วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

RTN Midget Submarine

 

Chalawan class กาลครั้งหนึ่งของหัวใจ

       เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 หนังสือพิมพ์ Posttoday รายงานข่าวว่า นาวาเอก สัตยา จันทรประภา รอง ผบ.โรงเรียนนายทหารเรือขั้นต้น กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีแนวคิดให้กองทัพเรือวิจัยสร้าง เรือดำน้ำขนาดเล็ก โดยกองทัพเรือได้เริ่ม โครงการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 โดยมีทหารเรือ 25 นายที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ด้าน สถาปนิกทหารเรือ และสาขาอื่นเข้าร่วม ที่ผ่านมาทีมงานได้ไปอบรมที่ประเทศอังกฤษมาแล้ว และมีทีมที่ปรึกษาจากอังกฤษให้ข้อเสนอแนะในการวิจัยและพัฒนา

       โครงการนี้ได้ใช้งบประมาณวิจัยประมาณ 193 ล้านบาท ใช้เวลาในการออกแบบ 4 ปี ใช้เวลาสร้าง 2 ปี และใช้เวลาฝึกเจ้าหน้าที่ 1 ปี รวมทั้งหมดเท่ากับ 7 ปี คาดว่าจะทราบราคาในการสร้างเมื่อออกแบบเสร็จแล้ว โดยประเมินในเบื้องต้นว่าต้องใช้งบประมาณใกล้เคียงหนึ่งพันล้านบาท

       คณะนักวิจัยตั้งชื่อเรือดำน้ำขนาดเล็กอย่างไม่เป็นทางการว่า 'ชาละวันคลาส' Chalawan class โดยมีระวางขับน้ำ 150-300 ตัน ใช้กำลังพลประจำเรือ 10 นาย ระยะปฏิบัติการ 300 ไมล์ทะเล

       จากข่าวนี้ผู้อ่านหลายคนจินตนาการไปไกลจนถึงขั้นที่ว่า ประเทศไทยสามารถสร้างเรือดำน้ำขนาดใกล้เคียง Type 206A ติดระบบโซนาร์และตอร์ปิโดขนาด 533 มม.สำหรับยิงทำลายเรือผิวน้ำ ส่งผลให้กองทัพเรือมีความเข้มแข็งมากกว่าเดิมโดยใช้งบประมาณเพียงน้อยนิด ถือเป็นโครงการที่ดีมากโครงการหนึ่งทุกคนจึงพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

ข้อเท็จจริงของโครงการ

       วารสารกรมอู่ทหารเรือ ฉบับ ประจำปี ๒๕๖๒ ลงบทความ 'โครงการวิจัยเรือดําน้ำขนาดเล็กของกองทัพเรือ (Midget Submarine)' เขียนโดยคณะนักวิจัยโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก มีข้อเท็จจริงของโครงการซึ่งน่าสนใจมากดังต่อไปนี้

       จากการประเมินสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงทางทะเล เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์กองทัพเรือในห้วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2558–2567) พบว่าปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการอ้างสิทธิ์พื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ที่มีประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศเป็นคู่กรณีพิพาท ทวีความรุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มการพัฒนากำลังทางเรือในภูมิภาคเป็นไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาขีดความสามารถสงครามใต้น้ำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของชาติยังคงมีความจำเป็น กองทัพเรือจึงได้กำหนดความต้องการเรือดำน้ำ/ยานใต้น้ำขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการปฏิบัติการหาข่าวทางลับและการปฏิบัติการโจมตีใต้น้ำ เพื่อเพิ่มเติมขีดความสามารถในการทำสงครามใต้น้ำให้ได้อย่างสมบูรณ์

       เนื่องจากวิทยาการเรือดำน้ำเป็นองค์ความรู้ที่ประเทศผู้ผลิตจะเก็บรักษาเป็นความลับสูงสุด ในบางสถานการณ์อาจมีข้อจำกัดไม่สามารถขอรับการศึกษาและขอรับทราบข้อมูล กองทัพเรือจำเป็นต้องศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างเรือดำน้ำขึ้นเอง ประกอบกับกองทัพเรือมีประสบการณ์วิจัยสร้างยานใต้น้ำขนาดเล็กระวางขับน้ำประมาณ 30 ตันมาแล้ว แสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือมีความพร้อมในการต่อยอดองค์ความรู้ในการสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กขั้นสูงขึ้นและนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง

       วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยและพัฒนาเรือสร้างดำน้ำขนาดเล็ก

       1.ออกแบบต้นแบบเรือดำน้ำขนาดเล็กเพื่อใช้ในภารกิจของกองทัพเรือ

       2.สร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก สำหรับสนับสนุนปฏิบัติการทางเรือและปฏิบัติการพิเศษ

