz ประเทศเยอรมัน เพียงแต่ไม่ทราบรุ่นและกำลังเรื่อง ความเร็วสูงสุดไม่มีข้อมูลชัดเจนแต่คาดว่าไม่เกิน 30 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 1,800 ไมล์ทะเลที่ความเร็วเดินทาง โดยใช้ลูกเรือจำนวน 34 นาย

มาดูระบบอาวุธป้องกันตัวกันบ้าง หัวเรือติดตั้งปืนกลอัตโนมัติขนาด 37 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น Type 76A เหมือนเรือหลวงกระบุรี  ทำงานร่วมกับเรดาร์ควบคุมการยิง Type 341 Rice Lamp เหมือนเรือหลวงเจ้าพระยา ส่วนปืนรองเป็นปืนกลขนาด 25 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น Type 61A จำนวน 3 กระบอก โดยมีเรดาร์เดินเรือจำนวน 1 ตัวบนยอดเสากระโดง

นิตยสาร Jane’s Fighting Ship กำหนดให้เรือชั้นนี้เป็นเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งหรือ Coastal Patrol Craft ทว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตหลายแห่งระบุว่าเรือชั้นนี้คือเรือเร็วโจมตีหรือ Fast Attack Craft แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยควรเป็นเรือตรวจการณ์มากกว่า เพราะเรือถูกปรับปรุงจากเรือตรวจการณ์ชั้น ชั้น Type-062I โดยมีความยาวเพิ่มขึ้นเพียง 2 เมตร

โครงการเฟสสอง

        เรือเฟสหนึ่งจำนวน 5 ลำช่วยให้กองทัพเรือพม่าเกิดความมั่นใจ ต่อมาในปี 2002 กองทัพเรือพม่าสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นห้าซีรีส์เพิ่มอีก 5 ลำแบ่งเป็น 3 รุ่นย่อย เริ่มต้นจากเรือ UMS 556 และ UMS 557 คือเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีเข้าประจำการปี 2004 ตามภาพประกอบที่สาม

        ข้อมูลจากนิตยสาร Jane’s Fighting Ship ระบุว่ายาว 45 เมตร เท่าเดิม แต่ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่าเรือความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 56 เมตร ผู้เขียนไม่สามารถวัดความยาวเรือด้วยสายตาเปล่าๆ ได้ ต้องนำมาจอดข้างเรือหลวงแหลมสิงห์แล้ววัดความแตกต่าง ถ้าสั้นกว่า 2 เมตรเท่ากับว่าเรือยาว 56 เมตร ถ้าสั้นกว่า 13 เมตรเท่ากับว่าเรือยาว 45 เมตร

        ข้ามเรื่องความยาวที่ไม่อาจพิสูจน์ได้มาดูของเล่นบนเรือกันดีกว่า เรือ UMS 556 ติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น AK-230 จำนวน 2 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก ท้ายเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-801 ระยะยิงไกลสุด 40 กิโลเมตรจำนวน 4 นัด เรือ UMS 556 และUMS 557 คือเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีลำแรกสร้างโดยพม่า เข้าประจำการก่อนเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีลำแรกสร้างโดยคนไทยมากถึง 13 ปี

        ในเมื่อเขาสร้างก่อนย่อมเข้าประจำการก่อนอย่าคิดมาก

        ระบบเรดาร์บนเรือ UMS 556 จัดแน่นจัดเต็มไม่แพ้กัน ประกอบไปด้วยเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 จำนวน 1 ตัว เรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G จำนวน 1 ตัว ออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka จำนวน 2 ตัว และเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Type 352 Square Tie อีก 1 ตัวบนยอดเสากระโดง

        การติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีมาจากหลักนิยมกองทัพเรือสหภาพโซเวีนต จีนนำมาใช้งานบ้างส่วนพม่าก็ตามลายแทงลอกการบ้านจีนอีกที เรือฟริเกตชั้นเจียงหูกองทัพเรือไทยก็มี Type 352 Square Tie ใช้งานทั้ง 4 ลำ ปัจจุบันเหลือเพียง 2 ลำคือเรือหลวงเจ้าพระยากับเรือหลวงบางปะกง ส่วนเรือหลวงกระบุรีกับเรือหลวงสายบุรีถอดออกแล้ว หลังเปลี่ยนอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-801 เป็นรุ่น C-802A

