ยานใต้น้ำไร้คนขับเมดอินไทยแลนด์
บทความนี้ผู้เขียนรวบรวมโครงการยานใต้น้ำไร้คนขับสร้างโดยคนไทย
นำมาบันทึกเก็บไว้รวมกันเพื่อความสะดวกสบายในการค้นหาข้อมูล เป็นบทความสั้นๆ
เท่าที่ผู้เขียนสามารถค้นหาข้อมูลได้ ถ้ามีการสร้างยานใต้น้ำไร้คนขับรุ่นใหม่สัญญาว่าจะกลับมาเขียนถึงอีกครั้ง
เป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ
หลังจากประเทศไทยปลดระวางเรือดำน้ำทุกลำในวันที่
30 พฤศจิกายน 2494 ก็ไม่มีโอกาสจัดหาเรือดำน้ำเข้าประจำการอีกเลย
ส่งผลให้เทคโนโลยีด้านตรวจจับและปราบเรือดำน้ำขาดหายไป ต่อมาในปี 2543
กองทัพเรือมีโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะที่ 1
เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.)
ยานใต้น้ำขนาดเล็กซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเป้าฝึกมีการเคลื่อนที่ใต้น้ำแบบ Random ใช้พลังงานแบตเตอรี่เป็นตัวขับเคลื่อน
อยู่ในน้ำได้นานสุด 2 ชั่วโมง
สามารถแล่นสลับฟันปลาในแนวดิ่งด้วยความเร็ว 3 นอต ดำน้ำลึกสุดไม่เกิน 30 เมตร
สามารถส่งสัญญาณเสียงใต้น้ำไปปรากฏบนหน้าจอโซนาร์เรือผิวน้ำ
ลักษณะเดียวกับที่เกิดจากการตรวจพบเรือดำน้ำจริง ราคาสร้างลำละประมาณ 3 แสนบาทถ้าซื้อจากต่างประเทศราคาประมาณ 1 ล้านบาท
ยานใต้น้ำไร้คนขับเมดอินไทยแลนด์ลำแรกมีข้อบกพร่องหลายประการ
จนไม่สามารถนำมาใช้ฝึกทางการทหารได้อย่างสมบูรณ์
เป็นอันว่าโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะที่ 1
จำเป็นต้องหยุดชะงักแค่เพียงเท่านี้
ต่อมาในปี 2551 ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับกรมอู่ทหารเรือ กรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ
และบริษัทนนทรีจำกัด ร่วมมือกันพัฒนายานใต้น้ำไร้คนขับขนาดเล็กขึ้นมาอีกครั้ง
อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการออกแบบและสร้างเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำระยะสุดท้าย
ปี 2553
ยานใต้น้ำลำแรกชื่อ 'ไกรทอง' ถูกส่งมอบให้กองทัพเรือนำไปทดสอบเป็นเป้าฝึกปราบเรือดำน้ำ หรือ Mobile
Target อนาคตจะมีการส่งมอบยานใต้น้ำอีก 2 ลำได้แก่
'สุดสาคร' กับ 'วิชุดา' ปิดโครงการได้อย่างสดสวยงดงามใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 6 ล้านบาท
งานวิจัยฝีมือคนไทยทำจากเหล็กทั้งลำ
รูปร่างหน้าตาคล้ายตอร์ปิโดทาสีเหลืองทั้งลำ ยาว 3.10 เมตร กว้าง 0.45
เมตร น้ำหนัก 300 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุด 3
นอต ดำน้ำได้ลึกสุด 30 เมตร
อยู่ในน้ำได้นานสุด 4 ชั่วโมง
มีรูปแบบการเคลื่อนที่ใต้น้ำถึง 10 แบบ
สามารถส่งสัญญาณเสียงใต้น้ำไปปรากฏบนหน้าจอโซนาร์เรือผิวน้ำ ติดตั้งระบบ GPS
และระบบส่งวิทยุเพื่อแจ้งที่ให้เรือผิวน้ำมาจัดเก็บขึ้นเรือ
ยานใต้น้ำสร้างโดยคนไทยราคาลำละประมาณ 9
แสนบาท ถูกกว่าซื้อจากต่างประเทศซึ่งประสิทธิภาพใกล้เคียงกันถึง 5 เท่า
มีการทดสอบใช้งานยานใต้น้ำไร้คนขับบริเวณอ่าวสัตหีบระหว่างเกาะตอม่อกับเกาะพระ
ก่อนส่งมอบให้กองทัพเรือนำไปใช้งานต่อไป ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย
อุปกรณ์ทั้งหมดทำงานได้อย่างถูกต้องตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ ไม่มีปัญหาการรั่วซึม
ยานเคลื่อนที่ท่ามกลางกระแสน้ำและสภาวะแวดล้อมจริงได้เป็นอย่างดี
สถานะปัจจุบันของ 'ไกรทอง' 'สุดสาคร' และ 'วิชุดา' ผู้เขียนหาข้อมูลไม่เจอ เวลาผ่านพ้นไปเกือบ 14 ปียานใต้น้ำทั้ง
3 ลำอาจปลดประจำการไปแล้วก็เป็นได้
งานวิจัยยานใต้น้ำขนาด
12 เมตร
หลังจากการปลดระวางประจำการเรือดำน้ำ 4 ลำในปี 2494
เทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับเรือดำน้ำและการปฏิบัติภารกิจใต้ทะเลได้ห่างหายไป
กองทัพเรือมีแนวความคิดวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่องกับยานใต้น้ำให้กลับมาอีกครั้ง
จึงได้มอบให้สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.)