ระยะเวลาในการดำเนินการวิจัย

1.การเตรียมการและการออกแบบเบื้องต้น (งบประมาณปี 60-63)

       การดำเนินการในปีแรกประกอบไปด้วย การเตรียมนักวิจัยให้มีความเชี่ยวชาญในวิทยาการออกแบบและสร้างเรือดำน้ำโดยการส่งนักวิจัยจำนวน 5 นาย เข้ารับการอบรมหลักสูตรการออกแบบเรือดำน้ำที่ University College London ประเทศสหราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 9 สัปดาห์ ลักษณะการอบรมเป็นการเรียนในห้องเรียน 3 สัปดาห์ และการทำ workshop ซึ่งเป็นการออกแบบเรือดำน้ำเบื้องต้นตามโจทย์ที่ได้รับอีก 6 สัปดาห์

2.การสร้างเรือดำน้ำ (งบประมาณปี 64-65)

       จะมีการสร้างเรือดำน้ำตามแบบที่ได้จากขั้นที่ 1 โดยการดำเนินการในขั้นนี้จะจัดทำแบบรายละเอียดเพื่อการสร้าง (Detail Drawings) จัดหาพัสดุและอุปกรณ์ของระบบต่าง ๆ การสร้างตัวเรือและติดตั้งอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ โดยมีแผนการว่าจ้างที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างเรือดำน้ำมาเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อให้คำแนะนำและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือดำน้ำให้แก่นักวิจัยฯ รวมทั้งมีแผนการว่าจ้างสมาคมจัดชั้นเรือ (Classification Society) เพื่อควบคุมให้การสร้างเป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้จะทำการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำเรือในระหว่างการสร้าง เพื่อให้กำลังพลรู้จักระบบและมีความชำนาญในการใช้และดูแลรักษาเรือต่อไป

3.การทดสอบเรือ (งบประมาณปี 66)

       เป็นการทดสอบทดลองเรือทั้งในท่า (HAT) และในทะเล (SAT) ดำเนินการทดสอบทดลองระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ขณะเรือจอดที่ท่าเรือ เป็นขั้นตอนการดำเนินการภายหลังการประกอบ/ติดตั้งอุปกรณ์กับตัวเรือ โดยจะทดสอบการทำงานของทุกระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะทดลองในทะเลในขั้นต่อไป สำหรับการทดลองในทะเลเป็นการตรวจสอบสมรรถนะและขีดความสามารถของเรือขณะปฏิบัติการในทะเล ให้มีความสมบูรณ์ตรงตามความต้องการใช้งานที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการประกันความปลอดภัยในชีวิตของกำลังพลผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงการฝึกการใช้เรือและการปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย

แนวคิดการใช้เรือดำน้ำขนาดเล็ก

       การกำหนดแนวคิดการใช้เรือดำน้ำขนาดเล็ก สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กของ ทร.ในครั้งนี้ คณะนักวิจัยได้ดำเนินการจัดทำร่วมกับหน่วยใช้ประโยชน์โครงการวิจัยทั้งในระดับยุทธศาสตร์–ยุทธการ และระดับยุทธการ–ยุทธวิธี ประกอบไปด้วย ยก.ทร. กดน.กร. กทบ.กร. และ นสร.กร. เพื่อให้ผลงานวิจัยตอบสนองความต้องการของหน่วยใช้ประโยชน์และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานได้อย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภารกิจหลัก

       1.ลาดตระเวนรวบรวมข่าวกรองทางเสียง (Acoustic Signature) และข่าวกรองทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electromagnetic Signature)

       2.รับ-ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษทางเรือแทรกซึมเข้าออกพื้นที่เป้าหมายสำคัญทางทหาร แหล่งเศรษฐกิจที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลและในทะเล

ภารกิจรอง

1.สนับสนุนการฝึกยุทธวิธีเรือดำน้ำเบื้องต้น และการฝึกยุทธวิธีปราบเรือดำน้ำ

       2.สนับสนุนการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในทะเล

พื้นที่ปฏิบัติการ

       ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งห่างจาก ฐท.สส. ฐท.สข. และ ฐท.พง. ภายในรัศมีไม่เกิน 300 ไมล์ทะเล

คุณลักษณะและขีดความสามารถทางยุทธการ

ประเภท : เรือดำน้ำดีเซลไฟฟ้าขนาดเล็ก

ระวางขับน้ำ : ประมาณ 300 ตัน

ความลึกปฏิบัติการสูงสุด : 100 เมตร

ความเร็วสูงสุด บนผิวน้ำ : ไม่ต่ำกว่า 8 นอต

ความเร็วสูงสุด ใต้น้ำ : ไม่ต่ำกว่า 5 นอต

ปฏิบัติการใต้น้ำต่อเนื่อง : ไม่ต่ำกว่า 14 ชั่วโมง ที่ความเร็ว 3 - 5 นอต

ระบบตรวจจับ : กล้องตาเรือ (Periscope)