        สำหรับผู้อ่านที่ให้ความสนใจหลักการทำงานออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka ผู้เขียนเคยอธิบายอย่างละเอียดแล้วในบทความตามลิงก์ด้านล่าง

https://thaimilitary.blogspot.com/2019/11/the-kolonka.html

เรือลำที่ 3 ที่เข้าประจำการในปี 2024 คือเรือ UMS 558 ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตระบุว่าเป็นเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีเหมือนเรือ 2 ลำก่อน แต่จากภาพถ่ายกลับกลายเป็นเรือตรวจการณ์ปืนที่ทันสมัยกว่าเดิม ติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น AK-230 จำนวน 2 กระบอก และปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก

เสากระโดงขนาดเล็กกว่าเรือ UMS 556 อย่างเห็นได้ชัด ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 จำนวน 1 ตัว เรดาร์เดินเรือ FURUNO จำนวน 1 ตัว เรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G จำนวน 1 ตัว และออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka อีก 2 ตัว แต่ไม่มีเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Type 352 Square Tie

ตั้งแต่เรือเฟสสองเป็นต้นไปพม่ามักสร้างเรือพร้อมกันครั้งละ 2 ลำ เรือ UMS 558 มีฝาแฝดเช่นเดียวกับเรือชุดอื่น แต่เป็นฝาแฝดที่ค่อนข้างแปลกประหลาดเหนือคำบรรยาย ผู้เขียนขอเก็บไว้เป็นไอเทมลับเจอกันอีกครั้งในช่วงท้ายของบทความ

อยากให้ผู้อ่านสังเกตด้านท้ายเก๋งเรือหรือ Superstructure ที่อยู่ด้านล่างแพชูชีพ สิ่งนี้ก็คือท่อทรงกลมคล้ายเรือหลวงแหลมสิงห์ของลูกประดู่ไทย คาดว่าใช้ระบายอากาศจากเครื่องยนต์ตามปรกติทั่วไป เก็บท่อทรงกลมใหญ่เทอะทะไว้ในใจพร้อมกันนะครับ

ภาพประกอบที่ 5 คือปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่ที่พม่าสร้างเอง โดยการนำปืนกลหนัก KPV ของรัสเซียจำนวน 4 กระบอกมาติดตั้งบนแท่นยิงควบคุมด้วยรีโมท ควบคุมการยิงจากห้องยุทธการผ่านกล้องโทรทัศน์ติดอยู่บนป้อมปืน และคาดว่าสามารถควบคุมปืนผ่านตัวออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka ได้ด้วย โดยมีกระสุนพร้อมใช้งานประมาณ 400 นัดในกล่องกระสุน 4 กล่อง

นี่คืออาวุธที่น่าสนใจมากอีกหนึ่งรุ่นจากกองทัพเรือพม่า

ต่อมาในปี 2005 กองทัพเรือพม่าเข้าประจำการเรือตรวจการณ์อีก 2 ลำ ประกอบไปด้วยเรือ UMS 559 และ UMS 560 ตามภาพประกอบที่ 6 ทุกอย่างบนเรืออย่างเหมือนเรือ UMS 558 แต่เปลี่ยนเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 เป็นเรดาร์เดินเรือตัวที่ 2 สิ่งที่แตกต่างอย่างชัดเจนได้แก่ระบบอาวุธป้องกันตัว ประกอบไปด้วย ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.รุ่น CRN91 จำนวน 2 กระบอก ปืนกลขนาด 25 มมลำกล้องแฝดรุ่น Type 61A จำนวน 1 กระบอก และปืนกลขนาด 14.5 มม.รุ่น KPV จำนวน 2 กระบอก

ปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.รุ่น CRN91 คือสินค้าส่งออกจากประเทศอินเดีย โดยการนำปืนกล Medak ซึ่งปรกติมีใช้งานกับรถหุ้มเกราะสายพานและล้อยาง อัตรายิงสูงสุด 200-300 นัดต่อนาที เพราะเป็นปืนกลอเนกประสงค์ไม่ใช่ปืนกลต่อสู้อากาศยาน (หลักการเดียวกับปืนกลอัตโนมัติ DS30M Mark2 ของทร.ไทยนั่นแหละครับ) อินเดียนำมาใส่ป้อมปืนทรงสูงบรรจุสายกระสุนคู่พร้อมติดตั้งออปโทรนิกส์ควบคุมการยิง