เป็นเจ้าของโครงการสร้างต้นแบบยานใต้น้ำขนาดเล็กขึ้นเองในประเทศ
การวิจัยมีจุดหมายศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการออกแบบและสร้างยานใต้น้ำขนาดเล็กขึ้นเองในประเทศเน้นการพึ่งพาตนเองและใช้
ทรัพยากรใน ประเทศให้มากที่สุด
อีกทั้งกระจายความรู้สู่สถาบันการศึกษาและอู่ต่อเรือในประเทศ
ซึ่งทางสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม (สวท.กห.)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญจึงสนับสนุนงบประมาณสำหรับ
โครงการวิจัยยาน ใต้น้ำขนาดเล็กโครงการนี้ ซึ่งสิ่งที่จะได้จากงานวิจัยคือ
ยานใต้น้ำ ที่สามารถใช้ในการสำรวจสมุทรศาสตร์ และทรัพยากรใต้ทะเล
สิ่งก่อสร้างในทะเล พร้อมทั้งก่อเกิดองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยีการสร้างยานใต้น้ำขึ้นในประเทศด้วยความสามารถของคนไทย
การวิจัยและพัฒนายานใต้น้ำขนาดเล็กโครงการนี้มี
พล.ร.ต.รศ.ดร.พงศ์สรร ถวิลประวัติป็นนายทหารโครงการดำเนินการออกแบบรายละเอียดเพื่อนำไปสู่
การสร้างต้นแบบยานใต้น้ำขนาดเล็กภายในประเทศ
การวิจัยที่เกิดขึ้นเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้เป็นรูปธรรม การออกแบบและสร้างต้นแบบยานใต้น้ำ
ขนาดเล็กไม่เพียงก่อเกิดประโยชน์อเนกประสงค์นำ ไปประยุกต์ใช้ทางด้านกิจการพลเรือน
และการทหารหาก แต่ยังก่อเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับการ ออกแบบและการสร้าง
ยานใต้น้ำให้เกิดขึ้นอีกครั้งคณะนักวิจัยและที่ปรึกษาโครงการครั้งนี้ ต่างเป็นผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องหลายสาขาอีกทั้งมี
ประสบการณ์การซ่อมและสร้างเรือ ผิวน้ำเป็นอย่างดีได้ทำงานร่วมกัน
โครงการนี้ได้รับงบประมาณจากสวท.กห. 25 ล้านบาทและสวทช. 5
ล้านบาท ระยะเวลาวิจัยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 ถึง 2554 โครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะประกอบไปด้วย
1.ศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับขีดความสามารถของยานใต้น้ำเบื้องต้น
2. สร้างยานใต้น้ำขึ้นเองในประเทศ
โดยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่จำเป็นจากต่างประเทศ
เพื่อนำไปสู่การสร้างยานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดคือ 4
ปี
ต่อมาในวันที่ 28 มีนาคม 2551 พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์
ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานพิธีปฐมฤกษ์สร้างยานใต้น้ำขนาดเล็ก ที่บริษัท
อู่กรุงเทพฯ จำกัด
ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ (สวพ.ทร.)
การสร้างยานเสร็จสมบูรณ์มีการทดสอบดำน้ำในปี 2554
ตรงตามแผนการ
คุณลักษณะเฉพาะของยานใต้น้ำขนาดเล็ก
-ความยาวตลอดลำเรือประมาณ 12 เมตร
-ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 เมตร
-วัสดุตัวเรือรับแรงกดเป็นเหล็กหนา 15 มม.
เปลือกเรือชั้นนอกเป็นไฟเบอร์กลาส
-ระวางขับน้ำใต้น้ำประมาณ 27 ตัน
-ระบบขับเคลื่อน Thruster มอเตอร์จำนวน 5 ตัว
-ระบบไฟฟ้า แบตเตอรี่ตะกั่วกรดจำนวน 264 หม้อ หม้อละ 2
V 300AH
-ระบบอากาศหายใจ ถังเก็บออกซิเจนขนาด 50 ลิตร จำนวน 6 ถัง
-ติดตั้งระบบฟอกอากาศ ระบบปรับอากาศ ระบบลอยตัวฉุกเฉิน (Drop
weight) ระบบบัลลาส ระบบทรงตัว ระบบเดินเรือ และระบบสื่อสาร
-ความเร็วเดินทาง 3 ถึง 5 นอต
-ปฏิบัติภารกิจใต้น้ำระดับความลึกไม่เกิน 30 เมตร
-ปฏิบัติการต่อเนื่อง 3 ถึง 5
ชม.
-กำลังพลประจำเรือ 3 นาย
ผลการทดสอบผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ยานสามารถดำน้ำได้จริงไม่มีปัญหาติดขัดตรงไหน สถานะปัจจุบันงานวิจัยยานใต้น้ำขนาด 12 เมตรจัดเก็บอยู่ในโรงเก็บอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช
กรมอู่ทหารเรือ
อ้างอิงจาก
https://pantip.com/topic/37873683
http://www.dockyard.navy.mi.th/.../Subma.../craft/index.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น