เรดาร์เดินเรือ : (Navigation Radar)

ฟาสซีฟโซนาร์ : (Broadband Passive Sonar)

อุปกรณ์ตรวจจับ วิเคราะห์ และ บันทึกคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (ELINT)

ระบบอาวุธ : ไม่มี

ระบบอื่น : ถังปรับความดันสำหรับรับ-ส่งชุดปฏิบัติการพิเศษ (LILO)

 
บทสรุป

       ปี 2561 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณราว 193 ล้านบาท การเตรียมการและการออกแบบเบื้องต้นโดยใช้เวลา 4 ปี ต่อมาในเดือนกันยายนกองทัพเรือเซ็นสัญญาด้านวิศวกรรมและบริหารความเสี่ยงกับบริษัท BMT สหราชอาณาจักร เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก แต่แล้วเมื่อวันเวลาผ่านไปสักพักหนึ่งโครงการนี้ก็เงียบหายไป

       ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน งบประมาณ 1,000 ล้านบาทในการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาด 300 ตันไม่ติดอาวุธ ดูเหมือนจะเป็นโครงการที่ค่อนข้างหนักหนาสาหัสเกินไป ผลประโยชน์ที่ได้รับกลับคืนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยสักเท่าไหร่ ตลาดส่งออกก็แทบไม่มีรองรับเพราะเป็นแบบเรือเฉพาะทาง ครั้นจะพัฒนาต่อให้เป็นเรือดำน้ำติดอาวุธขนาดใหญ่กว่าเดิมทำภารกิจได้ดีกว่าเดิม คาดว่างบประมาณในการวิจัยและพัฒนาต้องเพิ่มเลข 0 ต่อท้ายเข้าไปอีกหนึ่งตัว

       หลายชาติมีโครงการสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็กมาเนิ่นนานแต่ไม่ประสบความสำเร็จ อาทิเช่นอินโดนีเซียซึ่งท้ายที่สุดหันมาพึ่งพาแบบเรือดำน้ำจากเยอรมัน แต่แล้วก็บัวแล้งน้ำเนื่องจากรัฐบาลและกองทัพเรือไม่ให้สำคัญในลำดับต้นๆ เพราะเป็นแบบเรือที่มีก็ได้ไม่มีก็ดีไว้มีเงินค่อยซื้อในภายหลัง ไม่เหมือนโครงการเรือดำน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีความจำเป็นในการป้องกันประเทศมากกว่า

       เมื่อใช้เวลาว่างทบทวนผลงานผู้เขียนมองเห็นความผิดพลาดระดับเลวร้าย โครงการชาละวันตัวเองไม่ได้เขียนบทความหรือลงข่าวสารความเคลื่อนไหวแม้แต่ครั้งเดียว วันนี้จึงขอบันทึกข้อมูลเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ กาลครั้งหนึ่งราชนาวีไทยริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาสร้างเรือดำน้ำขนาดเล็ก แม้ในท้ายที่สุดจะถูกดองเค็มเหมือนหลายๆ โครงการก็ตาม

       หมายเหตุ : โครงการที่ไปต่อไม่ได้จริงๆ อย่าเสียใจหรือโทษโน่นนั่นนี่เลยครับ ประเทศอื่นก็เป็นเหมือนกันไม่ใช่ไทยแลนด์เพียงชาติเดียว สำหรับเราในตอนนี้มองอะไรที่สร้างง่าย ไม่ซับซ้อน พัฒนาเองได้จริง ราคาไม่ถูกไม่แพง ค่าใช้จ่ายในการใช้งานไม่สูงเกินไปน่าจะเหมาะสมกว่า รวมทั้งสานต่อสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้วให้มั่นคงแข็งแกร่งกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่นพยายามสนับสนุนการขายเรือตรวจการณ์ขนาดต่างๆ ให้กับลูกค้าต่างชาติ เพราะเป็นสินค้าที่มีความต้องการจากทั่วโลกตลอดเวลา

 อ้างอิงจาก

บทความ 'โครงการวิจัยเรือดําน้ำขนาดเล็กของกองทัพเรือ (Midget Submarine)'

http://www.dockyard.navy.mi.th/doced2/index.php/main/detail/content_id/61

https://matemnews.com/News/32231

https://www.facebook.com/media/set/?set=oa.2136715329906479

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น