พม่าจัดหา CRN91 จำนวน 4 กระบอกมาใช้งานบนเรือตรวจการณ์จำนวน 2 ลำ ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังเช่นไร อาจเป็นเพราะได้ข้อเสนอที่ดีไม่อาจบอกปัดได้ ไม่ก็รัฐบาลอยากซื้อใจอินเดีย หรืออยากลองของแปลกที่แตกต่างจากอาวุธจีนกับรัสเซีย

โครงการเฟสสาม

        เว้นระยะไป 4 ปีกองทัพเรือพม่าได้รับมอบเรือตรวจการณ์ที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุด ปลายปี 2008 เรือ UMS 561 และ UMS 562 เข้าประจำการเรียกเสียงครางฮือจากทั่วโลก (จริงๆ น่าจะเป็นแค่กลุ่มคนที่สนใจและติดตามกองทัพเรือพม่า) เพราะเรือถูกปรับเปลี่ยนให้มีความดุดันน่ากลัวมากกว่าเดิม ทั้งจากรูปทรงเรือ ระบบเรดาร์ และระบบอาวุธ

UMS 561 ตามภาพประกอบที่ 7 ติดปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น AK-230 จำนวน 1 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก และอาวุธลับสุดยอดที่คาดว่าเป็นแท่นยิง Ghibka สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 9K38 Igla จำนวน 4 นัดอีก 1 แท่นยิงหลังเสากระโดง พื้นที่ว่างกลางเรือติดตั้งแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802 ระยะยิงไกลสุด 120 กิโลเมตรจำนวน 2 นัด

ว่ากันตามจริงผู้เขียนสงสัยว่าบนเรือ UMS 556 และ UMS 557 น่าจะติด C-802 มากกว่า (พิจารณาจากรูปทรงท่อยิง) เพราะ C-801 ไม่มีวางขายนับตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2003 บังเอิญกองทัพเรือพม่ามีเรือเร็วโจมตีอาวุธนำวิถีชั้น Type-037IG ติด C-801 อยู่หลายลำ ฉะนั้นช่วงแรก UMS 556 และ UMS 557 น่าจะใช้งาน C-801 ของเก่าไปจนอาวุธปลดประจำการ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้งาน C-802 ที่เพิ่งสั่งซื้อใหม่จากประเทศจีน

เหตุผลที่เรือ UMS 561 และ UMS 562 ติด C-802 เพียง 2 นัดแทนที่จะเป็น 4 นัด เนื่องจากตอนนั้นกองทัพเรือพม่าขึ้นโครงการสร้างเรือคอร์เวตขนาด 77 เมตรจำนวน 2 ลำ และเรือฟริเกตขนาด 108 เมตรอีก 1 ลำ พม่าจึงมีเรือขนาดใหญ่ติดอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบเพิ่มขึ้นถึง 3 ลำ ฉะนั้นเรือตรวจการณ์อาวุธนำวิถีขนาด 45 เมตรติด C-802 จำนวน 2 นัดก็น่าจะเพียงพอ

เสากระโดงเรือ UMS 561 รูปทรงใหม่ค่อนข้างสูงเป็นพิเศษ ติดตั้งเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 จำนวน 1 ตัว เรดาร์เดินเรือ FURUNO จำนวน 2 ตัว เรดาร์ควบคุมการยิง MR-104 จำนวน 1 ตัว และออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka จำนวน 2 ตัว มาพร้อมอุปกรณ์ดักจับคลื่นอิเล็กทรอนิกส์หรือ ESM บนยอดเสากระโดง และแท่นยิงเป้าลวงจากประเทศจีนจำนวน 4 แท่นยิงบนหลังคาสะพานเดินเรือ (อยู่ด้านข้าง MR-104) รวมทั้งอุปกรณ์แปลกประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อนติดอยู่ด้านหน้า MR-104

ผู้เขียนใช้เวลาหลายปีก่อนได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า เนื่องจากเรือ UMS 561 ไม่ได้ติดตั้งเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี Type 352 Square Tie ฉะนั้นอุปกรณ์ประหลาดจึงน่าจะเป็นเรดาร์ควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีรุ่นใหม่ ซึ่งก็คือเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำทะลุขอบฟ้านั่นแหละครับ รัสเซียใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ในการค้นหาและติดตามเป้าหมายให้กับอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบของตัวเอง ส่วนอเมริกากลับมีแนวคิดตรงกันข้าม คือใช้ค้นหาและติดตามเป้าหมายอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบของฝ่ายตรงข้ามที่บินเข้าใกล้เรือ

เรากลับมาพูดถึงอาวุธลับสุดยอดซึ่งคาดว่าเป็นแท่นยิง Ghibka ที่อยู่หลังเสากระโดง จากภาพเล็กจะเห็นว่าปัจจุบันแท่นยิงตรงจุดนั้นกลายเป็นแท่นยิงร้าง เท่ากับว่า Ghibka ซึ่งอาจมีจริงไม่มีจริงก็ได้ถูกกองทัพพม่าปลดประจำการ แล้วหันไปใช้งานแท่นยิงจากเกาหลีเหนือซึ่งสามารถติดตั้งอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยาน 9K38 Igla มากถึง 6 นัด บนเรือฟริเกตและเรือคอร์เวตรุ่นใหม่ซึ่งมีระบบตรวจการณ์ทางอากาศทันสมัยกว่าเรือตรวจการณ์

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจค่อนข้างมาก เรดาร์ควบคุมการยิง MR-104 บนเรือ UMS 561 และ UMS 562 ถูกแทนที่ด้วยเรดาร์ควบคุมการยิง Type 347G เหมือนเรือลำอื่น พม่าปลดประจำการเรดาร์ควบคุมการ MR-104 และแท่นยิง Ghibka ทั้งที่ยังไม่หมดอายุใช้งาน อาจเป็นเพราะไม่ต้องการความยุ่งยากในการซ่อมบำรุงก็เป็นได้

ประเด็นสุดท้ายของ UMS 561 อยู่ที่การปรับปรุงตัวเรือ  เก๋งเรือชั้นล่างประตูทางเข้าออกลดลงเหลือเพียง 3 บาน ผู้อ่านยังจำท่อทรงกลมหลังเก๋งเรือ UMS 558 ได้หรือไม่ บนเรือ UMS 561 ท่อทรงกลมหายไปถูกแทนที่ด้วยแท่นยิง C-802 มีการสร้างช่องระบายอากาศแบบรูปทรงสี่เหลี่ยมบริเวณด้านล่างจุดติดตั้งแพชูชีพ เท่ากับว่าท่อทรงกลมถูกพม่าปรับเปลี่ยนเป็นตะแกรงทรงเหลี่ยมได้อย่างน่าชื่นชม

เจ้าหน้าที่บริษัทมาร์ซันกรุณาเซฟภาพนี้เก็บไว้นะครับ เรือตรวจการณ์ M58 Batch 2 สมควรปรับปรุงให้เหมือนเรือตรวจการณ์ UMS 561 ของพม่า

โครงการเฟสสี่

        ปี 2012 กองทัพเรือพม่าเข้าประจำการเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีสห้าจำนวน 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือ UMS 563 UMS 564 UMS 565 และ UMS 566 และเนื่องมาจากตัวเองมีเรือตรวจการณ์อาวุธปล่อยนำวิถีจำนวน 4 ลำถือว่ามากเพียงพอ เรือเฟสสี่จึงมีการปรับเปลี่ยนอาวุธให้เหมาะสมกับภารกิจ นั่นคือการลาดตระเวนในน่านน้ำและคอยปกป้องเรือสินค้ากับเรือประมงติดธงพม่า โอกาสเข้าปะทะกับเรือไม่ทราบฝ่ายที่บุกรุกเข้ามามีน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธรุ่นใหม่ทันสมัยให้เปลืองงบประมาณ

ภาพประกอบที่ 8 คือเรือ UMS 563 ฝาแฝด UMS 564 และเป็นเรือลำแรกในโครงการเฟสสี่ ใช้เสากระโดงทรงสูงเหมือนเรือเฟสสามทว่าเรือค่อนข้างโล่ง มีเพียงเรดาร์เดินเรือ 1 ตัว ปืนกลขนาด 14.5 มม.จำนวน 2 กระบอก และอาวุธปืนหน้าตาประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อนอีก 2 กระบอก โดยไม่มีระบบควบคุมการยิงบนหลังคาสะพานเดินเรือ

ผู้เขียนใช้เวลานานพอสมควรจึงกล้าฟันธงอย่างไม่กลัวหน้าแหกว่า อาวุธปืนหน้าตาประหลาดบนเรือคือปืนกล Bofors 40L70 เหมือนที่มีใช้งานบนเรือหลวงตาปี แต่มีการสร้างป้อมปืนแบบเต็มขนาดค่อนข้างเล็กครอบลงบนปืน ในป้อมจะมีที่นั่งพลยิงจำนวน 1 ถึง 2 ที่นั่ง กับกระสุนปืนขนาด 40 มม.พร้อมระบบโหลดอัตโนมัติไม่น่าเกิน 60 นัด

ปืนกล Bofors 40L70 ป้อมปืนพม่าไม่จำเป็นต้องใช้งานเรดาร์ควบคุมการยิง ฉะนั้นราคาจึงค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับปืนกล 40 มม.รุ่นใหม่ทันสมัย แน่นอนที่สุดการซ่อมบำรุงย่อมใช้เงินน้อยกว่าใช้เวลาน้อยกว่า เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากของกองทัพเรือพม่า

สังเกตพื้นที่ว่างท้ายเก๋งเรือกันสักนิด ผู้อ่านทุกคนมองเห็นอะไรไหมครับ ท่อทรงกลมคล้ายเรือหลวงแหลมสิงห์กลับมาอีกครั้ง คราวนี้ใหญ่โตกว่าเดิมใกล้เคียงเรือหลวงแหลมสิงห์กันเลยทีเดียว แต่ช่องระบายอากาศตะแกรงทรงเหลี่ยมยังอยู่ตำแหน่งเดิมนะครับ ไปๆ มาๆ คล้ายดั่งพม่านำท่อทรงกลมมาติดตั้งแทนที่อาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้เรือรบ C-802

ภาพประกอบที่ 9 คือเรือ UMS 565 และ UMS 566 มาพร้อมเรดาร์ตรวจการณ์พื้นน้ำ Type 362 ระยะตรวจจับ 100 กิโลเมตร ภาพนี้มองเห็นปืนกล Bofors 40L70 ป้อมปืนพม่าเทียบกับลูกเรือได้อย่างชัดเจน ข้างปืนเจาะช่องกระจกเล็กๆ ให้พลยิงมองเห็นข้างนอกได้ ลักษณะคล้ายคลึงปืนกล Bofors 40L70 Type 520 ที่กองทัพเรืออินโดนีเซียและชิลีมีใช้งาน แต่กล Bofors 40L70 ป้อมปืนพม่าดูกะทัดรัดน่ารักตะมุตะมิมากกว่า

ไม่ทราบว่ากองทัพเรือไทยสนใจจัดหามาใช้งานบ้างไหมเอ่ย?

โครงการเฟสห้า

โครงการนี้ถือเป็นการลอกการบ้านโครงการเฟสสี่อย่างสมบูรณ์แบบ ปี 2013 กองทัพเรือพม่าเข้าประจำการเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีสห้าจำนวน 4 ลำ ประกอบไปด้วยเรือ UMS 567 UMS 568 UMS 569 และ UMS 570 ปิดฉากการสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้าไว้ที่ 20 ลำ เป็นโครงการจัดหาเรือตรวจการณ์ขนาดปานกลางที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้

ภาพประกอบที่ 10 คือเรือ UMS 567 และ UMS 568 ระหว่างทำพิธีเข้าประจำการในวันที่ 24 ธันวาคม 2013 สังเกตนะครับว่าปืนกล Bofors 40L70 ป้อมปืนพม่าที่ท้ายเรือหายตัวไปไร้ร่องรอย เป็นไปได้ว่ากองทัพเรือพม่าจะนำมาติดตั้งเพิ่มเติมในภายหลัง

เรือตรวจการณ์พม่ากับเรือตรวจการณ์ไทยมีความแตกต่างอย่างชัดเจน เรือตรวจการณ์ไทยเปรียบได้กับรถบ้านสภาพเดิมๆ จากโรงงาน ตอนเข้าประจำการบนเรือมีอะไรบ้าง ตอนปลดประจำการบนเรือย่อมมีเท่าเดิมทุกอย่าง ยกเว้นโครงการที่มีปัญหาอาทิเช่นเรือ ต.997 กับ ต.998 ส่วนเรือตรวจการณ์พม่าเปรียบได้กับรถซิ่งเหล่าขาโจ๋วัยรุ่นสร้างตัว ตอนส่งมอบจะเป็นเรือโล่งๆ ไม่มีทั้งอาวุธและเรดาร์ กองทัพเรือพม่าจะทยอยนำมาติดเพิ่มจนกระทั่งเต็มลำ และถ้าตัวเองได้ของเล่นใหม่จะรีบถอดของเก่าโยนทิ้งทันที

เป็นความแตกต่างที่อ้างอิงกับหลักการจัดหาและติดตั้งอาวุธ

ภาพประกอบที่ 11 คือเรือ UMS 569 และ UMS 570 ระหว่างทำพิธีเข้าประจำการในวันที่ 24 ธันวาคม 2013 เป็นเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้าสองลำสุดท้ายก่อนปิดโครงการ สังเกตนะครับว่าท่อทรงกลมขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นสองจุด นีคือความแตกต่างไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนที่มีเฉพาะเรือ 2 ลำสุดท้าย ไม่ทราบเหมือนกันว่าพม่าจะวุ่นวายกับท่อทรงกลมระบายอากาศอะไรกันนักกันหนา

เรือตรวจการณ์ลึกลับ

        ย้อนกลับมาที่การสร้างเรือ UMS 556 ซึ่งเป็นเรือลำเดียวโด่เด่ แท้จริงแล้วพม่ามีเรือฝาแฝดถูกตัดสายสะดือพร้อมเรือ UMS 556 ตามภาพประกอบที่ 12 เรือลำนี้ถูกทาสีขาวอมฟ้าตลอดทั้งลำ ส่วนปืนกลอัตโนมัติขนาด 30 มม.ลำกล้องแฝดรุ่น AK-230 จำนวน 2 กระบอก ปืนกลอัตโนมัติขนาด 14.5 มม.แฝดสี่จำนวน 2 กระบอก และออปโทรนิกส์ไดเรคเตอร์ควบคุมการยิง  Kolonka จำนวน 2 ตัวบาหลังคาสะพานเดินเรือทาสีดำสนิท

        คาดว่าเรือลำนี้คือเรือตรวจการณ์ VIP สำหรับท่านผู้บัญชาการระดับสูงทั้งหลาย

        เก๋งเรือชั้นล่างของเรือลึกลับมีประตูมากถึง 6 บาน ไม่ทราบเหมือนกันทำไมใช้ประตูเปลืองได้ถึงเพียงนี้ เรือรุ่นถัดไปลดจำนวนประตูลงเหลือเพียง 3 บาน และใช้ 3 บานมาตลอดจนถึงลำสุดท้ายโดยไม่มีการปรับเปลี่ยน การออกแบบเรือของพม่าเป็นอะไรที่แปลกและน่าสนใจมาก รวมทั้งท่อทรงกลมขนาดใหญ่ยักษ์ที่เรือแต่ละเฟสมีไม่เท่ากัน

บทสรุป

        พม่าสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้าเข้าประจำการจำนวน 21 ลำ เริ่มต้นเดินหน้าโครงการในปี 1991 และปิดโครงการในปี 2013 อาจมีช่วงหยุดพักบ้างเนื่องจากกองทัพประสบปัญหาเรื่องงบประมาณ เมื่อสบโอกาสก็เดินหน้าสร้างเรือจำนวน 8 ลำภายในเวลาไม่กี่ปี ทั้งนี้ทั้งนั้นโครงการนี้ช่วยให้อู่ต่อเรือมีงานตลอดเวลา ช่วยให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนาฝีมือ ก่อนก้าวขึ้นอีกหนึ่งระดับเพื่อสร้างเรือคอร์เวตและเรือฟริเกตด้วยตัวเอง

        โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ชั้นซีรีส์ห้าจึงถือเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างเรือในประเทศพม่า

 อ้างอิงจาก

นิตยสาร Jane’s Fighting Ship จำนวนหลายฉบับ

https://www.navypedia.org/ships/myanmar/mya_cf_551.htm

https://shipbucket.com/forums/viewtopic.php?t=5475&hilit=myanmar+navy

https://en.wikipedia.org/wiki/5-Series-class_fast_attack_craft

https://www.coursesidekick.com/history/20927907